PDA

แสดงเวอร์ชันเต็ม : บ้านที่แท้จริง พระโพธิญาณเถระ(ชา สุภัทโท)



**wan**
10-27-2008, 10:24 AM
http://buddhism.hum.ku.ac.th/Buddhism/Ajahn_Chah/clipart/00FcSitStick.jpg

บ้านที่แท้จริง

พระโพธิญาณเถระ(ชา สุภัทโท)
วัดหนองป่าพง อำเภอ วารินชำราบ
จังหวัด อุบลราชธานี

ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับ สถานที่ ผู้ฟัง และวันที่บรรยาย
http://www.geocities.com/Tokyo/Ginza/9697/ajarn_cha2.html

บัดนี้ขอให้โยมยายจงตั้งใจฟังธรรมะ ซึ่งเป็นโอวาทขององศ์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยเคารพต่อไป

ให้โยมตั้งใจว่า ในเวลานี้ ปัจจุบันนี้ ซึ่งอาตมาจะได้ให้ธรรมะให้โยมตั้งใจเสมือนว่า พระพุทธเจ้าของเรานั้นตั้งอยู่ในที่เฉพาะหน้าของโยม จงตั้งใจให้ดี กำหนดจิตให้เป็นหนึ่งหลับตาให้สบาย น้อมเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มาไว้ที่ใจ เพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

บัดนี้อาตมาไม่มีอะไรฝากโยมด้วยสิ่งของที่จะเป็นแก่นเป็นสาร นอกจากธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้น และเป็นของฝากที่เป็นชิ้นสุดท้าย ขอให้โยมจงตั้งใจรับ ให้โยมทำความเข้าใจว่า พระพุทธเจ้าของเรานั้น ถึงแม้จะเป็นผู้มีบุญวาสนาบารมีมาก ก็จะหลีกหนีความทุพพลภาพไปไม่ได้ อายุถึงวัยนี้แล้วพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราท่านก็ปลง ปลงอายุสังขาร คำว่าปลงนี้ ก็คือว่าให้ปล่อยวาง อย่าไปหอบไว้ อย่าไปหิ้วไว้ อย่าไปแบกไว้ ให้โยมยอมรับเสียว่า สังขารร่างกายนี้ ถึงแม้ว่ามันจะเป็นอย่างไร ๆ ก็ตามมันเถอะ เราก็ได้อาศัยสกลร่างกานนี้มาตั้งแต่เกิดขึ้น จนถึงวัยเฒ่าแก่ป่านนี้ ก็พอแล้ว

ก็เปรียบประหนึ่งว่า เครื่องใช้ไม้สอยขอเราต่าง ๆ ที่อยู่ในบ้านซึ่งเราเก็บกำไว้นานแล้ว เช่น ถ้วยโถโอจาน บ้านช่องของเรานี้ เบื้องแรกมันก็สดใสใหม่สะอาดดี เมื่อเราใช้มันมาจนบัดนี้มันก็ทรุดโทรมไป บางวัตถุก็แตกไปบ้างหายไปบ้าง ชิ้นที่มันเหลืออยู่นี้ก็แปรไป เปลี่ยนไป ไม่คงที่ มันก็เป็นอย่างนั้น

ถึงแม้ว่าอวัยวะร่างกายของเรานี้ก็เหมือนกัน ตั้งแต่เริ่มเกิดมาเป็นเด็กเป็นหนุ่มมันก็แปรมา เปลี่ยนมา เรื่อย ๆ มาจนบัดนี้แล้วก็เรียกว่า "แก่" นี้คือให้เรายอมรับเสีย พระพุทธองค์ท่านตรัสว่า สังขารนี้ไม่ใช่ตัวขอเรา ทั้งในตัวเรานี้ก็ดี กายเรานี้ก็ดี นอกกายนี้ก็ดี มันเปลี่ยนไปอยู่อย่างนั้น ให้โยมพินิจพิจารณาดูให้มันชัดเจน

อันนี้แหละ ทั้งก้อนที่เรานั่งอยู่นี้ ที่เรานอนอยู่นี้ ที่มันกำลังทรุดโทรมอยู่นี้ นี้แหละมันคือสัจจธรรม สัจจธรรมคือความจริง ความจริงอันนี้เป็นสัจจธรรม เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าที่แน่นอน เพราะฉะนั้นท่านจึงให้มองมัน ให้พิจารณามัน ให้ยอมรับมันเสีย มันก็เป็นสิ่งที่ควรจะยอมรับ ถึงแม้ว่ามันจะเป็นอย่างไร อะไร ก็ตามทีเถอะ พระพุทธองค์ท่านก็สอนว่า เมื่อเราถูกคุมขังในตะรางก็ดี ก็ให้ถูกคุมขังเฉพาะกายอันนี้เท่านั้น แต่ใจอย่าให้ถูกขัง อันนี้ก็เหมือนกันฉันนั้น เมื่อร่างกายมันทรุดโทรมไปตามวัย โยมก็ยอมรับเสียให้มันทรุดไป ให้มันโทรไป เฉพาะร่างกายเท่านั้น เรื่องจิตใจนั้นเป็นคนละอย่างกัน ก็ทำจิตให้มีกำลัง ให้มีพลัง เพราะเราเข้าไปเห็นธรรมว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นมันก็เป็นอย่างนั้น มันต้องเป็นอย่างนั้น พระพุทธองค์ท่านก็สอนว่า ร่างกายจิตใจนี้มันเป็นอยู่อย่างนั้น มันจะเป็นของมันอยู่อย่างนั้น มันจะไม่เป็นอย่างอื่น คือเริ่มเกิดขึ้นมาแล้วก็แก่ แก่มาแล้วก็เจ็บ เจ็บมาแล้วก็ตาย อันนี้เป็นความจริงเหลือเกิน ซึ่งคุณยายก็พบอยู่ในปัจจุบันนี้ มันก็เป็นสัจจธรรมอยู่แล้ว ก็มองดูมันด้วยปัญญา ให้เห็นมันเสียเท่านั้น

