PDA

แสดงเวอร์ชันเต็ม : คิลาโนวาท (โอวาทสำหรับคนเจ็บไข้) สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ญาณวรเถระ)



**wan**
11-12-2008, 09:39 AM
http://www.pantown.com/data/6744/content13/f1.gif

คิลาโนวาท (โอวาทสำหรับคนเจ็บไข้)

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ญาณวรเถระ)
วัดเทพศิรินทราวาส

โพสท์ในบอร์ดพันธุ์ทิพย์ [ศาสนา-ปรัชญา] กระทู้ที่ K2308030
โดยคุณ : กรรมกรแบกหาม - [ 7 มิ.ย. 46 ]

คนเจ็บ ควรพิจารณาภายนอกก่อนว่า ความเจ็บ เป็นทุกขเวทนา จะไม่ให้เจ็บตามใจไม่ได้ ลางคน เมื่อเจ็บปวดขึ้น ก็อยากให้เจ็บปวดนั้นไปเป็นในที่ต่าง ๆ เช่นเท้าเจ็บ ก็บ่นว่าเจ้ากรรมเฉพาะมาเป็นที่เท้า จะเดินไปไหนก็ไม่ได้ เจ็บมือดีกว่า ถ้าเจ็บมือก็บ่นว่า เจ็บมือช่างลำบากจริง ๆ จะทำอะไรก็ไม่ถนัด ปวดศีรษะดีกว่า ครั้นปวดศีรษะ ก็บ่นอีกว่า ปวดศีรษะเหลือทน คิดอะไรก็ไม่โปร่ง จะหลับนอนก็ไม่ผาสุก เจ็บที่อื่นดีกว่า ขอเปลี่ยนอยู่เสมอทุกแห่ง ที่แท้ ก็ไม่อยากให้เจ็บเป็นอะไรหมด ลางที เมื่อเป็นอะไรสักนิด มักหงุดหงิดถึงบ่นว่า ไม่ควรจะเป็นเลย ทำไมคนอื่นเขาถึงไม่เป็น เฉพาะมาเป็นแต่เรา ดั่งนี้ก็มี

ความเจ็บไข้ทั้งมวลซึ่งมีจำนวนนับไม่ถ้วน เป็นของสำหรับมนุษย์ สตรี บุรุษ ทั่วกันต้องรับ จะปลีกตัวเสียไม่ได้เลยเป็นอันขาด สมเด็จพระโลกนาถสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสสอนไว้ ให้สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ บรรพชิต หมั่นพิจารณาบ่อย ๆ ว่า เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้ ควรพิจารณาให้เห็นตามความจริงที่ปรากฏอยู่ ถ้าการบ่นว่า ทำให้เจ็บไข้หายได้แล้ว ทุกคนที่ป่วยควรบ่นว่าให้มาก เจ็บไข้คงหายหมด จะต้องรักษาเยียวยาทำไม่ บ่น ๆ ว่า ๆ เอา ก็แล้วกัน คงหายสมความปรารถนา เมื่อรู้แน่ว่าเป็นการจำเป็นจะต้องเจ็บไข้แล้ว ไม่ควรที่จะบ่นว่าหรือครวญครางให้เปลืองเสียงเปล่า ๆ พึ่งใคร่ครวญว่าการครางนั้นจะหายได้หรือ ถ้าหายได้คนทั้งหลายครวญครางกันทั่วบ้านทั่วเมือง ไม่ต้องหาหมอรักษา ที่แท้การครวญคราง มีแต่จะทำให้ผู้อื่นรำคาญ หนวกหู และทำให้ผู้รักษาพยาบาลรู้สึกอึดอัด หนักใจ ไม่สบาย ผู้เจ็บ มัววุ่นวายกับการครางเสียแล้ว ก็ไม่ได้เพ่งพิจารณาตามธรรมให้ชัดเจนตามความจริง เมื่อตายจะไม่มีสติ ไม่มีใครสรรเสริญเลย เวลาจะตายนั้น พึงนึกว่าเราต้องตายเป็นแน่แท้ ควรทำแต่ความดี ไม่ควรประพฤติชั่ว ให้ความชั่วติดตัวไป ควรทำกาย วาจา ใจ กับความเห็นให้บริสุทธิ์ อย่าให้มีโทษ

