แสวงบุญประเทศ อินเดีย 2 - 11 มีนาคม 2553

กระทู้: แสวงบุญประเทศ อินเดีย 2 - 11 มีนาคม 2553

ป้ายกำกับ: ไม่มี
  1. รูปส่วนตัว tanwakom

    tanwakom said:

    แสวงบุญประเทศ อินเดีย 2 - 11 มีนาคม 2553

    รายการแสวงบุญในดินแดนพุทธภูมิ ระยะเวลา 9 คืน 10 วัน


    นำโดย พระอาจารย์เริ่มชัย ชินวํโส วัดพุทธธัมมธโร แคลิฟอร์เนีย อเมริกา


    รายการโดยย่อ
    กรุงเทพฯ – กัฏมัณฑุ -นาคารโกฏ -โปกขรา-ลุมพินี – กุสินารา
    เวสาลี-นาลันทา-ราชคฤห์-คยา–พาราณสี – กรุงเทพฯ


    กำหนดการเดินทาง 2 – 11 มีนาคม 2553

    1) วันอังคาร ที่ 2 มีนาคม 2553 (แรม 2 ค่ำ เดือน 4) (กรุงเทพฯ – กัฏมัณฑุ)
    08.00 น. พร้อมกันที่สนามบินสุวรรณภูมิ ชั้น 4 ประตู 4 และพร้อมเช็คอินที่ แถว H-J สายการบินไทยแอร์เวย์ เที่ยวบินที่ TG 319
    10.40 น. เครื่องออกจากสนามบินสุวรรณภูมิ
    12.45 น. เครื่องลงสนามบินกัฏมัณฑุ ประเทศเนปาล พร้อมเช็คเอาท์ และขึ้นรถบัสไปไหว้พระที่
    1) เจดีย์พุทธนาถ
    2) เจดีย์สวยัมภูนาถ ได้เวลาพอสมควรเดินทางต่อไปเมือง นาคารโกฏ เข้าสู่ที่พัก โดยพักที่โรงแรมบนยอดภูเขา ซึ่งอยู่ใกล้กับภูเขาที่มีหิมะปกคลุม และเราสามารถชมหิมะในยามเช้าต้อนรับอรุณ ชมทะเลหมอก ชมพระอาทิตย์ขึ้นเลาะเหลี่ยมภูอย่างสวยงามน่าดูชม คณะทานอาหารเย็นที่นี้ และพักที่นี่ 1 คืน


    2) วันพุธ ที่ 3 มีนาคม 2553 (แรม 3 ค่ำ เดือน 4)(กัฏมัณฑุ)
    05.30 น. ตื่นมารับลมหนาวบนยอดภู ทั้งชมภูเขาที่ปกคลุมด้วยหิมะ ส่งแสงสะท้อนสีทองอันสวยงามยามต้องแสงอุทัย ได้เวลาพอสมควรทานอาหารเช้า เก็บสัมภาระ และพร้อมขึ้นรถไปชมเมืองภักตะปูร์ และปาตันโดยเฉพาะเมืองปาตัน เป็นเมืองที่ชาวพุทธอยู่อาศัยมากที่สุด อาชีพทำพระพุทธรูปขายทั้งมีเจดีย์พุทธคยาจำลองด้วย ซึ่งชาวพุทธที่นี้ภูมิใจมากที่เขาสามารถสร้างเจดีย์นี้ได้สำเร็จ
    11.00 น. ทานอาหารเที่ยง และเดินทางไปชมที่อื่นๆอีก เช่น เทพกุมารี ศูนย์การค้าที่หนุมานโทก้า พร้อมทั้งชม พระราชวังที่หนุมานโทก้าด้วย ตามเวลาที่อำนวย การจะซื้อของขวัญของฝากก็สามารถหาซื้อได้แถวๆนี้ ได้เวลาพอสมควรเข้าที่พักที่โรงแรมในเมืองกัฏมัณฑุ


