PDA

แสดงเวอร์ชันเต็ม : ธรรมชาติของความรัก



scooppy-doo
12-21-2008, 10:06 PM
http://www.watkoh.com/board/Smileys/default/smiley.gifhttp://www.watkoh.com/board/Smileys/default/smiley.gifhttp://www.watkoh.com/board/Smileys/default/smiley.gif
ธรรมชาติของความรัก


ใครๆก็บอกว่า "ความรัก" เป็นสีชมพู ซึ่งมีความหมายระหว่างบรรทัดว่า หมายถึงความสดชื่น รื่นเริง ความสุข ความสุนทรีย์ ความหวัง และกำลังใจ จริงๆแล้วธรรมชาติของความรักเป็นอย่างนี้จริงหรือ

ล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 6 ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ใน มัทนะพาธา ถึงธรรมชาติของความรักว่า

"ความรักเหมือนโรคา บันดาลตาให้มืดมล,
ไม่ยินและไม่ยล อุปะสัคคะใดๆ.
ความรักเหมือนโคถึก กำลังคึกผิขังไว้,
ก็โลดจากคอกไป บยอมอยู่ ณ ที่ขัง;
ถึงหากจะผูกไว้ ก็ดึงไปด้วยกำลัง,
ยิ่งห้ามก็ยิ่งคลั่ง บหวลคิดถึงเจ็บกาย."

คาลิล ยิบราน กวีเลบานอนผู้ยิ่งใหญ่ รจนาถึงธรรมชาติของความรักไว้ใน "The Prophet" หรือ "ปรัชญาชีวิต" ฉบับถอดความ โดยระวี ภาวิไล ว่า

"เมื่อความรักร้องเรียกเธอ จงตามมันไป
แม้ว่าทางของมันนั้น จะขรุขระและชันเพียงไร
และเมื่อปีกของมันโอบรอบกายเธอ จงยอมทน
แม้ว่าหนามแหลมอันซ่อนอยู่ในปีกนั้นจะเสียดแทงเธอ
และเมื่อมันพูดกับเธอ จงเชื่อตาม
แม้ว่าเสียงของมันจะทำลายความฝันของเธอ ดังลมเหนือพัดกระหน่ำสวนดอกไม้ให้แหลกลาญไปฉะนั้น
...............
เพราะแม้ขณะที่ความรักสวมมงกุฎให้เธอ มันก็จะตรึงกางเขนเธอ และขณะที่มันให้ความเติบโตแก่เธอนั้น มันก็จะตัดรอนเธอด้วย
แม้ขณะเมื่อมันไต่ขึ้นไปสู่ยอดสูง และลูบไล้กิ่งก้านอันแกว่งไกวในแสงอรุณ
แต่มันก็จะหยั่งลงสู่รากลึก และเขย่าถอนตรงที่ยึดมั่นอยู่กับดินด้วย
..............
ความรักไม่ให้สิ่งอื่นใดนอกจากตนเอง
และก็ไม่รับเอาสิ่งใด นอกจากตนเอง
ความรักไม่ครอบครอง และก็ไม่ยอมถูกครอบครอง
เพราะความรักนั้นพอเพียงแล้วสำหรับตอบความรัก"

พระพุทธองค์ ผู้ทรงเปี่ยมด้วยรักแท้ต่อมนุษยชาติทุกถ้วนหน้าตรัสถึงธรรมชาติของความรักว่า

"ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์"

ทัศนะของล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 6 และของคาลิล ยิบราน กวีผู้มีศักยภาพทางกวีโวหารระดับศาสดาพยากรณ์คนหนึ่งของโลก ล้วนกล่าวตรงกันว่า ธรรมชาติของความรักคือมีทั้งความสุขและความทุกข์คละเคล้าผสมผสาน แต่พระพุทธองค์กลับตรัสลงไปเด็ดขาดว่า ธรรมชาติของความรักคือความทุกข์


ปุถุชนหรือกวีมองเห็นความรักเพียงครึ่งหนึ่ง ส่วนพระพุทธองค์ทรงมองเห็นความรักอย่างหมดเปลือก ความรักในพุทธทัศน์จึงมีธรรมชาติเป็นความทุกข์ บางคนอาจเถียงว่า ทุกข์ที่ไหนกัน สุขต่างหาก คำกล่าวนี้เป็นจริงเพียงครึ่งเดียว เพราะความสุขนั่นเองต่อไปก็จะแปลเป็นความทุกข์อย่างไม่ต้องสงสัย แต่ตอนที่สุขจะแปลไปเป็นทุกข์นี้ เรามักรู้ไม่เท่าทัน หรือทำเป็นมองไม่เห็น จึงเถียงคอเป็นเอ็นกับพระพุทธเจ้าว่า "มีรักที่ไหน มีสุขที่นั่น"

อย่างไรก็ตามแม้ในพุทธทัศน์จะมองว่า ความรักมีธรรมชาติเป็นความทุกข์ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะทรงห้ามคนเรารักกันหรือมีจุดมุ่งหมายเพื่อประณามความรักก็หาไม่ แท้ที่จริงแล้วทรงต้องการให้เราเรียนรู้ที่จะรักอย่างมีวุฒิภาวะ เมื่อเรารักอย่างมีวุฒิภาวะ เราก็จะรู้เท่าทันมายาการของความรัก และสามารถที่จะหาสุขในทุกข์ได้ และยามเมื่อสุขนั้นแปลเป็นทุกข์ เราก็จะได้รับมือกับความทุกข์นั้นอย่างรู้เท่าทัน

พระพุทธศาสนามองว่าความรักมีธรรมชาติเป็นความทุกข์ แต่กลับสอนให่เราปฏิบัติต่อความรักอย่างมีความสุข หรือสอนเราให้เรียนรู้ที่จะ "หาสุขได้จากทุกข์" นี่แหละคือยอดพุทธปรัชญา ใครที่เริ่มมีความรักหรือคู่รัก จึงไม่ควรมองข้ามธรรมะอย่างเด็ดขาด เพราะรักที่ขาดธรรม มักจะนำไปสู่โศกนาฏกรรมแห่งความรัก!

จากหนังสือธรรมะทอรัก