PDA

แสดงเวอร์ชันเต็ม : อานาปานสติ” แบบง่ายๆ (พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก )



*8q*
10-30-2008, 07:52 PM
พระธรรมเทศนาของพระอาจารย์ ในพรรษาปี 2535

............................................................

การปฏิบัติภาวนาให้เราเริ่มต้นด้วยการสังวร
สำรวมระวัง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

พยายามไม่ให้เกิดความยินดียินร้าย พยายามรักษาความสงบของใจ โบราณาจารย์ท่านสอนอานาปานสติสำหรับทุกคน ทุกคนมีลมหายใจเข้าลมหายใจออกตลอดเวลา ท่านสอนอานาปานสติในอิริยาบถทั้ง 4 ยืนอานาปานสติเป็นอย่างไร เดินอานาปานสติเป็นอย่างไร นั่งอานาปานสติเป็นอย่างไร นอนอานาปานสติเป็นอย่างไร เราต้องปฏิบัติจนเข้าใจและทำได้ต่อเนื่องกัน จนเป็นนิสัยปกติธรรมดาของเรา

อานาปานสติหมายความว่าการมีสติระลึกรู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก การระลึกรู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออกมี 2 ลักษณะ คล้ายกับคำว่า “กินข้าว” ที่เราเรียกว่ากินข้าว อาจหมายถึงการกินข้าวจริงๆ คือกินแต่ข้าวเปล่าๆ จริงๆ อย่างหนึ่ง หรือที่พูดกันทั่วไป “กินข้าว” หมายถึงการกินข้าวที่มีข้าวเป็นอาหารหลัก และมีกับข้าวที่มีรสชาติต่างๆ นานาด้วย เช่น แกง ผัก ผลไม้และของหวานต่างๆ นี่เป็นอีกอย่างหนึ่ง

อานาปานสติก็เหมือนกับกินข้าว อานาปานสติเพื่อสมถะกรรมฐาน ทำจิตทำใจให้สงบเปรียบเหมือนกับการกินข้าวเปล่าๆ ส่วนการกินข้าวกับกับข้าวด้วยนั้น คืออานาปานสติเพื่อวิปัสสนากรรมฐาน คือการระลึกรู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออกเป็นหลัก เป็นฐาน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อไม่ให้จิตหลงอารมณ์ ให้จิตอยู่กับปัจจุบัน รู้อยู่เห็นอยู่ซึ่งอารมณ์ต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันขณะ ไม่ให้ฟุ้งไปคิดอดีต คิดอนาคต

อานาปานสติเปรียบเทียบได้ว่าลูกกับแม่เดินในตลาด ที่มีคนเดินไปมามากมาย ลูกเป็นเด็กเล็กๆ สนใจดูโน่นดูนี่สารพัด แต่ลูกก็ต้องสนใจจับตาดูแม่บ่อยๆ จะเหลียวซ้ายเหลียวขวา ดูอะไรๆ ก็ดูไป แต่ก็ต้องสนใจเหลียวมาดูแม่บ่อยๆ ให้รู้ว่าแม่อยู่ที่ไหน ต้องมีสติหาตัวแม่ตลอดเวลา

อ้อ เห็นแม่อยู่ดีแล้วจะหันไปดูอะไรๆ นิดหน่อยก็ได้ ลูกต้องสนใจจับตาดูแม่ ระลึกถึงแม่บ่อยๆ จนแน่ใจว่าเราอยู่ใกล้ๆ แม่ ไม่หลงทาง ในการเจริญอานาปานสติ ลมหายใจคือแม่ สติก็คือลูกเล็กๆ นี่แหละ สติต้องกลับมาจับลมหายใจบ่อยๆ อย่าทิ้งนาน กลับมาดูลมหายใจบ่อยๆ สมมติว่าถ้าสติไม่ทิ้งลมหายใจนานเกิน 5 วินาที จิตก็ไม่มีโอกาสหลงในอารมณ์ยินดียินร้าย

