PDA

แสดงเวอร์ชันเต็ม : จดหมายจากหลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร



**wan**
10-26-2008, 04:08 PM
http://www.santidham.com/abotpic/Simg/santitham030.jpg

จดหมายจากหลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร

จดหมายจากหลวงปู่

เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๖ หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร ได้ไปจำพรรษาที่วัดอโศการาม จังหวัสมุทรปราการ ท่านได้มีลิขิตเป็นจดหมายชี้แจงข้อธรรมสั้น ๆ แต่มีใจความลึกซึ้ง ส่งถึงคณะสานุศิษย์วัดสันติธรรม จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๖ ถึงวันที่ ๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๖ ทั้งหมดมี ๒๐ ฉบับ ฉบับที่ ๑๙ ขาดหายไป

ธรรมเมตตา ฉบับที่ ๑
วันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๖

ให้ละกิเลสออกจากจิตใจให้หมดทุกคน กิเลสนี้แหละทำให้คนเราเดือดร้อนวุ่นวายยู่ไม่มีที่สิ้นสุด กิเลสนั้นเมื่อท่านย่อเข้ามา คือ ความโกรธ ความโลภ ความหลง สามอย่างเท่านี้ ทำไมหนอใจคนเราจึงไม่ยอมละ การละก็ไม่หมดซักที ทำไมจึงเกิดมาเพื่อสร้างกิเลสให้มากขึ้นไปทุกภพ ทุกชาติ ในชาติเดียวนี้ ให้ตั้งใจละ ทั้งพระ ทั้งเณรและญาติโยมทั้งหลาย ความโกรธเมื่อเกิดขึ้น อย่าไปโกรธตาม ถ้าไม่ได้โกรธไปตาม มันจะตายเชียวหรือ ทำไมจึงไม่ละ รักอยู่เสมอ ๆ ว่า เราจะละความโกรธให้หมดสิ้นไป เดี๋ยวนี้ เดี๋ยวนี้ อย่ามีความท้อถอยในในการสร้างความดี มีการรักษาศีลห้า ศีลแปด ศีลสิบ ศีลสองร้อยยี่สิบเจ็ด พร้อมทั้งการเจริญสมาธิภาวนา ฆ่ากิเลส ตัณหาให้หมดไป ใจจะเย็น เย็นสุขทุกคนเลย

โดยความเมตตาถึงทุก ๆ คน
พระครูสันติวรญาณ


ธรรมเมตตา ฉบับที่ ๒
วันที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๖

ให้พากันตั้งใจฟังด้วยดี จึงจะได้ปัญญา ความโลภในจิตของเราไม่มีที่พอที่เต็มได้เลย ต่อให้ดอยสุเทพหมดทั้งลูกกลายเป็นทองคำจิตของคนเราก็จะยังไม่พอ ทางที่ดี ให้ตั้งที่ดี ให้ตั้งจิตอยู่ในสมาธิภาวนา ตั้งจิตดวงนี้ให้เต็มในขั้นสมถากรรมฐาน พร้อมด้วยวิปัสสนากรรมฐาน ให้แจ่มแจ้งในดวงใจทุก ๆ คน เท่านี้ก็พอ เพราะว่าเมื่อเราเกิดมา ก็ไม่ได้นำอะไรติดตัวมา ครั้นเมื่อเราทุกคนตายไป แม้สตางค์แดงเดียวก็เอาไปไม่ได้ ด้วยเหตุนี้จงพากันตั้งสมาธิภาวนาให้เต็มที่กิเลสโลภ อันมันนอนเนื่องอยู่ในจิตนี้ ให้หมดไปเสียวันนี้ ๆ ถ้ากิเลสความโลภนี้ยังไม่หมดจากจิต ก็ไม่ให้หยุดยั้งภาวนา ไปจนถึงวันตามโน้น

