เข้าสู่ระบบ

แสดงเวอร์ชันเต็ม : สติยังด้อย T^T



Dekbanyangsisuraj
02-09-2009, 03:55 PM
สติยังด้อยนัก วันนี้ มาฆบูชา ผมกะเอาไว้ว่าจะเป็นฤกษ์ดี ยามดี ในการเริ่มฝึกอานาปานสติใหม่
ตั้งแต่ตื่นจนเดินไปถึงวัด พอจะจับลมหายใจได้ เผลอไปเรื่องอื่น ก็เรียกกลับมาดูต่อได้ กำลังฮึกเหิม เพราะว่าวันนี้จะเริ่มปฏิบัติจริงจัง ไปถึงวัดหมดฤทธิ์ นั่งเหม่ออยู่ ใจเพริดเลย พยายามมาดูลมต่อ ก็ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร ไปไป มามา นั่งดูห่านกับไก่งวง ตีกันซะงั้น

วันมาฆบูชาทั้งที ได้แค่นี้ -*-

เดี๋ยวเย็นนี้ค่อยเอาจริงใหม่ครับ

D E V
02-09-2009, 04:12 PM
อนุโมทนากับ คุณเด็กบ้านยางสีสุราช ด้วยนะคับ

อิอิ ซ๊าๆๆทุ๊ กับความตั้งใจจริงคับ
ยังไงก็อย่าถึงกับเคร่งเครียดเกินไปนะคับ
ลองสังเกตดูว่าระดับใดที่เหมาะสม
ไม่ตึงไป ไม่หย่อนไป เป็นกลางๆ
จะผ่องใส่เบาสบาย จะไปได้เรื่อยๆ ได้นานกว่า

สติระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง...ตามธรรมชาติ
ระลึกรู้...ระลึกได้...แต่ไม่ใช่บังคับเพ่งจ้องเอาเป็นเอาตาย
อาจจะเผลอไปบ้างก็เป็นธรรมดา
แต่ทันทีที่รู้ตัวว่าเผลอ ขณะนั้นสติก็เกิดต่อแล้วอ่ะคับ

อื่มม...ว่าแต่ เชียร์ห่านหรือไก่งวงอ่ะคับ อิอิ



http://www.watkoh.com/board/Smileys/default/cool.gif เดฟ

DodE
02-09-2009, 04:23 PM
คาดหวังจึงพังเสีย
แสนระเหี่ยระห้อยจัง
สตินะจังงัง
มังพังลงจงทำใจ

เหตุผิดผลพานผิด
สุดจะคิดมาแก้ใข
นอกจากทำเหตุใหม่
ให้สมควรแก่ธรรมา

สติระลึกสภาวะ
ใครเจ้าค่ะผู้บัญชา
เกิดเองแต่เป็นมา
รักษาได้อย่างไรกัน

ใจเย็งๆ ค่อยเป็นค่อยไป อยากเป็นไวก็ไปไม่เป็น
อยากจะรู้ หรืออยากจะเห็น อยากภาวนาเป็น...
(ก็ไปถาม พี่เดฟ ให้เข้าใจหลักชัดก่อนครับ ค่อยฝึกนะคร้าบบบ)

*8q*
02-09-2009, 06:09 PM
สาธุhttp://www.watkoh.com/board/richedit/smileys/YahooIM/41.gif http://www.watkoh.com/board/richedit/smileys/YahooIM/58.gif

Dekbanyangsisuraj
02-09-2009, 07:30 PM
ขอบคุณทุกความเห็นครับ กลอนคุณโดด ดีจัง แต่งเองเหรอครับ

พี่เดฟ มันไม่ถึงขั้นตีกันหรอกครับ ต่างฝ่ายต่างข่มขวัญคู่ต่อสู้ อย่างไก่งวง มันก็จะกางปีก แล้วก็ทำตัวพอง ๆอ่ะ เขาเรียกอะไรไม่รู้ คล้าย ๆ นกยูงลำแพนนั่นล่ะครับ ส่วนห่านนี้ มันไปพร้อมกัน 2 ตัวตลอด น่าจะคู่ผัวเมีย ขู่กันไป ขู่กันมา
ไก่งวงถอย ไม่กล้าลงมวยกับห่านครับ

ทั่นยาย
02-12-2009, 12:29 PM
ขออนุญาติร่วมแจมด้วยคนนะคะ ที่จริงทั่นยายมิใช่นักปฏิบัติอะไรหรอกค่ะ
เพียงแค่เด็กหัดเดินในมรรคายังเตาะแตะล้มลุกคลุกคลานอยู่เลยค่ะ
ดังนั้นการฝึกแบบสติปัฎฐานสี่ จึงไม่ค่อยคืบหน้าเท่าไหร่ค่ะ เห็นคุณ dekbanฯ
บอกว่าฝึกแบบอาณปานสติอยู่นั้น ไม่ทราบว่าใช่แบบเดียวกับสติปัฎฐานสี่หรือเปล่าคะ
หากไม่ใช่แตกต่างกันอย่างไรคะและสำหรับผู้เริ่มต้นควรฝึกแบบไหนดีกว่ากันคะ
ขอท่านผู้รู้ช่วยชี้แนะด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ

D E V
02-12-2009, 03:15 PM
อานาปานสติ คือระลึกรู้อยู่ที่ลมหายใจ
ซึ่งเป็นได้ทั้งสมถภาวนาและสติปัฏฐาน
หากตั้งมั่นอยู่ที่ลมหายใจเพื่อความสงบของจิต...ไม่ฟุ้งซ่านซัดส่ายไป
รู้อยู่กับลมหายใจเข้าออก สั้นบ้าง ยาวบ้าง
ลมหายใจนั้นก็เป็นเครื่องอยู่ของจิต...เป็นไปเพื่อความสงบ...เป็นสมถภาวนา

แต่หากขณะนั้นระลึกรู้ลมหายใจตามสภาพธรรมที่เป็นจริงในลักษณะใดลักษณะหนึ่งที่ปรากฏให้รู้
เช่น ระลึกได้ถึงความไหวเคลื่อน นั่นคือลักษณะของธาตุลม
หรือรู้ได้ถึงความอุ่น นั่นคือลักษณะของธาตุไฟที่ประชุมรวมกันอยู่ในลมหายใจ
ก็เป็นสติปัฏฐานที่ระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง
คือเป็นเพียงรูปธาตุต่างๆ ที่ประชุมรวมกันอยู่...หาใช่ลมของเราหรือของใคร
เพราะเป็นแต่เพียงรูปธาตุต่างๆ ที่ปรากฏให้สติระลึกรู้ และสลายไปอย่างรวดเร็วทีละขณะๆ
จึงละคลายความยึดมั่นในสภาพธรรมทั้งหลายว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล


http://www.watkoh.com/board/Smileys/default/cool.gif เดฟ

D E V
02-12-2009, 03:17 PM
ในขณะที่สติระลึกรู้อยู่ที่ลมหายใจ
หากขณะนั้นมีสภาพธรรมใดปรากฏชัดให้รู้
เช่น ความรู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ หรือเฉยๆ
สติระลึกรู้เวทนานั้นตรงตามความเป็นจริงที่ปรากฏ
หรือระลึกรู้สภาพจิตที่เป็นไปในขณะนั้น
ว่ามีโลภะคือลักษณะติดข้องพอใจ
มีโทสะคือลักษณะที่ขุ่นข้องเคืองใจ
หรือมีโมหะคือไม่รู้อะไรเลย...ว่างแบบไม่รู้อะไรเลย
หรือนึกคิดสงสัยไปต่างๆ นาๆ
หรือรู้ว่าจิตขณะนั้นปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ
เป็นกุศลจิตที่ผ่องใส ประกอบด้วยปัญญาที่รู้สภาพธรรมต่างๆ ที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง
เหล่านี้เป็นสติปัฏฐาน...คือสติที่ประกอบด้วยปัญญา
ซึ่งเมื่อเจริญขึ้นจนสมบูรณ์พร้อม ปัญญานี้เองที่จะเป็นวิปัสสนาญาณ
คือความรู้แจ้ง ประจักษ์แจ้ง แทงตลอดในสภาพธรรมทั้งหลาย
ว่าแท้จริงกายใจเรานี้ ก็เป็นเพียงรูปธาตุ-นามธาตุ ต่างๆ หลากหลาย ที่ประชุมรวมกันนั่นเอง
ไม่สามารถจะยึดถือไว้เป็นของตน...ของเรา หรือที่จะสั่งบังคับบัญชาได้
เห็นโทษภัยของการเกิด การดับสลาย ที่สืบต่อกันไปแต่ละขณะๆๆๆ
จึงหน่ายคลายวางจากการยึดมั่นไว้ว่าเป็นตน เป็นเรา



http://www.watkoh.com/board/Smileys/default/cool.gif เดฟ

D E V
02-12-2009, 03:19 PM
ดังนั้น ที่เรากล่าวกันว่า ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ บุคคล
หากถามว่า เมื่อไม่มีตัวตน สัตว์ บุคคล แล้วมีอะไร?

ก็มีแต่รูปธาตุ-นามธาตุที่ประชุมรวมกันนั่นเองอ่ะคับ
แล้วก็สมมุติขึ้นว่าลักษณะอย่างนี้เป็นคน ลักษณะอย่างโน้นเป็นสัตว์ ฯลฯ
หากแต่วิปัสสนาญาณรู้ตามความเป็นจริงของรูปธาตุ-นามธาตุ

หรือเวลาที่เรื่องราวต่างๆ แปรเปลี่ยนไป
แม้แต่ร่างกายหรือความรู้สึกนึกคิดเปลี่ยนแปลงไป
เราก็มักกล่าวว่านี่ไง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
นั่นเป็นเพียงการเทียบเคียงเอาจากสิ่งหยาบๆ ที่แปรเปลี่ยนสภาพไป
หากแต่วิปัสสนาญาณประจักษ์ชัดในสภาพธรรมจริงๆ คือรูปธาตุ-นามธาตุ
ที่กำลังแปรเปลี่ยนเกิดดับอยู่ทุกขณะ
ไม่ใช่แค่การนึกคิดเอาจากเรื่องราวเหตุการณ์ที่แปรเปลี่ยนไป
แล้วเราก็บอกว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อ่ะคับ



http://www.watkoh.com/board/Smileys/default/cool.gif เดฟ

ทั่นยาย
02-12-2009, 08:22 PM
ขอบคุณค่ะทั่นเดฟที่ไขข้อข้องใจให้อีกวาระค่ะ
แต่กว่าที่เด็กอนุบาลวัดลิงขบอย่างทั่นยายจะพอทำความเข้าใจ
ได้อย่างเลือนลางก็ต้องอ่านกันถึงสามรอบเลยหล่ะค่ะ
เพราะเพียงแค่บรรทัดแรก"อานาปานสติ คือระลึกรู้อยู่ที่ลมหายใจ "
กับบรรทัดที่หก "แต่หากขณะนั้นระลึกรู้ลมหายใจตามสภาพธรรมที่เป็นจริง
ในลักษณะใดลักษณะหนึ่งที่ปรากฏให้รู้ก็ต้องพิจารณาว่า ...ก็เป็นสติปัฏฐาน
ที่ระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง "
ทั่นยายจึงต้องพิจารณาว่า การระลึกรู้อยู่ที่ลมหายใจ กับการระลึกรู้ลมหายใจ
ตามสภาพธรรมนั้น ต่างกันอย่างไร โดยการลองหายใจเข้าออกดู
อืม..อาณาปานสตินั้นที่แท้ เพียงแค่รับรู้ว่าหายใจเข้าออกอยู่
แต่ไม่รู้สึกถึงลมที่เข้าออกค่ะ หากพิจารณาให้ละเอียดลงไปอีกนิด
จึงจะรู้สึกถึงลมที่มากระทบปลายจมูกค่ะ ดังนั้นทั่นยายจึงสรุปว่า
สติปัฎฐานสี่มีความละเอียดของสัมผัสรู้มากว่าอาณาปานสติ
เข้าใจแบบนี้ถูกต้องหรือไม่คะ เวลานั่งสงบสติอารมณ์ทั่นยายมักจะ
พิจารณาตามไปแล้วก็เกิดสงสัยนั่นนี่อยู่เสมอ ทำให้เกิดคำถามไม่จบสิ้น
แบบนี้ควรแก้ไขอย่างไรคะ

อนุโมทนาสาธุค่ะ

Dekbanyangsisuraj
02-12-2009, 10:46 PM
ผมเข้าใจว่าการเจริญอานาปานสติ ก็ถือเป็นการเจริญสติปัฏฐาน ๔ อย่างหนึ่งเหมือนกันนะครับ


ดูกรภิกษุทั้งหลาย หนทางนี้เป็นทางเดียวที่จะทำให้เหล่าสัตว์บริสุทธิ์ได้ ล่วงพ้นความโศกและความรำพันคร่ำครวญได้ ดับทุกข์และโทมนัสได้ บรรลุอริยมรรคเพื่อเห็นแจ้งพระนิพพานได้ หนทางนี้คือสติปัฏฐาน ๔ ประการ
๔ ประการนั้นมีอะไรบ้าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระศาสนานี้

๑) พิจารณาเห็นกายในกายอยู่เสมอ
๒) พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่เสมอ
๓) พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่เสมอ
๔) พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่เสมอ
เธอพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรมอย่างมีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ นี้เป็นอีกประการหนึ่ง


