PDA

แสดงเวอร์ชันเต็ม : ความดี



DAO
12-08-2008, 02:21 PM
ความดี


วศิน อินทสระ

อะไรคือความดี อะไรคือความชั่ว

เรื่องความดีความชั่วจัดเป็นเรื่องยากเรื่องหนึ่ง ที่จะรู้และเข้าใจ เมื่อรู้และเข้าใจแล้วก็ยังยากที่จะปฏิบัติการเว้นความชั่ว ทำความดีให้สมบูรณ์ได้ ทั้งนี้เพราะมีองค์ประกอบหลายอย่างที่ทำให้ปฏิบัติไม่ได้ สมความต้องการและปฏิบัติไม่ได้เสมอไป

ตามหลักพุทธศาสนา ถือว่า การกระทำ คำพูดหรือความคิดที่เป็นไปเพื่อไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่นให้เดือดร้อนและมีประโยชน์ ถือว่าเป็นความดี ที่ตรงกันข้ามเป็นความชั่ว ที่กล่าวมานี้เป็นหลักกว้าง ๆ อาจมีข้อปลีกย่อยอื่น ๆ อีกที่จะต้องทำความเข้าใจพิเศษอีกมากมาย

ในองค์ประกอบดังกล่าวข้างต้นนั้นถือเอาประโยชน์เป็นจุดยืนที่สำคัญ คือเมื่อพิจารณาเล็งถึงประโยชน์แล้ว แม้ตนเองจะต้องเดือดร้อนบ้าง ผู้อื่นเดือดร้อนบ้างก็ถือว่าเป็นความดี เช่น พ่อแม่ต้องเดือดร้อนเหนื่อยยากในการทำมาหาทรัพย์เพื่อให้ลูกได้ศึกษาเล่าเรียน

ตัวลูกเองก็ต้องเดือดร้อน ทุกข์กายทุกข์ใจในการศึกษาเล่าเรียน ต้องอดทนอดออม ต้องหักใจไม่ให้หลงใหลเพลิดเพลินในการเที่ยวเล่น เอาเวลาเหล่านั้นมาศึกษาเล่าเรียน แต่การกระทำดังกล่าวนี้มีคุณประโยชน์ทั้งในปัจจุบันและอนาคตจึงเป็นความดี

ในทางกลับกัน สิ่งที่ทำให้ตนเองและผู้อื่นมีความสุข ความเพลิดเพลิน แต่ไม่มีประโยชน์ กลับจะเป็นโทษทั้งแก่ตนและผู้อื่น เช่น การแสวงหาความสุขจากอบายมุขต่าง ๆ ถือว่าเป็นความชั่ว

พิจารณาตามหลักที่สูงขึ้นไปสักหน่อย มาตรฐานแห่งความดี ความชั่ว ท่านถือเอา ความโลภ โกรธ หลง และไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง เป็นหลักพิจารณา คือกรรมใดที่ทำเพราะโลภ โกรธ หลง เป็นมูล จัดเป็นกรรมชั่ว ถ้าทำด้วยความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง เป็นมูล คือทำด้วยเหตุผลบริสุทธิ์จัดเป็นกรรมดี

โลภ โกรธ หลง เป็นอกุศลมูล รากเหง้าของอกุศล ความไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง เป็นกุศลมูล รากเหง้าของกุศล ท่านว่าเมื่อกุศลมูลเกิดขึ้นแล้ว กุศลอย่างอื่นที่ยังไม่เกิดขึ้นก็เกิดขึ้น ที่เกิดแล้วก็เจริญยิ่งขึ้น ฝ่ายอกุศลมูลก็เช่นเดียวกัน

ปัญหาเรื่องการทำดีไม่ได้ดี

เรื่องนี้เป็นปัญหาค้างใจของคนส่วนมากอยู่ หรืออย่างน้อยก็ลังเลสงสัยว่าทำดีได้ดีจริงหรือไม่ ? จนถึงกับบางคนพูดว่า "ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป" ดังนี้เป็นต้น ที่มีความรู้สึกเช่นนี้ อาจเป็นด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้

๑. ทำความดีเพียงเล็กน้อย แต่ต้องการผลมาก คือ ต้องการผลเกินเหตุที่ทำ จึงทำให้รู้สึกทำดีไม่ได้ดี หรือได้ดีน้อยไป ตามธรรมดา คนที่มีความต้องการมาก สิ่งใดที่ได้มาแม้มากก็รู้สึกว่าน้อย ส่วนคนที่ต้องการน้อย แม้ได้ของน้อยก็รู้สึกว่าได้มาก ความมากความน้อยจึงขึ้นอยู่กับความต้องการและความจำเป็นของคนซึ่งมีอยู่ไม่เท่ากัน

