PDA

แสดงเวอร์ชันเต็ม : ช่วยรบกวนอธิบายคำเหล่านี้ด้วยครับ



iamwis
08-18-2009, 01:50 PM
สงสัยมานานแล้วแต่ไม่มีเวลาถามว่าคำเหล่านี้มีความหมายอย่างไรกันแน่ เพราะผมคิดว่าบางทีผมอาจจะเข้าใจคลาดเคลื่อน อยากให้ผู้รู้อธิบายให้ชัดเจนด้วยครับ

1."รู้ตัวทั่วพร้อม" เห็นใช้กันบ่อยๆ ในหนังสือหลายๆเล่ม อยากรู้ว่า รู้ตัวทั่วพร้อม ต้องรู้ขนาดไหน ถึงจะเรียกว่ารู้ตัวทั่วพร้อม รู้แค่ลมหายใจได้ไหม หรือว่ารู้อิริยาบท หรืออย่างไรกันแน่?
2."จิต กับ ใจ" 2 คำนี้ เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร บางตำราใช้คำว่าจิต บางตำราใช้คำว่า ใจ แล้วที่ว่าจิตมีหลายดวง แล้วใจ มีหลายดวงด้วยหรือเปล่า?
3. "กายในกาย จิตในจิต" 2 คำนี้ อธิบายได้อย่างไรบ้าง
4. "สังขาร" คือการปรุงแต่ง หรือ สังขารที่แปลว่าร่างกาย ทำไมใช้ไม่เหมือนกัน แต่เขียนเหมือนกัน

เอาแค่นี้ก่อนนะครับ นึกออกแล้วจะเอากลับมาถามอีก ขอบคุณครับ

ปีศาจ
08-18-2009, 06:40 PM
สวัสดีครับคุณiamwis

1."รู้ตัวทั่วพร้อม" หมาถึงการมีสติสัมปชัญญะ จะทำอะไรก็มีสติกำกับอยู่ตลอดเวลา โดยไม่พยายามเพ่งให้มากเกินไป คือรู้สักแต่ว่ารู้เท่านั้นเองครับ
3. "กายในกาย จิตในจิต" กายในกายหมายถึงการน้อมสติให้มาอยู่ในกาย พิจารณากาย คือ การกำหนดสติคือลมหายใจนั่นแหละเรียกว่ากายในกาย รู้อิริยาบถ มีสัมปชัญญะ พิจารณากายโดยความเป็นธาตุ พิจารณากายโดยความเป็นอสุภะ(สกปรก)ฯลฯ นี้เรียกว่ากายในกาย จิตในจิตหมายถึงกายพิจารณาจิต คือเห็นราคะ โทสะ โมหะเกิดขึ้นในจิตแล้วพิจารณาว่าสักแต่เป็นสภาวะหนึ่งๆที่ผ่านเข้ามาเท่านั้น
4. "สังขาร" สังขารที่ท่านบอกว่ามีสองความหมายนั่นก็ถูกแล้วครับ ถ้าทางโลกสังขารก็หมายถึงร่างกายของคนเราที่เห็นกันอยู่นี่แหละครับ ที่เขาว่ากันว่าสังขารไม่เที่ยงก็คือมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาครับ ส่วนในทางปฏิบัติธรรมสังขารนั้นคือสิ่งทีถูกปรุงแต่งขึ้นมา เป็นชอบหรือชัง
ชอบก็คือรัก พอใจ ส่วนชังก็คือเกลียด ไม่พอใจ ต่อสิ่งต่างๆ โดยใช้ความรู้สึกในใจของตนเป็นตัวตัดสิน สังขารอันนี้จะอยู่ในขันธ์ 5 อันอยู่ในหมวดธรรม แห่งสติปัฏฐานสี่ครับ
เท่าที่ผมทราบก็มีแค่นี้ต้องขออภัยด้วยนะครับที่ข้อสามไม่สามารถให้คำตอบได้ แต่ก็ยังมีผู้รู้ท่านอื่นๆอีกครับทีจะสามารถให้คำตอบได้

