PDA

แสดงเวอร์ชันเต็ม : ทสัณณกชาดกให้แล้วไม่เดือดร้อนภายหลังทำได้ยาก



*8q*
04-11-2009, 03:48 PM
ให้แล้วไม่เดือดร้อนภายหลังทำได้ยาก


พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภ การยั่วยวนของภรรยาเก่า จึงตรัสเรื่องนี้ ดังนี้

ดังจะกล่าวโดยย่อ พระศาสดาตรัสถามภิกษุนั้นว่า ได้ทราบว่าเธอกระสันอยากสึก จริงหรือ ? เมื่อเธอกราบทูลว่า จริงพระเจ้าข้า ตรัส ถามต่อว่า ใครยั่วให้กระสัน ? เมื่อเธอทูลว่า ภรรยาเก่าพระเจ้าข้า จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ หญิงนี้ทำอนัตถะให้เธอ ไม่เฉพาะในบัดนี้ แม้ในชาติก่อน เธออาศัยหญิงนี้กำลังจะตายเพราะโรคเจตสิก ได้อาศัยบัณฑิตจึงได้ชีวิตไว้ แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้:

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์กำเนิดในตระกูลพราหมณ์ ญาติทั้งหลายได้ตั้งชื่อเขาว่า เสนกกุมาร เขาเติบโตแล้วได้เรียนศิลปะทุกชนิด ในเมืองตักกศิลาจบแล้วก็กลับเมืองพาราณสี ได้เป็นอำมาตย์ผู้ถวายอรรถธรรมแด่พระเจ้ามัทวะ ท่านถูกคนทั้งหลายเรียกว่า เสนกบัณฑิต มีชื่อเสียงรุ่งโรจน์ไปทั่วทั้งนคร เหมือนดวงจันทร์และดวงอาทิตย์
ครั้งนั้น บุตรของราชปุโรหิตมาเฝ้าในหลวง เห็นอัครมเหสีของพระราชา ผู้ทรงพระรูปโฉมสูงส่ง ทรงประดับเครื่องทรงครบถ้วน ก็เกิดมีจิตปฏิพัทธ์ เมื่อกลับไปบ้านแล้วนอนอดอาหาร ครั้นเมื่อถูกเพื่อนฝูงถามจึงบอกเนื้อความนั้น ครั้นพระราชาตรัสถามว่า ไม่เห็นบุตรของปุโรหิต ไปไหนเสียเล่า ? จึงได้ทรงทราบเนื้อความนั้นและตรัสสั่งให้เขาเข้าเฝ้า แล้วตรัสว่า ฉันจะมอบพระอัครมเหสีให้ท่าน ๗ วัน ท่านจงเอานี้ไปไว้ที่บ้าน ๗ วันในวันที่ ๘ จึงนำมาส่ง เขารับพระบรมราชโองการแล้วนำอัครมเหสีไปบ้าน ร่วมอภิรมย์กับพระนาง บุตรปุโรหิตและอัครมเหสีนั้น ต่างก็มีจิตรักใคร่กัน ก็พากันหนีไปทางประตูยอดนั่นเอง โดยไม่ให้ใครรู้ แล้วได้ไปที่แว่นแคว้นของพระราชาองค์อื่น ไม่มีใครที่รู้ว่าคนทั้ง ๒ ไปที่ใดเลย ไม่มีร่องรอย เป็นเสมือนรอยในน้ำที่เรือผ่านไปแล้วฉะนั้น ถึงพระราชาทรงให้ตีกลองป่าวประกาศไปในพระนคร ค้นหาโดยประการต่างๆ ก็ไม่รู้ที่ที่เขาไป
ต่อมาพระองค์ทรงเกิดความเศร้าโศกเป็นกำลังเพราะอาลัยพระมเหษี พระหทัยร้อน พระโลหิตไหลออก ได้มีพระโรคหนัก หมอหลวงตั้งมากมายก็ไม่สามารถจะเยียวยาได้ พระโพธิสัตว์รู้ว่า พระราชานี้ไม่มีพระโรคอะไร แต่พระองค์ไม่ทรงเห็นพระมเหสี จึงถูกพระโรคจิตกระทบ เราจักใช้อุบายแก้ไขพระองค์ แล้วจึงเรียกอำมาตย์ผู้เป็นราชบัณฑิต ๒ คนคือ อายุรอำมาตย์ ๑ ปุกกุสอำมาตย์ ๑ มาหาแล้วบอกว่า พระราชาไม่ทรงมีพระโรคอื่น เว้นไว้แต่พระโรคจิต เพราะไม่ทรงเห็นพระราชเทวี พระราชาทรงมีพระอุปการะแก่เรามาก เพราะฉะนั้น พวกเราจะใช้อุบายแก้ไขพระองค์ คือจักให้คนแสดงการเล่นที่พระลานหลวงแล้วจะให้ผู้รู้วิธีกลืนดาบ กลืนดาบให้พระราชาประทับยืนทอดพระเนตรการเล่นที่ช่องพระแกล พระราชาทรงทอดพระเนตรคนกลืนดาบแล้ว ก็จักตรัสถามปัญหาว่า ยังมีสิ่งอื่นที่ทำได้ยากกว่านี้บ้างไหม ?
