PDA

แสดงเวอร์ชันเต็ม : ธรรมจาริกในศรีลังกา



Butsaya
08-14-2009, 09:35 AM
ธรรมจาริกในศรีลังกา
โดย Nina Van Gorkom
แปลโดย พ.อ. ดร. ชินวุธ สุนทรสีมะ
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

ในครั้งกระโน้น พระภิกษุ ภิกษุณี และคฤหัสถ์ ในศรีลังกาได้ศึกษาและ
ปฏิบัติ "สติปัฏฐาน" (ฐานที่ตั้งแห่งสติระลึกรู้) กันอย่างกว้างขวาง
คนเป็นจำนวนนับ ไม่ถ้วนได้บรรลุเป็นพระ อรหันต์ ท่านเหล่านั้นได้บรรลุอรหัตตผล ก็เพราะว่า
ท่านมีสติระลึกรู้สภาพความ เป็นจริงที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และมโนทวารในขณะปัจจุบัน
http://www.dharma-gateway.com/image/rosebar-2.gif
อารัมภกถา

เพื่อให้ผู้อ่านได้รู้จักผู้เขียนและการจาริกของเธอ ข้าพเจ้ารู้สึกว่าการมีอารัมภกถาสำหรับเรื่อง "ธรรมจาริกในศรีลังกา" นี้เป็นการสมควรอย่างที่สุด
วันหนึ่งในเดือนมกราคม ปี ๒๕๑๐ หลังจากที่ข้าพเจ้าได้อ่านหนังสือเรื่อง "พระอภิธรรมในชีวิตประจำวัน" โดยผู้เขียนท่านนี้แล้ว พระคุณเจ้าธัมมธโรได้เสนอแนะให้ข้าพเจ้าจัดสัมมนาธรรมขึ้นในประเทศศรีลังกา และให้เชิญคุณสุจินต์ บริหารวนเขตต์ ซึ่งเป็นอาจารย์ของผู้เขียนเรื่องนี้ ท่านเป็นอาจารย์สอนธรรมที่มีชื่อเสียงยิ่งคนหนึ่งของประเทศไทย และได้รับความนับถืออย่างกว้างขวาง ทั้งจากภิกษุและคฤหัสถ์ในประเทศไทย ในความเชี่ยวชาญและขันติธรรมของท่านที่เผยแพร่พระธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้คนทั้งหลายเข้าใจได้
ข้าพเจ้าได้นำความคิดนี้ไปเสนอแก่พระคุณเจ้ามดิเหปัณณสีห์ มหานายกะเถระ ผู้อุปถัมภ์ศูนย์ข่าวสารพระพุทธศาสนา ซึ่งท่านก็ได้เห็นพ้องด้วยอย่างสิ้นเชิงกับแผนงานนี้ทั้งหมด และได้กรุณารับเป็นประธานเปิดประชุมสัมมนานี้ ที่ศูนย์ข่าวสารพระพุทธศาสนา ณ เลขที่ ๕๐ อานันทกุมารสวามี มะวะะ โคลอมโบ ๗ ซึ่งเป็นผู้อุปถัมภ์การประชุมครั้งนี้
ผู้จัดประชุมได้ส่งจดหมายเชื้อเชิญไปยัง คุณสุจินต์ บริหารวนเขตต์ ขอให้ท่านมาร่วมในการประชุมที่จะจัดขึ้นที่กรุงโคลอมโบ เมืองอนุราธปุระ และเมืองแคนดี ในการตอบรับคำเชิญนี้ คุณสุจินต์ ได้แจ้งให้ทราบด้วยว่า คุณนีน่า วัน กอร์คอม จากประเทศเนเธอร์แลนด์ ผู้เขียนหนังสือนี้ คุณดวงเดือน บารมีธรรม จากประเทศไทย และ นางสาว ซาราห์ พร็อกเตอร์ จากประเทศอังกฤษจะมาร่วมประชุมด้วย ข้าพเจ้าปิติยิ่งต่อข่าวนี้ และรู้สึกว่าการอภิปรายต่าง ๆ ย่อมจะอำนวยผลเป็นอย่างดี และการก็เป็นไปเช่นนั้น
คุณนีน่า วัน กอร์คอม เป็นชาวดัชโดยกำเนิด ในชั้นแรกที่เธอได้มายังประเทศไทยนั้น ก็เป็นการติดตามสามีของเธอซึ่ง เป็นข้าราชการในสถานเอกอัครราชฑูตของประเทศเนเธอร์แลนด์ เธอสนใจเป็นอย่างยิ่งที่จะศึกษาวัฒนธรรมไทย และได้ประจักษ์ว่า วิธีที่ดีที่สุดในการศึกษาวัฒนธรรมไทย ก็โดยการศึกษาพระธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งนี้ก็เพราะว่า วัฒนธรรมไทย มีรากฐานจากพระพุทธศาสนา
ด้วยเหตุนี้เธอจึงได้ติดต่อกับคุณสุจินต์ บริหารวนเขตต์ และได้เรียนรู้พระธรรมจากคุณสุจินต์ เธอได้กลับกลายมาเป็นผู้เชี่ยวชาญ ที่สนใจศึกษาพระอภิธรรม และวิปัสสนา และได้อุทิศตนในการเขียนเรื่องพระพุทธศาสนา ในขณะที่พำนักอยู่ในกรุงเทพฯ เธอได้เขียนหนังสือขึ้นสองเล่ม คือ "พระพุทธศาสนาในชีวิตพระจำวัน" และ "พระอภิธรรมในชีวิตประจำวัน" ซึ่งเป็นที่นิยมกันแพร่หลาย สำหรับข้อเขียนอื่น ๆ ของเธอ คือ "จดหมายจากโตเกียว" "จดหมายจากนิวยอร์ค" และ "จดหมายจากกรุงเฮก" ยังคงอยู่ในรูปของกระดาษไข เรื่องล่าสุดของเธอคือ "ธรรมจาริกในศรีลังกา" นี้ เป็นการรวบรวมและเรียบเรียงข้อสนทนาธรรมที่ได้กระทำกันที่ศรีลังกา
ข้าพเจ้าเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าสหายธรรมทั้งหลายของเรา จะได้รับประโยชน์จากข้อเขียนเหล่านี้ ของสหายธรรม จากประเทศเนเธอร์แลนด์ ผู้นี้ของเรา
ข้าพเจ้าใคร่จะกล่าวไว้ ณ ที่นี้ด้วยว่าการประชุมสัมมนาในครั้งนี้นับว่า เป็นการประจวบกัน ที่เป็นการรื้อฟื้น ธรรมสัมพันธภาพ อันเก่าแก่ที่ธำรงอยู่ในพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ระหว่างกรุงสยาม ฮอลแลนด์ และกรุงลังกา มาเป็นระหว่าง--ประเทศไทย ประเทศเนเธอร์แลนด์ และประเทศศรีลังกาในพุทธศตวรรษที่ ๒๖
ขอให้มวลมนุษยชาติจงมีความสุขสมบูรณ์โดยถ้วนหน้า

ร้อยเอกเอส.แอล.วี.เอ.เปเรร่า อี. ดี.
ศูนย์ข่าวสารพระพุทธศาสนา
๕๐ อานันทกุมารสวามี มะวะถะ
โคลอมโบ ๗ ประเทศศรีลังกา
๔ สิงหาคม ๒๕๒๐

Butsaya
08-14-2009, 09:41 AM
ธรรมจาริกในศรีลังกา
โดย Nina Van Gorkom
แปลโดย พ.อ. ดร. ชินวุธ สุนทรสีมะ
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา


http://www.dharma-gateway.com/image/rosebar-2.gif


บทที่ ๑
"พระพุทธศาสนาในชีวิตประจำวัน” เป็นเนื้อหาของการสัมมนาทางพระพระพุทธศาสนา ที่ศรีลังกา เราปฏิบัติตามพระธรรม ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในชีวิตประจำวันกันจริง ๆ หรือเปล่า เราไม่ได้หลงลืมกันบ่อยๆ ดอกหรือ ในขณะที่เรา กำลังขาด ความอดทนนั้น ความเมตตา และ ความกรุณา ตามที่พระพุทธองค์ได้ทรงสั่งสอนไว้หายไปไหน ในทางทฤษฎีแล้ว เราตระหนักดี ถึงหนทางที่ดีงามต่าง ๆ ตามคำสั่งสอนของพระองค์ท่าน เราคิดว่าเราเข้าใจเรื่องการอบรม การกระทำชอบ วาจาชอบ และ การดำริชอบ แต่แล้วเราก็หลงลืมมันเสียเกือบทุกครั้ง เราอ่านพระสูตรต่าง ๆ เกี่ยวกับการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น การพูดจาไพเราะ การพูดตามกาลเวลา อันควร ความอดทนและเรื่องอื่น ๆ อีกมากมายอันเป็นเรื่องที่ดีงาม เราคิดว่าเราเข้าใจในสิ่งที่ได้อ่าน แต่อย่างไรก็ตาม เราก็มักจะละเลย ที่จะนำธรรมนั้น ๆ มาปฏิบัติในสถานการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันของเรา การที่เราได้รับการเตือนสติในการปฏิบัติธรรม และได้สนทนาธรรมกับสหายธรรมใหม่ ๆ ระหว่างที่อยู่ในศรีลังกาครั้งนี้จึงนับว่ามีประโยชน์อย่างยิ่ง
ดิฉันได้รับคำเตือนให้มีชีวิตอยู่กับขณะปัจจุบัน ไม่ใช่ในอดีต และไม่ใช่ในอนาคต และให้ศึกษาสภาพธรรมในขณะปัจจุบัน ด้วยสติที่ระลึกรู้ คุณสุจินต์เตือนเราทุกวันว่า “ถ้าไม่ศึกษาสภาพธรรมในขณะปัจจุบัน ปัญญาก็เจริญไม่ได้”
ในครั้งกระโน้น พระภิกษุ ภิกษุณี และคฤหัสถ์ ในศรีลังกาได้ศึกษาและปฏิบัติ “สติปัฏฐาน” (ฐานที่ตั้งแห่งสติระลึกรู้) กันอย่างกว้างขวาง คนเป็นเป็นจำนวนนับไม่ถ้วนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ท่านเหล่านั้นได้บรรลุอรหัตตผลก็เพราะว่าท่านมีสติระลึกรู้สภาพความเป็นจริงที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และมโนทวาร ในขณะปัจจุบัน
ร้อยเอก เปเรร่า แห่งศูนย์ข่าวสารพระพุทธศาสนาในโคลอมโบ ได้จัดให้มีการประชุมสัมมนา เพื่อสนทนาธรรม ขึ้นเป็นเวลา ๕ สัปดาห์ในโคลอมโบ อนุราธปุระ และแคนดี คุณสุจินต์กับคุณดวงเดือน ได้มาจากประเทศไทย ซาร่าห์มาจากอังกฤษ และดิฉันมาจาก ฮอลแลนด์ เรามาพบกันที่ศรีลังกา ในวาระที่มีสัมมนานี้ ท่านธัมมธโรภิกขุ และท่านเจตนันโทภิกขุ ได้ล่วงหน้ามาจากประเทศไทย ก่อนการประชุมหลายเดือน และสามเณรสุนทโรได้มาพร้อมกับคุณสุจินต์
พระคุณเจ้า มหานายเก (ตำแหน่งสำหรับพระมหาเถระ ซึ่งเป็นพระสังฆราชา มีตำแหน่งสูงสุด ตำแหน่งหนึ่ง ในศรีลังกา) ได้เป็นประธาน เปิดการสัมมนา ด้วยการจุดตะเกียงน้ำมันตามประเพณี การประชุมได้กระทำกันในเวลากลางคืน โดยเป็นการ สนทนาธรรม ส่วนในเวลากลางวัน เราก็พบปะ กับสหายชาวสิงหฬทั้งหลาย ที่บ้านของเขา และสนทนาธรรมอย่างกันเองมากขึ้น ตลอดเวลา ๕ สัปดาห์ที่เราใช้ชีวิตในศรีลังกานี้ เราได้รื่นรมย์กับความเอื้ออารี ของชาวสิงหฬเหล่านั้นเป็นอย่างยิ่ง ในระหว่างที่เรา ได้พำนักเป็นแขกอยู่ในบ้านของท่านเหล่านั้น ได้รับการเลี้ยงดูทั้งอาหารกลางวันและอาหารเย็นด้วยแกงกะหรี่อันโอชะ ร้อยเอกเปเรร่า เป็นผู้คอยดูแลพวกเรา และในเมื่อเราเกิดมีปัญหาเรื่องวีซ่าหรือปัญหาอื่นใดเขาก็จะยิ้มและกล่าวว่า “บาดแผลทั้งหลายจะหายสนิท”
พระผู้มีพระภาคได้เสด็จมายังศรีลังกา ๓ ครั้ง และในช่วงเวลาที่ได้เสด็จมาเยือนนั้น พระองค์ได้เสด็จไปยังสถานที่ต่าง ๆ ๑๖ แห่ง พระบรมสารีริกธาตุของพระองค์ได้รับการอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในพระสถูปหลายแห่ง และกิ่งตอนจากพระศรีมหาโพธิ์ ต้นดั้งเดิมที่พระองค์ทรงตรัสรู้ ณ เมืองคยาก็ได้รับการอัญเชิญมาปลูกยังศรีลังกา ณ เมืองอนุราธปุระตั้งแต่ครั้งกระโน้น และยังคงเจริญเติบโตอยู่ ณ ที่นั้นตราบจนทุกวันนี้ เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็ได้มีหน่อใหม่แตกขึ้นมาจากต้นพระศรีมหาโพธิ์นี้อีก ปรากฏการณ์นี้ จะไม่เป็นนิมิตหมายอันเปี่ยมไปด้วยความหวังว่าพระพุทธธรรม ยังคงเบ่งบานอยู่ในศรีลังกากระนั้นหรือ
ดิฉันเกิดความสนใจในประวัติศาสตร์ของศรีลังกา และได้เริ่มต้นอ่าน “มหาวังสะ” หรือ สมุดจดหมายเหตุ (มหาวังสะ ได้รวบรวม ขึ้น เมื่อตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่สิบห้า หรือตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่สิบหก) หลังจากการทำสังคายนาครั้งที่สาม ที่กระทำกัน ในประเทศอินเดีย ในรัชสมัยของพระเจ้าอโศก (พ.ศ.๒๙๓) สมณทูตหลายคณะ ก็ได้รับมอบหมายให้ไปยังประเทศต่าง ๆ พระอรหันต์ มหินทเถระ พระราชโอรสของพระเจ้าอโศก ได้รับมอบหมายให้ไปยังศรีลังกา พร้อมกับพระภิกษุอื่น อีกสี่รูป สามเณรหนึ่งรูป กับอุบาสกอีกหนึ่งท่าน คณะสมณทูตได้ไปยังมหินทเล และได้พบกับพระเจ้าเทวานัมปิยะติสสะ กษัตริย์สิงหฬ ซึ่งกำลังทรงล่ากวางอยู่ เมื่อกษัตริย์สิงหฬ ได้ทรงวางคันธนูลงข้างพระองค์ และหลังจากที่พระมหินทเถระ ได้ทดสอบความพร้อมของพระองค์ ที่จะทรง ฟังธรรมแล้ว พระเถระก็ได้แสดงธรรมเรื่อง จูฬหัตถิปมสูตร (ข้อเปรียบเทียบด้วยรอยเท้าช้าง มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ สูตรที่ ๒๗) สูตรนั้น พรรณนาชีวิตของพระภิกษุ ซึ่งได้ละเว้นจากความชั่วต่าง ๆ ทั้งกาย วาจา ใจ และความสังวรในทวารทั้ง ๖ โดยเจริญ สติสัมปชัญญะ บำเพ็ญฌาน (อัปปนาสมาธิ) และในที่สุดก็ได้บรรลุอรหัตตผล
ในวันต่อมาพระมหินทเถระและภิกษุอื่น ๆ ก็ได้ไปยังอนุราธปุระซึ่ง ณ ที่นั้น พระกษัตราธิราชก็ได้ถวายพระราชอุทยาน แก่พระมหินทเถระ สถานที่นี้ได้เป็น “พระมหาวิหาร” ศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง ต่อมาก็ได้มี พระวิหาร เจติยบรรพต และพระวิหารอื่น ๆ เกิดขึ้นอีกมากมาย
พระมหินทเถระได้นำพระไตรปิฎกและอรรถกถาต่าง ๆ มายังศรีลังกา และได้แสดงธรรมเป็นภาษาสิงหฬ ชาวสิงหฬ เป็นจำนวนมาก ปรารถนาที่จะใช้ชีวิตในเพศพรหมจรรย์ และได้พากันบวชเป็นภิกษุ สตรีก็ปรารถนาจะเป็นภิกษุณี และเพื่อที่จะอุปสมบท สตรีเหล่านี้ ให้เป็นภิกษุณีได้ พระภิกษุณีสังฆมิตตา พระขนิษฐาของพระมหินทะ จึงได้เสด็จมายังศรีลังกาและได้นำกิ่งตอน ของต้นพระศรีมหาโพธิ์จากอินเดียมาปลูกด้วย ในรัชสมัยของพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะนี้เองได้มีการก่อสร้าง “ถูปารามดากะบะ” พระสถูปเจดีย์องค์ที่เก่าแก่ที่สุดขึ้น และได้ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ส่วนพระศอด้านขวา ของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าไว้ ณ พระสถูปนี้
พระพุทธศาสนาได้เสื่อมถอยลงไป ในประเทศอินเดีย แต่กลับได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดีในประเทศศรีลังกา อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ศึกษาประวัติศาสตร์ของศรีลังกา ย่อมจะประจักษ์ชัดว่า การอนุรักษ์พระพุทธศาสนาไว้นั้น ช่างเป็นเรื่องที่ยากเย็นแสนเข็ญเพียงใด กษัตริย์ที่เข้ามารุกรานจากภายนอก ตลอดจนกษัตริย์ในประเทศนี้เอง ซึ่งไม่สนับสนุนคณะสงฆ์ ได้คุกคามต่อความอยู่รอด ของพระศาสนา อย่างรุนแรง
ภายหลังจากการรุกรานของพวกทมิฬ พระเจ้าทุฏฐคามินี (ประมาณ พ.ศ. ๓๙๓) ได้สถาปนาคณะสงฆ์ขึ้นใหม่ และได้เริ่มก่อสร้าง พระสถูป “รูวันเวลิสายะ” อันยิ่งใหญ่และมีชื่อเสียง ของเมืองอนุราธปุระ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และเป็นศูนย์กลาง ของการสักการบูชา คู่กับต้นพระศรีมหาโพธิ์ ในเมืองอนุราธปุระ ต่อมาตราบเท่าทุกวันนี้
ไม่เพียงแต่ภัยจากสงครามเท่านั้น ทุพภิกขภัยก็เป็นภัยพิบัติที่คุกคามต่อความอยู่รอดของพระพุทธศาสนา ซึ่งยังมิได้จารึก เป็นลายลักษณ์อักษร ด้วยเหมือนกัน คนเป็นจำนวนมาก ได้เสียชีวิตไปในระหว่างทุพภิกขภัยนั้น และบรรดาพระอรหันต์ที่รอดชีวิตอยู่ได้ โดยอาศัยรากไม้และผลไม้ต่าง ๆ ก็ยังคงท่องสวดพระธรรมกันต่อไปอย่างทรหดและอาจหาญ เมื่อท่านหมดพละกำลังที่ จะทรงกายนั่งอยู่ ต่อไป ท่านก็เอนกายลงนอน แต่ก็ยังคงท่องสวดต่อไป
ภัยจากสงคราม ทุพภิกขภัย รวมทั้งการก่อตัวของมิจฉาทิฏฐิ และการปฏิบัติผิดต่างๆ ได้ทำให้การอนุรักษ์พระศาสนา เป็นไปอย่าง ยากยิ่ง ในที่สุดเมื่อพุทธศักราช ๔๕๔ จึงได้มีการจารึกพระธรรมวินัย เป็นลายลักษณ์อักษร พระภิกษุสงฆ์จำนวนห้าร้อยรูป ได้ร่วมกันกระทำสังคายนา กิจอันยิ่งใหญ่นี้ในถ้ำอลูวิหาร (อลูลีน่า) ซึ่งพวกเราได้ไปชมในระหว่างการจาริกของเรา
หลายศตวรรษต่อมา (พ.ศ. ๙๕๓) พระพุทธโฆษาเถระได้เดินทางจากอินเดียมายังศรีลังกา ณ ที่นี้ท่านได้รจนา “วิสุทธิมรรค” (หนทางแห่งความบริสุทธิ์) ขึ้น ท่านได้ประมวลและเรียบเรียงอรรถกถาทั้งสิ้น ที่ท่านพบในศรีลังกา และได้แปลอรรถกถาเหล่านั้น จากภาษาสิงหฬเป็นภาษาบาลี คำแปลอรรถกถาของพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก ส่วนใหญ่เป็นผลงาน ของท่านพระพุทธโฆษาเถระ อรรถสาลินี (คำอธิบายขยายความ) เป็นอรรถกถาของธรรมสังคณี คัมภีร์แรกของพระอภิธรรม ศรีลังกาซึ่งเป็นแหล่งที่ได้อนุรักษ์พระไตรปิฎก และอรรถกถาทั้งหลายไว้ เป็นประเทศที่น่าเร้าใจให้ไปเยือน เพื่อจะได้ระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ความจริงที่ได้เคยมีพระอรหันต์จำนวนมากมาย อยู่ในประเทศนี้ เป็นเครื่องพิสูจน์ ว่าได้มีการปฏิบัติธรรมกันจริง ๆ ในชีวิตประจำวัน
แม้ว่าศรีลังกาจะได้ผ่านระยะเวลาที่พระพุทธศาสนาเสื่อมโทรมลงหลายครั้งหลายครา และถึงแม้จะได้ถูกกดขี่ข่มเหง อีกด้วย ก็ตาม ชาวสิงหฬในทุกวันนี้ ก็ยังมองเห็นความเกี่ยวข้องของพระธรรมในชีวิตประจำวันของเขา ชาวสิงหฬยังคงธำรงรักษาขนบธรรมเนียม อันดีงาม ซึ่งได้สืบทอดมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาลไว้ เช่น การถวายทานแด่พระภิกษุ การประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในวันอุโบสถ (วันพระกำหนดเอาในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ แรม ๑๕ ค่ำ และบางครั้งในวันขึ้นและแรม ๘ ค่ำด้วย) และพิธีกรรมอย่างอื่นอีกมาก ในปัจจุบันนี้ ได้มีหนังสือธรรมมากมาย ซึ่งเขียนโดยพระภิกษุและคฤหัสถ์ผู้ทรงความรู้และยังได้จัดพิมพ์สารานุกรมพุทธศาสนาขึ้นอีกด้วย
ชาวสิงหฬเป็นจำนวนมาก เชี่ยวชาญภาษาบาลี และสามารถสวดพระคาถา ท่องข้อความจากพระไตรปิฎกได้ สุภาพสตรี เจ้าบ้านของเราในโคลอมโบ จะใช้เวลาตอนค่ำของวันอุโบสถ สวดสติปัฏฐานสูตร และสูตรอื่น ๆ ในห้องพระของเธอ เจ้าภาพซึ่งได้เชิญเรา ไปเลี้ยงอาหารกลางวัน ได้ท่องกรณียเมตตสูตรให้เราฟัง ในรถยนต์ในขณะที่ภรรยาของเขาขับรถ เราสังเกตเห็นว่า ผู้คนเหล่านี้ ไม่เพียงแต่คิดถึงเมตตา ในขณะที่ท่องพระสูตรเท่านั้น แต่เขาได้เจริญเมตตาตลอดวันด้วย ความเมตตาของเขา ปรากฏให้เห็นได้ จากความมีใจคอกว้างขวาง และความมีน้ำใจต่อแขกที่มาอยู่ที่บ้าน
เมื่อเราไปถึงศรีลังกาไม่นาน ก็ถึงวันอุโบสถ เราได้เห็นคนเป็นจำนวนมาก แต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีขาวและถือศีลแปด (นอกเหนือจาก ศีลห้าแล้ว ศีลแปดก็เพิ่มศีลอีก ๓ ข้อ คือ เว้นบริโภคอาหารหลังเวลาเที่ยง เว้นการนอนบนที่นอนสูงใหญ่ สวยงาม และละเว้นจาก การมหรสพ และการประเทืองโฉม) แม้แต่เด็กเล็ก ๆ ก็ถือศีลแปด จนถึงหกโมงเย็น ในวันนั้นเขาได้พาเราไปวัดกัลยาณี ซึ่งเป็น จุดศูนย์กลาง ที่พระผู้มีพระภาคได้เสด็จมายังศรีลังกาในครั้งที่สอง ใกล้ๆ กับวัดนี้มีพระสถูป ซึ่งเป็นที่ประดิษฐาน พระบรมสารีริกธาตุ และมีต้นพระศรีมหาโพธิ์อยู่ด้วย เราได้ยินเสียงกลองและบริเวณรอบ ๆ พระวิหารก็มีผู้คนนั่งอยู่เป็นกลุ่ม ๆ ต่างก็สวดมหาสติปัฏฐานสูตร และพระสูตรอื่น ๆ เขาจุดตะเกียงน้ำมัน จุดธูปและถวายดอกไม้กัน
ท่านเจ้าอาวาสวัดนี้ได้อธิบายให้เราทราบว่าก่อนที่ชาวศรีลังกาจะนำดอกไม้ไปบูชา เขาจะเด็ดกิ่งและใบ ออกหมดเสียก่อน และเขาไม่ใส่น้ำไว้แต่จะปล่อยให้เหี่ยวแห้งไป เพราะดอกไม้จะต้องเหี่ยวแห้งไปตามธรรมชาติ ผู้สูงอายุทั้งหลายจะไม่เกรงกลัวความชราและความตาย เพราะตระหนักดีว่าเขาจะไม่สามารถล่วงพ้นความแก่และความตายไปได้เลย เช่นเดียวกับดอกไม้จะต้องเหี่ยวแห้งไป
คาถาที่ใช้สวดตอนถวายดอกไม้นั้น เป็นคำเตือนสติถึงความไม่เที่ยงแท้แน่นอนอย่างไพเราะ เจ้าภาพที่พาเราตระเวนชมในวันนั้นได้ท่องคำสวดนั้นให้เราฟังว่า
ด้วยหลากเพศสีมาลา ข้าขอบูชา แด่องค์สมเด็จพระชินสีห์
ด้วยกุศลผลบุญพึงมี ข้าขอชีวี นี้ปล่อยละคลายหน่ายวาง
แม้มวลดอกไม้หมองหมาง มีแต่จืดจาง เหี่ยวเฉาเหงาช้ำร่ำไป
เรือนร่างเรานั้นฉันใด มิต่างอย่างไร ธาตุแตกขันธ์ดับลับเอย
ดิฉันได้ประจักษ์ว่าการอภิปรายในการสัมมนาครั้งนี้มีประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง เราได้พูดกันถึงกุศลมากมายหลายอย่างที่พระบรมศาสดาของเราได้พร่ำสอน ทาน ศีล และภาวนา เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ในชีวิตประจำวัน ข้อความในฑีฆนิกาย ปาฏิกวรรค (ภาษาอังกฤษดิฉันใช้ฉบับแปลโดย ท่านพระนารทะ สำนักพิมพ์วีล พับบลิเคชั่น ๑๔ บี.พี.เอส. แคนดี ศรีลังกา) สิงคาลกสูตร มีว่า ขณะที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน อันเป็นที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์ พระองค์ได้ตรัสแก่สิงคาลกมาณพ เรื่องการเจริญกุศลในชีวิตประจำวันว่า
บัณฑิตผู้ถึงพร้อมด้วยศีล
เป็นคนละเอียดและมีไหวพริบ
มีความประพฤติเจียมตน ไม่ดื้อกระด้าง
ผู้เช่นนั้นย่อมได้ยศ
คนหมั่นไม่เกียจคร้าน
ย่อมไม่หวั่นไหวในอันตรายทั้งหลาย
คนมีความประพฤติไม่ขาดสาย มีปัญญา
ผู้เช่นนั้นย่อมได้ยศ
คนผู้สงเคราะห์ แสวงหามิตรที่ดี
รู้เท่าถ้อยคำที่เขากล่าว ปราศจากตระหนี่เป็นผู้แนะนำแสดงเหตุผลต่าง ๆ เนือง ๆ
ผู้เช่นนั้นย่อมได้ยศ
การให้ ๑ เจรจาไพเราะ ๑
การประพฤติให้เป็นประโยชน์ ๑
ความเป็นผู้มีตนเสมอในธรรมทั้งหลาย
ในคนนั้น ๆตามควร ๑
ธรรมเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจในโลกเหล่านี้แล
เป็นเสมือนสลักรถอันแล่นไปอยู่
ถ้าธรรมเครื่องยึดเหนี่ยวเหล่านี้ไม่พึงมีไซร้
มารดาและบิดาไม่พึงได้
ความนับถือหรือความบูชา เพราะเหตุแห่งบุตร
เพราะบัณฑิตทั้งหลายพิจารณา
เห็นธรรมเครื่องยึดเหนี่ยวเหล่านี้โดยชอบ
ฉะนั้นบัณฑิตเหล่านั้นจึงถึงความเป็นใหญ่
และเป็นผู้อันหมู่ชนสรรเสริญทั่วหน้า ดังนี้ ๆ
เมื่อเราอ่านพระธรรมเหล่านี้ก็ดูเหมือนจะง่าย แต่การจะปฏิบัติตามอย่างสม่ำเสมอนั้น ช่างเป็นเรื่องยากลำบากเสียนี่กระไร
ในวันหนึ่ง ๆ มีปัจจัยให้เกิดอกุศลจิตมากกว่าปัจจัยให้เกิดกุศลจิต เมื่อยิ่งเห็นว่าตนเองขาดกุศลมากเพียงใด ก็ยิ่งเห็นความสำคัญของการรู้จักตัวเองและรู้ลักษณะของจิตประเภทต่าง ๆ ให้ชัดแจ้งเกิดขึ้นมากยิ่งขึ้นเพียงนั้น
เมื่อเราเห็นแจ้งว่าอกุศลเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจเพียงใด เราก็ใคร่จะเจริญกุศลมากขึ้น การเห็นโทษของอกุศล และคุณของกุศล ก็เป็นปัญญาหรือความเข้าใจขั้นหนึ่ง ความเข้าใจขั้นนี้เป็นปัจจัยให้กุศลเจริญขึ้น