การเดินอานาปานสติท่านสอนให้เดินตามธรรมชาติธรรมดา เดินสบายๆ แต่ให้มีอาการสำรวมหรือเดินช้านิดๆ เดินให้เรียบร้อย พอดีพองาม มีสติระลึกรู้ทุกลมหายใจเข้าลมหายใจออก พร้อมกับรู้อยู่ว่าเรากำลังเดิน หายใจเข้าก็รู้อยู่ว่าเรากำลังเดิน หายใจออกก็รู้อยู่ว่าเรากำลังเดิน เดินต้นทางก็รู้ เดินถึงกลางทางก็รู้ เดินถึงปลายทางก็รู้ ขวาก้าวก็รู้ ซ้ายก้าวก็รู้ รู้ทุกก้าว

ถ้ามีหินหรือตอไม้ เราก็ไม่เตะ มีงูเราก็ไม่เหยียบ รู้ทุกอย่างเป็นปกติธรรมดา ไม่ต้องเพ่งที่จุดใดจุดหนึ่งของการเดิน ให้ระลึกถึงลมหายใจเป็นหลัก นอกจากนั้นอะไรมาสัมผัสกับใจก็รับรู้ตามปกติธรรมดา เราอาจจะคิดดีบ้าง คิดชั่วบ้าง คิดเรื่องอดีตบ้าง คิดเรื่องอนาคตบ้าง คิดแล้วก็ดับไปๆ นิวรณ์อะไรๆ เกิดแล้วก็ดับไปๆ เห็นอะไร ได้ยินอะไร หรือว่ารู้สึกนึกคิดอะไรๆ อะไรจะเกิดก็รู้

ความพยายามของเราคือจับลมบ่อยๆ ยิ่งจับได้มากเท่าไรก็ยิ่งสงบมากเท่านั้น การติดอารมณ์ไม่มี จิตใจของเราก็ไม่มีโอกาสหลงเพราะสติของเราจับลมหายใจเข้า ลมหายใจออกสม่ำเสมอและมั่นคงปลอดภัยอยู่อย่างนั้น ถือเอาลมหายใจเข้าลมหายใจออกเป็นที่อยู่ของเรา อยู่กับลมหายใจเข้าลมหายใจออกตลอดเวลา

ลมเข้าลมออกคล้ายกับเป็นหน้าต่างของจิตใจ เห็นลมก็เห็นจิต เห็นจิตก็เห็นลม การเจริญอานาปานสติจึงเป็นการฝึกหัดระลึกรู้ลมหายใจเข้าลมหายใจออกจนต่อเนื่องกัน จนในที่สุดให้สติอยู่กับจิตตลอดกาลตลอดเวลาเป็นปกติ มีการสำรวมระวังรักษาใจเป็นนิจ ไม่ให้เกิดยินดียินร้าย
__________________

*8q*
10-30-2008, 07:52 PM
การนั่งอานาปานสติทำอย่างไร

การนั่งสมาธินี้สำคัญ นั่งให้ตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า มีสติระลึกรู้อยู่แต่ลมหายใจเข้าลมหายใจออกเท่านั้น อย่าใส่ใจกับอะไรทั้งนั้น ลมหายใจเข้าลมหายใจออกเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในโลกขณะนี้เดี๋ยวนี้สำหรับเรา อย่างอื่นในโลกไม่สำคัญ

หน้าที่ของเราในขณะนี้มีแค่นี้ พยายามจ้องดูความรู้สึกที่ลมหายใจเข้าลมหายใจออก สติเหมือนคนเฝ้าประตู ลมคือคนที่เข้า-ออกประตู คนเฝ้าประตูก็เฝ้าอยู่ที่เดียว ไม่ต้องตามคนเข้าคนออก แต่รู้อยู่เห็นอยู่ว่าคนเข้าคนออก ตั้งสติระลึกรู้อยู่ที่เดียว จ้องอยู่อย่างนั้น อยู่ที่ลมหายใจเข้าลมหายใจออก ต่อไปจิตก็จะสงบ ลมก็จะละเอียดเข้าๆ น้อมเข้าไปๆ จิตเบา กายเบา จิตจะค่อยๆ รวมเป็นอารมณ์เดียว ตั้งมั่นเป็นสมาธิ นั่นก็เป็นการนั่งอานาปานสติที่เราทำกันและเข้าใจกันทั่วๆ ไป

