PDA

แสดงเวอร์ชันเต็ม : พระอัญญาโกณฑัญญะ



DAO
11-12-2008, 09:37 AM
พระอัญญาโกณฑัญญะ


ชาติภูมิ
ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะเป็นบุตรพราหมณ์มหาศาล ในบ้านพราหมณ์ชื่อว่า โฑณวัตถุ ไม่ห่างไกลจากกรุงกบิลพัศดุ์ เดิมชื่อว่า “โกณฑัญญะ” เมื่อเจริญวัยได้ศึกษาเล่าเรียนจบไตรเพทและรู้ลักษณมนต์ คือ ตำราทายลักษณะฯ



เข้าทำนายพระลักษณะ
คราวเมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาประสูติแล้วได้ประมาณ ๕ วัน พระเจ้าสุทโธทนะ พระราชบิดาได้เชิญพราหมณ์ ๑๐๘ คน มาเลี้ยงโภชนาหาร ในพระราชพิธีทำนายพระลักษณะตามราชประเพณี แล้วเลือกพราหมณ์ ๘ คนจากพราหมณ์ทั้งหมดนั้น ให้เป็นผู้ตรวจและทำนายลักษณะของพระมหาบุรุษ ขณะนั้นโกณฑัญญะพราหมณ์ยังเป็นหนุ่ม ได้รับเชิญมาในงาน และท่านก็เป็นผู้หนึ่งที่ได้รับเลือก เป็นผู้มีอายุอ่อนกว่าเพื่อน พราหมณ์ ๗ คนตรวจลักษณะ แล้วทำนายคติแห่งพระมหาบุรุษเป็น ๒ ทางว่า



๑. ถ้าอยู่ครองฆราวาสจักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ

๒. ถ้าเสด็จออกทรงผนวชจักได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกในโลก



ส่วนโกณฑัญญะพราหมณ์เห็นแน่แก่ใจว่า พระองค์จักเสด็จออกทรงผนวช จึงได้ทำนายคติแห่งพระราชกุมารเป็นทางเดียวว่า พระองค์จักเสด็จออกทรงผนวช แล้วจักได้ตรัสรู้ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกในโลกเป็นแน่ ตั้งแต่นั้นมาก็ตั้งใจไว้ว่า ถ้าพระมหาบุรุษเสด็จออกทรงผนวชเมื่อใด ตนยังมีชีวิตอยู่จักออกบวชตามเมื่อนั้น ต่อมา ครั้นพระมหาบุรุษเสด็จออกทรงผนวชแล้ว และกำลังบำเพ็ญทุกกรกิริยาอยู่ (ทุกกรกิริยา : การกระทำที่ทำได้ยากอย่างยิ่ง เช่น อดอาหาร เป็นต้น) โกณฑัญญพราหมณ์ได้ทราบข่าว จึงชวนพราหมณ์อีก ๔ คน คือ วัปปะ, ภัททิยะ, มหานามะ, อัสสชิ รวมเป็น ๕ คน จึงเรียกว่า ปัญจวัคคีย์ ได้ติดตามพระมหาบุรุษ คอยปฏิบัติเฝ้าอยู่ทุกเช้าค่ำ ด้วยหวังว่า ถ้าพระองค์ได้บรรลุธรรมใดแล้ว ก็จักได้เทศนาสั่งสอนตนให้บรรลุธรรรมนั้นบ้าง เมื่อพระมหาบุรุษทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยาเต็มที่ นับประมาณได้ถึง ๖ ปี แล้วทรงสันนิษฐานว่า มิใช่ทางแห่งการตรัสรู้ ทรงตั้งพระทัยจะทำความเพียรในทางใจ จึงทรงเลิกการทำทุกกรกิริยานั้นเสีย ฝ่ายปัญจวัคคีย์มีโกณฑัญญะเป็นหัวหน้า สำคัญว่า พระองค์ทรงคลายความเพียรเสียแล้ว จึงหมดความเลื่อมใส เกิดความเบื่อหน่ายขึ้น พากันละทิ้งพระองค์ไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี เมื่อพระมหาบุรุษได้ตรัสรู้แล้ว ทรงดำริหาคนผู้ที่จะรับพระธรรมเทศนาคนแรก ลำดับแรกทรงระลึกถึงอาฬารดาบสกาลามโคตร และ อุททกดาบสรามบุตร ซึ่งพระองค์ได้เคยไปอาศัยศึกษาลัทธิของท่าน แต่ท่านทั้งสองได้สิ้นชีพไปเสียก่อนแล้ว ลำดับต่อมาทรงระลึกถึงภิกษุปัญจวัคคีย์ ที่ได้เคยอุปัฏฐากพระองค์มา ครั้นทรงดำริอย่างนี้แล้ว จึงเสด็จไปสู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ฝ่ายภิกษุปัญจวัคคีย์ได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาแต่ไกล เข้าใจว่าพระองค์เสด็จมาเพื่อแสวงหาผู้อุปัฏฐาก จึงได้ทำกติกานัดหมายกันว่า พระสมณโคดมนี้คลายความเพียรเวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมากในกามคุณ เสด็จมา ณ บัดนี้ พวกเราไม่พึงไหว้ ไม่พึงลุกขึ้นต้อนรับ และอย่ารับบาตรและจีวรของพระองค์เลย ก็แต่จะพึงปูอาสนะที่นั่งไว้ ถ้าพระองค์ทรงประสงค์ก็จักประทับนั่งเอง ครั้นพระองค์เสด็จเข้าไปถึงแล้ว อาศัยความเคารพที่เคยมีต่อพระองค์มา บันดาลในลืมกติกานัดหมายที่ทำกันไว้นั้นเสีย พร้อมกันลุกขึ้นต้อนรับและทำสามีจิกรรมดังที่เคยทำมา แต่ยังแสดงกิริยากระด้างกระเดื่อง พูดกับพระองค์ด้วยถ้อยคำไม่เคารพ คือ พูดออกพระนามและใช้คำว่า อาวุโส (อาวุโสในทางบาลีผิดกับของไทย นิยมใช้สำหรับผู้ใหญ่เรียกผู้น้อยกว่า) พระองค์ตรัสห้ามเสีย และตรัสบอกว่าเราได้ตรัสรู้ อมฤตธรรม (อมฤตธรรม ธรรมที่ไม่สูญหาย อยู่คู่โลกตลอดไป) อันถูกต้องด้วยตัวเราเอง ท่านทั้งหลาย คอยตั้งใจฟังเถิด เราจักแสดงให้ฟัง เมื่อท่านทั้งหลายตั้งใจประพฤติตามที่เราสั่งสอนแล้ว ไม่ช้าก็จักได้บรรลุอมฤตธรรมนั้น เธอเหล่านั้นกล่าวคัดค้านพระองค์ถึงสองครั้งสามครั้งว่า พระองค์คลายความเพียรเสียแล้ว ไฉนจักบรรลุอมฤตธรรมได้เล่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงตรัสเตือนให้เธอทั้งหลายระลึกถึงกาลหนหลังว่า ก่อนนี้ท่านทั้งหลายเคย ได้ยิน ได้ฟัง วาจาที่เราพูดมาเช่นบัดเดี๋ยวนี้บ้างหรือ พวกภิกษุปัญจวัคคีย์ระลึกขึ้นได้ว่า พระวาจาเช่นนี้พระองค์ไม่เคยได้ตรัสเลย จึงพากันตั้งใจฟังพระธรรมเทศนาที่พระองค์จะตรัสเทศนาสั่งสอนสืบต่อไปฯ



ได้ฟังปฐมเทศนา
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสพระปฐมเทศนา ประกาศพระสัมมาสัมโพธิญาณแก่พวกภิกษุปัญจวัคคีย์ ซึ่งมีนามว่า ธัมมจักกัปปวัตนสูตร ในเวลาจบพระธรรมเทศนา ธรรมจักษุได้บังเกิดขึ้นแก่โกณฑัญญะว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดก็มีความดับไปเป็นธรรมดา” ธรรมจักษุในที่นี้ได้แก่ พระโสดาปัตติมรรค เรียกท่านผู้ที่ได้บรรลุว่า พระโสดาบัน เมื่อสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า ท่านโกณฑัญญะได้เห็นธรรมแล้ว จึงทรงเปล่งพระอุทานว่า “อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ” ที่แปลว่า “ได้รู้แล้ว” คำว่า “อัญญา” จึงได้นำหน้านามของท่านว่า “อัญญาโกณฑัญญะ” ตั้งแต่กาลนั้นมาฯ



