PDA

แสดงเวอร์ชันเต็ม : ไม่มีอะไรได้ ไม่มีอะไรเสีย พระโพธิญาณเถระ (ชา สุภัทโท)



**wan**
10-26-2008, 04:50 PM
http://c.1asphost.com/jigko/images1/cha_11.jpg

ไม่มีอะไรได้ ไม่มีอะไรเสีย

พระโพธิญาณเถระ(ชา สุภัทโท)
วัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี


ต่อไปพากันตั้งใจฟังธรรม การฟังธรรม ฟังให้เกิดประโยชน์ ฟังเพื่อให้เข้าใจ ให้มันเป็นประโยชน์ สำรวมอายตนะทั้งหลายให้เหลือไว้แต่จิต พระพุทธเจ้าสอนให้ฟังธรรม

การปฏิบัติธรรม ให้สำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย อายตนะของเรามีหก ปิดไว้ห้า เหมือนบุรุษจะจับเหี้ยๆ มันอยู่ในโพรงจอมปลวก จอมปลวกมีรูอยู่หกรู ปิดไว้ห้ารูเหลือไว้รูเดียว คอยดักจับเหี้ยมันจะออกมา ปิดตา หู จมูก ลิ้น กาย เหลือไว้แต่ใจ ทำใจให้เป็นหนึ่ง ไว้คอยจับอารมณ์ อาการกิเลสทั้งหลายมันจะเข้าไป

จิตใจมนุษย์เราทั้งหลาย มันไม่แปลกอะไรกับเทป ถ้าเราเปิดเครื่องบันทึกเสียงอะไรต่างๆ มันจะเข้าไปวุ่นว่ายในเทปนั้น เปิดฟังก็ไม่รู้เรื่อง ใจเรานี้ก็เหมือนกัน ถ้าต่างคนต่างพูด เสียงอึงคะนึง เลยไม่รู้เรื่องว่าท่านเทศน์อะไร ถ้าเราเงียบๆทำจิตให้หนึ่ง นั่งหลับตาดีๆ สำรวมไว้มันจะเหมือนกันกับเราอัดเทปในที่เงียบๆ มันจะไม่มีเสียงอะไรเข้าไปปะปนในเทปนั้น จะมีความรู้สึกสงบ ระงับ ธรรมก็จะเข้าถึงจิตใจของเราเหมือนเทปอัดไว้ในที่ไม่มีเสียงรบกวน เวลาเราต้องการจะเปิดฟัง ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะชัดเจนน่าฟัง จิตมนุษย์เรานี้ ก็เหมือนกัน ฉันใดเมื่อเราฟัง ถึงยังไงไม่รู้เรื่อง ก็ฟังให้จิตเป็นหนึ่ง มันจะป้อนเนื้อธรรม เข้าไปอัดเข้าไว้ บางคนก็ไม่รู้จักไม่เข้าใจ ได้แต่ความสงบค่อยฟังไป ค่อยบำเพ็ญไป ค่อยศึกษาไปเรื่อยๆ ต่อไปอนาคตข้างหน้า มันจะปรากฏเหตุการณ์ขึ้นมา ในมโนภาพ เหมือนกับม้วนเทป การพิจารณาธรรม จะเกิดขึ้นมา เพราะความสงบ เป็นเหตุเป็นนิสัย เป็นปัจจัย ปฏิบัติไป มันจะพ้นขึ้นมา

พระบรมศาสดาตรัสว่า นิสัยปัจจัย คำที่ว่านิสัยปัจจัยนั้นไม่รู้มันอยู่ที่ไหน? ไม่เห็น แต่มันก็มีอยู่ บางคนสอนได้ง่ายๆ บางคนฟังยากสอนยาก มันก็ใจเหมือนกัน ทำไมมันไม่เหมือนกัน นิสัยปัจจัยมันไม่เหมือนกัน เหมือนกันกับเรื่องอัดเทป ถ้าอัดในที่สงบมันก็อย่างหนึ่ง อัดในที่วุ่นวายมันก็อย่างหนึ่ง อัดเหมือนกันแต่ ก็ไม่เหมือนกัน คนเราก็เช่นเดียวกัน ฟังเทศน์กัณฑ์เดียวกัน แต่มีความเห็นต่างกันมีความเข้าใจต่างกัน ฉะนั้นการฟังธรรมในครั้งพุทธกาล กับในสมัยนี้ก็ไม่แปลกกัน พระพุทธเจ้าของเราทั้งหลาย ท่านให้เคารพในการฟังธรรม ทำไมท่านจึงให้เคารพในการฟัง เพราะสมัยปัจจุบันนี้ พุทธบริษัทเรา ก็ยังอยู่ ข้ออรรถ ข้อธรรม ก็ยังมีอยู่ ธรรมที่ให้สำเร็จมรรคผล นิพพาน ก็ยังอยู่ ไม่ได้หายไปไหน ถ้าพวกเราตั้งใจฟังให้ดีแล้วนำมาพิจารณา ก็เกิดมรรคเกิดผลได้ ในปัจจุบันนี้เองไม่ต้องสงสัย

