PDA

แสดงเวอร์ชันเต็ม : ปุจฉา- ทำบุญมากอย่างไร ?



Butsaya
10-27-2011, 04:21 PM
ปุจฉา- ทำบุญมากอย่างไร ?
โดยท่านว.วิชรเมธี





ปุจฉา

สำนักแห่งหนึ่งสอนว่า ถ้าทำบุญมาก ก็จะได้รับอานิสงส์มาก ทำน้อยก็จะได้อานิสงส์น้อย
ยิ่งทำชนิดทุ่มจนหมดตัว ผลที่ได้รับก็สุดประมาณ คำสอนอย่างนี้มีอยู่ในพระพุทธศาสนา (ที่แท้)
หรือไม่ ขอทราบคำอธิบายที่ถูกต้องด้วย

วิสัชนา

ในสารบบคำสอนของพระพุทธเจ้าเท่าที่เคยศึกษามา ไม่พบว่าทรงสอนให้ทำบุญให้ทานอย่างไร้เหตุผลเช่นนั้นเลย มีแต่ทรงสอนให้
ทำบุญด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์ทั้ง ๓ กาล กล่าวคือ ก่อนให้มีใจเลื่อมใส ขณะให้มีใจยินดี ให้ไปแล้วก็มีใจเบิกบาน เมื่อมีเจตนาบริสุทธิ์
ทั้ง ๓ กาล (รวมทั้งวัตถุที่จะถวายบริสุทธิ์ด้วย ท่านผู้รับมีศีลด้วย) แล้ว แม้จะให้เงินเพียงหนึ่งบาทเป็นทาน ก็อาจมีค่ามากเป็นร้อยล้าน
บาทก็ได้ ยกตัวอย่างง่ายๆ ในอดีต พระสิวลีที่เราถือกันว่าเป็นดังเทพเจ้าแห่งโชคลาภนั้น ท่านเคยถวายน้ำผึ้งแท้แก่พระพุทธเจ้า พระ
องค์หนึ่ง ด้วยผลานิสงส์จากการถวายน้ำผึ้งนั้นแท้ๆ เทียว ทำให้ท่านกลายเป็นคนที่อุดมไปด้วยลาภสักการะอย่างมหาศาลมาไม่รู้กี่ภพชาต
ิ นี่คือการถวายทานด้วยวัตถุและเจตนาอันบริสุทธิ์แก่ท่านผู้รับซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์หรือทรงศีล แม้ของที่ถวายจะดูเล็กน้อย แทบไม่มีราคาค่า
งวดแต่ก็อาจให้ผลเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้

กล่าวโดยสรุป สาระสำคัญของการถวายทานไม่ได้อยู่ที่ข้าวของต้องใหญ่ ต้องหายาก ต้องวิจิตรงดงามอลังการ หรือราคาค่างวดของสิ่งที่
จะถวายต้องมากหรือต้องแพงลิบลิ่ว หากแต่อยู่ที่

๑. วัตถุที่จะถวายนั้นได้มาโดยบริสุทธิ์ ไม่ใช่ขโมยหรือยืมเขามา
๒. มีเจตนาอันบริสุทธิ์ มุ่งทำบุญจริงๆ ไม่ใช่มุ่งเอาหน้า เอาชื่อ หรือหวังเป็นข่าวสังคมทางโทรทัศน์ และ
๓.ท่านผู้รับก็เป็นผู้ทรงศีลาจารวัตรงดงามแท้จริงไม่ใช่ พวกอลัชชี (ไร้ยางอาย) ที่จ้องจะตบทรัพย์จากคนศรัทธาจริตแต่ขาดปัญญา