Butsaya
08-14-2009, 09:45 AM
ธรรมจาริกในศรีลังกา
โดย Nina Van Gorkom
แปลโดย พ.อ. ดร. ชินวุธ สุนทรสีมะ
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
http://www.dharma-gateway.com/image/rosebar-2.gif

บทที่ ๒
สมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงบุญกิริยาประการต่างๆ และกุศลประการหนึ่งก็คือ ทาน หรือความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เราควรอบรมเจริญความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แต่ทว่าเราจะรู้ไหมว่า ขณะใดเป็นความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่จริง ๆ
ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่นั้นไม่จิรัง ไม่มีอัตตาที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่มีชีพที่ถาวรมีแต่กระแสของสภาพรู้ที่สืบต่อและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จิต (สภาพรู้) เกิดขึ้นและดับไปในทันทีแล้วก็สืบต่อด้วยจิตดวงต่อไป จิตต่างๆ เกิดขึ้นแล้วดับไปสืบต่อกันไปเรื่อย ๆ อกุศลจิต (สภาพรู้ที่ไม่ดี) อาจจะเกิดภายหลังกุศลจิตไม่นาน แต่เราก็ไม่ทันสังเกต แต่อกุศลจิตจะเกิดพร้อมกับกุศลจิตในขณะเดียวกันไม่ได้ เพราะว่าในหนึ่งขณะ จิตจะเกิดขึ้นได้ทีละหนึ่งดวงเท่านั้น ความโลภกับความเอื้อเฟื้อจะเกิดขึ้นในขณะเดียวกันไม่ได้ แต่ความโลภอาจเกิดสืบต่อได้อย่างรวดเร็วหลังจากความเอื้อเฟื้อดับไปแล้ว
ในวันหนึ่ง ๆ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เกิดขึ้นน้อยมาก ตลอดเวลาตั้งแต่ตื่นขึ้นมาจนกระทั่งหลับ เราก็มีแต่แสวงหาสิ่งต่าง ๆ มาเป็นของเรา ส่วนช่วงเวลาที่เราเป็นฝ่ายให้แทนที่จะเป็นฝ่ายได้นั้นช่างเล็กน้อยเสียเหลือเกิน เรารู้ตัวจริง ๆ หรือ ว่าขณะไหนเป็นความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เราอาจจะไปยึดถือสิ่งที่ความจริงแล้วเป็นโลภะว่าเป็นความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ก็ได้ เรารู้ตัวหรือเปล่าว่ามีความผูกพันในบุคคลผู้รับ ผูกพันกับสิ่งของที่เราให้ และผูกพันกับกุศลกรรมของเราเอง เราติดข้องในความรู้สึกแช่มชื่นที่เกิดจากการให้ และไม่ได้สังเกตแม้แต่น้อยว่าขณะนั้นเป็นโลภะ เราอาจจะคิดถึง “การให้ของฉัน” และยึดถือกุศลกรรมว่าเป็นตัวตน
โลภะเกิดขึ้นมากมายหลายขณะเกินกว่าที่เราคาดคิด บางคนอาจจะคิดว่าโลภะเกิดก็ต่อเมื่ออยากได้อะไร ๆ เมื่อเกิดละโมบ แต่โลภะมีมากมายหลายรูปแบบ บางอย่างก็หยาบและบางอย่างก็ละเอียดกว่า บ่อยครั้งไหมที่พอเราและเห็นอะไรเข้าก็เกิดพอใจสิ่งที่เห็น เราไม่ยึดมั่นในการเห็นและในตาของเราหรือ เราย่อมไม่อยากสูญเสียดวงตาหรือสายตาที่ดี นั่นก็แสดงว่ามีโลภะ โลภะมักจะเกิดขึ้นเมื่อเราเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ได้กระทบกับสิ่งที่สัมผัสกาย และขณะรู้สิ่งที่ปรากฏทางมโนทวารด้วย
บางคนอาจจะสงสัยว่า “ทวาร” หมายถึงอะไร ทวารคือทางที่จิตรู้อารมณ์ จิตเห็นรู้สิ่งที่ปรากฏทางทวารตา จักขุทวารก็คือจักขุปสาทอันเป็นรูปชนิดหนึ่งที่สามารถกระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตาได้ จักขุปสาทเองนั้นไม่เห็น แต่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการเห็น ทวารทั้งหมดมีอยู่ ๖ ทวาร คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และ ใจ ไม่มีตัวตนที่รู้สิ่งที่ปรากฏต่าง ๆ มีแต่จิตประเภทต่าง ๆ ที่เกิดดับสืบต่อกัน โดยรู้อารมณ์ทางทวารหนึ่งทวารใดใน ๖ ทวารนั่นเอง
ความโลภ ความโกรธ และความหลงสามารถเกิดในอารมณ์ที่รู้ทางทวารใดทวารหนึ่งใน ๖ ทวารนั้น เรามักจะทึกทักจิตซึ่งที่แท้จริงแล้วเป็นอกุศลจิตว่าเป็นกุศลจิตบ่อย ๆ เช่น ดิฉันไปช่วยคนที่ตักน้ำให้สตรีชราคนหนึ่ง ขณะที่ช่วยเขาตักน้ำดิฉันก็พูดธรรมไปด้วย แต่ดิฉันก็เกิดความโลภต่อกุศลของดิฉันอยู่หลายขณะทีเดียว และเมื่อผู้คนที่วัดแสดงความปรารถนาดีชื่นชมต่อดิฉันและอนุโมทนากุศลนั้น ดิฉันก็ซาบซี้งในความเอื้ออารีของเขา แต่ก็เกิดโลภะต่อสิ่งเหล่านั้นและต่อกุศลของดิฉันเองด้วยทันที เนื่องจากจิตต่าง ๆ เกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วจึงยากเหลือเกินที่จะรู้ได้อย่างชัดแจ้งว่า ขณะใดจิตเป็นกุศลและขณะใดเป็นอกุศล ขณะที่จิตเป็นกุศลนั้นไม่มีโลภะ โทสะ และโมหะเลย
เมื่อเรารู้จักตัวเองมากยิ่งขึ้นแล้ว เราก็จะทราบได้ว่าแม้แต่กุศลดังเช่นทานนั้น ก็อาจเป็นปัจจัยให้เกิดโลภะขึ้นได้ เราจะรู้ก็ต่อเมื่อมีความติดข้องในผลของกุศลกรรม เช่น การเกิดในสุคติภพ หรือมิฉะนั้นก็รู้ได้เมื่อมีความสำคัญตนในกุศลนั้น เราอาจคิดว่าเราดีกว่าคนอื่น บุคคลจึงต้องอบรมเจริญปัญญาเพื่อที่จะได้รู้ถึงความต่างกันระหว่างกุศลกับอกุศล
ความเข้าใจอันถูกต้องหรือปัญญานั้นไม่ได้เกิดร่วมกับกุศลจิตทุกดวง เช่น คนบางคนอาจช่วยเหลือคนอื่นเพราะเป็นอุปนิสัยของเขา โดยไม่มีปัญญาเกิดร่วมกับกุศลจิตเลยก็ได้ เราอาจถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุหรือถวายดอกไม้บูชาในโบสถ์ เพราะเป็นประเพณีที่ดีงามที่เราได้รับการอบรมสั่งสอนมา ในขณะเหล่านั้นเป็นกุศลจิตแต่อาจจะไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วยก็ได้ เมื่อกุศลจิตดับไปแล้วอกุศลจิตอาจจะเกิดขึ้น แต่เราก็มักจะไม่ค่อยรู้ บางคนอาจคิดว่ากุศลจิตเกิดขึ้นตลอดเวลาที่อยู่ในโบสถ์หรือในขณะที่กำลังช่วยเหลือคนอื่นอยู่ เราอาจคิดไปว่าความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่จะคงอยู่ชั่วระยะหนึ่ง ซึ่งโดยแท้ที่จริงแล้วระหว่างนั้นเป็นอกุศลจิตมากมายหลายขณะก็ได้
การรู้ความจริงของตัวเองนั้นเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ เป็นการเตือนสติให้เจริญปัญญา เพื่อรู้ชัดว่าขณะใดเป็นกุศลและขณะใดเป็นอกุศล เราจะต้องตรงต่อตัวเองจริง ๆ และควรรู้ว่าอกุศลย่อมเกิดขึ้นบ่อยกว่ากุศล
ศีล เป็นกุศลอีกอย่างหนึ่งที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง การละเว้นการกระทำชั่ว ทางกาย ทางวาจาและใจ เป็นกุศลศีล การอ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรอ่อนน้อม และการช่วยเหลือผู้อื่นก็รวมอยู่ในศีลด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างการประชุมที่อนุราธปุระ ได้มีคนถามเรื่องการรักษาศีลหลายประเด็น บางคนที่มีอาชีพเป็นทหารได้ถามว่า การปฏิบัติตามคำสั่งให้ฆ่าคนนั้นเป็นอกุศลหรือไม่ คุณสุจินต์ได้ถามเขาว่า “คุณต้องการจะฆ่าหรือว่าคุณจำเป็นต้องฆ่าเล่า” ตรงนี้เองเป็นข้อที่ต่างกัน การฆ่าเป็นอกุศลกรรม (การกระทำชั่ว) แต่อกุศลกรรมก็มีหลายระดับ เมื่อบุคคลใดต้องการฆ่าอย่างสุดหัวใจ อกุศลกรรมนั้นเป็นขั้นแรงกว่าการฆ่าโดยปฏิบัติตามคำสั่ง
ผู้ที่ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมไม่ควรคิดว่าไม่มีวันจะล่วงละเมิดศีลห้าเลย ความโน้มเอียงที่จะเกิดอกุศลสารพัดชนิดนั้นย่อมนอนเนื่องอยู่เป็นประจำ และเมื่อประจวบโอกาสเราก็อาจกระทำอกุศลกรรมได้ บางคนอาจจะไม่อยู่ในสถานการณ์ที่จำต้องฆ่าสัตว์ตัดชีวิตอยู่นาน แต่ใครจะรู้แน่ได้เล่าว่าถ้าอยู่ในสภาวการณ์คับขันแล้วจะไม่ฆ่าสัตว์ เช่น เราอาจจะต้องฆ่าแมลง เพราะแขกกำลังจะมาบ้าน
เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้หนึ่งถามว่า เขาจะกระทำหน้าที่ของเขาด้วยกุศลจิตได้ไหม คุณสุจินต์ได้กล่าวว่า อาชีพของเขามีโอกาสที่จะช่วยเหลือผู้อื่นได้มากมาย เช่น ช่วยในการรักษาระเบียบและช่วยประชาชนที่เดือดร้อน ผู้พิพากษาท่านหนึ่งถามว่า การที่จำต้องตัดสินลงโทษประหารชีวิตคนนั้น เป็นการกระทำอกุศลกรรมหรือเปล่า มีกฎหมายที่เราทุกคนจะต้องปฏิบัติตาม
การลงชื่อตัดสินคดีเช่นนั้นอาจไม่เป็นอกุศลกรรมก็ได้ แต่ก็มักจะกระทำไปด้วยอกุศลจิต
บ่ายวันหนึ่งผู้พิพากษาท่านนั้นพร้อมทั้งครอบครัวได้มานมัสการพระธัมมธโร ภายใต้ร่มไม้ในบริเวณมหาวิหารที่อยู่ระหว่างพระสถูป “รูวันเวลิสายะ” กับต้นพระศรีมหาโพธิ์ เรารู้สึกว่าสถานที่นี้ซึ่งเคยเป็นที่สนทนาธรรมตั้งแต่อดีตกาล เป็นที่เหมาะสำหรับสนทนาธรรมมาก ท่านพระธัมมธโรได้พูดถึงอันตรายของความทะเยอทะยาน ซึ่งอาจเป็นตัวก่อให้เกิดอกุศลจิตลักษณะต่าง ๆ และบางคนอาจกระทำอกุศลกรรม เช่น กล่าวเท็จเพื่อจะได้บรรลุจุดหมายของตน แต่การได้รับสิ่งที่น่าพอใจ เช่น เกียรติยศ และความเคารพนับถือนั้นเป็นผลของกุศลกรรม จะเป็นผลของอกุศลกรรมไปไม่ได้เลย เมื่อใดที่ไม่มีปัญญาก็ไม่รู้ว่าขณะใดเป็นกุศลจิตและขณะใดเป็นอกุศลจิต และไม่รู้ว่าจะเจริญกุศลขึ้นได้อย่างไร ด้วยเหตุนี้เราจึงตกเป็นทาสของกิเลสทั้งหลายแหล่
ท่านผู้พิพากษาได้ให้เงินหญิงยากจนที่เดินเข้าใกล้ ๆ กลุ่มของเรา คุณสุจินต์ได้กล่าวว่า “การให้ทานขณะนี้เกิดขึ้นจากเหตุปัจจัย หากปราศจากเหตุปัจจัยที่จะให้แล้วการให้ก็เกิดไม่ได้”
การเตือนสติว่า ไม่มีตัวตนที่เป็นผู้ให้ ไม่มีบุคคลในการให้ มีแต่จิตเท่านั้นที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยนั้น จะเป็นประโยชน์มาก ถ้าหากไม่มีการให้มาแล้วในอดีตก็ย่อมจะไม่มีการให้ในปัจจุบันนี้ จิตที่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปไม่คงอยู่ แต่อย่างไรก็ตามจิตดวงนี้ก็เป็นเหตุปัจจัยแก่จิตดวงต่อไป และจิตดวงใหม่นี้ก็เป็นปัจจัยแก่จิตดวงต่อไปอีกตามลำดับ ด้วยเหตุนี้เองกรรมดีและกรรมชั่วจึงสืบต่อกันไป จากขณะหนึ่งไปยังขณะหนึ่ง จากชาติหนึ่งไปยังอีกชาติหนึ่ง
การละเว้นจากมิจฉาวาจาก็เป็นอาการของศีลอย่างหนึ่ง ซึ่งเราเข้าใจในทางทฤษฎี แต่ในชีวิตประจำวันเราระลึกได้หรือเปล่าเมื่อกำลังจะกล่าววาจาที่ไม่น่าฟัง เช่น หากมีคนเสนอแผนงานที่เราไม่ชอบเลย เราหมดความอดทนแล้วพูดโผงผางออกไปหรือเปล่า ว่าเราไม่ชอบแผนงานของเขา หรือว่าเราจะสงบปากสงบคำไม่เพราะหูนั้นด้วยความเกรงใจเขา เราอาจจะรู้ว่าเวลาที่เราขึ้นเสียงเอะอะนั้นเป็นวาจาที่ไม่ดี ซึ่งนั่นก็เห็นชัด ๆ อยู่แล้ว แต่เมื่อใดที่เราพูดจาไม่เกรงอกเกรงใจคนอื่นนั้น เรารู้ตัวหรือเปล่าว่านั่นเป็นวาจาที่ไม่สมควรเลยแม้ว่าเราจะไม่เอะอะเลยก็ตาม การแสดงความไม่พอใจด้วยวาจา เป็นการพูดที่เกิดจากความขัดเคืองใจ ด้วยเหตุนี้คำพูดนั้น ๆ จะเป็นสัมมาวาจาได้อย่างไร และแม้แต่การที่เราไม่ได้กล่าวอะไรเลยแต่หุบปากเงียบด้วยความไม่พอใจ เมื่อไม่เห็นด้วยกับคนอื่น ก็ไม่ใช่กุศลจิตที่ละเว้นวจีทุจริต
มีหลายพระสูตรที่มีข้อความเรื่องวาจาที่อ่อนโยน เช่น ในจุฬหัตถิปโทปมสูตร (มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ข้อ ๓๓๓) ซึ่งพระมหินทเถระได้เทศน์โปรดพระเจ้าเทวานัมปิยะติสสะ ข้อความเรื่องวาจามีว่า ให้พึง
…………………ละคำหยาบ เว้นขาดจากคำหยาบ กล่าวแต่คำที่ไม่มีโทษ เพราะหูชวนให้รัก จับใจ เป็นของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่พอใจ…………
พระธัมมธโรได้เล่าให้ดิฉันฟังเรื่องหนึ่ง ซึ่งดิฉันได้เห็นว่าเป็นข้อเตือนใจเราอย่างดียิ่งให้มีความอดกลั้นในการกล่าววาจา ท่านเล่าว่าคืนหนึ่งระหว่างการประชุม พระภิกษุไม่มีไมโครโฟน เมื่อพระภิกษุต้องการจะพูดอะไรก็ต้องคอยรับไมโครโฟนที่ส่งต่อกันมาให้ พระภิกษุทั้งหลายต่างรู้สึกว่าการรอคอยนี้เกิดประโยชน์มาก เพราะถ้าหากผู้ใดพูดอะไรออกมาทันทีแล้ว เขาก็อาจจะพูดด้วยอกุศลจิตได้เมื่อเขาไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่คนอื่นพูด ถ้าจำเป็นต้องรอเขาก็มีเวลาที่จะมีสติยับยั้งได้ การที่จะพูดด้วยกุศลจิตเสมอไปนั้นช่างยากเย็นจริง ๆ แม้แต่ในการพูดธรรมก็อาจจะมีความยึดมั่นในคำพูดและความคิดของตนเอง หรืออาจไม่พอใจคำพูดของคนอื่น หรืออาจจะมีความภาคภูมิใจในความรู้ของตนเอง เมื่อใดที่อกุศลจิตทำให้พูดแม้จะเป็นเรื่องธรรมก็ตาม ผู้พูดย่อมไม่สามารถอำนวยประโยชน์ยิ่งใหญ่แก่ผู้อื่นได้เลย ด้วยเหตุนี้เราจะเห็นได้ว่าความเข้าใจจิตต่าง ๆ ของตนเองย่อมเป็นประโยชน์ที่สุดในการเจริญกุศล

Butsaya
08-14-2009, 09:46 AM
ธรรมจาริกในศรีลังกา
โดย Nina Van Gorkom
แปลโดย พ.อ. ดร. ชินวุธ สุนทรสีมะ
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
http://www.dharma-gateway.com/image/rosebar-2.gif

