เข้าสู่ระบบ

แสดงเวอร์ชันเต็ม : นาวาอุปมากถา เจ้าพระคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ญาณวรเถระ



**wan**
11-12-2008, 09:37 AM
http://www.pantown.com/data/6744/content13/f1.gif

นาวาอุปมากถา

เจ้าพระคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ญาณวรเถระ
วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร
แสดงทางวิทยุกระจายเสียง
เมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๕

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ
สญฺจ ภิกฺขุ อิมํ สิตฺตา เต ลหุเมสฺสติ
ดูก่อนภิกษุ ท่านจงวิดเรือลำนี้ เรือลำนี้ท่านวิดแล้ว จักถึงเร็ว ฯ

บัดนี้จะแสดงธัมมิกถา ตามคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นที่เคารพนับถืออย่างยอดเยี่ยมที่สุดของเรา อันพระองค์ทรงพระมหากรุณาโปรดประทานไว้ เพื่อให้พวกเรามีความสุขความเจริญ ปราศจากความเสื่อมเสีย ตามที่ยกขึ้นไว้ในเบื้องต้นธัมมีกถานี้ เรียกว่า นาวาอุปมากถา คือกถาแสดงเนื้อความเปรียบเทียบด้วยเรือ ฯ

ความคิดแม้จะมีมาก ก็แยกออกเป็น ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายข้างดี และฝ่ายข้างชั่ว ฝ่ายข้างดี เป็นส่วนดีอยู่แล้ว มีแต่จะทำให้บรรลุถึงความเจริญยิ่งขึ้น ฝ่ายข้างชั่ว เป็นเครื่องทำลายให้ล่มจมป่นปี้ จงนึกดูคนในบ้านเมืองซึ่งล่มจมป่นปี้ และทำให้เสียชื่อเสียงสกุลวงศ์ของตน จนตั้งตัวไม่ได้ ก็เพราะฝ่ายข้างชั่ว คือ คิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่วทั้งนั้น เพราะเหตุนี้จึงต้องพยายามคอยระวังส่วนข้างชั่วให้มากที่สุด เมื่อระวังแล้วยังขืนเกิดขึ้นอีก ก็ต้องปราบปรามให้สงบระงับให้ได้ ความคิดชั่วเกิดในใจเป็นสาเหตุให้ล่วงออกไปทางกายวาจา ส่วนทางกายวาจานั้น ลางอย่างเป็นโทษทางฝ่ายบ้านเมือง พระราชกำหนดกฎหมายก็บังคับเฉพาะกายวาจาเท่านั้น ไม่มีกฎหมายทุกประเทศที่จะบังคับถึงใจ เช่นคนตั้งใจฆ่าเขา ลักขโมยของเขา หรือคิดทำความผิดอย่างอื่น เพียงเท่านี้กฎหมายไม่ได้บังคับให้จับกุมเอามาทำโทษ ความโลภเป็นต้นที่เกิดขึ้นในใจ เป็นประดุจเชื้อไฟที่เกิดขึ้นในตัว เมื่อทำออกไปทางกายวาจา ตามอำนาจของใจนั้น จึ่งจะเกิดผิดทางพระราชกำหนดกฎหมาย เพราะฉะนั้น การที่จะตั้งตัวไปได้ตลอดชาติ ก็ต้องให้พ้นจากความชั่ว ความเสื่อมเสียชื่อเสียง ไม่ให้ความชั่วเกิดขึ้นมีในตัว ต้องตรวจตราดูก่อนแล้วปราบปรามส่วนที่ชั่วให้สาบสูญอันตรธาน สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์สัมมาสัมพุทะเจ้าจึงตรัสสอนว่า สิญฺจ ภิกฺขุ อิมํ นาวํ ดูก่อนภิกษุ ท่านจงวิดเรือลำนี้ สิตฺตา เต ลหุเมสฺสติ เรือลำนี้อันท่านวิดแล้ว จักถึงเร็ว เป็นคำย่อเพียงเท่านี้ ไม่เพียงแต่ฝ่ายภิกษุ กินความทั่วถึงคฤหัสถ์ สตรี บุรุษด้วย ทุกคนควรรักษาความเป็นไปของตนให้เรียบร้อยไปจนตลอดชาติ คนที่เกิดมารักษาตัวดีตลอดไปจนถึงสุดชีวิตเรียบร้อยก็มี คนที่ล่มจมป่นปี้เสียหาย ตั้งตัวไม่ได้ในระหว่างก็มี สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตักเตือนสั่งสอน เพื่อให้ประพฤติตัวดีไปจนตลอดชาติ ไม่ให้ล่มจมป่นปี้เสื่อมเสีย จึ่งทรงเปรียบเทียบร่างกายนี้ว่าเหมือนกับเรือลำหนึ่ง มีหัวเรือท้ายเรือ ศีรษะเปรียบเหมือนหัวเรือ เท้าเปรียบเหมือนท้ายเรือ ส่วนรูปโครงเรือที่เขาทำนั้นคลายกาบปลี เพื่อให้ลอยไม่ให้จมน้ำ สำหรับบรรทุกคนพัสดุสิ่งของที่จะพาไปถึงที่ซึ่งประสงค์ เรืออาศัยไปบนน้ำ แต่อันตรายของเรือก็คือน้ำ ถ้าน้ำเข้าเรือจนเต็ม เรือก็ล่ม แม้ว่าเรือจะไปโดนโสโครก คือหินใต้น้ำเข้า หินนั้นก็เพียงแต่ทำให้เรือแตก เรือจมอับปางลง ก็เพราะน้ำเข้าเรือเต็ม ถ้าโดนหินเข้าเรือแตก ต่างว่าน้ำเข้าไม้ได้ เรือก็ไม่ล่ม เพราะเหตุนั้นอันตรายสำคัญของเรือก็คือน้ำ พระองค์จึงตรัสสอนว่า ท่านจงวิดเรือลำนี้ ถ้าท่านวิดแล้วเรือจักถึงเร็ว ฯ

