PDA

แสดงเวอร์ชันเต็ม : หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ วัดจันทาราม (ท่าซุง)



DAO
11-15-2008, 02:22 PM
http://www.amulet.in.th/forums/images/371.jpg



พระราชพรหมยาน หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ครั้งสุดท้ายเป็น พระราชพรหมยาน ไพศาลภาวนานุสิฐ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

ประวัติ

หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (วีระ ถาวโรมหาเถระ) เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2459 ตรงกับวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 8 ปีมะโรง ที่ตำบลสาลี อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี บิดาชื่อ นายควง สังข์สุวรรณ มารดาชื่อ นางสมบุญ สังข์สุวรรณ ท่านเป็นบุตรคนที่ 3 จากพี่น้องร่วมบิดามารดาจำนวน 5 คน ดังนี้

นายวงษ์ สังข์สุวรรณ ถึงแก่กรรมเมื่อ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2513
นางสำเภา ยาหอมทอง(สังข์สุวรรณ)
พระราชพรหมยาน (พระมหาวีระ ถาวโร(สังข์สุวรรณ))
พระครูพิศาลวุฒิธรรม (พระมหาเวก อักกวังโส(สังข์สุวรรณ))
ด.ญ. อุบล สังข์สุวรรณ ถึงแก่กรรมตั้งแต่อายุ 4 ขวบ
บิดาเป็นหัวหน้าหาเลี้ยงครอบครัวโดยเป็นเจ้าของนาอยู่ 40 กว่าไร่ ทำนาได้ข้าวปีละ 9 - 10 เกวียน สมัยนั้นราคาข้าวเกวียนละ 20 - 25 บาท บิดาจึงมีอาชีพหลัก คือ ทำนาและหาปลา มารดาเป็นคนใจบุญสุนทาน ขณะจะตั้งครรภ์ นอนฝัน เห็นพรหมมีสีเหลืองเป็นทองคำเหมือนพระพุทธรูป นอนลอยไปในอากาศ มีเพชรประดับแพรวพราวทั้งตัว เข้าทางหัวจั่วด้านทิศเหนือ เข้ามานั่งที่ตักท่าน มารดาก็กอดไว้ แล้วก็หายเข้าไปในกาย เมื่อเกิดมาใหม่ ๆ ลุงที่บวชเป็นพระได้ฌานสมาบัติ (หลวงพ่อเล็ก เกสโร) ท่านบอกว่า เจ้าเด็กคนนี้มาจากพรหม ดังนั้นจึงให้ชื่อว่า "พรหม" และต่อมาภายหลัง คนที่จดสำมะโนครัวเขามาเปลี่ยนชื่อให้เป็น "สังเวียน" ท่านยายกับชาวบ้านเรียกว่า "เล็ก" ส่วนท่านมารดาและพี่ ๆ น้อง ๆ เรียกว่า "พ่อกลาง"

พ.ศ. 2466 อายุ 7 ขวบ เข้าเรียนหนังสือที่โรงเรียนประชาบาลวัดบางนมโค อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จนจบชั้นประถมปีที่ 3 พ.ศ. 2474 อายุ 15 ปี อาศัยกับท่านยายที่บ้านหน้าวัดเรไร อำเภอตลิ่งชัน จังหวัดธนบุรี ได้ศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณ พ.ศ. 2478 อายุ 19 ปี เข้าทำงานเป็นเภสัชกรทหาร สังกัดกรมการแพทย์ทหารเรือ (ปัจจุบันคือโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า) พ.ศ. 2479 อายุ 20 ปี อุปสมบทเป็นภิกษุเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2479 เวลา 13.00 นาฬิกา ที่วัดบางนมโค อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีพระครูรัตนาภิรมย์ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูวิหารกิจจานุการ (ปาน โสนันโท) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระอาจารย์เล็ก เกสโร เป็นพระอนุสาวนาจารย์