ป.ล.หากตอบผิดพลาดหรือขาดตกบกพร่องประการใดก็ขออภันมา ณ ที่นี้เป็นอย่างยิ่งครับ

สวัสดีครับ

D E V
08-19-2009, 12:15 AM
สวัสดีคับ คุณ iamwis
ยินดีที่ได้เจอกันอีกนะคับ

และขออนุโมทนากับ คุณปีศาจราชาหมาป่าน้ำแข็งสีเงิน ด้วยนะคับ


**************************************
ในความหมายของคำว่า รู้ตัวทั่วพร้อม เองก็มีหลายขั้นอ่ะคับ
อย่างเช่น การที่รู้สึกตัวว่ากำลังทำอะไร คิดอะไร
เช่น รู้ว่ากำลังนั่ง กำลังนอน กำลังยืน กำลังเดิน กำลังกิน
กำลังคิด กำลังดีใจ กำลังเสียใจ กำลังโกรธ กำลังชอบ ฯลฯ ต่างๆ เหล่านี้เป็นต้น
เมื่อมีความรู้สึกตัวอยู่ในขณะนั้น โดยทั่วไปเราก็เรียกว่า รู้ตัวทั่วพร้อม ใช่มั้ยคับ

การรู้สึกตัวทั่วพร้อมในลักษณะนี้
ก็เป็นไปด้วยความสงบระงับ มีสมาธิที่จรดอยู่กับการกระทำนั้นๆ
ไม่ซัดส่ายเลื่อนลอยไปที่เรียกว่า ไม่รู้สึกตัว
แต่ก็ยังเป็นตัวตน ตัวเรา ที่กระทำ
ไม่ได้ละคลายไถ่ถอน สักกายทิฏฐิ
คือสภาพที่ยึดถือไว้ว่าเป็นตัวตน เป็นเรา เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

หากแต่สติปัฏฐานที่จะเจริญขึ้นเป็นวิปัสสนาญาณ
ต้องมีสภาพธรรมจริงแท้ (รูป-นาม) เป็นเครื่องให้สติระลึก
สติสัมปชัญญะ ระลึกรู้ ระลึกได้ และรู้ชัด รู้ทั่ว
ในสภาพธรรมจริงแท้ที่กำลังปรากฏทีละขณะๆ
แล้วแต่จะปรากฏให้รู้ชัดทางทวารใด
ก็รู้ที่ตัวสภาวธรรมนั้น และรู้ทั่วพร้อมในแต่ละสภาวธรรมที่ปรากฏแต่ละทวาร

อย่างเช่น ทางตากำลังเห็นสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏ
สติสัมปชัญญะระลึกรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นเพียง สี ซึ่งเป็นรูปธาตุชนิดนึงเท่านั้น
หรือ ระลึกรู้สภาพเห็น-การเห็น ซึ่งเป็นเพียงนามธาตุชนิดนึงที่เกิดขึ้นรับรู้สีที่ปรากฏ
สี ไม่ใช่ การเห็น....การเห็น ก็ไม่ใช่ สี
เป็นคนละลักษณะ คนละอย่าง แต่ก็เกิดขึ้นประชุมกัน
จึงทำให้มีการเห็นสีต่างๆ ที่รวมกลุ่มกันเป็นรูปทรงสัณฐานต่างๆ
ทำให้เห็นเป็นวัตถุ สิ่งของ สัตว์ บุคคล ฯลฯ ตามความนึกคิดปรุงแต่ง

หรือทางหูกำลังได้ยินเสียง
สติสัมปชัญญะระลึกรู้ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏทางหูเป็นเพียง เสียง ซึ่งเป็นรูปธาตุชนิดนึงเท่านั้น
หรือ ระลึกรู้สภาพได้ยิน-การได้ยิน ซึ่งเป็นเพียงนามธาตุชนิดนึงที่เกิดขึ้นรับรู้เสียงที่ปรากฏ
เสียง ไม่ใช่ การได้ยิน...การได้ยิน ก็ไม่ใช่ เสียง
เป็นคนละลักษณะ คนละอย่าง แต่ก็เกิดขึ้นประชุมกัน
จึงทำให้มีการได้ยินเสียงซึ่งเป็นเพียงความดัง ความค่อย สูงๆ ต่ำๆ ทุ้มๆ แหลมๆ
กลายเป็นคำเรียก เป็นชื่อ เป็นความหมายต่างๆ ขึ้นมาตามการนึกคิดปรุงแต่ง