    3) วันพฤหัสบดี ที่ 4 มีนาคม 2553 (แรม 4 ค่ำ เดือน 4) (กัฏมัณฑุ – โปกขรา)
    06.00น. ทานอาหารเช้า และเดินทางต่อไปเมืองโปกขรา อาหารเที่ยงระหว่างทาง การเดินทางไปเมืองโปกขรานั้นใช้ เวลานานพอสมควร แต่สองฟากฝั่งของถนนมีทัศนียภาพที่สวยงามให้ชมตลอดสายทีเดียว กล่าวคือการเดินทางของเราจะเลียบสายน้ำและภูเขา จะหยุดพักให้ถ่ายรูปภูเขาที่เต็มไปด้วยหิมะขาวโพลนยาวทั้งเทือก (ในกรณีทัศนียภาพดี ฟ้าใส)
    16.00 น. คณะของเราถึงเมืองโปกขราแวะชมน้ำตกเดวิด ซึ่งเป็นน้ำตกที่อัศจรรย์ เห็นแต่ที่ๆน้ำตกลง น้ำไปไหนไม่มีใครรู้ ชมทะเลสาบในหุบเขา ซึ่งเรียกว่า โปกขรา หรือสระโปกขรณีนั่นเอง ได้เวลาพอสมควรเข้าพักที่โรงแรมใกล้ๆสระโปกขรณี ทานอาหารเย็นและพักผ่อนตามอัธยาศัย

    4) วันศุกร์ ที่ 5 มีนาคม 2553 (แรม 5 ค่ำ เดือน 4)(โปกขรา- ลุมพินีวัน)
    05.00น. ขึ้นรถมินิบัสเดินทางขึ้นไปยอดเขาสารังโกฏเพื่อชมภูเขาที่ปกคลุมด้วยหิมะ คือ ภูเขามัจฉาปุจฉเร(ภูเขาหางปลา) และภูเขาปุราณา เก็บภาพสวยๆของภูเขาที่เต็มไปด้วยหิมะ พร้อมทั้งชมหิมะสะท้อนแสงสีทองยามต้องแสงสุรีย์ในยามเช้าด้วย ได้เวลาพอสมควรกลับมาทานอาหารเช้า
    08.00 น. เดินทางต่อไปที่สวนลุมพินีวัน สถานที่ประสูติของพระพุทธองค์ ทานอาหารเที่ยงระหว่างทาง
    18.00 น. คณะถึงเมืองไพราวา เข้าที่พักที่วัดไทยลุมพินี และทานอาหารเย็น
    20.00 น. ขึ้นโรงอุโบสถ เพื่อร่วมถวายผ้าป่า ช่วยเหลือกิจสงฆ์ที่นี้ตามกำลังศรัทธา และพักผ่อนตามอัธยาศัย


    5) วันเสาร์ ที่ 6 มีนาคม 2553 (แรม 6 ค่ำ เดือน 4)(ลุมพินีวัน – กุสินารา)
    06.00 น. หลังอาหารเช้าแล้ว ไปไหว้สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า ได้แก่ 1) มายาเทวีวิหาร 2) เสาศิลาจารึกพระเจ้าอโศก 3) รอยพระบาทพระกุมาร 4) สระโบกขรณี ณ ที่นี่ คณะนำไหว้พระ ทำประทักษิณ สมาธิภาวนา และกล่าวคำบูชาตามสมควรแก่เวลา และขึ้นรถเข้าประเทศอินเดีย มาทานอาหารเที่ยงที่วัดไทย 960 หลังอาหารเที่ยงแล้วเดินทางต่อไป เมืองกุสินารา สถานที่ปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
    18.00 น. คณะถึงเมืองกุสินารา เข้านมัสการ มกุฏพันธนเจดีย์ สถานที่ถวายพระเพลิงพระศพขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เวลาพอสมควรเข้าพักที่วัดไทยกุสินารา และทานอาหารเย็นที่นี่ ณ ที่นี่มีสิ่งให้สักการะ ศึกษาเรียนรู้ ดูชมมากมาย เช่น พระเจดีย์ที่ในหลวงทรงให้สร้างขึ้น เป็นเจดีย์ที่สวยงามมากองค์หนึ่ง อุโบสถก็สวยงาม อาคารที่พักก็สุดสวย บริเวณวัดก็สุดงาม
    20.00 น. คณะของเราขึ้นพระอุโบสถ เพื่อร่วมปัจจัยถวายผ้าป่าช่วยเหลือกิจสงฆ์ที่นี่



