สุตนชาดกว่าด้วยเสียเพื่อได้

กระทู้: สุตนชาดกว่าด้วยเสียเพื่อได้

ป้ายกำกับ: ไม่มี
  1. *8q* said:

    สุตนชาดกว่าด้วยเสียเพื่อได้

    สุตนชาดก

    ว่าด้วยเสียเพื่อได้


    พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภ ภิกษุผู้เลี้ยงมารดา จึงตรัสเรื่องนี้ ดังนี้
    เรื่องปัจจุบันมีปรากฏใน สุวรรณสามชาดก
    เรื่องปัจจุบันในสุวรรณสามชาดก
    พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงพระปรารภ พระภิกษุรูปหนึ่งผู้เลี้ยงมารดา ตรัสพระธรรมเทศนานี้ดังนี้
    ดังได้สดับมา ในกรุงสาวัตถี มีกุลบุตรผู้หนึ่งเป็นบุตรคนเดียวของสกุล เศรษฐีผู้หนึ่งซึ่งมีทรัพย์สมบัติสิบแปดโกฏิ กุลบุตรนั้นเป็นที่รักเป็นที่เจริญใจของบิดามารดา วันหนึ่ง เขาอยู่บนปราสาทเปิดสีหบัญชรแลดูในถนนใหญ่ เห็นมหาชนถือของหอมและดอกไม้เป็นต้น ไปสู่พระเชตวันมหาวิหาร เพื่อต้องการสดับพระธรรมเทศนา จึงคิดว่า แม้ตัวเราก็จักไปกับพวกนั้นบ้าง จึงให้คนถือของหอมและดอกไม้เป็นต้นไปสู่พระวิหาร ถวายผ้าเภสัชและน้ำดื่ม เป็นต้นแด่พระสงฆ์ และบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยของหอมและดอกไม้ เป็นต้น ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง ฟังพระธรรมเทศนาแล้วเห็น โทษในกามทั้งหลาย กำหนดอานิสงส์แห่งบรรพชา ครั้นบริษัทลุกไปแล้ว จึง ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าทูลขอบรรพชา
    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสกะกุลบุตรนั้นอย่างนี้ว่า พระตถาคตทั้งหลายไม่บรรพชาให้กับบุตรที่บิดามารดายังมิได้อนุญาต กุลบุตรได้ฟังรับสั่งดังนั้น จึงถวายบังคมพระผู้มีพระ ภาคเจ้า กลับไปเคหสถาน ไหว้บิดามารดาด้วยความเคารพเป็นอันดีแล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ข้าแต่คุณพ่อคุณแม่ ข้าพเจ้าจักบวชในสำนักพระตถาคต
    ลำดับนั้น บิดามารดาของกุลบุตรนั้นได้ฟังคำของเขาแล้ว ก็เป็นราวกะมีหัวใจแตกเป็นเจ็ดเสี่ยง เพราะมีบุตรคนเดียว หวั่นไหวอยู่ด้วยความสิเนหาในบุตร ได้กล่าวอย่างนี้ว่า ดูก่อนพ่อผู้เป็นบุตรที่รัก ผู้เป็นหน่อแห่งสกุล ผู้เป็นดั่งดวงตา ผู้เช่นกับชีวิตของเราทั้งสอง เราทั้งสองเว้นจากเจ้าเสีย จะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร ชีวิตของเราทั้งสองเนื่องในเจ้า เราทั้งสองก็แก่เฒ่าแล้ว จักตายในวันนี้พรุ่งนี้ หรือมะรืนนี้ เจ้ายังจะละเราทั้งสองไปเสียอีก ธรรมดาว่าบรรพชาอันบุคคลทำได้ยากยิ่ง เมื่อต้องการเย็น ย่อมได้ร้อน เมื่อต้องการร้อน ย่อมได้เย็น เพราะเหตุนั้น เจ้าอย่าบวชเลย
    กุลบุตรได้สดับคำของบิดามารดาดังนั้น ก็มี ความทุกข์โทมนัส นั่งก้มศีรษะซบเซา ไม่บริโภคอาหารเจ็ดวัน ลำดับนั้น บิดามารดาของกุลบุตรนั้น คิดกันอย่างนี้ว่า ถ้าบุตรของเราไม่ได้รับอนุญาตให้บวชก็จักตาย เราจักไม่ได้เห็นเขาอีกเลย บุตรเราเป็นอยู่ด้วยเพศบรรพชิต เราจักได้เห็นอีกต่อไป ครั้นคิดเห็นกันอย่างนี้แล้วจึงอนุญาตว่า ดูก่อนพ่อ ผู้เป็นลูกรัก เราอนุญาตให้เจ้าบวช เจ้าจงบวชเถิด
