PDA

แสดงเวอร์ชันเต็ม : ทางออกจากโลกด้วยพระอัฏฐังคิกมรรค พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)



**wan**
10-29-2008, 10:46 AM
http://www.bloggang.com/data/all4u/picture/1195387031.jpg

ทางออกจากโลกด้วยพระอัฏฐังคิกมรรค
พระธรรมเทศนาโดย
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)

ตีพิมพ์ใน วารสาร ธรรมจักษุ ปีที่ ๘๒ ฉบับที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๑


ณ วันนี้เป็นวันอัฏฐมีดิถีที่ ๘ ค่ำแห่งปักขคณนา พุทธบริษัทได้พร้อมใจกันมายังสมาคมนี้ ก็เพื่อประโยชน์จะได้สดับตรับฟังพระธรรมเทศนาเป็นข้อสำคัญ เมื่อได้ปฏิบัติบุพพกิจในเบื้องต้น คือไหว้พระสวดมนต์ และสมาทานอุโบสถศีลและเบญจเวรวิรัติเสร็จแล้ว ต่อนี้พึงตั้งใจฟังพระธรรมเทศนา ตามนัยที่จักแสดงต่อไป และขอเตือนว่าให้ท่านทั้งหลายหมั่นอนุสรณ์คำนึงถึงคุณความดีที่ตนได้ประพฤติมาแล้ว ตั้งต้นแต่ตนได้เข้าวัดฟังธรรมมาจนวันนี้ ได้รับความสุขกายสุขใจด้วยข้อปฏิบัติอย่างไรบ้าง ทาน ศีล ภาวนา ของตนพอจะเป็นที่อุ่นใจได้แลหรือ ศีลกาย ศีลวาจาของตนสะอาดดีแลหรือ ถ้าเห็นคุณความดีที่ตนได้ประพฤติมาพอเป็นที่อุ่นใจได้ ก้ควรอิ่มใจว่าเราเกิดมาไม่เสียชาติ เราได้บำเพ็ญคุณความดีไว้ถึงเพียงนี้แล้ว แม้มรณภัยจะมาถึงวันใดเราก็จักไม่ให้เกิดความเดือดร้อนกินแหนง จะยอมตายด้วยดี ตามนิสัยที่เราหมดอำนาจที่จะต่อสู้เขาได้ ถ้าได้อย่างนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ทำตนให้เป็นที่พึ่งแก่ตนได้ การหมั่นฟังธรรมย่อมทำตนให้เป็นคนองอาจกล้าหาญ เป็นอานิสงส์อย่างนี้ จึงเป็นกิจสำคัญควรยินดีอย่างยิ่ง

บัดนี้ จักแสดงพระธรรมคุณต่ออนุสนธิกถา พรรณนาเนื้อความในบทว่า สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม นั้นต่อไป ส่วนพระสูตร พระวินัย พระปรมัตถ์ รวมลงในปริยัติธรรม ได้แสดงพอได้ใจความแล้ว บัดนี้ จักแสดงปฏิบัติธรรมกับปฏิเวธธรรมไปด้วยกัน เพราะเป็นเหตุเป็นผลกัน คือจักแสดง ทางออกจากโลก โดยทางพระอัฏฐังคิกมรรค ซึ่งเป็นมัชฌิมาปฏิปทา

พระอัฏฐังคิกมรรคทั้ง ๘ นั้น ย่นลงเป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา คือปฏิบัติธรรมนั้นเอง แต่วิธีแสดงพระอัฏฐังคิกมรรคไม่เหมือนที่อื่น ในที่มาอื่น ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ศีล สมาธิ ปัญญาตรง ๆ แสดงเหตุไปหาผล ส่วนพระอัฏฐังคิกมรรคนี้ พระองค์ทรงแสดงผลก่อนเหตุ คือทรงแสดงปัญญาก่อนแล้วจึงทรงแสดงศีล สมาธิ ซึ่งเป็นตัวเหตุ ณ ภายหลัง เห็นจะเป็นเพราะผู้รับเทศนา คือพระเบญจวัคคีย์ทั้ง ๕ เป็นผู้รับเทศนา พระเบญจวัคคีย์เป็นผู้มีศีล มีสมาธิ เต็มบริบูรณ์อยู่แล้ว จึงทรงแสดงปัญญาก่อน คือทรงแสดงผลสาวหาเหตุ ถึงพุทธบริษัทอย่างพวกเราทุกวันนี้ ศีลก็มีปริบูรณ์อยู่แล้ว สมาธิก็คือการตั้งใจฟังพระธรรมเทศนา มิให้ใจฟุ้งซ่านไปในที่อื่น ก็เป็นองค์สมาธิอยู่แล้ว ควรฟังปัญญาก่อนได้เหมือนกัน สมฺมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ สมฺมาสงฺกปฺโป ความดำริชอบ สงเคราะห์ลงในปัญญาขันธ์ สมฺมาวาจา เจตนาวิรัติทางวาจาชอบ สมฺมากมฺมนฺโต เจตนาวิรัติทางกายกรรมชอบ สมฺมาอาชีโว เจตนาวิรัติทางเลี้ยงชีพชอบ สงเคราะห์ลงในศีลขันธ์ สมฺมาวายาโม ความเพียรชอบ สมฺมาสติ ระลึกชอบ สมฺมาสมาธิ ตั้งจิตไว้เสมอชอบ สงเคราะห์ลงในสมาธิขันธ์

