PDA

แสดงเวอร์ชันเต็ม : หมดกำลังใจ (ทำความดี) (ภาคสอง) โดย คนเดินทาง



**wan**
12-17-2009, 10:05 AM
http://www.yenta4.com/cutie/upload/502/1502/4a83e56320faf.gif


หมดกำลังใจ (ทำความดี) (ภาคสอง)
โดย คนเดินทาง


หากเรากำลังรู้สึกว่า “ ทำดีแล้วไม่ได้ดี ” ขอให้พึงรู้เถิดว่า เรามีกิเลสที่เป็นความหวังในผลแห่งการทำความดีเสียแล้ว เราก็จึงกลายเป็นผู้ทำบุญปนบาปไปอย่างน่าเสียดาย......


อะไรจะเกิดขึ้นหากเป็นไปอย่างนี้?..... ก็อานิสงส์แห่งบุญนั้นย่อมไม่รุ่งเรืองเลย......


ครั้นอะไรต่อมิอะไร ไม่เป็นตามที่หวัง “ ไม่ได้ดั่งใจ ” ไม่เป็นไปตามใจที่

ปรารถนา ก็เกิดความท้อแท้ หมดกำลังใจในการทำความดี......เกิดความขัดเคือง

เพราะไม่เห็นประโยชน์เสียแล้ว คราวนี้ก็เห็นแต่โทษเท่านั้น


ถามว่า เพราะเหตุใดหนอ จึงเกิดสภาพอย่างนี้ได้?


คำตอบ ก็คือ เพราะเราขาดสัทธา และเป็นสัทธาที่ประกอบปัญญา....


สัทธานั้นเกิดได้แต่ก็จะไม่แข็งแรง หากขาดการอุปการะจากปัญญาด้วย


สัทธา ในอะไรหรือ? ก็สัทธาในกรรม เชื่อในผลของกรรม เชื่อว่ากรรมนั้นเป็นของสัตว์ สัทธาในการตรัสรู้ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า.....


นี้เป็นปัญญา ที่เรียกว่า กัมมัสสกตาปัญญา อันเป็นปัญญาที่เกิดจากการฟัง และพิจารณาไตร่ตรอง และที่แน่ๆ กิจอย่างนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราได้พบกัลยาณมิตรและได้ฟังธรรมจากท่าน


จึงมักกล่าวเสมอว่า กัลยาณมิตรนั้น สำคัญมากจริงๆ...ขาดไม่ได้เลย

ยิ่งสำหรับผู้ที่จิตใจยังไม่เข้มแข็ง..... ยังไม่สามารถมีตนเป็นที่พึ่งได้อย่างแท้จริง

ยังไม่สามารถมีกัลยาณมิตร คือ จิตที่เป็นมหากุศลประกอบปัญญาได้อยู่เนืองๆ ก็

ต้องอาศัยกัลยาณมิตรที่อื่นก่อน ก่อนที่จะพบกัลยาณมิตรภายในได้


ปัญหาที่บางท่านรู้สึกท้อแท้นั้น เป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องธรรมชาติ อย่าเพิ่งท้อถอย


เปรียบเหมือนด็กที่ขี่จักรยานไม่เป็น ก็ต้องมีคนคอยแนะคอยสอนจนกว่าจะขี่ด้วยตัวเองได้.... ระหว่างทางแห่งการฝึกนั้น... ถามว่า เด็กผู้นั้นจะไม่พึงหกล้ม ได้รับบาดเจ็บเล็กๆน้อยๆบ้างหรือ ? ตอบว่า... การหกล้มย่อมเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา .... ยิ่งบางคนช่างมีจิตใจหวาดกลัวยิ่งขี่เป็นได้ยาก ต้องใช้เวลามากกว่าเด็กอื่นๆ.... เรื่องนี้ก็อยู่ในฐานะที่จะเป็นได้.....




แต่ถามว่า.... ครั้นเมื่อเด็กคนนั้นหกล้มครั้งแล้วครั้งเล่า เจ็บปวดร้องไห้อยู่อย่างนั้น ....เด็กคนนั้น สมควรจะพึงเลิกล้มการฝึกหรือไม่หนอ ?