ขณะที่จิตสงบเต็มที่และไม่รับอารมณ์ภายนอก ปัญญาไม่เกิด

ปัญญาจะเกิดได้เมื่อจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิดีอยู่ และรับรู้อารมณ์อยู่ ช่วงนี้ปัญญาจะเกิดได้ ผู้ปฏิบัติบางคนเข้าสมาธิได้และเมื่อเข้าสมาธิจิตก็สงบ แต่เมื่อออกจากสมาธิแล้วจิตไม่สงบเลย ยังคงฟุ้งซ่าน โกรธเหมือนเดิม ไม่มีปัญญาที่จะระงับกิเลสตัณหาของตัวเองได้เลย ไม่มีความสามารถพัฒนาตัวเองเลยก็มี แต่เขาตั้งใจแล้วก็ทำใจนิ่งสงบเป็นสมาธิได้

ฉะนั้น เพื่อที่จะให้เกิดปัญญา สำคัญอยู่ตรงขณะที่กำลังจะออกจากสมาธิ เมื่อจิตสงบนิ่ง เป็นสมาธิ จิตก็จะค่อยๆ เคลื่อนออกมารับรู้อารมณ์ต่างๆ ช่วงนี้สำคัญ

การเข้าสมาธิคล้ายกับการที่เรานั่งรถไปกราบเยี่ยมพระเจ้าอาวาสที่วัด วัดใหญ่ขนาดไหนก็ตาม พอเข้าวัดปุ๊บเดียวก็ถึงหน้ากุฏิเจ้าอาวาส ไม่ได้เห็นอะไร ยิ่งถ้าไปกลางคืนก็ยิ่งไม่เห็นอะไรเลย เมื่อเราพบ กราบมนัสการสนทนาพูดคุยกับท่านแล้วก็รีบขึ้นรถออกจากวัดเลย เข้าวัดแบบนี้กี่ครั้งๆ เราก็รู้จักแต่เจ้าอาวาส ไม่ค่อยรู้จักวัดเลย

ถ้าจะให้รู้จักวัด ต้องใจเย็นๆ ให้เวลาเดินเที่ยว ไปดูที่ศาลาบ้าง เข้าไปที่โบสถ์ นั่งสมาธิบ้าง วันพระก็ไปถวายอาหาร รับศีลฟังธรรม รับศีล 8 ภาวนา นั่งสมาธิ เดินจงกรม ทำวัตรสวดมนต์เช้าเย็น มีงานก็ไปช่วยงาน สร้างกุฏิ สร้างวิหาร ช่วยงานวัดสารพัดอย่างได้ จึงเรียกได้ว่าเรารู้จักวัดและเป็นลูกศิษย์วัด

เมื่อเราเข้าสมาธิได้ก็เหมือนกัน ขณะที่จิตค่อยๆ ถอยออกจากสมาธิ ให้มีสติและสัมปชัญญะ มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม สังเกตดูรอบด้าน การสังเกตนี้เป็นปัจจัยสำคัญเพื่อให้เกิดปัญญา ให้ตั้งใจสังเกตศึกษานามรูปนี่แหละ ค่อยๆ สังเกตดูเวทนาเกิด ความนึกคิดปรุงแต่งเป็นสังขารเกิด สัญญาเกิด ได้ยินเสียง ได้รับรู้เวทนาทางกาย อะไรต่ออะไรนี่แหละ ก็จะเกิดความรู้ เกิดปัญญา เห็นนามรูป เห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ชัดเจน

