PDA

แสดงเวอร์ชันเต็ม : อานิสงส์ของการฟังธรรม หลวงปู่สาม อกิญฺจโน



**wan**
11-05-2008, 04:49 PM
http://www.kusol.com/apra/prapict250md/%CA%D2%C1_%CD%A1%D4%AD%A8%E2%B9250.jpg

อานิสงส์ของการฟังธรรม
พระธรรมเทศนา โดยหลวงปู่สาม อกิญฺจโน
(วัดป่าไตรวิเวก จ.สุรินทร์)

โพสท์ในลานธรรมเสวนา หมวด ชีวิตกับธรรมะ กระทู้ 14220
โดย: อยู่แบบธรรมชาติ 22 ก.พ. 48

เอวํ ปสฺสํ ภิกขเว สุตวา อริยสาวโก นิพฺพินทติ นิพฺพินฺทํ วิรชฺชติ วิราคา วิมุจุจติ วิมุตฺ ตมิติ ญาณํ โหติ ขีณา ชาติ วุสิตํ พรหฺมจริยํ กตํ กรณียํ นาปรํ อิตถตฺตายาติ ปชานาตีติ ฯ

บัดนี้จะได้แสดงอานิสงส์ของการฟังธรรมเป็นลำดับไป ดำเนินความว่า สตฺถา องค์สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์เจ้าได้ทรงแสดงอานิสงส์ของการฟังธรรมไว้ 5 ประการ ดังนี้ว่า ปญฺจิเม ภิกฺขเว อานิสํสา ธมฺมสฺสวเนฯ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ของการฟังธรรมเหล่านี้ 5 ประการ

กตเม ปญฺจ อานิสงส์ 5 เป็นไฉน

อสุตํ สุณาติ ผู้ฟังธรรมย่อมได้ฟังที่ไม่เคยฟัง

สุตํ ปริโยทปติ สิ่งใดที่เคยฟังแล้ว เมื่อได้ฟังอีกย่อมเข้าใจในสิ่งนั้น ชัดเจนขึ้น ดังพระยสกุลบุตร ได้ฟังพระธรรมเทศนากัณฑ์เดียวกันสองคราว ๆ คราวแรกได้สำเร็จพระโสดาปัตติผล คราวหลังได้ฟังที่สมเด็จพระศาสดาทรงแสดงแก่เศรษฐีผู้บิดาที่ติดตามมาได้สำเร็จพระอรหันตผล

กงฺขํ วิหนติ ย่อมจะบรรเทาความสงสัยได้โดยตรงบ้าง โดยความเทียบเคียงบ้าง

ทิฏฺฐิ อุชํ กโรติ ย่อมทำความเห็นของตนให้ตรงต่อคลองธรรมที่ถูกต้อง ๑

จิตตมสฺส ปสีทติฯ จิตต์ของผู้ฟังย่อมผ่องใส เพราะส่งใจไปในธรรมไม่เป็นโอกาสแห่งความมัวหมอง รำพึงเข้ามาในการฟังธรรม ๑

อิเม โข ภิกฺขเว ปญฺจานิสํสา ธมฺมสฺสวเนฯ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ของการฟังธรรม 5 ประการ ดังนี้แล บัณฑิตพุทธศาสนิกชนผู้เห็นอำนาจประโยชน์เช่นนี้เป็นต้น จึงพอใจในธรรมสวนะกิจ