ทุกคนย่อมมีความไม่ดีอะไรติดตัวมาตั้งแต่เกิด เช่นเด็ก เมื่อเกิดมามีความโลภ โกรธ หลง ติดตัวมาด้วย ไม่มีใครสอน ต่อไปได้อาศัยการศึกษาเล่าเรียนดัด ฝึกหัดกายวาจาใจ จึ่งเป็นคนดีขึ้นโดยลำดับ นับเป็นส่วนดีเป็นโทษน้อย เหมือนเรือรั่วน้ำเข้าได้จากช่องลูกประสักบ้าง ทางแนวกระดานต่อกันบ้าง ทางปากเรือบ้าง ๓ ทางนี้ เมื่อทราบเช่นนี้แล้ว จะได้รู้สึกว่า เดี๋ยวนี้ตัวเราเปรียบเหมือนเรือที่ออกจากท่า กำลังไปยังที่ประสงค์ ต้องระวังเรือให้ถึงเรียบร้อย ปราศจากภัยอันตราย คือระวังไม่ให้น้ำเข้า เมื่อน้ำเข้าต้องรีบวิด เมื่อวิดแล้วต้องตรวจตราดูว่า มีช่องทางที่น้ำเข้าทางไหนอีก จะได้อุดยาเสีย และต้องระวังไม่ให้เรือเอียงจนน้ำเข้าทางปากเรือ ถ้าวิดไม่ทัน ก็จะล่มจมในระหว่างทาง เรือเมื่อถูกน้ำถ่วงมาก ก็อุ้ยอ้ายไปไม่ได้เร็วฉันใด คนที่เกิดมาไม่วิดถ่ายความชั่วที่เกิดในตัว คือทางกายวาจาและใจ ๓ ทางนี้ ส่อแสดงว่าเป็นคนชั่ว ถ้าความชั่วที่รั่วไหลออกมาทางกายวาจาปรากฏแก่คนอื่น ก็รู้ได้ว่าคนนั้นเป็นคนชั่ว แต่ความชั่วนั้น ลางอย่างก็ติดตัวมาตั้งแต่เป็นเด็ก แต่ลางอย่างมาทำเมื่อเติบโต ถ้าไม่เลิกละก็เหมือนอย่างตักน้ำเข้าลำเรือ ทำให้เรือเปลี้ยน้ำ ถ้าไท้หยุด ในที่สุดก็ต้องจม เรืออาศัยน้ำไปได้นั้น น้ำเป็นคุณประโยชน์ ถ้าน้ำไหลเข้าเรือมากจนถึงล่ม น้ำเป็นโทษ เช่นอาหารที่เราบริโภค สำหรับทำให้ร่างกาย ชีวิตจิตใจเป็นไปได้สะดวก แข็งแรง สืบอายุยืนยาวนาน ทำกิจการงานได้สำเร็จ นี่อาหารเป็นประโยชน์ แต่อาหารนั้นเอง ถ้าขาดความรู้จักประมาณ หลงมัวเมาในรสอาหาร บริโภคจนเกินประมาณ ไฟธาตุย่อยไม่ทัน ทำให้อาหารบูดเสีย อาจเป็นอหิวาตกโรค จนถึงทำให้เสียชีวิต นี้อาหารเป็นโทษ เพราะไม่รู้จักประมาณ เหตุนั้นความรู้จักประมาณ ผิดชอบ คุณโทษที่แอบแฝงอยู่ในสิ่งเดียวกันนี้แล้ว จัดการให้พอเหมาะพอดี ก็เป็นประโยชน์ เช่นสุรา ถ้าดื่มจนเกินส่วน เกินประมาณ ก็ทำให้เกิดโรค ทอนกำลัง ปิดบังปัญญา ทำให้ใจเป็นบ้า มึนเมาเสียสติอารมณ์ ลาภยศ สรรเสริญสุ๘ของผู้นั้นก็เหมือนอากาศธาตุ ไม่มั่นคง เอายุติแน่นอนลงไม่ได้ ชั่วโมงนี้เป็นขุน หลวง พระ พระยา ชั่วโมงหน้าอาจเป็น นาย ก. ก็ได้ เช่นนี้เป็นโทษ ส่วนที่เป็นประโยชน์ก็มี คุณของสุรา เช่น ถูกงูพิษกัด ยาที่จะบำบัดทำลายพิษ จำต้องอาศัยสุราเป็นพื้น เพื่อให้จูงยาแล่นไปกำราบพิษงูโดยเร็ว ยาที่เจือสุราทำลายพิษงูเสียได้ ทำให้คนหายเป็นปกติ และช่วยชีวิตให้ยืนยาวต่อไปอีก เช่นนี้ก็เป็นประโยชน์ หรือว่าในเวลาที่มีการดื่มถวายพระพรชัยมงคลหรือดื่มให้พร ถ้าใครเข้าในสมาคมนั้นจะไม่ดื่ม ก็เสียกิริยาไม่สมควร แต่ถ้าผู้นั้นดื่มมากเกิน ก็เกิดความเสียได้ ถ้าดื่มแต่เพียงเล็กน้อย ไม่มึนเมาเสียกิริยาในสมาคมก็เป็นส่วนดี ส่วนที่เป็นโทษหรือเป็นคุณ ย่อมแอบแฝงอยู่ในเรื่องเดียวกันเช่นนี้ เหตุฉะนั้น เรือก็คือร่างกายของคนเรานี้ ที่จะล่มจมป่นปี้ ก็ด้วยอำนาจกายวาจาใจที่ทำความชั่วบาปกรรมอกุศล จะเจริญรุ่งเรืองดี ก็ด้วยอำนาจกายวาจาใจที่ทำความดีบุญกุศล ฯ

