PDA

แสดงเวอร์ชันเต็ม : สุริยน ศรีอรทัยกุล กับ อลังการงานสร้าง "เครื่องทรงพระแก้วมรกต"



pikulkaew
06-27-2011, 02:17 PM
http://www.manager.co.th/asp-bin/Image.aspx?ID=1882892

สิ่งหนึ่งที่เป็นความภาคภูมิใจในชีวิตของ “หนึ่ง” สุริยน ศรีอรทัยกุล ทายาทรุ่นที่ 3 ของ บริษัท บิวตี้เจมส์ แฟคตอรี่ จำกัด บุตรชายของ พรสิทธิ์ ศรีอรทัยกุล ประธานบริษัทฯและอดีตประธานที่ปรึกษาสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับ คือการได้เป็นหนึ่งในทีมผู้รับหน้าที่จัดสร้าง “เครื่องทรงชุดใหม่” ของ พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง เมื่อ 16 ปีที่แล้ว

หลังจากที่ “เครื่องทรงชุดเดิม” ที่สร้างขึ้นเมื่อกว่า 200 ปีที่แล้ว ด้วยพระราชศรัทธาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 และสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 มีสภาพชำรุด ยากแก่การบูรณะ ให้สวยงามเฉกเช่นช่างฝีมือในอดีต

เครื่องทรงชุดใหม่นี้ กรมธนารักษ์ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ดำเนินการจัดสร้าง โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทรงรับเป็นประธานที่ปรึกษา

นอกจากจะถูกสร้างขึ้นแทนชุดเก่าเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแล้ว ยังเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี เมื่อปีพ.ศ.2539 อีกด้วย

กรมธนารักษ์ได้มอบหน้าที่ให้สมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับ เป็นผู้จัดหาบริษัทที่จะทำการจัดสร้าง ซึ่งในที่สุด บริษัท บิวตี้เจมส์ แฟคตอรี่ จำกัด ก็รับหน้าที่สำคัญ ที่กลายเป็นความภาคภูมิใจจนถึงทุกวันนี้

“คุณพ่อ คือ คุณพรสิทธิ์ ซึ่งเป็นประธานบริษัทฯ ท่านก็เลยได้รับหน้าที่จัดสร้างเครื่องทรงทั้ง 3 ฤดู ส่วนผมรับหน้าที่เป็นหนึ่งในกรรมการจัดหาพลอย เพื่อที่จะจัดสร้างเครื่องทรง

หลังจากที่ได้รับมอบหมาย คุณพ่อก็ได้ปรึกษากับทีมช่าง แล้วทำการศึกษารูปแบบของเครื่องทรงเดิม เนื่องจากรูปแบบของเครื่องทรงจะไม่มีการทำขึ้นใหม่ เพราะต้องการคงเอกลักษณ์ของรูปแบบเดิมไว้ทั้งหมด มีการเปลี่ยนเฉพาะเรื่องของพลอยในเครื่องทรงให้ดูสวยงาม

และเรายังได้หล่อหุ่นจำลองพระแก้วมรกตขึ้นใหม่ด้วย เพราะองค์จริงไม่สามารถนำลงมาได้ ดังนั้น เราจึงต้องทำการศึกษาเครื่องทรงชุดเดิม เพื่อสร้างเครื่องทรงชุดใหม่จากหุ่นจำลองที่เราเรียกกันว่าพระแก้วน้อย”

สุริยนเล่าย้อนความหลังเมื่อครั้งที่เริ่มต้นดำเนินการจัดสร้างเครื่องทรงชุดใหม่ ที่ใช้งบประมาณในการจัดสร้าง เป็นจำนวนเงินมหาศาลในเวลานั้น (ราว 120 ล้านบาท) ก่อนจะบอกถึงความพิเศษของเครื่องทรงในแต่ละฤดู ที่ยามนี้ถูกนำมาเปลี่ยนแทนเครื่องทรงเดิมได้สิบกว่าปีแล้ว

เริ่มจาก “เครื่องทรงฤดูหนาว” ที่ถูกจัดสร้างขึ้นก่อนเครื่องทรงฤดูอื่นๆ ใช้ระยะเวลา 3 เดือนครึ่งจึงสำเร็จลุล่วง

