เข้าสู่ระบบ

แสดงเวอร์ชันเต็ม : คุณค่าและประโยชน์ของพระพุทธศาสนา หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี



**wan**
11-02-2008, 04:20 PM
http://www.hinmarkpeng.org/Gallery/Gallery03/images/307.jpg

คุณค่าและประโยชน์ของพระพุทธศาสนา
โดย พระนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาจารย์ (เทสก์ เทสรังสี)
แสดง ณ วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย
วันที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๙

คัดจากหนังสือ ปกิณกะเทศนา
คัดลอกจากจาก เวบ ธรรมเทศนาแนวปฏิบัติ ของหลวงปู่เทสก์http://www.geocities.com/luangpu_thate/data/lesson01.HTM
“หลักของพระพุทธศาสนา ต้องเข้าถึงใจของผู้ที่ทำ”

การฟังเทศน์ต้องเข้าใจหลัก ถ้าฟังไม่ถูกฟังไม่เป็นก็จะไม่ค่อยได้ความเข้าใจ ธรรมะเป็นของ สงบ เป็นเรื่องสงบ ถ้าหากเป็นเรื่องยุ่งแล้ว ไม่ใช่เรื่องธรรมเป็นเรื่องโลกไป เหตุนั้นเมื่อท่านเทศนาธรรม เราก็จะต้องทำตัวของเรา คือกายวาจาใจของเรา ให้สงบเสียก่อน สำหรับรับธรรมะอันสงบนั้น มันจึงจะเข้ากันได้กับธรรมที่ท่านแสดงเพื่อความสงบ เช่นนี้เราจึงจะเข้าใจ และได้รับรสชาติของธรรม ทำอย่างไรเราจึงจะสงบ ปกติกายเราก็ไม่สงบ มีการเคลื่อนไหวไปมา วาจาก็พูดนั่นพูดนี่ ใจเราก็วอกแวกวุ่นวาย ส่งส่ายไม่สงบสักอย่างเดียว บางทีกายสงบวาจาสงบแต่ใจไม่สงบ ดังนั้นจึงต้องทำความ สงบพร้อมกันทั้ง ๓ อย่าง แล้วจึงค่อยฟังธรรมต่อไป

วันนี้จะอธิบายถึงเรื่อง คุณค่าและประโยชน์ของพุทธศาสนา ศาสนาเป็นของดีมีค่าแต่คนเรา ไม่ค่อยเข้าใจถึงเรื่องพุทธศาสนา ก็เลยเห็นว่าศาสนาเป็นของไร้ค่าหาประโยชน์มิได้ หรือได้ประโยชน์ น้อยมีค่าน้อย อย่างนี้เป็นต้น คนเรามักเข้าใจผิด ๆ คิดผิดจากหลักตามเป็นจริง พุทธศาสนาสอนกว้าง ขวาง คือว่าสอนคนทุกระดับที่เกิดมา แม้แต่สัตว์เดรัจฉานที่พอจะอบรมสั่งสอนได้ พระองค์ก็สอน เหมือนกัน พุทธศาสนาสอนอะไร หรือศาสนาทุกศาสนาสอนอะไรกัน ศาสนาสอนให้ละความชั่ว คือ ไม่ให้ประพฤติความชั่ว แล้วก็ให้ประกอบคุณงามความดี พูดง่าย ๆ ว่าละชั่วทำดี หลักของศาสนาทุก ศาสนามีอย่างนี้ ตามลำพังการที่จะละการทำชั่ว ทางกายทางวาจา นั้นมันทำได้ยาก เพราะมีเจ้านายอยู่ คนหนึ่งคือ ใจ มันเป็นตัวบังคับบัญชาให้กาย ให้วาจากระทำธุรกิจต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้ พระพุทธเจ้าจึง ทรงสอนให้พากันรักษาใจอีกทีหนึ่ง ควบคุมใจให้ได้อีกอย่างหนึ่ง จึงจะครบพร้อมมูลบริบูรณ์ เราจะไปบังคับให้กายวาจาละชั่วอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องบอกหรือสอนให้ใจบังคับใจให้อยู่เสียก่อน จึงจะบังคับกายวาจาให้อยู่ในอำนาจได้ อันนี้เป็นหลักของพระพุทธศาสนา