อนึ่งต้องตรวจตราความนึกคิดของตนว่า ผิดหรือชอบ เป็นคุณหรือเป็นโทษ เป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ จะพรรณนาเป็นสิ่ง ๆ ก็ไม่รู้จักหมด ผู้อ่านผู้ฟังควรกำหนดลักษณะเครื่องหมายของความดีความชั่ว คือเช่นอะไร ๆ ที่ทำด้วยกาย หรือกล่าวด้วยวาจา ถ้าเมื่อทำเหตุลงไปแล้วเป็นต้องมีผล พึงพิจารณาดูผลว่าผลนั้นจะเป็นความเจริญหรือความเสื่อม ถ้าเป็นความเจริญทั้งตนและคนอื่น ก็ส่อให้รู้ได้ว่า สิ่งที่เป็นเหตุนั้น เป็นความดีความชอบ ถ้าผลที่ปรากฏเป็นความเสื่อมเสียทั้งตนและคนอื่น ก็ส่อให้รู้ว่า กิจที่ทำ คำที่พูดนั้นไม่ดี เป็นโทษ เช่นนี้ เป็นลักษณะที่จะตัดสินได้ทั่วไป อีกอย่างหนึ่ง พึงพิจารณาว่า การที่เราทำเช่นนี้ หรือพูดอย่างนี้ เป็นเครื่องหมายส่วนเล็ก ลางทีจะรู้ไม่ได้ พึงนึกแผ่กว้างออกไปว่า ถ้าทำอย่างนี้กันทั้งบ้านทั้งเมืองทั้งประเทศจะเป็นอย่างไรบ้าง ก็จะเห็นได้ทันทีว่า เป็นความเสื่อมเสียหรือเป็นความเจริญดี นี้ก็เป็นอีกลักษณะหนึ่ง ฯ