โดยความเมตตาถึงทุกคน
พระครูสันติวรญาณ


ธรรมเมตตา ฉบับที่ ๓
วันที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๖

กิเลสตัวสำคัญที่อยู่ลึกในใจมนุษย์ คือ กิเลสความหลง ความหลงนี้ คือ หลงกาย หลงจิตนี้เอง ทางที่จะแก้จิตหลงนี้ ให้พากันทำสมาธิให้ได้ทุกวัน ทุกคืน ทั่งยืน ทั้งนั่ง ทั้งนอน การตั้งจิตนั้นให้มั่นอยู่ที่ลมหายใจ จนจิตนี้ใสสว่าง หายมืดหายหลง หายมัวเมาในกามคุณ ๕ จนเกิดดวงตาญาณ เผาผลาญกิเลสให้หมดไป กิเลสความหลงนี้มันชอบกันกับคนขี้เกียจขี้คร้านหลังยาว ชอบนอนก่อนยังไม่ได้ภาวนา ด้วยเหตุนี้เราทุกคน อย่ามาหลงใหลอยู่แค่กินแล้วก็นอน ๆ เท่านั้นเลย เมื่อพากันได้ฟังธรรม คำสั่งสอนนี้แล้ว จงลุกขึ้นทำลายกิเลสโมหะ ความหลงในจิตใจ ให้หมดไปสิ้นไปเทอญ

โดยความเมตตาถึงทุกคน
พระครูสันติวรญาณ


ธรรมเมตตา ฉบับที่ ๔
วันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๖

บัดนี้เราทุกคนรู้แล้วว่า กิเลสมันดองอยู่ในจิตใจเรามานาน ตั้งมานานจนนับภพนับชาติไม่ได้ แล้วที่มาเกิดมาตายอยู่ในโลกนี้ ก็เพราะจิต เพราะจิตนี้หลงอยู่ในกามารมณ์ สำคัญผิดว่ากามให้ความสุข ที่ไหนได้ กามนี้มันให้ความทุกข์ ตั้งแต่เกิดจนตาย คนเราตายแล้วมันก็ยังติดกาม จิตหลงไปนับภพนับชาติไม่ถ้วน ในอนาคต ดูแต่ในปัจจุบันชาตินี้ คนได้บริโภคทางกายอยู่ ทางการอยู่ ทางจิตอยู่ ย่อมมีแต่เรื่องร้อนจิต ร้อนใจ ทั้งภายนอกและภายใน ด้วยเหตุนี้ เมื่อเราท่านทั้งหลายได้ฟังธรรมเทศนากัณฑ์นี้แล้ว ให้พากันละกาม ตัวมารร้ายนี้ออกให้หมดสิ้น อย่าเสียดายตามอยากเลย

โดยความเมตตาถึงทุกคน
พระครูสันติวรญาณ


ธรรมเมตตา ฉบับที่ ๕
วันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๖

ความขยันหมั่นเพียรเป็นยอดแห่งธรรม คำว่า “ความขยันหมั่นเพียร” มีทั้งภายนอกและทั้งภายใน ภายนอกนั้นผู้ที่เป็นนักบวช ก็ต้องขยันหมั่นเพียรในการปัดกวาดเช็ดถู แต่ก่อนอื่นที่จะปัดกวาดได้ต้องพร้อมเพรียงกันถางหญ้าดายหญ้า ในบริเวณเขตวัดที่อยู่ที่อาศัย โดยเฉพาะกลางพรรษา ไม่ว่าวัดใดย่อมมีหญ้าขึ้นเป็นธรรมดา เมื่อได้รับอุบายนี้เมื่อใดแล้ว เณรทุกรูป เด็กวัดทุกคน (ศิษย์วัด) ลุกยืนขึ้นจับจอบดายหญ้า พระทุกองค์ก็ลุกขึ้นจับไม้กวาด ปัดกวาดพร้อมกันไป ให้เห็นว่าเป็นกิจส่วนรวมของหมู่คณะ อย่านั่งดูดายเป็นอันขาด ส่วนความขยันหมั่นเพียรภายในนั้น ได้แก่ ท่องบ่นสาธยาย ศึกษาเล่าเรียน ฟังเทศน์ สนทนาธรรม กราบพระ สวดมนต์ ท่องคาถา ทุก ๆ ค่ำเช้า ภาวนานั่งสมาธิไม่ให้ขาด กลางวัน ๒ ชั่วโมง กลางคืน ๒ ชั่วโมง ส่วนการตั้งจิตนั้น ให้กำหนดลมหายใจ เมื่อหายใจเข้าไป ก็ให้มีสติว่านี้คือลมหายใจเข้า เมื่อลมหายใจออก ก็ให้มีสติว่า นี้คือลมหายใจออกมา ไม่ให้ลืมเป็นอันขาด จงเรียนแบบลมหายใจ ตั้งแต่เราเกิดมาไม่เห็นมันหยุดซักที ถ้าลมหายใจหยุด เราก็ตายเป็นผีเฝ้าพสุธานี้เท่านั้นเอง อาจารย์หวังว่าศิษยานุศิษย์ พร้อมทั้งญาติโยมทั้งหลายคงปฏิบัติได้ตามที่กล่าวมานี้ทุก ๆ คน

