PDA

แสดงเวอร์ชันเต็ม : ธรรมะสำหรับผู้เริ่มปฏิบัติ



DAO
11-14-2008, 11:02 AM
http://www.dhammajak.net/images/stories/flower/4657d8bdd5159_t[1].jpg



ธรรมะสำหรับผู้เริ่มปฏิบัติ

(พูดเมื่อ วันที่ ๗ มกราคม แรม ๑๒ ค่ำ เดือนเกี๋ยง พ.ศ. ๒๕๒๘)

การพูดธรรมะสำหรับบุคคลผู้ที่ยังไม่เคยเข้าใจในการปฏิบัติธรรม หรือยังไม่เคยเข้าใจเรื่องชีวิตของตัวเอง

เรามาพูดกันเรื่องการปฏิบัติธรรม หรือเรื่องชีวิตของตัวเองให้แก่พวกที่ยังไม่เคยได้ยิน ยังไม่เคยได้ฟังได้ยินได้ฟังแล้ว ผู้ที่ฟังนั่นแหละต้องพิจารณาใคร่ครวญด้วยสติปัญญาของตัวเองว่าชีวิตนี้มีอยู่เพื่ออะไร และธรรมะนั้นมีไว้ใช้เพื่อประโยชน์อะไร ธรรมะกับชีวิตจึงมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันโดยวิธีไหน ต้องพิจารณาด้วยตัวเอง อันนี้เป็นลักษณะของบุคคลผู้ที่มีปัญญา

บัดนี้บุคคลผู้ที่ไม่มีปัญญาไม่แหลมคมต้องมีวิธีการและเทคนิค ให้เคลื่อนไหวตัวเอง อันนี้เป็นการปฏิบัติธรรมและเป็นการปฏิบัติชีวิต เป็นการปฏิบัติจิตใจ เคลื่อนไหวโดยวิธีใดก็ให้รู้

เรื่องนี้ประกาศมา พูดมาให้คนฟังมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๓ พูดมาอยู่อย่างนั้นตลอดมา แม้ตัวเองจะไปอยู่ที่ไหนก็พูดแต่เรื่องนี้ เพราะว่าเรื่องนี้มันเป็นเรื่องสำคัญ เรื่องจิตใจของคนทุกคนเหมือนกันและต้องปฏิบัติได้เหมือนกัน ผู้หญิงก็ปฏิบัติได้ ผู้ชายก็ปฏิบัติได้ พระสงฆ์องค์เณรก็ปฏิบัติได้ คนไทยคนจีนก็ปฏิบัติได้ ธรรมะนั้นจึงเป็นอันเดียวกัน หรือว่าชีวิตจิตใจก็เหมือนกัน ธรรมะก็เหมือนกันเป็นอันเดียวกัน-คือกัน

ดังนั้น จึงแนะนำบุคคลผู้ที่ไม่มีปัญญาแหลมคมให้เคลื่อนไหว-เทคนิคของมัน นั่งพับเพียบก็ได้นั่งเหยียดขาก็ได้ ขัดสมาธิก็ได้ นั่งเก้าอี้ห้อยเท้าอยู่ก็ได้ :-

เอามือวางไว้บนขาทั้งสองข้าง คว่ำไว้,

ค่อยๆ พลิกมือขวาขึ้น เคลื่อนขึ้นมา ให้รู้สึกตัวในขณะที่มันเคลื่อนขึ้นมานั้นให้รู้สึกตัวเรียกว่า “ตั้งใจ” หรือว่า “ตั้งสติ” ว่าอย่างนี้ก็ได้ ตะแคงชันไว้ตรงๆ ไม่ให้มันเอนมันเอียง,

ยกขึ้นครึ่งตัว ยกขึ้นตรงๆ ครึ่งตัวแล้วก็หยุดไว้ มันหยุดก็ให้รู้สึกว่ามันหยุด มันนิ่งมันไม่เคลื่อนไม่ไหวก็ให้รู้สึก เรียกว่าให้มันสัมผัสแนบแน่นอยู่กับสิ่งนั้นๆ,

บัดนี้ พลิกมือซ้ายขึ้นชันตะแคงไว้ตรงๆ ให้มีความรู้สึก

เคลื่อนไหวยกขึ้นครึ่งตัว ให้มีความรู้สึกตัว

เอามือซ้ายมาแนบไว้ที่มือขวา ให้มีความรู้สึก

(เลื่อนมือขวาขึ้นหน้าอก...ให้มีความรู้สึก เอามือขวาออกตรงข้าง...ให้รู้สึก ลดมือขวาลงที่ขาขวา ตะแคงไว้...ให้รู้สึก คว่ำมือขวาลงที่ขาขวา...ให้รู้สึก

เลื่อนมือซ้ายขึ้นที่หน้าอก...ให้มีความรู้สึก เอามือซ้ายลงมาตรงข้าง...ให้มีความรู้สึก ลดมือซ้ายลงที่ขาซ้าย ตะแคงไว้...ให้มีความรู้สึก คว่ำมือซ้ายลงที่ขาซ้าย...ให้รู้สึก)

หยุดเป็นพัก-เป็นพัก ให้มีความรู้สึกเป็นพักๆๆ.

(ดูภาพประกอบท่าปฏิบัติได้ ที่บล็อกนี้ ค่ะ)

แม้จะเคลื่อนไหวโดยวิธีใดก็ตามให้มีความรู้สึกตัวอยู่อย่างนั้น เรียกว่า มีสติ มีสมาธิ มีปัญญา เป็นการปฏิบัติธรรม เป็นการปฏิบัติชีวิต เป็นการปฏิบัติจิตใจ

ชีวิตที่มีอยู่ก็เพราะลมหายใจ ธรรมะมีอยู่ได้ก็เพราะมีลมหายใจเพราะมีการเคลื่อนไหว จิตใจที่มันนึกมันคิดอยู่ตลอดเวลาเพราะมันมีชีวิต มีจิตมีใจ มีลมหายใจ คนมันต้องเคลื่อนไหวอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา

ดังนั้น จึงแนะนำหรือชี้แนววิธีปฏิบัติให้กับบุคคลผู้ที่ไม่มีปัญญาแหลมคม เมื่อปฏิบัติไปให้รู้สึกว่า การเคลื่อนไหว(ที่เกิด) ขึ้นนั้นเป็นรูป สิ่งที่รู้การเคลื่อนไหว(ที่เกิด)ขึ้นนั้นเป็นนาม รูปกับนามมันจึงติดกันแยกออกจากกันไม่ได้ เมื่อแยกออกจากกันได้เมื่อใด เมื่อนั้นก็หมดลมหายใจ หมดชีวิตหมดจิตหมดใจ เรียกว่าตาย มันเป็นอย่างนั้น

แล้วก็ปฏิบัติธรรมะไม่ได้ ปฏิบัติชีวิตไม่ได้ ปฏิบัติจิตใจไม่ได้ ปฏิบัติได้-เห็นได้ -รู้ได้- เข้าใจได้ แต่เมื่อมีชีวิตมีจิตมีใจมีลมหายใจอยู่นี่เอง

นี้เป็นการปฏิบัติธรรม ทุกๆ คนปฏิบัติได้

ดังนั้น ธรรมะหรือ คำสอนของพระพุทธเจ้านั้นจึงเป็นสากล คำว่า “เป็นสากล” นี่(หมายถึง)ทุกคนปฏิบัติได้และปฏิบัติอยู่ที่ไหนก็ได้ เป็นพระสงฆ์องค์เจ้าก็ปฏิบัติได้ เป็นญาติโยมก็ปฏิบัติได้ เป็นคนชาติใดภาษาใดถือศาสนาไหนก็ปฏิบัติได้ถือลัทธิอันใดก็ได้ ไม่ผิดกันเลย เพราะว่ามันมีกายกับใจ-ภาษาที่เราพูด ภาษาธรรมะปัญญาเกิดขึ้น-นั่นเรียกว่า รูปกับนาม ; รูปได้แก่ ร่างกาย นามได้แก่ จิตใจ กายก็ที่เรามองเห็น ใจก็ที่เรามองไม่เห็นที่มันนึกมันคิด




http://www.dhammajak.net/images/stories/flower/4657d8a07aadc_t[1].jpg


(ต้องปฏิบัติติดต่อตลอดสายจนกว่าจะเห็นธรรม)

