PDA

แสดงเวอร์ชันเต็ม : ปลาไม่เห็นน้ำ พระโพธิญาณเถระ(ชา สุภัทโท)



**wan**
10-27-2008, 10:29 AM
http://buddhism.hum.ku.ac.th/Buddhism/Ajahn_Chah/clipart/080bCaneChair.jpg

ปลาไม่เห็นน้ำ

พระโพธิญาณเถระ(ชา สุภัทโท)
วัดหนองป่าพง อำเภอ วารินชำราบ
จังหวัด อุบลราชธานี

http://www.geocities.com/Tokyo/ginza/9697/fish.html

อาตมาเคยถามญาติโยม ถามไปถามมา เลยไม่ได้อะไร ไม่รู้จะเอาอะไร ได้แต่ว่า "จั๊กแหลว" จักแหลว นี้มันภาษา ไม่รู้เรื่องนะ ถามไปถามมาเลยไม่รู้จะเอาอะไร ไม่มีอะไรจะได้ ทำมาตั้งแต่เล็กจนแก่จนเฒ่า เวลาจะเอาจริงๆ ไม่รู้จะเอาอะไร ถามมาที่เอาไม่มีใครตอบได้ ว่าจะเอาอะไร เวลาทำทำเต็มมือเต็มเท้า เวลาจะไปกลับไม่ได้อะไร มันน่าสงสารจริงๆ นะ นี้ก็ควรคิด

มาปีนี้ก็ต่างเก่านะ ต่างแม้กระทั้งอาตมาด้วย แก่ลงหลายคน หัวหงอกหัวขาว สวยกว่าเก่า... หือ... ควรคิดนะ พากันสร้างบารมี ถ้าไม่ได้ใจตนเองแล้ว ไม่มีอะไรจะได้นะ คิดดูให้ดีซิไม่มีอะไรจะได้ มีแต่ทำแต่ไม่เห็นมีได้ ถ้าเป็นนักมวยก็มีแต่ชกแต่ไม่มีหมัดล้มหมัดตาย นี้ควรเอาไปคิดดูไปพิจารณาดูให้ดีๆ ว่าเราได้อะไรหนอ?... ไม่มีอะไรได้ อาตมาเคยเล่าให้ฟังว่า คนบางจำพวก อย่างวัดหนองป่าพง เป็นตัวอย่าง ต่างประเทศเขาก็มากัน แม่ออกพ่อออก (โยมผู้หญิงผู้ชาย) บ้านใกล้ๆ ไม่เคยเห็นวัดหนองป่าพงเลยก็มี อย่างนี้มันเป็นเพราะอะไร? เพราะไม่ได้พิจารณา... หลง... หลงไปข้างหน้าหลงไปข้างหลังไม่รู้จะทำอะไร ให้เราพิจารณา ให้ภาวนา ภาวนาก็คือให้คิดให้อ่านให้พิจารณา ทำอะไรก็ภาวนา ทั้งหมดนั้นแหละ ทำไร่ก็ภาวนา ทำนาก็ภาวนา แต่ไม่รู้ตัวเอง มันสั้นไปละมัง มันยาวไปละมัง เหล่านี้ ล้วนภาวนาทั้งหมดนั้นแหละ แต่เราไม่รู้จัก ภาวนาคือการพิจารณาให้เห็นที่มันถูกต้อง เห็นเป็นที่ถูกต้องเป็นที่พอดี แล้วมาแต่งใจเจ้าของ แต่พวกเราพากันไปดูแต่ที่อื่น ไม่ดูตัวเอง ไม่ได้แต่งใจตัวเองสักที ไม่ได้รักษาใจตัวเองมันพาทุกข์ พายาก พาลำบากอยู่ก็ไม่เห็น คนไม่ดูตนเองไม่รักษาตนเอง มันพาทุกข์ พายาก พาลำบากอยู่ก็ไม่ยอมแก้ไข การมาฟังธรรมก็คือการมาหาความรู้แล้วไปศึกษา ศึกษาทางกายด้วยทางใจด้วย ให้ไปศึกษา คนเรามันไม่รู้จักตัวเองนะ อาตมาเคยบอกว่า "ปลามันอยู่ในน้ำ แต่ไม่เห็นน้ำ" พ่อแม่ปู่ย่าตายายมันก็อยู่ในน้ำแต่มันไม่เห็นน้ำ น้ำแช่ตามันอยู่มันก็ไม่เห็น มันไม่ไกลหรอก มันใกล้เกินไปเลยไม่เห็น ความไม่เห็นนี้ อยู่ใกล้ก็ไม่เห็น อยู่ไกลมันก็ไม่เห็น เหมือนไส้เดือนกินดิน ขี้ขวยสูงตั้งศอก แต่มันไม่เห็นดิน กินดินอยู่แต่ก็ไม่เห็นเหมือนคนไม่เห็นตัวเองก็เป็นอย่างนั้น หรือเหมือนสุนัข อาการของสุนัขก็คือข้าวเหมือนพวกเรา ข้าวสารข้าวสุกมันก็กิน แต่ถ้าเป็นข้าวเปลือกมันไม่เห็นทีกิน ยามฤดูหนาวเรานวดข้าว มันก็นอนบนกองข้าว... สบายแต่พอหิวอาหารกลับวิ่งหนีไปหากินที่อื่น ที่ตนนอนทับอยู่นั้นมันไม่เห็น มันใกล้เกินไปเพราะอะไร? เพราะข้าวเปลือกบังไว้อยู่

