เข้าสู่ระบบ

แสดงเวอร์ชันเต็ม : ว่าด้วยสหายย่อมไม่ละทิ้งสหาย



*8q*
04-23-2009, 06:36 PM
พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภ ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งจึงตรัสเรื่องนี้ ดังนี้.

ได้ยินว่า ภิกษุรูปนั้นเรียนพระกรรมฐานในสำนักพระศาสดา แล้วไปอยู่ในป่าอาศัยบ้านชายแดนตำบลหนึ่ง ในแคว้นโกศลชนบท พวกชาวบ้านช่วยกันปลูกสร้างเสนาสนะ และทางเดินจงกรมถวายภิกษุนั้น บำรุงภิกษุนั้นโดยเคารพ เมื่อภิกษุนั้นจำพรรษา เดือนแรกเกิดไฟป่าไหม้หมู่บ้านนั้นขึ้น แม้แต่พืชของพวกชาวบ้านก็ไม่มีเหลือ เขาจึงไม่อาจถวายบิณฑบาตที่ประณีตแก่ภิกษุนั้นได้ เธอแม้จะอยู่ในเสนาสนะที่สบาย แต่ลำบากด้วยบิณฑบาต จึงไม่สามารถจะให้มรรคหรือผลเกิดขึ้นได้
ครั้นกาลล่วงไปได้สามเดือน เธอมาเฝ้าพระศาสดา พระองค์ทรงทำปฏิสันถาร แล้วตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุ เธอไม่ลำบากด้วยบิณฑบาตหรือ ? เสนาสนะเป็นที่สบายดี หรือ ? ภิกษุรูปนั้นได้กราบทูลความนั้นให้ทรงทราบ พระศาสดาครั้นทรงทราบว่า เธอมีเสนาสนะเป็นที่สบาย จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ ธรรมดาสมณะ เมื่อมีเสนาสนะเป็นที่สบายแล้ว ก็ควรละความโลภอาหารเสีย ยินดีฉันตามที่ได้มานั่นแหละ กระทำสมณธรรมไป บัณฑิตทั้งหลายในครั้งก่อน แม้เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน เคี้ยวผงแห้งในต้นไม้ที่ตนอยู่อาศัย ยังละความโลภอาหาร มีความสันโดษ ไม่ทำลายมิตรธรรม ไปเสียที่อื่น เหตุไรเธอจึงมาคิดว่า บิณฑบาตน้อยไม่อร่อย แล้วละทิ้ง เสนาสนะที่สบายเสีย ? ภิกษุนั้นทูลอาราธนาให้ตรัสเรื่องราว จึงทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้:

