PDA

แสดงเวอร์ชันเต็ม : อิสระจากความตาย



*8q*
11-27-2008, 12:07 PM
July 04
อิสระจากความตายยยย

อิสระจากความกลัวในทุกรูปแบบ
กฤษณมูรติ : บรรยาย
กรรณิการ์พรมเสาร์ : แปล


ซีแอตเติล
๓ สิงหาคม ๑๙๕๐


ผู้ถาม :อะไรคือความตายที่เราควรกลัว?

กฤษณมูรติ : คุณรู้หรือว่าความตายคืออะไร? คุณไม่กลัวความตายหรือ?

ผู้ถาม : รู้

ผู้ถาม :ไม่กลัว

กฤษณมูรติ : คุณไม่กลัวว่าจะถึงจุดจบหรือ? ถ้างั้นคุณก็ต้องเบื่อหน่ายชีวิตมาก! อะไรคือความตายเล่า หากไม่ใช่การสิ้นสุด? คุณไม่กลัวหรอกหรือที่จะพรากจากความทรงจำทั้งหมด ประสบการณ์ทั้งหมด จากคนที่คุณรักทิ้งทุกสิ่งที่เป็นคุณไป?

ผู้ถาม : เราไม่รู้จักความตายเรารู้เพียงแต่ว่าการตายของคนอื่นเป็นอย่างไร

กฤษณมูรติ : เห็นได้ชัดว่าความตายเป็นสิ่งที่เราไม่รู้จัก เราสามารถรับรู้ได้อย่างอ้อมๆ เท่านั้นการตายคือการสิ้นสุด ทั้งในทางกายภาพและทางจิตใจ

ผู้ถาม :เราไม่ได้เป็นกังวลกับเรื่องความตาย แต่กังวลกับเรื่องการกลัวตาย

กฤษณมูรติ : ถ้าเช่นนั้นให้เราพิจารณาปัญหานี้ร่วมกัน ให้เราสัมผัสมันสำรวจมันร่วมกัน

เรากลัวความตายเราไม่ได้กลัวสิ่งที่เรารู้จักอย่างแน่นอนและถ่องแท้ความกลัวมีอยู่โดยสัมพันธ์กับสิ่งซึ่งไม่มีความแน่นอนเท่านั้นซึ่งอาจทำให้เราเจ็บปวด อาจทำให้เราไม่มั่นคงปลอดภัย ความตายคือความไม่แน่นอนและนั่นคือเหตุผลที่เรากลัวมัน หากเราสามารถรู้ขอบเขตทั้งหมดความหมายทั้งหมดทั้งสิ้นของความตายรู้ความสำคัญทั้งหมดของสิ่งที่อยู่พ้นไปจากความตาย เมื่อนั้นเราก็จะไม่กลัว ใช่ไหม? แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าความตายคืออะไร? ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่นี้เราจะรู้จักความตายได้อย่างไรเล่า?

ผู้ถาม :เราจะรู้จักมันได้อย่างไรโดยไม่ต้องประสบกับมัน?

กฤษณมูรติ :เราจะเห็นกันในนาทีนี้ ช่างยากเย็นเหลือเกินสำหรับพวกเราที่จะเข้าใจวิถีของจิตใจจิตใจอยากทำให้สิ่งไม่รู้กลายเป็นสิ่งรู้ และนั่นก็คือปัญหาอย่างหนึ่งของเราจิตใจพูดว่า "ถ้าฉันไม่รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่อยู่พ้นไปจากความตายฉันก็คงรู้สึกหวาดหวั่น แต่ถ้าเธอสร้างความมั่นใจให้ฉันได้ว่ามีความสืบเนื่องอยู่ฉันก็จะเลิกกลัว" จิตใจกำลังแสวงหาความแน่นอนแต่ตราบใดที่เราแสวงหาความแน่นอนก็ต้องมีความกลัวอยู่ สิ่งที่เรากลัวมิใช่ความตายแต่เรากลัวความไม่แน่นอนเราจะเป็นปกติสุขได้ก็ต่อเมื่อเรามีความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยเท่านั้นหากไร้ซึ่งความมั่นคงปลอดภัยแล้ว เราก็หวาดกลัวดังนั้นหากเราสามารถค้นพบว่าอะไรคือความตาย เราก็จะปราศจากความกลัว

ผู้ถาม :ถ้าผมคิดว่าความตายเป็นการสิ้นสุด ผมจะมีความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยได้อย่างไรตราบใดที่ผมยังต้องการความสืบเนื่องอยู่ ? หรือในอีกด้านหนึ่งผมจะขจัดความปรารถนาในความแน่นอนได้อย่างไร?