อีกลักษณะหนึ่ง ใจของคนเป็นตราชุที่ดีอยู่แล้ว ถ้าใช้ให้ถูกทาง ก็เป็นประโยชน์ คือคนปดหลอกลวงใช้เล่ห์กลอย่างไรแก่คนอื่นที่ไม่รู้ในใจได้ แต่ตัวเองจะปดตัวเองไม่ได้ พอเริ่มคิดปดขึ้นก็รู้สึกเสียแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าดีก็อย่าอวด ถ้าไม่ดีก็อยากปิด นี่เป็นตราชูใจคนสามัญ ส่วนข้างดีที่ชอบอวดของดไว้ ส่วนที่ปิดนั่นแหละสำคัญ พอนึกว่าจะไม่ให้ใครรู้ ตั้งแต่มารดาบิดาเป็นต้นไป จนที่สุด สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินก็ไม่อยากให้ทรงทราบ ข้อนั้นแหละสำคัญนัก ต้องพิจารณาให้ประจักษ์รอบคอบเสียก่อน เวลานั้นยังไม่ได้ลงมือทำและพูด เป็นโอกาสที่จะยับยั้งได้ อย่านึกเสียว่าเขาคงจะไม่รู้ ท่านคงจะไม่ทรงทราบ นี่เป็นเล่ห์กลของพวกมาร คือความชั่วที่จะล้างคุณความดี ซึ่งเข้ามาหลอกลวงใจเรา ควรนึกดุตั้งแต่เราเกิดมา เราปิดอะไรไว้ได้บ้าง หรือปิดไว้ได้ก็น้อยที่สุด ลางทีพอพ้นคราวสมัยนั้นแล้ว ตัวเองก็ไปเปิด หรือไปคุยให้เขารู้ ในเวลาที่คิดปิดนั้นยังไม่ได้ทำ ยังไม่ได้พูด ควรจะนึกว่า ถ้าทำเช่นนั้นจะเสียหาย ก็จงนึกผ่อนจากคิดเดิมลงมาว่า ถ้าทำเพียงเท่านี้ ใครจะรู้ก็ไม่เสีย นี่แปลว่า เรานึกการข้างหน้าถูกเสียก่อนแล้วจึงทำ แม้ท่านทรงทราบเขารู้ก็ไม่เป็นไร คนที่ล่มจมป่นปี้โดยมากเพราะข้อนี้ ด้วยนึกเสียว่าเจ้านายคงไม่ทรงทราบ เขาคงไม่รู้ จนกิจการนั้นทำเสร็จพูดเสร็จไปแล้ว วันคืนเดือนปีล่วงไปแล้ว เมื่อท่านทราบเข้า ก็หมดหนทางแก้ไขทีเดียว เช่นนี้เป็นกันอยู่มาก เหตุฉะนั้นเมื่อตนปรารภว่าจะทำอะไร เริ่มขึ้นในใจ ถ้ามีอาการจะปิดบังผู้อื่น ต้องระวังข้อนั้นให้มากที่สุด ผู้ใดมีสติทำได้อย่างนี้ ผู้นั้นจะอยู่เย็นเป็นสุข ไม่เดือนร้อนทุกคืนวัน นี่เป็นอีกลักษณะหนึ่งที่สำคัญของผู้ที่จะตั้งตัวให้ดีเรียบร้อย ฯ

สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสอนให้คนละชั่วประพฤติดีนี้ พระองค์ไม่ได้เอาอะไรมายกหยิบยื่นให้ ไม่ได้เอาความดีมาจากไหน หรือทรงช่วยละเลิกแทนให้ ความจริงทรงสอนให้ใช้เครื่องมือของตัวที่มีอยู่แล้วนี่เองให้ถูก ผู้ที่มีอยู่แล้ว แต่ใช้ไม่ถูกไขว้เขวไปเสีย เช่นเสื้อสำหรับสวมร่างกายตอนบน ป้องกันความหนาวร้อนเหลือบยุงเป็นต้น เอาไปสวมตอนล่างเป็นกางเกง ก็ไม่สำเร็จประโยชน์ หรือมีดที่มีอยู่สำหรับใช้ตัดฝาน เชือดเถือให้สำเร็จประโยชน์ แต่เอามีดนั้นไปแทงคนฆ่าคนก็เกิดโทษขึ้น ความดีชั่วของคนมีอยู่แล้ว เช่นความดื้อเป็นส่วนไม่ดี แม้เรามีเด็กคนใช้หรือบุตรหลาน คนไหนดื้อก็ไม่พอใจ ไม่ชวนให้เกิดเมตตากรุณา ถ้าคนไหนว่าง่ายสอนง่าย ก็ทำให้มีเอ็นดูรักใคร่ ความดื้อและความสอนง่ายของผู้นั้นสำหรับทำให้เกิดผลแก่ตัวเขาเอง ถ้าดื้อ ก็เป็นผลเลวที่มาลงโทษตัว ทำให้ผู้ใหญ่และผู้อื่นขาดเมตตากรุณามีความเกลียดชัง ถ้าเป็นคนว่าง่ายสอนง่าย ก็ทำให้เป็นผลดี รางวัลตัวเขาเอง ทำให้มีคนรักใคร่เอ็นดูกรุณา ความดื้อนั้นเอง เอาไปใช้ในทางที่ผิด คือผู้ใหญ่ผู้ปกครองสั่งสอนตักเตือนให้ทำดี แต่ไม่ทำไม่ประพฤติตาม ส่วนดื้ออย่างนั้นทำไมจึงดื้อได้ ควรเอาดื้อนั้นไปใช้ต่อสู้กับความชั่ว เช่นใจนึกจะทำชั่วหรือเบียดเบียนผู้อื่น จงดื้อเสีย อย่าทำตามใจ ตามกาย ตามวาจา ถ้าดื้อเช่นนี้ ก็ได้ประโยชน์จากดื้อนั้นเอง เหมือนเรืออาศัยน้ำไปถึงที่ประสงค์ได้ แต่เมื่อเอาดื้อไปใช้ในทางที่ทำความดีแล้วไม่ทำ ดื้อนั้นก็กลับเป้นความผิดความเสีย เป็นเหมือนน้ำที่รั่วเข้ามาในลำเรือทำให้เรือล่มจม ฯ

อนึ่ง การอวดดี ความดีที่มีอยู่แล้วในตัวเรา ไปอวดเขา นั่นเป็นส่วนไม่ดี ทำให้เขาเกลียดชัง เพราะเหตุนั้น พระพุทธเจ้าจึงสอนให้ปิดบังความดี สงวนรักษาไว้ แต่ความชั่วให้เปิดเผย เพื่อจะได้จืดจางจากความชั่ว พระองค์จับลักษณะที่เป็นไปในโลกตามจริงนั่นเองมาสอน เช่น สิ่งอะไรที่ดี คือเพชรนิลจินดา เจ้าของสงวนเก็บรักษาซ่อนเร้นเอาไว้ในหีบ ลั่นกุญแจอยู่ในตู้และในเรือนรวมหลายชั้น ถ้าส่วนไหนที่ไม่ดีใช้ไม่ได้ ก็ทิ้งขว้าง ไม่เอาเป็นธุระ จะหายหกตกหล่นก็ไม่ว่า ถ้าปิดบังความชั่วไว้ ก็แปลว่า รักใคร่ความชั่วดุจของที่มีราคา ถ้าอวดเปิดเผยความดี ก็เหมือนอย่างไม่รักของที่มีราคา ความดีควรปิด จะได้มีกำลังแข็งแรง ความชั่วควรเปิด จะได้จืดจางอ่อนเพลียลง พึงดูรถไฟ หรือเรือไฟที่นำตัวมันเองไปได้ และพ่วงรถหรือเรือตั้ง ๒๐ – ๓๐ ไปได้ยืดยางเพราะอะไร ก็เพราะกักไอน้ำไว้เพื่อให้มีกำลังแข็งแรง ถ้าเปิดไอน้ำออกเสียหมด อย่าว่าแต่รถหรือเรือพ่วงเลย แม้ตัวมันเองก็ไปไม่ได้ ต้องอยู่กับที่ คนอวดความดีของตัว ท่านเปรียบเหมือนแมลงป่องที่ชูหางตนเอง ความดีควรเป็นหน้าที่คนอื่นยกย่องจึ่งจะถูก ถ้าอวดยกย่องตัวเอง ก็ทำให้เขาเกลียด เหมือนตักน้ำเทลงในเรือให้จมลง ฯ

