PDA

แสดงเวอร์ชันเต็ม : เทศน์โปรดชาวคณะมหาจักรทัวร์ พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ



**wan**
11-12-2008, 09:32 AM
http://www.dhammathai.org/webbokboon/data/imagefiles/R1231-3.jpg
เทศน์โปรดชาวคณะมหาจักรทัวร์

พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ
ณ วัดเจติยาคิรีวิหาร (ภูทอก) ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๓

คณะศรัทธาญาติโยมทั้งหลายที่มาจากกรุงเทพฯ เมื่อมาถึงที่วัดเจติยาคีรีวิหาร (ภูทอก) มีอาจารย์ ปถัมภ์ เรียนเมฆ เป็นหัวหน้าในการเดินทางของเรา ก็นับว่ามีความปลอดภัย ด้วยความตั้งอกตั้งใจของเรา เพราะการมารแสวงหาบุญกุศล ตามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ผู้มีเจตนาศรัทธาความเชื่อ ความเลื่อมใสในพระพุทธ ในพระธรรม ในพระสงฆ์ คือในเบื้องหน้ามีจิตแน่วแน่ ต่อบุญกุศล ก็คือพระรัตนตรัย พร้อมด้วยบุญ จรไปก็มีความสุขปลอดภัย” เหมือนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ที่พระองค์เสด็จไปไหนก็เป็นสุคโต เพราะท่านเป็นผู้มีจิตบริสุทธิ์ทั้งกาย ทั้งสาจาและจิตใจของท่านบริสุทธิ์ ทีนี้พวกเราได้เดินทางมาจากกรุงเทพพระมหานคร ฯ ก็เช่นเดียวกัน ต่างก็มุ่งบุญกุศลด้วยกันทั้งนั้น เมื่อเห็นชอบว่านี่บุญ เห็นว่านี่บาป คือทำชั่วก็บาปนั่นเอง นี่เรียกว่า ท่านเป็นคนที่มีสัมมาทิฏฐิ คือความเห็นชอบ เพราะฉะนั้นจึงพูดว่าบาปและ นี่ผลของบาป และนี่ผลของบุญ นี่จัดว่าเป็นบุคคลที่มีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ ขยายออกไปอีก บุคคลผู้รู้จักตัวบาป ทำบาปรู้จักว่าเป็นบาป รู้จักผลของบาป รู้จักที่สุดของบาป เมื่อเป็นผู้รู้จักบาป รู้จักตัวบาป รู้จักผลของบาป รู้จักที่สุดของบาป รู้จักบุญ รู้จักคุณ รู้จักที่เกิดของบุญ รู้จักผลของบุญ เมื่อเป็นผู้รู้ชัดอย่างนี้ ย่อมรู้จักสิ่งที่เป็นบาป บำเพ็ญแต่สิ่งที่เป็นบุญเป็นกุศล นี่ท่านว่าเป็นสัมมาทิฏฐิบุคคล คือเป็นบุคคลที่เห็นชอบ ทีนี้ท่านว่าตัวบาปเป็นอย่างไร แล้วท่านก็แสดงให้อีกว่า ตัวบาปก็คือตัวมนุษย์ของเรา ก็ได้แก่ กาย วาจา และใจ นี่เอง ที่เกิดมาทั้งหลายก็มี กาย วาจา และใจ เท่านี้ ไม่มีที่อื่น ท่านว่าตัวบาปนั้นเป็นอย่างไร การจะเกิดบาปคือประพฤติด้วยด้วยกายทุจริต วาจาที่เป็นบาป คือประพฤติวาจาทุจริต ใจที่เป็นบาป คือประพฤติใจทุจริต