    6) วันอาทิตย์ ที่ 7 มีนาคม 2553 (แรม 7 ค่ำ เดือน 4)(กุสินารา – เวสาลี)
    06.00 น หลังอาหารเช้าแล้วไปสักการะสถานที่พระพุทธองค์ปรินิพพาน ณ สาลวโนทยานแห่งมัลละซึ่งมีสิ่งต่างๆ ให้สักการะศึกษาเรียนรู้ดูชมดังนี้
    1) พระพุทธรูปปางปรินิพพาน หรือปางอนุฏฐานไสยาสน์
    2) ปรินิพพานเจดีย์ จุดที่พระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพาน
    3) ฐานเจดีย์ สถานที่ตั้งพระศพสมโภชหลังจากตกแต่งพระศพเรียบร้อยแล้ว
    09.30 น เดินทางต่อไปเมืองเวสาลี อาหารเที่ยงระหว่างทาง
    17.00 น คณะถึงเมืองเวสาลี เข้านมัสการองค์พระเจดีย์ที่พระเจ้าอโศกทรงให้สร้างขึ้นเพื่อรวบรวมพระสารีริกธาตุไว้ที่นี่ที่เดียวกัน ณ กูฏาคารศาลาป่ามหาวัน ณ ที่นี่เสาศิลาพระเจ้าอโศกยังยืนตระง่านอยู่อย่างสมบูรณ์ที่สุด และที่นี่ เป็นที่เกิดของภิกษุณีเพราะพระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้รับผู้หญิงบวชเป็นภิกษุณีได้ครั้งแรกที่นี้ จบแล้วไปนมัสการโบราณเจดีย์ที่ปาวาลเจดีย์อีกแห่งหนึ่ง ซึ่งกล่าวว่าเป็นเจดีย์ที่เก่าแก่มากเจดีย์หนึ่งได้เวลาเข้าที่พักที่วัดไทยเวสาลี ทานอาหารเย็นที่นี่ และคณะของเราก็รวบรวมปัจจัยเพื่อถวายผ้าป่าช่วยเหลือกิจสงฆ์ที่นี่ตามสมควรแก่ศรัทธาด้วย



    7) วันจันทร์ ที่ 8 มีนาคม 2553 (แรม 8 ค่ำ เดือน4) (เวสาลี-นาลันทา-ราชคฤห์-คยา)
    06.30 น. คณะเดินทางต่อไปเมืองนาลันทา เข้าสักการะพระพุทธเจ้าองค์ดำ ซึ่งถือกันว่าศักดิ์สิทธ์มาก และเข้าศึกษา เรียนรู้ดูชมมหาวิทยาลัยสงฆ์อันยิ่งใหญ่ในอดีตซึ่งรู้จักกันในนาม มหาวิทยาลัยนาลันทาแต่ปัจจุบันนี้เป็นแค่ซากปรักหักพังเท่านั้น ได้เวลาพอสมควรเดินทางต่อไปที่วัดไทยนาลันทาเพื่อทานอาหารเที่ยง และถวายผ้าป่าช่วยเหลือกิจสงฆ์ที่นีด้วย
    14.30 น. เดินทางต่อไปสักการะ ศึกษาเรียนรู้ดูชมเวฬุวันมหาวิหารวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา และเป็นสถานที่เกิดวันมาฆบูชา ต่อจากนั้นไปแวะชมคุกพระเจ้าพิมพิสาร โรงพยาบาลหมอชีวก และขึ้นไปสักการะพระคันธกุฎีพร้อมทั้งถ้ำพระมหาโมคคัลลานะ ถ้ำพระสารีบุตร กุฏิพระอานนท์บนภูเขาคิชฌกูได้เวลาพอสมควรเดินทางต่อไปเมืองคยา ระหว่างทางหากมีเวลาจะให้แวะชมรอยเกวียนโบราณด้วย
    20.00 น ถึงเมืองคยา เข้าพักที่วัดไทยพุทธคยา ซึ่งอยู่ใกล้พระมหาเจดีย์พุทธคยามากๆ และทาน อาหารเย็นที่นี่



