PDA

แสดงเวอร์ชันเต็ม : การสร้างคุณธรรม พระอุดมสังวรวิสุทธิเถร (พระอาจารย์วัน อุตฺตโม)



**wan**
11-05-2008, 05:33 PM
http://dungtrin.com/mag/15/fighter1.jpg

การสร้างคุณธรรม

พระอุดมสังวรวิสุทธิเถร (พระอาจารย์วัน อุตฺตโม)
27 กันยายน 2521

โพสท์ในลานธรรมเสวนา หมวดชีวิตกับธรรมะ กระทู้ 12902 โดย: ผู้สังเกต 22 ก.ย. 47

การปฏิบัติเราจะต้องสร้างคุณธรรม 5 อย่าง คือ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เราทำให้เป็นใหญ่ คือ มีสิทธิมีหน้าที่ในความเป็นใหญ่ ที่เรียกว่า สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ เรียกว่าความเป็นใหญ่ในคุณธรรม เพียงแต่ความเป็นใหญ่เท่านั้นยังไม่พอ ท่านจึงแยกลักษณะออกไป ให้บำเพ็ญคุณธรรมเหล่านี้ให้เกิดมีกำลังขึ้น ที่เรียกว่า สัทธาพละ วิรยพละ สติพละ สมาธิพละ ปัญญาพละ คือให้สร้างให้มีกำลังเข้มแข็งขึ้น เหมือนกันกับความเป็นใหญ่ บุคคลที่เป็นคนใหญ่ จะใหญ่ในหน้าที่การงานก็ดี หรือจะใหญ่ในรูปร่างกายก็ดี สักแต่ว่าความเป็นใหญ่แต่ไม่มีกำลัง ก็ไม่สามารถที่จะครองตัวไปได้ ครองหน้าที่ตำแหน่งไปได้ ต้องอาศัยเป็นผู้ที่มีกำลังด้วย เพราะกำลังนี้จะสามารถทำให้หน้าที่การงานสำเร็จลุล่วงไปได้ ยิ่งถ้าเป็นงานบริหารย่อมเป็นผู้ที่มีกำลังพร้อมทุกอย่าง เมื่อมีกำลังแล้วก็สามารถที่จะบริหารงานนั้นๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ จะเป็นงานประเภทใดก็ตามต้องอาศัยกำลัง คือมีกำลังความคิด มีกำลังความฉลาด มีกำลังใจ จึงจะมีความสามารถปฏิบัติหน้าที่ไปได้ และก็ยังมีกำลังอื่นอีกเป็นเครื่องช่วยกัน

ฉันใดก็ดี ความเป็นผู้ปฏิบัติธรรม เราก็ย่อมสร้างกำลังขึ้น คือกำลังทั้ง 5 อย่างนี้จะต้องอาศัยซึ่งกันและกัน แยกจากกันไม่ได้ ผู้ปฏิบัติทั้งหลายจึงอาศัยกำลังศรัทธา คือ มีความเชื่อที่มีกำลังที่เข้มแข็ง เมื่อความเชื่อที่มีกำลังที่เข้มแข็งแล้ว จะไม่มีอะไรมาลบล้างความเชื่อได้ เพราะความเชื่อมีเหตุมีผล เป็นความเชื่อที่หนักแน่น เป็นความเชื่อที่มีกำลัง สิ่งอื่นไม่สามารถที่จะมาทำลายได้ กิเลสทั้งหลายก็จะมาทำลายศรัทธาความเชื่อนี้ไม่ได้ จะเป็นมารก็มาทำลายไม่ได้ ขันธมารทำลายกำลังศรัทธาไม่ได้ กิเลสมารทำลายกำลังศรัทธาไม่ได้ คือมีกำลังเหนือกว่าอุปสรรค เหนือกว่าสิ่งที่มาขัดขวางแล้ว ความเชื่อจะเป็นเนื้อเป็นตัวของตัวเอง ศรัทธาเป็นศรัทธา ไม่ได้เป็นศรัทธาที่กลับกลอกหลอกหลอน เป็นศรัทธาที่มีความมั่นคง เป็นศรัทธาที่รักษาตัวได้ คือเป็นศรัทธาที่พอตัว พอแก่การถึงมรรคถึงผล จึงถึงมรรคถึงผลได้