    กุลบุตรได้ฟังดังนั้นก็มีใจยินดี น้อมสรีระทั้งสิ้นลงกราบแทบเท้าบิดามารดา ลาออกจากกรุงสาวัตถี ไปสู่พระเชตวันมหาวิหาร ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าทูลขอบรรพชา พระศาสดาตรัสสั่งภิกษุรูปหนึ่งให้บวชกุลบุตรนั้นเป็นสามเณร
    จำเดิมแต่สามเณรนั้นบวชแล้ว ลาภสักการะเกิดขึ้นเป็นอันมาก สามเณรนั้นยังอาจารย์ และอุปัชฌาย์ให้ยินดีอุปสมบทเป็นภิกษุแล้ว เล่าเรียนธรรมอยู่ห้าพรรษา ดำริว่า เราอยู่ในที่นี้เกลื่อนกล่นไปด้วยหมู่ญาติเป็นต้น หาสมควรแก่เราไม่ เป็นผู้ใคร่จะบำเพ็ญวิปัสสนาธุระ จึงเรียนกรรมฐานในสำนักอุปัชฌาย์ ออกจากวิหารเชตวันไปสู่ปัจจันตคามแห่งหนึ่ง อยู่ในป่าอาศัยปัจจันตคามนั้น
    ภิกษุ นั้นเจริญวิปัสสนาในที่นั้น แม้เพียรพยายามอยู่ถึงสิบสองปี ก็ไม่สามารถยังธรรมวิเศษให้เกิด ฝ่ายบิดามารดาของภิกษุนั้น ครั้นเมื่อกาลล่วงไปได้ขัดสนลง คิดเห็นว่า ก็เหล่าชนที่ประกอบการนาหรือพาณิชย์ บุตรหรือพี่น้องที่จะเตือนนึกถึง พาพวกเราไป ไม่มีในสกุลนี้ พวกเขาถือเอาทรัพย์ตามกำลังของตน ๆ หนีไปตามชอบใจ แม้ทาสกรรมกรในเรือนเป็นต้น ก็ถือเอาเงินทองเป็นต้น หนีไป ครั้นต่อมา ชนทั้งสองจึงตกทุกข์ได้ยากเหลือเกิน ต้องขายเรือน ไม่มีเรือนอยู่ ถึงความเป็นผู้น่าสงสารอย่างยิ่ง นุ่งห่ม ผ้าท่อนเก่า ถือกระเบื้องเที่ยวขอทานที่นี่ที่นั่น
    ในกาลนั้น ภิกษุรูปหนึ่งออกจากพระเชตวันมหาวิหารไปถึงที่อยู่ของภิกษุบุตรเศรษฐีอนาถานั้น ภิกษุเศรษฐีบุตรนั้นทำอาคันตุกวัตรแก่ภิกษุนั้นแล้ว นั่งเป็นสุขแล้วจึงถามว่า ท่านมาแต่ไหน ภิกษุอาคันตุกะแจ้งว่ามาแต่พระเชตวัน จึงถามถึงความผาสุกแห่งพระศาสดาและของพระมหาสาวกเป็นต้น แล้วถามถึงข่าวคราวแห่งบิดามารดาว่า ท่านขอรับ สกุลเศรษฐีชื่อโน้นในกรุงสาวัตถีสบายดีหรือ
    ภิกษุอาคันตุกะ ตอบว่า อาวุโส ท่านอย่าถามถึงข่าวคราวแห่งสกุลนั้นเลย
    ถามว่า เป็นอย่างไรหรือท่าน
    ตอบว่า ได้ยินว่า สกุลนั้นมีบุตรคนเดียว เขาบวชในพระศาสนา นับแต่เขาบวชแล้ว สกุลนั้นก็เสื่อมสิ้นไป บัดนี้เศรษฐีทั้งสองเป็นกำพร้าน่าสงสารอย่างยิ่ง ถือกระเบื้องเที่ยวขอทาน ภิกษุเศรษฐีบุตรได้ฟังคำของภิกษุอาคันตุกะแล้วก็ไม่อาจจะทรงตัวอยู่ได้ มีน้ำตานองหน้าเริ่มร้องไห้
    พระเถระเห็นดังนั้นจึงกล่าวว่า เธอร้องไห้ทำไม
    ภิกษุเศรษฐีบุตร ตอบว่า ท่านขอรับ ชนสองคนนั้นเป็นบิดามารดาของกระผม กระผมเป็นบุตรของท่านทั้งสองนั้น
    พระเถระจึงกล่าวว่า บิดามารดาของเธอถึงความพินาศเพราะอาศัยเธอ เธอจงไปปฏิบัติบิดามารดานั้น
    ภิกษุเศรษฐีบุตรคิดว่า เราแม้เพียรพยายามอยู่ถึงสิบสองปี ก็ไม่สามารถที่จะยังมรรคหรือผลให้บังเกิด เราจักเป็นคนอาภัพ ประโยชน์อะไรด้วยบรรพชาเล่า เราจักเป็นคฤหัสถ์เลี้ยงบิดามารดา ให้ทาน จักเป็นผู้มีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า