ถึงแม้ว่าไฟมันนะมาไหม้บ้านของเราก็ตาม ถึงแม้ว่าน้ำมันจะท่วมบ้านของเราก็ตาม ถึงแม้ว่าภัยอะไรต่าง ๆ มันจะมาเป็นอันตรายต่อบ้านต่อเรือนของเราก็ตาม ก็ให้มันเป็นเฉพาะบ้าน เฉพาะเรือน ถ้าไฟมันไหม้ก็อย่าให้มันไหม้หัวใจเรา ถ้าน้ำมันท่วมก็อย่าให้มันท่วมหัวใจเรา ให้มันท่วมแต่บ้าน ให้มันไหม้แต่บ้าน ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่นอกกายของเรา ส่วนจิตใจของเรานั้น ให้มันมีการปล่อยวาง เพราะในเวลานี้มันก็สมควรแล้ว มันสมควรที่จะปล่อยแล้ว

ที่โยมเกิดมานี้ก็นานแล้วใช่ไหม ตาก็ได้ดูรูปสีแสงต่าง ๆ ตลอดหมดแล้วทิ้งอวัยวะทุกชิ้นทุกส่วน หูก็ได้ฟังเสียงอระไรทุก ๆ อย่างหมดแล้ว อะไรทุกอย่างก็ได้รับมามาก ๆ ทั้งนั้นแหละและมันก็เท่านั้นแหละจะรับประทานอาหารที่อร่อย อร่อยมันก็เท่านั้น รับประทานสิ่งที่ไม่อร่อยมันก็เท่านั้น ตาจะดูรูปสวย สวยมันก็เท่านั้น หรือดูรูปที่ไม่สวยมันก็เท่านั้น หูได้ยินเสียงที่ไพเราะ ไพเราะจับอกจับใจมันก็เท่านั้นจะได้ฟังเสียงที่ไม่ไพเราะมันก็เท่านั้นแหละ

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงบอกว่า ทั้งคนร่ำรวย ทั้งคนยากจน ทั้งผู้ใหญ่ทั้งเด็ก ตลอดทั้งเดียรัจฉานทั้งหมดด้วย ซึ่งเกิดขึ้นมาในสกลโลกอันนี้ มันไม่มีอะไรจะยั่งยืน จะต้องผลัดไป เปลี่ยนไปตามสภาวะของมัน อันนี้เป็นสภาวะความจริงที่เราจะแก้ไขอย่างไร ๆ เพื่อจะให้มันไม่เป็นอย่างนั้นไม่ได้ แต่ก็มีทางแก้ไขอยู่ว่า พระพุทธองค์ท่านให้พิจารณาสังขาร ร่างกายนี้ที่เดียวเท่านั้น ให้พิจารณาจิตใจ นี้ด้วย ว่าทั้งสองอย่างนี้มันไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา มันเป็นของสมมติ เช่นว่า บ้ายของคุณยานนี้เป็นของสมมติว่าเป็นของคุณยายเท่านั้น จะเอาติดตาไปที่ไหนก็ไม่ได้ สมบัติพัสถานมันสมมติว่าเป็นของคุณยายเท่านั้น มันก็ตั้งอยู่เท่านั้น จะเอาไปที่ไหนก็ไม่ได้ ลูกหลานบุตรธิดาทั้งหลายทั้งปวงนั้นเขาสมมติว่าเป็นลูกเป็นหลานของคุณยาย มันก็เรื่องสมมติทั้งนั้น มันก็เป็นอยู่อย่างนั้นแหละ ไม่ใช่ว่าเป็นเราคนเดียว มันเป็นกันทั้งโลก ถึงแม้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านก็เป็นอย่างนี้ พระอรหันต์สาวกทั้งปวงท่านก็เป็นอย่างนี้ แต่ท่านแปลกกว่าพวกเราทั้งหลาย แปลกอย่างไร คือ ท่านยอมรับ ยอมรับว่าสกลร่างกายนี้มันเป็นของมันอยู่อย่างนี้ จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้มันจะต้องเป็นอย่างนี้

ดังนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงให้พิจารณาดูสกลร่างกายตั้งแต่ปลายเท้าขึ้นมาบนศีรษะ ตั้งแต่ศีรษะลงไปหาปลายเท้าดูซิว่ามันมีอะไรบ้าง อะไรเป็นของสะอาดไหม เป็นของเป็นแก่นสารไหม นับว่าแต่มันจะทรุดโทรมเรื่อยมาอย่างนี้ ฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงสอนให้เห็นสังขารว่า ของไม่ใช่ของเรา มันก็เป็นอย่างนี้ ของไม่ใช่ของเรามันก็เป็นอย่างนี้ จะให้มันเป็นอย่างไรล่ะ อันนี้มันถูกแล้ว ถ้าโยมมีความทุกข์ โยมก็คิดผิดเท่านั้นแหละ ไปเห็นสิ่งที่มันถูกอยู่โดยความเห็นผิดมันก็ขวางใจเท่านั้น

เหมือนน้ำในแม่น้ำที่มันไหลลงไปในทางที่ลุ่ม มันก็ไหลไปตามสภาพอย่างนั้น อย่างแม่น้ำอยุธยา แม่น้ำมูล แม่น้ำอะไร ๆ ก็ตามเถอะมันก็ต้องมีการไหลวนไปทางใต้ทั้งนั้นแหละ มันไม่ไหลขึ้นไปทางเหนือหรอก ธรรมดามันเป็นอย่างนั้น สมมติว่าบุรุษคนหนึ่งไปยืนอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ แล้วก็มองดูกระแสของแม่น้ำที่ไหลเชี่ยวไปทางใต้ แต่บุรุษนั้นมีความคิดผิด อยากจะให้น้ำนั้นมันไหลขึ้นไปทางเหนือ อย่างนี้เป็นต้น เขาก็เป็นทุกข์ เขาคนนั้นจะไม่มีความสงบสุขเลย ถึงแม้จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน เขาก็ไม่มีความสงบ เพราะอะไรล่ะ เพราะบุรุษนั้นคิดผิด คิดทวนกระแสน้ำ คิดอยากจะไปให้น้ำไหลขึ้นไปทางเหนือ ความจริงนั้นน้ำมันจะไหลขึ้นไปทางเหนือนั้นไม่ได้ มันจะต้องไหลไปตามกระแสของมันเป็นธรรมดาอยู่อย่างนั้น เมื่อมันเป็นอย่างนี้บุรุษนั้นก็ไม่สบายใจ ทำไมถึงไม่สบายใจ ก็เพาะบุรุษนั้นคิดไม่ถูก พิจารณาไม่ถูก ดำริไม่ถูก เพราะเขามีความความเห็นผิดเป็นมิจฉาทิฐิ ถ้าเป็นสัมมาทิฐิแล้วก็ต้องเห็นว่า น้ำก็ต้องไหลไปตามกระแสของมัน คือไหลไปทางใต้ ที่จะไหนไปทางเหนือนั้นมันเป็นความเห็นผิด มันก็มีความกระทบกระทั่งตะขิดตะขวงใจอยู่อย่างนั้น จนกว่าบุรุษคนนั้นจะมาพิจารณาคิดกลับเห็นว่า น้ำธรรทดามันก็ต้องไหลไปทางใต้อย่างนี้ เป็นเรื่องของมันอย่างนี้

