PDA

แสดงเวอร์ชันเต็ม : การปฏิบัติเบื้องต้น หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี



**wan**
11-02-2008, 04:28 PM
http://www.hinmarkpeng.org/Gallery/Gallery02/images/206.jpg

การปฏิบัติเบื้องต้น
โดย พระนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาจารย์ แสดง ณ วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย
วันที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๕
คัดจากหนังสือ ธรรมเทศนา ๒๕๒๕


“จิตคือผู้คิดผู้นึก สติก็ใจนั่นแหละ
มีจิตจึงค่อยมีสติ สติควบคุมจิต
เราควบคุมได้อย่างนี้เรียกว่ามันอยู่ในอำนาจของเรา
เราไม่ได้ไปตามอำนาจของจิต
เราก็ใช้จิตได้ละซี”

วันนี้จะสอนวิธีปฏิบัติภาวนาเบื้องต้นให้ฟัง เรานับถือพระพุทธศาสนานั้นตามความเป็นจริง แล้ว จะต้องปฏิบัติตาม มันจึงจะถูก อย่าฟังเฉย ๆ ฟังแล้วไม่ปฏิบัติตามไม่ได้ประสบการณ์ ไม่รู้เรื่อง ฟังไป ๆ นาน ๆ หนักเข้าก็เลยเบื่อ บางคนฟังไปศึกษาไปก็เอาไปพูดไปคุยให้เขาฟังมีคนนับถือตน ก็ เลยตื่นเต้นคิดว่าตนสำเร็จแล้วก็มี ความเป็นจริงแล้วนักปฏิบัติต้องเป็นผู้ทำมากกว่าการได้ยินได้ฟัง การปฏิบัติเป็นของสำคัญมาก ถึงแม้จะไม่ได้เรียนหากว่าปฏิบัติเป็นเสียแล้ว เข้าถึงธรรมะธรรมโมแล้ว จะรู้แจ้งเห็นจริงด้วยตนเอง เมื่อครั้งพุทธกาล ท่านไม่ใคร่ได้ศึกษาเล่าเรียนเท่าไรนัก เล่าเรียนบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ เพียงบทกรรมฐานเท่านั้นเอง ท่านก็ยังได้สำเร็จมรรคผลนิพพานกันมากมาย คนทุก วันนี้เรียนมากเหลือเกิน คุยฟุ้งกันไปหมดทั้งบ้านทั้งเมือง ความเป็นจริงแล้วไม่รู้จักตัวเอง เราถือ พุทธศาสนาเราต้องปฏิบัติมันจึงจะถูก เราทำเราปฏิบัติมากกว่าฟัง การปฏิบัติในที่นี้หมายความถึงให้ เข้าถึงจิตถึงใจ ถ้าไม่ถึงใจแล้วไม่ได้เรื่อง คือ ปฏิบัติธรรมต้องใจถึงก่อนทั้งนั้น ใจเป็นคนรู้คนเห็นก่อน ใจเป็นคนถึงธรรมก่อน เราพูดกันทั่วบ้านทั่วเมืองว่า อะไรก็จิตก็ใจทั้งนั้น คนที่ไม่เคยฝึกหัดปฏิบัติเขา ก็พูดถึงจิตถึงใจ โดยมากพูดกันอย่างนั้นแหละ แต่แท้ที่จริงใจเป็นตัวอย่างไรก็ไม่รู้ จิตเป็นตัวอย่างไร ก็ไม่รู้ ก็จับหลักไม่ได้ ฉะนั้น จึงจะต้องฝึกหัดให้เห็นจิตเห็นใจเสียก่อน

อาตมาอธิบายถึงเรื่องจิต เรื่องใจ หลายครั้งมาแล้ว พระองค์ก็เทศนาเหมือนกันว่า จิตอันใด ใจอันนั้น ใจอันใดจิตอันนั้น จิตกับใจก็เป็นอันเดียวกันนั่นแหละ แต่ทำไมจึงพูดเป็นสองอย่าง ก็เพราะ มันทำหน้าที่มีอาการแตกต่างกัน การฝึกหัดต้องฝึกหัดจิต ไม่ต้องฝึกหัดใจ จิตคือผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง ผู้แต่งสัญญาอารมณ์ทั้งหมด กิเลสทั้งปวงก็จิตเป็นผู้ปรุงแต่ง การฝึกหัดอบรมจะต้องฝึกที่จิตแห่ง เดียว แล้วเราจะเอาอะไรมาฝึกหัด เอาสติมาฝึกหัดจิต ขอให้มีสติทุกอิริยาบถทั้งสี่ ยืน เดิน นั่ง นอน มีสติรู้จิตอยู่ตลอดเวลา กิเลสทั้งหลายจะค่อยเสื่อมหายไป อย่าเพิ่งให้สำเร็จมรรคผลง่ายนัก คนฝึก หัดปฏิบัติน่ะอยากจะสำเร็จมรรคผลนิพพานเร็วนัก เอาไว้เสียก่อน เอากิเลสไว้พิจารณาเสียก่อน สำเร็จง่ายมันก็กลับมาเป็นปุถุชนง่ายน่ะซี สำเร็จมรรคผลแล้วจะไปไหนกัน กิเลสมันอยู่กับจิต เรามี สติควบคุมจิตอยู่ ลองคิดดูว่าเห็นมันทุกขณะ ยืน เดิน นั่ง นอน แล้วมันจะไปไหนเล่า ทุกสิ่งก็เห็นว่า มันดีหรือมันชั่ว มันชั่วก็เป็นของควรละ มันดีก็เป็นของควรทำ หมั่นฝึกหัดปฏิบัติเพียงแค่นี้ ละชั่วทำดี เท่านั้นแหละหมดเรื่อง

พระพุทธศาสนาสอนให้ละชั่วทำดี เมื่อเราเห็นจิตอยู่อย่างนั้นแล้ว คิดนึกอะไรต่าง ๆ รู้สึกอยู่ ตลอดเวลา จิตมันละอายละคราวนี้ มันค่อยวางค่อยทิ้งไป ที่เราวุ่นวี่วุ่นวายอยู่นี่ก็เรื่องไม่เห็นจิตนั่นเอง คิดดู ความโกรธ เราไม่รู้จักความโกรธ มันโกรธแล้วจึงค่อยรู้จัก รู้จักแต่โกรธ ไม่รู้จักตัวโกรธ รู้จักแต่คำว่าโกรธ ไม่รู้จักผู้โกรธ คือจิตนั่นเอง ถ้าเข้าไปรู้จักตัวผู้โกรธนั่นแหละหายทันที อย่างนี้ เป็นต้น จึงให้พิจารณาให้เห็นจิต เมื่อพิจารณาควบคุมจิตได้อยู่อย่างนี้ เรื่องการฝึกหัดปฏิบัติไม่ต้อง เอาที่อื่น เอาสติควบคุมจิตไว้ตลอดเวลาก็พอ

สติคือผู้ระลึกได้ จิตคือผู้คิดผู้นึก สติก็ใจนั่นแหละ มีจิตจึงค่อยมีสติ สติควบคุมจิต เราควบ คุมได้อย่างนี้เรียกว่ามันอยู่ในอำนาจของเรา เราไม่ได้ไปตามอำนาจของจิต เราก็ใช้จิตได้ละซี ใช้ให้ โกรธก็ได้ ไม่ให้โกรธก็ได้ แต่ถ้ามันไม่โกรธเราใช้ให้โกรธ มันก็โกรธดอกแต่มันแกล้งทำ เช่น โกรธดุ เด็กเล็กลูกศิษย์ลูกหาอะไรต่าง ๆ ทำโกรธหน้าบึ้งแต่ใจมันเย็นอยู่ภายใน นั่นละมันแกล้งโกรธ แต่ตัว เรามันไม่โกรธ อันนั้นสบาย จิตอยู่ในอำนาจของเราแล้วคราวนี้ จะไปโกรธใคร แกล้งให้มันโกรธก็ได้ จะไม่ให้มันโกรธอยู่
เฉย ๆ ก็ได้

คำว่าใจของเรา จิตของเรา มันอยู่ตรงนั้นละ ตรงที่เราบังคับมันได้ เราฝึกฝนอบรมมันได้ นั้น แหละ เรียกว่าจิตของเราแท้ เราควรที่จะฝึกอบรมตรงนี้แหละ เมื่อฝึกหัดเช่นนั้นได้แล้วจิตจะรวมลง มาเป็นสมาธิละ คราวนี้รวมเข้าไปเป็นหนึ่ง จิตเป็นหนึ่งนั่นแหละเรียกว่าใจ ใจแท้นะใจมันไม่คิด ไม่นึก ไม่ปรุงไม่แต่ง มันอยู่เฉย ๆ จะทดลองดูอย่างนี้ก็ได้ เรากลั้นลมหายใจสักอึดหนึ่งจะรู้สึกว่าไม่มี อะไร รู้เฉย ๆ อันนั้นแหละตัวใจแท้ อันนั้นเพียงแต่ทดสอบจับดูตัวใจว่า ตัวใจอย่างนี้เราจะนำมาใช้ ประโยชน์ก็ได้เหมือนกัน อย่างมันโกรธ เกลียด รัก หรือชอบใจอะไรต่าง ๆ เรากลั้นใจดูมันจะหายไป พักหนึ่งเหมือนกัน เอามาทดลองใช้ได้ดีเหมือนกัน แต่ว่ามันใช้ได้ชั่วคราว จะฝึกหัดอย่างไรใจจึงจะ อยู่ได้นาน ๆ นั่นก็ต้องฝึกอบรมจิต ดังได้อธิบายมาแต่เบื้องต้นนั่น แหละต้องฝึกหัดอบรมจิตจน กระทั่งมันอยู่ในอำนาจของเราแล้ว มันจะมีอาการคล้าย ๆ กับเผลอสติไป มีอาการวูบวาบเหมือนกับ ตกเหวตกผาจากที่สูง หรือตกหลุมตกบ่ออย่างนั้นล่ะ วูบวาบเข้าไปสงบนิ่งเฉย ๆ อันนั้นเรียกว่า จิตรวม เวลาจะเป็นมันเป็นของมันเอง ไม่ได้คิดได้นึกอยากให้มันเป็น เวลาจิตมันรวม จิตมันไม่มี อาการคิดนึกปรุงแต่งอะไรทั้งหมด อดีต อนาคตไม่มี มันเหลือแต่ผู้รู้สิ่งเดียว คือในการที่เราฝึกอบรม จิต ชำระจิตในเบื้องต้น มันวางไป ๆ ปล่อยวาง ๆ หมดทุกสิ่งทุกอย่างยังเหลือแต่ใจ มันจึงรวมเป็น อันเดียว ใจอันเดียวนี่แหละเป็นของทำได้ยากนัก สรรพกิเลสทั้งปวงที่เรียกว่ากิเลสพันห้าตัณหา
ร้อยแปดก็ออกไปจากใจอันเดียวนี่แหละ มันเป็นอาการของใจที่เรียกว่าจิตใจแท้มันมีอันเดียวเท่านั้น แหละ

ฝึกหัดจิตให้เข้าถึงใจ วิธีปฏิบัติฝึกหัดกรรมฐานมีเท่านี้แหละ ใครจะฝึกหัดปฏิบัติอย่างไร ๆ ก็เอาเถอะ จะภาวนาพุทโธ สัมมาอรหัง ยุบหนอพองหนอ หรืออานาปานสติ ก็ไม่เป็นปัญหา คำ บริกรรมเหล่านั้น ก็เพื่อล่อให้จิตเข้ามาอยู่ในคำบริกรรม แต่คนที่เข้าใจผิดถือว่าตนดีวิเศษ โอ้อวด เพื่อนว่า ของข้าถูกของเอ็งละผิดอย่างนั้นอย่างนี้อะไรต่าง ๆ นานา พุทธศาสนาแท้ไม่เป็นอย่างนั้น หรอก มันต้องเป็นอันเดียวกัน ไม่มีใครผิดใครถูกเมื่อปฏิบัติถึงจิตรวมแล้ว จิตรวมเข้าไปเป็นอัปปนา แล้วหมดเรื่อง จิตรวมเข้าถึงอัปปนาแล้วถึงที่สุดของการทำสมาธิเท่านี้ ไม่มีอะไรแตกต่างกัน

เหตุนั้นจึงให้ฝึกหัดจิตตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ท่านสอนให้ฝึกหัดกรรมฐานก็คือ ฝึกหัด จิต เห็นจิตแล้ว จับจิตได้แล้ว ก็เอาละ ไม่ต้องหาอื่นอีก เราจับจิตได้แล้วคราวนี้ การที่เราจะต้องรักษา สติ หรือ รักษาจิต มันเป็นเองไม่ต้องตั้งใจ มันเป็นเอง จะยืน เดิน นั่ง นอน หรือประกอบภารกิจทั้งสิ้น ทุกสิ่งทุกประการ มันไม่ลืมเลยในขณะนั้นมันแน่วแน่เต็มที่