ในอดีตกาล ที่ป่าไม้มะเดื่อแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งคงคา ณ หิมวันตประเทศ มีนกแขกเต้าอาศัยอยู่หลายแสน บรรดานกแขกเต้าเหล่านั้น พญานกแขกเต้าตัวหนึ่ง เมื่อผลของต้นไม้ที่ตนอาศัยอยู่หมดลง สิ่งใดที่ยังเหลืออยู่ จะเป็นหน่อ ใบ เปลือกหรือสะเก็ดก็ตาม ก็กินสิ่งนั้น แล้วดื่มน้ำในแม่น้ำคงคา มีความมักน้อยสันโดษเป็นอย่างยิ่ง ไม่ไปที่อื่นเลย ด้วยคุณคือความมักน้อยสันโดษอย่างยิ่งของพญานกแขกเต้านั้น ได้บันดาลให้ภพของท้าวสักกเทวราชหวั่นไหว ท้าวสักกเทวราชทรงพิจารณาดูก็รู้เห็นเหตุนั้น เพื่อจะลองใจพญานกแขกเต้า จึงบันดาลให้ต้นไม้นั้นแห้งไป ด้วยอานุภาพของพระองค์ ต้นไม้นั้นเหลืออยู่แต่ตอแตกเป็นช่องน้อยช่องใหญ่ เมื่อถูกลมพัด ก็มีเสียงปรากฏเหมือนมีใครมาตีให้ดัง มีผงละเอียดไหลออกมาตามช่องต้นไม้นั้น พญานกแขกเต้าจิกผงเหล่านั้นกิน แล้วไปดื่มน้ำที่แม่น้ำคงคา ไม่ไปที่อื่น มาจับอยู่ที่ยอดตอไม้มะเดื่อ โดยไม่ย่อท้อต่อลมและแดด.
ท้าวสักกเทวราชทรงทราบความที่พญานกแขกเต้านั้น มีความมักน้อยอย่างยิ่ง ทรงดำริว่า เราจักให้พญานกแขกเต้าแสดงคุณในมิตรธรรม แล้วจักให้พรแก่เธอ ทำต้นมะเดื่อให้มีผลอยู่เรื่อยไป แล้วจะกลับมา ครั้นทรงดำริดังนี้ แล้วจึงทรงแปลงพระองค์เป็นพญาหงส์ตัวหนึ่ง แปลงนางสุชาดาอสุรกัญญาให้เป็นนางหงส์อยู่เบื้องหน้า บินไปถึงป่าไม้มะเดื่อนั้น จับอยู่ที่กิ่งไม้มะเดื่อต้นหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้ๆ กัน เมื่อจะเริ่มเจรจากัน พญานกแขกเต้านั้น ได้ตรัสคาถาที่ ๑ ว่า:
[๑๒๒๖] เมื่อใด ต้นไม้มีผลบริบูรณ์ เมื่อนั้น ฝูงนกย่อมพากันมามั่วสุมบริโภค
ผลไม้ต้นนั้น ครั้นรู้ว่าต้นไม้นั้นสิ้นผลแล้ว ฝูงนกก็พากันจากต้นไม้นั้น
บินไปสู่ทิศน้อยทิศใหญ่.
ครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว เพื่อจะทรงยุพญานกแขกเต้าให้ไปจากที่นั้น จึงตรัสคาถาที่ ๒ ว่า:
[๑๒๒๗] ดูกรนกแขกเต้าผู้มีจะงอยปากแดง ท่านจงเที่ยวจาริกไปเถิด อย่ามาตาย
เสียเลย ทำไมท่านจึงซบเซาอยู่ที่ต้นไม้แห้ง แน่ะนกแขกเต้าผู้มีขนเขียว
ดังไพรสณฑ์ในฤดูฝน ขอเชิญท่านบอกเถิด เหตุไรท่านจึงไม่ทิ้งต้นไม้
แห้งไป?
ลำดับนั้น พญานกแขกเต้ากล่าวกะพญาหงส์ว่า ข้าแต่ พญาหงส์ เราละทิ้งต้นไม้นี้ไปไม่ได้ เพราะความที่เรามีกตัญญูกตเวที แล้วได้กล่าวคาถา ๒ คาถาว่า:
[๑๒๒๘] ดูกรพญาหงส์ ชนเหล่าใดเป็นเพื่อนของเพื่อนทั้งหลาย ในคราวร่วม
สุขทุกข์จนตลอดชีวิต ชนเหล่านั้นเป็นสัตบุรุษ ระลึกถึงธรรมของ
สัตบุรุษ ย่อมละทิ้งสหายผู้สิ้นทรัพย์ หรือยังไม่สิ้นทรัพย์ไปไม่ได้เลย.
[๑๒๒๙] ดูกรพญาหงส์ เราก็เป็นผู้หนึ่งในบรรดาสัตบุรุษทั้งหลาย ต้นไม้นี้เป็น
ทั้งญาติเป็นทั้งเพื่อนของเรา เราต้องการเพียงเพื่อเป็นอยู่ จึงไม่อาจละทิ้ง