วิริยะพละ เราก็สร้างกำลังของความเพียรขึ้น คือ ความเพียรเป็นความเพียรที่มีกำลัง ถ้าไม่มีกำลัง ความเพียรก็ต้องอ่อนลงได้ ทำบ้างไม่ทำบ้างเดี๋ยวก็มีเหตุนั้นขัดข้อง มีเหตุนี้ขัดข้อง มีอุปสรรคร้อยอย่างพันประการ แต่ถ้าความเพียรที่มีกำลังแล้ว ไม่มีสิ่งใดจะมารังควาน สามารถปฏิบัติได้ มีความเข้มแข็งในการปฏิบัติ ไม่ท้อถอย จึงสามารถทำความเพียรไปได้ตลอด ความเพียรความพยายามเมื่อมีกำลังขึ้น ก็เป็นเนื้อเป็นตัวของความเพียร คือเป็นความเพียรแท้ เป็นความเพียรที่ดี ถ้าคนไม่มีความเพียรแล้ว ก็จะเอาแต่ตั้งโอกาสที่อำนวย หรือจะเอาตั้งแต่จะคิดขยันขึ้น เป็นความเพียรที่กลับกลอกหลอกหลอนได้ ไม่ใช่เป็นความเพียรจริง คือทำอะไรไม่ทำจริงนั้นเอง บางทีก็ทำเพื่อเอาหน้าเอาตา เพื่อเป็นการประจบประแจง ทำเพื่อให้คนอื่นงงงวยในการทำของเรา ก็เลยเกิดมีแต่เล่ห์มีแต่เหลี่ยม เกิดมารยาสาไถยในการประกอบความเพียรได้ ไม่เป็นความเพียรที่มีสัตย์มีจริง ไม่ได้ปฏิบัติเพื่อความดีความชอบ ไม่ได้ทำเพื่อความบริสุทธิ์ผุดผ่องแก่ตัวเอง

หากเกิดเป็นความเพียรขึ้นแล้ว ความเอาใจใส่ ความฝักใฝ่ในหน้าที่ของเราจะต้องทำนั้น จะต้องมี เป็นโอกาสเป็นเวลาที่ทำได้เสมอไม่มีขัดข้อง แล้วก็ทำไปสม่ำเสมอ จึงจะเรียกว่าความเพียรเป็นความเพียรที่มีกำลัง ไม่มีอะไรมาลบล้างความเพียรพยายามได้ ต้องมีความกล้าหาญ ความอาจหาญ แม้จะเกิดความทุกข์ยากลำบากประการใด ก็ย่อมเพียรพยายามอยู่อย่างนั้น คือ ไม่ละทิ้งในข้อปฏิบัติของตน ต้องทำอยู่ตลอดเวลา จึงจะเรียกว่าความเพียรมีกำลัง

สติพลัง สติความระลึกได้ก็มีกำลัง ไม่พลั้ง ไม่เผลอ ไม่หลง ไม่ลืม ควรที่จะหลงลืม ก็ไม่ลืมระลึกอยู่เสมอ ความสามารถในการระลึกไม่ท้อไม่ถอย ไม่มีสิ่งใดจะมาลบล้างสตินี้ได้ สติเป็นสติของตัวเอง โดยไม่ได้บังคับบัญชา ไม่ได้มีใครตักเตือน จะต้องตักเตือนตัวเอง ว่ากล่าวตัวเอง รู้ในตัวเอง มองเห็นในตัวเอง ว่าเราเป็นผู้ที่มีสติดีเท่าใด หรือขาดสติมากน้อยเท่าไร เราก็รู้ในเรา สติจึงเป็นสติ ไม่ได้มีการควรคุม ไม่ได้ล่อลวงให้มีสติอย่างนั้นอย่างนี้ มันเป็นสติเอง ควบคุมตัวเอง จึงเรียกว่าสติพลัง กำลังของสติ