นี้แหละ เราหลงตัวเองก็เหมือนกับสุนัข นอนอยู่บนกองข้าว แต่เวลาหิวก็วิ่งไปหาเศษก้างปูก้างปลาที่เขาทิ้งโน้นทั้งยากทั้งลำบาก ที่ตัวเองนอนทับอยู่ไม่รู้ว่าเป็นอาหารของตัวเอง มันไม่รู้วิธีกะเทาะข้าวเปลือก มันไม่มีโรงสี มันซ้อมข้าวไม่เป็น เลยไม่เห็นที่จะกิน พระพุทธเจ้าก็เหมือนกันนั่นแหละกับพวกเราทั้งหลาย ก่อนจะเป็นพระพุทธเจ้าก็เหมือนพวกเรานี่แหละ แต่ท่านรู้จักเจ้าของ รู้จักแก้ไขเรื่องต่างๆ ในเจ้าของ ท่านแนะนำเจ้าของแก้ไขความทุกข์ของตนเองได้ เรามาฟังธรรมก็คือมาฟังเอาความรู้ไปแก้ปัญหา พ่อออกแม่ออกหรือ พวกเราทุกคนเกิดมา มันมีปัญหาติดต่อกันเรื่อยๆ อยู่บ้านยิ่งแยะ ปัญหาเรื่องนาบ้าง ฝนดีเกินไปบ้าง ฝนไม่ดีบ้าง น้ำท่วมข้าวบ้าง ดำนาล่าไปบ้าง เรื่องวัว เรื่องควาย เรื่องเงินเรื่องทอง สารพัดอย่าง ซึ่งเป็นปัญหาถามเรา บางครั้งดึกขนาดนี้ยังนอนไม่หลับ เพราะกำลังแก้ปัญหาอยู่ แต่คนเราไม่รู้จักการแก้ปัญหา พูดง่ายๆ ว่าถ้ามันร้อนก็เป็นทุกข์ มันหนาวก็เป็นทุกข์ แก้ปัญหาไม่ได้ เผลอๆ ด่ากระทั้งแดด ด่ากระทั้งลม ว่ามันร้อนโคตรพ่อโคตรแม่มัน อะไรอย่างนี้ว่าไปทั่ว อ้าว... เรื่องมันร้อนก็เรื่องธรรมดาเว้ย ให้ดูจิตของตนเอง อย่าไปกวนเขา เพราะเขาเป็นอย่างนั้น ถึงคราวร้อนเขาก็ร้อน ถึงคราวเย็นเขาก็เย็น เพราะธรรมชาติเป็นอยู่อย่างนั้น มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา พวกเราไม่รู้จักของในโลกนี้หมดทุกอย่าง ไม่มีปัญหา มันมีปัญหาก็แต่พวกเรา เรานั้นพยายามไปติเขา อันนั้นเล็กไป อันนั้นใหญ่ไป อันนั้นสั้นไป อันนั้นยาวไป จริงๆ แล้วเขาก็ไม่ได้ว่าอะไร สั้นเขาก็อยู่อย่างนั้น ยาวเขาก็อยู่อย่างนั้น เขาไม่ได้ว่าอะไร เราชอบหาเรื่องใส่เขาไม่หยุดไม่หย่อน นี้เรียกว่าไม่ได้แก้ปัญหา เรื่องธรรมชาติมันเป็นอยู่ตามเรื่องของมัน แต่เราไม่มีปัญญาเอาธรรมชาติเหล่านั้นมาใช้ได้

เหมือนอย่างต้นไม้ในป่า มันมีทั้งต้นทั้งใบทั้งเปลือก นี้คือธรรมชาติของมัน เขาก็เป็นของเขาอยู่อย่างนั้น เขาไม่ได้ว่าเขาเล็ก เขาใหญ่ เขาสั้น เขายาว เขาเป็นอยู่อย่างนั้น ผู้มีปัญหาก็นำธรรมชาติเหล่านั้นมาแต่ง มาแปลงเอาด้วยปัญญา แปลงมาเป็นขื่อเป็นแป ให้เป็นบ้านเป็นเรือน นี้เรียกว่าปล้อนเอาออกมาจากธรรมชาติ เราเห็นธรรมชาติมันสงบทุกอย่าง ทั้งต้นไม้ ภูเขา เถาวัลย์ ล้วนแต่เป็นของสงบอยู่ เรานี่แหละไม่ดีเอง เที่ยวติเขาไม่หยุด เดินจากป่ามาบ้าน เจอฟืนดุ้นหนึ่งแบกใส่บ่าเดินมา แบกไปแบกไป มันก็ยิ่งหนัก จะทิ้งก็เสียดายจะแบกต่อไปก็หนัก แต่ก็แบกต่อไปจนยางตายแทบออก พอมาถึงบ้านทิ้งลง... โครม... "โคตรพ่อโคตรแม่มันหนักเหลือเกิน" พูดแล้วก็แล้วไป ไม่ได้พิจารณา ไม่รู้ว่าใครหนัก ไม้หนักหรือว่าเราหนักก็ไม้รู้ ไม่รู้ว่าด่าแม่ใคร หรือด่าว่าแม่ตนเองก็ไม่รู้ ใครหนักก็คงจะด่าแม่คนนั้นละมัง... นะ เพราะไม้มันไม่หนักไม่เบา มันอยู่อย่างนั้น นี้คือคนไม่รู้เรื่อง ไม่รู้จักแก้เจ้าของ ไม่รู้จักเหตุผล

พวกเราให้พากันสร้างบารมี เพิ่มพูนบารมีของเรา อาตมาเห็นว่า... บุญเด๊อพ่อออก บุญคือการกระทำดี กระทำชอบ เป็นบุญ บุญนี้เกิดขึ้นมาก็เรียกว่ากรรมเก่า มีทั้งบุญและบาป ถ้าเราทำอะไรไป ถ้ากรรมเก่าคือบาปมาเกี่ยวข้องแล้วลำบาก เสียหายมาก เราอยู่ไปหากินไป ถ้ากรรมเก่าที่ดีมาพัวพันเป็นเหตุให้ง่ายให้ดีขึ้นมาได้ มันเป็นอย่างนั้น

ฉะนั้นพวกเรานั้นสมควรที่จะพากันศึกษาเรื่องนี้ ถ้าใครไม่รู้จักธรรมะ ก็เอาตัวหลุดพ้นไปจากทุกข์ไม่ได้ คำว่าทุกข์คือทุกข์ทางใจ พวกเราอาจจะไม่รู้จัก หรือบางคนอาจจะคิดว่าพระพุทธเจ้าตายไปแล้ว อย่างนี้ก็มีนะ พระพุทธเจ้ามีองค์เดียวเท่านั้นแหละ ท่านตายแล้ว... หยุด ถ้าอาตมาจะพูดว่าพระพุทธเจ้ายังไม่ตาย โยมพ่อออกจะว่าอย่างไร? ก็ท่านยังไม่ตาย ทุกวันนี้ท่านยังอยู่ ท่านยังช่วยมนุษย์ทั้งหลายในโลกนี้ ถ้าทำดีท่านยังช่วยอยู่ตลอดเวลา พระธรรมย่อมรักษาผู้ปฏิบัติไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว พระธรรมคือพระพุทธเจ้า ใครเห็นพระพุทธเจ้าก็คือเห็นธรรม ใครเห็นพระธรรมก็คือเห็นพระพุทธเจ้า ใครเห็นพระพุทธเจ้าก็คือเห็นพระสงฆ์ ใครเห็นพระสงฆ์เห็นพระธรรม ไม่ได้อยู่ไกลที่ไหนอยู่ตรงนี้ เดิมทีพระพุทธเจ้าก็เป็นสิทธัตถราชกุมาร เป็นคนธรรมดาเหมือนกับเรา ยังไม่รู้อะไร เมื่อท่านรู้ธรรมะชัดเจนแล้วก็เรียกท่านว่า พระพุทธเจ้า คนธรรมดาเลยหายไป