กายานุปัสสนา - อานาปานบรรพ (http://<A)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยการปฏิบัติอย่างไรภิกษุจึงจะพิจารณาเห็นกายในกายอยู่เสมอ คือภิกษุในพระศาสนานี้ ไปสู่ป่า ไปสู่โคนไม้ หรือไปสู่เรือนว่าง นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า

เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า
เมื่อหายใจออกยาวก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้ายาว
เมื่อหายใจออกสั้นก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกสั้น เมื่อหายใจเข้าสั้นก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้าสั้น
ย่อมสำเหนียกว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมทั้งปวงหายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมทั้งปวงหายใจเข้า
ย่อมสำเหนียกว่าเราจักระงับกายสังขารหายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่าเราจักระงับกายสังขารหายใจเข้า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นายช่างกลึงหรือลูกมือของนายช่างกลึงผู้ขยัน เมื่อชักเชือกกลึงยาวก็รู้ชัดว่าเราชักยาว เมื่อชักเชือกกลึงสั้นก็รู้ชัดว่าเราชักสั้น แม้ฉันใดภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน

เมื่อหายใจออกยาวก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้ายาว
เมื่อหายใจออกสั้นก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกสั้น เมื่อหายใจเข้าสั้นก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้าสั้น
ย่อมสำเนียกว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมทั้งปวงหายใจออก
ย่อมสำเนียกว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมทั้งปวงหายใจเข้า
ย่อมสำเนียกว่าเราจักระงับกายสังขารหายใจออก
ย่อมสำเหนียกว่าเราจักระงับกายสังขารหายใจเข้า
ผม ลอกมาเฉพาะตรงที่มีเกี่ยวกับอานาปานสตินะครับ แบบเต็มๆลองไปดูที่นี้ครับ

http://dungtrin.com/7months/mahasati.html

ทั่นยาย
02-13-2009, 07:34 AM
ขอบคุณค่ะ คุณ dekban ฯ ที่หาข้อมูลมาเพิ่มเติมให้มากมายค่ะ
ทั่นยายเองก็เพิ่งเริ่มต้นเรียนรู้ธรรม ยังไม่ประสีประสาอะไรเลยค่ะ
เพราะการเรียนรู้ธรรมนั้นตามความเข้าใจของทั่นยายที่จริงไม่ยากนะคะ
แต่ต้องทำความให้เข้าใจให้แจ่มแจ้งค่ะ ซึ่งผู้เรียนรู้ก็ต้องค่อยๆทำความเข้าใจ
ไปทีละขั้นที่ละตอนค่ะ จากที่คุณเดฟกรุณาอธิบายชี้แจงมานั้น ทั่นยายเข้าใจว่า
อานาปานสติ เป็นบันไดขั้นแรกในการปฎิบัติค่ะ ส่วนสติปัฎฐานสี่นั้นน่าจะเป็น
บันไดขั้นที่สองค่ะ
ดังนั้นการปฎิบัติธรรมจึงควรต้องควบคู่กับการเรียนรู้ธรรมไปด้วยกันเหมือนภาคทฤษฏี
กับภาคปฎิบัติน่ะค่ะ ต้องเรียนรู้แบบเป็นขั้นเป็นตอนและสูงขึ้นไปเรื่อยๆ
เหมือนเดินขึ้นบันไดค่ะ ซึ่งเมื่อก่อนทั่นยายมองว่าก็แค่ปฎิบัติกาย วาจา ใจ
ก็พอแล้วไม่ต้อง ไปเรียนรู้อะไรให้วุ่นวายหรอก แต่ต่อมาเริ่มเปลี่ยนความคิดค่ะ
เพราะการปฎิบัติอย่างเดียวไม่พอค่ะ ต้องเรียนรู้หลักการปฏิบัติที่ถูกต้องควบคู่กันไปด้วยค่ะ
อย่างที่กล่าวกันว่า ปฏิบัติ ปฎิยัติ ปฎิเวช นั่นแหล่ะค่ะ (แต่ทั่นยายไม่รู้และไม่มีทั้งสามปฎิฯ
ที่กล่าวมาค่ะ เลยต้องมามะงุมมะงาหราอยู่ฉะนี้แล อิ อิ )
ตอนนี้ทั่นยายจึงเข้าใจว่าการเรียนรู้ธรรมกับการปฎิบัติธรรมนั้นเป็นคนละส่วนกันค่ะ
แต่ต้องไปด้วยกันซึ่งก็เหมือนกับการที่จะปฎิบัติธรรมนั้นก็ต้องปฎิบัติใจก่อนนั่นแหล่ะค่ะ
เพราะการปฎิบัติธรรมคือการปฎิบัติกาย วาจา ให้สงบน้อมเข้าไปสู่ใจ
แต่การปฎิบัติใจนั้นคือการสำรวมใจให้สงบแล้วสื่อออกมาเป็นการสำรวมกาย วาจาค่ะ
ซึ่งทั่นยายก็เลือกที่จะปฎิบัติใจก่อนปฎิบัติกายค่ะ เพราะการสำรวมกาย วาจา
สำหรับ ลิงค่างนั้น ทำได้ยากยิ่งนักค่ะ อิ อิ

ก็ไม่ทราบว่าเข้าใจแบบนี้จะถูกต้องหรือไม่คะ ขอท่านผู้รู้ช่วยชี้แนะ
ความถูกต้องให้ด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ

D E V
02-13-2009, 10:23 AM
ขออนุโมทนากับทุกๆ ท่านเลยคับ

ดังที่เรียนให้ทราบตอนต้นน่ะคับ
อานาปนสตินั้นเป็นได้ทั้งอารมณ์ของสมถภาวนาและสติปัฏฐาน
ซึ่งแม้จะเป็นลมหายใจเดียวกัน
แต่เมื่อเป็นการเจริญอบรมที่ต่างกัน
การรู้ลมหายใจนั้นก็ย่อมมีรายละเอียดที่ต่างกันไปอ่ะคับ

เวลาที่เรารู้ลมหายใจ
รู้ลมหายใจสั้น-ลมหายใจยาว ลมหายใจเข้า-ลมหายใจออก
จิตตั้งมั่นอยู่ที่ลมหายใจขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดความสงบระงับจากนิวรณ์
ก็เป็นการอบรมเจริญสมถภาวนาเพื่อให้จิตสงบมั่นคง

สำหรับการเจริญสติปัฏฐาน
ซึ่งปัญญานั้นจะเจริญขึ้นเป็นวิปัสสนาญาณ
ต้องประจักษ์ในสภาพธรรมจริงๆ ที่กำลังปรากฏ

ประเด็นคือ สภาพธรรมจริงๆ นั้นคืออะไร?