ท้ายนี้อาจารย์เมตตาจิตมาช่วยทุกลมหายใจ
ลงชื่อ พระครูสันติวรญาณ
ปญฺญาวโรภิกขุ ผู้เขียนแทน


เมตตาธรรม ฉบับที่ ๖
วันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๖

การทำความเพียรเพื่อละกิเลสนั้น ไม่ใช่เรื่องทำเล่น ๆ กิเลสในใจของมนุษย์นั้น มีมาตั้งแต่ก่อนเกิด จนเดี๋ยวนี้กิเลสก็ยังมีอยู่ ถ้าไม่เพียรละให้หมดในชาตินี้ กิเลสนี้ก็จะพาเกิดพาตายในอนาคต ไม่มีที่สิ้นสุด ด้วยเหตุนี้พุทธบริษัททั้งสี่ ที่ยังมีลมหายใจเข้าออกอยู่ จงเพียรทำทานการกุศลจนวาระสุดท้าย หมดลมหายใจ จงเพียรพยายามรักษาศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๒๒๗ ตามศรัทธาของตน ๆ พร้อมทั้งขันติความอดทน ทุก ๆ คนไปจนตราบเท่า ยาวชีวํ ตลอดชีวิตด้วยจิตศรัทธาเลื่อมใสจริง ๆ ให้พากันทำความเพียร นั่งสมาธิ ยืนก็ให้เป็นสมาธิ เดินไปข้างหน้าก็ให้เป็นสมาธิ ถอยหลังก็ให้เป็นสมาธิ ยืนก็ให้เป็นสมาธิ ขึ้นรถก็ให้เป็นสมาธิ ไปรถไปเรือก็ให้เป็นสมาธิ ลงจากรถก็ให้เป็นสมาธิ ขึ้นจากเรือก็ให้เป็นสมาธิ ขึ้นเครื่องบินและขณะโดยสารอยู่ในเครื่องบินก็ให้เป็นสมาธิ ตลอดทั้งกลางวัน ตลอดทั้งกลางคืนก็ให้เป็นสมาธิขั้นสุดท้ายเวลาจะตายยิ่งให้เป็นสมาธิอย่างยอดเยี่ยม ถอดถอนอาสวะกิเลสออกให้หมดสิ้น ก็ดับขันธ์สู่นฤพานเลย เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้

อาจารย์ส่งอำนาจจิตมาช่วยพุทธบริษัททุก ๆ คน
พระครูสันติวรญาณ


เมตตาธรรม ฉบับที่ ๗
วันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๖

เวลาเขียนธรรมอยู่นี้ ซึ่งอยู่ในระยะกลางพรรษา ในพรรษานี้ให้พากันระลึกถึงพระโยคาวจรเจ้าทั้งหลาย ท่านพระโยคาวจรพยายามตั้งจิตในก่อนเข้าพรรษาว่า ในพรรษาที่ถึงนี้ จะทำความเพียรแผดเผากิเลสให้หมดไปสิ้นไปภายในเจ็ดวัน พระโยคาวจรเจ้าทั้งหลายก็ละกิเลสได้ตามชั้นตามภูมิในการปฏิบัติของตน ๆ บางท่านก็เป็นพระโสดา บางท่านก็เป็นพระสกิทาคา บางท่านก็เป็นพระอนาคา องค์สำคัญก็สำเร็จพระอรหันต์ ภายในเจ็ดวันนั้นเอง บางท่านที่ยังไม่สำเร็จก็ตั้งจิตอธิษฐานใหม่ต่อไปอีกเจ็ดวันบ้าง หน้านี้ ถ้ายังไม่สำเร็จก็ตั้งจิตว่าในครึ่งพรรษานี้จะให้สำเร็จ ถ้าหากยังไม่สำเร็จอีก ท่านก็ตั้งใจเด็ดเดี่ยวเต็มที่ว่า ไม่ให้เกินในคืนวันออกพรรษา วันมหาปวารณา เมื่อวันมหาปวารณาผ่านไปแล้ว พระโยคาวจรทั้งหลายที่จำพรรษาอยู่ในอาวาส พร้อมทั้งญาติโยมก็ได้สำเร็จมรรคผล เห็นแจ้งซึ่งพระนิพพานตามอุปนิสัยวาสนาของตน ๆ ฉะนั้นเราเหล่าพุทธบริษัททั้งหลาย ผู้ได้สดับรับฟังพระธรรมเทศนากัณฑ์นี้แล้ว จงให้พากันทำความเพียรละกิเลสให้หมดไปสิ้นไป ภายในพรรษานี้ ทุก ๆ ท่าน ทุก ๆ คน เท่าที่มีชีวิตอยู่นี้เทอญ

