PDA

แสดงเวอร์ชันเต็ม : การรู้จักคุณพระสงฆ์ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)



**wan**
10-29-2008, 10:57 AM
http://p.moohin.com/all/0470-061354.jpg

การรู้จักคุณพระสงฆ์
พระธรรมเทศนาโดย
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)


ตีพิมพ์ใน วารสาร ธรรมจักษุ ปีที่ ๘๓ ฉบับที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๔๑


แต่ก่อน ๆ มา พระเถรเจ้าทั้งหลาย ที่ได้บำเพ็ญเพียรในสมถะหรือวิปัสสนา เมื่อได้ตั้งใจไว้ว่า เราจะทำโลกุตรธรรมให้สำเร็จในเดือนทีแรก ครั้นเดือนแรกไม่สำเร็จ ก็ตั้งใจไว้ว่าเราจะทำให้สำเร็จในเดือนที่ ๒ ครั้นทำในเดือนที่ ๒ ไม่สำเร็จ ก็ตั้งใจทำในเดือนที่ ๓ ต่อไป เมื่อทำในเดือนที่ ๓ ไม่สำเร็จ มาถึงวันมหาปวารณาเช่นนี้ ท่านก็ตั้งใจว่า อย่างไรก็จะต้องเพียรให้สำเร็จโลกุตรธรรมวันนี้ทีเดียว แล้วตั้งใจกระทำความเพียรตลอดวันและคืน บางท่านก็สำเร็จ บางท่านก็ไม่สำเร็จ เมื่อมาถึงสมัยที่พวกเราจะพึงกระทำ ก็ควรเอาเป็นแบบแผนต่อไป เมื่อได้ตั้งเจตนาไว้อย่างไร ข้อนั้นก็ได้ทำให้สำเร็จตลอดมาได้ โดยปราศจากอุปสรรคเครื่องขัดข้องทุกประการ อันนี้ชื่อว่าเป็นลาภอันสำคัญยิ่งของพวกเรา ควรที่จะยินดีว่าไม่เสียทีที่ได้ลงมือกระทำ เมื่อไม่สำเร็จก็ควรที่จะตั้งใจว่า วันนี้เป็นวันมหาปวารณา ธรรมเนียมของพระท่านปวารณากัน คือให้โอกาสว่ากล่าวตักเตือนกันได้ เพื่อประสงค์จะให้เป็นคนว่าง่ายสอนง่าย จะได้ไม่เป็นคนหัวดื้อถือตัวมานะ แม้พวกเราก็ควรจะประพฤติตามแบบของท่าน

พระแต่ก่อนท่านเคยถือธรรมเนียมนี้เคร่งครัดดียิ่งนัก ควรที่จะทำตาม หรือจะถือธุดงควัตรอย่างใดอย่างหนึ่ง คือถือบริโภคมื้อเดียวที่เรียกว่า เอกาสนิกธุดงค์ ก็ตาม ถือเนสัชชิกธุดงค์ คือถือไม่นอน เว้นอิริยาบถนอนเสีย คงเหลืออิริยาบถ ๓ คือ ยืน เดิน นั่ง ด้วยประสงค์จะทำปฏิบัติบูชาในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็ดี จะฟังพระธรรมเทศนาก็ดี หรือจะเลี่ยงออกทำความเพียร เจริญสมถะวิปัสสนาอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ สุดแท้แต่จะสะดวก คือ แปลว่าให้ตั้งใจบำเพ็ญคุณความดีต่าง ๆ ส่วนใดที่ตนยังได้ไม่ถึง ยังบกพร่องอยู่ ก็ต้องรีบทำให้ได้ให้ถึง หรือให้บริบูรณ์เสียในวันนี้ทีเดียว ด้วยว่าชีวิตของสัตว์ทั้งหลายเป็นของล่อแหลมยิ่งนัก ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ปรารถนาได้ตามความประสงค์ ไม่ใช่เป็นของมีขีดขั้น คนที่มีอายุมาก ๆ อย่างพวกเรานี้ ไม่ใช่เขาอยากตายเมื่อไร เขาก็อยากจะเป็นอยู่ด้วยกันทั้งนั้น เป็นแต่เมื่อความตายมาถึง ก็จำต้องละไปเท่านั้นเอง แม้พวกเราก็เหมือนกันอย่างนั้นแหละ ถ้าคราวมรณะมาถึงเป็นต้องไปทีเดียว หนุ่มก็ต้องไป แก่ก็ต้องไป เหมือนต้นไม้ที่เล็กเขาก็ถอนก็ฟัน ที่ใหญ่เขาก็ตัดก็ฟัน คนก็เหมือนกัน ที่อ้วน ที่ผอม มีสติปัญญา หรือไม่มี ครั้นมรณะมาถึงก็ต้องตาย