อีกอย่างหนึ่ง การเห็นแก่เล็กแก่น้อยใน ลาภ ผล โดยไม่ชอบธรรม ตลอดจนการรับสินบน นี่เป็นส่วนไม่ดีของเจ้าหน้าที่ ทำลายยศบรรดาศักดิ์ของตนเอง ลักษณะเห็นแก่เล็กแก่น้อยในลาภผลซึ่งผู้อื่นหยิบยกให้ ย่อมทำให้ใจกำเริบ ส่วนโทษนั้น ถ้าลาภผลน้อย โทษก็น้อย ถ้าลาภผลมาก โทษก็มาก เป็นเครื่องบั่นรอนทอนลาภยศของตัวเอง ในที่สุดก็ต้องถูกไล่ออกจากหน้าที่ กิริยาที่เห็นแก่เล็กแก่น้อยนี้ ก็มี ๒ อย่าง คือ ชั่วกับดี ส่วนชั่วดังกล่าวมาแล้ว เหมือนน้ำเข้าเรือ ส่วนดี เราควรดัดแปลงแก้ไขเอามาใช้ในความดีความชอบ คือว่า ส่วนเล็กน้อยของเราไม่ใช่ของเขาต้องเป็นคนละเอียด ไม่ควรเสียอย่าเสีย เก็บเล็กผสมน้อยสะสมไว้ จำนวนมากมาจากไหน ก็มาจากน้อย ที่เห็นแก่เล็กแก่น้อยกลับมาใช้ส่วนตัวเรานี้ ก็กลายเป็นวิชากระเหม็ดกระแหม่ เป็นข้อที่นิยมกัน ส่วนที่ควรเสียจึ่งยอมเสีย ที่ไม่ควรเสียอย่าเสีย ทรัพย์สมบัติก็จะสมบูรณ์ขึ้น เหมือนเรืออาศัยน้ำไปถึงที่ซึ่งมุ่งหมาย ฯ

เรื่องเมาสุราที่กล่าวมาแล้วนั้น เป็นความเสื่อมเสียมากทีเดียว เมื่อเมามากขึ้น อย่าว่าแต่ขาดตัวหนึ่งในศีล ๕ เลย ถ้าเมาเสียสติแล้ว จะล่วงศีลอีก ๔ ตัวได้ อย่างหนักที่สุด อาจฆ่าพ่อฆ่าแม่ของตัวได้ ไม่รู้สึกว่าใครเป็นใคร ข้อนี้ควรจะชี้แจงแก่ตัวให้มาก เพราะว่าการที่ชอบเสพสุรานี้ ไม่ใช่เป็นมาแต่แรกเกิด เมื่อเกิดมาเล็ก ๆ ก็ไม่รู้สึกอะไร มาเกิดขึ้นเฉพาะเมื่อรุ่นหนุ่มหรือโตเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ ถ้าไม่กินก็ไม่ตาย กลับทำให้สบายดีมีอายุยืนยาว โรคภัยไม่เบียดเบียน เช่น ภิกษุษมาเณรไม่ได้เกี่ยวข้อง และไม่เคยมีเรื่องเสียหายใหญ่โตเพราะความเมานี้ มีต่างกรมพระองค์หนึ่งรับสั่งเป็นคติดีว่า คนที่กินเหล้าวิศกี้ ถ้ากินขวดหนึ่งก็ให้เก็บตะปูลงคะแนนไว้ตัวหนึ่ง เมื่อกินอีกขวดหนึ่ง ก็ลงคะแนนไว้อีกตัวหนึ่ง เอาตะปูนั้นเก็บไว้ ๆ พอตะปูครบที่จะต่อโลงได้ ก็พอตายพอดี ท่านทรงรับรองว่า เป็นจริงอย่างนี้ เมื่อเราได้ยินแล้ว ควรฝึกตัวไม่ให้มีอัธยาศัยไปทางนี้ ที่เรากินก็เท่ากับต่อโลงที่จะใส่ศพของเราเอง จะได้กลัวแล้วไม่ประพฤติ การเสพสุราก็เหมือนเอียงเรือให้น้ำเข้าแคมเรือ ทำให้เรือจมฉะนั้น ฯ

