PDA

แสดงเวอร์ชันเต็ม : โขมดแห่งสาริกา



*8q*
06-12-2009, 08:39 PM
ตะวันทอแสงเจิดจ้าที่เชิงเขา อันเป็นที่ตั้งของถ้ำสาริกา ชาวบ้านจำนวนหนึ่งได้นั่งพนมมือ สกัดทางพระธุดงค์ แบกกลดเอาไว้ ชาวบ้านมีสีหน้าบ่งบอกถึงความปริวิตก และเกรงกลัวในบางสิ่งบางอย่าง อย่างเห็นได้ชัด เสียงของผู้เป็นหัวหน้า กล่าวกับพระธุดงค์ว่า “อย่าได้ขึ้นไปเลยหลวงพ่อ ข้างบนนั้นมีแต่ความน่ากลัว แม้ชาวบ้านผู้ได้ชื่อว่ามีความชำนาญในเวทย์ ปราบภูตผี ปีศาจมาร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ เมื่อขึ้นไปก็ไม่อาจเดินทางกลับมา มีแต่จะต้องช่วยกันแบกหามศพมาฝังเอาไว้ และก็มีพระหลายองค์มาแล้ว ที่ได้ขึ้นไป แล้วก็ต้องถูกหามลงมาเช่นเดียวกัน แต่ที่เป็นพระถ้านำทางขึ้นไปก็เท่ากับทำบาปแก่พระสงฆ์ เพราะว่าเท่ากับส่งท่านขึ้นไปตาย
พระธุดงค์มองดูชาวบ้านด้วยความเมตตา ท่านได้กล่าวกับชาวบ้านที่แสดงความเป็นห่วงว่า “ความตายเป็นเรื่องของธรรมดาของโลก เกิดมาแล้วมีใครบ้างล่ะที่ไม่ตาย ไม่ขึ้นไปตายในถ้ำก็ต้องตายในที่อื่นอยู่ดีนั่นแหละ ความพลัดพรากจากโลกนี้เป็นสิ่งที่ผู้ครองเรือนกลัว แต่ศิษย์ของพระตถาคตนั้นไม่กลัว”
“หลวงพ่อครับ เก่งกว่าหลวงพ่อก็มีนะ ล่าสุดขึ้นไป 4 องค์มีคาถาอาคมเก่งกล้า ผลสุดท้ายเมื่อกลับลงมาเเล้วก็พูดจาเลอะเลือน ไม่เป็นภาษา คล้ายกับเผชิญสิ่งอันน่ากลัว เห็นแต่เพ้อว่า ผีน่ากลัว น่ากลัว น่ากลัวมากอะไรทำนองนั้นนะครับ”
“เอาเถอะ พาอาตมาไปเถิด การนำทางอาตมาขึ้นไปแสวงหาความสงบ ถือเป็นกุศล การขวางทางบุญเป็นกุศลนั้นเป็นบาปนะโยม อาตมาต้องการไปเอง โยมไม่บาปหรอก”
และแล้วชาวบ้านจึงได้นำท่านขึ้นไปยังถ้ำสาริกา ก่อนจะนมัสการลาจากชาวบ้านผู้นำทางได้ทิ้งท้ายไว้ว่า
“หลวงพ่อครับหากท่านได้รับอันตรายแล้ว ขอให้ลงมาที่หมู่บ้าน พวกกระผมจะได้ช่วยทำการช่วยเหลือรักษาได้ทันที ขอลาหลวงพ่อเลยครับ”
“เจริญพรเถิดโยม”
ลับร่างของชาวบ้านไปแล้ว พระธุดงค์ก็ได้วางบริขาร จัดที่ทางสำหรับการบำเพ็ญเพียรต่อไป
คืนแรกของการอยู่ในถ้ำ สิ่งแรกที่ต้อนรับท่านก็คือ การแปรปรวนของธาตุ มีอาการปวดท้องเกร็ง และถ่ายติดต่อกันจนเป็นเลือด ระงับด้วยยาที่พอหาได้ ก็ไม่สามารถบรรเทาได้ แม้อาหารที่เขานำมาถวายให้ฉัน ก็ไม่ย่อย ถ่ายออกมาหยาบๆ คล้ายกับอาหารไม่ย่อย ไม่ทำงาน