เราต้องปฏิบัติเรื่อยๆ อย่าเห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย ถ้าเราไปนึกว่าเหน็ดเหนื่อยแล้วหยุด อันนั้นเรียกว่าไม่ติดต่อไม่สัมพันธ์ มันไม่โยงกันตั้งแต่ต้นจนปลาย บัดนี้ปฏิบัติให้ติดต่อให้สัมพันธ์โยงกันตั้งแต่ต้นจนปลายนั้นหมายถึง เราเคลื่อนไหวโดยวิธีใดก็รู้ กะพริบตาก็รู้ เหลือบซ้ายแลขวาก็รู้-ตาเรา หายใจเข้าหายใจออกก็รู้ กลืนน้ำลายก็รู้ จิตใจมันนึกมันคิดก็รู้ อันนี้เรียกว่าเห็นธรรม

(การเห็นธรรมนั้น)ไม่ต้องเห็นที่นอกตัว ถ้าเห็นที่นอกตัวออกไปนั้นมันเป็นมายาของจิตใจ มันหลอกลวงเรา มันโกหกเรา คนโบราณท่านจึงสอนเอาไว้ว่า “จิตคนนี้กลอกกลับได้ไวดุจมีลานไขในตน เราท่านควรบังคับกลให้จิตใจหมุนมาแต่ในทางข้างดี” เพราะถ้าปล่อยให้มันคิดไปตามอารมณ์ เรียกว่า “หมุนไปในทางข้างกี” ข้างกี-ก็หมายถึงความชั่วร้าย-กิเลสนั่นเอง “ธรรมที่มีก็จักหายจักหน่ายหายสูญ” ธรรมที่มีนั่นคือตัวรู้นั่นเอง คือ ตัวสติ- ตัวสมาธิ- ตัวปัญญานั่นเอง ถ้าหากเราไม่รู้ก็เรียกว่าธรรมที่มีก็จักหนีจักหน่ายหายสูญ “อธรรมเข้าครอบงำ ความระยำสัมบูรณ์ มันก็ปลิ้นปลอกหลอกเราฯ”

ปลิ้นปลอกหลอกตน อธรรมก็คือเราไม่รู้ไม่เข้าใจธรรมนั่นเอง มันก็ปลิ้นปลอกหลอกเรา จึงเห็นอันนั้นเห็นอันนี้ที่นอกตัวเราไป เพราะเราไม่ได้ศึกษาไม่ได้ปฏิบัติกับธรรมชาติ ธรรมชาติของคนนี้มันมีแขนมีขามีมือมีเท้า มีตามีหูมีจมูกมีลิ้น กินข้าว กินน้ำ อุจจาระ ปัสสาวะได้ นี่คือธรรมชาติมันจริงๆ ศึกษากันลงไปที่ตรงนี้ เมื่อศึกษาเข้ามาที่ตรงนี้ มันก็รู้จริง เห็นจริง เห็นเรานั่ง เห็นเรายืน เห็นเราเดิน เห็นเรานอน อันนี้แหละคือธรรมชาติและก็มีหายใจเข้าหายใจออก และก็มีจิตใจมันนึกมันคิด


เราอย่าเข้าไปในความคิด เมื่อมันนึกมันคิดเราไม่เห็นมันก็คิดออกไปข้างนอก คิดออกไป บางครั้งบางคราวนอนไม่หลับ นักศึกษาเรียนหนังสือ ถ้าเรียนทางธรรม นักธรรมตรี-โท-เอก เป็นมหาเปรียญ๓-๔-๕-๖-๗-๘-๙ ก็ตาม ไม่ได้ดูชีวิตดูจิตดูใจของเราเองแล้วนั้นเรียกว่า “เรียนออกนอกตัวไปๆ” จิตใจมันนึกมันคิดกราย (ผ่านเลย) ออกไปข้างนอก ไม่เห็น-ไม่รู้-ไม่เข้าใจ ทุกข์เกิดขึ้น ผลที่ไม่เห็นนั่นแหละเอามาให้เป็นทุกข์ นอนไม่หลับกินไม่ได้เป็นโรคประสาทไปก็มีกันเป็นจำนวนมาก


แม้คนเรียนทางโลก-บัดนี้ ตั้งแต่ ป.๑ ถึง ป.๖ ป.๗ หรือมัธยม ๑ ถึงมัธยม ๖ มัธยม ๘..... เรื่องนี้อาตมาไม่เคยได้เรียน เพียงแต่ได้ยินเพื่อนฝูงหรือเพื่อนมนุษย์ คนทั่วไปเคยพูดให้ฟังอย่างนี้ ก็เลยจำมาพูดให้ฟัง เมื่อเรียนจบมัธยมแปดแล้วก็เรียนสอบเข้าไปในมหาวิทยาลัย เรียนปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก ได้หลายปริญญาเอกก็ตามถ้าหากยังไม่เห็น-ไม่รู้-ไม่เข้าใจความคิด ความคิดมันก็ส่ายส่งออกไปข้างนอก

เมื่อมันออกไปข้างนอกมันก็ไปทรงจำเรื่องนั้นเรื่องนี้ คิดดีใจเสียใจผลมันออกมาก็ได้รับทุกข์ กินไม่ได้นอนไม่หลับเป็นโรคประสาทกันก็มีเป็นจำนวนมาก การศึกษาแบบนั้นก็ดีแล้ว บางคนก็ไม่เป็น แต่บางคนก็เป็น การที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะไม่รู้กลไกเทคนิคของจิตของใจนี้เอง

(ปฏิบัติงาน- ปฏิบัติธรรม)

เมื่อเรามามองดูลงไปในสภาพการเคลื่อนไหวทางรูปกายนี้ก็รู้สึกตัว จิตใจมันนึกคิดก็รู้สึกตัว แต่(ให้) เรามาอยู่กับการเคลื่อนไหวทางรูปกายนี้ เราจะไปอยู่กับการเคลื่อนไหวของจิตใจที่มันนึกมันคิดนั้นไม่ได้ เพราะมันไม่มีตัวไม่มีตน จับไม่ถูกมองไม่เห็น

รูปกายนี้มันจับถูกได้ แตะต้องได้ มองเห็นได้ สัมผัสได้ด้วยมือ อันส่วนจิตใจที่มันนึกมันคิดนั้นมองไม่เห็นด้วยตา จับไม่ถูกด้วยมือ แต่สัมผัสได้ด้วยความรู้สึก เรียกว่า “ปัญญารอบรู้” เมื่อเรามีปัญญารอบรู้แล้วมันนึกมันคิดเราก็เห็นเราก็รู้


ความเห็นจิตนึกคิดนั้นเป็นมรรค “มรรค” จึงเป็นข้อปฏิบัติเพื่อให้ถึงความดับทุกข์ เมื่อเรามัก (ชอบ) เราต้องดูลงไปที่ตรงนี้ ผลมันออกมาเรียกว่า "นิโรธ" พ้นไปจากทุกข์ พ้นไปจากการปรุงแต่ง พ้นไปจากการยึดถือ พ้นไปจากการมีโทสะ-โมหะ-โลภะ พ้นไปจากการยึดมั่นถือมั่น พ้นไปจากสิ่งทั้งปวงนั้นทานเรียกว่า นิโรธ แปลว่าความพ้นไป พ้นไปจากทุกข์-ท่านสอนอย่างนั้น.


ดังนั้น ผู้ที่มีปัญญาก็พิจารณาเห็นแจ้งตามความเป็นจริง แล้วก็เอาไปใช้กับการกับงานได้ทุกวิธี การงานก็เป็นธรรมะ ตัวปฏิบัติลงไปก็เป็นธรรมะ ธรรมะนั้นจึงเอาไปใช้กับการกับงานได้ทุกวิธี ดังนั้น คนใดรู้ธรรม-เห็นธรรม-เข้าใจธรรมแล้ว จึงทำการทำงานไปตามหน้าที่ ไม่มีความเกียจคร้าน ไม่มีความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า

(เทคนิคอาจต่างกัน ส่วนมรรคผลย่อมเหมือนกัน)

เราคิดดูถึงพระพุทธเจ้าของเราแต่เมื่อสมัยพระองค์รู้ธรรมะ-เห็นธรรมะ-เข้าใจธรรมะ-ซาบซึ้งในธรรมะที่ตัวรู้ตัวเห็นตัวเป็นตัวมีนั้นแล้ว พระองค์ก็นำไปเทศน์ไปสอน เมื่อพระองค์ได้เทศน์ได้สอนได้ลูกศิษย์จำนวน ๕ คน...