http://www.watkoh.com/board/Smileys/default/cool.gif เดฟ

D E V
02-13-2009, 10:29 AM
สภาพธรรมแท้ๆ จริงๆ นั้น
ก็คือรูปธาตุต่างๆ และ นามธาตุต่างๆ นั้นเองอ่ะคับ (รูป จิต เจตสิก)
ทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏมีจริง...เป็นของจริง
จะไม่พ้นไปจากธาตุต่างๆ เหล่านี้ที่ประชุมรวมกันเลยอ่ะคับ
(ส่วนสิ่งที่สมมุติขึ้น บัญญัติให้มีขึ้น...เป็นสมมุติธรรม หรือ บัญญัติธรรม หรือ สมมุติบัญญัติ)

การที่มีลมหายใจเกิดขึ้นนั้น
ลมหายใจเป็นสิ่งที่มีจริง ซึ่งแม้ไม่ต้องมีชื่อเรียกว่าลมหายใจ
แต่ลักษณะของลมหายใจนั้นก็ย่อมปรากฏ
ไม่ว่าคนไทย คนฝรั่ง คนจีน คนญี่ปุ่น
ก็มีลมหายใจเหมือนกันหมด (แต่ชื่อเรียกลมหายใจอาจต่างกันไปตามแต่ละภาษา)

ลมหายใจซึ่งเป็นของจริงๆ ที่เกิดขึ้นนี้
ก็คือรูปธาตุที่ผสมผสานกลมกลืนกันอันเป็นส่วนหนึ่งของกายนั่นเองคับ




http://www.watkoh.com/board/Smileys/default/cool.gif เดฟ

D E V
02-13-2009, 10:32 AM
พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้น
เป็นเรื่องจริงที่ทุกคนพิสูจน์ได้...ใช่มั้ยคับ
ดังนั้น หากเราจะพิสูจน์
ก็พิสูจน์ได้ที่ลมหายใจขณะนี้เลยทีเดียว
(อย่างที่ท่านยายได้พิสูจน์แล้วอ่ะคับ...ซ๊าทุ๊)

งั้นเราลองมาพิสูจน์กันนะคับ
ลมหายใจของทุกคนมีลักษณะไหว เคลื่อนไป ใช่มั้ยคับ
นั่นคือลักษณะของธาตุลม

หรือบางครั้งก็รู้สึกได้ถึงไออุ่นของลมหายใจ...ใช่มั้ยคับ (หรือบางครั้งก็ออกเย็นๆ)
สภาพที่อุ่นหรือเย็นที่ปรากฏให้รับรู้ได้นั้น
คือลักษณะของธาตุไฟที่ประชุมผสมผสานกลมกลืนอยู่
(บางคนสงสัยว่าความเย็นเป็นธาตุไฟได้อย่างไร)
(ก็ถ้าร้อนน้อย...ก็คือเย็นนั่นเอง)

หรือบางทีเราก็สังเกตได้ถึงการกระทบแผ่วๆ
บริเวณปลายจมูกหรือเหนือริมฝีปาก
ความอ่อนเบาที่กระทบให้รู้สึกได้ก็คือลักษณะของธาตุดินนั่นเองอ่ะคับ
(ธาตุดินมีลักษณะอ่อนหรือแข็ง)

ที่ลมหายใจของเราทุกคนซึ่งกำลังมีอยู่นี้
มีทั้งความไหว เคลื่อน และไออุ่น...ใช่มั้ยคับ
บางครั้งก็สังเกตได้ถึงสัมผัสแผ่วเบาที่กระทบด้วย
ก็แสดงว่าในลมหายใจของเราทุกคนนี้
ย่อมประกอบไปด้วยธาตุต่างๆ เช่น ธาตุลม ธาตุไฟ ธาตุดิน ฯลฯ เป็นต้น
ซึ่งวิธีสังเกตง่ายๆ...ให้ลองสังเกตทีละอย่างนะคับ

(ยกตัวอย่างเพียงแค่นี้ก่อนก็พอนะคับ)




http://www.watkoh.com/board/Smileys/default/cool.gif เดฟ

D E V
02-13-2009, 10:38 AM
โห๋...ทำไมจึงละเอียดเช่นนี้?

ก็เพราะสภาพธรรมที่เป็นของจริงๆ แท้ๆ เป็นสิ่งที่ละเอียด
ซึ่งหากพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงไว้ให้รู้ถึงลักษณะของรูปธาตุต่างๆ...เราก็คงจะไม่รู้เลย
เปรียบเหมือนเราเอาแว่นขยายมาส่องขยายดูส่วนที่เล็กละเอียดที่สุด
ให้เห็นถึงรูปธาตุแต่ละรูปธาตุนั่นเอง



แล้วต้องรู้ละเอียดอย่างนี้ด้วยหรือ...ไม่รู้ไม่ได้หรือ?

พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้นมีหลายระดับ หยาบ กลาง ละเอียด
ซึ่งแต่ละระดับก็เอื้อต่อการเจริญปัญญาในขั้นต่างๆ ไปจนถึงขั้นประหารกิเลส
การที่ปัญญาจะเจริญขึ้นเป็นญาณที่รู้แจ้ง ประจักษ์แจ้งในสภาพธรรมที่จริงแท้นั้น
ก็ย่อมต้องค่อยๆ เจริญขึ้นจากการประจักษ์ในสิ่งที่หยาบ
ไปจนถึงสิ่งที่ละเอียดขึ้นเรื่อยๆ ตามกำลังของแต่ละบุคคลอ่ะคับ




http://www.watkoh.com/board/Smileys/default/cool.gif เดฟ

D E V
02-13-2009, 10:40 AM
สำหรับในส่วนของสติปัฏฐานนั้น
ทรงจำแนกไว้เป็นหมวดใหญ่ๆ 4 หมวดคือ กาย เวทนา จิต และ ธรรม
ซึ่งลมหายใจก็เป็นส่วนหนึ่งของกาย (เป็นส่วนที่ละเอียด)
ดังนั้น ขณะที่ระลึกรู้ลมหายใจซึ่งละเอียด และค่อยๆ รู้ชัดขึ้นๆๆ (ตามกำลัง)
ประจักษ์ชัดถึงความเป็นเพียงรูปธาตุ
ขณะนั้นก็ชื่อว่าอานาปานสติในขั้นสติปัฏฐานที่เห็นถึงความไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล
หรือหากมีสภาพธรรมใดปรากฏให้ระลึกรู้ได้ในขณะนั้น
เช่น ความเบื่อ ความกระวนกระวาย ความฟุ้งซ่าน ความปีติ ฯลฯ เป็นต้น
สติที่มั่นคงมีกำลังอยู่นั้นก็ระลึกรู้ชัดว่าเป็นเพียงนามธาตุต่างๆ ที่ปรากฏ