    คิดฉะนี้แล้ว มอบสถานที่อยู่ในป่าแก่พระเถระนั้น นมัสการพระเถระแล้ว รุ่งขึ้นจึงออกจากป่าไปโดยลำดับ ลุถึงวิหารหลังพระเชตวัน ไม่ไกลกรุงสาวัตถี ณ ที่ ตรงนั้นเป็นทางสองแพร่ง ทางหนึ่งไปพระเชตวัน ทางหนึ่งไปในกรุงสาวัตถี ภิกษุนั้นหยุดอยู่ตรงนั้น คิดว่า เราจักไปหาบิดามารดาก่อน หรือจักไปเฝ้า พระทศพลก่อน แล้วคิดต่อไปว่า เราไม่ได้พบบิดามารดานานแล้วก็จริง แต่ นับแต่นี้ เราจักได้เฝ้าพระพุทธเจ้าได้ยาก วันนี้เราจักเฝ้าพระสัมมาสัม พุทธเจ้าแล้วฟังธรรม รุ่งขึ้นจึงไปหาบิดามารดาแต่เช้าเทียว คิดดังนี้แล้วจึงละจากมรรคาไปกรุงสาวัตถีหันไปสู่มรรคาที่ไปพระเชตวัน แล้วถึงพระเชตวันในเวลาเย็น
    ก็วันนั้น พระศาสดาทรงตรวจดูสัตวโลกในเวลาใกล้รุ่ง ทรงเห็นอุปนิสัยแห่งภิกษุผู้เป็นบุตรแห่งสกุลรูปนี้ ดังนั้น ในเวลาที่ภิกษุนั้นมาถึง แล้วยืนอยู่ในท้ายกลุ่มพุทธบริษัทในพระวิหาร พระองค์จึงทรงพรรณนาคุณแห่งบิดามารดาด้วยมาตุโปสกสูตร ภิกษุนั้นได้สดับธรรมกถาอันไพเราะ จึงรำพึงว่า เราคิดไว้ว่าจักเป็นคฤหัสถ์ อาจบำรุงปฏิบัติบิดามารดา แต่พระศาสดาตรัสว่า แม้เป็นบรรพชิตก็ทำอุปการะ แก่บิดามารดาได้ ถ้าเราไม่ได้มาเฝ้าพระศาสดาก่อนแล้วไป พึงเสื่อมจากบรรพชาเห็นปานนี้ ก็บัดนี้ เราไม่ต้องสึกเป็นคฤหัสถ์ เป็นบรรพชิตอยู่นี่แหละ จักบำรุงบิดามารดา
    ภิกษุนั้นถวายบังคมพระศาสดาแล้วออกจากพระเชตวันไป สู่โรงสลาก รับภัตตาหารและยาคูที่ได้ด้วยสลาก เป็นภิกษุอยู่ป่าสิบสองปี ได้ เป็นเหมือนถึงความเป็นผู้พ่ายแพ้แล้ว ภิกษุนั้นเข้าไปในกรุงสาวัตถีแต่เช้าทีเดียว คิดว่าเราจักรับข้าวยาคูก่อนหรือไปหาบิดามารดาก่อน แล้วคิดว่า การมีมือเปล่าไปสู่สำนักคนกำพร้าไม่สมควร จึงถือเอายาคูไปสู่ประตูเรือนเก่าของบิดามารดาเหล่านั้น ได้เห็นบิดามารดาเที่ยวขอยาคูแล้วเข้าอาศัยริมชายคาของคนอื่นนั่งอยู่ ภิกษุนั้นเห็นสภาพความเป็นคนกำพร้าเข็ญใจของมารดาบิดา ก็มีความโศกเกิดขึ้น มีน้ำตานองหน้ายืนอยู่ในที่ใกล้ ๆ บิดามารดาทั้งสองนั้น
    บิดามารดาแม้เห็นท่านแล้ว ก็จำไม่ได้ มารดาของภิกษุนั้นสำคัญว่า ภิกษุนั้นจักยืนเพื่อภิกขาจาร จึง กล่าวว่า ของเคี้ยวของฉันอันควรถวายพระผู้เป็นเจ้าไม่มี นิมนต์โปรดสัตว์ข้างหน้าเถิด ภิกษุนั้นได้ฟังคำแห่งมารดา ก็เกิดความโศกเป็นกำลัง มีน้ำตานองหน้ายืนอยู่ตรงนั้นเอง เพราะได้รับความเศร้าใจ แม้มารดากล่าวเช่นนั้น สองครั้งสามครั้ง ก็ยังยืนอยู่นั่นเอง
    ลำดับนั้น บิดาของภิกษุนั้นพูดกะมารดาว่า จงไปดู นั่นบุตรของเราทั้งสองหรือหนอ นางลุกขึ้นแล้วไปใกล้ภิกษุนั้นแลดู ก็จำได้ จึงหมอบปริเทวนาการแทบเท้าแห่งภิกษุผู้เป็นบุตร ฝ่ายบิดาไปบ้าง ก็ร้องไห้ตรงที่นั้นเหมือนกัน น่าสงสารเหลือเกิน
    ฝ่ายภิกษุนั้นเห็นบิดามารดา ก็ไม่อาจจะทรงกายอยู่ได้จึงร้องไห้ ภิกษุนั้นกลั้นความโศกแล้วกล่าวว่า ท่านทั้งสองอย่าคิดเลย อาตมาจักเลี้ยงดูท่านให้ผาสุก ยังบิดามารดาให้อุ่นใจแล้ว ให้ดื่มยาคู ให้นั่งพักในที่ควรส่วนหนึ่งแล้ว นำภิกษาหารมาอีกให้บิดามารดาบริโภค แล้วแสวงหาภิกษาเพื่อตน เมื่อได้แล้วจึงไปสู่สำนักบิดามารดา ถามเรื่องภัตตาหารอีก ก็ได้รับตอบว่า ไม่บริโภคแล้ว จึงบริโภคเอง แล้วให้บิดามารดาอยู่ในที่ควรแห่งหนึ่ง