เหตุนั้นพวกเราไม่ควรประมาท คือไหน ๆ ได้มาพบพระพุทธศาสนา และได้ตั้งศรัทธาความเชื่อความเลื่อมใสไว้ในพระพุทธศาสนาแล้ว ควรจะเตรียมหาเครื่องราง คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ไว้ สำหรับป้องกันตัว เพื่อไม่ให้กลัวความตาย เมื่อความตายมาถึงเข้าจะได้มีความอุ่นใจว่า เรามีเครื่องรางสำหรับป้องกันอยู่ในตัว แล้วจะไปกลัวอะไรกับความตาย แต่ถ้าไม่มีก็กลัวกันเท่านั้นเอง เหตุนั้นควรพากันทำเครื่องรางไว้สำหรับตัวทุก ๆ คน คือทำกายของตนให้สงบเสียจากกรรมอันเป็นบาป ทำวาจาของตนให้สงบเสียจากกรรมอันเป็นบาป ทำได้เพียงเท่านี้ ชื่อว่าได้เครื่องอุ่นใจอย่างสำคัญทีเดียว

การฟังพระธรรมเทศนาก็ประสงค์จะแต่งตนของตนให้เย็น ไหน ๆ ได้มาพบพระพุทธศาสนา ก็ควรที่จะหาความสุขความเย็นให้แก่ตนโดยแท้ แม้ในประเภทแห่งพระสังฆคุณที่แสดงมาโดยลำดับ ก็ประสงค์จะให้ฉลาดในทางหาความสุขความเย็นให้แก่ตนนั่นเอง และในประเภทแห่งพระสังฆคุณนี้ มีคุณเครื่องหมายที่รู้ทั่วกันคือ สุปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติดี อุชุปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติตรง ายปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อออกจากทุกข์ สามีจิปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติชอบยิ่ง ๔ อย่างนี้เป็นคุณสมบัติของพระสงฆ์

