PDA

แสดงเวอร์ชันเต็ม : ความเป็นผู้มักน้อย พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)



**wan**
10-29-2008, 10:59 AM
http://p.moohin.com/all/0470-061354.jpg


ความเป็นผู้มักน้อย
พระธรรมเทศนาโดย
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)


ตีพิมพ์ใน วารสาร ธรรมจักษุ ปีที่ ๘๓ ฉบับที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒


ความจริงการฟังพระธรรมเทศนาย่อมมีคุณมีประโยชน์มีอานิสงส์อันไพศาล คือจะได้ยินได้ฟังสิ่งที่ตนยังไม่เคยได้ยินได้ฟัง ๑ สิ่งที่ตนเคยได้ยินได้ฟังมาแล้ว จักแจ่มแจ้งผ่องใสยิ่งขึ้น ๑ จักตัดความสงสัยซึ่งข้องอยู่ในใจเสียได้ ๑ จักบำรุงน้ำใจของตนให้ผ่องใสยิ่งขึ้น ๑ จักดัดแปลงจิตใจของตนให้ซื่อตรงต่อบรมพุทโธวาท ๑ ด้วยเหตุว่าการฟังพระธรรมเทศนามีคุณมีประโยชน์อย่างนี้ จึงเป็นกิจอันสำคัญของพุทธบริษัท พึงตั้งอกตั้งใจฟังให้สำเร็จประโยชน์

วันนี้จักยก กถาวัตถุ ๑๐ ประการ ที่เรียกกันว่า สัลเลขกถา คือ เป็นถ้อยคำควรกล่าว ควรฟัง เป็นเหตุกำจัดกิเลสเครื่องเศร้าหมองขุ่นมัวของใจให้สะอาดปราศจากโทษ จึงเรียกว่า สัลเลขกถา เป็นถ้อยคำขัดเกลาเผากิเลสให้เร่าร้อน มีประเภท ๑๐ ประการ คือ

อปฺปิจฺฉกถา พูดปรารภถึงการมักน้อย ๑

สนฺตุฏฺฐิกถา พูดปรารภถึงการสันโดษ คือยินดีแต่ของอื่นซึ่งมีแห่งตน ๑

อสงฺสคฺคกถา พูดปรารภถึงการไม่เกี่ยวข้องอยู่ในหมู่คณะ ๑

วิริยารมฺภกถา พูดปรารภถึงความเพียร ๑

สีลกถา พูดปรารภถึงศีล ๑

สมาธิกถา พูดปรารภถึงสมาธิ ๑

ปญฺากถา พูดปรารภถึงปัญญา ๑

วิมุตฺติกถา พูดปรารภถึงวิมุตติ ๑

วิมุตฺติาณทสฺสนกถา พูดปรารภถึงวิมุตติญาณทัสสนะ ๑

เป็นเรื่อง ๑๐ เรื่องด้วยกัน ล้วนแต่เป็นเรื่องที่มีคุณมีประโยชน์ ยิ่งฟังก็ยิ่งทำใจของตนให้สบาย จึงเป็นโอวาท ควรศึกษา ควรฟัง ควรจำไว้ทั้ง ๑๐ ประการ

บัดนี้ จักอธิบายกถามรรค ๑๐ ข้อนั้น วันพระละข้อเป็นลำดับไปจนกว่าจะจบ ในวันนี้จักอธิบายข้อต้นที่ว่า อปฺปิจฺฉกถา พูดปรารภถึงการมักน้อยเสียก่อน ด้วยการมักน้อยนี้ อาจมีคุณแก่บุคคลบางพวก อาจมีโทษแก่บุคคลบางพวก ดังบุคคลที่ทำประโยชน์เกื้อกุลแก่โลก ถือมักน้อยไม่ทันเขา ต้องเป็นคนมักมาก สิ่งใดควรได้ สิ่งใดควรมี ต้องแสวงหาให้ได้ให้มี ให้มีปัญญา หลีกเลี่ยงแต่สิ่งที่มีโทษเป็นพอ ส่วนผู้ที่มุ่งหวังจะหนีทุกข์หนีโลก เพ่งต่อโลกุตระทางดับทุกข์โดยตรง ถือมักน้อยเป็นประโยชน์มาก แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก้ได้ทรงแนะนำทางมักน้อยแกภิกษุผู้ดำเนินในทางวิปัสสนาธุระด้วยธุดงควัตร ๑๓ ประการ จะยกมาแสดงพอได้ใจความ