หรือหลายคนก็ไม่ทราบแหละ ได้ยินแต่ครูบาอาจารย์เล่าให้ฟังว่าพวกปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ นี่ ได้รู้ตามเห็นตามเข้าใจพระองค์แล้ว เป็นอย่างพระองค์ มีอย่างพระองค์แล้ว สัมผัสแนบแน่นอยู่เหมือนอย่างพระองค์รู้นั้น แล้วก็นำไปเทศน์ไปสอน

พระองค์จึงแนะนำว่าอย่าไปด้วยกัน ๒ คน ให้ไปคนเดียว เพราะว่าไปด้วยกันทางเดียวกันมันไปได้น้อยเส้นทาง ให้ต่างองค์ต่างไปจึงได้หลายทาง ส่วนการพูดการสอนเรื่องที่ให้ทุกคนประพฤติปฏิบัติตามนั้น ก็ให้ทำไปตามอุดมการณ์ของตัวเองที่ได้รู้-ได้เห็น-ได้เข้าใจนั้น ซึ่งก็แล้วแต่เทคนิคกลไกของครูบาอาจารย์ท่านนั้นๆ จะสอนให้เขาทำโดยวิธีใด พระองค์สอนอย่างนั้น

แต่ความพ้นทุกข์นั้นเหมือนกันซึ่งพระพุทธองค์เองก็เคยตรัสเอาไว้ว่า “สัตว์ทั้งหลายคือเราตถาคต สัตว์ทั้งหลายคือเราตถาคต”

คำว่า “คือกัน” นั้นก็(หมายถึง) มีแข้งมีขามีหน้ามีตามีมือมีเท้าเหมือนกัน-คือกัน มีจิตมีใจเหมือนกัน-คือกัน แต่ว่าสูงต่ำดำขาวนั้นไม่เหมือนกันไม่คือกัน สติปัญญานั้นก็คือกันแต่ไม่คือกัน เหมือนกันแต่ไม่เหมือนกัน ที่เหมือนกันนั้น(คือ)ถ้ารู้-เห็น-เข้าใจ-สัมผัสแนบแน่นได้แล้ว จะหมดความสงสัย เมื่อหมดความสงสัย ก็แสดงว่าหมดทุกข์ ถ้าเรายังมีความสงสัยแสดงว่าเรายังมีทุกข์ ความทุกข์นั้นจึงแยกออกมาหลายอย่างหลายประการ


ดังนั้น เราท่านทั้งหลาย! ผู้มีปัญญาก็ดี ผู้ที่ไม่มีปัญญาก็ดี ปฏิบัติรู้ได้-เห็นได้-เข้าใจได้เหมือนกัน แต่คนที่มีปัญญานั้นพิจารณาแล้วลดละมานะลดทิฏฐิ ลดความเห็นแก่ตัว เรียกว่าความโกรธความโลภความหลงให้มันลดน้อยไป

คนที่ไม่มีปัญญา-บัดนี้ ต้องประพฤติปฏิบัติให้มีญาณเกิดขึ้น เมื่อมีญาณเกิดขึ้นแล้วปัญญาก็รอบรู้ มันจืดจางไปเอง พวกนี้มันจืดจางไปเอง

อันนี้เรียกว่า “รู้-เห็น-เข้าใจ เพราะญาณปัญญาการปฏิบัติธรรม” ส่วนพิจารณานั้นเรียกว่า “ปัญญาพิจารณา” ด้วย “การเห็นแจ้ง” อันนี้มันผิดกันอย่างนี้ ผู้ที่ปฏิบัตินั้นก็มีญาณปัญญาเกิดขึ้นจากจิตสำนึก ผู้ที่พิจารณาเอานั้น เรียกว่าพิจารณาตามธรรมชาติให้เห็นธรรมชาติ เป็นธรรมชาติมันอย่างนั้น คนเราเกิดมาแล้วก็แก่เจ็บตายเหมือนกัน ท่านว่าอย่างนั้น นี่เรียกว่าความเหมือนกัน-ความคือกันมันเป็นอย่างนั้น

นี้...เป็นการปฏิบัติอย่างง่ายๆ

ดังนั้น พระพุทธเจ้าผู้เป็นอรหันต์ที่เราเคารพนับถืออยู่ทุกวันนี้ ท่านว่า
“สัตว์ทั้งหลาย! เราผู้เป็นตถาคตไปถึงแล้วแห่งนั้น แล้วจึงนำมาสอนพวกเธอพวกเราทั้งหลาย ให้พวกเธอพวกเราทั้งหลายประพฤติปฏิบัติอย่างเราตถาคตนี้ เมื่อประพฤติปฏิบัติอย่างเราตถาคตนี้แล้วก็จะรู้-จะเห็น-จะเป็น-จะมีอย่างเราตถาคตนี้ฯ”

รู้เห็นอะไร ก็รู้เห็นตัวเรา เป็นอย่างไร เป็นอย่างที่เราเป็น เรียกว่า “รู้-เห็น-เป็น-มี” มีอย่างที่เรามี คือมีความไม่มีทุกข์ มีความไม่มีทุกข์เหมือนกันกับพระองค์ อันนี้แหละที่พระพุทธเจ้าท่านสอน





http://www.dhammajak.net/images/stories/flower/4657d8a380627_t[1].jpg


ที่ว่าให้เราเจริญสติ-เจริญสมาธิ-เจริญปัญญานั้น เจริญแปลว่าทำให้มาก-เจริญแปลว่าทำให้มาก เมื่อทำมากขึ้นมันก็เจริญขึ้น-มีขึ้น-มากขึ้น ความรู้สึกมีมากขึ้นๆ ความไม่รู้มันก็ลดน้อยไปๆ มีแต่ความรู้-ความเห็น-ความเข้าใจ-ความสัมผัสได้อยู่ทุกขณะทุกเวลาแล้วก็เรียกว่ามันสมบูรณ์ เรียกว่า “เจริญ” มันเป็นอย่างนั้น

บัดนี้ เมื่อเห็น-จิตใจมันนึกมันคิดก็เห็น จิตใจมันนึกมันคิดก็รู้ จิตใจมันนึกมันคิดก็เข้าไปสัมผัสแนบแน่นอยู่กับสิ่งเหล่านั้น เรียกว่าเป็นมรรค มรรคจึงเป็นข้อปฏิบัติเพื่อให้ถึงความดับทุกข์ เมื่อเห็น-รู้อยู่อย่างนั้นแหละเป็นมรรค ผลมันออกมาก็ไม่มีทุกข์ คือไม่ยึดไม่ถือ รู้เท่า-รู้ทัน-รู้จักกัน-รู้จักแก้

นี้แหละเป็นการปฏิบัติธรรมอย่างง่ายๆ อย่างลัดๆ สั้นๆ ใครเอาไปปฏิบัติก็ได้ จึงเป็นหลักสากล ที่ว่าเป็นหลักสากลก็เพราะทุกคนปฏิบัติได้ นั่ง-นอน-ยืน-เดิน-เข้าห้องน้ำห้องส้วมก็ดูการเคลื่อนไหว-ดูจิตดูใจ เวลาฉันอาหารก็ดูจิตดูใจ-ดูการเคลื่อนไหว จับอาหารเข้ามากินในปากก็รู้ เพราะมันเคลื่อนไหวไปนี่ ที่เราไม่รู้นั้นเพราะไม่เคยกำหนดมัน มันก็เลยไม่เป็นการปฏิบัติธรรมะ มันก็เลยเคลื่อนไหวไปโดยสัญชาตญาณ เป็นไปตามธรรมชาติของมันเหมือนกันกับสัตว์ สัตว์มันไม่มีความจำ มันจำไม่ได้ มันก็เคลื่อนไหวไปมาเหมือนกันกับคน เหมือนกันกับมนุษย์ ดังนั้นจึงว่าคนมันเป็นหน้าที่ฝึกหัดได้ มนุษย์มันเป็นหน้าที่ฝึกหัดได้ สัตว์เดรัจฉานฝึกหัดไม่ได้เพราะมันไม่มีความจำ

ดังนั้นพวกเราทุกๆคนเกิดมาแล้วในโลกนี้ คนโบราณท่านสอนเอาไว้ว่าสวรรค์ก็ตามนิพพานก็ตามเป็นสมบัติของคน เป็นสมบัติของมนุษย์ จึงว่ามนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ นิพพานสมบัติ เป็นสมบัติของคน เป็นสมบัติของมนุษย์ที่จะทำเอาได้ และก็เอามาใช้ได้เหมือนกันทุกคน