อันนี้เป็นสัจจธรรมอย่างหนึ่งซึ่งเราจะเอามาพิจารณาว่า เออ..อันนี้มันก็เป็นความจริงอย่างนั้น แม่น้ำที่มันไหลไปทิศใต้มันก็เหมือนชีวิตร่างกายของยายอยู่เดี๋ยวนี้แหละ เมื่อมันหนุ่มแล้วมันก็แก่ เมื่อมันแก่แล้วก็วนไปตามเรื่องของมัน อันนี้เป็นสัจจธรรม อย่าไปคอดว่าไม่อยากให้มันเป็นอย่างนั้น อย่าไปคิดอย่างนั้น เรื่องอันนี้ไม่ใช่ว่าเราจะมีอำนาจไปแก้ไขมัน พระพุทธเจ้าท่านให้มองตามรูปมัน มองตามรูปของมัน เห็นตามสภาพของมันเสียว่ามันเป็นอย่างนั้นเท่านั้น เราก็ปล่อยมันเสียเราก็วางเสีย เอาความรู้สึกนี้เองเป็นที่พึ่ง ให้ภาวนาว่า พุทโธ พุทโธ ถึงแม่ว่าจะเหน็ดเหนื่อยก็ตามเถอะ ให้โยมทำจิตให้อยู่กับลมหายใจ หายใจออกยาว ๆ สูดลมเข้ามายาว ๆ หายใจออกไปยาว ๆ แล้วก็ตั้งจิตขึ้นใหม่ แล้วก็กำหนดลมว่า พุทโธ พุทโธ โดยปกติถึงแม้ว่ามันจะเหนื่อยมากเท่าไร ก็ยิ่งกำหนดลมเข้าให้ละเอียด ละเอียดเข้าไปมากเท่านั้นทุกครั้ง เพื่ออะไร เพื่อจะต่อสู้กับเวทนา เมื่อมันกำลังเหน็ดเหนื่อยก็ให้โยมหยุดความคิดทั้งหลาย ให้โยมหยุดคิดอะไร ๆ ทั้งปวงเสีย ให้เอาจิตมารวมอยู่ที่จิต แล้วเอาจิตให้รู้จักลมภาวนา พุทโธ พุทโธ ปล่อยวางข้างนอกให้หมด อย่าไปเกาะกับลูก อย่าไปเกาะกับหลาน อย่าไปเกาะกับสิ่งทั้งหลายทั้งปวงทั้งนั้นให้ปล่อย ให้เป็นอันเดียวรวมจิตลงที่อันเดียว ดูลม ให้กำหนดลมเอาจิตนั่นแหละไปรวมที่อยู่ที่ลม คือให้รู้ที่ลมในเวลานั้น ไม่ต้องไปรู้อะไรมากมายกำหนดให้จิตมันน้อยไป ๆ ละเอียดไป ๆ เรื่อย ๆ ไปจนกว่าจะมีความรู้สึกน้อย ๆ มันจะมีความตื่นอยู่ในใจมากที่สุด

อันนี้เวทนาที่มันเกิดขึ้นมันจะค่อย ๆ ระงับไป ๆ ผลที่สุดเราก็ดูลมเหมือนกับญาติมาเยี่ยมเรา เราก็จะตามไปส่งญาติขึ้นรถลงเรือ เราก็ตามไปถึงท่าเรือ ไปถึงรถเราก็ส่งญาติเราขึ้นรถ เราก็ส่งญาติเราลงเรือ เขาก็ติดเครื่องเรือเครื่องรถไปลิ่วเท่านั้นแหละ เราก็มองไปเถอะเมื่อญาติเราไปแล้ว เราก็กลับบ้านเรา เราดูลมก็เหมือนกันฉันนั้น เมื่อมันละเอียดไปเรื่อย ๆ เราก็มองไป ๆ ตามไป น้อมไป ๆ ทำจิตให้มันตื่นขึ้น ทำลมให้มันละเอียดเข้าไปเรื่อย ๆ ผลที่สุดแล้วลมหายใจมันน้อยลง ๆ ๆ จนกว่าลมหายใจไม่มี มันก็จะมีแต่ความรู้สึกเท่านั้นตื่นอยู่ นั้นเรียกว่าเราพบพระพุทธเจ้าแล้ว เรามีความรู้สึกตื่นอยู่ที่เรียกว่า พุทโธ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ถ้าเป็นเช่นนั้นเราได้อยู่กับพระพุทธเจ้าแล้ว เราได้พบพระพุทธเจ้าแล้ว เราพบความรู้แล้ว เราพบความสว่างแล้ว มันไม่ส่งจิตใจไปทางอื่นแล้ว มันจะรวมอยู่ที่นั้น

นั้นเรียกว่า เข้าถึงพระพุทธเจ้าของเรา ถึงแม้ว่าท่านปรินิพพานไปแล้ว นั่นเรียกว่าพระพุทธรูป เป็นรูปกาย มีรูปแต่พระพุทธเจ้าอย่างแท้จริงนั้นก็คือ ความรู้สึกอันสว่างไสว เบิกบานอย่างนี้ เมื่อพบเช่นนี้เราก็มีอันเดียวเท่านั้น ให้มากรวมที่นี้ฉะนั้นให้วาง วางทั้งหมดเหลือแต่ความรู้อันเดียว แต่อย่าไปหลงนะ อย่าให้ลืม ถ้าเกิดนิมิตเป็นรูปเป็นเสียงอะไรมาก็ให้ปล่อยวางทั้งหมด ไม่ต้องเอาอะไรทั้งนั้นแหละ ไม่ต้องเอาอะไรเอาแต่ความรู้สึกอันเดียวเท่านั้นแหละ ไม่ห่วงข้างหน้า ไม่ห่วงข้างหลัง หยุดอยู่กับที่ จนกว่าว่าเดินไปก็ไม่ใช่ ถอยกลับก็ไม่ใช่ หยุดอยู่ก็ไม่ใช่ ไม่มีที่ยึดไม่มีที่หมาย เพราะอะไร เพราะว่าไม่มีตัวตน ไม่มีเราและไม่มีของของเรา..หมอ