    ภิกษุนั้นได้ปฏิบัติบิดามารดาทั้งสองโดยทำนองนี้ตั้งแต่นั้นมา แม้ภัตที่เกิดในปักษ์เป็นต้นที่ตนได้มา ก็ให้แก่บิดามารดา ส่วนตนเองเที่ยวภิกษาจาร ได้มาก็บริโภค เมื่อไม่ได้ก็ไม่บริโภค ได้ผ้าจำพรรษาก็ตาม ผ้าอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นอดิเรกลาภก็ตาม ก็ให้แก่บิดามารดา ซักย้อมผ้าเก่า ๆ ที่บิดามารดา นุ่งห่มแล้ว เย็บปะนุ่งห่มเอง
    วันที่ภิกษุนั้นได้อาหารนั้น มีน้อยวัน ส่วนวันที่ไม่ได้อาหาร มีมากกว่า ผ้านุ่งผ้าห่มของภิกษุนั้นเศร้าหมองเต็มที เมื่อภิกษุนั้นปฏิบัติบิดามารดาต่อมา ก็เป็นผู้ซูบผอมเศร้าหมองไม่ผ่องใส กายเหลืองขึ้น ๆ มีตัวดาษ ไปด้วยเส้นเอ็น
    ครั้งนั้นเหล่าภิกษุที่เป็นเพื่อนคบกันมาเห็นภิกษุนั้น จึงถามว่า อาวุโส แต่ก่อนสรีรวรรณะของเธองามสดใส แต่บัดนี้เธอซูบผอม เศร้าหมองไม่ผ่องใส กายเหลืองขึ้น ๆ มีตัวดาษไปด้วยเส้นเอ็น พยาธิเกิดขึ้น แก่เธอหรือ
    ภิกษุนั้นตอบว่า อาวุโส ข้าพเจ้าไม่มีพยาธิ แต่มีความกังวล แล้วบอกประพฤติเหตุนั้น ภิกษุเหล่านั้นจึงกล่าวว่า อาวุโส พระศาสดาไม่ประทานอนุญาตเพื่อยังของที่เขาให้ด้วยศรัทธาให้ตกไป ก็ท่านถือเอาของที่เขาให้ด้วยศรัทธามาให้แก่เหล่าคฤหัสถ์ ทำกิจไม่สมควร
    ภิกษุนั้นได้ฟังถ้อยคำของภิกษุเหล่านั้นก็ละอาย ทอดทิ้งมาตาปิตุปัฏฐานกิจเสีย ภิกษุเหล่านั้นยังไม่ พอใจ แม้ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้ จึงพากันไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ากราบทูล ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุชื่อโน้นยังของที่เขาให้ด้วยศรัทธาให้ตกไป เลี้ยงดูคฤหัสถ์
    พระศาสดาตรัสเรียกภิกษุนั้นมาตรัสถามว่า แน่ะภิกษุ ได้ยินว่า เธอถือเอาศรัทธาไทยไปเลี้ยงคฤหัสถ์ จริงหรือ เมื่อภิกษุนั้นกราบทูลรับว่า จริง พระเจ้าข้า
    เมื่อทรงใคร่จะสรรเสริญการกระทำของภิกษุนั้น และทรงใคร่จะประกาศบุพจริยาของพระองค์ จึงตรัสถามว่า แน่ะภิกษุ เมื่อเธอเลี้ยงดูเหล่า คฤหัสถ์ เลี้ยงดูคฤหัสถ์เหล่าไหน
    ภิกษุนั้นกราบทูลว่า บิดามารดาของข้าพระองค์ พระเจ้าข้า เพื่อจะยังความอุตสาหะให้เกิดแก่ภิกษุนั้น พระศาสดา ได้ทรงประทานสาธุการสามครั้ง ว่า สาธุ สาธุ สาธุ แล้วตรัสว่า เธอดำรงอยู่ในทางที่เราดำเนินแล้ว แม้เราเมื่อประพฤติบุพจริยาก็ได้บำรุงเลี้ยงบิดา มารดา ภิกษุนั้นกลับได้ความเบิกบานใจ ลำดับนั้น เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบ ทูลวิงวอนให้ทรงประกาศบุพจริยา พระศาสดาจึงทรงนำอดีตนิทานมาแสดง
    พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานั้นแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ชื่อว่าการเลี้ยงดูบิดามารดาเป็นวงศ์ของบัณฑิตทั้งหลาย ตรัสฉะนี้แล้ว ทรงประกาศอริยสัจสี่ ในเวลาเทศนาอริยสัจสี่จบลง ภิกษุนั้นบรรลุโสดาปัตติผล