แต่ว่าโดยมากพวกเราทั้งหลาย พากันเข้าใจผิดอยู่อย่างหนึ่งว่า การประพฤติธรรม การปฏิบัติธรรม การทำกรรมฐาน การทำภาวนาให้บรรลุธรรม เข้าใจว่าเป็นเรื่องของ พระพุทธเจ้า เป็นเรื่องของพระสาวกก่อนโน้น พากันเข้าใจไปอย่างนั้น ดังนั้น การฟังเทศน์ฟังธรรมในสมัยนี้ จึงไม่เป็นกิจลักษณะ ฟังเพื่อตลกคะนองเล่นต่างๆ นานา เลยไม่เข้าใจ จะเอาคุณงามความดี เอามรรคผลอันเกิดขึ้น จากการฟังไม่ได้ เหมือนกับการฟังเทศน์บุญมหาชาตินั่นแหละ ใครว่าได้อะไรบ้าง? ไม่เห็นอะไรบ้าง ฟังๆ ไปอย่างนั้นเอง พระก็เทศน์เรื่องนก พรรณนาไป... "นกกก นกแกง ชุมแซง คอก่าน ห่านฟ้าและสังกา" ว่าไปอย่างนั้นไม่รู้เรื่อง ไปพูดเรื่องนก เรื่องต้นไม้ เรื่องภูเขาเลากา ไปโน้น สุดท้ายก็ไม่ได้อะไร เปลืองข้าวต้มขนมเปล่าๆ ไม่ได้การไม่ได้งาน มาถึงบ้านแล้ว จะปฏิบัติอย่างไร วันนี้ฟังเทศน์แล้วได้อะไรบ้าง เข้าใจอะไรบ้าง? เงียบ(มิดสี่หลี่) ยิ่งฟังยิ่งไม่รู้เรื่อง มีแต่ความประมาท ฝนโบกขรพรรษ ก็หว่านข้าวตอกข้าวสาร หว่านกันไปกันมา กลายเป็นกะลา เป็นก้อนอิฐ ขว้างไปขึ้นศาลา เลยเป็นเรื่องทำเล่น เอาคำพระพุทธเจ้าไปทำเล่น เอาเรื่องท่านไปพูดเล่น... บาป...สร้างบาปกันขึ้นตรงที่ทำบุญนั้นแหละ ทำไม? เพราะไม่รู้เรื่อง ในการฟังธรรม ว่าการฟังธรรมคืออะไร? การฟังธรรมก็คือ เรื่องท่านสอนเราโดยตรงนี้แหละ ท่านสอนเราให้รู้จักบาป ให้รู้จักบุญ ให้รู้จักคุณให้รู้จักโทษ รู้จักผิดรู้จักถูก เราพากันฟัง แต่ก็ไม่รู้เรื่อง เมื่อไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจฟัง แล้วกลับไปถึงบ้าน ก็ทำอย่างเก่า การประพฤติทางกาย ทางวาจา ทางใจ ในครอบครัว ในบ้านในเมือง ก็อย่างเก่า เคยแช่ง เคยด่า ก็แช่งก็ด่าอย่างเก่า เคยโลภก็โลภอย่างเก่า เคยโมโหก็โมโหอยู่อย่างเก่า เคยเป็นผีก็เป็นผี เคยเป็นเปรต ก็เป็นเปรต อยู่อย่างเก่า ไม่เคยเปลี่ยนแปลง ไม่รู้จักบาป บาปเป็นอย่างไร... ไม่รู้บาปทางกาย ทางวาจา ก็ไม่เท่าไหร่หรอก ใจของเรานั้นซิ วันหนึ่งบาปหลายครั้งนะ คราวใดใจมันโกรธไม่พอใจ นั่นแหละบาปเกิดขึ้นแล้วที่ใจของเจ้าของ

มาวัดทำไม? มาวัดก็มาทำบุญนั้นแหละ มาเห็นพระเจ้าพระสงฆ์ ได้ฟังเทศน์ฟังธรรม ใจมันก็สบาย ไม่ขุ่นไม่มัว เรียกว่ามาสร้างบุญใจ สบายไม่ขุ่นมัวไม่มัว เรียกว่ามาสร้างบุญใจ ไม่ต้องไปพูดมันมากหรอกไม่ต้องไปควบคุมมัน ท่านจึงว่ามาวัดเพื่อ สร้างบุญสร้างกุศล ถ้าทางใจมันเป็นบุญแล้ว ทางวาจาก็ไม่ต้องไปพูดมันมากหรอกไม่ต้องไปควบคุมมัน ท่านจึงสอนว่า มาวัดเพื่อ สร้างบุญสร้างกุศล บางคนอาจจะคิดว่า เอาของมาถวายพระ นั้นแหละ จึงเป็นบุญ ไม่ใช่อย่างนั้น ตาเราได้มาเห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็น เห็นครูอาจารย์ เห็นพระเจ้าพระสงฆ์ หูก็ได้ฟังเทศน์ฟังธรรมใจก็สบาย ถ้าอยู่บ้านเดี๋ยวลูกตีกันแล้ว หมาขโมยของกินของในครัวแล้ว ควายกินต้นกล้วยแล้ว เดี๋ยวหมูก็ร้อง เดี๋ยวเป็ดร้อง เราเลยตกนรกขุมเล็กขุมใหญ่อยู่ตลอดเวลา ท่านจึงว่าอยู่ที่บ้านบาปมันเยอะ ใจของเรามันเป็นบาป มันขุ่นมันนรกขุมเล็กๆ เรียกได้ว่า ตกเป็นนิจกาล แต่ไม่รู้ว่าตัวเองตกนรก ถ้าใจเศร้าหมองเมื่อไร เวลาใดนั้นแหละ ท่านเรียกว่าบาป ใจไม่ผ่องใส

ถ้าเรามาวัดได้ฟังเทศน์ฟังธรรมรู้เรื่องนั้นเรื่องนี้ท่านประกาศธรรม ประกาศศีลธรรมไว้ ก็ล้วนแต่เรื่องดีๆ ทั้งนั้นล่ะ ท่านไม่เบียดเบียนกัน ไม่ได้อิจฉาพยาบาทกัน ให้สามัคคีกัน ไม่ให้นอกใจกัน ท่านสอนเราแต่เรื่องดีๆ แต่เราฟังไม่ชัด ฟังไม่เข้าใจเฉยๆ ถ้าฟังเป็นมีแต่เรื่องดีๆ มีแต่เรื่องถูกๆ ทั้งนั้น ผู้รู้จักธรรมรู้จักอดรู้จักกลั้นรู้จักข้อประพฤติปฏิบัติ ไม่ว่าจะทำไร่ทำนา ทำสวน ไร่นาสวนของคนนั้นก็เจริญ แม้จะปฏิบัติในครอบครัวหรือในบ้าน บ้านคนนั้นก็ สะอาด สะอ้าน อยู่กันด้วยความสงบสุข เป็นมงคล รู้จักผิดรู้จักถูก มันจะทะเลาะกัน จะเถียงกันขึ้นมา ก็รู้จัก ไม่ทำอย่างนั้นไม่คิดอย่างนั้น มันก็เป็นการตัดบาปตัดกรรมเท่านั้นแหละพวกเราทั้งหลาย


