PDA

แสดงเวอร์ชันเต็ม : คุณการฝึกฝนจิตใจ พระอาจารย์วัน อุตฺตโม



**wan**
11-05-2008, 05:37 PM
http://www.fungdham.com/images/monk-pic/wan/03.jpg

คุณการฝึกฝนจิตใจ

พระอาจารย์วัน อุตฺตโม
(๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๒)

โพสท์ในลานธรรมเสวนา กระทู้ที่ 005584 - โดย : คนคนนึง [ 25 มิ.ย. 2545]

คนเราที่จะดีจะชั่วก็เนื่องไปจากจิตใจ ความชั่วดีทั้งหลายมันเกิดมาจากใจ จึงว่าใจเป็นหัวหน้า ใจเป็นประธาน สำเร็จด้วยใจจะประเสริฐก็ด้วยใจ คนที่จะชั่ว ก็คือว่าชั่วไปจากจิตใจ ถ้าจิตชั่วแล้วความชั่วนั้นจะออกมาเป็นรูปร่างหน้าตาของมันทางวาจาและทางกาย กายก็จะทำชั่ว วาจาก็จะพูดชั่ว เพราะจิตใจมันชั่วแล้ว

พระพุทธเจ้าจึงสอนให้ชำระจิต ให้จิตผ่องใสสะอาด จึงว่า สจิตฺตปริโยทปานํ ทำจิตของตนให้ผ่องใส ให้มันสะอาดเสียก่อนคือใจใส เหมือนกันกับน้ำ ต้องให้เป็นน้ำที่ใส จึงสมควรแก่การบริโภคใช้สอย ถ้าน้ำขุ่น บริโภคก็ไม่ดี ใช้สอยก็ไม่ดี หรือน้ำที่เจือปนอย่างอื่นไป ถึงจะเป็นน้ำแต่มันก็ไม่สำเร็จประโยชน์ในการดื่มการใช้

อย่างบางแห่งน้ำมี แต่มันใช้ไม่ได้ ถึงจะมีก็ใช้ไม่ได้ อย่างน้ำทะเล เอามาอาบก็ไม่สำเร็จประโยชน์ จะเอามาดื่มก็ไม่ได้ นอกจากว่าจะเอาไปทำเกลือหรือเป็นที่เลี้ยงปลาทะเลเท่านั้น แต่มันใช้ประโยชน์ไม่ได้เพราะมันเจือปน จิตของเราที่ไม่สะอาด ไม่ผ่องใส ก็คือมีกิเลสเป็นเครื่องเจือปน ทำให้น้ำจิตน้ำใจของเราเป็นไปตามอำนาจของกิเลส

เราจึงหาทางชำระจิตให้ผ่องใสขึ้นมา จึงมีการให้ทาน รักษาศีล ภาวนา ทานเป็นการชำระจิตออกจากความเศร้าหมองเพราะความโลภ ตัณหาที่มันเกิดขึ้น หรือความตระหนี่เหนียวแน่นที่มันอยู่ในจิตก็คือลักษณะของความโลภนั่นเอง ที่มันทำให้ปรารถนาอยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ในทางที่ผิด คนที่ทำได้มาก โดยการทำนั้นเป็นไปในทางสุจริตไม่ถือว่าเป็นความโลภ

แต่ถ้าได้มามีความตระหนี่เหนียวแน่น ถึงจะได้มาในทางที่ชอบก็จริงอยู่ แต่มาเกิดความตระหนี่ขึ้นมาภายหลัง ไม่อยากจับจ่ายใช้สอยไม่อยากสงเคราะห์เกื้อกูลคนอื่น ไม่มีการแบ่งปัน ถ้าอย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นความโลภ เพราะมันออกมาในแง่ของมัจฉริยะความตระหนี่ ถ้าคนที่ไม่โลภก็แสวงหาในทางซื่อสัตย์สุจริต ได้มาในทางที่ชอบ ไม่ได้ฉ้อโกง ไม่ได้ลักขโมย ไม่ได้กดขี่ข่มเหงขูดรีดจากคนอื่นแต่ประการใด

เมื่อได้มาแล้วก็คิดเห็นว่า ชีวิตของเราก็ต้องอาศัยการเลี้ยงดูบำรุงรักษา รู้จักการจับจ่ายใช้สอยบำรุงความสะดวกสบายแก่ตน และรู้จักเกื้อกูล ช่วยเหลือคนอื่นตามสมควรที่จะเป็นไปได้ เมื่อมีอย่างนี้ก็ไม่เรียกว่าเป็นคนโลภ เราจะไปถือว่าเขามีมากเขาโลภก็ไม่ถูกเสมอไป เพราะเขามีมากเขาก็ขยันหา เขาได้มาในทางสุจริต แล้วเขาก็ไม่ได้เก็บไว้เฉยๆ เขาก็ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ จะเป็นสาธารณประโยชน์หรือบำรุงรักษาพระพุทธศาสนา

ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นในเวลาที่เขาประสบภัยเกิดภัยอันตรายขึ้นมา น้ำท่วม ลมพัดเสียหาย ไฟไหม้หรือในคราวที่แห้งแล้ง เกิดความอดอยากขึ้นมา ก็เผื่อแผ่เจือจุนคนอื่นไปตามสมควรที่จะเป็นไปได้ ผู้เป็นอย่างนี้จะไปจัดว่าเป็นคนโลภก็ไม่ถูก เพราะเป็นสง่าราศี เป็นเครื่องบำรุงรักษาประเทศชาติบ้านเมือง ทำให้บ้านเมืองมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีขึ้นมา ก็เนื่องจากคนมั่งมี

อย่างสมัยก่อน เมืองสาวัตถีมีแต่เศรษฐีเล็กๆน้อยๆ พระเจ้าปัสเสนทิโกศลก็ถึงกับต้องไปขอเศรษฐีจากเมืองราชคฤห์มา พระเจ้าพิมพิสารก็เลยอนุญาตให้ธนญชัยเศรษฐีมาตามความต้องการของพระราชาเมืองสาวัตถี ธนญชัยจึงได้มาสร้างเมืองขึ้น เรียกว่า เมืองสาเกตุธนญชัยนี้เป็นบิดาของนางวิสาขาอุบาสิกา

ตระกูลนี้เป็นมหาเศรษฐี ตั้งแต่เมณฑกเศรษฐี เป็นคนร่ำรวยเป็นคนมีบุญ มีรูปสัตว์สามอย่างคือ ช้าง ม้า แพะ เมื่อต้องการทรัพย์สมบัติจะต้องไปเปิดปากของรูปสัตว์นี้แล้วก็เอาภาชนะไปรับเอา แล้วรัตนะทั้งหลายนั้นจะไหลออกมา เศรษฐีคนนี้ไม่ต้องทำมาค้าขายเท่าใดนักเขาก็มีทุนเพราะเกิดมาจากบุญ ฉะนั้น เมื่อเวลาที่แต่งงาน นางวิสาขาเศรษฐีผู้เป็นปู่ คือเมณฑกะก็ได้ไปสั่งให้ช่างเขาทำเครื่องประดับให้หลานสาวนางวิสาขา

การแต่งงานจึงต้องรออยู่ถึงสามเดือน เพราะเครื่องประดับไม่เสร็จ เมื่อเสร็จเรียบร้อยช่างเขาก็ตีราคาเครื่องประดับนั้นเก้าโกฏิเครื่องประดับนี้หนัก จะใส่ได้ก็แต่คนที่มีบุญมีกำลัง สมัยพุทธกาลมีผู้หญิงห้าคนเท่านั้นที่ใส่เครื่องประดับนี้ได้ นางวิสาขาจึงเป็นคนที่มีกำลังมากเพราะได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันตั้งแต่อายุได้ ๗ ขวบแล้ว

เมื่อแต่งงานแล้วก็ไปสู่ตระกูลสามี ตระกูลของสามีเป็นมิจฉาทิฏฐิ นับถือพวกเดียรถีย์นิครนถ์ที่ไม่นุ่งผ้า เลยเกิดการขัดแข้งกันกับพ่อสามีอยู่เสมอ ในเรื่องการนับถือศาสนาคนละอย่าง แล้วก็เลยมาแข่งกันว่า ในวันพรุ่งนี้ให้นิมนต์อาจารย์ของใครของมัน โดยแต่งขันนิมนต์อยู่ที่บ้าน ไม่ต้องไปนิมนต์ด้วยตนเอง ถ้าอาจารย์ฝ่ายไหนมาก็ชื่อว่ารู้มีญาณเครื่องรู้