กายทุจริตนั้น ฆ่าสัตว์ ๑ ลักทรัพย์ ๑ ประพฤติในกาม ๑

วาจาทุจริตนั้น พูดเท็จ ๑ พูดส่อเสียด ๑ พูดคำหยาบ ๑ พูดเพ้อเจ้อ ๑

ใจทุจริตนั้น ใจโลภ ใจโกรธ ใจหลง ก็ได้แก่ใจอคติทั้ง ๔ นั้นเอง ใจที่เป็นบาป คือเป็นผู้ล่วงอำนาจด้วยความโกรธเคือง ประพฤติเป็นผู้ล่วงอำนาจด้วยความหลงที่ก่อขึ้น เป็นผู้ล่วงอำนาจด้วยความกลัวที่เกิดขึ้น นี่ใจเป็นบาป เป็นอกุศล

และผลของบาปเมื่อเกิดขึ้นที่กาย ที่วาจา ที่ใจแล้ว ผลของบาปเป็นอย่างไร ท่านก็แสดงไปอีก ผลของบาปคือตัวบาป ได้แก่ผลของบาปนั้น เมื่อบุคคลที่ทำบาปไว้ด้วยกาย ไว้ด้วยวาจา ไว้ด้วยใจอันนี้ ผลก็นำไปสู่ทุคติ อบายภูมิทั้ง ๔ คือ นรก เปรต อสุรกาย เดรัจฉาน นี่ผลของบาป เมื่อบุคคลรู้จักบาป รู้จักตัวของบาป รู้จักที่เกิดของบาป และรู้ผลของบาปอย่างนี้ ย่อมเป็นผู้มีหิริ ความละอายต่อสิ่งที่เป็นบาป มีโอตตัปปะ ความสะดุ้งกลัวต่อบาป บุคคลที่มีสัมมาทิฏฐิ มีความระลึกชอบดังนี้ ท่านจึงไม่ให้ทำบาปในที่โล่งแจ้งและในที่ลับ ทำอย่างไรไม่ทำบาปในที่แจ้ง คือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่ทำบาปในที่แจ้ง ไม่ทำวาจาพูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อทั้งหลาย ไม่ทำบาปที่ลับทางใจ ท่านไม่ให้ล่วงอำนาจด้วยใจของตนที่เกิดขึ้น ไม่ลุอำนาจด้วยความโกรธเคือง ไม่ล่วงอำนาจด้วยโลภ ไม่ลุอำนาจด้วยความหลง ด้วยความกลัวที่เกิดในใจของตน นี่เรียกว่าไม่ทำบาปในที่ลับ เพราะท่านเห็นว่า ผลของบาปเหล่านี้ ต้องนำไปสู่ทุคติ อบายภูมิทั้ง ๔ เป็น นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน และผลของบาปที่ทำด้วยกาย วาจา ใจ นี้ ย่อมได้รับความเดือดร้อนอยู่เสมอ ๆ นี้ บุคคลที่มีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ ในบาป ในผลของบาป บุคคลที่มีสัมมาทิฏฐิ ระลึกชอบในบุญ รู้จักบุญ รู้จักคุณ รู้จักที่เกิดของบุญ รู้จักผลของบุญ คือบาป-บุญที่ได้รับจากการทำบุญ ที่เกิดของบุญ ก็คือ กาย วาจา และใจของพวกเรานี้นั่นเอง กายที่เป็นบุญ เรียกว่า กายสุจริต วาจาที่เป็นบุญ เรียกว่า วาจาสุจริต ใจที่เป็นบุญ เรียกว่า มโนสุจริต กายสุจริตที่เป็นบุญนั้น เว้นฆ่าสัตว์ เว้นลักทรัพย์ เว้นประพฤติผิดในมิจฉากาม วาจาที่เป็นบุญนั้น เว้นพูดส่อเสียด เว้นพูดคำหยาบ เว้นพูดเพ้อเจ้อทั้งหลาย ใจที่เป็นบุญนั้น เว้นจากอคติทั้ง ๔ นี่คือใจที่เป็นบุญ ท่านย่อมนำผลบุญทั้งในที่ลับ ทั้งในที่แจ้งอยู่เสมอ ๆ บำเพ็ญบุญทำในที่แจ้ง กาย เว้นกายทุจริต วาจา เว้นวาจาทุจริต ใจ เว้นจากอคติทั้ง ๔ ที่เกิดบุญ กาย วาจา ใจ และท่านรู้ผลของบุญ