ทีนี้มาพิจารณากันดูว่าหลักนี้จะเข้ากับสังคมของมนุษย์เราหรือไม่ ไม่ว่ายุคใดสมัยใดมันจะ เข้ากันได้หรือไม่ ลองคิดดูในยุคใดก็ตามคนต้องการทำชั่วหรือทำดี หากพูดถึงเรื่องข้อเท็จจริงแล้ว ทุกยุคทุกสมัย ทุกคนต่างก็ชอบทำดีกันทั้งนั้น ไม่มีใครต้องการชั่วสักคนเดียว จึงนับว่าเข้ากันได้กับ หลักพุทธศาสนา พุทธศาสนากับสังคมนิยมนั้นเข้ากันได้ดีที่สุดทุกกาลสมัย ทีนี้ทำไมคนจึงละชั่วทำดี ไม่ได้ทั้ง ๆ ที่เห็นอยู่รู้อยู่ว่ามันชั่วไม่ดี ที่ทำไม่ได้ก็เนื่องจากว่าพวกเราไม่เอาหลักของพุทธศาสนาไปใช้ ก็เลยละชั่วไม่ได้ทำดีไม่ได้ แล้วคราวนี้เราจะไปโทษว่าศาสนาไม่มีค่าและไม่คุ้มค่าในการถือศาสนาในการปฏิบัติบำรุงศาสนาไม่ได้เด็ดขาด เมื่อผู้ไม่ปฏิบัติไม่ทำตามคำสอนของศาสนานั้น ๆ แล้ว จะไป โทษศาสนาไม่ได้ ต้องโทษคนเราซิ แต่นี่คนเราไปโทษศาสนา ไม่ได้โทษบุคคลผู้กระทำกัน นี่พากันเข้าใจผิดอย่างนี้ คนเรายุคนี้สมัยนี้ส่วนใหญ่เข้าใจศาสนาผิดตรงนี้ หลักของศาสนาท่านสอน ไว้อีกอันหนึ่งว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว หลักอันนี้เดี๋ยวนี้ยิ่งเข้าใจผิดกันมาก เข้าใจผิดอย่างฟ้าเป็นดิน ทีเดียว ชอบพูดกันว่า ทำชั่วได้ดีมีถมไป ทำดีได้ดีมีที่ไหน ท่องจดจำกันคล่องปากที่สุด ของไม่ดีแล้ว ช๊อบชอบ ใคร ๆ ก็ชอบเพราะถูกกับใจของตน ในทางพุทธศาสนากล่าวว่า มันถูกกับกิเลสของตน ชอบ เพราะตนชอบทำชั่ว ทำดีไม่ได้เพราะไม่สามารถบังคับตนเองให้ทำดีได้ เลยชอบทำชั่ว ความชั่วมันเป็น ของไหลมันเป็นของต่ำ ๆ นี่อาตมาพูดตามภาษาของบ้านเราง่าย ๆ ที่เราเรียกกันว่าเหลวไหล ทำไมจึง ต้องเหลวไหล เพราะมันเหลว เมื่อมันเหลวก็ต้องไหล ไหลก็ต้องลงสู่ที่ต่ำ ความชั่วคือมันเหลวไหล มันตกไปที่ต่ำจึงต้านทานและกีดกันไว้ได้ยาก อันนี้เป็นเหตุให้คนไม่ค่อยเชื่อพุทธศาสนาที่สอนให้ ละชั่วแล้วทำดี โดยมากเข้าใจตื้น ๆ กันว่า ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป เพราะคนใดคอยปล้น สะดมเขา ขโมยของเขา หรือขี้เกียจประกอบภารกิจทำการงาน มีแต่ฉ้อโกงลักขโมยของเขา กลับเป็น คนมั่งมี หรือแม้แต่ทำราชการก็เหมือนกัน ใครซื่อสัตย์ตรงไปตรงมานายไม่ค่อยจะเลี้ยง ต้องประจบ ประแจงจึงค่อยเลี้ยง การงานไม่ค่อยเอาเรื่องคอยหาอัฐหาเงินทองมาบำรุงให้เจ้า ๆ นาย ๆ อันนั้นเขา ชอบเขาเลี้ยงไว้กิน เลี้ยงไว้บำรุงกระเป๋าของเขา คนเห็นแบบนี้ทั่วไปจึงว่าทำชั่วได้ดี ถ้าใครทำดีตรงไป ตรงมาแล้วทำราชการไม่ค่อยจะได้อยู่ใกล้ผู้หลักผู้ใหญ่ มักถูกโยกย้ายไปอยู่ในที่กันดาร นี่เขาเห็นกัน อย่างนี้ทั้งบ้านทั้งเมืองเต็มบ้านเต็มเมือง ก็เลยเข้าใจว่าทำชั่วได้ดีมีถมไป