อนึ่ง ว่าถึงบุญคุณของผู้รักษาพยาบาล เราไม่สามารถที่จะทดแทนคุณของเขาได้ในเวลาที่เราตายไปแล้ว เพราะเขาตั้งใจจะให้เราหายเจ็บ ได้เป็นสุขสบาย สู้อดทน ไม่เป็นอันกินอันนอน ทะนุบำรุงเราทุกอย่าง ถ้าเราหายเจ็บก็จะได้สนองคุณเขา ถ้าไม่หาย ก็ไม่มีเวลาจะสมนาคุณ เพราะฉะนั้นควรพูดกับเขาด้วยถ้อยคำที่ไพเราะอ่อนหวานจับใจ ให้ศีลให้พรเขา อย่าทำอย่าพูดให้เขาเดือดร้อนรำคาญต่าง ๆ ได้ เป็นอย่างดีที่สุด จะได้ไม่เป็นเวรเป็นกรรมต่อไป และจะชื่อว่าสนองคุณเขาด้วย ตามส่วนที่เรากำลังเจ็บอยู่พอจะทำได้ เพราะฉะนั้น ถ้าพลาดพลั้งด้วยกาย วาจา ใจ ก็ควรขอขมาโทษเสีย จะได้ไม่เป็นเวรเป็นกรรมต่อไป..........ลางคน เมื่อป่วยหนัก มักมีโทสะมาก ดุคนโน้น ด่าคนนี้ เช่นโกรธตั้งแต่ให้ไปตามหมอ ไปตามช้าไปหน่อยก็โกรธ หมอไม่อยู่ก็โกรธ หมอมาช้าก็โกรธ บดยาไม่ทันใจก็โกรธ หรือเมื่อได้ยามาแล้วมีคนทำถ้วยยาพลัดตกแตกไม่ทันถึงมือก็โกรธ เกิดความทุกข์เร่าร้อนลงโทษตัวเองอีกมาก ถึงกล่าววาจาดุด่า หรือลางที คนเดินดังก็เรียกตัวมาเอาไม้เคาะตาตุ่ม เป็นต้น รวมความว่า เมื่อเจ็บก็เป็นทุกข์อยู่มากแล้ว ยังเพิ่มทุกข์ที่ทำใจให้รำคาญ เดือดร้อน อึดอัด เคืองแค้น แน่นหน้าอก เพิ่มเติมเข้าอีก ขาดทุนเปล่า ๆ ควรพิจารณาตรึกตรองดูว่า เจ็บก็ส่วนเจ็บ ยอมไปตามเรื่องของความเจ็บ ไม่ควรจะทุกข์ร้อนเกินไป แสดงอาการทุรนทุรายกระวนกระวายอยากให้หาย ขวนขวายจนเกินส่วนควรปฏิบัติสังขารไปตามสมควร ...........เมื่อเจ็บไข้ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโรคชนิดไหนหมด ไม่ควรประมาท ควรนึกว่า เจ็บน้อยนี้ อาจเจ็บมาก และอาจถึงตายก็ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อมีธุระอะไรติดตัวอยู่ ควรชำระสะสางให้เรียบร้อย เช่นใช้หนี้สินเงินทอง แบ่งทรัพย์มรดก ให้แก่บุตรธิดา หรือภรรยาสามี และญาติพี่น้องผู้สมควรจะได้รับ ถ้าตายลงจะได้เรียกว่า “ไปดีมาดี” ไม่เกิดแก่งแย่งฟ้องร้อง วิวาทกันภายหลัง การทำเช่นนั้นไม่ใช่แช่งตัว ลางคนถือกันต่าง ๆ เช่นถ่ายรูป และทำพินัยกรรมแล้ว รู้สึกเป็นลางส่อให้ตัวตาย ที่จริงไม่เป็นเช่นนั้นเลย กลับเป็นผู้ที่รู้เท่าทันตามธรรมดาดีขึ้นอีก และชื่อว่าเป็นผู้ไม่กลัวตายและยังหลงต่าง ๆ ว่าให้ทรัพย์สมบัติลูกหลาน ภรรยาสามีแล้ว เวลาไม่ตายเขาอาจปกครองสมบัติไม่ได้ มักจะเอาไปทุ่มเทเสียหายบ้าง หรือจะไม่ประคับประคองดูแลปฏิบัติรักษาพยาบาลตัว ให้เต็มมือ เหมือนที่ยังไม่ได้แบ่งมรดก คือกลัวเขาจะทอดธุระไม่ดูแลตัวเองบ้าง