กฤษณมูรติ :เราสามารถขจัดมันได้เมื่อเราตระหนักว่าไม่มีความแน่นอนอยู่เท่านั้น

ผู้ถาม :แต่เราต้องการแน่ใจในอนาคต

กฤษณมูรติ : แล้วเราจะแน่ใจได้หรือ? เราต้องการแน่ใจว่าเราเคยมีชีวิตอยู่ในอดีต ว่าเราจะมีความสืบเนื่องต่อไปในอนาคตเราอาจอ่านหนังสือเกี่ยวกับศาสนาทั้งหมด เราสามารถรับฟังประสบการณ์ของผู้อื่นและหาความมั่นใจจากคนทรง แต่นั่นจะทำให้เราเป็นอิสระจากความกลัวหรือ? ตราบใดที่เรายังแสวงหาความแน่นอนอยู่ เราย่อมต้องกลัวความไม่แน่นอน ได้โปรดนี้ไม่ใช่ปริศนา การแสวงหาสิ่งตรงข้าม หาสิ่งที่ค้านกับสิ่งที่เราเป็นอยู่ความปรารถนาที่จะหลีกเลี่ยง ที่จะวิ่งหนีไปจากสิ่งที่เราเป็น ทำให้เกิดความกลัวขึ้นใช่ไหม? ดังนั้นเราต้องเข้าใจให้ชัดว่าความกลัวคืออะไรอะไรเล่าคือความกลัว?

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความตายนั้นมีอยู่และเราก็บอกว่าเรากลัวข้อเท็จจริงอันนั้นความกลัวเกิดขึ้นมาเพราะข้อเท็จจริงนั้นหรือเพราะคำว่า ความตายหรือว่ามันเป็นผัสสารมณ์ที่อิสระจากถ้อยคำ? เราตอบสนองต่อถ้อยคำ บรรดาถ้อยคำต่างๆอย่างคำว่า พระเจ้า ความรัก ลัทธิคอมมูนิสต์ ประชาธิปไตยสร้างความหงุดหงิดหวาดกลัวและการสนองตอบทางจิตใจขึ้นในตัวเราอย่างชัดเจนใช่หรือไม่? เมื่อเราเชื่อใน "พระเจ้า" และพูดถึง "พระองค์ท่าน" เรารู้สึกดีขึ้นถ้อยคำเช่น ความตาย ความเกลียดชัง เยอรมัน รัสเซีย ฮินดู และ นิโกรเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญลึกซึ้งเป็นพิเศษต่อเรา ดังนั้นเราต้องค้นหาให้ได้ว่าความรู้สึกที่เราเรียกว่าความกลัวนั้นคือภาวะที่เป็นจริงหรือไม่หรือมันเป็นเพียงผลของถ้อยคำที่เราใช้เท่านั้น

ผู้ถาม :ความหมายที่เราให้กับถ้อยคำเป็นภาวะจริง

กฤษณมูรติ : ให้เรามาพิจารณาดูหากเราตั้งใจจริงที่จะเป็นอิสระจากความกลัวเราต้องค้นหาให้ได้ว่าอะไรคือท่าทีที่ถูกต้องในการเข้าหามันเราอาจเห็นปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เรากลัวสิ่งที่เรียกว่าความตายแต่ผมสงสัยว่าไม่มีสาเหตุอื่นอีกแล้วหรือ เป็นไปได้ไหมที่คำว่า ความตายนี้มิได้เป็นต้นเหตุแห่งความกลัวของเราเพราะความหมายของมันหรือเพราะมันกระตุ้นให้เกิดความคิดอื่นขึ้นในจิตใจเรา? ขอให้คิดตามผมแล้วเราจะเห็นว่าเกิดอะไรขึ้น คำว่า ความตาย โดยตัวของมันมิใช่ความตายกระนั้นมันก็มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับเราใช่ไหม?