ดังนั้น พวกเราต้องประพฤติปฏิบัติตัวเรา จึงว่าเป็นการปฏิบัติธรรม เป็นการปฏิบัติชีวิต เป็นการปฏิบัติจิตปฏิบัติใจ เป็นการปฏิบัติตัวเรา คนเราเมื่อไม่มีการพัฒนาแล้ว จิตใจมันจะไม่รู้ เพราะเราไม่เคยเข้าวัด ไม่เคยฟังธรรม ไม่เคยพบกับสัตบุรุษบุคคลผู้ที่มีความรู้ เมื่อไปทำ มันก็เลยไม่รู้

ไปนั่งภาวนาพุทโธ หายใจเข้าหายใจออก พองยุบดูลมหายใจอันใดก็ตาม เป็นการปฏิบัติธรรมเพื่อจะมาลดโทสะ-โมหะ-โลภะนี้เอง ไม่ให้โทสะ-โมหะ-โลภะ เกิดขึ้นได้ภายในจิตใจ เพราะโทสะ-โมหะ-โลภะ เป็นของเน่า เป็นของเหม็น เป็นของสกปรก

เมื่อเราเห็น-เรารู้-เราเข้าใจ เรียกว่ามรรค มรรคจึงเป็นข้อปฏิบัติไม่ให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้น อันนี้เป็นการปฏิบัติอย่างง่ายๆ ไม่ต้องไปอ้างอิงศึกษาเอากับตำรับตำราก็ได้ ปฏิบัติอยู่ที่ไหนก็ได้ เมื่อเราเห็น-เรารู้-เราเข้าใจแล้ว ความยึดมั่นถือมั่นเป็นตนเป็นตัว มันเป็นทุกข์ เราก็เลิกจากสิ่งเหล่านั้น เราต้องไม่เข้าไปยึดไปถือ ให้มาดูที่จิตใจของเราอยู่เสมอ

นี้...เป็นการปฏิบัติอย่างง่ายๆ

คนเราเมื่อตายไปแล้วร่างกายนี้มันไม่รู้อันใดเลย เอาไปฝังดินแล้ว เอาดินกลบหน้าถมหน้ามันก็ร้องว่า หายใจฝืดเน้อ-นอนยากเน้อ-มันพูดไม่ได้ เอาขึ้นไปกองฟอนเอาไปโยนใส่กองไฟ ไฟไหม้มันก็พูดไม่ได้ว่าร้อน-เจ็บ-เพราะมันไม่มีความรู้สึก มันไม่เจ็บ มันไม่ปวด มันไม่มีชีวิต มันไม่มีจิตมีใจ

ดังนั้น กายใจนี้จึงแยกกันได้ แต่เมื่อยังมีลมหายใจอยู่นี้แยกกันไม่ได้ แต่ปฏิบัติได้-เห็นได้-รู้ได้-เข้าใจได้ เมื่อหมดลมหายใจแล้วก็แยกกันได้ทีเดียว จะว่าแยกกันได้ก็ได้ จะพูดว่าแยกกันไม่ได้ก็ได้ เพราะว่าเรามองไม่เห็น จับไม่ถูก เราต้องศึกษาปฏิบัติให้มันเห็น-ให้มันรู้-ให้มันเข้าใจ แต่เมื่อเรายังมีลมหายใจอยู่นี้ ยังมีชีวิตอยู่นี้ เดินดินกินข้าวอยู่ที่นี้ นี่แหละคือเป็นการปฏิบัติธรรม ให้เราเห็น-ให้เรารู้-ให้เราเข้าใจอย่างนี้

ไม่ใช่ไปเห็นสีเห็นแสง เห็นผีเห็นเทวดา เห็นนรกเห็นสวรรค์ เห็นพระพุทธรูปเห็นลูกแก้ว เห็นอันนั้นมันเป็นมายาของจิตใจ ครูบาอาจารย์สอนว่าเป็นนิมิต อันนั้นก็จริง เห็นจริง แต่ว่าสิ่งที่เห็นจริงนั้นไม่เป็นของจริง

เห็นจริงแต่ไม่เป็นของจริง ทำไมจึงว่าไม่เป็นของจริง? เพราะจิตมันหลอกเรา เหมือนกับคนเล่นกล คนเล่นกลไม่ใช่เล่นของจริง เขาหลอกลวงบุคคลที่ยังไม่ฉลาด มันหลอกลวงบุคคลที่ยังไม่รู้ ดังนั้นจิตใจเราก็เหมือนกัน มันหลอกลวงเราได้แต่เมื่อเรามองไม่เห็น มันหลอกลวงเราได้แต่เมื่อเรายังไม่ฉลาด แต่เมื่อเรารู้-เราเห็น-เราเข้าใจ เมื่อเราสัมผัสแนบแน่นอยู่กับตัวมันแล้ว มันหลอกเราไม่ได้ มันลวงเราไม่ได้ มันตลบไม่ได้

ท่านจึงสอนว่า “จิตคนนี้กลับกลอกได้ไว ดุจมีลานไขในตน เราท่านควรบังคับกล ให้จิตหมุนมาแต่ในทางข้างดี เพราะปล่อยให้มันหมุนไปในทางข้างดี ธรรมที่มีก็จักหนีจักหน่ายหายสูญ อธรรมเข้าครอบงำความระยำสัมบูรณ์ ก็ปลิ้นปลอกหลอกตน” มันปลิ้นปลอกหลอกตัวเรา

ดังนั้น ที่อาตมาหรือหลวงพ่อได้มาแนะนำว่ากล่าวตักเตือนให้ผู้สนใจนำไปปฏิบัติ นั่งทำ-นอนทำ-เดินทำ-ยืนทำ ไปไหนมาไหนก็ได้นี้ เป็นการปฏิบัติธรรม เป็นการปฏิบัติชีวิตปฏิบัติจิตปฏิบัติใจ มันจะค่อยรู้-ค่อยเห็น-ค่อยเข้าใจ มีความชำนิชำนาญมากขึ้นๆ ที่สุดก็พ้นจากทุกข์ทั้งปวง



มีต่อคะ

DAO
11-14-2008, 11:06 AM
http://www.dhammajak.net/images/stories/flower/4657d8a776b99_t[1].jpg


วันนี้ เราก็มาพูดถึงเรื่องการปฏิบัติธรรมอีก คนที่ไม่มีโอกาส ไม่มีเวลา โอกาสน้อย เวลาน้อยที่จะเข้าไปวัด ไปพบพระเจ้าพระสงฆ์ ก็ต้องฟังแล้วนำไปปฏิบัติอยู่ที่บ้านก็ได้ อยู่ที่นาที่สวนที่ซื้อที่ขายได้ทุกสถานที่ทีเดียว


วิธีที่จะแนะนำนี้คือ ให้ปฏิบัติตัวเอง นี้แหละเป็นธรรมะ ธรรมะคือตัวเราเองนี้แหละ ตัวทุกคนนั้นแหละคือธรรมะ ตัวศาสนาก็คือตัวคนนั่นแหละ ตัวทุกคนนั่นแหละคือตัวศาสนา

เพราะว่าจะอยู่ที่ใดก็คน คนไทยก็เป็นศาสนา คนจีนก็เป็นศาสนา คนอินเดียโน้นที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้โน้นก็เป็นศาสนา คนเขมรก็เป็นศาสนา คนลาวก็เป็นศาสนา คนญวนก็เป็นศาสนา ให้ว่าทุกคนทุกชาติทุกภาษาทุกเพศทุกวัย เป็นศาสนาทั้งนั้น เป็นธรรมะทั้งนั้น

คำว่า “ธรรมะ” ก็ตัวทุกคนนั่นแหละเป็นธรรมะ “ทำดีมันดี ทำชั่วมันชั่ว” ท่านว่าอย่างนั้น ทำดีมันดี ทำชั่วมันชั่ว ไม่ใช่ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว อันนั้นก็ถูกเหมือนกัน ทำดีคนยกย่องสรรเสริญเรียกว่าเป็นการทำดี ทำชั่วคนนินทาตำหนิ เรียกว่าเป็นการทำชั่วได้รับทุกข์