อนึ่ง เวลาจะตายจริง อย่านึกเลือกเวลา สถานที่ บ้านเมือง หรือเลือกโรค เพราะเป็นสิ่งที่เลือกไม่ได้ เมื่อเลือกไม่ได้แล้ว ไม่ว่าเวลาใด ไม่ว่าโรคอะไร จะตายที่ไหน ก็ได้ทั้งนั้น จะบังคับหรือสั่งให้เป็นไปตามความพอใจไม่ได้เลย เช่นไปไหน ๆ อาจเป็นลมล้มตกลงในท่อข้างถนนตายก็ได้ หรือไปไกล ๆ เช่นข้ามประเทศสถานที่อยูไป อาจไปตายก็ได้ หรือจะเลือกโรค ขอให้ตายเพราะโรคที่สบาย ๆ เถิด เป็นการสะดวกดี จะได้ไม่ทนทุกขเวทนาต่าง ๆ ดั่งนี้ ก็ไม่ได้ ถ้าเลือกได้แล้ว คนทั้งหลายครั้งปู่ย่าตายาย คงไม่ตายเพราะโรคทุรนทุรายกระสับกระส่าย ตายลำบากยากเข็ญ คงตายเพราะโรคที่สบายเสียหมด ถ้าเป็นจริงอย่างนั้น โรคที่เหลือทนต่าง ๆ ก็จะตกอยู่แก่คนภายหลัง สถานที่ต่าง ๆ จะเลือกก็ไม่ได้ เช่นจะตายในที่ของตัว ไม่อยากตายในที่อื่น อยากตายบนที่นอนที่อ่อนนุ่มก็เลือกไม่ได้ ยังมีการถือลัทธิต่าง ๆ อีก เช่นคนจะตาย ต้องเอาเสื้อผ้าใหม่มาสวมและนุ่งให้ จะได้มีของติดตัวใหม่ ๆ ในเมืองผี ข้อนี้ไม่น่าเชื่อเลย คนตายแล้วจะหอบหิ้วเอาของชิ้นนั้นไปไม่ได้ ซ้ำจะเพิ่มความลำบากให้แก่ผู้ตายเข้าไปอีก ทำให้พะงับพะง่อนน่าทุเรต กลับเป็นอันตรายแก่การตั้งสติ แม้แต่ร่างกายซึ่งเป็นของรักยิ่ง ก็จำต้องทอดทิ้งไว้ เอาไปไม่ได้ ของเหล่านั้นจะเอาไปได้อย่างไร มีแต่จะเปื้อนเหม็นด้วยน้ำเหลืองน้ำเลือด ในที่สุดก็คงเป็นขี้เถ้าเพราะถูกไฟเผาไหม้เป็นจุนไม่เหลือหลอ หรือฝัง ก็จมดินผุย่อยเป็นดินไป ความเจ็บ ให้พึงเห็นว่า มันก็ดับของมันอยู่เสมอเป็นธรรมดา แต่เปลี่ยนท่ายักย้ายไป เช่นเดี๋ยวนี้เป็นเช่นนี้ บัดเดี๋ยวก็กลายเป็นอย่างใหม่อีก เกิดแล้วดับเรื่อยไปทนอยู่ไม่ได้ เช่นปวดศีรษะ ปวดก็ดับ ปวดอยู่ไม่ได้ ที่ปวดถึงตายก็คือร่างกายทนไม่ไหว ต้องแตกดับ ลงท้ายดับหมดทั่วกัน