คำสั่งพระอุปัชฌาย์ ขณะเข้าบวช หลวงพ่อปาน ท่านบอกท่านอุปัชฌาย์ว่า เจ้านี่หัวแข็งมาก ต้องเสกด้วยตะพดหนักหน่อย ท่านอุปัชฌาย์ท่านเป็นพระทรงธรรมเหมือนหลวงพ่อ(ปาน) หลวงพ่อเล็กก็เหมือนกัน ท่านอุปัชฌาย์ท่านยิ้มแล้วท่านพูดว่า "3 องค์นี้ไม่สึก อีกองค์ต้องสึกเพราะมีลูก เมื่อจะสึกไม่ต้องเสียดายนะลูก เกษียณแล้วบวชใหม่มีผลสมบูรณ์เหมือนกัน 2 องค์นี้พอครบ 10 พรรษาต้องเข้าป่า เมื่อเข้าป่าแล้วห้ามออกมายุ่งกับชาวบ้านจนกว่าจะตาย จะพาพระและชาวบ้านที่อวดรู้ตกนรก จงไปตามทางของเธอ ท่านปานช่วยสอนวิชาเข้าป่าให้หนักหน่อย ท่านองค์นี้ (หมายถึงฉัน) จงเข้าป่าไปกับเขา แต่ห้ามอยู่ในป่าเป็นวัตร เพราะเธอมีบริวารมาก ต้องอยู่สอนบริวารจนตาย พอครบ 20 พรรษาจงออกจากสำนักเดิม เธอจะได้ดี จงไปตามทางของเธอ ฉันบวชพระมามากแล้วไม่อิ่มใจเท่าบวชพวกเธอ"

พ.ศ. 2480 อายุ 21 ปี สอบได้นักธรรมตรี
พ.ศ. 2481 อายุ 22 ปี สอบได้นักธรรมโท
พ.ศ. 2482 อายุ 23 ปี สอบได้ นักธรรมเอก

ระหว่างพรรษาที่ 1 - 4

- เรียนอภิญญา
- ธุดงค์ป่าช้า, ป่าศรีประจันต์, พระพุทธบาท, พระพุทธฉาย, เขาวงพระจันทร์, เขาชอนเดื่อ, ตาคลี จังหวัดนครสวรรค์, ดงพระยาเย็น, ภูกระดึง, พระแท่นดงรัง ฯลฯ
- ศึกษาวิปัสสนา

ระหว่างปี พ.ศ. 2480-2483 ได้ศึกษาพระกรรมฐาน จากครูบาอาจารย์หลายท่าน อาทิเช่นหลวงพ่อปาน โสนันโท วัดบางนมโค, หลวงพ่อจง พุทธสโร วัดหน้าต่างนอก, พระอาจารย์เล็ก เกสโร วัดบางนมโค, พระครูรัตนาภิรมย์ วัดบ้านแพน, พระครูอุดมสมาจารย์ วัดน้ำเต้า, หลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ, หลวงพ่อเนียม วัดน้อย, หลวงพ่อโหน่ง วัดอัมพวัน (วัดคลองมะดัน) และหลวงพ่อเรื่อง วัดใหม่พิณสุวรรณ

พ.ศ. 2483 อายุ 24 ปี เข้ามาจำพรรษาที่วัดช่างเหล็ก อำเภอตลิ่งชัน ธนบุรี เพื่อเรียนบาลี จากนั้นย้ายมาอยู่ที่วัดอนงคารามในช่วงออกพรรษาในสมัยสมเด็จพระพุฒาจารย์(นวม) อยู่วัดช่างเหล็กในช่วงเข้าพรรษา ระหว่างนี้ได้ศึกษาเพิ่มเติมกรรมฐานกับหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ และพบพระสุปฏิปันโนอีกมาก เช่น สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทัย) เป็นต้น

พ.ศ. 2486 อายุ 27 ปี สอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค เปลี่ยนชื่อเป็น "พระมหาวีระ" เพื่อไม่ให้คล้ายกับ พระมหาสำเนียง ที่อยู่วัดช่างเหล็ก ที่เดียวกัน

พ.ศ. 2488 อายุ 29 ปี สอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค ย้ายมาอยู่วัดประยูรวงศาวาส ได้เป็นรองเจ้าคณะ 4 วัดประยูรวงศาวาส และฝึกหัดการเป็นนักเทศน์

พ.ศ. 2492 อายุ 33 ปี จำพรรษาที่วัดลาวทอง จังหวัดสุพรรณบุรี

พ.ศ. 2494 อายุ 35 ปี จึงกลับไปอยู่วัดบางนมโค จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นเจ้าอาวาสวัดบางนมโค

