PDA

แสดงเวอร์ชันเต็ม : คู่มือพุทธประวัติ



*8q*
02-12-2009, 05:40 PM
จากฝ่ายจริยศึกษาโรงเรียนวัดดอน สำนักงานเขตสาธร กรุงเทพฯ

การเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้า มี ๒ อย่าง

๑ รูปกายอุบัติ หมายถึง การเกิดขึ้นด้วยรูปกาย มี ๒ อย่าง
๑ จุติลงสู่พระครรภ์มารดา เรียกว่า โอกกันติ
๒ ประสูติจากพระครรภ์มารดา เรียกว่า นิกขมนะ
๒. ธรรมกายอุบัติ หมายถึง การเกิดขึ้นด้วยธรรมกาย คือ การตรัสรู้

ทรงตรวจดูฐานะ ๕ อย่าง
พระโพธิสัตว์(ชื่อเรียกพระพุทธเจ้าขณะบำเพ็ญบารมีก่อนตรัสรู้) เกิดเป็นเทพบุตรบนสวรรค์ชั้นดุสิต ทรงพระนามว่า “สันดุสิตเทพบุตร” ก่อนจะจุติจากเทวโลกมาเกิดในโลกมนุษย์ ทรงพิจารณาฐานะ ๕ อย่าง เรียกว่า ปัญจมหาวิโลกนะ คือ
๑. กาล หมายถึง อายุของมนุษย์ในยุคนั้นต้องไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ ปี ไม่เกิน ๑ แสนปี
๒. ทวีป หมายถึง ชมพูทวีป
๓. ประเทศ หมายถึง มัธยมประเทศ
๔. สกุล หมายถึง สกุลกษัตริย์หรือพราหมณ์
๕. มารดา หมายถึง หญิงนั้นต้องบำเพ็ญบารมีมา ๑ แสนกัปป์ รักษาศีล ๕ เป็นนิจ

ปัญจบุพนิมิต ๕ อย่าง (อาการของเทวดาเมื่อใกล้จะจุติ)
๑. ดอกไม้ประดับพระวรกายเหี่ยวแห้ง
๒. พระภูษาเศร้าหมอง
๓. พระเสโทไหลออกจากพระกัจฉะ
๔. พระวรกายซูบผอม
๕. เบื่อหน่ายในทิพย์สมบัติ

ชมพูทวีป
ชมพูทวีป คือประเทศอินเดียโบราณ อยู่ทางทิศพายัพ(ตะวันออกเฉียงเหนือ) ของประเทศไทย (ชมพู แปว่า ต้นหว้า) ปัจจุบันชมพูทวีปแบ่งออกเป็น อินเดีย เนปาล บังคลาเทศ ปากีสถาน ภูฐาน
กลุ่มชนในชมพูทวีป มี ๒ กลุ่ม (๒ เผ่า)
๑. เผ่ามิลักขะ (ดราวิเดียน) ปกครองชมพูทวีปมาก่อน ไม่ฉลาดนัก
๒. เผ่าอริยกะ (อารยัน) อพยพมาจากตอนเหนือของชมพูทวีป ข้ามภูเขาหิมาลัยมาขับไล่พวกมิลักขะ ให้ถอยร่นไปทางใต้แล้วเข้าครอบครองชมพูทวีปแทน พวกอริยกะเป็นคนฉลาดและมีอำนาจมาก จึงปกครองชมพูทวีปได้ดีกว่าพวกมิลักขะ (พระพุทธเจ้าเป็นชนเผ่าอริยกะ)



ชมพูทวีป แบ่งเป็น ๒ ส่วน ( ๒ จังหวัด)
๑. จังหวัดส่วนใน เรียกว่า มัชฌิมชนบท หรือ มัธยมประเทศ หมายถึง ประเทศส่วนกลาง เป็นที่อยู่ของพวกอริยกะ เจริญรุ่งเรืองมาก
๒. จังหวัดส่วนนอก เรียกว่า ปัจจันตชนบท หมายถึง ประเทศชายแดน เป็นที่อยู่ของชนเผ่ามิลักขะ ไม่สู้เจริญนัก

อาณาเขตของมัชฌิมชนบท
ทิศบูรพา จรดมหาสาลนคร หรือ เบงกอล
ทิศอาคเนย์ จรดแม่น้ำสัลลวดี
ทิศทักษิณ จรดเสตกัณณนิคม หรือ เดกกัน
ทิศปัจจิม จรดถูนคาม หรือ บอมเบ
ทิศอุดร จรดภูเขาอุลีรธชะ หรือ เนปาล

ชมพูทวีป มี ๒๑ แคว้น
๑ อังคะ เมืองหลวงชื่อ จัมปา
๒ มคธ เมืองหลวงชื่อราชคฤห์
๓ กาสี เมืองหลวงชื่อ พาราณสี
๔ โกศล เมืองหลวงชื่อ สาวัตถี
๕ วัชชี เมืองหลวงชื่อ เวสาลี
๖ มัลละ เมืองหลวงชื่อ ปาวา และ กุสินารา
๗ เจตี เมืองหลวงชื่อ โสตถิวดี
๘ วังสะ เมืองหลวงชื่อ โกสัมพี
๙ กุรุ เมืองหลวงชื่อ อินทปัตถ์
๑๐ ปัญจาละ เมืองหลวงชื่อ กัปปิลละ
๑๑ มัจฉะ เมืองหลวงชื่อ สาคละ
๑๒ สุรเสนะ เมืองหลวงชื่อ มถุรา
๑๓ อัสสกะ เมืองหลวงชื่อ โปตลี
๑๔ อวันตี เมืองหลวงชื่อ อุชเชนี
๑๕ คันธาระ เมืองหลวงชื่อ ตักกสิลา
๑๖ กัมโพชะ เมืองหลวงชื่อ ทวารกะ
๑๗ สักกะ เมืองหลวงชื่อ กบิลพัสดุ์
๑๘ โกลิยะ เมืองหลวงชื่อ เทวทหะ
๑๙ ภัคคะ เมืองหลวงชื่อ สุงสุมาระคีระ
๒๐ วิเทหะ เมืองหลวงชื่อ มิถิลา
๒๑ อังคุตตราปะ เมืองหลวงชื่อ อาปณะ

*8q*
02-12-2009, 05:43 PM
การปกครอง
มีพระเจ้าแผ่นดินปกครอง ตั้งตนเป็นมหาราชาบ้าง ราชาบ้าง ปกครองโดยสิทธิ์ขาดแบบเผด็จการบ้าง โดยสามัคคีธรรม แบบประชาธิปไตยบ้าง

วรรณะ ๔
คนในชมพูทวีป แบ่งเป็น ๔ พวก เรียกว่า วรรณะ ๔
๑ กษัตริย์ พวกเจ้า มีหน้าที่ปกครองบ้านเมือง ถือตัวว่าเป็นวรรณะสูงสุด ศาสนาพราหมณ์ถือว่า เกิดจากแขนของพระพรหม มีสัญลักษณ์สีแดง
๒ พราหมณ์ พวกเล่าเรียน มีหน้าที่ศึกษาลัทธิศาสนาและวิทยาการต่างๆ พร้อมทั้งสั่งสอนประชาชน ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ถือตัวว่าเป็นวรรณะสูงสุด เพราะเกิดจากพระโอษฐ์(ปาก) ของพระพรหม มีสัญลักษณ์สีขาว
๓ แพศย์ พวกพลเรือน มีหน้าที่ประกอบอาชีพส่วนตัว เช่น กสิกรรม พาณิชกรรม(ทำไร่ทำนา ค้าขาย) จัดเป็นวรรณะชั้นสามัญหรือชั้นกลาง เกิดจากลำตัวหรือสะโพกของพระพรหม สัญลักษณ์สีเหลือง
๔ ศูทร พวกคนงาน มีหน้าที่รับจ้าง เป็นกรรมกรหรือคนใช้ภายในบ้าน เพราะการศึกษาต่ำ และยากจน จัดเป็นวรรณะต่ำสุด เกิดจากเท้าของพระพรหม มีสัญลักษณ์สีดำ
พวกที่อยู่ในวรรณะชั้นสูง รังเกียจพวกที่อยู่ในวรรณะต่ำ ไม่ยอมสมสู่แต่งงานด้วย อย่างไรก็ตาม คนในวรรณะสูงบางคน เช่น หญิงสาวจากวรรณะพราหมณ์ ลักลอบได้เสียกับหนุ่มในวรรณะศูทร ลูกที่เกิดมาเรียกว่า “จัณฑาล” ถือว่าเลวทรามเป็นที่ดูหมิ่นเหยียดหยามของคนทั่วไป

การศึกษาของคนในวรรณะทั้ง ๔
๑. กษัตริย์ ศึกษาเรื่องการปกครอง ยุทธวิธีในการรบ
๒. พราหมณ์ ศึกษาไตรเพทและพิธีกรรมทางศาสนา
๓. แพศย์ ศึกษาการค้าขาย กสิกรรม หัตถกรรม
๔. ศูทร ศึกษางานต้องใช้เรี่ยวแรง (กรรมกร)

ความเห็นเรื่องการตาย-เกิด
ความเห็นของคนในยุคนั้นแบ่งเป็น ๒ พวก
พวกที่ ๑ เห็นว่าตายแล้วเกิด พวกนี้พยายามทำความดีเพื่อไปเกิดในภพที่ดีกว่า
พวกที่ ๒ เห็นว่าตายแล้วสูญ พวกนี้ไม่สนใจทำความดี เพราะเห็นว่าตายแล้วไม่เกิดอีก
ความเห็นเรื่องสุข-ทุกข์
พวกที่ ๑ เห็นว่า สัตว์หรือมนุษย์จะได้สุขหรือทุกข์ก็ได้เองไม่มีเหตุปัจจัยบันดาล
พวกที่ ๒ เห็นว่า สุข-ทุกข์ ไม่ได้เกิดขึ้นเอง มีเหตุปัจจัยบันดาลให้เกิด
พวกที่ ๑ ขาดการขวนขวาย คอยแต่จะรับสุข-ทุกข์ สุดแต่จะเป็นไป ปล่อยชีวิตไปตามยถากรรม
พวกที่ ๒ เว้นชั่วประพฤติดี พยายามสร้างเหตุดี เพื่อคอยรับผลดีตอบสนอง

*8q*
02-12-2009, 05:44 PM
การเผยแผ่ลัทธิ
มีการตั้งตัวเป็นศาสดาสั่งสอนลัทธิความเชื่อถือของตนในหมู่ประชาชน ทำให้เกิดมีศาสดาและเจ้าลัทธิมากมาย เช่น ปูรณกัสสปะ สัญชัย เป็นต้น ศาสดาบางคนมีชื่อเสียงได้รับการยกย่องนับถือยิ่งกว่าพระเจ้าแผ่นดินก็มี

ลัทธิศาสนาพราหมณ์
คนในยุคนั้นทุกวรรณะส่วนใหญ่นับถือลัทธิศาสนาพราหมณ์ (มีพระพรหมเป็นพระเจ้า) มีคัมภีร์ เรียกว่า ไตรเพท หรือ ไตรเพทางค์ คือ
๑. ฤคเวท ว่าด้วยบทสวดอ้อนวอน และการสรรเสริญพระเจ้า
๒. ยชุรเวท ว่าด้วยพิธีกรรมและการบวงสรวง
๓. สามเวท ว่าด้วยบทสวดในพิธีถวายน้ำโสมแก่พระอินทร์
๔. อาถรรพณเวท ว่าด้วยคาถาอาคม มนต์ขลัง สำหรับขับไล่เสนียดจัญไร
หลักการสอนและแนวทางปฏิบัติ ศาสนาพราหมณ์สอนว่า โลกธาตุทั้งปวงมีเทวดาสร้างทั้งนั้นจึงมีการเซ่นสรวงสังเวย อ้อนวอนขอให้สำเร็จผลที่ตนปรารถนา มีการทรมานตนเองให้ลำบาก เรียกว่า ตบะต่อมาศาสนาพราหมณ์เปลี่ยนเป็นศาสนาฮินดู นับถือพระเจ้า ๓ พระองค์ เรียกว่า ไตรเทพ หรือ ตรีมูรติ คือ
๑. พระพรหม ผู้สร้างโลก
๒. พระวิษณุ (พระนารายณ์) ผู้พิทักษ์โลก
๓. พระศิวะ (พระอิศวร) ผู้ทำลายโลก

ศากยวงศ์-โกลิยวงศ์
พระเจ้าโอกกากราช ปกครองแคว้นๆหนึ่ง ทางตอนเหนือของชมพูทวีป มีโอรส ๔ พระองค์ ธิดา ๕ พระองค์ รวม ๙ พระองค์ ต่อมาพระมเหสีสิ้นพระชนม์ จึงอภิเษกสมรสใหม่ ได้พระโอรส ๑ พระองค์ พระนามว่า ชันตุราชกุมาร ทรงโปรดปรานพระโอรสองค์ใหม่มาก ถึงกับพลั้งพระโอษฐ์ให้พระมเหสีทูลขอสิ่งที่ต้องการได้ พระนางจึงทูลขอราชสมบัติให้กับพระโอรส พระองค์จึงต้องประทานให้แบบเสียมิได้ เพราะกษัตริย์ตรัสแล้วไม่คืนคำ จึงจำเป็นต้องให้พระโอรสพระธิดาทั้ง ๙ พระองค์ ไปสร้างเมืองอยู่ใหม่ในดงไม้สักกะ ป่าหิมพานต์ ซึ่งเป็นที่อยู่ของกบิลดาบส ชื่อเมือง กบิลพัสดุ์(ตั้งเลียนแบบชื่อของกบิลดาบส) ทั้งหมดยกเว้นพระเชษฐภคินี(พี่สาวคนโต ชื่อพระนางปิยา) ได้อภิเษกสมรสกันเองสืบเชื้อสายต่อมา ตั้งชื่อวงศ์กษัตริย์ของตนว่า “ศากยวงศ์” แปลว่า ตระกูลที่มีความสามารถ ตามพระดำรัสชมของพระบิดา ฝ่ายพระนางปิยา ได้อภิเษกกับเจ้าชายรามะแห่งเมืองเทวทหะ ที่ป่ากะเบา จึงตั้งชื่อวงศ์กษัตริย์ ของตนว่า “โกลิยวงศ์” (โกละ แปลว่า ต้นกะเบา) เมืองกบิลพัสดุ์กับเมืองเทวทหะ จึงเปรียบเหมือนเมืองพี่เมืองน้อง ปกครองด้วยสามัคคีธรรมสืบมาหลายชั่วอายุกษัตริย์ จนถึงสมัยพระเจ้าสญชัย พระเวสสันดรและพระชาลี เมืองกบิลพัสดุ์เปลี่ยนชื่อเป็น เชตุดร จากนั้นจึงเปลี่ยนมาใช้กบิลพัสดุ์ตามเดิม

กษัตริย์ศากยสกุล
กษัตริย์ศากยสกุล ในเมืองกบิลพัสดุ์ มีโคตร(นามสกุล) ว่า โคตมะ หรือ อาทิตย์โคตร สืบเชื้อสายมาตามลำดับ จนถึงสมัยพระเจ้าชยเสนะ ทรงมีพระโอรส-ธิดา รวม ๒ พระองค์ คือ สีหหนุ กับ ยโสธรา เมื่อพระเจ้าชยเสนะสิ้นพระชนม์ เจ้าชายสีหนุได้ครองราชสมบัติแทน ได้อภิเษกสมรสกับพระนางกัญจนา พระกนิษฐภคินี (น้องสาว) ของพระเจ้าอัญชนะ หรือ ชนาธิปราช แห่งเมืองเทวทหะ มีพระโอรส ๕ พระองค์ คือ
๑. สุทโธทนะ
๒. สุกโกทนะ
๓. อมิโตทนะ
๔. โธโตทนะ
๕. ฆนิโตทนะ (ลงท้ายด้วย โอทนะ แปลว่า ข้าวสุก)
พระธิดา ๒ พระองค์ คือ
๑. ปมิตา
๒. อมิตา
ส่วนพระนางยโสธรา ได้อภิเษกสมรสกับเจ้าชายอัญชนะ แห่งเมืองเทวทหะ มีโอรส ๒ พระองค์ คือ
๑. สุปปพุทธะ
๒. ทัณฑปาณิ
พระธิดา ๒ พระองค์ คือ
๑. มายา
๒. ปชาบดี หรือ โคตมี
ต่อมา เจ้าชายสุทโธทนะ ได้อภิเษกสมรสกับพระนางมายา ณ ปราสาทโกกนุท อโศกอุทยาน เมืองเทวทหะ เมื่อพระชนมายุ ๑๖ พรรษา เท่ากันทั้งสองพระองค์ เมื่อพระเจ้าสีหนุสวรรคตแล้ว เจ้าชายสุทโธทนะได้ครองราชสมบัติแทน
<!-- / message -->

*8q*
02-12-2009, 05:46 PM
การอภิเษกสมรสของเชื้อพระวงศ์องค์อื่น
เจ้าชายสุกโกทนะ กับ พระนางกีสาโคตมี ได้พระโอรส คือ อานนท์
เจ้าชายอมิโตทนะ กับ(ใครไม่ปรากฏ) ได้พระโอรส คือ มหานามะ อนุรุทธะ โรหิณี (ธิดา)
เจ้าหญิงอมิตา กับ เจ้าชายสุปปพุทธะ ได้พระโอรส คือ เทวทัตต์ พระธิดา คือ ยโสธราหรือพิมพา

สิทธัตถะกุมารประสูติ
เมื่ออภิเษกสมรสได้ ๑๐ พรรษา พระนางสิริมหามายาก็ทรงพระครรภ์ ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ปีระกา เวลาใกล้รุ่ง(สันดุสิตเทพบุตร จุติลงมาเกิด) ทรงสุบินนิมิต(ฝัน) ว่า
๑. ท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ อุ้มพระนางไปสู่ป่าหิมพานต์ ประทับบนแผ่นหิน ใต้ต้นสาละ
๒. นางเทพธิดาเชิญให้สรงน้ำในสระอโนดาด แล้วประทับบนวิมานทอง
๓. ช้างเผือกถือดอกบัวสีขาวเดินเวียน ๓ รอบ แล้วหายไปในพระครรภ์
เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบเรื่องสุบินนิมิต จึงเชิญพราหมณ์ ๖๔ คน มาพยากรณ์สุบินนิมิต พราหมณ์พยากรณ์ว่า จะได้พระโอรสที่เลิศกว่าใครในโลก ทรงให้การบำรุงรักษาพระครรภ์ของพระมเหสีอย่างดียิ่ง เมื่อครบ ๑๐ เดือน (ทศมาส) วันหนึ่งพระนางสิริมหามายา ได้ทูลลาพระสวามีเสด็จกลับเมืองเทวทหะ เพื่อคลอดพระโอรสตามประเพณีพราหมณ์(หญิงมีครรภ์ต้องกลับไปคลอดที่บ้านเดิม) บางตำราว่า เสด็จประพาสป่าเพื่อความเกษมสำราญ เมื่อเสด็จถึงสวนลุมพินีวัน ซึ่งอยู่ระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์กับเมืองเทวทหะ ทรงประชวรเจ็บพระครรภ์ จึงประสูติพระโอรส ใต้ต้นสาละ ในพระอิริยาบถยืน หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๑๕ เดือน ๖ ปีจอ ก่อน พ.ศ. ๘๐ ปี เวลาใกล้เที่ยง พระกุมารดำเนินด้วยพระบาทได้ ๗ ก้าว เปล่งอาสภิวาจา คือ วาจาที่เปล่งออกมาด้วยความองอาจ ไม่มีผู้ใดเคยเปล่งมาก่อน ว่า
“เราเป็นผู้ยอดเยี่ยม เป็นผู้เจริญที่สุด การเกิดครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย ภพต่อไปจะไม่มีอีก”พระเจ้าสุทโธทนะ เมื่อทรงทราบข่าวการประสูติ มีรับสั่งให้เสด็จกลับพระนครโดยทันที

เหตุการณ์ในวันประสูติ
๑. พระมารดาประทับยืน หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก
๒. พระกุมารดำเนินไปทางทิศเหนือได้ ๗ ก้าว
๓. พระกุมารเปล่งอาสภิวาจา
๔. มีท่อน้ำร้อนน้ำเย็นตกจากอากาศสรงสนานพระกุมาร
๕. มีเทวดายื่นพระหัตถ์มารองรับพระกุมาร

