PDA

แสดงเวอร์ชันเต็ม : ทำใจให้เป็นบุญ พระโพธิญาณเถระ(ชา สุภัทโท)



**wan**
10-27-2008, 10:41 AM
http://buddhism.hum.ku.ac.th/Buddhism/Ajahn_Chah/clipart/0D7bHalfGrab.jpg
ทำใจให้เป็นบุญ

พระโพธิญาณเถระ(ชา สุภัทโท)
วัดหนองป่าพง อำเภอ วารินชำราบ
จังหวัด อุบลราชธานี

บรรยายที่วัดหนองป่าพง ให้แก่ชมรมพุทธศาสตร์เอสโซ่
เมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๔

โอกาสที่พวกเราจะได้มารวมกันแต่ละครั้งนี้ก็ลำบากนะ นับ ว่าเป็นมงคลอันหนึ่ง ที่ได้มาถวายสังฆทาน และได้มาฟังธรรมที่วัดหนองป่าพง เมื่อคืนคงได้ฟังหลายกัณฑ์ละมังนี่ อาตมาได้ขอโอกาส แก่พระสงฆ์ทั้งหลายและญาติโยมแล้ว ให้พระสงฆ์ทำธุระแทน กำลัง มันน้อยทุกวันนี้ ลมมันน้อยเสียงมันก็น้อย ทำไมมันจึงน้อย มันจะ หมดนะแหละ น้อยๆลง เดี๋ยวก็หมดแหละ มาที่นี่นับเป็นโชคดีที่ยัง เห็นตัวเห็นตนอยู่นะ ถ้านานๆไปมันจะไม่ได้เห็นแล้ว จะเห็นก็แต่วัด เท่านั้นแหละ ต่อจากนี้ให้ตั้งใจฟังธรรม

ระยะเวลานี้พวกเราแสวงบุญกันมาก มีคนแสวงบุญกันมาก ทุกแห่ง ที่ไหนที่ไหนก็มาผ่านวัดป่าพง ที่จะไปก็ผ่านนี้ ที่ไม่ผ่านกลับ มาก็ต้องผ่านนี้ ทอดผ้าป่าทอดกฐินทุกครั้ง ถ้าขาไปไม่พบ ขากลับก็ ต้องมาผ่าน ก็คือต้องผ่านทั้งนั้น ฉะนั้นวัดป่าพงจึงเป็นเมืองผ่าน ผ่าน ไปชั่วคราว ผ่านไปผ่านมา บางคนที่มีธุระรีบร้อนก็ไม่ได้พบกัน ไม่ได้ พูดกัน ฉะนั้นจึงต้องอาศัยเวลาของพวกเรา

โดยมากก็มาแสวงหาบุญกัน แต่ว่าไม่เคยเห็นญาติโยมที่ แสวงหาการละบาป มีแต่แสวงบุญเรื่อยไป ไม่รู้จะเอาบุญไปไว้ตรง ไหนก็ไม่รู้ ผ้าสกปรกไม่ฟอก แต่อยากจะรับน้ำย้อมนะ นี่มันเป็นอย่าง นั้น

คำสอนของพระท่านพูดไปโดยตรง ง่ายๆ แต่มันยากกับคนที่ จะต้องปฏิบัติ มันยากเพราะคนไม่รู้ เพราะคนรู้ไม่ถึง มันจึงยาก ถ้า คนรู้ถึงแล้ว มันก็ง่ายขึ้นนะ อาตมาเคยสอนว่าเหมือนกันกะรู มีรูอัน หนึ่ง ถ้าเราเอามือล้วงเข้าไปไม่ถึงก็นึกว่ารูนี้มันลึก ทุกคนตั้งร้อยคน พันคนนึกว่ารูมันลึก ก็เลยไปโทษรูว่ามันลึกเพราะล้วงไปไม่ถึง คนที่ จะว่าแขนเราสั้นไม่ค่อยมี ร้อยก็ทั้งร้อยว่ารูมันลึกทั้งนั้น คนที่จะว่าไม่ ใช่ แขนเรามันสั้น ไม่ค่อยมี คนแสวงหาบุญเรื่อยๆไป วันหลังต้องมา แสวงหาการละบาปกันเถอะ ไม่ค่อยจะมี