อาจารย์มีความเมตตาสงสารศิษย์และญาติโยมพร้อมหน้ากัน
พระครูสันติวรญาณ


เมตตาธรรม ฉบับที่ ๘
วันที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๖

การละกิเลสเป็นของละง่าย การเอากิเลสเป็นของยาก คนทุกคนที่เกิดมา หาเอาแต่กิเลสมาเพิ่มใหม่เรื่อย ๆ เมื่อเราเกิดมามีกิเลสตัวเดียว ผู้เป็นชายก็ชายคนเดียว ไม่ได้กอดคอหญิงมา แต่เมื่อเกิดเป็นหญิง เป็นหญิงคนเดียวไม่ได้กอดคอชายแต่เมื่อเกิด ทั้งชายและหญิง เมื่อคลอดออกมาจากท้องแม่ ก็เปลือยกายออกมาทุกคน ในเวลานั้นยังไม่มีสมบัติใด ๆ เป็นของตัว เมื่อใหญ่แล้วจึงดิ้นรนวุ่นวาย หาเอาสมบัติในโลกนี้ จึงได้เกิดความยุ่งยากร้อยแปดพันประการอย่างนี้แหละ เราท่านทั้งหลาย อาจารย์เอง จึงแสดงธรรมว่าละกิเลสเป็นของง่าย ให้ดูตัวอย่างที่อ้างมาให้เห็น เมื่อพิจารณาเห็นแจ้งดังกล่าวสอนมานี้แล้ว จงพากันตื่นขึ้น ลุกขึ้นกราบพระ ๓ หน ไหว้พระสวดมนต์ เข้าที่นั่งสมาธิ ละกิเลสที่ย่องเข้ามาใหม่นี้ออกไปให้หมด ถ้ายังไม่หมดให้ลุกขึ้นยืนหยัดต่อสู่กับกิเลสให้หมดไป ในขณะที่ยืนอยู่นี้ ถ้ายังไม่หมด ให้ก้าวเท้าเดินจงกรมภาวนา ละความโกรธ ความโลภ ความหลง ให้หมดสิ้นไปในขณะนั้น ถ้ากิเลสยังไม่ตาย เราสู้เดินจงกรมภาวนาก็ให้ก้าวเดินต่อไป จนหมดลมหายใจ ล้มตายลง ๆ ตรงทางเดินจงกรมนั้นแหละ

โดยความเมตตาถึงทุกคน
พระครูสันติวรญาณ


///////////// ต่อตอน 2

**wan**
10-26-2008, 04:12 PM
เมตตาธรรม ฉบับที่ ๙
วันที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๖

การภาวนาละกิเลสให้หมดไปจริง ๆ นั้นต้องปฏิบัติดังนี้ เมื่อกำหนดบริกรรม กำหนดลมหายใจ จนจิตตั้งมั่นดีแล้ว ต้องกำหนดรูปร่างกายของเราเอง นับตั้งแต่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ไปตลอดหมดในร่างกายนี้ ให้เห็นตามที่มันตั้งอยู่ มันเสื่อมไป ทรุดโทรมไป ทั้งเป็นเก้าเป็นสถานที่ไหลเข้าไหลออกซึ่งของไม่งาม คนที่เกิดมาแล้วมักจะหลง ไม่ค่อยกำหนดดูว่า ตัวเรานี้ เมื่อมาปฏิสนธิมาเกิดในท้องของแม่ต้องมาเอาก้อนอสุภะกรรมฐาน อยู่ให้ท้องแม่นานถึงสิบเดือน จึงได้คลอดออกมา ในวันที่คลอดนั้นปฏิกูลขนาดไหน ในบริเวณคลอดออกมาเต็มไปด้วยน้ำเลือดน้ำเหลือง กลิ่นเหม็น กลิ่นคาว นี้แหละรูปกายนี้เป็นของไม่งาม จงกำหนดให้เห็น ถ้ายังไม่เห็น ก็ให้พิจารณาจนถึงวันตาย สุดท้ายเมื่อได้ฟังธรรมกัณฑ์นี้แล้ว จงพากันกำหนดกายอันเป็นอุบายละกิเลสให้หมดไป