    วันอังคาร ที่ 9 มีนาคม 2553 (แรม 9 ค่ำ เดือน 4) (คยา)
    06.30น. หลังอาหารเช้าแล้ว ไปสักการะต้นพระศรีมหาโพธิ์ พระมหาเจดีย์ พระพุทธเมตตา พร้อมทั้งศึกษาเรียนรู้สถานที่สำคัญที่พระพุทธองค์ทรงใช้เสวยวิมุตติสุขหลังจากตรัสรู้ซึ่งมีสถานที่สำคัญๆ คือ 1)พระแท่นวัชรอาสน์ สถานที่พระพุทธองค์ตรัสรู้และเสวยวิมุตติสุขในสัปดาห์แรก 2) อนิมิสสเจดีย์ สถานที่ประทับยืนมองต้นพระศรีมหาโพธิ์โดยไม่กระพริบพระเนตร ในสัปดาห์ที่สอง 3) รัตนจงกรมเจดีย์ สถานที่เดินจงกรม ในสัปดาห์ที่สาม 4) รัตนฆรเจดีย์ สถานที่ประทับนั่งในเรือนว่าง ทรงพิจารณาอภิธรรมในสัปดาห์ ที่สี่ คณะนำกล่าวคำบูชา ไหว้พระ สมาธิภาวนา และทำประทักษิณ ได้เวลาพอสมควรไปทานอาหารเที่ยงที่วัดไทยพุทธคยา และร่วมกันถวายผ้าป่าเพื่อช่วยเหลือกิจสงฆ์ที่นี่ตามกำลังศรัทธา
    14.00น ไปนมัสการและชมวัดนานานชาติ รอบ ๆ วัดไทยพุทธคยา ใกล้ ๆ สถานที่ตรัสรู้ วัดนานาชาติที่เข้าชมมี 1) วัดภูฐาน เป็นวัดที่สวยงามมาก ศิลปะฝาผนังเป็นภาพปั้นนูน แสดงพุทธประวัติ ตั้งแต่พระมารดาทรงพระสุบินว่า มีพระยาช้างเผือกนำดอกบัวมาและเข้าสู่พระครรภ์ของพระนาง จนกระทั่งถึงพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพาน 2) วัดทิเบต อีกวัดหนึ่งสวยงามไม่น้อย แต่ภาพฝาผนังเป็นภาพวาดเกี่ยวกับประวัติเช่นเดียวกัน ยิ่งพระพุทธรูป ของภูฐานและทิเบตสวยงามยิ่งนัก 3) วัดญี่ปุ่น คณะของเราจะเข้านมัสการพระพุทธรูปศิลาที่ใหญ่ที่สุดแถบนั้น ซึ่งทำด้วยหินทรายแดง แกะสลักและนำมาต่อกันเป็นชิ้น และงดงามยิ่งนัก เช่นกัน 4) วัดไทยพุทธคยา ซึ่งเป็นวัดแรกของไทยที่ไปสร้างไว้ในดินแดนพุทธภูมิ เริ่มมาตั้งแต่ปี 2500 มีอุโบสถเด่นสง่า จำลองรูปแบบจากวัดเบญจมฯ กรุงเทพฯ ภาพวาดภายในก็วิจิตรงดงาม ซึ่งเป็นภาพประวัติพระมหาชนก และภาพเจดีย์ 4 ตำบลของสังเวชนียสถาน และเราสามารถดูภาพมายาเทวีวิหารที่ลุมพินีวัน สถานที่ประสูติอันมีในก่อน ก่อนจะซ่อมแซมให้เป็นปัจจุบันได้ด้วย พระพุทธรูปก็งดงามตามแบบฉบับของศิลป์ไทย จบแล้วเดินทางต่อไปเพื่อชมเจตยานุสรณ์บ้านนางสุชาดา ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเนรัญชรา ณ ที่นี้ จะชี้ให้คณะดูภูเขาดงคสิริ สถานที่บำเพ็ญทุกกรกิริยาของพระพุทธเจ้าก่อนตรัสรู้ อชปาลนิโครธ สถานที่ ทรงเสวยวิมุตติสุข สัปดาห์ที่ 5 หลังจากตรัสรู้แล้ว สระมุจจลินทร์ สัปดาห์ที่ 6 และต้นราชายตนะ สัปดาห์ที่ 7 ซึ่งสามารถที่จะชี้ให้ดูตามทิศทางที่ปรากฏในพระไตรปิฎก จากนั้นนำไปชมสถานที่ลอยถาด ที่ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา หลังจากเสวยข้าวมธุปายาสของนางสุชาดาแล้ว ที่นี่พระองค์ทรงอธิษฐานความว่า “ถ้าพระองค์จักได้บรรลุเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ขอให้ถาดได้ลอยทวนกระแสน้ำ” และถาดได้ลอยทวนกระแสน้ำจริง ๆ ได้เวลาพอสมควรนำไปชอปปิ้งพอสมควรแก่เวลา 3 ทุ่มร้านปิด กลับเข้าที่พักเพื่อทานอาหารเย็น และพักผ่อนตามอัธยาศัย หรือใครจะนั่งสมาธิใต้พระศรีมหาโพธิ์ภายในพระเจดีย์ ก็สามารถเดินทางไปเอง แต่ต้องบอกล่วงหน้าเพื่อขออนุญาตก่อน โดยใช้หนังสือเดินทางและเงิน 100 รูปี เป็นหลักฐาน