สมาธิพลัง ความเหนียวแน่นของจิต จิตนี้จะต้องชำนิชำนาญ แล้วก็มีกำลังไม่มีสิ่งใดที่จะมาลบล้าง ไม่มีสิ่งใดที่จะมาทำให้เสื่อม ให้อ่อนลงไป เป็นสติที่ยั้งใจของตัวไว้ได้ ต้องการจะให้จิตนี้มีสมาธิเมื่อใดก็มีได้ สามารถรวดเร็วคล่องแคล่วชำนิชำนาญในการเข้าจิตสู่สมาธิ ความแน่วแน่ของจิตมีอยู่อย่างนั้น คือ แน่วแน่ต่ออารมณ์อันหนึ่ง แม้จะมีธุระที่เราจะต้องคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ เราก็คิดเฉพาะเรื่องแล้วก็วกเข้ามา อยู่ที่ความสงบแน่วแน่ ไม่ได้พลั้งเผลอหลงลืม ไม่ได้เสื่อมเสีย สมาธิจึงเป็นสมาธิที่มีกำลัง สามารถคุ้มครองรักษาภูมิของตัวเองไว้ได้ จึงเรียกว่าสมาธิพลัง

ปัญญาพลัง ปัญญามีความเฉลียวฉลาดแกล้วกล้า สามารถอาจหาญ ไม่เป็นความคิดที่โลเล ไม่เป็นความคิดที่ไร้เหตุผล มีความฉลาดรอบรู้อยู่เสมอ ขณะจิตคิดขึ้นมาก็ต้องพร้อมด้วยปัญญา ตัวปัญญานี้คอยกำกับอยู่ความคิดความเห็นทุกอย่าง ไม่ปล่อยปละละเลยให้อารมณ์ต่างๆแทรกเข้ามาได้ รู้เท่าในอารมณ์ทั้งหลายได้เสมอ ปัญญาจึงเป็นปัญญาที่มีกำลัง สามารถพิจารณาค้นคิดในเหตุในผลได้ตลอดกาล จึงจะจัดได้ชื่อว่าเป็นปัญญาพลัง

เมื่อกำลังทั้งหน้านี้เกิดพร้อมกัน ต่างก็เป็นกำลังซึ่งกันและกันแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อมรรคเพื่อผล สมควรแก่การตรัสรู้มรรคผลได้ ที่เรายังไม่ได้ ก็คือกำลังของเรายังไม่พอนั่นเอง เราจะต้องบำเพ็ญ อบรมบ่มนิสัย ให้กำลังทั้งห้านี้สมบูรณ์บริบูรณ์ขึ้น เราจึงจะสามารถบรรลุเข้าถึงคุณงามความดีได้ คือเข้าถึงธรรมส่วนอริยะได้ต้องขึ้นอยู่ที่กำลัง หากว่ากำลังยังไม่เพียงพอก็ย่อมไม่ได้ แม้จะมีความรู้ความฉลาดเท่าไร อย่างพระสารีบุตร ท่านปัญญาเฉลียวฉลาดก็จริงอยู่ แต่แล้วกว่ากำลังของท่านจะพร้อม เมื่อได้มาบวชกับพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ต้องอบรมบ่มนิสัยให้มีกำลังแก่กล้าขึ้น แล้วจึงได้ตรัสรู้ต่อภายหลัง คือกำลังไม่ยิ่งไม่หย่อนกว่ากัน คุณธรรมทั้งห้านี้จะต้องมีกำลังสม่ำเสมอกัน มีอย่างเดียวก็ไม่ได้ ต้องมีพร้อมกัน เหมือนกันกับร่ายกายของเรา แขนมีกำลัง แต่ขาไม่มีกำลังก็ไม่ได้ ต้องพร้อมกัน แขนก็ต้องมีกำลัง ขาก็ต้องมีกำลัง อวัยวะทุกส่วนต้องมีกำลังพร้อมๆกัน จึงจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ให้สมบูรณ์ขึ้นมาได้ หรืองานระดับประเทศ เขาก็ต้องมีกำลัง กำลังก็ต้องพร้อมกัน ทุกกระทรวงทบวงกรมต่างๆ ก็ต้องพร้อมกัน บ้านเมืองจึงจะเจริญขึ้นได้ ฉันใดก็ดี คุณธรรมที่เราบำเพ็ญนี้ก็ต้องพร้อมกัน