ก็ สุปฏิปนฺโน พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติดีนั้น คือ ดีกาย วาจา ใจ ดีกาย วาจา ก็คือศีลนี้เอง คือผู้รักษาศีล ๕ ก็ดีในชั้นศีล ๕ ผู้รักษาศีล ๘ ก็ดีในชั้นศีล ๘ ผู้รักษาศีล ๑๐ ก็ดีในชั้นศีล ๑๐ ผู้รักษาศีลพระปาฏิโมกข์ ก็ดีในชั้นศีลพระปาฏิโมกข์ ผู้รักษาศีลนี้ก็คือรักษากาย วาจาไม่ให้วิการไปในทางชั่ว เป็นของลำบากอยู่ในชั้นกายวาจานี้ ถ้าโง่จะรักษาไม่ได้เลย ถ้าฉลาดก็รักษาได้ไม่ยากอะไร คนโง่แล้วเชื่อกิเลส ทำตามกิเลส อยู่ในบังคับของกิเลส สุดแท้แต่ว่ากิเลสจะบังคับให้ทำอะไรก็ทำไปตามทั้งสิ้น ไม่สามารถจะข่มกิเลสได้ จะทำอะไรด้วยกาย วาจา ของตน ก็ไปเบียดเบียนคนอื่นให้เดือดร้อน ตนก็ไม่สุข ผู้อยู่ใกล้ก็ไม่สุขเหมือนกัน พระสงฆ์เป็นผู้ไม่เชื่อกิเลส บังคับกิเลสได้ จึงเป็นผู้มีกาย วาจาเรียบร้อย เป็น สุปฏิปนฺโน ปฏิบัติดีทางกาย วาจา ใจ และเป็น อุชุปฏิปนฺโน ปฏิบัติตรง คือกายกับใจ สาจา กับ ใจ ตรงกัน ใจคิดเช่นใด กายวาจาก็ทำเช่นนั้น คนที่ไม่เป็น อุชุปฏิปนฺโน เป็นผู้ปฏิบัติคด ปฏิบัติงอ คือใจคิดอย่างหนึ่ง วาจาพูดอย่างหนึ่ง หรือใจคิดอย่างหนึ่ง กายทำอย่างหนึ่งไม่ตรงกัน เรียกว่า วงฺกปฏิปนฺโน ปฏิบัติคด ปฏิบัติงอ จะเป็นพระก็ตาม เป็นฆราวาสก็ตาม ไม่ใช่ สาวกสงฺโฆ ผู้ที่เป็นสาวก สังโฆ ต้องเป็นผู้ทรงคุณ คือปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง น่าเลื่อมใสอย่างนี้

ายปฏิปนฺโน พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อออกจากทุกข์ คือดำเนินตามศีล สมาธิ ปัญญานี้เอง เพราะพระสงฆ์ท่านผู้ปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา จึงได้นามว่า ายปฏิปนฺโน ปฏิบัติตามทางเพื่อจะออกจากทุกข์ อันนี้เป็นคุณสมบัติส่วนพิเศษของพระสงฆ์

สามีจิปฏิปนฺโน ปฏิบัติชอบยิ่ง คือปฏิบัติน่าไหว้น่ากราบ นี้ก็ไม่ใช่อื่น คือปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญานั่นเอง พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติตัวของท่านให้เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา จึงเป็นผู้น่ากราบ น่าเลื่อมใส น่านับถือ คือเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติเพื่อออกจากทุกข์ จนออกจากทุกข์ได้

เมื่อใครมารู้ว่า พระสงฆ์เป็นผู้ทรงคุณเช่นนี้ก็เลื่อมใส อันนี้เป็นคุณอย่างยิ่งของพระสงฆ์ที่รู้กันอยู่ทั่วไป เมื่อพุทธบริษัททราบคุณของท่านที่เรียกว่า สุตฺวา อริยบุคคล คือพระอริยบุคคลผู้ได้ยินได้ฟังแล้วเช่นนี้ ก็ควรน้อมเข้ามาสู่ตนว่า เราได้ปฏิบัติตัวของเราให้เป็น สุปฏิปนฺโน อุชุปฏิปนฺโน ายปฏิปนฺโน สามีจิปฏิปนฺโน แล้วหรือ เราได้บำเพ็ญข้อปฏิบัติให้บริบูรณ์จนเป็นที่น่ากราบ น่าไหว้ น่าเลื่อมใส น่านับถือ หรือน่ารับเครื่องสักการะของโลกแล้วหรือ ถ้าน้อมข้อปฏิบัติเข้ามาสู่ตนของตนได้ จนเป็นที่น่ากราบ น่าไหว้ น่าเลื่อมใส น่านับถือ หรือน่ารับเครื่องสักการะของเขา ไม่ทำให้เป็นผู้ที่เขาพึงรังเกียจ อย่างนี้เป็นลักษณะของ สาวกสงฺโฆ ถ้าปฏิบัติไม่ได้จะไปมัวชมแต่คุณของท่านเท่านั้น ก็ไม่สู้จะมีประโยชน์อะไรนัก