อาจารย์ส่งจิตมาช่วยเสมอ
พระครูสันติวรญาณ


เมตตาธรรม ฉบับที่ ๑๐
วันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๖

โลกนี้มีแต่เรื่องทุกข์ ความสบายในโลกนี้ไม่มี จงพากันตั้งจิตให้มั่นอย่าหวั่นไห ก็จะเห็นแจ้งว่า โลกนี้เป็นทุกข์จริง โดยเฉพาะโลกในกาย กับจิตของเรานั้นเอง มันทุกข์จริง กายมันทุกข์เพราะความเจ็บไข้ได้ป่วยไม่สบายต่าง ๆ นานา ทั้งที่ล่วงมาแล้วก็นับครั้งไม่ถ้วน ทั้งที่เป็นอยู่ในเวลาเดี๋ยวนี้ มันทุกข์ในการบริโภคอาหาร ทุกข์ในการแสวงหาอาหาร ทุกข์ในการแสวงหาที่อยู่อาศัย ทุกข์กับเครื่องนุ่งเครื่องห่ม ทุกข์ในการแสวงหายาแก้โรค รูปร่างกายนี้เป็นสิ่งลำบากเต็มทน ผู้ใดทนได้ก็ทนอยู่ไป ผู้ทนไม่ได้ก็ตายไป นี้แหละทุกข์กาย ทุกข์จริงทางใจไม่มีเวลาว่าง ทุกข์เพราะตัณหา ความอยากได้ไม่มีเพียงพอที่พอในจิตนี้ไม่มีเสียแล้ว ถ้าใครปล่อยจิตให้ไปตามตัณหา ไม่ภาวนายิ่งอยู่ยิ่งทุกข์ ถ้าหากผู้ใดมารู้ว่า จะละตัณหาได้ด้วยการภาวนา ก็ให้รีบตั้งใจแต่วินาทีนี้เป็นต้นไป ไม่ประมาทในการรักษาจิต เพ่งพินิจอยู่แต่ในกายกับจิตเท่านี้ จนกระทั่งจิตรู้แจ้งเห็นจริงด้วยปัญญาอันชอบ ก็จะพ้นจากทุกข์ได้ทุก ๆ คนแล

ด้วยความหวังดีแด่ทุก ๆ คน
พระครูสันติวรญาณ


เมตตาธรรม ฉบับที่ ๑๑
วันที่ ๓๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๖

พระธรรมวินัยเป็นครูเป็นอาจารย์ให้แก่ทุกคน แต่คนทุกคนต้องทำตามพระธรรมวินัย อย่าล่วงเกิด อย่าประมาทพลาดพลั้ง ให้มีสติทุกขณะ ตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกตมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายถูกต้องโผฏฐัพพะ ทุกขณะใจคิด ธรรมารมณ์ อย่างหลงใหลไปในข้างที่ดีจนดีแตก อย่าให้จิตหลงไปในทางชั่วจนถอนตัวไม่ขึ้น จงระลึกอยู่เสมอว่าพระธรรมท่านพร่ำสอนเราอยู่ทุกลมหายใจ ว่าให้ทำดีทางกาย ให้พูดดีทางวาจา ให้คิดดีทางใจ พระวินัยนั้นสอนให้ละออกไป สิ่งใดไม่ดี ผิดศีลอย่าทำ อย่าพูด ไม่ให้พากันพาตัวทำชั่ว ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ไม่ให้ความโลภอยากได้มานอนอยู่ในดวงใจ จนประพฤติผิพระวินัยไม่รู้สึกตัว ถ้าคนทุกคนทำตามครู คือพระวินัยดังกล่าวมา ก็จะได้รับแต่ความสุขความเจริญอย่างเดียว ดังนี้แล

ฉบับนี้ของวัดสันติธรรมขาดหายไป ได้คัดลอกจากหนังสือละอองธรรมของสำนักสงฆ์ถ้ำผาปล่อง พิมพ์ครั้งแรกเมื่อสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ (ท่านพระอาจารย์บุญกู้ อนุวฑฺฒโน วัดอโศการาม ได้เก็บไว้)


