PDA

แสดงเวอร์ชันเต็ม : จับหลักปฏิบัติภาวนา หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี



**wan**
11-02-2008, 04:32 PM
http://www.hinmarkpeng.org/Gallery/Gallery02/images/207.jpg

จับหลักปฏิบัติภาวนา
โดย พระนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาจารย์ (เทสก์ เทสรังสี)
แสดง ณ วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย
วันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๕
คัดจากหนังสือ ธรรมเทศนา ๒๕๒๕

“ความคิด ความนึก ความปรุง ความแต่ง สารพัดทุกอย่างเป็นจิต
ผู้ที่นึกคำบริกรรมอยู่ก็เป็นจิต ครั้นผู้นั้นไม่คิดไม่นึกเสียแล้ว
มีแต่ความรู้สึกเฉย ๆ อยู่ เรียกว่า ใจ จิตกับใจมันต่างกันอย่างนี้”

ตั้งใจฟังพระธรรมเทศนา สงบกาย สงบใจให้มันพร้อมกัน เอากายฟัง เอาใจเป็นผู้รู้ กายคือ หูเป็นคนฟัง มีอายตนะ มีผัสสะ และประสาทเป็นเครื่องรับรู้ ใจเป็นผู้รู้ มีจิตจึงเกิดผัสสะ อายตนะ รู้ขึ้น มาภายใน ถ้ามีแต่ผัสสะไม่มีใจ ความรู้สึกทางประสาทก็ไม่มีเหมือนกัน อย่างคนที่ตายแล้วไม่ทราบว่า ใจไปอยู่ไหน การฟังเทศน์ก็ต้องอาศัยกายกับใจมาฟัง จึงจะรู้เรื่อง ถ้าฟังไม่ตั้งใจ ก็ไม่เข้าใจ ตั้งใจฟัง แล้วแต่ความสงบไม่เพียงพอ มันก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ เพราะธัมมะต้องอาศัยความสงบ จิตสงบจึง ค่อยฟังธรรมรู้เรื่อง จิต มันส่งส่ายวุ่นวายด้วยอารมณ์ต่าง ๆ คิดนึกโน่นนี่สารพัดทุกอย่าง มันเลย กรายพระธรรมไป ไม่เห็นพระธรรม ไม่รู้พระธรรม พุทธศาสนาทั้งหมด ไม่ได้สอนที่อื่นนอกจากกาย กับใจ คนมีกายมีใจ จึงค่อยฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าได้