จึงได้กำหนดจิตภาวนา ระงับอาการปวดเกร็ง และแล้วดวงอาทิตย์ก็ลับเหลี่ยมเขา ท่านจึงเข้าที่กระทำวิปัสสนา โดยกำหนดจิตเอาไว้ว่า
ต่อไปนี้จะเลิกฉันยาทั้งหมด เพราะขันธ์ห้ากำลังได้รับทุกขเวทนา โอสถอย่างเดียวที่จะรักษาได้ โอสถที่ประกอบธรรมอันเป็นคำสอนของสมเด็จพระบรมครู พิจารณาสังขารว่า เกิดจากขันธ์ห้ามารวมกัน แล้วก่อให้เกิดเวทนาต่างๆ เป็นเครื่องบังคับให้กลัวตาย ไม่คิดต่อสู้ด้วยปัญญา วางความห่วงในสังขารลงข้างหนึ่ง อีกข้างหนึ่งก็ได้ยกมรณานุสติขึ้น เพื่อพิจารณาว่าชาติ ชรา พธาธิ มรณะ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นวัฏฏะสงสารที่อยู่กับมนุษย์มาก่อนที่สมเด็จพระบรมครูจะทรงตรัสรู้เสียอีก
เมื่อสมเด็จพระบรมครูท่านได้ทรงคิดอริยสัจสี่ประการได้แล้ว จึงทรงประทานความพ้นทุกข์แก่พระสาวก เพื่อเจริญภาวนา พ้นจากขันธ์ห้าเพื่อให้ถึงพระนิพพานต่อไป
ครั้นเมื่อจิตแยกออกจากกายที่ประกอบด้วยขันธ์ห้า เมื่อจิตหลุดออกจากกายแล้ว สังขารก็ไม่อาจจะสร้างเวทนาขึ้นได้ เพราะปราศจากจิตปรุงแต่ง ต่อไปได้กลับมามองเห็นว่า ภัยของสังขาร และสภาวะอันเป็นจริง กำหนดจิตอยู่เหนือขันธ์ห้าแล้ว ก็กลับเข้าสู่กายอีก เพื่อดับความทุกขเวทนา แล้วกำหนดจิตลงไปที่ใดที่นั่นก็ปราศจากเวทนา ทุกอย่างกลับเป็นปกติ ธาตุทั้งสี่ทำงานตามปกติ สังขารได้บำบัดด้วยโอสถ อันประกอบขึ้นจากพระธรรม จนเวทนาดับสิ้นเชิง
ครั้นจิตสว่างแล้วก็ถอยออกจากการพิจารณา มาอยู่ที่อุปจารสมาธิ ฉับพลันแสงสว่างก็พุ่งออกไปในรอบรัศมีรอบกาย แล้วกระทบเข้าสู่สิ่งหนึ่งซึ่งน่าจะคอยมาเฝ้าสังเกตการณ์อยู่เป็นเวลานานแล้ว
ครั้นจิตได้กระทบกับสิ่งนั้นแล้ว เจ้าของร่างก็ไม่อาจซ่อนตัวอยู่อีกได้ต่อไป เหมือนคนที่ซุกตัวอยู่ในความมืด ถูกแสงไฟฉายสาดไปจนต้องมองเห็นได้ถนัด ร่างนั้นจึงได้ก้าวออกมาหาพระธุดงค์ ที่นั่งสมาธิอยู่ตรงหน้า ถมึงทึงด้วยดวงตาอันน่ากลัว ขยับกระบองเหล็กในมือไปมา เมื่อเข้ามาใกล้ในระยะของการทุบด้วยกระบองเหล็ก เสียงอันเปี่ยมด้วยอำนาจ ก็แผดขึ้นจนถ้ำสั่นสะเทือนเลือนลั่น
“เก่งนักหรอกหรือ กระบองนี้แม้พญาช้างในป่า ถูกเข้าเพียงครั้งเดียวก็ถึงกับจมแผ่นดิน รูปร่างบอบบางแบบนี้ เพียงเบาะๆ ก็แหลกรานไปแล้ว”