    ก่อนเกิดใครเป็นเรา<br />เมื่อเกิดแล้วเราเป็นใคร<br /><br />สิ่งที่ทำอยู่คือกรรมใหม่<br />ผลที่ได้รับคือกรรมเก่า<br /><br />ฟังในสิ่งที่ไม่ได้ยิน<br />มองในสิ่งที่ไม่เห็น<br />ทำในสื่งที่ไม่มี
     
  2. *8q* said:

    Re: สุตนชาดกว่าด้วยเสียเพื่อได้

    ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลคหบดีผู้ตกยาก ญาติทั้งหลายได้ขนานนามให้ท่านว่า สุตนะ ท่านเติบโตแล้วได้รับจ้างหารายได้มาเลี้ยงดูบิดามารดา เมื่อบิดาถึงแก่กรรมแล้ว ก็เลี้ยงมารดา แต่ในเวลานั้น พระเจ้าพาราณสีได้ทรงเป็นผู้มีพระทัยฝักใฝ่ในการล่าเนื้อ (กวางชนิดหนึ่ง) อยู่มาวันหนึ่ง พระองค์เสด็จไปป่าไกลประมาณ ๑ โยชน์ พร้อมด้วยบริวารจำนวนมาก ตรัสสั่งให้บอกแก่ทุกคนว่า ถ้าเนื้อหนีออกไปทางที่ผู้ใดยืนอยู่ ผู้นั้นจะถูกปรับสินไหม
    อำมาตย์ทั้งหลายได้พากันกั้นซุ้มถวายพระราชา ในที่ที่เป็นทางเดิน บรรดาเนื้อทั้งหลายที่ถูกพวกมนุษย์ล้อมที่อยู่แล้วให้ออกไปด้วยก้อนดินและท่อนไม้ ละมั่งตัวหนึ่งวิ่งไปที่ที่พระราชาประทับยืนอยู่ พระราชาทรงยิงลูกศรออกไป แต่เนื้อได้ศึกษาเล่ห์กลมารยาการลวงมาแล้ว จึงทำเป็นเหมือนต้องลูกศรล้มกลิ้งลง พระราชาทรงเข้าพระทัยว่าเนื้อถูกยิงแล้ว จึงทรงวิ่งไปเพื่อจับเนื้อนั้น แต่เนื้อลุกขึ้นวิ่งหนีไปโดยเร็วเหมือนลม พวกอำมาตย์เป็นต้น ได้พากันเยาะเย้ยพระราชา พระองค์ทรงม้าติดตามเนื้อไปทันในเวลามันล้า ทรงใช้พระขรรค์ฟันเนื้อนั้นออกเป็น ๒ ท่อน คล้องไว้ที่ท่อนไม้ท่อนหนึ่ง เป็นเหมือนคานหาม แล้วจึงเสด็จไปแวะเข้าไปที่ต้นไทรที่อยู่ใกล้ทาง ด้วยพระดำริว่า เราจักพักผ่อนหน่อยหนึ่ง แล้วทรงม่อยหลับไป

    ที่ต้นไทรนั้น มียักษ์ชื่อมรรคเทพอาศัยอยู่ ยักษ์นั้นได้สิทธิจากสำนักท้าวเวสสุวัณที่จะกินสัตว์ตัวที่เข้าไปใต้ต้นไม้นั้น มันจึงจับพระหัตถ์พระราชาผู้ทรงลุกขึ้น แล้วกำลังจะเสด็จไปไว้ โดยขู่ว่า หยุด หยุด ท่านเป็นภักษาหารของ เราแล้ว
    พระราชาตรัสถามว่า ท่านเป็นใคร ?
    เราเป็นยักษ์ผู้เกิดขึ้นที่นี้ ได้สิทธิกินคนและสัตว์ผู้เข้ามาในที่นี้ ยักษ์ตอบ
    พระราชาทรงตั้งพระสติ แล้วตรัสถามว่า เจ้าจักกินเฉพาะวันนี้ หรือๆ จักกินเป็นประจำ
    เมื่อได้ก็จักกินเป็นประจำ มันตอบ
    พระราชาตรัสว่า วันนี้เจ้าจงกินเนื้อนี้ แล้วปล่อยเราไป ตั้งแต่ พรุ่งนี้ไป เราจะส่งคนมาให้ท่าน ๑ คน พร้อมกับสำรับอาหาร ๑ สำรับ
    ถ้าอย่างนั้นท่านอย่าลืมในวันที่ท่านไม่ได้ส่งคนมา ข้าพเจ้าจะกินตัวท่านเอง ยักษ์พูดย้ำ
    เราเป็นราชาเมืองพาราณสี ขึ้นชื่อว่า สิ่งไม่มี ไม่มีสำหรับเรา พระราชาตรัสรับรอง
    ยักษ์รับสัญญา แล้วได้ปล่อยพระองค์ไป พระองค์เสด็จเข้าพระนคร แล้วตรัสบอกข้อความนั้นแก่อำมาตย์ผู้แจ้งความ คือโฆษกคนหนึ่ง แล้วตรัสถามว่า บัดนี้ เราควรจะทำอย่างไร ?