(ฯลฯ ทางจมูก ลิ้น กาย ก็โดยทำนองเดียวกันอ่ะนะคับ)

การที่สติสัมปชัญญะ ระลึกรู้ได้ทั่ว ถูก ตรง ในแต่ละสภาพธรรมจริงแท้ที่กำลังปรากฏ
ว่าเป็นเพียงรูปธาตุ หรือ นามธาตุ แต่ละอย่างๆ ที่เพียงเกิดขึ้นประชุมรวมกันชั่วขณะเท่านั้น
จึงค่อยๆ ละคลายไถ่ถอนสัญญาที่ทรงจำไว้เป็นกลุ่มก้อน เป็นตัวตน สัตว์ บุคคล
หรือความหมายเรื่องราวต่างๆ ตามการนึกคิดปรุงแต่งอันเป็นสิ่งสมมติขึ้น
เพราะประจักษ์ในสภาพธรรมจริงแท้ซึ่งเป็นเพียงรูปธาตุ นามธาตุ ที่ปรากฏในขณะนั้นทั่วถึงแทงตลอด
ไม่ใช่เพียงการคิดคะเนอนุมานเอาจากอาการที่เปลี่ยนไป หรือเรื่องราวที่เปลี่ยนไป
แล้วก็เห็นว่าไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล

แต่ทั้งนั้ทั้งนั้น
ไม่มีใครที่จะรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ได้ตลอดเวลา
ยิ่งถ้าเป็นสติปัฏฐาน ซึ่งมีรูป-นาม เป็นอารมณ์
สติสัมปชัญญะที่ระลึกรู้สภาพธรรมจริงแท้นั้น
ก็เกิดขึ้นทีละขณะๆ สลับกับความคิดที่ปรุงแต่งเป็นเรื่องราว ความหมายต่างๆ
อยู่ที่ว่าสติสัมปชัญญะนั้นจะเกิดขึ้นระลึกรู้ได้บ่อยๆ เนืองๆ หรือสืบต่อกันไปได้มากน้อยแค่ไหนน่ะคับ

ส่วนที่ว่า รู้แค่ลมหายใจได้ไหม หรือว่ารู้อิริยาบถ
แล้วแต่ขณะนั้นสิ่งใดปรากฏให้รู้ชัด
สติสัมปชัญญะก็เกิดขึ้นระลึกรู้สิ่งนั้นเป็นอารมณ์
ไม่ใช่การเพ่งจ้อง บังคับให้แช่นิ่งอยู่เฉพาะตรงนั้นตรงนี้ด้วยความเป็นตัวตนที่กระทำ
ที่สำคัญคือ ขณะนั้นที่รู้...รู้อย่างไร?

ดูรายละเอียดและตัวอย่างเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้น
ในกระทู้ตามลิงค์ที่ให้นี้นะคับ (อย่าลืมดูตรงด้านล่างด้วยนะคับ ว่ากระทู้นั้นๆ มีมากกว่า 1 หน้าหรือเปล่า)

มีตัวอย่างเรื่องกาย อิริยาบถ ในกระทู้นี้คับ
http://www.watkoh.com/board/index.php?topic=1905.0

มีตัวอย่างเรื่อง ลมหายใจ ในกระทู้นี้คับ
http://www.watkoh.com/board/index.php?topic=1560.0



(สำหรับในมหาสติปัฏฐานสูตร
ก็มีแสดงถึง บรรพ ต่างๆ มากมาย
ทั้งที่อนุเคราะห์เพื่อน้อมไปในสมถะก่อน
และอนุเคราะห์แก่วิปัสสนาน่ะคับ)



http://www.watkoh.com/board/Smileys/default/cool.gif เดฟ

D E V
08-19-2009, 12:17 AM
จิต กับ ใจ
ดูที่กล่าวไว้ในกระทู้ตามลิงค์ที่ให้นะคับ
http://www.watkoh.com/kratoo/forum_posts.asp?TID=2820&KW=%C1%E2%B9&PN=2