ต้นไม้นั้นไปได้ การที่จะละทิ้งไปเพราะมารู้ว่าต้นไม้นั้นสิ้นผลแล้ว ไม่
ยุติธรรมเลย.
ท้าวสักกเทวราช ทรงสดับถ้อยคำของพญานกแขกเต้านั้นแล้ว ทรงยินดีตรัสสรรเสริญ ประสงค์จะประทานพร จึงตรัสคาถา ๒ คาถา ว่า:
[๑๒๓๐] ดูกรปักษี ความเป็นสหาย ความไมตรี ความสนิทสนมกัน ท่านทำ
ได้เป็นอย่างดีแล้ว ถ้าท่านชอบธรรมนี้ ท่านก็เป็นผู้ควรที่วิญญูชนทั้ง
หลายพึงสรรเสริญ.
[๑๒๓๑] ดูกรนกแขกเต้าผู้มีปีกเป็นยาน มีคอโค้งเป็นสง่า เราจะให้พรแก่ท่าน
ท่านจงเลือกเอาพรตามใจปรารถนาเถิด.
พญานกแขกเต้า เมื่อจะเลือกรับพร ได้กล่าวคาถาที่ ๗ ว่า:
[๑๒๓๒] ดูกรพญาหงส์ ถ้าท่านจะให้พรแก่เรา ขอต้นไม้นี้พึงได้มีอายุต่อไป
ต้นไม้นั้นจงมีกิ่งมีผลงอกงามดี มีผลมีรสหวาน เหมือนน้ำผึ้งตั้งอยู่อย่าง
งามสง่าเถิด.
ลำดับนั้น ท้าวสักกเทวราช เมื่อจะประทานพรแก่พญานก แขกเต้านั้น ได้กล่าวคาถาที่ ๘ ว่า:
[๑๒๓๓] ดูกรสหาย ท่านจงดูต้นไม้นั้นมีผลมากมาย ขอให้ท่านได้อยู่ร่วมกับต้นมะ
เดื่อของท่าน ขอให้ต้นมะเดื่อนั้นจงมีกิ่งก้านมีผลงอกงามดีมีผลมีรส
หวานเหมือนน้ำผึ้งตั้งอยู่อย่างงามสง่า.
ก็แหละ ท้าวสักกเทวราช ครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว ก็กลายเพศหงส์กลับเป็นท้าวสักกเทวราชตามเดิม แสดงอานุภาพของพระองค์กับนางสุชาดา เอาพระหัตถ์วักน้ำจากแม่น้ำคงคามาประพรมตอไม้มะเดื่อ ทันใดนั้น ต้นมะเดื่อซึ่งสมบูรณ์ด้วยกิ่งและค่าคบ มีผลอันอร่อย ก็ตั้งขึ้นยืนต้นอยู่อย่างงามสง่า เหมือนมุณฑมณีบรรพต ฉะนั้น พญานกแขกเต้าเห็นดังนั้นแล้วเกิดโสมนัส เมื่อจะสรรเสริญท้าวสักกเทวราช ได้กล่าวคาถาที่ ๙ ว่า:
[๑๒๓๔] ข้าแต่ท้าวสักกะ ขอให้พระองค์ทรงพระเจริญสุขพร้อมกับพระญาติทั้ง
ปวง เหมือนข้าพระบาทมีความสุข เพราะได้เห็นต้นไม้เผล็ดผลในวันนี้
ฉะนั้นเถิด.
ส่วนท้าวสักกเทวราช ครั้นประทานพรแก่พญานกแขกเต้านั้นแล้ว ทรงทำต้นมะเดื่อให้มีผลเรื่อยไป แล้วเสด็จกลับวิมานของพระองค์ พร้อมกับนางสุชาดา
พระศาสดาได้ทรงวางอภิสัมพุทธคาถา ที่ให้แสดงถึงเนื้อความนั้นไว้ในตอนสุดท้ายว่า:
[๑๒๓๕] ท้าวสักกเทวราช ได้ฟังคำของนกแขกเต้า ทรงทำต้นไม้ให้มีผลแล้ว
เสด็จกลับไปสู่เทพนันทวันพร้อมกับมเหสี.
พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วตรัสว่า นี่แหละเธอ บัณฑิตในครั้งก่อนแม้เกิดเป็นสัตว์เดียรัจฉานยังไม่โลภอาหาร เธอบวชในศาสนาเห็นปานนี้ ไฉนจึงยังโลภอาหารอยู่ เธอจงไปอยู่ในที่นั้นแหละ ดังนี้ แล้วทรงสอนพระกรรมฐานแก่ภิกษุนั้น ครั้นเธอไปอยู่ที่นั้นแล้ว เจริญวิปัสสนาได้บรรลุพระอรหัต พระพุทธองค์ ทรงประชุมชาดกว่า ท้าวสักกเทวราชในครั้งนั้น ได้มาเป็นพระอนุรุทธะ ในบัดนี้ พระยานกแขกเต้าในครั้งนั้น ได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล.
จบ มหาสุวราชชาดก


http://board.agalico.com/showthread.php?t=29308<!-- / message -->