นี้คือคำสอนของพระพุทธเจ้า สอนให้เราหมดอย่างนี้ไม่ให้เราคว้าเอาอะไรไป ให้เรารู้อย่างนี้ รู้แล้วก็ปล่อย ก็วาง

บัดนี้มันเป็นภาระของเราคนเดียวเท่านั้น ให้เข้าถึงธรรมะอย่างนี้ อันนี้เป็นทางที่จะทำให้เราพ้นจากวัฏฏสงสาร พยายามปล่อยวางให้เข้าใจ ให้ตั้งอกตั้งใจพินิจพิจารณา อย่าไปห่วงคนโน้น อย่าไปห่วงคนนี้ ลูกก็ดี หลานก็ดี อะไรทั้งปวงเหล่านั้น อย่าไปห่วงเลย ที่เขายังเป็นอยู่ เขาก็เป็นอยู่ อนาคตต่อไปเขาก็จะเป็นอย่างนี้ เป็นอย่างคุณยายที่เป็นอยู่ ไม่มีใครที่จะเหลืออยู่ในโลกได้ จะต้องเป็นอย่างนี้ทั้งนั้น อันนี้คือสภาวะความเป็นจริงที่พระพุทธเจ้าสอน เพราะฉะนั้นของที่ไม่มีสาระแก่นสารจริง ๆ ท่านจึงให้วาง ถ้าวางแล้วก็เห็นความจริง ถ้าไม่วางมันก็ไม่เห็นความจริง มันเป็นอยู่อย่างนี้ ใครทั้งหมดในสกลโลกนี้มันก็เป็นอย่างนี้ ดังนั้น ยาย โยม ไม่ควรห่วงใยไม่ควรเกาะเกี่ยว

ถึงแม้มันจะคิดก็ให้มันคิด แต่ว่าคิดให้อยู่กับปัญญาให้คิดด้วยปัญญา อย่าคิดด้วยความโง่ นึกถึงลูกก็นึกถึงด้วยปัญญา อย่านึกถึงด้วยความโง่ นึกถึงหลานก็ให้นึกถึงด้วยปัญญา อย่าให้นึกถึงด้วยความโง่ อะไรอะไรทั้งหมดนั่นและเราก็คิดได้ เรารู้มันก็ได้ แต่เราคิดด้วยปัญญา เรารู้ด้วยปัญญา ถ้ารู้ด้วยปัญญาเราก็ต้องปล่อย รู้ด้วยปัญญาก็ต้องวาง ถ้ารู้ด้วยปัญญา คิดด้วยปัญญา มันจะไม่มีทุกข์ มันจะมีความเบิกบาน มึความสำราญ มีความระงับเป็นอันเดียว จิตใจเรามารวมอยู่อย่างนี้ อะไรที่เราต้องอาศัยอยู่ในปัจจุบันในคราวนี้ก็คือลม ลมหายใจนี่แหละ

บัดนี้เป็นภาระของคุณยายคนเดียว ไม่เป็นภาระของคนอื่น ภาระของคนอื่นก็ให้เป็นของคนอื่นเขา ธุระหน้าที่ของเราก็เป็นธุระหน้าที่ของเรา อย่าไปเอาธุระอะไร ๆ ทั้งปวงทั้งนั้นแหละมาทำ ไม่ใช่หน้าที่ของเรา ในเวลานี้เราควรปล่อยแล้ว เราควรจะวางแล้ว อาการที่จะปล่อยจะวางนี้ จะทำความสงบนี้ เป็นธุระของเรา เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องทำในปัจจุบัน ให้รวมจิตเข้ามาเป็นหนึ่ง นี้คือธุระหน้าที่ของเรา เรื่องอะไรก็ปล่อยให้เขาเสีย เรื่องรูปก็ปล่อยให้เขาเสีย เรื่องเสียงก็ปล่อยให้เขาเสีย เรื่องกลิ่นเรื่องรสก็ปล่อยให้เขาเสีย เรื่องอะไร ๆ ก็ปล่อยให้เขาแล้ว เราจะทำธุระหน้าที่ของเรา

มันจะมีอะไรเกิดเป็นอารมณ์ขึ้นมา ก็ให้นึกอยู่ในใจว่าอย่ามากวนฉัน ไม่ใช่ธุระหน้าที่ของฉัน ความวิพากษ์วิจารณ์อะไรก็ตาม เช่นว่าเราจะกลัว กลัวในชีวิตของเราเพราะเราจะตายอย่างนี้เป็นต้น คิดถึงคนโน้น แล้วก็คิดถึงคนนี้ เมื่อมันเกิดขึ้นมาในจิตอย่างนั้น เราก็บอกในใจเราว่า อย่ามากวนฉัน ไม่ใช่ธุระของฉัน บอกอย่างนี้ไว้ในใจของเรา เพราะว่าเราเห็นธรรมทั้งหลายที่มันเกิดขึ้นมา

ธรรมคืออะไร ธรรมก็คือทุกสิ่งทุกอย่าง อะไรที่ไม่เป็นธรรมก็ไม่มีแล้ว โลกก็คืออะไร โลกก็คืออารมณ์ที่มันมายุแหย่กวนยานอยู่เดี๋ยวนี้แหละ เดี๋ยวคนนั้นจะเป็นอย่างไร เดี๋ยวคนไปคิดอยู่ว่าอยากให้เป็ดเหมือนไก่ อยากให้ไก่เป็นเหมือนเป็ดมันก็ทุกข์เท่านั้นแหละ ก็เพราะมันเป็นไปไม่ได้ ถ้าโยมมาคิดเสียว่าเออ เป็ดมันก็ต้องเป็นของมันอย่างนั้น ไก่มันก็ต้องเป็นของมันอย่างนั้น จะให้เป็ดเหมือนไก่ จะให้ไก่เหมือนเป็ดมันก็เป็นไปไม่ได้ เพราะมันเป็นอยู่อย่างนั้น