ความจริงคุณของพระสงฆ์ก็มีอยู่ในตัวของเราทุกคน เป็นแต่จะรู้หรือไม่รู้เท่านั้น ที่เราปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา นี้ก็เป็น สุปฏิปนฺโน ปฏิบัติดี เป็น อุชุปฏิปนฺโน ปฏิบัติตรง เป็น ายปฏิปนฺโน ปฏิบัติเพื่อออกจากทุกข์ ที่มารู้ของจริงตามความเป็นจริงอย่างไรนี้ก็เป็น สามีจิปฏิปนฺโน ปฏิบัติชอบยิ่งน่ากราบน่าไหว้ น่าเลื่อมใส น่านับถือ คุณของพระสงฆ์ ๔ ประการนี้ตนต้องรู้ด้วยตนเอง คนอื่นมารู้ไม่ได้ ให้ตรวจดูที่ตัวของเรานี้ ถ้ามีก็เป็นสรณะที่พึ่ง ได้ชื่อว่ามี่เครื่องราง ตายก็ไม่กลัว จะเป็นผู้มีความองอาจกล้าหาญด้วยอาการอย่างนี้

พระสงฆ์มีคุณโดนอเนกประการ เพราะ สุปฏิปนฺโน เป็นต้นนี้แหละ ท่านจึงได้อยู่เป็นหมวดหมู่ แล้วตั้งสังคายนาร้อยกรองธรรมวินัยให้ได้ศึกษาเล่าเรียนกันตลอดมา จนบัดนี้กาลก็ล่วงไปถึง ๒,๕๐๐ ปีเศษแล้ว พระศาสนาก็ยังรุ่งเรืองประดิษฐานอยู่ได้ ที่ประดิษฐานอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้ก็เพราะพระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติตรง ถ้าไม่ดี ไม่ตรงก็คงไม่นำมาได้จนถึงทุกวันนี้ โอวาทของพระพุทธเจ้า เราได้ยินได้ฟังทุกอย่างข้อนี้เพราะอะไร เพราะพระสงฆ์นำมาแนะนำสั่งสอนให้เราได้ยินได้ฟังแล้วชักจูงใจของเราให้มีกำลังกล้าหาญในการที่จะประพฤติปฏิบัติยิ่ง ๆ ขึ้นไป นับว่าได้เพิ่มความรู้ให้แก่เราขึ้นอีกเป็นอันมาก พวกเราจึงได้พากันเลื่อมใสในคุณของท่าน ส่วนสังฆคุณอีก ๕ บทเบื้องปลาย คือตั้งแต่ อาหุเนยฺโย เป็นต้นไป เป็นพระสังฆคุณส่วนปรัตถประโยชน์คือเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้อื่น มีเนื้อความว่า อาหุเนยฺโย เป็นผู้ควรจะไปรับของที่เขาจัดไว้ถวายในที่อยู่ของเขา ทกฺขิเณยฺโย เป็นผู้ควรรับของที่เขาให้ด้วยมือเบื้องขวา อญฺชลิกรณีโย เป็นผู้ควรรับกราบไหว้ของโลก อนุตฺตรํ ปุญฺกฺเขตฺตํ โลกสฺส ท่านเป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีเนื้อนาบุญอื่นจะยิ่งกว่า โลกมีประสงค์ด้วยบุญก็ต้องหว่านในเนื้อนาคือพระสงฆ์ ๕ บทเบื้องปลายนี้เป็นคุณของพระสงฆ์ที่มีแก่ผู้อื่น