ใจเป็นใหญ่กว่าสิ่งทั้งหมด สิ่งทั้งหมดในโลกมารวมลงที่ใจแห่งเดียว ถ้าไม่มีใจแล้ว โลกทั้ง หมดก็มีไม่ได้ เราฟังที่ใจ เห็นที่ใจ รู้ที่ใจ จึงค่อยเกิดความรู้ ความฉลาด สิ่งทั้งปวงหมดจึงค่อยมี เราเอากายกับใจนั่นแหละปฏิบัติ บางคนปฏิบัตินานแสนนานตั้ง ๒๐-๓๐ ปี ก็ไม่เห็นใจสักที เอากาย กับใจปฏิบัติ ทำไม่ไม่เห็นกายไม่เห็นใจกันสักที การปฏิบัติมันยากตรงนี้ การฝึกอบรมสัตว์ เช่น ม้า วัว ควาย เราจับตัวมันได้แล้ว จึงจะฝึกอบรมมันได้ ถ้าไม่ได้ตัวมันจะอบรมฝึกฝนได้อย่างไร ลองคิดดูซิ เที่ยวป่า เที่ยวรก เที่ยวบ้าน เที่ยวเมือง เที่ยวไปทุกทิศทุกทาง เอากายเอาใจนั่นแหละไปเที่ยว แล้ว ทำไมจึงไม่เห็นกายเห็นใจ บางคนก็ว่า อยู่ที่ไหนก็ปฏิบัติได้ ไม่ต้องไปป่า ไปรก ก็จริงอยู่ละ อยู่ที่ไหน ก็เอากายเอาใจนั่นแหละปฏิบัติเหมือนกันทุกคนแหละ จะปฏิบัติในบ้านก็ได้ ในป่าหรืออยู่ในวัดในวา ก็ได้หมด ถ้าเห็นใจแล้ว ถ้าไม่เห็นใจ ก็ไปเถิด จะเดินไปรอบโลกก็ไปเถอะ ตายทิ้งเสียเปล่า ๆ ไม่เห็นใจ สักที เป็นของยากเหมือนกัน ว่าถึงเรื่องยาก ว่าถึงเรื่องง่ายก็ง่ายนิดเดียว ไม่ต้องไปหาไกลอยู่ตรงนี้ แหละ ใต้คางเราไป คือ ท่ามกลางอกเรานี่แหละ อยู่ใกล้นิดเดียว หาเห็นง่าย ๆ แต่ไม่หาน่ะซี หามันก็ ไม่เห็นนะซีถ้าไม่รู้ตัวมัน รู้ตัวมันละก็ เห็นประเดี๋ยวเดียวเท่านั้นแหละหาง่ายสบายเลย พวกที่เข้าป่า เข้ารก ไปถ้ำ ไปเขา ก็เพื่อหาประสบการณ์ เรียกว่าไปหาวิเวก ไปหาความสงบ ป่ารกมันเป็นสัปปายะดี ที่สุด ดีกว่าในบ้านเรา มันไม่ได้เห็นผู้เห็นคน เห็นแต่ป่าแต่เถื่อน กายมันก็สงบ จิตมันก็วังเวง มัน เปลี่ยนสภาพจากบ้าน เกิดความวังเวงขึ้นมา เมื่อไม่เห็นความวังเวง หรือเห็นความวังเวงแล้ว แต่ไม่ เห็นใจ มันก็เท่าเก่านั่นแหละ ครั้นมันเกิดความวังเวงขึ้นมา จับตัววังเวงนั้นได้ นั่นแหละจึงจะเห็นใจ ใครเป็นคนวังเวง ใครเป็นคนวิเวก ใครเป็นคนสงบ จับตัวนั้นได้ นั่นแหละจึงจะเป็นประโยชน์แก่ตัว ถ้าหากจับตัววังเวงไม่ได้ก็จะเลยฟุ้งซ่านใหญ่ คิดถึงบ้าน ถึงผู้ถึงคน คิดสิ่งสารพัดทั้งปวงหมด นั่นแหละจิตไม่มีหลักมีที่มั่น ถ้ามีหลักตั้งมั่นลงไปแล้ว มันไม่ไปไหนหรอก ไปอยู่ป่าประสบเหตุการณ์ ต่าง ๆ ที่ทำให้ทุกข์แสนทุกข์ กลัวแสนกลัว กลัวถึงที่สุดแล้วมันเห็นธรรม เพราะพึ่งใครไม่ได้ต้องพึ่ง ตนเอง ไปอยู่กับหมู่กับเพื่อน อาศัยหมู่เพื่อนอยู่ เลยสุขสบายเกิดความประมาท เลยไม่เห็นตนของตน ตนคืออะไร ตนก็คือใจ ไปจับใจนั่นได้แล้วมันก็อยู่คงที่ สิ่งทั้งปวงหมดเกิดจากใจทั้งนั้น สุขและทุกข์ ก็เกิดจากใจทั้งนั้น ไปหาที่สงบวิเวกในป่าไหน ๆ ก็เพื่อหาใจตัวเดียวนี้เท่านั้น