คำสอนของพระพุทธเจ้านั้น มันเป็นปฏิปักษ์ต่อใจของพวกเรา เทศน์ไปๆ ถ้าจะเทศน์ความจริงให้ฟังจริงๆ แล้ว ทุกสิ่งมีแต่เรื่องขัดใจเรา เพราะเหตุใด? เพราะใจเรามันสกปรก มีแต่เรื่องขัดใจทุกอย่าง พวกเรามันเสียดายความชั่ว เสียดายความไม่ดี เสียดายความสกปรก อยากเก็บเอาไว้ ท่านว่าทิ้งเสีย ก็ไม่อยากจะทิ้ง มันชอบของเลว ไม่ชอบของดี อย่างนี้ อาตมาถึงว่าธรรมะของพระพุทธเจ้ามันขัดใจคน ขัดใจปุถุชนทั้งหลาย ขัดจนกลายเป็นอริยชน ถ้าไม่ขัดอย่างนั้นก็ไม่ได้ อาตมาเคยไปเทศน์ธรรมะหลายแห่ง เข้าไปบางบ้าน เทศน์ให้ฟัง บางทีพ่อออกแม่ออกอยู่บ้านเดียวกันก็ยังทะเลาะกัน คนหนึ่งไป อีกคนหนึ่งไม่ไป คนหนึ่งว่าถูก คนหนึ่งว่าผิด แยกกันเลย มันแยกกันนี้เป็นเพราะอะไร? เพราะกรรมมันบังไว้ ใครมีปัญญาก็เห็น ใครไม่มีปัญญาก็เห็นได้ยาก เห็นไม่ได้ง่ายๆ ของอันนี้มันใกล้ มันไม่ได้อยู่ไกลหรอก

เรื่องทิฐิมานะของคนนั้น ถ้าจะเทียบแล้วจะย้ายภูเขาลูกนี้ไปไว้ที่อื่นก็ยังง่ายกว่า หรือทำให้มันราบเหมือนแผ่นดินก็ยังง่ายกว่าเป็นอย่างนั้น หรือจะเปรียบให้ฟังอีกง่ายๆ ก็เหมือนพ่อกำนันนี่แหละ สร้างบ้านขึ้นหลังหนึ่งเสร็จเรียบร้อย อยู่มาได้ ๑๐ วัน หรือเดือนหนึ่ง อย่างนี้ มีคนหนึ่งพูดว่า "พ่อกำนันบ้านหลังนี้รื้อเสียเป็นไง" ชวนรื้อบ้าน หัวขาดก็ไม่รื้อ ใช่ไหม? ทำไมล่ะ ก็บ้านเราเพิ่งสร้างขึ้นมาใหม่ๆ มาชวนรื้อ ยังจะนึกว่าคนนั้นมันบ้าหรือไง บ้านเพิ่งสร้างเสร็จใหม่ๆ มาชวนรื้อ ยังนึกว่าเขาพูดเล่นอยู่อีก ทิฐิมานะก็เหมือนกัน เช่นอันนี้มันผิดเลิกเสียนะ โอ๊ย... ไม่ได้ ถ้าสิ่งใดมันชอบสิ่งใดมันติดแล้ว ไม่กล้าละ ไม่กล้าถอน ติ๊ออยู่นั่นแหลว... ยาก ไม่ได้ง่ายๆ ทิฐิมานะมันติดมันแน่น มันลึกมันซึ้งเหลือเกิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเห็นผิดเป็นชอบพูดให้ฟัง ไม่เห็นละถอน ไม่ใช่ง่ายๆ คือมันไม่เห็นนั่นเอง ถ้ามันเห็นแล้วมันก็ง่าย แต่นี่มันไม่เห็น เรื่องคนไม่เห็นอยู่ไกลมันก็ไม่เห็น อยู่ใกล้มันก็ไม่เห็น อยู่ในลูกตานี้มันก็ยังไม่เห็น มันจึงเป็นของยากของลำบากหลาย

ที่พระท่านสอนก็เพื่อให้ลดทิฐิมานะที่ยึดถือไว้ ของไม่แน่นอน อาตมาจึงอยากจะขอกับญาติโยม ขอไม่มากหรอกขอเพียงว่า ถึงจะละความผิดไม่ได้ก็ไม่ว่า แต่ขอให้รู้จัก ให้รู้จักว่าอันนี้มันผิดอันนี้มันถูก แค่นี้เสียก่อนให้รู้จักจริงๆ เท่านี้... อาตมาก็ดีใจแล้ว ให้รู้จักจริงๆ ไม่ใช่รู้เล่นๆ เท่านี้ก็ได้ห้าสิบเปอร์เซ็นต์แล้ว ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ถ้าคนรู้ว่าอันนี้มันผิดอยู่ในใจของเขาแล้ว ทำอะไรมันก็รู้ว่าผิด ใจมันบอก ทำเมื่อไรมันก็บอกว่าอันนี้มันผิด มันทวงไม่หยุดอย่างนี้ ทำตอนไหนก็ผิด เห็นอยู่เรื่อยๆ เดี๋ยวมันก็หยุดเอง อันนี้ไม่ได้ถามตัวเองสักที มันจึงไม่เห็นชัด มันไม่เห็นชัดอย่างนั้น

เช่นเรากินเหล้าอย่างนี้ พอยกแก้วขึ้นมาก็บอกว่า... บาปนะ แต่ก็ยังกินอยู่ เพื่อนชวนกินในสังคมอย่างนี้ก็กินไป พอยกแก้วขึ้นตอนไหนก็บอกว่าบาปนะ เห็นว่ามันผิดทันที มันเลยขวางกันไปกับใจพวกเรา ยกขึ้นครั้งใดก็นึกอยู่เสมอว่า หลวงพ่อท่านว่ามันบาป ไม่เฉพาะแต่ท่านว่า เห็นคนอื่นกินก็เห็นว่ามันเป็นบ้าเป็นบอ เห็นว่ามันผิดอยู่อย่างนั้น แต่ก็กิน แต่ก็ยังคิด เอ๊า เอาแค่นี้ไม่เอาอีกแล้ว เดี๋ยวเขาก็ยกมาให้อีก เอ๊า... ลุงนี้ของหลานนะ เอาสักนิดหนึ่งทั้งๆ ที่รู้ว่ามันผิดอยู่ กินตอนไหนก็รู้ว่ามันผิดอย่างนี้

การฆ่าสัตว์ก็เหมือนกัน เห็นอยู่ว่าฆ่าเขามันบาป แต่ก็ไม่หยุด ไม่หยุดก็ตามแต่ให้มันเห็น อันนี้ อาตมาเคยพบมาจึงพูดให้ฟัง เราสร้างบารมี คือเราฟังแล้วมาพิจารณาใจของเรา เช่นเราไปจับกบแต่ก่อนพอจับได้หักขามันทันที แต่พอบอกว่ามันบาปนะโยม... ได้คิดหักขาเขาก็เหมือนหักขาเราเหมือนกัน ถ้าคิดให้ดีๆ เมื่อไปพิจาณาดูเลยรู้ขึ้น มาทีหลังได้กบมาใหม่ไม่หักขากลัว... มันกลัว มันลดลงมา ไม่หักขาแต่เอามาใส่ข้องไว้นั้นแหละ เอามาบ้านให้แม่บ้านทำ คิดอย่างนี้ก็ทำไปเรื่อยๆ จับกบมาใส่ข้องทีไรก็ไม่หักขาล่ะทีนี้ ได้แล้วขั้นหนึ่ง คือไม่หักขากบ แต่ก็เอามาเหมือนเดิมนั้นแหละ ทำอยู่อย่างนั้น คิดไม่หยุด นึกไปนึกมาว้า... เว้ย... อันนี้มันก็ยังไม่ถูกมั้ง ... ไม่หักแต่ก็ยังเอามาให้เขา มันก็จะเถียงกันอยู่ในใจนั่นแหละ เถียงไปเถียงมา เอาไปเอามา มันสร้างบารมี นึกไปนึกมาก็ยิ่งถูก ว่ามันผิดอยู่เกรงอยู่ กลัวอยู่ แต่ไม่หยุดแต่ก็คิด อันนี้ก็เป็นเหตุ ประเดี๋ยวก็หยุด บางทีก็หยุดไม่มากหยุดเฉพาะวันพระ มันห่างแล้วทีนี้ หยุดแต่วันพระ แต่วันไม่พระก็ยังเอาอยู่ ทำไปปฏิบัติไปแต่กลัวอยู่คิดอยู่ ทำไมหยุดมันก็มีความรู้เกิดขึ้นมาว่า วันพระ หรือไม่พระก็คงเหมือนกันละมัง มันสอนอยู่อย่างนี้ จิตเราถ้ามันเห็นแล้ว นั่งอยู่ก็สอน เดินอยู่ก็สอน สอนว่ามันผิด... มันผิด... อยู่อย่างนี้ ผลที่สุดมันจู้จี้มากมันก็หยุดเท่านั้นเอง