อาหุเนยฺโย พระสงฆ์เป็นผู้ควรรับของที่เขานำมาเหมือนที่เขาจะทำบุญ เป็นกฐิน ผ้าป่า หรืออะไรก็ตาม เมื่อเขานำมาถึงถิ่นของท่าน ท่านก็เป็นผู้ควรรับของ ๆ เขา ทำเขาให้ยินดีได้ และที่เขาตั้งไว้ในบ้านในเรือนของเขา เขามานิมนต์ไปรับ ท่านก็ควรไปรับถึงถิ่นของเขา เพราะแม้ท่านไปก็อาจทำให้เขาเลื่อมใสได้ จึงชื่อว่า ปาหุเนยฺโย

ทานที่เขาต้องการความสุขทั้งชาตินี้ชาติหน้า หรือที่เขามีเจตนาจะส่งไปถึงญาติมิตรผู้ล่วงลับไปแล้วและให้ อย่างนี้นับเข้าในทักขิณาทาน ทานมี ๒ อย่าง คือ ทานอย่างสูงเรียกว่า ทักขิณาทาน คือ ให้ด้วยความเลื่อมใสเต็มอกเต็มใจให้ ไม่ได้ให้โดยเสียไม่ได้ จึงเป็นทักขิณาทาน เป็นทานอย่างสูง อีกอย่างหนึ่งเรียกว่า วามทาน แปลว่า ทานเบื้องซ้าย เหมือนอย่างให้ทานพวกยาจก วณิพก หรือคนกระจอกงอกง่อย ก็จัดเป็นทานเหมือนกัน แต่เป็นเบื้องซ้าย เพราะไม่ได้ให้ด้วยความเลื่อมใสอะไร เป็นแต่สงสารหรือมีความรำคาญก็ให้ส่ง ๆ ไป จึงเป็น วามทาน เป็นทานเบื้องซ้าย ทานเบื้องซ้ายนี้มีผลน้อย สู้ทักขิณาทาน ซึ่งเป็นทานเบื้องขวาไม่ได้ พระสงฆ์เป็นผู้บริบูรณ์ด้วยคุณสมบัติที่น่าเลื่อมใส จึงเป็นผู้ที่ควรถวายด้วยมือเบื้องขวา และท่านก็เป็นผู้สมควรที่จะรับของที่เขาถวายด้วยมือเบื้องขวาด้วย จึงชื่อว่า ทกฺขิเณยฺโย

อญฺชลิกรณีโย พระสงฆ์เป็นผู้ควรรับไหว้ของเขาคือท่านเป็น สุปฏิปนฺโน ปฏิบัติดี ดับทุกข์ได้แล้ว จึงควรรับกราบไหว้ของเขา การที่เขากราบไหว้ เขาก็ไม่ได้ประสงค์อย่างอื่น ที่เขากราบไหว้นั้นเขาประสงค์บุญ เมื่อเขาไหว้ผู้มีบุญ เขาก็ได้บุญเหมือนกัน เพราะโมทนาแด่ท่านผู้มีบุญ อย่าว่าถึงผู้ไหว้เลย เพียงแต่เห็นเท่านั้น แล้วเกิดศรัทธาความเชื่อความเลื่อมใส ท่านว่าตาของผู้นั้นจะใส ไม่มีฝ้า ไม่มีต้อตลอดไปได้ตั้งร้อยชาติ พันชาติ หรือในมงคลสูตร ท่านก็แสดงไว้ว่า สมณานญฺจ ทสฺสนํ การเห็นการดูท่านผู้ระงับทั้งหลาย ชื่อว่าเป็นมงคลอย่างสูงสุด เพราะคุณสมบัติมี สุปฏิปนฺโน เป็นต้น มีพรักพร้อมบริบูรณ์ในตนของพระสงฆ์ ท่านจึงชื่อว่า อญฺชลิกรณีโย เป็นผู้ควรรับกราบ ควรรับการไหว้ของเขา