นี่มันเป็นเสียอย่างนี้ คำสอนของพระท่านบอกไว้สั้นๆ แต่คน เรามันผ่านไปๆ ฉะนั้นวัดป่าพงมันจึงเป็นเมืองผ่านธรรมะก็จึงเป็น เมืองผ่านของคน

สพฺพปาปสฺสอกรณํ กุสลสูปสมฺปทา สจิตฺตปริโยทปนํ สามคาถาเท่านี้ ไม่มากเลย สพฺพปาปสฺสอกรณํ การ ไม่กระทำบาปทั้งปวงนั่นน่ะ เอตัง พุทธานะสาสะนัง เป็นคำสอนของ พระ อันนี้เป็นหัวใจของพุทธศาสนา แต่เราข้ามไปโน้น เราไปเอา อย่างนี้ การละบาปทั้งปวง น้อยใหญ่ทางกายวาจาใจน่ะเป็นเลิศ ประเสริฐแล้ว เอตัง พุทธานะสานะนัง อันนี้เป็นคำสอนของพระ อันนี้ เป็นตัวศาสนา อันนี้เป็นคำสั่งสอนที่แท้จริง

ธรรมดาของเรานะ เวลาจะย้อมผ้า ก็จะต้องทำผ้าของเราให้ สะอาดเสียก่อน อันนี้ไม่อย่างนั้นสิ เราไปเที่ยวตลาด เห็นสีมันสวยๆก็ นึกว่าสีนั้นสวยดี เราจะย้อมผ้าละ ไม่ดูผ้าของเรา จับสีขึ้นมา เห็นสี สวยๆ ก็จะเอามาย้อมผ้าอย่างนั้นแหละ เอามาถึงก็เอามาย้อมเลย ผ้าของเรายังไม่ได้ฟอก ไม่สะอาด มันก็ยิ่งขี้เหร่ไปกว่าเก่าเสียแล้ว เรา คิดดูซิ กลับไปนี่ เอาผ้าเช็ดเท้าไปย้อม ไม่ต้องซักละนะ จะดีไหมน่ะ? ดูซิ

นี่ละ พระพุทธเจ้าท่านสอนกันอย่างนี้ เราข้ามกันไปหมด พา กันทำบุญ แต่ว่าไม่พากันละบาป ก็เท่ากับว่ารูมันลึก ใครๆก็ว่ามันลึก ตั้งร้อยตั้งพันก็ว่ารูมันลึก คนจะว่าแขนมันสั้นนะไม่ค่อยจะมี มันต้อง กลับ ธรรมะต้องถอยหลังกลับมาอย่างนี้ ถึงจะมองเห็นธรรมะ มัน ต้องมุ่งหน้ากันไปอย่างนี้

บางทีก็พากันไปแสวงหาบุญกัน ไปรถบัสคันใหญ่ๆสองคัน สามคัน พากันไป ไปกันบางทีทะเลาะกันเสียบนรถก็มี บางทีกินเหล้า เมากันบนรถก็มี ถามว่าไปทำไม ไปแสวงบุญกัน ไปแสวงหาบุญ ไป เอาบุญ แต่ไม่ละบาป ก็ไม่เจอบุญกันสักที มันก็เป็นอย่างนั้นแหละ อันนี้มันอยู่อย่างนี้ มันจะสะดุดเท้าเราใช่ไหม

ให้มองดูใกล้ๆมองดูตัวเรา พระพุทธเจ้าท่านให้มองดูตัวเรา ให้สติสัมปชัญญะอยู่รอบๆตัวเรา ท่านสอนอย่างนี้ บาปกรรมทำชั่ว ทั้งหลายมันเกิดขึ้นทั้งทางกาย ทางวาจา ทางใจ บ่อเกิดของบาปบุญ คุณโทษก็คือกาย วาจา ใจ เราเอากาย วาจา ใจ มาด้วยหรือเปล่าวัน นี้ หรือเอาไว้ที่บ้าน นี่ต้องดูอย่างนี้ ดูใกล้ๆอย่าไปดูไกลเราดูกายของ เรานี่ ดูวาจา ดูใจของเรา ดูว่าศีลของเราบกพร่องหรือไม่ อย่างนี้ไม่ ค่อยจะเห็นมี

