PDA

แสดงเวอร์ชันเต็ม : พระนันทเถระ



DAO
11-12-2008, 11:31 AM
พระนันทเถระ


ชาติภูมิ

ท่านพระนันทะ เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะกับพระนางมหาปชาบดีโคตมี ผู้ครองกบิลพัศดุ์นคร เมื่ออยู่ในครรภ์พระมารดาทำให้บรรดาประยูรญาติมีความยินดีร่าเริงใคร่จะเห็น ด้วยเหตุนั้นเมื่อพระราชกุมารประสูติแล้ว บรรดาประยูรญาติได้ถือเอานิมิตนั้นไปถวายพระนามว่า “นันทกุมาร”



เมื่อพระบรมศาสดาได้ตรัสรู้แล้ว เสด็จมายังกรุงกบิลพัศดุ์ ประทับอยู่ที่นิโครธาราม ทรงแสดงธรรมเทศนาโปรดพระราชบิดาและพระนางมหาปชาบดีโคตมีพระน้านาง ประกาศสุจริตธรรมให้ได้ความเชื่อ ความเลื่อมใส



เหตุที่ออกบวช - ประพฤติธรรม

ในวันหนึ่ง มีการอาวาหมังคลาภิเษก ระหว่างนันทุมารและนางชนบทกับลยาณี พระองค์เสด็จไปเสวยที่พระตำหนักของนันทกุมารเสร็จแล้ว ทรงส่งบาตรให้นันทกุมารถือไว้ แล้วตรัสอวยชัยให้พรเพื่อเป็นมงคลแล้วเสด็จกลับ ส่วนนันทกุมารถือบาตรตามเสด็จไป นึกรำพึงในใจว่า ถ้าพระองค์ทรงรับบาตรในที่แห่งใดก็จะรีบกลับมา แต่ไม่สามารถจะทูลเตือนได้ เพราะมีความเคารพในพระองค์ ส่วนนางชนบทกัลยาณีที่จะเป็นเทวีของนันทกุมาร ได้เห็นอาการอย่างนั้นจึงร้องสั่งว่า ขอพระลูกเจ้าจงรีบเสด็จกลับมา ครั้นพระบรมศาสดาเสด็จถึงที่ประทับแล้ว จึงตรัสถามนันทกุมารว่า นันทะ เธอจักบวชหรือ นันทกุมารแม้ไม่สมัครใจจะบวช แต่ไม่อาจขัด เพราะมีความเคารพมาก จึงทูลยอมรับด้วยความไม่พอใจว่าจะบวช ครั้นบวชแล้วหวลระลึกถึงแต่คำที่นางชนบทกัลยาณีที่ร้องสั่งไว้อยู่เสมอ มีความกระสันไม่ผาสุกในอันที่จะประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป คิดจะสึกออกมา พระบรมศาสดาทรงทราบเรื่องจึงพาเที่ยวจาริกไปในที่ต่าง ๆ ให้ได้เห็นหญิงที่มีรูปสวยงามกว่านางชนบทกัลยาณีนั้น ให้พระนันทะละความรักรูปนางชนบทกัลยาณีเสียมุ่งหมายอยากจะได้รูปหญิงที่สวย ๆ งาม ๆ ยิ่งกว่านั้นต่อไป ความจริงก็เป็นไปเช่นนั้น จนผลที่สุดพระบรมศาสดาต้องเป็นผู้รับประกันว่า ถ้าพระนันทะตั้งใจจะประพฤติพรหมจรรย์แล้ว พระองค์ทรงรับรองที่จะหาหญิงที่สวย ๆ งาม ๆ ให้ ต่อแต่นั้น พระนันทะก็ตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์ เพื่ออยากได้หญิงที่รูปสวย ๆ งาม ๆ จนข้อความนั้นแผ่กระจายไปทั่ว หมู่ภิกษุก็พากันล้อเลียนท่านว่า พระนันทะเป็นลูกจ้าง ท่านพระนันทะเกิดความละอายหลีกไปอยู่แต่ผู้เดียว เกิดความดำริในใจว่า ความรักไม่มีสิ้นสุด เกิดความสลดใจ บรรเทาความรักเสียได้ เป็นผู้ไม่ประมาทบำเพ็ญเพียรก็ได้บรรลุพระอรหัตต์ฯ



เอตทัคคะ

เมื่อท่านพระนันทะได้บรรลุพระอรหัตต์แล้ว ปรากฏว่าท่านเป็นผู้สำรวมระวังอินทรีย์ ด้วยเหตุนี้จึงได้รับยกย่องจากสมเด็จพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายข้างสำรวมระวังอินทรีย์ ๖ ไม่ให้เกิดความยินดียินร้ายด้วยอำนาจโลกธรรมและเป็นผู้มีความเกื้อกูลในปฏิภาณ ท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพานฯ




ขอขอบคุณที่มาคะ http://www.geocities.com/piyainta/ab37.htm