PDA

แสดงเวอร์ชันเต็ม : พระอาจารย์วิริยังค์ พระอาจารย์มหาบัวถูกให้เทศน์ต่อหน้าท่านพระอาจารย์มั่น



*8q*
11-28-2008, 03:34 PM
http://www.dhammajak.net/gallery/albums/userpics/normal_%CB%C5%C7%A7%B5%D2%C1%CB%D2%BA%D1%C7%20%AD%D2%B3%CA%D1%C1%BB%D1%B9%E2%B9~0.jpg

พระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน


ตอนพระวิริยังค์ พระมหาบัว ถูกให้เทศน์ต่อหน้าท่าน

ใจของผู้เขียนรู้สึกจะเต้นแรงเป็นพิเศษ ผู้เขียนไม่เคยกลัวเรื่องเทศน์ให้โยมฟัง เพราะผู้เขียนเป็นนักเทศน์มาตั้งแต่เป็นสามเณรอายุเพียง ๑๗ ก็เริ่มจะเป็นนักเทศน์แล้ว บัดนี้อายุ ๒๒ ปี ผ่านการเทศน์มาไม่ใช่น้อย

แต่ท่านจะมาให้เทศน์ต่อหน้าท่านผู้ทรงคุณวุฒิที่เราจะต้องมาศึกษาธรรมปฏิบัติกับท่าน ท่านก็เป็นที่น่าเกรงขามอย่างยิ่งแล้ว ทำไมพระเถระผู้มีอาวุโสสูงตั้งเยอะแยะท่านไม่สั่งให้เทศน์ ทำไม ? จึงมาสั่งให้เราผู้เป็นภิกษุใหม่เทศน์ ยิ่งคิดยิ่งไม่สบายใจ จะเทศน์ออกหรือนี่

ส่วนอาจารย์มหาบัว ผู้เขียนก็ทายใจถูกเหมือนกันว่า ใจของท่านอาจารย์มหาบัวก็กำลังระทึกหวั่นไหวอยู่อย่างหนัก และก็ถูกให้เทศน์ก่อน เพราะอาวุโสกว่าผู้เขียน ท่าทางเหมือนจะปวดหนักปวดเบายังไงพิกล ผู้เขียนก็นึกขำอยู่ในใจ ทั้งขำทั้งกลัวระคนกันไป ข้าพเจ้าก็ยังรู้จักกับอาจารย์มหาบัวใหม่ๆ ไม่ทราบว่าเคยเทศน์หรือเปล่า หรือเป็นนักเทศน์มาเก่งแล้ว ก็ทำให้หนักใจแทนอยู่

เมื่อต่างก็มองตากันไปกันมาพอสมควร เวลาอันระทึกใจก็มาถึงคือเสียง “พรหมมาจะโลกา” อาราธนาเทศน์ โยมเขาอาราธนาแล้ว ผู้เขียนบอกท่านอาจารย์มหาบัว แต่ดูรู้สึกว่าท่านมีความมั่นใจอยู่ไม่น้อยทีเดียว ได้ก้าวขึ้นธรรมาสน์ยังไงๆ พิกล เหมือนกับจะอุทธรณ์อะไรออกมาจากใจสักอย่างยังงั้นแหละ แต่จะไปอุทธรณ์กับใคร เมื่อขึ้นธรรมาสน์ ท่านก็หลับหูหลับตาเทศน์อย่าน้ำไหลไฟดับเหมือนกัน แสดงว่าเจนเวทีมาพอสมควรทีเดียว แต่เวทีนี้เป็นเวทีอันตรายเหลือหลาย ท่านคงจะคิดอย่างนั้นเอง เมื่อท่านใช้วาทะแห่งการแสดงธรรมอย่างไพเราะและอึดอัดระคนกัน เป็นอันว่าจบธรรมเทศนาไปได้อย่างสบาย

เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ ทำเอาผู้เขียนต้องหัวใจเต้น มันเป็นตาของเราแล้ว พร้อมกันนั้น ท่านมหาบัวก็ชำเลืองมายังข้าพเจ้า ท่านคงจะคิดในใจว่า ถึงตาวิริยังค์มั่งละน่า และคงจะคิดต่อไปว่า ดูท่าทางของวิริยังค์จะเอายังไง จะไปไหวหรือไม่ไหว เพราะต่างก็ยังไม่รู้ความสามารถของกันและกัน ท่านมหาบัวนั่งเรียบร้อยแล้ว โยมก็อาราธนาต่อ ขอให้ “ยาคูไทย” เทศน์ต่อไปเถอะ ญาติโยมแถวนี้เขาเรียกผู้เขียนว่า “ยาคูไทย” ซึ่งแปลว่า พระไทย