การมักน้อยนั้น คือให้มักน้อยในปัจจัย คือ มักน้อยในจีวร มักน้อยในบิณฑบาต มักน้อยในเสนาสนะ เป็นอาทิ มักน้อยในจีวรนั้น คือ ให้ยินดีแต่เพียงจีวร ๓ ผืน คือ สบง ผ้าคลุม สังฆาฏิ เท่านั้น เรียกว่า เตจีวริกธุดงค์ ถือผ้า ๓ ผืน ต้องอธิษฐานห้ามผ้าอื่นเสีย จะรับผ้าอะไรของใครไม่ได้ อย่างนี้ชื่อว่ามักน้อยในจีวร

มักน้อยในบิณฑบาตมีหลายประเภท อย่างดีต้องถือแค่บิณฑบาต ได้เท่าใดที่เขาใส่ลงในบาตรก็ยินดีฉันแต่เท่านั้น ไม่ต้องการภาชนะอื่นเสียด้วย ฉันแต่ในบาตรภาชนะอันเดียวเท่านั้น ถ้าให้ดีการบิณฑบาตก็ไม่ให้เลือกตระกูล รับไปตามลำดับ อย่างผ่อนลงมาถือเป็นกลาง ๆ ถือเพียงฉันหนเดียว ฉันในที่นั่งอันเดียว เรียกว่าฉันเอกา ต้องตั้งใจอธิษฐานว่า จะต้องประพฤติตนอย่างนั้น ชื่อว่ามักน้อยในบิณฑบาต

มักน้อยในเสนาสนะนั้น แล้วแต่เสนาสนคาหาปกะ ท่านบอกให้ ไม่เลือกที่อยู่ ได้อย่างไรก็ยินดีอาศัยอยู่อย่างนั้น หรือยินดีอยู่อารัญญิก วัดไกลบ้าน หรือรุกขมูลร่มไม้ หรือถ้ำคูหาเป็นต้น ชื่อว่ามักน้อยในเสนาสนะ

มักน้อยในธรรม คือพิจารณาเห็นว่าธรรมอันใดที่เหมาะแก่ตน ก็ตั้งหน้าปฏิบัติเท่านั้น ดังรู้ว่าศีล สมาธิ ปัญญา เป็นทางพระนิพพานตรง ก็ตั้งหน้ารักษาศีล เจริญภาวนาและปัญญาเท่านั้น ตัดการศึกษาอย่างอื่นออกเสีย อันนี้ ชื่อว่ามักน้อยในธรรม หรือผู้เจริญสมถะวิปัสสนา ท่านวางแบบพระกัมมัฏฐานไว้ตั้ง ๔๐ ประการ ก็เลือกเอาแต่อย่างเดียวเท่านั้น ตั้งหน้าเจริญไปจนเกิดอุคคปฏิภาค อย่างนี้ชื่อว่ามักน้อยในธรรม

ความจริงพุทธโอวาทศาสนาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามีมากตั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เพราะพระองค์เป็นบรมครูของโลก ต้องแสดงไว้มาก สำหรับให้เหมาะแก่นิสัยของเวไนยสัตว์ เพราะผู้รับพระธรรมเทศนามีนิสัยและจริตต่าง ๆ กัน เปรียบเหมือนแพทย์ผู้ชำนาญในวิธีแก้โรคนับด้วยร้อยอย่างพันอย่าง แต่ผู้เป็นโรคไปหาแพทย์ ก็ต้องให้แพทย์รักษาอย่างเดียวเพียงโรคของตัวเท่านั้น หรืออีกอย่างหนึ่ง พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนพ่อครัวผู้ฉลาด อาจทำกับข้าวได้ตั้งร้อยอย่างพันอย่าง แต่ผู้จะกินก็บอกให้จัดกับข้าวเพียงอย่างเดียว ๒ อย่างเท่านั้น ผู้กินก็อิ่ม ไม่ต้องกินให้หมด วิชาของพ่อครัวข้ออุปมานี้ฉันใด ผู้รัยคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าก็ไม่ต้องปฏิบัติให้เต็ม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งที่เหมาะแก่ตนก็อาจสำเร็จได้

มีตัวอย่างดังพระเบญจวัคคีย์ ได้รับพระธรรมเทศนาอนัตตลักขณสูตร ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่ใช่ตัวตน ให้หยั่งปัญญาลงให้เห็นจริงตามความเป็นจริงอย่างไร ท่านพากันตรองตามก็ได้สำเร็จพระอรหันต์

พวกชฎิลอุรุเวลกัสสป ๑,๐๐๐ องค์ ได้รับพระธรรมเทศนาอาทิตตปริยายสูตร ซึ่งมีใจความว่า อายตนะภายในภายนอกเป็นของร้อน วิญญาณและสัมผัสที่เกิดจากอายตนะนั้นก็เป็นของร้อน คือร้อนด้วยเพลิงกิเลส เพลิงทุกข์มาเผาให้ร้อนดังนี้ ท่านเหล่านั้นก็ตั้งใจฟัง ตรองตาม เห็นจริงด้วย ก็พากันได้สำเร็จพระอรหันต์ทั้ง ๑,๐๐๐ องค์

หรือดังพระจูฬปันถก พระพุทธเจ้าส่งผ้าเช็ดหน้าขาว ๆ ให้ บอกว่าท่านจงเอามือลูบผ้านี้แล้วบริกรรมว่า รโชหรณ ๆ ดังนี้ร่ำไป ท่านก็ทำตาม ลูบไปลูบมา แลเห็นผ้าเช็ดหน้านั้นมีสีมัวหมองดำขึ้นผิดปกติ เกิดความสังเวชขึ้นว่า ร่างกายนี้เป็นของปฏิกูลหนอ ผ้าสะอาดสะอ้าน ขาว ๆ ดี ๆ อยู่ พอมาถูกร่างกายที่เป็นของปฏิกูลนี้ ก้พลอยเกิดเป็นของปฏิกูลน่าเกลียดไป ท่านก็ได้สำเร็จพระอรหัต ยกมาแสดงนี้ เพื่อให้เห็นว่า ผู้มักน้อยในธรรมท่านได้สำเร็จมรรคผลมาแล้วมีตัวอย่างดังนี้

พระภิกษุผู้มักน้อยในปัจจัย หรือมักน้อยในธรรม อาจจักทำสมาธิ สมาบัติ ญาณ วิโมกข์ ตลอดถึงมรรคผล นิพพาน ให้เกิดขึ้นได้ก่อนพวกมักมากเป็นแน่นอน แม้ถึงจะไม่สำเร็จธรรมเหล่านั้น ก็จะได้รับความสุขที่ยิ่งกว่าผู้มักมากเป็นมั่นคง เพราะธรรมชาติสิ่งใดที่เรายึดมั่นถือมั่นว่าเป็นสมบัติของตน สิ่งเหล่านั้นซึ่งจะไม่นำทุกข์มาสู่ตนเป็นอันว่าหามิได้ สิ่งใดที่สลัดออกเป็นของกลางได้แล้ว สิ่งนั้นไม่มีอำนาจที่จักนำทุกข์มาให้แก่ตนเลย