////////// ต่อตอน 2

**wan**
10-26-2008, 04:51 PM
ถ้าหากว่าพวกเราทั้งหลายไม่พากันฝึกไม่พากันหัด พวกเราจะจะไม่แปลกอะไร กับพวกสัตว์ทั้งหลาย มนุษย์เราทั้งหลาย จะต่างจากสัตว์ก็ตรงที่รู้จักอาย ถ้าไม่มีความอาย ความกลัวต่อชั่วแล้ว ก็ไม่ต่างอะไรกับสัตว์ ถ้าพูดถึงความคิดอยากเป็นโน้นเป็นนี่ อยากได้โน้นได้นี่ มันก็เหมือนกันนั่นแหละ กับสัตว์ทั้งหลายไม่ได้แปลกกัน ถ้ารู้จักอดไว้ กลั้นไว้ ยับยั้งไว้ มีความละอาย มันอยากได้อยู่แต่ก็อายไม่เอา หาอะไรแลกเอาเปลี่ยนเอา มนุษย์เรา ถ้าไม่มีสิ่งนี้ ก็ไม่ผิดอะไรกับไก่ พอเห็นข้าวสารก็กินเลย เข้านาเข้าสวนใคร ก็กินเลยไม่รู้จัก ควายก็เหมือนกัน เข้านาเข้าสวนใครก็กินเลยไม่รู้จัก มันจึงมีความรู้สึกต่างกันกับมนุษย์ อย่างนี้

พูดถึงคนไม่รู้เรื่อง ก็ไม่รู้เรื่องจริงๆ อยากให้เป็นอย่างโน้นอยากให้เป็นอย่างนี้ จะไม่ให้บาปได้อย่างไร ก็ไม่รู้เรื่องนี่ ของมันเป็นอย่างนั้น มันก็เป็นอย่างนั้นแหละ จะร้องไห้กับสิ่งเหล่านั้นมันก็ใช้ไม่ได้ ของมันอยู่อย่างนั้นแต่ไหนแต่ไรมา เราก็ไม่รู้จัก นี้ของฉันนั่นของคุณ นี่ของเรานั่นของเรา นึกว่าเป็นอย่างนี้จริงๆ ถึงเวลามันจากไป เลยไม่มีที่พึ่ง ไม่มีพระพุทธเป็นที่พึ่ง ไม่มีพระธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง ก็ร้องไห้โฮเท่านั้นแหละ บางคนข้าวก็ไม่ได้กิน มันทุกข์ มันจะตายไปด้วยกันก็ยังไม่รู้จัก นี่แหละคือคนโง่...รู้จักไหม

สมัยก่อนธรรมะยังไม่เปิดหูเปิดตาของสัตว์ทั้งหลาย ทุกวันนี้ชาวบ้านก่อ - บ้านน้ำคำเหล่านี้สบาย คนตายก็ตายไปช่วยกันทำเมรุ หัวเราะกันได้ อยู่ง่ายอยู่สบายไม่มีอะไร คนเราก็มาอย่างนี้ ก็ไปอย่างนี้แหละ ถ้าไม่ไปอย่างนั้นจะได้มาอย่างนี้หรือ มาอย่างนี้ก็ไปอย่างนั้น ก็เพราะหนทางมันเป็นอยู่อย่างนี้ จะห้ามโลกไม่ให้เป็นอย่างนั้น จะไปห้ามอย่างไร พวกเราไม่ได้คิดกินกันอย่างนี้ นี่แหละการฟังธรรมให้รู้เรื่อง สิ่งเหล่านี้ ให้รู้จักความเป็นจริงเหล่านี้ ใครรู้เรื่องอย่างนี้ ผู้นั้นก็เข้าใจธรรม ใครเข้าใจธรรมก็เข้าใจเรื่องนี้ มาฟังเทศน์ฟังธรรมกันทุกวัน พระก็เพื่อให้รู้จักสิ่งเหล่านี้ ถ้าเข้าใจดีแล้ว ทุกข์ไม่ทุกข์ไม่เกิด ถ้าเราพลัดจากกันก็ให้นึกเสียว่ามันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ท่านที่ละไป ท่านได้สร้าง คุณงามความดีไว้ ท่านสบายแล้ว ยังเหลือแต่พวกเรานี่แหละ ยังสาระวน อยู่กับเป็ดกับไก่ กับหมูกับหมา กับวัวกับควายอยู่เดี๋ยวนี้ ท่านที่เสร็จแล้ว ท่านสบายแล้ว ยังเหลือแต่พวกเรา นี่แหละ จะให้สร้างคุณงานความดี ก็บอกว่ายุ่งกับสิ่งนั้นสิ่งนี้

พระพุทธเจ้าก็ดี พระสาวกทั้งหลายก็ดี ท่านตรัสรู้ธรรมก็คือมารู้เรื่องสิ่งเหล่านี้ตามความเป็นจริง มารู้เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มารู้เรื่องวิมุติสมมุติ เหล่านี้มารู้เรื่องสมมุติ สังขารเหล่านี้ มารู้จักสัตว์ บุคคลตัวตนของเรา สังขาร คือ สกนธ์ร่างกายของเรานี้ไม่ใช่ของเราตามธรรมชาติ เพราะเราบอกมันไม่ได้ ใช้มันไม่ฟัง เป็นไปตามธรรมชาติมัน ถึงเราจะร้องไห้กับมันมันก็เป็นอย่างนั้น ถึงเราจะหัวเราะกับมัน มันก็เป็นอยู่อย่างนั้นของมันเป็นอยู่อย่างนั้น