////////// ต่อตอน 2

**wan**
10-27-2008, 10:29 AM
สำหรับการสร้างบารมีอาตมาถึงว่า พ่อออกเอ๊ย... รักษาศีลนะ รักษาไม่ได้อย่าไปว่านะ "ครับ กระผมจะพิจารณา จะพยายาม" นี้คือการเปิดประตูเอาตนเองออก ถ้าคิดว่าไม่ได้หรอกครับ นี่คือการปิดประตูไม่มีหนทางจะออก คำว่าไม่ได้คือเราไม่เคยคิดว่าจะออก ถ้าบอกว่ากระผมจะพยายามครับ นี้ยังพอมีหนทาง คำพูดอันนี้เป็นคำพูดออกมาจากจิตใจ ว่าจะพยายามก็จะพยายามจริงๆ นี้คือ การสร้างบารมีทางด้านจิตใจของเราทำอะไรก็รู้อยู่ เห็นอยู่ว่ามันถูกมันผิด มันเปลี่ยนจากมิจฉาทิฐิมาเป็นสัมมาทิฐิ ไม่นานหรอกโยม นี้เรียกว่าการสร้างบารมีทางจิต เห็นไป... เห็นไป... ความเห็นมันก็แก่ขึ้นกล้าขึ้น บารมีมันกล้าขึ้น เพิ่มขึ้น อันนี้มันก็เลยมากขึ้น กิเลสมันก็น้อยลง เพราะบารมีมันมีมากขึ้น เปรียบประหนึ่งว่าเราทุกคนที่นั่งกันอยู่นี้ สมัยก่อนเราเป็นเด็กเล็กๆ ตอนนี้เราเป็นผู้ใหญ่ ถามว่าเด็กเล็กมันหายไปไหน? มันไม่หายไปไหนหรอก คือเด็กน้อยเป็นเหตุให้เราใหญ่ เวลาเราโตเด็กมันก็เลยหายไป เด็กไม่มีไม่รู้ไปไหน กลายมาเป็นผู้ใหญ่ เลยไม่มีเด็กน้อย จิตใจของเราก็เช่นกัน ถ้าความรู้เกิดขึ้นความไม่รู้มันก็หายไป ทิ้งไป เหมือนกับเรานี้แหละ แต่ก่อนก็เป็นเด็กพอโตขึ้นมาเด็กก็ไม่มี มันไปไหนล่ะ มันไม่ได้ไปไหนหรอก อยู่ตรงนั้นแหละ คือมันหนีจากเด็กแล้วมาเป็นผู้ใหญ่ มันฆ่าของมันเองหรอก หรือว่าไง? หรือเราคิดว่าเด็กมันไปไหน เด็กน้อยมันวิ่งไปภูเขาโน้น หรือมันไปไหน? หือ... คิดให้คักๆ (ดีๆ) เด๊อ... นี้เรียกว่าการพิจารณา การสร้างบารมี แต่ก่อนเด็กน้อยมันอยู่กับเราแต่ว่ามันใหญ่มันก็เลยไม่มี มะม่วงก็เหมือนกัน มันเป็นดอกก่อน เวลามันเป็นลูก ดอกมันไปไหนมันก็มาเป็นลูกนั้นแหละ เวลามันเล็กมันก็ยังไม่ใหญ่เพราะอะไร? เพราะมันคา (ติด) ลูกเล็กอยู่ ถ้าอยู่ไปนานนานใหญ่ก็ปรากฏขึ้น เล็กก็ค่อยหายไป ใหญ่ขึ้นมา มันก็ห่าม ผลดิบมันก็หายไป พอถึงเวลามันสุกแล้ว ผลห่าม ผลเล็ก ดอกมันไปไหน เวลามันหวาน ความเปรี้ยวมันไปไหน? เวลาเปลือกมันเหลือง ความเขียวมันไปไหน? มันเข้ามารวมกันที่มะม่วงใบเดียวกันทั้งหมด ผลน้อยก็มารวมที่ผลใหญ่ รสเปรี้ยวก็มารวมที่รสหวาน สีเปลือกที่เขียวๆ ก็มารวมที่สีเหลืองๆ ของมัน ไม่ใช่มันวิ่งไปไหน มันรวมกันที่เดียวทั้งหมด แต่พวกเราไม่รู้จัก ไม่ได้พิจารณา ไม่ได้พิจารณาอย่างไร มะม่วงใบนี้เมื่อมันสุกมาแล้วเราจับขึ้นมา ยกขึ้นมา ไม่ได้เข้าใจว่ายกต้นมะม่วง ยกกิ่งมะม่วง ยกรสมะม่วง กลิ่นมะม่วง ไม่เคยเห็น ความเป็นจริงแล้วเวลาเราจับมะม่วงขึ้นมากิน ก็คือเรายกขึ้นมาทั้งต้น ทั้งผลทั้งเมล็ด แต่ในเวลานี้มันเห็นไม่ได้ เพราะมันละเอียดมาก เมื่อเวลาเราเอาไปฝังลงบนดิน ให้มันถูกสัดส่วนของมัน มันจะถอดลำต้น ถอดใบขึ้นมา แล้วเกิดกิ่งขึ้นมา เกิดดอกออกผล เกิดรสเกิดชาติ ขึ้นมาแต่ว่าเวลากินมะม่วงเราไม่เห็นเพราะอะไร? เพราะเราไม่ละเอียด มันจึงไม่เห็น เวลาเอาไปปลูกถึงจะเห็นว่าโอ้... ที่แท้เราแบกต้นมะม่วงกินอยู่แต่ไม่รู้จัก

ความหลงของสัตว์ก็เหมือนกันฉันนั้น มันเป็นอย่างนั้น พระพุทธองค์ท่านจึงให้สร้างบารมี บารมีก็คือคุณธรรมอันยวดยิ่ง สร้างบารมีทางจิตใจให้พิจารณาให้ภาวนา ภาวนาก็คือการพิจารณาเหมือนเราจับเอาไม้มาตัด ต้องรู้ว่าตัดตรงนี้มันจะสั้นไปไหมหนอ หรือจะยาวไปไหมหนอ... นี้คือภาวนาล่ะ ไม้นี้มันจะใหญ่ไปหรือมันจะเล็กไปหนอ... พิจารณาว่าจะตัดตรงไหน