ต่อนี้ไป ควรพิจารณาในร่างกายจิตใจนี้ ซึ่งแบ่งเป็นขันธ์ ๕ คือรูป ๑ เวทนา ๑ สัญญา ๑ สังขาร ๑ วิญญาณ ๑รูป ได้แก่ ร่างกายนี้เวทนา ได้แก่ สุข ทุกข์ ไม่ทุกข์ ไม่สุขสัญญา ได้แก่ จำรูป จำเสียง จำกลิ่น จำรส จำเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ที่มาถูกกาย จำเรื่องในใจสังขาร ได้แก่ นึกถึงรูป นึกถึงเสียง นึกถึงกลิ่น นึกถึงรส นึกถึงเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ที่มาถูกกาย นึกถึงเรื่องในใจวิญญาณ ได้แก่ รู้สึกทางตา รู้สึกทางหู รู้สึกทางจมูก รู้สึกทางลิ้น รู้สึกทางกาย รู้สึกทางใจ

พึงพิจารณาด้วยปัญญาว่ารูป เกิดขึ้นไม่เที่ยง ยักย้าย ผันแปร เสื่อมดับไปเป็นธรรมดา และไม่อยู่ในบังคับบัญชาของใครเวทนา เกิดขึ้นไม่เที่ยง ยักย้าย ผันแปร เสื่อมดับไปเป็นธรรมดา และไม่อยู่ในบังคบบัญชาของใครสัญญา เกิดขึ้นไม่เที่ยง ยักย้าย ผันแปร เสื่อมดับไปเป็นธรรมดา และไม่อยู่ในบังคับบัญชาของใครสังขาร เกิดขึ้นไม่เที่ยง ยักย้าย ผันแปร เสื่อมดับไปเป็นธรรมดา และไม่อยู่ในบังคับบัญชาของใครวิญญาณ เกิดขึ้นไม่เที่ยง ยักย้าย ผันแปร เสื่อมดับไปเป็นธรรมดา และไม่อยู่ในบังคับบัญชาของใคร

เมื่อพิจารณาพิสดารอย่างนี้แล้ว จงย่อขันธ์ ๕ เข้าเป็น นาม ๑ รูป ๑ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ๔ เป็นนาม ๑ รูปเป็นรูป ๑ แล้วพิจารณานามรูปนี้ ด้วยปัญญาว่า เวทนา สุข-ทุกข์ ไม่ทุกข์-ไม่สุข ปรากฏขึ้นแล้วก็ดับวิบไปไม่มีเหลือ ผลัดเปลี่ยนเกิดดับไปจนตายสัญญา ๖ มีจำรูป เสียง เป็นต้น ปรากฏขึ้นอย่างหนึ่ง แล้วก็ดับวิบไป จำอย่างอื่นแล้วก็ดับวิบไปอีก เช่นนี้ ไปจนตายสังขาร ๖ มีนึกถึงรูป เป็นต้น นึกแล้วก็ดับวิบหายไป ไม่มีอะไรเหลือจนตายวิญญาณ ๖ มีความรู้สึกทางตา เป็นต้น รู้สึกขึ้นทางไหน ก็ดับไปทางนั้น ผลัดเปลี่ยนกันอยู่ไม่หยุดหย่อนไปจนตาย

เหลว ๆ ไม่มีสาระแก่นสารยิ่งกว่าลม ไม่มีเรา-เขา ทั้งสี่อาการนี้ เหลว ๆ ทั้งสี่ ไม่มีอะไรเที่ยง มีแต่เสื่อมไป จางไป สิ้นไป ดับไป เป็นที่สุด ไม่ควรยึดถืออะไรหมด นามทั้ง ๔ นี้ เกิดจากรูป รูปก็เกิดผสมด้วยธาตุ ๕ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศธาตุ เหล่านี้ เข้ามาเป็นรูป แล้วก็เสื่อมสิ้น ยักเยื้อง แปรไป ที่สุดก็กลับไปอยู่กับธาตุเดิมภายนอก เช่นผม ขน เล็บ ตัดโกนร่วงหล่น ก็กลับไปอยู่กับธาตุเดิมคือดิน ฟันก็กร่อนเข้าไป กายก็ถูเป็นไคลร่วงหล่นไป ถ่ายเป็นอุจจาระตกไปอยู่กับดินอย่างเดิม น้ำ ดื่มเข้าไปแล้วก็บ้วนออกมาเป็นเขฬะ เป็นปัสสาวะ เป็นเหงื่อ เป็นน้ำตา น้ำมูก เป็นน้ำเหลือง น้ำเลือด ธาตุไฟ คืออบอุ่นตามตัว

