เข้าสู่ระบบ

แสดงเวอร์ชันเต็ม : มณิกุณฑลชาดกผู้ไม่หวั่นไหวในโลกธรรม



*8q*
03-05-2009, 11:58 AM
ผู้ไม่หวั่นไหวในโลกธรรม

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภ อำมาตย์ชั่วผู้จัดประโยชน์ทั้งปวงภายในพระราชวังของพระเจ้าโกศล จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ ดังนี้.
เรื่องปัจจุบันได้ให้พิสดารไว้แล้วในเสยยชาดก ติกนิบาต ส่วนเรื่องในอดีต รายละเอียดได้กล่าวไว้ในมหาสีลวชาดกดังนี้

ความในมหาสีลวชาดก
ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์เสด็จอุบัติในคัพโภทร แห่งอัครมเหสีของพระราชา ในวันเฉลิมพระนาม พระประยูรญาติทั้งหลาย ได้ทรงตั้งพระนามว่า สีลวกุมาร พอมีพระชนม์ ๑๖ พรรษา ก็ทรงศึกษาศิลปะสำเร็จเสร็จทุกอย่าง ภายหลังพระราชบิดาสวรรคต ก็ดำรงราชได้รับเฉลิมพระนามว่า "มหาสีลวราช" ทรงประพฤติธรรม ทรงเป็นพระธรรมราชา พระองค์รับสั่งให้สร้างโรงทานไว้ ๖ โรง คือ ๔ โรงที่ประตูพระนครทั้ง ๔ ด้าน ๑ โรงท่ามกลางพระนคร ๑ โรงที่ประตูพระราชวัง ทรงให้ทานแก่คนกำพร้าและคนเดินทาง ทรงรักษาศีล ถืออุโบสถ ทรงสมบูรณ์ด้วยพระขันติ พระเมตตาและพระกรุณา ทรงให้สรรพสัตว์แช่มชื่น ประดุจยังพระโอรสผู้ประทับนั่งเหนือพระเพลาให้แช่มชื่นฉะนั้น ทรงครองราชโดยธรรม มีอำมาตย์ของพระ ราชาผู้หนึ่งละลาบละล้วงเข้าไปในเขตพระราชฐาน ภายหลังความปรากฏขึ้น อำมาตย์ทั้งหลายพากันกราบทูลให้ทรงทราบ พระองค์ทรงคอยจับ ก็ทรงทราบโดยประจักษ์ด้วยพระองค์เอง จึงรับสั่งให้อำมาตย์ผู้นั้นเข้ามาเฝ้าแล้วตรัสขับไล่ว่า แน่ะ คนอันธพาล เจ้าทำกรรมไม่สมควรเลย ไม่ควรอยู่ในแว่นแคว้นของเรา จงขนเงินทอง และพาลูกเมียของตัวไปที่อื่น.
อำมาตย์ผู้นั้นไปพ้นแคว้นกาสี ถึงแคว้นโกศล เข้ารับราชการกะพระเจ้าโกศล ได้เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยอย่างสนิทของพระราชาโดยลำดับ วันหนึ่งอำมาตย์ผู้นั้นกราบทูล พระเจ้าโกศลว่า ขอเดชะ อันราชสมบัติในกรุงพาราณสี เปรียบเหมือนรวงผึ้งที่ปราศจากตัวผึ้ง พระราชาก็อ่อนแอ อาจยึดเอาได้ด้วยพลพาหนะมีประมาณน้อยเท่านั้น พระราชาทรงสดับคำของเขาแล้ว ทรงพระดำริว่า ราชสมบัติในกรุงพาราณสีใหญ่โต แต่อำมาตย์ผู้นี้กล่าวว่า อาจยึดได้ด้วยพลพาหนะมีประมาณน้อยเท่านั้น อำมาตย์ผู้นี้ชะรอยจะเป็นคนสอดแนมหรืออย่างไร น่าสงสัยนัก แล้วมีพระดำรัสว่า ชะรอยเจ้าจะเป็นคนสอดแนมละซี อำมาตย์นั้นกราบบังคมทูลว่า ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้ามิใช่เป็นคนสอดแนม ตามที่ข้าพระพุทธเจ้ากราบทูลเป็นความจริงทั้งนั้น แม้นพระองค์จะไม่ทรงเชื่อข้าพระพุทธเจ้า ก็โปรดส่งคนไปปล้นหมู่บ้านชายแดนดูเถิด พระเจ้าพาราณสีจับคนเหล่านั้นได้ ก็จักพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์แก่คนเหล่านั้น แล้วทรงปล่อย พระเจ้าโกศลทรงพระดำริว่า อำมาตย์ผู้นี้พูดจา องอาจยิ่งนัก เราจักทดลองดูให้รู้แน่นอน แล้วก็ทรงส่งคนของพระองค์ไป ให้ปล้นหมู่บ้านชายแดนของพระเจ้าพาราณสี ราชบุรุษจับโจรเหล่านั้นได้ คุมตัวไปถวายพระเจ้าพาราณสี พระราชาทอดพระเนตรคนเหล่านั้นแล้ว รับสั่งถามว่า พ่อเอ๋ย