อีกย่างหนึ่ง ความเกียจคร้านไม่เอาใจใส่กิจการในหน้าที่ นี้ก็เป็นความเสีย ไม่เป็นความดี ถ้าใครมีมาก ในที่สุดก็ต้องอยู่ในหน้าที่นั้นไม่ได้ จะต้องถูกตำหนิไล่ออกจากหน้าที่ ความเกียจคร้านแล้วนอนเสีย การที่ทำนั้นสบายจริง แต่พอพ้นเวลานั้นไปแล้ว ความสบายก็หายหมด คงมีแต่ความเสื่อมไม่มีความเจริญ ก็ความเกียจคร้านทำไมทำได้ เราควรจะบังคับใจเอาไว้เกียจคร้านแต่ส่วนที่เป็นโทษ ขี้เกียจไม่ทำ แต่ส่วนข้างดีข้างชอบต้องหมั่นประกอบการรักษาไว้ ต้องชี้ให้เห็นคุณและโทษของความเกียจคร้านนั้น ความเกียจคร้านก็เป็นเหมือนน้ำที่ไหลเข้ามนลำเรือ ถ้าปล่อยให้เข้ามาก เรือก็ล่ม ฯ

อีกอย่างหนึ่ง ใจน้อยโกรธง่ายไม่อดทนหนักแน่น และยึดถือถ้อยคำที่เขาเปรียบเปรยเสียดสี เอามาเป็นใหญ่เป็นโต ลุอำนาจแห่งความโกรธจนวิวาททุบตีฆ่าผันกันถึงชีวิต สมเด็จพระพิชิตมารสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสสอนให้อดทน คือขันติ แปลว่าความอด จะอธิบายโดยโวหารสักหน่อย ขันติมี ๒ อย่าง คือ ขันติอัด ๑ ขันติอด ๑ ขันติอัดนั้นใช้ได้นิดหน่อย เพราะไม่ใช้ปัญญาชี้แจงแก่ใจให้เห็นจริง คือใครเขาว่าอะไร ก็อัดไว้ทนไว้ เขาพูดเสียดสีก็อัดทนไว้ อัดไปไม่ได้นานก็ต้องระเบิดแตกออก เช่นลางคน เมื่อเข้าพรรษาอดสุราอัดเข้าไว้ ไม่ได้พิจารณาคุณและโทษ พอวันออกพรรษาก็เมาเสียเต็มถนนหนทาง หรือลางคนตั้งใจว่าวันนี้จะไม่โกรธเคืองใคร แม้เด็กเล็กจะทำจะว่าอะไรก็อัดเข้าไว้ เหลือกำลังอัดเข้าก็ระเบิดออกมา ด่าว่าเฆี่ยนตีเอาป่นปี้ทีเดียว อย่างนี้เป็นขันติอัด

ขันติอดนั้นต้องใช้ปัญญา คือต้องชี้แจงแก่ตัวให้เห็นคุณและโทษว่า เขาว่าอะไรอย่าเพิ่งโกรธเขา จะปิดกั้นปัญญาเสีย จงตรวจดูตัวของตัวก่อน ถ้าเราทำถูก เขาว่าผิด เราควรจะยินดีว่าเราทำถูกดีแล้ว นั่นเขาว่าผิดต่างหาก เป็นความผิดของเขา ไม่ใช่ความผิดของเรา เมื่อเป็นเช่นนี้จะได้อดความโกรธหรือใจน้อยลงเสีย เพราะคำที่พูดล้วนเป็นส่วนสมมติใช้เป็นภาษาพูดกัน เช่นลางคราวเขาเรียกว่านายหรือคุณ ก็ชอบ ลางคราวเขาเรียกเจ้า ก็โกรธ แต่เจ้าพระยาทำไมมีคนชอบ ก็เจ้าคำเดียวกัน เพราะไปเทียบกับนาย ก็ทำไมไม่เอาไปเทียบกับเจ้าพระยาเล่า เด็กเล็ก ๆ ว่าอะไรเรา ๆ ก็ไม่โกรธควรเอาใจที่ไม่โกรธเด็กนั้นมาใช้ในเวลาที่ผู้ใหญ่ว่า อนึ่ง คนบ้าด่าว่าเรา ทำไมเราไม่โกรธ ก็เพราะนึกว่าเขาเป็นบ้า เวลาคนดีด่าว่า ก็ควรนึกว่าเขาเป็นบ้า เช่นนี้ เป็นพวกขันติอด คำด่าว่าก็เป็นแต่เพียงสมมติเท่านั้น คนที่ไม่เข้าใจไปยึดถือเอามาก็เกิดโทษ เมื่อเราโกรธขึ้นมา ก็จะทำลายความดีของเรา เช่นนี้ก็ควรชี้แจงแก่จิตใจของตน แล้วมีขันติความอดทนซึ่งเป็นความดี ฝ่ายข้างไม่ดีเหมือนน้ำที่จะเข้าเรือแล้วทำให้เรือเพียบ ถ้าไม่หาที่รั่วจุกยาเสีย ที่สุดเรือก็เต็มน้ำไปไม่ถึงสถานที่ประสงค์ได้จนตลอดวาสนาบารมีของตัว ความชั่วทำให้ป่นปี้เสียหายทั้งนั้น ขอท่านทั้งหลายจงระวังให้มากที่สุด ส่วนข้างความดีความชอบนั้น ไม่ได้ลงโทษเลย มีแต่บำรุงให้ดีให้สูงยิ่งขึ้น ให้ผลตลอดถึงสกุลวงศ์ชาติประเทศ เพราะฉะนั้นจงละความชั่วเสีย จะได้เขยิบฐานะของตนให้เป็นคนสูง ความดีนี้แหละทำให้ลางคนเป็นถึงเจ้าพระยา แต่คนนั้นเดิมทีก็เป็นคนสามัญนั่นเอง ฯ