๒. ไม่รู้จักรอคอยผลแห่งความดีที่ตัวทำ อยากได้ผลเร็ว ๆ เมื่อความดีที่ทำให้ผลช้า ก็ไม่ทันใจจึงทึกทักเอาว่าทำดีไม่ได้ดี ตามที่กล่าวข้างต้นแล้วว่า การให้ผลของกรรมมีลักษณะซับซ้อนมาก และกรรมจะให้ผลเมื่อสุกงอมเต็มที่แล้วเท่านั้น

กรรมที่ทำพร้อมกัน อาจให้ผลก่อนบ้างหลังบ้างเหมือนต้นไม้ต่างชนิดกัน เราปลูกวันเดียวกัน เป็นต้นว่ามะม่วงกับมะละกอ มะละกอย่อมให้ผลก่อนแต่ไม่ยั่งยืน ส่วนมะม่วงให้ผลช้าแต่ยั่งยืน เพราะฉะนั้น ผู้ทำความดีจึงควรหัดเป็นคนใจเย็น รู้จักรอคอย

ส่วนความชั่วก็เหมือนกันย่อมรอเวลาฟักตัว ไม่ใช่ทำชั่วเดี๋ยวนั้น ผลชั่วก็พรั่งพรูเดี๋ยวนั้นเลย ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วใครเล่าจะกล้าทำชั่ว

๓. ทำความดีไม่พอดี หมายถึง ทำขาดไปบ้าง ทำเกินไปบ้าง คือ ขาดความพอดีในการทำดี เมื่อขาด ความดีก็ไม่สมบูรณ์ เมื่อเกินก็ล้นไป เสียประโยชน์ ไม่ว่าการทำดีหรือทำอะไรทั้งสิ้นจะต้องพอดีจึงจะดีแท้

ตัวอย่างเช่นเสื้อผ้าต้องพอดีกับผู้สวมใส่ อาหารก็ต้องพอดีของแต่ละมื้อ และได้สารอาหารต่าง ๆ ตามที่ร่างกายต้องการแต่พอดี ไม่มีสารใดเกินสารใดขาด จึงจะทำให้ร่างกายแข็งแรงเจริญเติบโตและต้านทานโรคได้ดี

การก่อสร้างที่เราต้องพึ่งสถาปนิกและวิศวกร ก็เพื่อให้เกิดความพอดีนั่นเอง ตัวอย่างเช่นเสาก็พอดีกับน้ำหนักบ้าน ถ้าบ้านใหญ่เสาเล็กก็ทานน้ำหนักไม่ไหว บ้านอาจพังลงมา ที่คิดว่าจะประหยัด ก็กลายเป็นสูญเสียทรัพย์สินเป็นอันมาก

แต่ถ้าทำเสาใหญ่เกินไปไม่สมดุลกับการที่จะต้องรับน้ำหนัก ก็เป็นการสูญเปล่าโดยไม่จำเป็น เหมือนคนตัวนิดเดียวขาใหญ่โตมโหฬารจะกลายเป็นน่าเกลียด เป็นที่เยาะเย้ยของคนทั้งปวง

เพราะฉะนั้น จึงต้องทำความดีแต่พอดีกับบุคคลนั้น ๆ กรณีนั้น ๆ ไม่ให้มากเกินไป หรือน้อยเกินไป ไม่น้อยจนไม่พอ และไม่มากจนล้นเหมือนน้ำล้นตุ่ม ส่วนล้นนั้นเป็นส่วนเกิน

๔. ความฝังใจหรืออุปาทานอยู่ในใจว่าทำคุณกับใครไม่ขึ้น

ข้อนี้คนทั่วไปเป็นกันมาก ถ้าไปหาหมอดูและหมอดูทายว่า ชะตาของคุณทำคุณกับใครไม่ขึ้นละก็ชอบใจนักเชียว นั่นเป็นเพราะไปตรงกับความฝังใจที่มีอยู่แล้ว

การทำความดีกับคนนั้นค่อนข้างยากสักหน่อย ไม่เหมือนทำความดีกับพวกสัตว์ เป็นต้นว่าสุนัข ทั้งนี้เพราะคนต้องการความภูมิใจ แม้เราจะทำความดีให้เขาก็อย่าไปลดความสำคัญ และความภูมิใจของเขา

