เข้าสู่ระบบ

แสดงเวอร์ชันเต็ม : พระอนุรุทธเถระ



DAO
11-12-2008, 11:39 AM
พระอนุรุทธเถระ

ชาติภูมิ

ท่านพระอนุรุทธะ เป็นพระราชโอรสของเจ้าอมิโตทนะ ซึ่งเป็นพระอนุชาของพระเจ้าสุทโธทนะผู้ครองกรุงกบิลพัศดุ์ ประสูติร่วมพระมารดาเดียวกันสามพระองค์ คือ พระเชษฐา (พี่ชาย) พระนามว่า มหานาม พระกนิฏฐภคินี (น้องสาว) พระนามว่า โรหิณี รวมเป็นสามกับอนุรุทธกุมาร ถ้านับตามลำดับพระวงศ์เป็นพระอนุชาของสมเด็จพระบรมศาสดา อนุรุทธกุมารเป็นกษัตริย์อันสุขุมาลชาติ มีปราสาทสามหลังเป็นที่อยู่ในฤดูทั้งสาม สมบูรณ์ด้วยทรัพย์ศฤงคาร (ทรัพย์ที่ทำให้คนได้รับเกิดความรัก ความชอบใจ) และบริวารยศ แม้ที่สุดคำว่า “ไม่มี” ก็ไม่รู้จักและไม่เคยได้สดับเลยฯ



เหตุแห่งการออกบวช



พระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่ที่อนุปิยนิคม ของมัลลกษัตริย์ ในเวลานั้นศากยกุมาร ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียงมีคนรู้จักมาก ออกบวชตามพระบรมศาสดา วันหนึ่งเจ้ามหานามผู้เป็นพระเชษฐา มาปรารภถึงเรื่องนี้แล้ว จึงปรึกษากับอนุรุทธะผู้น้องว่า พ่ออนุรุทธะ ในตระกูลของเราไม่มีใคร ๆ ออกบวชตามพระบรมศาสดาเลย เจ้าหรือพี่ คนใดคนหนึ่งควรจะออกบวชด้วย อนุรุทธะตอบว่า น้องเป็นคนเคยตั้งอยู่ในความสุข ไม่สามารถจะออกบวชได้ พี่บวชเองเถิดฯ เจ้ามหานามจึงกล่าวขึ้นว่า ถ้าอย่างนั้นเจ้าจงเรือนให้รู้จักการงานของผู้ครองเรือนเสียก่อน พี่จะสอนเจ้าจงตั้งใจฟังครั้นกล่าวดังนั้นแล้ว เจ้ามหานามจึงสอนการงานของผู้ครองเรือน ยกการทำนาเป็นต้น ขึ้นสอน เมื่ออนุรุทธะได้ฟังแล้วก็เห็นว่าการงานไม่มีที่สิ้นสุด ที่สุดของการงานไม่มีปรากฏ จึงคิดเบื่อหน่ายในการงาน พูดกับพี่ชายว่า ถ้าอย่างนั้นพี่อยู่ครองเรือนเถิด น้องจักบวชละ ครั้นอนุรุทธะกล่าวอย่างนั้นแล้วจึงเข้าไปหาพระมารดา ทูลว่า แม่ หม่อมฉันอยากจะบวช ขอพระแม่เจ้าจงอนุญาตให้หม่อมฉันบวชเถิด พระมารดาตรัสห้ามไม่ยอมให้บวช อนุรุทธะก็อ้อนวอนขอให้อนุญาตให้บวชเป็นหลายครั้ง พระมารดาเห็นดังนั้น จึงคิดอุบายที่จะไม่ให้อนุรุทธะบวช ดำริถึงพระเจ้าภัททิยะผู้เป็นสหายของอนุรุทธะ ท่านคงจะไม่ออกบวชเป็นแน่ จึงพูดว่า พ่ออนุรุทธะ ถ้าพระเจ้าภัททิยะบวชด้วยจงบวชเถิด อนุรุทธะได้ฟังอย่างนั้นแล้วไปเฝ้าพระเจ้าภัททิยะ ทูลตามโอวาทของผู้คุ้นเคยกันว่า เพื่อนเอ๋ย บรรพชาของเราเรื่องด้วยบรรพชาของท่าน ในชั้นต้น พระเจ้าภัททิยะทรงปฏิเสธไม่ยอมบวช แต่ทนอ้อนวอนไม่ได้ ผลที่สุดตกลงใจยินยอมบวชด้วย อนุรุทธะจึงชักชวนศากยกุมารอื่นได้อีก คือ อานันทะ, ภคุ, กิมพิละ, โกลิยกุมาร อีกหนึ่งคือเทวทัตต์ เป็นเจ็ดกับทั้งอุบาลีซึ่งเป็นภูษามาลา พร้อมใจกันออกบวช เมื่อไปเฝ้าพระบรมศาสดาที่อนุปิยนิคม ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัยฯ อนุรุทธะเมื่อได้อุปสมบทแล้ว เรียนพระกรรมฐานในสำนักพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรแล้ว เข้าไปอยู่ราวป่าปาจีนวังสมฤคทายวันฯ