ธรรมเมตตา ฉบับที่ ๑๒
วันที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๖

การฝึกหัดทำจิตในสมาธิภายใน ให้ทำอยู่เสมอไม่ว่าเวลาใดจิตให้มีความระลึกอยู่ในดวงจิต ดวงที่รู้ภายใน คอยระวังจิตดวงในไม่ให้หลงใหลไปตามสังขารจิต จิตที่ไปไม่เอา ให้เอาดวงจิตที่รู้อยู่ดวงจิตที่รู้อยู่นี้ไม่ได้ไปที่ไหน ตั้งแต่เกิดมาก็อยู่ภายในนี่เอง ขณะใดที่จิตสังขารมันไป ก็ยังรู้อยู่ว่าจิตเราไป ขณะที่จิตสังขารมันกลับมา ให้ทุกคนกำหนดให้ได้ ว่าจิตดวงในนี้อยู่ภายในนี้ก่อนแล้ว ไม่ต้องไปหาที่อื่น จงรู้เฉพาะหน้าเฉพาะใจอยู่เสมอ ๆ รู้ให้ได้ทุกอริยาบท ทั้งนั่งทั้งนอน ตั้งมั่นอยู่ในจิตดวงที่รู้อยู่นี้ นอกจากจิตดวงที่รู้อยู่นี้ทั้งหมดเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน นอกจากจิตนี้เป็นทุกข์ทั้งโลก นอกจากจิตที่รู้อยู่นี้เป็นของที่ไม่ใช่ตัวตนของเรา ไม่ควรลุ่มหลงไปกับสิ่งใด ๆ ทั้งหมด ควรรู้อยู่เห็นอยู่ในเวลาปัจจุบันนี้อย่างเดียว ถ้าผู้ปฏิบัติมาทำความเพียรเพื่อละกิเลส รวมกำลังจิตลงไปสู่ดวงจิตที่รู้อยู่นี้ ให้เต็มที่แล้ว ก็จะเกิดความรู้แจ้งแสงสว่างในธรรมะปฏิบัติทุก ๆ คนไป

โดยความเมตตาถึงทุกคนอยู่เสมอ
พระครูสันติวรญาณ


ธรรมเมตตา ฉบับที่ ๑๓
วันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๖

วันนี้เรานั่งสมาธิแล้วหรือยัง เวลานี้จิตเราตั้งมั่นในสมาธิเป็นปรกติดีหรือยัง ผู้ใดปล่อยจิตไปตามกามารมณ์ ผู้นั้นจะต้องเดือดร้อนในภายหลัง เพราะกามทั้งมวลล้วนแต่นำทุกข์มาให้ ทั้งในอดีตและในปัจจุบัน และติดตามไปในอนาคต นักปฏิบัติทางจิตทั้งหลาย ควรละทิ้งเสียให้ได้ในเวลานี้ เป็นการดีมาก เพราะท่านผู้ใดละกามตัวนี้ได้ย่อมอยู่เป็นสุขทุกลมหายใจ สิ่งเดือดร้อนทั้งหลายในโลกนี้ ทั้งมวลนี้ล้วนแล้วแต่กามเป็นเหตุ เหตุใหญ่อยู่ที่ใจหลงใหลในกามารมณ์ เหตุนี้ท่านผู้ยังละกามทางกายไม่ได้ ก็ให้พยายามละ ผู้ยังละกามทางวาจายังไม่ได้ ก็ให้พยายามละ ผู้ละกามทางจิตยังไม่หมด ก็ละให้หมดในเลานี้ ท่านผู้นั้นจึงชื่อว่า อยู่ในพุทธศาสนาแล.

โดยความหวังดีให้แก่ทุก ๆ คน
พระครูสันติวรญาณ


ธรรมเมตตา ฉบับที่ ๑๔
วันที่ ๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๖