บทที่ ๓
ทานและศีล สามารถกระทำได้โดยปราศจากปัญญาหรือโดยปัญญา เมื่อเป็นการกระทำด้วยปัญญาก็เป็นกุศลขั้นสูงขึ้น ภาวนาหรือการอบรมจิตใจก็เป็นกุศลอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่สามารถที่จะเจริญขึ้นได้โดยปราศจากปัญญา
ภาวนามีสองชนิด คือ สมถภาวนาหรือการอบรมจิตให้สงบ และวิปัสสนาภาวนา หรือการอบรมเจริญปัญญา ภาวนาทั้งสองนี้ต้องอาศัยปัญญา แต่ปัญญาในสมถภาวนานั้นต่างจากปัญญาในวิปัสสนาภาวนา ภาวนาทั้งสองชนิดนี้มีความมุ่งหมายและข้อปฏิบัติต่างกัน สมถภาวนามุ่งหมายให้จิตสงบ สมถภาวนาระงับกิเลสได้เพียงชั่วคราว แต่ดับกิเลสไม่ได้
สมถภาวนาเป็นการเจริญกุศลทางหนึ่ง ผู้ที่เห็นโทษของอกุศลย่อมต้องการอบรมปัจจัยของกุศลให้มากขึ้น โอกาสที่จะให้ทานหรือรักษาศีลนั้นไม่ได้เกิดอยู่เสมอ แต่ถ้าได้เข้าใจการเจริญสมถะ ก็ย่อมเป็นเหตุปัจจัยให้จิตสงบแม้ในชีวิตประจำวัน
ความสงบคืออะไร เป็นความเพลิดเพลินกับธรรมชาติ ฟังเสียงนกร้อง อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่เงียบสงบกระนั้นหรือ สิ่งที่เราเรียกกันในภาษาธรรมดา ๆ ว่า “ความสงบ” นั้นไม่ใช่ความสงบที่เกิดจากสมถภาวนา ความสงบที่เกิดจาก
สมถภาวนานั้นจะต้องเป็นกุศล เพราะว่าสมถะเป็นการอบรมจิตใจทางหนึ่ง แต่ในขณะใดที่มีความยึดมั่นถือมั่นขณะนั้นย่อมไม่สงบ บางคนอาจชอบเงียบ ๆ และถ้าไม่อบรมเจริญปัญญาก็มักจะไปทึกทักเอาควางสงบที่ไม่เป็นกุศลนั้นว่า เป็นความสงบที่เป็นกุศล บางคนอาจคิดไปว่าในขณะที่ไม่มีทั้งโสมนัสและโทมนัส มีแต่ความรู้สึกเฉย ๆ นั้นคงจะต้องมีความสงบด้วย ความรู้สึกเฉย ๆ นั้นอาจเกิดขึ้นกับกุศลจิตก็ได้ แต่ก็อาจเกิดกับอกุศลจิตได้เหมือนกัน ความรู้สึกเฉย ๆ อาจเกิดขึ้นกับโลภมูลจิต (จิตที่มีความโลภเป็นรากฐาน) และเกิดกับโมหมูลจิต (จิตที่มีความหลงเป็นมูลฐาน) ได้เสมอ ด้วยเหตุที่เป็นการยากที่จะรู้อย่างชัดแจ้งว่า ขณะใดจิตเป็นกุศล และขณะใดเป็นอกุศล การจำแนกจิตของคนเราอย่างละเอียดจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นในการเจริญสมถภาวนา ฉะนั้นเราจะเห็นได้ว่าปัญญาเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง
กุศลจิตทุกดวงสงบ (ความสงบที่เกิดกับโสภณจิต (จิตที่ดีงาม) ได้แก่เจตสิกสองอย่าง คือ กายปัสสัทธิ (กายในที่นี้คือนามกาย) เป็นเจตสิกที่ทำความสงบแก่เจตสิก ๑ และจิตตปัสสัทธ เป็นเจตสิก ที่ทำความสงบแก่จิต ๑) ในขณะที่เรามีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่หรือขณะที่รักษาศีล เราก็เป็นอิสระจากโลภะ โทสะ และโมหะ และนั่นก็คือความสงบ ในขณะที่มีปัญญารู้ลักษณะของ ความสงบ ก็จะสามารถ เจริญ ความสงบได้ยิ่งขึ้น และนั่นก็คือสมถะ
หากผู้ใดมีปัญญารู้ลักษณะของความสงบ และรู้อารมณ์ของความสงบ ย่อมเป็นปัจจัยให้ จิตสงบ ยิ่งขึ้นได้ เราจะเห็นว่าความเข้าใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็น ในการเจริญสมถะนั้น ไม่ใช่ความเข้าใจแต่ เพียงในทางทฤษฎีเท่านั้น ผู้เจริญสมถะจะต้องเรียนรู้ลักษณะของความสงบจากการปฏิบัติ และจะต้องรู้อย่างแน่นอนด้วยว่าขณะใดจิตเป็นกุศลและขณะใดเป็นอกุศล
ในระหว่างการประชุม เราได้นำมาอภิปรายกันหลายครั้งหลายหนถึงคำว่า สมาธิ กล่าวโดยทั่วไปแล้วคนเรามักจะคิดว่า การนั่งในที่สงัดและพากเพียรอย่างเต็มที่ที่จะให้จิตตั้งมั่น เป็นการทำสมถะ เขาอาจจะพยายามอย่างมากที่จะให้จิตตั้งมั่น แต่จิตที่เกิดขึ้นในขณะนั้นเป็นจิตชนิดใดเล่า จิตตั้งมั่นด้วยความโกรธที่จิตเป็นสมาธิได้ยากนั้นหรือ จิตตั้งมั่นด้วยโลภะและโมหะอย่างนั้นหรือ นอกจากนั้นยังเป็นการไม่ถูกต้องด้วยเมื่อคิดว่าเป็น “สมาธิของเรา”
เราไม่ควรลืมว่าสมาธิหรือสภาพตั้งมั่น (เอกัคคตาเจตสิก) นั้นเกิดกับจิตทุกดวง เอกัคคตาเจตสิกทำกิจตั้งมั่นในอารมณ์เดียว ขณะเห็นมีการตั้งมั่นที่สิ่งที่ปรากฎทางตา ขณะที่ขัดเคืองใจก็มีการตั้งมั่นในสิ่งที่ขัดเคืองใจนั้น เมื่อกระทำทานก็มีการตั้งมั่นในเรื่องทานนั้น เมื่อรักษาศีลก็มีการตั้งมั่นในเรื่องศีล เมื่อเจริญสมถะก็มีการตั้งมั่นในอารมณ์ของสมถะ โดยไม่จำเป็นต้องคิดถึงสมาธิเลย ถ้าหากมุ่งจดจ้องให้เกิดสมาธิแล้ว ก็ย่อมจะมีอภิชฌาและโทมนัสเกิดขึ้น
เมื่อมีความเข้าใจถูกในจุดประสงค์ของสมถภาวนา และมีปัจจัยให้เกิดความสงบยิ่งขึ้นแล้ว สมาธิก็จะเพิ่มขึ้นโดยไม่ต้องพยายามจดจ้องเลย ถ้าผู้ใดสามารถเจริญความสงบขั้นสมถะได้ ก็ย่อมเป็นเพราะเหตุปัจจัยที่ได้เคยเจริญสมถะมาแล้วในอดีต
ความสงบมีหลายขั้น ในสมัยพุทธกาลมีคนมากมายที่มีเหตุปัจจัยให้บรรลุถึงฌาน (อัปปนาสมาธิ) ในขณะที่ฌานจิตเกิดนั้นจะไม่มีการรู้กามอารมณ์ และโลภะ โทสะ และโมหะก็จะระงับไปชั่วขณะ
เราจะเจริญสมถะในชีวิตประจำวันได้หรือไม่ ในเมื่อไม่ได้ปลีกตนออกไปอยู่ในที่วิเวกและไม่มีปัจจัยให้บรรลุฌาน ก็ยังมีความสงบได้บ้างในชีวิตประจำวัน วิสุทธิมรรค (บทที่ ๔-๑๒) ได้กล่าวถึงสมถกรรมฐาน ๔๐ ที่เป็นอารมณ์ของความสงบ
การพิจารณาซากศพ สำหรับบางคนอาจเป็นเหตุให้เกิดความไม่สบายใจ แต่ถ้าหากพิจารณา อย่างถูกต้อง ก็ย่อมจะเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดกุศลจิตที่สงบได้ บางคน อาจตระหนักความจริงว่า ร่างกายของคนเราก็ไม่ต่างอะไรกับซากศพ ที่ประกอบไปด้วยรูปซึ่งไม่รู้อะไรเลยและไม่ใช่ตัวตน รูปเกิดขึ้น แล้วก็ดับไปไม่คงทนถาวร ฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ปัญญาต่างหากที่เป็นปัจจัยให้เกิดความสงบ หาใช่การจดจ้องไม่
อานาปานสติ การระลึกรู้ลมหายใจเข้าออก เป็นอีกกรรมฐานหนึ่ง ในสมถกรรมฐาน ๔๐ วิสุทธิมรรค ได้อธิบายไว้ว่า เป็นกรรมฐานที่ยากยิ่ง เป็นกรรมฐานที่ยากที่สุดกรรมฐานหนึ่งทีเดียว จะต้องมีความเข้าใจถูกเรื่องลมหายใจเข้าออกหาไม่แล้วจิตจะสงบไม่ได้ สภาพธรรมที่เราเรียกว่า ลมหายใจนั้นเป็น “รูป” ซึ่งมีจิตเป็นสมุฎฐาน รูปที่ร่างกายมีกรรมบ้าง มีจิตบ้าง มีอุตุบ้าง หรือมีอาหารบ้าง เป็นสมุฎฐาน
เรายึดมั่นในชีวิต ร่างกายและทรัพย์สมบัติ แต่ถึงอย่างไรชีวิตของเราก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยเล็ก ๆ ที่เป็นลมหายใจนี้เท่านั้น ตราบใดที่เรายังหายใจเข้า หายใจออก เราก็ยังมีชีวิตอยู่ แต่เมื่อเราผ่อน ลมหายใจครั้งสุดท้ายแล้ว ก็เป็นอันจบสิ้นชีวิตลง เมื่อนั้นสมบัติพัสถานทั้งหลาย จะมีประโยชน์อะไร แก่เราเล่า สิ่งต่าง ๆ ที่เรายึดมั่นจะมีประโยชน์อันใดเล่า ขณะที่สติระลึกรู้ลมหายใจด้วยปัญญานั้น จิตก็จะสงบ ท่านที่มีเหตุปัจจัย ที่จะบรรลุฌาน ก็จะเจริญความสงบจนถึงขั้นฌานได้ แต่ถ้าเจริญ อานาปานสติไม่ถูกทางแล้ว ก็ไม่ใช่สมถภาวนาเลย ถ้าหากไม่รู้จริงว่าขณะใดจิตเป็นอกุศล และกุศลแล้ว เราก็จะทึกทักสิ่งที่ไม่ใช่สมถภาวนาว่าเป็นสมถภาวนา เราชอบลมหายใจของเรา และอยากจดจ้อง ลมหายใจ เพราะว่าทำให้เรารู้สึกสุขใจกระนั้นหรือ นั่นไม่ใช่ความสงบ แต่เป็นการยึดมั่นถือมั่น
ลมหายใจเป็นสภาพละเอียดอ่อน และไม่ใช่ว่าทุกคนจะระลึกรู้ได้ ยากที่จะรู้ว่าเมื่อใด สิ่งที่ปรากฏนั้น เป็นลมหายใจ และเมื่อใดไม่ใช่ลมหายใจ แต่เป็นสิ่งที่เราเรียกว่า อ๊อกซิเจน เราจะรู้ ลมหายใจได้ ตรงที่ลมหายใจไปกระทบปลายจมูก หรือริมฝีปากบน ส่วนเวลาที่เราตามดู การเคลื่อนไหว ขึ้นลงของท้องนั้น ไม่ใช่สติที่ระลึกรู้ลมหายใจ หากเราไม่มีปัจจัยที่จิตจะสงบด้วยกรรมฐานนี้ ก็ไม่ควร จะฝืนทำ เพราะว่าการเจริญสมถะนั้น เราควรเลือกกรรมฐานที่เป็นสัปปายะ คือกรรมฐาน ที่ทำให้เกิด กุศลจิตที่สงบ ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับกรรมฐานที่เหมาะกับแต่ละบุคคล ด้วยเหตุนี้ จึงมีสมถกรรมฐาน ถึง ๔๐ กรรมฐาน
พุทธานุสติ ธรรมานุสติ และสังฆานุสติ ก็เป็นสมถกรรมฐานด้วยเช่นกัน เราสักการะพระพุทธ พระธรรม และ พระสงฆ์ เพราะได้รับการอบรมมาเช่นนั้น โดยไม่เข้าใจพระคุณของพระผู้มีพระภาค และพระธรรม จิตอาจจะเป็นกุศลแต่ก็ไม่ใช่ขั้นภาวนา ความเข้าใจถูกในอารมณ์กรรมฐาน เป็นสิ่งที่ จำเป็นยิ่ง สำหรับการภาวนา ถ้าเข้าใจพระคุณของพระพุทธองค์ และพระสัทธรรมของพระองค์แล้ว ก็อาจจะเป็นปัจจัยให้จิตสงบ และใสสะอาดปราศจากโลภะ โทสะ และโมหะได้หลายขณะจิต ซึ่งเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน โดยไม่จำเป็นต้องไปยังที่วิเวก ข้อสำคัญคือความเข้าใจถูก และถ้าไม่มี ความเข้าใจถูกแล้ว สถานที่วิเวกก็จะไม่เป็นสัปปายะเลย ถ้าใครนั่งหน้าพระพุทธรูป และภาวนาคำว่า “พุทโธ พุทโธ" โดยปราศจากปัญญา กุศลจิตอาจเกิดขึ้นได้ แต่ก็ไม่ใช่กุศลขั้นภาวนา
พรหมวิหาร อันประกอบด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา (ความพลอยยินดี) และอุเบกขา (ความวางเฉย) เป็นสมถกรรมฐาน แต่กรรมฐานเหล่านี้ก็เจริญไม่ได้ ถ้าไม่มีปัญญา ที่รู้ลักษณะของ คุณธรรมเหล่านี้ บางคนอาจท่องกรณียเมตตสูตรในตอนเช้า แต่ถ้าเขาไม่ได้เจริญเมตตา ในขณะที่อยู่ กับคนอื่น ๆ แล้ว เขาจะรู้ลักษณะของเมตตาได้หรือ ถ้าผู้ใดไม่รู้ลักษณะของเมตตา เขาจะเจริญเมตตา เป็นอารมณ์ของสมถะได้อย่างไร
เมื่ออยู่ร่วมกับคนอื่นๆ ก็ควรเจริญเมตตา และควรจะศึกษาให้รู้ว่าขณะใดมีโลภะซึ่งเป็นอกุศล และขณะใดมีเมตตาซึ่งเป็นกุศล จะต้องรู้ความต่างกันของโลภะ กับ เมตตาอย่างชัดเจน
เราอาจข้องใจว่าจะเป็นไปได้หรือที่เราจะเจริญเมตตาต่อญาติ ๆ ของเรา เพราะว่าจะไม่มี ความผูกพันด้วยได้หรือ เราเจริญเมตตาต่อญาติได้ในเมื่อเราไม่ถือว่าเขาเป็นเครือญาติของเรา แต่ถือว่าเป็นเพื่อนมนุษย์ซึ่งเราใคร่ที่จะเมตตาและมีน้ำใจต่อเขา
สำหรับความกรุณานั้น เราแน่ใจไหมว่า ขณะใดมีความกรุณาจริง ๆ เราอาจหลงเข้าใจว่า ความไม่สบายใจ เป็นความกรุณาไปก็ได้ เช่น ขณะที่เห็นคนเตะสุนัขก็ไม่พอใจ ขณะที่เป็นความกรุณา จริง ๆ นั้น จะมีความขัดเคืองใจในขณะเดียวกันไม่ได้ กุศลจิตที่มีความกรุณานั้นปราศจาก โลภะ และโทสะ ขณะที่เป็นเมตตาจริง ๆ กรุณาจริง ๆ หรือพรหมวิหารอื่น ความสงบด้วยพรหมวิหารเหล่านี้ ก็จะเจริญยิ่งขึ้นได้ นั่นคือ ภาวนา ถ้าหากเราเข้าใจสมถภาวนาอย่างถูกต้อง ก็ย่อมจะเป็นทางเจริญกุศล ที่ปฏิบัติได้ในชีวิตประจำวัน ฉะนั้นการศึกษาสมถกรรมฐาน ซึ่งอธิบายไว้ใน “วิสุทธิมรรค” จึงมีประโยชน์ ควรแก่การศึกษา เราอาจจะคิดไปว่า จะปฏิบัติได้ก็ต่อเมื่ออยู่อย่างวิเวก ในพระไตรปิฎกกล่าวว่า พระภิกษุเป็นจำนวนมากในสมัยพุทธกาลอยู่ในป่า ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนจะต้องไปอยู่ป่า หรือในที่วิเวก ที่พระภิกษุเหล่านี้นอยู่ตามป่า ก็เพราะเป็นอุปนิสัยของท่าน เป็นความพึงพอใจของท่าน อย่างนั้น ท่านได้เจริญสมถะจนถึงขั้นฌานได้ ก็เพราะท่านมีเหตุปัจจัย ที่จะบรรลุความสงบขั้นสูงอย่างนั้น แต่ถึงแม้ว่าผู้ใดจะไม่ได้อยู่ป่าเป็นปกติ ก็ยังอาจมีเหตุปัจจัยให้เกิดความสงบได้หลาย ๆ ขณะ ในชีวิต ประจำวัน ทุกวันนี้คนที่จะบรรลุฌานมีไม่มาก และไม่มีใครรู้ว่าได้มีคนบรรลุได้หรือเปล่า แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเราจะไม่บรรลุฌาน การที่จิตสงบก็มีคุณค่ากว่าอกุศลจิตทั้งหลาย สมถะเป็นกุศลขั้นสูง
สมถกรรมฐานอีกอย่างหนึ่งก็คือ “กายคตาสติ” ได้แก่ “ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง…” ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไม่ปรากฎแก่เราในวันหนึ่ง ๆ หรอกหรือ แทนที่จะมีโลภะ หรือโทสะ เราก็จะสงบได้ชั่วขณะ ถ้าหากเข้าใจกายคตาสติถูกต้อง เรายึดมั่นร่างกาย และคิดว่าสวยงาม แต่ถ้าเราพิจารณาร่างกาย เป็นส่วน ๆ ไป เราก็อาจจะเห็นได้ว่าไม่มีความงามอะไรเลย เป็นแต่เพียงธาตุต่าง ๆ เท่านั้น เวลาเรา สระผม หรือตัดเล็บ ก็อาจสงบได้ชั่วขณะ เมื่อพิจารณา “ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย” เราสามารถเจริญ กายคตาสติได้ในชีวิตประจำวัน
สมัยก่อนการตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น สมถภาวนาเป็นกุศลขั้นสูงที่สุด ตามที่ได้ทราบแล้ว ว่าปัญญาเป็นสิ่งที่สำคัญในการเจริญสมถะ ปัญญาขั้นสมถะ รู้ความต่างกันของกุศลจิต และอกุศลจิต อย่างชัดเจน และรู้เหตุปัจจัยที่จิตจะสงบได้ สมถะเป็นหนทางอันหนึ่ง ที่จะทำให้ปราศจากโลภะ โทสะ และโมหะได้ชั่วขณะ แต่อย่างไรก็ตามปัญญาขั้นสมถะนั้น ไม่รู้สภาพที่แท้จริงของธรรมว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา (ไม่ใช่ตัวตน) และดับกิเลศไม่ได้ ฉะนั้นปัญญาขั้นสมถะ จึงต่างกับปัญญาที่เกิดจาก การเจริญวิปัสสนา ปัญญาที่เกิดจากการเจริญวิปัสสนาเท่านั้น ที่จะสามารถดับความเห็นผิด ในเรื่องตัวตน และกิเลสต่าง ๆ ได้เป็นสมุจเฉท

Butsaya
08-14-2009, 09:47 AM
ธรรมจาริกในศรีลังกา
โดย Nina Van Gorkom
แปลโดย พ.อ. ดร. ชินวุธ สุนทรสีมะ
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
http://www.dharma-gateway.com/image/rosebar-2.gif
บทที่ ๔