ส่วนที่ว่าจิตมีหลายดวง
ก็หมายถึง จิต มีหลายประเภท หลายชนิดนั่นเองคับ

จิตนั้นย่อมเกิดดับได้ทีละ 1 ดวงเท่านั้น
ไม่มีจิตเกิดพร้อมกันสองดวง สามดวง
เพียงแต่ว่าจิตที่เกิดขึ้นทีละ 1 ดวงนั้น
เป็นจิตประเภทต่างๆ กันไปน่ะคับ




http://www.watkoh.com/board/Smileys/default/cool.gif เดฟ

D E V
08-19-2009, 12:19 AM
อันนี้ เพิ่มเติมจากคุณหมาป่าฯ
เรื่องกายในกาย จิตในจิตคับ

(รู้สึกอันนี้คุณ iamwis เคยถามไว้แล้ว อิอิ)
http://www.watkoh.com/kratoo/forum_posts.asp?TID=3570&KW=%A1%D2%C2%E3%B9%A1%D2%C2




http://www.watkoh.com/board/Smileys/default/cool.gif เดฟ

D E V
08-19-2009, 12:37 AM
สังขาร เป็นอีกคำหนึ่งที่เราเจอในแต่ละที่ ก็อาจมีนัยยะต่างกันไปบ้าง

สังขาร โดยความหมายคือ ปรุงแต่ง สิ่งที่ปรุงแต่งเกิดขึ้น สิ่งที่ปรุงแต่งซึ่งกันและกัน
อย่างเช่น สังขารธรรม ก็หมายถึง ธรรมอันมีสภาพปรุงแต่งซึ่งกันและกันให้เกิดขึ้นเป็นไป
สังขารธรรมนี้หมายถึง ขันธ์ 5 นั่นเองคับ (ซึ่งก็คือรูป นาม หรือ รูป จิต เจตสิก)

ขันธ์ทั้ง 5 อันเป็นสังขารธรรมนี้
เป็นสภาพธรรมที่ปรุงแต่งซึ่งกันและกันให้เป็นไป ได้แก่
รูปขันธ์ (รูปธาตุ)
วิญญาณขันธ์ (จิต/นามธาตุ)
เวทนาขันธ์ (เจตสิก/นามธาตุ)
สัญญาขันธ์ (เจตสิก/นามธาตุ)
สังขารขันธ์ (เจตสิก/นามธาตุ)

แต่ทีนี้ พอกล่าวเฉพาะเจาะจงลงไปที่คำว่า สังขารขันธ์
ก็จะหมายถึงเฉพาะ เจตสิก 50 ประเภทเท่านั้น
อันได้แก่ ความรู้สึกนึกคิดเป็นไปต่างๆ ที่เกิดร่วมกับจิต
(เช่น ชอบ ชัง พอใจ ไม่พอใจ...ตามที่คุณหมาป่าฯ ยกตัวอย่าง)

กล่าวโดยรวมๆ...สังขารขันธ์ ก็คือ โลภะ โทสะ โมหะ
มานะ อิสสา ทิฏฐิ อุทธัจจะ วิจิกิจฉา ฯลฯ อื่นๆ อีกมากมาย
และรวมไปถึง สติ ปัญญา เมตตา หิริ โอตตัปปะ อโลภะ อโทสะ อโมหะ ฯลฯ
และอีกมากมายทั้งที่เป็นฝ่ายอกุศลและฝ่ายกุศล ซึ่งปรุงแต่งประกอบกับจิต
ทำให้มีความรู้สึกนึกคิดเป็นไปต่างๆ ทั้งหลายนั่นเองอ่ะคับ

(ในสังขารขันธ์นี้ จะยกเว้น สัญญา อันได้แก่สภาพที่จำได้หมายรู้ และ เวทนา คือความรู้สึก สุข ทุกข์ เฉยๆ)
(เป็นเจตสิก 2 ประเภทที่ปรุงแต่งจิตเช่นกัน แต่ว่าแยกแสดงออกมาเป็นอีก 2 ขันธ์)

ทีนี้ สังขาร ในความหมายที่ว่าเป็นร่างกาย สัตว์ บุคคลต่างๆ
ก็คือสภาพธรรมทั้งหลายที่ปรุงแต่งประชุมรวมกันเกิดขึ้น
แล้วก็สมมติว่า ถ้ามีรูปร่างลักษณะอย่างนั้นอย่างนี้
ก็เป็นร่างกายสัตว์ บุคคล รวมไปถึงสิ่งของต่างๆ
ซึ่งจำแนกได้เป็น 2 คือ