ทุกข์เกิดขึ้นเพราะว่าเราทำผิด-พูดผิด-คิดผิด เราไม่ได้ดูจิตดูใจ ไม่ได้ดูการกระทำของเรา เรานึกว่าเราทำถูก-พูดถูก-คิดถูก คนอื่นผิด-แน่ะ! อันนี้มันเป็นการเข้าใจผิด มันเป็นการเข้าใจไม่ถูกไม่ตรง เรียกว่าเข้าใจไปตามกิเลส เข้าใจไปตามความคิดความเห็นของตัวเอง มันเข้าข้างตัวเอง มันไม่ได้มีผ่อนสั้นผ่อนยาว มันไม่ได้มาดูตัวชีวิตจิตใจของเรา

ดังนั้น คนทุกคนเกิดมาต้องมีจิตมีใจ ไม่ต้องการความทุกข์ ความทุกข์เกิดขึ้นนั้นเพราะเราไม่เห็นความคิด ความคิดมันคิดไปแล้วให้รูปให้กายนี้มันทำไปตามความคิด ดังนั้น พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนสั้นๆ ศีลก็รวมลงมาที่ตรงนี้ สมาธิก็รวมลงมาที่ตรงนี้ ปัญญาก็รวมลงมาที่ตรงนี้ แม้ให้ทานไหว้พระสวดมนต์ก็รวมลงมาที่ตรงนี้


ไม่ใช่ตายแล้วจึงจะได้รับผล ไม่ใช่ตายแล้วจึงจะได้ไปสวรรค์ ไม่ใช่ตายแล้วจึงจะได้ไปนิพพาน ไม่ใช่ตายแล้วจึงจะไปตกนรก ไม่ใช่ตายแล้วจึงจะไปเป็นสัตว์เดรัจฉาน ไม่ใช่ตายแล้วจึงจะไปเป็นเปรต อันนั้นมันถูกน้อย เรายังไม่เห็นธรรม-ยังไม่รู้ธรรม-ยังไม่เข้าใจธรรม มันต้องตกนรกไปแต่เดี๋ยวนี้ ความทุกข์ความร้อนนั่นแหละเป็นนรก ความไม่รู้จักอายนั่นแหละเป็นสัตว์เดรัจฉาน ทำอะไรผิดๆ ถูกๆ ป้ำๆ เป๋อๆ ทำไม่พอเป็น กินไม่พอเป็น (ไม่รู้จักพอ ไม่รู้จักอิ่ม) อันนั้นเขาเรียกว่าเปรต เปรตมันจึงปากเล็กท้องใหญ่ กินเท่าใดไม่พอ เขาว่าเปรตมันเป็นอย่างนั้น


ดังนั้น เมื่อเราเป็นอย่างนี้ เป็นอย่างที่พูดนี้ ตายไปก็ตกนรกจริงๆ มันต้องตกนรกแล้วเดี๋ยวนี้ มันจึงจะไปตกนรกหลังจากการตายไปแล้วโน้น ไปสวรรค์ไปนิพพานก็เช่นเดียวกัน ลักษณะของสวรรค์ (คือ) ตาเห็นอันดี หูฟังอันเพราะ จมูกดมอันหอม กายเนื้อหนังเรานี้ถูกอันอิ่มนวล-ถูกอันพอใจให้ว่าเถอะไป กินอาหารมีรสถูกใจก็เป็นสวรรค์แล้ว ในทางตรงกันข้าม ไม่พอใจของเหม็นของไม่สวยไม่งาม เป็นนรกอีกแล้ว


นิพพานบัดนี่ นิพพานก็หมายถึงความเย็น เย็นอกเย็นใจ ใครจะพูดอย่างไรก็สบายใจ เพราะดูจิตดูใจเราอยู่ คำพูดนั้นมันเป็นเพียงสมมติ ว่าดีว่าชั่ว ว่าสุขว่าทุกข์ มันเป็นเพียงสมมติ จริงก็จริงโดยสมมติ ท่านให้รู้จักว่า “จริงโดยสมมติ” อยู่ที่ไหนมันก็มีอย่างนั้นอยู่ตลอดเวลา ถึงจะมีพระเจ้าพระสงฆ์หรือไม่มีพระเจ้าพระสงฆ์ มันก็มีอยู่อย่างนั้น


ดังนั้น จึงให้ปฏิบัติตัวเรา ให้ตัวเราเป็นพระขึ้นมาได้จริงๆ พระนั้นจึงว่าอยู่ที่บ้านก็ได้ อยู่ที่นาก็ได้ อยู่ที่สวนก็ได้ อยู่ตลาดลาดรีขายสิ่งขายของได้ทั้งนั้น พระจึงแปลว่าผู้ประเสริฐ พระจึงแปลว่าผู้สอนคน คนใดสอนคนให้ละชั่วทำดีนั่นแหละเป็นพระ คนใดจิตใจไม่ง่อนแง่นคลอนแคลนตรึงอกตรึงใจ (จิตใจมั่นคง) ได้ท่านก็เรียกว่าพระ


มนุษย์-บัดนี้ มนุษย์เป็นผู้หักห้ามจิตใจได้ จิตใจไม่โลเล จิตใจไม่เศร้าหมอง จิตใจไม่ขุ่นมัว จิตใจไม่คิดไปในทางเลวร้าย ท่านเรียกว่ามนุษย์ มนุษย์จึงเป็นผู้มีจิตใจสูง บัดนี้ มนุสภูโต คือ ผู้เป็นใหญ่ในเรา ผู้เป็นใหญ่ในจิต ไม่ให้จิตส่ายลงไปข้างต่ำ เรียกว่าเป็นคน เป็นมนุสภูโต

บัดนี้ หักห้ามจิตใจได้ รู้เห็นจิตใจได้ เรียกว่า มนุสเทโว-มนุษย์เทวดา มีความละอายในการทำการพูดการคิด ทำผิดพูดผิดคิดผิด-ไม่ทำ

อันนั้นคนโบราณท่านจึงสอนว่า “ทำผิดพูดผิดแล้ววานนี้ ความผิดนั้นแหละเป็นครู ดีกว่าครู ดีกว่าอาจารย์ ดีกว่าตำรับตำรามาสอนเรา” ครูอาจารย์มาสอนเรานั้นเราเพียงจำได้ เมื่อเราทำผิดเองพูดผิดเองคิดผิดเอง ทุกข์เกิดขึ้นมาให้เราได้รับ ผลของมันคือทุกข์เกิดขึ้น อันนี้แหละพระพุทธเจ้าท่านสอนเรื่องอริยสัจสี่ มันเป็นอย่างนี้ บัดนี้ เมื่อทุกข์ไม่เกิดขึ้นมันก็เป็นสวรรค์ มันก็เป็นนิพพาน


ท่านจึงว่า มนุษย์สมบัติ มนุษย์นี้เป็นสมบัติทุกอย่าง สวรรค์สมบัติ นิพพานสมบัติ แน่ะ ! เป็นสมบัติของสวรรค์สมบัติของนิพพาน นิพพานเป็นสมบัติของเรา สวรรค์เป็นสมบัติของเรา เมื่อเราทำใจเราได้อย่างนั้น แต่จิตใจไม่ต้องไปทำมันดอก เพียงแต่เรามารู้เท่าทันเหตุการณ์ บัดนี้ ในทางตรงกันข้าม นรกก็เป็นสมบัติของเรา สัตว์เดรัจฉานก็เป็นสมบัติของเรา เปรตก็เป็นสมบัติของเรา เพราะเราทำแล้วนี่

อันนี้แหละ คนโบราณท่านจึงว่า “ความผิดเป็นครู-ความผิดเป็นครู” - ท่านสอน เมื่อทำผิดแล้วอย่าเพิ่งทำต่อไป-แก้ได้

ดังนั้น อดีตอนาคตนั้นพระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนให้ไปแก้ ท่านสอนท่านแนะนำให้แก้ปัจจุบัน มันกำลังคิดวูบขึ้นมา ดีใจเสียใจ เราก็มาจับความรู้สึก คว่ำมือหงายมือกำมือเหยียดมือตบแข้งตบขา จับตัวเรานี้แหละ กะพริบตา หายใจ เอียงซ้ายเอียงขวา ความคิดมันก็วางจากอันนั้นเข้ามาอยู่กับความรู้สึกนี้