ในทางพุทธศาสนาไม่ได้สอนเพียงแค่นี้ ไม่ได้สอนแต่กาย ศาสนาพุทธสอนทั้งกาย ทั้งใจ สอนทั้งวัตถุธรรมและนามธรรม สอนทั้งสองอย่างเป็นคู่กันไป ตัวอย่างเช่น ท่านสอนให้ขยันหมั่น เพียรทำมาหาเลี้ยงชีพ ประกอบภารกิจและให้ตั้งอยู่ในสุจริตธรรม นี่แสดงว่าสอนทั้งวัตถุธรรมและ นามธรรมไปพร้อมกัน ไม่ใช่สอนให้กอบได้โกยเอา มีอะไรเอาทั้งนั้น ได้แล้วเอาเลยโดยไม่คำนึงถึงว่า สุจริตหรือทุจริต อย่างนั้นไม่ใช่ พระองค์ไม่ได้สอนอย่างนั้น ทรงสอนให้รู้จักพอดีพองาม ให้รู้จักสิ่ง ที่ผิดสิ่งที่ถูก คือ มีใจเป็นคนรู้ พระพุทธเจ้าทรงสอนอย่างนี้ เหตุนั้นที่ว่าเข้าใจกันในสมัยนี้ว่าทำชั่ว ได้ดีมีถมไป เช่นพวกฉ้อโกง ปล้นสะดม ปล้นจี้เรียกค่าไถ่ โจรสลัด โจรอากาศ พวกนี้ร่ำรวยที่สุด คราวนี้สมมุติว่าตัวของเราเป็นผู้ทำอย่างนั้น เราจะคิดอย่างใดบ้าง ในใจของเราจะเป็นอย่างไรบ้าง พระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องใจไปพร้อม ๆ กัน เรามาลองพิจารณาตามที่พระองค์ทรงสอนดู เมื่อเราคิดที่ จะฉ้อโกงปล้นสะดมเขาอย่างที่ว่านี้แหละ ใจเราจะต้องคิดแต่ส่วนตัวเห็นแก่กระเป๋าของเรา ไม่ได้คิด ถึงความเดือดร้อนของคนอื่น หากว่าเขามาทำเช่นนั้นกับเราจะเห็นเป็นอย่างไรล่ะ แน่นอนเราก็จะต้อง เดือดร้อนเสียใจเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นเมื่อเราไปทำกับเขา เขาก็เป็นทุกข์เดือดร้อน พระพุทธเจ้าทรง สอนให้รู้จักเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน เมื่อเราเชื่อฟังปฏิบัติตาม เราก็ไม่ไปฉ้อโกงเขา และคนอื่น ๆ ก็ เช่นเดียวกัน ก็จะอยู่ด้วยกันอย่างสงบมีความสุข พระองค์ทรงสอนทางใจอย่างนี้

ใจของคนนั้นมันต่ำเหลวไหล มันไหลลงไปทางต่ำ พระองค์ทรงสอนให้พัฒนาทางด้านจิตใจ ให้มันสูงขึ้นมา มันเห็นแก่ตัว ก็ทรงสอนให้รู้จักกำจัดเสีย และให้รู้จักเฉลี่ยความสุขแก่กันและกันตาม สมควรแก่อัธยาศัย หรือทำเต็มความสามารถ ที่จะทำได้ ยิ่งเป็นการดี ทีนี้มาคิดดูอีกทีต่อไปถึงผล ประโยชน์ หากเราทำได้อย่างที่อธิบายมานั้นจะดีหรือไม่ โลกเรานี้จะเป็นสุขไหม แน่นอนไม่มีใคร ปฏิเสธ ถ้าเราต่างเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน มันก็เป็นญาติมิตรสนิทสนมกันทั่วหมดทั้งโลกเลย พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงสอนเพียงพวกเรา พุทธศาสนิกชนเท่านั้น ตามที่ว่ามานี้เป็นการทรงสอนมนุษย์ชาว โลกทั้งหมด ตัวอย่างคำสอนอีกอย่างหนึ่ง เช่น เขาโกรธเราแล้ว เราไม่โต้ตอบเขา เราไม่มีปากมีเสียง นิ่งเฉย เขาก็หาว่าเราโง่ ไม่ดี ไม่มีความรู้ความฉลาดความสามารถโต้ตอบเทียมทันเขา แต่เราปฏิบัติ ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า เพราะเราได้ยินได้ฟังมา พระองค์ทรงสอนทุกคน แต่ว่าคนนั้นเขาไม่มี โอกาสที่จะได้ยินได้ฟัง ไม่มีโอกาส ที่จะได้รู้เรื่องธรรมทั้งหลายที่พระพุทธเจ้าทรงสอน เขาจึงไม่ สามารถระงับจิตใจของเขาได้ เราเป็นผู้ได้ยินได้ฟัง เราจึงต้องปฏิบัติ ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า เมื่อ มาบวกลบกันแล้วจะเห็นว่าในระหว่างสองคน คนหนึ่งไม่มีธรรม อีกคนหนึ่งมีธรรม แบ่งครึ่งกันขึ้น ก็จะดีขึ้นมาเป็นครึ่งหนึ่งแล้วในระหว่างสองคน คราวนี้ถ้าว่า ๒ พรรคหรือ ๒ ประเทศ มันก็ดีขึ้นมา ครึ่งหนึ่งแล้ว แล้วจะเอาอะไรกันอีก การคิดตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าให้คิดอย่างนี้จึงจะถูก

จะเห็นว่าการที่พัฒนาจิตใจไปพร้อมกันกับทางด้านวัตถุนั้น เป็นไปเพื่อความสุขความเจริญ อย่างแท้จริง และในเวลาเดียวกัน พระพุทธศาสนาก็เจริญไปพร้อมกันด้วย เป็นการเจริญอย่างครบ ถ้วนพร้อมมูลบริบูรณ์ คุณค่าของพระพุทธศาสนาดีเด่นอย่างนี้ มีประโยชน์มากอย่างนี้ ถ้าปฏิบัติถูก เข้าใจถูกและปฏิบัติให้เป็นไปได้ตามคำสอนของพระองค์