บุญที่บุคคลบำเพ็ญไว้ทางกาย ทางวาจา และทางใจอย่างนี้ ย่อมได้รับผลให้ไปสู่สุคติสมบัติทั้งสามประการ มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ พระนิพพานสมบัติดังนี้... เมื่อบุคคลผู้เห็นดังนี้ เห็นบาป เห็นบุญให้ผลต่างกัน เห็นบาปให้ทางทุกข์เดือดร้อน เห็นบุญให้เห็นอย่างไร ความสุข และก็เชื่อต่อบาป เชื่อต่อบุญ ละสิ่งที่เป็นบาป บำเพ็ญแต่สิ่งที่เป็นบุญกุศล นี้เรียกว่า บุคคลที่สัมมาทิฏฐิ มีความเห็นชอบประการที่ ๑ บุคคลที่เป็นสัมมาทิฏฐิในการเห็นขอบอีกเป็นประการที่ ๒ สัมมาทิฏฐิเป็นผู้เห็นชอบ ดำเนินตามอริยมรรค ปฏิปทาธรรม อันประกอบด้วยองค์ ๘ ซึ่งเป็นทางอันประเสริฐ คือ ความดำริชอบ ความเห็นชอบ วาจาชอบ การงานชอบ สุจริตชอบ ระลึกชอบ สัมมาทิฏฐิ ปัญญาเห็นชอบ ความเห็นชอบ เห็นว่าไม่ผิด เห็นไม่นึกว่าผิด เรื่องฆ่าสัตว์เป็นตัวบาป ท่านเห็นทำอย่างไร การเห็นอย่างไรที่เป็นทางไปสุคติ การเห็นอย่างไร คือการเห็นสันติทางพระนิพพาน ที่เรียกว่าการเห็นชอบ ท่านเห็นเป็นอย่างไร ก็เห็นบาปนั่นเอง แต่ในที่นี้ ความเห็นทุกข์ มีเหตุให้เกิดทุกข์ นี่คือธรรมให้ดับทุกข์ นี่คือการปฏิบัติธรรมให้ถึงธรรมที่ดับทุกข์ นี่คือการปฏิบัติธรรมให้ถึงธรรมที่ดับทุกข์ มีความเห็นว่าความเกิดมันทำให้เกิดทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความเจ็บเป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ดังนี้เป็นต้น เหตุที่เกิดทุกข์ คือตัณหา ตัวสัญญา ความทะเยอทะยานไปตามกามารมณ์ต่าง ๆ ภัยตามตัณหาความอยากนี้เมื่อใด กล่าวคือ ความรัก ความใคร่ ความอยากในกามารมณ์ทั้งหลานที่มากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ความทะเยอทะยาน อยากเป็นโน่นเป็นนี่ให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ความไม่อยากมี ไม่อยากเป็น เป็นสิ่งที่ตนไม่ชอบ ไม่พอใจ ไม่อยากให้เกิดมีขึ้น ปัญหาเหล่านี้ท่านตรัสว่าเป็นเหตุให้เกิดทุกข์

ปัญญาสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ เป็นปัญญาที่ดับทุกข์ อันชีวิตทั้งหลายที่ต้องดับไป ต้องดับกิเลส คือตัณหา เห็นว่าการทำปัญญา ความอยากให้สิ้นไป ความดับตัณหาความอยากนี่แหละโดยไม่เหลือ นั้นอย่างเดียวออกจากจิตใจของตน เห็นการละตัณหา วางตัณหา ตัดขาดจากตัณหา ให้หมดไปจากใจของตน ทุกข์ก็หมด ค่อยละวางตัณหา ไม่หมด ทุกข์ก็ยังมีอยู่ ตามขั้นตอนของตัณหานั้น ๆ เอง เมื่อท่านเห็นปัญญาที่ดับทุกข์ ปัญญาสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบธรรมที่ดับทุกข์ ข้อปฏิบัติให้เห็นธรรมเป็นที่ดับทุกข์ จะเห็นได้แก่ ทาน ศีล สมาธิ และปัญญา และทาน ท่านก็จัดเข้าในศีล เป็นข้อทาน ข้อปฏิบัติให้เข้าถึงความดับทุกข์ ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นั่นเอง คือจริยาวัตร กาย วาจา ให้เรียบร้อยปราศจากโลภ สมาธิ รักษาใจของตนไม่ให้มีอคติทั้ง ๔ และเรียบร้อย ปัญญาให้รอบรู้ในบาปบุญคุณโทษที่มิใช่ประโยชน์ รอบรู้ในกองสังขารทั้งหลาย คือความเกิดแก่เจ็บตายนี้นี่เอง ให้เห็นเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในภาคในขันธ์ของตน มีปัญญาสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ เห็นทาน ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมเป็นเครื่องดับทุกข์ในสุคติ คือมนุษย์สุข สวรรค์สุข พระนิพพานสุข ดังพวกเราท่านทั้งหลายเห็นกันอยู่เดี๋ยวนี้

สัมมาสังกัปโป ความดำริชอบ ดำริออกจากกาม ดำริออกจากการเบียดเบียน ดำริออกจากการสร้างบาป สัมมาวาจา เจรจาชอบ เว้นจากการพูดเท็จ เว้นจากการพูดส่อเสียด เว้นจากการพูดจาหยาบ เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อทั้งหลาย

สัมมากัมมันโต การงานชอบ เว้นฆ่าสัตว์ เว้นลักทรัพย์ เว้นประพฤติผิดมิจฉากาม สัมมาอาชีโว เลี้ยงชีวิตชอบ สำนึกอยู่ เลี้ยงตัวในทางที่ผิด สำนึกผิด ๆ สำนึกอยู่ด้วยการเสี่ยงด้วยชอบ

สัมมาวายาโม ควรชอบ ควรละบาปที่เกิดขึ้นได้ให้หมดไปด้วยความเอาใจด้วยความพยายามด้วยความเพียรด้วยเป็นเหมือนสติเพราะการตั้งไว้ที่ใจ คือการยังบาปที่ยังไม่ได้เกิด มิให้เกิดขึ้น ด้วยความเข้าใจ ด้วยความเคารพ ด้วยความเพียร ด้วยความหมั่นนึกพระธรรมไว้ที่ใจ

คำว่าบาปในที่นี้ก็ได้แก่บาปทางกาย ทางวาจา ทางใจนี่เอง... ตัวบาปที่เกิดขึ้นทางกาย ควรละบาปที่เกิดขึ้นทางกาย ควรละบาปที่เกิดขึ้นทางวาจา ควรละบาปที่เกิดขึ้นทางใจ ให้เป็นผู้มีสติพิจารณา กาย วาจา และใจของเรา บาปที่เกิดขึ้นทางกาย คือการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ผิดในกาม บาปที่เกิดขึ้นทางวาจา คือ การพูดปด ส่อเสียด กล่าวคำหยาบ บาปที่เกิดขึ้นทางใจ คือ ได้แก่อคติทั้ง ๔ เพราะอคติทั้ง ๔ เป็นสถานที่ให้เกิดตัวบาป ท่านให้ควรละบาปเหล่านี้ออกจากกาย วาจา และใจของเรา ด้วยความเข้าใจ ด้วยความพยายามเคารพความเพียร ด้วยมีสติประคองไว้ที่ใจ เอาสติหยั่งไว้ที่ใจ ตั้งไว้ในใจ จึงจะรู้ได้ ที่มันกำลังจะเกิดขึ้น ทางกาย ทางวาจา ทางใจของเรา ด้วยการตั้งสติประคับประคองไว้ที่ใจของเรา ด้วยความเคารพ ด้วยความเข้าใจ ด้วยความเพียร ด้วยความเคารพความเพียรมากองไว้ที่ใจ ส่วนความเพียรความประสงค์บำเพ็ญเพียรภาวนา หรือทำให้ถึงสมาธิและปัญญา ควรรักษาบุญกุศล ทาน ศีล สมาธิ ปัญญาที่เกิดขึ้นแล้ว ให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้น ไพบูลย์เต็มเปี่ยม ทำกุศลธรรมนั้นมาอยู่ที่ใจของเรา