พ.ศ. 2500 อายุ 41 ปี อาพาธหนักเข้าโรงพยาบาลกรมแพทย์ทหารเรือ

พ.ศ. 2502 อายุ 43 ปี พักฟื้นที่วัดชิโนรสาราม จังหวัดกรุงเทพมหานครฯ จากนั้นจึงได้ย้ายไปอยู่วัดโพธิ์ภาวนาราม อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท ซึ่งขณะนั้นยังเป็นสำนักสงฆ์ ได้ลูกศิษย์รุ่นแรก 6 คน

พ.ศ. 2505 อายุ 46 ปี ไปจำพรรษาที่วัดพรวน อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาทเป็นเวลา 1 พรรษา

พ.ศ. 2506 อายุ 47 ปี กลับมาจำพรรษาที่วัดโพธิ์ภาวนาราม พอกลางเดือนมิถุนายน ก็ได้ลาพุทธภูมิ

พ.ศ. 2508 อายุ 49 ปี จำพรรษาที่วัดปากคลองมะขามเฒ่า ตำบลมะขามเฒ่า อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท แล้วเริ่มไป - กลับวัดสะพาน อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท เพื่อสอนพระกรรมฐาน

พ.ศ. 2510 อายุ 51 ปี ได้สอนวิชามโนมยิทธิ แล้วจึงจำพรรษาที่วัดสะพาน อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท

พ.ศ. 2511 อายุ 52 ปี ในวันที่ 11 มีนาคม จึงมาอยู่วัดจันทาราม (ท่าซุง) ตำบลน้ำซึม อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี ได้ทำบูรณะ สร้างและขยายวัด จากเดิมมีพื้นที่ 6 ไร่ 2 งาน 07 2/10 ตารางวา จนกระทั่งเป็นวัดที่มีบริเวณพื้นที่ประมาณ 289 ไร่ 1 งาน 40 ตารางวา มีอาคารและถาวรวัตถุต่าง ๆ จำนวน 144 รายการในวัด สิ้นค่าก่อสร้างทั้งสิ้น 611,949,193 บาท สิ่งก่อสร้างทั้งในวัดและนอกวัด อาทิเช่น หอสวดมนต์, พระพุทธรูป, อาคารปฏิบัติกรรมฐาน, ศาลาการเปรียญ, วิหาร 100 เมตร, โบสถ์ใหม่, บูรณะโบสถ์เก่า, ศาลา 2 ไร่, 3 ไร่, 4 ไร่ และ 12 ไร่, หอไตร, โรงพยาบาลศูนย์แม่และเด็ก ชนบทที่ 61, พระจุฬามณี, มณฑปท้าวมหาราชทั้ง 4, พระบรมราชานุสาวรีย์ 6 พระองค์, พระชำระหนี้สงฆ์, โรงไฟฟ้า, โรงเรียนพระสุธรรมยานเถระวิทยา, ศูนย์สงเคราะห์ผู้ยากจนในแดนทุรกันดารตามพระราชประสงค์ เป็นต้น ทั้งยังได้ช่วยการก่อสร้างที่วัดอื่น ๆ ในประเทศไทยอีกมากมาย

พ.ศ. 2520 อายุ 61 ปี ตั้งศูนย์สงเคราะห์ผู้ยากจนในแดนทุรกันดารตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม

พ.ศ. 2526 อายุ 67 ปี สร้างโรงพยาบาลแม่และเด็กชนบทที่ 61 และมอบให้กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

พ.ศ. 2527 อายุ 68 ปี ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญวิ.(ป.ธ.4 น.ธ.เอก) ที่ "พระสุธรรมยานเถร"

พ.ศ. 2528 อายุ 69 ปี สร้างโรงเรียนพระสุธรรมยานเถระวิทยา

พ.ศ. 2532 อายุ 73 ปี ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ "พระราชพรหมยาน ไพศาลภาวนานุสิฐ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี"

พ.ศ. 2535 อายุ 76 ปี ได้อาพาธด้วยโรคปอดบวมอย่างแรง และติดเชื้อในกระแสโลหิต เข้ารักษาที่โรงพยาบาลศิริราช และมรณภาพที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม 2535 เวลา 16.10 น. ปัจจุบันศพของหลวงพ่อได้บรรจุไว้ในโลงแก้วบนบุษบกทองคำที่ประดับด้วยอัญมณีอันวิจิตรงดงาม ณ วัดจันทาราม ตำบลน้ำซึม อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี

ผลงาน

ตลอดระยะเวลาที่อุปสมบทอยู่ หลวงพ่อพระราชพรหมยานได้ทำหน้าที่ของพระสงฆ์ ในพระพุทธศาสนาอย่างสมบูรณ์ กล่าวคือ

ทางด้านชาติ ได้สร้างโรงพยาบาล, สร้างโรงเรียน, จัดตั้งธนาคารข้าว, ออกเยี่ยมเยียน ทหารหาญของชาติและตำรวจตระเวณชายแดนตามหน่วยต่าง ๆ เพื่อ ปลุกปลอบขวัญและกำลังใจ และ แจกอาหาร, ยา, อุปกรณ์อำนวยความสะดวก และวัตถุมงคลทั่วประเทศ

ทางด้านพระศาสนา ได้สั่งสอนพุทธบริษัทศิษยานุศิษย์ให้มุ่งพระนิพพานเป็นหลัก โดยให้ประพฤติปฏิบัติสำรวมกาย, วาจา, ใจ, มุ่งในทาน, ศีล, สมาธิ และปัญญา ทั้งในทางกรรมฐาน 40 และมหาสติปัฏฐานสูตร ได้พิมพ์หนังสือคำสอนจำนวนมากและบันทึกเทปคำสอนกว่า 1,000 ม้วน นอกจากนี้ยังได้แสดงธรรมเทศนาทางสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์เป็นครั้งคราว นอกจากนี้ ยังเดินทางไปสงเคราะห์คณะศิษย์ในต่างจังหวัดและต่างประเทศทุก ๆ ปี

ทางด้านวัตถุ ท่านได้ช่วยสร้างพระพุทธรูปและถาวรวัตถุไว้ในพระพุทธศาสนามากกว่า 30 วัด รวมทั้งการบูรณะฟื้นฟูวัดท่าซุงด้วยเงินกว่า 600 ล้านบาท ได้สร้างพระไตรปิฎก และถวายผ้าไตรแก่วัดต่างๆ ปีละไม่ต่ำกว่า 200 ไตร

ทางด้านพระมหากษัตริย์ท่านได้สนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยการจัดตั้งศูนย์สงเคราะห์ผู้ยากจนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชประสงค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ซึ่งศูนย์ฯ นี้ได้ดำเนินการสงเคราะห์ราษฎรในถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 ทั้งการแจกเสื้อผ้า, อาหาร และยารักษาโรคแก่ราษฎรผู้ยากจน, การช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยทางธรรมชาติ, การจัดแพทย์เคลื่อนที่ออกรักษาพยาบาลราษฎรผู้เจ็บป่วย, การให้ทุน นักเรียนที่เรียนดีแต่ยากจน, การบริจาคทุนทรัพย์ให้แก่มูลนิธิและโรงพยาบาลต่าง ๆ ฯลฯ

นับได้ว่าพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยานเป็นปูชนียบุคคลผู้อยู่ด้วยความกรุณา เป็นปกติ พร่ำสอนธรรมะและสิ่งทีเป็นประโยชน์และสงเคราะห์เกื้อกูลมหาชนด้วยเมตตามหาศาลสมกับเป็น ศากยบุตรพุทธชิโนรสแท้องค์หนึ่ง