1. สังขารที่มีใจครอง หรือมีกรรมครอง (อุปาทินนกสังขาร)
อันได้แก่ คน สัตว์ เปรต เทวดา สิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ฯลฯ

2. สังขารที่ไม่มีใจครอง (อนุปาทินนกสังขาร)
อันได้แก่ ต้นไม้ใบหญ้า ภูเขา ฯลฯ สิ่งของต่างๆ ที่ไม่มีชีวิต

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายนัยยะที่เฉพาะเจาะจงลงไป
เช่น กายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขาร ฯลฯ และอื่นๆ อีกมากมาย
แต่เว้นไว้แล้วกันนะคับ จะได้ไม่สับสน
ไว้เจอที่ไหน สงสัยก็ค่อยเพิ่มเติมไปน่ะคับ




http://www.watkoh.com/board/Smileys/default/cool.gif เดฟ

ปล. หากไปเจอคำไหนที่ติดขัดสงสัย
ลองเสิชหาในเบื้องต้นได้ในนี้นะคับ http://84000.org/tipitaka/dic/

iamwis
08-19-2009, 10:39 AM
สาธุครับอาจารย์เดฟ เด๊่ยวผมจะปริ้นเก็บไว้อ่าน ขอบคุณครับ

iamwis
08-19-2009, 10:42 AM
แล้วจริต กับ สันดาน มีความหมายเหมือนกันหรือเปล่าครับ?

D E V
08-19-2009, 02:28 PM
จริต ความประพฤติ, พื้นนิสัย หรือพื้นเพแห่งจิตของคนทั้งหลายที่หนักไปด้านใดด้านหนึ่ง แตกต่างกันไปคือ
๑. ราคจริต ผู้มีราคะเป็นความประพฤติปกติ (หนักไปทางรักสวยรักงาม มักติดใจ)
๒. โทสจริต ผู้มีโทสะเป็นความประพฤติปกติ (หนักไปทางใจร้อนขี้หงุดหงิด)
๓. โมหจริต ผู้มีโมหะเป็นความประพฤติปกติ (หนักไปทางเหงาซึม งมงาย)
๔. สัทธาจริต ผู้มีศรัทธาเป็นความประพฤติปกติ (หนักไปทางน้อมใจเชื่อ)
๕. พุทธิจริต ผู้มีความรู้เป็นความประพฤติปกติ (หนักไปทางคิดพิจารณา)
๖. วิตกจริต ผู้มีวิตกเป็นความประพฤติปกติ (หนักไปทางคิดจับจดฟุ้งซ่าน)

http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=จริต#find3 (http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=จริต#find3)



สันดาน ความสืบต่อแห่งจิต คือกระแสจิตที่เกิดดับต่อเนื่องกันมา;
ในภาษาไทยมักใช้ในความหมายว่า อุปนิสัยที่มีมาแต่กำเนิด, อัธยาศัยที่มีติดต่อมา

http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=สันดาน#find2 (http://84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=สันดาน#find2)



******************************************


จิตนั้นสั่งสมทุกสิ่งทุกอย่างทั้งดีและชั่ว
และจิตดวงที่ดับไป ก็เป็นปัจจัยแก่จิตดวงที่เกิดต่อน่ะคับ
จึงทำให้แต่ละบุคคลมีจริตต่างๆ กันไปตามการสั่งสมสืบต่อกันมา (สันดาน)



http://www.watkoh.com/board/Smileys/default/cool.gif เดฟ

*8q*
08-19-2009, 06:27 PM
http://www.watkoh.com/board/Smileys/default/shocked.gifซ้าทุๆๆๆครับทุกท่านhttp://www.watkoh.com/board/Smileys/default/grin.gif

iamwis
08-20-2009, 01:51 PM
สาธุครับอาจารย์เดฟ กระจ่างจริงๆ

vini
08-27-2009, 06:00 AM
อนุโมทนาสาธุด้วยครับ

were
08-27-2009, 09:50 AM
อนุโมทนาด้วยนะครับ คุณเดฟ