เป็นอันว่าผู้เขียนก็ขึ้นธรรมาสน์ในอันดับต่อมา พอขึ้นธรรมาสน์แล้วรู้สึกตัวลอยๆ พิกลเหมือนกัน เพราะท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านนั่งอยู่ข้างหลัง เราเป็นภิกษุหนุ่มนับว่าอ่อนพรรษากว่าใครๆ ทั้งหมดที่มารวมกันอยู่นี้ ก็ทำให้หวาดเสียวซู่ซ่าไปหมด ผู้เขียนพยายามกำหนดใจมิให้หวั่นไหว แต่มันก็หยุดได้เป็นพักๆ อาศัยชำนาญธรรมาสน์เท่านั้น ที่ทำให้ทุกอย่างเรียบร้อยในเวลาอันเร็วพลัน แต่เข้าใจว่า คงจะมีหลายองค์จับพิรุธได้ ถึงอย่างไรก็ตาม ผู้เขียนก็สามารถแสดงธรรมไปได้ ตามประสาของผู้ประหม่า และหวาดเสียวเป็นที่สุด พอเทศน์เพลินๆ ไปก็ไม่เป็นไร พอนึกถึงท่านอาจารย์มั่นฯ นั่งอยู่ข้างหลัง สะดุ้งทุกที แต่ก็เอาตัวรอดปลอดภัยไปได้ นับเป็นธรรมเทศนาประวัติศาสตร์ของผู้เขียนจริงๆ ยี่สิบเก้าปีแล้ว ยังคงจำเหตุการณ์ในวันนั้นได้เป็นอย่างดี ไม่ทราบว่าจะเขียนพรรณนาเหตุอย่างใดจึงจะถูกต้องกับความเป็นจริง

และก็เป็นเรื่องแปลกประหลาดในอนาคตกาลต่อมา ผู้เขียนกับอาจารย์มหาบัวจะต้องเทศน์คู่กันเสมอๆ มา เช่นงานศพอาจารย์มหาทองสุข พระครูอุดมธรรมคุณ งานศพท่านอาจารย์ชม ที่หนองหลวง อำเภอสว่างแดนดิน งานพิธีของท่านอาจารย์ฝั้น อาจาโร ที่วัดป่าอุดมสมพร อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร จะต้องถูกให้เทศน์ด้วยกันทุกครั้ง เมื่ออาจารย์มหาบัวเทศน์ ผู้เขียนก็ต้องเทศน์ คล้ายกับท่านอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระท่านจะรู้กาลอนาคตว่าพระสององค์นี้จะต้องเทศน์ร่วมกัน

กาลพรรษานี้ ผู้เขียนพึ่งจะบวชเป็นพระภิกษุพรรษาที่ ๒ รู้สึกว่าเป็นพรรษาที่อิ่มเอิบด้วยธรรมอย่างยิ่ง ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านแสดงธรรมแทบทุกวัน แต่ละครั้งของท่านแสดงธรรม ดุจจิ้มหรือจี้ลงในหัวใจของผู้เขียนอย่างลึกซึ้งสุดพรรณนา ทำให้ผู้เขียนระลึกถึงบุญวาสนาบารมีของตนเองว่า “บุญจริงๆ หนอที่ได้มาพบอาจารย์ผู้ทรงคุณธรรมและแสดงธรรมที่ซาบซึ้งจริงๆ” จะมีอะไรเล่ามาเปรียบเทียบได้ถึงความดีงามของการให้ทานธรรมของท่านอาจารย์มั่นฯ