ถ้าเราไปลดความสำคัญและความภูมิใจของเขาแล้ว แทนการรู้สึกสำนึกบุญคุณของเรา เขาจะรู้สึกเคียดแค้นชิงชังเสียด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นการทำความดีกับคนจึงต้องทำด้วยความระมัดระวัง มิฉะนั้นการทำคุณจะกลายเป็นโทษไป

ให้เลิกฝังใจว่าทำคุณกับใครไม่ขึ้นเสีย แล้วทำความดีด้วยความเสียสละ ด้วยน้ำใจอันดีงาม ท่านจะต้องได้รับผลดี และอาจได้มากว่าที่ท่านหวังเสียอีก

๕. ขาดกุศลโลบายในการทำดี คำว่ากุศโลบายไม่ใข่เลห์กระเท่ห์ หรือเล่ห์เหลี่ยมกลโกงอะไร แต่หมายถึงความฉลาดรอบคอบ หยั่งรู้ถึงเหตุการณ์ บุคคล กาลเวลา (หรือโอกาส) ในการที่จะทำความดี กุศโลบายในการทำความดี ก็คือทำดีให้ถูกกาล ให้ถูกบุคคล ถูกเรื่องราว



กุศโลบายในการทำดี


๑. ทำดีถูกกาล คือเมื่อเห็นเป็นเวลาอันเหมาะสมแล้วจึงทำ ไม่ใช่ต้องดูฤกษ์ยามแล้วจึงทำ แต่หมายถึงทำให้ทันเวลาเหมาะแก่เวลา เช่นจะช่วยเหลือคนต้องช่วยให้ทันเวลาที่เขาต้องการความช่วยเหลือ ตรงกับเวลาที่เขาขาดแคลน

เหมือนให้น้ำแก่คนที่กำลังกระหาย ให้ข้าวแก่คนที่กำลังหิว แม้จะตักเตือนคนให้เว้นความชั่ว ก็ต้องดูเวลาอันเหมาะสม ไม่ให้เขาต้องอับอายเพราะคำเตือนของเรา หรือเตือนเขาเมื่อสายเสียแล้ว เขาได้ทำผิดพลาดไปมากแล้ว

บางอย่างเราควรเตือนเขาล่วงหน้าเพื่อเขาจะได้ไม่ถลำลึกลงไปในความผิดพลาด การทำดีผิดเวลามักจะให้โทษเหมือนคนเอาเสื้อหนาวมาใส่หน้าร้อน จะร้อนยิ่งขึ้น จะโทษเสื้อไม่ได้ต้องโทษความโง่เขลาของเราเอง

การช่วยเหลือคนนั้น สิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งก็คือต้องช่วยให้ทันท่วงที อย่าให้พลาดได้ มิฉะนั้นจะเสียประโยชน์ เหมือนช่วยคนตกน้ำ จะต้องช่วยให้ทันท่วงทีก่อนที่จะจมน้ำตาย มัวลังเลล่าช้าอยู่ เขาจมน้ำตายไปแล้วจะช่วยอะไรกันอีก

นักปราชญ์จีนเช่นจังจื้อ ได้เคยตกยากแล้วกล่าวคำเปรียบเทียบที่น่าคิดเอาไว้ มีเรื่องโดยย่อว่า คราวหนึ่งจังจื้อตกทุกข์ได้ยากบากหน้าไปขอยืมข้าวสารจากเจ้าเมืองคนหนึ่งซึ่งเคยเป็นเพื่อนกัน ท่านเจ้าเมืองพูดว่า "ให้ขอยืมแต่ต้องรอให้เขาเก็บส่วยหรือภาษีจากราษฎรเสียก่อน แล้วจะให้ยืมสัก ๓๐๐ เหรียญเพื่อไปซื้อข้าวสาร"

จังจื้อได้ฟังดังนั้น จึงเล่าเรื่องเปรียบเปรยว่า "เมื่อวานนี้ขณะฉันเดินทางมาหาท่านที่นี่ ได้ยินเสียงเรียกตะโกนอยู่เบื้องหลัง จึงหันไปดูเห็นปลาตัวหนึ่งดิ้นอยู่ในรอยล้อเกวียนบนดิน ซึ่งมีน้ำแฉะ ๆ ขังอยู่นิดหน่อย ฉันถามมันว่ามานอนดิ้นอยู่ที่นี่เพื่ออะไร?