เหตุไรจึงพากันปล้นชาวบ้าน ? คนเหล่านั้นกราบทูลว่า ขอเดชะพวก ข้าพระพุทธเจ้าไม่มีจะกินจึงปล้น พระราชารับสั่งว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ เหตุไรจึงไม่พากันมาหาเราเล่า ต่อแต่นี้ไปเบื้องหน้า พวกเจ้าอย่ากระทำเช่นนี้เลยนะ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์แก่คนเหล่านั้น แล้วปล่อยตัวไป คนเหล่านั้นพากันไปกราบทูลประพฤติเหตุนั้นแด่พระเจ้าโกศล แม้จะทรงทราบเรื่องถึงขนาดนี้ พระเจ้าโกศลก็มิอาจจะทรงยกกองทัพไป ทรงส่งคนไปให้ยื้อแย่งในท้องถนนอีก พระเจ้าพาราณสี ก็คงยังทรงพระราชทานพระราชทรัพย์แก่คนเหล่านั้น แล้วทรงปล่อยตัวไปอยู่นั่นเอง ทีนั้นพระเจ้าโกศลจึงทรงทราบว่า พระราชาเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม ดีเกินเปรียบ จึงทรงยกพลพาหนะเสด็จออกไปด้วยหมายพระทัยว่าจักยึดราชสมบัติเมืองพาราณสี.
ในครั้งนั้น พระเจ้าพาราณสี มีนักรบผู้ยิ่งใหญ่อยู่ประมาณพันนาย ล้วนแต่กล้าหาญอย่างเยี่ยม ใคร ๆ ไม่อาจทำลายได้เลย แม้ถึงช้างที่ตกมันจะวิ่งมาตรงหน้า ทุกนายก็สู้ไม่ถอย แม้ถึงสายฟ้าจะฟาดลงมาที่ศีรษะ ทุกนายก็ไม่สะดุ้งหวาดเสียว ล้วนแต่สามารถจะยึดราชสมบัติทั่วชมพูทวีปมาถวายได้ถ้าพระเจ้าสีลวมหาราชทรงปรารถนา นักรบเหล่านั้นทราบข่าวว่าพระเจ้าโกศลยกทัพมา จึงพากันเข้าเฝ้าพระราชา กราบทูลว่า ขอเดชะ ข่าวว่า พระเจ้าโกศลหมายพระทัยว่า จะยึดครองราชสมบัติในกรุงพาราณสี ยกกองทัพมา ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ยกไปจับองค์โกศลราชเฆี่ยนเสีย มิให้รุกล้ำล่วงรัฐสีมาของพระองค์ได้ทีเดียว พระเจ้าพาราณสีทรงห้ามว่า พ่อทั้งหลาย ฉันไม่ต้องการให้คนอื่นลำบากเพราะฉันเลย เมื่อพระเจ้าโกศลอยากได้ราชสมบัติ ก็เชิญมายึดครองเถิด พวกท่านทั้งหลายอย่าไปต่อสู้เลย
พระเจ้าโกศลกรีฑาพลล่วงรัฐสีมาเข้ามายังชนบทชั้นกลาง พวกอำมาตย์สูรมหาโยธา ก็พากันเข้าเฝ้าพระราชาพร้อมกับกราบทูลเช่นนั้นอีกครั้งหนึ่ง พระราชาก็ทรงห้ามไว้เหมือนครั้งแรกนั่นแล พระเจ้าโกศลยกพลมาตั้งประชิดภายนอกพระนครทีเดียว พลางส่งพระราชสาสน์มาถึงพระเจ้าสีลวมหาราชว่า จะยอมยกราชสมบัติให้หรือจักรบ พระเจ้าสีลวมหาราช ส่งพระราชสาสน์ตอบไปว่า เราไม่รบกับท่าน เชิญยึดครองราชสมบัติเถิด พวกอำมาตย์พร้อมกันเข้าเฝ้าพระราชาอีกครั้งหนึ่ง กราบทูลว่า ขอเดชะ พวกข้าพระพุทธเจ้าจะไม่ยอมให้พระเจ้า โกศลเข้าเมืองได้ จะพร้อมกันจับเฆี่ยนเสียที่นอกพระนครนั่น แหละ พระราชาก็ทรงตรัสห้ามเสียเหมือนครั้งก่อน มีพระกระแสรับสั่งให้เปิดประตูเมืองทุกด้านแล้ว ก็ประทับเหนือพระราชบัลลังก์ในท้องพระโรง พร้อมด้วยอำมาตย์พันนาย
พระเจ้าโกศลเสด็จเข้าสู่กรุงพาราณสีพร้อมด้วยพลและพาหนะมากมาย มิได้ทอดพระเนตรเห็นผู้ที่จะเป็นศัตรูตอบโต้แม้สักคนเดียว ก็เสด็จสู่ทวารพระราชวัง แวดล้อมด้วยหมู่อำมาตย์ เสด็จขึ้นสู่ท้องพระโรง อันประดับตกแต่งแล้ว ในพระราชวังอันมีทวารเปิดไว้แล้ว มีพระกระแสรับสั่งให้จับพระเจ้าสีลวมหาราช ผู้ ปราศจากความผิด ซึ่งประทับนั่งอยู่นั้นพร้อมด้วยอำมาตย์ทั้งพัน พลางตรัสว่าพวกเจ้าจงไปมัดพระราชานี้กับพวกอำมาตย์