แต่ข้อสำคัญคือความชั่วที่กล่าวมาแล้วนั้น คอบระวังให้มากเสียแต่ต้น เมื่อเกิดขึ้นก็ต้องระงับเสียเมื่อยังน้อยทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ถ้าประพฤติได้อย่างว่ามานี้ เรือคือร่างกายกับใจก็จะแล่นไปรวดเร็ว ถึงที่ประสงค์คือทรัพย์สมบัติศฤงคารบริวาร จะได้ช่วยบ้านเมือง ช่วยประเทศ ช่วยพระมหากษัตริย์ และช่วยพระพุทธศาสนา ร่างกายนี้ไม่สิ่งไรเป็นแก่นสาร จะเอาไปทำอะไรก็ไม่ได้ แต่เราอาศัยร่างกายนี้แล้ว ทำประโยชน์ตน และประโยชน์ผู้อื่นได้ ทำประโยชน์แก่สกุลวงศ์บ้านเมืองและประเทศได้ ไม่ให้เสียชาติที่เกิดมา คือเมื่อเราตายไปแล้ว ยังเป็นประโยชน์อยู่ภายหลังแก่สกุลวงศ์ ตลอดจนคนอื่นยืนยาวนาน และเป็นความเกษมสำราญเจริญรุ่งเรืองประเทืองสุขทุกทิพาราตรี ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา ฯ

พระพุทธภาษิตนี้ พระองค์ทรงสอนภิกษุให้ปฏิบัติละอาสวกิเลสทั้งหมด ซึ่งปรากฏเกิดขึ้นในกายวาจาใจ และความเห็น จะได้ถึงธรรมที่สุด เหมือนยา อุด วิดน้ำออกจากเรือให้หมด จะได้ถึงที่ซึ่งประสงค์ฉะนั้น แต่ที่เทศนามานี้ ลดส่วนลงมาเพื่อให้ท่านทั้งหลายได้รับประโยชน์ตามสมควรแก่หน้าที่ และกำลังความสามารถของตน ๆ ฯ

ในที่สุดนี้ จะกล่าวย้ำหัวข้อในพระพุทธภาษิตนี้ว่า สิญฺจ ภิกฺขุ อิมํ นาวํ สิตฺตา เต ลหุเมสฺสติ ดูก่อน ภิกษุ ท่านจงวิดเรือลำนี้ เรือลำนี้ที่ท่านวิดแล้วจักถึงเร็ว และต่อออกไปอีกว่า เฉตฺวา ราคญฺจ โสญฺจ ตโต นิพฺพานเมหิสิ จงตัดราคะและโทสะเสีย ต่อจากนั้นจักถึงนิพพาน ดับกิเลสและกองทุกข์ได้ขาดจากสันดาน มีเนื้อความพิสดารดังกล่าวมา ด้วยประการฉะนี้ ฯ

เนื้อความที่กล่าวมานี้เป็นส่วนเฉพาะคน แม้สกุลวงศ์บ้านเมือง และประเทศจะเสื่อมลง หรือเจริญขึ้น ก็เป็นตามเค้านี้เหมือนกัน แต่เป็นส่วนกว้างออกไป ฯ

ในที่สุดนี้ ขอถวายพระพรเจริญพระราชสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล พระชนมสุขทุกประการ จงมีแด่สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า ผู้เอกอัครศาสนูปถัมภก พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐทุกคืนวัน ขอประชาชนชาวสยามทุกภูมิชั้น จงสามัคคีกลมเกลียวราบคาบสงบ ประสบพรทั้ง ๔ ทุกทิพาราตรีเทอญ ฯ



**********************************