สำหรับคนจำนวนไม่น้อยในสมัยนี้ที่มีภาระกิจมาก

หากจะคอยเจริญสมถะให้สมบูรณ์สงบเต็มที่ นั่งสมาธิเป็นฌาณก่อนแล้วจึงเจริญวิปัสสนา อาจจะไม่มีโอกาสเลยก็ได้ ถ้าเช่นนั้น เมื่อเจริญอานาปานสติจนจิตสงบพอสมควร มีกำลังพอสมควรแล้วก็เจริญวิปัสสนาควบคู่ไปเลย ก็ได้ผลเหมือนกัน แต่ที่สำคัญอย่างน้อยจิตต้องสงบพอสมควร คือ จิตไม่ฟุ้งซ่าน จิตสงบ จิตอยู่เป็นสมาธิอ่อนๆ

เมื่อจิตมีกำลังพอสมควรแล้วก็กำหนดพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม หรือพิจารณา รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณได้ ผู้ที่ปฏิบัติตามวิธีนี้ต้องพยายามทำจิตให้สงบควบคู่กัน และสลับกันไปกับการเจริญวิปัสสนา วิธีนี้อาจจะเหมาะสำหรับคนทั่วๆ ไป และก็จะทำให้เกิดปัญญา เกิดความรู้ในตัวเอง และรู้เห็นตามความเป็นจริงเหมือนกัน


การเจริญวิปัสสนาคือการกำหนด สังเกต ดู ศึกษา
ค้นหาความจริงในกาย ในใจ ของตัวเอง

นามรูปมีอะไร เป็นอย่างไร กำหนดดูอะไรก็แล้วแต่ มีกาย มีเวทนา มีจิต มีธรรม ระลึกรู้ ลมหายใจเข้าก็สังเกตดู ลมหายใจออกก็สังเกตดู ลมเข้าลมออกคล้ายกล้องส่องดูจิต ดูความคิด ดูว่าความคิดเกิดขึ้นจากที่ไหนอย่างไร

บางทีสงบอยู่ดีๆ จิตก็นึกไป เคลื่อนออกไปรับอดีตสัญญา เหตุการณ์ที่ทำให้เราไม่สบายใจเป็นทุกข์ แล้วก็จะเห็นความรู้สึกไม่สบายใจ ทุกขเวทนาก็ตามมา ความคิดไม่พอใจก็เกิดตามมาเป็นวิภวตัณหา จิตก็นึกไป คิดไปปรุงไป ความรู้สึกก็เปลี่ยนไป หนักเข้าๆ จนเกิดอารมณ์โมโหโทโส อาฆาตพยาบาทต่างๆ นานา

บางครั้งก็นึกไปถึงสัญญาความทรงจำที่ชอบใจพอใจ นึกไปแล้วก็เกิดสุขเวทนา เกิดราคะตัณหา นึกไป คิดไป ปรุงไปต่างๆ นานา จนใจร้อน กายร้อน จนเป็นทุกข์นั่นแหละ

เมื่อเราพยายามเฝ้าสังเกตดู ก็จะเห็นนามรูป
เห็นขันธ์ 5 เห็นกระบวนการของจิตชัดเจนขึ้น

เมื่อรูปมากระทบตา วิญญาณรับรู้ ก็จะเกิดการเห็น.........

ก็รู้ว่ารูปเป็นรูป รู้เป็นนาม

เมื่อเสียงมากระทบหู วิญญาณรับรู้ ก็จะเกิดการได้ยิน.........
ก็รู้ว่าเสียงเป็นรูป รู้เป็นนาม

เมื่อกลิ่นมากระทบจมูก วิญญาณรับรู้ ก็จะเกิดการได้กลิ่น.........
ก็รู้ว่ากลิ่นเป็นรูป รู้เป็นนาม

เมื่อรสมากระทบลิ้น วิญญาณรับรู้ ก็จะเกิดการรู้รส.........
ก็รู้ว่ารสเป็นรูป รู้เป็นนาม

เมื่อแข็ง อ่อน เย็น ร้อน เป็นโผฏฐัพพะมากระทบกาย วิญญาณรับรู้.........
ก็รู้ว่าโผฏฐัพพะเป็นรูป รู้เป็นนาม

เมื่อธรรมารมณ์ เช่น ความนึกคิดมากระทบใจ วิญญาณรับรู้.........
ก็รู้ว่าธรรมารมณ์เป็นรูป รู้เป็นนาม