คำตอบก็คือ ...ไม่ควรท้อใจเลิกล้มเสียหรอก.....หากเป็นเด็กที่มีความเชื่อว่า คนที่ฝึกด้วยดีแล้วย่อมจะต้องขี่ได้ไม่ในวันใดก็วันหนึ่ง....


ก็เมื่อเขาเกิดความคิดอย่างนั้น ความเพียรก็เกิดต่อมาสนับสนุนให้เด็กคนนั้น ฝึกต่อไปอีก...


คราวนี้ฝึกบ่อยๆ ก็เกิดการเรียนรู้ถึงเหตุผลแห่งการที่จะขี่ได้....


ทำอย่างไรขี่แล้วจะหกล้มก็รู้... เขาก็จะเกิดการสังเกตเรียนรู้ ในที่สุดเขาก็ชำนาญขึ้นๆ


แต่ก็อีกนั่นแหละ...ตอนขี่ในพื้นที่ถนนเรียบๆกับพื้นที่ขรุขระ ก็ไม่เหมือนกัน เป็นเรื่องที่จะพลาดพลั้งขึ้นได้อีก...

หรือแม้ถนนเรียบๆแต่กลับมียวดยานพาหนะวิ่งไปมาอย่างน่ากลัว คราวนี้ การขี่จักรยานนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายขึ้นมาเสียอีกแล้ว และอาจจะประสบอุบัติเหตุได้.....หรือแม้แต่ถนนเรียบ ปราศจากสิ่งกีดขวาง หากเด็กนั้นประมาท คะนอง ก็เป็นปัจจัยให้เกิดล้มได้อีกเหมือนกัน....


จิตใจของเราที่พยายามฝึกให้ปัญญาเกิดขึ้นก็เป็นอย่างนั้น .... เมื่อรับวิบากไม่ดีขึ้นมา ก็รู้สึกทนไม่ได้ นี่ก็เป็นเรื่องต้องยอมรับ....ยอมรับเพื่อลดการต่อสู้ผลักใสอารมณ์นั้นๆ เพราะจะยิ่งทำให้แย่ไปกันอีก


ให้ยอมรับ ว่าเป็นวิบากไม่ดีของตัวเองประการหนึ่ง....


ให้ยอมรับ ว่าตัวเองขณะนี้หวั่นไหวเป็นทุกข์ แล้วเรารับได้ยากเสียจริงๆ..


ให้ยอมรับเสียก่อน ค่อยๆโอนอ่อนผ่อนตามจิตใจเขาไป .... " ดู" เขาว่า เวลาใจคอเขาเดือดร้อน เป็นทุกข์ เศร้าโศกนั้น อาการเป็นอย่างไร....เขารู้สึกกระสับกระส่ายอย่างไร.... จิตใจขณะนั้นเป็นไปแบบไหน... หัวใจรู้สึกบีบคั้นอย่างไร.... เวลาจิตใจทุรนทุรายแล้วเป็นอย่างไร..เอาใจมารู้มาศึกษาอย่างนี้แทน...


คราวนี้อะไรจะเกิดขึ้น ณ. ที่ตรงนี้ ?


เพราะโดยธรรมชาตินั้น จิตใจของเราจะคิดปรุงแต่งเรื่องโน่นเรื่องนี่ตลอดเวลาไม่มีหยุดพัก... โดยไม่เคยกลับมารู้ตัวเลย ... พอรับอารมณ์ไม่ดี ความโกรธก็เกิดขึ้น แล้วความนึกคิดที่ไม่ชอบใจ โกรธ ขัดเคืองในเรื่องราวต่างๆก็ประเดประดังไหลติดตามจิตใจมา.... คิดตรงนั้นยังไม่พอ .... ใจยังคุ้ยเขี่ยเอาเรื่องราวในอดีต ....ไม่รู้กี่เรื่องต่อกี่เรื่อง..... ก็คุ้ยเขี่ยขึ้นมาคิดนึกผสมโรงเข้าไป.... บ้างก็เอื้อมไปคาดคะเนเรื่องที่เลวร้ายที่ตัวเองคิดว่าคงจะเกิดขึ้นอีกในอนาคตอีก คิดเอาทั้งนั้น... หากมีใครๆที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นก็พลอยตกมาเป็นจำเลยในใจของเราไปด้วย พาลหาเรื่องขุ่นเคืองไม่ชอบใจไปด้วย ... รู้สึกน้อยใจคนนั้นขึ้นมา หรืออาฆาตคนนี้ขึ้นมา หรือเสียใจน้อยใจว่า ไม่มีใครเห็นใจเราเลยหนอ..เป็นใครๆจะทนได้เล่า... แล้วก็ปรุงแต่งให้ฟุ้งไป จิตใจส่ายซัดไปในเรื่องที่คิดเอาเองทั้งนั้น....