การปฏิบัติกิจวัตรด้วยการอุปัฏฐาก โดยการใกล้ชิดนั้น นับแต่การปูที่นอน กางกลด ซักผ้า เทกระโถน ล้างบาตร รับบาตร ปูอาสนะ หั่นผัก ตำหมาก มวนบุหรี่ ชงชา นั่งคอยรับใช้ ถวายน้ำบ้วนปาก ไม้สีฟัน จนถึงการบีบนวด ผู้เขียนได้บรรจงปฏิบัติท่านด้วยเคารพเป็นอย่างสูงสุด พยายามทำให้ดีที่สุด แต่ก็ไม่วายที่จะเกิดความบกพร่องขึ้น เพราะท่านอาจารย์มั่น ฯ ท่านเป็นคนละเอียดและสะอาดมาก บางครั้งล้างกระโถนไม่สะอาด ท่านก็ดุเอา กระโถนยุคนั้นทำด้วยกระบอกไม้ไผ่ ถ้าไม่พยายามเอาขี้เถ้าแช่จริงๆ แล้วจะมีกลิ่น แม้จะมีกระโถนเคลือบล้างง่ายๆ ท่านก็ไม่ใช้ ซึ่งเป็นการฝึกฝนผู้ที่จะอุปัฏฐากท่านไปในตัวเสร็จ แม้แต่ผ้าปูที่นอน ซึ่งการเย็บผ้าตะเข็บข้างบนข้างล่างเหมือนกัน ถ้าไม่สังเกตจริงๆ จะไม่ทราบเลย ผู้เขียนไม่สังเกตเอาหัวกลับท้าย เอาท้ายกลับหัว ถูกดุเอาหลายครั้งจนจำได้

กลดที่แขวนจำวัด กลดนั้นมันกลม ใครจะจำได้ว่าข้างไหนเป็นหัวนอน ข้างไหนเป็นปลายเท้า ผู้เขียนก็จะโดนดุอีก เพราะกางกลับไปข้างบ้าง เอาหัวไปเท้าบ้าง นึกว่าไม่เป็นไร จนถึงกับต้องเอาเครื่องหมายไปหมายไว้ที่กลด จนจำได้ จึงไม่โดนดุ ท่านพูดเสมอๆ ว่า “ก็เมื่องานภายนอกหยาบๆ อย่างนี้ยังทำไม่ได้ ทำไมจิตเป็นของละเอียดจึงจะบำเพ็ญฝึกหัดได้”

ทำเอาผู้เขียนสะดุ้งทุกครั้ง จึงเป็นอันว่า ผู้เขียนต้องพยายามทำทุกอย่างให้ดีที่สุด เพื่อถวายความเคารพและทดแทนคุณานุคุณของท่าน ก็มิใช่ผู้เขียนจะผูกขาดการปฏิบัติท่านอาจารย์มั่นฯ แต่ผู้เดียว ทุกๆ องค์ที่อยู่ด้วยก็ช่วยกันเท่าที่โอกาสจะให้ และทุกๆ องค์ก็ต้องการเช่นเดียวกับข้าพเจ้า ศรัทธาด้วยตนเองที่จะถวายการอุปัฏฐากท่าน โดยเฉพาะท่านได้เอ็นดูผู้เขียนเป็นกรณีพิเศษ ไม่ทราบว่าเป็นเหตุผลอะไร ท่านเคยพูดว่า

“วิริยังค์ ธาตุถูกกัน เวลาบีบนวดถวาย”

เมื่อกาลพรรษาผ่านไปอย่างได้ผลในการบำเพ็ญ โดยไม่หยุดยั้งเหมือนประหนึ่งว่า ๓ เดือนนั้นเป็น ๓ วันไปทีเดียว

ส่วนอาจารย์ของข้าพเจ้า ท่านก็หาวิธีที่จะวางรากฐานในบริเวณสถานที่แห่งนี้ให้เป็นการถาวรสมกับท่านอาจารย์มั่นฯ ได้มาพักอยู่ที่นี่ถึง ๒ พรรษา ท่านได้จัดการที่ดินให้เป็นบริเวณกว้างขวางหลายสิบไร่ให้เป็นวัดขึ้น จัดการก่อสร้างกุฏิศาลาให้ใหญ่โตและถาวรขึ้นมาอย่างรวดเร็ว

ท่านอาจารย์กงมา ได้พูดกับผู้เขียนว่า “วิริยังค์ เราจะต้องทำที่แห่งนี้ให้เป็นสถานที่บำเพ็ญวิปัสสนาเป็นการถาวรแก่ละแวกบ้านของเราให้สมกับท่านอาจารย์มั่นฯ ผู้เป็นปรมาจารย์ได้มาพักอยู่ในสถานที่แห่งนี้”

ผู้เขียนได้ตอบท่านว่า “จะไม่เป็นการรบกวนความสงบของท่านอาจารย์มั่นฯ ไปหรือ เพราะว่าท่านไม่ต้องการที่จะก่อสร้างที่ถาวร จะเป็นกังวล”

ท่านอาจารย์ของข้าพเจ้าบอกว่า “ไม่เป็นเช่นนั้นดอก แม้แต่พระพุทธเจ้า ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็ยังสร้างคันธกุฎีถวายราคาตั้งหลายล้าน”


__________________
http://www.agalico.com/board/showthread.php?t=18271