    9) วันพุธ ที่ 10 มีนาคม 2553 (แรม 10 ค่ำ เดือน 4)(คยา – พาราณสี) ( 250 กม. ถนน 4 เลนส์)
    05.30 น. อาหารเช้า
    06.30 น. ล้อหมุนจากคยาสู่แคว้นกาสี ซึ่งมีเมืองหลวงชื่อว่า พาราณสี ระยะทาง 250 กม., (พระคุณเจ้าฉันภัตตาหารห่อเป็นอาหารเพลระหว่างทาง หากเวลาทัน ก็จักฉันเพลที่วัดไทยสารนาถด้วยเช่นกัน ส่วนอุบาสกอุบาสิกา ทานที่วัดไทยสารนาถ)
    ณ เมืองพาราณสี มีสิ่งน่าศึกษาเรียนรู้มากมาย เช่น (1) เจาคัณฑีสถูป สถานที่พระพุทธเจ้าทรงพบปัจจวัคคีย์เป็นครั้งแรก (2) วัดไทยสารนาถ (3) พิพิธภัณฑ์สารนาถ ซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปที่สวยที่สุดในโลก เป็นพระพุทธรูปศิลาปางปฐมเทศนา (4) นิวมูลคันธกุฎี ซึ่งชาวศรีลังกาสร้างขึ้นมาใหม่ จำลองรูปลักษณ์ภายนอกเหมือนพระมหาเจดีย์พุทธคยา ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปจำลองปางปฐมเทศนา ซึ่งสวยงามมาก ดุจเทพเนรมิตไว้กระนั้นแหละ ผู้ใดประสงค์จะซื้อหนังสือธรรมะ (ภาษาอังกฤษ) พระพุทธรูปหิน ภาพโปสเตอร์เกี่ยวกับสถานที่และสิ่งสำคัญ (เล่มละ 20 รูปี) ก็สามารถซื้อได้ที่นี่ (5) คณะนำไปไหว้พระพุทธเจ้า 28 พระองค์ รอบ ๆ ต้นโพธิ์ลังกา ข้าง ๆ นิวมูลคันธกุฎี (6) ดูชมอักษรจารึกพระธัมมจักกัปวัตตนสูตรของชาติต่าง ๆ รวมทั้งอักษรไทยด้วย