แล้วกำหนดจิตลงไปเพื่อติดต่อกับผู้ประสงค์ร้าย จนสามารถเชื่อมกับความรู้สึกทางกายทิพย์ จึงได้ย้อนถามไปว่า
“ตั้งแต่เรามาอยู่ที่นี่ เราได้เคยสร้างความเดือนร้อนรำคาญแก่ท่านหรือไม่ เคยใช้อำนาจอาคม รบกวนหรือเปล่า มีแต่ภาวนาหาความวิเวก เหตุใดท่านจึงคิดจะประสงค์ร้าย คิดจะมาตีเราด้วยกระบองเหล็กเล่า”
“ที่นี่ข้าคือผู้ครอบครองมีอำนาจเหนือสรรพสิ่ง จะทำอะไรก็ได้ เพราะได้รับสิทธิมาอย่างถูกต้อง ใครจะทำตัวอยู่เหนือข้าไม่ได้ ข้าพเจ้าต้องทำลายให้สิ้นไป”
“เราไม่เคยหวังอำนาจเหนือท่านเลย แต่เราได้หวังอำนาจเหนือร่างกาย และจิตใจของเราเองเท่านั้น เพราะพระพุทธองค์ทรงสอนให้เอาชนะใจตนเองให้ได้ก่อน ก่อนที่จะเอาชนะผู้อื่น”
“ก็นั่นแหละ มันเป็นที่ของข้า และข้าจะไม่ยอมให้ใครมาทำอะไรได้ทั้งนั้น ข้าไม่อนุญาตข้าพเจ้ามีอำนาจสมบูรณ์”
“เราได้เพียงแต่ภาวนาเพื่อดับความร้อนแห่งกิเลส เพื่อเอาชนะใจตนเอง ไม่ให้เบียดเบียนผู้อื่น ตัวท่านเองเล่าเคยคิดบ้างไหมว่า จะอยู่เหนืออำนาจจิตใจและร่างกายของท่านเองบ้าง”
“ไม่เคย และไม่เห็นว่าจะต้องไปทำอะไรมากเรื่องแบบนั้น”
ฉับพลันนั้นร่างนั้นก็ขยายใหญ่ขึ้น จนศีรษะชนเพดาน ตาลุกแดงเป็นเปลวไฟด้วยความโกรธสุดขีด
“เอาเลย ตีลงมาเลย อาตมาไม่เสียดายชีวิตหรอก เพราะสังขารที่ท่านเห็นอยู่นี้ เป็นเพียงสิ่งสมมุติที่ประกอบด้วยธาตุทั้งสี่ และขันธ์ทั้งห้าตายแล้วก็สิ้นสุดลง สังขารวิญญาณก็ออกไปพ้นจากสังขาร เพราะความตายสำหรับศิษย์ตถาคตแล้วเป็นเรื่องปกติ จะถูกท่านฆ่าตายอย่างนี้ หรืออยู่ต่อไป เมื่อเวลากำหนดมาถึงก็ต้องตายเหมือนกัน ไม่ผิดกัน เพราะความตายก็เหมือนกัน ท่านบอกว่าท่านเป็นใหญ่เหนือสรรพสิ่ง ท่านสำคัญผิดรู้หรือไม่ เพราะว่าในโลกนี้ก็มีกฎแห่งกรรม ที่ธรรมชาติมนุษย์มีเกิด มีแก่ มีเจ็บ มีตาย แต่พวกท่านก็ไม่อาจพ้นจากกฎนี้ เวลาที่ท่านครอบครองพื้นที่ และมีอำนาจย่อมถูกจำกัดด้วยกาลเวลา อันจะมากกว่าชีวิตของมนุษย์ แต่เมื่อเวลาเสวยสุขของท่านหมดลง ตามกฎแห่งกรรมท่านก็ต้องทำลายตัวเอง หรือเดินทางไปยังสถานที่อื่นต่อไปไม่สิ้นสุด แสดงให้เห็นว่า ท่านเองก็ไม่สามารถอยู่เหนือกฎแห่งกรรมได้เลย และไม่สามารถจะพ้นจากธรรมะจากพระโอษฐ์ของพระศาสนาได้เลยแม้แต่น้อย”