เหตุการณ์หลังประสูติ
ประสูติได้ ๓ วัน อสิตดาบส หรือ กาลเทวิลดาบส เข้าเยี่ยม เห็นลักษณะของพระกุมารถูกต้องตามตำรามหาปุริสลักษณะ (ตำราดูลักษณะคน) ทำนายว่ามีลักษณะ ๒ อย่าง คือ ถ้าอยู่ครองฆราวาสจะได้เป็นจักรพรรดิ ถ้าออกบวชจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า แล้วกราบที่พระบาทพระกุมาร พลางหัวเราะแล้วร้องไห้ พระเจ้าสุทโธทนะและข้าราชบริพาร ก็กราบที่พระบาทของพระกุมารตามไปด้วย
ประสูติได้ ๕ วัน เชิญพราหมณ์ ๑๐๘ คน มาเลี้ยงอาหาร แล้วคัดเลือกพราหมณ์ที่ชำนาญด้านการพยากรณ์ ๘ คน ให้ทำนายลักษณะและขนานพระนาม (ตั้งชื่อ) คือ
๑. รามพราหมณ์
๒. ลักษณพราหมณ์
๓. ยัญญพราหมณ์
๔. ธุชพราหมณ์
๕. โภชพราหมณ์
๖. สุทัตตพราหมณ์
๗. สุยามพราหมณ์
๘. โกณฑัญญพราหมณ์ (หนุ่มที่สุด)
พราหมณ์ ๗ คนแรก พยากรณ์ ๒ อย่าง คือ ถ้าครองฆราวาสจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ถ้าออกบวช จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า แต่โกณฑัญญพราหมณ์ พยากรณ์อย่างเดียวว่า พระกุมารจะเสด็จออกผนวชและได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน (พระเจ้าสุทโธทนะ ไม่ต้องการให้พระกุมารออกบวช)) ต่อจากนั้นได้ขนานพระนามพระกุมารว่า “สิทธัตถะ” แปลว่า ผู้มีความต้องการสำเร็จ และ”อังคีรส” แปลว่าผู้มีรัศมีแผ่ออกจากพระวรกาย แต่ประชาชนนิยมเรียกตามโคตรว่า โคตมะ
ประสูติได้ ๗ วัน พระมารดาสิ้นพระชนม์(ขณะนั้นพระนางสิริมหามายามีพระชนมายุได้ ๒๖ พรรษา) พระเจ้าสุทโธทนะทรงมอบให้พระนางปชาบดีโคตมี พระมาตุจฉา(น้า) เลี้ยงดูสิทธัตถะกุมารแทน และได้อภิเษกสมรสกันในโอกาสต่อมา มีพระโอรสและพระธิดา อย่างละ ๑ พระองค์ คือ เจ้าชายนันทะ กับเจ้าหญิงรูปนันทา
พระชนมายุได้ ๗ พรรษา
๑ เสด็จงานวัปปมงคล (แรกนาขวัญ)กับพระบิดา ประทับใต้ต้นชมพูพฤกษ์(ต้นหว้า) ทำสมาธิ
เจริญอานาปานสติกัมมัฏฐาน จนบรรลุปฐมฌาน เกิดอัศจรรย์ เงาของต้นหว้าไม่คล้อยไปทั้งๆที่เป็นเวลาบ่าย พระเจ้าสุทโธทนะ ทรงเห็นความอัศจรรย์ จึงกราบพระโอรสเป็นครั้งที่ ๒
๒ พระบิดารับสั่งให้ขุดสระโบกขรณี (สระบัว) ๓ สระ คือ
สระที่ ๑ ปลูกอุบล บัวขาบ
สระที่ ๒ ปลูกปทุม บัวหลวง
สระที่ ๓ ปลูกปุณฑริก บัวขาว
พระชนมายุได้ ๘ พรรษา เข้ารับการศึกษาศิลปะ ๑๘ อย่าง ในสำนักของครูวิศวามิตร มีวิชาขี่ม้า ยิงธนู เป็นต้น ทรงเรียนได้รวดเร็วจนหมดความรู้ของครูอาจารย์ ทรงมีโอกาสได้แสดงศิลปะการยิงธนูในท่ามกลางหมู่พระญาติ ด้วยพระปรีชาสามารถอย่างยอดเยี่ยม
พระชนมายุได้ ๑๖ พรรษา
๑. พระบิดาได้สร้างปราสาทเพื่อประทับใน ๓ ฤดู (ปราสาท ๓ ฤดู) คือ
วัมยปราสาท ประทับในฤดูหนาว
สุรัมยปราสาท ประทับในฤดูร้อน
สุภปราสาท ประทับในฤดูฝน
๒. อภิเษกสมรสกับพระนางยโสธรา พิมพา ธิดาของพระเจ้าสุปปพุทธะ และพระนางอมิตา แห่งเมืองเทวทหะ (อภิเษกที่เมืองกบิลพัสดุ์)
๓. ครองราชสมบัติแทนพระบิดา
พระชนมายุได้ ๒๙ พรรษา
๑. ทรงมีพระโอรส (ราหุล)
๒. เสด็จออกบรรพชา

*8q*
02-12-2009, 05:47 PM
เสด็จออกบรรพชา
เมื่อพระชนมายุได้ ๒๙ พรรษา วันหนึ่งได้ขออนุญาตจากพระบิดาเสด็จออกประพาสอุทยานกับนายฉันนะมหาดเล็กคนสนิท ทรงพบเทวทูต ๔ หรือนิมิต ๔ ที่เทวดาเนรมิตขึ้น ได้แก่ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย สมณะ ทรงพิจารณาว่า ความแก่ความเจ็บความตาย เป็นทุกข์ครอบงำมหาชนอยู่ ไม่มีใครล่วงพ้นได้ เพราะไม่ได้ฟังคำสอนของนักปราชญ์ ทำให้หลงระเริงมัวเมาในวัย ในความไม่มีโรค ในชีวิต ทรงสังเวชสลดพระทัย แต่ทรงพอพระทัยเมื่อพบสมณะ
ทรงบรรเทาความเมา ๓ ประการ
๑. บรรเทาความเมาในวัย ด้วยการเห็นคนแก่
๒. บรรเทาความเมาในความไม่มีโรค ด้วยการเห็นคนเจ็บ
๓. บรรเทาความเมาในชีวิต ด้วยการเห็นคนตาย

แสวงหาโมกขธรรม(ทางพ้นทุกข์)
เจ้าชายสิทธัตถะพิจารณาเห็นว่า ตามธรรมดาสิ่งทั้งปวงย่อมมีของแก้กัน คือ มีร้อนก็มีเย็นแก้ มีมืดก็มีสว่างแก้ จะต้องมีวิธีแก้ทุกข์ ๓ อย่างนี้ได้ แต่ถ้าอยู่ในเพศฆราวาสคงไม่สะดวกในการแสวงหา เพราะฆราวาสคับแคบเกินไป เป็นที่ตั้งแห่งอารมณ์ที่ทำใจให้เศร้าหมองด้วยความรัก ความชัง ความหลง และความกลัว บรรพชิตมีช่องว่าง พอแสวงหาทางพ้นทุกข์ได้ ทรงตัดสินพระทัยเสด็จออกบวชเพื่อแสวงหาโมกขธรรม(ทางพ้นทุกข์)
ในเวลาเย็นของวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๘ ทราบข่าวการประสูติพระโอรสของพระนางยโสธรา พิมพา ทรงเปล่งอุทานว่า ราหุลํ ชาตํ พนฺธนํ ชาตํ แปลว่า บ่วงเกิดแล้ว เครื่องผูกมัดเกิดขึ้นแล้ว พระกุมารจึงได้พระนามว่า ราหุล แปลว่า ห่วง หรือ บ่วง ทรงสดับเสียงสรรเสริญของนางกีสาโคตมี ใจความว่า
นิพฺพุตา นูน สา มาตา นิพฺพุโต นูน โส ปิตา
นิพฺพุตา นูน สา นารี ยสฺสายํ อีทิโส ปติ
เจ้าชายสิทธัตถะนี้ เป็นโอรสของมารดาใด พระมารดานั้นเย็นใจได้แน่
เป็นพระโอรสแห่งพระบิดาใด พระบิดานั้นเย็นใจได้แน่
เป็นพระสวามีแห่งนารีใด นารีนั้นเย็นใจได้แน่
ทรงพอพระทัยในคำว่า นิพฺพุตา ซึ่งแปลว่า ดับ เย็น (เรียกว่า อมตบท) ซึ่งพระองค์ไม่เคยได้ยินคำนี้มาก่อน จึงประทานสร้อยไข่มุกจากพระศอให้เป็นรางวัล ในเวลามัชฌิมยาม (ยามกลาง,ยามสอง) ของคืนนั้น เจ้าชายสิทธัตถะตื่นจากบรรทม เห็นพวกนางบำเรอนอนกันเกลื่อนกลาด เหมือนซากศพที่ทิ้งไว้ในป่าช้า ปราสาทราชวังมองดูเหมือนป่าช้า ทรงสลดพระทัย จึงตัดสินพระทัยออกบวช เสด็จหนีจากพระนคร ทรงม้ากัณฐกะ (มีลักษณะสีขาว ศีรษะดำ ยาว ๑๘ ศอก) มีนายฉันนะตามเสด็จ เรียกว่า เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ (การเสด็จออกเพื่อคุณอันยิ่งใหญ่ หมายถึง การออกบวช) วัสวดีมาร ห้ามว่า “อย่าเสด็จออกบรรพชาเลย อีก ๗ วันจะได้อภิเษกเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ” ทรงห้ามมารแล้วเสด็จออกจากพระนคร ระยะทาง ๓๐ โยชน์ (ประมาณ ๔๘๐ กม.) ถึงแม่น้ำอโนมา แคว้นมัลละ รับสั่งให้นายฉันนะนำเครื่องทรงกษัตริย์และม้ากัณฐกะกลับพระนคร พอนายฉันนะไปได้หน่อยหนึ่ง ม้ากัณฐกะก็สิ้นใจตาย เพราะอาลัยรักในเจ้าชายสิทธัตถะ

อธิษฐานเพศเป็นบรรพชิต
เจ้าชายสิทธัตถะ ทรงตัดพระเมาลี(ผมจุก) ด้วยพระขรรค์ แล้วอธิษฐานเพศเป็นบรรพชิต ณ ริมฝั่งแม่น้ำอโนมา แคว้นมัลละ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๘ เวลาใกล้รุ่ง พระอินทร์(ท้าวสักกะ) ได้นำพระเมาลีไปบรรจุไว้ที่จุฬามณี บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ฆฏิการพรหม ได้นำบริขารมีบาตร จีวร เป็นต้นมาถวาย แล้วนำพระภูษา(เสื้อผ้า) ของเจ้าชายสิทธัตถะ ไปบรรจุไว้ที่ทุสเจดีย์ ในพรหมโลก เจ้าชายสิทธัตถะนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์(ผ้าที่ย้อมด้วยรสฝาดของต้นไม้) ถือเพศบรรพชิต ตั้งแต่นั้นมา ประชาชนนิยมเรียกพระองค์ว่า พระสิทธัตถะบ้าง พระมหาบุรุษบ้าง พระสมณโคดมบ้าง

พักอยู่ที่อนุปิยอัมพวัน
เมื่อบรรพชาแล้ว พระมหาบุรุษประทับอยู่ที่อนุปิยอัมพวัน(ป่ามะม่วง) เป็นเวลา ๗ วัน รุ่งขึ้นจึงเสด็จไปยังแคว้นมคธ ประทับที่ภูเขาปัณฑวะ เสด็จออกบิณฑบาตและเสวยภัตตาหารเป็นมื้อแรกหลังจากเสด็จออกบรรพชา
พระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์แห่งแคว้นมคธเสด็จมาเฝ้า ทรงเชื้อเชิญพระมหาบุรุษด้วยราชสมบัติ แต่พระมหาบุรุษทรงปฏิเสธ พระเจ้าพิมพิสารทูลว่า ถ้าตรัสรู้แล้วขอให้เสด็จมาโปรดพระองค์บ้าง พระมหาบุรุษทรงรับคำ

*8q*
02-12-2009, 05:48 PM
เสด็จไปศึกษาในสำนักของอาจารย์ทั้งสอง
พระมหาบุรุษเสด็จจากภูเขาปัณฑวะ ไปศึกษาในสำนักของอาจารย์ ๒ ท่าน คือ
ท่านแรกชื่อ อาฬารดาบส กาลามโคตร ได้รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๓
ท่านที่สองชื่อ อุทกดาบส รามบุตร ได้อรูปฌานอีก ๑ รวมเป็น ๔ เรียกว่า สมาบัติ ๘
พระมหาบุรุษศึกษาอย่างรวดเร็ว จนหมดความรู้ของอาจารย์ทั้งสอง เห็นว่าไม่ใช่ทางตรัสรู้ จึงลาอาจารย์เสด็จไปยังอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ เพื่อศึกษาค้นคว้าด้วยพระองค์เองต่อไป

สาเหตุที่ทรงเลือกตำบลอุรุเวลาเสนานิคมเป็นที่บำเพ็ญเพียร
๑. มีพื้นที่ราบรื่น
๒. มีป่าไม้เขียวขจีน่ารื่นรมย์
๓. อยู่ใกล้แม่น้ำเนรัญชรา
๔. มีท่าน้ำ ขึ้นลงสะดวก
๕. ไม่ไกลจากหมู่บ้าน สะดวกในการบิณฑบาต

บำเพ็ญทุกกรกิริยา
จะกล่าวถึงปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ คือ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ อัสสชิ ได้ออกติดตามพระมหาบุรุษไปยังที่ต่างๆ จนไปพบที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ได้เฝ้าปฏิบัติรับใช้โดยหวังว่า เมื่อพระมหาบุรุษตรัสรู้แล้ว จะได้แสดงธรรมโปรดพวกตนบ้าง
ส่วนพระมหาบุรุษเริ่มบำเพ็ญทุกกรกิริยา แปลว่า การกระทำที่ทำได้ยาก หมายถึง การทรมานร่างกาย ซึ่งเป็นที่นิยมกันในสมัยนั้น รวม ๓ วาระ คือ
วาระที่ ๑ ทรงกดพระทนต์ด้วยพระทนต์(ใช้ฟันขบกัน) กดพระตาลุด้วยพระชิวหา(ใช้ลิ้นกดเพดานปาก) จนพระเสโท(เหงื่อ)ไหลออกจากพระกัจฉะ(รักแร้)
วาระที่ ๒ ทรงกลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะ(ลมหายใจเข้า-ออก) ทำให้เกิดเสียงอู้ในช่องพระกรรณ(หู)ทั้งสอง ให้ปวดพระเศียร เสียดพระอุทร ร้อนในพระวรกายเป็นกำลัง
วาระที่ ๓ ทรงอดพระกระยาหาร ผ่อนเสวยวันละน้อย จนพระวรกายเหี่ยวแห้ง พระฉวีวรรณเศร้าหมอง พระอัฐิปรากฏทั่วพระวรกาย(เหลือแต่หนังหุ้มกระดูก) จนถึงวิสัญญีภาพ(สลบ)
ขณะนั้น เทวดาตนหนึ่งคิดว่าพระมหาบุรุษสิ้นชีวิตแล้ว จึงไปกราบทูลพระเจ้าสุทโธทนะให้ทรงทราบ แต่พระองค์ไม่ทรงเชื่อ เพราะทรงมั่นพระทัยว่า ถ้าไม่ได้ตรัสรู้ พระโอรสจะยังไม่สิ้นชีวิต

อุปมา ๒ อย่าง
พระมหาบุรุษทรงทรมานพระองค์มากมายถึงเพียงนี้ก็ยังไม่ได้ตรัสรู้ ทรงดำริว่า ทุกกรกิริยาคงไม่ใช่ทางตรัสรู้เสียแล้ว ทรงเปรียบเทียบการกระทำของพระองค์กับอุปมา ๒ อย่าง คือ
๑ อุปมาด้วยพิณ ๓ สาย
สายที่ ๑ ขึงตึงเกินไป ทำให้ขาดง่าย
สายที่ ๒ ขึงหย่อนเกินไป ฟังไม่ไพเราะ
สายที่ ๓ ขึงตึงพอดี ฟังไพเราะ ไม่ขาดง่าย
ทรงเปรียบพระองค์เหมือนพิณที่ขึงตึงเกินไป ทรงพอพระทัยในพิณที่ขึงพอดี
๒ อุปมาด้วยไม้สด-ไม้แห้ง ๓ ข้อ
๑ สมณพราหมณ์ผู้มีกายและใจยังไม่ออกจากกาม แม้บำเพ็ญสมณธรรมสัก
เพียงใดก็ไม่สามารถตรัสรู้ได้ เหมือนไม้สดชุ่มด้วยยาง วางไว้ในน้ำ ไม่สามารถสีให้เกิดไฟได้
๒ สมณพราหมณ์ผู้มีกายออกจากกาม แต่ยังพอใจในกามอยู่ แม้บำเพ็ญ
สมณธรรมสักเพียงใดก็ไม่สามารถตรัสรู้ได้ เหมือนไม้สดชุ่มด้วยยาง วางไว้บนบก ไม่สามารถสีให้เกิดไฟได้
๓ สมณพราหมณ์ผู้มีกายและใจออกจากกามแล้ว เมื่อบำเพ็ญสมณธรรมก็
สามารถตรัสรู้ได้ เหมือนไม้แห้ง วางไว้บนบก สามารถสีให้เกิดไฟได้
ทรงเปรียบเทียบพระองค์เหมือนอุปมาข้อ ๒ ทรงพอพระทัยในอุปมาข้อที่ ๓

*8q*
02-12-2009, 05:48 PM
หวนระลึกถึงอดีต
ทรงหวนระลึกถึงเหตุการณ์ในอดีต เมื่อพระชนมายุ ๗ พรรษา เคยเสด็จงานวัปปมงคล แรกนาขวัญ ประทับใต้ต้นชมพูพฤกษ์ เจริญอานาปานสติกัมมัฏฐาน จนบรรลุปฐมฌาน ทำให้ทรงมั่นพระทัยยิ่งขึ้นว่า การบำเพ็ญเพียรทางจิต ต้องเป็นหนทางแห่งการตรัสรู้อย่างแน่นอน จึงตัดสินพระทัยเลิกบำเพ็ญทุกกรกิริยา กลับมาเสวยภัตตาหารให้พระวรกายแข็งแรง เพื่อบำเพ็ญเพียรทางจิตต่อไป (การระลึกถึงอดีตในครั้งนั้น เรียกว่า สตานุสารีวิญญาณ แปลว่า วิญญาณไปตามสติ )

ปัญจวัคคีย์หนีพระมหาบุรุษ
เมื่อพระมหาบุรุษเลิกบำเพ็ญทุกกรกิริยา ปัญจวัคคีย์พากันสิ้นหวัง เพราะเข้าใจว่า “พระมหาบุรุษทรงคลายความเพียรเวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมากเสียแล้ว” จึงพากันหนีไปอยู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นกาสี การหนีไปของปัญจวัคคีย์กลับเป็นผลดีต่อพระมหาบุรุษ กล่าวคือ
๑ บรรยากาศสงัดเงียบ ไม่มีผู้รบกวน เหมาะอย่างยิ่งในการบำเพ็ญทางจิต
๒ การอยู่พระองค์เดียวตามลำพัง ทำให้สิ้นกังวลห่วงใยในปัญจวัคคีย์

เหตุการณ์ก่อนตรัสรู้
คืนวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ พระมหาบุรุษทรงสุบินนิมิต ๕ ประการ คือ
๑. ทรงบรรทมหงายเหนือพื้นปฐพี พระเศียรหนุนเขาหิมพานต์ พระหัตถ์ซ้ายหยั่งลงในมหาสมุทรด้านทิศตะวันออก พระหัตถ์ขวาหยั่งลงในมหาสมุทรด้านทิศใต้ ทรงพยากรณ์ว่าจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
๒. หญ้าแพรกงอกจากพระนาภี สูงขึ้นไปบนท้องฟ้า ทรงพยากรณ์ว่า จะได้ประกาศธรรมแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งมวล
๓. หมู่หนอนจำนวนมาก ขาวบ้างดำบ้าง ไต่ขึ้นมาจากพระบาทถึงพระชงและพระชานุ ทรงพยากรณ์ว่า คฤหัสถ์และพราหมณ์เป็นอันมาก จะมาสู่สำนักของพระองค์
๔. หมู่กาดำและกาขาวบินมาจากทิศทั้ง ๔ เมื่อมาสู่สำนักของพระองค์ก็กลายเป็นกาขาวทั้งสิ้น ทรงพยากรณ์ว่า คนทั้ง ๔ วรรณะจะมาเป็นสาวกของพระองค์
๕. เสด็จไปเดินจงกรมบนยอดเขาที่เต็มไปด้วยอาจม แต่อาจมก็ไม่ได้เปื้อนพระบาท ทรงพยากรณ์ว่า ถึงแม้พระองค์จะบริบูรณ์ด้วยอามิส แต่ไม่ทรงติดในอามิสนั้น
วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ เวลาเช้า พระมหาบุรุษประทับใต้ต้นไทร นางสุชาดา บุตรีของกุฎุมพี(ผู้มั่งคั่ง) ผู้ใหญ่บ้านเสนานิคม ตำบลอุรุเวลา ได้นำข้าวมธุปายาส(ข้าวที่หุงด้วยนมโคสด) ใส่ถาดทองไปยังต้นไทร เพื่อบวงสรวงเทวดา เพราะนางได้บนไว้ว่า ขอให้นางได้แต่งงานกับชายหนุ่มที่มีฐานะทัดเทียมกัน และขอให้มีบุตรคนแรกเป็นชาย นางได้ประสบความสำเร็จตามที่บนไว้ จึงนำข้าวมธุปายาสไปถวายพร้อมทั้งถาดทอง นางได้อวยพรว่า “ความปรารถนาของหม่อมฉันสำเร็จฉันใด ขอความปรารถนาของพระองค์จงสำเร็จฉันนั้นเถิด” พระมหาบุรุษทรงปั้นข้าวมธุปายาสได้ ๔๙ ก้อน โตเท่าผลตาลสุก เพื่อเก็บไว้เสวยได้ ๗ สัปดาห์ (๔๙ วัน) เสวยส่วนที่เหลือจนหมดนำถาดทองไปลอยที่แม่น้ำเนรัญชรา อธิษฐานพระทัยว่า “ถ้าจะได้ตรัสรู้ขอให้ถาดลอยทวนกระแสน้ำ” ถาดได้ลอยทวนกระแสน้ำไปประมาณ ๑ เส้น จึงจมหายไป จากนั้นทรงพักผ่อนพระอิริยาบถที่ใต้ต้นสาละ เวลาบ่ายเสด็จไปยังต้นอัสสัตถพฤกษ์(ต้นศรีมหาโพธิ์) ระหว่างทางด้านทิศตะวันตกของแม่น้ำเนรัญชรา ทรงพบโสตถิยพราหมณ์ ทรงรับหญ้าคา ๘ กำ ที่โสตถิยพราหมณ์ถวาย นำไปปูลาดเป็นอาสนะใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ เรียกว่า รัตนบัลลังก์ เสด็จประทับบนรัตนบัลลังก์นั้น หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก ทรงกระทำ จาตุรงคมหาปธาน คือการอธิษฐานพระทัยว่า “แม้เลือดและเนื้อในกายของเราจะเหือดแห้งไป เหลือแต่หนัง เอ็น กระดูก ก็ตามที หากไม่บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณแล้วจะไม่ลุกขึ้นเป็นอันขาด” (จาตุรงคมหาปธาน คือ ความเพียรใหญ่ประกอบด้วยองค์ ๔ คือ หนัง เอ็น กระดูก เนื้อเลือด) แล้วเริ่มบำเพ็ญเพียรทางจิต (ทำสมาธิ) ต่อไป