โยมผู้หญิงเราก็เหมือนกันแหละ ล้างจานแล้วก็บ่นหน้าบูด หน้าเบี้ยวอยู่นั้นแหละ มัวไปล้างแต่จานให้มันสะอาด แต่ใจเราไม่ สะอาด นี่มันไม่รู้เรื่อง เห็นไหม ไปมองดูแต่จาน มองดูไกลเกินไปใช่ ไหม ดูนี่ซิ ใครคงจะถูกเข้าบ้างละมังนี่ นี่ให้ดูตรงนี้มันก็ไม่สะอาด (หมายเหตุ 1) สะอาดแต่จานเท่านั้นแหละ แต่ใจเราไม่สะอาด นี่มันก็ ไม่ดี เรียกว่าเรามองข้ามตัวเอง ไม่มองดูตัวเอง ไปมองดูแต่อย่างอื่น จะทำความชั่วทั้งหลาย ก็ไม่เห็นตัวของเรา ไม่เห็นใจของเรา ภรรยาก็ ดี สามีก็ดี ลูกหลานก็ดี จะทำความชั่วแต่ละอย่างก็ต้องมองโน้นมอง นี้ แม่จะเห็นหรือเปล่า ลูกจะเห็นหรือเปล่า สามีจะเห็นหรือเปล่า ภรรยาจะเห็นหรือเปล่า อะไรอย่างนี้ ถ้าไม่มีใครเห็นแล้วก็ทำ อันนี้มัน ดูถูกเจ้าของว่า คนไม่เห็นก็ทำดีกว่า รีบทำเร็วๆเดี๋ยวคนจะมาเห็น แล้วตัวเราที่ทำนี่มันไม่ใช่คนหรือ เห็นไหม นี่มันมองข้ามกันไปเสีย อย่างนี้ จึงไม่พบของดี ไม่พบธรรมะ ถ้าเรามองดูตัวของเรา เราก็จะ เห็นตัวเรา จะทำชั่วเราก็รู้จัก ก็จะได้ห้ามเสียทันที จะทำความดีก็ให้ดู ที่ใจ เพราะเราก็มองเห็นตัวของเราอยู่แล้ว ก็จะรู้จักบาป รู้จักบุญ รู้ จักคุณ รู้จักโทษ รู้จักผิด รู้จักถูก อย่างนี้ก็ต้องรู้สึกสิ

นี่ถ้าไม่พูดก็ไม่รู้ เราโลภก็ไม่รู้ เราหลงก็ไม่รู้ อะไรๆเราก็ไม่รู้ ไปมุ่งกันอย่างอื่น นี่เรียกว่าโทษของคนที่ไม่มองดูตัวของเรา ถ้าเรา มองดูตัวของเรา เราก็จะเห็นชั่วเห็นดีทุกอย่าง อันนี้ดีก็จะได้เก็บไว้ แล้วเอามาปฏิบัติ เก็บดีมาปฏิบัติ ดีก็ทำตาม ความชั่วเก็บมาทำไม เก็บมาเพื่อเหวี่ยงทิ้ง

การละความชั่ว ประพฤติความดี นี่เป็นหัวใจของพระพุทธ ศาสนา สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง การไม่ทำบาปทั้งทางกาย วาจา ใจ นั่นแหละถูกแล้ว เป็นคำสอนของพระ ถูกแล้วสะอาดแล้วละทีนี้ ต่อนั้นไปก็ กุสะละสูปะสัมปะทา คือ ทำใจให้เป็นบุญ เป็น กุศล คงรู้จักแล้ว เมื่อจิตเป็นบุญ จิตเป็นกุศลแล้วเราก็ไม่ต้องนั่งรถไป แสวงหาบุญที่ไหนใช่ไหม นั่งอยู่ที่บ้านเราก็จับบุญเอา จับเอา ก็เรารู้ จักแล้ว อันนี้ไปแสวงหาบุญกันทั่วประเทศแต่ไม่ละบาป กลับไปบ้าน ก็กลับไปเปล่าๆ ไปทำหน้าบูดหน้าเบี้ยวอย่างเก่าอยู่นั่นแหละ ไปล้าง จานหน้าบูดอยู่นั้นแหละ ไปดูแต่จานให้มันสะอาด แต่ใจเราไม่ สะอาด ไม่ค่อยจะดูกัน นี่คนเรามันพ้นจากความดีไปเสียอย่างนี้ คน เราน่ะมันรู้ แต่ว่ามันรู้ไม่ถึง เพราะรู้ไม่ถึงใจของเรา ฉะนั้นหัวใจของ พระศาสนาจึงไม่ผ่านเข้าหัวใจของเรา ใช่ไหม