อุบายจับตัวใจ ท่านให้ใช้คำบริกรรม จะเป็นพุทโธ หรืออานาปานสติก็ได้ ล่อให้ใจมันมาอยู่ ตรงนั้นเท่านั้น ถ้าใจไม่อยู่ก็ไม่เป็นประโยชน์อะไรเลย บริกรรมให้จิตมันอยู่ในคำบริกรรมนั้น เพื่อจะ จับมันให้ได้ บางคนถึงจะภาวนาพุทโธหรืออานาปานสติ ตัวจิตมันก็ไม่อยู่ในพุทโธ จิตมันไปไหนก็ไม่ ทราบ แม้แต่พุทโธก็หายไปด้วยกัน นี่คือขาดสติแล้ว จงตั้งสติคุมจิตให้อยู่ในพุทโธใหม่ ทำอย่างนี้อยู่ เรื่อยไป ทำบ่อยเข้าจิตก็อยู่เอง เมื่อสติคุมจิตมาอยู่ในคำบริกรรมว่า พุทโธ ๆ อันเดียวแล้ว ให้พิจารณา ดูว่าใครเป็นผู้ว่าพุทโธ ก็จิตนั่นแหละเป็นผู้ว่าพุทโธ เกิดจากอะไร ก็เกิดจากจิต ผู้คิด ผู้นึก ผู้รู้สึก จึงว่า จิตมันมาอยู่กับพุทโธแล้วคราวนี้ อย่าไปจับเอาพุทโธ จับเอาที่ความรู้สึกนั่นแหละ อันที่นึกคิดว่าพุทโธ พอจับจิตได้แล้ว คำบริกรรมว่าพุทโธก็จะหายไปหมด หรือถ้าไม่หายก็จงวางเสีย จับเอาแต่ผู้รู้หรือ ธาตุรู้อันเดียว

เราจะไปดูแต่รูปนามเกิด ดับ อยู่ จิตจะไม่รวม เวลาจิตจะรวมแล้ว รูปนามหรือเกิดดับจะไม่มี ถ้ายังมีอยู่ จิตก็ไม่รวม จิตมันอยู่ที่ ใจ มันเกิดขึ้นมา แล้วดับไป เกิดขึ้นมาดับไป มันอยู่เฉพาะใจอย่าง เดียว จะไปเอาอะไรที่ปลายเท้า จิต ใจ มันอันเดียว พอนึกว่าพุทโธเท่านั้น มันก็เข้ามาอยู่กับความนึก ความรู้สึกว่า พุทโธหรืออานาปานสติ มันเข้ามาอยู่ในที่นั้นเลย จิตดูเหมือนมีมากดวง เพราะจิตมันเร็ว ที่สุด จนจับไม่ได้ทัน แต่ถ้าจับได้แล้ว จิตนี้มันช้า ไม่เร็วหรอก พูดไปมันยากเหมือนกัน จิตมันของ ไม่มีตัว ไม่มีตน มีแต่ความรู้สึก ผู้รู้สึกมีอยู่ มันมีตัวมีตนตรงนั้นแหละ ความรู้สึกนี่เห็นชัดขึ้นมาก็ เลยกลายเป็นตัวขึ้นมาทีเดียว ถ้าฝึกภาวนา นึกถึงพุทโธหรืออานาปานสติอยู่บ่อย ๆ นาน ๆ เข้าจิตจะ ค่อยเพลาลง อ่อนลงเย็นลง สงบเยือกเย็น มันจะเข้าถึงใจละคราวนี้

ความคิด ความนึก ความปรุง ความแต่ง สารพัดทุกอย่างเป็นจิต ผู้ที่นึกคำบริกรรมอยู่ก็เป็น จิต ครั้นผู้นั้นไม่คิดไม่นึกเสียแล้ว มีแต่ความรู้สึกเฉย ๆ อยู่ เรียกว่า ใจ จิตกับใจมันต่างกันอย่างนี้ บางคนก็เข้าใจ เอาจิตมาเป็นใจ ที่จริงท่านก็พูดเหมือนกันว่า จิตอันใด ใจอันนั้น ใจอันใด จิตอันนั้น แต่ทำไมจึงพูดสองคำ มันต้องมีแปลกกันน่ะซี มันมีที่แตกต่างกันอยู่เท่านี้แหละ เหมือนเราทำน้ำแข็ง ก็น้ำธรรมดา ๆ นี่แหละ ถูกความเย็นเข้าจนแข็ง เขาก็เรียกว่าน้ำแข็ง มันก็น้ำอันเดียวกันนั่นแหละ เหตุนั้นจึงว่า จับจิตตัวนั้นให้ได้เสียก่อน อย่าเพิ่งเอา ใจ เลย