ความจริงทุกคนต้องภาวนา แต่เราไม่รู้เรื่องของเจ้าของ ถ้าเราพิจารณาเหตุ พิจารณาผลแล้ว เราก็ทำความชั่วไม่ได้ ไม้ถ้าเราพิจารณาแล้วตัดไม่ผิด ถ้าพิจารณาไม่ออกเอาตลับเมตรมาวัดดู ได้ห้าเมตรหกเมตรตามที่เราต้องการค่อยตัดไม่ผิด นี้เรียกว่าการภาวนาทุกอย่างให้ได้ภาวนา

พระพุทธองค์ท่านจึงสอนว่า การให้ทานร้อยครั้ง ไม่เท่ารักษาศีลครั้งหนึ่ง รักษาศีลร้อยครั้ง ไม่เท่าภาวนาครั้งหนึ่ง ภาวนานี้มันละเอียด เพราะภาวนานี้มันถึงจิต มันปล้อนสารพัดอย่างออกมาได้ เห็นในจิตตนเอง ถ้าเห็นในจิตตนเองแล้ว ต่างจากคนที่ไม่เห็นเหมือนกันกับเรา ไปเห็นหมูป่า หรืออีเก้งด้วยตนเอง กับการที่เราได้ยินเขาพูดให้ฟังว่าหมูป่าเป็นอย่างนี้นะ อีเก้งเป็นอย่างนี้นะ เท่านี้ก็มีความรู้ต่างกันแล้ว ถ้าเราเห็นชัดว่าลักษณะหมูป่าเป็นอย่างนี้ ใครมาพูดให้ฟังถูกหมด ตลอดรูปร่างสัณฐานของมัน ตลอดขนมันขามันแข้งมันสารพัดอย่าง เราจะมีความสามารถพูดได้อย่างแจ่มแจ้ง แต่ถ้าเราไม่รู้ ได้ยินเขาพูดว่าหมูป่านะ ก็จะมีปัญหาว่าหมูป่ามันเป็นอย่างไร? อธิบายไม่ถูกเดี๋ยวเขาก็จะสวนกลับมาว่า มึงไม่รู้จักหมูหรือไงว่ะ... ถ้าเราเห็นจริงๆ แล้วสามารถอธิบายได้ พูดได้เต็มปาก เพราะทางจิตมันเห็นมันเป็นอย่างนั้น การภาวนามันแจ้งขาวกว่ากัน สิ่งที่เราเอาไปนั้นมันไม่มีอะไร เราเห็นชัดเจนแล้ว เรื่องมันเป็นวัตถุ เป็นเรือนชาน บ้านช่อง ทรัพย์สมบัติต่างๆ ที่เรียกว่าของเรานั้นก็จริงอยู่ แต่จริงโดยสมมุติ เป็นของสมมุติ

อาตมาเคยไปสำรวจตรวจสอบดู ทายกทายิกาพากันอยากได้วัด ร้องขอ เอาวัดไปให้แล้วไม่รู้พากันทำขนาดไหน ไปเยี่ยมดู ไปสำนักไหนก็มีความรู้สึกว่าเหมือนกับหิ้วของหนัก พากันแบกของหนัก แบกไปแบกไปมันหนักมาก นึกจะปลงจะวาง มันเหนื่อย... สร้างคุณงานความดีนี้กำลังมันไม่พอ มันมีความขี้เกียจมักง่าย ไปที่ไหนๆ ก็เหมือนกัน ตลอดจนกระทั้งพระสงฆ์เหมือนกันกับแบกของหนัก มันทุกข์... เมื่อมันทุกข์ ความรู้สึกในใจก็มีแต่อยากจะปลงจะวางอยากปล่อย... กำลังใจไม่มาก เหมือนคนกำลังไม่มากแบกของหนัก คอยแต่จะปลง แต่จะวาง พวกประพฤติธรรมก็เหมือนกัน ผู้ยังไม่ถึงธรรมยังไม่บรรลุธรรมมันอยู่ในความทรมาน หิ้วไปดึงไป ก็ยังดี ยังดีกว่าบุคคลที่ยังไม่ได้แบกของ ยังไม่เคยได้ของ ดีกว่า... มีความอดทน

คณะอุบาสกอุบาสิกาที่เป็นฆราวาส ความเป็นจริง อยากให้รู้จักหน้าที่การงาน ของเจ้าของไว้ ทุกๆ คน เพราะว่ามันไม่มีอะไร ไม่มีอะไรจะได้จะดี ไม่มีอะไรที่จะเป็นแก่นเป็นสารสักอย่างหนึ่ง ที่มันเป็นแก่นเป็นสาร ท่านให้ภาวนา เพื่อให้มันบรรลุถึงความพ้นทุกข์ทั้งหลาย เมื่อเฒ่าแก่มาแล้วก็ไม่เห็นมีอะไร หรือใครว่า ยังไง? หมดราคา สภาวะร่างกายนี้หมดราคา ก้อนรูปมันมันไม่เที่ยงมันเปลี่ยนไป... เปลี่ยนไปทางจิตใจ ที่เรียกว่านานมันก็ไม่เหมือนเก่า แต่ว่าเลี้ยงคนโดยธรรมะนั้นเลี้ยงยากมากนะ เลี้ยงลูก เราเอาข้าวเอาน้ำมาให้มันกิน มันก็รู้จักใหญ่ รู้จักโต เลี้ยงโดยภาษาธรรมให้อาหารธรรม ให้คนใหญ่ในธรรม ให้คนดีในธรรม ให้คนมีกำลังในธรรมยาก... ลำบากแท้ๆ ปฏิบัติไปจนเฒ่าจนแก่ก็ยังไม่โต ยังน้อยยังไม่ใหญ่ มันใหญ่แต่ร่างกาย ร่างกายเราให้อาหารมันกิน มันก็ใหญ่ ใหญ่ทางเนื้อทางหนัง ธรรมะความรู้ทางจิตใจมันไม่ใหญ่ความเป็นจริงการปฏิบัติ นักบวชก็ดี เป็นฆราวาสวิสัยก็ดี... นะ... พวกเราอบรมกันตั้งหลายปี ตั้งแต่เด็กจนเฒ่าจนตาย ก็ยังไม่ใหญ่นะ กำลังธรรมะมันน้อย กำลังธรรมะไม่มาก ไม่เห็น เหมือนกันกับปลา ปลาอยู่ในน้ำ มันไม่เห็นน้ำ อันนี้จริง อยู่ในน้ำไม่เห็นน้ำ อันนี้เราอยู่กับกองธรรมอยู่กับพระไตรปิฎก ไม่ได้อ่านพระไตรปิฎก ถึงอ่านพระไตรปิฎกก็ไม่ได้เข้าใจในพระไตรปิฎก ในข้อความอันนั้น เราอยู่กับกองกาย กองรูป กองเวทนา กองสัญญา กองสังขาร กองวิญญาณ และสวดด้วย เรียนด้วย แต่ไม่เห็น พูดอยู่ สวดอยู่ แต่ไม่เห็น จึงเหมือนกับปลาดำอยู่ในน้ำแต่ไม่เห็นน้ำ ก็เหมือนกับพวกเราทั้งหลาย พูดธรรมะอยู่แต่ไม่เห็นธรรม เพราะว่ามันมีอะไรปิดบังไว้โดยไม่รู้สึกตัว มองไม่เห็น เช่นการเรียนการสวด หรือการพูดมันเป็นอุบายให้เข้าไปเห็นธรรม ไม่ใช่ตัวธรรมะ ไม่ใช่เรื่องธรรมะ นั้นก็ยังไม่ใช่ตัวธรรมะ มันเป็นข้อความบันทึกธรรมะแค่นั้น เราพากันเรียน พากันบ่น พากันสวดเป็นต้น สวดเรื่องธรรมะ สวดข้อบันทึกธรรมะ ไม่ใช่ตัวธรรมะ