พอรุ่งเช้า พระพุทธเจ้ากับพระสงฆ์ก็เสด็จไปรับฉันจังหันที่บ้านของนางวิสาขา ส่วนพวกพ่อสามีผู้นับถือพวกเดียรถีย์ไม่มีใครมาสักคนแต่ทีนี้พวกเดียรถีย์เขารู้เข้า เขาก็มาควบคุมพ่อสามีของนางวิสาขานั่นอีก เวลาฉันจังหันแล้วท่านอนุโมทนาคือ แสดงธรรม พวกเดียรถีย์เขาก็ไปกั้นม่านไว้ นางวิสาขาให้คนไปเชิญพ่อสามีมาไหว้พระพุทธเจ้าเดียรถีย์เขาไม่ให้มา มาฟังอนุโมทนากถา เขาก็ไม่ให้มา แต่ว่าทนไม่ได้เขาก็ให้มาอยู่นอกม่าน ไม่ให้ได้พบหน้าพระพุทธเจ้า

ด้วยธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า ถึงจะไปอยู่ในที่กำบังสักเท่าใดก็ตาม พระองค์ก็สามารถให้เสียงของพระองค์ลอดเข้าไปให้ผู้ฟังนั้นได้ยินชัดเจนได้ ในที่สุดเศรษฐีผู้เป็นพ่อสามีของนางวิสาขานั้นก็เลยได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน แล้วก็ลอดม่านเข้าไปกราบพระพุทธเจ้าเสร็จแล้วก็มาหานางวิสาขา มาดูดนมของนางวิสาขาอีก

ถ้าคนไม่รู้เรื่องก็จะเอะอะกันใหญ่ แต่นางวิสาขารู้ เพราะนางเป็นผู้มีปัญญา การดูดนมนั้นหมายถึงว่า ที่จะได้เป็นถึงพระอริยเจ้าเป็นพระโสดาบันนั้นก็เนื่องจากลูกสะใภ้ เศรษฐีนี้จึงถือลูกสะใภ้เป็นแม่ที่ดูดนมก็แสดงว่าขอเป็นลูก ยอมตนเป็นลูก ดังนั้น เมื่อพ่อสามียอมตนเป็นลูกแล้ว นางวิสาขาจึงมีชื่อต่อเติมต่อภายหลังว่า วิสาขามิคารมารดาเป็นมารดาของมิคารเศรษฐีผู้เป็นพ่อสามีโดยถือคุณธรรม เป็นแม่โดยคุณธรรม




+++++ ต่อหน้า 2 +++++

**wan**
11-05-2008, 05:38 PM
คุณการฝึกฝนจิตใจ 2
พระอาจารย์วัน อุตฺตโม
(๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๒)

นี่แหละ จึงว่าบ้านเมืองก็ต้องอาศัยคนมีสำหรับเป็นสิริ เรียกว่าเป็นเกียรติของบ้านของเมือง ฉะนั้นในสิ่งที่หามาได้ในทางที่ชอบจึงไม่จัดว่าเป็นความโลภ คนได้มาแล้วมีความตระหนี่ก็จัดเป็นความโลภขึ้นมาอีก การให้ทานจึงเป็นการชำระความโลภให้จิตใจผ่องใส

การรักษาศีลก็เป็นการป้องกันมิให้ความโกรธทะลุออกไป คนเรารักษาศีลไม่ดี ความโกรธมันอาจจะเลยเขตเลยรั้วเลยกำแพงออกไปไปโกรธคนอื่น ไปด่าคนอื่น ไปว่าให้คนอื่นเสียๆหายๆ นี่เรียกว่า มันเลยเขตเลยศีลออกไป แต่ศีลโดยเฉพาะแล้ว ถ้าเรารักษาให้ดีก็จะเป็นการป้องกันความโกรธไว้ เหมือนกันกับกรงที่ขังเสือไว้ ไม่ให้เสือมันออกไปทำอันตรายคน ศีลก็เป็นเครื่องกั้น

ท่านจึงเรียกว่า สีลปการํ ศีลเป็นกำแพงเป็นรั้วสำหรับกั้นความโกรธไว้ แต่ความโกรธมันก็ยังอยู่ ต้องอาศัยการภาวนา เจริญเมตตากรุณาชำระมัน จึงจะอ่อนกำลังลงไป ถ้าเราไม่เจริญเมตตาอยู่เนืองนิตย์ ไม่มีนิสัยของจิต เพียงแต่การรักษาศีลก็เท่ากับขังเสือไว้ อันเสือขังไว้นานเท่าใดมันก็เป็นเสืออยู่อย่างนั้น มันไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นสัตว์อื่นเลย

เมื่อเราต้องการอยากจะให้จิตของเราบริสุทธิ์จากความโกรธก็ต้องเจริญเมตตากรุณา เมตตาคือความปรารถนาความดี ความสุขให้แก่คนอื่น กรุณาคือความสงสารเอ็นดูช่วยเหลือเกื้อกูลคนอื่น นี้จึงจะเป็นการชำระความโกรธที่มีอยู่ในจิตได้