คุณความดีทั้งหลายนั้น อยู่ที่ตัวบุคคลประพฤติดี มีการรักษาศีลให้บริสุทธิ์ดี ความดีทั้งหลายรวมอยู่ที่จิตเจตนาดี มุ่งอยู่ในทางดีเสมอ ไม่ว่าความดีนั้น ๆ จะเป็นเรื่องดีภายนอกก็ตาม ดีภายในก็ตามสำเร็จขึ้นมาจากดวงใจที่มีความมุ่งหวังดีอยู่เสมอทั้งนั้น ถ้าจิตเจตนาอันนี้ไม่ดีมาแต่อดีต ก็ให้ตั้งจิตเจตนาเสียใหม่ให้เจตนานี้ดีตลอดไปและให้คอยระวังอยู่เสมอ เวลาตั้งจิตเจตนาดีอยู่นั้นเอง มักจะมีอุปสรรคมาคอยขัดขวาง อยู่เป็นระยะ ๆ ผู้สร้างความดีทั้งหลาย ให้มีสัจจะอธิษฐานตั้งใจให้เต็มบริบูรณ์อยู่ทุกเมื่อ ไม่ให้หลงลืม ถ้าหากมีอุปสรรคใด ๆ มาขัดข้อง ก็ให้เตือนจิตที่มุ่งทำดีนั้น เราจะเอาชีวิตนี้แหละบูชาความดี เราจะประพฤติดีต่อไปจนถึงวันตายเป็นที่สุด

โดยความเมตตาถึงทุก ๆ คน
พระครูสันติวรญาณ


ธรรมเมตตา ฉบับที่ ๑๕
วันที่ ๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๖

ตั้งจิตให้มั่นอย่าหวั่นไหวไปตามโลก โลกนี้ทั้งโลกไม่มีสิ่งใดเป็นของใหม่ ดินฟ้าอากาศก็ของเก่า คนและสัตว์ในโลกทั้งปวงก็ดวงจิตวิญญาณอันเก่า กิเลสราคะก็อันเก่า กิเลสโทสะก็อันเก่า กิเลสโมหะก็อันเก่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ก็ล้วนแล้วสิ่งอันเก่า ทำไมเล่า จิตนี้จึงได้หลงของเก่า เหตุสำคัญที่จิตหลงก็คือ จิตคนไม่กล้าแข็งพอ ถ้าจิตคนทุกคนกล้าพอแล้ว ก็จะไปหวั่นไหวมันทำไม ให้ตั้งจิตเจตนาอันแรงกล้า รักษาศีลของตนให้บริสุทธิ์เต็มที่ แล้วจิตดวงนี้ก็จะใสสะอาดฉลาดรู้ ไม่หมกมุ่นอยู่ในโลกอันแสนทุกข์นี้เลย

ด้วยความเมตตาถึงเสมอ
พระครูสันติวรญาณ


ธรรมเมตตา ฉบับที่ ๑๖
วันที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๖

เกิดมาเป็นคนในชาตินี้ อย่าเป็นคนใจสั้นคันเคร่ง จงมีใจกว้างขวางเผื่อแผ่เจือจาน จิตใจให้เบิกบาน หน้าตาให้ยิ้มแย้มแจ่มใสนั่งที่ไหนอยู่ที่ใด ก็ให้มีจิตเมตตากรุณาแก่บุคคลและสัตว์โลกทั้งปวงมุ่งหวังให้บุคคลสัตว์โลกทั้งปวงอยู่เย็นเป็นสุข พ้นจากความทุกข์ ผู้ตั้งจิตอย่างนี้ และฝึกหัดจิตของเขาให้เจริญภาวนาเมตตาแก่สัตว์อยู่เนืองนิจ ติดต่อกันไปจนเคยชิน ก็จะถอนใจสั้น ใจเห็นแต่ประโยชน์ตน ใจแคบ ใจน้อย ใจเบา ใจไม่เอาถ่าน ใจขี้คร้านภาวนา ทั้งหมดก็จะถอดถอนออกจนหมดสิ้น แล้วใจดวงนี้ก็จะใสสะอาด สามารถสร้างบารมีให้เต็มที่ในชาตินี้เลย ฉะนั้นผู้ใดใจสั้นก็ให้ยาว ใจดำก็ให้ขาว จงทำใจของตน นานจนหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงเทอญ

ขอให้ท่านทั้งปวงจงเห็นแจ้งซึ่งพระนิพพานเทอญ
พระครูสันติวรญาณ


ธรรมเมตตา ฉบับที่ ๑๗
วันที่ ๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๖