ดังนั้นพวกเราจึงมาเรียนให้มันรู้จัก พูดถึงเรื่องนี้ต่างกันมากกับญาติโยม จะให้มาวัด บอกว่าโลภหลาย หลงหลาย บาปหลาย มายังไม่ได้หรอก ไม่ได้เข้าใจว่ามาวัดเพื่ออะไร มาเพื่อศึกษาให้มันรู้ความจริงตามธรรม ถ้ารู้แล้วมันจะหมดทุกข์ รู้แล้วมันจะหมดอยาก รู้แล้วมันจะหายลำบาก จะไม่มีโศกาปริเทวารำพัน มันจะรู้เสมอภาคว่า สภาพทั้งหลาย ของสังขารที่มันอยู่นี้ตามความเป็นจริง ถ้ารู้ตามความเป็นจริงแล้ว พวกเราจะไม่พากันเป็นทุกข์ จะพากันสบาย ของมันได้มาก็ได้มาอย่างนี้ ได้มาอย่างนี้มันก็ไปอย่างนั้น ใจเราก็จะก็ไม่ยึด ไม่มั่น มีลูกก็ให้รู้ว่าสมมุตินะนี่นะ มีบ้านเรือนก็รู้แต่ว่ามันเป็นเพียงสมมุติ เลยไม่มีของเราจริงๆ มันก็จะได้คิด

ถ้าคนไม่รู้จักก็มีแต่ของกูๆ ลูกกู เมียกู หลานกู กู๊...กูๆๆ อยู่อย่างนั้นเหมือนกันกับนกเขา อยู่บนต้นมะขาม ร้อง กูๆ กูๆ มีแต่ของกูของกู หรือเหมือนบ่างตาโตกินมะขาม จะว่าของกูอย่างนั้นเหรอ... พากันดูหน่อยดูข้างหน้าข้างหลังหน่อย ดูข้างล่างดูข้างบนหน่อย โยมไม่เคยเห็นหมอลำเขารำหรือ โยมพ่อออกแม่ออกหมอลำเขาว่าอย่างไร? เขาว่า "เอา...จิ๊กเข้าไปเข้าไปข้างในข้างนอก" ได้ยินไหมล่ะไม่รู้อะไร? ไม่รู้ข้างในไม่รู้ข้างนอก รู้ไหมล่ะ ข้างในก็เหมือนข้างนอก ข้างนอกก็เหมือนข้างใน เขาก็เหมือนกัน เราก็เหมือนเขามันไม่ได้แปลกอะไรกัน ลูกท่านหลานท่านก็เหมือนกับลูกเราหลานเรา พ่อท่านแม่ท่านก็เหมือนพ่อเรา แม่เราของเราก็เหมือนของท่าน นี่แหละท่านจึงว่า ให้รู้เข้าไปข้างในข้างนอก ยังจะพูดเล่นอยู่นั้นหรือ อย่าว่าของเราของเรา ต้องมีเมตตา กรุณา ดูให้มันทั่วให้มันถึง ถ้าเรามีธรรม รู้จักธรรมแล้วเราจะสบายกันมากจะพากันถอนความโลภออก ถอนความโกรธออก ถอนความหลงออก หลงว่าของคนโน้น หลงว่าของคนนี้ หลงว่าของกูหลงว่าของมึง หลงยึดหลงหมาย หลงทุกข์ หลงยาก หลงลำบาก แต่ที่สุดก็ไม่มีอะไร ให้พากันเข้าใจเอาไว้ให้พากันรู้เรื่องเอาไว้ ถ้ารู้เรื่องสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ข้างนอกก็ดีข้างหลังก็ดี ข้างนอกคือต้นไม้ภูเขาเครือเขาเถาวัลย์ก็ดี ทุกสิ่งทุกอย่างก็ล้วนเป็นของไม่แน่นอน เกิดมาแล้วก็ละลายไปเป็นธรรมดา เห็นไหมล่ะ? ต้นไม้บ้าง ดินบ้าง มันมีที่สูงที่ต่ำ ต้นไม้ก็ต้นตอต้นงอเป็นธรรมชาติของมันอย่างนั้น เป็นธรรมชาติของสังขารข้างในเราก็เหมือนกัน ตาบ้าง หูบ้าง จมูกบ้าง ลิ้นบ้าง กายบ้าง ก็ไม่เหมือนกันเป็นของไม่แน่นอน เป็นไปตามสภาพของมัน หูมันอยากหนวกวันไหน มันก็หนวก ตามันอยากบอดวันไหนมันก็บอด กายมันอยากเจ็บวันไหนมันก็เจ็บ อยากพิการตรงไหนมันก็พิการ มันก็เป็นอยู่อย่างนั้น จะไปร้องขอยอมือกับมันไม่ได้ ถึงคราวมันจะเป็นมันก็เป็น อันนั้นมันเป็นของเราแท้ๆ เป็นสังขารแท้ๆ เป็นสังขารแท้ๆ ไม่ใช่เป็นของเราตามเป็นจริง เป็นของเราโดยสมมุติ ดังนั้น พระพุทธเจ้าก็ดี สาวกทั้งหลายก็ดี ท่านพ้นจากทุกข์ จากความลำบาก ก็เพราะท่านมารู้ตามความเป็นจริง รู้อะไร? ก็คือรู้ว่าของมันไม่แน่นอน "อัชฌัตตา ธัมมา, พะหิธา ธัมมา" อัชฌัตตา ธัมมา ก็คือ ภายใน พะหิธา ธัมมา ก็คือภายนอก "จิ๊กเข้าไป ข้างในข้างนอก" ภาษาพระพุทธเจ้าว่า อัชฌัตตา ธัมมา, พะหิธา ธัมมา ธรรมกายในก็ดี ภายนอกก็ดี ล้วนเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นของไม่แน่นอน มีความเกิดเป็นเบื้องต้น มีความแก่เป็นท่ามกลาง มีความตายเป็นที่สุดเหมือนกันหมด จะเป็นข้างในก็ดี ข้างนอกก็ดี หนุ่มก็ดี แก่ก็ดี ทุกข์ก็ตาม รวยก็ตาม จะเป็นเจ้าพระยาไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ก็ตาม ก็เป็นอยู่อย่างนี้ เวลานะไป (ตาย) ใครมีมากก็ทิ้งไว้มากใครมีน้อยก็ทิ้งไว้น้อย ตายก็เหม็นหมดทุกคนแหละ ไม่เว้นใคร นี้ท่านเรียกว่า ข้างในก็เหมือนข้างนอก ข้างนอกก็เหมือนข้างใน...เหมือนกัน...