เมื่อสัญญาเกิดก็รู้ว่าสัญญาเกิด เมื่อเวทนาเกิดก็รู้ว่าเวทนาเกิด เมื่อสังขารคือความนึกคิดปรุงแต่งเกิด ก็รู้ว่าสังขารเกิด เห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ชัดเจนขึ้น และเมื่อดูไปๆ ก็จะเห็นชัดเจนมากขึ้นกว่าเดิมอีก คือเห็นว่ารูปนามสัมพันธ์กัน เกี่ยวข้องกันอย่างไร อุปมาเหมือนใครเป็นพ่อใครเป็นแม่ ใครเป็นลูกชายใครเป็นลูกสาว ใครเกิดก่อนเกิดหลัง ใครเป็นคนรับใช้ ใครเป็นแขก ใครเป็นเพื่อนของใคร ใครเป็นญาติของใคร ใครทำอะไร ช่วยใครอย่างไรทำนองนี้แหละ

รูปธรรมนามธรรมทั้งหลายเกิดจากเหตุปัจจัย
และเป็นปัจจัยแก่กัน อาศัยกันอย่างไร

เมื่อได้ยินเสียงที่ไม่ไพเราะ คำพูดดูถูกดูหมิ่นนินทาเรา ก็เกิดความรู้สึกทุกข์ แล้วบางครั้งก็คิดไม่พอใจ คิดไปตามกิเลสตัณหาจนเกิดอารมณ์ ติดอารมณ์ บางครั้งก็เก็บความรู้สึกไม่ได้ ความไม่พอใจก็ออกมาทางตา ทางหน้า จนตัวสั่น พูดคำหยาบ อาละวาดด้วยกิริยาต่างๆ แต่บางครั้งสติดี ปัญญาดี จิตโปร่ง ความคิดโปร่ง ใจเย็นได้ รีบระงับความรู้สึก ไม่เอาเรื่อง ให้อภัย ทำใจเป็นผู้ใหญ่ได้ เบาใจ ไม่ทำให้เดือดเนื้อร้อนใจทั้งตัวเองและคนอื่น ค่อยๆ เห็น ค่อยๆ เข้าใจ

ก็จะมีปัญญามองเห็นได้ว่าอะไรผิด อะไรถูก
อะไรชั่ว อะไรดี อะไรมีประโยชน์ อะไรมิใช่ประโยชน์

ทำ พูด คิดอย่างไรจะก่อให้เกิดความทุกข์แก่ตัวเองและผู้อื่น
ทำ พูด คิดอย่างไรจะก่อให้เกิดความสุขแก่ตัวเองและผู้อื่น
ทำเหตุดี ก็จะออกผลดี
ทำเหตุชั่ว ก็จะออกผลชั่ว

ดังที่ชาวพุทธเราได้ยินมาตั้งแต่เด็กๆ ว่า
“ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” นั่นแหละ
เห็นกฎแห่งกรรมที่ปรากฏอยู่ในกายใจของเราเอง
เห็นด้วยตนเอง จากการปฏิบัติ จากการเฝ้าสังเกตดูตัวเอง
หิริธรรม โอตตัปปะธรรม จะเกิดขึ้นในใจของเราเอง

หิริ คือความละอายใจที่จะทำความชั่ว
โอตตัปปะ คือความเกรงกลัวที่จะทำความชั่ว

เมื่อเราเห็นประจักษ์ชัดว่า การกระทำ คำพูด การคิดอย่างไรเป็นความชั่ว
เป็นเหตุที่ก่อให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนแก่ตัวเองและผู้อื่น

สติ ปัญญา หิริ โอตตัปปะ จะมารวมกันอยู่ในใจ
จะเกิดเป็นศีล เป็นเจตนางดเว้นความชั่ว
งดเว้นบาป คือสิ่งที่มีโทษทุกข์
คำที่ว่า “ไม่มีใครเห็น” ไม่มีอีกแล้ว
ตนเป็นพยานของตน “สิกขีภูโต”