ปัญญาที่เกิดจากการเจริญวิปัสสนานั้นประจักษ์สภาพธรรมตามความเป็นจริง คือ อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ปัญญาขั้นประจักษ์แจ้งนี้จะต้องอบรมเจริญ จะเกิดโดยปราศจากเหตุปัจจัยไม่ได้เลย
เราได้สะสมอวิชชาและความเห็นผิดมาอย่างมากมายนับภพนับชาติไม่ถ้วน จากคำสอนของพระบรมศาสดาเราทราบว่าการเห็นไม่ใช่ตัวตน การได้ยินก็ไม่ใช่ตัวตน และธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัวตน อย่างไรก็ตามเมื่อการเห็นเกิดขึ้นนั้น เรารู้สภาพเห็นตามความเป็นจริงหรือเปล่า หรือว่าเรายังคิดว่าเป็นตัวเราที่เห็นหรือคิดว่าเป็น “การเห็นของเรา” หรือเปล่า เรายังคงคิดว่าเป็นการได้ยินของเรา การคิดของเราความรู้สึกของเรา ความโลภของเรา หรือกุศลของเราอยู่หรือไม่
พระผู้มีพระภาคตรัสเรื่องสภาพธรรมทั้งหมดซึ่งปรากฏทางทวาร ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ พระองค์ตรัสเรื่องการเห็นกับสิ่งที่ปรากฏทางตา เสียงกับการได้ยิน และสภาพธรรมอื่น ๆ ทั้งหมด
ในสังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค สัพพวรรคที่ ๓ ข้อ ๒๔ มีข้อความว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงสิ่งทั้งปวงแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟังข้อนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อะไรเป็นสิ่งทั้งปวง จักขุกับรูป จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส กายกับโผฏฐัพพะ ใจกับธรรมารมณ์ อันนี้เรากล่าวว่าสิ่งทั้งปวง
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่าเราบอกปฏิเสธสิ่งทั้งปวง จักบัญญัติสิ่งอื่นแทน วาจาของผู้นั้นคงเป็นของศักดิ์สิทธิ์ดุจเทพเจ้า แต่ครั้นถูกถามเข้าก็คงไม่ปริปากได้ และยิ่งจะอึดอัดลำบากใจ ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะข้อนั้นไม่ใช่วิสัยฯ
นอกเหนือจากสภาพธรรมซึ่งสามารถรู้ได้โดยทวารทั้งหกนี้แล้ว ก็ไม่มีสภาพธรรมอื่นใดอีกเลย
ในสูตรเดียวกันนี้มีข้อความต่อไปว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมแก่เธอทั้งหลายเพื่อรู้ยิ่งรอบรู้แล้วละสิ่งทั้งปวง เธอทั้งหลายจงฟังธรรมนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมสำหรับรู้ยิ่ง รอบรู้แล้วละเสียซึ่งสิ่งทั้งปวงเป็นไฉน
จักขุรูป จักขุวิญญาณ จักขุสัมผัส เป็นสิ่งที่ควรรู้ยิ่ง ควรรอบรู้แล้วละ แม้สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนาที่เกิดเพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัย ก็เป็นสิ่งที่ควรรู้ยิ่ง ควรรอบรู้แล้วละเสีย ฯลฯ
ใจ ธรรมารมณ์ มโนวิญญาณ มโนสัมผัส เป็นสิ่งที่ควรรู้ยิ่ง ควรรอบรู้แล้วละเสีย แม้สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัยก็เป็นสิ่งที่ควรรู้ยิ่ง ควรรอบรู้แล้วละเสีย นี้เป็นธรรมสำหรับรู้ยิ่งรอบรู้แล้วละสิ่งทั้งปวงเสีย
สภาพธรรมเหล่านี้เป็นธาตุต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปหาใช่สัตว์บุคคลที่ยั่งยืนไม่
การเห็นก็ไม่ใช่บุคคลไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นเพียงสภาพรู้ คือจิตขณะหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นกระทำกิจเห็นแล้วก็ดับไปในทันที เราไม่มีอำนาจเหนือการเห็น การเห็นไม่ได้เป็นของเรา การเห็นเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีเหตุปัจจัยสำหรับการเห็นนั้น เมื่อไม่มีจักขุปสาท การเห็นก็เกิดไม่ได้ จักขุปสาทเป็นปัจจัยหนึ่งของการเห็น เราเป็นนายเหนือจักขุปสาทของเราหรือเปล่า เราเป็นผู้สร้างจักขุปสาทของเราหรือเปล่า สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งของการเห็น เมื่อไม่มีสิ่งที่ปรากฏทางตา การเห็นก็เกิดไม่ได้ สภาพธรรมทุกอย่างในตัวเราและรอบ ๆ ตัวเรา เกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีปัจจัยอันเหมาะสมที่จะทำให้สภาพธรรมนั้น ๆ เกิดขึ้น หากปราศจากปัจจัยอันควรแล้วสภาพธรรมเหล่านี้ก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถึงแม้ว่าเราปรารถนาที่จะให้เกิดขึ้นก็ตาม เราบังคับบัญชาสภาพธรรมไม่ได้ เราคิดว่าตัวเราจะเป็นนายเหนือจิตใจและร่างการของเรากระนั้นหรือ เราสามารถจะป้องกันไม่ให้จิตใจและ ร่างกายเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาได้ละหรือ สิ่งที่เราไปยึดถือเป็นจิตใจก็เป็นเพียงนามธรรม ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยและดับไปโดยทันที สิ่งที่เราไปยึดถือว่าเป็นร่างกายก็เป็นเพียงรูปธรรมต่าง ๆ ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และดับไปเช่นกัน
สิ่งที่เราเรียกว่า ”ชีวิต” หรือ “โลก” นั้นก็เป็นแต่เพียงนามธรรม ซึ่งสามารถรู้อารมณ์ และรูปธรรมซึ่งไม่สามารถรู้อารมณ์ การเห็นเป็นนามธรรมเพราะรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ความรู้สึกก็เป็นนามธรรมเพราะเป็นสภาพรู้สึก สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นรูปธรรม เพราะไม่สามารถรู้อะไรได้
มีผู้ถามว่าเราจะเรียกสิ่งที่เป็น นาม ว่าเป็นตัวรู้ และเรียกรูปว่า เป็นสิ่งที่ถูกรู้ จะได้หรือไม่ นามก็สามารถเป็นสิ่งที่ถูกรู้ได้ด้วย นามธรรมเป็นสภาพธรรมที่รู้ได้ทั้งรูปและนาม เช่น ความโลภ หรือความรู้สึกเป็นนามธรรมซึ่งเป็นอารมณ์ของนามอื่น ฉะนั้นคำว่า ตัวรู้ หรือตัวที่ถูกรู้จึงไม่ทำให้เข้าใจนามธรรมและรูปธรรมได้เลย
ดูเหมือนกับว่า การจำแนกสภาพธรรมในตัวเราและนอกตัวเรา เป็นนามกับรูปนั้นจะยุ่งยากสับสน แต่แท้ที่จริงแล้วการจำแนกเช่นนี้ไม่ง่ายกว่าการติดอยู่ในชื่อและค่านิยมต่าง ๆ ที่เราบัญญัติขึ้นดอกหรือ เราอาจจะพยายามนำเอาปรัชญาหรือศัพท์ทางวิชาการต่างๆ ที่เราได้เคยเรียนรู้ไปปรับใช้กับพระพุทะศาสนา เราไม่ได้พยายามทำให้พระพุทธศาสนามีทัศนะเดียวกับทัศนะในชีวิตของเราและ “โลกของเรา” ดอกหรือ เหตุไฉนเราจึงไม่ลืมเรื่องที่เราเคยเรียนและเคยคิดเรื่องเหล่านี้ แล้วศึกษาสภาพธรรมที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้เล่า ด้วยวิธีนี้เท่านั้นที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าอะไรเป็นความจริงแท้แน่นอน
การเจริญวิปัสสนานั้นรู้แจ้งอะไร รู้เก้าอี้ด้วยวิปัสสนาได้ไหม รู้บุคคลด้วยวิปัสสนาได้ไหม รู้สภาพแข็งด้วยวิปัสสนาได้ไหม ปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญที่เราแสดงความคิดเห็นกันในการประชุม
สภาพแข็งรู้ได้เมื่อปรากฏที่กายปสาท ขณะนี้ไม่มีสภาพแข็งหรือ การรู้สภาพแข็งนั้นไม่จำเป็นต้องคิดถึงแข็งหรือเรียกชื่อแข็งเลย สภาพแข็งมีจริง เป็นรูปธรรมซึ่งกระทบสัมผัสรู้ได้
รู้เก้าอี้ทางกายได้ไหม เราคิดว่าเราสัมผัสเก้าอี้ได้ แต่ความจริงแล้วเรากระทบกับอะไรกันแน่ สภาพแข็งหรืออ่อนต่างหากที่กระทบได้จริง ๆ เก้าอี้นั้นกระทบไม่ได้ เป็นแต่เพียงความคิดที่เกิดขึ้นในใจของเราเท่านั้น “ความคิด” คิดได้สารพัด คิดเรื่องสภาพธรรมและคิดเรื่องสมมุติบัญญัติต่าง ๆ ซึ่งไม่ใช่สภาพธรรม ขณะที่คิดว่าเห็นคน ขณะนั้นไม่ใช่การเห็น แต่เป็นการคิดถึงบัญญัติ สิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นที่เห็นได้ทาง จักขุปสาท
ขณะที่สัมผัสสิ่งที่เรายึดถือว่าเป็นคนนั้น อะไรปรากฏ แข็ง อ่อน ร้อน หรือเย็น เท่านั้นที่รู้ได้ด้วยกายปสาท หาใช่คนไม่ พระบรมศาสดาได้ทรงสอนว่าไม่มีบุคคลหรือตัวตนเลย แต่ทว่าเราก็ได้สะสมอวิชชาและความเห็นผิด ที่ทำให้รู้สึกเหมือนว่าเราเห็นและสัมผัสคน
เราอาจจะรู้สึกว่ายากที่จะเข้าใจว่า โดยแท้จริงแล้วไม่มีคนเลย การไม่มีคนนั้นหาได้หมายความว่าไม่มีสภาพธรรม สิ่งที่เราไปยึดถือว่าเป็นคนนั้นก็คือ เป็นนามธรรมและรูปธรรมต่าง ๆ ซึ่งเกิดขึ้นและดับไป สภาพธรรมเหล่านั้นได้แก่ การเห็น การคิด หรือความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เป็นต้น ไม่ใช่คนและไม่ยั่งยืน
เวลาที่เราคิดว่าคนนี้โอบอ้อมอารีนั้น แท้ที่จริงแล้วก็เป็นเพียงจิตขณะหนึ่งที่โอบอ้อมอารีเท่านั้น ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วดับไป คุณสุจินต์ได้กล่าวว่า “เวลาให้ทำไมเราจึงชอบใส่ตัวคนลงไปในการให้”
เรารู้ได้จากการเจริญวิปัสสนาว่าอะไรจริง และอะไรไม่จริง บัญญัติต่าง ๆ ไม่ใช่อารมณ์ของสติปัฏฐานเพราะไม่ใช่สิ่งที่มีจริง นามและรูปต่าง ๆ ที่ปรากฏทีละอย่างต่างหากที่เป็นสิ่งที่จะต้องอบรมเจริญปัญญา
สติ ในการเจริญวิปัสสนานั้นเป็นอย่างไร นี่เป็นอีกหัวข้อหนึ่งของการอภิปรายของเรา สติที่กำลังระลึกรู้อารมณ์นั้นเหมือนกับจิตที่รู้อารมณ์หรือเปล่า เช่น ในขณะที่จิตรู้แข็งนั้นมีสติระลึกรู้ในความแข็งนั้นหรือเปล่า
สภาพระลึกรู้ หรือสติในภาษาบาลีนั้น เกิดขึ้นกับโสภณจิต (จิตที่ดีงาม) สติเป็นสภาพธรรมฝ่ายดี สติมีหลายระดับ สติที่เกิดกับทาน กุศลจิตที่กระทำทานนั้นเกิดไม่ได้ถ้าสติไม่เกิด สติเกิดกับศีลก็มี ขณะที่กุศลจิตเกิดขึ้นรักษาศีล ขณะนั้นสติก็ระลึกที่จะละเว้นทุจริตกรรม กุศลจิตที่เจริญสมถภาวนาก็มีสติเกิดร่วมด้วยโดย “ระลึกรู้” อารมณ์ของสมถภาวนา
กุศลจิตที่เจริญวิปัสสนาก็มีสติเกิดร่วมด้วย สติขั้นวิปัสสนาต่างกับสติขั้นสมถภาวนา สติขั้นวิปัสสนานั้นระลึกรู้นามหรือรูปที่ปรากฏขณะนี้ ทางทวารใดทวารหนึ่งใน ๖ ทวาร อารมณ์ที่สติขั้นวิปัสสนาระลึกรู้อาจเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา การเห็น เสียง การได้ยิน การคิด หรือสภาพธรรมอื่นๆ ที่ปรากฏในขณะนี้ เพื่อที่จะเข้าใจถึงกิจหน้าที่ของสติขั้นวิปัสสนาแจ่มแจ้งขึ้น เราควรเข้าใจอารมณ์ของสติเสียก่อน
สติระลึกรู้ลักษณะของจิตได้ยินได้ แล้วสติจะระลึกรู้ได้ยินเดี๋ยวนี้ไม่ได้หรือ จิตได้ยินไม่มีสติเกิดร่วมด้วย จิตได้ยินทำกิจได้ยินเท่านั้น คือ เพียงแต่รู้เสียงแล้วก็ดับไป แต่สติทำกิจระลึกรู้ เราไม่ต้องคอยนับว่าจิตเกิดขึ้นแล้วดับไปกี่ขณะหลังจากได้ยิน และก่อนที่สติจะระลึกรู้สภาพได้ยินนั้น
สติเกิดกับกุศลจิต แต่อกุศลจิตก็เป็นอารมณ์ของสติได้ เช่น จิตที่ไม่พอใจเป็นอารมณ์ของสติได้ เมื่อความไม่พอใจดับไปแล้วจิตที่มีสติก็เกิดขึ้น แต่ลักษณะของความไม่พอใจจะไม่ปรากฏกับสติเลยกระนั้นหรือ ความไม่พอใจต่างกับความพอใจหรือการเห็น สติรู้สภาพธรรมที่ต่างกันเหล่านี้ได้
การมีสติระลึกรู้สภาพธรรม ไม่เหมือนกับการรู้อารมณ์ของจิต เช่น ขณะที่สภาพแข็งกระทบกับกายปสาท จิตที่เพียงรู้ว่าแข็งก็เกิดขึ้นทำกิจรู้สภาพแข็ง จิตดวงนี้ไม่มีความพอใจหรือไม่พอใจต่ออารมณ์นั้นเลย และก็ไม่มีปัญญาด้วย เป็นเพียงสภาพรู้ความแข็งทางกายปสาทแล้วก็ดับไป เมื่อจิตดวงนี้ดับไปและจิตอื่นเกิดดับสืบต่อแล้วไม่นาน อกุศลจิตหรือกุศลจิตจึงเกิด ถ้าหากมีเหตุปัจจัยให้สติเกิดกับกุศลจิต ก็จะระลึกรู้และ “พิจารณาศึกษา” ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏนั้นเพื่อปัญญาจะได้เจริญขึ้น ปัญญาเกิดขึ้นทันทีไม่ได้ แต่จะเจริญขึ้นโดยการมีสติระลึกรู้ เราเคยศึกษาแต่เพียงจากการอ่านการฟังหรือการคิดเท่านั้น ซึ่งไม่เหมือนการศึกษาโดยมีสติระลึกรู้ เพราะเป็นการศึกษาโดยระลึกรู้นามและรูปต่าง ๆ ตามที่ปรากฏทีละอย่าง คุณสุจินต์ กล่าวบ่อย ๆ ว่า “ถ้าไม่พิจารณาศึกษา ปัญญาก็เจริญไม่ได้”
สติระลึกรู้สภาพธรรมได้ทีละอย่างเท่านั้น เราจะรู้อารมณ์มากกว่าหนึ่งอารมณ์ในขณะเดียวกันได้ไหม ดูเหมือนว่าเราเห็นและได้ยินพร้อมกัน แต่จิตที่เกิดขึ้นแต่ละดวงนั้นรู้อารมณ์ได้อารมณ์เดียวแล้วก็ดับไป แล้วจิตดวงต่อไปก็เกิดขึ้นสืบต่อ จิตเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาโดยจักขุทวารแล้วก็ดับไป จิตได้ยินก็ต่างกับจิตเห็นอย่างสิ้นเชิง จิตได้ยินเสียงทางโสตทวารแล้วก็ดับไป จิตเกิดขึ้นได้ขณะละหนึ่งดวงเท่านั้นคือ รู้อารมณ์ทีละขณะ ด้วยเหตุที่จิตเกิดขึ้นแล้วดับไปอย่างรวดเร็ว จึงทำให้รู้สึกเสมือนว่าการเห็นและการได้ยินนั้นคงอยู่ชั่วขณะ และเกิดขึ้นพร้อม ๆ กันได้ แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่
ขณะนี้ไม่มีการเห็นหรือการได้ยินเลยหรือ แต่การหลงลืมมีอยู่บ่อย ๆ ไม่ได้ศึกษาพิจารณาสภาพธรรมใด ๆ เลย สภาพแข็งกระทบกับกายปสาทครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ก็ไม่ได้ศึกษาพิจารณาแข็งนั้นว่าเป็นเพียงแข็งเท่านั้น เมื่อสัมผัสสิ่งที่แข็งเราก็ไม่สงสัยเลยว่ามันแข็ง แม้แต่เด็กเล็กก็รู้ แต่ศึกษาพิจารณาลักษณะที่แข็งนั้นว่าเป็นเพียงสภาพแข็งเท่านั้นหรือเปล่า โดยไม่สับสนกับความคิดถึงนิ้วหรือเก้าอี้ว่าเป็นสิ่งที่แข็ง ขณะคิดว่ากระทบกับ “สิ่งหนึ่ง” เช่น นิ้วหรือเก้าอี้ ก็แสดงว่าไม่มีสติระลึกรู้สภาพธรรมเลย เราอาจกระทบกับสภาพแข็งหลายครั้งด้วย โลภะ โทสะ และโมหะ บางครั้งสติอาจจะเกิดขึ้น และในขณะนั้นก็ศึกษาพิจารณาลักษณะของสภาพแข็งเพื่อปัญญาจะได้เจริญขึ้น จากตัวอย่างนี้เราจะเห็นได้ว่า สติหรือการระลึกรู้ในขั้นวิปัสสนานั้น ไม่เหมือนกับสติที่เข้าใจกันทั่วไปว่าเป็น“การรู้ตัว “ ธรรมดา ๆ

Butsaya
08-14-2009, 09:50 AM
ธรรมจาริกในศรีลังกา
โดย Nina Van Gorkom
แปลโดย พ.อ. ดร. ชินวุธ สุนทรสีมะ
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
http://www.dharma-gateway.com/image/rosebar-2.gif
บทที่ ๕

สภาพธรรมใด ๆ ซึ่งปรากฏในขณะนี้เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานได้ ขณะนี้ไม่มีการเห็นหรือ การเห็นก็เป็นอารมณ์ของสติได้ ขณะนี้ไม่มีการได้ยินหรือ การได้ยินก็เป็นอารมณ์ของสติได้
เราอภิปรายกันเรื่องสภาพเห็น สิ่งที่ปรากฏทางตา และการคิดเรื่องสิ่งที่เห็น เพราะเราทุกคนมักจะสับสนในสภาพธรรมต่าง ๆ การเจริญวิปัสสนานั้นจะต้องเจริญปัญญาที่ประจักษ์สภาพธรรมต่าง ๆ อย่างถูกต้อง
การเห็นเป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา สิ่งที่ปรากฏทางตาก็คือ สิ่งที่ถูกเห็น ซึ่งเห็นได้ทางจักขุปสาท จะเรียกว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาหรือสีก็ได้ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ทางตานั้นเอง สิ่งที่ปรากฏทางตานั้นไม่ใช่เก้าอี้ สิ่งของ สัตว์ หรือบุคคล สิ่งเหล่านี้จะกระทบจักขุปสาทได้อย่างไร ขณะนี้เมื่อลืมตา ก็มีสิ่งที่ปรากฏทางตา เมื่อหลับตาลงและคิดถึงสิ่งอื่นหรือคนอื่น ก็จะไม่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เรามักลืมที่จะระลึกรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะที่ปรากฏ เรารู้จักสิ่งที่ปรากฏทางตาแล้วหรือ หรือว่าเรายังเชื่ออยู่ว่าเราเห็นเก้าอี้หรือบุคคล
เราอาจเชื่อว่าเราเห็นรูปร่างสัณฐานทางตา แต่ไม่ใช่อย่างนั้นเลย ทั้งนี้เพราะความทรงจำในอดีตทำให้เราเกิดความคิดว่าเป็น “บุคคล” หรือ “เก้าอี้” จิตชนิดต่าง ๆ เกิดสืบต่อกันอย่างรวดเร็วมาก ดูเสมือนว่าเห็นอยู่ช่วงระยะหนึ่ง แต่สภาพเห็นนั้นก็ดับไปแล้วทันที
เมื่อเราจำสีต่าง ๆ ได้เช่นสีแดงและน้ำเงิน ก็เป็นเรื่องของความทรงจำอีกนั่นแหละ จิตเห็นรู้เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ซึ่งไม่ได้หมายความว่าสี่งที่ปรากฏทางตานั้นไม่มีสี ในขณะที่สติระลึกรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา สิ่งนั้นก็หาได้เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นไม่ เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตานั่นเอง และ “ปรากฏขณะนี้เอง” คุณสุจินต์คอยเตือนเราแล้วเตือนเราอีก
ดูยากนักยากหนาที่จะรู้ความแตกต่างระหว่างการเห็นกับการคิด เราอาจจะโน้มเอียงไปในการคิดเรื่องการเห็น และเฝ้าสงสัยว่าการเห็นเหมือนกับอะไรหนอ หากเรามัวแต่สงสัยและครุ่นคิดเรื่องการเห็น แทนที่สติจะระลึกรู้สภาพการเห็นขณะนี้ ก็จะไม่มีวันประจักษ์การเห็นตามความเป็นจริง ปัญญา (ความรอบรู้) ซึ่งเกิดจากการเจริญสติปัฏฐานจะประจักษ์แจ้งว่า การเห็นเป็นการรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ซึ่งต่างจากการสำเหนียกรู้รูปร่างสัณฐาน
หลายคนรู้สึกว่าการอภิปรายเรื่องการเห็นกับสิ่งที่ปรากฏทางตา การได้ยินกับเสียง เป็นวิชาการมากเกินไป ทำไมเราจะต้องรู้สภาพธรรมเหล่านี้ด้วย
การเห็นและการได้ยินไม่ใช่ส่วนหนึ่งของชีวิตจริงของเราดอกหรือ เราเห็นและเราได้ยินสิ่งที่น่ารื่นรมย์และสิ่งที่ไม่น่ารื่นรมย์ หลังจากที่การเห็นหรือการได้ยินดับไปไม่นาน โลภะ โทสะ และโมหะ ก็มักจะเกิดขึ้น เรายังไม่รู้อะไรเลยในเรื่องการเห็น การได้ยินและสภาพธรรมอื่น ๆ ในชีวิตของเรา ถ้าไม่มีสติระลึกรู้สภาพเห็นและสภาพได้ยินแล้ว เราก็ยึดมั่นในความคิดว่า “เราเห็น” “เราได้ยิน” ซึ่งเป็นความเห็นผิดที่ยึดถือตัวตน เราไม่ควรจะศึกษาให้รู้จักการเห็นและการได้ยินให้มากยิ่งขึ้นดอกหรือ การเห็นกับสิ่งที่ปรากฏทางตา การได้ยินกับเสียงและสภาพธรรมอื่นทั้งหลาย ซึ่งปรากฏนั้นเราควรจะรู้สภาพตามความเป็นจริงว่าไม่ใช่ตัวตน ถ้าหากไม่มีสติระลึกรู้ เราก็จะยังคงมีชีวิตต่อไปโดยเห็นผิด อันจะนำความยุ่งยากมาสู่เราอย่างมากมาย เราจะยังยึดมั่นในความคิดว่าเป็นเรา เป็น “บุคคล” นี้หรือ “บุคคล” นั้นอยู่ต่อไป
เมื่อเราได้ยินคำที่ไม่น่าฟัง ลักษณะของเสียงปรากฏ เราไม่ได้ยินคำ เราจำความหมายของคำต่าง ๆ ซึ่งไม่ใช่ได้ยินเสียง เราคิดถึงคำพูดด้วยความไม่พอใจและความเดือดร้อนใจก็เกิดขึ้นกับเราเอง หาใช่กับเสียงหรือกับบุคคลอื่นไม่ ไม่มีตัวตนซึ่งได้ยินเสียง แต่สภาพได้ยินนั่นเองที่รู้หรือได้ยินเสียง สติระลึกรู้เกิดในบางครั้งได้หรือไม่ ในขณะที่สติเกิดนั้น ก็จะศึกษาพิจารณารู้ลักษณ์ของสภาพธรรมต่าง ๆ
ในมัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ จุฬหัตถิปโทปมสูตร ข้อ ๓๓๓ มีเรื่องภิกษุที่มีสติระลึกรู้ดังต่อไปนี้
….......ภิกษุนั้นเห็นรูปด้วยจักขุแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถือ อนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามกคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษาจักขุนทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ภิกษุฟังเสียงด้วยโสต…ดมกลิ่นด้วยฆานะ..ลิ้มรสด้วยชิวหา..ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ..รู้แจ้งธรรมารมณ์ ด้วยใจแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามกคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำ นั้นชื่อว่ารักษามนินทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในมนินทรีย์
ภิกษุประกอบด้วยอินทรีย์สังวรอันเป็นอริยะเช่นนี้ ย่อมได้เสวยสุขอันไม่ระคนด้วยกิเลสภายใน
เมื่อเราได้ยินคำว่า “สำรวม” เราอาจจะนึกว่าตัวตนเป็นผู้สำรวม แต่ความเป็นจริงนั้นเป็นสติไม่ใช่ตัวตนที่ ”สำรวม” ทวารทั้ง ๖ นั้น
เราควรเตรียมตัวเจริญวิปัสสนาหรือไม่ ควรนั่งในที่สงัดเพื่อให้เกิดความสงบเสียก่อน ก่อนที่จะพิจารณานามและรูปที่ปรากฏหรือไม่
เรารู้แล้วว่าสมถะนั้นมีความสงบ และรู้ว่าปัญญาที่เข้าใจ สมถกรรมฐานอย่างถูกต้อง เป็นปัจจัยให้เกิดความสงบ
วิปัสสนาก็ต้องมีความสงบด้วย และมีปัญญาเป็นปัจจัยให้เกิดขึ้น ปัญญาขั้นวิปัสสนาต่างกับปัญญาขั้นสมถะ การเจริญปัญญานั้น พิจารณาให้รู้นามและรูปตามสภาพที่เป็นจริงไม่ใช่ตัวตน ขณะที่มีปัญญาเห็นสภาพธรรมตามความจริงที่ปรากฏก็มีความสงบในขณะนั้น ไม่จำเป็นที่จะจดจ้องมุ่งให้เกิดความสงบ
ในสมถะ ความสงบเป็นสิ่งที่สำคัญ และในวิปัสสนา ปัญญาเป็นสิ่งสำคัญ ความพยายามที่จะทำให้เกิดความสงบเพื่อเตรียมเจริญวิปัสสนานั้น ไม่ใข่ปัจจัยที่ทำให้สติเกิด ความเข้าใจในสภาพที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม และความเข้าใจถูกต้องในการเจริญวิปัสสนาเป็นปัจจัยอันสำคัญยิ่ง
การเข้าใจนามและรูปต่างกับการระลึกรู้ตรงลักษณะต่างของนามและรูป ซึ่งควรจะรู้ความต่างกันด้วย ข้อสำคัญก็คือจะต้องรู้ว่าเมื่อใดมีสติ และเมื่อใดหลงลืมสติ เมื่อเข้าใจสติถูกต้องขึ้นแล้วสติก็จะเจริญขึ้นได้
มีสภาพธรรมปรากฏหลายอย่าง เช่น การเห็น การได้ยิน ความโลภ ความแข็ง และความร้อน แต่ส่วนมากก็หลงลืมสติไม่พิจารณาสภาพธรรมเหล่านั้น แต่ในบางครั้งสติอาจจะเกิดขึ้นเพียงชั่วขณะ และระลึกรู้สภาพธรรมทีละอย่าง
เราอาจจะพยายามอธิบายโดยนัยต่าง ๆ ว่า สติคืออะไร แต่ก็จะรู้จักสติได้ด้วยตนเองเมื่อสติเกิดขึ้นจริง ๆ เท่านั้น
สติไม่ใช่ตัวตน เราบังคับไม่ได้ สติไม่เกิดขึ้นตามเวลาที่เราต้องการและไม่นานตามที่เราต้องการ ไม่ว่าเราจะต้องการให้มีสติเกิดขึ้นมากเพียงใด สติก็อาจจะเกิดหรือไม่เกิดก็ได้ สติจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้น ความเข้าใจนามและรูปและการเจริญวิปัสสนา เป็นปัจจัยให้เกิดสติดังที่รู้กันแล้ว เราควรรู้ด้วยว่าปัญญาที่เข้าใจนั้นก็เป็นอนัตตา จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีเหตุปัจจัย และจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อได้ฟังพระธรรมและจดจำพระธรรมที่ได้ฟังแล้ว ในขณะที่เราพิจารณาธรรมและไตร่ตรองทบทวนเป็นเวลานาน ๆ และเมื่อมีสัญญาความทรงจำอันมั่นคงในธรรมที่ได้ฟังแล้ว สติก็จะระลึกรู้สภาพนามและรูปที่ปรากฏในขณะนี้
ในอังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต อิฎฐสูตร ข้อ๗๓ เรื่องธรรม ๑๐ ประการ ที่นำมาซึ่งธรรมอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ๑๐ ประการ กล่าวคือ
....ความไม่เกียจคร้าน ความขยันหมั่นเพียรเป็นอาหารของโภคสมบัติ ๑ การประดับ การตกแต่งร่างกายเป็นอาหารของวรรณะ ๑ การกระทำสิ่งเป็นที่สบายเป็นอาหารของความไม่มีโรค ๑ ความเป็นผู้มีมิตรดีเป็นอาหารของศีลทั้งหลาย ๑ การสำรวมอินทรีย์เป็นอาหารของพรหมจรรย์ ๑ การไม่แกล้งกล่าวให้พลาดจากความจริงเป็นอาหารของมิตรทั้งหลาย ๑ การฟังด้วยดี การสอบถามเป็นอาหารของปัญญา ๑ การประกอบความเพียร การพิจารณาเป็นอาหารของธรรมทั้งหลาย ๑ การปฏิบัติชอบเป็นอาหารของสัตว์ ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๑๐ ประการนี้ เป็นอาหารของธรรม ๑๐ ประการนี้แล ซึ่งเป็นธรรมอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ หาได้ยากในโลก ๑
เรารู้ว่าการฟังและสอบถามเป็นสิ่งสำคัญในการเจริญปัญญา ในสูตรเดียวกันนี้ได้มีข้อความว่า “การไม่ฟังด้วยดี ไม่สอบถามเป็นอันตรายแก่ปัญญา”
ท่านพระธรรมธโรได้ให้ข้อสังเกตว่า เราไม่ควรมีความคิดว่ามีตัวมีตนที่จะปฏิบัติธรรม และจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้อย่างรวดเร็ว บางครั้งเราไม่ได้นึกคิดไปบ้างหรือว่าเราสามารถโน้มน้อมให้เกิดสติและปัญญาได้
ถึงแม้ว่าสติเกิดเราก็จะให้มีสติอยู่ต่อไปอีกไม่ได้ สติเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ใครจะรู้ขณะต่อไป สภาพธรรมเกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป เราไม่รู้เลยว่าอะไรจะเกิดขึ้นในขณะต่อไป แล้วเราจะไปเตรียมการให้เกิดสติขึ้นได้อย่างไรเล่า
สติจะเกิดขึ้นเมื่อไรและจะระลึกรู้อะไรนั้น เป็นเรื่องที่คาดคิดไม่ได้ ในขณะที่เราจำใครได้นั้น มีจิตนานาชนิดเกิดขึ้นและดับไป การเห็นซึ่งเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นสภาพธรรมซึ่งต่างกับการจำใครได้ เวลาเราจำใครได้นั้นเราคิดถึงบัญญัติ การเห็นต้องเกิดขึ้นเสียก่อนแล้วจึงจะจำได้ว่าเป็นใคร ด้วยเหตุนี้เราจึงอาจสงสัยว่าสติไม่ควรระลึกรู้การเห็นก่อน แล้วจึงจะระลึกรู้การคิดดอกหรือ ไม่มีกฎเกณฑ์ไม่มีลำดับก่อนหลังอะไรเลย อาจจะไม่มีการระลึกรู้การเห็น แต่พอจำได้ว่าเป็นใคร สติอาจจะเกิดขึ้นและระลึกรู้การจดจำนั้น แล้วการเห็นก็เกิดขึ้นอีก และสติก็ระลึกรู้การเห็นหรือระลึกรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา
ขณะที่มีการเห็นนั้นก็มีสิ่งที่ปรากฏทางตาด้วย มีสภาพธรรมหลายอย่างในขณะเดียวกัน แต่จิตรู้อารมณ์ได้ทีละอย่าง สติก็ระลึกรู้อารมณ์ได้ทีละอย่างเท่านั้น เราอาจจะสงสัยว่าเราสามารถแยกการเห็นออกจากสิ่งที่ปรากฏทางตาได้อย่างไร
ไม่มีตัวตนที่จะแยกการเห็นออกจากสิ่งที่ปรากฏทางตาได้ ปัญญาสามารถรู้ลักษณะที่ต่างกันของสภาพธรรมเหล่านี้ บางขณะสติก็ระลึกรู้การเห็น บางขณะก็ระลึกรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา พิจารณาลักษณะต่าง ๆ ได้ทีละลักษณะ ถ้าใครคิดว่าสามารถรู้การเห็นกับสิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะเดียวกันได้แล้ว ก็แสดงว่าไม่มีสติการระลึกรู้เกิดขึ้น เวลาที่รวมสภาพธรรมหลาย ๆ อย่างเข้าเป็นอันเดียวกัน ขณะนั้นก็คิดถึงบัญญัติ
หลังจากที่ความรู้ชัดในรูปธรรมและนามธรรมเจริญยิ่งขึ้นแล้ว ปัญญาจึงจะสามารถประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมเหล่านั้นได้ บางคนอาจสงสัยว่าทำไม่หนอการเกิดขึ้นและดับไปนั้น จึงไม่สามารถจะรู้ได้ก่อน ที่จะประจักษ์ความแยกขาดจากกันของการเห็นและสิ่งที่ ปรากฏทางตา หรือเสียงและการได้ยินในวันหนึ่ง ๆ นั้น ได้มีการเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมมากหลายต่าง ๆ กัน เดี๋ยวก็มีการเห็น เดี๋ยวก็มีการได้ยิน และแล้วก็ยังมีสภาพธรรมอื่น ๆ อีกมากมาย นี่ไม่ใช่ปรากฏการณ์ของอนิจจังดอกหรือ
นี่เป็นเพียงการคิดเรื่องอนิจจังเท่านั้น ไม่ใช่การประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามและรูปจริง ๆ
ถ้ายังคงถือว่าการคิดเห็นกับสิ่งที่ปรากฏทางตานั้นรวมเป็น “อันเดียวกัน” คุณสุจินต์ถามว่า “แล้วอะไรเล่าที่เกิดขึ้นและดับไป” อะไรกันแน่ที่เกิดขึ้นและดับไป การเห็นหรือสิ่งที่ปรากฏทางตา อารมณ์จะปรากฏได้ทีละอารมณ์เท่านั้น
ขั้นแรกของวิปัสสนาญาณคือ การประจักษ์ความต่างกันระหว่างนามกับรูป การเกิดขึ้นและดับไปของนามและรูปนั้น จะประจักษ์ได้ในขั้นต่อ ๆ ไป จะต้องศึกษาลักษณะที่ต่างกันของสภาพธรรมเหล่านี้เสียก่อน คุณสุจินต์ได้พูดว่า “ถ้าคุณไม่ศึกษาพิจารณาการเห็นและสิ่งที่ปรากฏทางตาเดี๋ยวนี้ ก็อย่าได้คิดเลยว่าคุณจะเป็นพระโสดาบันได้”