อุปสมบท
อัญญาโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรมแล้ว จึงได้ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัยของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยพระวาจาว่า “ท่านจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อถึงที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด” การอุปสมบทของท่านเป็นอันสำเร็จด้วยพระวาจาเพียงเท่านี้ การอุปสมบทอย่างนี้เรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา ผู้ได้รับพุทธานุญาตให้เป็นภิกษุด้วยพระวาจาเช่นนี้ เรียกว่า เอหิภิกขุ ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ ได้รับพระพุทธานุญาตให้เป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาด้วยพระวาจาเช่นนั้นเป็นองค์แรก



ตั้งแต่นั้นมา สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอนท่านทั้งสี่ที่เหลือ ซึ่งยังไม่ได้บรรลุธรรมอะไรด้วยปกิรณกเทศนา (ปกิรณกเทศนา – การแสดงธรรมด้วยเรื่องเพียงเล็ก ๆ น้อย) ให้ได้ดวงตาเห็นธรรม คือ เป็นพระโสดาบัน และรับให้เป็นพระภิกษุด้วยพระวาจาเช่นเดียวกัน ในลำดับนั้น พระองค์จึงตรัสเทศนาเป็นทางอบรมวิปัสสนาวิมุตติ อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ซึ่งมีนามว่า “อนัตตลักขณสูตร” ในเวลาจบพระธรรมเทศนา จิตของท่านทั้งห้า ก็หลุดพ้นจากกิเลสาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน (อุปาทาน – ความยึดมั่นในสิ่งต่าง ๆ จนเกินไป) ท่านได้เป็นพระอรหันตขีณาสพ ประพฤติพรหมจรรย์ในพระธรรมวินัยนี้ ในคราวที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงส่งสาวกไปประกาศพระศาสนาคราวแรก ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ ก็ได้ช่วยเป็นกำลังสำหรับประกาศพระศาสนาองค์หนึ่ง ท่านไปบ้านพราหมณ์ชื่อว่า โทณวัตถุ แขวงเมืองกบิลพัศดุ์ ซึ่งเป็นภูมิลำเนาเดิมของท่าน เพราะมีหลักฐานที่ท่านพาปุณณมาณพผู้เป็นหลาน บุตรของนางมันตานี ซึ่งเป็นกนิฏฐภคินีของท่าน เข้ามาบรรพชาอุปสมบทในพระธรรมวินัยนี้ (จะพามาบวชในคราวนี้หรือคราวไหน ขอนักธรรมวินัยใคร่ครวญดูเถิด)ฯ



เอตทัคคะ
ท่านได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นยอดเยี่ยมกว่าภิกษุทั้งหลายผู้รัตตัญญู แปลว่า “ผู้รู้ราตรี” ซึ่งหมายถึงว่า ท่านเป็นผู้เก่าแก่บวชก่อนพระภิกษุรูปอื่นทั้งหมดในพระพุทธศาสนา เป็นพระภิกษุรูปแรกรู้เหตุการณ์มาแต่ต้นมีประสบการณ์มากฯ



ปรินิพพาน
ท่านเป็นผู้มีอายุมาก อยู่ในเสนาสนะใกล้บ้านของท่านเอง ไม่มีความสบายใจ จึงได้ถวายบังคมลาสมเด็จพระบรมศาสดาไปอยู่ป่า ที่พระคันถรจนาจารย์กล่าวว่า ฉัททันตสระ ประมาณได้ ๑๒ ปี และได้ดับขันธปรินิพพาน ณ ที่นั้น ก่อนพระพุทธปรินิพพานฯ



ขอขอบคุณที่มาคะ http://www.geocities.com/piyainta/ab01.htm