    จากนั้นจะนำทุกท่านเข้าชมภายในป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ภายในนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สารนาถ มีสิ่งสำคัญดังต่อไปนี้ 1) ธัมเมกขสถูป เจดีย์ที่แสดงพระปฐมเทศนา คณะนำกล่าวคำบูชา ไหว้พระ สมาธิภาวนา และเวียนเทียนที่นี่ด้วย 2) ธัมมราชิกาสถูป เจดีย์ที่ทรงแสดงอนัตต-ลักขณสูตร 3) มูลคันธกุฎี สถานที่พระพุทธเจ้าประทับ.4) เสาพระเจ้าอโศก 5) ปัญจายตนเจดีย์ สถานที่พระยสะพบพระพุทธเจ้า และเมื่อได้ฟังธรรมะ อนุปุพพีกถา แล้วได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ณ ตรงนี้ 6) เจดีย์ราย ซึ่งเป็นที่เก็บอัฐิธาตุของพระอรหันต์อีกมากมาย 7) ซากอาคารกุฏิพระสงฆ์ สวนกวาง ท่านสามารถซื้ออาหารให้กวางได้ด้วย มีนกยูงให้ดูชมด้วย ได้เวลาพอสมควร คณะออกจากสารนาถ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ไปสู่วัดไทยสารนาถ ทานอาหารค่ำและพักค้างคืนที่วัด จากนั้นร่วมทอดผ้าป่าช่วยกิจสงฆ์ พักผ่อนตามอัธยาศัย หรือหากจะซื้อผ้าสาลี่ก็สามารถซื้อได้หน้าวัด


    10) วันพฤหัสบดี ที่ 11 มีนาคม 2553 (แรม 11 ค่ำ เดือน 4) (ล่องแม่น้ำคงคา – พาราณสี – กรุงเทพฯ)
    05.00 น. ขึ้นรถไปแม่น้ำคงคา ลงเรือล่องชมวัฒนธรรมประเพณีชาวฮินดู เช่น วิธีการอาบน้ำล้างบาป การเผาศพข้างแม่น้ำ พร้อมการจัดทำฟาก 7 ซี่ หามศพ พิธีเอาศพจุ่มน้ำ หรืออาจจะได้เห็นการเอาศพถ่วงน้ำ ซึ่งมีศพ 5 ชนิดไม่ถูกเผา จะถูกถ่วงน้ำอย่างเดียวคือ 1) เด็กทารก 2) สาวพรหมจารี 3) สาธุนักบวช 4) ผู้ถูกงูกัด 5) ผู้ถูกฟ้าผ่า ได้เวลาพอสมควรกลับขึ้นฝั่งและขึ้นรถกลับวัดไทยสารนาถ ทานอาหารเช้า เตรียมตัวไป
    ช้อบปิ้งผ้ากาสี และอื่นๆ ตามอัธยาศัย ทานอาหารเที่ยงที่วัดไทยสารนาถ และหลังอาหารเที่ยงแล้ว ขึ้นรถบัสไปสนามบินเมืองพาราณสีเพื่อกลับไทย

    16.30 น. เครื่องออกจากสนามบินพาราณสี เที่ยวบินที่ TG 8821
    21.15น. เครื่องถึงสนามบินสุวรรณภูมิ ผ่าน ตม.เรียบร้อยแล้วไปรับกระเป๋า แยกย้ายกันกลับภูมิลำเนาของตนๆ โดยสวัสดิภาพและอิ่มบุญกันถ้วนหน้า
      55555
     
  2. dayone said:

    Re: แสวงบุญประเทศ อินเดีย 2 - 11 มีนาคม 2553

    น่าไปมากครับ
     
  3. vichitra said:

    Re: แสวงบุญประเทศ อินเดีย 2 - 11 มีนาคม 2553

    อยากทราบราคาผู้ใหญ่ค่ะ พักห้อง 3 คน คนละเท่าไหร่ค่ะ แล้วติดต่อได้ที่ไหนค่ะ ขอบคุณค่ะ
     
  4. parat_88 said:

    Re: แสวงบุญประเทศ อินเดีย 2 - 11 มีนาคม 2553

    ยากไปด้วยค่ะ ราคาต่อคนเท่าไรค่ะ
     
  5. omgassist said:

    Re: แสวงบุญประเทศ อินเดีย 2 - 11 มีนาคม 2553

    น่าไปบ้างจัง