คราวนี้จะใช้จิตพิจารณา กาย เวทนา จิต ธรรม ถ้าจับจิตได้แล้ว ก็ใช้จิตเลย อย่าให้จิตใช้เรา ที่มันคิด มันนึก มันปรุงแต่ง ส่งส่ายไปมานั่น มันใช้เรา เราใช้มันละคราวนี้ มันจะคิด นึก ปรุงแต่งก็ได้ แต่ให้อยู่ในขอบเขต หรือจะไม่ให้คิด นึก ปรุงแต่งก็ได้ หรืออยู่เฉย ๆ ก็ได้ เช่น

พิจารณากาย ให้เห็นเป็นอสุภะปฏิกูล เป็นของเปื่อยเน่า เห็นความเกิด ความดับที่ตัวของเรา คำว่า พิจารณากายในกาย ให้พิจารณากายของเราให้อยู่ในกายนี้แหละ พิจารณาให้มันดิ่งลงไป ไม่ออก จากกายนี้ เรียกว่า พิจารณากายในกาย

พิจารณาเวทนา พิจารณากายแล้วก็เป็นอันว่าพิจารณาเวทนาเหมือนกัน เวทนามันก็ออกจาก กายนั่นแหละ ถ้าไม่มีกายก็ไม่มีเวทนา สัตว์ที่ไปตกนรกนั้น กายไม่มีหรอก แต่กามาพจรภูมิยังถือกาย อยู่ เพราะมันถือกายนี่แหละ มันจึงไปตกนรก ไปสวรรค์มันก็ถือกายนี้ มันไม่มีกายแล้ว มันไม่สุข ไม่ทุกข์หรอก จิตมันถือว่า กายมี มันปรุงมันแต่งเอา มันยึดมันถือ มันจึงทนทุกข์ทรมาน พระพุทธเจ้า ท่านต้องการชำระกายนี้ ไม่ให้ไปยึดถือ จึงสอนให้พิจารณากายในกาย จิตเมื่อพิจารณากายในกายแล้ว กายอันนี้จะหายไปหมดไม่ปรากฏเลย เหลือแต่จิตอันเดียว พิจารณาเวทนาในเวทนา ก็เช่นเดียวกัน พิจารณาเฉพาะเวทนา ความสุข ความทุกข์ หรือเฉย ๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ ตัวนั้นแหละเวทนา

พิจารณาจิต ก็เอาจิตนั่นแหละมาพิจารณา พิจารณาจิตในจิต ก็เอาจิตนั่นแหละมาพิจารณาอีก สรุปแล้ว พิจารณากายก็เอาจิตมาพิจารณา พิจารณาเวทนาก็เอาจิตมาพิจารณา พิจารณาจิตก็เอาจิต นั้นมาพิจารณาจิตอีก จิตตัวนั้นแหละเป็นธรรม เป็นอันว่าเราได้พิจารณาสติปัฏฐานทั้งสี่ครบบริบูรณ์ แล้ว พิจารณาอยู่นานหนักเข้า จิตมันรวมเข้าเป็นใจ คืออยู่เฉย ๆ ไม่คิด นึก ไม่ปรุงแต่ง ไม่ส่งส่าย สัญญา อารมณ์ไม่มีเลย ได้แก่อัปปนาสมาธินั้นเอง คนเราอยู่หมู่มากด้วยกันย่อมมีเรื่องยุ่ง ถ้าไม่หัดจิตให้เข้าถึงอัปปนา พักผ่อนทำความสงบ บ้าง จึงควรพากันฝึกหัดให้ได้ดั่งที่อธิบายมา อธิบายเท่านี้ละ