พระพุทธเจ้าทรงสอนหลายเรื่องหลายอย่างหลายปริยาย เช่น เรื่อง คิหิปฏิบัติ คือคำสอน ฆราวาส เริ่มต้นตั้งแต่เด็กขึ้นไป คือหน้าที่ของลูก ของบิดามารดา ของผู้ครองเรือนภรรยาสามี รู้จัก ให้สิทธิให้อำนาจแก่กันและกัน เห็นอกเห็นใจกัน รู้จักบุญคุณ ของกันและกัน สนองบุญคุณซึ่งกันและ กัน ท่านสอนเบื้องต้นตั้งแต่ฆราวาสเรื่อยขึ้นไป มิใช่ท่านจะสอนให้เราออกบวชให้เราไปมรรคผล นิพพานด้วยกันทั้งหมด ไม่ใช่ ไม่ได้ทรงสอนอย่างนั้น หลักใหญ่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ชาวโลก มีธรรมะ ให้พวกเราปฏิบัติถูกต้องเท่านั้น เพราะเป็นการนำมาซึ่งความสุขความสบายแก่ตน การอยู่ ด้วยกันนับตั้งแต่สองคนขึ้นไปต้องปฏิบัติถูกต้องตามหลักธรรม จึงจะอยู่อย่างมีความสุขความสบาย ตามกำลังความสามารถของตน ถ้าพิจารณาต่อไปจะเห็นว่าดีขึ้นมากกว่านั้นอีก คือ คนเราถ้าหากว่า เกิดขึ้นมาเพื่อประกอบอาชีพหาใส่ปากใส่ท้องเพียงอย่างเดียว ด้านจิตใจไม่เจริญ มันก็ไม่ผิดอะไรกับ สัตว์เดรัจฉานโดยทั่วไป ถึงแม้จะเจริญก้าวหน้ามากทางวัตถุด้วยประการ ต่าง ๆ ก็ตามเถิด ถ้าหาก ด้านจิตใจเสื่อมเสียแล้วเรื่องวัตถุที่เจริญนั้นไม่มีประโยชน์เลย มีแต่จะให้โทษทำลายซึ่งกันและกัน อาตมาจึงพูดเปรียบให้ฟัง การทำมาหากินที่แย่งกันแข่งขันกัน มีแค่นี้แล้วไม่พอทะเยอทะยาน หาให้มากขึ้นอีก รวยไม่มีวันพอ จะมีความสุขจากเงินทองที่หามาไหม อีกพวกหนึ่งเขาทำมาหาเลี้ยง ปากท้องพอกินพอใช้อยู่ไปวันหนึ่ง ๆ ไม่ต้องหาความร่ำรวยละ ขอให้มีอันอยู่อันกิน ต่างก็จงรักภักดี ปรองดองซึ่งกันและกัน ลองคิดดูอะไรจะเป็นสุขกว่ากัน ทางพุทธศาสนา ท่านสอนการพัฒนาทางด้าน จิตใจไปพร้อม ๆ กันกับ ทางด้านวัตถุนั้นถูกไหมดีหรือไม่ เอาละ ถึงแม้สมัยนี้จะเจริญทางด้านวัตถุ ไปแล้วก็ตาม ถ้าหากว่าด้านจิตใจจะเจริญไปด้วยพร้อม ๆ กันพวกเราจะยิ่งได้ความสุขยิ่งกว่าปัจจุบัน นี้อย่างนับไม่ถ้วนทีเดียว ถ้าหากพวกเราเข้าใจหลักของพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้องแท้จริงแล้ว จะเห็นประโยชน์ และคุณค่าของพระศาสนาจะมากมาย หาที่เปรียบมิได้ ความสุขอะไรจะมาเท่าความ สุขที่เกิดจากความสงสารเมตตาปรานี และโอบอ้อมอารีซึ่งกันและกันไม่มี การมีเงินมีทอง ถ้าปราศจาก คุณธรรมทั้งหลายนี้แล้ว ก็ไม่คุ้มค่า มีแต่จะนำมาซึ่งความเดือดร้อนถ่ายเดียว นี่แหละถึงพูดว่าอยาก อวดคุณค่าของศาสนา ศาสนามีประโยชน์อย่างนี้ แต่ว่าอาตมาเป็นผู้อวดถ้าพวกคุณทั้งหลายฟังไม่ เข้าใจตามที่อธิบายมานี้ มันก็อย่างว่านั่นแหละ คุณทั้งหลายอาจจะไม่เห็นด้วยก็ได้