อนุตฺตรํ ปุญฺกฺเขตฺตํ โลกสฺส พระสงฆ์เป็นเนื้อนาบุญของโลก เหมือนนาที่เขาหว่านพืช ถ้าเป็นเนื้อนาที่ดี เมื่อหว่านพืชลงไป ก็ย่อมได้ผลอย่างไพบูลย์ฉันใด พระสงฆ์ก็ฉันนั้น คือเป็นเนื้อนาบุญของผู้ต้องการบุญ ผู้จะหว่านพืชลงในเนื้อนาบุญ คือพระสงฆ์ ก็ต้องหว่านด้วยการให้ทาน คือ อาหาร ผ้านุ่ง ผ้าห่ม และ เสนาสนะที่อยู่ที่อาศัยเป็นต้น ที่เราให้ทานและประพฤติสามีจิกรรม มีกราบไหว้เป็นต้น แก่พระสงฆ์นั้น ชื่อว่าเป็นอันได้หว่านพืชลงในเนื้อนาบุญ คือพระสงฆ์ และผลของบุญที่ทำลงไปนี้ อาจเห็นได้ในปัจจุบัน ผู้ใดทำ ผู้นั้นก็จะเห็นผลได้ด้วยตนเอง คือในเบื้องต้น ตนก็เป็นผู้ยินดีแต่เพียงให้ทาน ครั้นให้ไป ๆ หนักเข้าก็จะอดรักษาศีลไม่ได้เมื่อรักษาศีลแก่กล้าก็อดทำสมถะวิปัสสนาไม่ได้ การที่มาทำศีล สมาธิ ปัญญาให้เกิดให้มีขึ้นในตนนี้ เป็นผลที่ได้มาจากการหว่านพืชในพระสงฆ์

การหว่านพืชในพระสงฆ์ด้วยการให้ทานนี้เป็นข้อสำคัญสามารถจะทำใจให้กล้าหาญในการปฏิบัติคุณธรรมอย่างสูงยิ่ง ๆ ขึ้นไป เพราะเหตุนี้ในที่มาต่าง ๆ ท่านจึงว่าทานเป็นใหญ่ ผู้มายินดีในการให้ทาน ก็เพราะมารู้คุณของพระสงฆ์ ผู้ไม่รู้จักคุณของพระสงฆ์จึงให้ทานไม่ได้ เมื่อให้ทานไม่ได้ จะรักษาศีลได้อย่างไร เมื่อรักษาศีลไม่ได้ สมาธิและปัญญาจะเกิดขึ้นได้อย่างไรเมื่อศีล สมาธิ ปัญญาไม่มี จะรู้จักคุณของพระสงฆ์ได้ที่ไหน เหตุนั้นจึงเป็นการสมควรที่จะพึงกระทำคุณของพระสงฆ์ให้เกิดให้มีขึ้นในตน ให้ปรากฏขึ้นที่ใจของตน เมื่อทำให้ปรากฏขึ้นได้ก็จะรู้จักคุณของพระสงฆ์ได้ทันที ว่าพระสงฆ์ท่านเป็นผู้ทรงคุณคืออย่างนี้ ๆ ทีเดียว แต่นั้นก็จะเกิดศรัทธาปสาทะในพระสงฆ์มั่นคงไม่ลังเล ชื่อว่าได้ทำสรณะที่พึ่งให้แก่ตนได้โดยไม่ต้องสงสัย

เหตุนั้น เมื่อพุทธบริษัทได้สดับในประเภทแห่งพระสังฆคุณฉะนี้แล้ว พึงตรวจดูว่า ในประเภทแห่งพระสังฆคุณนี้ เราได้ทำให้มีในตัวเราพรักพร้อมบริบูรณ์แล้วหรือยัง ถ้าส่วนใดพรักพร้อมแล้วก็ควรยินดี ถ้ายัง ก็ควรรีบทำให้เกิดให้มีเสียในวันนี้ทีเดียว



+++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ข้อมูลจาก http://www.dharma-gateway.com/