เข้าสู่ระบบ

แสดงเวอร์ชันเต็ม : ควรฝึกจิต



DAO
12-22-2009, 04:13 PM
ควรฝึกจิต
การฝึกจิต คือ การบังคับ ควบคุม ยกหรือข่ม ให้จิตมันอยู่ในความต้องการของเรา หรือให้จิตอยู่ภายใต้การบัญชาของเรา แม้ว่าจะทำได้ไม่ตลอด แต่ที่เราสามารถบังคับได้ชั่วคราว ก็นับว่าดีอักโขแล้ว คือดีกว่าที่จะปล่อยไปตามอารมณ์ของมัน ซึ่งจะเกิดโทษมากกว่าคุณ

การฝึกจิต ก้เหมือนการฝึกสัตว์ป่านั่นแหละ มันมีแต่คุณโดยส่วนเดียว หาโทษมิได้เลย ย่อมจะใช้งานไม่ได้ ฉันใด ? จิตที่ยังไม่ได้รับการฝึกที่ถูกต้อง ก็ย่อมจะให้คุณแก่คนน้อย ฉันนั้น !

ถ้าจะว่าจิตที่ไม่ได้ฝึก จะมีแต่โทษโดยส่วนเดียว ก็ดูจะไม่ถูกต้องนัก เพราะโดยธรรมชาติ คนเราทั่วไปก็ย่อมจะต้องฝึกจิตกันมาแล้วตามธรรมชาติ เช่น ได้รับการสั่งสอนจากพ่อแม่ จากครูอาจารย์และสังคม ให้อยู่ในระเบียบและประเพณี เป็นต้น

แต่นั่นมันเป็นการฝึกทางอ้อม ตามที่ประเพณีหรือสังคมกำหนด ส่วนการฝึกจิตที่ว่านี้ หมายถึงการบังคับ และควบคุมจิตใจโดยตรง ต้องการให้มันนึกคิดอย่างนี้ ต้องอยู่กับสิ่งนี้ เป็นต้น

การฝึกจิตเป็นสิ่งที่ดี พระพุทธองค์จึงทรงสรรเสริญไว้ในที่ต่างๆ เป็นอันมาก ถึงกับตรัสไว้ในจิตตสูตร (๑๕/๕๓) ว่า

โลกเป็นไปตามจิต

นั่นก็หมายความว่า เมื่อจิตมันคิดดี อะไร ๆ มันก็พลอยดีไปหมด และถ้าจิตมันคิดชั่ว อะไร ๆ มันก็พลอยชั่วไปหมด คนที่หวังความดีงาม หวังความเจริญแก่ตนและสังคม จึงต้องฝึกจิต เพราะ

ธรรมชาติของจิตนั้น มักจะนึกคิดหรือน้อมไปในทางต่ำอยู่เสมอ เปรียบเหมือนน้ำ ย่อมชอบที่จะไหลลงไปสู่ที่ต่ำอยู่เสมอ ฉะนั้น

ดังนั้น คนที่ฝึกจิต จึงกลายเป็นคน "โชคดี" อยู่ตลอดเวลา เพราะจะได้มีโอกาสทำดีหรือพูดดี เพราะเหตุว่าจิตมันจะได้คิดไปในทางดีอยู่เสมอนั่นเอง การฝึกจิตจึงมีคุณมหาศาล ยิ่งกว่าการฝึกอะไร ? ในโลกทั้งหมด

เอ้า, ได้บรรยายอานิสงส์ของการฝึกจิตมานานแล้ว ถ้ายังมองไม่เห็นคุณค่าของการฝึกจิต ก็อย่าอ่านมันต่อไปอีกเลย แต่ถ้าเห็นคุณค่าแล้ว และพร้อมที่จะพัฒนาจิตให้ดีขึ้นเพื่อสู่ความสุข ก็ขอเชิญสาธิตการฝึกจิตแบบง่ายๆ ได้ดังนี้

การเตรียมตัว ความพร้อมในการฝึกจิต จะช่วยให้การฝึกจิตกลายเป็นของง่ายดายขึ้น นั่นคือ ต้องจัดและทำสถานที่ และร่างกายของตน ให้มีความสะอาดสบายพอสมควร เช่น สถานที่เงียบสงบ อากาศปลอดโปร่ง ไม่ร้อนหรือหนาวเกินไป ไม่ห่วงกังวลกิจการงาน ร่างกายสบาย ไม่หิวหรืออิ่มเกินไป ไม่ง่วงนอน เป็นต้น

การบังคับจิต คือ การให้จิตนิ่งอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ให้คิดฟุ้งซ่านไปในที่ต่างๆ มีการฝึกหลายแบบ ตามแต่ใจชอบ เช่น