ในชาดกนี้ พระโพธิสัตว์ได้เป็นพระเจ้าพาราณสี อำมาตย์ชั่วนำพระเจ้าโกศลมายึดเอากาสิกรัฐ จองจำพระเจ้าพาราณสีด้วยโซ่ตรวนทั้งหลายแล้วให้ขังไว้ในเรือนจำ พระเจ้าพาราณสีประทับนั่งในเรือนจำนั่นแล ทรงแผ่เมตตาไปยังพระราชาโจร ทรงยังฌานมีเมตตาเป็นอารมณ์ให้เกิดขึ้น ด้วยอานุภาพแห่งเมตตาของพระเจ้าพาราณสีนั้น ความเร่าร้อนจึงเกิดขึ้นในกายของพระราชาโจร พระสรีระกายทั้งสิ้นของพระราชาโจรนั้น เป็นประหนึ่งถูกคบเพลิงในยมโลกลวกลน พระราชาโจรนั้นถูกมหันตทุกข์ครอบงำ พระราชาโจรนั้นเข้าไปหาพระเจ้าพาราณสี แล้วกล่าวคาถาที่ ๑ ว่า :
[๗๐๒] พระองค์ละแว่นแคว้น ม้า กุณฑล และแก้วมณี อนึ่ง ยังทรงละ
พระราชบุตร และเหล่าพระสนมเสียได้ เมื่อโภคสมบัติทั้งสิ้นของ
พระองค์ ไม่มีเหลือเลย เหตุไฉน พระองค์จึงไม่ทรงเดือดร้อน ใน
คราวที่มหาชนพากันเศร้าโศกอยู่เล่า?.
พระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวคาถา ๒ คาถานี้ว่า :
[๗๐๓] โภคสมบัติย่อมละทิ้งสัตว์ไปเสียก่อนก็มี บางทีสัตว์ย่อมละทิ้งโภค
สมบัติเหล่านั้นไปก่อนก็มี ดูกรพระองค์ผู้ใคร่ในกามารมณ์ โภคสมบัติ
ที่บริโภคกันอยู่ เป็นของไม่แน่นอน เพราะฉะนั้น หม่อมฉันจึงไม่
เดือดร้อน ในคราวที่มหาชนพากันเศร้าโศกอยู่.
[๗๐๔] พระจันทร์อุทัยขึ้นเต็มดวง ก็จะกลับหายสิ้นไป พระอาทิตย์กำจัด
ความมืด ทำโลกให้เร่าร้อนแล้วอัสดงคตไป ดูกรพระองค์ผู้เป็นศัตรู
โลกธรรมทั้งหลาย หม่อมฉันชนะได้แล้ว เพราะฉะนั้น หม่อมฉันจึงไม่
เดือดร้อน ในคราวที่มหาชนพากันเศร้าโศกอยู่.
พระมหาสัตว์แสดงธรรมแก่พระราชาผู้เป็นโจรอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะติเตียนพระราชาโจรนั้นนั่นแหละ จึงกล่าวว่า :
[๗๐๕] คฤหัสถ์ผู้บริโภคกามคุณ เกียจคร้านก็ไม่ดี บรรพชิตไม่สำรวมก็ไม่ดี
พระเจ้าแผ่นดินไม่ทรงใคร่ครวญเสียก่อนแล้วทรงทำก็ไม่ดี บัณฑิตมี
ความโกรธเป็นเจ้าเรือนก็ไม่ดี.
[๗๐๖] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นเจ้าทิศ กษัตริย์ใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึงทำ ไม่ใคร่
ครวญเสียก่อนแล้วไม่ควรทำ อิสริยยศ บริวารยศ และเกียรติคุณของ
พระราชาผู้ทรงใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำ ย่อมเจริญขึ้น.
พระราชาโจรขอขมาพระโพธิสัตว์แล้ว มอบราชสมบัติให้ทรงรับไว้แล้ว เสด็จไปยังชนบทของพระองค์เอง
พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า พระเจ้าโกศลในครั้งนั้น ได้เป็นพระอานนท์ ในบัดนี้ ส่วนพระเจ้าพาราณสี ในครั้งนั้น ได้เป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.
จบ มณิกุณฑลชาดก



http://board.agalico.com/showthread.php?t=27780



<!-- / message -->