จึงสมควรให้ฝึกใจให้กลับมารู้ตัวบ้าง.....


เวลารับวิบากไม่ดี ให้ถามตัวเองว่า เรารับวิบากทางไหน ?......


เช่นเรารับวิบากไม่ดีทางหู ตัวอย่างคือ มีคนเขาด่าเราซึ่งหน้าไม่ทันระวังตัว เขาก็ด่าเรามา ๑๕ คำ(สมมุติ) แล้วก็เดินจากเราไป...ทิ้งความโกรธความขมขื่นใจให้เราไว้อย่างนั้นแหละ....


หากพิจารณา ก็รู้ว่า ใจนั่นแหละที่โกรธ ใจนั่นแหละที่เจ็บ ไม่มีใครมาทุบหัวใจเราซักหน่อยเลย...หูที่รับวิบากไม่ดีโดยตรงก็ไม่ได้เจ็บแม้แต่น้อย หูไม่ได้อักเสบหรือบวมขึ้นเพราะเสียงที่เขาด่าสักหน่อย.....


เสียงนั้นก็หมดไปตั้งนานแล้ว แต่ใจเรากลับกอดรัดเสียงด่านั้น ไม่ให้หลุดไปจากใจเราได้เลย....ย้ำคิด ย้ำแค้น ย้ำเศร้าอยู่อย่างนั้น บางคนเป็นวัน เป็นเดือน เป็นปี นับสิบปี เจ็บจำไม่ลืมเสียงด่านั้นเลย สงวนไว้ราวกับของมีค่าควรแก่การรักษา...


หรือเวลาตาเราขึ้นรับวิบากที่ไม่ดี เห็นภาพที่บาดตาบาดใจ..วิบากไม่ดีส่งผลกรรมไม่ดีให้จิตทางตามารับรู้รูปก็เพียงชั่วหนึ่งขณะเท่านั้น...ตาก็ไม่ได้เจ็บ ตาไม่ได้บวม ตาไม่ได้อักเสบ เพราะการเห็นนั้นสักหน่อย..


แต่ใจเจ้าเอ๋ย..เก็บภาพนั้นเข้ามาให้ปวดใจอยู่ตลอดเวลา เพราะอะไรกันเล่า?


รูปนั้นก็หมดไปตั้งนานแล้ว แต่ใจยังเก็บภาพนั้น พิมพ์ประทับลงใจไม่เคยลืมเลือน จึงย้ำคิด ย้ำเศร้าทุกคืนวัน คิดไป น้ำตาไหลไป อย่างนี้ก็มี...


กลับมาที่ประเด็นว่า ขณะรับวิบากทางใดทางหนึ่ง ให้เปลี่ยนใจที่"คิด" มาเป็นใจที่"รู้" รู้ตัวขึ้นแทน........


ให้รู้สึกถึงอาการความเป็นไปของร่างกาย หัวใจ ใบหน้าที่รู้สึกร้อนผ่าว หรือรู้สึกถึงจิตใจว่าเขากำลังเป็นอย่างไร..ขณะนั้น ดูเหมือนว่า เราลังดูคนอื่นกำลังแสดงละครอยู่... เมื่อดูอย่างพิจารณา ใจที่"ดู"จึงไม่มี"คิดนึก" จึงชื่อว่ารู้ตัว รู้ว่าอะไรเกิดขึ้นกับตัว.... แต่ไม่ไปรู้เรื่อง... คราวนี้ โทสะก็ไม่ได้เชื้อเพลิงก็ค่อยๆมอดลงไปๆ ....