คุณวิเศษส่วนองค์และต่อส่วนรวม

1. เป็นผู้ได้บำเพ็ญบารมีมามาก
2. ทรงอภิญญาสมาบัติและปฏิสัมภิทาญาณ
3. ทรงเถรธรรม ประกอบด้วย รัตตัญญู (รู้ราตรีนาน), สีลวา (มีศีล), พหุสสุตะ (ทรงความรู้ได้ฟังมาก), สวาคตะปาฏิโมกขะ (วินิจฉัยพระวินัยได้ดี), อธิกรณสมุปปาทวูปสมกุสละ (ฉลาดในการระงับอธิกรณ์ที่เกิดขึ้น), ธัมมกามะ (ใคร่ในธรรม), สันตุฏฐะ (สันโดษ), ปาสาทิกะ (น่าเลื่อมใส), ฌานลาภี (คล่องในฌาน) และ อนาสวเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ (บรรลุเจโตวิมุติ และปัญญาวิมุติ สิ้นอาสวกิเลส
4. รู้แจ้งในไตรภูมิ
5. เป็นที่รักของพระ พรหม เทพยดาและมนุษย์ทั้งปวง
6. สอนคนให้เข้าใจถึงพระนิพพานได้จริง ตามมาตรฐานการปฏิบัติธรรมแห่งพระพุทธศาสนาครบถ้วนทั้ง 4 หมวด อันได้แก่
6.1) สุกขวิปัสสโก ปฏิบัติธรรมแบบเรียบ ๆ มีมรรคมีผล แต่ไม่มีความรู้พิเศษ
6.2) เตวิชโช หรือเรียกว่า วิชชา 3 มีมรรคมีผล และมีความรู้พิเศษคือ ทิพจักขุญาณ รู้ว่าคนเกิดมาจากไหน ตายไปไหน เป็นต้น มีญาณ 8 ประการ
6.3) ฉฬภิญโญ หรือเรียกว่า อภิญญา 6 มีมรรคมีผล และมีความรู้พิเศษคือแสดงฤทธิ์ได้ 5 อย่าง หากหมดกิเลสด้วยจะเรียกว่าได้อภิญญา 6
6.4) ปฏิสัมภิทัปปัตโต หรือเรียกว่า ปฏิสัมภิทาญาณ มีมรรคมีผล และมีความรู้พิเศษครอบคลุมทั้ง 3 หมวดแรก ปฏิสัมภิทาญาณนั้นคือ ทรงพระไตรปิฎก(แตกฉานในเหตุและผล), รู้ภาษาคนทุกภาษาและภาษาสัตว์ทุกชนิด และคล่องแคล่วในการสอนธรรม (ขยายความให้เข้าใจก็ได้ ย่อความให้เข้าใจก็ได้)

คำกล่าวที่จารึกในแผ่นทองซึ่งบรรจุใต้แท่นพระประธาน เมื่อพ.ศ. 2519 ในแผ่นทองได้จารึกไว้ดังนี้ เราพระมหาวีระ มีพระราชานามว่า ภูมิพล เป็นผู้อุปถัมถ์ ร่วมด้วยพุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่ สร้างวัดนี้เป็นพุทธบูชา เมื่อศักราชล่วงไปแล้ว 2700 ปีปลาย จะมีพระเจ้าธรรมิกราช นามว่า ศิริธรรมราชา สืบเชื้อสายมาจากเชียงแสนและสุโขทัย ร่วมกับพระอรหันต์ จะมาบูรณะวัดนี้ สืบพระศาสนาต่อไป คณะของเราขอโมทนา แต่อยู่ช่วยไม่ได้ เพราะไปพระนิพพานหมดแล้ว

อีกทั้งท่านยังได้ตั้งสัตยาธิษฐานฝากลูกหลานของท่านไว้ดังนี้ ฉันขอตั้งสัตยาธิษฐาน อ้างคุณพระศรีรัตนตรัย มีองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประมุข พร้อมด้วยพระอริยสงฆ์ทั้งหมดและพระพรหม และเทพเจ้าทั้งหมด ขอทุกท่านจงกำหนดจิต จดจำลูกหลานของฉันไว้ ว่าบุคคลใดก็ตาม เมื่อเวลาจะตายขอให้สติสัมปัชัญญะสมบูรณ์ มีจิตน้อมไปในกุศลกรรม และขอให้ได้รับผลที่ฉันได้ทำไปแล้วทุกประการแก่ลูกหลานของฉันทุกคน เวลานี้ฉันมองดูแล้วนะ ตรวจดูแล้ว สิ่งที่ฉันต้องการมันสมใจนึกแล้ว ฉันมีความอิ่มใจบอกไม่ถูก ปลื้มใจที่ความปรารถนาสมหวัง ที่ฉันตั้งใจไว้นาน ปรารถนาไว้นานคิดว่าจะทำไม่ได้ แต่เวลานี้ทำได้แล้ว ลูกหลานของฉันทุกคน มีศรัทธาเป็นอจลศรัทธาแล้ว มีความมั่นคงในพระพุทธศาสนาแล้ว มีความดีพอสมควรแล้ว อุโบสถหลังใหม่นี้ มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในพระเกศมาลาของสมเด็จพระ พุทธพรมงคล พระประธานในพระอุโบสถ, เททองหล่อรูปหลวงพ่อปาน และทรงตัดลูกนิมิตด้วย ในช่วงพ.ศ. 2518 - 2520