+++++ ต่อหน้า 2 +++++

**wan**
11-05-2008, 05:35 PM
การสร้างคุณธรรม 2
พระอุดมสังวรวิสุทธิเถร (พระอาจารย์วัน อุตฺตโม)
27 กันยายน 2521

ถ้าหากกำลังอย่างใดอย่างหนึ่งมี แต่อันอื่นไม่มีก็ไม่ได้ เพราะถ้าหากมีกำลังศรัทธาอย่างเดียว ก็เป็นโลดโผนจนเกินไป ก็ใช้การไม่ได้ ศรัทธาก็ต้องประกอบวิริยะ ความเพียร สติ ความระลึกได้ สมาธิ ความแน่วแน่มั่นใจ ปัญญา ความเฉลียวฉลาด ก็ต้องพร้อมๆกันจึงได้ หากมีกำลังปัญญาอย่างเดียว ความฟุ้งซ่านก็เกิดขึ้น ต้องอาศัยความสงบแน่วแน่ของจิต ถ้าไม่มีศรัทธาด้วย ความคิดความเห็นก็จะผิดไป เพราะฉะนั้นจึงอาศัยซึ่งกันและกัน เป็นกำลังในขณะนั้น ศีล สมาธิ ปัญญา ก็ต้องพร้อมกัน กำลังทั้งห้านี้ก็ต้องพร้อมกัน แล้วจึงจะสามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้ คือความพร้อมเพรียงแห่งธรรม ถ้าเราแตกสามัคคีกันก็ไม่ได้ ต้องพร้อมกัน

ฉะนั้นที่เราปฏิบัติรักษาพระพุทธศาสนา ความปฏิบัตินี้ก็ต้องพร้อมกัน มีความสามัคคีกันจึงจะเป็นไปเพื่อความเจริญได้ ถ้าเราอยู่คนเดียวนั้น เราต้องพร้อมคนเดียว แต่ถ้าอยู่ร่วมกันหลายคน จำเป็นต้องพร้อมกัน ถ้าไม่พร้อมกันก็สร้างความเจริญขึ้นไม่ได้ บ้านเมืองก็เหมือนกัน ต้องอาศัยความพร้อมเพรียงกัน จึงจะปรับปรุงความเจริญแก่บ้านแก่เมืองได้ ถ้าแตกสามัคคีกันแล้ว สร้างความเจริญขึ้นไม่ได้ มีแต่จะเป็นไปเพื่อความเสื่อมเท่านั้น หมู่คณะทั้งหลายก็เหมือนกัน ต้องอาศัยความพร้อมเพรียงกัน จึงจะเป็นไปเพื่อความเจริญ ถ้าต่างคนต่างอวดดี ไม่มีความสามัคคีกันแล้ว นั้นคือทางแห่งความเสื่อม ทางแห่งความพินาศฉิบหาย