เราจึงรู้ถึงวิธีที่จะมีตนเป็นที่พึ่งได้ หากฝึกได้บ่อยๆ กำลังปัญญาจึงจะแข็งแรง นี่เป็นขั้นตอนการปฏิบัติอย่างง่ายๆเพื่อให้สติเกิดมารู้ตัว สตินั้นเกิดกับจิตที่เป็นกุศล เมื่อกุศลเกิด อกุศลก็ไม่เกิด.... เมื่ออกุศลเกิด กุศลก็เกิดไม่ได้ ....เขาเป็นอย่างนั้น ... จึงควรฝึกไว้เพราะนี่เป็นเรื่องเฉพาะตัวของเรา


ไม่มีใครรักษาใจของเราได้ เราต้องรู้จักรักษาใจของเราเองให้เป็น ดังนั้นหากฝึกไว้เพื่อประโยชน์ของตัวเราแล้ว เราก็ย่อมมีกัลยาณมิตรของตนเองในทุกๆวัน ทุกๆค่ำคืน....


มาจนถึงบัดนี้ เด็กน้อยผู้นั้น ย่อมตอบกับตัวเองว่า ตัวสมควรจะท้อใจไหมในการสร้างปัญญา ? เราเพียงแต่ทำเหตุ ต้องใช้เวลาเพาะบ่ม ถูกกิเลสใช้มานับแสนล้านชาติ จะเอาปัญญานิดๆหน่อยๆ ไปปราบเขา ไม่ใช่จะเป็นไปได้..จึงต้องเพาะบ่ม...ใช้เวลา..หากท้อใจ ก็หมดหวังไม่มีวันเงยหน้าได้


หากปลงสู้ ไม่ปลงหนี .... อย่างน้อย ก็มั่นใจได้ว่า ..สักวันหนึ่ง ปัญญาเราจะแข็งแรง..เหมือนคนที่ป่วยมานานอ่อนแอเอาเสียจริงๆ ต้องรับประทานยาด้วย ต้องบริหารร่างกายเพาะบ่มกำลังกายขึ้นมาด้วย ล้วนแต่ต้องใช้เวลาทั้งนั้น หากยอมแพ้ ก็ตายลูกเดียว.......


เมื่อจิตตก.......ก็ฝึกให้จิตใจมีโยนิโสมนสิการ หากทำเองไม่ไหว ทำไม่ได้ ก็ต้องเข้าหากัลยาณมิตร....... ธรรมะมีหลายแง่หลายมุม ฟังได้ไม่มีเบื่อเพราะเป็นความจริง จึงเป็นเรื่องที่ฟังแล้วชื่นใจ จิตใจมีกำลังเพราะได้ยาวิเศษที่เรียกว่า ธรรมะโอสถ


ถึงตอนนี้ ท่านที่กำลังมีปัญหาอยู่ ก็อาจจะเรียกกำลังใจกลับมาได้บ้างแล้วตอนนี้ เพราะตลอดเวลาที่อ่านบทความนี้ จิตที่เป็นกุศลของท่านจะเกิดขึ้นมา....... และแน่นอน อกุศลก็ไม่เกิดในขณะที่อ่านอยู่ จิตใจจึงเปลี่ยนเป็นความเบากายเบาใจขึ้นมา เพราะกุศลจิตเขามีสภาวะอย่างนั้น ทำให้กายเบา จิตเบา ควรแก่การงาน เราจึงรู้สึกได้ถึงความผ่องใสขึ้นมาแทนที่ความหดหู่ อ่อนล้า.... . ให้อกุศล(โทสะ) เป็นปัจจัย ให้กุศลประกอบปัญญาเกิดขึ้นด้วยดีเถิด.......


ที่มา http://www.raksa-dhamma.com/topic_54.php