ถ้าเหตุปัจจัยทั้งสามประการนี้พร้อมเมื่อไหร่ ถวายก๋วยเตี๋ยวชามหนึ่ง ก็อาจมีผลานิสงส์มากกว่าถวายเงินนับแสนนับล้านบาทเสียอีกหรือ
ถวายหนังสือเรียนธรรมะแก่สามเณรน้อยสักรูปหนึ่ง ก็อาจให้ผลกลายเป็นคนฉลาดปราดเปรื่องนับได้หลายร้อยภพชาติก็เป็นได้ ส่วน
สำนักไหนที่สอนว่าให้มากได้มาก ให้น้อยได้น้อย ให้หมดตัว ได้บุญสุดประมาณนั้น ก็เป็นเรื่องของสำนักนั้นจะว่ากันไปใครใคร่ ศรัทธา
ก็ศรัทธา ใครใคร่ทำบุญก็ทำไปเถิด แต่ขอให้รู้เอาไว้ว่า ในสำนักพระพุทธเจ้าของเรานั้น ท่านไม่สอนกันอย่างนี้เลย หรือจะกล่าวให้ชัด
ยิ่งกว่านั้น ก็ต้องบอกว่า การทำบุญที่แท้นั้น แทบไม่เกี่ยวข้องกับการใช้เงินเลยแม้แต่สตางค์แดงเดียว !

หมายเหตุ.
การทำบุญในพระพุทธศาสนานั้นไม่ได้มีเพียงการ “ทำทาน” เพียงอย่างเดียวอย่างที่คนไทยนิยมทำกัน หากแต่ยังมีวิธีการทำบุญ
อีกมากมายถึงกว่า ๑๐ วิธี ในวิธีทำบุญทั้ง ๑๐ นี้ เราถนัดที่จะทำบุญด้วยวิธีไหนก็สามารถเลือกทำได้ตามอัธยาศัย

๑. ทำบุญด้วยการให้ปันสิ่งของ
๒. ทำบุญด้วยการรักษาศีล
๓. ทำบุญด้วยการเจริญภาวนา
๔. ทำบุญด้วยการอ่อนน้อมถ่อมตน
๕. ทำบุญด้วยการช่วยเหลือกิจการงานของเพื่อน,ชุมชน,สังคม, ประเทศชาติ,มนุษยชาติ
๖. ทำบุญด้วยการแบ่งความดีให้แก่คนอื่น (เช่น วันนี้ไปฟังเทศน์มา เอาบุญมาฝากเธอด้วยล่ะ)
๗. ทำบุญด้วยการแสดงความยินดีในความดีของผู้อื่น (เธอเก่งจังเลยเนาะ น่าชื่นชมจัง)
๘. ทำบุญด้วยการฟังธรรม, อ่านหนังสือธรรมะ, แสวงหาความรู้ที่ดีงาม มีประโยชน์
๙. ทำบุญด้วยการแสดงธรรม, สอนธรรม, เผยแผ่ธรรม, หรือถ่ายทอดวิทยาการที่ดีมีประโยชน์
๑๐. ทำบุญด้วยการปรับกระบวนทัศน์ให้เป็นสัมมาทิฐิ เช่น เชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม,
เชื่อในหลักแห่งความจริงตามธรรมชาติ เช่น เรื่องสรรพสิ่งล้วนขึ้นต่อกันและกัน (อิทัปปัจยตา)
เรื่องสรรพสิ่งที่มีอยู่เพราะการรวมตัวกันของปัจจัยที่หลากหลาย ล้วนต้องตก
อยู่ในกฎแห่งความไม่เที่ยง ไม่แท้ และไม่ทน (อนิจจตา-ทุกขตา-อนัตตตา) เป็นต้น

จะเห็นว่า “ทางเลือก” ในการทำบุญทั้ง ๑๐ ประการนี้ ไม่มีวิธีไหนระบุลงไปเลยว่า
ต้องใช้ “เงิน” เป็นปัจจัยสำคัญในการทำบุญและ ควรทราบไว้ด้วยว่า บรรดาวิธีทำบุญทั้ง ๑๐ นี้
วิธีที่ได้ผลมากที่สุดก็คือ วิธีที่ ๓ คือ
การทำบุญด้วยการเจริญภาวนาเพื่อปรับความกระบวนทัศน์ให้เป็นสัมมาทิฐิ
(วิธีที่ ๓ กับวิธีที่ ๑๐ โดยใจความแล้วเหมือนกัน เพราะมุ่งพัฒนาปัญญาเช่นกัน)



คลิกเพื่อฟังและดาวน์โหลด (http://dc224.4shared.com/download/qLOXBv6j/1-_.mp3?tsid=20111027-091803-6305d744)




เสียงอ่านโดย
ดีเจสายซอ สมาชิกเว็บไซท์วัดเกาะวาลุการาม
จัดทำเพื่อเผยแผ่เป็นธรรมทาน