เมื่อจิตของเราเป็นบุญเป็นกุศลแล้วมันก็จะสบาย นั่งยิ้มอยู่ ในใจของเรานั้นแหละ แต่นี่หาเวลายิ้มได้ยากใช่ไหมนี่ เวลาที่เราชอบ ใจถึงยิ้มได้ใช่ไหม เวลาไม่ชอบใจละก็ยิ้มไม่ได้ จะทำยังไง ไม่สบาย หรือสบายแล้ว คนเราต้องมีอะไรชอบใจเราแล้วจึงจะสบาย ต้องให้ คนในโลกทุกคนพูดทุกคำให้ถูกใจเราหมด แล้วจึงจะสบายอย่างนั้น หรือ ถ้าเป็นอย่างนั้นเราจะสบายได้เมื่อไร มีไหมใครจะพูดถูกใจเรา ทุกคน มีไหมนี่ แล้วเราจะเอาสบายได้เมื่อไร

เราต้องอาศัยธรรมะนี่ถูกก็ช่าง ไม่ถูกก็ช่างเถอะ เราอย่าไป หมายมั่นมัน จับดูแล้วก็วางเสีย เมื่อใจมันสบายแล้ว ก็ยิ้มอยู่อย่าง นั้นแหละ อะไรที่ว่ามันไม่ดี ไม่พอใจของเราเป็นบาป มันก็หมดไป มี อะไรดี มันก็คงต้องเป็นไปของมันอย่างนั้น

สะจิตตะปะริโยทะปะนัง เมื่อชำระบาปแล้ว มันก็หมดกังวล ใจก็สงบ ใจเป็นบุญเป็นกุศล เมื่อใจเป็นบุญ เมื่อใจเป็นกุศลแล้ว ใจก็ สบายสว่าง เมื่อจิตใจมันสว่างแล้ว ก็ละบาป ใจสว่างใจผ่องใส จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน มันก็สบาย เมื่อสบายสงบแล้วนั่นแหละคือคุณ สมบัติของมนุษย์ที่แท้เต็มที่ ที่เราอยู่สบายนั้นแหละ

ทีนี้เกี่ยวกับสิ่งที่เราชอบใจ ถ้าเขาพูดชอบใจเราก็ยิ้ม ถ้าเขา พูดไม่ชอบใจเราก็หน้าบูด เมื่อไรใครจะพูดให้ถูกใจเราทุกๆวันมีไหม แม้แต่ลูกในบ้านเรา เคยพูดถูกใจเราไหม เราเคยทำให้พ่อแม่ถูกใจ หรือเปล่า แน่ะ ไม่ใช่แต่คนอื่น แม้แต่หัวใจของเราเองก็เหมือนกัน บางทีคิดขึ้นมาไม่ชอบใจเหมือนกัน แล้วทำอย่างไร แน่ะ บางทีเดินไป ตำหัวตอสะดุดปึ๊ก ฮึ! มันอะไรล่ะใครไปสะดุดมันล่ะ จะไปว่าใครล่ะ ก็ตัวเราทำเองนี่ จะทำยังไง ก็แต่ใจเราเองยังไม่ถูกใจตัวของเราเอง ให้เราคิดดูสิ อันนี้มันเป็นอย่างนี้ละ มีบางอย่างเราก็ทำไม่ถูกใจเรา เอง ก็ได้แต่ ฮึ! ก็ไม่รู้จะไป ฮึ! เอาใคร นี่ล่ะมันไม่เที่ยงอย่างนี้ บุญในทางพุทธศาสนาคือการละบาป เมื่อละบาปแล้วมันก็ ไม่มีบาป ไม่มีบาปมันก็ไม่ร้อน ไม่ร้อนมันก็เย็น จิตที่สงบแล้วนั้นจึง ว่าเป็นกุศลจิต ไม่คิดโมโห มันก็ผ่องใส ผ่องใสด้วยวิธีอะไร ก็ให้โยมรู้ จักว่า แหมวันนี้น่ะ ใจมันดุเหลือเกิน ไปมองดูอะไร แม้แต่จะมองดู ถ้วยในตู้ มันก็ไม่สบาย (หมายเหตุ 2) อยากจะทุบมันทิ้งให้หมดทุก ใบเลย ไปดูอะไรก็ไม่ชอบใจไปเสียทั้งนั้น ดูใคร ดูเป็ด ดูไก่ ดูสุนัข ดู แมว ไม่ชอบใจ แม้แต่พ่อบ้านพูดขึ้นมาก็ไม่ชอบใจ เมื่อดูในใจของเรา ก็ไม่ชอบใจของเรา ทีนี้ก็ไม่รู้จะไปอยู่ตรงไหนแล้วละ ทำไมมันถึงได้ เกิดความร้อนอย่างนี้ นั้นแหละที่เรียกว่าคนหมดบุญล่ะ เดี๋ยวนี้เรียก คนตายว่าคนหมดบุญแล้ว ไม่ใช่อย่างนั้นคนที่ไม่ตายแต่หมดบุญมี เยอะ คือคนที่ไม่รู้จักบุญ ใจมันเป็นแต่บาปอยู่อย่างนั้น จึงสะสมแต่ บาปอยู่