ทีนี้เราก็ภาวนา ภาวนาเราต้องใช้ปัญญาควบคุมจิตใจของเราให้มีจิตได้ทบทวนตรวจค้นความรู้สึกสำนึกในจิตของเราอยู่เสมอ ไม่ให้มันล่วงเลยไปตามอารมณ์ คือไม่ตามใจ โดยมากคนเราไม่มีภาวนาก็คือตามอารมณ์ คิดตามอารมณ์ พูดตามอารมณ์ ทำตามอารมณ์ แล้วแต่อารมณ์เป็น

การภาวนาจึงเป็นการควบคุมไม่ให้จิตของเราตามอารมณ์ เหมือนกันกับสำลีหรือนุ่นที่เป็นของเบา ก็ต้องมีอะไรครอบไว้รักษาไว้ ลมพัดมามันจึงจะไม่ไปตามลม จิตของเราก็เหมือนกัน เราก็ต้องควบคุมด้วยการภาวนา ตรวจค้นจิตของเรา จึงเรียกว่า โอปนยิโก น้อมเข้ามาในตน ทบทวนเข้ามาหาจิตของเรา ความรู้สึกนึกตรวจค้นอยู่เสมอทบทวนจิตของเราให้รู้ผิดรู้ถูก รู้ดีรู้ชั่วของจิต

ต้องค้นต้องคิดในสิ่งที่มันคิด ในสิ่งที่มันหลง ในสิ่งที่มันเมา ต้องค้นมัน เมาในรูปร่างกายของเรา ก็มาพิจารณาในรูปร่างกายให้รู้ให้เห็นว่ารูปร่างกายมีสภาพอย่างนี้ๆ แต่ละชิ้นแต่ละอย่างมันเป็นอย่างนี้ๆ ตรวจค้นไปให้รู้หมดทุกชิ้นทุกอย่างในอาการ ๓๒ ตรวจดูค้นดู ตั้งแต่ ผม ขนเล็บ ฟัน หนัง ไปโดยลำดับจนถึงอวัยวะภายใน คือจะแยกส่วนออกไปเป็นเส้นเป็นเอ็น เป็นเลือด เป็นเนื้อ เป็นกระดูก เป็นน้ำดี น้ำเสลดน้ำเหลือง น้ำหนอง

อะไรทุกสิ่งทุกอย่าง เราต้องตรวจค้นไป สภาพทั้งหลายนี้ มันเป็นสิ่งที่น่ามัวเมา น่าลุ่มหลงอย่างที่เราคิดไหม ตามสมมตินิยมของโลกเขาว่าคนสวยสดงดงาม อันนี้ก็อยู่ที่รูปพรรณสัณฐานสีสันวรรณะเท่านั้นไอ้ทรวดทรงมันก็เป็นเรื่องของทรวดทรง สีสันวรรณะมันก็เป็นเรื่องของสีสันวรรณะเท่านั้น มันไม่ได้บอกตัวของมันว่ามันสวยมันงามแต่ประการใด

แต่เราก็ไปหลงตามเรื่องของเราเท่านั้น มันเป็นสภาพของรูปร่างกายสภาพหนึ่ง แต่เราไปเมา เราไปหลงก็เนื่องจากเราไม่รู้ไม่เห็นจริงในสิ่งเหล่านี้ ถ้าจะอุปมาแล้วก็เหมือนเราเอาผ้าที่มีลวดลายที่สวยงามไปห่อศพนั่นเอง ห่อเข้าแล้วดูข้างนอกมันก็สวยก็งามแต่ว่าข้างในมันเป็นศพ เป็นของโสโครกสกปรกเท่านั้น

ไอ้ตัวของเราก็มีหนังหุ้มห่อเท่านั้น หนังนี้มันก็มีสีสันวรรณะ เราก็ว่าสวย ว่างาม ถ้าเราเอาหนังออก มันจะเป็นอย่างไร ก็ต้องรู้เข้าไปในหนังมีอะไร สีมันจะเป็นอย่างไร จากหนังมันก็มีพังผืด จากพังผืดเข้าไป มันจะเป็นเนื้อ เนื้อนี้จะอุปมาแล้วก็เหมือนเราฉาบปูนลงไปกระดูกก็เท่ากับโครงเหล็ก เอ็นก็เท่ากับว่าลวดสำหรับผูกมัดรัดตรึงเหล็กไว้ แล้วก็ยึดส่วนที่เราฉาบเข้าไปเท่านั้น ข้างนอกก็เท่ากับว่าผิวปูนหรือเท่ากับสิ่งที่เราทาลงไป มันก็อยู่แค่นั้น