    อำมาตย์ ข้าแต่สมมติเทพ พระองค์ทรงทำการกำหนดวันหรือไม่ ?
    พระราชา ไม่ได้ทำ
    อำมาตย์ พระองค์ทรงทำสิ่งที่ไม่สมควร แม้เมื่อเป็นเช่นนั้น พระองค์อย่าได้ทรงคิด คนในเรือนจำมีอยู่มาก
    พระราชา ถ้าอย่างนั้น เจ้าจงทำงานนั่น เจ้าจงให้ชีวิตฉันไว้
    อำมาตย์รับใส่เกล้าใส่กระหม่อมว่า สาธุ แล้วเบิกคนจากเรือนจำ ให้แบกกับข้าวไปส่งยักษ์ทุกวัน โดยไม่ให้รู้เรื่องอะไรเลย ยักษ์กินภัตตาหาร แล้วก็กินคนด้วย ต่อมาเรือนจำทั้งหลายเกิดไม่มีคน คือ นักโทษ
    ฝ่ายพระราชา เมื่อไม่ได้คนนำสำรับกับข้าวไป ก็ทรงหวาดหวั่น เพราะทรงกลัวความตาย ลำดับนั้น อำมาตย์เมื่อจะทรงปลอบพระทัยพระองค์ จึงทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ คนมีความหวังในทรัพย์มีมากกว่า คนมีความหวังชีวิต ข้าพระองค์จักให้วางห่อเงินพันกหาปณะไว้บนคอช้าง แล้วให้เที่ยวตีกลองประกาศว่า ใครจักรับเอาทรัพย์นี้ แล้วถือเอาภัตตาหารไปให้ยักษ์ แล้วอำมาตย์นั้นก็ให้ทำอย่างนั้น
    ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์ได้ยินคำนั้นแล้วก็คิดว่า ทุกวันนี้เราเก็บรวบรวมเงินจากค่าจ้างได้มาสก ๑ บ้าง ครึ่งมาสกบ้าง หาเลี้ยงมารดาโดยยากลำบาก เราจักรับเอาทรัพย์นี้ให้มารดา แล้วจักไปสำนักของยักษ์ ถ้าหากเราสามารถทรมานยักษ์ได้ไซร้ ข้อนี้ก็จะเป็นกุศล แต่ถ้าจักไม่อาจไซร้ มารดาของเราก็จักมีชีวิตอยู่อย่างสบาย เมื่อทำความตกลงใจแล้วจึงบอกข้อความนั้นให้มารดาทราบ แต่ก็ถูกมารดาห้ามถึง ๒ ครั้งว่า อย่าเลยลูก แม่ไม่ต้องการทรัพย์ ครั้งที่ ๓ พระโพธิสัตว์ไม่บอกกล่าวมารดาเลย แต่ไปบอกอำมาตย์ว่า นำทรัพย์ ๑ พันมาเถิด พ่อมหาจำเริญ ข้าพเจ้าจักนำภัตตาหารไปให้ยักษ์ เมื่อได้ทรัพย์ ๑ พันมาแล้วก็มอบให้แก่มารดา แล้วพูดว่า แม่ แม่อย่าคิดอะไร ผมจะทรมานยักษ์ ทำความสวัสดีแก่มหาชน แล้วจักกลับมา แล้วจะทำให้ดวงหน้าของคุณแม่ที่เปียกน้ำตายิ้มแย้ม ในวันนี้ทีเดียว พระโพธิสัตว์ไหว้แม่ให้เบาใจ แล้วไปราชสำนักกับราชบุรุษ ถวายบังคมแล้ว ได้ยืนอยู่ ต่อแต่นั้น เมื่อพระราชาตรัสถามว่า ดูก่อนพ่อ เจ้าหรือ จักนำภัตตาหารไป ?
    พระโพธิสัตว์จึงทูลว่า ใช่แล้ว พระพุทธเจ้าข้า
    พระราชา เธออยากจะได้อะไร ?
    พระโพธิสัตว์ ข้าแต่สมมติเทพ ฉลองพระบาททองคำของใต้ฝ่าละออง ธุลีพระบาท
    พระราชา เพราะเหตุไร ?
    พระโพธิสัตว์ ข้าแต่สมมติเทพ ยักษ์นั้นจะได้กินเฉพาะคนที่ยืนอยู่บนพื้นที่ภายใต้ควงไม้ของตน ข้าพระพุทธเจ้าจะไม่ยืนบนพื้นที่ที่เป็นของยักษ์นั้น แต่จักยืนอยู่บนฉลองพระบาท
    พระราชา อยากจะได้อะไรอย่างอื่นอีก ?
    พระโพธิสัตว์ ฉัตรพระพุทธเจ้าข้า
    พระราชา ฉัตรนี้ เพื่อประโยชน์อะไร ?
    พระโพธิสัตว์ ข้าแต่สมมติเทพ ยักษ์นั้น จะได้กินเฉพาะคนที่ยืนอยู่ภายใต้ร่มไม้ของตน ข้าพระพุทธเจ้าจะไม่ยืนอยู่ภายใต้ร่มไม้ แต่จักยืนอยู่ภายใต้ร่มฉัตร
    พระราชา อยากจะได้อะไรอย่างอื่นอีก ?