ในการปฏิบัติก็เช่นเดียวกัน เราจะถือว่าเราดีอย่างเดียวไม่ได้ ต้องพร้อมดี คุณธรรมอันนั้นก็ดี คุณธรรมอันนี้ก็ดี ต้องเอาดีมาบวกใส่กันแล้วเราจึงจะดีขึ้น เราไปดีเพียงชิ้นหนึ่งชิ้นเดียว จัดว่าดียังไม่ได้ เราต้องดีพร้อมกัน เหมือนกับคนที่มีความสวยงาม ความสวยงามนี้ก็ต้องพร้อม ไม่ใช่งามอย่างเดียว งามพร้อมหมด อวัยวะร่างกายก็ต้องพร้อมๆกัน หน้าก็ต้องพร้อม ตาก็ต้องพร้อม จมูกก็ต้องพร้อม คิ้วก็ต้องพร้อม ปากก็ต้องพร้อม อะไรก็ต้องพร้อมกันไปหมด จึงจะเป็นคนสวยงามได้ ไม่ใช่งามอย่างเดียว ถ้างามอย่างเดียวเขาไม่จัดว่าสวยงามได้ คือมีส่วนสัดพร้อมกันทุกอย่างจึงจะเป็นคนสวยงามได้ การปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน คุณธรรมต้องพร้อม ดีด้วยกัน อาศัยซึ่งกันและกัน เพราะคุณธรรมจะแยกกันออกยังไม่ได้ จะต้องอาศัยกันอยู่อย่างนั้น ศรัทธาก็ต้องอาศัยคุณธรรมอย่างอื่น อย่างอื่นจะต้องอาศัยศรัทธา ถ้าขาดอันหนึ่งก็ไม่ได้ มีแต่ความเพียร เราไม่มีความเชื่อก็เป็นไปไม่ได้ มีแต่ความเชื่อไม่มีความพากเพียรก็ไม่ได้ จึงแยกกันออกไม่ได้ ต้องปฏิบัติไปพร้อมๆกัน แยกแต่ลักษณะ แยกแต่คำพูดเท่านั้น

ภาคปฏิบัติเราจะต้องปฏิบัติไปพร้อมๆกัน คือ เกิดอยู่ที่จิต มีอยู่ที่จิตเท่านั้น ศรัทธาก็อยู่ที่จิต ความเพียรก็อยู่ที่จิต สติก็อยู่ที่จิต สมาธิก็อยู่ที่จิต ปัญญาก็อยู่ที่จิต ไม่ได้อยู่ที่อื่น มีอยู่ที่จิต เกิดขึ้นที่จิต ตั้งอยู่ที่จิต แล้วเมื่อจิตของเรามีคุณธรรมเหล่านี้ กายของเราก็ประกอบอีก วาจาของเราก็ประกอบอีก คือประกอบสัดส่วนเข้ากัน เพราะว่าคุณธรรมนี้สำเร็จออกมาจากกจิต เราจะเดินจงกรมก็เพราะเราเชื่อในการประกอบความพากความเพียรอย่างนี้ แล้วเราจึงได้เดิน เรารักษาวาจาของเรา พูดแต่พอเหมาะพอดี ก็เนื่องจากเรามีความเชื่อแล้วว่า พูดมากก็เป็นเรื่องเหลงไหล พูดมากเท่าใด ความโกหกก็ต้องแทรกเข้ามา นี้เราก็รู้เท่าอยู่แล้ว เราจึงได้เลือกพูดแต่เรื่องที่ควรพูด คำที่ควรพูดพอประมาณ รู้จักประมาณในตัวเอง ว่าเราพูดไปแล้วจิตของเราจะสงบอยู่ไหม หรือจิตของเราจะฟุ้งซ่านไป เราก็ต้องรู้