ที่ว่าศาสนาสอนถึงเรื่องนรกสวรรค์ชั้นฟ้านั้น อย่าเพิ่งไปพูดถึงเรื่องนั้นเลย อันนั้นของมอง ไม่เห็น มาเอาคำสอนที่เห็น ที่เป็นประโยชน์ ในปัจจุบันนี่ดีกว่า ท่านสอนให้ทุกคนค่อยดีขึ้นมีการ พัฒนาทั้งกายและใจ ทั้งทางด้านวัตถุและนามธรรมให้เจริญไปพร้อม ๆ กัน คนยิ่งจะได้รับความสุข ความสบาย ส่วนผู้ที่จะเจริญไปขั้นสูงนั้นมันไปเองหรอก เบื้องต้นขอให้ตั้งรากฐานของธรรมนี้เอา ไว้ให้มั่นคงเสียก่อน เมื่อเห็นคุณค่าด้วยตนเองแล้ว มีศรัทธาที่จะรักษาศีลห้าเป็นนิจหรือศีลแปด ตลอดชีวิต หรือจะบวชในพระพุทธศาสนา เป็นพระเป็นเณร อะไรก็ตาม อันนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่าง หาก หากจะมีคำแย้งขึ้นมาว่า ถ้าบวชเป็นพระมาก ๆ ก็เอาเปรียบผู้อื่นน่ะซี ไม่ทำมาหากิน พึ่งพาคนอื่น เขา กินแล้วก็ขี้เกียจขี้คร้านเลยไม่คิดที่จะทำประโยชน์ให้ประเทศชาติบ้านเมือง อันนั้นขอให้คิดทั่วถึง ใหม่อีกที พวกลูก ๆ หลาน ๆ ของเราเกิดขึ้นมามันทำประโยชน์อะไรให้แก่เราบ้าง เรียนหนังสือจน กระทั่งจบก็เป็นเวลา ๒๐ ปีแล้ว เราหรือพ่อแม่ทั้งหลาย ต้องเลี้ยงดูมาหมดไปเท่าไรแล้ว มันทำ ประโยชน์อะไรให้แก่เราบ้าง บางคนผลาญทิ้งสิ้นไปตั้งเยอะแยะ เรียนสำเร็จแล้ว ทำอะไรให้แก่เรา บ้าง และทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติมีกี่คนคิด ๆ ดูซิ คนพวกที่มาบวชในพุทธศาสนานั้นน่ะ อย่างน้อยที่สุด ก็ทรงไว้ซึ่ง เพศสมณะ เป็นที่สำหรับให้พวกที่ยังไม่ได้บวช หรือพวกที่ยังไม่ได้คบค้าสมาคมได้ เห็นผู้ปฏิบัติดีมีศีลธรรม เป็นเครื่องวัดความดีของพวกชาวบ้าน และญาติโยม ถึงพระจะเลวสักเท่าใด ก็เรียกว่ายังพออดทนอยู่ได้ในพุทธศาสนา อย่างน้อยที่สุดศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ก็ยังมี ถึงแม้จะไม่ครบ ๒๒๗ แต่ฆราวาสพวกเราบางคน ตั้งแต่วันเกิดจนวันตาย ศีล ๕ สักตัวเดียวก็ไม่เคยรักษา เห็นความ ผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ของพระภิกษุ สามเณร ก็อย่าเพิ่งถือว่าเลวทั้งหมด การเหมาเอาว่า พระภิกษุเหมือน กันทั้งหมดก็ยังไม่ถูก พุทธศาสนาไม่ได้หมายเอาที่พระ หมายเอาการปฏิบัติต่างหาก พระนั้นอยู่ที่ บุคคล แต่ศาสนาไม่ได้อยู่ที่บุคคล ศาสนาเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าบุคคลปฏิบัติผิด ก็เป็น เรื่องบุคคลผิดไม่ใช่ศาสนาผิด ศาสนาก็ยังสอนตรงไปตรงมาอยู่ตามเดิม สอนให้ละชั่วทำดีอยู่ตาม เดิม แต่คนไม่ปฏิบัติตาม เมื่อเราปฏิบัติตามคำสอนไม่ได้จะหาว่าศาสนาไม่ดีไม่ได้ นี่ให้พิจารณา อย่างนี้ ถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว ใครจะทำผิดทำเลวทรามอย่างไรเป็นเรื่องศาสนาเสื่อมหมด ยกให้ศาสนาไม่ ดีทั้งนั้น บางทีแม้แต่คนเข้าวัดเข้าวามาฟังเทศน์ ฟังธรรมรักษาศีลอบรมภาวนาทำกัมมัฏฐานแสดง กิริยาโกรธกริ้วขึ้นสักทีหนึ่ง โอโฮ! กล่าวโทษศาสนานี้ไม่ดีเลย เข้าวัดเข้าวาจนแก่จนเฒ่าแล้วยังละโลภ โมโทสันไม่ได้ พูดอย่างนี้มันก็ผิดไป อย่าพูดอย่างนั้น นั่นเรื่องของบุคคล ศาสนาสอนให้ละ แต่บุคคล ไม่ละ ไม่ทราบจะทำอย่างไร ถ้าเข้าใจได้อย่างนี้ก็สบาย

เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วจะทำอย่างไร ขอตอบว่า เมื่อเขาไม่ทำ เราทำ พากันคิดมานะขึ้นสักคนหรือ ทุกคน คิดมานะขึ้นมา ลองดูซิ เขาไม่ทำเราทำ กระทำเป็นตัวอย่างเขา ทีนี้มันไม่เป็นเช่นนั้นน่ะซี ส่วนมากพอเห็นเขาไม่ทำ เราก็เลยไม่ทำ เลยพลอยไม่ดีไปตามเขา เมื่อเราไม่ดีก็คอยกล่าวโทษคนอื่น ต่างคนต่างกล่าวโทษซึ่งกันและกันเป็นเรื่องเดือดร้อนวุ่นวาย แล้วมันจะดีอย่างไร จึงว่าอย่าไปโทษ ศาสนา ศาสนาสอนดี สอนให้ทุกคนพัฒนาตนเองทั้งกายและใจ ไม่ได้สอนพัฒนาแต่กาย ชาวโลก เดี๋ยวนี้เขาสอนพัฒนากัน แต่ส่วนร่างกาย พัฒนาจนถึงขนาดนี้แล้ว แทนที่โลกจะได้รับความสุขเยือก เย็น แต่โลกกลับเดือดร้อนยิ่งกว่าเก่า นี่ก็แสดงว่าพัฒนา ยังไม่ถูกต้อง ถ้าหากพัฒนาตามทางพุทธ ศาสนา คือพัฒนาไปพร้อมกันทั้งกายและใจแล้ว ชาวโลกจะได้รับความเยือกเย็นสักขนาดไหน อันนี้ ยังไม่มีใครทำ อย่างไรก็ตามเท่าที่อธิบายมานี้ก็พอให้เห็นคุณประโยชน์ของการพัฒนาพร้อม ๆ กันไป แล้วว่าคงจะมีความสุขแน่ ศาสนาสอนให้ได้รับความสงบไม่ใช่สอนให้เดือดร้อนวุ่นวาย เมื่อเราสงบ แล้วคนอื่นยังไม่สงบก็ปล่อยไปเสียก่อน ถ้าทุกคนต่างพากันทำความสงบแล้ว จะได้รับความสุขเยือก เย็นขนาดไหน ลองหลับตาคิดดูก็แล้วกัน

ที่พากันมาอบรมทางศาสนามาฟังธรรมในวันนี้จึงอยากจะอธิบายให้เข้าใจ หลักสำคัญที่ท่าน วางไว้ว่า ละชั่วทำดี หรือ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ไม่ใช่ทำชั่วได้ดี คำว่า ดี ในที่นี้อย่าไปเข้าใจถึงเรื่อง ภายนอก ท่านหมายเอาภายใน เราทำชั่วแล้วใจไม่สบายนั่นแหละ เรียกว่าไม่ดี สมมุติว่าเราขโมย สตางค์ของพ่อแม่มาสักห้าบาทสิบบาท ลองคิดดูซิพ่อแม่ของเราท่านก็คงไม่ว่าอะไรหรอก แต่จิตใจ ของเราจะรู้สึกอย่างไรบ้างในขณะที่ขโมยเอาของท่านไปนั้น หรือเราไปทำผิดสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม คบค้า เพื่อนชั่ว ๆ เลว ๆ หรือไปทำความชั่วด้วยตนเองก็ตาม ภายในใจจะรู้สึกอย่างไรบ้าง คงมีความรู้สึก นึกคิดในสิ่งที่มันไม่ดี เรียกว่าเศร้าหมองในใจ ท่านเรียกว่า กิเลส ตรงนี้ต่างหากที่เรียกว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว การทำชั่วต้องทำลี้ลับไม่มีใครเปิดเผย แสดงว่ามันไม่ดี จึงต้องทำลี้ลับเปิดเผยไม่ได้ เปรียบเหมือนกับแผล สมมุติว่าเป็นแผลที่หน้าแข้งเหวอะหวะเหม็นหึ่ง ใครจะไปเปิดให้คนเห็น เราต้องเอาผ้าพันไว้เพราะมันสกปรกไม่ดีไม่อยากให้ใครเห็น แต่ถ้าสิ่งที่ดี ๆ ละคราวนี้เราไม่ปิดบังเลย มีแต่อยากจะอวดให้พ่อแม่ ให้ผู้ที่เราเคารพนับถือได้รู้ได้เห็นด้วยซ้ำ ถึงจะไม่อวดก็ตาม แต่ใจของเรา อิ่มเอิบอยู่คนเดียว ยิ้มแย้มแจ่มใสทั้งกายและใจเปิดเผยได้เต็มที่ นั่นคือความดี ทำดีได้ดี ถ้าเรา เข้าใจว่าต้องมีคนเขาสรรเสริญเยินยอ จึงจะเรียกว่าทำดี อันนั้นเข้าใจยังไม่ทันถูก ยังไม่ถึงหลัก พระพุทธศาสนา หลักของพระพุทธศาสนา ต้องเข้าถึงใจของผู้ที่ทำ นี่ขอให้เข้าใจให้ถูกต้องว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นอย่างที่อธิบายมานี้ อย่าไปอาศัยคนอื่น คนเราทำดีทุกคนนั่นแหละ โดยส่วนมากทำ อะไรทุกสิ่งทุกอย่างเข้าใจว่าเป็นของดีจึงทำ อันที่เห็นว่าเป็นของชั่วมักตัดสินเอาจากการที่สิ่งนั้นเป็น การฝ่าฝืนความคิดเห็นของตน การที่จะทราบว่าสิ่งใดเป็นของดี สิ่งใดเป็นของชั่ว ก็ขอให้วัดดูอย่างนี้ก็ แล้วกัน คือถ้าว่าต้องปกปิดแล้วอย่าไปเข้าใจว่าของดี ถ้าทำโดยเปิดเผยแล้วเอาเถิดถึงจะไม่ดีเด่น อย่างไรเสียมันก็ยังพอใช้ได้ ความดีขอให้วัดดูตรงนี้