- แบบกำหนดลม มี ๒ แบบ คือ มีคำบริกรรม และไม่มี

ก. มีคำบริกรรม ตั้งฐานของลมไว้ที่จมูก หรือที่ลมหายใจก็ได้ หายใจเข้านึกในใจว่า "พุท" หายใจออกนึกในใจว่า "โธ" เป็นต้น

ข. ไม่มีคำบริกรรม ตั้งฐานของลมไว้ที่จมูก ลมหายใจเข้าก็กำหนดระลึกในใจว่า "เข้า" ลมหายใจออกก็กำหนดระลึกในใจว่า "ออก" เป็นต้น

ควรทำเป็นประจำวันทุกวัน และทำให้นานๆ และควรจะทำทั้งท่านั่ง และท่านอนด้วย กำหนดเรื่อยไปจนกว่าจะหลับ

ข้อควรจำ ในการทำแต่ละครั้ง ควรกำหนดเวลาด้วย เช่น ๑๐,๒๐,๓๐ นาที หรือ ๑ ช.ม. เป็นต้น เมื่อยังไม่ถึงเวลาก็อย่าเลิกประเดี๋ยวเจ้า "ตัวขี้เกียจ" มันจะมาเอาไปกินเสียหมด จะขยันขันแข็งทำแต่วันแรกๆ วันต่อไปก็จะน้อยลงๆ จนถึงไม่ทำเลย เป็นต้น

- แบบกำหนดงาน คือหางานให้จิตมันคิด มันอยากคิด ไม่อยากอยู่นิ่งก็ช่างหัวมัน เอางานให้มันคิด มันทำเสียเลย นั่นคือ

ก. พิจารณาร่างกาย คือ คิดถึงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ตั้งแต่ปลายผมลงมาจนถึงปลายเท้า ว่ามีรูปร่างลักษณะอย่างไร ? นุ่งห่มเสื้อผ้าสีอะไร ? พิจารณาช้าๆ ทบทวนขึ้นๆ ลงๆ จนจิตมันสงบ

ข. เพ่งอารมณ์ปัจจุบัน คือ เมื่อเห็นว่าจิตมันกำลังโน้มเอียงไปในทางไหนรุนแรง เช่น กำลังคิดถึงอะไรอยู่ ? แล้วไม่อาจจะตัดใจจากสิ่งนั้นได้ ก็เอาสิ่งนั้นแหละ เป็นอารมณ์ของกรรมฐานไปเสียเลย ให้จิตมันจดจ่อ แน่นิ่งอยู่กับสิ่งนั้น จะเป็นอะไรก็ได้

ค. พิจารณาไตรลักษณ์ คือ พิจารณาร่างกายโดยความเป็นอนิจจัง (ไม่เที่ยง) ทุกขัง (เป็นทุกข์) และอนัตตา (มิใช่ตัวตน) หรือพิจารณาจตุลักษณ์ คือ - ทุกข์แท้ -แปรผัน -เน่าเหม็น -แตกดับ ก็ได้ ตามแต่จะชอบ

พิจารณาทบทวนไป-มา จนจิตมันรู้ชัด หรือจนจิตเกิดความเบื่อหน่าย คลายความกำหนัด หรือความยึดถือในบุคคลตัวตน และสิ่งของต่างๆ ลงได้ ใจก็ย่อมจะเป็นสุขสงบและเย็น

วิธีการพิจารณานี้ เป็นสิ่งที่ทำไม่ยาก ทำได้ทุกคน แต่มันไปจนเอาที่ขี้เกียจทำ ของทุกอย่างมันจะทำยาก หรือต้องฝืนบ้างก็ตอนแรกๆ เท่านั้น แต่พอทำไปไม่นานนักมันก็จะเคย และอาจจะชอบเสียด้วย

ดังนั้น ผู้หวังที่จะได้พบกับความสุขอันสงบ หรือความสุขที่แท้จริงก็อย่าเกียจคร้าน สละความขี้เกียจวันละเล็กน้อยทำเป็นประจำทุกวัน ขอรับรองว่าได้ผลทุกคน

เมื่อเราฝึกจิต จนจิตมันอยู่ในกำมือ หรือตกอยู่ในอำนาจของเราแล้ว โลกนี้หรือโลกไหนๆ ก็อยู่ใต้ฝ่าเท้าของเราทั้งสิ้น จะมีความทุกข์ร้อนอะไร ที่จะมาเล่นงานเราได้ ?