แม้สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ผู้สามารถอาจหาญรอบรู้เป็นพระสัพพัญญูเจ้า กระนั้นพระองค์ยังทรงฟังเทศน์ เอกทา ธมฺมราชาปิ เคลญฺเญภิปิฟิโต จุนฺทตฺเถเรน ความว่าคราวหนึ่ง พระพุทธเจ้าผู้เป็นธรรมราชาทรงพระประชวรโปรดให้พระจุนทเถระแสดงธรรมโดยเอื้อเฟื้อ ทรงบันเทิงพระหทัยหายพระประชวรในขณะนั้น ข้อนี้เป็นความจริงด้วยการกล่าวความจริงนี้ เมื่อจะแสดงอานิสงส์ของการฟังธรรมของอริยสาวกนักฟังอันมีที่สุดแห่งพระสูตรต่างๆ เอวํ ปสฺส ภิกฺขเว สุตวา อริยสาวโก อริยสาวกผู้สดับแล้วเห็นอย่างนี้ นิพฺพินฺทติ ย่อมเบื่อหน่าย เกิดนิพฺพิทาญาณฯ นิพฺพินทํ วิรชฺชติ ฯ เมื่อเบื่อหน่ายย่อมไม่ยินดี วิราคา วิมจฺจติ เพราะไม่ยินดี จิตก็เข้าวิมุตติหลุดพ้นไปไม่ถือมั่นด้วยอุปทานเกิดวิมุตติญาณรู้ตัวว่าพ้นแล้ว สิ้นชาติอยู่จบพรหมจรรย์ หมดกรณียกิจดังนี้ มีอธิบายว่า

นิพฺพิทา ความเบื่อหน่ายนั้นจัดเป็น 2 อย่าง คือ เบื่อหน่ายโดยธรรมดาอย่าง ๑ เบื่อหน่ายโดยปัญญาอย่าง ๑

เบื่อหน่ายโดยธรรมดานั้นคือ เลือกเบื่อ สิ่งใดที่ไม่ชอบก็เบื่อในสิ่งนั้น สิ่งใดที่ชอบก็ไม่เบื่อในสิ่งนั้น หรือเบื่อตามกาลตามเวลา เช่นตั้งอยู่ในวันนั้นๆ เบื่อหน่ายในสิ่งที่ผิดวัย สิ่งที่ถูกวัยไม่เบื่อหน่าย หรือเบื่อหน่ายในเวลาที่อิ่ม ไม่เบื่อหน่ายในเวลาที่หิว เช่นนี้เป็นต้น จัดเป็นเบื่อหน่ายโดยธรรมดา เบื่อหน่ายเช่นนี้ย่อมมีทั่วไปในมนุษย์และสัตว์ทั้งปวงๆ

เบื่อหน่ายที่เกิดจากปัญญานั้น คือไม่เลือกเบื่อหน่ายทั้งสิ้น และไม่เฉพาะกาลเวลา ย่อมเป็นไปในการทั้งปวง เพราะมาเป็นตามสภาวธรรมว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา โดยพุทธภาษิตคาถาว่า ฯ สัพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา ติ เป็นต้น ความว่าเมื่อใดบุคคลมาเห็นด้วยปัญญาว่าสังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เมื่อนั้นย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์ อันนั้นเป็นทางแห่งความบริสุทธิ์หมดจดดังนี้ แท้จริงขึ้นชื่อว่าทุกข์เป็นสุข ถึงเจตนของบุคคลก็ยินดีสุข แต่กลายเป็นยินดีทุกข์ เพราะไม่รู้จักทุกข์

สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสไว้ในอภิพันทนสูตรดังนี้ว่า

ผู้ใดรักรูปผู้นั้นชื่อว่ารักทุกข์ เพราะรูปเป็นทุกข์ ผู้ใดรักทุกข์ ผู้นั้นย่อมไม่พันทุกข์

ผู้ใดรักเวทนาผู้นั้นชื่อว่ารักทุกข์ เพราะเวทนาเป็นทุกข์ ผู้ใดรักทุกข์ผู้นั้นย่อมชื่อว่าไม่พ้นทุกข์

ผู้ใดรักสัญญาผู้นั้นชื่อว่ารักทุกข์ เพราะสัญญาเป็นทุกข์ ผู้ใดรักทุกข์ ผู้นั้นย่อมไม่พ้นทุกข์

ผู้ใดรักสังขาร ผู้นั้นชื่อว่ารักทุกข์ เพราะสังขารเป็นทุกข์ ผู้ใดรักทุกข์ ผู้นั้นย่อมไม่พ้นทุกข์

ผู้ใดรักวิญญาณผู้นั้นชื่อว่ารักทุกข์ เพราะวิญญาณเป็นทุกข์ ผู้ใดรักทุกข์ผู้นั้นย่อมไม่พ้นทุกข์ดังนี้แล ฯ

ในโลกธรรมสูตรทรงแสดงทั้งส่วนที่เป็นอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ ว่าเป็นทุกข์ อิฏฐารมณ์เป็นที่ชอบใจ อนิฏฐารมณ์ไม่เป็นที่ชอบใจของบุคคล ชอบอิฏฐารมณ์ก็ชื่อว่าชอบทุกข์นั้นเอง เมื่อชอบทุกข์ก็ชื่อว่าไม่เบื่อหน่ายในทุกข์ ผู้มาเห็นด้วยปัญญาว่าไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตาย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์ทั้งปวง ทั้งที่เข้าใจสำคัญถูกและผิดดังแสดงมา เพราะฉะนั้นเป็นอันหมดปัญหาข้อที่ว่าเบื่อหน่ายในทุกข์ อาการเบื่อหน่ายอย่างนี้แลเรียกว่าเบื่อหน่ายเกิดจากปัญญาจัดเป็นนิพพิทาญาณฯ วิราคะในระหว่างนิพพิทาญาณ หมายเอาอริยมรรค คือพระโสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหันตมรรคฯ แต่ในจักคัปสาสทสูตรหมายความกว้าง ธรรมทั้งหลายเหล่านี้เป็นไวพจน์ของวิราคะทั้งสิ้น คือ มทฺนิมมทโน ธรรมยังความเมาให้สว่างฯ ปิปาสวินโย ความนำเสียความกระหาย อลยสมุคฆาโตฯ ความถอนขึ้นด้วยดี ซึ่งอาลัย วภฺฏปจิเฉโท ความเข้าไปตัดเสียซึ่งวัฏฏะ ตณฺหกฺขโย ความสิ้นแห่งตัณหา นิโรโธ ความดับ นิพฺพานํ ธรรมชาติหาเครื่องเสียดแทงมิได้ ฯ

วิมุตติจัดเป็น 5 อย่าง คือ

ตทังควิมุตติ ความหลุดพ้นด้วยองค์นั้นๆ ได้แก่การระงับอกุศลเจตสิกได้เป็นคราวๆ

วิกขมภนวิมุตติ ความหลุดพ้นด้วยข่มไว้ ได้แก่การระงับกิเลสกามและอกุศลธรรมด้วยกำลังฌาน

สมุจเฉทวิมุตติ ความหลุดพ้นด้วยความตัดขาด ได้แก่การะงับกิเลสกามและอกุศลธรรมด้วยองค์อริยมรรค

ปฏิปัสสัทธวิมุตติ ความหลุดพ้นด้วยความสงบราบ ได้แก่อริยพ้น

นิสสรณวิมุตติ ความหลุดพ้นด้วยออกไปเสีย ได้แก่พระนิพพาน ฯ

วิมุตติ 5 ประการนี้ ย่อลงเป็น ๒ คือ

กุปปวิมุตติ คือวิมุติที่กำเริบได้พ้นแล้วกลับไม่พ้นอย่าง ๑

อกุปปวิมุตติ วิมุตติที่ไม่กำเริบ พ้นแล้วเป็นอันพ้น

วิมุตติ ๒ (อย่าง) ในเบื้องต้น จัดเป็นกุปปวิมุตติ ๓ (อย่าง) ในเบื้องปลาย จัดเป็นอกุปปวิมุตติฯ

กุปปวิมุตติเป็นโลกิยวิมุตติฯ อกุปปวิมุตติเป็นโลกุตตระวิมุตติฯ

อานิสงส์สูงสุดของการฟังธรรมเป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เกิดนิพพิทา วิราควิมุตติมีเนื้อความดังที่ได้แสดงมาแล้วฉะนี้ฯ