ใครจะว่าอย่างไรไม่สำคัญเท่ากับตนเองรู้จักว่าอะไรผิด อะไรถูก
ไม่สงสัย และมั่นใจในกฎตายตัวว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว”
ปกติคนเราทั่วๆ ไป ชอบบ่น ชอบนินทา
ใครทำไม่ดี ไม่ถูกใจ ไม่ชอบใคร เราก็บ่น เราก็นินทา
ถึงแม้บางครั้งไม่พูดออกมาทางวาจา
แต่ก็ยังคิดบ่น คิดนินทาสารพัด จนเคยชินเป็นนิสัย
เราก็เป็นอย่างนั้นมาตลอด เรียกว่า ยังไม่เห็น ไม่เข้าใจ
คำว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” ยังไม่ถึงใจ
เราต้องพิจารณาว่า ถ้ามีใครบ่นเรา นินทาเรา เราชอบไหม
สบายใจไหม มีความสุขไหม จริงๆ แล้วก็ไม่มีใครชอบเลย

นอกจากนี้เราต้องระวัง ถ้าใจเราไม่ดี อาจจะเกิดอาฆาตพยาบาทปองร้ายได้
อันนี้เราต้องรู้ว่า เป็นความชั่ว ถ้าเราคิดบ่น คิดนินทาตลอดคืน เราก็ทุกข์ตลอดคืน
ทำชั่วได้ชั่ว หมายถึงอย่างนี้
ถ้าเราไม่มีสติ ปัญญา ไม่มีหิริ โอตตัปปะ ก็ไม่เป็นศีลเลย
ถ้าเราปฏิบัติจนเห็นจริงๆ ว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” ในใจเราแล้ว
ใครทำชั่วก็ช่างหมด ไม่สำคัญ สำคัญตรงที่ใจของตัวเองนี่แหละ
ถูกใจหรือไม่ถูกใจก็ตาม ขอให้เราคิดดี พูดดี ทั้งต่อหน้าและลับหลังคน
ตลอดวันตลอดคืน นั้นแหละ

พระพุทธเจ้าสอนให้เราแผ่เมตตาให้แม้แต่กับคนที่เราไม่ชอบ แต่บางทีเราพยายามแผ่เมตตาอย่างไรก็แผ่ไม่ออก นอนคิด นั่งคิด พยายามแผ่เมตตาให้แก่คนที่เราไม่ชอบ แผ่ไม่ออก ท่านก็สอนให้เราทำดีกับเขา ให้ของเขา ให้ทานเขานี่แหละ เมื่อเราทำดีกับเขาได้เราก็สบายใจ มีความสุข เขาก็มีความสุขด้วย ความรู้สึกโกรธแค้นจะหายไปได้ จะเห็นชัดว่า ทำดีนี่ดีนะ ทำดีนี่สบายใจ อันนี้ไม่ใช่เพียงแต่ความคิด ไม่ใช่ฟังใครสอน ต้องเกิดขึ้นจากการปฏิบัติศึกษาจิตใจของตัวเอง เข้าใจตัวเอง เมื่อรู้จักตัวเองระดับหนึ่งก็จะเป็นอย่างนี้ไปเอง

*8q*
10-30-2008, 07:54 PM
การเฝ้าสังเกตดูตัวเอง พินิจพิจารณาศึกษาตัวเองนี้ ให้เราพยายามทำ
เพื่อให้เข้าใจกระบวนการของจิตใจต่อเนื่องกัน

โอปนยิโก น้อมเข้ามาๆ ให้มันเห็นชัดๆ ยิ่งๆ ขึ้นไป
แล้วก็จะเห็น จะเข้าใจกระบวนการของจิตใจ
ปฏิจจสมุปบาท ก็ปรากฏชัดเจนขึ้น
รู้ว่าผัสสะเกิดทางตาก็ดี หูก็ดี จมูกก็ดี ลิ้นก็ดี กายก็ดี ใจก็ดี
เป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา คือ ความรู้สึกเป็นสุข ทุกข์ เฉยๆ
เวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา มี