เมื่อสิ้นกระแสจิตของพระธุดงค์ ร่างของอมนุษย์ ก็สั่นไหว กระบองที่อยู่ในมือก็สั่น เป็นอาการของผู้ที่หวาดกลัว และกำลังเผชิญกับบางสิ่งที่ตนเองไม่อาจจะต้านทานได้
ร่างอันสูงใหญ่จรดเพดานถ้ำ ก็ค่อยๆ ลดลงๆ เท่ากับคนธรรมดา แล้วในที่สุดก็กลายเป็นมนุษย์ผู้มีกิริยาอันงดงาม ในยามที่เข้ามาหาพระสงฆ์ ทุกอิริยาบทอยู่ในความสำรวม ก้มลงกราบก่อนที่จะกล่าวขอขมา
“ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าเป็นผู้รักษาขุนเขาและป่า โดยรอบถ้ำนี้ วันหนึ่งข้าพเจ้าได้มองเห็นแสงสว่าง เปล่งประกายมาจากถ้ำสาริกา แสงนั้นได้มากระทบกับร่างของข้าพเจ้า ซึ่งปกติแล้วมีพลังมาก กลับรู้สึกอ่อนเพลีย และเมื่อยล้า จิตก็ได้บอกกับตัวเองว่า แสงอันใดหนอช่างสว่างงดงามเสียจริงๆ ครั้นได้เข้ามาพบกับท่านซึ่งกำลังเจริญภาวนา เป็นแหล่งต้นกำเนิดแห่งแสงนั้น ก็รู้สึกชื่นชม แต่ แต่ว่าทิฐิของข้าพเจ้านั้นแหละ ที่บอกว่ายอมไม่ได้ เพราะว่าเราเป็นเจ้าของที่ นักบวชเป็นเพียงผู้บุกรุก ต้องไล่ออกไป จึงได้แสดงกิริยาอาการอันไม่สมควร เหมือนกับที่เคยแสดงกับอมนุษย์ ตลอดจนโขมด พรายทั้งหลายในเขตปกครอง ขอให้ท่านผู้เจริญได้ยกโทษให้ด้วยเทอญ ข้าพเจ้าทุกวันนี้มีแต่ทุกข์อยู่เพียงพอแล้ว อย่าได้เพิ่มทุกข์จากการล่วงเกินจากท่านผู้เจริญอีกเลย”
และแล้วพระธุดงค์ก็ได้กล่าวอโหสิกรรม ด้วยจิตอันบริสุทธิ์ ผู้ที่มานมัสการจึงแสดงตนเป็นพุทธมามกะ พระธุดงค์จึงให้รับไตรสรณคมน์เป็นพุทธานุสติ ธรรมานุสติ สังฆานุสติ เพื่อจะได้มีจิตอันสงบสุขในที่สุด
เมื่อปฏิญาณตนรับไตรสรณคมน์แล้ว จึงแนะนำตนเองแก่พระธุดงค์อีกว่า
“ข้าพเจ้าคือรุกขเทวดา ผู้มีอำนาจปกครองเทวดาทั้งหลายที่อยู่ในป่า และในเขาในเขตนี้ไปจนถึงเขตจังหวัดที่อยู่โดยรอบ ที่แสดงตัวเป็นโขมดก็เพื่อให้ท่านผู้เจริญหวาดกลัว และรีบหนีไปเหมือนกับที่เคยประสบความสำเร็จกับพระ และชาวบ้านที่เคยเจอมาแล้ว”
พระธุดงค์ได้บำเพ็ญธรรมอยู่ในถ้ำระยะเวลาหนึ่ง เทวดาก็มาคอยดูแลและยังได้นำเทวดาที่เป็นบริวาร มาฟังธรรมในตอนดึกๆ และขอให้ประจำอยู่ในถ้ำแห่งนี้ตลอดไป แต่พระธุดงค์ได้ปฏิเสธ แล้วเก็บบริขารลงมาจากถ้ำ โดยเทวดาได้ขอร้องว่า ถ้าผ่านมาทางนี้อีกก็ขอให้ขึ้นมาโปรดบ้าง เพราะต่อไปนี้ก็คงจะเงียบเหงา ไร้ผู้ทรงศีลมาเจริญภาวนา

ขอบคุนๆแคทครับ <!-- / message --><!-- sig -->