โยมไปทำความดี ก็เหมือนโยมอยากได้บ้านสวยๆ จะปลูก บ้านแต่ไม่ปราบที่มันเสียก่อน เดี๋ยวบ้านมันก็จะพังเท่านั้นเองใช่ไหม สถาปนิกไม่ดีนี่ อันนี้ก็ต้องทำเสียใหม่ พยายามใหม่ ให้เราดูของเรา นะ ดูข้อบกพร่องของเรา ดูกาย ดูวาจา ดูใจ ของเรา กายเรานี่ก็มีอยู่ แล้ว วาจาก็มีอยู่แล้ว ใจก็มีอยู่แล้ว จะไปหาที่ปฏิบัติที่ไหนเล่า ไม่ใช่ มันหลงหรือนี่ จะไปหาที่ปฏิบัติอยู่ในป่าวัดป่าพงสงบเรอะ ไม่สงบ เหมือนกัน ที่บ้านเรานั่นแหละ มันสงบ ถ้าเรามีปัญญา ที่ไหนที่ไหน มันก็สบาย มันสบายทั้งนั้น

โลกทั้งหลายเขาถูกต้องของเขาหมดแล้ว ต้นไม้ทุกต้นมันก็ ถูกต้องตามสภาพของมันแล้ว ต้นยาวก็มี ต้นสั้นก็มี ต้นที่มันเป็นโพรง ก็มีสารพันอย่าง ของเขาเป็นของเขาอยู่อย่างนั้น มีแต่ตัวเรานั่นแหละ ไปคิด เพราะไม่รู้เรื่อง เฮ้ ต้นไม้นี่มันยาวไป อ้ายต้นนี้มันสั้นไป อ้าย ต้นนี้มันเป็นโพรง ต้นไม้น่ะเขาอยู่เฉยๆเขาสบายกว่าเรา ฉะนั้น จึงไป เขียนคำโคลงไว้ที่ต้นไม้ดีกว่า ให้ต้นไม้มันสอนเรา ได้อะไรบ้างหรือไม่ ล่ะ มาวันนี้ได้อะไรที่ต้นไม้ไปบ้างไหมต้องเอาให้ได้สักอย่างหนึ่งน่ะ ต้นไม้หลายต้นมีทุกอย่างที่จะสอนเราได้ อย่างนี้เรียกว่าธรรมะมันมี อยู่ทุกสภาพตามธรรมชาติทุกอย่าง ให้เข้าใจนะ อย่าไปติเสียว่ารูมัน ลึก เข้าใจไหมให้วกมาดูแขนของเราสิ อ้อ แขนของเรามันสั้น อย่างนี้ ก็สบาย เมื่อจะตรวจก็ให้รู้ว่ามันไม่ดีอย่างไร อย่าไปว่าแต่ว่า รูมันลึก ให้เข้าใจเสียบ้างอย่างนั้น