การเจริญสติปัฏฐาน ไม่จำกัดว่าต้องเริ่มที่อานาปานสติเท่านั้นอ่ะคับ
แต่สามารถที่จะเริ่มตรงไหนก็ได้ ที่มีลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ปรากฏชัดในขณะนั้น
ไม่ว่าจะนั่ง นอน ยืน เดิน วิ่ง กวาดบ้าน ซักผ้า รดน้ำต้นไม้ อยู่บ้าน อยู่ที่ทำงาน ฯลฯ
ทุกที่ ทุกเวลา ทุกอิริยาบถ ขณะที่เห็น ขณะที่ได้ยิน ขณะที่ได้กลิ่น ขณะที่ลิ้มรส ขณะที่กระทบสัมผัส
รวมถึงขณะที่นึกคิด ขณะที่เกิดความรู้สึกต่างๆ รัก ชอบ โกรธ เกลียด เมตตา อิจฉา
เบื่อ ขี้เกียจ เศร้า เสียใจ หรือความรู้สึกสุข ทุกข์ เฉยๆ ฯลฯ ทุกๆ ความรู้สึกที่เกิดขึ้น

หากขณะนั้นสติสัมปชัญญะเกิดขึ้นระลึกรู้ได้ถึงสภาพธรรมที่แท้จริงซึ่งกำลังปรากฏในขณะนั้น
ก็คือ สติปัฏฐานนั่นเองอ่ะคับ สติปัฏฐานจึงไม่ใช่เรื่องยุ่งยากหรือต้องมีขั้นตอนอะไรมากมาย
แต่ว่าเป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้ง และต้องมีความเข้าใจที่ถูกตรง ทั้งในขั้นหยาบไปจนถึงละเอียดอ่ะคับ
(มียกตัวอย่างของ อิริยาปถบรรพ ไว้ในกระทู้ตามลิงค์นี้นะคับ)
(http://www.watkoh.com/board/index.php?topic=1573.0)



http://www.watkoh.com/board/Smileys/default/cool.gif เดฟ

D E V
02-13-2009, 10:45 AM
ในส่วนของพระสูตรที่คุณเด็กบ้านยางสีสุราช ได้กรุณาอัญเชิญมานั้น
เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง...ต้องขออนุโมทนาด้วยคับ...ซ๊าทุ๊

พระสูตรต่างๆ ที่ได้ทรงแสดงไว้นั้น
ทรงแสดงไว้มากมายหลากหลาย ล้วนเกื้อกูลแก่การเจริญในธรรม
ซึ่งบางพระสูตรก็แสดงไว้โดยย่อ บางพระสูตรก็แสดงไว้โดยละเอียด
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าทรงแสดงกับใคร ที่ไหน เพื่ออะไร
อย่างเช่น สำหรับพระสารีบุตร
พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเพียงสั้นๆ ย่อๆ
ซึ่งด้วยปัญญาของพระสารีบุตรที่สั่งสมมา
ก็แตกฉานแทงทะลุได้โดยตลอดทั้งหมด
หากแต่สำหรับผู้ที่กำลังของปัญญาน้อย
ก็จะทรงแสดงธรรมอย่างขยายเพื่อเกื้อกูลแก่ความเข้าใจ
และเกิดการประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้อง

ในสติปัฏฐานสูตร หรือ อานาปานสติสูตร
ก็มีพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ว่าหมายถึงอย่างไร
และในพระสูตรอื่นก็จะมีพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ละเอียดหลากหลายต่างๆ กันไป
ซึ่งทุกๆ พระสูตรนั้น เมื่อประกอบกันเข้าแล้ว
ก็เป็นการเกื้อกูลแก่ความเข้าใจที่กระจ่างชัดเจนยิ่งขึ้น

ดังนั้น การเข้าใจในปรมัตถธรรม
คือสภาพธรรมอันมีจริง เป็นของจริงแท้ อันได้แก่ รูป จิต เจตสิก (รูปธาตุ-นามธาตุ)
ย่อมเกื้อกูลอย่างยิ่งแก่สติปัฏฐานสูตร หรือ อานาปานสติสูตร
ซึ่งทุกๆ บรรพในสติปัฏฐานสูตร หรืออานาปานสติสูตร
ก็ไม่พ้นไปจากรูปนามเลยอ่ะคับ



http://www.watkoh.com/board/Smileys/default/cool.gif เดฟ

DodE
02-13-2009, 10:51 AM
ครับท่านยาย เริ่มแรกเรียนหลักให้แจ่มชัดเสียก่อน นั่นควรต่อธรรมแล้ว
เมื่อเข้าใจหลักชัดเจน การปฏิบัติ ก็เป็นเรื่องที่เรียบง่าย สะบายๆ ครับ

สติปัฏฐาน 4 เป็นการฝึกเจริญสติ ระลึกรู้สภาวะธรรมตามความเป็นจริง
จะฝึกเจริญสติ ขั้นแรกก็ต้อง รู้จักก่อนว่า สติ เป็นอย่างไร
เพราะหากไม่รู้ชัดว่า สติ เป็นเช่นไรแล้ว ก็ไม่รู้ว่าเจริญอะไร อย่างไร อะไรก็ดูยากไปเสียหมด

สติคือความระลึกรู้ สภาวะธรรมตามความเป็นจริง
เวลาจะฝึกเจริญสติ เราก็เลือกเอาสภาวะธรรม คู่ใดคู่หนึ่งมาเรียน ครับ
สติปัฏฐาน 4 ก็จะมี ระลึกรู้กาย ระลึกรู้เวทนา ระลึกรู้จิต ระลึกรู้ธรรม
ตัวอย่างเช่น เราเลือกเรียน ระลึกรู้จิต จิตก็มีอารมณ์มากมายที่เกิดกับจิต ใช่ไหมครับ
เช่น โกรธ ดีใจ เสียใจ น้อยใจ รัก เมตตา หดหู เป็นต้น เราก็ไม่ต้องเรียนทั้งหมดหรอกครับ
เราก็เลือกเอาคู่ใดคู่หนึ่ง มาเจริญสติปัฏฐานครับ
สมมุติว่า ท่านยาย เลือกที่จะตามระลึกรู้ สภาวะจิตที่โกรธ กับสภาวะจิตที่ไม่โกรธ
เราก็รู้ๆ กันอยู่ว่า ความโกรธเป็นเช่นไร เวลาที่ความโกรธเกิดขึ้นเป็นสภาวะเช่นไรใช่ใหมครับ

ปฏิบัติกันเลยนะครับ ท่านยาย ท่านยายก็รู้สภาวะจริงที่เกิดเกิดขึ้นอยู่ตอนนี้ ปัจจุบันขณะนี้
ว่าจิตเป็นจิตมีความโกรธ หรือเป็นจิตที่ไม่มีความโกรธ หน่ะครับ
ก็ขยันดูจิตไปเรื่อยๆ ครับ พอท่านยายจำสภาวะธรรมได้แม่นแล้วว่า จิตที่มีความโกรธเป็นเช่นไร
พอความโกรธ เกิดขึ้นในปัจจุบัน (ในปัจจุบันเท่านั้น)
สติก็จะเกิดระลึกรู้ สภาวะธรรมคือความโกรธตามความเป็นจริงครับท่านยาย
หากจิตขณะนั้น เป็นสัมมาสติ คือไม่ยินดีหรือยินร้าย เป็นกลางอยู่ ก็จะเกิดวิปัสสนาญาน
เห็นความโกรธ ที่แว็บเกิดขึ้นมานั้น มันดับไป คือเห็นสภาวะธรรมคือความโกรธ เกิดขึ้นและดับไป
จะเกิดปัญญา เห็นไตรลักษณ์ คือความโกรธก็ไม่เทียง เกิดแล้วก็ดับไป
จิตที่ประกอบด้วยปัญญา ก็จะไม่หลงไปปรุงแต่ง เป็นเกลียด แค้น ชิงชัง พุดจาไม่ดี เป็นต้นครับ