Butsaya
08-14-2009, 09:56 AM
ธรรมจาริกในศรีลังกา
โดย Nina Van Gorkom
แปลโดย พ.อ. ดร. ชินวุธ สุนทรสีมะ
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
http://www.dharma-gateway.com/image/rosebar-2.gif

บทที่ ๖


ที่กรุงแคนดี ท่านพระปิยะทัสสีเถระ ได้เปิดการอภิปรายด้วยความเมตตา และความอดทน อย่างยอดเยี่ยม ท่านเข้าใจดีว่าศัพท์ใดที่ใช้กันในการอภิปรายนั้นอาจยากไป ฉะนั้นท่านจึงขอให้เรา นิยามคำให้ชัดเจนยิ่งขึ้น “ปัญญา” เป็นคำหนึ่งซึ่งท่านได้ขอให้พวกเราอธิบาย
ปัญญาคืออะไร ปัญญาในภาษาบาลีมีหลายขั้น ในขณะที่เรามีความเอื้ออารี กุศลจิตอาจเกิดขึ้น พร้อมกับปัญญา หรืออาจไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วยก็ได้ เราอาจจะให้เพราะเป็นอุปนิสัยของเราเอง ที่ชอบให้ โดยไม่ได้เข้าอกเข้าใจเลยว่า กุศลเป็นอย่างไร หรือว่ากรรมและวิบาก (การกระทำ และผลของ การกระทำ) เป็นอย่างไร หรือเราอาจให้โดยมีปัญญารู้เหตุและผลที่จะเกิดขึ้นได้ กุศลจิตที่เป็นไปในศีล ก็โดยนัยเดียวกัน คือ อาจจะมีหรือไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วยก็ได้
ตามที่ทราบแล้วว่าจิตที่เจริญสมถะจะต้องมีปัญญาเกิดร่วมด้วยเสมอ จะต้องเข้าใจอารมณ์ ของสมถะ และอารมณ์นั้น จะเป็นเหตุปัจจัยที่จะทำให้จิตสงบได้ จะทำให้จิตละวางจากโลภะ โทสะ และโมหะลงชั่วขณะ ปัญญาขั้นสมถะ รู้ความต่างกันระหว่างกุศลจิต กับอกุศลจิต ในขณะที่จิตเหล่านี้ เกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ปัญญาขั้นสมถะนั้น ไม่รู้สภาพของกุศลจิต อกุศลจิต และธรรมต่างๆ ตามความเป็นจริง ว่าเป็นธาตุต่าง ๆ ที่ไม่ใช่ตัวตน
ส่วนปัญญาขั้นเจริญวิปัสสนานั้นเป็นปัญญาขั้นสูงที่สุด เป็นปัญญาที่เห็นว่า นามและรูป ไม่ใช่ ตัวตน ปัญญาขั้นนี้ จะสามารถดับมิจฉาทิฏฐิ และกิเลสทั้งหลายได้ ปัญญาขั้นวิปัสสนานั้น เห็นแจ้ง สภาพธรรม เช่น เห็นแจ้งว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาทั้งหลายนั้น เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ไม่มี “สิ่งของ” ไม่มี “บุคคล” ในสิ่งที่ปรากฏทางตาเลยทั้งสิ้น จึงรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่ตัวตน
ขณะที่เรายึดมั่นสภาพธรรมทั้งหลายเป็นตัวเป็นตนนั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิ มิจฉาทิฏฐิในที่นี้คืออะไร เราจะยึดสิ่งที่ปรากฏภายนอกตัวเรา ว่าเป็นตัวตนได้ หรือ คำว่า “ตัวตน” ซึ่งในภาษาบาลีเรียกว่า “อัตตา” นั้น มีความหมายต่างกับคำว่า “ตัวตน” ตามที่ใช้กันอยู่ในภาษาธรรมดาทั่วไป เรายึดถือสภาพธรรม เช่น การเห็น การได้ยิน และสภาพธรรม “ภายนอก” เช่น สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็น “ตัวตน” ในเมื่อเราไม่เห็นสภาพธรรมเหล่านั้นตามความเป็นจริง การยึดถือสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็น “ตัวตน” หมายความว่า ยึดถือว่าเป็น “บุคคล” หรือ “สิ่งของ” เราเชื่อว่าได้เห็นคนหรือสิ่งของ แทนที่จะประจักษ์แจ้งสิ่งที่ปรากฏทางตาว่า เป็นเพียงธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปทันที ตราบใดที่ยังไม่ได้ดับความเห็นผิด ก็ยังยึดถือสภาพธรรมทั้งหลายเป็น “ตัวตน” อยู่ตราบนั้น
เราอาจจะมีปัญญา ที่จะเข้าใจความจริงเหล่านี้ได้ แต่ก็ยังเป็นเรื่องยากจริง ๆ ที่จะเห็นสิ่งที่ปรากฏ แก่ตาทั้งหลาย ในขณะที่เห็นว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น จะต้องมีสติระลึกรู้ สิ่งที่ปรากฏ ทางตา ระลึกรู้สภาพเห็นและสภาพธรรมอื่น ๆ ที่ปรากฏบ่อย ๆ เนือง ๆ ต่อๆ ไปจนนับภพชาติไม่ถ้วน เราอาจจะเตือนตัวเองว่า สิ่งที่มองเห็นนั้นไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่สิ่งของ นี่คือปัญญาขั้นเข้าใจ และเราควรจะรู้ ด้วยว่า ไม่ใช่สติที่ระลึกรู้ ต่อเมื่อ “ศึกษา” สภาพธรรมที่ปรากฏ เมื่อนั้นปัญญาจึงจะเริ่มเจริญขึ้น คุณสุจินต์คอยเตือนเราบ่อย ๆ ว่า “ตอนนี้ไม่มีการเห็นดอกหรือ พิจารณาเสียไม่งั้นปัญญาก็เจริญไม่ได้”
ดิฉันรู้สึกว่า คำว่าศึกษามีประโยชน์มาก คำว่าศึกษาแปลจากคำบาลีว่า “สิกขา” คำว่าสิกขาอาจแปลว่า อบรมก็ได้ คำว่าศึกษาเตือนให้ดิฉันรู้ว่าการมีสติแต่ไม่ได้รู้อะไรเลย ไม่รู้สภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนั้น ไม่ทำให้ปัญญาเจริญขึ้นได้เลย การศึกษาเตือนใจให้ดิฉันรู้ว่าปัญญาเพิ่งจะเริ่มเจริญขึ้นเท่านั้น และจะต้องศึกษาต่อไปอีกอย่างนับครั้งไม่ถ้วน ก่อนที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ ปัญญามีหลายขั้นและจะค่อย ๆ เจริญขึ้นเป็นลำดับ
เราไม่ควรจะท้อใจว่าสติและปัญญาเกิดน้อยเหลือเกิน ความจริงที่เราเกิดสนใจในวันนี้และฟังพระธรรมวันนี้ แสดงว่าเราได้มีเหตุปัจจัยที่จะเจริญปัญญาต่อไปยิ่งขึ้นอีก เราคงจะได้เคยฟังพระธรรมมาแล้วในชาติก่อน ๆ เป็นแน่
คุณสุจินต์บอกว่า “คนที่ได้ฟังพระธรรมเมื่อครั้งพุทธกาล และยังไม่ได้บรรลุธรรมนั้นเดี๋ยวนี้อยู่ที่ไหน” บุคคลเหล่านั้นได้มีเหตุปัจจัยที่จะเจริญปัญญา แต่ปัญญานั้นก็ต้องอบรมให้เจริญขึ้น เพราะยังไม่ได้เจริญถึงขั้นที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เราอาจเป็นคนหนึ่งในบรรดาท่านที่เคยฟังพระธรรมจากพระผู้มีพระภาคก็ได้ และบัดนี้ปัญญายังจะต้องอบรมให้เจริญยิ่งขึ้นต่อไป
ในขณะที่พวกเรากำลังเดินเล่นตามชายหาด เพื่อนของเราคนหนึ่งได้ปรารภว่า เขาวิตกว่าเขาจะไม่ได้เป็นพระโสดาบันในชาตินี้ ผู้ที่ยังไม่บรรลุอริยสัจจธรรมเสี่ยงต่อการเกิดในอบายภูมิ ชาติหน้าอาจจะเกิดในภาพภูมิที่ไม่สามารถเจริญสติปัฏฐานได้เลยก็ได้ ดิฉันเองก็เคยครุ่นคิดปัญหานี้เหมือนกัน
คุณสุจินต์ได้ตอบว่า “วันนี้เราอยู่ในภูมิมนุษย์และเรากำลังสนทนาธรรมกัน เราเคยเกิดเป็นสัตว์มาแล้ว แต่ตอนนี้เราก็ลืมไปหมดแล้ว สติที่ได้สะสมไว้วันนี้ไม่สูญหายไปไหน แต่จะเป็นปัจจัยให้เจริญต่อไปในภายหน้า แล้วก็อาจจะเกิดในอบายภูมิอีก จะต้องวิตกกังวลไปทำไมกัน” คุณสุจินต์ได้ยกตัวอย่าง ม้ากันฐกะของพระผู้มีพระภาคซึ่งได้พาพระองค์ออกจากพระราชวัง เมื่อทรงสละชีวิตทางโลก ในชาตินั้นม้ากันฐกะไม่สามารถเจริญปัญญาได้เพราะเป็นสัตว์ดิรัจฉาน แต่ชาติต่อไปก็ได้เกิดในเทวโลก ซึ่งเมื่อได้เจริญปัญญาแล้วก็รู้แจ้งอริยสัจจธรรม เราบังคับบัญชาสภาพธรรมที่เกิดขึ้นไม่ได้เลย แต่เมื่อมีเหตุปัจจัยที่ปัญญาจะเจริญ ปัญญาก็จะเจริญไปตามทางของปัญญาเอง
มีคนถามว่า สภาพธรรมคืออะไร สภาพธรรมไม่ใช่บัญญัติและไม่ใช่สิ่งที่รู้ไม่ได้ สภาพธรรมเป็นสิ่งที่สามารถระลึกรู้ได้ในขณะนี้เอง ขณะนี้ไม่มีสภาพเห็นหรือ ขณะหลับตาไม่เห็นอะไร แต่พอลืมตาไม่มีสภาพเห็นหรือ ขณะที่สติระลึกรู้ ก็ศึกษาเห็นในขณะนั้นได้ การเห็นจึงเป็นสภาพธรรมที่มีจริง
สิ่งที่เห็นได้ด้วยตาเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เป็นสิ่งที่รู้ได้เมื่อปรากฏขณะนี้ การได้ยินก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เสียงก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ความแข็ง ความอ่อน ความร้อนและความเย็น ต่างก็เป็นสภาพธรรมทั้งสิ้น เป็นสภาพที่รู้ได้ทางกายเมื่อปรากฏ ขณะนี้ไม่มีสิ่งใดมากระทบกายบ้างเลยหรือ ถ้าไม่หลงลืมสติ สติก็ระลึกและศึกษาสภาพธรรมนั้น นี่เป็นหนทางที่จะเรียนรู้สภาพธรรมเหล่านั้นตามความเป็นจริง คือ เป็นธาตุที่ไม่ใช่ตัวตน
บุคคลไม่ใช่สภาพธรรม เป็นเพียงบัญญัติหรือความคิดที่เกิดขึ้นในใจของเรา เราผูกพันกับคนและยึดถือว่าเป็นตัวตนที่ยั่งยืน เรารู้ดีว่าเราทุกคนจะต้องตาย เราควรระลึกอยู่เสมอว่าสิ่งที่เรายึดถือเป็นตัวตนเป็นบุคคลนั้น เป็นเพียงนามธรรมและรูปธรรมซึ่งเกิดขึ้นและดับไปทันที ฉะนั้นโดยแท้จริงแล้วมีการเกิดและการตายทุกขณะ
สิ่งที่เราเรียกว่าชีวิตนั้น ในความเป็นจริงแล้วก็เป็นเพียงสภาพรู้อารมณ์ชั่วขณะเล็กน้อย ซึ่งเมื่อดับลงแล้วขณะต่อไปก็เกิด ขณะที่จิตเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ชีวิตคือการเห็น ในขณะอื่นชีวิตก็เป็นการได้ยิน หรือการคิดนึก ขณะต่าง ๆ เหล่านี้ดับลงไปทันทีที่เกิดขึ้น ฉะนั้นเราจึงกล่าวได้ว่าชีวิตดำรงอยู่เพียงชั่วขณะสั้น ๆ เท่านั้น และชั่วขณะสั้นๆ นี้เอง
นามและรูปเป็นสภาพธรรมซึ่งรู้ได้ แทนที่จะเรียกว่าสภาพที่มีจริงก็เรียกว่า ”สภาพธรรม” ก็ได้ ธรรมไม่ได้หมายเฉพาะคำสอนของพระผู้มีพระภาคเท่านั้น แต่ธรรมมีความหมายอื่นด้วย ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริงเป็น ธรรม หรือปรมัตถธรรม ซึ่งแปลว่า “สภาพที่เป็นจริงแม้” นามและรูปเป็นปรมัตถธรรม
สำหรับนามธรรมนั้นมีนามธรรมที่เป็นสังขารธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งอยู่สองอย่าง คือ จิต (สภาพรู้) กับเจตสิก (นามธรรมที่เกิดกับจิต) เช่น การเห็นและการได้ยินเป็นจิต ความโลภและสติเป็นเจตสิก ซึ่งเกิดกับจิต จิตทุกดวงมีเจตสิกอย่างน้อยเจ็ดดวงเกิดร่วมด้วยเสมอ
นิพพานเป็นนามธรรมที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง นิพพานไม่รู้อารมณ์ แต่นิพพานเป็นอารมณ์ ของโลกุตตรจิต กล่าวโดยสรุป ปรมัตถธรรม ได้แก่
จิต
เจตสิก
รูป
นิพพาน
“ปรมัตถสัจจะ” ต่างกับ ”สมมุติสัจจะ” ซึ่งเป็นบัญญัติ หรือความนึกคิด เราจำเป็นต้องใช้บัญญัติ เช่น บุคคล สมอง สังคม ในการติดต่อกับเพื่อนมนุษย์อื่น ๆ ของเรา เราข้องเกี่ยวอยู่กับ บัญญัติเหล่านี้ มาตลอด และย่อมรู้สึกว่ายากที่จะไม่ใช้บัญญัติ แต่อย่างไรก็ตามเราควรระลึกอยู่เสมอว่าบัญญัติไม่ใช่ “ปรมัตถธรรม” ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ระลึกรู้ได้ เมื่อปรากฏในขณะนี้ ปรมัตถธรรมทุกอย่าง เป็นสิ่งที่สติ ระลึกรู้ได้

Butsaya
08-14-2009, 09:57 AM
ธรรมจาริกในศรีลังกา
โดย Nina Van Gorkom
แปลโดย พ.อ. ดร. ชินวุธ สุนทรสีมะ
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
http://www.dharma-gateway.com/image/rosebar-2.gif

บทที่ ๗





นาม และ รูป ย่อมปรากฏทีละอย่างทางทวารทั้ง ๖ นามและรูปมีลักษณะต่างกัน เราควรรู้ ลักษณะเหล่านี้ ลักษณะ เป็นอีกคำหนึ่งที่เขาขอให้เราอธิบายสภาพธรรม ทุกอย่างมี ลักษณะเฉพาะซึ่งต่างกับสภาพธรรมอื่น สิ่งที่ปรากฏทางตา มีลักษณะ ต่างกับเสียง สิ่งที่ปรากฏทางตา ปรากฏได้ทางจักขุปสาท แต่ปรากฏทางหูไม่ได้ เสียงปรากฏได้ทางหู แต่ปรากฏทางตาไม่ได้ สิ่งที่ปรากฏทางตา มีลักษณะที่ต่างกับการเห็น สิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นรูปซึ่ง ไม่สามารถรู้อะไรเลย ไม่เห็นอะไร จิตเห็นเป็นสภาพเห็น ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา จึงเห็นจิตเห็นไม่ได้ เรามักโน้มเอียงที่จะ “รวม” การเห็น กับ สิ่งที่ปรากฏทางตา เป็น “สิ่งหนึ่ง” แทนที่จะมีสต ิระลึกรู้ลักษณะที่ต่างกัน ตามที่ปรากฏทีละอย่าง
ก่อนอื่นจะต้องรู้ลักษณะเฉพาะ (วิเสสลักขณะ) ของนามและรูปให้ชัดเจนเสียก่อน ควรรู้นามว่า เป็นเพียงนาม และรู้รูปว่าเป็นเพียงรูป เมื่อปัญญาได้เจริญขึ้นแล้ว ก็จะสามารถประจักษ์แจ้ง สามัญญลักขณะ ของนามและรูปได้ คือ อนิจจลักขณะ ทุกขลักขณะ และอนัตตลักขณะ (ติลักขณะ หรือลักขณะทั้งสาม)
สติและปัญญาจะ สะสม ไปเรื่อย ๆ ทีละเล็กละน้อย คำว่า “สะสม” เป็นอีกคำหนึ่งที่มีคนขอให้เรา นิยาม
บางคนรู้สึกว่ายากที่จะเข้าใจว่านิสัย เช่น ความโลภจะสะสมขึ้นได้อย่างไร จิตทุกดวงเกิดขึ้นแล้ว ก็ดับไปโดยสิ้นเชิง แล้วนิสัยจะสะสมไปได้อย่างไรเล่า
จิตทุกดวงดับไปหมด แต่ เป็นปัจจัยให้เกิด จิตดวงต่อไป นี่เป็นเหตุที่ทำไมอุปนิสัยดี ๆ และอุปนิสัยเลวๆ จึงสืบต่อจากขณะหนึ่งไปสู่ขณะหนึ่ง ในขณะที่เรานอนหลับสนิทและไม่ฝันย่อมจะไม่มีโลภะ แต่เมื่อเราตื่นขึ้นโลภะก็เกิดขึ้นอีก โลภะมาจากไหนกันเล่า จะต้องมีปัจจัยที่ทำให้เกิด โลภะ โลภะเกิดขึ้นได้ เพราะความโลภได้สะสมมา และสืบต่อจากขณะหนึ่งไปสู่อีกขณะหนึ่ง โลภะของเราในวันนี้ มีโลภะในอดีตเป็นปัจจัย และโลภะในวันนี้ก็จะกลับเป็นปัจจัยให้เกิดโลภะในอนาคต
เราสะสมกิเลสมามากมาย เช่น โลภะ โทสะ โมหะ ความริษยา และความตระหนี่ และเราก็สะสม อุปนิสัยที่ดีมาแล้วด้วย วันนี้เราสนใจธรรม เราชอบฟังธรรม ความสนใจเช่นนี้มาจากไหนเล่า ต้องมี เหตุปัจจัย เราต้องเคยฟังธรรมมาแต่ในอดีต สิ่งที่เราได้เรียนรู้แล้วจะไม่สูญหาย ไปไหน ถ้าขณะนี้มีสติระลึกรู้ขณะหนึ่ง ก็จะเป็นปัจจัยให้เกิดสติขึ้นในภายหน้า
จิตทุกดวงมีปัจจัยที่จะทำดีและชั่ว กิเลสเกิดขึ้นได้ง่ายมาก เพราะเราสะสมกิเลสมามากมาย เหลือเกิน โลภะเกิดขึ้นได้ง่าย ๆ และยากที่จะมีสติระลึกรู้ เราไม่ควรประหลาดใจในเรื่องนี้ สติระลึกรู้นั้นไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ๆ ในอดีต ฉะนั้นปัจจุบันนี้จะเกิดขึ้นบ่อย ๆ ได้อย่างไรเล่า แต่ก็สะสมได้ในปัจจุบันและเดี๋ยวนี้เลย
เพื่อนคนหนึ่งของเราได้ให้ข้อสังเกตว่า เขาเคยคิดว่า เฉพาะกรรมเท่านั้น ไม่ว่ากรรมดีหรือกรรมชั่ว ที่สามารถสะสมได้ เขาไม่ได้คิดเลยว่า อุปนิสัยซึ่งไม่มีกำลังแรงถึงขั้นที่จะกระทำกรรมก็สะสมได้ด้วย
เป็นความจริงที่ว่ากรรมดีและกรรมชั่วก็สะสมไป เมื่อเรากระทำอกุศลกรรม เช่น การฆ่า อกุศลจิตมีกำลังแรงกล้าถึงขั้นอกุศลกรรม เจตนา (กรรม) ซึ่งจงใจให้กระทำกรรมนั้นดับไปพร้อมกับจิต แต่เนื่องจากจิตทุกดวงเป็นปัจจัยให้เกิดจิตดวงต่อไป กรรมจึงสืบทอดจากขณะหนึ่งไปสู่อีกขณะหนึ่ง นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมกรรมจึงก่อให้เกิดผลอันควรแก่กรรมนั้นในภายหลังได้ กรรมชั่วก่อให้เกิดผล อันไม่น่าพึงพอใจ ซึ่งอาจจะเป็นการเกิดในอบายภูมิ หรือวิบากที่ไม่น่าพอใจทางทวารหนึ่งทวารใด ในช่วงชีวิตนี้ ส่วนกรรมดีซึ่งสะสมไว้ย่อมก่อให้เกิดวิบากที่น่าพอใจ ฉะนั้นกรรมจึงสะสมได้ และสามารถ ก่อให้เกิดผลได้ในอนาคต กรรม ซึ่งก่อให้บังเกิดผลได้นี้ เป็นปัจจัยชนิดหนึ่ง คือ กรรมปัจจัย ซึ่งไม่ใช่เพียงปัจจัยเดียวเท่านั้น ปัจจัยทั้งหมดมีอยู่ ๒๔ ปัจจัย การงานของปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้สลับซับซ้อนมาก แต่เราก็พิสูจน์ด้วยตัวเองได้ว่าไม่แต่เพียงกรรมต่างๆ เท่านั้น อุปนิสัยดีหรือเลวต่างๆ ซึ่งไม่มีกำลังถึงขั้นกระทำกรรมก็สะสมไปเรื่อย ๆ จากขณะหนึ่งไปอีกขณะหนึ่ง เป็นปัจจัยให้เกิดกุศลจิตและอกุศลจิตในภายหน้า และปัจจัยประเภทนี้ต่างกับกรรมปัจจัย