ความรู้สึกตัวนี้จึงเป็นบุญ เป็นกุศล เป็นสิ่งที่มหัศจรรย์ที่สุด คนใดยังไม่พบ ยังไม่เห็น ยังไม่เป็น ยังไม่มี ก็ถือว่าพูดเล่น แต่อย่างนี้มันไม่ใช่เป็นการพูดเล่น พูดจริงๆ อันนี้พูดให้ฟังจริงๆ ตามความเป็นจริงเป็นอย่างนั้น





http://www.dhammajak.net/images/stories/flower/4657d8abc07f5_t[1].jpg


ดังนั้น พระพุทธเจ้าสอนอริยสัจสี่เป็นหัวใจพุทธศาสนา

อริยสัจสี่เป็นแก่นพุทธศาสนา เป็นแกนพุทธศาสนา เรื่องอริยสัจสี่นี่ท่านสอนอย่างนั้น ดังนั้นคำว่าอริยสัจสี่นี้เราพูดได้ : ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค-ท่านสอนอย่างนั้น

แล้วก็ไปนั่งกรรมฐานกัน-บัดนี้ นั่งพิจารณากายในกาย กายในกายก็คือให้รู้จักการเคลื่อนไหวของกายนี้เอง เวทนา ให้รู้จักเวทนาในเวทนา เวทนาหมายถึง เสวยอารมณ์-หมายถึงเสวยอารมณ์ คือการเคลื่อนไหว ทุกข์สุขมันอยู่ที่ตรงนี้ท่านสอนอย่างนี้ จิตตานุปัสสนา ให้พิจารณาจิตในจิต-นี่ท่านสอน ให้รู้เท่าทันเหตุการณ์ของจิตจึงพิจารณาจิตได้ บัดนี้ให้พิจารณาธรรมในธรรม-พิจารณาธรรมในธรรม “ทำ” คือมือเราทำดีทำชั่วนี่เท้าเรานี่ก็ทำดีทำชั่ว คำพูดเรานี่ก็ทำดีทำชั่ว จิตใจมันนึกมันคิดขึ้นมามันก็คิดดีคิดชั่ว พิจารณาที่ตรงนี้เองจึงว่าพิจารณาธรรมในธรรม

อันนี้ท่านเรียกว่าใช้สติปัญญา อยู่ที่ไหนก็เป็นวัด อยู่ที่ไหนก็เป็นการปฏิบัติธรรม อยู่ที่ไหนก็อยู่กับพระ พระจึงแปลว่าผู้สอนคน ตัวเรานี่แหละเป็นพระ ตัวเรานี้แหละเป็นบัณฑิต ตัวเรานี้แหละเป็นคนพาล ตัวเรานี้แหละเป็นผู้ไปตกนรก ตัวเรานี้แหละเป็นผู้ไปสวรรค์ ตัวเรานี้แหละเป็นผู้ไปนิพพาน ท่านจึงสอนย้ำเข้ามา คำว่าเก่านี่แหละ คำเดิมนี่แหละ มันเป็นเปลือก เป็นกระพี้ เป็นแก่น เป็นแกน มันลึกเข้า ลึกเข้า ๆ ๆ จนถึงที่สุดของทุกข์

ขั้นต้นที่สุดท่านสอนอย่างนี้ (ว่า) ให้รู้จักทุกข์ ทุกข์เกิดขึ้นเพราะเรื่องอะไรอยู่ที่ตรงไหน ทุกข์เกิดขึ้นเพราะความคิดเรานี่ออกนอกตัวเราไป คิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ คิดไปแล้วนอนไม่หลับ เป็นบ้านะทีนี้

คนจึงเป็นบ้ากันเป็นจำนวนมาก แต่ไม่ใช่บ้าไม่นุ่งเสื้อไม่นุ่งผ้าไม่รู้จักอาย บ้าอันนั้น มันบ้าหมดสติหมดปัญญาหมดกำลังหมดเรี่ยวหมดแรง บ้าอันนี้คือบ้าที่เราลืมตัวไปนี่ ทำผิดคิดผิดพูดผิดไปนี่ บ้าเพราะไม่รู้จักความคิดเรานี่ นี่แหละมันก่อตัวเล็กๆ ขึ้นมา ก่อขึ้นมา ๆ โตขึ้นๆ ก็เลยเป็นบ้าไปร้อยเปอร์เซ็นต์-นี่มันเป็นอย่างนั้น ดังนั้น เรียนหนังสือมากๆ ก็เป็นบ้าได้เช่นเดียวกัน ไม่มีเงินก็เป็นบ้าได้เช่นเดียวกัน บ้าอันนี้อยู่กับคนทุกคนไม่ยกเว้น จึงว่าให้รู้จักทุกข์จริงๆ ให้รู้จักเหตุที่ทำให้ทุกข์เกิดจริงๆ ดังนั้น พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนให้เรารู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริง-ท่านว่าอย่างนั้น

ดังนั้น ท่านจึงสอนให้เราได้รู้จักเรื่องอริยสัจสี่นี้จริงๆ ไม่ยาว ท่านว่าใบไม้กำมือเดียว ให้ทานก็จะมารวมที่ตรงนี้ รักษาศีลก็จะมารวมที่ตรงนี้ ทำกรรมฐานก็จะมารวมที่ตรงนี้ ทำวิปัสสนาก็จะมารวมที่ตรงนี้ ทำอะไรๆ ทั้งหมดเลยก็จะมารวมที่ตรงนี้ จุดนี้แหละเป็นจุดสำคัญ ทำไมจึงว่าเป็นจุดสำคัญ? เพราะท่านสอน “ทุกข์” กับ “เหตุที่ทุกข์เกิด”

ตัวเหตุที่ทำให้ทุกข์เกิดขึ้น ท่านเรียกว่า ทุกขสมุทัย “สมุทัยทำให้ทุกข์เกิด”- นี่คำพูด ทุกข์เกิดขึ้นเพราะจิตใจมันออกนอกตัวเราไป เราไม่รู้สึกตัวเรา เมื่อมันคิดออกไปข้างนอก ไปรับอารมณ์ข้างนอก ดีใจเสียใจพอใจไม่พอใจ ยึดถือ อยากได้อันนั้นอยากได้อันนี้ เอาแล้ว... นั่นแหละตัวทุกข์ตัวสมุทัย ผลมันออกมาก็ได้รับทุกข์

ท่านจึงว่าทุกข์ ตัวทุกข์นี่แหละมันสองศัพท์กลับกัน ทุกข์-สมุทัย “สมุทัยทำให้ทุกข์เกิด” ก็ตัวนี้แหละตัวทำให้ทุกข์เกิดขึ้น ไม่อื่นไกลเลย น้อยๆ นี่แหละ

“มรรคเป็นข้อปฏิบัติเพื่อให้ถึงความดับทุกข์” นี่คำพูด

มรรค คือ เห็นการเคลื่อนไหวของเรานี่เอง มันเคลื่อนไหวโดยวิธีใดก็เห็นก็รู้ จิตใจมันนึกมันคิดก็เห็นก็รู้จึงเป็นมรรค มรรคแปลว่าดู มรรคแปลว่าชม มรรคแปลว่าเบิ่ง (ดู) มรรคแปลว่าสัมผัส มรรคแปลว่าแนบแน่นอยู่กับสิ่งนั้น ท่านว่าอย่างนั้น จึงเป็นข้อปฏิบัติคือ “ปฏิบัติที่ตรงนี้” ใจนะ-ตัวปฏิบัติ ไม่ใช่เอามือปฏิบัตินะ ตัวใจโน่นนะ-ปฏิบัติ ตัวสติ-ตัวสมาธิ-ตัวปัญญา ตัวเห็นแจ้ง-ตัวรู้จริง จิตใจมันนึกมันคิดโน่นนะ ตัวปฏิบัติ มันเห็น-มันรู้-มันเข้าใจโน่นนะ เป็นตัวปฏิบัตินะ จึงว่า “มรรคเป็นข้อปฏิบัติเพื่อให้ถึงความดับทุกข์”

เมื่อเราเห็น-เรารู้-เราสัมผัสจิตใจที่มันนึกมันคิดแนบแน่นอยู่ตรงนี้ มันก็เลยไม่หลงตัวไม่ลืมตัวไม่หลงจิตไม่ลืมจิต มันก็เป็นใหญ่ในตัวได้เป็นใหญ่ในจิตได้ มันก็บังคับตัวบังคับจิตได้ นี่เป็นขั้นต้นที่สุด ทุกข์ก็เลยไม่เกิดขึ้น ก็เลยเป็นนิโรธ พ้นไปจากความยึดมั่นถือมั่น พ้นไปจากโทสะ-โมหะ-โลภะ ที่มันจะเกิดขึ้นโดยเฉพาะในปัจจุบัน ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงสอนแล้วสอนอีกแต่เรื่องปัจจุบันเท่านั้น