เราทั้งหลายต้องมาเรียนธรรมไว้ในปัจจุบันให้มันรู้จัก ถ้ารู้จักแล้วมันสบาย... สบายอย่างไร? เหมือนเราเห็นรังต่อ เราก็ไม่เข้าไปใกล้ ตรงนั้นมีเสือ ตรงนั้นมีงู เรารู้อย่างนี้ เราก็หนีไม่เข้าใกล้ ถ้าคนเราไม่รู้ก็เดินสวบๆ ตกลงไปหลุมต่อ มันก็ต่อยหัวเอาเท่านั้นแหละ คนไม่รู้จัก อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็เสกคาถาว่าของกูๆ อยู่อย่างนั้น ถ้าคราวนี้ไม่ใช่ของกู ก็ร้องไห้โก๊กๆ เท่านั้นแหละ นั่นเป็นเครื่องหมายของคนบาป ถ้าเรามาฟังธรรมแล้ว มันก็จะหายบาป แล้วก็ดีด้วย เป็นผู้มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา อยู่ใกล้กัน ไม่ทะเลาะกัน ไม่ทุ่มเถียงกัน สงเคราะห์กัน สบาย นั้นท่านเรียกว่าคนมีบุญ คนมีบุญอยู่ที่ไหนก็เป็น บุญกุศล อยู่ที่ไหนก็เย็น ก็เป็นสุคโต อยู่ก็เป็นสุข ไปก็เป็นสุข มีแต่เรื่องเป็นสุขมีแต่เรื่องสบาย

ถ้าเราฟังธรรมพิจารณาถูกต้องแล้วรู้สิ่งทั้งหลายเหล่านี้แล้วตรัสรู้ธรรม พระพุทธเจ้าท่านว่า ตรัสรู้ธรรม ตรัสรู้ซึ่งอริยสัจจ์ นี้เรียกว่า เรารู้ความจริง รู้ตามความเป็นจริง ว่าโลกมันเป็นอยู่อย่างนี้ หลายชาติหลายตระกูลมาแล้ว ปู่ ย่า ตา ยาย ของเรา ท่านก็มาเหมือนเรา นี่แหละ ผลที่สุดท่านก็ไป ไปในรูปนี้แหละ เราเกิดมา ก็จะไปในรูปเดียวกัน นี้แหละ ไม่มีใครอยู่ ฉะนั้นควรศึกษาธรรม ศึกษาให้มันพ้นทุกข์

ทุกวันนี้เราทั้งหลายถ้าเรามาวิจัยตามเหตุการณ์แล้ว ถึงเรากินก็กินเพื่อความพ้นทุกข์ ถึงเราเดินก็เดินเพื่อความพ้นทุกข์ ถึงจะนอนก็นอนเพื่อความพ้นทุกข์ จะไปในที่ไหนๆ ก็ไปเพื่อความพ้นทุกข์ ถ้าดู ให้ดีแล้วถึงแม้กินข้าวก็กินเพื่อจะไม่กินอีก ถึงแม้เดิน ก็เดินเพื่อจะไม่เดินอีก นั้นแหละ คืออยากให้มันเสร็จ เดินแล้วก็เดินอีก นั่งแล้วก็นั่งอีก นอนแล้วก็นอนอีก กินแล้วก็กินอีก พูดแล้วก็พูดอีกอยู่อย่างนี้ ความเป็นจริง ก็ไปตรงที่มันหมดนั่นแหละ มุ่งไปที่มันจริง ดังนั้น ท่านจึงให้พิจารณาซึ่งอนัตตา... เอามันจนหมดเนื้อ หมดตัว หมดอัตตา ไม่มีใคร ดิน น้ำ ลม ไฟ ลม ถ้ามันแตกก็พวกดิน พวกน้ำ พวกไฟ พวกลม มันแตกไป ตัวสัตว์ตัวบุคคลนั้นไม่มี ถ้าเราไม่มีก็ไม่มีอะไรเสีย ถ้าไม่มีก็ไม่มีอะไรได้ เลยเป็นคนผู้ไม่ได้ไม่เสีย เป็นคนไม่รวย เป็นคนไม่จน เป็นคนผู้ไม่สุข เป็นคนผู้ไม่ทุกข์อย่างนี้ อยู่ตรงที่มันหมดเหตุหมดผลท่านจึงให้พิจารณา พวกเราทั้งหลายก็จะมุ่งไปตรงนั้นแหละ

แต่ว่าความรู้สึกของปุถุชนเราทั้งหลาย เหมือนกันกับเด็กน้อย มันชอบเล่นอะไร มันเปรอะเปื้อน ที่ไหนสกปรกชอบเล่น ตอนเย็นแม่จับไปอาบน้ำ...วิ่งหนี แม่ตามไปจับมามันร้องไห้ มันกลัวจะสะอาด ให้หน้ามันมอมอยู่อย่างนั้น ให้ขี้มูกมันย้อยอยู่อย่างนั้น ให้มันเหม็นอยู่อย่างนั้น เด็กมันเป็นอย่างนั้นมันกลัวความสะอาด...(ซั่นแหลว)

พวกเราก็เหมือนกันนั้นแหละ พระพุทธเจ้าสอนให้พิจารณาให้พิจารณาสิ่งเหล่านี้ให้ดี ไม่อยากพิจารณา...หัดพิจารณากันหน่อย ความเกิดความแก่ ความเจ็บ ความตาย นั่นมรณะสติคือความตาย ยิ่งคนมีสุขมากๆ ยิ่งๆ ไม่รู้จัก พอมีใครพูดถึงความตาย อย่าพูด อย่าพูด... ฉันไม่อยากได้ยิน ฉันไม่อยากทำอะไรแล้วถ้าพูดแล้วพูดถึงความตาย เหมือนกับว่าเขาจะหนีไปพ้น... งานของเรายังไม่เสร็จ น่าจะมาทำให้มันแล้ว ให้มันเสร็จ อันนี้งานยังไม่เสร็จ กลัวแต่งานมันจะเสร็จ ทุกข์ดองใจตัวเองอยู่ ควรมาศึกษาให้มันรู้จัก ไม่อยากศึกษา เหมือนเราเป็นไข้หนัก แพทย์จะช่วยรักษา ไม่ยอมให้รักษา อยากให้มันหาย เหมือนกัน แต่ไม่อยากรักษา ไม่อยากกินยา มันเป็นเรื่องอย่างนี้ ความจริงเป็นเรื่องทุกข์ใหญ่ ที่เราจะต้องศึกษา เพราะเราจะต้องพบ ทุกคนเกิดมานี้จะต้องพบทุกคน จะไปในรูปนี้ เหมือนกันทุกคน ถ้าใครไม่รู้สิ่งเหล่านี้ในปัจจุบัน เป็นคนที่ขาดทุนเหลือเกิน ไม่รู้เรื่อง