ที่อนุราธปุระเราได้อภิปรายกันเรื่อง กรรมและวิบาก บางคนได้ให้ข้อสังเกตว่าไม่ยุติธรรมเสียเลย ที่กรรมซึ่งได้กระทำไว้เมื่อชาติก่อนสามารถเป็นปัจจัยให้เกิดความทุกข์ในชาตินี้ คนที่ทุกข์ยากชาตินี้ ก็ไม่ใช่คนเดียวกับคนในอดีต ที่ได้ทำกรรมชั่วอันก่อให้เกิดผลอันไม่น่าพึงพอใจในชาตินี้ ทำไมเราจะต้องมารับเคราะห์กรรมในปัจจุบันนี้จากกรรมที่เราไม่ได้ทำเล่ากรรมก่อให้เกิดวิบาก กรรมแต่ละกรรมย่อมจะก่อให้เกิดวิบากอันควรแก่กรรมนั้น ๆ นี่เป็นกฏแห่งกรรมและผลของกรรมที่ย่อมจะเกิดขึ้น ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ก็ตาม เมื่อเราเกิดเจ็บปวดขึ้นนั่นก็เป็นผลของกรรม เราอาจคิดไปว่า “ทำไมจึงต้องเกิดขึ้นกับเรา” แต่ทำไมเราจึงไปคิดถึง “ตัวเรา” เล่า ไม่มีตัวตนที่กระทำกรรมในชาติก่อน และในชาตินี้ก็ ไม่มีตัวตน มีแต่ สภาพธรรม ต่าง ๆ คือ นามและรูปซึ่งจะเกิดขึ้นและดับไป
โดยปรมัตถ์ไม่มีคำว่า “ช่วงชีวิตนี้ของฉัน” เพราะว่า ชีวิตดำรงอยู่เพียงชั่วขณะเดียว เท่านั้น มีจิตประเภทต่าง ๆ ซึ่งรู้อารมณ์ต่างๆ และจิตทุกขณะก็ดับไปหมดสิ้น จิตบางดวงเป็นเหตุให้กระทำกรรมดีและกรรมชั่ว อันจะก่อให้เกิดผลที่ควรแก่กรรมนั้น ๆ ในภายหลัง จิตบางดวงก็เป็นผลของกรรมดีหรือกรรมชั่วซึ่งเรียกว่า วิบากจิต จิตเห็นหรือจิตได้ยินที่รู้ อารมณ์ที่น่าพึงพอใจหรือไม่น่าพึงพอใจทางปสาทต่างๆ นั้น เป็น วิบากจิตซึ่งเกิดขึ้นตลอดชีวิตของเรา วิบากจิตเกิดขึ้น ก็เพราะปัจจัยและก็ ดับไปทันที ไม่มีตัวตนที่รู้อารมณ์ที่น่าพึงพอใจหรือไม่น่าพึงพอใจ ขณะที่เจ็บปวดนั้นก็เป็นเพียงขณะสั้น ๆ ของการรู้อารมณ์ไม่น่าพอใจที่ปรากฏทางกายปสาทเท่านั้น หลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะมีเหตุปัจจัยที่เกิดพร้อมแล้ว และแล้ววิบากก็ดับไปทันที หากเรา นึกถึงความเจ็บปวดด้วยความขุ่นใจ จะมี จิตที่มีความขุ่นใจ เกิดขึ้นไม่ใช่เพียงดวงเดียวแต่จะ เกิดติดต่อกันถึง ๗ ดวง นี่คือลำดับของจิตต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นเป็นวิถีจิต ฉะนั้น ถ้าเราเกิดความขุ่นใจจากความเจ็บปวด ก็จะทำให้เพิ่มทุกข์ขึ้นถึง ๗ เท่า ความเจ็บปวดนั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะชีวิตคือการ เกิด การแก่ การเจ็บ การตาย
การเข้าใจธรรมสามารถเปลี่ยนชีวิตของคนเราได้ เราพบกับนักธุรกิจคนหนึ่งซึ่งบ่นเรื่องที่ถูกโอนทรัพย์สินไปเป็นของรัฐ เขาต้องสูญเสียทรัพย์สมบัติไปเป็นจำนวนมาก แต่หลังจากที่เขาได้ศึกษาพระอภิธรรมแล้ว และได้ไตร่ตรองพระอภิธรรมมากขึ้น เขาก็ค่อยคลายกังวลเรื่องการสูญเสียทรัพย์สมบัติไป และได้คิดที่จะเจริญกุศลมากยิ่งขึ้น นี่แสดงว่าเขาได้สะสมปัญญามากขึ้น
เราควรระลึกถึงพระสูตรที่แสดงความอัศจรรย์ของพระธรรม ในอังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต อัจฉริยสูตรที่ ๒ ข้อ ๑๒๘ มีข้อความว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความอัศจรรย์ไม่เคยมี ๔ ประการ ย่อมปรากฏเพราะความปรากฏแห่งพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๔ ประการเป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย หมู่สัตว์ผู้มีอาลัย (คือ กามคุณ) เป็นที่รื่นรมย์ ยินดีในอาลัย บันเทิงในอาลัย เมื่อพระตถาคตแสดงธรรมอันหาความอาลัยมิได้อยู่ หมู่สัตว์นั้นย่อมฟังด้วยดี เงี่ยโสตสดับ ตั้งจิตเพื่อรู้ทั่วถึง ดูกรภิกษุทั้งหลาย หมู่สัตว์ผู้มีมานะ (ความถือตัว)……หมู่สัตว์ผู้มีความไม่สงบเป็นที่รื่นรมย์…….
ดูกรภิกษุทั้งหลาย หมู่สัตว์ผู้ตกอยู่ในอวิชชาเป็นผู้มืด ถูกอวิชชารัดรึงไว้ เมื่อพระตถาคตแสดงพระธรรมอันเป็นเครื่องปราบปรามอวิชชาอยู่ หมู่สัตว์นั้นย่อมฟังด้วยดี เงี่ยโสตสดับตั้งจิตเพื่อรู้ทั่วถึง ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี่เป็นความอัศจรรย์ไม่เคยมีข้อที่ ๔ ย่อมปรากฏเพราะความปรากฏแห่งพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ฯ
เมื่อสติเกิดขึ้น สติระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางทวารใดทวารหนึ่งใน ๖ ทวาร แต่อย่างไรก็ตามด้วยความเขลาของเราเองเราอาจหลงผิดไปได้ง่าย เราอาจคิดว่ากำลังระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ แต่แท้ที่จริงนั้น เรากำลังคิดถึงสิ่งนั้นด้วยโลภะ โทสะ และโมหะ ตัวอย่างเช่น เมื่อสภาพแข็งหรืออ่อนกระทบกายปสาท แทนที่จะพิจารณาศึกษาลักษณะเหล่านี้ ดิฉันกลับไป คิดถึงจุดที่สัมผัสนั้น แสดงว่า ไม่ใช่สติ เป็นแต่เพียงคิดเรื่องบัญญัติของกาย แต่ เมื่อสติระลึกรู้สภาพแข็ง ขณะนั้น จะ มีแต่ลักษณะแข็งเท่านั้น ไม่มีอย่างอื่นปรากฏเลย ไม่มี “สถานที่กระทบ” ในสภาพแข็งนั้น และไม่มีร่างกายในความแข็งนั้นเลย ถ้าเรารู้ชัดในอวิชชาและอุปาทานแล้ว ก็จะเตือนให้ศึกษาสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แม้สภาพธรรมนั้นจะเป็นอุปาทานก็ตาม
เวลาดิฉันดูส่าหรีสีสวยสดใสซึ่งสุภาพสตรีหลายท่านสวมใส่อยู่ก็สังเกตว่าโลภะเกิดขึ้นทันทีที่ดูส่าหรีนั้น ต่อจากนั้นก็จะดู “โลภะของฉัน” การคิดถึงโลภะของตัวเองไม่ใช่สติปัฏฐาน ครั้งหนึ่งขณะที่ดิฉันกำลังรับประทานอาหารอย่างเอร็ดอร่อยอยู่นั้น คุณสุจินต์ถามว่าสติระลึกรู้หรือเปล่า ดิฉันก็เลยพูดว่า “โลภะ” โดยไม่มีสติระลึกรู้ลักษณะของ โลภะเลย คุณสุจินต์เตือนดิฉันว่า โลภะก็มีลักษณะเฉพาะซึ่งสติสามารถระลึกรู้ได้เมื่อปรากฏ ฉะนั้นปัญญาจึงรู้ได้ว่า โลภะเป็นเพียงธาตุ ชนิดหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ตัวตน โดยไม่จำเป็นต้องคิดหรือเรียกว่าโลภะ

บางคนท้วงว่าควรมีวิธีการปฏิบัติสติปัฏฐาน มิฉะนั้นจะไม่ได้ผลถ้าพยายามที่จะให้มีสติ ตามวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ใครกำลังพยายาม ก็มีความคิดเรื่องตัวตน ที่พยายามจะให้สติรู้อยู่ที่อารมณ์เดียวอีกแล้ว นั่นเป็นการคิดไม่ใช่สติ เราไม่รู้เลยว่าความโลภ หรือความโกรธ หรือการเห็น หรือความสงสัย หรือสภาพธรรมอื่นใดจะเกิดขึ้น แล้วเราจะคุมสติหรือจะปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ได้อย่างไร
สติไม่ใช่ตัวตน สติเกิดขึ้นเมื่อมีเหตุปัจจัยอันเหมาะสม ที่สติจะเกิดขึ้น คุณสุจินต์กล่าวว่า “ถ้าสติไม่เกิดขึ้น ใครก็ระลึกรู้ในขณะนั้นไม่ได้” เรายังเชื่ออยู่อีกหรือว่าเราสามารถควบคุมสติได้ หากใครพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะให้มีสติ ผู้นั้นก็จะเครียด และจะไม่เกิดประโยชน์อันใดเลย พระภิกษุรูปหนึ่งได้ให้ข้อสังเกตว่า ท่านรู้สึกโล่งใจไปถนัดเมื่อไม่ต้องพยายามทำให้เกิดสติ
สภาพธรรมได้มีอยู่ที่นี่แล้วในขณะนี้ แต่ต้องศึกษาพิจารณาจึงจะรู้ได้ ไม่ยากอะไรนัก แต่เราไปทำให้ยากเอง
ถ้าหากเราไปคิดว่าเราจะต้องนั่งในห้องและปฏิบัติตามวิธีการ จะอยู่ในห้องหรือนอกห้องก็มีการเห็น การได้ยิน ความแข็งและสภาพธรรมอื่นปรากฏทีละอย่างทาง ๖ ทวารอยู่เสมอ
คุณสุจินต์พูดว่าในขณะที่เห็น ได้ยิน หรือคิดนั้น เราควรอาจหาญที่จะรู้จริง ๆ ว่า มีสติระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏหรือยังไม่มีเลย การเห็นมีจริง เป็นสภาพธรรมที่เห็น สิ่งที่ปรากฏทางตาก็จริง ซึ่งต่างกับการเห็น เราควรศึกษาพิจารณาสภาพธรรมเหล่านี้ในชีวิตประจำวัน ในระหว่างทำกิจการต่างๆ เพื่อจะได้รู้สภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริง

Butsaya
08-14-2009, 09:58 AM
ธรรมจาริกในศรีลังกา
โดย Nina Van Gorkom
แปลโดย พ.อ. ดร. ชินวุธ สุนทรสีมะ
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
http://www.dharma-gateway.com/image/rosebar-2.gif
บทที่ ๘


คำถามอีกข้อหนึ่งในระหว่างการประชุมคือ “สติระลึกรู้การกระทำทุกอย่าง เช่น รับประทานอาหาร ขับรถหรือ”
ขณะที่คิดเรื่องตัวเองว่า กำลังรับประทาน หรือกำลังขับรถนั้นไม่ใช่สติ แต่เป็นการคิดถึงบัญญัติ การรับประทานไม่ใช่เป็นสภาพธรรม การขับรถก็ไม่ใช่สภาพธรรม สติระลึกรู้สภาพธรรม รู้นามธรรมและรูปธรรม และระลึกรู้สภาพธรรมได้ทีละอย่างเท่านั้น สติสามารถระลึกรู้ในขณะทำกิจการงาน เช่น ขณะรับประทานหรือขณะขับรถอยู่ก็ได้
ขณะที่กำลังรับประทานอาหารอยู่ก็มีสภาพแข็ง รส หรือคิดเกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นธรรมทั้งสิ้น และสามารถระลึกรู้ได้ทีละอย่างว่าเป็นธาตุแต่ละชนิด ไม่มีบุคคลไม่มีตัวตนเลย การมีสติระลึกรู้สภาพธรรมโดยความเป็นธาตุต่าง ๆ เป็นหนทางที่จะเจริญปัญญา ขณะใดที่หลงลืมสติก็จะต้องยึดมั่นในร่างกายและจิตใจ
ในมัชฌมนิกาย มูลปัณณาสก์ สติปัฏฐานสูตร อิริยาบถบรรพ ข้อ ๑๓๔ มีข้อความว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่งภิกษุเมื่อเดิน ก็รู้ชัดว่าเราเดิน เมื่อยินก็รู้ชัดว่าเรายืน เมื่อนั่งก็รู้ชัดว่าเรานั่ง เมื่อนอน ก็รู้ชัดว่า เรานอน หรือ เธอตั้งกายไว้ด้วยอาการอย่างใด ๆ ก็รู้ชัดอาการอย่างนั้น ๆ ดังพรรณนามาฉะนี้
ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายภายนอกบ้าง
พิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในกายบ้าง
เราควรระลึกรู้การเดินหรือไม่ เราควรอ่านเนื้อหาของพระสูตรทั้งหมด เพื่อจะได้เข้าใจความหมายของพระสูตรนี้ จะพิจารณากายภายในและภายนอกอย่างไร กายเป็นเพียงบัญญัติไม่ใช่สภาพธรรม กายไม่ได้เกิดขึ้น สิ่งที่เรายึดถือว่ากายนั้นเป็นเพียงธาตุต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นและดับไป ควรระลึกรู้สภาพแข็ง อ่อน ร้อน เย็น ไหว ตึงต่าง ๆ ที่ปรากฏไม่ว่าจะอยู่ภายในหรือภายนอกก็ตาม การพิจารณารู้เช่นนี้จะทำให้แจ้งชัดการเกิดขึ้นและดับไปของธาตุต่าง ๆ เหล่านี้ได้ต่อไป
พระสูตรนี้เตือนให้ระลึกรู้สภาพธรรมใด ๆ ที่ปรากฏในขณะที่เรากำลัง เดิน ยืน นั่ง หรือนอน
จะเป็นไปได้ไหมที่จะสอนข้อปฏิบัติง่าย ๆ ในการเจริญวิปัสสนา นี่เป็นคำถามข้อหนึ่งในระหว่างการอภิปราย
ถ้าจะมีครูที่บอกให้ทำอะไรก่อนหลัง และถ้าเราปฏิบัติตามแล้วรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้อย่างแน่นอนแล้วละก็ จะต้องง่ายมากทีเดียว แต่อย่างไรก็ตามพระบรมศาสดาตรัสสอนไม่ให้ทำตามผู้สอนอย่างงมงาย แต่ให้อบรมเจริญอริยมรรคด้วยตนเอง ผู้เป็นกัลยาณมิตรในทางธรรมสามารถที่จะอธิบายหนทางเจริญปัญญาที่ถูกต้องได้ เราควรฟังและใคร่ครวญพิจารณาสิ่งที่ได้ฟังนั้น แล้วศึกษาสภาพธรรมด้วยสติที่ระลึกรู้สิ่งที่ปรากฏ เราจะต้องอบรมเจริญอริยมรรคด้วยตนเอง ณ บัดนี้ ไม่มีใครสามารถทำให้เราได้
ปัญญานั่นเองไม่ใช่เราที่จะประจักษ์แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง เราอาจสงสัยว่า ปัญญาจะสามารถประจักษ์สภาพอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ได้อย่างไร และจะประจักษ์พระนิพพานได้อย่างไร
คุณสุจินต์บอกว่า “อย่าประมาทกิจของปัญญา” ปัญญาเท่านั้น ที่รู้สภาพธรรมทั้งหลาย ตามความเป็นจริงไม่ใช่ตัวตน ขณะปัจจุบันนี้มีค่ายิ่ง ถ้าศึกษาพิจารณาสภาพธรรม ปัญญาก็เจริญได้
ถ้าหากสติจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีเหตุปัจจัยให้สติเกิดเท่านั้น เราก็ทำอะไรไม่ได้ เมื่อทำอะไรไม่ได้ ก็อยู่ไปเรื่อย ๆ อย่างนั้นหรือ
เราควรพยายามให้มีสติหรือไม่ พอได้ยินคำว่าพยายามเรามักจะนึกถึงตัวตนที่เพียรพยายาม ความเพียรเป็นเจตสิกดวงหนึ่ง (นามธรรมที่เกิดกับจิต) ไม่ใช่ตัวตน ความเพียรเกิดกับจิตทุกดวง ยกเว้นอเหตุกจิต ๑๖ ดวง ความเพียรเกิดไม่แต่เพียงกับกุศลจิตเท่านั้น แต่เกิดกับอกุศลจิตด้วย
เวลามีสติระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏก็มีความเพียรด้วยแล้ว ไม่จำต้องคิดถึงความเพียรอะไรอีก ถ้าคิดถึงความเพียรก็มักจะเป็นอกุศลจิตที่เกิดต้องการขึ้นมา อกุศลจิตมีความเพียรผิดเกิดร่วมด้วย ในมัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ สัจจวิภังคสูตร ข้อ ๗๐๔ แสดงสัมมาวายามะ ๔ ดังนี้
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็สัมมาวายามะเป็นไฉน คือภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมให้เกิดฉันทะพยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต ตั้งจิตไว้ เพื่อไม่ให้อกุศลธรรมอันลามกที่ยังไม่เกิดได้เกิดขึ้น ๑ เพื่อละอกุศลธรรมอันลามกที่เกิดขึ้นแล้วเสีย ๑ เพื่อให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดได้เกิดขึ้น ๑ เพื่อความตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือง เพิ่มพูน ไพบูลย์ เจริญและบริบูรณ์ของกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ๑ นี้เรียกว่าสัมมาวายามะ ๆ
สัมมาวายามะทั้ง ๔ นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ในอังคุตตรนิกาย เอกนิบาต ข้อ ๖๒ มีข้อความว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่งที่เป็นเหตุให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรืออกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เสื่อมไป เหมือนการปรารภความเพียร ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลเป็นผู้ปรารภความเพียร กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมไป ๆ
เมื่อสัมมาทิฏฐิในมรรคมีองค์แปดเจริญขึ้น โดยมีสติระลึกรู้นามและรูป ย่อมเป็นปัจจัยแก่สัมมาวายามะในมรรคมีองค์แปด แต่ถ้ายังเห็นว่าเป็นตัวตนที่ทำความเพียร ก็ไม่ใช่สัมมาวายามะในมรรคมีองค์แปด
คนโดยมากยังสงสัยว่าแล้วจะทำอย่างไรจึงจะได้ไม่นั่งเฉย ๆ คอยให้ปัญญาเกิดขึ้น
ตัวตนที่จะ “ไม่ทำอะไรเลย” นั้นก็ไม่มี จิตทุกดวงที่เกิดขึ้นทำกิจของจิตนั้น ๆ แม้แต่ในขณะที่กำลังคิดอยู่ว่าไม่ได้ทำอะไรนั้น สติก็เกิดขึ้นระลึกรู้สภาพความคิดว่าไม่ใช่ตัวตนได้ เมื่อเข้าใจถูกต้องเรื่องอารมณ์ของสติแล้วก็จะไม่ละเลย เมื่อมีปัจจัยให้สติเกิด สติก็เกิดก่อนที่จะตั้งใจระลึกรู้ แต่ถ้าตั้งใจจะระลึกรู้ก็มักจะเป็นโลภะ
เราอาจจะรู้สึกว่าการระลึกรู้นี้ช่างยากเย็นเสียจริง ๆ เราควรจะทำอะไรในระหว่างที่ไม่ได้ระลึกรู้นามและรูป ในตอนนั้นมิต้องมีอกุศลเกิดขึ้นเป็นการใหญ่ดอกหรือ
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องกุศลต่าง ๆ หลายประเภท บางกาลก็เป็นโอกาสของทานกุศล บางกาลก็เป็นโอกาสของศีล บางกาลก็เป็นโอกาสของความสงบ เมื่อระลึกถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาคหรือขณะที่เจริญเมตตา บางครั้งสติก็เกิดขึ้นระลึกรู้สภาพนามและรูป ตัวเราไม่สามารถ “เปลี่ยน” กุศลจิตชนิดนี้ให้เป็นกุศลจิตชนิดนั้นได้เลย กุศลชนิดไหนจะเกิดขึ้นขณะไหนนั้นย่อมเป็นไปตามปัจจัย การรู้เรื่องกุศลชนิดต่าง ๆ และการเห็นประโยชน์ของกุศลทั้งหลายจะทำให้เราไม่เกียจคร้าน
ตามที่ทราบแล้วว่าปัญญาขั้นเข้าใจถูกนั้น เป็นปัจจัยให้สติเกิด นี่เป็นเหตุที่เรามาอภิปรายกันเรื่องสภาพธรรม เช่น การเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา การได้ยินหรือเสียง เรายังเข้าใจผิดอีกมากในเรื่องนามและรูป เราพูดเรื่องการได้ยิน และสนใจความหมายของคำที่เราได้ยิน การสนใจความหมายของคำนั้นไม่ใช่การได้ยิน แต่เป็นการคิดถึงบัญญัติ เราจำบัญญัติไว้ ความทรงจำหรือสัญญาเป็นเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกับจิตทุกดวง ความทรงจำเกิดขึ้นตลอดเวลา จำสิ่งที่ปรากฏทางตา จำเสียง จำสภาพธรรมอื่น ๆ และจำบัญญัติด้วย
เพื่อเป็นตัวอย่าง คุณสุจินต์พูดคำว่า “เอ ลิ ซา เบธ”
คุณสุจินต์พูดซ้ำว่า “เอ…เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปหมดแล้ว ลิ…เกิดแล้วดับไป ซา…เกิดแล้วดับไป เบธ..เกิดแล้วดับไป” มีเสียงต่าง ๆ กัน และระหว่างนั้นก็มีจิตเกิดขึ้นหลายขณะ อวิชชาอาจเกิดขึ้นแทรกในระหว่างนั้น หรือสติอาจจะเกิดก็ได้ ขณะที่คิดถึงเสียงต่าง ๆ นั้นไม่ใช่ได้ยิน แต่เป็นขณะที่คิดถึงบัญญัติ ความทรงจำเป็นปัจจัยให้คิดถึงเรื่องราวต่าง ๆ ของเอลิซาเบธ เราแต่ละคนต่างก็นึกไปถึงเอลิซาเบธที่แต่ละคนรู้จัก เราคิดถึงรูปร่างหน้าตาของคนชื่อนั้นที่เรารู้จัก คิดถึงเสียง หรือจดหมายที่เธอเขียนถึง การคิดเป็นปัจจัยให้เกิดความรู้สึกที่แตกต่างกัน เช่น ความรู้สึกสบายใจ ความรู้สึกไม่สบายใจ หรือความรู้สึกเฉย ๆ ความจริงไม่มีเอลิซาเบธ มีก็แต่บัญญัติเรื่องเอลิซาเบธเท่านั้น
ตัวอย่างนี้ทำให้ดิฉันระลึกได้ว่า อวิชชาและมิจฉาทิฏฐิเกิดขึ้นได้แม้ในระหว่างแต่ละพยางค์ที่เราพูด ทำให้ดิฉันระลึกได้ว่ามีสภาพธรรมหลายอย่างในเวลาสั้น ๆ นั้น ซึ่งจะต้องศึกษาพิจารณาเพื่อประจักษ์สภาพธรรมเหล่านั้นตามความเป็นจริง ศึกษาพิจารณาสภาพธรรมได้ แทนที่จะไม่รู้แม้ในระหว่างขณะที่รู้เสียงต่าง ๆ
คุณสุจินต์เตือนเราว่า “ขณะที่มีสติระลึกรู้สภาพนามและรูปเป็นขณะที่อยู่ลำพังจริง ๆ “ ถึงแม้ว่าจะมีผู้คนแวดล้อมมากมายแต่ความจริงแล้วไม่มีคนเลย มีสิ่งที่ปรากฏทางตา มีเห็น มีเสียง มีได้ยิน และสภาพธรรมต่างๆ อีกมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่สติระลึกรู้ได้ทีละอย่าง สภาพธรรมไม่ใช่ของใคร ถ้านึกถึงคน หนึ่งคน สองคน หรือหลายคน โลกของความนึกคิดนั้นก็มีคนมากมาย แต่ตามความเป็นจริงนั้นไม่มีคนเลย มีแต่นามและรูปซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ชีวิตดำรงอยู่เพียงขณะสั้น ๆ ที่รู้อารมณ์หนึ่ง ๆ เท่านั้นเอง
คุณซาร่าห์บอกว่า ยากที่จะรู้ขณะที่เพียงแต่เห็น ซึ่งต่างกับการสนใจรูปทรงสัณฐาน ขณะที่สนใจรูปร่างสัณฐานนั้นไม่ใช่ขณะเห็น
คุณสุจินต์ตอบว่า ปัญญาไม่ใช่การจ้องจับขณะนี้ขณะนั้น ควรรู้สภาพลักษณะที่ปรากฏ ไม่ควรคิดถึง ขณะ ถ้าเราคิดถึงขณะนี้ขณะนั้น หรือคอยจับว่า สภาพธรรมต่าง ๆ เกิดขึ้นก่อนหลังอย่างไร ก็จะเป็นการคิดถึงบัญญัติแทนที่จะเป็นสติ บางทีสติระลึกรู้สภาพเห็น บางทีระลึกรู้สภาพคิด บางทีก็ระลึกรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่มีกฎเกณฑ์ว่าสติจะต้องระลึกรู้อารมณ์อะไร
เรามักจะโน้มเอียงที่จะพยายามรู้ความต่างกัน ระหว่างการเห็นกับการสนใจรูปร่างสัณฐาน แล้วเราก็หลงติดอยู่กับความพยายามนั้น เราลืมระลึกรู้สภาพที่ติดข้อง ในขณะที่พอใจติดข้องอยู่ ในขณะที่สงสัยลักษณะของสภาพธรรม หรือขณะที่หมดหวังที่จะมีสติ ขณะนั้นก็ควรศึกษาพิจารณาด้วย สภาพธรรมทุกอย่างเป็นอารมณ์ของสติปัฎฐานได้ ไม่ว่าเราจะชอบสิ่งนั้นหรือไม่ชอบก็ตาม