ปลาตอบว่ามาจากทะเลตังไฮ มาติดอยู่ที่นี่ ท่านโปรดเมตตาช่วยเหลือฉันสักครั้งหนึ่ง ด้วยการเอาน้ำสักเล็กน้อยมาเทลงบนรอยเกวียนนี้ ฉันฟังปลาพูดดังนั้นจึงตอบว่า "ข้ากำลังเดินทางไปภาคใต้ มุ่งไปแสดงธรรมของข้าให้เจ้านครโง้ว เจ้านครอ๊วดฟัง ข้าจะไประบายน้ำในลำแม่น้ำไซกังมาให้เจ้าจะดีหรือไม่เล่า?"

ปลาได้ฟังดังนั้นก็น้อยใจ เสียใจ พลางตอบว่า "ฉันรับทุกข์ทรมานอยู่นี้เพราะขาดน้ำ หากได้น้ำเพิ่มอีกเพียงเล็กน้อยก็จะพอยังชีพไปได้ ไม่จำเป็นถึงกับต้องไประบายน้ำในแม่น้ำมาช่วย ถ้าท่านจะทำอย่างนั้น ก็จงรีบไปซื้อฉันตามร้านขายปลาแห้งในตลาดเถิด"

๒. ทำดีถูกบุคคล ทำดีถูกบุคคลนั้นทำอย่างไร ? คือการที่เราทำความดีแก่บุคคลที่ควรได้รับความดี เช่น การช่วยเหลือเขาก็ควรช่วยเหลือคนที่ควรช่วย และกำหนดขอบเขตว่าควรช่วยเหลือเพียงใด ถ้าเราช่วยเหลือคนที่ไม่ควรช่วยและช่วยไม่ถูกวิธี ก็จะมีโทษติดตามมา เช่นในนิทานเรื่องชาวนากับงูเห่าเป็นตัวอย่าง

การช่วยคนที่ควรช่วยนั้นเป็นกุศลมาก เพราะเป็นการบำบัดทุกข์ของเขาจริง ๆ การบำบัดทุกข์มีความสำคัญกว่าการบำรุงสุข ต่อเมื่อบำบัดทุกข์ได้ดีแล้วจึงค่อยบำรุงสุข แต่ถ้าบำบัดทุกข์ยังไม่ได้ มัวแต่พะวงแต่เรื่องบำรุงสุข

ความสุขที่ได้นั้นก็เป็นความสุขปลอม และเป็นความสุขในกองทุกข์นั้นเองเหมือนเอาดอกไม้หอมไปปักไว้บนสิ่งปฏิกูลเป็นต้นว่าบนกองอุจจาระ จะเป็นอย่างไรจงตรองดูเถิด

คนบางพวกคิดแต่จะบำรุงสุขสนุกสนาน ทั้งแก่ตนเองและญาติมิตร ในขณะที่การบำบัดทุกข์ที่จำเป็นก็ยังทำไม่ได้ สังคมของเราทำความดีแบบเอาเนื้อหนูไปแลกเนื้อช้างกันเสียเป็นส่วนมาก

หนูเนื้อน้อยอยู่แล้ว การขูดรีดเอาจากคนยากจน หรือคนที่มีรายได้น้อยไปบำรุงบำเรอความสุขของคนมั่งมีอยู่แล้ว เป็นการทำความดีแบบเอาเนื้อหนูไปใส่เนื้อช้าง หรือขอดน้ำในหลุมเท้าโคไปใส่แม่น้ำทำนองเดียวกัน


นอกจากนี้ ควรพิจารณาถึงคุณธรรมของคนที่เราจะช่วยเหลืออีกด้วย คนมีคุณธรรมน้อยช่วยไปก็ได้ผลน้อย (นี่พูดถึงทำความดีด้วยการหวังผล) เหมือนหว่านข้าวลงไปในนาที่ไม่ดี, คนที่มีคุณธรรมสูงมาก ความดีที่ทำให้ผลมากเหมือนหว่านพืชลงในที่ดินดี นี่เป็นเหตุผลประการหนึ่งที่คนชอบทำบุญทำทานกับผู้มีศีลธรรม

อีกประการหนึ่งความกตัญญูกตเวทีนั้นเป็นภูมิธรรมของคนดี คนที่มีภูมิธรรมอันนี้มีไม่มากนัก ถ้าเราทำความดีไปถูกคนที่มีความกตัญญูกตเวที ผลดีก็มีเพิ่มพูนเป็นทวีคูณ ตรีคูณหรือได้รับผลดี ตอบแทนเป็นร้อยเท่าพันเท่า