“หลังจากที่ทีมช่างทำการคัดลอกแบบจากเครื่องทรงชุดเดิมเสร็จปุ๊บ เราจึงทำการจัดสร้างให้ดูสวยงาม เหมือนเครื่องทรงเดิม ดูแล้วเรียบร้อย ไม่เป็นประกายมากจนเกินไป พลอยที่จะใช้ก็พยายามใช้ของเก่า ถ้าของเดิมเป็นลงยา ของใหม่จะใส่เป็นพลอยจริงลงไป อย่างดอกชิงดวง ที่เป็นลายของผ้าคลุมทองคำ ก็ใช้โกเมนแทนที่การลงยา

และเครื่องทรงฤดูหนาวยังมีความพิเศษในเรื่องการทำผ้าคลุมทองคำ ซึ่งจะหนักมากไม่ได้ แต่เนื่องจากทำด้วยทองคำแท้ และยังมีพลอยอีก ฉะนั้นเทคนิคในการกลึงผ้าคลุม จึงต้องพึ่งเทคนิคสมัยใหม่ เน้นในเรื่องของความพลิ้วเบา แล้วทำให้น้ำหนักทั้งหมดกระจายไปทั่วทั้งผ้าคลุม ไม่ใช่ทิ้งน้ำหนักไว้ ณ จุดใดจุดหนึ่ง จึงทำ ให้ผ้าคลุมไม่เกิดการชำรุดเสียหายง่าย เพราะเราใช้เทคนิคการผลิตที่ทำให้อยู่ได้คงทนถาวรนานที่สุด”

ต่อด้วย “เครื่องทรงฤดูร้อน” ที่การจัดสร้างมีความยุ่งยากกว่าฤดูอื่นๆตรงที่มีรายละเอียดค่อนข้างเยอะ

“ทีมช่างต้องทำการแกะแต่ละชิ้นส่วนของเครื่องทรงชุดเก่า ไม่ว่าจะเป็นพระมงกุฎทองคำลงยา, ทับทรวง, รัดพระองค์ ฯลฯ ออกมาทำการคัดลอกแบบ และพลอยที่ใช้ทำเครื่องทรง ต้องใช้มากเป็นจำนวนหลายหมื่นเม็ด และอาจจะถึงแสนเม็ดด้วย แต่เราโชคดีตรงที่เมืองไทยของเราเป็นเมืองแห่งอัญมณี ทุกห้างร้าน ทุกบริษัท ทุกอุตสาหกรรม ทางเราได้ขอร้องไปว่า ใครมีพลอยที่สวยที่สุด หรือมีเม็ดไหนที่สวยให้นำมาให้เรา ซึ่งพอทุกคนรู้ว่าเราจะนำมาจัดสร้างเครื่องทรงพระแก้วมรกต ก็พร้อมใจกันนำมาให้มากมาย

ตอนนั้นผมเป็นกรรมการจัดหาพลอยอยู่ จึงได้มีโอกาสเห็นพลอยที่ไม่เคยได้เห็นมาก่อนของหลายๆครอบครัว หลายๆบริษัท ทำให้รู้สึกว่า โอ้ ...ประเทศเรา พลอยเยอะจริงๆ แต่ขนาดนั้นเราก็ยังเกือบจะทำไม่ได้ เพราะว่าทับทรวงชิ้นหนึ่งต้องใช้พลอยเกือบ 100 เม็ด จากเกือบ 7 บริษัท และทุกเม็ดต้องสีเหมือนกันหมด”

ที่เป็นความภาคภูมิใจอย่างหนึ่งในการจัดทำเครื่องทรงฤดูร้อน สุริยนกล่าวเพิ่มเติมว่าในส่วนของการทำ “รัดพระองค์” ที่เหมือนกับเข็มขัด เครื่องทรงเดิมนั้นทำจากไพลินทรงหลังเบี้ย แต่เครื่องทรงใหม่เป็นไพลิน ที่เรียกกันว่า Star Sapphire ถ้าใช้ไฟส่องจะมีดาวให้เห็น