มารผจญ
ขณะที่พระมหาบุรุษเริ่มบำเพ็ญเพียรทางจิต พระยาวัสวดีมาร เกิดความอิจฉาไม่ต้องการให้มหาบุรุษตรัสรู้ ขึ้นช้างทรงชื่อ คีรีเมขละ พร้อมด้วยเสนามารเป็นอันมาก เข้าขัดขวางแย่งชิงรัตนบัลลังก์ ทรงยึดมั่นในพระบารมี ๑๐ ทัศ ที่ทรงบำเพ็ญมาในอดีต คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา ทรงอ้างแม่พระธรณีชื่อ วสุนธรา เป็นพยาน พระยามารจึงพ่ายแพ้ไปเมื่อพระอาทิตย์ยังไม่อัสดงคต (พระยามาร คือ กิเลสกามในพระทัยของพระองค์) การอ้างพระแม่ธรณีเป็นพยาน คือที่มาของพระพุทธรูปปางมารวิชัย

*8q*
02-12-2009, 05:49 PM
ตรัสรู้
เมื่อพระยามารพ่ายแพ้ไปแล้ว พระมหาบุรุษจึงเริ่มบำเพ็ญเพียรทางจิตต่อไป ด้วยพระทัยที่เด็ดเดี่ยวมั่นคง จนบรรลุญาณ ๓ หรือ วิชชา ๓ ตามลำดับ ดังนี้
ในปฐมยาม ทรงบรรลุ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติได้
ในมัชฌิมยาม ทรงบรรลุ จุตูปปาตญาณ รู้การจุติและเกิดของสัตว์ (มีตาทิพย์)
ในปัจฉิมยาม ทรงบรรลุ อาสวักขยญาณ รู้การทำอาสวะให้สิ้นไป
ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาท ๑๒ ประการ และรู้แจ้งในอริยสัจทั้ง ๔ คือ
๑. ทุกข์ ความไม่สบายกายไม่สบายใจ
๒. สมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์
๓. นิโรธ ความดับทุกข์
๔. มรรค ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

ญาณ ๓ ในอริยสัจ ๔
๑. สัจญาณ รู้ว่าทุกข์มีจริง สมุทัยเป็นเหตุให้เกิดทุกข์จริง นิโรธ คือความดับทุกข์จริง มรรค คือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์จริง
๒. กิจญาณ รู้ว่าทุกข์พึงกำหนดรู้ สมุทัยพึงละ นิโรธพึงทำให้แจ้ง มรรคพึงทำให้มี
๓. กตญาณ รู้ว่าทุกข์ เรากำหนดรู้แล้ว สมุทัย เราละแล้ว นิโรธ เราทำให้แจ้งแล้ว มรรค เราทำให้มีแล้ว
การรู้อริยสัจ ๔ ต้องประกอบด้วยญาณทั้ง ๓ นี้ ในอริยสัจทุกข้อ รวมเป็นญาณ ๑๒ จึงจะเรียกว่ารู้อริยสัจจริง
บัดนี้ พระมหาบุรุษได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ในเวลาใกล้รุ่ง ตรงกับวันพุธ ขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖ ปีระกา ก่อน พ.ศ. ๔๕ ปี ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์แคว้นมคธ ทรงใช้เวลาศึกษาค้นคว้าเป็นเวลา ๖ ปี จึงตรัสรู้เมื่อพระชนมายุ ๓๕ พรรษา

ทรงได้พระนามใหญ่ ๒ พระนาม คือ
๑. อรหัง แปลว่า ผู้ไกลจากกิเลส
๒. สัมมาสัมพุทโธ แปลว่า ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง
พระนามอื่นๆ
๑. พระพุทธเจ้า (พุทโธ) แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น (นำผู้อื่นให้ตื่น) ผู้เบิกบาน
๒. พระสุคต (สุคโต) แปลว่า ผู้เสด็จไปดี
๓. พระผู้มีพระภาคเจ้า (ภควา) แปลว่า ผู้จำแนกธรรม ผู้มีโชค
๔. พระบรมศาสดา (สัตถา) แปลว่า ศาสดา (ครู) ผู้ยอดเยี่ยม ทรงใช้สรรพนามแทนพระองค์ว่าตถาคต

เสวยวิมุติสุข
เมื่อตรัสรู้แล้ว ประทับเสวยวิมุติสุข (สุขเกิดจากการหลุดพ้นจากกิเลส) ในที่ ๗ แห่งนี้เรียกว่า สัตตมหาสถาน ประทับแห่งละ ๑ สัปดาห์ (๗ วัน ) ดังนี้
สัปดาห์ที่ ๑ ประทับใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ (โพธิรุกขมูล) ทรงพิจารณาปฎิจจสมุปบาท (ธรรมะที่อาศัยกันและกันเกิดขึ้นดุจลูกโซ่) ทรงเปล่งอุทานในยามทั้ง ๓ ดังนี้
ยามต้น “เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้นความสงสัยของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป เพราะมารู้แจ้งธรรมว่าเกิดแต่เหตุ”
ยามกลาง “เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้นความสงสัยของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป เพราะได้รู้ความสิ้นไปแห่งธรรมทั้งหลาย”
ยามสุดท้าย“เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้น ย่อมกำจัดมารและเสนามาร[1] (http://board.agalico.com/showthread.php?p=138821#_ftn1)ได้ ดุจอาทิตย์อุทัยกำจัดมืด ทำอากาศให้สว่างฉันนั้น”
สัปดาห์ที่ ๒ เสด็จทางทิศอีสานแห่งต้นศรีมหาโพธิ์ ประทับยืนเพ่งต้นศรีมหาโพธิ์ไม่กระพริบพระเนตรตลอด ๗ วัน สถานที่นั้นเรียกว่า อนิมิสเจดีย์ (ที่มาของพระพุทธรูปประจำวันอาทิตย์ปางถวายเนตร)
สัปดาห์ที่ ๓ เสด็จทางทิศอุดร จงกรมรอบต้นศรีมหาโพธิ์ สถานที่นั้นเรียกว่า รัตนจงกรมเจดีย์
สัปดาห์ที่ ๔ เสด็จทางทิศพายัพ ประทับที่เรือนแก้วที่เทวดาเนรมิตถวาย พิจารณาพระอภิธรรม สถานที่นั้น เรียกว่า รัตนฆรเจดีย์
สัปดาห์ที่ ๕ เสด็จทางทิศบูรพา ประทับใต้ต้นอชปาลนิโครธ (ต้นไทร เป็นที่อาศัยของคนเลี้ยงแพะ พบพราหมณ์หุหุกชาติ ผู้ชอบตวาดว่า หึหึ พราหมณ์ถามว่า ท่านรู้จักพราหมณ์และธรรมที่ทำคนให้เป็นพราหมณ์ไหม? ทรงตอบว่า พราหมณ์ คือ ผู้มีบาปอันลอยแล้ว ฯลฯ พราหมณ์หุหุกชาติฟังไม่รู้เรื่องจึงหลีกไป ต่อจากนั้น ธิดามาร ๓ คน คือ นางตัณหา นางราคา นางอรดี มายั่วยวนพระองค์แต่ไม่สำเร็จ
สัปดาห์ที่ ๖ เสด็จทางทิศอาคเนย์ ประทับใต้ต้นมุจลินทร์ (ต้นจิก) ฝนตกตลอดสัปดาห์ พญานาคชื่อมุจลินทร์ แผ่พังพานบังฝนให้ (ที่มาของพระพุทธรูปประจำวันเสาร์ปางนาคปรก) ทรงเปล่งอุทานว่า “ความสงัดเป็นสุขของบุคคลผู้มีธรรมอันสดับแล้ว ฯลฯ
สัปดาห์ที่ ๗ เสด็จทางทิศทักษิณ ประทับใต้ต้นราชายตนะ(ต้นเกด) พ่อค้าสองพี่น้องชื่อ ตปุสสะ และภัลลิกะ มาจากอุกกลาชนบท มัธยมประเทศ เข้าเฝ้าถวายข้าวสัตตุผง สัตตุก้อน (ข้าวตู) พระองค์ทรงรับด้วยบาตรศิลาที่ท้าวจตุโลกบาลนำมาถวาย ทั้งสองได้ประกาศตนเป็นอุบาสกถึงรัตนะ ๒ (พระพุทธกับพระธรรม) ก่อนใครในโลก เรียกว่า เทววาจิกอุบาสก ทรงมอบเส้นพระเกศา ๘ เส้น แก่พ่อค้าสองพี่น้องไว้เป็นที่ระลึก (ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในเจดีย์ชเวดากอง เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า)
สัปดาห์ที่ ๘ เสด็จจากต้นราชายตนะไปประทับที่ต้นอชปาลนิโครธอีกครั้งหนึ่ง ทรงกระทำกิจต่างๆดังนี้
๑. ทรงตั้งพระธรรมไว้ในที่เคารพบูชา
๒. ทรงพิจารณาพระธรรมว่าลึกซึ้งยากที่จะสอนผู้อื่นให้เข้าใจ จึงท้อพระทัยที่จะโปรดสัตว์
๓. ทรงรับคำอาราธนาของท้าวสหัมบดีพรหมที่อาราธนาให้พระองค์แสดงธรรม
๔. ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อหมู่สัตว์ จึงตัดสินพระทัยแสดงธรรม


[1] (http://board.agalico.com/showthread.php?p=138821#_ftnref1)มาร หมายถึง กิเลสกาม, เสนามาร หมายถึง วัตถุกาม
<!-- / message -->

*8q*
02-12-2009, 05:50 PM
พระพุทธเจ้ามีพระคุณ ๓ ประการ
๑. พระปัญญาคุณ ทรงมีพระปัญญาสามารถตรัสรู้ธรรมด้วยพระองค์เอง
๒. พระบริสุทธิคุณ ทรงมีความบริสุทธิ์จากกิเลสทั้งปวง
๓. พระมหากรุณาธิคุณ ทรงมีความกรุณาต่อหมู่สัตว์
ทรงเปรียบเทียบความแตกต่างทางสติปัญญาของคนเหมือนบัว ๔ เหล่า
๑. อุคฆติตัญญูบุคคล คือ บุคคลที่มีสติปัญญาเฉียบแหลม สามารถรู้ธรรมได้เมื่อท่านยกหัวข้อธรรมขึ้นแสดง เปรียบเหมือน บัวเหนือน้ำ หรือบัวพ้นน้ำ จะบานในวันนี้
๒. วิปจิตัญญูบุคคล คือ บุคคลที่มีสติปัญญาปานกลาง เมื่อฟังอธิบายหัวข้อธรรมเพิ่มขึ้น ก็สามารถรู้ธรรมได้ เปรียบเหมือน บัวเสมอน้ำ หรือบัวปริ่มน้ำ จะบานในวันพรุ่งนี้
๓. เนยยบุคคล คือ บุคคลที่มีสติปัญญาน้อย แต่เมื่อฟังธรรมหลายๆครั้งก็สามารถรู้ธรรมได้ เปรียบเหมือนบัวกลางน้ำ หรือ บัวใต้น้ำ จะบานในวันมะรืนนี้ หรือในวันต่อๆไป
๔. ปทปรมบุคคล คือ บุคคลที่โง่เขลาเบาปัญญา หรือมีปัญญาแต่มีทิฐิมานะตื้อรั้นไม่ยอมรับฟังคำสอน ไม่สามรถรู้ธรรมได้ เปรียบเหมือนบัวในโคลนตม หมดโอกาสบาน จึงตกเป็นอาหารของปลาและเต่า
ทรงตั้งปณิธานว่า จะดำรงพระชนมายุอยู่จนกว่าจะประกาศพระศาสนาให้แพร่หลายจึงจะปรินิพพาน เรียกว่า ทรงทำอายุสังขาราธิษฐาน
ทรงพิจารณาบุคคลผู้สมควรรับพระธรรมเทศนา
ครั้งแรกทรงระลึกถึงอาฬารดาบส กาลามโคตร และอุทกดาบส รามบุตร เพราะท่านทั้งสองมีกิเลสเบาบาง มีสติปัญญาเฉียบแหลม สามารถรู้ธรรมได้โดยฉับพลัน แต่ท่านทั้งสองได้มรณภาพแล้ว โดยอาฬารดาบส มรณภาพได้ ๗ วัน ส่วนอุทกดาบส มรณภาพเมื่อวานนี้ จึงตัดสินพระทัยเสด็จไปโปรดปัญจวัคคีย์ เพราะเคยมีอุปการะต่อพระองค์มาก่อน และออกบวชเพื่อแสวงหาทางพ้นทุกข์เช่นเดียวกับพระองค์ จึงเสด็จจากต้นอชปาลนิโครธ บริเวณบริเวณต้นศรีมหาโพธิ์ มุ่งสู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นกาสี ตรงกับเวลาเช้าของวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๘ ระหว่างทาง(ระหว่างแดนมหาโพธิ์กับแม่น้ำคยาต่อกัน) พบอุปกาชีวกนักบวชนอกศาสนา อุปกาชีวกถามว่า “สมณะ ฉวีวรรณของท่านผ่องใสนัก ท่านชอบใจธรรมของใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน” ทรงตรัสตอบว่า”เราเป็นสยัมภู ผู้ตรัสรู้เอง ไม่ได้ชอบใจธรรมของใคร ไม่มีใครเป็นศาสดา” อุปกาชีวกไม่เชื่อสั่นศีรษะแล้วเดินหลีกไป เสด็จถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวันในเวลาเย็น ปัญจวัคคีย์นัดแนะกันว่าจะไม่ต้อนรับ แต่ให้ปูลาดอาสนะไว้ พอเสด็จมาถึงจริงๆก็ลืมที่นัดแนะกันไว้ กลับให้การต้อนรับเป็นอย่างดี แต่ยังใช้คำพูดไม่สุภาพ ตีเสมอพระองค์ เช่นใช้คำพูดว่า อาวุโสโคตมะ เป็นต้น (คำสำหรับผู้ใหญ่พูดกับผู้น้อย)
วันรุ่งขึ้นตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ทรงแสดงธรรมโปรดปัญจวัคคีย์ เป็นพระธรรมเทศนากัณฑ์แรก เรียกว่า ปฐมเทศนา ชื่อ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เปรียบเหมือนล้อแห่งธรรมที่หมุนไปถึงไหนก็นำความสุขไปถึงที่นั่น เป็นการประกาศเกียรติคุณที่ยิ่งใหญ่ของพระองค์เหมือนพระเจ้าจักรพรรดิประกาศแสนยานุภาพของพระองค์ไปยังแคว้นต่างๆ จบพระธรรมเทศนาแล้ว โกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม(ธรรมจักษุ) คือบรรลุโสดาปัตติผล เป็นพระอริยบุคคลขั้นต้น เรียกว่า พระโสดาบัน ทรงเปล่งพระอุทานว่า “อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ, อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ.โกณฑัญญะ ได้รู้แล้วหนอๆ โกณฑัญญะจึงมีคำนำหน้าชื่อเพิ่มว่า อัญญาโกณฑัญญะ ตั้งแต่นั้นมา (อญฺญาสิ แปลว่า รู้แล้ว)
ดวงตาเห็นธรรมนั้น เห็นว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับเป็นธรรมดา” หมายถึง การบรรลุธรรมชั้นพระโสดาปัตติมรรค
โกณฑัญญะ ได้ทูลขออุปสมบทเป็นพระภิกษุ ทรงประทานอุปสมบทให้ด้วยพระดำรัสว่า “เอถ ภิกฺขโว” จงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด” การอุปสมบทวิธีนี้ เรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา (พระศาสดาประทานเอง) พระอัญญาโกณฑัญญะจึงเป็นพระสงฆ์รูปแรกในพระพุทธศาสนา พระรัตนตรัยครบบริบูรณ์ตั้งแต่นั้นมา ต่อจากนั้นทรงแสดงสิ่งละอันพันละน้อย(ปกิณณกเทศนา)โปรดพราหมณ์ ๔ คนที่เหลือ ท่านวัปปะ และภัททิยะ ได้ดวงตาเห็นธรรมแล้วทูลขออุปสมบท ต่อมาท่านมหานามะและอัสสชิ ได้ดวงตาเห็นธรรม เมื่อถึงวันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๘ ทรงแสดงพระธรรมเทศนากัณฑ์ที่สองชื่อ อนัตตลักขณสูตร พระปัญจวัคคีย์บรรลุมรรคผลสูงสุดคือ พระอรหันต์พร้อมกันทั้ง ๕ รูป ขณะนั้นมีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก ๖ รูป

เหตุการณ์สำคัญในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ (วันอาสาฬหบูชา)
๑. พระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนาธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
๒. มีพระอริยสงฆ์เกิดขึ้นรูปแรกในโลก (เป็นวันเกิดพระสงฆ์)
๓. พระรัตนตรัยครบ ๓ ประการ
๔. เป็นวันประกาศศาสนาครั้งแรก

*8q*
02-12-2009, 05:51 PM
ใจความโดยย่อของธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
กล่าวถึงที่สุด ๒ อย่าง ที่บรรพชิตไม่ควรเสพ (เกี่ยวข้อง) คือ
๑. ที่สุดฝ่ายหย่อน หมายถึง การทำงานที่ย่อหย่อน คลุกเคล้าด้วยกามารมณ์ เรียกว่า กามสุขัลลิกานุโยค
๒. ที่สุดฝ่ายตึง หมายถึง การกระทำที่หักโหมเกินไป เช่น ทรมานตัวเอง เรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค
ทรงแนะนำให้ปฏิบัติกลางๆไม่หย่อนไม่ตึงเกินไป เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา คือการปฏิบัติตาม มรรคมีองค์ ๘ ประการ คือ
๑. สัมมาทิฐิ เห็นชอบ
๒. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ
๓. สัมมาวาจา เจรจาชอบ
๔. สัมมากัมมันตะ การงานชอบ
๕. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ
๖. สัมมาวายามะ เพียรชอบ
๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ
๘. สัมมาสมาธิ ตั้งมั่นชอบ
ทรงแสดงอริยสัจ ๔ ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ คือ
๑. ทุกข์ ความไม่สบายกายไม่สบายใจ ได้แก่ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย
๒. สมุทัย เหตุให้ทุกข์ เกิด ได้แก่ ตัณหา ๓ ประการ คือ
๒.๑ กามตัณหา ความอยากในอารมณ์ที่น่าใคร่
๒.๒ ภวตัณหา ความอยากเป็นนั่นเป็นนี่
๒.๓ วิภวตัณหา ความอยากไม่เป็นนั่นเป็นนี่
๓. นิโรธ ความดับทุกข์ คือ ดับตัณหา ๓ ได้
๔. มรรค ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้แก่ มรรคมีองค์ ๘

ใจความโดยย่อของอนัตตลักขณสูตร
กล่าวถึงขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตา(ไม่ใช่ตน) ทรงสอนไม่ให้ยึดมั่นในขันธ์ ๕ นั้น

โปรดยสกุลบุตร
ยสกุลบุตร เป็นบุตรเศรษฐีในเมืองพาราณสี มารดาชื่อ สุชาดา เสนิยธิดา อยู่บนปราสาท ๓ ฤดู เหมือนเจ้าชายสิทธัตถะ คืนหนึ่งตื่นขึ้นพบหญิงบำเรอนอนหลับมีลักษณะอาการต่างๆ ภาพที่ปรากฏเหมือนซากศพที่ทิ้งไว้ในป่าช้า เกิดความเบื่อหน่ายจึงเดินออกจากปราสาท อุทานว่า “ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ” พบพระศาสดากำลังเดินจงกรมอยู่ ทรงตรัสว่า “ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง ท่านจงมาที่นี่เถิด เราจะแสดงธรรมแก่ท่าน” ยสกุลบุตรถอดรองเท้าแล้วเข้าไปเฝ้า ทรงแสดงธรรมชื่อ “อนุปุพพิกถา” และ “อริยสัจ ๔” จบแล้ว ยสกุลบุตรได้ดวงตาเห็นธรรม ต่อมาบิดาได้ออกติดตามพบรองเท้าก็จำได้ จึงเดินเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ทรงบันดาลให้พ่อมองไม่เห็นลูก (อิทธาภิสังขาร) แล้วแสดงอนุปุพพิกถาและอริสัจ ๔ โปรดจนบิดาได้ดวงตาเห็นธรรมแล้วปฏิญาณตนเป็นอุบาสกถึงรัตนะ ๓ ก่อนใครในโลก (เตวาจิกอุบาสก) ส่วนยสกุลบุตรได้บรรลุมรรคผลสูงสุด คือ สำเร็จพระอรหันต์ในขณะเป็นฆราวาส ได้ทูลขออุปสมบท ทรงประทานอุปสมบทให้ด้วยพระดำรัสว่า ”จงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด” วันรุ่งขึ้นพระศาสดาพร้อมด้วยหมู่สงฆ์ เสด็จไปเสวยภัตตาหารที่บ้านของเศรษฐี ทรงแสดง อนุปุพพิกถาและอริสัจ ๔ โปรดมารดาและภรรยาของพระยส จนได้ดวงตาเห็นธรรม และปฏิญาณตนเป็นอุบาสิกาก่อนใครในโลก