ถ้าเราคิดเช่นนี้แล้ว เราจะมีพละ เราจะมีกำลัง เพราะว่าสกลร่างกายนี้อยากจะให้มันยืนนานถาวรไปเท่า ๆ ไรมันก็ไม่ได้มันก็เป็นอย่างนี้ นี้ท่านเรียกสังขาร อนิจฺจา วตสงฺขารา อุปฺปาทวยธมฺมิโน อุปชฺฌิตฺวา นิรุชฺฌนฺติ เตสวูปสโม สุโข สังขารคือร่างกายจิตใจนั้นแหละมันเป็นของไม่เที่ยง เป็นของไม่แน่นอนมีแล้วก็หาไม่ เกิดแล้วก็ดับไป แต่มนุษย์เราทั้งหลายอยากให้สังขารนี้มันเที่ยง อันนี้คือความคิดของคนโง่ ดูซิว่าลมหายใจของคนเรานี้มันเข้ามาแล้วมันก็ออกไป เป็นธรรมดาของลมมันก็ต้องเป็นอยู่อย่างนั้น ต้องกลับไปกลับมา มีความเปลี่ยนแปลง เรื่องสังขารมันก็อยู่ด้วยความเปลี่ยนแปลงอย่างนี้ จะให้มันไม่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ลองคิดดูซิว่า หายใจออกอย่างเดียวไม่ให้มันเข้ามาได้ไหม สบายไหม สูดลมเข้ามาแล้วไม่ให้มันออกดีไหม นี่ อยากจะให้มันเที่ยงอย่างนี้ มันเที่ยงไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้ ออกไปแล้วก็เข้ามา เข้ามาแล้วก็ออกไป เป็นเรื่องธรรมดาเหลือเกิน เกิดแล้วก็แก่ แก่แล้วเจ็บและก็ตาย เป็นเรื่องธรรมดาแท้ ๆ เหมือนกับลมเข้าแล้วไม่ให้ออกไม่ได้ ออกแล้วไม่ให้เข้าไม่ได้ ถ้ามีการเข้าแล้วออก ออกแล้วเข้า ก็ทำให้ชีวิต เช่นมนุษย์ทั้งหลายเป็นอยู่ได้เท่าทุกวันนี้ เพราะสังขารมันทำตามหน้าที่ของมันอย่างนี้แหละ มันจริงอยู่แล้วไม่ใช่เป็นของไม่จริง มันจริงของมันอยู่อย่างนั้นแหละ

ถ้าเราคิดเช่นนี้แล้ว เราจะมีพละ เราจะมีกำลัง เพราะว่าสกลร่างกายนี้อยากจะให้มันยืนนานถาวรไปเท่า ๆ ไรมันก็ไม่ได้ มันก็เป็นอย่างนี้ นี้ท่านเรียกสังขาร อนิจฺจ วตสงฺขารา อุปฺปาทวยธมฺมิดน อุปชฺฌิตฺวา นิรุชฺฌนฺติ เตสวูปสโม สุโข สังขารคือร่างกายจิตใจนี้แหละมันเป็นของไม่เที่ยง เป็นของไม่แน่นอนมีแล้วก็หาไม่ เกิดแล้วก็ดับไป แต่มนุษย์เราทั้งหลายอยากให้สังขารนี้มันเที่ยง อันนี้คือความคิดของคนโง่ ดูซิว่าลมหายใจของคนเรานี้มันเข้ามาแล้วมันก็ออกไป เป็นธรรมดาของลมมันก็ต้องเป็นอยู่อย่างนั้น ต้องกลับไปกลับมา มีความเปลี่ยนแปลง เรื่องสังขารมันก็อยู่ด้วยความเปลี่ยนแปลงอย่างนี้ จะให้มันไม่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ลองคิดดูซิว่า หายใจออกอย่างเดียวไม่ให้มันเข้ามาได้ไหม สบายไหม สูดลมเข้ามาแล้วไม่ให้มันออกดีไหม นี่ อยากจะให้มันเที่ยงอย่างนี้ มันเที่ยงไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้ ออกไปแล้วก็เข้ามา เข้ามาแล้วก็ออกไป เป็นเรื่องธรรมดาเหลือเกิน เกิดแล้วก็แก่ แก่แล้วเจ็บและก็ตาย เป็นเรื่องธรรมดาแท้ ๆ เหมือนกับลมเข้าแล้วไม่ให้ออกไม่ได้ ออกแล้วไม่ให้เข้าไม่ได้ ถ้ามีการเข้าแล้วออก ออกแล้วเข้า ก็ทำให้ชีวิต เช่นมนุษย์ทั้งหลายเป็นอยู่ได้เท่าทุกวันนี้ เพราะสังขารมันทำตามหน้าที่ของมันอย่างนี้แหละ มันจริงอยู่แล้วไม่ใช่เป็นของไม่จริง มันจริงของมันอยู่อย่างนั้นแหละ

เมื่อเราเกิดมาแล้ว โยม ก็คือเราตายแล้วนั่นเองแหละไอ้ความแก่กับความตายมันก็คืออันเดียวกันนั่นแหละ เหมือนกับต้นไม้อันหนึ่งต้น อันหนึ่งปลาย เมื่อมีโคนมันก็มีปลาย เมื่อมีปลายมันก็มีโคน ไม่มีโคนปลายก็ไม่มี มีปลายก็ต้องมีโคน มีแต่ปลายโคนไม่มีก็ไม่ได้ มันเป็นอย่างนั้น

เพราะฉะนั้นก็นึกขำเหมือนกันนะ มนุษย์เราทั้งหลายเมื่อจะตายแล้วก็โศกเศร้า วุ่นวาย นั่งร้องไห้ เสียใจ สารพัดอย่าง หลงไปสิโยม มันหลงนะ พอคนตายก็ร้องไห้พิไรรำพัน แต่ไหนแต่ไรมาไม่ค่อยได้พิจารณาให้ชัดแจ้งนะ ความเป็นจริงแล้ว อาตมาขอโทษด้วยนะ อาตมาเห็นว่า ถ้าจะร้องไห้กับคนตายน่ะ ร้องไห้กับคนที่เกิดมาดีกว่า แต่มันกลับเสีย ถ้าคนเกิดมาแล้วโยมทั้งหลายก็หัวเราะดีอกดีใจกันชื่นบาน ความเป็นจริงเกิดนั่นล่ะคือตาย ตายนั่นล่ะก็คือเกิด ต้นคือปลาย ปลายก็คือต้น เราไม่รู้จัก ถึงเวลาจวนจะตาย หรือตายแล้วก็ร้องไห้กัน นี่คือคนโง่ ถ้าจะร้องไห้อย่างนั้นมาแต่ต้นก็ยังจะดีนะ เมื่อเกิดมาก็ร้องไห้กันเสียทีเถอะ ดูให้ดีซิ ถ้าไม่เกิดมันก็ไม่ตายเข้าใจไหม