แต่ถ้าเราทำความดีไปถูกคนที่อกตัญญูกตเวทีเข้า ก็เหมือนว่าหว่านพืชลงบนหิน เหนื่อยแรงเปล่า อาจจะกลับกลายไปเป็นโทษภายหลังได้ด้วย เพราะคนอกตัญญูอกตเวทีนั้นชอบประทุษร้ายคนที่มีบุญคุณต่อตน มิะนั้นเขาจะเรียกคนอกตัญญูหรือ

๓. ทำดีเหมาะกับเหตุการณ์ ทำดีให้เหมาะกับเหตุการณ์นั้นทำอย่างไร ? ในที่นี้หมายถึงการทำถูกเรื่องถูกราว ไม่ดึงดันถือเอาแต่ความเห็นของตน หรือความพอใจไม่พอใจของตนเป็นสำคัญ แต่ยืดหยุ่นผ่อนผันตามเหตุการณ์ที่เรียกรวม ๆ ว่า

การณวสิกตา ความเป็นผู้ทำกิจเหมาะแก่เหตุการณ์, ทำพอสมควรแก่ฐานะ ความรู้ความสามารถของตน อนึ่งเหตุการณ์ของโลกย่อมเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ

การดึงดันแข็งขืนอยู่คนเดียวย่อมไม่ได้ประโยชน์ นอกจากคนทั้งหลายจะไม่เห็นดีแล้ว ตัวเองก็ต้องคอยแข็งขืนขัดแย้งกับคนในสังคมอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดการทะเลาะวิวาทเป็นศัตรูต่อกัน

ความรู้ความสามารถ ศิลปวิทยาที่จะอำนวยผลมากก็ต้องเป็นความรู้ความสามารถอันเป็นที่นิยมของสังคม เพราะฉะนั้น ความรู้ความสามารถที่ทันสมัยจึงเป็นอุปการะต่อชีวิตมาก

จะเห็นคุณของศิลปวิทยาการก็ต่อเมื่อสังคมต้องการและนำไปใช้ประโยชน์นั้นเอง ความรู้ความสามารถจะเป็นหมันถ้าไม่ได้ใช้ เหมือนอาหารที่ไม่ย่อยมีแต่ให้ความอึดอัดหามีประโยชน์อันใดไม่

ความรู้อย่างหนึ่ง อาจมีประโยชน์มากในสมัยหนึ่ง แต่ต่อมาความนิยมของคนทั้งหลายเสื่อมไป ใครยังดึงดันยึดถือความรู้อย่างนั้นเป็นที่พึ่งอยู่ก็อาจจะต้องเดือดร้อน

จะพร่ำรำพันว่าฉันมีความรู้ความสามารถดี แต่ทำไมจึงไม่ได้ดีดังนี้หาควรไม่ เพราะไม่เหมาะกับเหตุการณ์และความนิยม การทำความดีที่ถูกต้องตามระเบียบกฏเกณฑ์อันดีงาม ก็จัดอยู่ในข้อนี้เหมือนกัน

รวมความว่า การทำความดีนั้น จะต้องมีกุศโลบาย มีความฉลาดรอบคอบพอสมควรจึงจะได้รับผลเต็มที่ จะได้ไม่ต้องคิดอีกต่อไปว่าทำดีแล้วไม่ได้ดี คนที่ทำความดีเป็นนั้นจะได้รับผลดีเสมอ และได้รับเท่าที่ต้องการหรือมากกว่าที่ต้องการ

เหมือนเพาะมะม่วงไว้เมล็ดหนึ่งพองอกเป็นต้น ถึงคราวมีลูกมันจะให้ลูกเป็นร้อยเป็นพันและมีลูกให้นานถึง ๖๐ - ๗๐ ปี จนกว่าจะแก่ตายไป



มีต่อคะ

DAO
12-08-2008, 02:33 PM
วิธีสร้างความดี


วิธีสร้างความดีเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ในชีวิตของมนุษย์ ผู้ใดก็ตามที่รู้จักความดีความชั่วแล้วว่าคืออะไร แต่ถ้าไม่รู้จักวิธีสร้างความดี หลีกหนีความชั่วแล้วก็จะสร้างความดีไม่สำเร็จ