    พระโพธิสัตว์ ข้าแต่สมมติเทพ พระขรรค์ของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท
    พระราชา จักมีประโยชน์อะไรด้วยพระขรรค์นี้ ?
    พระโพธิสัตว์ ข้าแต่สมมติเทพ ยักษ์ทั้งหลายกลัวพระขรรค์ แม้มนุษย์ทั้งหลาย ก็กลัวพระขรรค์เหมือนกัน
    พระราชา อยากจะได้อะไรอย่างอื่นอีก ?
    พระโพธิสัตว์ ข้าแต่สมมติเทพ เครื่องต้นเต็มพระสุวรรณภาชน์ของพระองค์
    พระราชา เพราะเหตุไร พ่อคุณ
    พระโพธิสัตว์ ข้าแต่สมมติเทพ เพราะว่าธรรมดาการนำโภชนาหาร ที่เลวๆ บรรจุถาดดิน คือกระเบื้องไป ไม่สมควรแก่ชายชาติบัณฑิต เช่นกับข้าพระพุทธเจ้า
    พระราชาตรัสสั่งว่า ดีแล้ว พ่อคุณ ทรงประทานทุกอย่างแล้ว ทรงมอบให้คนรับใช้พระโพธิสัตว์ไป พระโพธิสัตว์ทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์อย่าทรงกลัว วันนี้ข้าพระพุทธเจ้าจักทรมานยักษ์ ทำความสวัสดีแต่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท แล้วจึงจะมาถวายบังคมพระราชา แล้วให้คนถือเครื่องอุปกรณ์ไป ณ ที่นั้น ให้คนทั้งหลาย ยืนอยู่ไม่ไกลต้นไม้ สวมฉลองพระบาททองคำขัดพระขรรค์ กั้นเศวตรฉัตรบนศีรษะ ถือภัตตาหารบรรจุถาดทองคำไปยังสำนักของยักษ์ ยักษ์มองดูเห็นพระโพธิสัตว์นั้นแล้วจึงคิดว่า ชายคนนี้ไม่มาเหมือนกับคนที่มาในวันอื่นๆ จักมีเหตุอะไรหนอ ? พระโพธิสัตว์ไปใกล้ต้นไม้ เอาปลายดาบผลักถาดภัตตาหารเข้าไปภายในร่มไม้ ตนเอง ยืนอยู่สุดร่มไม้นั่นเอง กล่าวคาถาที่ ๑ ว่า:
    [๙๘๓] ดูกร มฆเทพผู้สิงสถิตอยู่ ณ ต้นไทรนี้ พระราชารับสั่งให้ส่งอาหารเจือ
    ด้วยเนื้ออันสะอาดมาให้ท่าน เชิญท่านออกมาบริโภคเสียเถิด
    ยักษ์ได้ฟังคำนั้นแล้ว คิดว่า เราจักลวงชายคนนี้ให้เข้ามาภายในร่มไม้ แล้วจึงจะกิน ดังนี้แล้ว ได้กล่าวคาถาที่ ๒ ว่า:
    [๙๘๔] ดูกรมาณพ เชิญท่านนำอาหารพร้อมด้วยกับมาให้เรา ดูกรมาณพ ท่าน
    ก็มีอาหาร เรามาบริโภคกันเถิด
    ต่อจากนั้น พระโพธิสัตว์ได้กล่าวคาถา ๒ คาถาว่า:
    [๙๘๕] ดูกรยักษ์ ท่านจะละประโยชน์อันใหญ่เสีย เพราะประโยชน์เล็กน้อย
    ชนทั้งหลายผู้หวาดเกรงความตาย เขาจักไม่นำอาหารมาให้
    [๙๘๖] ดูกรยักษ์ เมื่อท่านไม่กินเรา คนจะนำอาหารที่สะอาดประณีต ประกอบ
    ด้วยรสดีมาให้ท่านบริโภคเป็นนิตย์ แต่เมื่อท่านกินเราเสียแล้ว คนที่จะ
    นำอาหารมาให้ท่านก็จะหาได้ยาก *
    *อธิบายว่า ถ้าหากท่านจะกินเราซึ่งเป็นผู้ถือภิกษาหารนี้มาให้ไซร้ แล้วภายหลังคนอื่นผู้จะนำภิกษาหารมาให้ท่านจักหาได้ยากมาก เพราะคนอื่นที่เป็นคนฉลาดเช่นกับเรา ไม่มีในเมืองพาราณสี แต่เมื่อเราถูกกินแล้ว คนทั้งหลายก็จะพูดว่า ยักษ์กินคนชื่อสุตนะ มันไม่เกรงใจคนอื่นเลย ท่านก็จักไม่ได้คนนำภัตตาหารมาให้ เมื่อเป็นเช่นนั้น เริ่มต้นแต่นี้ไป โภชนาหารจักเป็นสิ่งที่หาได้ยากสำหรับท่าน ฝ่ายท่านก็จักจับพระราชาของเราไม่ได้ เพราะเหตุไร ? เพราะยืนอยู่นอกต้นไม้ แต่ถ้าท่านรับประทานภัตตาหารนี้ แล้วจักส่งเราคืนไปไซร้ เราก็จักทูลพระราชาให้ทรงส่งภัตตาหารประจำแก่ท่าน ส่วนวันนี้ ท่านก็กินเราไม่ได้ เพราะเราไม่ได้ยืนอยู่ในสำนักของท่าน ยืนบนฉลองพระบาท ทั้งไม่ยืนใต้ร่มไม้ของท่าน เรายืนใต้ร่มฉัตรของเราเท่านั้น แต่ถ้าท่านจักต่อสู้กับเรา เราก็จักใช้พระขรรค์นี้ฟันท่านออกเป็น ๒ ท่อน เพราะวันนี้เราเตรียมตัวมาแล้ว