เพราะฉะนั้นโยม อย่านึกอะไรมากมาย ให้นึกว่ามันเป็นอย่างนั้น นี้คือธุระหน้าที่ของเราแล้ว บัดนี้ใครช่วยไม่ได้ ลูกก็ช่วยไม่ได้ หลานก็ช่วยไม่ได้ ทรัพย์สินเงินทองก็ช่วยไม่ได้ ช่วยได้แต่ความรู้สึกของโยมที่คิดให้ถูกต้องเดี๋ยวนี้นะ ไม่ให้หวั่นไหวไปมา ปล่อยมันทิ้งเสีย เราปล่อยมัน ทิ้งมัน

ถ้าเราไม่ปล่อยมัน ไม่ทิ้งมัน มันก็จะหนีอยู่แล้ว เห็นไหมอวัยวะร่างกายของเราน่ะ มันพยายามจะหนีอยู่แล้วน่ะ เห็นไหม ดูง่าย ๆ ว่า เมื่อเกิดมาเป็นหนุ่มเป็นสาว ผมมันก็ดำ เห็นไหม บัดนี้มันหงอก นี่เรียกว่ามันหนีแล้วนะ ตาเราเคยสว่างไสวดีตอนเป็นหนุ่มเป็นสาว บัดนี้มันฝ้าฟางเห็นไหม นี่เรียกว่ามันหนีแล้ว เขาทนไม่ไหวเขาต้องหนี ฟันของเราตอนเป็นเด็กมันแน่นหนาถาวรไหม บัดนี้มันโยกมันคลอน แล้วจะใส่ฟันใหม่เสียก็ได้ นี่มันก็ของใหม่ไม่ใช่ของเก่า สิ่งทั้งหลายในอวัยวะร่างกายของคุณยายนี้นะ เขาพยายามจะหนีไปแล้ว ตา หู จมูก ลิ้น กาย ทั้งหมด เขาพยายามจะหนี ทำไมถึงจะหนี เพราะตรงนี้ไม่ใช่ที่อยู่ของ เป็นสังขารอยู่ไม่ได้ อยู่ชั่งคราวเท่านั้นก็ไปไม่ว่าแต่ตัวของเรา ทั้งหมดอวัยวะนี่ ผมก็ดี ขนก็ดี เล็บก็ดี ทั้งหมดนั่นเดี๋ยวนี้เขาเตรียมหนี เขาหนีไปบ้างแล้ว แต่ยังไม่หมด ยังเหลือแต่คนเฝ้าบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ เฝ้าบ้านอยู่แต่ไม่ค่อยดีหรอก ตาก็ไม่ค่อยดี ฟันก็ไม่ค่อยดี ร่างกานนี้ก็ไม่ค่อยจะดี ก็เพราะเขาหนีไปบ้างแล้ว

นี้ให้ยายเข้าใจว่าที่นี่ไม่ใช่ที่อยู่ของมนุษย์โดยตรง เป็นที่พักชั่วคราวเท่านั้นล่ะ เพราะฉะนั้นยายไม่ควรห่วงใยอะไรมากมาย มาอยู่ในโลกก็ให้พิจารณาโลกนี้ว่า มันเป็นอย่างนั้นไม่ว่าแต่อะไรทั้งหลายเลย เขาเตรียมจะหนีกันแล้ว ดูซิ ดูตามสภาพร่างกายซิว่ามันมีอะไรเหมือนเดิมไหม ร่างกายเหมือนเดิมไหม หนังเหมือนเดิมไหม ผมเหมือนเดิมไหม ไม่เหมือน เขาไปที่ไหนกันหมดแล้ว นี่ ธรรมชาติเขาเป็นอย่างนั้น เมื่ออยู่ครบตามวาระของเขาแล้วเขาก็ต้องไป เพราธุระเขาเป็นอย่างนั้น ความเป็นจริงมันเป็นอย่างนั้น เพราะที่นี่ไม่ใช่ที่อยู่ที่แน่นหนาถาวรอะไร อยู่แล้วก็วุ่น ๆ วาย ๆ สุข ๆ ทุกข์ ๆ ไม่สงบ ระงับ

ถ้าเป็นคนก็เป็นคนที่เดินไปยังไม่ถึงบ้าน ยังอยู่ระหว่างทาง เดี๋ยวก็จะกลับ เดี๋ยวก็จะอยู่ นี่คือคนไม่มีที่อยู่ เปรียบเหมือนว่าเราเดินออกจากบ้านไปกรุงเทพฯ หรือว่าไปที่ไหนก็ตามเถอะ เราก็เดินไป เมื่อเดินไปยังไม่ถึงบ้านเมื่อไร มันก็ยังไม่น่าอยู่ นั่งก็ไม่สบาย นอนก็ไม่สบาย เดินก็ไม่สบาย นั่งรถไปก็ยังไม่สบาย เพราะอะไร เพราะว่ายังไม่ถึงบ้านเรา พอเรามาถึงบ้านเราแล้วก็สบาย เพราะเราเข้าใจว่านี่เป็นบ้านเรา อันนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน

ในโลกนี้มันเรื่องไม่สงบทั้งนั้น ถึงแม้มันจะร่ำจะรวยมันก็ไม่สงบ มันจนก็ไม่สงบ มันโตก็ไม่สงบ เป็นเด็กก็ไม่สงบ มีความรู้น้อยมันก็ไม่สงบ มีความรู้มากมันก็ไม่สงบ เรื่องมันไม่สงบมันเป็นอยู่อย่างนี้ เพราะฉะนั้นคนที่มีน้อยก็มีทุกข์ คนที่มีมากก็มีทุกข์ ทุกข์อย่างคนแก่ ทุกข์อย่างเด็ก ทุกข์อย่างคนรวย ทุกข์อย่างคนจน มันเป็นทุกข์ทั้งนั้น นั้นล่ะ ดังนั้นอวัยวะทุกส่วนเขาจึงทยอยไปเรื่อย

เมื่อคุณยายพิจารณาอย่างนี้แล้วก็จะเห็นว่าอนิจจัง มันเป็นของไม่เที่ยง ทุกขัง มันเป็นทุกข์ เพราะว่าอะไร เพราะว่าอนัตตา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ร่างที่อาศัยอยู่เดี๋ยวนี้น่ะ ร่างกายที่นั่งนอนเจ็บป่วยอยู่นี้ และทั้งจิตใจที่รู้วามันเป็นสุขเป็นทุกข์มันเจ็บป่วยอยู่เดี๋ยวนี้ ทั้งสองอย่างนี้ท่านเรียกว่า ธรรม

