PDA

แสดงเวอร์ชันเต็ม : พระอานนทเถระ



DAO
11-12-2008, 11:40 AM
พระอานนทเถระ


ชาติภูมิ

ท่านพระอานนท์ เป็นพระโอรสของพระเจ้าสุกโกทนะ ผู้เป็นกนิษฐภาดาของพระเจ้าสุทโธทนะผู้ครองพระนครกบิลพัศดุ์ พระมารดาพระนามว่า กิสาโคตมี เมื่อนับตามลำดับศากยวงศ์ ท่านก็เป็นพระอนุชาของสมเด็จพระบรมศาสดา ครั้งเมื่อพระบรมศาสดาประทับอยู่ที่อนุปิยนิคม แคว้นมัลละ ท่านได้ออกบวชพร้อมด้วยเจ้าศากยกุมารเหล่านี้ คือ ภัททิยะ, อนุรุทธะ, ภคุ, กิมพิละ, โกลิยกุมารอีกหนึ่ง คือ เทวทัตต์ รวมเป็นเจ็ดกับอุบาลี ผู้เป็นภูษามาลา เมื่อพระอานนท์ได้อุปสมบทแล้ว ได้ฟังโอวาทพระปุณณมันตานีบุตรกล่าวสอนได้บรรลุโสดาปัตติผลฯ



ขอพร ๘ ประการในการเป็นพระพุทธอุปัฏฐาก



ในวันหนึ่ง พระบรมศาสดาตรัสขอให้สงฆ์เลือกหาภิกษุอุปัฏฐากพระองค์เป็นนิจ ด้วยว่าเมื่อก่อนแต่กาลนี้ ภิกษุผู้เป็นอุปัฏฐากพระองค์ไม่คงตัวผลัดเปลี่ยนกันไป เวลาที่ผลัดเปลี่ยนยังไม่มีผู้รับต่อ ต้องเสด็จอยู่พระองค์เดียวได้ความลำบาก สงฆ์จึงเลือกพระอานนท์ถวาย แต่ก่อนที่จะรับเป็นพุทธอุปัฏฐาก ท่านพระอานนท์ได้ทูลขอพร ๘ ประการ



๑. อย่าประทานจีวรอันประณีตแก่ข้าพระพุทธเจ้าฯ

๒. อย่าประทานบิณฑบาตอันประณีตแก่ข้าพระพุทธเจ้าฯ

๓. อย่าโปรดให้ข้าพระพุทธเจ้าอยู่ในที่ประทับของพระองค์ฯ

๔. อย่าทรงพาข้าพระพุทธเจ้าไปที่นิมนต์ฯ

๕. จงเสด็จไปสู่ที่นิมนต์ ที่ข้าพระองค์รับเขาไว้ฯ

๖. ให้ข้าพระพุทธเจ้าพาบริษัทซึ่งมาเฝ้าพระองค์แต่ที่ไกล เข้าเฝ้าในขณะที่มาได้ทันทีฯ

๗. ถ้าความสงสัยของข้าพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นเมื่อใด ขอให้เข้าเฝ้าทูลถามได้เมื่อนั้นฯ

๘. ถ้าพระองค์ทรงแสดงธรรมเทศนาเรื่องใด ในที่ลับหลังข้าพระพุทธเจ้า ขอพระองค์มาตรัสบอกธรรมเทศนาเรื่องนั้นแก่ข้าพระพุทธเจ้าฯ



คุณและโทษแห่งการขอพร ๘ ประการ

พระบรมศาสดาจึงตรัสถามว่า ดูก่อนอานนท์ เธอเห็นคุณและโทษอย่างไรจึงได้ขออย่างนี้ พระอานนท์กราบทูลว่า ถ้าข้าพระองค์จักไม่ได้พรสี่อย่างข้างต้น ก็จะมีคนพูดครหานินทาได้ว่า พระอานนท์ได้ลาภอย่างนั้น ๆ จึงบำรุงพระบรมศาสดา การบำรุงอย่างนี้จะหนักหนาอะไร ถ้าข้าพระองค์จักไม่ได้พรสามข้อเบื้องปลาย คนทั้งหลายก็จะพูดได้ว่า พระอานนท์บำรุงพระบรมศาสดาทำอะไร เพราะพระองค์ไม่ทรงอนุเคราะห์แม้ด้วยกิจเพียงเท่านี้ ถ้าข้าพระองค์จักไม่ได้พรข้อสุดท้าย จักมีผู้ถามข้าพระพุทธเจ้าในที่ลับหลังพระองค์ว่า ธรรมนี้พระองค์แสดงที่ไหน ถ้าข้าพระพุทธเจ้าบอกไม่ได้ เขาก็จะพูดติเตียนได้ว่าท่านไม่รู้แม่แต่เรื่องเพียงเท่านี้ ท่านไม่ละพระบรมศาสดาแล้วยังเที่ยวตามเสด็จอยู่ดุจเงาตามตัวสิ้นกาลนานเพราะเหตุไรฯ ครั้นพระอานนท์กราบทูลคุณและโทษของพรแปดประการอย่างนี้แล้ว พระบรมศาสดาก็ทรงอนุญาตให้ตามขอ ตั้งแต่นั้นมา พระอานนท์ก็อุปัฏฐากพระบรมศาสดาโดยเอื้อเฟื้อ และมีความจงรักภักดีในพระองค์เป็นอย่างยิ่ง แม้ถึงชีวิตก็อาจสละแทนพระองค์ได้ พึงเห็นตัวอย่างเมื่อครั้งพระเจ้าอชาตศัตรูปล่อยช้างนาฬาคีรี เพื่อให้ทำอันตรายแก่พระองค์ พระอานนท์ออกยืนขวางหน้าช้างนาฬาคีรีเสีย มิให้มาทำอันตรายแก่พระองค์ฯ