บุญกุศลใดๆ ที่เราทำให้มันมีไว้ในใจแล้ว นั่นละมันเลิศ ที่ทำ บุญกันวันนี้ก็ดี แต่ว่ามันไม่เลิศ จะสร้างวัตถุอะไรถาวรก็ดี แต่ว่ามัน ไม่เลิศ ถ้าสร้างใจให้เป็นบุญนั่นแหละ มันจึงเลิศ มานั่งที่นี่ก็สบาย กลับไปบ้านก็สบาย ให้มันเลิศ ให้มันเป็นบุญไว้นะ อันนี้มันเป็นเพียง ตัววัตถุ เป็นกะพี้ของแก่น แต่ว่าแก่นมันจะมีได้ก็ต้องอาศัยกะพี้ มัน เป็นเสียอย่างนั้น แก่นมันต้องอาศัยกะพี้ มีกะพี้จึงมีแก่น ให้เข้าใจ อย่างนั้น ทุกอย่างก็เหมือนกันฉันนั้น

ฉะนั้น ถ้าเรามีปัญญาแล้ว มองดูที่ไหนที่ไหนมันก็จะเห็น ธรรมะทั้งนั้น ถ้าคนขาดปัญญาแล้ว มองไปเห็นสิ่งที่ว่าดี มันก็เลย กลายเป็นไม่ดี ก็ความไม่ดีมันอยู่ที่ไหน มันก็อยู่ที่ใจของเรานี่แหละ ตามันเปลี่ยน จิตใจมันก็เปลี่ยน อะไรๆมันก็เปลี่ยนไปทั้งนั้น สามี ภรรยาเคยพูดกันสบายๆเอาหูฟังได้ อีกวันหนึ่งใจมันไม่ค่อยดี ใครพูด อะไรมันก็ไม่เข้าท่า ไม่รับทั้งนั้น มันไม่เอาทั้งนั้นแหละ ใช่ไหม ใจมัน ไม่ดี ใจมันเปลี่ยนไปเสียแล้ว มันเป็นเสียอย่างนั้น ฉะนั้น การละ ความชั่ว ประพฤติความดี จึงไม่ต้องไปหาที่อื่น ถ้าใจมันไม่ดีขึ้นมา แล้ว อย่าไปมองคนโน้นหรือไปว่าคนโน้นว่าคนนี้ ให้ดูใจของเราว่าใคร เป็นผู้พูดอะไร ทำไมมันถึงเป็นอย่างนี้ จิตใจทำไมมันเป็นอย่างนี้นะ นี่ให้เข้าใจว่าลักษณะทั้งหลายนี้มันไม่เที่ยง ความรักมันก็ไม่ เที่ยง ความเกลียดมันก็ไม่เที่ยง “เราเคยรักลูกบ้างไหม” ถามอย่างนี้ ก็ได้ “รัก เคยรัก” อาตมาตอบแทนเอง “เคยเกลียดบ้างไหม” ตอบ แทนเลยเนาะนี่ “บางทีก็เกลียดมัน” “ทิ้งมันได้ไหม” “ทิ้งไม่ได้” “ทำไม” “ลูกคนไม่เหมือนลูกกระสุน” ลูกกระสุนยิงโป้งออกไปข้าง นอก ลูกคนยิงโป้งมาโดนที่ใจเรานี้ ดีก็มาถูกตัวนี้ ชั่วก็มาถูกตัวนี้ อย่างนี้เรียกว่ามันเป็นกรรม ลูกเรานั่นแหละมีคนดีมีคนชั่ว ทั้งดีทั้งชั่ว ก็เป็นลูกเราทั้งนั้น เขาเกิดมาแล้ว ดูสิคนที่ไม่ดูขนาดไหนก็ยิ่งรัก เกิด มาเป็นโรคโปลิโอ ขาเป๋ ดูซิ รักคนนั้นกว่าเขาแล้ว จะออกไปจากบ้าน เพราะรักคนนี้ จึงต้องสั่งว่า ดูน้องดูคนนี้ด้วยเถิด เมื่อจะตายจากไปก็ สั่งไว้ให้ดู ให้ดูคนนี้ ดูลูกฉันคนนี้ มันไม่แข็งแรงยิ่งรักมันมาก ถ้าเป็น ผลไม้ มันเน่าละก็เหวี่ยงเข้าป่าไปเลย ไม่เสียดาย แต่คนเน่ายิ่งเสีย ดาย มันลูกเรานี่ ทำอย่างไรเล่า นี่ให้เข้าใจเสียอย่างนี้ ฉะนั้นจงทำใจ ไว้เสียดีกว่านะ รักครึ่งชังครึ่งอย่าทิ้งมันสักอย่าง ให้มันอยู่รวมๆกัน ของๆเรานี่ นี่คือกรรมกรรมนั้นละเป็นของเก่าของเราละน้อ นี่มันก็สม กันกับเจ้าของ เขาคือกรรม? ก็ต้องเสวยไป ถ้ามันทุกข์ใจเข้ามาเต็มที่ ก็ ฮึ กรรมนะกรรม ถ้ามันสบายใจดีก็ ฮึ กรรมนะ บางทีอยู่ที่บ้าน ทุกข์ก็อยากหนีไปน่ะ มันวุ่นวาย ถ้ามันวุ่นวายเข้าจริงๆ บางทีอยาก ผูกคอตายก็มี กรรม เราต้องยอมรับมันอย่างนี้เรื่อยๆไป สิ่งที่ไม่ดีก็ไม่ ต้องทำล่ะซี เท่านี้ก็พอมองเห็นเจ้าของแล้วใช่ไหม พอมองเห็นเจ้า ของแล้วนะ นี่เรื่องการพิจารณาสำคัญอย่างนี้