Butsaya
08-14-2009, 10:04 AM
ธรรมจาริกในศรีลังกา
โดย Nina Van Gorkom
แปลโดย พ.อ. ดร. ชินวุธ สุนทรสีมะ
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
http://www.dharma-gateway.com/image/rosebar-2.gif

บทที่ ๙
การเดินทางของเราเป็นการจาริกแสวงบุญ เราไปนมัสการปูชนียสถานหลายแห่ง เพื่อระลึกถึงพระคุณของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลายในศรีลังกา ผู้ได้เจริญสติปัฏฐานจนดับกิเลสได้หมดสิ้น คุณสุจินต์ให้กำลังใจเราให้เพียรพยายามศึกษาและเจริญสติปัฏฐาน โดยบอกว่า “ยังไม่พอ ยังไม่พอ จนกว่าจะได้บรรลุอรหัตตผลแล้ว”
ที่อนุราธปุระ เราพักที่จวนของผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นที่สงบเงียบร่มรื่นไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ภายในเมืองอนุราธปุระอันเก่าแก่ จวนของท่านผู้ว่า ฯ อยู่ในระยะเดินไป “รูวันเวลิสายะ” พระสถูปองค์ใหญ่ (ดากาบะ) ซึ่งพระเจ้าทุฏฐคามินีได้ทรงเริ่มสร้างไว้ พระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ได้ประดิษฐานไว้ ณ พระสถูปแห่งนี้ มีไฟจุดสว่างทุกคืน มีคนเดินประทักษิณและสวดมนต์อยู่เป็นนิจ เราไปสักการะพระสถูปหลายครั้ง และครั้งหนึ่งขณะที่กำลังเดินประทักษิณอยู่นั้น คุณสุจินต์ก็ได้พูดกับเจ้าบ้านหญิงของเราเรื่องสติปัฏฐาน คุณสุจินต์เตือนเราให้มีสติระลึกรู้สภาพธรรมทีละลักษณะ ที่ปรากฏทางทวารใด ทวารหนึ่งใน ๖ ทวาร เราไม่ควรสับสนปะปนทวารทั้ง ๖ นั้น เราจะรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา และสภาพธรรมที่ปรากฏทางกายปสาทพร้อมกันไม่ได้ คุณสุจินต์กล่าวว่า “เวลาที่สภาพธรรมปรากกฏนั้นจะมีเพียงทวารเดียวเท่านั้น ทิ้งทวารอื่นให้หมด เราไม่ได้พยายามคิดถึงหลายอย่าง แทนที่จะระลึกรู้เฉพาะสิ่งที่ปรากฏดอกหรือ”
ขณะที่เดินอยู่บนแผ่นหินรอบ ๆ องค์พระสถูปนั้น บางคนอาจคิดว่าเป็นพื้นแผ่นหิน นั่นก็แสดงว่าหลงลืมสติ ทางตาก็มีเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ทางกายก็มีเพียงสภาพแข็งเท่านั้นที่ปรากฏ ถ้าเราไม่เอาทวารต่าง ๆ มาปนกัน เราจะรู้ว่าในความจริงนั้นไม่มีพื้นหิน มีแต่เพียงนามและรูปต่าง ๆ ซึ่งปรากฏทีละอย่างเท่านั้น
เรามักถือว่า การเห็นและสภาพธรรมอื่น ๆ ยั่งยืน คุณสุจินต์เตือนเราว่า “สภาพธรรมทุกอย่างซึ่งปรากฏนั้นดับไปทันที สภาพแข็งในขณะนี้ไม่ใช่อันเดียวกับขณะก่อนนี้ สภาพเห็นขณะนี้ก็ไม่ใช่สภาพเห็นขณะก่อน ถ้าเราคิดว่าเป็นสภาพธรรมเดียวกันก็แสดงว่าหลงลืมสติ”
คุณสุจินต์ให้ข้อสังเกตว่า “ถ้าไม่เจริญสติเดี๋ยวนี้ ก็รู้แจ้งอริยสัจจธรรมไม่ได้ การตรัสรู้อริยสัจจธรรมย่อมมีได้ ในสมัยพุทธกาลคนเป็นจำนวนมากได้บรรลุอริยสัจจธรรม”
“การเจริญสติเป็นปกติจริง ๆ ไม่ยากนัก ถ้าหากเราไม่คอยแต่จะหลงลืม แต่เมื่อสติไม่เกิด ก็ไม่ควรเสียใจ หากเกิดเสียใจขึ้นก็ระลึกรู้สภาพที่เสียใจนั้น”
ขณะที่กำลังประทักษิณรอบพระสถูปและ ”ศึกษาพิจารณา” สภาพธรรมต่างๆ นั้น อดีตสมัยที่พระอรหันต์หลายรูปเดินและสอนสติปัฏฐานกันที่นี่ รู้สึกว่าไม่ห่างไกลเลย ท่านเหล่านั้นไม่หลงลืมในการระลึกรู้สภาพธรรมทั้งหลาย
ต้นพระศรีมหาโพธิ์ในอนุราธปุระซึ่งอยู่ใกล้ กับ “พระสูปรูวันเวลิสายะ” เป็นปูชนียสถานอีกแห่งหนึ่งที่เราไปสักการะ พระศรีมหาโพธิ์อยู่บนลานสูงมีลูกกรงทองล้อมรอบ ตามปกติแล้วเขาจะห้ามไม่ให้คนเข้าไปใกล้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ แต่พระภิกษุผู้ดูแลต้นพระศรีมหาโพธ์รูปหนึ่งอนุญาตให้เราขึ้นไปนมัสการบนลานนั้น คืนหนึ่งพระภิกษุรูปนี้ได้จัดดอกบัวขาวประมาณร้อยดอก ให้เราประดับบูชารอบต้นพระศรีมหาโพธิ์ บรรดาพระสงฆ์ที่เดินนำประทักษิณรอบต้นพระศรีมหาโพธิ์ได้สวดมนต์ เราได้ดูกิ่งที่แตกใหม่ของต้นพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งเพิ่งจะแตกกิ่งได้ไม่นานเมื่อประมาณสักสองสามเดือนนี่เอง เรารู้สึกเสมือนว่าอยู่ห่างไกลจากสมัยพุทธกาล แต่ตราบใดที่ยังมีการสอนและการเจริญสติปัฏฐาน เราก็ไม่ไอยู่ห่างไกลแต่ประการใดเลย
เมืองอนุราธปุระอันเก่าแก่ และภายในปริมณฑลมีพระสถูปโบราณสถาน และอนุสรณ์สถานต่าง ๆ มากมาย เจ้าภาพคนหนึ่งของเราได้พาเรานั่งรถจี๊บไปที่ตันตริมาลี ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากอนุราธปุระ ท่านสังฆะมิตตาเถรีและคณะที่นำกิ่งตอนของต้นพระศรีมหาโพธิ์จากประเทศอินเดีย ได้แวะพักที่ต้นตริมาลีระหว่างเดินทางไปอนุราธปุระ หน่อต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นหนึ่งจึงได้ปลูกไว้ที่นี่ ทุกวันนี้ก็ยังเห็นต้นพระศรีมหาโพธิ์ซึ่งขึ้นอยู่บนพื้นดินปนหิน ที่ซึ่งไม่มีไม้อื่นขึ้นได้เลย ในครั้งกระโน้น ได้นำต้นกล้าของต้นพระศรีมหาโพธิ์หลายต้นไปปลูก ณ ที่ต่างๆ และต่อมาก็ขยายต้นพระศรีมหาโพธิ์ออกถึงสามสิบสองต้นไปปลูกไว้ทั่วทั้งเกาะ
พระบรมสารีริกธาตุหลายองค์ได้นำมายังศรีลังกาจากประเทศอินเดีย พระบรมสารีริกธาตุพระศอด้านขวา ได้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ ณ พระสถูป “ถูปารามะ” ซึ่งเก่าแก่ที่สุดอยู่ในอนุราธปุระ
ที่ศรีลังกามีสองสามบ้านที่มีพระบรมสารีริกธาตุองค์เล็ก ๆ เจ้าภาพของเราคนหนึ่งในอนุราธปุระ มีพระบรมสารีริกธาตุองค์หนึ่งและพระธาตุของพระอรหันต์องค์หนึ่ง ซึ่งป้าของเขามอบให้ประดิษฐานในห้องพระ กล่าวกันว่าตราบใดที่ยังมีผู้ประพฤติธรรม พระบรมสารีริกธาตุที่อยู่ในบ้านก็จะไม่สูญหายไป แต่เมื่อใดละเลยพระธรรม พระบรมสารีริกธาตุก็จะหายไป เจ้าภาพของเราได้ให้เราสักการะพระบรมสารีริกธาตุ และนี่เป็นครั้งแรกที่เขาได้ให้คนนอกครอบครัวมีโอกาสสักการะ เขาอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุออกมาจากตลับที่เก็บ แล้วให้เราบูชาด้วยดอกไม้ ธูปเทียน เราสักการะพระบรมสารีริกธาตุและระลึกถึงพระธรรมคำสั่งสอน ให้มีสติระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ อีกครั้งหนึ่งที่เรารู้สึกว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ใกล้เรา ขณะที่เราศึกษาพิจารณาสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
พระเขี้ยวแก้วของพระผู้มีพระภาค ซึ่งอัญเชิญมาจากประเทศอินเดียในพุทธศตวรรษที่สิบ ได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ ณ นครหลวงต่าง ๆ ในเวลาต่อมา ปัจจุบันนี้พระเขี้ยวแก้วประดิษฐานอยู่ที่ “ดาละดา มิลิกาวา” ที่กรุงแคนดี จะมีการอัญเชิญผอบจำลองของผอบจริง ที่ประดิษฐานพระเขี้ยวแก้วเข้าขบวนแห่ในงาน “แคนดีเปราเฮรา” ปีละครั้ง ช้างที่มีงายาวโค้งซึ่งเป็น “ช้างชนะงา” จะทูนผอบจำลองนี้ในขบวนแห่ พระเขี้ยวแก้วองค์จริงนั้นไม่เคยได้อัญเชิญออกมานอกพระวิหารเลย
ห้องภายในพระวิหาร ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระเขี้ยวแก้วนั้น โดยทั่วไปแล้วจะไม่เปิดให้กับสาธารณชน แต่เราได้รับอนุญาตให้เข้าไปได้ หลังจากนั้นเราก็ได้ประทักษิณที่บริเวณรอบห้องภายในพระวิหารสามรอบ ถวายสักการะ ณ “ที่สักการะสี่ทิศ” การบูชาปูชนียสถานต่าง ๆ ในศรีลังกานั้น เป็นโอกาสที่จะระลึกถึงพระผู้มีพระภาคและคำสอนของพระองค์ และระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ด้วยประการฉะนี้ เราเรียนรู้ว่าชีวิตเป็นเพียงขณะหนึ่งที่รู้อารมณ์หนึ่งเท่านั้น
ดิฉันได้บริจาคเงินจำนวนหนึ่ง และได้อธิษฐานว่า “ขอให้ข้าพเจ้าจงมีความตระหนี่น้อยลง” คุณสุจินต์เตือนดิฉันว่า แม้ในขณะที่เราอธิษฐานนั้นก็อาจจะมีความยึดมั่นก็ได้ เราอาจจะยึดมั่นในความเห็นว่า “ความตระหนี่ของเรา” หรือ “ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของเรา” นี่แสดงว่าปัญญาจะต้องแหลมคมขึ้นเพียงใด หาไม่แล้วเราก็จะไม่เห็นความยึดมั่นของตัวเอง และเข้าใจว่าอกุศลเป็นกุศล แม้แต่ในขณะที่เราทำความดี อกุศลจิตก็พร้อมที่จะเกิดขึ้นสืบต่อกุศลจิตโดยเร็ว
ระหว่างที่เราอยู่ที่แคนดี เจ้าภาพของเราได้กรุณาขับรถพาเราไปเที่ยวทุก ๆ วัน พาเราไปที่โรงเรียนในหมู่บ้านแห่งหนึ่งนอกกรุงแคนดี นักเรียนในโรงเรียนนี้ส่วนมากมาจากครอบครัวที่ยากจน ครูใหญ่ซึ่งเป็นผู้ที่เปี่ยมด้วยความอดทนและอุตสาหะ ได้ก่อตั้งชมรมของโรงเรียนขึ้น แม้จะมีอุปสรรคมากมายอย่างไรก็ตาม หลักการของเขาก็คือ “อย่าพร่ำบ่นถึงสิ่งที่ไม่มี จงทำให้อุปสรรคทุกอย่างเป็นโอกาสและการท้าทาย” ที่โรงเรียนนี้จึงไม่มีใครบ่นอะไรเลย
เราได้สนทนาธรรมกันในโรงเรียน และครูคนหนึ่งแปลภาษาอังกฤษเป็นภาษาสิงหฬ คำถามส่วนมากเป็นเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด เราจะพิสูจน์ได้อย่างไรว่าชาติหน้ามีจริง และเราจะพิสูจน์ได้อย่างไรว่ามีสวรรค์และนรก
เราได้อธิบายว่า วันนี้เราไม่มีความสงสัยว่ามีเมื่อวานนี้ ทั้งนี้เพราะวันนี้สืบต่อมาจากเมื่อวานนี้ พรุ่งนี้ก็จะสืบต่อจากวันนี้ แม้กระนั้นจิตต่าง ๆ (สภาพรู้ขณะหนึ่ง ๆ) ซึ่งเกิดขึ้นและดับไปก็สืบต่อจากขณะหนึ่งไปยังอีกขณะหนึ่ง จิตที่เกิดก่อนดับไปแล้ว แต่ก็มีปัจจัยของจิตทุกดวงที่ดับไปนั้นสืบต่อไปยังจิตดวงต่อไป เมื่อจิตดวงสุดท้ายของชาตินี้ดับแล้ว ก็มีจิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อ ซึ่งเป็นจิตดวงแรกของชาติหน้าคือ ปฏิสนธิจิต
จิตขณะแรกของชาตินี้เกิดขึ้น เป็นปฏิสนธิจิตของชาตินี้ ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าไม่มีปัจจัยให้เกิดขึ้น ปัจจัยของปฏิสนธิจิตนั้นมีอยู่ในชาติก่อน ปฏิสนธิจิตชาตินี้เกิดสืบต่อจากจิตดวงสุดท้ายของชาติก่อน
ถ้าเราอยากรู้ว่าชาติหน้าของเราจะเป็นอย่างไร เราก็ควรจะรู้ชาติปัจจุบันของเรา ชาตินี้มีนามธรรมและรูปธรรมต่าง ๆเกิดขึ้นและดับไป ชาติหน้าก็จะเป็นอย่างนี้อีก ชาติปัจจุบันนี้ก็จะเป็นอดีตชาติของชาติหน้านั่นเอง
มีคนสงสัยกันถึงเรื่องร่างกายในชาติหน้า ตราบใดที่มีปัจจัยให้เกิดใหม่ กรรมก็จะเป็นสมฏฐานก่อให้เกิดรูปพร้อมกับปฏิสนธิจิต ร่างกายของเราเมื่อวานนี้ดับไปหมดแล้ว แต่วันนี้ก็มีรูปที่เราเรียกว่า “ร่างกายของเรา” อีก เราไม่สงสัยเรื่องรูปเหล่านี้เลย แล้วทำไมจึงแคลงใจเรื่องชาติหน้าเล่า
บางครั้งก็มีความโน้มเอียงที่จะพิสูจน์การเกิดใหม่ โดยสอบสวนเรื่องที่มีผู้อ้างว่าระลึกชาติก่อนได้ การพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์และการหาเหตุผล จะไม่สามาถขจัดความสงสัยและการเข้าใจผิดให้หมดไปได้เลย การพิสูจน์เช่นนั้นก็ไม่ได้ทำให้ความกังวลที่จะเกิดกับ “ตัวเขา” หลังจากที่ตายไปแล้วหมดไป ความสงสัยและมิจฉาทิฏฐิจะหมดสิ้นไปได้ก็ด้วยปัญญา ที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงเท่านั้น
ที่กรุงโคลอมโบ เรามีรายการธรรมกับเด็ก ๆ เรายกตัวอย่างในสิงคาลกสูตร (ทีฆนิกาย ปกฏิกวรรค) เป็นการสอนเรื่องกุศลชนิดต่างๆ ที่ควรปฏิบัติในชีวิตประจำวัน คุณสุจินต์พูดถึงเรื่อความอดทน เมื่อเราขัดเคืองใจในอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ ก็แสดงว่าขาดความอดทน แต่เราอดทนต่ออารมณ์ที่น่าพอใจหรือเปล่า เราชอบสิ่งที่น่าพึงพอใจ และขณะใดที่มีโลภะ ขณะนั้นไม่มีความอดทน คุณสุจินต์กล่าวว่า “เมื่ออาหารวันนี้แสนเอร็ดอร่อย เราอดทนหรือเปล่า หนูจะรับประทานอาหารเพียงแค่ให้พอดำรงชีวิต หรือว่าจะรับประทานอีกเพราะชอบอาหารนั้น ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ไม่อดทน”
เด็ก ๆ อยากฟังนิทาน “ชาดก” (อดีตพระชาติของพระผู้มีพระภาค) ดิฉันจึงอธิบายว่า ชาดกสอนใจเราเรื่องพระคุณต่าง ๆ ที่พระโพธิสัตว์ได้สะสมตลอดภพชาตินับไม่ถ้วน คุณสุจินต์ถามเด็ก ๆ ว่า “หนูชอบฟังนิทานชาดกแล้วเรื่องของหนูเองเล่า” เราชอบฟังเรื่องของคนอื่น แต่เรารู้จักตัวของเราเองหรือเปล่า เราควรจะเรียนรู้เรื่องของเราเองด้วย

Butsaya
08-14-2009, 10:11 AM
ธรรมจาริกในศรีลังกา
โดย Nina Van Gorkom
แปลโดย พ.อ. ดร. ชินวุธ สุนทรสีมะ
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
http://www.dharma-gateway.com/image/rosebar-2.gif
บทที่ ๑๐