อันนี้แหละเป็นการพัฒนา เป็นการวิวัฒน์พัฒนา เป็นการทำดีให้ตัวเอง พระพุทธเจ้าตรัสรู้เพราะการกระทำทางจิตทางใจ ท่านว่าอย่างนั้น

พระพุทธเจ้าตรัสรู้เพราะการกระทำทางจิตทางใจ มันก็มีพร้อมทุกอย่าง มันมีการรักษาศีล มันมีการทำกรรมฐาน มันมีการให้ทานอย่างสูงสุดตามคำกล่าวคำสอนทางพุทธศาสนานี้ ทานทำไม (อย่างไร) สูงทำไม (อย่างไร) อาจจะมีความข้องใจอย่างนี้

ทานหมายถึงเสียสละ ใครพูดใครสอนก็ไม่ไปสนใจเลย หูได้ยินแต่มันไม่ไปสนใจ มนฟังได้แต่ไม่ไปสนใจ มันสนใจดูอยู่แต่เฉพาะที่จิตใจนี่เอง คำพูดคำสอนอันนั้นมันจึงไม่เข้ามาได้

อันนี้แหละที่ท่านว่าจิตใจสงบ-จิตใจสะอาด-จิตใจสว่าง มันอยู่ที่ตรงนี้ เพราะเห็น-เพราะรู้-เพราะเข้าใจที่ตรงนี้ เรียกว่า สะอาด-สว่าง-สงบ

สะอาด ก็คือจิตใจไม่ขุ่นมัวนั่นเอง สว่าง ก็หมายถึงการเห็นแจ้งนั่นเอง สงบ ก็หมายถึงมันไม่ไปยึดไปถือนั่นเอง เท่านี้แหละ

เด็กก็ปฏิบัติได้ ผู้ใหญ่ก็ปฏิบัติได้ คนกลางคนเป็นพ่อบ้านแม่เรือนก็ปฏิบัติได้ อยู่ที่ไหนก็ปฏิบัติได้ นี้แหละใบไม้ในกำมือเดียว แม้ที่สุดเข้าวัดก็ได้ไม่เข้าวัดก็ได้ รับศีลก็ได้ไม่รับศีลก็ได้ มันสมบูรณ์แบบแล้วอันนี้

ที่นำมาเล่าให้ฟังนี้ก็เพื่อเตือนจิตสะกิดใจว่า บุคคลผู้ที่ไม่เคยเข้าวัด ไม่เคยฟังเทศน์ ไม่เคยฟังธรรม ไม่เคยให้ทานไม่เคยรักษาศีล ก็สำเร็จได้เช่นเดียวกัน-สำเร็จได้เช่นเดียวกัน เพราะมันมารวมกันที่จุดนี้เอง

ดังนั้น การพูดการสอนนี้จึงว่าทำของง่ายๆ นี้ให้มันง่ายเข้าไป ทำของที่มันยุ่งยากนี้ให้มันสบายเข้าไป ทำของมืดให้มันเห็นแจ้งเข้าไป

เราก็เลยรู้จักศาสนา รู้จักพุทธศาสนา ศาสนาจึงแปลว่า คำสั่งสอนของท่านผู้รู้ ใครรู้เรื่องอันใดก็นำมาสอนเข้าหูเรานี้ รู้เรื่องไหวผีก็สอนให้เราไหว้ผี ใครรู้เรื่องดูฤกษ์ดูยามดูหมอเข้าทรง เขาก็สอนเราให้ไปทำอย่างนั้น

เขาสอนเรา เราไม่มีปัญญา เราไม่เห็นของจริง เราไม่รู้แจ้ง เราไม่รู้จริง เราก็เชื่อไปตามสิ่งเหล่านั้น เพราะเราไม่เห็นธรรมไม่รู้ธรรม เมื่อเราเห็นธรรมรู้ธรรมแล้วจะไปเชื่อมันทำไม ฤกษ์งามยามดีช่วยเราไม่ได้ ผีช่วยเราไม่ได้ เทวดาช่วยเราไม่ได้ ช่วยได้ก็แต่เฉพาะการกระทำของเราเองเท่านั้น





http://www.dhammajak.net/images/stories/flower/4657d8b4f0462_t[1].jpg


ครั้งหนึ่ง-จะเล่าความจริงให้ฟัง-พูดเรื่องนี้มานานแล้ว ตั้งแต่ปี ๒๕๐๓ บวชมา ตั้งแต่ก่อนหน้านั้น เป็นโยมก็พูดเรื่องนี้มา ๒ ปีกว่า ว่า ๓ ปีก็ได้ เป็นโยมพูดเรื่องนี้อยู่ มาบวชแล้วก็พูดเรื่องนี้อยู่ตลอดมา จนถึงปัจจุบันก็พูดอย่างนี้ แม้ต่อไปข้างหน้าก็จะพูดอย่างนี้ เพราะว่ามันแนบแน่นอยู่กับสิ่งเหล่านี้

ครั้งหนึ่ง ไปเปิดอบรมวิปัสสนาอยู่ที่วัดวิเวกธรรมคุณ วัดนั้นเป็นป่าช้า บ้านผมเรียกว่าป่าเฮ้ว ป่าช้า ป่าผีหลอก คนเข้าไปมันกลัว มืดค่ำแล้วไปไม่ได้ กลัวผีเป็นอย่างนั้น คราวที่ไปอบรมอยู่ที่นั่นไปเห็นคนเขาเอาศพไปเผา มันไหม้ไม่หมดเขาจึงขุดหลุมเอาเศษที่เหลือนั้นไปฝังดิน ฝังแล้วเขาก็กลับไปกันหมด หมามันก็ไปโกยไปขุดไปคุ้ยขึ้นมามันไม่กลัว ส่วนเด็กน้อยตายเขาไม่เผาเขาเอาไปฝังเลยแต่ฝังไม่ลึก หมามันก็ไปขุดคุ้ยขึ้นมากิน มันไปฉีกกัดกิน แน่ะ ! หมามันไม่เคยกลัวผี แต่คนทำไมจึงกลัวผี จิตใจใครจะสูงกว่ากันใครต่ำกว่ากัน ถ้าคนใดย่านผีกลัวผี สำนึกเลยว่าจิตใจของเรายังต่ำยังไม่ได้เป็นมนุษย์ ยังไม่ได้เป็นมนุสภูโต จิตใจของเรายังไม่ได้เป็นมนุสเทโว ยังไม่ได้เป็นมนุษย์สมบูรณ์ จิตใจมันยังต่ำขึ้นๆ ลงๆ เขาเรียกว่าคน

คนนั้นเขาเรียกว่าดีบ้างชั่วบ้าง เขาเรียกว่าคน เมื่อมาพิจารณาดูแล้วจิตใจมันเลวร้ายกว่าสุนัข สุนัขมันไม่เคยกลัวนะ บ้านหลวงพ่อเรียกว่าหมา หมามันไม่เคยกลัวนะ คนทำไมจึงจะไปกลัวผี ผีมันดีไหม ผีมันปลูกเรือนอยู่เป็นไหม ทำอาหารกินเป็นไหม มันทำเป็นไม่ได้ มันกินเป็นไม่ได้

เทวดาดีไหม ไม่เคยเห็นเทวดาปลูกบ้านอยู่ คนไม่เข้าใจ คนไม่เข้าใจเพราะมันไม่มีหูทิพย์ เพราะมันไม่มีตาทิพย์ เพราะมันไม่ฟังคำพูดคำสอนของพระ พระจึงแปลว่าผู้สอนคน

สอนจริงๆ ไม่ใช่พระอย่างที่หลวงพ่อนี้นะ (ท่านเอามือจับตัวเอง) ไม่ใช่พระอย่างนี้ พระอย่างนี้เรียกว่าสมมติสงฆ์ เป็นพระโดยสมมติ จริงโดยสมมติ เขาว่าอย่างนั้น เมื่อมีตาทิพย์หูทิพย์เห็นเลย เห็นผีพูดกับผีได้ เห็นเทวดาพูดกับเทวดาได้ อาตมาเห็นผีเห็นเทวดาแต่เมื่อเป็นโยม ก่อนหน้าที่บวช ก็มาเล่าเรื่องผีเรื่องเทวดาให้คนฟัง บางคนก็ฟังเป็นบางคนก็ฟังไม่เป็น เมื่อมาบวชแล้วก็พูดเรื่องหูทิพย์ตาทิพย์นี่แหละ เรานั้นเพียงแต่ว่า “เขาว่าๆ” แต่เราไม่รู้จักความหมาย