สหายของพระยสออกบวช
บุตรเศรษฐีชาวเมืองพาราณสี สหายของพระยส ๔ คน คือ วิมละ, สุพาหุ, ปุณณชิ, ควัมปติ ได้ติดตามพระยส ฟังอนุปุพพิกถาและอริสัจ ๔ ได้ดวงตาเห็นธรรม แล้วทูลขออุปสมบท และได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้ง ๔ รูป ต่อมาสหายของท่านอีก ๕๐ คน (ไม่ปรากฏชื่อ) ได้ออกบวชตาม ฟังอนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔ ได้สำเร็จพระอรหันต์ทั้งหมด ขณะนั้นมีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก ๖๑ รูป รวมทั้งพระพุทธเจ้าด้วย
ใจความของอนุปุพพิกถา
อนุปุพพิกถา คือ พระธรรมเทศนาที่แสดงไปโดยลำดับจากง่ายไปหายาก มี ๕ ประการ คือ
๑. ทานกถา ว่าด้วยเรื่องการให้ทาน
๒. สีลกถา ว่าด้วยเรื่องการรักษาศีล
๓. สัคคกถา ว่าด้วยเรื่องสวรรค์
๔. กามาทีนวกถา ว่าด้วยเรื่องโทษของกาม
๕. เนกขัมมานิสังสกถา ว่าด้วยเรื่องอานิสงค์ของการออกจากกาม (การออกบวช)
อนุปุพพิกถา เปรียบเหมือน สบู่หรือผงซักฟอกสำหรับซักผ้าให้สะอาด
อริสัจ ๔ เปรียบเหมือน น้ำย้อมผ้าที่ซักสะอาดแล้ว

คุณสมบัติของผู้รับฟังอนุปุพพิกถา
๑. เป็นมนุษย์
๒. เป็นฆราวาส
๓. มีอุปนิสัยแก่กล้าพอจะบรรลุธรรมได้
อริยสัจ ๔ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “สามุกกังสิกธรรม” แปลว่า ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงยกขึ้นแสดงเอง
<!-- / message -->

*8q*
02-12-2009, 05:52 PM
ส่งสาวกไปประกาศพระศาสนา (แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๒)
เมื่อสาวกมีมากถึง ๖๐ รูป จึงส่งสาวกไปประกาศศาสนา เพื่อประโยชน์สุขแก่มหาชนชาวโลก ด้วยพระดำรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราได้พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ ทั้งที่เป็นของมนุษย์ ท่านทั้งหลายจงเที่ยวไปในชนบท เพื่อประโยชน์สุขแก่มหาชนเป็นอันมาก แต่อย่าไปทางเดียวกัน ๒ รูป จงแสดงธรรมที่งามในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด (ศีล-สมาธิ-ปัญญา) เพราะผู้ที่รู้ธรรมมีอยู่ แม้เราก็จะไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคมเพื่อแสดงธรรมเช่นกัน”

ทรงอนุญาตการอุปสมบทแก่สงฆ์
พระสงฆ์ ๖๐ รูป ที่ส่งไปประกาศศาสนา ไม่สามารถทำการอุปสมบทกุลบุตรที่เลื่อมใสปรารถนาจะบวชได้ ต้องพามาเฝ้าพระศาสดาให้ทรงอุปสมบทให้ ทำให้ได้รับความลำบากในการไป-มา พระองค์จึงทรงอนุญาตให้พระสงฆ์บวชกุลบุตรได้ เรียกการบวชนี้ว่า ติสรณคมนูปสัมปทา โดยให้ผู้ต้องการบวชปลงผม-หนวด-คิ้ว แล้วกล่าวคำปฏิญาณว่า ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมเป็นสรณะ ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ ผู้บวชด้วยวิธีนี้เป็นคนแรกคือ พระปุณณมันตานีบุตร มีพระอัญญาโกณฑัญญะเป็นอุปัชฌาย์ ทำให้การอุปสมบทเกิดขึ้น ๒ วิธี คือ
เอหิภิกขุอุปสัมปทา พระศาสดาประทานเอง
ติสรณคมนูปสัมปทา ทรงอนุญาตแก่สาวก

พบภัททวัคคีย์
พระพุทธเจ้าเสด็จไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ เพื่อโปรดชฎิล ๓ พี่น้อง ระหว่างทางทรงประทับใต้ต้นไม้ต้นหนึ่ง ที่ไร่ฝ่าย พบภัททวัคคีย์กุมาร ๓๐ คน โอรสของพระเจ้าปเสนทิโกศล เมืองสาวัตถี กำลังตามหาหญิงคนหนึ่ง ทรงถามว่า “จะแสวงหาตนดีหรือแสวงหาหญิงดี” ทั้งหมดรับว่า ”แสวงหาตนดี” จึงแสดงอนุปุพพิกถาและอริสัจ ๔ โปรดทั้งหมดบรรลุธรรมขั้นสูงสุดไม่เกินขั้นอนาคามี ทรงประทานอุปสมบทให้แล้ว ส่งไปประกาศศาสนายังเมืองปาวา หรือปาฐา ทางตอนใต้ของแคว้นโกศล เป็นรุ่นที่ ๒ (พระภัททวัคคีย์ต่อมาได้ฟังธรรมชื่อ อนมตัคคสูตร ได้สำเร็จพระอรหันต์ทั้งหมด) แล้วเสด็จไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อโปรดชฎิล ๓ พี่น้อง คณาจารย์ใหญ่แห่งลุ่มน้ำเนรัญชราต่อไป

โปรดชฎิล ๓ พี่น้อง
ชฎิล คือ นักบวชนอกศาสนา เกล้าผมเป็นกระเซิง บูชาไฟ มี ๓ พี่น้อง คือ
๑. อุรุเวลกัสสปะ มีบริวาร ๕๐๐ คน ตั้งอาศรมอยู่ริมแม่น้ำเนรัญชรา
๒. นทีกัสสปะ มีบริวาร ๓๐๐ คน ตั้งอาศรมอยู่แม่น้ำคงคา
๓. คยากัสสปะ มีบริวาร ๒๐๐ คน ตั้งอาศรมอยู่ ตำบลคยาสีสะ
ทรงโปรดชฎิล ๓ พี่น้องด้วยพระธรรมเทศนา ชื่อ อาทิตตปริยายสูตร ณ ตำบลคยาสีสะ จนบรรลุพระอรหันต์ทั้งหมด(๑,๐๐๓ รูป)

ใจความย่อของอาทิตตปริยายสูตร
กล่าวถึงไฟ ๓ กอง คือ ๑.ราคัคคิ ไฟคือราคะ ๒. ไทสัคคิ ไฟคือโทสะ ๓. โมหัคคิ ไฟคือโมหะ ที่เกิดจากการกระทบกันระหว่างอายตนะภายในกับอายตนะภายนอก ทำให้จิตใจเร่าร้อนเพราะเพลิงกิเลส


โปรดพระเจ้าพิมพิสาร
พระพุทธเจ้าทรงพาพระชฏิล ๑,๐๐๓ รูป เสด็จไปยังเมืองราชคฤห์ โดยมีพระประสงค์ ๒ ประการคือ
๑ เพื่อประดิษฐานพระพุทธศาสนาให้มั่นคงในแคว้นมคธ
๒ เพื่อเปลื้องปฏิญาณที่ประทานแก่พระเจ้าพิมพิสาร
ประทับอยู่ที่ลัฏฐิวัน สวนตาลหนุ่มทางทิศตะวันตกของเมืองราชคฤห์ พระเจ้าพิมพิสารพร้อมด้วยข้าราชบริพาร ๑๒ นหุต (๑ นหุต เท่ากับ ๑ หมื่น) เข้าเฝ้า บริวารบางคนแสดงอาการไม่เคารพ เพราะไม่ทราบว่าระหว่างพระพุทธเจ้ากับอุรุเวลกัสสปะ ใครคือศาสดากันแน่ พระพุทธเจ้าจึงตรัสให้พระอุรุเวลกัสสปะลุกขึ้นชี้แจงให้ทุกคนทราบ พระอุรุเวลกัสสปะจึงประกาศว่า “พระองค์เป็นศาสดาของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเป็นสาวกผู้ฟังคำสอนของพระองค์” ทุกคนจึงสิ้นสงสัยพากันแสดงความเคารพพระพุทธเจ้า ทรงแสดงอนุปุพพิกถาและอริสัจ ๔ โปรดพระเจ้าพิมพิสารและข้าราชบริพารบรรลุโสดาปัตติผล ๑๑ นหุต อีก ๑ นหุต ตั้งอยู่ในไตรสรณคมน์

ความปรารถนาของพระเจ้าพิมพิสาร ๕ อย่าง
๑. ขอให้อภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดินในแคว้นมคธนี้
๒. ขอให้พระอรหันต์เสด็จมาสู่แคว้น
๓. ขอให้ได้นั่งใกล้พระอรหันต์นั้น
๔. ขอให้พระอรหันต์แสดงธรรม
๕. ขอให้รู้ธรรมของพระอรหันต์นั้น

*8q*
02-12-2009, 05:52 PM
ถวายเวฬุวันมหาวิหาร
พระเจ้าพิมพิสาร ได้ทูลเชิญพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์สาวก ๑,๐๐๓ รูป เสด็จไปเสวยภัตตาหารในวัง ทรงถวายสวนไม่ไผ่(มีกระแตชุกชุม) ให้เป็นที่ประทับของพระศาสดาและพระสงฆ์สาวก เรียกว่า เวฬุวันมหาวิหาร แทนลัฏฐิวัน สวนตาลหนุ่มซึ่งอยู่ไกลเกินไป เวฬุวันเป็นสถานที่กว้างใหญ่ ไม่ไกลจากชุมชน เงียบสงัดไม่พลุกพล่านด้วยผู้คน ควรเป็นที่หลีกเร้นอยู่ตามสมณวิสัย เวฬุวันมหาวิหารจึงเป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยหมู่สงฆ์ได้เสด็จไปประทับ ณ เวฬุวันมหาวิหาร ดังนั้นเวฬุวันฯ จึงเป็นสถานที่แห่งแรกในแคว้นมคธ ที่ทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนา
พระเจ้าพิมพิสาร ได้ถวายทานแก่พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์สาวกตลอดมา แต่ไม่ได้อุทิศส่วนบุญให้หมู่ญาติที่ตายไปเกิดเป็นเปรต คืนหนึ่งเปรตได้ปรากฏตัวให้เห็น พร้อมกับพูดว่า ทุ ส น โส (หัวใจเปรต) พระศาสดาทรงแนะนำให้พระเจ้าพิมพิสารอุทิศส่วนบุญไปให้ด้วยบทว่า อทาสิ เม อกาสิ เม เป็นต้น พอเปรตได้อนุโมทนาส่วนบุญก็มีความสุขขึ้น นับว่าพระเจ้าพิมพิสารได้ทำ ปุพพเปตพลี คือ การอุทิศส่วนบุญให้หมู่ญาติที่ล่วงลับไป เป็นพระองค์แรก
เวฬุวันมหาวิหาร เป็นวัดที่พระพุทธเจ้าประทับนอกพรรษามากกว่าวัดอื่น

อัครสาวกออกบวช
มาณพจากตระกูลพราหมณ์ ๒ คน เป็นเพื่อนกัน คนหนึ่งชื่อ อุปติสสะ เป็นบุตรของนางสารี และพราหมณ์วังคันตะ อยู่บ้านนาลันทา เมืองราชคฤห์ คนนิยมเรียกตามชื่อมารดาว่า สารีบุตร อีกคนหนึ่งชื่อโกลิตะ เป็นบุตรของนางโมคคัลลี และพราหมณ์โกลิตะ นิยมเรียกกันว่า โมคคัลลานะ เพราะเป็นบุตรของนางโมคคัลลี มีบริวารร่วมกัน ๒๕๐ คน วันหนึ่งขณะเที่ยวชมมหรสพเกิดความสลดใจ
โกลิตะ “วันนี้ดูท่านไม่ร่าเริงเหมือนวันก่อนๆ”
อุปติสสะ “คนพวกนี้อีกไม่ถึงร้อยปีก็ตายหมด ดูการละเล่นไม่เห็นมีประโยชน์อะไรควรแสวงหาธรรมความหลุดพ้นดีกว่า(โมกขธรรม)” จึงพาบริวารไปสมัครเป็นศิษย์ขอสัญชัยปริพาชก ไม่พอใจในคำสอนของอาจารย์ จึงนัดกันว่า ถ้าใครพบอาจารย์ที่สอนดีกว่านี้ให้บอกกัน วันหนึ่ง อุปติสสะพบพระอัสสชิกำลังเดินบิณฑบาตในเมืองราชคฤห์ถามว่า “สมณะ อินทรีย์ของท่านผ่องใสนัก ท่านบวชในสำนักของใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน”
พระอัสสชิ “พระพุทธเจ้าเป็นศาสดาของเรา”
อุปติสสะ “ศาสดาของท่านสอนอย่างไร”
พระอัสสชิ “เราเพิ่งบวชได้ไม่นาน ไม่สามารถแสดงธรรมให้ละเอียดลึกซึ้งได้”
อุปติสสะ “เอาย่อๆพอได้ใจความก็แล้วกัน”
พระอัสสชิ แสดงอริยสัจ ๔ แบบย่อๆว่า


เย ธมฺมา เหตุปปฺภวา เตสํ เหตุ ตถาคโต
เตสญฺจ โย นิโรโธ จ เอวํ วาที มหาสมโณฯ
ธรรมใดเกิดแต่เหตุ พระศาสดาตรัสเหตุแห่งธรรมนั้น และความดับแห่งธรรมนั้น พระศาสดาตรัสอย่างนี้
อุปติสสะ ได้ดวงตาเห็นธรรม และได้นำไปบอกโกลิตะๆได้ดวงตาเห็นธรรม ทั้งสองพร้อมด้วยบริวาร ๒๕๐ คน ชวนกันไปลาอาจารย์สัญชัย บอกให้ทราบว่าจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้าได้ชวนอาจารย์ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วยแต่ได้รับการปฏิเสธ
สัญชัย “เราเป็นเจ้าสำนักใหญ่โต จะต้องไปเป็นศิษย์ใครอีก”
ศิษย์ “ทุกคนพากันไปเฝ้าพระศาสดาหมด อาจารย์จะอยู่ทำไม”
สัญชัย “ในโลกนี้คนโง่มากหรือคนฉลาดมาก”
ศิษย์ “คนโง่มาก คนฉลาดน้อย”
สัญชัย “คนโง่มาสำนักเรา คนฉลาดจะไปสำนักพระสมณโคดม เราจะอยู่ต้อนรับคนโง่ พวกเจ้าไปกันเถอะ”
อุปติสสะกับโกลิตะพร้อมด้วยบริวาร พากันไปเฝ้าพระศาสดาที่เวฬุวันมหาวิหาร ฟังธรรมแล้วทูลขออุปสมบท ฝ่ายภิกษุผู้เป็นบริวารบรรลุพระอรหันต์ก่อนเมื่อบวชได้ ๒-๓ วัน ส่วนพระโมคคัลลานะบวชได้ ๗ วัน ไปทำความเพียรที่บ้าน กัลลวาลมุตตคาม แคว้นมคธ นั่งโงกง่วงอยู่ พระศาสดาแสดงอุบายแก้ง่วง ๘ ประการ และธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา (ตัณหักขยธรรม) ท่านพิจารณาตามกระแสพระธรรมเทศนาก็ได้สำเร็จพระอรหันต์ในวันนั้น
อุบายแก้ง่วง ๘ ประการ
๑. เมื่อมีสัญญาใดให้ใส่ใจในสัญญานั้นให้มาก
๒. ถ้าไม่หายให้พิจารณาธรรมที่ฟังแล้วหรือเรียนแล้ว
๓. ถ้าไม่หายให้สาธยายธรรมอย่างละเอียดพิศดาร
๔. ถ้าไม่หายให้ยอนหูทั้งสองข้างแล้วเอามือลูบตัว
๕. ถ้าไม่หายให้ยืนขึ้นเอาน้ำลูบตัว เหลียวดูทิศทั้งหลาย
๖. ถ้าไม่หายให้ใส่ใจถึงแสงสว่างอย่างกลางวัน
๗. ถ้าไม่หายให้เดินไปเดินมา สำรวมอินทรีย์ มีจิตไม่คิดไปภายนอก
๘. ถ้าไม่หายให้สำเร็จสีหไสยาสน์ คือนอนตะแคงขวา มีสติสัมปชัญญะว่าจะลุกขึ้นไว้ในใจ
-เราจะไม่ชูงวง(ถือตัว)ไปสู่สกุล
-เราจะไม่พูดคำเป็นเหตุเถียงกันเป็นเหตุให้พูดมาก
-เราจะหลีกเร้นตามสมณวิสัย(ไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ)
ฝ่ายพระสารีบุตร เมื่อบวชได้ ๑๕ วัน ได้ฟังพระธรรมเทศนาชื่อ เวทนาปริคคหสูตร ที่พระพุทธเจ้าแสดงแก่ทีฆนขะ อัคคิเวสนโคตร หลานชายของท่าน ที่ถ้ำสุกรขาตา เขาคิชฌกูฏ เมืองราชคฤห์ ได้สำเร็จพระอรหันต์ ส่วนทีฆนขะ บรรลุโสดาปัตติผลได้แสดงตนเป็นอุบาสก
พระศาสดาทรงประทานตำแหน่งอัครสาวกแก่พระเถระทั้งสองคือ พระสารีบุตรผู้เลิศด้วยปัญญา เป็นพระอัครสาวกฝ่ายขวา พระโมคคัลลานะ ผู้เลิศด้วยฤทธิ์ เป็นอัครสาวกฝ่ายซ้าย ณ เวฬุวันมหาวิหาร ตรงกับวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ เวลาบ่าย ท่ามกลางพระสงฆ์ ที่ประชุมกันอยู่ ณ ที่นั่น ๑,๒๕๐ รูป ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ (ธรรมนูญหรือหัวใจของพุทธศาสนา) ๓ ประการ คือ
๑ สพฺพปาปสฺส อกรณํ การไม่ทำบาปทั้งปวง (เว้นชั่ว)
๒ กุสลสฺสูปสมฺปทา การยังกุศลให้ถึงพร้อม (ประพฤติดี)
๓ สจิตฺตปริโยทปนํ การชำระใจของตนให้ผ่องใส (ทำใจให้ผ่องใส)
วันนั้น เรียกว่า วันมาฆบูชา หรือ วันจาตุรงคสันนิบาต คือ การประชุมที่ประกอบด้วยองค์ ๔ ประการ
๑ พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมกัน
๒ มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย
๓ พระสงฆ์เหล่านั้นบวชในสำนักพระศาสดา (เอหิภิกขุอุปสัมปทา)
๔ วันนั้นเป็นวันเพ็ญเดือน ๓

*8q*
02-12-2009, 05:53 PM
คุณสมบัติของพระอัครสาวก
พระสารีบุตร
๑. รู้จักสังเกต
๒. รู้กาลควรไม่ควร
๓. มีกิริยามรรยาทดี
๔. มีความกตัญญูต่อพระอัสสชิและราธพราหมณ์ (บวชให้ราธพราหมณ์)
๕. มีปัญญา สามารถแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร อริยสัจ ๔ ได้ละเอียดใกล้เคียงพระพุทธเจ้า
๖. มีความสุภาพ ไม่ทะนงตนว่าเป็นพระเถระผู้ใหญ่ มีตำแหน่งสูง
พระโมคคัลลานะ
๑. มีฤทธิ์มาก สามารถปราบคนพาลเกเรให้ยอมจำนนได้ เช่น นันโทปนันทนาคราช
๒. มีมรรยาทงาม เมื่อเข้าไปสู่สกุลก็ไม่ทำให้สกุลเดือดร้อน เหมือนภมร(แมลงผึ้ง) เคล้าแต่เกษรดอกไม้ ไม่ทำให้ดอกไม้ชอกช้ำ
๓. เป็นนวกัมมาทิฏฐายี(นายช่างหรือสถาปนิก) เคยควบคุมการก่อสร้างวัดบุพพารามของนางวิสาขา

เปรียบเทียบระหว่างพระอัครสาวก-พระพุทธเจ้า
พระสารีบุตร เปรียบเหมือน มารดาผู้ให้กำเนิด
พระโมคคัลลานะ เปรียบเหมือน พี่เลี้ยงนางนมที่เลี้ยงทารกให้เจริญเติบโต
พระสารีบุตร เป็นหัวหน้า ฝ่ายทักษิณ (ฝ่ายขวา)
พระโมคคัลลานะ เป็นหัวหน้า ฝ่ายอุดร (ฝ่ายซ้าย)
พระสารีบุตร สอนกุลบุตรให้ตั้งอยู่ในมรรคผลเบื้องต่ำ คือโสดาปัตติผล
พระโมคคัลลานะ สอนให้กุลบุตรตั้งอยู่ในมรรคผลที่สูงกว่านั้น
พระพุทธเจ้า เปรียบเหมือน ธรรมราชา (จอมทัพธรรม)
พระสารีบุตร เปรียบเหมือน ธรรมเสนาบดี (แม่ทัพธรรม)
พระสงฆ์อื่นๆ เปรียบเหมือน ธรรมเสนา (ทหารแห่งกองทัพธรรม)
พระสารีบุตร นิพพานเมื่อวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ก่อนพระพุทธเจ้า ๖ เดือน ด้วยโรคปัตขันทิกาพาธ(ลงโลหิต) ที่ห้องเกิดของท่าน อัฐิของท่านถูกบรรจุไว้ที่ซุ้มประตูวัดเชตวันมหาวิหาร
พระโมคคัลลานะ ถูกพวกเดียรถีย์ทำร้ายร่างกาย (ด้วยอำนาจกรรมเก่า) นิพพานที่ตำบลกาฬศิลา เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ อัฐิของท่านบรรจุไว้ที่ซุ้มประตูวัดเวฬุวันมหาวิหาร

พี่น้องร่วมตระกูลของพระสารีบุตร
ท่านมีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๖ คน เป็นหญิง ๓ คน ชาย ๓ ออกบวชหมดทุกคน คือ
๑. นางจาลา ๔. พระจุนทะ
๒. นางอุปจาลา ๕. พระอุปเสนะ
๓. นางสีสุปจาลา๖. พระเรวตะ