กามตัณหา ความทะยานอยากในกามคุณ รูปสวย เสียงไพเราะ
กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสทางกายที่ดี เป็นต้น
ภวตัณหา คือ ความทะยานอยากในความมี ความเป็น อยากเป็นโน่น
อยากเป็นนี่ อยากมีโน่น อยากมีนี่
วิภวตัณหา คือ ความทะยานอยากในความไม่มี ความไม่เป็น

ตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทานยึดมั่นถือมั่น
อุปาทานเป็นปัจจัยให้เกิดภพ
ภพเป็นปัจจัยให้เกิดชาติ คือ ความเกิด
เมื่อเกิดแล้วก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายในที่สุด

ในการปฏิบัติ ถ้าเราสังเกตดู ก็จะเห็นว่า
ความคิดที่คิดขึ้นมาเป็นภพ
เมื่อเอาสัญญาเวทนามาปรุง นึกคิดปรุงแต่งเป็นเรื่องเป็นราว
มีเรามีเขาขึ้นมา ก็เป็นการเกิดแห่งอารมณ์ ก็เป็นชาติ
ทั้งชาติดี (อารมณ์ดี) ชาติไม่ดี (อารมณ์ไม่ดี) เช่น ใจมันเสีย
เสียใจ น้อยใจ คับแค้นใจ เศร้าใจ ห่วง หึง หงุดหงิดใจ
ไม่สบายใจ ทำนองนี้แหละ.........

ชาติ ความเกิด คืออารมณ์ดี อารมณ์ชั่ว การนึกคิดปรุงแต่งตามกิเลสตัณหา
ราคะ โลภะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ......... ฯลฯ นั่นเอง
ตั้งแต่อุปาทานยึดมั่นถือมั่น ภพ ชาติ เป็นตัวทุกข์

ในการปฏิบัติ เมื่อเรา รับอารมณ์ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ให้กำหนดรู้เท่าทันอารมณ์ว่า.........
สักแต่ว่าเห็น......... สักแต่ว่าได้ยิน….. สักแต่ว่าได้กลิ่น.........
รู้สัมผัสทางกาย สักแต่ว่า......... รู้ทางใจก็สักแต่ว่า.........
ถ้าเกิดเวทนา สุข ทุกข์ ชอบ ไม่ชอบ
ให้พยายามกำหนดรู้เท่าทันเวทนา

เวทนา คือความรู้สึก......... ก็สักแต่ว่า
รู้แล้วปล่อย รู้แล้วปล่อย
ชอบ ไม่ชอบ ไม่ยึดมั่นถือมั่น
สักแต่ว่าสุข สักแต่ว่าทุกข์
สักแต่ว่าชอบ สักแต่ว่าไม่ชอบ......... อยู่อย่างนั้น
ถ้าทำได้เช่นนี้ ตัณหาอุปาทานก็ไม่เกิด ทุกข์ก็ไม่เกิด

จงมีสติว่องไว กำหนดรู้เท่าทันตรงนี้
ก่อนที่จะเกิดตัณหาอุปาทาน ยึดมั่นถือมั่น
จงมีปัญญารู้เท่าทันอารมณ์ว่า
อนิจจัง ไม่เที่ยง
ทุกขัง เป็นทุกข์
อนัตตา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน
จงมีสติปัญญากำหนดรู้เท่าทันอารมณ์ว่า
สักแต่ว่าอารมณ์
สักแต่ว่าเห็น สักแต่ว่าได้ยิน.........
สักแต่ว่าสุข ทุกข์ ชอบ ไม่ชอบ

ถ้ากำหนดรู้เท่าทันไม่ได้จะเกิดตัณหา
ตัณหานี้สำคัญ ตัณหาเป็นตัวเหตุให้เกิดทุกข์
ถ้าเกิดตัณหาแล้ว ท่านก็ให้พยายามระงับอีก
เพราะถ้าระงับไม่ได้ก็จะเกิดความรุนแรง
ด้วยอำนาจราคะ โลภะ โทสะ โมหะ มานะทิฏฐิ
เกิดเป็นอุปาทาน เกิดภพ เกิดชาติ ต่อไป