ธาตุลม เช่นลมหายใจอากาศธาตุ เช่นในช่องจมูก ก็เสื่อมติดธาตุดิน ธาตุน้ำออกมาด้วยทุกครา ทุกลมหายใจเข้าออกเสมอ ทั้งหลับ ตื่น เดิน ยืน นั่น นอน ไม่ได้หยุดหย่อน ไปจนตาย

รูป แลเห็นได้ และเป็นที่อาศัยของนาม ก็ไม่มีสาระแก่นสารเที่ยงถาวร มีแต่เสื่อมสิ้น แปรผัน แตกดับ ไม่มีเรา-เขา หาไม่ได้ ควรหรือจะไปนิยมยินดี หลงรักใคร่ ยึดถือนาม ซึ่งเหลว ๆ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เป็นนามรูป เหมือนกันหมดทั่วทั้งโลก โดยส่วนที่ล่วงไปแล้วก็หมดไปแล้วจริง ๆ ถอยมาดูปัจจุบัน ก็กำลังหมดไปเปลี่ยนไปเหมือนที่ล่วงมาแล้วเช่นเดียวกัน แม้ในอนาคตก็จักเป็นเหมือนกับอดีตและปัจจุบัน ไม่แปลกต่างอะไรกัน

ควรพิจารณาอย่างย่อในเวลาจวนจะตาย ดังต่อไปนี้นามะ รูปัง อนิจจัง .. นามรูปไม่เที่ยง ไม่คงทน ไม่คงที่ ไม่ยังยืน ไม่ถาวร ไม่ตั้งอยู่เสมอร่ำไปนามะ รูปัง ทุกขัง .. นามรูปเป็นทุกข์ ทนอยู่ไม่ได้ มีความเสื่อมสิ้น ยักย้าย แปรผัน เก่าแก่ คร่ำคร่า ชำรุด ทรุดโทรม แตกดับไป เป็นของธรรมดานามะ รูปัง อนัตตา .. นามรูปไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา อ้อนวอนขอร้องของใคร ไม่มีตัวตน ไม่ใช่ของเขา ไม่ใช่ของเรา เป็นของกลาง ๆ ไม่เป็นของใคร เป็นแต่นาม ๑ รูป ๑ เท่านั้น

ลางคนจะฉงนว่า พิจารณาไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตานี้ ดูไม่เกี่ยวกับพระพุทธ พระสงฆ์เลย ไม่ได้บริกรรมว่า พุทโธ พุทโธ หรือ อรหัง อรหัง เช่นนี้ พึงเข้าใจว่าการที่บริกรรมอย่างนี้ก็ดีดอก ถ้าไม่รู้พระคุณของท่าน ก็ถึงแต่ชื่อของท่าน ไม่ถึงหัวใจท่าน ส่วนการพิจารณาไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตานี้ ถึงหัวใจท่าน การถึงชื่อที่ท่าน กับการถึงหัวใจท่าน อย่างไหนจะดีกว่า ? เพราะความจริงทั้ง ๓ ออกมาจากหัวใจท่าน ท่านเห็นก่อนใครหมด และโปรดปรานมาก ทรงสั่งสอนศิษย์สาวกมากกว่าคำสั่งสอนอื่น ๆ ทั้งหมด ถ้าพระองค์ แลพระสงฆ์ ไม่รู้ความจริงทั้ง ๓ นี้ ก็เป็นพระพุทธเจ้าไม่ได้ เป็นพระสงฆ์ไม่ได้ ผู้พิจารณาความจริงทั้ง ๓ นี้ เป็นผู้ถึงหัวใจพระพุทธเจ้า และหัวใจพระสงฆ์ทุกองค์ ส่วนความจริงทั้ง ๓ นี้ เป็นพระธรรมที่แท้จริง เมื่อพิจารณาเห็นความจริงทั้ง ๓ นี้ ก็ชื่อว่าอยู่กับพระธรรมที่แท้จริง เพราะฉะนั้น ผู้ใดพิจารณาความจริง คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตานี้ ผู้นั้นชื่อว่าอยู่กับหัวใจพระพุทธเจ้า หัวใจพระธรรม แลหัวใจพระสงฆ์ จงอุตส่าห์พิจารณาให้เห็นจริง แจ่มแจ้งชัดเจน ตามความจริงเถิด

ควรพิจารณากำหนดให้มาก เมื่อเวลายังสบายดี ไม่ป่วยไข้ ต้องซักซ้อมฝึกหัดปัญญานี้ไว้ให้ชำนิชำนาญ ในเวลาจะนอนควรพิจารณาด้วย เพราะลางคนนอนหลับตายไปก็มี พึงสะสมอบรมข้อปฏิบัติให้ชำนาญ แคล่วคล่องไว้แต่ยังดี ๆ จนหมดสงสัย เมื่อเจ็บน้อย-เจ็บมาก หรือจะตาย ก็ใช้เครื่องกำจัดป้องกันชนิดเดียวกัน ดุจนายทหารมีดาบหรือกระบี่ เป็นต้น ก็ใช้ยุทธวิธีฟาดฟันข้าศึกให้ย่อยยับจนสุดความสามารถ ไม่ถอยท้อย่อหย่อนเลย และควรฝึกหัดใช้ดาบ หรือกระบี่ เป็นต้น ไว้ให้คล่องแคล่ว เมื่อถึงเวลาอะไรก็จะได้ใช้สดวกดี เกิดมาชาติหนึ่ง จะตายดีหรือไม่ดีก็ตายหนเดียวเท่านั้น จะตายแก้ตัวอีกหนหนึ่ง หรือสองหนไม่ได้ ควรจะตายอย่างดีที่สุดที่จะตายได้ คือมีความองอาจกล้าหาญ และมีอาการอดทน แช่มชื่น บริสุทธิ์สะอาด ปราศจากโทษโดยประการทั้งปวง พร้อมทั้งกาย วาจา ใจ และทิฏฐิความเห็น มีสติ สัมปชัญญะ และปัญญาสามารถอย่างดีที่สุด ผู้ใดรู้และปฏิบัติได้ดังอธิบายมาแล้วนี้ ผู้นั้นนับว่าไม่ต้องเกรงกลัวต่อความตายเลย เป็นผู้ตายดีอย่างที่สุด สมกับที่เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นของดีประเสริฐอย่างยอดเยี่ยม ถ้าปฏิบัติถึงที่สุดก็หมดภพชาติ ถ้ายังไม่ถึงที่สุด ก็ไปสู่สุคติ ไม่ต้องไปทุคติเป็นแน่แท้ทีเดียว


ปัจฉิมโอวาทของ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ญาณวรเถระ)

ไม่ตายคราวนี้ ก็ตายคราวหน้า อย่าเศร้าโศก เสียทีที่ศึกษาปฏิบัติมา ร้องไห้เศร้าโศก ก็ร้องไห้เศร้าโศกสังขารที่เกิด แก่ เจ็บ ตาย นั้นเอง ที่ไม่ร้องไห้เศร้าโศกนั้น มิใช่ว่าจะเป็นคนใจไม้ไส้ระกำอะไร คำของพระก็คือ สัพเพ สังขารา อนิจจา สัพเพ สังขารา ทุกขา สัพเพ ธัมมา อนัตตา ย่นลงก็ สัพเพ สังขารา อนิจจา , สัพเพ ธัมมา อนัตตา แล้วปรินิพพานไม่ต้องเกิดมาแก่ มาเจ็บ มาตายอีก

(มีบัญชาให้บันทึกไว้ เมื่อเช้าวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ปี ๒๔๙๔)

ป.ล. สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์(ญาณวรเถระ) เป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทร์ฯ และเป็นองค์ประธานสงฆ์ในมหาเถระสมาคม ท่านเป็นพระผู้ใหญ่ที่มีศีลาจารวัตรงดงาม เคร่งครัดในธรรมวินัยเป็นอย่างยิ่งปัจฉิมวาระ ท่านอาพาธด้วยโรคเนื้องอกในตับ ซึ่งเป็นโรคที่ยังความทรมานแก่ผู้ป่วยเป็นอย่างยิ่ง แต่กระนั้น ท่านก็มีอาการสงบรำงับ ไม่ยอมให้ทุกขเวทนาเข้าครอบงำ จนถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๔๙๔ สิริอายุ ๘๐ พรรษา ๕๙



++++++++++++++++++++++++++++++++++++