เรื่องการภาวนา อารมณ์ที่เรียกว่าภาวนา เขาเอาพุทโธ ธัมโม สังโฆ มาภาวนาทำกรรมฐานกัน แต่เราเอาสั้นกว่านั้น เมื่อรู้สึกว่าใจ มันหงุดหงิด ใจไม่ดี โกรธ เราก็ร้อง ฮึ เวลาใจดีขึ้นมาก็ร้อง ฮึ ว่ามัน ไม่เที่ยงดอก ถ้ามันรักคนนั้นขึ้นมาในใจก็ ฮึ ถ้ามันจะโกรธคนนั้นขึ้น มาก็ ฮึ เข้าใจไหม ไม่ต้องไปดูลึก ไม่ต้องไปดูพระไตรปิฎกหรอก ไอ้ ฮึ นี่เรียกว่ามันไม่เที่ยง ความรักนี่มันก็ไม่เที่ยง ความชังนี่มันก็ไม่เที่ยง ความดีมันก็ไม่เที่ยง ความชั่วมันก็ไม่เที่ยง มันเที่ยงอย่างไรเล่า มันจะ เที่ยงตรงไหม มันเที่ยงก็เพราะของเหล่านั้นมันเป็นของมันอยู่อย่าง นั้น คือมันเที่ยงอย่างนี้มันไม่แปรเป็นอย่างอื่น มันเป็นอย่างนั้น นี่ เรียกว่าความเที่ยง เที่ยงก็เพราะว่ามันเป็นของมันอยู่อย่างนั้น มันไม่ ได้แปรเป็นอย่างอื่น เดี๋ยวมันก็รักเดี๋ยวมันก็ชัง มันเป็นของมันอยู่ อย่างนี้ นี่คือมันเที่ยงอย่างนี้