เอตทัคคะ

และด้วยเหตุที่ท่านอยู่ในที่ใกล้ชิดพระบรมศาสดา ได้ฟังธรรมที่ทรงแสดงแก่ตนเองและผู้อื่น มีสติทรงจำไว้ได้มาก มีความเพียรเอาใจใส่ในการเล่าเรียนสาธยายทรงจำ จึงเป็นผู้ฉลาดในการที่จะแสดงธรรมมาก พระบรมศาสดาจึงยกย่องสรรเสริญว่า เป็นยอดแห่งภิกษุทั้งหลาย ๕ สถาน คือ เป็นพหุสูต, มีสติ, มีคติ, มีความเพียร, และเป็นพุทธอุปัฏฐาก อนึ่ง อาศัยความที่ท่านเป็นพหุสูต เมื่อพระบรมศาสดาปรินิพพานแล้ว พระมหากัสสปะทำการสังคายนาพระธรรมวินัย สงฆ์ได้เลือกท่านให้เป็นผู้วิสัชนาในส่วนพระสุตตันตปิฎกและอภิธรรมปิฎก ท่านได้บรรลุมรรคผลเบื้องสูงก่อนแต่วันที่จะทำสังคายนา ในปฐมสังคีติกถาท่านกล่าวว่า ก่อนวันที่จะทำสังคายนาวันหนึ่ง ท่านได้รับคำเตือนจากพระมหากัสสปเถระ ครั้นถึงเวลาเย็นก็อุตส่าห์บำเพ็ญสมณธรรม ก็ได้สำเร็จพระอรหัตผลในระหว่างอิริยาบถทั้งสี่ อันจะนับว่าท่า นั่ง, นอน, ยืน, เดิน ท่าใดท่าหนึ่งก็ไม่ได้ คือ อยู่ในท่าที่กำลังจะล้มตัวลงนอนฯ



นิพพานอย่างน่าอัศจรรย์

ครั้นกาลต่อมาท่านพิจารณาถึงอายุสังขาร เห็นสมควรจะนิพพานแล้ว จึงไปสู่แม่น้ำโรหิณี ซึ่งมีอยู่ระหว่างศากยวงศ์และโกลิยวงศ์ ครั้นท่านจะนิพพานได้เหาะขึ้นสู่อากาศแล้ว แสดงธรรมสั่งสอนแก่เทวดาและมนุษย์ ในที่สุดแห่งเทศนา ได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์มีอาการต่าง ๆ จึงตั้งสัตย์อธิษฐานว่า เมื่อนิพพานแล้วขอให้ร่างกายจงแตกออกเป็นสองส่วนแล้ว จงตกลงฝ่ายข้างพระญาติศากยวงศ์ส่วนหนึ่ง จงตกลงข้างฝ่ายพระญาติโกลิยวงศ์ส่วนหนึ่ง เพื่อจะป้องกันมิให้ชนทั้งสองพวกเกิดวิวาทกัน เพราะเหตุอัฐิ ครั้นอธิษฐานเสร็จแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน (พระอานนทเถระ เมื่อพิจารณาตามตำนานแล้ว แปลกจากพระสาวกรูปอื่น โดยกิเลสนิพพานบ้าง ขันธปรินิพพานบ้าง พระสาวกรูปอื่นตรัสรู้และนิพพานในอิริยาบถทั้งสี่ ยืน เดิน นั่ง นอน อิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่ง ส่วนท่านพระอานนท์ ตรัสรู้ในระหว่างอิริยาบถสี่ ชื่อว่าต่างจากพระสาวกรูปอื่นโดยขันธปรินิพพานฯ) ณ เบื้องบนอากาศ ในท่ามกลางแห่งแม่น้ำโรหิณี สรีระร่างกายของท่านแตกออกเป็นสองส่วน แล้วตกลงมายังภาคพื้น สมดังที่ท่านอธิษฐานทุกประการฯ




ขอขอบคุณที่มาคะ http://www.geocities.com/piyainta/ab42.htm