ประทานอุปสมบทแก่พระมหากัสสปะ
พระมหากัสสปะ เดิมชื่อปิปผลิ เป็นบุตรของกบิลพราหมณ์ ตระกูลกัสสปโคตร บ้านมหาติฏฐะ ในเมืองราชคฤห์ มีฐานะร่ำรวย เมื่ออายุได้ ๒๐ ปี ได้แต่งงานกับภัททกาปิลานี อายุ ๑๖ ปี บุตรสาวของโกลิยโคตร ชาวเมืองราชคฤห์มีฐานะร่ำรวยพอๆกัน แต่งงานแล้วไม่มีบุตรด้วยกัน เมื่อบิดามารดาสิ้นชีวิตแล้ว ท่านได้ดูแลทรัพย์สมบัติและกิจการค้าแทนบิดามารดาของท่าน ต่อมาเกิดเบื่อหน่ายที่ต้องรับผิดชอบการงานที่คนอื่นทำไม่ดี จึงพร้อมกันออกบวชอุทิศพระอรหันต์องค์ใดองค์หนึ่งในโลก (การบวชของท่านคล้ายๆการบวชแบบ สันยาสีของพราหมณ์ เมื่อแต่งงานมีบุตร ๑ คนจึงออกบวช) ปิบผลิแยกทางกับภรรยาไปพบพระพุทธเจ้าที่ใต้ต้นพหุปุตตนิโครธ ซึ่งอยู่ระหว่างเมืองราชคฤห์กับเมืองนาลันทาต่อกัน พระพุทธเจ้าประทานอุปสมบทด้วยการให้รับโอวาท ๓ ข้อคือ
๑ กัสสปะ เธอพึงศึกษาว่า เราจะเข้าไปตั้งความละอายและความเกรงใจในภิกษุผู้เฒ่าและปานกลางอย่างแรงกล้า
๒ เราจักฟังธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วพิจารณาเนื้อความ
๓ เราจะไม่ละสติไปในกายคือ พิจารณากายเป็นอารมณ์(กายคตาสติ)
การบวชวิธีนี้สงเคราะห์เข้าใน เอหิภิกขุอุปสัมปทา
ท่านเคยได้รับเกียรติจากพระพุทธเจ้าด้วยการแลกเปลี่ยนผ้าสังฆาฏิระหว่างกันและกัน และได้รับยกย่องว่า เป็นผู้มักน้อย สันโดษ ยินดีในเสนาสนะสงัด มีธรรมเป็นเครื่องอยู่เสมอด้วยพระองค์ ท่านเคร่งครัดในธุดงค์ ๓ ข้อ ๑.เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ๒. อยู่ป่าเป็นวัตร ๓. ห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร จนได้รับเอตทัคคะ(ยกย่อง) จากพระพุทธเจ้าว่า เลิศทางปฏิบัติธุดงค์ ท่านสำเร็จพระอรหันต์เมื่อบวชได้ ๘ วัน เป็นพระเถระที่มีใจดี รักเด็กจนได้รับยกย่องว่า เป็นขวัญใจเด็กๆ เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพาน ท่านกำลังเดินทางจากเมืองปาวาและท่านต้องสลดใจยิ่งขึ้นเมื่อพระหลวงตา ชื่อ สุภัททวุฑฒบรรพชิต ซึ่งเป็นศิษย์ของท่านพูดดูหมิ่นพระพุทธเจ้าว่า “นิพพานเสียได้ก็ดี” ท่านเป็นประทานในงานถวายพระเพลิงพุทธสรีระและทำปฐมสังคายนา ปกติท่านชอบอยู่ป่า แต่เมื่อพระพุทะเจ้าปรินิพพานแล้ว จึงมาจำพรรษาที่วัดเวฬุวันมหาวิหาร เพื่อดูแลพระสงฆ์แทนพระพุทธจ้า ท่านนิพพานเมื่ออายุได้ ๑๒๐ ปี ระหว่างภูเขา ๓ ลูก (กุกกูฏสัมปาตบรรพต)

เกียรติคุณของพระมหากัสสปะ
๑. เคร่งครัดในธุดงค์
๒. ไม่ทำตัวคุ้นเคยกับสกุล
๓. มีเมตตากรุณาไม่แสดงธรรมเพราะเห็นแก่ลาภ
๔. มักน้อยสันโดษ แม้พระศาสดาให้ท่านรับคหบดีจีวร ฉันในที่นิมนต์และให้อยู่ใกล้ชิดพระองค์ท่านก็ไม่ปรารถนา

*8q*
02-12-2009, 05:54 PM
พระศาสดาถูกตำหนิ
ในเมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ มีบุคคลที่มีชื่อเสียงออกบวชหลายท่าน เช่น พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะ ฯลฯ เป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าถูกชาวมคธติเตียนว่าทำลายสกุล เพราะบวชให้เด็กหนุ่มจนหาผู้สืบสกุลไม่ได้ ต่อมาเสียงคัดต้านก็หายไป เพราะเป็นความปรารถนาของผู้บวชเอง ไม่ใช่พระองค์บังคับให้บวช

ทรงอนุญาตให้ถวายเสนาสนะ
เมื่อมีผู้ถวายวัดเป็นครั้งแรก(พระเจ้าพิมพิสาร) ต่อมาราชคหกเศรษฐีได้ถวายวิหาร ๖๐ หลัง ให้เป็นที่อาศัยของหมู่สงฆ์ ภายในเวฬุวันมหาวิหารนั้น พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ถวายเสนาสนะแก่พระสงฆ์ได้ ๕ ประเภท คือ
๑. วิหาร กฎีมีหลังคา
๒. อัฑฒโยค โรงหรือร้านมีหลังคาซีกเดียว
๓. ปราสาท เรือนเป็นชั้นๆ
๔. หัมมิยะ เรือนหลังคาดัด
๕. คูหา ถ้ำ


ทรงมอบให้พระสงฆ์เป็นใหญ่
เมื่อพระสงฆ์มีมากขึ้น สมควรให้ร่วมกันรับผิดชอบในสังฆกรรมต่างๆ พระพุทธเจ้าจึงทรงมอบอำนาจให้พระสงฆ์อุปสมบทกุลบุตรเป็นคณะ ไม่ใช่เป็นบุคคลดังแต่ก่อน เรียกการอุปสมบทนี้ว่า “ญัตติจุตุตถกรรมวาจา” โดยระบุจำนวนสงฆ์ไว้ดังนี้
๑ ถ้าอุปสมบทในเขตมัธยมประเทศ ต้องประชุมสงฆ์ตั้งแต่ ๑๐ รูปขึ้นไป(ทสวรรค)
๒ ถ้าอุสมบทในเขตปัจจันตประเทศ ต้องประชุมสงฆ์ตั้งแต่ ๕ รูปขึ้นไป (ปัญจวรรค)’
ให้ยกเลิกการอุปสมบทแบบติสรณคมนูปสัมปทา โดยให้นำไปใช้บรรพชาสามเณรแทน ผู้ที่บรรพชาด้วยวิธีนี้เป็นคนแรกได้แก่ ราหุล ส่วนผู้ที่อุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจาเป็นคนแรกได้แก่ ราธพราหมณ์ โดยมีพระสารีบุตร เป็นพระอุปัชฌาย์

ประวัติพระราธเถระ
ราธะ เกิดในสกุลพราหมณ์ ในเมืองราชคฤห์ เมื่อแก่ตัวลงลูกหลานไม่เลี้ยงดูจึงไปอาศัยพระอยู่ที่เวฬุวันมหาวิหาร ต่อมาพระสารีบุตรได้บวชให้เพราะระลึกถึงในบุญคุณของราธะที่เคยตักบาตรท่านทัพพีหนึ่ง ราธะเมื่อบวชแล้ว เป็นคนว่าง่าย ฟังธรรมเทศนาจากพระศาสดาเรื่องขันธ์ ๕ เป็นมาร จนสำเร็จพระอรหันต์ ได้รับยกย่องว่า เลิศทางปฏิภาณ

เรื่อง ทิศ ๖
พระศาสดาทอดพระเนตรเห็นเด็กหนุ่มชื่อ สิงคาลมานพ ชาวเมืองราชคฤห์ กำลังยืนไหว้ทิศทั้ง ๖ อยู่ในเวลาเช้าวันหนึ่ง ตรัสถามว่า
“เหตุใดเธอจึงไหว้ทิศ”
มานพ “พ่อสั่งไว้ก่อนตายว่าให้ไหว้ทิศ”
พระพุทธเจ้า “พระอริยเจ้าไม่สอนให้ไหว้ทิศ”
มานพ “ท่านสอนไว้อย่างไร โปรดบอกด้วยเถิด”
พระพุทธเจ้า “ก่อนอื่นผู้ไหว้ทิศต้องเว้นจากกรรมกิเลส ๔ อย่าง อคติ ๔ อย่าง อบายมุข ๖ อย่าง เสียก่อนแล้วจึงไหว้ทิศทั้ง ๖ ดังนี้
๑. ทิศบูรพา คือทิศเบื้องหน้า ได้แก่บิดามารดา
๒. ทิศทักษิณ คือทิศเบื้องขวา ได้แก่ครูอาจารย์
๓. ทิศปัจจิม คือทิศเบื้องหลัง ได้แก่บุตรภรรยา
๔. ทิศอุดร คือทิศเบื้องซ้าย ได้แก่มิตรอำมาตย์
๕. เหฏฐิมทิศ คือทิศเบื้องล่าง ได้แก่บ่าวไพร่
๖. อุปริมทิศ คือทิศเบื้องบน ได้แก่สมณพราหมณ์
มูลเหตุทำเทวตาพลี
เป็นประเพณีของพราหมณ์ต้องทำพลีกรรมแก่เทวดา พระพุทธเจ้าทรงตรัสแนววิธีทำเทวตาพลีแก่ สุนิธพราหมณ์และวัสสการพราหมณ์ ณ บ้านปาฏลิคาม เมืองปาตลีบุตร แคว้นมคธว่า ให้บริจาคทานแล้วอุทิศส่วนกุศลไปให้ ทรงวางไว้เป็นแบบสำหรับการทำเทวตาพลีโดยทั่วไป แต่ไม่สมควรที่อริยสาวกผู้ครองเรือนจะพึงกระทำ

*8q*
02-12-2009, 05:55 PM
เสด็จแคว้นสักกะ
แคว้นสักกะหรือสักกชนบท ตั้งอยู่ตอนเหนือของชมพูทวีป มีแม่น้ำโรหิณีไหลผ่านมีเขตแดนจรดแคว้นวัชชีและแคว้นมคธ ปกครองโดยสามัคคีธรรม มีพระเจ้าสุทโธทนะเป็นประมุข เมื่อพระมหาบุรุษตรัสรู้แล้ว ประทับที่เวฬุวันมหาวิหาร พระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบการตรัสรู้ ปรารถนาจะเห็นพระโอรส(พระพุทธเจ้า) ทรงสั่งอำมาตย์พร้อมด้วยบริวารไปทูลเชิญพระพุทธเจ้าให้เสด็จแคว้นสักกะ เมืองกบิลพัสดุ์รวม ๙ ครั้ง พวกอำมาตย์ได้พากันบวชหมดทุกครั้ง มิได้นำความไปกราบทูลให้ทรงทราบเลย ต่อมาทรงส่ง กาฬุทายีอำมาตย์ให้ไปทูลเชิญอีกเป็นครั้งที่ ๑๐ กาฬุทายีพร้อมด้วยบริวารพากันบวชหมดเหมือนทุกครั้ง แต่ครั้งนี้กาฬุทายีได้ทูลเชิญพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์สาวก เสด็จยังแคว้นสักกะเป็นผลสำเร็จ (กาฬุทายีได้แต่งคำประพันธ์กราบทูลพระพุทธเจ้าถึง ๖๔ คาถา) เมื่อถึงวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๔ (ฤดูร้อน) พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยหมู่สงฆ์ประมาณ ๒๐,๐๐๐ รูป เสด็จจากเวฬุวันมหาวิหารสู่เมืองกบิลพัสดุ์เป็นระยะ ๖๐ โยชน์ (๑ โยชน์เท่ากับ ๑๖ กม.) โดยเสด็จวันละ ๑ โยชน์ เป็นเวลา ๖๐ วัน จึงถึงเมืองกบิลพัสดุ์ ประทับที่นิโครธาราม ที่หมู่พระญาติสร้างถวาย ทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ เพื่อลดทิฐิมานะของหมู่พระญาติพระเจ้าสุทโธทนะเห็นอัศจรรย์ จึงกราบพระพุทธเจ้าเป็นครั้งที่ ๓ ทรงบันดาลให้ฝนโบกขรพรรษ (ฝนสีแดง ลื่น ไม่เปียก) ตกลงท่ามกลางหมู่พระญาติ ตรัสเรื่องมหาเวสสันดรชาดก (พระชาติสุดท้ายก่อนตรัสรู้) วันรุ่งขึ้นเสด็จออกบิณฑบาตพร้อมด้วยหมู่สงฆ์ พระเจ้าสุทโธทนะเสด็จมาห้าม ทรงแสดงสุจริตธรรม โปรดพระบิดาว่า ธมฺมญจเรสุจริตํ พึงประพฤติธรรมให้สุจริต เป็นต้น พระเจ้าสุทโธทนะบรรลุโสดาปัตติผล
วันที่สอง เสด็จไปโปรดด้วยสุจริตธรรม พระบิดาบรรลุสกทาคามีผล พระนางปชาบดีโคตมีบรรลุโสดาปัตติผล
วันที่สาม โปรดด้วยธรรมปาลชาดก พระบิดาบรรลุอนาคามิผล เสด็จพร้อมด้วยอัครสาวกทั้งสองโปรดพระนางยโสธรา พิมพา จนบรรลุโสดาปัตติผล ด้วยจันทกินนรีชาดก
วันที่สี่ เสด็จงานอภิเษกสมรสระหว่างนันทกุมาร(พระอนุชาต่างมารดา) กับนางชนบทกัลยาณี ทรงให้นันทกุมารอุปสมบท ณ นิโครธาราม ทรงแสดงภาพนิมิตให้พระนันทะเห็นว่าความงามไม่มีสิ้นสุดเกิดความเบื่อหน่าย บำเพ็ญสมณธรรมจนบรรลุพระอรหันต์ (หนามยอกเอาหนามบ่ง)
ในวันที่เจ็ด พระนางยโสธรา พิมพา ให้ราหุลกุมารทูลขอราชสมบัติ พระศาสดาทรงประทานทรัพย์ภายในอันประเสริฐ คืออริยทรัพย์แก่ราหุลกุมาร ทรงมอบให้ พระสารีบุตรบรรพชาราหุลกุมารเป็นสามเณรด้วยวิธี ติสรณคมนูปสัมปทา เป็นสามเณรรูปแรกในพระพุทธศาสนา เมื่ออายุได้ ๗ พรรษาเท่านั้น พระเจ้าสุทโธทนะทราบข่าวการบรรพชาทรงโทมนัส เสียใจพระทัย เสด็จไปเฝ้าพระศาสดาทูลขอว่า “ขออย่าได้บรรพชาอุปสมบทกุลบุตรที่มารดาบิดาไม่อนุญาตอีกเลย” ทรงประทานพรให้ตามที่ทูลขอ พระพุทธเจ้าประทับที่นิโครธารามครบ ๗ วันจึงเสด็จกลับเวฬุวันมหาวิหาร ฝ่ายสามเณรราหุลเมื่ออายุครบ ๒๐ พรรษา ก็อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ต่อมาได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์เพราะฟังธรรมเทศนาชื่อ จุลลราหุโลวาทสูตร ได้รับยกย่องว่าเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในด้านเป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษา ท่านนิพพานก่อนพระสารีบุตร ๗ วัน ณ ดาวดึงส์สวรรค์

*8q*
02-12-2009, 05:56 PM
พระพุทธเจ้าเสด็จเมืองกบิลพัสดุ์ ๓ ครั้ง
ครั้งที่ ๑ โปรดพระเจ้าสุทโธทนะและหมู่ญาติ
ครั้งที่ ๒ ห้ามหมู่ญาติเรื่องแย่งน้ำในแม่น้ำโรหิณี
ครั้งที่ ๓ เสด็จเยี่ยมพระเจ้าสุทโธทนะขณะประชวรแล้วทรงแสดง อนิจจตาทิปฏิสังยุตเทศนา จนพระบิดาบรรลุอรหันต์และนิพพานไน ๗ วันต่อมา

เสด็จแคว้นโกศล
แคว้นโกศล มีเมืองหลวงชื่อสาวัตถี มีแม่น้ำจิรวดีไหลผ่าน ต่อมาได้รวมเอาแคว้นกาสีเข้าเป็นแคว้นเดียวกัน มีพระเจ้าปเสนทิโกศลเป็นกษัตริย์ปกครอง มีอำนาจมากทัดเทียมกับพระเจ้าพิมพิสารแห่งแคว้นมคธ
ในเมืองสาวัตถีมีคหบดีใจบุญคนหนึ่งชื่อ สุทัตตะ แต่คนทั่วไปเรียกท่านว่า อนาถปิณฑิกเศรษฐี แปลว่า ผู้มีก้อนข้าวเพื่อคนอนาถา วันหนึ่งท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐีไปเยี่ยมพี่เขยที่เมืองราชคฤห์ ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าที่ป่า สีตวัน เมืองราชคฤห์ ฟังอนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔ บรรลุโสดาปัตติผลแล้วปฏิญาณตนเป็นอุบาสก ได้สละทรัพย์ ๕๔ โกฏิสร้างเชตวันมหาวิหาร ถวายพระพุทธเจ้าๆเสด็จจำพรรษาที่วัดนี้ถึง ๑๙ พรรษา นานกว่าวัดอื่น ท่านได้รับยกย่องว่า เลิศทางบริจาคทาน คู่กับอุบาสิกาอีก่านหนึ่ง คือ นางวิสาขา ที่สร้างวัดบุปพารามถวาย

เจ้าชาย ๖ พระองค์ออกบวช
พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่อนุปิยอัมพวัน แคว้นมัลละ เจ้าชายจากศากยวงศ์ ๕ พระองค์คือ ๑.ภัคคุ ๒.กิมพิละ ๓.ภัททิยะ ๔.อนุรุทธะ ๕.อานนท์ รวมนายภูษามาลา หรือช่างกัลบก(ช่างตัดผม) อีก ๑ คน ชื่อ อุบาลี เจ้าชายจากโกลิยวงศ์ ๑ พระองค์คือ พระเทวทัต รวมเป็น ๖ เจ้าชาย ๑ คนใช้
พระภัคคุและกิมพิละ บวชแล้วไม่ปรากฏผลงาน
พระภัททิยะ เคยเป็นกษัตริย์ปกครองเมืองเล็กๆในแคว้นสักกะ บวชแล้วชอบเปล่งอุทานว่า สุขหนอๆ ได้รับยกย่องว่า ตระกูลสูงสุด
พระอนุรุทธะ เป็นโอรสของพระเจ้าอมิโตทนะ มีพี่ชายชื่อ มหานามะ น้องสาวชื่อ โรหิณี ชีวิตเมื่อก่อนบวชมีแต่ความสุขสบาย คำว่า ไม่มี ไม่เคยได้ยิน ได้รับยกย่องว่า เลิศทางทิพพจักขุญาณ(ตาทิพย์) เป็นพระเถระผู้ใหญ่รูปเดียวที่เฝ้าอยู่ใกล้ชิดในวันปรินิพพานของพระพุทธเจ้า
พระอุบาลี ได้รับอนุญาตให้บวชก่อน เพื่อกำจัดทิฐิมานะของ ๖ เจ้าชาย เพราะต้องกราบไหว้อุบาลีที่บวชก่อน ได้รับยกย่องว่า เลิศทางวินัย(เป็นนักกฎมาย) ท่านทำหน้าที่วิสัชนาพระวินัยปิฎก ในการทำปฐมสังคายนา
พระอานนท์ เป็นโอรสของพระเจ้าสุกโกทนะ กับพระนางกีสาโคตมี เป็นอนุชา(ลูกพี่ลูกน้อง) ของพระพุทธเจ้า ได้รับยกย่อง ๕ อย่าง คือ มีสติ มีคติ มีธิติ (ความเพียร) เป็นพหูสูต เป็นพุทธอุปัฏฐาก บรรลุโสดาปัตติผลในสำนักของพระปุณณมันตานีบุตร ได้รับยกย่องว่า เป็นคลังพระสัทธรรม สำเร็จพระอรหันต์(กิเลสนิพพาน) หลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ ๓ เดือน ในระหว่างอิริยาบถทั้ง ๔ เป็นผู้วิสัชนาพระสุตตันตปิฎกและพระอภิธรรมปิฎก เมื่อครั้งปฐมสังคายนา นิพพานเมื่ออายุ ๑๒๐ ปี ด้วยการเหาะขึ้นไปเหนือแม่น้ำโรหิณี แล้วนิพพานกลางอากาศ (ขันธนิพพาน)
พระเทวทัตต์ เป็นโอรสของพระเจ้าสุปปพุทธะและพระนางอมิตา บวชแล้วบรรลุฌานโลกีย์ ถูกลาภสักการะครอบงำ คิดจะเป็นพระพุทธเจ้าเสียเอง ยุยงพระเจ้าอชาตศัตรู ให้ปลงพระชนม์พระบิดาคือพระเจ้าพิมพิสารและลอบทำร้ายพระพุทธเจ้าถึง ๓ ครั้ง คือ
๑. จ้างนายขมังธนูลอบยิง
๒. กลิ้งหินจากยอดเขาคิชกูฏให้ทับพระองค์
๓. ปล่อยช้างนาฬาคีรีให้ทำร้าย
ต่อมาพระเทวทัตต์ได้ทูลขอบัญญัติ ๕ ประการ (วัตถุ ๕ ประการ) คือ
๑. ให้พระบิณฑบาตเป็นวัตร
๒. ห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร
๓. อยู่โคนไม้เป็นวัตร
๔. อยู่ป่าเป็นวัตร
๕. ไม่ฉันเนื้อสัตว์(มังสวิรัติ)
เมื่อพระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาต จึงพาพระสงฆ์แยกจากพระพุทธเจ้า ตั้งตัวเป็นศาสดา (ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน เป็นอนันตริยกรรม) ต่อมาพระเทวทัตต์อาพาธหนัก สำนึกผิดเดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้าที่เชตวันมหาวิหาร แต่ถูกแผ่นดินสูบเสียก่อน ก่อนตายได้ถวายกระดูกคางของตนเป็นพุทธบูชา พระเทวทัตต์เมื่อชดใช้กรรมในนรกอเวจีหมดสิ้นแล้ว จะได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ เป็นพระปัจเจกพระพุทธเจ้าพระนามว่า อัฏฐิสสระ พระเทวทัตต์ทำอนันตริกรรม ๒ ข้อ
๑ ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงห้อพระโลหิต (โลหิตุบาท)
๒ ทำลายสงฆ์ให้แตกจากกัน(สังฆเภท)
พฤติกรรมของพระเทวทัตต์ตรงกับสำนวนว่า ต้นตรง ปลายคด หรือสว่างมา มืดไป
ส่วนพระเจ้าอชาตศัตรู ต่อมาได้สำนึกผิด จึงให้หมอชีวกโกมารภัจพาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ ชีวกัมพวัน สดับพระธรรมเทศนาแล้วมีความเลื่อมใส ปฏิญาณพระองค์เป็นอุบาสก ทรงให้การอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี เช่น การทำปฐมสังคายนา เป็นต้น