อีกนัยหนึ่ง อันความดีที่ว่านี้ถ้าทำอะไรลงไปแล้วคนชั่วสรรเสริญ อย่าไปเข้าใจว่าเป็นของดี คนดีสรรเสริญ เราจึงค่อยเข้าใจว่า เป็นของดี คนดี เป็นคนชนิดใด คนดี ก็คือคนมีเหตุมีผล ที่เรียกว่าความดี ดีอย่างไร ความดีที่เราทำนั่น ไม่เบียดเบียนตน ไม่ทำให้เสียผลประโยชน์ ทั้งของตน และคนอื่น คือไม่เป็นเครื่องกระทบกระเทือนทั้งตนและคนอื่น จึงจะเรียกว่าดี ทำอะไรแม้จะดีแสนดี ก็ตามแต่มันเป็นเครื่องกระทบกระเทือนคนอื่นแล้ว ความดีอันนั้นใช้ไม่ได้ ไม่ใช่ของดี นี่เป็นเครื่องวัด ของดีของชั่ว เมื่อเข้าใจแล้ว รู้แล้ว ก็มาวัดตัวของเราใจของเราดู แล้วมาวัดผลที่ทำนั่นอีก คือว่าไม่ กระทบกระเทือนตนเอง ไม่ทำให้ตนและคนอื่นเดือดร้อนด้วย จึงจะเรียกว่าดี

ถ้าเราเข้าใจหลักของศาสนาโดยนัยที่อธิบายมานี้แล้วจะสบายใจขึ้น และเรามีความพอใจที่จะ เทิดทูนศาสนาให้สืบอยู่ถาวรต่อไป ถ้าเราเทิดทูนรักษาไว้มันจะเป็นการปฏิบัติอันดีงามชักนำคน อื่นให้ทำดีตามเรา อย่าไปเข้าใจว่าคนอื่นทำดีเสียก่อนแล้วเราจึงจะทำ อันนั้นใช้ไม่ได้ ที่ถูกนั้น ถ้าเขา ไม่ทำเราต้องทำก่อนเขา ให้เป็นตัวอย่างเขา ได้ชื่อว่าเราเป็นคนนำ หรือเราเป็นคนรู้ ถ้าต่างคนต่างคอย ให้คนอื่นทำเสียก่อนแล้วเราจึงค่อยทำ ตกลงเลยไม่มีใครทำสักคนเดียว สังคมหมู่นั้นจะเลอะหมด เหลวไหลเหมือนของเก่า คำว่าเลอะเหลวไหลแสดงว่ามันกลับคืนไม่ได้ ที่โบราณท่านแสดงไว้ว่านรก อยู่ต่ำใต้แผ่นดินสวรรค์อยู่บนชั้นฟ้ามันก็อย่างนี้เอง นโยบายแยบคายของคนโบราณลึกซึ้งนักเราคิด ไม่ถึงหรอก ของที่ชั่วไม่ดีต้องปกปิดอยู่ที่ต่ำเป็นนรกอยู่ใต้ดิน ของดีเป็นของเปิดเผยจิตใจแจ่มใส ของเบาเมื่อเปิดเผยมันก็ยกสูงขึ้นลอยขึ้นไปบนฟ้าน่ะซี เราไม่เข้าใจไปโทษนักปราชญ์โบราณว่า เขาสอนไม่มีเหตุผลหลอกลวงว่านรกอยู่ใต้พื้นแผ่นดิน สวรรค์อยู่บนชั้นฟ้า สมัยนี้วิทยาศาสตร์เจริญ มากเขาขึ้นไปเหยียบโลกพระจันทร์แล้ว ไม่เห็นมีสวรรค์ชั้นฟ้าที่ไหน นี่แหละความเห็นของคนเรากับ ความเห็นตามหลักพุทธศาสนา มันไกลกันลิบลับอย่างฟ้ากับดิน ถ้าหากเราไม่ศึกษาตามนัยที่อธิบาย มานี้แล้วเราจะไม่เข้าใจ

วันนี้อธิบายเพียงเท่านี้ เอวํ.

นั่งภาวนา ๓๐ นาที

ท่านอาจารย์อบรมนำก่อน

ทำไมจึงต้องภาวนากัน ภาวนาทำไมจึงต้องหลับตา ทำไมจึงต้องนั่งขัดสมาธิ นี่แหละมันมี หลายเรื่อง คำว่า ภาวนา นั้นไม่ใช่แต่ว่าจะนั่งสมาธิหลับตาเท่านั้น จะอยู่ในท่าใดอิริยาบถใดได้ทั้งนั้น ภาวนา ไม่ใช่การได้ เป็นการทิ้ง ทิ้งของไม่ดี ชำระของไม่ดีที่มันติดอยู่ที่ใจของเราแต่เราไม่ทราบ ถ้าไม่ ค้นหาก็ไม่ทราบและไม่ทราบจะเอาไปทิ้งที่ไหนด้วย เพราะเหตุนั้นจึงมาหัดภาวนาให้มันเห็นของไม่ดี ที่อยู่ในใจของเรา แล้วทิ้งของอันไม่ดีนั้นเสีย นี่คือการ ภาวนา ทีนี้เรายังไม่เคยเห็นใจ เราจึงมาฝึกหัด ทำใจให้สงบให้มันนิ่งจึงจะเห็น คนเราวุ่นวายเดือดร้อนเพราะใจไม่สงบ ถ้าสงบแล้วไม่วุ่นวายไม่เป็น ทุกข์ คนเป็นทุกข์กลุ้มใจเพราะคิดมาก ยึดโน่น ยึดนี่ ถือโน่น ถือนี่ นั่นเป็นของไม่ดี เรามาสำรวมใจ จับเอาตัวใจให้มันได้ ใจเป็นของไม่มีตัว เป็นนามธรรม เราจะเอาสติ คือผู้ระลึกได้เป็นตัวระลึก เมื่อ ระลึกอยู่ตรงไหนใจก็อยู่ตรงนั้น เช่น ระลึกพุทโธไว้ที่กลางทรวงอกของเราก็ตาม หรือจะระลึกพุทโธ เอาไว้ตามลมหายใจเข้า-ออกก็ตาม ทำความรู้สึกเอาไว้เฉพาะตรงจุดที่เราตั้งเอาไว้ตรงนั้น คอยระวัง รักษาให้อยู่ในที่เดียว นี่เรียกว่าการฝึกอบรมใจให้มาอยู่ในที่เดียวเสียก่อนเป็นเบื้องต้น การจะให้ใจ อยู่มันยากเหมือนกัน ใจมันวิ่งว่อน วุ่นวายสารพัด เลยขี้เกียจรำคาญว่ามันยุ่งมากเหลือเกิน แท้ที่จริง มันไม่มาก เราไม่เคยรวมเข้ามาเลยไม่เห็น ปล่อยให้ของกระจายทั่วบ้านทั่วเมืองจะไปเห็นอะไร คราวนี้ ดึงมารวมเข้าอยู่ที่เดียวเลยเห็นเป็นของมาก ความจริงมันมากยิ่งกว่าที่เห็นขณะนั่งภาวนานั้นอีก แต่เราไม่ได้อบรมใจเลยไม่ทราบ นี่แหละประโยชน์ของการอบรมใจ หรือการนั่งภาวนา หัดรวมใจ ให้เห็นของไม่ดี คือ ใจมันวุ่นวายจิตส่งส่ายไปแล้วไม่ได้รับความสุข เราวุ่นวายมานานแสนนาน แล้วมันก็ไม่เป็นความสุขอะไร พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ทำใจให้สงบจะเกิดความสุข คราวนี้เราจะมา ลองหัดสำรวมดูมันจะได้รับความสุขอย่างที่ท่านว่าไหม มันจะเป็นความสุขอย่างไร จะสุขขนาดไหน เอามาเทียบกันดูทีหลัง ตอนนี้ขอให้ทำให้มันจริงลงไปเสียก่อน ทำใจให้อยู่ในจุดเดียว อย่างที่อธิบายนี้ อย่าไปคิดนึกอะไรให้มันมากมาย การคิดจะให้มันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ หรือคิดว่ามันเป็นอย่างนั้น แล้วจะเป็นอย่างนี้ ปรุงแต่งต่าง ๆ ใจก็ไม่อยู่นิ่งอีกแล้ว มันมีอาการไปอีกแล้ว เพ่งมองในอารมณ์ อันเดียวนั่นแหละ อะไรเป็นใจ อะไรเป็นสติ สติ คือผู้ระลึกได้อยู่เสมอว่าตรงนี้ ๆ ทำความรู้สึกว่าตรงนี้ ให้จดจ่ออยู่ตรงนั้นให้ได้ ผู้ที่รู้สึกว่าอยู่ตรงนี้ ๆ ความรู้สึกนั้นแหละเป็นใจ รู้สึกอยู่ตรงไหนใจก็อยู่ ตรงนั้น จับสติกับตัวใจให้มันได้เสียก่อน ให้รู้จักใจเสียก่อน เมื่อแรกหัดมันก็ดิ้นรนแส่ส่าย ถ้าเรา ไม่เอากันจริง ๆ จัง ๆ ให้ชนะมัน มันก็ไม่นิ่งเหมือนกัน ปราบมันให้อยู่สักทีหนึ่งจึงจะเป็นวีรบุรุษได้ การภาวนาเป็นการผจญต่อสู้ ชนะตนได้สักที นั่นแหละ เป็นของดี ยิ่งกว่าการชนะผู้อื่น พระพุทธเจ้าท่าน ตรัสเทศนาไว้อย่างนี้

นั่งขัดสมาธิหรือจะนั่งแบบใดที่สบายก็ตามใจ เบื้องต้นมันจะต้องเมื่อยปวดนั่นปวดนี่ ต่อไปก็ จิตใจไม่สงบไม่อยู่มันส่งส่าย นี่แหละคือสิ่งที่เราจะต้องต่อสู้กัน ใจเป็นใหญ่กว่าอะไรทั้งปวงหมด ถ้า เราคุมใจให้สงบไม่วุ่นวายส่งส่ายได้แล้ว ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าปวดนั่นปวดนี่จะหายไปโดยไม่ รู้ตัว ถ้าใจไม่ไปยึดไม่ไปคำนึงถึงสิ่งใด เราจะเห็นประโยชน์ว่าความสุขเกิดขึ้นจากความสงบ เห็นชัดขึ้นมาทันทีทีเดียว.



http://i242.photobucket.com/albums/ff298/akapong999/dookdik2/BG/view/33.gif