ดังยกตัวอย่าง ก็จะเห็นว่า ฝึกไม่ยากเลยใช่ประครับพี่ท่านยาย
เจริญในธรรม ขอรับ

ทั่นยาย
02-13-2009, 03:19 PM
ขอบคุณท่านเดฟเป็นอย่างยิ่งค่ะที่กรุณาอธิบายชี้แจงอย่างละเอียด
จนทั่นยายเห็นถึงความความแตกต่างของอาณาปานสติ กับ สติปัฎฐานสี่
ชัดเจนเหมือนกลางวันกับกลางคืนฉะนั้นค่ะ นอกจากจะเข้าใจเรื่องของ
อาณาปานสติ กับ สติปัฎฐานสี่อย่างแจ่มแจ้งแล้ว ยังเข้าใจในสภาวะของจิต
ที่จะรับรู้ธรรมว่ามีอยู่สามระดับ หยาบ กลาง ละเอียด เพื่อเอื้อต่อการเข้าใจ
ในธรรมที่แสดงไว้หลายระดับเช่นกัน มีแบบเข้าใจง่ายๆไปจนเข้าใจยากสุดๆ
ทั่นยายเลยนึกถึงการเรียนหนังสือขึ้นมา จึงลองเทียบเคียงดูเพื่อให้ง่ายต่อการ
เข้าใจดังนี้ค่ะ
อนุบาล คือระดับปุถุชนทั่วไปที่เริ่มเรียนรู้ธรรมและปฎิบัติธรรม
ระดับประถม คือผู้ที่บรรลุธรรมขั้นคือโสดาบัน
ระดับมัธยมต้น คือผู้ที่บรรลุธรรมขั้นสกทาคามี
ระดับมัธยมปลาย คือผู้ที่บรรลุธรรมขั้นอนาคามี
ระดับป.ตรี คือผู้ที่บรรลุธรรมขั้นพระอรหันต์
ป.โท คือผู้ที่บรรลุธรรมขั้นพระปัจเจกพุทธเจ้า
ป.เอก คือผู้ที่บรรลุธรรมขั้นพระพุทธเจ้า

เมื่อรู้หลักความยากง่ายของการเรียนรู้ธรรมและการปฎิบัติธรรม
เป็นขั้นเป็นตอนได้ดังนี้แล้ว น้องโดดจ๋าจะช้าอยู่ใยเริ่มบทเรียนแรกกันเลยค่ะ
คือ สติคือความระลึกรู้ สภาวะธรรมตามความเป็นจริง
อู๊ย....ไม่ยากเลยค่ะน้องโดดจ๋า กว่าจะกล่อมเกลาจิตให้เป็นสัมมาสติได้น่ะค่ะ
เพราะปัจจัยมลภาวะทางจิตนั้นมีอยู่แทบทุกทิศทาง พุ่งเข้ามากระทบจิตก่อให้เกิด
สภาวะ โลภ โกรธ หลง ไม่หยุดหย่อน จึงทำให้เห็นสภาวะ เกิดดับ เกิดดับ เกิดดับ
ของอารมณ์ ยิ่งกว่าไฟกระพริบอีกค่ะ แบบนี้หากฟิวส์ไม่ขาดเสียก่อนค่าไฟคงแพงหูฉี่เลยเน๊าะ...อิ อิ

Butsaya
02-13-2009, 04:10 PM
http://www.watkoh.com/board/richedit/smileys/YahooIM/36.gif http://www.watkoh.com/board/richedit/smileys/YahooIM/34.gif
สวัสดีค่ะ ทั่นยาย สรุปแนวทางธรรมซะสนุกสนาน ไม่เครียดเลยอะค่ะ บุษยาแอบเข้ามา
อ่านด้วยก็รู้สึกสนุก ทั่นยายถามคำถามดีจังเลยอะค่ะ ทำให้คนที่มาอ่านได้ความรู้ไปด้วย
มีมุขฮา มากมายเลยอะค่ะ อ่านแล้วก็อดไม่ได้ที่จะขอส่งข้อความขอบคุณทั่นยายด้วย
คนอะค่ะ อิอิ.... สะดุดคำนี้อะค่ะ " แบบนี้หากฟิวส์ไม่ขาดเสียก่อนค่าไฟคงแพงหูฉี่เลยเน๊าะ...อิ อิ " ทั่นยายค่ะ แล้วถ้าแบทหมดอะค่ะ จะเป็นไง อิอิ...

D E V
02-13-2009, 04:18 PM
ขออนุโมทนาในกุศลจิต
ที่ได้สนทนาธรรมเพื่อน้อมนำให้เกิดการประพฤติปฏิบัติร่วมกัน
ซ๊าๆๆๆ ทุ๊คับ

คือสติปัฏฐานนี้เป็นคำรวม
เพื่อเรียกสภาวะที่สติเกิดขึ้นระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง
อะไรก็ได้ที่เป็นของจริงแท้ หากสติเกิดขึ้นระลึกรู้ได้ในขณะนั้น...ก็เป็นสติปัฏฐาน
ซึ่งได้ทรงประมวลสภาพธรรมทั้งหลายที่เป็นของจริงคือ รูป จิต เจตสิก
มาจำแนกแจกแจงออกเป็นหมวดๆ อีกที ได้แก่ กาย เวทนา จิต และ ธรรม

กาย ก็เป็น กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
เวทนา ก็เป็น เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
จิต ก็เป็น จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ธรรม ก็เป็น ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน


***********************************************


ลมหายใจนี้ก็เป็นของจริงแท้ที่มีอยู่...เป็นส่วนหนึ่งของกาย
จึงจัดอยู่ในหมวดกาย...ซึ่งเป็นรูปธาตุต่างๆ ที่ประชุมรวมกัน

เวลาที่สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลมหายใจ
และค่อยๆ รู้ชัดขึ้นตามความเป็นจริง
ถึงสภาพของความเป็นรูปธาตุต่างๆ ที่ปรากฏ
ขณะนั้นก็เป็น สติปัฏฐาน ซึ่งมีลมหายใจเป็นฐานให้สติระลึกรู้

ทีนี้ สภาวะที่สติกำลังระลึกรู้โดยมีลมหายใจเป็นฐานนี้เอง
พอเราเรียกชื่อเป็นภาษาบาลี
เราก็เลยเรียกว่า อานาปานสติ นั่นเองอ่ะคับ




http://www.watkoh.com/board/Smileys/default/cool.gif เดฟ

tal
02-14-2009, 05:27 PM
สวัสดีค่ะทั่นยาย พี่เดฟ ลุงโดด พี่บุษ และญาติธรรมทุก ๆท่าน

ขอบคุณทุกท่านมาก ๆ เลยนะคะ ที่ให้ความรู้ดี ๆ ให้อ่าน

ทั่นยายเปรียบเทียบได้ดีมาก ๆ เลยนะคะ

อนุบาล คือระดับปุถุชนทั่วไปที่เริ่มเรียนรู้ธรรมและปฎิบัติธรรม
ระดับประถม คือผู้ที่บรรลุธรรมขั้นคือโสดาบัน
ระดับมัธยมต้น คือผู้ที่บรรลุธรรมขั้นสกทาคามี
ระดับมัธยมปลาย คือผู้ที่บรรลุธรรมขั้นอนาคามี
ระดับป.ตรี คือผู้ที่บรรลุธรรมขั้นพระอรหันต์
ป.โท คือผู้ที่บรรลุธรรมขั้นพระปัจเจกพุทธเจ้า
ป.เอก คือผู้ที่บรรลุธรรมขั้นพระพุทธเจ้า (อ้างจากทั่นยาย)

ถ้าเปรียบเทียบมาแบบนี้ตาลต้องอยู่ระดับอนุบาล หรือมีต่ำกว่าอนุบาลรึป่าวคะ อิอิ

ถ้ามีตาลคงจะอยู่ต่ำกว่านั้นอ่ะคะ


ถึงจะอยู่อนุบาลก็จะพยายามตั้งใจปฏิบัติให้ขึ้นสู่ระดับประถมนะคะ

แต่เอ... พระโสดาบัน นี่ตาลจะขึ้นชั้นประถมได้รึป่าวน๊า..

สู้ ๆ เพื่อที่จะได้ขึ้นชั้นประถม อิอิ
http://www.watkoh.com/board/richedit/cliparts/9.gif บิน ๆ ๆ เร็ว ตาล



อนุโมทนาค่ะ http://www.watkoh.com/board/richedit/smileys/YahooIM/1.gif

*8q*
02-14-2009, 05:57 PM
แจ่มhttp://www.watkoh.com/board/Smileys/default/grin.gif

ทั่นยาย
02-15-2009, 09:31 AM
ขอบคุณท่านเดฟค่ะที่ได้กรุณาสรุปภาพโดยรวมของ สติปัฎฐาน กับอาณาปานสติให้อย่างชัดเจนเช่นนี้ค่ะ
เห็นทีทั่นยายต้องขออนุญาติยึดท่านเดฟเป็นกูรู ครูอนุบาลในด้านการเรียนรู้ธรรมะให้กับ
ทั่นยายด้วยนะคะ ...ข้าเจ้าขอคำนับท่านอาจารย์ค่ะ อิ อิ

คุณบุษยาขา หากแบตหมดจากไฟกระพริบก็เป็นมืดตึ๊ดตื้อสิคะ
คงต้องชาร์ทแบตใหม่ค่ะ เอ...หรือจะเปลี่ยนแบตใหม่ก็ได้ค่ะ อิอิ

น้องตาลจ๋า พวกเราที่ยังไม่บรรลุธรรมขั้นต้นนั้นมีสภาวะจิตเปรียบได้กับเด็กอนุบาลทุกคนแหล่ะค่ะ
เด็กอนุบาลเป็นเด็กเล็กที่ต้องเรียนรู้ทักษะในทุกๆด้านค่ะ เพื่อปรับเปลี่ยนและพัฒนา
ความคิด การพูด และการกระทำ ให้ถูกต้องเพื่อจะเป็นคนดีในอนาคตงัยคะ
เราจะเห็นว่าเด็กเล็กๆนั้นชอบโยเย งอแงเอาแต่ใจ พูดอะไรไม่ค่อยรู้เรื่อง ทำอะไรก็ขาดเหตุผล
ดื้อและซนอย่างร้ายกาจใช่มั้ยคะ เราจึงต้องคิดหาวิธีมาปราบฤทธิ์เจ้าตัวเล็กให้อยู่หมัด
ต้องมีลูกล่อลูกชนสารพัด ที่มีทั้งข่มขู่ และปลอบโยน มีขัดใจบ้างตามใจบ้างตามกาลเทศะ
จิตคนเราก็เหมือนเด็กเล็กๆนั่นแหล่ะค่ะน้องตาล จึงต้องใช้กลยุทธเดียวกับที่ใช้กำหราบเด็กเล็กๆนั่นแหล่ะค่ะ
ดั้งนั้น อาณาปานสติ หรือ สติปัฎฐานสี่ จึงเป็นกลอุบายที่เราจะใช้ในการกำหราบจิตที่โยเย
งอแงดื้อและซน ซึ่งเป็นจิตที่เรียกว่ามิจฉาทิฐิ ให้ค่อยๆเรียนรู้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาเป็น
จิตที่เป็นสัมมาทิฐิให้ได้ค่ะ พอจิตเราเป็นสัมมาทิฐิได้แล้ว ก็จะเป็นเด็กดีที่ว่านอนสอนง่ายใช่มั้ยค่ะ
ใครๆก็อยากเป็นเด็กดีจริงมั้ยคะน้องตาล เพราะเด็กดีหน่ะ เป็นเด็กที่ คิดดี พูดดี ทำดี
เรียนดีเรียนเก่ง เพราะมีพื้นฐานของจิตที่เป็นสัมมาทิฐินั่นเองค่ะ

หากจิตของน้องตาลเป็นเด็กดีหรือเป็นสัมมาทิฐิแล้ว รับรองว่าน้องตาลสามารถเรียนรู้
และปฎิบัติธรรมจนจบ ป.เอกได้ไม่ยากหรอกค่ะ เผลอๆอาจได้เกียรตินิยมอีกต่างหากนะคะ
หากน้องตาลเรียนเก่งอย่าลืมมาช่วยติวทั่นยายด้วยนะคะ เพราะตอนนี้ทั่นยายเรียน ก ยังไม่
ถึง ฮ เสียทีค่ะ ก้อมัวแต่แกล้งเพื่อนอยู่น่ะค่ะ ตามประสามิจฉาทิฐิค่ะ อิ อิ

DodE
02-16-2009, 06:27 PM
เมื่อคืนอ่านประวัติ พ่อแม่ครูอาจารย์ ลูกศิยษ์หลวงปู่มั่นหลายองค์
แต่ละองค์ เป็นผู้ที่เด็ดเดี่ยวและมั่นคงใน ขอวัตรปฏิบัติมาก
เรียกว่ายอมตาย เพื่อมรรคผลเลยที่เดียว