*8q*
02-12-2009, 05:57 PM
พระพุทธบิดานิพพาน
พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่ภูฏาคารศาลาป่ามหาวัน ทรงทราบว่าพระบิดาประชวรหนัก ได้เสด็จเยี่ยมพระบิดาพร้อมด้วยพระนันทะ พระอานนท์ พระราหุล และพระสงฆ์เป็นจำนวนมาก ทรงแสดงอนิจจตาทิปฏิสังยุตเทศนา (เทศนาว่าด้วยความไม่เที่ยง เป็นต้น) จนพระบิดาสำเร็จพระอรหันต์แล้วนิพพานภายใน ๗ วันต่อมา พระพุทธเจ้าทรงรับเป็นประธานงานพระราชทานเพลิงศพพระบิดา ทรงมอบให้พระมหากัสสปะจัดเตรียมสถานที่ ให้พระสารีบุตรจัดถวายน้ำสรงพระศพ
พระนางปชาบดีโคตมีออกบวช
พระนางปชาบดีโคตมี ได้เข้าเฝ้าพระบรมศาสดา ณ นิโครธาราม ทูลขออุปสมบทถึง ๓ ครั้ง แต่พระศาสดาไม่ทรงอนุญาต ครั้งที่ ๔ พร้อมด้วยขัตติยนารีชาวศากยะประมาณ ๕๐๐ คน ปลงผมห่มผ้ากาสาวพัสตร์ พากันไปยืนกรรแสงอยู่ที่ซุ้มประตูกูฏาคารศาลา ป่ามหาวันเมืองเวสาลี พระอานนท์ทราบข่าวจึงไปกราบทูลขออนุญาตให้พระนางปชาบดีโคตมีและคณะได้อุปสมบท ทรงตรัสว่า “อานนท์ ถ้าพระนางปชาบดีจะรักษา ครุธรรม ๘ ประการได้ เราจะอนุญาต” พระศาสดาได้แสดงครุธรรม ๘ ประการ ให้พระอานนท์ฟังก่อนเพื่อนำรายละเอียดไปบอกพระนางปชาบดีทราบอีกต่อหนึ่ง
ครุธรรม ๘ ประการ
๑. ภิกษุณีแม้บวชได้ ๑๐๐ พรรษา ต้องกราบไหว้ภิกษุผู้บวชได้วันเดียว
๒. ภิกษุณีต้องไม่อยู่จำพรรษาในวัดที่ไม่มีภิกษุจำพรรษา
๓. ภิกษุณีต้องทำอุโบสถกรรมและรับโอวาทจากพระภิกษุทุกกึ่งเดือน
๔. ภิกษุณีจำพรรษาแล้วต้องทำปวารณากรรมในสงฆ์ ๒ ฝ่าย (อุภโตสงฆ์ ภิกษุ-ภิกษุณี)
๕. ภิกษุณีต้องอาบัติหนักต้องประพฤติมานัตในสงฆ์ ๒ ฝ่าย
๖. ภิกษุณีต้องอุปสมบทในสงฆ์ ๒ ฝ่าย ขณะเป็นสามเณรีต้องรักษาศีลข้อ ๑-๖ ไม่ให้ขาดเป็นเวลา ๒ ปี จึงจะอุปสมบทเป็นภิกษุณีได้ เรียกว่า นางสิกขมานา
๗. ภิกษุณีจะด่าว่าภิกษุไม่ได้
๘. ภิกษุณีต้องรับฟังคำสอนจากภิกษุเพียงอย่างเดียว จะสอนภิกษุไม่ได้
พระนางปชาบดี ยอมรับครุธรรม ๘ ประการ พระพุทธเจ้าจึงประทานอุปสมบทให้ทั้งหมด (บวชด้วยการรับครุธรรม ๘ ประการ สงเคราะห์เข้าใน เอหิภิกขุอุปสัมปทา) ได้รับยกย่องว่า เลิศทางรัตตัญญู

พระนางยโสธรา พิมพา ออกบวช
เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะนิพพานแล้ว เจ้ามหานามะ ได้ครองราชสมบัติแทน ส่วนพระนางยโสธรา พิมพา ได้อุปสมบทเป็นภิกษุณี ณ เชตวันมหาวิหาร ได้พระนามใหม่ว่า พระนางภัททากัจจานาเถรี เลิศทาง อภิญญา ๖

โปรดพุทธมารดา
เมื่อพระพุทธเจ้าแสดงยมกปาฏิหารย์ ปราบพวกเดียรถีย์ เมื่อวันเพ็ญเดือน ๘ ใต้ต้นมะม่วงในป่าใหญ่ เมืองสาวัตถี จนพ่ายแพ้ (หัวหน้าเดียรถีย์ชื่อบูรณกัสสปะ เกิดความอับอายใช้หม้อข้าวผูกคอตัวเองโดดน้ำตาย) แล้วเสด็จไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อโปรดพระพุทธมารดาด้วยความกตัญญูกตเวที ประทับที่ปัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ของท้าวสักกะ ใต้ต้นปาริชาติ ทรงแสดงอภิธรรม ๗ คัมภีร์ โปรดพระพุทธมารดาและหมู่เทวดาจนสำเร็จโสดาปัตติผลตลอดระยะเวลา ๓ เดือนในพรรษานั้น (พรรษาที่ ๗) ออกพรรษาแล้วเสด็จลงจากดาวดึงส์เทวโลกทางบันใดแก้ว เชิงบันไดทอดลงที่ประตูเมืองสังกัสสนคร เรียกว่า อจลเจดีย์ ทรงทอดพระเนตรไปทางทิศใดทิศนั้นจะแลดูโล่งไม่มีอะไรปิดบัง ทำให้ชาวโลกทั้ง ๓ คือ เทวดา มนุษย์ และสัตว์นรก มองเห็นซึ่งกันและกัน เราจึงเรียกวันนั้นว่า วันเทโวโรหนะ หรือ วันพระเจ้าเปิดโลก

*8q*
02-12-2009, 05:58 PM
โปรดองคุลีมาล (ขุนโจร ๙๙๙)
องคุลีมาล เดิมชื่อ อหิงสกะ เป็นบุตรของปุโรหิตแห่งพระเจ้าปเสนทิโกศล ในวันที่อหิงสกะเกิด คลังอาวุธในพระนครลุกโชติช่วงเป็นเปลวไฟ บิดาทายว่า จะเป็นโจรฆ่าคนเป็นจำนวนมาก จึงตั้งชื่อเพื่อแก้เคล็ดว่า “อหิงสกะ” แปลว่า ไม่เบียดเบียน ต่อมาบิดาส่งไปเรียนวิชาในสำนักตักสิลา ถูกเพื่อนกลั่นแกล้งยุให้อาจารย์ฆ่าเสีย อาจารย์จึงให้อหิงสกะไปฆ่าคน ๑,๐๐๐ คน แล้วจะสอนมนต์พิเศษให้(วิษณุมนต์) อหิงสกะ ได้ฆ่าคนถึง ๙๙๙ คน แล้วตัดนิ้วมือร้อยเป็นพวงมาลัยคล้องคอ จึงมีชื่อเรียกว่า องคุลีมาล แปลว่า มีนิ้วมือเป็นพวงมาลัย ต่อมาพบพระพุทธเจ้าจึงวิ่งไล่ฆ่าหวังจะตัดนิ้วมาร้อยมาลัยให้ครบ ๑ พันแต่ไล่ไม่ทัน พลางพูดว่า “พระหยุดก่อน พระหยุดก่อน” ทรงตรัสตอบว่า “เราหยุดแล้ว เธอซิยังไม่หยุด” (หมายถึง หยุดจากการทำความชั่ว) องคุลีมาลกลับได้สติ ทิ้งดาบก้มลงกราบ พลางกราบทูลว่า “นานเหลือเกินพระเจ้าข้ากว่าจะเสด็จมาโปรด” ต่อมาได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ท่านมีความสามารถพิเศษเสกคาถาทำน้ำมนต์ให้หญิงคลอดบุตรง่าย (เป็นพระนักผดุงครรภ์) ลักษณะอย่างนี้เรียกว่า ต้นคด ปลายตรง หรือ มืดมา สว่างไป(ท่านมีชื่อเรียกอีอย่างหนึ่งว่า คักคมันตานีบุตร เพราะท่านเป็นบุตรของปุโรหิตชื่อ คักคะ และนางมันตานี)

คาถาทำน้ำมนต์ให้คลอดบุตรง่าย
ยโตหํ ภคินิ อริยาย ชาติยา ชาโต นาภิชานามิ สญฺจิจฺจ ปาณํ ชีวิตา โวโรเปตา เตน สจฺเจน โสตฺถิเต โหตุ โสตฺถิ คพฺภสฺส
ดูก่อนน้องหญิง ตั้งแต่เราเกิดมาโดยอริยชาติ ยังไม่รู้สึกตัวว่าแกล้งปลงชีวิตสัตว์เลย ด้วยอำนาจสัจจะวาจานั้น ขอความสวัสดีจงมีแก่เธอและครรภ์ของเธอเถิด

ทรงปรารภถึงความชรา
พระพุทธเจ้ามีพระชนมายุ ๘๐ พรรษา ทรงบำเพ็ญพุทธกิจถึง ๔๕ พรรษา ทรงปรารภถึงพระสรีระร่างกายของพระองค์ว่า ชราลงไปโดยลำดับ เหมือนเกวียนชำรุดซ่อมแซมไว้ด้วยไม้ไผ่ทรงจำพรรษาสุดท้าย(พรรษาที่๔๕) ที่บ้านเวฬุวคาม เมืองเวลาสี ออกพรรษาแล้ว เสด็จไปประทับ ณ ปาวาลเจดีย์ เมืองเวสาลี ก่อนเสด็จจากเมืองเวสาลีไป ทรงหันพระพักตร์มองเมืองเวสาลีเป็นครั้งสุดท้าย (มองแบบช้างเหลียวหลัง เรียกว่า นาคาวโลก)

ทรงทำนิมิตโอภาส
พระศาสดาทรงทำนิมิตโอภาส (ทำเหมือนบอกใบ้) เพื่อให้พระอานนท์ทูลอาราธนาให้พระองค์ดำรงพระชนมายุอยู่ต่อไปอีก ๑ กัปป์ รวม ๑๖ ครั้ง ๑๖ ตำบล ด้วยการรับสั่งว่า “อานนท์ ถ้าบุคคลใดเจริญอิทธิบาทภาวนา ๔ ประการ จะมีอายุยืนยาวอยู่ได้ตลอดกัปป์หนึ่งหรือนานกว่านั้น”
ในกรุงราชคฤห์ ๑๐ ตำบล คือ
๑. เขาคิชกูฏ
๒. โคตมนิโครธ
๓. เหวสำหรับทิ้งโจร
๔. ถ้ำสัตตบรรณคูหา ข้างภูเขาเวภาระ
๕. กาฬศิลา ข้างภูเขาอิสิคิริ
๖. เงื้อมสัปปิโสณทิกา ป่าสีตวัน
๗. ตโปทาราม
๘. เวฬุวนาราม
๙. ชีวกัมพวนาราม
๑๐.มัททกุจฉิมิคทายวัน
ในเมืองไพศาลี ๖ ตำบล
๑. อุเทนเจดีย์
๒. โคตมเจดีย์
๓. สัตตัมพเจดีย์
๔. พหุปุตตเจดีย์
๕. สารันทเจดีย์
๖. ปาวาลเจดีย์
พระอานนท์ไม่ทราบในพุทธประสงค์จึงมิได้ทูลอาราธนา

ปลงอายุสังขาร
พระศาสดาประทับอยู่ที่ปาวาลเจดีย์ จนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ทรงตัดสินพระทัยว่า จะปรินิพพาน จึงทรงประกาศว่า “นับแต่นี้ไปอีก ๓ เดือน ตถาคตจะปรินิพพาน” จึงเรียก ปลงอายุสังขาร
เหตุแห่งแผ่นดินไหว ๘ อย่าง (ตรัสกับพระอานนท์)
๑. ลมกำเริบ
๒. ผู้มีฤทธิ์บันดาล
๓. พระโพธิสัตว์จุติลงสู่พระครรภ์
๔. พระโพธิสัตว์ประสูติ
๕. พระตถาคตตรัสรู้
๖. พระตถาคตแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
๗. พระตถาคตปลงอายุสังขาร
๘. พระตถาคตปรินิพพาน
ทรงแสดงอภิญญาเทสิตธรรม (โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ)
พระศาสดาประทับที่เมืองเวสาลี ทรงอภิญญาเทสิตธรรมหรือโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการแก่หมู่สงฆ์ (กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เมืองเวสาลี)
อภิญญาเทสิตธรรม(ธรรมที่แสดงเพื่อความรู้ยิ่ง) หรือโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ คือ -
-สติปัฏฐาน ๔
-สัมมัปปธาน ๔
-อิทธิบาท ๔
-อินทรีย์ ๕
-พละ ๕
-โพชฌงค์ ๗
- มรรคมีองค์ ๘


ทรงแสดงอริยธรรม ๔ ประการ
พระศาสดาประทับอยู่ที่ภัณฑุคาม เมืองเวสาลี ทรงแสดงอริยธรรม ๔ ประการ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ โปรดหมู่สงฆ์ (นักเรียนโปรดทราบว่า เหตุการณ์ตอนนี้เป็นการเสด็จพระราชดำเนินของพระพุทธเจ้าไปยังเมืองกุสินารา แคว้นมัลละ เพื่อปรินิพพานที่เมืองนี้)
เสด็จผ่านหมู่บ้าน ๓ หมู่บ้าน คือ หัตถีคาม อัมพคาม และชัมพุคาม
ทรงแสดงมหาปเทส ๔ แก่หมู่สงฆ์ที่อานันทเจดีย์ แขวงโภคนคร ใจความโดยย่อ คือ “สิ่งใดเป็นธรรมวินัย สิ่งนั้นเป็นคำสอนของพระศาสดา สิ่งใดไม่เป็นธรรมไม่เป็นวินัย สิ่งนั้นมิใช่คำสอนของพระศาสดา”
เสด็จถึงเมืองปาวา เมืองหลวงของแคว้นมัลละ ประทับที่สวนมะม่วงของนายจุนทะ กัมมารบุตร(บุตรนายช่างทอง) รุ่งเช้าตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ เสวยภัตตาหารที่บ้านของนายจุนทะ กัมมารบุตร เป็นอาหารประเภทสุกรมัทวะ หรือมังสะสุกรอ่อน เรียกว่าปัจฉิมบิณฑบาต (บิณฑบาตมื้อสุดท้าย) ทำให้อาพาธกำเริบขึ้นอีก ทรงอาเจียรเป็นโลหิต เรียกว่าโรคปักขันธิกาพาธหรือลงพระโลหิต ทรงอดกลั้นด้วยอธิวาสนขันติ ทรงกำจัดอาพาธนั้นด้วย อิทธิบาทภาวนา ทรงแสดงธรรมโปรดนายจุนทะได้บรรลุโสดาปัตติผล

เสด็จผ่านแม่น้ำ ๓ สาย
เสด็จถึงแม่น้ำสายที่ ๑ (ไม่ปรากฏชื่อ) ทรงรับสั่งให้พระอานนท์ไปตักน้ำเพื่อดื่มบรรเทาความกระหาย ปุกกุสะ มัลลบุตร โอรสของกษัตริย์มัลละ ศิษย์ของอาฬารดาบสเดินสวนทางมา พบพระศาสดาจึงถวายผ้าสิงคิวรรณ ๒ ผืน (ผ้าสิงคิวรรณเป็นผ้าราคาแพง สีเหลืองเหมือนทอง) ทรงแบ่งให้พระอานนท์ผืนหนึ่ง แต่พระอานนท์ได้ทูลถวายพระศาสดาทั้ง ๒ ผืน ทรงนุ่งห่มผ้าทั้ง ๒ ผืน พระอานนท์เห็นพระฉวีวรรณของพระศาสดาผ่องใสยิ่งกว่าทุกครั้ง ทรงตรัสว่า กายของตถาคตจะงามบริสุทธิ์ ๒ ครั้งคือ
๑. ในคืนที่จะตรัสรู้
๒. ในคืนที่จะปรินิพพาน
เสด็จถึงแม่น้ำสายที่ ๒ ชื่อ กกุธานที ตรัสกับพระอานนท์ว่า ถ้าใครจะตำหนิจุนทะเกี่ยวกับเรื่องถวายสุกรมัทวะแก่พระองค์ ขอให้ช่วยกันชี้แจงปลอบโยนจุนทะให้สบายใจ ตรัสเรื่องการถวายอาหาร ๒ อย่าง มีผลเสมอกัน คือ
๑. อาหารบิณฑบาตที่เสวยแล้วตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ (นางสุชาดาถวาย)
๒. บิณฑบาตที่เสวยแล้วปรินิพพาน (นายจุนทะถวาย)
เสด็จถึงแม่น้ำสายที่ ๓ ชื่อ หิรัญวดี เสด็จข้ามแม่น้ำสายนี้ ถึงเมืองกุสินาราในเวลาเย็น บรรทมเหนือแท่นปรินิพพาน ระหว่างต้นสาละทั้งคู่ (บางตำราว่าระหว่างนางรังทั้งคู่) ณ สาลวโนทยาน หันพระเศียรไปทางทิศอุดร(ทิศเหนือ) การบรรทมครั้งนี้เป็นการบรรทมครั้งสุดท้าย จะไม่เสด็จลุกขึ้นอีก เรียกว่า อนุฏฐานไสยาสน์

ตรัสเรื่องการบูชา ๒ อย่าง
ในขณะที่พระองค์ประทับบนแท่นปรินิพพาน ดอกไม้นานาพันธุ์ เช่น ดอกสาละ ดอกมณฑารพ เป็นดอกไม้จากสวรรค์ ได้ร่วงหล่นมาบูชาพระองค์ ตรัสเรื่องการบูชา ๒ อย่างกับพระอานนท์ คือ
๑. อามิสบูชา การบูชาด้วยอามิส เช่น ดอกไม้ ธูป เทียน
๒. ปฏิบัติบูชา การบูชาด้วยการปฏิบัติตามคำสอน (ทรงยกย่องปฏิบัติบูชา


<!-- / message -->

*8q*
02-12-2009, 05:59 PM
ตรัสเรื่องสตรีเพศ
๑. ไม่ดูไม่เห็นเป็นดีที่สุด
๒. เมื่อจำเป็นต้อดูต้องเห็น การไม่พูดด้วย เป็นดีที่สุด
๓. เมื่อจำเป็นต้องพูดด้วย ต้อมีสติมั่นคง อย่าให้กิเลสตัณหาครอบงำได้

ทรงเปิดโอกาสให้เทวดา
พระพุทธองค์ทรงไล่พระอุปวาณะ ที่กำลังถวายงานพัด ให้ลูกไปเสียจากที่นั้น เพราะนั่งบังเทวดา เป็นการเปิดโอกาสให้เทวดาได้เข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด

สังเวชนียสถาน ๔ แห่ง
สังเวชนียสถาน คือสถานที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า ๔ แห่ง ที่ทำให้เกิดความสังเวช, (ความรู้สึกเตือนสำนึกในความไม่ประมาท) คือ
๑. สถานที่ประสูติ
๒. สถานที่ตรัสรู้
๓. สถานที่แสดงปฐมเทศนา
๔. สถานที่ปรินิพพาน
ทรงตรัสกับพระอานนท์ว่า เป็นสถานที่ที่พุทธบริษัทควรดูควรเห็น ทำให้เกิดความสังเวช ผู้ใดสักการะด้วยใจศรัทธา เมื่อสิ้นชีวิตจะไปเกิดบนสวรรค์

วิธีปฏิบัติในพระสรีระ(พระศพ)
พระอานนท์ “ข้าพระองค์จะปฏิบัติในพระสรีระอย่างไร”
พระพุทธเจ้า “เธออย่าเดือดร้อนไปเลย เป็นหน้าที่ของกษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี จัดทำเอง”
พระอานนท์ “ถ้าเขาเหล่านั้นไม่ทราบจะทำประการใด”
พระพุทธเจ้า “ให้ปฏิบัติเหมือนพระศพพระเจ้าจักรพรรดิ ห่อด้วยผ้าใหม่ ซับด้วยสำลี ๕๐๐ ชั้น วางไว้ในรางเหล็ก รดด้วยน้ำมัน มีฝาเหล็กปิดครอบไว้ แล้วเชิญขึ้นสู่จิตกาธาร ถวายพระเพลิงแล้ว ให้เชิญพระอัฐิธาตุบรรจุไว้ในสถูป ณ ทาง ๔ แพร่ง เพื่อเป็นที่สักการะบูชาของประชาชน”