บัดนี้จักอธิบายขยายเนื้อความขององค์มรรคทั้ง ๘ นั้นตามนิเทศและอัตโนมัติตามทางที่ได้ไต่สวนมาแล้ว เพื่อเป็นทางบำรุงปัญญาแห่งโยคาพจรเจ้าผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร

ในองค์สัมมาทิฏฐิ ปัญญาความเห็นชอบนั้นตามนับแห่งนิเทศแสดงว่าเห็นทุกข์ เห็นสมุทัย เห็นนิโรธ เห็นมรรค ชื่อว่า สัมมาทิฏฐิ ต้องอธิบายเห็นทุกข์ เห็นที่ไหน ต้องเห็นที่สกลกายของตนนี้แหละ เพราะสกลกายนี้เต็มไปด้วยชาติ ความเกิด ชรา ความแก่ มรณะ ความตาย ประจำเต็มที่อยู่เสมอ ตั้งแต่แรกเกิดมาจนถึงที่สุดแห่งชีวิต สกลกายนี้จึงชื่อว่าเป็นตัวทุกข์เป็นของควรกำหนดให้รู้ ส่วนทุกข์นี้อาศัยสมุทัยเป็นเหตุ ต้องไต่สวนให้รู้จักหน้าตาของสมุทัยให้ชัด จะแสดงไว้ในที่นี้พอเป็นตัวอย่าง ไม่ประสงค์จะแสดงให้ยืดยาว

สมุทัยนั้นก็คือความไม่รู้ตัวว่าตัวเป็นชาติ เป็นชรา เป็นมรณะ ไปรู้แต่ชาติ ชรา มรณะภายนอกซึ่งเป็นของไม่มีตัว คือชาติเป็นอดีตเกิดมาแล้ว ชรา มรณะเป็นอนาคต คือ แก่ ผมหงอก ฟันหลุด ตายเข้าโลง ซึ่งเป็นของไม่มีในตน ความไม่รู้ของจริงนี้แล เป็นตัวสมุทัย ควรละเสีย

ส่วนนิโรธนั้น คือองค์ปัญญาที่เกิดขึ้น เห็นชาติ เห็นชรา เห็นมรณะซึ่งเป็นปัจจุบัน มีประจำอยู่ในตัวทุกเมื่อ ส่วนชาติ ชรา มรณะที่เป็นอดีต อนาคต ซึ่งเป็นสัญญาของโลกนั้น ดับไป ชื่อว่าสังขารโลกดับ เป็นตัวนิโรธ

ส่วนมรรคนั้น ก็คือปัญญาที่รู้ว่าตนเป็นทุกข์ด้วยอาการนี้ ตนเป็นสมุทัยด้วยอาการนี้ ตนเป็นนิโรธด้วยอาการนี้ คือเห็นตัวของตัวเป็นมรรคเพราะเป็นทุกข์ด้วย เป็นสมุทัยด้วย เป็นนิโรธด้วย เป็นมรรคด้วย อันนี้เป็นตัวมรรค คือ มรรคเห็นมรรค ชื่อว่า สัมมาทิฏฐิ พ้นจากมิจฉาทิฏฐิทั้งสอง คือ สัสสตทิฏฐิ และ อุจเฉททิฏฐิ