ฉะนั้น จึงจะบอกว่าเมื่อความรักเกิดขึ้น เราก็บอกฮึ มันไม่ เปลืองเวลาดี ไม่ต้องว่าอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้ว ถ้าโยมขี้เกียจ ภาวนามาก เอาง่ายๆดีกว่า คือ ถ้ามันเกิดมีความรักขึ้นมา มันจะหลง ก็ร้อง ฮึ เท่านี้แหละ อะไรๆมันก็ไม่เที่ยงทั้งนั้นมัน เที่ยงก็เพราะมัน เป็นของมันอยู่อย่างนั้น เห็นเท่านี้ก็เห็นแก่นของธรรมะ คือสัจธรรม อันนี้ถ้าเรามา ฮึ กันบ่อยๆ ค่อยๆทะยอยไป อุปาทานก็จะน้อยไป น้อยไปอย่างนี้แหละ ความรักนี้ฉันก็ไม่ติดใจ ความชั่วฉันก็ไม่ติดใจ อะไรๆฉันก็ไม่ติดใจทั้งนั้น อย่างนี้จึงจะเรียกว่า ไม่เชื่ออะไรทั้งนั้น เชื่อ สัจธรรมอย่างเดียว รู้ธรรมะเท่านี้ก็พอแล้วโยม จะไปดูที่ไหนอีกเล่า วันนี้มีโชคด้วยได้อัดทั้งเทปภายนอกภายใน เข้าหูตรงนี้ก็อัด เข้าตรงนี้ก็ได้ เทปนั้นก็จะได้มีทั้งสองอย่าง ถ้าโยมทำไม่ได้อย่างนี้ก็ไม่ ค่อยจะดีเสียละมังเนาะ ไม่ต้องมาวัดป่าพงอีกละมัง นี่ข้างในก็อัดข้าง นอกก็อัดแต่ว่าเทปนี้มันไม่ค่อยสำคัญดอก เทปในใจนั่นละมันสำคัญ กว่า เทปอันนี้มันเสื่อมได้ ซื้อมาแล้วมันก็เสื่อมได้ เทปภายในของเรา นั้นน่ะ เมื่อมันถึงใจแล้วมันดีเหลือเกินนะโยม มันมีอยู่ตลอดเวลาไม่ เปลืองถ่าน ไปอัดอยู่ในป่าพูดอยู่นั่นแล้ว ในวันในพรุ่ง ให้มันรู้อยู่ อย่างนั้นแหละ มันรู้ว่ากระไร ภาวนาพุทโธ พุทโธ ต้องรู้อย่างนั้น เข้าใจกันแล้วหรือยัง เข้าใจให้ถึงนะ ถ้ามันเข้าใจ ถ้ามันถูก อารมณ์ปุ๊บ รู้จักแล้วละก็ หยุดเลย ฟังเข้าใจนะ ถ้ามันโกรธขึ้นมาก็ว่า ฮึ พอแล้วระงับเลย ถ้ามันยังไม่เข้าใจ ก็ติดตามเข้าไปดู ถ้ามันเข้าใจ แล้ว เช่นว่าพ่อบ้านโกรธให้แม่บ้าน แม่บ้านโกรธให้พ่อบ้าน โกรธขึ้น มาในใจก็ร้อง ฮึ มันไม่เที่ยง

เอาละเทศน์ให้ฟังก็ขึ้นอักษร พอได้แล้วนะ ที่พอแล้วก็คือมัน สบายแล้วเรียกว่าสงบแล้ว เอาละพอนะ

หมายเหตุจากผู้จัดทำ (คุณเจริญชัย เจริญทั้งเมือง)

ขอขอบคุณสำนักพิมพ์ ธรรมสภา ที่เอื้อเฟื้อให้ข้อมูลมาในรูป แบบที่เป็นไฟล์คอมพิวเตอร์ ผมได้ปรับปรุงตำแหน่งการเว้นวรรคและย่อหน้าให้เหมาะสม แต่ได้คงข้อความเดิมไว้ทั้งหมด ยกเว้นมีการแก้ไขข้อความที่คาดว่า ต้นฉบับเดิมจะพิมพ์ผิด ซึ่งได้ใส่วงเล็บกำกับไว้ ณ จุดที่แก้ไขแล้ว ดัง รายละเอียดต่อไปนี้

จุด 1 ต้นฉบับเดิมเป็นข้อความว่า “ตรงนี้มันก็ไม่สะอาดแต่ จานเท่านั้นแหละ” แก้เป็น “ตรงนี้มันก็ไม่สะอาด สะอาดแต่จานเท่า นั้นแหละ”

จุด 2 ต้นฉบับเดิมเป็นข้อความว่า “จะมองดูถ้วยในตู้ มันก็ ไม่สลาย” แก้เป็น “จะมองดูถ้วยในตู้ มันก็ไม่สบาย”

....................................................................

คัดลอกจาก “ธรรมะ หลวงพ่อชา”
รวบรวม การบรรยายธรรม ของ หลวงพ่อชา สุภัทโท (พระโพธิญาณเถร)
http://www.geocities.com/uu2uu/achar/cha01.html

ซึ่งจัดทำโดย
คุณเจริญชัย เจริญทั้งเมือง .
๒๐๐/๑๔๑ หมู่ ๘ ต.คูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ๑๒๑๓๐ .
ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ .