PDA

แสดงเวอร์ชันเต็ม : พระควัมปติเถระ



DAO
11-12-2008, 09:49 AM
พระควัมปติเถระ


ชาติภูมิ - เหตุที่ออกบวช
พระควัมปติ เป็นบุตรของเศรษฐีในพระนครพาราณสี เป็นสหายที่รักใคร่กับท่านพระยสะ เมื่อยสกุลบุตรออกบวชแล้ว ท่านได้ทราบข่าวจึงคิดว่า ธรรมวินัยที่ยสกุลบุตรสหายของตนออกบวชนั้น จักไม่เลยทรามต่ำช้าแน่นอน คงจะเป็นธรรมวินัยอันดี ควรที่เราจะเข้าไปหาแล้วบวชเช่นนั้นบ้าง เมื่อคิดอย่างนั้นแล้ว จึงพร้อมด้วยสหายอีกสามคน คือ วิมละ สุพาหุ ปุณณชิ พากันเข้าไปหาท่านพระยสะ พระยสะก็พาท่านพร้อมด้วยสหายเหล่านั้น เข้าไปเฝ้าสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ทูลขอให้พระองค์ตรัสสั่งสอน พระองค์ตรัสสอนด้วย เทศนาอนุปุพพิกถา และ อริยสัจ ๔ ในเวลาที่จบเทศนา ธรรมจักษุ ดวงตาคือปัญญาอันเห็นพระธรรมได้เกิดขึ้นแก่ท่านว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา” เมื่อท่านได้ดวงตาเห็นธรรมแล้ว จึงทูลขอบรรพชาอุปสมบทในพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “ข้าพระพุทธเจ้าพึ่งได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระองค์เถิด” พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธี “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” เมื่อมีอินทรีย์แก่กล้าได้ฟังธรรมีกถาที่พระองค์ตรัสสอนในภายหลัง จิตก็หลุดพ้นจากอาสวะไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน ท่านได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งที่นับเข้าในจำพวกสาวกผู้ใหญ่ฯ ในคราวที่สมเด็จพระบรมศาสดาทรงส่งสาวกไปประกาศพระศาสนา ท่านก็ได้ไปประกาศพระศาสนาในนานาชนบท ช่วยสั่งสอนให้กุลบุตรกุลธิดาเกิดความเลื่อมใส เมื่อดำรงอยู่ถึงกาลกำหนดอายุขัยแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพานฯ



ข้อควรกำหนด

อนุปุพพิกถา คือ ถ้อยคำที่กล่าวโดยลำดับ แจกออกโดยประเภทเป็น ๕ คือ

๑. ทานกถา พรรณนาทาน คือ การให้ก่อน

๒. สีลกถา พรรณนาศีล คือ การรักษา กาย วาจาให้เรียบร้อยเป็นลำดับแห่งทาน

๓. สัคคกถา พรรณนาสวรรค์ คือ กามคุณที่บุคคลใคร่ ซึ่งจะพึงได้พึงถึงด้วยกรรมอันดีคือ ทานและศีลเป็นลำดับแห่งศีล

๔. กามาทีนวกถา พรรณนาโทษแห่งกามคือ ความเป็นของไม่ยั่งยืนและประกอบด้วยความคับแค้นแห่งกามอันได้ชื่อว่าสวรรค์นั้นเป็นลำดับแห่งสวรค์

๕. เนกขัมมานิสังสกถา พรรณนาอานิสงส์แห่งการหลีกออกจากการเป็นลำดับแห่งกามาทีนพ



อริยสัจ ของจริงแห่งพระอริยะ หรือ ของจริงอันประเสริฐ แจกโดยประเภทเป็น ๔ คือ

๑. ทุกข์ ความทนได้ยาก ได้แก่สภาวทุกข์และเจตสิกทุกข์

๒. สมุทัย เหตุเกิดทุกข์ ได้แก่ ตัณหา ๓ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา

๓. นิโรธ ความดับทุกข์ ได้แก่ ความสิ้นไปแห่งตัณหานั้น

๔. มรรค ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้แก่ อริยมรรค มีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิ เป็นต้น มีสัมมาสมาธิเป็นที่สุดฯ




ขอขอบคุณที่มาคะ http://www.geocities.com/piyainta/ab10.htm