สติ ความระลึกชอบ ท่านให้นำสติน้อมเข้ามาในกายนี้ และจะเห็นตามเป็นจริงตามหลักสัจจะความจริง โดยสติน้อมนำเข้ามาพิจารณากายของเรา ให้รู้เห็นตามเป็นจริงดังนี้ ว่ากายของเรานี้ ให้เห็นตามสัจจะของจริงว่า กายของเรานี้เต็มไปด้วยของไม่สะอาด มีอาการต่าง ๆ มี ขน ผม เล็บ ฟัน เนื้อ กระดูก น้ำมัน ม้าม ตับ ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารเก่า อาหารใหม่ เยื่อในศีรษะ น้ำดี น้ำเสลด น้ำเหลือง น้ำเลือด น้ำตา น้ำลาย น้ำมูก น้ำมันในข้อ การพิจารณากายตามที่เห็นเป็นจริงอย่างนี้ ก็เป็นการถ่ายถอนกิเลสออกจากใจของเรา ถ้าเราจะให้วัดความสงบ เมื่อความสงบของใจมีความปรกติอย่างนั้น จะเป็นเหตุให้ละวางอุปาทาน ความยึดมั่น ถือมั่นในใจอันนี้ ให้พิจารณากาย พิจารณาให้เห็นว่า กายของเราทั้งหมดเป็นของไม่เที่ยง เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพราะไม่เป็นไปตามความปรารถนาของเราได้ มีสติความระลึกชอบ ท่านให้มีสติน้อมเข้ามาพิจารณากาย ตามอุบายความแยบคายของตน ๆ ส่วนเวทนาจิตธรรม ก็เช่นเดียวกัน

สัมมาสมาธิ ความตั้งใจไว้ชอบ ความตั้งใจไว้ชอบนั้น ก็ต้องให้เห็นโทษ อกุศลธรรม เห็นโทษของการทำบาป ใจ ตั้งใจไว้ชอบนั้น เป็นผู้มีจิตที่ปราศจากแล้วในกามารมณ์ทั้งหลาย ไม่วิ่งไปตามกามารมณ์ที่มากระทบ เป็นผู้มีจิตแล้วที่ปราศจากอกุศลธรรม เว้นเสียซึ่งอคติทั้ง ๔ เป็นต้น เมื่อเป็นผู้มีจิตปราศจากกามารมณ์ทั้งหลาย ไม่วิ่งไปตามกามารมณ์ รักบ้าง ชังบ้าง ไม่วิ่ง จึงได้ชื่อว่า มีสติตั้งอยู่ในความสงบ พอดี พองาม เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านจึงให้ยกจิต ให้เจริญธรรมทั้ง ๔ เป็นบาทเป็นเครื่องสอนจิต คือ กาย เวทนา จิต ธรรมนั่นเอง ให้ยกกรรมฐานหรือส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นเป้าหมายของจิต ให้เป็นอารมณ์ของจิต พิจารณาให้รู้เห็นตามความเป็นจริง เอาสติยกจิต เพราะจิตเป็นจิตที่สงบแล้ว เป็นจิตที่ปราศจากความโลภ ปราศจากอกุศลธรรม เป็นจิตที่สะอาด ท่านให้เจริญธรรมทั้ง ๔ ให้ยกจิตขึ้นเป็นอริยมรรค อริยสัจ ๔ ก็ได้ ให้พิจารณากายของเราให้รู้เห็นความเป็นจริงก็ได้ เป็นจิตที่สงบสมควรเป็นบาทบุญของวิปัสสนา เพื่อความรู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริง ท่านจึงให้ยกจิตเจริญธรรมทั้ง ๔ คือ คือตามที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ให้เจริญธรรมทั้ง ๔ กำหนดใจให้สงบก่อน พักความร้อน ความวุ่นวายของจิต



+++++++++++++++++++++++++++++