เบื้องต้นสำหรับฝึกหัดปฏิบัติกรรมฐาน ให้เข้าถึงจิตเป็นหนึ่งเสียก่อน คือ ให้เข้าถึงใจ ส่วนปลีกย่อยออกไปอีกกว้างขวางมากมายนั่นมันเป็นเองมาตามหลัง พระพุทธเจ้าท่านเทศนาถึง ๔๕ ปี ตั้งแต่พระองค์ได้ตรัสรู้แล้วเทศน์ไม่มีจบเลย ซึ่งก็เทศน์จิตอันเดียว เรานั้นถ้าหากจับจิตไม่ได้ฟัง เทศน์ก็ไม่รู้เรื่อง ฟังก็ฟังไปอย่างนั้นแหละไม่เข้าถึงจิต ถ้าหากเข้าถึงจิตแล้วฟังเทศน์เพลินทีเดียว เป็น ของน่าสนุกสนานมาก เอาละเทศน์เท่านี้เสียก่อน

นั่งสมาธิ

ท่านอาจารย์อบรมนำก่อน

จงตั้งจิตลงเฉพาะในกายของตนนี่แหละให้มั่นคงเสียก่อน ไม่ไห้ส่งส่ายออกไปภายนอก เมื่อ จะพิจารณาก็จงพิจารณาแต่เฉพาะในกายของตนนี้ อย่าได้ส่งออกไปพิจารณานอกจากกายของตนนี้ เพราะภายในกายของคนนี้ของที่จะพิจารณามีเยอะแยะ ล้วนแล้วแต่เป็นของน่าพิจารณาทั้งนั้น เมื่อ พิจารณาแล้วก็เป็นเหตุให้เบื่อหน่าย เป็นธรรมทั้งนั้น เราจะปฏิบัติเบื้องต้นเราต้องปฏิบัติตรงนี้ก่อน จึงจะถูกทาง ถ้าปฏิบัติผิดทางแล้วเสียเวลานานทีเดียว

เมื่อตั้งจิตลงเฉพาะในกายนี้แล้ว จิตมันอยู่ในวงจำกัดแคบไม่ออกไปไกล จิตมันก็มีโอกาส รวมได้ง่ายขึ้น เพราะทำสมาธิภาวนาก็เพื่อต้องการให้จิตรวมเข้าเป็นสมาธิได้นั่นเอง การทำกรรมฐาน จะโดยวิธีใด ๆ ก็ตาม ก็ประสงค์จุดเดียวเท่านี้ เมื่อทำให้จิตรวมได้แล้ว ก็เป็นอันถูกต้องตามความ ประสงค์ของตน นั่นแหละการปฏิบัติเบื้องต้นและเอาอย่างง่าย ๆ ไม่ต้องไปท่องบ่นและศึกษาจาก ตำรับตำราให้เสียเวลา การศึกษาให้รู้จักจิตของตนนี้ ก็การศึกษาพอแล้วจะเอาอย่างไรกันอีก ศึกษา เอาไว้เพื่อเป็นนิสัยปัจจัยในอนาคตข้างหน้านั้น แท้จริงเราศึกษาเรื่องจิตนี้ หากเรายังไม่ถึงมรรคผล นิพพานตราบใด มันก็เป็นนิสัยปัจจัยในอนาคตของเราอยู่ดี ๆ นี่เอง ขอให้ตัดสินใจเอาปัจจุบันให้จิต มันรวมอยู่ในที่อันเดียวนี้เสียก่อน ถ้าจิตมันไม่ถึงมรรคผล นิพพาน อดีต อนาคต มันหากจะมีมาเอง ไม่ต้องสงสัย

เอาละนั่งสมาธิกัน.



http://i242.photobucket.com/albums/ff298/akapong999/dookdik2/BG/view/36.gif
คัดลอกจากจาก เวบ ธรรมเทศนาแนวปฏิบัติ ของหลวงปู่เทสก์
http://www.geocities.com/luangpu_thate/data/lesson03.HTM