เมื่อสัมมาทิฏฐิชำระมลทินนิลโทษบริสุทธิ์ดีแล้ว ความคิดนึกตรึกตรองก็ย่อมเป็นสัมมาสังกัปโป เป็นความดำริชอบอยู่เอง ในนิเทศแสดงว่า ดำริจะออกจากกาม ออกจากพยาบาท ออกจากวิหิงสา อธิบายว่า คือเห็นโทษของกาม เห็นว่ากามเป็นเครื่องเกี่ยวเกาะรัดรึงดวงจิตไม่ให้ผ่องใสบริสุทธิ์ จึงดำริหาจิตตวิเวก คอยกันไม่ให้จิตไปเกี่ยวเกาะในกาม และบำรุงดวงจิต ให้สัมปยุตต์ด้วยเมตตากรุณา กันพยาบาทวิเหสา เป็นลักษณะแห่งสัมมาสังกัปโป

เมื่อความดำริชอบมีขึ้นเป็นพื้นของใจอย่างนี้ ย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่จักกล่าววาจาชอบ เป็นสัมมาวาจา ในนิเทศแสดงว่าเว้นจากมิจฉาวาจา ๔ อย่าง คือเว้นกล่าวคำเท็จ เว้นกล่าวคำหยาบ เว้นกล่าวคำส่อเสียด เว้นกล่าวคำเหลวไหลหาประโยชน์มิได้ อธิบายว่า คำเท็จ คำหยาบ คำส่อเสียด รักษาง่าย คำเหลวไหลเฮฮาพูดเรื่องคนอื่น ไม่ได้ประโยชน์ทั้งตนและผู้อื่น รักษายากยิ่งนัก ต้องตั้งใจสมาทานว่า เราจักกล่าวแต่คำจริง คำอ่อนโยน คำสมานสามัคคี คำเป็นไปกับด้วยประโยชน์ มีชีวิตเป็นแดน และรักษาได้จริงด้วย จึงเป็นสัมมาวาจาในองค์อริยมรรค ถ้าเป็นแต่ได้บ้างเสียบ้างยังไม่แน่นอน เป็นแต่เพียงกุศลกรรมบถเท่านั้น สัมมาวาจานี้สำเร็จมาแต่สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโปเป็นเหตุ

เมื่อวาจาชอบเป็นพื้นของตนมีอยู่แล้ว ก็ย่อมเป็นธรรมดาที่จะประกอบกิจการงานด้วยกายชอบ เป็นองค์สัมมากัมมันโตอยู่เอง ในนิเทศมัคควิภังค์แสดงว่า เว้นจากมิจฉากัมมันโต คือการเว้นการฆ่าสัตว์ ๑ เว้นการลักฉ้อโกงเอาข้าวของของท่าน ๑ เว้นการเสพกามซึ่งไม่ใช่กิจของพรหมประพฤติ ๑ ชื่อว่ามัมมากัมมันโต อธิบายว่า ผู้เห็นโทษแห่งการฆ่าสัตว์ เห็นชีวิตเป็นของรักทั่วกัน ย่อมไม่ฆ่า ผู้เห็นโทษแห่งการลัก เห็นสมบัติเป็นของสงวนทุกคน ย่อมไม่ลัก ผู้เห็นโทษในกาม ย่อมไม่เสพกาม แต่การงานของกายต้องทำเพราะต้องเลี้ยงชีวิต เมื่อเห็นโทษแห่งทุจริตแล้ว เมื่อจะประกอบกิจการงานไม่ว่าประเภทใด ย่อมทำด้วยเมตตา เรียกว่า เมตตากายกรรม เป็นองค์สัมมากัมมันโต