ถูปารหบุคคล ๔ จำพวก
ถูปารหบุคคล คือบุคคลผู้ควรสร้างสถูปบรรจุอัฐิไว้สักการบูชา มี ๔ จำพวก คือ
๑. พระพุทธเจ้า
๒. พระปัจเจกพระพุทะเจ้า
๓. พระอรหันตสาวก
๔. พระเจ้าจักรพรรดิ


ประทานโอวาทแก่พระอานนท์
พระอานนท์เสียใจที่พระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน ไปยืนเหนี่ยวกปิสีสะ (ไม้มีลักษณะคล้ายศีรษะวานร บางแห่งเรียกสลักเพชร) ร้องให้อยู่ ทรงปลอบใจพระอานนท์ว่า “ดูก่อนอานนท์ เราเคยบอกว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วแปรปรวนไปและแตกสลายในที่สุด เป็นเช่นนี้เหมือนกันหมด อานนท์ เธออุปัฏฐากตถาคตมานาน เธอเป็นคนมีบุญ หมั่นทำความเพียรต่อไป ไม่ช้าจะสำเร็จพระอรหันต์ เมื่อตถาคตนิพพานได้ ๓ เดือน”
ตรัสสรรเสริญพระอานนท์
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งในอดีตและอนาคต ทรงมีพระอุปัฏฐากที่ดีไม่เกินไปกว่าพระอานนท์
พระอานนท์เป็นบัณฑิต รู้กาลใดควรไม่ควร เมื่อจะเข้าเฝ้าตถาคต อานนท์จะจัดให้พุทธบริษัทได้เข้าเฝ้าอย่างเหมาะสม
เมื่อพุทธบริษัทได้เห็นพระอานนท์ก็ยินดี เมื่อได้ฟังอานนท์แสดงธรรมก็ชื่นชม ไม่เบื่อหน่าย อานนท์เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ๕ อย่าง คือ เป็นพหูสูต ๑ มีสติ๑ มีคติ๑ มีธิติ๑(ความเพียร) เป็นพุทธอุปัฏฐาก๑
พระอานนท์เคยขอพร ๘ ประการ ก่อนรับหน้าที่พุทธอุปัฏฐาก คือ
๑. อย่าประทานจีวรอันประณีตแก่ข้าพระองค์
๒. อย่าประทานบิณฑบาตอันประณีตแก่ข้าพระองค์
๓. อย่าให้ข้าพระองค์อยู่ในที่ประทับ
๔. อย่าให้ข้าพระองค์ไปในที่นิมนต์
๕. ขอให้เสด็จไปในที่นิมนต์ที่ข้าพระองค์รับไว้
๖. ขอให้ข้าพระองค์พาบริษัทที่มาจากแดนไกลเข้าเฝ้าได้เมื่อมาถึง
๗. ถ้าข้าพระองค์มีความสงสัยให้ทูลถามได้ตลอดเวลา
๘. ถ้าแสดงธรรมเรื่องใดในที่ลับหลังข้าพระองค์ ขอให้แสดงธรรมนั้นแก่ข้าพระองค์
พระอานนท์ขอพร ๔ ข้อแรก เพื่อป้องกันคำครหานินทาว่า พระอานนท์รับใช้พระศาสดาเพราะเห็นแก่ลาภ
พระอานนท์ขอพรข้อ ๕-๗ เพื่อป้องกันคำครหานินทาว่า พระอานนท์รับใช้พระศาสดาถึงเพียงนี้ยังไม่ได้รับการอนุเคราะห์จากพระศาสดาเลย
ส่วนข้อสุดท้าย เพื่อป้องกันคำครหานินทาว่า พระอานนท์ตามเสด็จพระพุทธเจ้าเหมือนเงาตามตัว ยังไม่รู้ว่า พระธรรมเทศนาเรื่องนี้ทรงแสดงที่ไหน เป็นต้น (พรข้อที่ ๘ ทำให้พระอานนท์ได้ยินได้ฟังมาก มีความรู้กว้างขวาง กลายเป็นพหูสูต)

ตรัสเรื่องเมืองกุสินารา
พระอานนท์ทูลถามว่า ทำไมพระองค์จึงเสด็จมาปรินิพพานที่เมืองกุสินาราซึ่งเป็นเมืองเล็ก ทรงตรัสว่า เมืองกุสินาราในอดีตเป็นเมืองใหญ่ ชื่อกุสาวดี มีพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่าสุทัสสนะ เป็นประมุข กว้าง ๗ โยชน์ ยาว ๑๒ โยชน์ คับคั่งด้วยผู้คน กึกก้องไปด้วยเสียง ๑๐ ชนิด ทั้งกลางวันและกลางคืน คือ ๑.เสียงช้าง ๒.เสียงม้า ๓.เสียงรถ ๔.เสียงกลอง ๕.เสียงตะโพน ๖.เสียงพิณ ๗.เสียงขับร้อง ๘.เสียงกังสดาร ๙.เสียงสังข์ ๑๐.เสียงเรียกกันบริโภคอาหาร
พระศาสดารับสั่งให้พระอานนท์นำข่าวปรินิพพานไปบอกมัลละกษัตริย์ พวกมัลละกษัตริย์พากันมาเฝ้าพระศาสดา พระอานนท์ได้จัดให้เข้าเฝ้าเป็นคณะ ทำให้เสร็จเร็วขึ้น

*8q*
02-12-2009, 06:00 PM
โปรดสุภัททปริพาชก
สุภัททปริพาชก นักบวชนอกศาสนา มีความสงสัยเรื่องครูทั้ง ๖ ว่าเป็นอรหันต์จริงหรือไม่ จึงไปทูลถามพระพุทธเจ้า ถูกพระอานนท์ห้ามไว้ถึง ๓ ครั้ง ทรงรับสั่งให้สุภัททปริพาชกเข้าเฝ้า ตรัสว่า “สุภัททะ ศาสนาใดสอนเรื่องมรรคมีองค์ ๘ ศาสนานั้นจะไม่ว่างจากพระอรหันต์” สุภัททะได้ทูลถามปัญหาอีก ๓ ข้อ คือ ๑.รอยเท้าในอากาศมีอยู่หรือไม่ ๒.สมณะภายนอกศาสนาของพระองค์มีอยู่หรือไม่ ๓.สังขารที่เที่ยงมีอยู่หรือไม่ ทรงตรัสว่า รอยเท้าในอากาศไม่มี ศาสนาไหนไม่มีมรรคมีองค์ ๘ สมณะก็ไม่มีในศาสนานั้น สังขารที่เที่ยงนั้นไม่มีเลย สุภัททะเลื่อมใสทูลขออุปสมบท มีระเบียบสำหรับนักบวชนอกศาสนาว่า ก่อนบวชต้องอยู่ติตถิยปริวาส ๔ เดือน สุภัททะ ยินดีปฏิบัติตามแม้จะอยู่นานถึง ๔ ปี พระศาสดาอนุโลมให้เป็นพิเศษโดยไม่ต้องอยู่ติดถิยปริวาส รับสั่งให้พระอานนท์เป็นพระอุปัชฌาย์บวชให้ เมื่อบวชแล้วฟังพระธรรมเทศนาเรื่องมรรคมีองค์ ๘ จากพระศาสดา ได้สำเร็จพระอรหันต์ในคืนนั้น เป็นปัจฉิมสาวก(สาวกรูปสุดท้าย) ตรัสกับพระอานนท์ว่า “ธรรมและวินัยจะเป็นศาสดาแทนเราเมื่อเรานิพพานแล้ว” ตรัสให้พระผู้น้อยพูดกับพระผู้แก่พรรษากว่าว่า ภันเต(ท่านผู้เจริญ) หรือ อายัสมา (ท่านผู้มีอายุ) ส่วนพระผู้แก่พรรษากว่าพูดกับพระผู้อ่อนพรรษากว่าว่า อาวุโส (ท่านผู้มีอายุ) ตรัสให้สงฆ์ลงพรหมทัณฑ์ (การไม่ว่ากล่าว ไม่สั่งสอน ไม่พูดด้วย) แก่พระฉันนะหัวดื้อ ต่อมาสงฆ์ให้ลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะ ทำให้พระฉันนะสำนึกผิด เลิกดื้อรั้นตั้งแต่นั้นมา ทรงเปิดโอกาส ให้พระสงฆ์ซักถามข้อสงสัยต่างๆพระสงฆ์ทั้ง ๕๐๐ รูป ล้วนเป็นพระอริยบุคคลทั้งสิ้น จึงไม่มีผู้ใดสงสัยหรือเคลือบแคลงในพระรัตนตรัยแต่อย่างใด

ปัจฉิมโอวาท
“ภิกษุทั้งหลาย เราขอเตือนท่านทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลาย จงยังประโยชน์ตนประโยชน์ผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด (วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ)” พระดำรัสนี้ เรียกว่าปัจฉิมโอวาท (อัปมาทธรรม) จัดเป็นปัจฉิมเทศนาด้วย ทรงสรุปพระธรรมคำสอนทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ลงในความไม่ประมาท

ปรินิพพาน
เมื่อประทานปัจฉิมโอวาทแล้วไม่ได้ตรัสอะไรอีกเลย ทรงกระทำปรินิพพานกรรมด้วยอนุบุพพวิหาร ๙ โดยลำดับ เริ่มตั้งแต่ ฌานที่๑(ปฐมฌาน)—ฌานที่ ๒(ทุติยฌาน)---ฌานที่ ๓(ตติยฌาน)---ฌานที่ ๔(จตุตถฌาน)---ฌานที่ ๕ (อากาสานัญจายตนะ)---ฌานที่ ๖(วิญญาณัญจายตนะ)---ฌานที่๗(อากิญจัญญายตนะ)---ฌานที่ ๘(เนวสัญญาณาสัญญายตนะ)---ฌานที่๙(สัญญาเวทยิตนิโรธ) เมื่อเข้าถึงฌานที่ ๙ สัญญาและเวทนาดับ ทรงมีพระอาการเหมือนคนสิ้นลมหายใจแล้ว พระอานนท์เข้าใจว่าพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว จึงถามพระอนุรุทธะๆตอบว่า ยังเจริญสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ ต่อจากนั้นทรงถอยกลับจากฌานที่ ๙ ลงมาตามลำดับ จนถึงฌานที่ ๑ แล้วเข้าสู่ฌานที่ ๒-๓-๔ ออกจากฌานที่ ๔ ยังไม่ถึงฌานที่ ๕ ก็ปรินิพพาน (นิพพานในระหว่างฌานที่ ๔ กับฌานที่ ๕ หรือระหว่างจตุตถฌานกับอากาสานัญจายตนะ) ในเวลาปัจฉิมยาม ตรงกับวันอังคาร ขึ้น ๑๕ เดือน ๖ ปีมะเส็ง ก่อนพุทธศักราช ๑ ปี รวมพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา
ผู้กล่าวธรรมสังเวช (สังเวคกถา)
๑. ท้าวสหัมบดีพรหม “สัตว์ทั้งปวง ล้วนทอดทิ้งร่างกายไว้ถมปฐพี แม้องค์พระศาสดาก็ยังเสด็จดับขันธปรินิพพาน”
๒. ท้าวโกสีย์สักกเทวราช “สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ เกิดขึ้นแล้วเสื่อมไปเป็นธรรมดา เกิดแล้วย่อมย่อมดับไป การสงบระงับแห่งสังขารเป็นสุข”
๓. พระอนุรุทธะ กล่าว ๒ คาถา “พระพุทธเจ้าทรงมีพระทัยมั่นคง ไม่หวั่นไหวด้วยโลกธรรม ได้สิ้นลมอัสสาสะปัสสาสะ ปรินิพพานแล้ว ดุจประทีปที่โชติช่วงได้ดับไปฉะนั้น”
๔. พระอานนท์ “เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว เกิดอัศจรรย์มีโลมาชูชัน ปรากฏแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

*8q*
02-12-2009, 06:01 PM
พิธีอัญเชิญพุทธสรีระ
เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว เวลานั้นเป็นเวลาปัจฉิมยามยังไม่สว่าง พระอนุรุทธะกับพระอานนท์ ได้เทศนาปลอบใจพุทธบริษัทที่กำลังเศร้าโศกให้ผ่อนคลาย เมื่อสว่างแล้วพระอนุรุทธะได้ให้พระอานนท์นำข่าวการปรินิพพานของพระพุทธเจ้าไปบอกแก่กษัตริย์มัลละ กษัตริย์มัลละรับเป็นเจ้าภาพจัดงานพระบรมศพในครั้งนี้ด้วย ในวันที่ ๗ กษัตริย์มัลละประสงค์จะเคลื่อนย้ายพระบรมศพไปทางทิศทักษิณเพื่อถวายพระเพลิงนอกพระนคร ให้มัลละปาโมกข์ ๘ คนมีกำลังมาก ช่วยกันอัญเชิญพระบรมศพ แต่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ พระอนุรุทธะแนะว่า”เทวดาประสงค์จะให้อัญเชิญพระบรมศพ โดยเข้าทางประตูด้านทิศอุดร แล้วออกทางประตูด้านทิศบูรพาของเมืองกุสินารา ประดิษฐานที่มกุฏพันธนเจดีย์ ที่เคลื่อนย้ายไม่สำเร็จเพราะขัดความประสงค์ของเทวดา

นางมัลลิกาถวายเครื่องประดับ
นางมัลลิกา ภรรยาของพันธุละเสนาบดี ได้ถวายเครื่องประดับชื่อ มหาลดาประสาธน์ ราคา ๙ โกฏิประดับด้วยรัตนะ ๗ ประการ บูชาพระบรมศพของพระพุทธเจ้า (สำหรับผู้ที่มีเครื่องประดับมหาลดาประสาธน์มี ๓ คน คือนางวิสาขามหาอุบาสิกา นางมัลลิกา ภรรยาของพันธุละเสนาบดี และธิดาเศรษฐีภรรยาของเทวปานิยสาร)
ถวายพระเพลิง
ครั้นถึงวันที่ ๘ หลังจากวันปรินิพพาน ตรงกับแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ เมื่อถึงเวลาถวายพระเพลิง มัลละปาโมกข์ ๔ คน ได้จุดเพลิงขึ้นทั้ง ๔ ทิศ แต่เพลิงไม่ติด พระอนุรุทธชี้แจงว่า เทวดาต้องการให้คอยพระมหากัสสปะ ซึ่งกำลังเดินทางมาจากเมืองปาวาจะมาถึงในไม่ช้า ฝ่ายพระมหากัสสปะพาภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ รูปเดินทางมา พบอาชีวกคนหนึ่งถือดอกมณฑารพ(ดอกไม้สวรรค์) เดินสวนทางมา ซึ่งดอกไม้สวรรค์นี้จะตกลงมาเฉพาะในวันสำคัญๆ ๖ เวลา คือ
๑. พระโพธิสัตว์จุติลงสู่พระครรภ์
๒. พระโพธิสัตว์ประสูติ
๓. พระตถาคตเจ้าตรัสรู้
๔. พระพุทธเจ้าแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
๕. พระพุทธเจ้าปลงพระชนมายุสังขาร
๖. พระพุทธเจ้าปรินิพพาน
อาชีวกพูดว่า พระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ ๗ วันแล้ว เมื่อทราบข่าว พระสงฆ์ที่เป็นปุถุชนต่างเศร้าโศกเสียใจ ส่วนท่านที่เป็นพระอรหันต์ก็เกิดธรรมสังเวชสลดใจ ขณะนั้นภิกษุผู้เฒ่าบวชเมื่อสายกายแก่รูปหนึ่งชื่อ สุภัททะวุฑฒบรรพชิต ได้กล่าวจ้วงจาบพระธรรมวินัย เป็นการดูหมิ่นพระศาสดาอย่างรุนแรงว่า “ท่านทั้งหลาย จะร้องไห้ไปทำไม บัดนี้เราพ้นแล้วจากอำนาจทั้งปวงของพระพุทธเจ้า เมื่อยังมีพระชนม์อยู่ ก็ห้ามปรามว่า สิ่งนี้ควรสิ่งนี้ไม่ควร อึดอัดใจเหลือเกิน เมื่อปรินิพพานแล้วอย่างนี้ พวกเราจะทำอะไรก็ได้ตามใจปรารถนา พวกท่านยังไม่ชอบอีกหรือ” พระมหากัสสปะได้ยินเกิดความสลดใจยิ่งนักคิดว่า เมื่อถึงโอกาสอันควรจะทำสังคายนารวบรวมคำสอนให้เป็นหมวดหมู่ มิฉะนั้นจะถูกพวกไม่รู้จักอาย (อลัชชี) เหยียบย่ำเสียหาย
เมื่อพระมหากัสสปะเดินทางมาถึงมกุฏพันธนเจดีย์ เข้าไปกราบพระบรมศพ ไฟก็ลุกขึ้นเองอย่างน่าอัศจรรย์ เผาไหม้ส่วนต่างๆจนหมดสิ้น เหลือแต่สิ่งที่ทรงอธิษฐานไว้ ๕ อย่าง คือ ๑.พระอัฐิ ๒.พระเกศา ๓.พระโลมา ๔.พระนขา ๕.พระทันตา รวมทั้งพระเขี้ยวแก้วและผ้าขาว ๑ ผืน
หมายเหตุ วันถวายพระเพลิงพุทธสรีระมีพระสงฆ์เข้าร่วมพิธี ๗ แสนรูป

ขนาดของพระบรมสารีริกธาตุ
๑. ขนาดใหญ่ เท่าเมล็ดถั่วแตก
๒. ขนาดกลาง เท่าเมล็ดข้าวสารหัก
๓. ขนาดเล็ก เท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาด


แจกพระบรมสารีริกธาตุ
เมื่อถวายพระเพลิงแล้ว กษัตริย์มัลละได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุไปประดิษฐานไว้ที่ สัณฐาคารศาลา ภายในพระนครกุสินารา ทำการสมโภชตลอด ๗ วัน กษัตริย์ ๗ เมือง ได้ส่งราชทูตของตนไปขอส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ เกือบจะเกิดสงครามแย่งชิงกัน เนื่องจากกษัตริย์มัลละไม่ยอมแบ่งให้ โทณพราหมณ์ ช่วยแก้สถานการณ์ไว้ได้ด้วยคำพูดว่า “พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญขันติ ความอดทน อหิงสา การไม่เบียดเบียนกัน สามัคคี ความพร้อมเพรียงกัน พวกเราควรปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ จงสามัคคีปรองดองกัน (อ้างสามัคคีธรรม) แบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้เท่าเทียมกันเถิด” โทณพราหมณ์ได้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น ๘ ส่วนๆละ ๒ ทะนาน(ตุมพะ) ให้แก่กษัตริย์ ๗ นคร และพราหมณ์อีก ๑ นคร รวม ๘ นคร ดังนี้
๑. พระเจ้าอชาตศัตรู เมืองราชคฤห์
๒. กษัตริย์ลิจฉวี เมืองเวสาลี
๓. พระเจ้ามหานามะ เมืองกบิลพัสดุ์
๔. พระเจ้าถูลิยะ เมืองอัลลกัปปะ
๕. พระเจ้าโกลิยะ เมืองรามคาม(เดิมเป็นเทวทหะ)
๖. กษัตริย์มัลละ เมืองปาวา
๗. กษัตริย์มัลละ เมืองกุสินารา
๘. พราหมณ์ เมืองเวฏฐทีปกะ
ทั้ง ๘ นคร นำพระบรมสารีริกขธาตุไปบรรจุไว้ในเจดีย์ เรียกว่า ธาตุเจดีย์ ฝ่ายโทณพราหมณ์ได้ลอบเอาพระเขี้ยวแก้วด้านขวา(พระทักษิณทาฐธาตุ)ซ่อนไว้ในมวยผม ท้าวสักกเทวราช ทราบจึงแฝงพระกายหยิบเอาพระเขี้ยวแก้วไปประดิษฐานไว้ที่ จุฬามณี บนสวรรค์ชั้นดาวดืงส์ โทณพราหมณ์จึงขอตุมพะ หรือทะนานทองที่ใช้ตวงพระบรมสารีริกธาตุนำไปบรรจุไว้ในสถูปเรียกว่า ตุมพสถูป ต่อมาโมริยกษัตริย์ จากโมริยนคร เมืองปิปผลิวัน ได้มาขอส่วนแบ่งภายหลัง จึงได้พระอังคาร(เถ้า) นำไปบรรจุไว้ในสถูป เรียกว่า อังคารสถูป
<!-- / message -->

*8q*
02-12-2009, 06:01 PM
เจดีย์ ๔ ประเภท
๑ ธาตุเจดีย์ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระปฐมเจดีย์ พระธาตุพนม ฯลฯ เป็นธาตุเจดีย์
๒ บริโภคเจดีย์ บรรจุอัฏฐบริขาร เช่น บาตร จีวร ของพระพุทธเจ้า เสนาสนะที่อยู่อาศัย เช่น กุฎี วิหาร ภูเขา ต้นไม้ แม่น้ำ ลำธาร สังเวชนียสถาน ๔ แห่ง อังคารสถูป ตุมพสถูป พระแท่นดงรัง (กาญจนบุรี) รอยพระบาท(สระบุรี)
๓ ธรรมเจดีย์ บรรจุพระธรรมคำสอน เช่น ใบลาน แผ่นศิลาจารึก ตู้พระไตรปิฎก หนังสือธรรม
๔ อุทเทสิกเจดีย์ สร้างไว้เป็นที่ระลึก ไม่มีอะไรบรรจุอยู่ภายใน เช่น พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม กรุงเทพฯ พระพุทธรูป เจดีย์ทราย โลหปราสาท(วัดราชนัดดา กรุงเทพฯ)
ต่อมาพระมหากัสสปะเห็นว่า พระบรมสารีริกธาตุอาจสูญหายหรือเป็นอันตราย จึงอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุทั้งหมด (ยกเว้นเมืองรามคาม เพราะพญานาคจะอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในมหาเจดีย์ สำนักมหาวิหาร เกาะลังกา) ไปบรรจุไว้ในห้องใต้ดิน ลึก ๘๐ ศอก จารึกข้อความลงในแผ่นทองว่า “ในอนาคต พระเจ้าอโศกมหาราช จะอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุแจกจ่ายไปทั่วชมพูทวีป” ยังมีข้อความที่บานประตูจารึกไว้ว่า “ในอนาคตจะมีพระยาเข็ญใจองค์หนึ่ง มารื้อห้องพระบรมสารีริกธาตุ จงเอาท่อนแก้วมณีนี้สักการบูชาพระบรมสารีริกธาตุเถิด” (พระยาเข็ญใจ หมายถึง พระเจ้าอโศกมหาราช)