นั่งสมาธิ

ท่านอาจารย์อบรมนำก่อน

พูดถึงเรื่องจิตหมดทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว ไม่ทราบว่าจะพูดอะไรกันอีก ให้หาตัวจิตอย่างที่ อธิบายให้ฟังแล้ว วิธีหาตัวจิตตัวใจก็พูดให้ฟังแล้ว ก็เท่านี้แหละ วิธีทำกรรมฐาน พระพุทธศาสนาก็ สอนเท่านี้แหละ ไม่สอนอื่นไกล ที่สอนอธิบายกว้างขวางไปนั่น เป็นปลีกย่อยของมันต่างหาก หัวข้อ ใหญ่ ๆ ใจความแล้วลงที่จิตใจทั้งนั้น ขอแต่ให้พากันตั้งใจทำ เชื่อว่า จิตมี ใจมี ความเชื่อนั้นมั่นอยู่ ในใจของเรา แล้วเราพยายามทำ สามารถที่จะเห็น สามารถที่จะเป็นไปได้ อย่าท้อถอยก็แล้วกัน

คนที่เชื่อมั่นว่าใจของเรามีอยู่ตรงนี้แหละ จิตของเรามีอยู่ที่กายนี่แหละ แล้วจงพยายามคิด ค้นหาด้วยอุบายต่าง ๆ ตามที่ได้ศึกษามาจากสำนักครูบาอาจารย์ต่าง ๆ แล้วจะเกิดแยบคายขึ้นมา ด้วยตนเอง แยบคายนี้แตกต่างจากอุบาย อุบายแนะนำสอนกันได้ เช่นบอกว่า จงรักษาคุณงามความ ดีด้วยการรักษาศีล ดังนี้เป็นต้น ส่วนแยบคายนั้น ไม่ทราบว่าจะบอกอย่างไงกัน มันต้องเกิดความรู้ ความเห็นขึ้นมาด้วยตนเอง และความรู้ความเห็นอันนั้นก็เป็นของแจ้งชัดเสียด้วย จนอุทานขึ้นมาใน ใจว่า อ๋ออย่างนี้ดอกหรือ

แต่ความรู้อันนั้น จะเอาไปเผยแพร่แก่คนอื่นก็ไม่เหมือนกับที่ความรู้ด้วยใจ ของตนเอง จะบอกคนอื่นได้ก็เพียงแต่อุปมาอุปมัยเท่านั้น รวมความแล้วแยบคายเป็นความรู้พิเศษ ที่เกิดขึ้นปัจจัตตังเฉพาะตน ผู้เกิดแยบคายขึ้นเฉพาะตนเช่นนั้นแล้ว เอาแยบคายอันนั้นไปสอนผู้อื่น ด้วยอุบายการอุปมาอุปมัยต่าง ๆ ผู้ฟังได้รับฟังคำอุปมาอุปมัยนั้นแล้ว เมื่อยังไม่เกิดแยบคายขึ้นมา ก็เอาอุบายนั้นไปสอนคนอื่นต่อ ๆ ไป แยบคายนี้เมื่อเกิดขึ้นเฉพาะบุคคลใดแล้ว ย่อมทำบุคคลนั้น ให้สิ้นสงสัยในวิชาที่ตนได้เรียนมาก็ดี หรือตนได้ปฏิบัติมาก็ดี เป็นอันว่าจบเพียงแค่นี้ แต่มิได้หมาย ความว่าจบวิชาทุก ๆ ประเภท เป็นแต่จบหรือสิ้นภูมิความรู้และความสามารถของตนในภูมินั้น ๆ เท่านั้น เหมือนกับบุคคลที่นำภาระไป ผู้ใดมีกำลังมากย่อมนำไปได้มาก ผู้มีกำลังน้อยย่อมนำไปได้ น้อย ตามกำลังของตน ๆ ฉะนั้นจงทำสมาธิต่อไป.



http://i242.photobucket.com/albums/ff298/akapong999/dookdik2/BG/view/37.gif
คัดลอกจากจาก เวบ ธรรมเทศนาแนวปฏิบัติ ของหลวงปู่เทสก์
http://www.geocities.com/luangpu_thate/data/lesson04.HTM