การรับเป็นศิษย์

"..คนที่ต้องการเป็นศิษย์ ไม่ต้องขออนุญาต ขอให้ปฏิบัติตามนี้ อยู่ที่ไหน ไม่เคยเห็นหน้ากันเลยก็รับเป็นศิษย์ คือ

1. ศิษย์ชั้น 3
พยายามรักษาศีล 5 เสมอ อาจจะขาดตกบกพร่องบ้าง แต่ก็พยายามรักษาให้ครบถ้วนให้มากที่สุดที่จะทำได้ อย่างนี้ ขอรับไว้เป็นศิษย์ชั้น 3 คือ ศิษย์ขนาดจิ๋ว

2. ศิษย์รุ่นกลาง มีปฏิปทาดังนี้
มีศีลบริสุทธิ์เป็นปกติ พยายามรักษาอารมณ์ให้ทรงสมาธิเสมอตามสมควร ไม่ละเมิดศีลเป็นปกติ อย่างนี้ ขอรับไว้เป็นศิษย์รุ่นกลาง

3. ศิษย์เอก มีปฏิปทา ดังนี้
ก. รักษาศีล 5 ครบถ้วนเป็นปกติ
ข. เคารพพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ ไม่สงสัยในความดีของท่าน มีอารมณ์ตั้งมั่นว่า ถ้าตายไปจากคนชาตินี้ ขอไปนิพพานจุดเดียว พยายามละความโลภ ความโกรธ ความหลงเป็นปกติ ..."