พระศาสดาท่านตรัสว่า จำเป็นจะต้องศึกษา ศึกษาธรรมให้รู้จัก ถ้าศึกษาให้รู้จัก เหมือนอย่างสกนธ์ร่างกายสังขารของเรานี้ว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สมมุติบัญญัติ สมมุติวิมุติ ศึกษาให้รู้จัก บางคนไม่รู้จักนะ ถ้าว่าของเราก็ของเราจริงๆ อะไรๆ ก็ของเราจริงๆ ความเป็นจริง ไม่มีอะไรหรอก มันเป็นสมบัติของโลก เราอยู่นี่ก็อยู่ชั่วคราว เมื่อเราไป ก็เป็นสมบัติของโลก ใครมีอะไรได้อะไร ก็เอาไปไม่ได้ อยู่กับโลกนี้แหละไม่ได้ไปไหน พิจารณาดูให้ดีซิ ใครหาบ อะไรไปได้ ใครหามอะไรไปได้ ถ้าได้ ถ้าดี ถ้ามี ถ้าได้ ก็สร้างขึ้นในปัจจุบันนี้ มีทรัพย์สิน เงินทอง ก็ซื้อความชั่วออกจากเราเสีย ซื้อบาป ซื้อกรรมออกจากเรา ด้วยการ สร้างน้ำ ทำบุญให้เจ้าของ พยายามเอาตัวเข้ามาฟัง มาฝึก มาฝึกหัดจิตใจ ให้อยู่ ให้มันนิ่ง ให้ได้ จะรอให้มันเสร็จเสียก่อน มันไม่เสร็จหรอก มันไม่พอหรอก อยากมันหยุดอยากไม่เป็น แต่อิ่มมันอิ่มเป็นเหมือนกันอิ่ม... นั่นเป็นเรื่องท้อง แต่คำว่าอยาก... มันไม่มีท้องใส่ ไม่มีที่ใส่ ไปตั้งที่ไหนก็อยาก มีมันก็อยาก ไม่มีมันก็อยาก รวยมันก็อยาก อยากนี้ไม่มีที่พอ ท้องเรามันอิ่มเป็น อย่างกินข้าวเมื่อเช้านี้...อิ่ม แต่อยากมัน ยังมีอยู่นะ อิ่มมันอิ่ม เหมือนกันกับสุนัข เอาข้าวให้มันกินปั้นหนึ่งก็หมด สองปั้นก็หมด สามปั้น สี่ปั้น หลายปั้น เข้ามันก็อิ่ม ท้องมันตึง ที่เหลือกินไม่ได้... ก็ดม... ยิกแยกๆ ... อยากไม่หยุด แต่ท้องมันเต็มแล้วไม่รู้จะทำอย่างไร นอนเฝ้าอยู่นั้นแหละไม่หนี ทำตาปริบๆ อยู่นั้นแหละ สุนัขตัวอื่นจะมากินก็ขู่ โฮ่ง ไม่ให้เพื่อนกิน หวงไว้ ไก่จะมากิน ก็...โฮ่งจะกัดไก่ ท้องจะแตกตายอยู่แล้ว อิ่มแล้วแต่อยากมันก็ยังอยาก หวงอยู่อย่างนั้น นี้แหละท่านว่า อิ่มอันหนึ่งมันเรื่องของท้อง อยากมันเป็นของไม่มีท้อง เอาจักรวาลมาใส่มันไม่พอ คำที่ว่าอยากนี้เดี๋ยวบัดนั้นก่อนเดี๋ยวบัดนี้ นี่นะตัวสำคัญ จะผลักไปถึงไหน หือ... ประเดี๋ยวบัดนั้นประเดี๋ยวบัดนี้เวลามันเฒ่ามันแก่ มันเจ็บ มันไข้ จะผลักไปถึงไหน ที่นี้ไม่เอาแล้วไม่อยากจะได้อะไรแล้ว น้ำก็บ่แซ่บ ข้าวก็บ่แซ่บ ไม่เอาอะไรสักอย่าง เอาแต่ทุกข์ เอามือปิดหูยังกะลิงถุงแล้วที่นี้ กินอะไรก็ไม่อร่อย ไม่เอา อะไรก็ไม่เอา เอาไปให้บ่อยๆ เดี๋ยวนี้อารมณ์เสียเท่านั้นแหละ มันกลับกันอย่างนี้นะเรื่องของมัน