สหายอายุระ เธอควรทูลแก้ปัญหานั้นว่า การพูดว่า เราจะให้ของชื่อนี้ เป็นสิ่งที่ทำได้ยากกว่านี้ สหายปุกกุส ต่อนั้นไป พระองค์ก็จะตรัสถามเธอ เธอควรทูลแก้ถวายพระองค์ว่า เมื่อคนพูดว่าจะให้แต่ไม่ให้ วาจานั้นไร้ผล คนบางเหล่าหาเข้าถึงวาจาชนิดนั้นดำรงชีวิตอยู่ไม่ ไม่เคี้ยว กิน ไม่ดื่ม ซึ่งไม่ทำให้เหมาะสมแก่ถ้อยคำนั้น ส่วนการให้ประโยชน์ตามที่ปฏิญญาไว้นั่นแหละ การให้ของผู้นั้นทำได้ยากกว่า การพูดว่าจะให้ ต่อจากนั้นไป ผมก็ จักรู้เหตุอื่นที่จะต้องทำแก้ปัญหา
ดังนี้แล้วได้จัดให้มีแสดงการเล่นตามที่ตกลงกันไว้ ลำดับนั้นบัณฑิตทั้ง ๓ เหล่านั้น พากันไปราชสำนัก กราบทูลว่า ขอเดชะ ที่พระลานหลวงการละเล่นกำลังแสดง เมื่อคนทั้งหลายดูการเล่นอยู่ แม้มีทุกข์ก็จะหายจากทุกข์ ขอพระองค์จงเสด็จเถิด ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายจะไปดู แล้วได้นำพระราชาไปเปิดช่องพระแกลให้พระองค์ทอดพระเนตรการละเล่น คนจำนวนมากต่างพากันแสดงศิลปะที่ตนชำนาญ ชายคนหนึ่งกลืนดาบแก้วที่คมกริบ ยาว ๓๓ นิ้ว พระราชาทอดพระเนตรชายคนนั้นแล้ว ทรงดำริว่า ชายคนนี้กลืนดาบอย่างนี้ เราจักถามบัณฑิตเหล่านี้ว่า การเล่นอย่างอื่นที่ทำได้ยากกว่านี้มีอยู่หรือไม่ แล้วเมื่อตรัสถามอายุรบัณฑิต จึงตรัสคาถาที่ ๑ ว่า:
[๑๐๐๗] บุรุษคนนี้กลืนดาบมีคมกล้า อันเป็นดาบในทสรรณกรัฐ * ดื่มกินเลือดผู้
อื่นที่ถูกต้องแล้ว** ในท่ามกลางบริษัท เหตุอย่างอื่นที่ทำยากกว่าการกลืน
ดาบนี้ ยังมีอีกไหม ฉันถามท่านถึงเหตุที่ทำได้ยากอย่างอื่น ขอท่านจง
บอกแก่ฉัน?