ฉะนั้นเมื่อคุณธรรมนี้มีอยู่ที่จิตแล้ว ความเพียรก็ออกมาทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง เราก็ประกอบส่วนกันเข้าไป เราจะนั่งสมาธิ เราก็มีความเพียร เราก็สามารถเพราะกำลังเรามี แม้จะมีอุปสรรคความเจ็บปวดเหน็ดเหนื่อยเกิดขึ้นก็ตาม แต่เพราะกำลังของความเพียรเรามี กำลังสติเรามี กำลังสมาธิเรามี กำลังปัญญาเรามี เราก็เอาชนะไปได้ เราก็ไม่ท้อถอย ที่เราท้อถอยกันอยู่ ก็เนื่องจากกำลังของเรายังไม่พอนั้นเอง เมื่อกำลังเราไม่พอ เราก็ต้องท้อถอย อะไรก็ท้อถอย ศรัทธาก็เฉื่อยชาไป ความแน่วแน่ก็ไม่มี คือเชื่อก็เชื่อนิดๆหน่อยๆ เชื่อครึ่งเชื่อกลางไป เราไม่ได้เชื่อลงอย่างเต็มที่ ไม่ได้สัดไม่ได้ส่วนของความเชื่อ สรุปแล้วก็คือ คุณธรรมทั้งหลายนี้ต้องมีสัดส่วนสม่ำเสมอกัน แล้วจึงจะเป็นไปได้ คือ ต้องพร้อมกัน ต้องมีสัดส่วนให้พอเหมาะพอดีกัน เมื่อมันพอดีแล้วจึงจะเกิดดีขึ้นมาได้ ถ้าขาดความพอดีก็ไปไม่ได้ ฉะนั้นเราต้องสร้างความพอดีในการประพฤติปฏิบัติ แต่ความพอดีเราก็ต้องรู้จัก ว่าทำอย่างนี้พอเหมาะพอดีหรือไม่ เราต้องรู้ในตัวของเราอีก ขึ้นอยู่กับปัญญาของเราที่จะมีเหตุมีผลในการค้น ในการคิด ในการสำรวจ

นี่แหละในเมื่อเราสร้าง ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ให้เป็นใหญ่ขึ้นมาในตัวของเราแล้ว ก็ต้องเป็นใหญ่ที่มีกำลัง จึงสามารถดำเนินข้อปฏิบัติให้ถึงซึ่งคุณธรรม ให้ได้ดื่มรสของพระสัทธรรมที่ดีได้ ต้องอาศัยการสร้างกำลังขึ้น ฉะนั้นผู้ปฏิบัติจึงเป็นผู้ที่ทำด้วยความเข้มแข็ง มีความสามารถอาจหาญ ต้องเอาชนะต่ออุปสรรคทั้งหลาย คือ ไม่ท้อถอย ครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติในสมัยก่อน ท่านเป็นผู้เข้มแข็ง กลัวที่ไหนไปมันที่นั่น ภัยมีที่ไหน ต้องกล้าเข้าไปประจัญบานต่อภัยอันตราย เพื่อจะสู้มันได้ชนะ ท่านต้องแกล้วกล้าสามารถอาจหาญ เจ็บป่วยมา จับไข้มา นั่งภาวนา หรือเดินจงกรมเอาจนมันชนะ เอาจนสร่างจากความเป็นไข้ ท่านต้องทำความเพียรด้วยความกล้าหาญอย่างนั้น ไม่ใช่จะเป็นคนที่จะทำให้จิตใจของตนหดหู่อยู่ กลัวทุกข์เท่าใดเราก็ยิ่งได้ทุกข์ เราจะต้องผ่านอุปสรรคเหล่านี้ เอาชีวิต คือเอาความตายของเรานี้ไว้ข้างหลัง เราต้องกล้าเหนือความตายไปอีก เราจึงจะได้พบคุณธรรม

ภาษาเก่าท่านว่า “ใจกล้าจึงได้ขี่ช้างงา” ถ้าใจไม่กล้า เราขี่ช้างงาไม่ได้ เพราะช้างงามันจะต้องมีพยศร้ายของมันอยู่ คนขี่คอมัน หรือควาญช้าง ต้องเป็นคนที่เข้มแข็ง ต้องเป็นคนที่กล้าหาญ ชนะใจช้างที่มันมีพยศได้ ฉันใดก็ดี กิเลสของเรามันมีพยศร้ายอยู่แล้ว ฉะนั้นเราจะต้องเข้มแข็งในการประพฤติปฏิบัติ เราจึงเอาชนะต่อความชั่ว ต่อกิเลสของเราได้ นี่แหละการดำเนินข้อปฏิบัติของพวกเรา จงพยายามทำจิตใจให้มีความสามารถอาจหาญดังกล่าวแล้ว

ฉะนั้น ในการอธิบายธรรมะในวันนี้ จึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้



++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++