สังคายนาครั้งที่ ๑ (ปฐมสังคายนา)
เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ๓ เดือน พระมหากัสสปะได้ชักชวนพระอรหันตเถระทำสังคายนาครั้งที่ ๑ เพื่อร้อยกรองรวบรวมพระธรรมวินัยไว้เป็นหมวดหมู่ รวม ๓ หมวด คือ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก(พระสูตร) พระอภิธรรมปิฎก(พระปรมัตถ์)
ประธาน พระมหากัสสปะ
ปรารภเหตุ พระสุภัททะ วุฑฒบรรพชิต(พระผู้บวชเมื่อแก่)ดูหมิ่นพระธรรมวินัย
วันที่ทำ พระพุทะเจ้าปรินิพพานได้ ๓ เดือน
สถานที่ทำ ถ้ำสัตตบรรณคูหา ใกล้ภูเขาเวภารบรรพต เมืองราชคฤห์
เวลาที่ทำ ทำอยู่ ๗ เดือน จึงสำเร็จ
ประชุมสงฆ์ พระอรหันต์ ๕๐๐ รูป
ผู้ปุจฉา พระมหากัสสปะ
ผู้วิสัชนาพระวินัย พระอุบาลี
ผู้วิสัชนาพระสูตร พระอานนท์
ผู้วิสัชนาพระอภิธรรม พระอานนท์
ผู้อุปถัมภ์ พระเจ้าอชาตศัตรู

สังคายนาครั้งที่ ๒ (ทุติยสังคายนา)
ประธาน พระยสกากัณฑบุตรเถระ
ปรารภเหตุ ภิกษุวัชชีบุตร ชาวเมืองเวสาลี ขัดแย้งเรื่องวัตถุ ๑๐ ประกา
วันที่ทำ พระพุทธเจ้านิพพานได้ ๑๐๐ ปี
สถานที่ทำ วาลุการาม เมืองเวสาลี
เวลาที่ทำ ๘ เดือนจึงสำเร็จ
ประชุมสงฆ์ ๕๐๐ รูป
ผู้ปุจฉา พระสัพพกามีเถระ
ผู้วิสัชนา พระเรวตะเถระ
ผู้อุปถัมภ์ พระเจ้ากาลาโศกราช เมืองเวสาลี

สังคายนาครั้งที่ ๓ (ตติยสังคายนา)
ประธาน พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ
ปรารภเหตุ เดียรถีย์ ๖๐,๐๐๐ คนปลอมบวชเพื่อหวังลาภสักการะ
วันที่ทำ พระพุทธเจ้านิพพานได้ ๒๓๔ ปี
เวลาที่ทำ ทำอยู่ ๙ เดือน จึงสำเร็จ
ประชุมสงฆ์ ๑,๐๐๐ รูป
ผู้ปุจฉา พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ
ผู้วิสัชนา พระมัชฌันติกเถระ กับ พระมหาเทวเถระ
ผู้อุปถัมภ์ พระเจ้าอโศกมหาราช(พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช) เมืองปาฏลีบุตร
สังคายนาครั้งที่ ๓ ทำให้ศาสนาแพร่หลาย เพราะพระเจ้าอโศกมหาราชร่วมกับพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ได้ส่งพระสมณทูตไปเผยแผ่พระศาสนายังแคว้นต่างๆรวม ๙ สาย สายที่มายังดินแดนสุวรรณภูมิ (พม่า ไทย ลาว) มีพระโสณเถระกับพระอุตตรเถระเป็นหัวหน้า มีหลักฐานยืนยันคือ พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม

สังคายนาครั้งที่ ๔ (จตุตถสังคายนา)
ประธาน พระมหินทเถระ
ปรารภเหตุ เพื่อประดิษฐานพระพุทธศาสนาในลังกาทวีป (ทำในลังกาทวีป)
วันที่ทำ พระพุทธเจ้านิพพานได้ ๒๓๖ ปี
เวลาที่ทำ ทำอยู่ ๑๐ เดือน จึงสำเร็จ
ประชุมสงฆ์ ๘๐๐ รูป
ผู้อุปถัมภ์ พระเจ้าเทวนัมปิยติสสะ



สังคายนาครั้งที่ ๕ (ปัญจมสังคายนา)
ประธาน พระพุทธัตถะเถระ
ปรารภเหตุ ในอนาคตจะหาผู้ท่องจำพระพุทธพจน์(มุขปาฐะ)ไม่ได้ จึงต้องจารึก เป็นตัวอักษรลงในใบลาน
วันที่ทำ พระพุทธเจ้านิพานได้ ๔๕๐ ปี
สถานที่ทำ ถ้ำอาโลกเลณะ ลังกาทวีป
ผู้อุปถัมภ์ พระเจ้าวัฏฏคามณีอภัย
การสังคายนาครั้งที่ ๕ ทำให้ศาสนาตั้งมั่น เพราะมีการจารึกคำสอนลงในใบลาน เป็นครั้งแรก (จารึกคำสอนเป็นภาษาบาลี อักษรสิงหล

*8q*
02-12-2009, 06:02 PM
สรุปเหตุการณ์สำคัญ
ช่วงพระชนมายุของพระพุทธเจ้า
๑. อยู่ในพระครรภ์ ๑๐ เดือน
๒. เป็นฆราวาสก่อนอภิเษกสมรส ๑๖ พรรษา
๓. เสวยราชสมบัติ ๑๓ พรรษา
๔. บำเพ็ญทุกรกิริยา ๖ พรรษา
๕. บำเพ็ญพุทธกิจ ๔๕ พรรษา
๖. รวมพระชนมายุ ๘๐ พรรษา

เหตุการณ์ในระหว่างพระชนมายุ
๑. ขนานพระนาม เมื่อพระชนมายุได้ ๕ วัน (พระชนมายุได้ ๓ วัน อสิตดาบสเข้าเยี่ยม)
๒. พระมารดาสิ้นพระชนม์ เมื่อพระชนมายุได้ ๗ วัน
๓. สร้างสระโบกขรณี ได้ปฐมฌาน เมื่อพระชนมายุได้ ๗ พรรษา
๔. ศึกษาศิลปวิทยา สำนักครูวิศวามิตร เมื่อพระชนมายุ ๘ พรรษา
๕. อภิเษกสมรส สร้างปราสาท ๓ ฤดู เสวยราชสมบัติเมื่อพระชนมายุ ๑๖ พรรษา
๖. เสด็จออกผนวช เมื่อพระชนมายุได้ ๒๙ พรรษา
๗. ตรัสรู้ เมื่อพระชนมายุได้ ๓๕ พรรษา
๘. ปลงอายุสังขาร เสด็จดับขันธปรินิพพาน เมื่อพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา
๙. ทรงกำหนดอายุพระพุทธศาสนาไว้ ๕,๐๐๐ ปี

ลำดับพระญาติที่ควรจำ
๑. พระเจ้าชยเสนะ เป็นพระไปยกา (ปู่ทวด)
๒. พระเจ้าสีหหนุ พระเจ้าอัญชนะ เป็นพระอัยกา(ปู่,ตา)
๓. พระนางยโสธรา พระนางกาญจนา เป็นพระอัยยิกา,พระอัยกา (ย่า,ยาย)
๔. พระเจ้าสุปปพุทธะ ทัณฑปาณิ เป็นพระมาตุลา(ลุง)
๕. พระเจ้าสุกโกทนะ ฆนิโตทนะ เป็นพระปิตุลา (อาชาย)
๖. พระนางอมิตา พระนางปมิตา เป็นพระปิตุจฉา (อาหญิง)
๗. พระนางปชาบดีโคตมี เป็นพระมาตุจฉา (น้าหญิง)
๘. พระนันทะ เป็นพระอนุชา (น้องชายร่วมบิดา)
๙. พระนางรูปนันทา เป็นพระกนิษฐภคินี (น้องสาวร่วมพระบิดา)
๑๐.พระอานนท์ เป็นพระอนุชา (ลูกพี่ลูกน้อง)
๑๑.พระราหุล เป็นพระโอรส(ลูกชาย)

สหชาติ คือผู้เกิดวันเดียวกันกับเจ้าชายสิทธัตถะ
๑. พระนางยโสธรา พิมพา
๒. พระอานนท์
๓. กาฬุทายีอำมาตย์
๔. นายฉันนะ
๕. ม้ากัณฐกะ
๖. ต้นศรีมหาโพธิ์
๗. ขุมทองทั้ง ๔



ผู้ถูกธรณีสูบ ๕ คน
๑. พระเทวทัตต์ ทำร้ายพระพุทธเจ้า
๒. นางจิญจมาณวิกา ใส่ร้ายพระพุทธเจ้าด้วยอสัทธรรม
๓. พระเจ้าสุปปพุทธะ ปิดทางโคจรบิณฑบาตของพระพุทธเจ้า
๔. นันทยักษ์ ตีศีรษะพระสารีบุตร
๕. นันทมานพ ข่มขืนพระอุบลวรรณาเถรี


ครูทั้ง ๖
ในสมัยพุทธกาล มีผู้ตั้งตัวเป็นศาสดามากมาย ที่มีชื่อเสียง ๖ คน
๑. ปูรณกัสสปะ สอนแบบอกิริยวาทะ (วาทะว่าไม่เป็นอันทำ) เช่น ผลของบุญบาปไม่มี ใครทำความดีความชั่วก็ไม่ได้รับผลของกรรมนั้น ฆ่าเขา ปล้นเขา ก็ไม่บาป ให้ทาน รักษาศีล ก็ไม่ได้บุญ (อกิริยทิฐิ)
๒. มักขลิโคศาล สอนแบบอเหตุกวาทะ (วาทะไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย) สรรพสิ่งล้วนเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ ไม่มีเหตุหรือปัจจัยสนับสนุน (อเหตุกทิฐิ)
๓. อชิตเกสกัมพล สอนแบบนัตถิกวาทะ (วาทะว่าไม่มี) สรรพสิ่งในโลกไม่มีทั้งสิ้น บุญบาปไม่มี ทานไม่มี ศีลไม่มี การเวียนว่ายตายเกิดไม่มี ตายแล้วก็สิ้นสุดเพียงนั้น (นัตถิกทิฐิ)
๔. ปกุทธกัจจายนะ ห้ามน้ำเย็น ใช้แต่น้ำร้อน สอนแบบสัสสตวาทะ (วาทะว่าเที่ยง) ฆ่ากันไม่บาป ไม่มีใครฆ่าใคร ไม่มีใครถูกฆ่า คนเราไม่ตาย มีชีวิตยั่งยืน
๕. นิครนถ์นาฏบุตร เจ้าลัทธิเปลือยกาย เป็นคนเดียวที่มาจากตระกูลกษัตริย์ ในเมืองเวสาลี เกิดหลังพระพุทธเจ้า ๒ ปี รู้กันในนามมหาวีระ ศาสดาแห่งศาสนาเชน หลักคำสอนใช้หลัก สังวรด้วยสังวร ๔ คือ
๑. เป็นผู้ข้ามน้ำทั้งปวง
๒. เป็นผู้ประกอบด้วยน้ำทั้งปวง
๓. เป็นผู้กำจัดด้วยน้ำทั้งปวง
๔. เป็นผู้ประพรมด้วยน้ำทั้งปวง
ลัทธินี้ ยึดหลักอหิงสาอย่างเคร่งครัด แม้แต่หายใจก็ต้องใช้ผ้าปิดจมูก เพราะกลัวหายใจเอาสิ่งมีชีวิตเข้าไป น้ำกินน้ำใช้ต้องกรองก่อนเสมอ
๖. สัญชัยเวลัฏฐบุตร อาจารย์ของอุปติสสะและโกลิตะ หลักคำสอนใช้หลักดิ้นได้ไม่ตายตัว(อมราวิกเขปิกา) เวลาสอนผู้ฟังจะจับหลักอะไรไม่ได้เลย ชวนให้เวียนหัวเป็นที่สุด เช่น เมื่อถูกถามว่า โลกหน้ามีหรือไม่ ก็ตอบว่า ถ้ารู้ว่ามีก็ตอบว่ามี ข้าพเจ้าว่าอย่างนี้ก็ไม่ใช่ อย่างนั้นก็ไม่ใช่ อย่างอื่นก็ไม่ใช่ ไม่ใช่ก็ไม่ใช่....ปวดหัว...

ขุมทองทั้ง ๔
๑. สังขนิธี
๒. เอสนิธี
๓. อุบลนิธี
๔. ปุณฑริกนิธี (ทั้งหมดเป็นสหชาติกับพระพุทธเจ้า)



ศิลปะ ๑๘ อย่าง ที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงศึกษา
๑. ไตรเพทางคศาสตร์ พระเวทของพระเจ้า (คัมภีร์ทางศาสนาพราหมณ์)
๒. สรีรศาสตร์ อวัยวะร่างกาย
๓. สังขยาศาสตร์ คณิตศาสตร์,คำนวณ
๔. สมาธิศาสตร์ สมาธิ
๕. นิติศาสตร์ กฎหมาย
๖. วิเสวิกศาสตร์ แยกประเภทคน
๗. คันธัพศาสตร์ ฟ้อนรำ,ขับร้อง
๘. โชติศาสตร์ ทำนายเหตุการณ์
๙. ติกิจฉศาสตร์ แพทย์
๑๐.โบราณศาสตร์ โบราณคดี
๑๑.ศาสนศาสตร์ ศาสนา
๑๒. โหราศาสตร์ ทำนาย
๑๓. มายาศาสตร์ เล่นกล
๑๔. เหตุศาสตร์ ค้นหาเหตุ
๑๕. วันถุศาสตร์ การคิด
๑๖. ยุทธศาสตร์ การรบ
๑๗. ฉันทศาสตร์ การประพันธ์
๑๘. ลักษณะศาสตร์ ดูลักษณะคน
สิทธัตถะกุมารประสูติแล้วเดินได้ ๗ ก้าว หมายถึง ประกาศศาสนาได้ ๗ แคว้น
๑. กาสี กับ โกศล
๒. อังคะ กับ มคธ
๓. สักกะ
๔. วัชชี
๕. มัลละ
๖. วังสะ
๗. อุรุ




พุทธกิจ (กิจวัตรประจำวันของพระพุทธเจ้า)
๑. ปุพฺพญฺเห ปิณฺฑปาตญฺจ เวลาเช้าบิณฑบาต
๒. สายณฺเห ธมฺมเทสนํ เวลาเย็นแสดงธรรม
๓. ปโทเส ภิกฺขุโอวาทํ เวลาค่ำประทานโอวาทแก่ภิกษุ
๔. อฑฺฒรตฺเต เทวปญฺหํ เที่ยงคืนแก้ปัญหาเทวดา
๕. ปจฺจุเสว คเต กาเล ภพฺพาภพฺเพ วิโลกนํ เวลาใกล้รุ่งตรวจดูสัตว์โลก


<!-- / message -->

*8q*
02-12-2009, 06:04 PM
พุทธนิวาสสถาน (สถานที่จำพรรษาของพระพุทธเจ้า)
พรรษาที่ ๑ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี
พรรษาที่ ๒-๓-๔ เวฬุวันมหาวิหาร เมืองราชคฤห์
พรรษาที่ ๕ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เมืองเวสาลี
พรรษาที่ ๖ มกุฏบรรพต แคว้นมคธ
พรรษาที่ ๗ ดาวดึงส์เทวโลก (บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์) โปรดพุทธมารดา
พรรษาที่ ๘ ป่าเภสกวัน ป่าไม้เพกา แขวงตัคคราชชนบท
พรรษาที่ ๙ ป่ารักขิตวัน ปาลิไลยกวัน เมืองโกสัมพี
พรรษาที่ ๑๐-๑๑ ป่าใกล้บ้านสาเลยกพราหมณ์
พรรษาที่ ๑๒ ใต้ต้นสะเดา ซึ่งนเฬรุยักษ์รักษา
พรรษาที่ ๑๓ ภูเขาปาลิไลยกบรรพต
พรรษาที่ ๑๔ เชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี
พรรษาที่ ๑๕ นิโครธาราม เมืองกบิลพัสดุ์
พรรษาที่ ๑๖ เมืองอาฬวี โปรดอาฬวกยักษ์
พรรษาที่ ๑๗-๑๙ เวฬุวันมหาวิหาร เมืองราชคฤห์
พรรษาที่ ๒๐-๒๙ เชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี
พรรษาที่ ๓๐-๓๕ บุพพาราม เมืองสาวัตถี
พรรษาที่ ๓๖-๔๔ เชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี
พรรษาที่ ๔๕ บ้านเวฬุคาม เมืองเวสาลี

ชื่อสังเวชนียสถานสมัยพุทธกาลและสมัยปัจจุบัน
๑. สถานที่ประสูติ
สมัยพุทธกาล สวนลุมพินีวัน
สมัยปัจจุบัน ตำบลรุมมินเด ประเทศเนปาล
๒. สถานที่ตรัสรู้
สมัยพุทธกาล ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม
สมัยปัจจุบัน พุทธคยา (Buddha Gaya) ประเทศอินเดีย
๓. สถานที่แสดงปฐมเทศนา
สมัยพุทธกาล ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี
สมัยปัจจุบัน สารนาถ ประเทศอินเดีย
๔. สถานที่ปรินิพพาน
สมัยพุทธกาล สาลวโนทยาน เมืองกุสินารา
สมัยปัจจุบัน กาเซีย(Kasia หรือ Kusinara) ประเทศอินเดีย

ทรงเปล่งอุทานในคืนตรัสรู้
“นับตั้งแต่ตถาคตท่องเที่ยวสืบหาตัวนายช่างผู้ทำเรือนคือตัณหา ตลอดชาติสงสารนับประมาณมิได้ ก็มิได้พบ ดูก่อนตัณหาคือนายช่างผู้ทำเรือน บัดนี้ตถาคตพบท่านแล้ว แต่นี้ไปท่านจะทำเรือนให้ตถาคตอีกไม่ได้แล้ว ช่อฟ้าเราก็ทำลายแล้ว กลอนเรือนเราก็รื้อออกแล้ว จิตขอเราปราศจากสังขารเครื่องปรุงแต่งให้เกิดในภพอื่นๆเสียแล้ว ถึงความดับสูญสิ้นแห่งตัณหา ไม่มีเหลืออีกแน่แท้”(ทรงเปรียบตัณหาเหมือนนายช่างผู้ทำเรือน)
บริษัท ๔
๑. ภิกษุ (รวมทั้งสามเณรด้วย)
๒. ภิกษุณี (รวมทั้งสามเณรีและนางสิกขมานาด้วย)
๓. อุบาสก
๔. อุบาสิกา (รวมทั้งชีด้วย)

โลหะปราสาท มี ๓ แห่ง
๑. สมัยพุทธกาล นางวิสาขาสร้างถวาย ชื่อว่า มิคารมาตุปราสาท ขนาด ๒ ชั้น ๑,๐๐๐ ห้อง ยอดปราสาททำด้วยทองคำ (เป็นบริโภคเจดีย์)
๒. ในประเทศลังกา พระเจ้าทุฏฐคามณีอภัย สร้างเมื่อ พ.ศ.๓๘๒ ขนาด ๙ ชั้น ๑,๐๐๐ ห้อง หลังคามุงด้วยทองแดง (เป็นบริโภคเจดีย์)
๓. ในประเทศไทย รัชกาลที่ ๓ สร้างเพื่อเป็นฐานรองรับเจดีย์ ๓๗ ยอด (มีจำนวนเท่ากับโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ อยู่ที่วัดราชนัดดาราม กรุงเทพมหานคร ปลายยอดทำด้วยโลหะ (เป็นอุทเทสิกเจดีย์)

เบญจคีรีนคร (เมืองราชคฤห์) นครที่ล้อมรอบด้วยภูเขา ๕ ลูก
๑. ภูเขาคิชกูฏ
๒. ภูเขาเวภาระ
๓. ภูเขาเวปุลละ
๔. ภูเขาอิสิคิลิ
๕. ภูเขาคิริพพชะ

ปัญจมหานที แม่น้ำสำคัญ ๕ สาย ในชมพูทวีป
๑. คงคา
๒. ยมุนา
๓. สรพู
๔. อจิรวดี
๕. มหิ

ปัจฉิมวาทะของพระเทวทัตต์
“พระผู้มีพระภาคทรงเป็นอัครบุรุษ ยอดแห่งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ทรงเป็นสารถีฝึกบุรุษอันประเสริฐ สมบูรณ์ด้วยบุญลักษณะเป็นร้อย เพรียบพร้อมด้วยสมันตจักษุญาณ หาที่เปรียบมิได้ ข้าพเจ้าขอถึงพระผู้มีพระภาคเป็นสรณะ พร้อมด้วยกระดูกคางและลมหายใจ”
พระเทวทัตต์จะได้ตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพระพุทธเจ้าพระนามว่า อัฏฐิสสระ เมื่อชดใช้กรรมในอเวจีนรกแล้ว



จบบริบูรณ์



สาธุๆๆ



http://board.agalico.com/showthread.php?t=26883&page=3