เมื่อกายกรรมดี วจีกรรมชอบแล้ว และได้วัตถุมาเลี้ยงชีวิต ชื่อว่าเลี้ยงชีวิตดดยชอบธรรม เป็นสัมมาอาชีโว อธิบายว่า การเลี้ยงชีวิตเป็นสิ่งสำคัญ ข้อที่แสดงวจีกรรมและกายกรรมเป็นส่วนชอบดังแสดงมานั้น มีลักษณะเป็นสอง คือมีภายนอกและภายใน ภายนอกเล็งการงานที่ประกอบด้วยวาจา และกระทำด้วยกายทำให้สำเร็จโดยชอบธรรม ภายในเล็งวจีกรรมและกายกรรมที่ตรงกันกับใจ เป็นที่อาศัยเลี้ยงชีพ ชื่อว่าสัมมาอาชีโว คือบางพวกไม่ได้ทำการงานภายนอก เพียงแต่รักษาวจีกรรมและกายกรรม ดังพวกนักบวชต่าง ๆ ไม่นิยมว่าพวกไหน ถ้าแสดงแต่เพียงวจีกรรมและกายกรรมให้เป็นที่นำมาซึ่งความเลื่อมใส แต่ใจไม่ตรงกับวาจาและกาย คือเป็นมายาสาไถย ต่อหน้าประชุมชนประพฤติอย่างหนึ่ง ลับหลังปฏิบัติไปอีกอย่างหนึ่งดังนี้ ทำให้เขาเลื่อมใสด้วยกุหนะ หาลาภโดยวิธีโกง ได้ลาภสักการะมาเลี้ยงชีวิตผิดเหมือนกัน เหมือนอย่างขอทาน บางพวกเสื้อผ้าหรือย่ามพอจะมีดี ๆ นุ่งห่มใช้สอยอยู่บ้าง แต่แกล้งเอาผ้าขาด ๆ ท่อนเล็กท่อนน้อยมาเย็บติดต่อกันให้รุงรัง ประกาศตนว่าเป็นคนจนให้เขาเอ็นดู วาจาก็แสดงว่าจนไปทุกอย่าง ดังนี้เขากรุณาให้โดยการโกงของตัวอย่างนี้ ก็เป็นมิจฉาอาชีโวเหมือนกัน ต้องประพฤติตนให้ตรงกาย ตรงวาจา ตรงใจ จึงเป็นสัมมาอาชีโว

สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว ๓ องค์นี้ ถ้ามีบริบูรณ์ในผู้ใด ผู้นั้นชื่อว่ามีอริยกันตศีล เป็นอธิศีล ขันธสันดานของผู้นั้นชื่อว่าสีลขันโธ สำเร็จมาแต่สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป เมื่อผู้กระทำสกลกายของตนให้เป็นสีลขันธ์ได้แล้ว ความเพียรที่เป็นไปทางกาย ทางวาจา เป็นอันสำเร็จมาแล้วแต่สีลขันธ์ ส่วนสัมมาวายาโม เพียรชอบในองค์อริยมรรคนี้ เป็นไปในใจอย่างเดียว เพียรละบาปบำเพ็ญบุญ ตามนิเทศแสดงว่า เพียรละบาปที่ยังไม่เคยมี ไม่ให้มีขึ้น บาปที่เคยมีอยู่แล้ว เพียรละเสียด บุญที่ยังไม่เคยมี เพียรให้มีขึ้น บุญที่เคยมีอยู่แล้วเพียรรักษาให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้น ดังนี้ชื่อว่าสัมมาวายาโม อธิบายตามนัยว่า “สีลปริภาวิโต สมาธิ มหปฺผโล โหติ” ศีลนั้นแล เมื่อบุคคลอบรมให้เกิดให้มีแล้ว มีสมาธิเป็นมหาผล

ถ้าเล็งตามนัยนี้ ความเพียรในองค์อริยมรรคนี้เป็นตัวอุปการะแก่สมาธิ สติเป็นปัจจุปัฏฐานคือใกล้สมาธิ ต้องเพียรทำสติ ตามนิเทศท่านแสดงสติปัฏฐาน ๔ เป็นที่ตั้งของสติ คือ กาย ๑ เวทนา ๑ จิต ๑ ธรรม ๑ อธิบายว่า สติมีอันเดียวคือความระลึก ที่ตั้งของสติมี ๔ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม ให้พึงเข้าใจโดยชัดเจนว่า กาย เวทนา จิต ธรรม เป็นชื่อของสกลกาย อันนี้ ๆ หมาย ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศ วิญญาณ ประชุมกันเข้าเป็นหมวดเป็นก้อน ชื่อว่า กาโย หมายสุข ทุกข์ อุเบกขา ประจำเต็มสกลกายนี้อยู่เสมอ ชื่อว่า เวทนา หมายความรู้ประจำอยู่ทั่วสกลกายนี้เสมอ ชื่อว่าจิต หมายความเป็นเอง คือ ธรรมดาแระจำอยู่ทั่วสกลกายนี้เสมอ ชื่อว่าธรรม ให้ตั้วสติจำเพาะที่กาย เพ่งกาย กายดับ เป็นเวทนา เพ่งเวทนา เวทนาดับ เป็นจิต เพ่งจิต จิตดับเป็นธรรม สติปัฏฐานมีมรรคเป็นยอด ถ้าสติตั้งอยู่ที่ธรรมเป็นองค์สมาธิ จะเป็นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ หรือเป็นอัปปนาสมาธิก็ตาม ก็ชื่อว่าสมาธิ แต่ตามนัยนิเทศแห่งสัมมาสมาธิ ท่านหมายเอาอัปปนาสมาธิว่าเป็นองค์สัมมาสมาธิ ถ้าเป็นองค์สมาธิขึ้นได้เมื่อใด ความเพียรก็เป็นสัมมาวายาโม สติก็เป็นสัมมาสติ สมาธิก็เป็นสัมมาสมาธิเมื่อนั้น เพราะ ๓ องค์นี้เป็นอัญญมัญญปัจจัยแก่กันและกัน เป็นสมาธิขันธ์ขึ้น สำเร็จมาแต่สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโปเหมือนกัน

ที่แสดงมานี้เป็นประเภทแห่งมัคควิภาวนาเท่านั้น ส่วนนี้แสดงเพียงปฏิบัติธรรมอย่างเดียว ที่ว่ามัคคสมังคีนั้นพึงเข้าใจอย่างนี้ มัมมาทิฏฐิ เห็นชอบที่ใจ สัมมาสังกัปโป ดำริชอบที่ใจ สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว วิรัติเจตนาชอบที่ใจ สัมมาวายาโม เพียรชอบที่ใจ สัมมาสติ ตั้งสติชอบที่ใจ ใมมาสมาธิ ตั้งจิตไว้เสมอชอบที่ใจ คือองค์มรรคทั้ง ๘ มีพร้อมที่ใจ ชื่อว่า มัคคสมังคี เป็นเหตุที่จักให้เกิดญาณทัสสนะ วิปัสสนาญาณ เป็นปฏิเวธธรรม

ได้แสดงทางออกจากโลกด้วยพระอัฏฐังคิกมรรค พอเป็นทางดำเนิแห่งโยคาพจรผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสารไว้เพียงนี้ ส่วนปฏเวธธรรมเป็นผลของการปฏิบัติธรรม ปฏิบัติธรรมที่ได้แสดงมาแล้วคือ ศีล สมาธิ ปัญญานั่นแหละ เมื่อสามัคคีกันเข้าแล้ว ย่อมเป็นของมีกำลัง ให้เกิดยถาภูตญาณทัสสนะ คือรู้จริง เห็นจริงตามความเป็นจริงอย่างไร ในสกลกายอันนี้ ส่วนใดเป็นโลกิยธรรม ส่วนใดเป็นโลกุตรธรรม ก็รู้จริงตามความเป็นจริงอย่างนั้น คือโลกียธรรมปิดโลกุตรธรรม ส่วนสมมติทั้งสิ้นเป็นโลกิยธรรม เมื่อรู้เท่าสมมติทั้งสิ้น ชื่อว่ารู้โลก โลกดับเป็นวิมุติ สกลกายที่ยังเหลืออยู่เท่าเดิมนั้นแหละ แต่เป็นโลกุตรธรรมไปหมด ปัญญาที่เห็นโลกุตรธรรมนี้ เป็นวิมุติญาณทัสสนะ เป็นองค์ปฏิเวธธรรมอย่างสูง ชื่อว่าเป็นผู้ออกจากโลกได้

ปฏิบัติธรรม และปฏิเวธธรรม ตามที่แสดงมานี้ เป็น สฺวากขาโต ภควตา ธมฺโม คือเป็นพระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเทศนาดีแล้ว และเป็น สนฺทิฏฺฐิโก ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นด้วยตน และเป็น อกาลิโก ผู้ปฏิบัติไม่ต้องอ้างกาล เพราะเป็นของมีอยู่ทุกเมื่อ และเป็น เอหิปสฺสิโก อาจอวดเขาได้ เพราะเป็นของมีจริง และเป็น โอปนยิโก ผู้ปฏิบัติสามารถน้อมเข้ามาสู่ตนได้ และเป็น ปจฺจตฺตํ วิญญูชนทั้งหลายจะพึงรู้แจ้งจำเพาะตน ตรงตามนัยแห่งพระธรรมคุณที่ท่านประพันธ์ไว้ โดยนัยแสดงมา ด้วยประการฉะนี้

เมื่อพุทธบริษัทตรองตาม ได้ใจความชัดใจแล้ว อย่ามีความประมาท อุตสาหะปฏิบัติให้เกิดมีในตน จะได้รับผล คือความสุขสำราญ ทั้งในปัจจุบันและเบื้องหน้า โดยนัยดังวิสัชนามาด้วยประการฉะนี้



++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ข้อมูลจาก http://www.dharma-gateway.com/