มหาปุริสวิตก ๘ ประการ

เมื่อเจริญสมณธรรมอยู่ ได้ตรึกตรองถึงมหาปุริสวิตก ๗ ประการว่า



๑. ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้มีความปรารภน้อย ไม่ใช่ของผู้มีความมักมากฯ

๒. ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้สันโดษยินดีด้วยของที่มีอยู่ ไม่ใช่ของผู้ไม่สันโดษฯ

๓. ธรรมนี้เป็นของผู้สงัดแล้ว ไม่ใช่ของผู้ยินดีในหมู่คณะฯ

๔. ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้ปรารภความเพียร ไม่ใช่ของผู้เกียจคร้านฯ

๕. ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้มีสติมั่นคง ไม่ใช่ของผู้มีสติหลงฯ

๖. ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้มีใจมั่นคง ไม่ใช่ของผู้มีใจไม่มั่นคงฯ

๗. ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้มีปัญญา ไม่ใช่ของผู้มีปัญญาทรามฯ



เมื่อพระอนุรุทธะตรึกอยู่อย่างนี้ พระบรมศาสดาเสด็จมาถึงทรงทราบว่าพระอนุรุทธะตรึกอยู่อย่างนั้น ทรงอนุโมทนาว่าชอบละๆ อนุรุทธะท่านตรึกตรองธรรมที่พระมหาบุรุษตรึกตรอง ถ้าอย่างนั้นท่านจงตรึกธรรมที่พระมหาบุรุษตรึกเป็นที่แปดว่า



๘. ธรรมนี้เป็นธรรมของผู้ยินดีในธรรมที่ไม่ให้เนิ่นช้า ไม่ใช่ของผู้ยินดีในธรรมให้เนิ่นช้าฯ



เอตทัคคะ

ครั้นตรัสสอนพระอนุรุทธะอย่างนี้แล้ว เสด็จกลับมาที่ประทับ ส่วนพระอนุรุทธะบำเพ็ญเพียรไปก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล ตั้งแต่นั้นมาท่านก็เล็งแลดูสัตว์โลกด้วยทิพยจักษุเสมอ เล่ากันว่ายกเว้นแต่เวลาฉันเท่านั้น เวลาที่เหลือท่านย่อมพิจารณาแลดูซึ่งหมู่สัตว์ทั้งปวงด้วยทิพยจักษุ ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสยกย่องสรรเสริญท่านว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ฝ่ายข้างทิพยจักษุญาณฯ ท่านพระอนุรุทธะดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพานฯ




ขอขอบคุณที่มาคะ http://www.geocities.com/piyainta/ab41.htm