อปฺปิจฺฉตา ความเป็นผู้มักน้อยนี้ เหมาะแก่พวกที่ตั้งเจตนาจะรักษาพรหมจรรย์โดยตรง จะเป็นพระสงฆ์สมาเณรหรือคฤหัสถ์หญิงชายก็ตาม ถ้ามุ่งต่อพรหมจรรย์จริงก็เป็นการสมควรจะยินดีอย่างยิ่ง เป็นสัลเลขปฏิปทา ทางปฏิบัติฟอกสางเครื่องเศร้าหมองออกจากใจได้จริง ใกล้ต่อมรรคผลนิพพานแท้

แต่ผู้ครอบครองเคหสถาน มีทางขัดข้องมาก ควรจะเลือกมักน้อยแต่ส่วนที่เป็นบาป เหมือนอย่างบาปที่เคยเกิดขึ้นทางกาย มีการฆ่าสัตว์ เบียดเบียนสัตว์ เบียดเบียนเพื่อมนุษย์ด้วยกัน ให้เขาได้รับความลำบากมีมกอยู่ในตน ก็พากเพียรลดละให้น้อยลงสุดที่จะน้อยได้ จนไม่ให้มีในตน เป็นการควรยิ่งนัก บาปทางวาจา เคยพูดปด เคยด่าเขา เคยพูดส่อเสียดให้เขาแตกร้าวผิดเถียงกัน หรือเคยพูดเล่นหาประโยชน์ตนประโยชน์ท่านมิได้ มีมากอยู่ในตน ก็เพียรลดละให้น้อยเบาบางลงไป หรือละให้ขาดเสียได้ก็ยิ่งเป็นการดี บาปเกิดทางใจ เคยโลภ เคยโกรธ เคยหลง เคยอิจฉาพยาบาท มุ่งหาโทษคนอื่น เคยมีมากอยู่ในตน ก็ให้พากเพียรลดละให้น้อยลงสุดที่จะน้อยลงได้ จนไม่ให้มีในตนเป็นการชอบยิ่ง

เพราะเหตุว่าธรรมย่อมเป็นของกลาง อปฺปิจฺฉตา ความเป็นผู้มักน้อยนี้ ก็เป็นคุณธรรมประเภทหนึ่ง ควรจะน้อมเอาไปใช้ได้ทั่วกัน ไม่เลือกว่าบุคคลประเภทใด ข้อสำคัญก็คือเป็นคนฉลาด รู้จักเลือกใช้ให้เหมาะแก่ภาคภูมิของตนเท่านั้น

ถ้อยคำอย่างที่แสดงมานี้ เป็นลักษณะ อปฺปิจฺฉกถา พูดปรารภถึงการมักน้อย เป็นกถามรรค ควรเล่าสู่กันฟัง ควรไต่ถามกันให้ได้ความแจ่มแจ้ง เป็นถ้อยคำสำหรับอบรมพรหมจรรย์ที่ตนปฏิบัติอยู่คือในวันรักษาอุโบสถศีล ให้นำเอาคำพูดเช่นนี้มาเล่าสู่กันฟัง เป็นการอบรมศีลของตนให้สะอาดผ่องใส กันถ้อยคำที่ขวางศาสนา ดังถ้อยคำที่ปรารภถึงบ้านเมือง เรือกสวนไร่นา ค้าขายเป็นต้นออกไปเสีย ใจจะได้สงบไม่ฟุ้งซ่าน จึงเป็นการที่พุทธบริษัทผู้มุ่งประโยชน์ส่วนตน ควรจะตั้งใจประพฤติปฏิบัติตามโดยนัยดังแสดงมานี้ ก็จักได้ประสพแต่ความเจริญในพุทธศาสนาทุกทิวาราตรีกาล



++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ข้อมูลจาก http://www.dharma-gateway.com/