อุปมาเหมือนกับว่าพริกมันเผ็ด เกลือมันเค็ม เราบอกว่าพริกมันเผ็ด... อย่างนี้ ยังไม่เห็นความเผ็ดของมัน ยังไมรู้จักคำที่ว่ามันเผ็ด มันเค็ม ไม่ใช่ตัวเผ็ดตัวเค็ม การอธิบายธรรมะให้ฟังก็เหมือนกัน อันนี้ไม่ใช่ตัวธรรมะ เป็นคำพูดของบุคคล เป็นอุบายให้เข้าไปเห็นธรรมะ ตัวหนังสือคัมภีร์ต่างๆ ก็เหมือนกัน เป็นข้อความบันทึกธรรมะ ไมใช่ตัวธรรมะ อ่านได้ ท่องได้ แต่ใจยังไม่เป็นธรรมะ พูดรู้เรื่องอยู่ ก็ยังไม่เป็นธรรม ยังไม่เห็นธรรมะ ตัวธรรมะจริงๆ นั้นบอกกันไม่ได้ เอาให้กันไม่เป็น ไม่รู้จัก ส่วนที่เราศึกษาเล่าเรียน สิ่งที่เราปฏิบัติทั้งหลายเหล่านี้ มันเป็นอุบาย เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ บอกให้เขาไปถึง เช่นบอกว่าพริกมันเผ็ดนะ ยังไม่รู้จัก ว่าตัวเผ็ดจริงๆ นั่นเป็นอย่างไร รู้จักแต่เสียงสำเนียงชื่อมันว่าเผ็ด แต่ตัวเผ็ดไม่รู้จัก ส่วนนั้นไม่ใช่ส่วนของครูบาอาจารย์ ไม่ใช่ส่วนของหนังสือ ไม่ใช่ส่วนของคัมภีร์ มันเป็นส่วนของเจ้าของที่ปฏิบัติ มันจึงจะรู้จักว่ามันเผ็ดจริงๆ จึงจะรู้ว่าตัวเผ็ด จึงจะเข้าถึงตัวเผ็ดตัวเค็มเป็นต้น เผ็ด... เค็มมีแต่ชื่อไม่ใช่ตัวมัน ได้ยินแต่ไม่รู้จักส่วนนั้น มันเป็นส่วนของการปฏิบัติ ต้องเอาไปกิน ความเผ็ด ความเค็ม ความเปรี้ยวจึงจะปรากฏขึ้นมา อันนั้นเป็นตัวเผ็ดอันนั้นเป็นตัวเค็ม เราอ่านหนังสือเราฟังธรรมะยังไม่ใช่ธรรมะ ตรัสรู้ธรรมไม่ได้ รู้ได้ด้วยตำราเป็นส่วนของอุปัชฌาย์อาจารย์จะแนะนำโดยอุบายต่างๆ เพื่อให้เข้าไปเห็นความเผ็ด คือธรรมะ อันนี้ก็เหมือนกัน เป็นอุบายให้เข้าไปเห็นธรรมะ ไม่ใช่ตัวธรรมะ ดังนั้นคนจึงยากที่จะรู้ ยากที่จะเห็น เพราะไม่ได้เข้าใจการปฏิบัติ เช่นเดียวกับแพทย์ หรือหมอรู้จักสรีระกายของมนุษย์ดี เพราะการศึกษาเล่าเรียนมารู้จัก แต่ก็ไม่รู้จักสรีระอวัยวะของมนุษย์ตามเป็นจริงของหลักธรรม รู้ตามหลักการและวิชาการเท่านั้น ท่านเรียกว่าไม่เห็น เหมือนปลาอยู่ในน้ำไม่เห็นน้ำ หมอแพทย์ผ่าตัดสรีระร่างกายของคน รู้จักไปตามหลักการวิชาการ แต่ไม่รู้จักในหลักธรรมะตามความเป็นจริง มันเป็นคนละแขนงอย่างนั้น

ฉะนั้นพุทธบริษัทเราทั้งหลาย ยากที่จะบรรลุธรรมะ เรียกว่าไม่เข้าถึงแก่นของธรรมะ ก็เพราะมันเป็นอย่างนี้เอง ไม่ได้น้อมเข้ามา เราตั้งใจปฏิบัติมานมนาน ปฏิบัติได้ ๙ พรรษา ๑๐ พรรษา ๒๐ พรรษา บุรุษและสตรีทั้งหลาย ถ้าเราไปบุกเบิกทำไร่ไถนา คงจะได้มาหลายไร่แล้วนะ นั้น... มันเป็นอย่างนั้น เราเป็นนักบวชตั้งใจมาปฏิบัติแท้ๆ แต่ยังไม่ได้อะไร ยังทำความยุ่งยากใส่ตัวเองอยู่และใส่ผู้อื่นอยู่ ไม่รู้จัก มันไม่รู้จักทั้งๆ ที่จะไปละกิเลสทั้งหลาย แต่ไม่รู้เรื่อง ถูกนินทากาเลยังมีโกรธมีโมโห ยังถือเราถือเขา ยังถือทิฐิมานะ เป็นหน้าที่ของนักปฏิบัติจะฝ่าฟันลงให้เห็น เช่น เราสวดอาการสามสิบสอง แยกแยะออกหมดทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อให้เห็น เพื่อให้ละสักกายทิฏฐิ ไม่ถือตัวถือตน ว่าเป็นแก่นเป็นสาร เป็นเรา เป็นเขา ยังมีความโกรธมีความขึ้งเคียด ยังมีความเห็นแก่ตัว เป็นสักกายทิฏฐิ ละวิจิกิจฉายังไม่ได้ มันยังไม่ลงหนทาง จึงเป็นของยากเป็นของลำบาก