*เกิดขึ้นที่แคว้น ทสัณณกะ
** ดื่มเลือดผู้อื่นที่กระทบดาบนั้นเข้าแล้ว
ลำดับนั้นอายุรบัณฑิต เมื่อทูลบอกพระราชา จึงกล่าวคาถา ที่ ๒ ว่า:
[๑๐๐๘] บุรุษกลืนดาบอันดื่มกินเลือดของผู้อื่นที่ถูกต้องได้ เพราะความโลภ ก็ผู้
ใดพูดว่าจะให้สิ่งนั้น สิ่งนี้ คำพูดของผู้นั้นทำได้ยากกว่าการกลืนดาบ
นั้น เหตุอย่างอื่นทั้งหมดทำได้ง่ายนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งชาว
มคธ ขอพระองค์โปรดทรงทราบอย่างนี้เถิด
เมื่อพระราชาทรงสดับคำของอายุรบัณฑิตแล้ว ทรงพิจารณาถ้อยคำนั้นนั่นแหละว่า ได้ทราบว่า การพูดว่า เราจะให้สิ่งของชื่อนี้เป็น สิ่งที่ทำได้ยากกว่าการกลืนดาบ และเราก็ได้พูดออกไปแล้วว่า เราจักให้พระราชเทวีแก่บุตรของปุโรหิต เราทำกรรมที่ทำได้ยากแล้วหนอ ความเศร้าโศกในพระราชหฤทัยเบาบางไปแล้วหน่อยหนึ่ง พระองค์ทรงดำริว่า แต่กรรมอย่างอื่นที่ทำได้ยากกว่าการพูดว่า เราจะให้ของสิ่งนี้แก่ผู้อื่นนั้น ยังมีอยู่หรือไม่หนอ เมื่อทรงปราศรัยกับปุกกุสบัณฑิต จึงตรัสคาถา ที่ ๓ ว่า:
[๑๐๐๙] อายุรบัณฑิตเป็นผู้ฉลาดในอรรถธรรม ได้แก้ปัญหาแล้ว บัดนี้ ฉันจะ
ถามปุกกุสบัณฑิตบ้าง เหตุอย่างอื่นที่ทำยากกว่าคำพูดนั้น ยังมีอยู่หรือ
ฉันถามท่านถึงเหตุที่ทำได้ยากอย่างอื่น ขอท่านจงบอกแก่ฉัน?
ลำดับนั้นปุกกุสบัณฑิต เมื่อจะทูลแก้ปัญหาถวายพระองค์ จึง กล่าวคาถาที่ ๔ ว่า:
[๑๐๑๐] ชนทั้งหลายย่อมไม่รักษาคำพูดไว้ คำที่พูดนั้นก็ไม่มีผล ผู้ใดให้ปฏิญญาไว้
ว่า จะให้สิ่งนั้นสิ่งนี้ ไม่อยากได้สิ่งนั้นคืน คำพูดของผู้นั้นทำได้ยากกว่า
การกลืนดาบ และกว่าคำพูดว่าจะให้สิ่งนั้น สิ่งนี้นั้นเสียอีก เหตุอย่าง
อื่นทั้งหมดทำได้ง่าย ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งชาวมคธ ขอพระองค์
โปรดทรงทราบอย่างนี้เถิด ***
***เมื่อให้ปฏิญญาไว้ว่า เราจะให้สิ่งของนั้น การให้สิ่งของนั้นนั่นแหละ ทำได้ยากกว่าการกลืนดาบและการพูดว่าจะให้สิ่งของนั้นแก่ท่าน
แม้เมื่อพระราชาทรงสดับคำนั้นแล้ว ทรงปริวิตกอยู่ว่า เราพูดก่อนแล้วว่า เราจะให้พระเทวีแก่บุตรปุโรหิต ก็ได้ให้พระเทวี ทำให้สมแก่การพูดแล้ว เราได้ทำกรรมที่ทำได้ยากแล้วหนอ ความเศร้าโศกเบาบางลงกว่าเดิม ลำดับนั้น พระองค์ได้มีพระปริวิตกว่า คนอื่นที่ชื่อว่าเป็นผู้ฉลาดกว่าเสนกบัณฑิตไม่มี เราจักถามปัญหานี้กะเสนกบัณฑิตนั่น ลำดับนั้น พระองค์เมื่อตรัสถามปัญหา จึงตรัสคาถาที่ ๕ ว่า:
[๑๐๑๑] ปุกกุสบัณฑิตเป็นผู้ฉลาดในอรรถธรรม ได้แก้ปัญหาแล้ว บัดนี้ ฉันจะ
ถามเสนกบัณฑิตบ้าง เหตุอย่างอื่นที่ทำยากกว่านั้นยังมีอีกหรือ ฉันถาม
ท่านถึงเหตุที่ทำได้ยากอย่างอื่น ขอท่านจงบอกแก่ฉัน?