ผู้ถาม :ในถ้อยคำมีความหมายถึงการสิ้นสุด

กฤษณมูรติ : ใช่รวมทั้งความกลัวในเรื่องเชื้อชาติ วรรณะ กลัวในปัจเจก จิตใจของเราถูกกำหนดครอบงำไว้ไม่เพียงแต่โดยคำๆ นั้นเท่านั้น แต่โดยถ้อยคำจำพวก ทุนนิยม ฟาสซิสต์ สันติภาพสงคราม และอื่นๆ อีกมากมาย อย่างนั้นมิใช่หรือ? ถ้อยคำ สัญญลักษณ์ ภาพพจน์มีความสำคัญอย่างเหลือเกินสำหรับเรา สำคัญมากกว่าข้อเท็จจริงเสียด้วยซ้ำไปเพราะเราไม่อาจคิดโดยปราศจากถ้อยคำได้ ถ้อยคำคือภาพพจน์ คือสัญญลักษณ์และการคิดของเราก็คิดออกมาเป็นถ้อยคำ เป็นสัญญลักษณ์ เป็นภาพพจน์ เป็นฉลากหากเราไม่มีภาพ ไม่มีสัญลักษณ์หรือถ้อยคำ เราอาจไม่มีความทรงจำก็ได้ใช่ไหม? ด้วยเหตุนี้สิ่งที่ทำให้เราเกิดความรู้สึกกลัวจึงมิใช่ข้อเท็จจริงในเรื่องความตายแต่เป็นคำว่า ความตาย ไม่ใช่หรือ? เรายังเห็นด้วยว่า ความกลัวผุดขึ้นมาเมื่อจิตใจซึ่งคุ้นชินกับความแน่นอน ต้องมาเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอนเมื่อจิตใจซึ่งเป็นผลของสิ่งรู้ ซึ่งเป็นอดีต ต้องมาเผชิญหน้ากับสิ่งไม่รู้ซึ่งเป็นอนาคต

ทีนี้คำถามต่อไปก็คือความรู้สึกที่เราเรียกว่าความกลัวนี้จะยังคงอยู่ไหม ถ้าเราไม่ให้ชื่อมันว่า "ความกลัว" ? ความรู้สึกนี้จะเกิดขึ้นโดยปราศจากถ้อยคำได้ไหม?
ผู้ถาม :ถ้อยคำเป็นเพียงฉลากบอกความรู้สึก เราจำเป็นต้องให้ชื่อแก่ความรู้สึกเพราะมันเป็นทางเดียวที่เราจะรับรู้ถึงความรู้สึกนั้นได้

กฤษณมูรติ :เมื่อเราพิจารณาถึงความกลัวตาย สิ่งที่มาก่อนคือความรู้สึกหรือถ้อยคำ? ถ้อยคำนำความรู้สึกมา หรือว่าความรู้สึกไม่เกี่ยวข้องอันใดเลยกับถ้อยคำ? นี้เป็นคำถามที่สำคัญอย่างแท้จริง เพราะหากเราสามารถสืบค้นมันออกมาได้ผมว่าเราจะเห็นอะไรบางอย่างที่ค่อนข้างสำคัญทีเดียว

เมื่อเราเผชิญกับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความตาย เราตั้งชื่อให้มันและชื่อนั้นก็ทำให้เราเกิดความรู้สึกถึงความไม่แน่นอน ซึ่งเราไม่ชอบและทำให้เรากลัว ตอนนี้ความตายเป็นเรื่องใหม่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความตายเป็นสิ่งท้าทายอย่างใหม่ ไม่ใช่หรือ? กระนั้นในทันทีที่เราตั้งชื่อให้มัน เราได้ทำให้มันกลายเป็นของเก่าเมื่อใดก็ตามที่จิตใจพบข้อเท็จจริงใหม่ เหตุการณ์ใหม่ สัมผัสรับรู้ใหม่ๆมันก็จะติดป้ายทันที มันจะจดจำ จำแนกแยกแยะเพราะเราคิดว่านั่นเป็นวิธีเดียวที่เรามีในการทำความเข้าใจอะไรก็ตามคือทำให้สิ่งใหม่กลายเป็นสิ่งเก่าเสีย นั่นเป็นวิธีทำงานของจิตใจ ไม่ใช่หรือ? นั่นคือสิ่งที่เราทำในทันทีทันใดนั้น มันอาจเป็นการกระทำที่เกิดจากจิตไร้สำนึกแต่นั่นเป็นการตอบสนองของเราโดยฉับพลันทันที จิตใจไม่สามารถคิดเกี่ยวกับสิ่งใหม่ได้มันก็เลยแปลให้เป็นสิ่งเก่าอยู่เสมอ การคิด เป็นกระบวนการใช้ถ้อยคำมาอธิบาย ใช่ไหม? เมื่อเราถูกท้าทายด้วยข้อเท็จจริงที่เราเรียกว่าความตายเราตอบสนองโดยการครุ่นคิดเกี่ยวกับมันและการใช้ถ้อยคำมาอธิบายนั่นเองที่ทำให้เกิดความกลัวขึ้นมา ทีนี้ปัญหาก็อยู่ตรงที่เป็นไปได้ไหม ถ้าเราถูกท้าทายจากสิ่งที่เราเรียกขานว่า ความตายเราจะไม่สนองตอบต่อมันตามถ้อยคำ