เราอยู่ไปนานๆ มันก็หนัก เหมือนแบกของหนัก คนแบกของหนักคิดพยายามจะปลงจะวาง เพราะมันไม่สบาย โดยมากนักบวช นักพรต นักปฏิบัติเราจะชอบเป็นอย่างนี้ ไม่ได้อาศัยเจ้าของเป็นอยู่ อาศัยคนอื่น เหมือนกันกับพระอานนท์ พระอานนท์เป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า ได้เป็นพุทธอุปัฏฐาก ไปไหนก็ไปตาม ติดตามกันไปเรื่อยๆ พระพุทธเจ้าโปรดเวไนยสัตว์ทั้งหลายด้วยธรรมะ พระอานนท์ก็ได้ยินได้ฟัง แต่ก็ยังไม่ได้บรรลุซึ่งธรรมะ เมื่อถึงคราวพระพุทธเจ้านิพพาน พระอานนท์ร้องไห้ เพราะเข้าใจว่าพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นครูเป็นอาจารย์ของพวกเราทั้งหลายนั้น บัดนี้ท่านมาเสียชีวิตไปแล้ว ต่อไปใครหนอจะเป็นครูเป็นอาจารย์ของเรา น้อยใจ ความน้อยใจทำให้ร้องไห้ปริเทวนาการ คนยังไม่ถึงธรรมะ ยังไม่บรรลุธรรมะเป็นอย่างนี้ เรื่องคิดเอาไม่ได้ เพราะพระอานนท์ได้ยินแต่คำท่านเทศน์ธรรมะ ตัดความโศกเศร้าปริเทวนาไม่ได้ เข้าใจว่าเมื่อครูของท่านล่วงลับไปแล้ว ใครจะเป็นครูเป็นอาจารย์ เราคงไม่เห็นท่านอีกแล้ว คิดไปน้ำตามันก็ไหลออกมา ความรู้สึกเช่นนี้ล่ะ เกิดขึ้นกับคนที่ไม่รู้ธรรมะ ไม่มีทางพ้นทุกข์ พระเถระทั้งหลายผู้บรรลุถึงธรรมชั้นสูง เห็นพระพุทธเจ้านิพพาน ท่านไม่คิดอย่างนั้น เออ... พระตถาคตท่านไปดีแล้ว ท่านสบายแล้ว ท่านหมดภพหมดชาติของท่านแล้ว สบาย... เกิดความสลดสังเวชในสังขารเท่านั้นก็แล้วไป

ธรรมดาคนเราทุกวันนี้ลำบาก ไม่เห็นง่ายๆ ยกตัวอย่างเช่น พระธาตุพนมพัง คนร้องไห้ก็มีและวิพากษ์วิจารณ์กันไปหลายๆ อย่างมันเป็นกรรมเป็นเวร เป็นเสนียดจัญไรแก่บ้านเมือง ว่าไปอย่างนั้น อย่างไรมันจะเสียใจมันก็คิดไป เพราะคนมันหลง ความเป็นจริงอันนี้ เป็นธาตุท่านพังนะ ท่านนิพพาน ก่อนท่านไป ตัวท่านเองท่านก็ยังไปท่านไม่อยู่ ท่านยังบอกว่า สิ่งทั้งปวงมีความเกิดแล้วไม่แปรผันไปนั้นไม่มี ต้องแตกทำลายเป็นเบื้องหน้า ท่านสอนไว้ ตัวของท่านเองท่านก็ไปแล้ว เหลือแต่อัฐิ อัฐิก็กระดูกท่าน แต่ตัวจริงท่านก็ผ่านไปแล้ว ท่านยังสั่งว่าอนิจจังเป็นของไม่เที่ยง อย่าพากันไปตำหนิก้อนอิฐ อย่าไปตำหนิก้อนหิน อย่าพากันไปถือโลหะต่างๆ เป็นที่พึ่ง มันไม่เกิดประโยชน์ ให้เราพ้นจากทุกข์ไปได้ แม้ท่านจะนิพพานแล้วก็ตาม ให้พากันเข้าถึงพระพุทธ พระธรรม ให้มีรากฐานแน่นหนา ให้มีอริยสงฆ์ อันเกิดจากพระสัทธรรมเป็นที่พึ่งอันนั้นเป็นสรณะที่พึ่งของเรา

ฉะนั้น ถ้าเราไปอาศัยภูเขา อาศัยต้นไม้ อาศัยก้อนหิน อาศัยก้อนอิฐอยู่มันก็พัง ถ้าพังแล้วก็ร้องไห้เสียใจ นี่ล่ะ... พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้ถือมงคลตื่นข่าว มันทุกข์ มันนำตนพ้นทุกข์ไม่ได้ พ้นจากวัฏฏะสงสารไม่ได้ มันเป็นมงคลตื่นข่าว ฉะนั้นยากที่คนจะเห็น ยากที่คนจะรู้จักซึ่งธรรมะ พูดตามความเป็นจริง ความจริงที่มันมีอยู่ ตั้งอยู่เสมอ ไม่มีอะไรหวั่นไหว ความจริงยังตั้งมั่นอยู่ ท่านว่ามันพัง มันก็พัง ท่านว่ามันแตก มันก็แตก ท่านว่ามันฉิบหาย มันก็ฉิบหาย มันก็ถูกอยู่แล้วไม่มีอะไรจะเกิดวิปลาสอีกต่อไป ไม่มีทางแก้ไข ความจริงตั้งมั่นอยู่อย่างนี้ เมื่อพระองค์ทรงพระชนม์อยู่ท่านก็เทศน์ให้ฟัง เมื่อท่านดับขันธ์ปรินิพพานแล้วท่านก็สั่งไว้ โดยปริยาย ในเบื้องปลาย เพื่อจะให้ประชาชนทั้งหลายเข้าใจธรรมะ ขนาดนี้ก็ยังเข้าใจได้ยาก นี่อะไรมันบัง อะไรมันปิดบังไว้ อะไรมันปิดดวงตา เช่นท่านให้พิจารณาสกนธ์ร่างกาย เป็นของไม่เที่ยง เป็นของไม่สะอาด เป็นของไม่เป็นแก่นสาร สภาพร่างกาย ตาเรามองเห็น เห็นขน เห็นขา เห็นนิ้วมือ นิ้วเท้า เห็นทุกส่วน แต่ว่ามันไม่เห็น เห็นแล้วก็ไม่เห็น เห็นแล้วไม่เห็นลักษณะอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาในรูปอันนี้ เมื่อมันวิบัติมาวิบัติไปก็มีความโศกเศร้าปริเทวนารำพันชื่อว่าเราไม่เห็น ไม่ใช่ตาเนื้ออันนี้ ท่านหมายถึงตาใจ คือปัญญา ให้พิจารณา ทุกสิ่งสารพัดท่านให้ภาวนา ภาวนาคือให้มันถูก คิดให้มันแม่น การคิดให้มันแม่น การคิดให้มันถูกนั้นแหละ คือยอดธรรมะ ยอดของการภาวนา เราจะเดินจงกรมก็ดี เราจะนั่งสมาธิก็ดี เคลื่อนอิริยาบถต่างๆ ทั้งหลายก็ดี คือ พระพุทธเจ้าท่านบังคับให้สติรอบรู้อยู่อย่างนั้น ก็เพราะว่าท่านอยากให้เรามีความเห็นถูกต้องดี ถ้ามีความเห็นถูกต้องดีมันก็เป็นมรรค เป็นสัมมาทิฏฐิเท่านั้น เมื่อเราทุกข์เราก็จะระบายทุกข์ออก เช่นว่าเราเจ็บไข้ มันเจ็บหัว มันปวดท้องอย่างนี้เป็นต้น หรือมันเฒ่าแก่ชรามาอย่างนี้ เราเห็นแล้วเราก็มีความสบายในธรรมะ เรื่องนี้มันเป็นอย่างนี้เอง มันจะไม่เป็นไปอย่างอื่น ทุกรูปทุกนามเกิดมาแล้วจะต้องเป็นอย่างนี้ มันจะมีความทุกข์เกิดขึ้นมาก็ไม่เมา มันจะมีความสุขเกิดขึ้นมามันก็ไม่เมา ไม่ได้เมาในสิ่งใดทั้งหลายทั้งปวง เพราะเห็นว่ามันเป็นอย่างนั้น ตามเหตุตามปัจจัยของมัน เมื่อความเห็นถูกต้อง ใจก็ไม่ตื่นเต้นไม่หวาดไม่กลัว ไม่สะดุ้งต่อเหตุการณ์ทั้งหลายต่างๆ จะเห็นรูปก็ดี จะได้ยินเสียงก็ดี จะได้ลิ้มรสก็ดี ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกายก็ดี ธรรมารมณ์อันเกิดขึ้นทางใจก็ดีอิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่น่าปรารถนา อนิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนาก็ดี จิตใจของผู้บรรลุธรรมะ จะตรง จะมั่น จะเที่ยง จะมั่น รู้รอบอยู่ตามเป็นจริงนั้น พ้นจากทุกข์