ความคิดเป็นภพโดยตรง
พยายามให้มีสติควบคุมความคิด
พยายามทวนกระแสด้วยการหักห้ามความคิด
ใช้สติปัญญาตัดความคิดทิ้งเสีย
แล้วก็ดูความรู้สึกที่รุนแรงนี้
อาศัยความอดทนอดกลั้น
พยายามปล่อยวางความรู้สึกรุนแรงนั้นเสีย

เพ่งพิจารณาความรู้สึกว่าเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง
เป็นอนัตตา ไม่มีตัวตน
ยกอสุภะ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาขึ้นพิจารณา
เป็นอารมณ์กรรมฐาน

ความนึกคิด ความคิด เป็นตัวภพ
ถ้านึกไป คิดไป ปรุงไป......... ทำไมเขาทำอย่างนั้น
ทำไมเขาไม่ทำอย่างนี้ เขาไม่น่าทำกับเราอย่างนั้นฯ
เกิดเป็นเราเป็นเขา เป็นชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขโทมนัส
ถ้าระงับความคิด ควบคุมความคิดไม่ได้
อย่างน้อยก็ให้พยายามสำรวมกาย วาจา ให้เรียบร้อย

สมถะและวิปัสสนา สองอย่างนี้ต้องพอเหมาะพอดีกัน

การปฏิบัติธรรมหรือการศึกษาดูตัวเองนั้น ควรเริ่มต้นด้วยการรักษาศีล ศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 ศีล 227 และอินทรีย์สังวร สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วเจริญสมาธิ ภาวนาระงับนิวรณ์ 5 ให้มีสมถะขึ้น เพื่อเจริญวิปัสสนาต่อไป

การปฏิบัติต้องอาศัยทั้งสมถะและวิปัสสนา
สองอย่างนี้ต้องพอเหมาะพอดีกัน จึงจะได้ผลคือความสงบ
เป็นจิตสงบที่มีคุณภาพ และมีประสิทธิภาพ
เป็นความสงบที่มี ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญาในตัว
เปรียบเทียบว่ากำลังอันนี้คล้ายกับกล้องจุลทรรศน์
ทีแรกกำลังขยายยังน้อย เมื่อดูกาย เวทนา จิต ธรรม
ก็จะเห็นได้เพียงระดับหนึ่ง

เมื่อสร้างกำลัง ปรับกำลังได้มากขึ้น
จะน้อมเข้ามาได้อีก ก็จะเห็นได้มากขึ้นอีกระดับหนึ่ง
เมื่อสร้างกำลัง ปรับกำลังได้มากขึ้นอีก
จะสามารถน้อมเข้ามาได้มากขึ้น และเห็นชัดละเอียดขึ้นอีก
สร้างกำลัง ปรับกำลัง ขยายเพิ่มขึ้นอีก
ก็จะน้อมเข้ามาอีก จนในที่สุด จะรู้แจ้งเห็นตามความเป็นจริงได้ว่า

ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอนัตตา ไม่มีตัว ไม่มีตน
ทั้งกิริยาที่ดูและสิ่งที่ดู ก็ที่เดียวกัน
แต่ความรู้เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตั้งแต่หยาบจนกระทั่งละเอียดขึ้นๆ

ผู้ปฏิบัติธรรมควรเข้าใจและฉลาดในการกำหนดสมถะและวิปัสสนา
สมถะ เป็นการสร้างกำลังและพักผ่อน
วิปัสสนา เป็นตัวทำงาน
ถ้าพยายามทำงานมาก แต่ไม่มีกำลังพอ ก็จะไม่ได้ผล
ถ้ามีแต่สมถะ มีกำลังแต่ไม่ทำงาน ก็จะไม่ได้ผลอีก
ต้องให้สมถะและวิปัสสนาพอเหมาะพอดีกัน
รู้จักพอเหมาะพอดี จึงจะได้ผล......... เอวัง


ที่มา http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=517
__________________
http://board.agalico.com/showthread.php?t=23937