อย่างคนทำชั่วพูดชั่วนี่ผู้ชายเขาว่า “ไอ้ผี” คือ (เหมือน)ผี แน่ะ! มันคือ (เหมือน)ตัวผี แต่ก็ไม่เคยเห็นผี ถ้าเป็นผู้หญิงทำชั่วพูดชั่วคิดชั่วเขาว่า “นางนี่คือ (เหมือน) ผี” “นางนี้ผี” “อีผี” แน่ะ! เคยพูดกันอย่างนั้น บัดนี้พระสงฆ์องค์เจ้าทำชั่วพูดชั่วคิดชั่ว เขาว่า “พระองค์นี้คือผี” “เณรองค์นี้คือผี” “พระผี” “เณรผี”

แน่ะ! เราไม่มีตาทิพย์ไม่มีหูทิพย์ เราจึงไม่เห็น เราจึงไม่เข้าใจ ตัวจิตใจโน้นมันเป็นผี มันสั่งให้รูปอันนี้ทำ มันสั่งให้คำพูดนี้พูดออกมา ใจมันเป็นผี หน้าตาแข้งขามือเท้าเป็นคน อันนี้แหละจึงให้ศึกษาตัวเราให้ปฏิบัติตัวเรา ให้รู้จักตัวเรา

ทำดีพูดดีคิดดี บาดเนี่ยะ “โอ๊ะ! นางนี้ ...” ถ้าเป็นผู้หญิง หรือถ้าเป็นผู้ชายเป็นหนุ่มก็ว่า “ท้าวนี้งามคือ (เหมือน) เทวดา” “ใจดีคือ (เหมือน) พระธรรม” แน่ะ! ถ้าเป็นพ่อบ้านแม่เรือนก็ว่า “โอ๊ะ! ลุงนี้ป้านี้ดีเหมือนเทวดา” “พูดดีคิดดีเหมือนพระธรรม” แน่ะ! ถ้าเป็นคนเฒ่าคนแก่ “โอ๊ะ! คุณตาคุณยายพ่อเฒ่าพ่อลุงเหมือนเทวดา” “ใจดีเหมือนพระธรรม”

แน่ะ! เราไม่เห็นธรรม ไม่เห็นพระธรรม มันจึงพูดกับพระธรรมไม่ได้ ดังนั้น เราต้องมีตาทิพย์ ตาทิพย์ต้องมองดูสภาพความเคลื่อนไหวของจิตใจโน้น เราจะเห็น นี่แหละพระแปลว่าผู้สอนคน ใครสอนก็ได้เรื่องนี้ ไม่ใช่กำหนดเอาแต่เฉพาะว่าต้องผ้าเหลืองโกนผมเท่านั้น


เรื่องนี้ผมไปปฏิบัติธรรมคราวนั้นอายุ ๔๐ กว่าปีเท่านั้นเอง ไม่ทันแก่เท่าไหร่หรอก แต่คิดว่าอยากรู้ธรรมะ อยากเห็นธรรมะ อยากเข้าใจธรรมะ แต่ก่อนนั้นไม่เข้าใจธรรมะ ธรรมะนึกว่าตัวหนังสือ นึกว่าพระพุทธรูป นึกว่าเป็นวัด นึกว่าเป็นโบสถ์เป็นวิหาร เข้าใจอย่างนั้น ต่อเมื่อเข้าใจอย่าง(ที่เป็นอยู่)นี้แล้ว...

โอ! ธรรมะ นั้นคือตัวคนทุกคน ถ้าเราไปโกรธคนไปด่าคน ก็ไปด่าธรรมะ ถ้าเราไปโกรธคนไปด่าคน ก็ไปด่าศาสนา เมื่อเราไปโกรธศาสนาด่าศาสนาแล้ว เราก็ไม่มีศาสนา เราก็ไม่เห็นศาสนา เมื่อเราไปโกรธคนด่าคน เราก็ไปโกรธธรรมะด่าธรรมะ เราก็ไม่เคารพธรรมะ ดังนั้น พระพุทธเจ้าทุกพระองค์จึงเคารพพระธรรม พระพุทธเจ้าทุกพระองค์จึงเคารพพระธรรม ยกมือไหว้ตัวเองให้ได้ กราบตัวเองให้ได้ ยกมือไหว้ตัวเองทำไม (อย่างไร) ถ้าคนอื่นยกมือไหว้เรา เราก็ยกมือไหว้ตัวเอง ไม่ใช่ยกมือไหว้คนอื่นนะ เห็นเราทำดีพูดดี ยกมือไหว้ตัวเองได้ก็เป็นการยกมือไหว้คนอื่นพร้อมๆ กันไป ท่านว่าอย่างนั้น

ดังนั้น มีตาทิพย์มีหูทิพย์ ไม่ใช่ตาทิพย์นั่งอยู่ที่นี่ไปเห็นไกลๆ โน้น อันนั้นตาทิพย์ของบุคคลผู้ที่รู้อย่างนั้น หูทิพย์ นั่งอยู่ที่นี้ฟังคนพูดไกลๆ ได้ยิน อันนั้นมันหูทิพย์บุคคลผู้รู้เช่นนั้น

แต่ที่พระพุทธเจ้าท่านสอนนั้น พระองค์สอนให้เห็นตัวเรานี่แหละ จึงจะเรียกว่า เห็นธรรม-รู้ธรรม-เข้าใจธรรม สัมผัสกับธรรม อยู่กับธรรม นอนกับธรรม ไปไหนมาไหนก็ไปกับธรรมะ อยู่กับธรรมะ ไม่ปล่อยปละละเลยธรรมะออกไปที่ไหนเลย อันนี้แหละ การปฏิบัติธรรมที่จะเอาไปใช้กับชีวิตของเรา เข่าวัดก็ได้ไม่เข้าวัดก็ได้ รักษาศีลก็ได้ไม่รักษาศีลก็ได้ เป็นการพัฒนาตัวเอง เป็นการสังคายนาตัวเอง ให้รู้เท่า-รู้ทัน-รู้จักกัน-รู้จักแก้ เห็นจิตเห็นใจตัวเอง

ร่างกายนี้มันเน่าเปื่อยเป็นถ้าตายแล้ว แต่จิตใจนั้นตายไปแล้วเขายังเอาเรื่องมาว่าคนนั้นไม่ดีคนนี้ไม่ดี แน่ะ! ตายไม่เป็น;

ความจริงนั้นจึงตายไม่เป็น ความชั่วก็ตายไม่เป็น ความจริงก็ตายไม่เป็นเช่นเดียวกัน

ดังนั้น จึงว่าอยากให้ทุกคนได้ประพฤติปฏิบัติตัวเอง อย่าให้มันเป็นบ้า มีเงินมากๆ ก็ทุกข์ ไม่มีเงินก็ทุกข์ มีเงินมากๆ ก็ไม่ทุกข์ ไม่มีเงินก็ไม่ทุกข์ ถ้ารู้ธรรม-เห็นธรรม-เข้าใจธรรมแล้ว

มีความรู้มากๆ ก็ทุกข์ เรียนหนังสือมากๆ ก็ทุกข์ ถ้าไม่รู้ ไม่เห็นธรรม เรียนหนังสือมากๆ ก็ไม่ทุกข์ ถ้าเห็นธรรม-รู้ธรรม-เข้าใจธรรม เรียนทางโลกจนจบปริญญาเอก นอนไม่หลับเป็นบ้าไปเอายามากิน-ยาระงับประสาท แน่ะ! ทุกข์ไหม นั่นแหละทุกข์ จึงว่าไม่รู้จักสมุทัย ไม่รู้จักความคิดตัวเอง

คำว่า “สมุทัย” พูดเป็นนะนักศึกษาสมัยนี้ แต่ก็ยังไม่เข้าใจสมุทัย แม้จะเรียนจบประถมมัธยมปริญญาตรีโทเอกก็ตาม เรียนเป็นพระทางธรรม บัดนี้ เป็นนักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอก เรียนมหาเปรียญประโยคสามไปจนประโยคเก้า บางคนไม่เข้าใจสมุทัย บางคนก็เข้าใจ ไม่ใช่เสมอกันไปหมดนะที่พูดนี้




- จบ -



ขอขอบคุณที่มาคะ http://www.dhammajak.net/dhamma/-6-2.html