ต่อแต่นี้จะแสดง อานิสงส์นั้น ๆ ผลจะสำเร็จประโยชน์แก่ผู้ฟังได้ก็ต้องอาศัยการฟังด้วยดีดังพระพุทธภาษิตแสดงไว้ดังนี้ว่า สุสฺสูสํ ลภเต ปญฺญํ บุคคลผู้ฟังด้วยดี ย่อมได้ปัญญาดังนี้

ข้อที่ว่าฟังด้วยดีหมายความว่าเป็นผู้ตั้งใจฟัง ไม่ใช่สักแต่ฟังพอเป็นกิริยาเท่านั้น ดังที่เรียกกับว่าฟังเทศน์เอาบุญเท่านั้นต้องกำหนดเอาไปใคร่ครวญ พิจารณาสิ่งใดเป็นโทษก็ละในสิ่งนั้นเสีย สิ่งใดที่เห็นว่าเป็นคุณก็เจริญสิ่งนั้นไป หมายถึงข้อปฏิบัติตนของตนให้เป็นธรรม ๆ ก็ยังมี ประเภทเป็น ๓ คือ อัตตาธิปไตย โลกาธิปไตย ธัมมาธิปไตย

ผู้ปฏิบัติธรรม ปรารภจะยกตนข่มท่านแล้วปฏิบัติธรรมนี้เป็นอัตตาธิปไตย ส่วนเสียๆ บุคคลมาปรารภตนว่า บัดนี้เราก็เจริญวัยอายุก็ใกล้ต่อความตายอยู่ทุกขณะ ถ้าปุบปับมัจจุราชมาเอาตัวไปเสียก่อนก็จะเสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนาแล้วรีบปฏิบัติตนของตนให้เป็นธรรมเพื่อที่จะได้รับความสุขความเจริญของตนไปในอนาคตกาล เบื้องหน้าเพราะว่าคนเราต้องแสวงหาความสุขความเจริญใส่ตนของตนทั้งนั้น อันนี้เป็นส่วนดี

ถ้าบุคคลมาปรารภสัตว์โลก คือคนอื่นว่าถ้าเราปฏิบัติธรรมใครเห็นก็จะพึงสรรเสริญ เชื่อถือเราเรานี้ๆ เป็นโลกาธิปไตย ส่วนเสียๆ บุคคลมาปรารภปรารภผู้อื่นว่าเขาก็เป็นคนทำไมเขาประพฤติปฏิบัติได้เราก็เป็นคนที่ต้องปฏิบัติได้เหมือนเขาอย่างนี้โลกาธิปไตย ส่วนดีๆ อัตตาธิปไตย โลกาธิปไตย 2 อย่างนี้ มีทั้งส่วนเสียส่วนดี

ส่วนธรรมาธิปไตยหาเป็นเช่นนั้นไม่ มีแต่ส่วนดีโดยส่วนเดียว บุคคลไม่ปรารภ เช่นกล่าวกล่าวมาแล้ว มาปรารภธรรมเป็นใหญ่ว่า ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารี ํ ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ธมฺโม สุจิณฺโณ สุขมาวิหาติฯ ธรรมอันบุคคลประพฤติดีแล้ว ย่อมนำสุขมาให้ ธมฺโม กุโลกปตนา ตทธาริธารี ฯ ธรรมย่อมทรงบุคคลผู้ทรงธรรม ไม่ให้ตกไปในที่ชั่วหยาบ เป็นต้น แล้วประพฤติธรรมนี้ให้เป็นธรรมาธิปไตย ประพฤติธรรมเป็นอัตตาธิปไตย โลกาธิปไตยส่วนเสีย ก็ต้องเรียกว่าประพฤติธรรมเหมือนกัน แต่ยังไม่เชื่อว่าสุปฏิปันฺโน เว้นส่วนเสียตรงกันข้ามจึงเป็นสุปฏิบัติ เพราะฉะนั้นจึงมีคำว่า ธัมมานุธัมมปฏิบัติ แปลว่าประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม ดังเงินบาทหนึ่งต้องสี่สลึงเต็มหย่อนหรือเกินกว่าสี่สลึงท่านเรียกว่าเงินเก๊ๆ