“ประจวบเหมาะที่เราจัดสร้างสมัยรัชกาลที่ 9 ด้วยหรือเปล่าไม่แน่ใจ เพราะเราใช้ไพลินทั้งหมด 9 เม็ดพอดีเลย จึงได้เป็น 9 Star คิดว่าคงเป็นเรื่องบังเอิญมากกว่าที่ เราใช้ไพลินทั้งหมด 9 เม็ด แต่ก็เป็นความรู้สึกภาคภูมิใจ ว่า คนรุ่นต่อไปจะได้จดจำว่า ประเทศไทยเรามีอัญมณี อุดมสมบูรณ์และเจริญรุ่งเรืองมาก และเราก็มีช่างฝีมือ ซึ่งสามารถทำงานตรงนี้ได้ แต่ก่อนเราอาจจะต้องอาศัยต่างประเทศในการช่วยทำ แต่ตอนนี้คนไทยเราทำได้เอง และเมืองไทยก็เป็นเมืองที่ส่งออกเพชรพลอย นำรายได้เข้าประเทศ เหมือนเป็นอะไรที่ลงตัวเหมาะเจาะทุกอย่าง”

ในส่วนของ “เครื่องทรงฤดูฝน” ซึ่งจัดสร้างเป็นชุดสุดท้าย นอกจากความยากความท้าทายในการจัดสร้างจะอยู่ที่ลวดลายของเครื่องทรง ซึ่งเป็นลวดลายกนกทั้งหมด การจัดสร้างทั้งในส่วนของพระศกทองคำ, ผ้าห่มดองทองคำ, สบงทองคำ และผ้าสังฆาฏิทองคำ ยังต้องพยายาม ทำให้มีความพอดีกับองค์พระแก้วมรกต ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย

“ทุกชิ้นส่วนต้องรัดเข้าไปพอดีเป๊ะ และลวดลายต่างๆ ต้องประดับเข้าไปในส่วนโค้งที่จะต้องรัดเข้ากับองค์ท่านให้ได้อย่างดีที่สุดด้วย ประกอบกับพระศกในส่วนของพระเศียรที่ต้องใช้พลอยเป็นหมื่นเม็ด ซึ่งทั้งสามฤดูต้องใช้พลอยเป็นหมื่นเม็ดทั้งหมดเลย แล้วเทคนิคในการฝังพลอย ก็เป็นเทคนิคสมัยใหม่ทั้งหมด เพื่อให้ภาพรวมที่เห็นทั้งหมดถูกต้องตามพระราชประเพณีทุกอย่าง”

การที่ได้เคยมีโอกาสเป็นหนึ่งฟันเฟืองในการจัดสร้างเครื่องทรงพระแก้วมรกต สุริยนยอมรับว่าแรกเริ่มเพียงต้องการทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด และต้องการใช้ความรู้ ที่ร่ำเรียนจากต่างแดน มาปรับใช้กับการอนุรักษ์งานพุทธศิลป์ ที่ได้กลายมาเป็นประวัติศาสตร์ครั้งใหญ่ของประเทศ

“ตอนนั้นเพิ่งอายุ 22 ปี เรียนจบมาทางด้านอัญมณีศาสตร์โดยตรงจากอเมริกา พอคุณพ่อบอกว่าได้รับทำโครงการนี้ ผมก็นึกแบบเด็กอเมริกันทั่วไปว่า ไม่มีคำว่าไม่สำเร็จ เราเพิ่งเรียนจบมาก็ร้อนวิชาเลย บอกคุณพ่อครับ ผมขอประสานงานกับทีมดีไซเนอร์ได้ไหม และขอเป็นคนเร่งในการจัดหาพลอยได้ไหม คุณพ่อบอกว่าได้เลย ผมจึงได้ทำการประชุมผู้จัดการในการจัดพลอยทั้งหมด ตอนนั้นไม่ได้เครียดอะไร เพราะความเครียดน่าจะไปตกอยู่กับคุณพ่อมากกว่า ที่ต้องทำเสร็จให้ทันระยะเวลาที่กำหนดเอาไว้ 1 ปี

โดยส่วนตัวก็คิดว่าทำด้วยใจ และคิดว่าอย่างไรก็ต้องทัน และคิดว่าพลอยที่จะใช้ต้องมีสิ ไม่มีไม่ได้ ที่ผ่านมา ผมได้โทรศัพท์ไปถามเรื่องพลอยจากเพื่อนๆของคุณพ่อ และทางคุณน้าก็ช่วยด้วย ทุกคนต่างช่วยกัน”

ส่วนความภาคภูมิใจอันมากล้น เจ้าตัวบอกว่า มาเกิดขึ้นในภายหลังและทำให้ภูมิใจจนถึงทุกวันนี้