สิ่งที่ไม่มีรูป ที่มันเป็นเพียงความรู้สึกนึกคิดเท่านั้น เรียกว่ามันเป็นนาม มันก็เป็น นามธรรม สิ่งที่มันเจ็บปวดขยายไปมาอยู่นี้ อันนี้มันก็เป็น รูปธรรม สิ่งที่เป็นรูปก็เป็นธรรม สิ่งที่เป็นนามก็เป็นธรรม ฉะนั้นเราถึงอยู่กันด้วยธรรมะ คืออยู่ในธรรม มันเป็นธรรมนั่นแหละ ตัวของเราจริง ๆ ที่ไหนมันไม่มี มันเป็นธรรมะ สภาพธรรมมันเกิดขึ้นแล้วมันก็ดับไป ๆ สภาวธรรมมันเป็นอยู่อย่างนั้น มีความเกิดแล้วก็มีความดับ เราก็มีความเกิดดับอยู่ทุกขณะเดี๋ยวนี้น่ะมันเป็นอยู่อย่างนี้

ฉะนั้นเมื่อเราคิดถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วก็น่าไหว้ น่าเคารพ น่านับถือ ท่านพูดจริง ท่านพูดตามความจริง มันก็เห็นจริงอย่างนั้น ถ้าเราเกิดมาพบอยู่ที่นี่ เราก็เห็นธรรมะ แต่ไม่ได้ปฏิบัติธรรมะ เรียนธรรมะ ปฏิบัติธรรมะ ก็ยังไม่ได้เห็นธรรมะ ก็ยังไม่มีที่อยู่ ดังนั้นให้เข้าใจเสียว่า ที่นี่ทุกคน แม้ปลวกหรือมด หรือสัตว์ตัวนิด ๆ ก็ตามทีเถอะ เขาก็พยายามจะหนีกันทั้งนั้น สิ่งที่มีชีวิตเขาอยู่กันพอควรแล้วเขาก็ไปกันทั้งนั้นล่ะ ทั้งคนจน ทั้งคนร่ำรวย ทั้งเด็ก ทั้งคนแก่ ทั้งสัตว์เดียรัจฉาน สิ่งที่มีชีวิตในโลกนี้ มันก็ย่อมแปรไป เปลี่ยนไปอย่างนี้

เพราะฉะนั้นเมื่อคุณยายรู้ว่าโลกนี้มันเป็นอย่างนี้แล้ว ก็น่าเบื่อหน่าย น่าเบื่อมัน อะไรมันไม่เป็นตัวของตัวทั้งนั้น เบื่อหน่าย นิพพานคำว่าเบื่อหน่ายไม่ใช่ว่ารังเกียจนะ เบื่อหน่าย คือ ใจมันสว่าง ใจมันเห็นความเป็นจริง ไม่มีทางจะแก้ไขอะไรแล้ว มันเป็นอย่างนี้ รู้อย่างนี้ก็เลยปล่อยวางมัน ปล่อยโดยความไม่ดีใจ ปล่อยโดยความไม่เสียใจ ปล่อยไปตามเรื่องของสังขาร ว่าสังขารมันเป็นอย่างนั้น ด้วยปัญญาของเรา นี่เรียกว่า อนิจจา วต สังขารา สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง ที่ไม่เที่ยว คือมันเปลี่ยนไป เปลี่ยนมา อย่างนั้นแหละเรียกว่าไม่เที่ยง คือ อนิจจัง

พูดง่าย ๆ ว่า ตัวอนิจจังนั่นแหละคือตัวพระพุทธเจ้า ของที่ไม่เที่ยง ถ้าเราเห็นชัดเข้าไปมันก็เที่ยง เที่ยงอย่างไร ก็เที่ยงที่มันเป็นอยู่อย่างนั้นแหละมนุษย์สัตว์เกิดมาก็เป็นอย่างนั้น มันเที่ยงอย่างนั้น แต่ว่ามันไม่เที่ยง คือว่ามันแปรไปแปรมา คือมันเปลี่ยนเป็นเด็ก เป็นหนุ่ม เป็นเฒ่า แก่ชรา เรียกว่ามันไม่เที่ยง ไอ้ความที่มันเป็นอย่างนั้น ก็เรียกว่ามันเที่ยง ไม่แปรเป็นอย่างอื่น ถ้าคุณยายเห็นอย่างนี้ ใจก็จะสบาย ไม่ว่าเราคนเดียวหรอก ทุก ๆ คนเป็นอย่างนี้

ดังนั้นเมื่อคิดได้เช่นนี้ ก็น่าเบื่อ เกิดนิพพิทา ความเบื่อหน่ายหายความกำหนัดรักใคร่ในโลก ในกาม ในโลกามิสทั้งหลายเหล่านี้ มีมากก็ทิ้งมาก มีน้อยก็ทิ้งไว้น้อย ทุกคนดูทีซิ ที่คุณยายเกิดขึ้นมานี้เห็นไหม เห็นคนรวยไหม เห็นคนอายุสั้นไหม เห็นคนอายุยืนไหม มันก็มีเท่านั้นล่ะ


////////// ต่อตอน 2

**wan**
10-27-2008, 10:24 AM
เพราะฉะนั้นที่สำคัญคือ พระพุทธเจ้าท่านให้สร้างบ้านเรือนตัวเอง สร้างโดยวิธีที่อาตมาบรรยายธรรมะให้ฟังเดี๋ยวนี้น่ะ สร้างบ้านให้ได้ ปล่อยวางให้ได้ ปล่อยวางมันให้มันถึงความสงบ เรียกว่าไม่เดินไปข้างหน้า ไม่ก้าวไปข้างหลัง ไม่หยุดอยู่นี่เรียกว่าสงบ สวบจากการเดินไป สงบจากการถอยกลับ สงบจากการหยุดอยู่ นี่ ไอ้ความสุขก็ไม่ใช่ที่อยู่ ไอ้ความทุกข์ก็ไม่ใช่ที่อยู่ของเรา ทุกข์มันก็เสื่อม สุขมันก็เสื่อมทั้งนั้น