อันนี้คือความคิดถูก เมื่อคิดถูกแล้ว มันสงบทุกสิ่งทุกอย่าง นี้คือการประพฤติปฏิบัติของพวกเราชาวพุทธทั้งหลาย ให้เห็นอันนี้ คำที่ว่าพ้นจากทุกข์นั้นก็ฟังยากลำบาก ว่ามันพ้นโดยวิธีอย่างไร ทำอย่างไรจึงจะพ้นทุกข์ได้ ถ้าภาษาเราง่ายๆ ว่ามันได้อะไรทุกสิ่งทุกอย่างตามชอบใจแล้ว ไม่ทุกข์ว่าอย่างนั้น แล้วไม่คิดว่าอันใดทั้งปวงในโลกนี้ ให้มันได้ตามชอบใจนั้นมีไหม? มันไม่มีหรอก หาไม่ได้ หาไม่มี นอกจากทำปัญญา สร้างปัญญาให้เกิดขึ้นให้ได้เท่านั้นเอง

ฉะนั้นเรื่องประพฤติปฏิบัติของพวกเราทั้งหลายนั้น มันจึงไม่ก้าวหน้า อาตมาเห็นว่ามันเหนื่อยหน่าย มันไม่บรรลุธรรมะอย่างแท้จริง ไม่บรรลุซึ่งธรรม ถ้าบรรลุซึ่งธรรม ปฏิบัติไปนานๆ มันจะเบื่อหน่ายเบื่อไป... เบื่อไป... เป็นต้น มันไม่ขี้เกียจ แต่คนเราไม่เป็นอย่างนั้น ปฏิบัติธรรมแล้วขี้เกียจ พอใครว่าหน่อยก็โกรธเลย ของใช้ไม่ได้ไม่ขี้เกียจมันจะเป็นอย่างนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างเอาออกได้ยาก เพราะไม่ได้พิจารณาด้วยปัญญาของเจ้าของ ผลของการปฏิบัติก็คือ โลภะ โทสะ โทหะ เต็มอยู่ในใจ เครื่องหมายของผู้ปฏิบัติ มันน้อย หรือมันมาก มันเจริญ หรือมันเสื่อม ทั้งหลายเหล่านี้จะต้องพากันรู้จักตัวเอง ถ้าเราพากันรู้เรื่องธรรมะแล้ว เราทั้งหลายจะเป็นผู้มีกำไร เป็นผู้มีกำไรมากทีเดียว มันจะไม่ตื่นเต้นจะไม่ทุกข์ในสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น เพราะว่าเห็นโลกตามเป็นจริง เช่นว่า "โลกวิทู เป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง" แต่เราไม่รู้โลกมันอยู่ตรงไหน มันพ้นจากโลกมันพ้นอย่างไร ไม่รู้จัก รู้แต่ว่า เออ... ถ้าตายคงสบายหรอก อยู่ในโลกนี้มันยาก พวกเราทั้งหลายเลยเห็นว่าดินฟ้าอากาศนี้เป็นโลก โลกที่อยู่ใกล้ไม่เห็น โลกอันนี้มันโลกคือแผ่นดิน โลกที่ทำให้สัตว์หมุนเวียนอยู่โลก คืออารมณ์ อารมณ์ที่มันเกิดขึ้นอยู่รอบๆ เรานี้ อารมณ์ที่มันเกิดทางหูบ้าง ทางตาบ้าง เข้ามารวมที่จิตใจ ถ้ามันหลงมันก็เกิดโลภและโกรธขึ้นมาอันนี้เป็นเครื่องหมาย ถ้าเราไม่รู้ไม่เท่าเอาไม่ทัน กำลังกิเลสทั้งหลายเหล่านี้ มันจะเต็มตื้ออยู่อย่างเก่า เมื่อเรารู้ตามเป็นจริงของมันแล้ว ไม่มีอะไร อารมณ์นี้ไม่ให้โทษใคร อารมณ์ก็เหมือนน้ำที่มันไหลไป ตามเรื่องของมัน เหมือนลมที่พัดไปตามอากาศ เราไปโทษว่ามันไหลเร็ว ไหลช้า ไปโทษว่ามันเป็นอย่างนั้นมันเป็นอย่างนี้ ความเป็นจริงเรื่องของมันเป็นอย่างนั้น แม้ถึงสกนธ์กายของเรานี้ก็เช่นกัน มันจะแปรไปไหนก็ช่างมัน เกิดโรคอะไรก็ตาม โรคอ้วนก็ตาม โรคผอมก็ตาม โรคตับ โรคปอดมันตายเพราะโรคอันนั้น มันตายเพราะโรคอันนี้ มันเป็นแขนงของมันต่างหากหรอก ถ้าพูดให้มันถูกจุดเดียวโรคนี้ไม่มีมาก คนนี้ตายเพราะอะไรหนอ? มันตายเพราะมันเกิด ไม่มีโรคอะไร โรคเกิดเขาตายเพราะโรคอะไร? ตอบว่า โรคเกิด เท่านี้ก็พอ โรคก็ตามมันมาจากโรคอันเดียว คือเกิด พอ... ถ้าเราว่าโรคเกิดมันก็จบ เพราะถ้าไม่เกิดมันก็ไม่ตายถ้าพูดง่ายๆ ก็ตามพูดอย่างนี้ เป็นโรคอะไร? โรคเกิดก็จบ ถ้าภาวนา ภาวนาอย่างไร? คือทำให้มันถูก แค่นี้ก็หมดเรื่องภาวนา ถ้าพูดให้มันสั้นก็ต้องพูดอย่างนี้ เอวัง

..................................................................