ฉะนั้นให้เราพิจารณา เรื่องของคนรู้ กับเรื่องของคนไม่รู้ มันต่างกันมาก ถึงแม้ทุกข์มี มันก็ไม่ทุกข์ เมื่อมาถูกท่านผู้รู้ทั้งหลายแล้วมันจะละลายหายไปหมด เรื่องสิ่งทั้งหลายจะจากเราไป เรื่องเราจะจากเพื่อนฝูงไป เหล่านี้... ไม่มีปัญหา เพราะพิจารณาแล้ว เมื่อยังมีชีวิตอยู่ลูกจะพรากจากเรา เราจะพรากจากลูก พ่อแม่จะพรากจากเรา เราจะพรากจากพ่อแม่ เพื่อนฝูงจะพรากจากเรา เราจะพรากจากเพื่อนฝูง พิจารณาแล้วทุกอย่าง ใครจะไปก็ไป ใครจะมาก็มา สบาย... ไม่มีทุกข์ทำไม? เพราะไม่ไปมั่นหมายมัน นายพรานเขาดักแร้วอยู่ตรงนั้น เห็นแล้วไม่เอาคอยื่นเข้าไปใส่ แร้วก็ไม่หนีบคอเรา ทุกข์ฉันพิจารณาแล้ว เห็นทุกข์ รู้จักเหตุที่ทุกข์จะเกิด ไม่ไปทำเหตุตรงนั้น ทุกข์มันก็ไม่เกิด ทุกข์มันก็ไม่มี เราก็ไม่ทุกข์ ภายนอกก็ตาม ภายในก็ตาม ที่ใกล้ก็ตามที่ไกลก็ตาม หยาบก็ตาม ละเอียดก็ตาม มันเป็นอยู่อย่างนี้ ใจข้าพเจ้าจะไม่หวั่นไหว เพราะเห็นว่ามันเป็นอยู่อย่างนี้ เอามันพอควรพออยู่ก็สบาย มีน้อยก็ใช้น้อย มีมากก็ใช้มาก อยู่อย่างไรก็อยู่ได้ มันสบาย สงบ ระงับ มีมากก็ไม่เป็นไรให้รู้เรื่องของมัน มีน้อยก็ไม่เป็นไรถ้ารู้เรื่องของมัน นี่แหละเรื่องคนจะสบาย คือมีปัญญา เรื่องคนจะไม่สบาย เรื่องคนจะลำบากนั้น โอ๊ย! มันยากทุกอย่าง ถึงทำงานอยู่ก็ยาก ให้อยู่เฉยๆ มันก็ยาก ถึงแม้จะให้นอนมันก็ยาก ให้ทำมันก็ยากไม่ให้ทำก็ยาก มันไม่แน่สักอย่างจะว่าอย่างไร แม้จะรวยมันก็ทุกข์ แม้จะจนมันก็ทุกข์ อยู่อย่างนั้น เรื่องมันทุกข์

ท่านอุปมาเหมือนลิงตัวน้อยๆ ก็เรียกลิงน้อย ใหญ่ก็เรียกลิงใหญ่ เฒ่าก็เรียกลิงเฒ่า ตายก็เรียกลิงตาย เหลือแต่กระดูกก็ไม่พ้น เรียกว่ากระดูกลิง มันจะไปที่ไหนก็เพราะมันเป็นอย่างนั้น ถ้าเรารู้สิ่งเหล่านี้มันจะไปไหนจะหอบจะหาบอะไรไปไหน? ให้รีบสร้างคุณงามความดีไว้ในใจเจ้าของ "สวรรค์ในอก นรกในใจ" ใจใครไม่ทุกข์ไม่โศกใจคนนั้นแหละเป็นใจสงบเป็นใจระงับ เพราะพิจารณาเห็นแล้ว อัชฌัตตา ธัมมา, พะหิธา ธัมมา ธรรมทั้งกายในก็ดี ภายนอกก็ดี ทั้งที่ใกล้ก็ดี ที่ไกลก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี มันรวมลงที่เดียว คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นของไม่แน่นอน สังขารทั้งหลายเหมือนกันกับอาหาร อาหารที่เราบริโภคทุกวันนี้ อันไหนมันดีมันชั่ว แม้เราจะแบ่งไว้อันนั้นดี อันนี้ไม่ดี เวลารวมลงไปในท้องอันไหนดีกว่ากันมีไหม? อันไหนที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ มีไหม? ใครจะรวมคะแนนให้ได้ หือ... เหมือน... กันมันเหมือนกันอย่างนั้น สามัญลักษณะมันเหมือนกันอย่างนั้น

ฉะนั้นพวกเราทั้งหลาย ที่อยู่ด้วยกันนี้เป็นญาติกันนะ ญาติความเกิด ญาติความแก่ ญาติความเจ็บ ญาติความตาย ฉะนั้นพวกเราอย่าเอารัดเอาเปรียบกัน ให้ธรรมไว้ในใจ มีธรรมอย่างไร? คนรวยอย่าดูถูกคนจน นี้คือหลักใหญ่ของมัน คนจนก็อย่าไปอิจฉาคนรวย เท่านี้ก็พอ... มันพอ เหมือนกันกับผลไม้ ผลที่ว่ามันหวานก็ให้มันหวานไป ผลให้มันเปรี้ยวก็ให้มันเปรี้ยวไป คงไม่มีใครอยากกินหวานอย่างเดียวหรอก บางครั้งแดดเผาหัวนึกอยากกินเปรี้ยวๆ ก็มีเยอะแยะไป อย่าเพิ่งไปโทษว่ามันเปรี้ยวเดี๋ยวจะเรียกหามันหรอก เปรี้ยวมันก็ดี หวานมันก็ดี ของมันดีอยู่อย่างนั้น เวลาเราต้องการเราต้องการอย่างเดียวหรือเปล่า จริงๆ แล้วเราต้องการหลายอย่าง นี้ก็เหมือนกันให้พิจารณาอย่างนั้นแล้วจะเอาตอนไหน? พวกเรา เอาตอนนี้แหละ ตอนที่ยังไม่เจ็บไม่ไข้นี้แหละควรมาวัด หรือจะรอจนมันเจ็บไข้โน้นหรือถึงจะเข้ามาวัด รอจนหัวเข่ามันบวม คอเหลือเท่าแขนโน้นหรือ ถึงจะพาไปหาครูบาอาจารย์ เอามาทำไม? อย่างนั้น? เอาไปทิ้งป่าช้าโน้น... อย่างนั้นไม่ต้องเอามา...หรือ...ดูซิ ควรฝึกไว้แต่ไกลๆ ให้มันรู้จักจะอยู่ไหนก็ตามพวกเรา ทุกสิ่งเป็นของไม่แน่นอน มันจะมีอะไรก็ช่างมัน มันจะเป็นเพชรก็ช่างมัน มันจะเป็นพลอยก็ช่างมัน จะเป็นทองคำก็ช่างมัน "ก้อนดิน...ก้อนดินมันเหลือง" มันเขียว มันแดง ก้อนขี้ดินทั้งหมดไม่มีอะไร มันเป็นสมมุติ อันนี้สมมุติว่าเพชร อันนี้เป็นพลอย อันนี้เป็นแก้ว อันนี้เป็นทอง ก็พูดกันไปอย่างนั้น อันไหนเหลืองก็ว่ามันเหลือง อันไหนเขียวก็ว่ามันเขียว ก็อยู่ตามเรื่องของมัน อันนี้มันมีราคามาก ราคามันก็ไม่มาก อันนี้ไม่มีราคา มันก็ไม่มีราคา ก็เราไปว่ากันเอาเอง ผลที่สุดก็คือขี้ดินนั่นแหละ มันก็ไม่มีราคา ก็เราไปว่ากันเอาเอง ผลที่สุดก็คือขี้ดินนั่นแหละ พูดง่ายๆ เหมือนกับขุยขี้ไส้เดือน นั้นแหละ