ผู้ถาม : ผมคงตอบว่าไม่ได้

กฤษณมูรติ : ถ้าคุณยังไม่ได้พยายาม คุณจะตอบได้อย่างไรว่า "ได้"หรือ "ไม่ได้" ? เมื่อผมตั้งคำถามนี้กับคุณ คุณกำลังถูกท้าทายโดยอะไรบางอย่างและการตอบสนองในทันทีทันควันของคุณก็คือ พยายามค้นหาคำตอบจิตใจของคุณเข้าสู่ปฏิบัติการ และถ้อยคำก็ออกมาทันที โปรดเฝ้าดูจิตใจของคุณเองและคุณจะเห็นว่า เมื่อคุณถูกถามอะไรบางอย่างที่คุณไม่รู้จิตใจจะไม่สงบนิ่งและพยายามเข้าใจสิ่งใหม่ แต่จะเริ่มดูบันทึกความทรงจำเก่าๆเพื่อหาคำตอบที่ถูกต้อง

ผู้ถาม :บทสรุปเชิงตรรกตามการอธิบายด้วยเหตุผลของคุณก็คือน่าจะหยุดกระบวนการคิดเสีย

กฤษณมูรติ :โปรดเข้าใจว่านี่ไม่ใช่การใช้เหตุผลมาอธิบายในเชิงตรรกะทว่าเป็นการสังเกตความเป็นจริง คุณจะเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นหากคุณประสบด้วยตัวคุณเองเมื่อจิตใจพบสิ่งใหม่ซึ่งมันไม่มีคำตอบให้ ไร้ถ้อยคำมาอธิบาย มันจะเงียบงันเมื่อเราเห็นอะไรบางอย่างที่ใหม่หมดจด ที่เราไม่รู้จักไม่อาจใช้สิ่งที่เรารู้จักแล้วมาจำแนกแยกแยะ เราก็จะไม่ตั้งชื่อให้มันเราจะเฝ้าดูเพื่อค้นหาว่ามันคืออะไรและในภาวะของการใส่ใจเฝ้าดูนั้นจะไม่มีการใช้ถ้อยคำมาอธิบายทันทีที่เราเริ่มใช้ถ้อยคำ การสัมผัสรับรู้ใดๆ ก็ตามจะสิ้นสุดความใหม่และกลายเป็นสิ่งเก่า ใช่ไหม?

ผู้ถาม : ถ้ามันเป็นของใหม่แท้ๆก็ไม่มีถ้อยคำใดมาใช้อธิบายได้

กฤษณมูรติ : แน่นอน ความตายก็เช่นกันเป็นสิ่งใหม่ หากเราไม่ใช้ถ้อยคำมาอธิบายมัน แม้ว่ามันจะเป็นเพียงถ้อยคำแต่เนื้อหาของถ้อยคำนั้น ข้อจำกัดของถ้อยคำนั้นก็หมดสิ้นลงเราจึงสามารถมองดูความตายได้ทีนี้อะไรเล่าคือสภาวะที่จิตใจถูกสิ่งใหม่ท้าทายแล้วไม่ใช้ถ้อยคำมาอธิบายสิ่งใหม่นั้นไม่ตอบสนองทันทีด้วยการมองดูความทรงจำเก่าๆ บันทึกเก่าๆ เพื่อค้นหาคำตอบที่ถูกต้อง? จิตใจเช่นนี้ก็ใหม่ด้วยมิใช่หรือ? การตั้งเงื่อนไขเก่าๆ ตกไป ความปั่นป่วนเก่าๆหยุดลง การค้นหาสิ้นสุด และเมื่อสิ่งท้าทายเป็นสิ่งใหม่ และจิตใจก็ใหม่ความกลัวจะอยู่ไหนได้?