    ยักษ์สังเกตเห็นว่า มาณพพูดมีเหตุผลจึงมีจิตเลื่อมใส ได้กล่าวคาถา ๒ คาถา ว่า:
    [๙๘๗] ดูกรสุตนมาณพ ประโยชน์ที่ท่านกล่าวถึง ย่อมเจริญแก่เราทุกประการ
    เราอนุญาตให้ท่านกลับไปหามารดาโดยสวัสดี
    [๙๘๘] ดูกรมาณพ ท่านจงถือพระขรรค์ ฉัตรและถาดกลับไปเถิด มารดาของ
    ท่านจะได้เห็น และท่านก็จะได้เห็นมารดาโดยสวัสดี
    พระโพธิสัตว์ได้ยินคำของยักษ์นั้นแล้วปลื้มใจว่า งานของเราสำเร็จแล้ว เราอบรมยักษ์เป็นผลแล้ว เราได้ทรัพย์จำนวนมาก ทั้งได้ปฏิบัติตามพระราชดำรัสแล้ว เมื่อจะทำการอนุโมทนา จึงได้กล่าวคาถาสุดท้าย ว่า:
    [๙๘๙] ดูกรยักษ์ เมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านจงมีความสุขพร้อมด้วยญาติทั้งปวงเถิด
    ทรัพย์เราก็ได้แล้ว และพระดำรัสสั่งของพระราชาเราก็ได้สนองแล้ว
    ครั้นพระโพธิสัตว์กล่าวคาถาแล้ว ก็เรียกยักษ์มา แล้วบอกอานิสงส์ของศีลและโทษของทุศีลว่า ดูก่อนสหาย เมื่อก่อนท่านทำอกุศลกรรมไว้ จึงเกิดเป็นคนกักขฬะหยาบคาย มีเนื้อเลือดผู้อื่นเป็นภักษาหาร ต่อแต่นี้ไป ท่านอย่าได้ทำอกุศลกรรม มีปาณาติบาตเป็นต้น แล้วให้ยักษ์ตั้งอยู่ในศีล ๕ กล่าวว่า ท่านจะมีประโยชน์อะไรด้วยการอยู่ในป่า มาเถิด เราจะให้ท่านนั่งที่ประตูพระนคร แล้วจะทำให้ท่านมีลาภ มีภัตตาหารที่เลิศเป็นต้น
    จากนั้นพระโพธิสัตว์จึงออกไปกับยักษ์ ให้ยักษ์นั่นแหละถือพระขรรค์ เป็นต้น ได้กลับไปยังเมืองพาราณสี อำมาตย์ทั้งหลายพากันกราบทูลพระราชาว่า สุตนมาณพพายักษ์มา พระราชาพร้อมหมู่อำมาตย์ทำการต้อนรับพระโพธิสัตว์ จากนั้นก็ให้ยักษ์นั่งที่ประตูนคร ทำให้เขามีลาภ มีภัตตาหารที่เลิศเป็นต้น แล้วเสด็จเข้าพระนคร ทรงให้ตีกลองเที่ยวประกาศให้ชาวพระนครประชุมกัน ตรัสบอกคุณงามความดีของพระโพธิสัตว์ แล้วโปรดเกล้าฯ พระราชทานตำแหน่งเสนาบดีแก่พระโพธิสัตว์ และพระองค์เองก็ทรงดำรงอยู่ในโอวาทของพระโพธิสัตว์ ทรงทำบุญทั้งหลาย มีทานเป็นต้น แล้วได้ทรงมีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า
    พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาทรงประกาศสัจธรรมทั้งหลาย ในที่สุดแห่งสัจธรรม พระภิกษุผู้เลี้ยงมารดาได้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล แล้วทรงประชุมชาดกว่า ยักษ์ในครั้งนั้น ได้แก่ พระองคุลิมาลในบัดนี้ พระราชา ได้แก่ พระอานนท์ ส่วนมาณพ ได้แก่ เราตถาคตฉะนี้แล
    จบ สุตนชาดก
    ก่อนเกิดใครเป็นเรา<br />เมื่อเกิดแล้วเราเป็นใคร<br /><br />สิ่งที่ทำอยู่คือกรรมใหม่<br />ผลที่ได้รับคือกรรมเก่า<br /><br />ฟังในสิ่งที่ไม่ได้ยิน<br />มองในสิ่งที่ไม่เห็น<br />ทำในสื่งที่ไม่มี