ตั้งใจฟังธรรมแล้วกำหนดจดจำเอาไปใคร่ครวญพิจารณาแล้วปฏิบัติธรรมเป็นสุปฏิบัติ ธัมมานุธัมมปฏิบัติฉะนี้ จึงสำเร็จอานิสงส์ของการฟังธรรม แม้ยังไม่สำเร็จมรรคผลพระนิพพานในปัจจุบัน ซึ่งนับว่าเป็นอานิสงส์อย่างสูงสุด ก็ยังได้รับความชุ่มชื่นใจในระหว่างๆ ไม่ต้องเดือดร้อนเพราะอธรรม อธรรมใช่ว่าจะทำความเดือดร้อนแต่ในปัจจุบันเท่านั้นหามิได้ ยังจะต้องได้ไปอยู่กับพวก เดือดร้อนข้างหน้าอีก มีพระพุทธภาษิตแสดงดังนี้ว่า อธมฺโม นิรยํ อธรรมย่อมไปสู่นรก อิธ ตปฺปติ เปจฺจ ตปฺปติฯ เขาเดือดร้อนอยู่ในโลกนี้ ละโลกนี้ไปแล้ว เขาจะเดือดร้อนอีกดังนี้ฯ

ส่วนธรรมย่อมตรงกันข้ามกับอธรรม มีพระพุทธภาษิตรับรองไว้ดังนี้ว่า ธมฺจารี ขํ เสติ ผู้ประพฤติธรรมโดยปกติ หมายความว่าประพฤติธรรมสม่ำเสมอย่อมอยู่เป็นสุข อสฺมี โลเก ปรมฺหิ จฯ ทั้งในโลกนี้และโลกหน้าๆ อันจรรยาความประพฤติของตน ย่อมจะตามติดตัวไป ผลก็ตามจรรยานั้นๆ เรื่องนี้อาจเทียบให้เห็นได้ในปัจจุบัน เช่นวันนี้ทำความเดือดร้อนหรือความเย็นใจ ได้รับผลในวันนี้แล้วยังติดต่อไนวันพรุ่งนี้อีก ชาตินี้เดือดร้อนหรือเย็นใจก็ต้องติดตามไปในชาติหน้าอย่างเดียวกัน ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมถึงจะไม่สำเร็จเด็ดขาด เป็นปุถุชนอย่างเดียวกันกับผู้ไม่ปฏิบัติธรรมอย่างไรก็ดีกว่าผู้ไม่ปฏิบัติธรรม ผู้ได้สดับมายิ่งรู้ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่าโลกธรรมนี้ไม่เที่ยงนำทุกข์มาให้มีอันแปรปรวนไม่คงที่ แต่นั้นโลกธรรมหาครอบงำจิตใจของเขาได้ไม่เขาย่อมไม่ยินดี ส่วนที่เป็นอิฏฐารมณ์ ไม่ยินร้าย ส่วนที่เป็นอนิฏฐารมณ์ เมื่อเป็นเช่นนี้เขาย่อมจะพ้นทุกข์ ผู้ได้สดับกับผู้ไม่ได้สดับต่างกันอย่างนี้ ๆ ผู้หวังปฏิบัติธรรมไม่ควรหวั่นหวาดต่อถ้อยคำของผู้ไม่ประพฤติธรรมและไม่ควรรังเกียจใครปฏิบัติไว้ก็แล้วกัน และไม่ต้องรอรับคำสั่งของใคร เราสั่งตัวของเราเอง เราไม่ใช่เป็นลูกจ้างทำการงานอย่างกุลี ต้องรอฟังคำสั่งของนายก่อนจึงทำได้ มีพระพุทธภาษิตเป็นเครื่องตักเตือนไว้ดังนี้ว่า อตฺตนา โจทยตฺตานํ ฯ บุคคลพึงตักเตือนตนด้วยตน คือคำสั่งสอนแนะนำตัวของตัวเองดังนี้



+++ พระธรรมเทศนาโดยหลวงปู่สาม อกิณจโณ วัดป่าไตรวิเวก อ.เมือง จ.สุรินทร์ +++