ผู้ถาม : จิตใจใหม่ แต่สิ่งท้าทายยังเป็นสิ่งเก่าแม้จะไม่มีชื่อก็ตาม

กฤษณมูรติ :ความตายเป็นสิ่งเก่าเมื่อเราจดจำมันได้เท่านั้น และเราก็จดจำมันได้โดยอาศัยถ้อยคำโดยผ่านทางความทรงจำ ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่เรากำหนดขึ้นมาเองความตายเป็นสิ่งเก่าเพราะมันเต็มไปด้วยนัยของความกลัว ความเชื่อ การปลอบใจและการหลบหนีอยู่ เราเข้าหามันโดยใช้สิ่งรู้เสมอวิธีการเข้าหาของเราจึงเป็นวิธีการที่ใช้สิ่งเก่าดังนั้นเราจึงยอมรับมันว่าเป็นความตาย แต่หากเรามีวิธีการใหม่หากเรามาหามันด้วยจิตใจใหม่ ปลดเปลื้องสิ่งเก่าออกจนหมดสิ้นมันก็ไม่อาจเป็นสิ่งที่เราเรียกว่าความตายอีกต่อไปมันอาจเป็นบางสิ่งที่ต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง

ผู้ถาม :เราต้องรู้ว่าเรากำลังดูอะไรอยู่ ถึงเราจะไม่ตั้งชื่อให้มันก็ตาม

กฤษณมูรติ : นั่นคือสิ่งที่ผมเสนอให้ทำเช่นนั้น ขอให้เราพยายามค้นหาว่าเป็นไปได้ไหมที่จิตใจจะหยุดกระบวนการใช้ถ้อยคำและเพียงแต่มองดูเฉยๆถ้าจิตใจทำเช่นนั้นได้ สิ่งที่จิตใจกำลังมองดูอยู่ ซึ่งเป็นสิ่งใหม่จะแยกออกจากจิตใจซึ่งก็เป็นสิ่งใหม่ด้วย หรือเปล่า ? มีการแบ่งแยกกันระหว่างสิ่งท้าทายกับผู้สังเกตซึ่งมองดูสิ่งท้าทายอยู่หรือไม่?

ผู้ถาม : ผู้สังเกตสร้างสิ่งท้าทายขึ้นมา

กฤษณมูรติ : คุณตอบคำถามเร็วเกินไปโปรดอย่าตีความสิ่งที่ผมพูดตามอำเภอใจเพราะนั่นจะทำให้คุณพลาดที่จะเข้าใจความหมายทั้งหมดของมัน

ผู้ถาม :ถ้ามันเป็นสิ่งใหม่ทั้งคู่เราจะบอกได้อย่างไรว่ามันเหมือนหรือต่างกัน?

กฤษณมูรติ :เมื่อจิตใจเป็นของใหม่ สิ่งท้าทายซึ่งเป็นของใหม่ด้วย จะอยู่ภายนอกจิตใจหรือ?
ปัญหายุ่งยากในเรื่องทั้งหมดนี้ก็คือ หากเราไม่ได้สัมผัสกับมันจริงๆ แล้วมันก็มีความหมายน้อยนิดสำหรับเรา สิ่งที่ใหม่ไม่มีการตายมันเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง มันไม่มีวันเป็นของเก่ามีแต่ของเก่าเท่านั้นที่กลัวการสิ้นสุดลงและหากเราสืบค้นลงไปในเรื่องนี้ให้ลุ่มลึกยิ่งกว่านี้ เราจะแลเห็นว่าจิตใจสามารถจะเป็นอิสระได้ ไม่เพียงแต่เป็นอิสระจากความกลัวตายเท่านั้นแต่เป็นอิสระจากความกลัวในทุกรูปแบบอีกด้วย


http://www.agalico.com/board/showthread.php?t=24872