คนเราทุกคนหลงกลกิเลส ดูแต่กิเลสราคะสั่งให้ทำ ก็ทำตามกิเลสโทสะสั่งให้ทำ ก็ทำเลย กิเลสโมหะสั่งให้ทำ ก็เป็นอันว่าทำตามไปทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าผู้ใดทำตามอำนาจกิเลสอยู่เรื่อยไปอย่างนี้ละก็บุคคลผู้นั้นไม่มีหนทางใดที่จะละกิเลสออกจากจิตได้ เพราะจิตผู้นั้นไม่ยกขึ้นสู่กรรมฐาน แค่อสุภะกรรมฐานที่ถ่ายออกมาทุก ๆ วันก็ไม่กำหนด กำหนดก็ไม่เห็น ปล่อยให้กรรมฐานเสียไปทุกวัน ๆ ให้พากันตั้งจิตให้สูงขึ้น อย่าปล่อยให้จิตต่ำ ตั้งขึ้นมาให้ได้ทุกลมหายใจ ว่านี่เราใกล้จะตายเข้ามาทุกทีแล้ว อย่าประมาท

อาจารย์ส่งจิตมาช่วยเสมอ
พระครูสันติวรญาณ


ธรรมเมตตา ฉบับที่ ๑๘
วันที่ ๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๖

การทำความเพียรละกิเลสนั้น อยู่ที่เพียรทำจิตให้เป็นสมาธิไม่ว่าเวลาใด ให้จดจ่ออยู่ในการรักษาจิต ไม่ปล่อยให้อำนาจกิเลสใด ๆ มาสิงสู่ในจิตได้ ตั้งจิตให้มั่นคงที่สุด เมื่ออารมณ์ใดมากระทบ ไม่ให้จิตนี้หลงไปตาม รู้อยู่เฉพาะจิตดวงที่รู้อยู่นั้น ถ้าจิตดวงนี้ยังหลงใหลไปได้ ก็แสดงว่าความเพียรยังอ่อน ให้เพียรพยายามให้มากขึ้นไปอีกให้ความประพฤติปฏิบัติทุกส่วนก้าวไปข้างหน้าอย่าถอยหลัง จงคอยระวังตัวสังขารมารจะมากั้นกลาง ไม่ให้ทำความเพียรอันเยี่ยมยอดนี้มารสังขารตัวนี้มันจะยึดให้อยู่กับที่นั่นหนึ่ง และมันจะดึงถอยหลังคืนไปหากิเลสโทสะ โมหะอีกหนึ่ง ผู้ทำความเพียรเพื่อละกิเลสทั้งหลายอย่าหลงใหลไปตามกิเลสทั้งหลายอย่างหลงใหลไปตามกิเลสนั้น ๆ เลย

โดยความเมตตาถึงทุกคนอยู่เสมอ
พระครูสันติวรญาณ


ธรรมเมตตา ฉบับที่ ๒๐
วันที่ ๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๖

ใจมนุษย์ขุดให้ถึง ใจคนเราทุกคนเพราะขุดค้นไม่ถึง เปรียบอุปมาเหมือนน้ำที่มีอยู่ในพื้นแผ่นดินทุกแห่งหน เมื่อคนไม่ขุดค้นลงไปหาน้ำ ก็ไม่ได้รับน้ำฉันนั้น ใจมนุษย์ก็เช่นกัน มันก็มีอยู่ในรูปร่างกายทุก ๆ คน ฉะนั้นทุกคนจึงจำเป็นจะต้องพิจารณาให้ทั่วถึงในรูปร่างกายนี้ มีผม ขน เล็บ เป็นต้น ตลอดไปทั่วสรรพร่างกาย ให้ดวงจิตดวงนี้กำหนดขึ้นมาพิจารณาลงไป ภายนอกมีหนังหุ้มอยู่ทั่วตัว ภายในหนังหุ้ม มีอะไรกำหนดให้ได้ ไม่ให้จิตไปคิดที่อื่น ให้จิตคิดค้นในตนของตน เรื่องของคนอื่นอย่าเอามาคิด จงเพียรขุดค้นลงไปถึงดวงจิต ที่เป็นผู้ค้นอยู่ปัจจุบันนั้น อยู่ที่ไหนก็ให้พินิจคิดค้นอยู่ในดวงจิตนั้น จนรู้แจ้งเห็นจริงด้วยธรรมจักษุ คือดวงตาญาณแจ่มแจ้งแสงสว่างทางธรรมนี่แหละใจมนุษย์ ขุดให้ได้ทุกคนไป

โดยความเมตตาถึงทุกคนอยู่เสมอ
พระครูสันติวรญาณ


--------------------------------------------------------------------------
ที่มา http://board.palungjit.com/showthread.php?t=145422