เสนกบัณฑิต เมื่อจะทูลแก้ปัญหาถวายพระองค์ จึงกล่าวคาถา ที่ ๖ ว่า:
[๑๐๑๒] บุรุษควรจะให้ทาน จะน้อย หรือมากก็ตาม ก็ผู้ใดให้ของรักของตน
แล้ว ย่อมไม่เดือดร้อน(ใจ)ภายหลัง ข้อนั้นทำได้ยากกว่าการกลืนดาบ
กว่าคำว่าจะให้สิ่งนั้น สิ่งนี้ และกว่าการให้ของรักนั้นเสียอีก เหตุ
อย่างอื่นทั้งหมดทำได้ง่าย ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมแห่งชาวมคธ ขอพระ
องค์โปรดทรงทราบอย่างนี้เถิด ****
**** ความว่า ผู้ใดครั้นให้ของที่ตนรักใคร่ ที่ตนชอบใจอย่างยิ่งแก่ผู้อื่นแล้ว ไม่ปรารภถึงของรักนั้น หรือเดือดร้อนใจภายหลัง การไม่เดือดร้อนใจนี้ เป็นสิ่งที่ทำได้ยากกว่าการกลืนดาบ ยากกว่าการพูดว่าเราจะให้สิ่งของนี้แก่ท่าน และยากกว่าการให้สิ่งของนั้น
ฝ่ายพระราชาแล ครั้นทรงสดับคำของพระโพธิสัตว์แล้ว ทรงพิจารณาว่า เราให้พระราชเทวีแก่บุตรปุโรหิตด้วยดวงใจของตนนั่นเอง แต่ไม่อาจจะทรงไว้ซึ่งดวงใจของตนได้ ต้องเศร้าใจ ลำบากใจอยู่ ข้อนี้ไม่สมควรแก่เรา ถ้าหากพระราชเทวีนั้นมีความเสน่หาในเราไซร้ เธอคงไม่ทอดทิ้งอิสริยยศนี้หนีไป แต่เมื่อเธอไม่มีความเสน่หาในเราแล้วหนีไปแล้ว เราจักมีประโยชน์อะไร เมื่อพระองค์ทรงดำริถึงข้อนี้อยู่ ความเศร้าโศกทั้งหมดก็กลับหายไป เหมือนหยดน้ำที่กลิ้งตกไปจากใบบัว ฉะนั้น ในทันใดนั้นเองพระนาภีของพระองค์ก็หยุดนิ่ง พระองค์ทรง ไร้พระโรคทรงพระเกษมสำราญ เมื่อจะทรงทำการสดุดีพระโพธิสัตว์ จึงตรัสพระคาถาสุดท้ายว่า:
[๑๐๑๓] อายุรบัณฑิตได้แก้ปัญหาแก่ฉันแล้ว อนึ่ง ปุกกุสบัณฑิตก็ได้แก้ปัญหา
แก่ฉันแล้ว เสนกบัณฑิตแก้ปัญหาครอบงำปัญหาเสียทั้งหมด ฉันใด
ฉันก็ให้ทานนั้นแล้ว หาควรจะเดือดร้อนภายหลังไม่ ฉันนั้น
ก็พระราชาครั้นทรงทำการสดุดีแล้ว ทรงพอพระราชหฤทัยแล้ว ได้พระราชทานทรัพย์เป็นอันมากแก่เสนกบัณฑิตนั้น
พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้วทรงประกาศสัจธรรมทั้งหลาย ในที่สุดแห่งสัจธรรม ภิกษุผู้กระสันจะสึกนั้น ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล แล้วทรงประชุมชาดกว่า พระราชมเหสีในครั้งนั้น ได้แก่ภรรยาเก่าในบัดนี้ พระราชาได้แก่ ภิกษุผู้กระสันจะสึก อายุรบัณฑิต ได้แก่พระโมคคัลลานเถระ ปุกกุสบัณฑิต ได้แก่พระสารีบุตรเถระ ส่วนเสนกบัณฑิต ได้แก่เราตถาคต ฉะนี้แล
จบ ทสัณณกชาดก



http://board.agalico.com/showthread.php?t=29005<!-- / message -->