“เพราะถ้าตอนนั้นรู้ว่าเป็นงานที่ทำให้เราภูมิใจมากขนาดนี้ ผมคงทำไม่ได้ คงตื่นเต้นไปหมด ตอนนั้นมันเหมือนเราเพิ่งเรียนจบมาใหม่ๆ เป็นเด็กนอก ทำเต็มที่คิดเพียงว่าทำงานช่วยคุณพ่อให้ดีที่สุด และคิดว่าทำงานถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะเราก็เคารพบูชา พระองค์ท่าน เนื่องจากได้เห็นจากข่าวต่างๆมาตั้งแต่เด็ก

ณ ตอนนั้นลึกๆรู้สึกว่าภูมิใจ แต่ส่วนหนึ่งก็รู้สึกว่าเป็นงานที่เราจับต้องอยู่ทุกวัน ถึงเวลาก็ต้องทำให้เสร็จในแต่ละวันไป ตอนนั้นจำได้ว่ามีหลายคนที่ขอเข้ามาดูงาน มาขอถ่ายรูป เราก็รู้สึกว่า โอ้...งานตรงนี้เป็นสิ่งที่คนเขาเคารพบูชา และเราได้เป็นผู้จัดสร้างนะ

แต่ความภาคภูมิใจเกิดขึ้นภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปลี่ยนเครื่องทรง เเละหลังจากนั้นเมื่อครบกำหนดที่พระองค์ท่านจะต้องเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปลี่ยนเครื่องทรง เมื่อไหร่ พวกเราตระกูลศรีอรทัยกุลทุกคนก็จะรู้สึกว่า วันนั้นเป็นวันโชคดีของที่บ้าน คิดอะไรก็มักจะได้”

ส่วนเรื่องของปาฏิหาริย์ในชีวิต สุริยนบอกว่ามีเกิดขึ้นอยู่เสมอ เพราะเชื่อว่าที่ผ่านมาได้มีส่วนร่วมก่อการดีเพื่อบ้านเพื่อเมืองเอาไว้ พระแก้วมรกตจึงคุ้มครองให้ตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้

“มีตลอดครับ ไม่ว่าจะในเรื่องของอุตสาหกรรมอัญมณีเองก็ตาม หรือว่าในยามที่มีอะไรเข้ามากระทบกับครอบครัวกับบริษัท บางครั้งเรื่องร้ายๆก็กลายเป็นเรื่องดีได้ และบางครั้งผมก็เคยอธิษฐานขอพรจากพระแก้วมรกต ให้บริษัทของเราเป็นปึกแผ่น และให้เหตุการณ์ในประเทศของเราเป็นไปในทางที่ดี

ถ้ามีอะไรหนักๆ ก็จะยกมือไหว้ ขอให้พระแก้วมรกต ช่วยคุ้มครอง แต่เราก็ต้องเดินสายกลางด้วย เพราะทุกคนเกิดมาบนโลกนี้วันหนึ่งต่างต้องตายอยู่ดี เรื่องของเคราะห์ คงหนีไม่พ้น ดังนั้นถ้าเคราะห์นั้นเป็นของเราจริงๆ ก็ขอให้เป็นเคราะห์ที่เบา ถ้ายังไม่ถึงเวลาก็ขอให้ บริษัท ขอให้ประเทศ และขอให้สิ่งต่างๆดำเนินไปอย่างกลางที่สุด ถ้าจะเกิดขอให้เกิดเบาที่สุด

อีกปาฏิหาริย์หนึ่งที่ผมเชื่อมาตลอด คงเป็นเรื่องของการที่ท่านดลบันดาลให้ผมคิดอะไรออก มีปัญญาในการแก้ไขปัญหามั้งครับ เวลาที่เราเจออะไรแล้วทุกข์ และเจออะไรแล้วสุข ก็มักจะคิดออกว่ามันคืออะไร และเราก็มอง ออกว่า เราอยู่ในชีวิตที่มันไม่สมบูรณ์นะ มีทั้งด้านดี ด้านไม่ดี ด้านบวก ด้านลบ เพียงแต่ว่าเราจะดำเนินชีวิตยังไง ไม่ให้ไปประสบในสิ่งที่ชั่วร้าย และไม่พาตัวเองไปอยู่ในที่อโคจร”