เมื่อเราพิจารณาตรวจค้นลงไป เราก็จะรู้สึกสภาพของรูปร่างกายอันนี้ แล้วเราก็จะไม่ได้หลง ไม่ได้เมา ความหลงของเราก็จะบรรเทาลงไป จิตของเราก็จะผ่องใสขึ้นมา เมื่อจิตผ่องใสแล้ว เราก็พอมองเห็นดีชั่ว บาปบุญ คุณโทษ ประโยชน์และสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ได้ เพราะเรามองเห็น คนมองไม่เห็นก็เรียกว่าดำมืด งมอยู่ในที่มืดก็ไม่ทราบอะไรเป็นอะไร บอกก็บอกในที่มืด มันก็ไม่ตรงความเป็นจริง

ความมืดของจิตที่มันมีกิเลสหุ้มห่อมันก็เช่นเดียวกัน ถ้ากิเลสของเราไม่เบาบางลงไป จิตใจเราไม่ผ่องใส ก็เท่ากับว่าจิตของเรามันมืดท่านจึงว่าจิตมืดจิตบอดไม่สามารถจะมองรู้มองเห็น มีหูก็เท่ากับหูหนวกมีตาก็เท่ากับตาบอด เพราะเราไม่รู้จริงไม่เห็นจริง ของจริงมีอยู่แต่เราไม่เห็น จึงสมควรที่เราจะชำระจิตของเราให้สะอาดให้ผ่องใสขึ้นมา เราจึงจะรับเอาธรรมะของพระพุทธเจ้านี้ไปปฏิบัติได้ ฟังก็รู้เรื่อง หยั่งรู้ได้ เข้าใจได้

ถ้าจิตมันยังมืด ยังมัวอยู่ ยังเศร้าหมองอยู่ เราก็ไม่เข้าใจฟังก็ไม่เข้าใจ เห็นก็ไม่เข้าใจ ไปตามเรื่องของเรา ไอ้ทิฐิมานะอันนี้มันจะไม่ลดละ มันยังเห็นอยู่ตามเดิม เห็นลงไปอย่างนั้น มันก็ต้องเห็นอยู่อย่างนั้น ดื้อรั้นในทิฐิความเห็นของตนอยู่ตลอดเวลา ไม่ยอมละความผิดความชั่วที่มีอยู่ในตัวลงไปได้ นิสัยที่ไม่ดีก็เป็นอยู่อย่างนั้น เพราะไม่รู้ในธรรมะของพระพุทธเจ้า นี่แหละ เราจะต้องชำระจิตของเราให้บริสุทธิ์ ให้สะอาดผ่องใสขึ้นมา

เรียกว่าเราได้ลืมตาเห็นโลก มองโลกให้รู้ ให้เห็นพระพุทธเจ้าผู้รู้ จึงเรียกว่า "โลกวิทู" รู้แจ้งโลก ก็รู้อย่างนี้แหละ เห็นของจริงในโลก ไอ้เราไม่รู้โลกและหลงโลก เพราะจิตของเรายังไม่ได้หยั่งรู้ ยังไม่ได้ลืมตา ยังหลับอยู่ในกิเลสนั่นเอง การปฏิบัติธรรม จึงเป็นการที่ทำให้จิตของเราตื่นจากหลับ จึงว่า "พุทโธ" ผู้ตื่น ไม่หลับ คือรู้อยู่ รู้สึก อยู่เสมอ

คนเราต้องรู้สึกตัว เมื่อไม่รู้สึกก็เป็นคนที่ลืมตัว ทุกสิ่งทุกอย่างเราก็ลืมเจ้าของ เพราะฉะนั้นความพินาศฉิบหายต่างๆ จึงได้เกิดขึ้นแก่ตัวของเรา ก็เราไม่มีความคิดเฉลียวอะไรทุกสิ่งทุกอย่าง คือไม่มีความระแวง ความระวังไม่มี ความเผลอตัวมันก็เกิดขึ้น ความลืมตัวมันก็เกิดขึ้น ก็เลยเป็นคนที่เกิดความเสียหายได้ เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงสอนให้เราอยู่ในความไม่ประมาท เป็นผู้ตื่นตัว รู้สึกตัวอยู่เสมอ มีความคิดระแวง ระวังตัวของเราอยู่ทุกวิถีทาง แล้วเราก็จะเป็นไปเพื่อความเจริญได้

นี่แหละ การอธิบายธรรมะในวันนี้ จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้



+++++ จบ +++++