มีต่อคะ

DAO
11-15-2008, 02:24 PM
http://www.amulet.in.th/forums/images/372.jpg



พระสงฆ์ที่หลวงพ่อพระราชพรหมยานได้เคยสนทนา หรือเป็นสหาย ได้แก่

1. พระครูวิหารกิจจานุการ (หลวงพ่อปาน สุทธาวงษ์) วัดบางนมโค อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา :
ท่านเป็นปฐมาจารย์ ผู้สั่งสอนเป็นองค์แรก สอนกรรมฐานทุกตอนจนถึงระดับนิพพาน และพยายามฝึกฝนให้จนมีความเข้าใจในการปฏิบัติกรรมฐานจนมี ความเข้าใจ
2. หลวงพ่อเล็ก เกสโร วัดดบางนมโค อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา : อาจารย์ที่สองรองจากหลวงพ่อปาน เป็นตัวแทนหลวงพ่อปาน ในการควบคุมดูแลในการปฏิบัติเบื้องต้นท่านอยู่วัดบางนมโค เช่นเดียวกัน
3. พระครูอุดมสมาจารย์ วัดน้ำเต้า อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
4. หลวงพ่อปั้น วัดพิกุล อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
5. หลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
6. หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
7. พระครูรัตนาภิรมย์ วัดบ้านแพน อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา :พระอุปัชฌาย์ของหลวงพ่อพระราชพรหมยาน
8. หลวงพ่อเนียม วัดน้อย อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี
9. หลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี
10. หลวงพ่อเรื่อง วัดใหม่พิณสุวรรณ อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี
11. พระครูสุวรรณพิทักษ์บรรพต เจ้าคณะ 11 วัดสระเกศ จังหวัดพระนคร
12. สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทัย) วัดสระเกศวรมหาวิหาร จังหวัดกรุงเทพฯ
13. สมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม) วัดอนงคาราม จังหวัดกรุงเทพฯ
14. ท่านเจ้าคุณ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) วัดปากน้ำภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี
15. ท่านเจ้าคุณ พระธรรมปาหังสณาจารย์ อดีตเจ้าอาวาส วัดประยุรวงศาวาส ธนบุรี
16. ท่านเจ้าคุณ พระมหาโพธิวงศาจารย์ เจ้าอาวาส วัดอนงคาราม จังหวัดธนบุรี
17. พระเดชพระคุณ สมเด็จพระพุฒาจารย์ อดีตเจ้าอาวาส วัดอนงคาราม จังหวัดธนบุรี
18. พระอาจารย์เกษม วัดดาวดึงสาวาส จังหวัดธนบุรี
19. พระอาจารย์ทอง วัดราษฎรสุนทรเจริญ อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี
20. ท่านอาจารย์สุข (เป็นฆราวาส) ตำบลแพงพวย อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี
21. พระเทพวิสุทธิเวที (ไสว สุจิตฺโต ป.ธ.6) อดีตเจ้าอาวาสวัดอนงคาราม จังหวัดกรุงเทพฯ
22. พระราชวิสุทธิเมธี (พระมหาวิจิตร วิจารโณ; พระศรีวิสุทธิโสภณ ในสมัยนั้น) วัดอนงคาราม จังหวัดกรุงเทพฯ
23. พระมงคลชัยสิทธิ์ (พระครูวิชาญชัยคุณ ในสมัยนั้น) วัดปากคลองมะขามเฒ่า อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท
24. พระวิสุทธาธิบดี วัดไตรมิตร จังหวัดกรุงเทพฯ
25. พระราชอุทัยกวี จังหวัดอุทัยธานี
26. สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เสงี่ยม จันทสิริ)
27. พระครูปิยรัตนาภรณ์ (บุญรัตน์ กันตจาโร) วัดโขงขาว ตำบลบ้านแหวน อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่
28. หลวงปู่ชุ่ม โพธิโก วัดไชยมงคล(วัดวังมุย) จังหวัดลำพูน
29. พระครูสุคันธศีล (หลวงปู่คำแสน) วัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่
30. หลวงปู่แหวน สุจิณโณ วัดดอยแม่ปั๋ง(ดอยม่อนเวียง) อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่
31. หลวงปู่คำแสน คุณาลังกาโร วัดป่าดอนมูล สันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
32. หลวงพ่อทืม(หลวงพ่อบุญทืม พรหมเสโน) วัดจามเทวี จังหวัดลำพูน
33. พระครูสันติวรญาณ(หลวงพ่อสิม) วัดถ้ำผาปล่อง เชียงดาว
34. พระครูพรหมจักสังวร (พระสุพรหมยานเถระ; ครูบาพรหมจักโก) วัดพระพุทธบาทตากผ้า อำเภอป่าซางจังหวัดลำพูน
35. พระครูภาวนาภิรัตน์ (พระสุธรรมยานเถระ; ครูบาอินทจักรรักษา) วัดวนาราม(วัดน้ำบ่อหลวง) อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่
36. พระครูพัฒนกิจจานุรักษ์ (ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา) วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน
37. พระพุทธโฆษาจารย์ วัดสามพระยา จังหวัดกรุงเทพฯ
38. สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ ป.ธ.9) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร
39. พระครูวรเวทย์วิสิฐ (ครูบาธรรมชัย) วัดทุ่งหลวง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
40. พระภาวนาปัญญาวิสุทธิ์ (อำพัน บุญ - หลง) วัดเทพศิรินทราวาส จังหวัดกรุงเทพฯ
41. หลวงปู่บุดดา ถาวโร วัดกลางชูศรีเจริญสุข อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี
42. สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดราชผาติการาม จังหวัดกรุงเทพฯ
ยังคงมีพระสงฆ์อีกมากรูปในชั่วชีวิตของพระราชพรหมยานฯ

ปัจฉิมโอวาท
ให้ ณ วันพุธที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2535 ที่ตึกรับแขก วัดจันทาราม (ท่าซุง) จ.อุทัยธานี

ลูกเอ้ย นี่เป็นธรรมดาของร่างกาย มีเกิด มีแก่ มีเจ็บ มีตาย เป็นธรรมดา สังขารมันเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยงหรอก ทุกขัง ตอนอยู่มันเป็นทุกข์ แต่ผลที่สุดมันก็อนัตตาสลายไป มีแค่นี้ อย่ามายึดสังขารพ่อเลย ลูกเอ้ย

ธรรมะจากหลวงพ่อ
นิพพานเป็นของง่ายเป็นของไม่ยาก นิพพานนี่เขาแปลว่า ดับ นะคุณนะ ถ้าจะถามว่าดับอะไร ก็ขอตอบว่า ดับความชั่ว คนที่จะถึงนิพพานได้ต้องไม่มีความชั่ว 3 อย่าง คือ

1. ไม่ชั่วทางกาย
2. ไม่ชั่วทางวาจา
3. ไม่ชั่วทางใจ
ถ้าทุกคนดับความชั่วได้หมด บุคคลนั้นก็ชื่อว่าเป็นผู้เข้าถึงซึ่งพระนิพพาน



ขอขอบคุณที่มาคะ http://www.amulet.in.th/forums/view_topic.php?t=173&sid=cdc6b83db689b11dc58bc1535da1db57