ปวน สุวรรณสิงห์ หรือ ป. สุวรรณสิงห์ จิตกรเอกของลำปาง

เมื่อเอ่ยถึงจังหวัดลำปาง หลายคนอาจนึกถึงรถมาและชามตราไก่เป็นลำดับแรก แต่หากใครมีโอกาส ได้เดินเล่นตามถนนหนทางในตัวเมืองลำปาง ลองสังเกตดูจะพบเห็นป้ายชื่อของร้านค้าและกิจการเก่าแก่
จำนวนมากที่สวยงาม โดดเด่น แปลกและมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนที่อื่น นับเป็นหนึ่งในมรดกทางศิลปวัฒนธรรมทรงคุณค่าของลำปาง

วันที่ 4 มีนาคม-26 เมษายน 2560 มีการจัดนิทรรศการ “ปวนและเสรี” ณ หอศิลปะการแสดงนครลำปาง-บ้านบริบูรณ์ บริเวณชุมชนกาดกองต้า จังหวัดลำปาง เพื่อเชิดชู ปวน สุวรรณสิงห์ ศิลปินนักออกแบบท้องถิ่นคนสำคัญของลำปาง และ เสรี เสริมสุข หลานและศิษย์ของครูปวน  ปวน สุวรรณสิงห์ หรือ ป. สุวรรณสิงห์ (2440-17 เมษายน 2508 อายุ 68 ปี) เป็นชาวลำปางที่มีเชื้อสายพม่า เคยเป็นลูกศิษย์ของมหาเสวกตรี พระยาอนุศาสน์จิตรกร ช่างหลวงและช่างภาพประจำพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในช่วงแรก ป. สุวรรณสิงห์ จึงมีผลงานเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังตามวัดต่างๆ ของลำปาง เช่น พระอุโบสถวัดเกาะวาลุการาม พระวิหารวัดสุชาดาราม พระอุโบสถวัดน้ำล้อม พระอุโบสถวัดช้างเผือก เป็นต้น ต่อมาภายหลังได้ผันตัวมาเป็นช่างทำป้ายร้านค้า อาคารสถานที่ตลอดจนวัดต่างๆ

นักออกแบบรุ่นใหม่ที่สนใจศึกษาประวัติและผลงานของครูปวน ล้วนเห็นตรงกันว่า ป้ายและการออกแบบตัวอักษรบนป้ายของ ป. สุวรรณสิงห์ สวยงามและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรอันหลากหลาย เป็นแบบตัวอักษรที่พิเศษ โครงสร้างดูแปลกตา มีรายละเอียดสูง และที่สำคัญ ท่านยังตั้งใจออกแบบแต่ละป้ายให้มีรูปแบบและลีลาเข้ากับลักษณะของกิจการนั้นๆ อีกด้วย

ป้ายร้านค้ารุ่นเก่าอายุหลายสิบปีเหล่านี้มักทำจากแผ่นไม้ ตัวอักษรก็ฉลุจากไม้สัก แล้วใช้ตะไบไสให้โค้งมน ก่อนทำสี บ้างลงรักปิดทอง จึงมีความสวยงามคงทน และมีเสน่ห์ในแง่เป็นงานทำมือที่ประณีตทุกขั้นตอนเอกลักษณ์อีกอย่างของป้ายเก่าเมืองลำปาง คือ มักมีลายเซ็นผู้ออกแบบกำกับที่มุมล่างของป้ายด้วย

ครูปวนมีศิษย์และลูกน้องช่วยงานหลายคน แต่คนสำคัญคือ เสรี เสริมสุข หลานชายที่มาเป็นลูกมือช่วยงานครูปวนตั้งแต่อายุ 9 ขวบ อาศัยเรียนรู้ จดจำ สังเกต และฝึกฝนด้วยตนเอง จนสามารถสืบทอดวิชาและฝากฝีมือออกแบบป้ายอักษรไว้จำนวนมาก ในนาม “เสรี ศิษย์ ป.” จนถึงปัจจุบัน ตาเสรี หรือที่คนมักเรียกโกเซน มีอายุ 85 ปีแล้ว จึงไม่ได้รับงานทำป้ายเช่นในอดีต

ผลงานของ ป. สุวรรณสิงห์ ยังสร้างแรงบันดาลใจแก่คนรุ่นหลัง ดังเช่น ตาทอง หรือ อินทอง ยุชมพู ปัจจุบันอายุ 80 ปี เล่าว่าสมัยเด็กเคยไปยืนดูครูปวนทำงาน จนเกิดความชอบ กลับมาหัดเขียนตัวอักษรและทำป้ายเองเรื่อยมา ตาทองไม่ได้เปิดร้านร้านรับทำป้าย แต่สร้างผลงานออกแบบป้ายร้านเซรามิกของครอบครัวตนเอง หรือทำให้คนคุ้นเคยที่มาไหว้วาน

อีกท่านหนึ่งคือ พระอธิการ อนุวัฒน์ สิริภทฺโท เจ้าอาวาสวัดชมภูหลวง จังหวัดลำปาง ซึ่งชื่นชอบงานป้ายของ ป.สุวรรณสิงห์ ตั้งแต่ยังเป็นสามเณร จนนำแบบตัวอักษรที่เห็นมาหัดเขียนในสมุดจด กระทั่ง 3-4 ปีก่อนจึงเริ่มทำป้ายสำหรับอาคารต่างๆ ของวัดชมภูหลวง โดยลงมือทุกขั้นตอน ตั้งแต่เขียนแบบ เลื่อยฉลุอักษรไม้ ขัด ลงสี ต่อมาท่านยังริเริ่มโครงการรับซ่อมแซมป้ายวัดต่างๆ ที่เป็นผลงานของ ป. สุวรรณสิงห์ ซึ่งส่วนใหญ่ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา

นอกจากผลงานของ ป. สุวรรณสิงห์ และ เสรี ศิษย์ ป. แล้ว ทั่วเมืองลำปางยังเต็มไปด้วยแผ่นป้ายรุ่นเก่าของช่างอื่นๆ ที่งามสะดุดตา จนกล่าวได้ว่าลำปางเป็นเมืองที่มีป้ายสวยมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทยควรค่าให้ผู้สนใจ นักเรียน นักศึกษา กราฟิกดีไซเนอร์ หรือนักออกแบบตัวอักษรได้มาเที่ยวชม ศึกษาเรียนรู้นำแรงบันดาลใจที่ได้รับไปสร้างสรรค์ผลงานของตนเองต่อไป

ข้อมูล : จักรพันธุ์ กังวาฬ

undefined

ผลงานเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังของ ป. สุวรรณสิงห์ ในอุโบสถวัดเกาะวาลุการาม ต.สวนดอก อ.เมือง จ.ลำปาง

undefined

Comments

comments