เราก็เหมือนกัน จะดีประเลิศประเสริฐขนาดไหน มันก็ไม่พ้นไปจากธรรม ไม่พ้นไปจาก อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันไม่พ้นไปหรอก เป็นหนุ่มก็ดี เป็นสาวก็ดี เป็นเด็กก็ดี มาถึงตอนนี้เป็นอย่างไร แต่ก่อนไม่เป็นอย่างนี้หรอก เต้นสามศอก ออกสามวา ถ้าพูดถึงกำลังสนุกสนานมาก ดูตัวเองเนื้อหนังมังสาก็งามทุกส่วน เหมือนกับว่าความไม่งามจะไม่มี แต่พอแก่มาๆ สิ่งเหล่านี้ไม่รู้มันแอบหนีไปตอนไหน ทิ้งไว้ให้เราแต่ของไม่ดี ดีๆ ไม่รู้ไปไหนหมด นี้เรียกว่ามันเปลี่ยนไป แปรไป มันไม่เที่ยงแท้ ไม่แน่นอน ผลที่สุดก็เป็นขี้ดินเหมือนกัน ให้เราพิจารณาไว้แต่ไกล รู้หลักความจริงอย่างนี้ ก็คือ รู้ธรรม ผู้ที่รู้ธรรม แม้จะมีชีวิตอยู่ก็ไม่แก่งแย่งกัน ไม่อิจฉากัน สบาย... โยมพ่อออก (ผู้ชาย) ก็สบาย โยมแม่ออก (ผู้หญิง) ก็สบาย พูดรู้เรื่องกัน อันไหนทุกข์จะเกิดขึ้น ไม่ไปพูด ไม่ไปทำมัน มันก็เลิกจากสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น

เรื่องการประพฤติปฏิบัติในพระศาสนาไม่มีอะไรมากมาย ดังนั้นการมาฟังธรรมให้รู้เรื่อง สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ที่มันยังละไม่ได้ ก็ให้พากันอดกลั้น มันอยากจะด่าลูก อยากจะด่าหลาน อยากจะด่าใครคนใดคนหนึ่ง ก็ให้ด่าตัวเองก่อน แต่งตัวเองให้ดีเสียก่อนจึงพูดจึงทำ ถึงจะพูดแรงหน่อยก็ได้ จะพูดหนักหน่อยก็เป็น แต่ให้รู้จักเสียก่อน ให้ดูเราเสียก่อน ให้เราดีเสียก่อน ให้เรารู้เสียก่อน สอนเราเสียก่อน ให้มันเป็น เผื่อว่ามันสะท้อนกลับมาก็ไม่มีอะไร จะทำไร่ทำนาก็ได้ มีแก้วก็ได้ มีแหวนก็ได้ มีเพชรนิลจินดาก็ได้ ให้มันอยู่เหนือสิ่งเหล่านั้น เมื่อสิ่งเหล่านี้มันวิบัติไป ก็ให้เราสบาย เราได้มาก็ได้สบาย มันจากเราไปก็ให้สบาย เพราะเห็นว่าสิ่งทั้งหลายมันเป็นอย่างนั้น นี้เรียกว่าผู้เห็นธรรมในที่ไกล แล้วก็มาเห็นในที่ใกล้ เห็นข้างนอกเห็นข้างใน ผู้อื่นก็เป็นอย่างนี้ เราก็เป็นอย่างนี้ ข้างนอกเป็นอย่างนี้ข้างก็เป็นอย่างนี้ มันเหมือนกัน ดังนั้น ถ้าหากรู้ธรรมก้อนเดียวเท่านี้เอง ไม่ไปทำเหตุให้ทุกข์เกิด ทุกข์เกิดขึ้นมาไม่ได้ เมื่อฟังธรรมเข้าใจธรรมอย่างนี้ เข้าใจสิ่งทั้งหลายที่อธิบายมานี้ทุกกาลทุกเวลา ยืน เดิน นั่ง นอน เป็นผู้ที่มีสติอยู่สม่ำเสมอ พิจารณาเรื่องทั้งหลายเหล่านี้ให้มันเสมออยู่ที่ใจของเจ้าของ ให้รู้เท่าสิ่งทั้งหลายว่ามันเป็นอยู่อย่างนี้ จะไปใต้ไปเหนือก็เป็นอย่างนี้ คนทุกข์ คนจนก็ต้องเป็นอย่างนี้ ไปไหนก็เป็นอย่างนี้ ตามเรื่องของมัน อันนี้ล่ะ ให้เราทำสัญญาเอาไว้ ให้ถามตัวเองอยู่บ่อยๆ ว่า ขาที่เดินอยู่นี่เป็นของเราจริงหรือเปล่า บ้านของเราจริงหรือเปล่า เรานอนอยู่ทุกวัน แม่นบ่ วันไหนเขาจะหามหนีให้พากันคิดไว้หน่อยเน้อ! นอนลงไปก็ให้ถามตัวเองด้วยว่าจะนอนได้กี่วัน "เข้าใจไหมล่ะ คนแก่ๆ กลุ่มนั้น" (มีเสียงตอบว่าเข้าใจ) เออ! ให้เข้าใจไว้ อย่านอนกรนอยู่เฉยๆ จะอยู่ได้กี่วัน น้อ...! ให้ถามตัวเองอย่างนั้น วันไหนหนอเขาจะหามหนี พูดแค่นี้ก็ได้ภาวนา ภาวนาแค่นี้ก็ได้...นะ ไม่ต้องพูดมากแค่นี้เกิดอานิสงส์แล้วล่ะ...เอวัง..

..........................................................................

คัดลอกจาก : http://www.geocities.com/Tokyo/Ginza/9697/ajarn_cha7.html