ได้ฟังหลวงพ่อปราโมทย์สอน บ่อยเหมือนกันว่า
มรรคผลเป็นของคนจริง ปฏิบัติให้จริง ปฏิบัติให้ต่อเนื่อง
ว่างจากการทำงาน นาทีสองนาที ก็อย่าทิ้ง
ให้ปฏิบัติลูกเดียว ไม่มีถ่อย รบกับกิเลสแบบยืดเยื้อหลวงพ่อท่านว่า ไม่มีแพ้
วันนี้ไม่พ้น เอาพรุ่งนี้ต่อ ชาตินี้ไม่พ้น ชาติหน้าก็สู้ต่อ สิบหกชาติไม่พ้น
ร้อยชาติ พันชาติก็สู้ต่อ จิตใจเช่นนี้ ถึงจะพ้นกิเลสได้

เรียนรู้หลักให้แม่น เดินไม่ผิดทางแล้ว
ก้าวเดินให้ต่อเนื่องครับ เจริญสติทุกๆ วัน
แล้วต่อด้วยทุกๆ ชั่วโมง
แล้วต่อด้วยทุกๆ นาที

จะพบว่า วันไม่มี ชั่วโมงไม่มี นาทีไม่มี
เห็นแค่ปัจจุบันขณะ...เท่านั้น

iamwis
02-16-2009, 10:07 PM
สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

ทั่นยาย
02-17-2009, 09:31 AM
อนุโมทนาสาธุด้วยค่ะน้องโดดจ๋า ขอให้เจริญในธรรมยิ่งๆขึ้นนะคะ
เคยอ่านปฎิปทาของครูบาอาจารย์หลายๆท่าน อ่านแล้วเกิดความเลื่อมใส
ศรัทธาทำให้จิตเป็นกุศลยิ่งนักค่ะ ทำให้เกิดกำลังใจที่จะสานต่อไปค่ะ
แต่กำลังใจของทั่นยายนั้นเป็นแบบยุบหนอพองหนอค่ะ อ่านทีก็พองที
พอห่างหายไปนานศรัทธาก็ยุบแฟบไปเช่นกัน จึงต้องเติมกำลังใจแห่ง
ความเลื่อมใสศรัทธากันอยู่บ่อยๆค่ะ ดังนั้นจึงขออนุญาตินำเรื่องความศรัทธา
อันบริสุทธิ์มุ่งมั่นมาให้อ่านกันเป็นการเติมน้ำมันประทีปแห่งศรัทธาไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะคะ

ประทีปนี้ไม่มีวันดับ

เมื่อครั้งพุทธกาล มีหญิงขอทานชรานางหนึ่ง
นางมักจะเฝ้าดูกษัตริย์ ราชบุตร และประชาชน
นำของมาถวายแด่พระพุทธองค์และพระสงฆ์สาวก
ไม่มีสิ่งใดที่นางปรารถนายิ่งไปกว่าจะได้กระทำดุจเดียวกันนี้
แต่นางทำได้เพียงไปขอได้น้ำมันมาหน่อยหนึ่งเพื่อเติมประทีป
ได้ดวงเดียวเท่านั้น นางนำประทีปนั้นไปจุดถวายเบื้องพระพักตร์
พลางตั้งจิตอธิษฐานว่า
“ ข้าพเจ้าหามีสิ่งใดอื่นจะถวาย นอกจากประทีปดวงน้อย
ด้วยทานครั้งนี้ในอนาคตกาลขอให้ข้าพเจ้าได้รับแสงสว่าง
จากประทีปแห่งปัญญา และขอให้สามารถช่วยสรรพสัตว์
ให้รอดพ้นจากความมืดมน ให้สามารถช่วยชำระล้างบาปโทษ
ทั้งมวลของส่ำสัตว์ และนำพาเขาเหล่านั้นไปสู่พระนิพพานด้วยเทอญ ”


ยามดึกคืนนั้น น้ำมันในประทีปทุกดวงต่างแห้งเหือดลงสิ้น
แต่ประทีปของหญิงขอทานยังคงส่องสว่างอยู่จนรุ่งสาง
เมื่อพระโมคคัลลามาเก็บประทีป ก็ไม่เห็นเหตุว่า
ทำไมประทีปน้อยดวงนี้จึงยังลุกโพลงอยู่
จึงพยายามเป่าให้ดับ แต่ไม่ว่าจะทำเช่นไรประทีปดวงนี้ก็หาดับลงไม่

พระพุทธองค์ได้ทัศนาอยู่ จึงดำรัสว่า...
“ โมคคัลลาน์...เธอปรารถนาจะดับประทีปดวงนั้นหรือ
เธอไม่อาจทำเช่นนั้นได้ ไม่เพียงแต่เธอจะไม่สามารถดับมันได้
แม้แต่เคลื่อนย้ายก็ทำไม่ได้ด้วยซ้ำ แม้ว่าเธอจะตักน้ำทั้งมหาสมุทร
มารดราดก็ไม่มีทางจะดับมันลงน้ำในสายธารและทะเลสาบทั่วทั้งโลก
ก็ไม่อาจดับมันได้ ด้วยเหตุว่าประทีปนี้ได้ถวายด้วยแรงแห่งศรัทธาด้วยจิตใจ
อันบริสุทธิ์ เจตนานี้ย่อมเป็นผลบุญอันไพศาล ”

หากบทความนี้จะก่อให้เกิดประทีปแห่งศรัทธาขึ้นมาได้บ้าง
ก็ขอ อนุโมทนาสาธุกับทุกท่านด้วยค่ะ สาธุ สาธุ สาธุ

เห็นด้วยกับโดดค่ะว่าการปฎิบัตินั้นความศรัทธาที่มุ่งมั่น
เป็นสิ่งจำเป็นที่สุดค่ะ หากเยาะแหยะเป็นตุ๊กตาล้มลุก
แบบทั่นยายนี้อย่าหวังจะก้าวหน้าในการปฎิบัติเลยค่ะ
หลวงพ่อจรัญท่านเคยพูดว่า คนจริงเท่านั้นจึงจะทำได้จริง
คนจริงคือคนที่ ไม่กลัวไฟ ไม่กลัวน้ำ ไม่กลัวฟ้า กล้าเผชิญทุกอย่าง
ลองบอกว่าจะทำแล้วเดินหน้าลูกเดียว คนแบบนี้เท่านั้น
จึงจะทำอะไรก็สำเร็จลงได้

รู้นะไม่ใช่ไม่รู้แต่ทำไม๊ทั่นยายจึงทำไม่ได้นะ
สงสัยว่าทั่นยายคงเป็นคนไม่เต็ม เอ้ยคนไม่เอาจริงอ่ะค่ะ อิ อิ