ดิฉันอ่านในหนังสือประวัติพระพุทธศาสนา (“ประวัติของพระพุทธศาสนาในศรีลังกา” โดยวัลโพลา ราหุล) ว่า ในสมัยโบราณการจาริกแสวงบุญในศรีลังกา เป็นที่นิยมกันในหมู่พระภิกษุด้วยเหตุผลหลายประการ ประโยชน์ข้อหนึ่งก็คือการได้จาริกไปกับครูอาจารย์ เป็นโอกาสที่จะได้ถกแถลงกันเรื่องข้อธรรมต่าง ๆ ในระหว่างการจาริกแสวงบุญของเราก็เช่นกัน เราได้ประโยชน์อย่างมากที่ได้สนทนาธรรมอย่างกันเอง และได้เรียนรู้การนำธรรมไปปฏิบัติกับสถานการณ์จริง ๆ ในชีวิตประจำวัน ในทางทฤษฎีเรารู้ว่าอะไรเป็นกุศลและอะไรเป็นอกุศล แต่ในชีวิตประจำวันของเรา เราลืมที่จะประพฤติธรรม
พระบรมศาสดาทรงสอนเราให้อดทน ซึ่งดูเหมือนจะง่าย แต่เมื่อสิ่งต่าง ๆไม่เป็นไปตามที่เราใคร่จะให้เป็น และเมื่อคนทั้งหลายก็ไม่ได้เป็นดังใจหวัง เราก็มักจะขาดความอดทน ความอดทนเป็นหัวข้อของการสนทนาธรรมของเราอยู่เสมอ คุณสุจินต์พูดว่า พระโอวาทปฏิโมกข์ที่พระสงฆ์สวดนั้น เริ่มด้นด้วยเรื่องความอดทนว่า
“ขันติคือ ความอดกลั้นเป็นตบะอย่างยิ่ง…” (ขันติ ปรมัง ตโป ตีติกขา..)
เราอาจสนทนากันอย่างยืดยาวเรื่องความอดทน โดยไม่รู้ตัวเลยว่าเมื่อไรมีความอดทน และเมื่อไรไม่มีความอดทน เมื่อจิตเป็นกุศลก็มีความอดทน และเมื่อจิตเป็นอกุศลก็ไม่มีความอดทน
ขณะเดินทางสิ่งต่างๆ มักไม่เกิดขึ้นตามที่กะไว้ เราหวังว่าจะได้ขึ้น “สิริปาทะ” (ดอยแอดัมส์) เป็นสถานที่ซึ่งพระสัมมาสมพุทธเจ้าได้เสด็จมา เราต้องยกเลิกรายการนี้ถึงสองครั้ง เพราะเวลาไม่อำนวยและเข้าหน้าฝนแล้ว เราคิดเสมอว่าเรากำหนดสถานการณ์ได้ด้วยการเตรียมการไว้ แต่จะเป็นไปตามแผนหรือไม่นั้นย่อมขึ้นอยู่กับปัจจัย เราไม่สามารถบีบบังคับสถานการณ์ต่างๆ โดยยืนยันให้เป็นไปตามแผนของเราได้ ในสถานการณ์เช่นนั้น เราต้องหัดอดทน ถ้าเราเข้าใจว่ามีแต่เพียงนามกับรูปเท่านั้นไม่ว่าเราจะอยู่บนภูเขาหรืออยู่ในเมือง ก็ทำให้เราอดทนขึ้น
เราควรอดทนในการพูดจา แม้ในเมื่อเราสนทนาธรรมก็ไม่ใช่ว่ากุศลจิตจะเกิดขึ้นตลอดเวลา เราอาจพูดด้วยความไม่อดทนผิดกาละ เราอาจพูดด้วยความยึดมั่นต่อคำพูดของเราเอง ขณะนั้นไม่มีเมตตาธรรมเลย
ในมัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ กกจูปมสูตร ข้อ ๒๖๗ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงลักษณะของวาจาต่าง ๆ ดังนี้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทางแห่งถ้อยคำที่บุคคลอื่นจะพึงกล่าวกะท่านมีอยู่ ๕ ประการ คือ กล่าวโดย กาลอันสมควรหรือไม่ สมควร ๑ กล่าวด้วยเรื่องจริงหรือไม่จริง ๆ ๑ กล่าวด้วยคำอ่อนหวานหรือคำหยาบคาย ๑ กล่าวด้วยคำประกอบด้วยประโยชน์หรือไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑ มีจิตเมตตาหรือมีโทสะภายในกล่าว ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลอื่นจะกล่าวโดยกาลอันสมควรหรือไม่สมควรก็ตาม จะกล่าวถ้อยคำประกอบด้วยประโยชน์หรือไม่ประกอบด้วยประโยชน์ก็ตาม จะมีจิตเมตตาหรือมีโทสะในภายในกล่าวก็ตาม ดูกรภิกษุทั้งหลายแม้ในข้อนั้น พวกเธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่าจิตของเราจักไม่แปรปรวน เราจักไม่เปล่งวาจาลามก เราจะอนุเคราะห์ด้วยสิ่งอันเป็นประโยชน์ เราจักมีจิตเมตตา ไม่มีโทสะในภายใน เราจักแผ่เมตตาจิตไปถึงบุคคลนั้น และเราจักแผ่เมตตาจิตอันไพบูลย์ใหญ่ยิ่งหาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท ไปตลอดโลกทุกทิศทุกทางซึ่งเป็นอารมณ์ของจิตนั้น ดังนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาด้วยอาการดังที่กล่าวมานี้แล ฯ
เราควรพูดในกาลอันควร และไม่ควรพูดในกาลที่ไม่สมควร เราจะต้องคำนึงถึงความรู้สึกของคนอื่นด้วย เมื่อไม่ใช่กาลที่สมควรแก่การสนทนาธรรม เราก็พูดกันเรื่องอื่นได้ด้วยกุศลจิต คุณสุจินต์บอกดิฉันว่า “เราปฏิบัติธรรมด้วยเช่นกันในเวลาที่เราไม่ได้สนทนาธรรม”
ดิฉันเคยคิดว่าการพูดเรื่องดอกไม้ผลไม้ ธรรมชาติ เด็ก ๆ และลูก ๆ หลาน ๆ มักจะเกิดขึ้นจากอกุศลจิตเสมอ และคิดว่าเป็น “ดิรัจฉานกถา” ตามที่กล่าวไว้ในทีฆนิกาย ศีลขันธวรรค มัชฌมศีล เช่น “พูดเรื่องพระราชา โจร เสนาบดี หรือกองทัพ ต่าง ๆ “สิ่งเหล่านี้ภิกษุไม่ควรพูด
พระธัมมธโร ได้อธิบายให้ดิฉันฟังว่า แม้แต่การพูดที่ระบุไว้ว่าเป็น ”ดิรัจฉานกถา” นั้นบางทีก็อาจเกิดขึ้นได้จากกุศลจิตได้ เช่น เมื่อเราพูดถึงพระราชาว่า แม้แต่พระราชาก็จะต้องสวรรคต จิตซึ่งระลึกถึงความไม่ยั่งยืนของชีวิตนั้นเป็นกุศลจิต
เราพูดเรื่องที่คนอื่นสนใจด้วยเมตตาและกรุณาได้ เมื่อคำนึงถึงความรู้สึกของคนอื่น คุณสุจินต์อธิบายให้ดิฉันฟังว่า การทำให้คนอื่นสบายใจไม่จำเป็นต้องเกิดจากโลภะ อาจเกิดจากกุศลจิตก็ได้ เช่น เมื่อเรากล่าวว่า “สวนสวยจริง ๆ” อาจพูดด้วยโลภะแต่ก็อาจจะพูดด้วยความเมตตา หรือด้วยความพลอยยินดี (มุทิตา) ก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพของจิตที่ทำให้พูดเช่นนั้น ในขณะที่เกิดความพลอยยินดีด้วยนั้น ไม่มีความริษยา สิ่งที่ถูกต้องที่สุดก็คือ เมื่ออยู่กับคนอื่นเราควรเจริญเมตตา กรุณา มุทิตา (ความพลอยยินดี) และอุเบกขา (การวางเฉย)
ดิฉันถามพระธัมมธโรว่า เวลาคนอื่นเล่าเรื่องอะไร ๆ ให้ฟังด้วยอกุศลจิต ดิฉันควรจะพูดอย่างไร ท่านได้ให้ข้อสังเกตว่า “เวลานั้นช่างเป็นโอกาสวิเศษสุดที่จะเจริญเมตตาและกรุณา” เมื่อมีเมตตาและกรุณา กุศลจิตก็รู้ว่าควรจะพูดอะไร
เราไปเยี่ยมคนหนึ่งที่ไม่ชอบเสียงดัง ๆ เอาเสียจริง ๆ เขาโกรธคนที่จุดประทัดเล่นสนุก ๆ ในวันปีใหม่ ดิฉันเห็นใจเขาเพราะเวลามีใครเปิดวิทยุดัง ๆ ดิฉันก็ขัดใจทันที เราไม่ชอบโทสะและความรู้สึกไม่สบายใจ แต่เรารู้สาเหตุของโทสะจริง ๆ หรือเมื่อเรามีปัญหา เราคิดถึงสาเหตุของปัญหาในทางที่ถูกหรือเปล่า สาเหตุนั้นเกิดจากภายในตัวของเราเองเสมอนั่นคือ จากกิเลสของเราเอง พระอรหันต์ทั้งหลายจึงไม่มีปัญหาอีกเลย
เราชอบสิ่งที่น่าพึงพอใจ และเราไม่ชอบสิ่งที่ไม่น่าพึงพอใจ โลภะเป็นปัจจัยให้เกิดโทสะ ดิฉันรู้อย่างนี้ทางทฤษฎี แต่เวลาเกิดไม่พอใจเมื่อไรก็ต้องมีคนเตือน คุณสุจินต์เน้นว่าเมื่อเกิดความขัดเคืองใจ ย่อมแสดงว่า โลภะซึ่งเป็นปัจจัยนั้นต้องมีกำลังเป็นอย่างมาก ซึ่งทำให้ดิฉันเห็นว่าอกุศลช่างน่ารังเกียจจริง ๆ ขณะใดที่ขุ่นเคืองใจ ขณะนั้นจะไม่มีความอดทนและไม่มีความสงบ
การรู้ลักษณะอาการต่าง ของอกุศลและกุศล นับว่ามีประโยชน์มาก ถ้าหากลักษณะอาการหนึ่งไม่เกิดประโยชน์แก่เราในขณะหนึ่ง ลักษณะอาการอีกอย่างหนึ่งอาจจะมีประโยชน์ก็ได้ การคิดถึงกรรมและวิบากทำให้เราอดทนมากขึ้น เวลาได้ยินเสียงที่ไม่ถูกหูและเกิดโทสะ เราไม่ควรลืมว่าการได้ยินเสียงที่ไม่น่าพึงพอใจเป็นผล (วิบาก) ของการกระทำที่ไม่ดี (อกุศลกรรม) ที่เราได้ทำไว้ การได้ยินนั้นมีปัจจัยทำให้เกิดขึ้นแล้ว และไม่มีใครเปลี่ยนแปลงได้ การได้ยินรู้เสียงที่ไม่น่าพอใจเพียงชั่วขณะหนึ่ง แล้วก็ดับไปทันที ไม่ยั่งยืนเลย
เมื่อใดไม่อดทนเมื่อนั้นก็มีอวิชชา อวิชชาปิดบังความจริง ปัญญาเห็นโทษของอกุศล และนี่เองที่เป็นปัจจัยให้กุศลเจริญขึ้น
จะต้องหัดอดทนต่อเหตุการณ์มากมาย ที่ดูไม่คอยจะสำคัญอะไรในชีวิตประจำวันของเราด้วยเช่นกัน เวลาที่ได้รับของขวัญ เช่น หนังสือที่เราไม่ชอบ เราควรจะหัดอดทน ด้วยการคิดถึงความเมตตาของผู้ให้ เป็นต้น
ดิฉันเกิดเป็นหวัดและสระผมไม่ได้หลายวัน คุณสุจินต์ได้เตือนให้ดิฉันอดทนแม้ในเรื่องนี้ด้วย ดิฉันมักจะมองข้ามข้อเท็จจริงเช่นนี้ แต่เรื่องเล็ก ๆ น้อยๆ เหล่านี้ไม่สำคัญกระนั้นหรือ มีมากมายหลายขณะเหลือเกินในชีวิตของเรา ที่ผ่านไปโดยไม่ได้สังเกต
กุศลจิต และอกุศลจิตเป็นปัจจัยต่อลักษณะหน้าตาของเรา ทำให้เกิดสีหน้าอาการต่าง เวลาเราหน้าตาบูดบึ้งไม่ใช่เพราะขาดการนึกถึงใจคนอื่นดอกหรือ ถ้าเราไม่ลืมข้อนี้ก็จะทำให้เราดีกับคนอื่นได้ ถึงแม้ว่าขณะนั้นเราจะเหน็ดเหนื่อยก็ตาม เจ้าภาพฝ่ายหญิงของเราที่อนุราธปุระเป็นคนที่ยิ้มอยู่เสมอ แม้ในขณะที่เราต้องเสียเวลาคอยรถนาน ๆ เดี๋ยวนี้ดิฉันเห็นคุณค่าของการคำนึงถึงจิตใจผู้อื่น แม้ในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ
เวลาเหนื่อยเรามักจะไม่พอใจ นี่ก็เกิดมาจากความยึดมั่นในสุขภาพและความสมบูรณ์ของร่างกายของเราเป็นปัจจัย “โทสะเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย” เราอาจจะพูดอย่างนี้ได้ ทั้งด้วยอกุศลจิตหรือด้วยปัญญา แม้ว่าเราจะพูดว่าโทสะเกิดจากเหตุปัจจัยก็ตาม แต่เราอาจจะยังถือว่าเป็น “โทสะของฉัน” และทำให้โทสะเป็นเรื่องสำคัญเสียเหลือเกิน เราอาจให้ความเหน็ดเหนื่อยของเราเป็นข้ออ้างที่จะต้องขัดเคือง ขณะที่ลักษณะของโทสะปรากฏ สติก็ระลึกรู้ได้ว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ตัวตน
กุศลขั้นวิปัสสนาอาจจะไม่เกิดบ่อย แต่ข้อสำคัญคือไม่ลืมที่จะเจริญกุศลทุกประการ เมื่อเราไปเยี่ยมหญิงชราคนหนึ่งที่อยู่ตามลำพังในที่ห่างไกลผู้คน เพื่อนคนหนึ่งตัดผมให้ท่านและเศษผมสีขาวก็ได้ร่วงหล่นลงมา ชั่วขณะหนึ่งเราอาจพิจารณา “กายคตาสติ” ผม..ซึ่งเป็นปัจจัยให้สงบได้ อีกขณะหนึ่ง เราอาจเจริญเมตตาในขณะที่ช่วยเหลือผู้สูงอายุท่านนั้น หรือขณะที่มองดูมดที่ไต่อยู่บนเสาประตูบ้านของท่าน ขณะต่อมาอาจจะศึกษาพิจารณาสิ่งที่ปรากฏทางตาว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น
จำเป็นที่จะต้องสงบเสียก่อนแล้วจึงจะเกิดสติระลึกรู้สภาพนามและรูปได้กระนั้นหรือ ในมัชฌิมนิกาย มหาสติปัฏฐานสูตร สูตรที่ ๑๐ อานาปานบรรพ ที่เกี่ยวกับการมีสติระลึกรู้ลมหายใจเข้าออก ปฏิกูลมนสิการบรรพ ระลึกรู้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และนวสีวถิกาบรรพ ระลึกรู้สภาพซากศพบ่งไว้ กระนั้นหรือ
เมื่อเราอ่านข้อความในพระสูตรนี้ทั้งหมด จะเห็นได้ว่าพระบรมศาสดามิได้ทรงสอนให้ต้องเจริญสมถะก่อนเลย พระสูตรนี้ (และในสูตรอื่น ๆ ทั้งหมด) สอนว่า ไม่ว่ากำลังทำอะไร เดิน ยืน นั่ง นอน เจริญความสงบ หรือกำลังทำกิจการงานอย่างหนึ่งอย่างใด สติก็จะระลึกสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนั้นได้ แม้แต่อกุศลจิตก็เป็นสิ่งที่สติระลึกรู้ได้ ตามข้อความในสติปัฏฐานสูตรตอนที่ว่าด้วย จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน “การพิจารณาจิต”
จิตที่เจริญสมถภาวนาก็เป็นสิ่งที่สติระลึกรู้ได้เช่นกัน ขณะที่สงบนั้นไม่มีนามรูปดอกหรือ ตัวอย่าง เช่น เมื่อจิตสงบเพราะระลึกถึงซากศพ สติปัฏฐานก็เกิดระลึกรู้สภาพธรรมใด ๆ ที่ปรากฏในขณะนั้นได้ นี้เป็นหนทางที่ทำให้ประจักษ์นามและรูปตามความเป็นจริงได้ในที่สุด ไม่มีหนทางอื่นอีกเลย
ตามที่เรารู้แล้วว่าปัญญาขั้นสมถะนั้นต่างกับปัญญาขั้นวิปัสสนา ปัญญาขั้นสมถะไม่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา การเห็น เสียง หรือการได้ยินที่กำลังปรากฏ ปัญญาขั้นสมถะจะกลับกลายเป็นปัญญาขั้นวิปัสสนาไปเองไม่ได้
บางครั้งเรารู้สึกว่าเวลาเหนื่อยหรือไม่สบายนั้น เจริญกุศลใด ๆ ไม่ได้เลย เราไม่ได้ถือเป็นข้ออ้างที่จะไม่เจริญกุศลดอกหรือ กรยึดมั่นในตัวตนเป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลหลายประการ
คุณสุจินต์บอกว่า “การไม่เห็นว่าตัวเองสำคัญเป็นปัจจัยให้กุศลเจริญ” การที่ได้อยู่กับคนอย่างคุณสุจินต์และคุณดวงเดือนซึ่งมีจิตเมตตา อดทน และมีน้ำใจอย่างเหลือเกินนี้เป็นที่ประทับใจยิ่ง คุณดวงเดือนไม่มองข้ามเรื่องเล็ก ๆ น้อยๆ เลย เธอรู้ว่าการแสดงความเอื้ออารีในสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ นั้นมีความสำคัญ เธอกับคุณสุจินต์พูดกันทุกวันเรื่องการให้ วันนี้จะให้อะไรใครบ้าง ทั้งสองได้นำของที่มีประโยชน์หลาย ๆ อย่างมาจากประเทศไทย เพื่อถวายพระ คุณดวงเดือนดูแลคนอื่น ๆ ด้วยความกรุณาตลอดวันและพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลืออยู่ทุกขณะ ดิฉันยังระลึกถึงความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของเธอ ซึ่งเป็นตัวอย่างอันน่าประทับใจอยู่เสมอ ตัวอย่างบุคคลเป็นประโยชน์มากกว่าคำพูด
คุณสุจินต์ได้ชี้ให้เห็นว่า การปลูกฝังนิสัยเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่นั้นทำให้คลายความยึดมั่นในสมบัติของตนเอง หากเราไม่ปลูกทานุปนิสัยแล้ว เราจะละวางความยึดมั่นร่างกายและจิตใจของเราได้อย่างไร เรายึดมั่นขันธ์ห้ายิ่งกว่าอื่นใด เราไม่อยากสูญเสียขันธ์ห้าเลย
การไม่มีโลภะ โทสะ หรือโมหะ ในขณะนี้ก็เป็นความอดทน คุณสุจินต์บอกว่า ถ้าเราไม่เจริญกุศลเดี๋ยวนี้ ก็มีปัจจัยมากขึ้นอีกที่จะให้เกิดอกุศล
พระธัมมธโรเตือนดิฉันว่าเราจะต้องปลูกฝังนิสัยอดทน ทั้งเมื่อยู่กับคนอื่นและเมื่อไม่ได้อยู่กับคนอื่น เมื่อเราอยู่กับคนอื่น ๆ เรามักจะมีโลภะบ้าง โทสะบ้าง แล้วก็ไม่อดทน ควรที่จะเจริญเมตตาและกรุณา แทนที่จะมีโลภะและโทสะ เวลาเราอยู่คนเดียว เราก็ชอบที่จะอยู่ตามลำพัง หรืออาจจะไม่ชอบอยู่ตามลำพังก็ได้ ในสถานการณ์เช่นนั้นเราก็ต้องอดทนด้วยเช่นกัน ถ้ามีสติระลึกรู้สภาพธรรมใด ๆ ที่ปรากฏแล้ว จะอยู่กับคนอื่น หรือไม่ได้อยู่กับใครก็ไม่สำคัญอะไรเลย จะต่างอะไรกัน ความจริงแล้วไม่มีคนมีแต่นามกับรูปเท่านั้น ที่สำคัญกว่าอื่นใดนั้นก็อยู่ที่สติระลึกรู้สิ่งที่ปรากฏ เพื่อที่จะได้เห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง
เราหมดความอดทนหรือเปล่าเวลาที่ดูเหมือนว่า เราไม่ได้เจริญปัญญาขึ้นแต่อย่างใดเลย การเจริญสติระลึกรู้นามและรูปนั้นจะต้องมีความอดทนเป็นชาติ ๆ ถ้าเราปลูกฝังนิสัยอดทนต่อสถานการณ์ทั้งหลายในชีวิตประจำวันแล้ว เราก็จะมีความอดทนมากยิ่งขึ้นในการเจริญวิปัสสนา เราจะมีความอดทนที่จะศึกษาพิจารณาสภาพธรรม โดยสติระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏขณะนี้ เราจะไม่เบื่อหน่ายที่จะศึกษา พิจารณานามและรูปบ่อย ๆ ไม่มีวันเพียงพอเลย
วันสุดท้ายที่ดิฉันอยู่ที่ศรีลังกาเป็นวันที่ชาวสิงหฬเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชา ซึ่งเป็นวันที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และดับขันธปรินิพพาน (หนึ่งเดือนก่อนหน้าประเทศอื่น ๆ ที่เป็นเช่นนี้ขึ้นอยู่กับวิธีการคิดคำนวณวัน) คนเป็นจำนวนมากรวมทั้งเด็ก ๆ พากันแต่งชุดขาว และถือศีลแปดอยู่กับบ้านหรืออยู่วัด
ที่ศรีลังกาดิฉันเกิดความชื่นชมการถือศีลแปดในวันวิสาขบูชา พวกเราเลยพากันถือศีลแปดด้วยความประทับใจในชาวสิงหฬที่เป็นตัวอย่าง เจ้าภาพหญิงคนหนึ่งของเราบอกดิฉันว่า เธอได้ถือศีลแปดเดือนละครั้งที่บ้าน และถ้าหากวันอุโบสถไม่สะดวกสำหรับเธอ เธอก็จะถือศีลแปดในวันอื่นแทน
การถือศีลแปดเป็นอีกทางหนึ่งที่ปลูกฝังนิสัยอดทน เวลาถือศีลแปดอยู่กับบ้าน ก็จะรู้ความจริงว่าเราติดนิสัยบริโภคอาหารในเวลาวิกาลมากเพียงใด เราไม่อดทนเรื่องอาหารด้วยมิใช่หรือ ในวันที่ถือศีลเช่นนั้น เตือนให้เรารู้ตัวว่าเราติดอะไร ๆ ที่เราเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดาในชีวิตประจำวัน เช่น การนอนบนเตียงอ่อนนุ่ม หรือนั่งบนเก้าอี้แสนสบาย
เวลาเหล่านี้มักจะผ่านเราไปโดยมิได้สังเกต เราไม่มีสติระลึกรู้สภาพธรรมเหล่านี้เลย
พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญการถือศีลแปด เพราะในวันนั้นผู้ถือศีลแปดได้ปฏิบัติตนตามอย่างพระอรหันต์
ในอังคุตตรนิการ อัฏฐกนิบาต อุโบสถวรรคที่ ๕ สังขิตตสูตร ข้อ ๑๓๑ มีข้อความว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ อันบุคคลเข้าอยู่แล้วย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก มีความรุ่งเรืองมาก มีความแพร่หลายมาก
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ อันบุคคลเข้าอยู่แล้วอย่างไรจึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก มีความรุ่งเรืองมาก มีความแพร่หลายมาก
อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ตระหนักชัดดังนี้ว่า พระอรหันต์ทั้งหลายละปาณาติบาต งดเว้นจากปาณาติบาต วางท่อนไม้ วางศาสตรา มีความละอาย เอื้อเอ็นดู อนุเคราะห์เกื้อกูลสรรพสัตว์อยู่ตลอดชีวิตในวันนี้ แม้เราก็ละปาณาติบาต งดเว้นจากปาณาติบาต วางท่อนไม้ วางศาสตรา มีความละอาย เอื้อเอ็นดู อนุเคราะห์เกื้อกูลสรรพสัตว์อยู่ตลอดคืนและวันนี้ เราชื่อว่ากระทำตามพระอรหันต์แม้ด้วยองค์นี้ และอุโบสถชื่อว่าจักเป็นอันเราเข้าอยู่แล้ว อุโบสถประกอบด้วยองค์ที่ ๑ นี้
ศีลข้ออื่น ๆ ก็โดยนัยเดียวกัน
เมื่อเราถือศีลแปดเป็นครั้งคราว เป็นโอกาสให้เราระลึกถึงพระครูของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และ พระอรหันต์ทั้งหลายผู้ปราศจากโลภะโดยสิ้นเชิง โลภะย่อมจะเกิดขึ้นเนือง ๆ แต่ถ้ามีสติระลึกรู้โลภะขณะที่ปรากฏ เราก็จะค่อย ๆ ละคลายการยึดโลภะว่าเป็นตัวตน
ในวันวิสาขบูชาพวกเราได้ถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์ที่ศูนย์ข่าวสารนั้น และต่อจากนั้นเราก็ไปวัดสองสามแห่ง ที่วัดหนึ่งเราเห็นเศษชิ้นส่วนเล็ก ๆ ของบาตรของพระบรมศาสดา ซึ่งขุดได้จากซากปรักหักพังของพระสถูปโสภราใกล้เมืองบอมเบย์ อีกวัดหนึ่งที่เราไป มีพระบรมธาตุของท่านพระสารีบุตรและของท่านพระโมคคัลลานะประดิษฐานอยู่ ที่ศรีลังการเรามีโอกาสมากที่จะระลึกถึงพระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และของพระอรหันต์ทั้งหลาย
ในตอนบ่ายได้มีการสนทนาธรรมที่ศูนย์ข่าวสารเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตา การเห็น การได้ยิน และสภาพธรรมต่าง ๆ ที่ปรากฏ คุณสุจินต์ได้กล่าวเน้นว่านามธรรมที่เห็น ไม่ได้ต่างกับเห็นในขณะนี้เลย ดูเป็นการยากที่จะรู้ลักษณะของสภาพเห็น และเรามักจะคิดว่าจะต้องต่างกับเห็นในขณะนี้ คุณสุจินต์กล่าวว่า “พิจารณาศึกษาเสียเดี๋ยวนี้ เมื่อมีการได้ยินก็ควรจะศึกษาพิจารณาสภาพธรรมที่ได้ยิน ไม่ใช่พิจารณาสภาพธรรมที่เห็น…ขณะใดที่หลงลืมสติ ขณะนั้นก็มีอวิชชา เมื่อมีสติระลึกรู้ ปัญญาก็เริ่มเจริญขึ้น”
คุณสุจินต์บอกว่าการเข้าใจสิ่งที่สติระลึกรู้เป็นสิ่งสำคัญมาก ตัวอย่างเช่น เราควรรู้ว่าการเห็นเป็นอย่างไร บ่อยครั้งเหลือเกินที่ดูเหมือนกับว่าเราเห็นคนและเห็นสิ่งของต่างๆ แต่นั่นไม่ใช่การเห็น เป็นการใส่ใจในรูปร่างและสัณฐาน ซึ่งเป็นการคิดถึงบัญญัติ ฉะนั้นถ้าหากเราถือสิ่งที่ไม่ใช่การเห็น ว่าเป็นการเห็นแล้ว ก็ไม่มีสติที่ระลึกรู้ตรงอารมณ์ที่ถูกต้อง เราไม่ควรจะท้อแท้ในความไม่รู้ของเรา เมื่อรู้ว่าขณะนั้นไม่ใช่สัมมาสติ ก็เตือนให้เกิดมีสติระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏนี้ ไม่ว่าจะเป็นการคิด ความสงสัย หรือนามธรรม หรือรูปธรรมใด ๆ
เมื่อมีสัมมาสสติก็ระลึกรู้สิ่งที่ปรากฏ เพียงทีละอย่างเท่านั้น ขณะนั้นจะไม่ปะปนสภาพเห็นกับสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือสภาพเห็นกับการใส่ใจในรูปร่างสัณฐาน ถ้ายังไม่มีสัมมาสติก็ไม่ควรจะประหลาดใจ เพราะว่าจะต้องศึกษา พิจารณาลักษณะของสภาพธรรมต่างๆ ด้วยความอดทนอย่างยิ่ง หนทางนี้เท่านั้นที่ปัญญาจะเจริญขึ้นได้
ร้อยเอกเปเรร่าและคุณซาร่าห์ได้มาส่งดิฉันที่ท่าอากาศยาน ระหว่างทางเราเห็นการตามประทีปโคมไฟและพระพุทธรูป ที่ประชาชนได้จัดทำขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชา ที่ท่าอากาศยานคุณซาร่าห์ได้เตือนดิฉันว่าเวลาที่เราคิดถึงคนและประเทศที่เราชอบ ขณะนั้นเป็นการคิดถึงบัญญัติและเราจะรู้สึกไม่ค่อยสบายใจ แต่ถ้าเราตระหนักว่าชีวิตดำรงอยู่เพียงชั่วขณะที่รู้อารมณ์หนึ่งแล้วก็ดับไปทันที เราก็จะมีปัญญารู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงมากขึ้น คุณซาร่าห์ได้กล่าวว่า “ศรีลังกาและผู้คนที่เราชอบพอ ตลอดระยะเวลาห้าสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น บัดนี้ทั้งหมดนั่นก็เป็นเพียงชั่วขณะหนึ่ง เป็นความคิดชั่วขณะนี้ แล้วก็ดับไป”
ชีวิตดำรงอยู่เพียงชั่วขณะเดียวเท่านั้น ชั่วขณะปัจจุบันนี้เท่านั้น