และเขาก็เชื่อเช่นกันว่า เป็นเรื่องของ “ธรรมะจัดสรร” ที่ทำให้เขาและครอบครัวได้มีโอกาสเป็นหนึ่งในทีมจัดสร้างเครื่องทรงพระแก้วมรกต เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาพร้อมกับผู้คนอีกนับร้อย ที่ได้มีโอกาสทำงานนี้ร่วมกันอย่างขยันขันแข็ง และใส่ใจลงไปในทุกรายละเอียด

“ผมเชื่อนะครับว่า เป็นเรื่องของธรรมะจัดสรร เพราะไม่เช่นนั้นแล้วอะไรล่ะคือเหตุผล ที่ทำให้เราต้องมีอาชีพนี้ และมาทำงานตรงนี้ ถ้าไม่ใช่เรื่องของธรรมะจัดสรร แล้วคุณพ่อของผมเอง ท่านก็เรียกได้ว่าเป็นบุคคลที่ใสสะอาดมาก และทุกคนที่บ้านก็ค่อนข้างที่จะคิดไปในทำนองเดียวกัน

เคยมีบางครั้งที่ที่บ้านเราถูกเอารัดเอาเปรียบ แต่สุดท้ายก็กลายเป็นผลดี แล้วคนที่เคยเอารัดเอาเปรียบเราเหล่านั้น ก็ได้เห็นความดีของเรา เห็นสิ่งดีๆที่เราทำ แล้วก็มีความคิดที่เปลี่ยนไปจากเดิม

ผมจึงคิดและเชื่อเสมอว่า ถ้าเราสามารถเปลี่ยนคน ในสังคมที่เป็นคนเห็นแก่ตัว ให้เลิกเป็นคนที่ไม่เอารัดเอาเปรียบ ด้วยการที่เราเป็นคนที่เสียสละบ้าง เปลี่ยนได้แค่เพียงคนเดียว ก็ถือว่าคุ้มแล้วครับ“

ประโยคสุดท้ายของสุริยน ราวกับสรุปให้เราเชื่อต่อไปว่า ทองแท้ย่อมไม่กลัวไฟ เฉกเช่นคนดีย่อมไม่กลัวสิ่งชั่วร้าย และเมื่อทำดีย่อมได้รับผลดีเสมอ

• พระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรง

พระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงประกอบพระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ในวันเริ่มฤดูเป็นประจำทุกปี

กรณีที่ทรงติดพระราชภารกิจอย่างอื่น ไม่อาจเสด็จด้วยพระองค์เองได้ จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ และมีกำหนดเสด็จพระราชดำเนินในการพระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ดังนี้

ฤดูร้อน วันแรม 1 ค่ำ เดือน 4 ราวเดือนมีนาคม
ฤดูฝน วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ราวเดือนกรกฎาคม
ฤดูหนาว วันแรม 1 ค่ำ เดือน 12 ราวเดือนพฤศจิกายน

เมื่อเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรตามฤดูกาลแล้ว เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังจะนำเครื่องทรงชุดที่ไม่ได้ทรงตามฤดูกาล ไปเก็บรักษา ณ ศาลาเครื่องราชอิสริยยศเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเหรียญกษาปณ์ไทย กรมธนารักษ์ ซึ่งตั้งอยู่ภายในพระบรมมหาราชวัง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมธนารักษ์นำออกจัดแสดงให้ประชาชนได้มีโอกาสชมอย่างใกล้ชิด เมื่อถึงกำหนดพระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรง เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังจะอัญเชิญออกมา เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายให้ทรงเปลี่ยน โดยอัญเชิญเครื่องทรงฤดูก่อนไปเก็บรักษาไว้แทน

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 126 พฤษภาคม 2554 โดย อ้อย ป้อมสุวรรณ)

ติดตามดูรูปเครื่องทรงที่ตอบกระทู้นะคะ
ที่มา:หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ

pikulkaew
06-27-2011, 02:18 PM
http://www.manager.co.th/asp-bin/Image.aspx?ID=1882893

pikulkaew
06-27-2011, 02:19 PM
http://www.manager.co.th/asp-bin/Image.aspx?ID=1882894

pikulkaew
06-27-2011, 02:20 PM
http://www.manager.co.th/asp-bin/Image.aspx?ID=1882895