เมื่อเกิดปัญหาใดๆ ขึ้น เราก็มีมาตรการ ที่จะตัดการได้ ๒ วิธี คือ สู้ กับ หนี

- สู้ คือ หันหน้าเข้าสู้ แลกหมัดกับซึ่งหน้า ให้รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัยกันไปเลย หรืออาจจะเอาตัวปัญหา หรือความทุกข์นั่นแหละ มาเป็นอารมณ์ของกรรมฐานไปเสียเลยก็ยังทำได้ไม่ยากนัก

- หนี คือ หันหลังให้ ไม่สนใจ ไม่ยอมรับรู้ใด ๆ ทั้งสิ้น หาทางสงบใจด้วยสมาธิ ให้จิตมันแน่นิ่งอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ความทุกข์ทั้งหลายแหล่ มันก็จะเล่นงานเราไม่ได้ เพราะเราไม่เล่นด้วย เราก็สบายแฮไปเท่านั้นเอง



ขอขอบคุณที่มาคะ http://www.dhammajak.net/book/sukha/sukha24.php

เกิดแก่
12-31-2009, 08:08 PM
สาธุ สาธุ สาธุ ขอบคุณค่ะคุณดาวที่ได้นำเนื้อหาสารธรรม เรื่องการฝึกจิตมาแบ่งปันเป็นธรรมทาน
เพื่อเป็นแนวทางในการฝึกจิต ซึ่งบางข้อที่กล่าวมาตรงกับการปฏิบัติของเกิดแก่ เด๊ะเลยค่ะ อย่างเช่น การเตรียมตัว เกิดแก่จะนำเอาเวลาของนาฬิกาชีวิตมาเป็นเวลาของการปฏิบัติค่ะ คือ 19.00-21.00 น. เป็นเวลาที่เยื่อหุ้มหัวใจทำงาน ซึ่งเป็นเวลาที่เหมาะสมในการสวดมนต์นั่งสมาธิ เพราะไม่ดึก และยังไม่ง่วง ส่วนเรื่องการกำหนดที่ตั้งของฐานจิตนั้นเกิดแก่เองก็ใช้ทั้งสองแบบพร้อมกันขึ้นอยู่กับผัสสะที่มากระทบนั้นกระทบกับอะไร เช่นในขณะที่นั่งสมาธิกำหนดลมหายใจ “พุทโธ”อยู่นั้น เกิดฝนตกเสียงฝนกระทบกับหูเสียงดังจนไม่สามารถดึงจิตให้อยู่กับลมหายใจ เกิดแก่ก็เลยย้ายฐานของจิตไปไว้ที่หูซะให้สิ้นเรื่องสิ้นราวไป แต่พอฝนหยุดตกก็ย้ายฐานมาตั้งไว้ที่ลมหายใจเช่นเดิม จิตกำลังจะนิ่งอยู่แล้วเชียว อึ่งอ่างดันออกมาร้องหลังฝนตกกันให้จ้าละหวั่น เอ้า..ย้ายอีกแล้ว ค่ะ เวลาผ่านไป 1 ชม. เริ่มเกิดปัญหาอีกแล้ว ทุกข์เวทนาเข้ามาเยี่ยมเยือนขาและหลัง ค่ะ ต้องเอามาตรการทั้ง 2 วิธีมาใช้ นั้นก็คือสู้กับหนี แหม..เรื่องหนี นะมีรึจะหนี สู้ซิค่ะ สู้ให้รู้แพ้รู้ชนะ จนสุดท้าย แพ้ราบคาบค่ะ อิอิ :D แต่ก็ไม่ท้อถอยนะค่ะยังใฝ่ฝันที่จะไปให้ถึงจุด หมายปลายทางที่ใคร ๆ ก็ปารถนาคือความเบาสบายสุขสงบ แม้ว่าจะล้มลุกคลุกคลาน ถอยหน้าถอยหลัง เตาะแตะอยู่แค่อนุบาล แต่ก็สู้ค่ะ หากท่านใดจะเมตตาแนะนำหรือชี้แนะให้การปฏิบัติของเกิดแก่ก้าวหน้ายิ่งขึ้น เกิดแก่ น้อมรับความเมตตาจากทุก ๆ ท่านค่ะ

piangfan
01-01-2010, 08:41 PM
สาธุค่ะ อาจารย์ดาว พี่เกิดแก่

DAO
01-01-2010, 08:47 PM
อนุโมทนาด้วยคะคุณเกิดแก่ สู้ตายโดยไม่ถอยนะดีที่สุดแล้วคะ แต่จะชนะรึไม่ก็ยังดีกว่าไม่สู้เนอะ อิอิ รู้เขารู้เราเอาประสบการณ์ไว้ใช้ในวันข้างหน้า สักวันคงเป็นของเราคะคำนี้ รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง ฝึกเข้าๆๆ " สติ "