พระบรมครูของของเราท่านเห็นว่าสังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นของไม่เที่ยง เพราะฉะนั้นท่านจึงสอนให้พวกเราทั้งหลายปล่อยวาง เมื่อถึงเวลาสุดท้ายของทุกคน เพราะว่ามันเอาไปไม่ได้ จำเป็นมันก็ต้องวางอยู่นั่นเองล่ะ แต่เราก็วางมันไว้ก่อนเสียจะไม่ดีกว่าหรือ เราแบกก็รู้สึกว่ามันหนัก เมื่อมันหนักแล้วเราก็ทิ้งมันเสียก่อนจะไม่ดีหรือ จะไปกวนแบกมันทำไม เราปล่อยวางก็ให้ลูกหลานพยาบาลเราสบาย ๆ

ผู้ที่พยายามคนที่ป่วยก็มีคุณธรรม คนที่ป่วยก็ให้โอกาสแก่ผู้พยาบาล อย่าทำให้ลำบากแก่คนที่รักษา เจ็บตรงไหน เป็นอะไรก็ให้ได้รู้จัด ทำจิตให้มันดี คนที่รักษาพ่อแม่ก็ให้มีคุณธรรม มีความอดทน อย่ารังเกียจ อันนี้ที่จะเป็นการสนองคุณ พ่อแม่ของเราก็เวลานี้เท่านั้นล่ะ เบื้องต้นเกิดมา เราเป็นเด็กพ่อแม่เป็นผู้ใหญ่ เราอาศัยพ่อแม่จึงเติบโตจนบัดนี้ ได้มาอยู่บัดนี้ นั่งรวมกันอยู่ที่นี่ก็เพราะคุณพ่อคุณแม่เลี้ยงเรามาสารพัดอย่างแล้ว มีบุญคุณมากที่สุดเหลือเกินนะ

บัดนี้ให้ลูกหลานทุก ๆ คนนี้จงเข้าใจว่า เดี๋ยวนี้พ่อแม่กลายเป็นลูกเราเสียแล้ว แต่ก่อนเราเป็นลูกของพ่อแม่ บัดนี้พ่อแม่เป็นลูกเราเสียแล้ว เพราะอะไร เพราะแก่ไป ๆ จนกลายเป็นเด็ก จำไม่ได้ ตาก็มองไม่เห็น หูไม่ได้ยินสารพัดอย่าง บางทีพูดถูก ๆ ผิด ๆ เหมือนเด็กนั่นเอง ดังนั้นให้ลูกหลานทั้งหลายปล่อย คนที่รักษาคนป่วยก็ให้ปล่อย อย่าไปถือเลย ปล่อยเสียให้ตามใจทุกอย่าง เหมือนเด็ก ๆ ที่เกิดมา อะไรที่ไม่เชื่อฟังพ่อแม่ก็ปล่อยทุกอย่างนั่นล่ะ ปล่อยให้เด็กมันสบาย ไม่ให้เด็กมันร้องไห้ อย่าให้เด็กขัดใจอะไรเหล่านี้ พ่อแม่ของเราบัดนี้ก็เหมือนมัน สัญญามันวิปลาส บางทีเรียกลูกคนหนึ่งไปถูกคนหนึ่ง บางทีเรียกหลานคนหนึ่งไปถูกหลานอีกคนหนึ่ง จะเรียกเอาขันมาก็ได้จานมา มันเป็นเรื่องของธรรมดาอย่างนั้น อันนี้ก็ให้พิจารณาคนที่ป่วยก็ให้นึกถึงคนพยาบาล มีคุณธรรม ให้อดให้ทนต่อทุกขเวทนา เวทนาสารพัดอย่างที่มันเกิดขึ้นมาให้อดกลั้น ให้ทำความเพียรในใจของเรา อย่าให้มันวุ่นวาย อย่าให้มีความลำบากยากเกินไปแก่ผู้ปฏิบัติ ผู้อุปัฏฐากก็ให้มีคุณธรรม อย่ารังเกียจ น้ำมูก น้ำลาย อุจจาระ ปัสสาวะ อะไรก็ต้องพยายามเท่าที่เราจะทำได้ ลูก ๆ เราทุกคนให้ช่วยกันดู

บัดนี้เรามีพ่อแม่เท่านี้แหละ เราอาศัยมาได้เกิด มาได้เป็นครู เป็นอาจารย์ เป็นพยาบาล เป็นหมอ เป็นอะไรมาทุกอย่างเหล่านี้ อันนี้คือบุญคุญของท่านที่เลี้ยงเรามา ให้ความรู้เรามา ให้ความเป็นอยู่ของเรามา ให้ทรัพย์สมบัติเรา นี่คือคุณของพ่อแม่ ถ่ายทอดรับมรดกกันมาอย่างนี้ เป็นวงศ์ตระกูลอย่างนี้ พระพุทธองค์ท่านจึงสอนเรื่องกตัญญูกตเวที กตัญญู กับกตเวที นี้เป็นธรรม ซึ่งสนองซึ่งกันและกัน ท่านต้องการอะไร ท่านไม่สบาย ท่านมีความลำบาก ท่านมีความขัดข้องประการใด เราก็ต้องเสียสละ ช่วยท่านรับภาระธุระอันนั้น นี้คือกตัญญูกตเวที เป็นธรรมที่ค้ำจุนโลก ให้วงศ์ตระกูลของเราไม่กระจัดกระจาย ให้วงศ์ตระกูลของเรา เรียบร้อยมั่นคง

วันนี้อาตมาได้เอาธรรมะคำสอน มาฝากยายในเวลาที่เจ็บป่วยอยู่อย่างนี้ ซึ่งอาศัยคุณหมออุทัยลูกของโยมนั่นแหละนึกถึงผู้มีพระคุณอาตมาจะฝากอะไรมามันก็ไม่มี จะฝากวัตถุอะไรมา ที่บ้านนี่ก็เยอะแล้ว อาตมาจึงฝากธรรมะซึ่งมันหมดไม่ได้ มันเป็นแก่นเป็นสารถึงยายได้ฟังธรรมะนี้แล้ว จะถ่ายทอดให้คนอื่นเท่าไร ก็ยังไม่หมดไปจบ สัจจธรรมคือความจริงตั้งมั่นอยู่อย่างนี้อันนี้ อาตมาก็พลอยดีใจด้วย ที่ได้ฝากธรรมะ มาให้คุณยาย เพื่อจะได้มีจิตใจที่เข้มแข็ง ต่อสู้กับสิ่งทั้งหลายเหล่านี้...

....................................................................