เหมือนคนที่รู้ว่าตึกนั้นคืออะไร ประกอบด้วยอะไรบ้าง แต่ถ้าไม่รู้จักวิธีสร้างตึกให้สำเร็จได้ สร้างแล้วพัง ๆ ในที่สุดก็อ่อนใจเลิกสร้างไปเอง

คนที่คิดจะสร้างความดีก็เช่นกัน ถ้าไม่รู้จักวิธีสร้าง สร้างแล้วล้ม ๆ ในที่สุดก็เลิกประกอบคุณงามความดี เห็นว่าไม่ได้ผลอะไร เมื่อเลิกสร้างคุณงามความดีเสียแล้ว ก็จะหันมาสร้างความชั่วแทน นำชีวิตไปสู่ความตกต่ำล่มจมในที่สุด

วิธีสร้างความดีนั้นมีหลักที่ควรยึดถืออยู่ ๒ ประการด้วยกันคือ

๑. ศึกษาให้รู้แจ้งว่า ความดีที่แท้จริงคืออะไร

คนส่วนมากรู้จักความดีปลอมมากกว่าความดีแท้ ลักษณะของความดีแท้นั้นมีหลายอย่าง เช่น

ก. ทำความดีเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น คือ เพื่อประโยชน์ของคนที่เราทำดีด้วยจริง ๆ ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของเรา ถ้าเราจะได้ประโยชน์บ้างก็เป็นเพียงผลพลอยได้ หรือประโยชน์รอง ถ้ามีจุดมุ่งหมายเพื่อประโยชน์ตน แม้ผู้อื่นจะพลอยได้รับด้วยก็ยังไม่เป็นความดีแท้

ข. ทำดีด้วยความบริสุทธิ์ใจหรือไม่บริสุทธิ์ใจ ถ้าบริสุทธิ์ใจก็เป็นความดีแท้ ถ้ามีเจตนาอันไม่บริสุทธิ์แฝงเร้นอยู่ด้วยก็เป็นความดีเทียม

ค. ทำดีมีผู้รู้เห็นมากหรือมีผู้รู้เห็นน้อย คนส่วนมากชอบทำความดีให้มีผู้รู้เห็น ยิ่งรู้เห็นมากประกาศโฆษณามากยิ่งรู้สึกว่าดี แต่นักปราชญ์ที่แท้จริงกลับมองเห็นว่า การทำความดีแบบปิดทองหลังพระ เป็นความดีที่แท้จริง

โบราณท่านว่า ความดีที่มนุษย์ไม่เห็นนั้น เทวดาท่านเห็นและฟ้าดินก็ประทานผลดีให้ ที่สำคัญก็คือตนของตนนั่นแหละรู้เห็นยิ่งกว่าผู้ใด ความเศร้าหมองและความผ่องแผ้วแห่งจิต อันเป็นบ่อเกิดอันแท้จริงแห่งทุกข์และสุขนั้น ใครเล่าจะมองเห็นได้ดียิ่งกว่าตัวเราเอง

ง. ความดีนั้น ทำถูกหรือทำผิด คนตั้งใจจะทำความดีแต่ทำผิดก็มี ถ้าทำความดีผิด ๆ ก็ไม่เป็นผลดีแก่ตนและผู้อื่น ตัวอย่างเช่น ถ้าเศรษฐีคนหนึ่งมีเงินเป็นกระสอบ เช้าขึ้นก็ตั้งโต๊ะหน้าบ้านบริจาคเงินแก่ผู้ต้องการ เพราะเห็นว่าการบริจาคเป็นเรื่องดี

คนทั้งหลายในเมืองนั้น ก็จะพากันเกียจคร้านไม่ทำงานและใช้จ่ายเงินสุรุ่ยสุร่าย สำมะเลเทเมา เมื่อหมดเงอนแล้วก็มาขอใหม่ การทำอย่างนี้ไม่เป็นประโยชน์ทั้งแก่ผู้ให้และผู้รับ การทำความดีอย่างนี้เป็นการทำผิด

อีกตัวอย่างหนึ่ง สมมติว่าผู้คุมนักโทษเกิดเมตตากรุณาในพวกนักโทษขึ้นมา เห็นว่าการติดคุกของพวกเขาลำบากนักจึงปล่อยนักโทษออกจากคุกทั้งหมด เห็นเป็นการให้อภัยเป็นคุณธรรม อันนี้ก็เป็นการทำความดีที่ผิด ฯลฯ การทำความดีที่ผิดนั้นไม่เป็นความดีแท้ แต่เป็นความดีปลอมหรือเทียม

ส่วนการทำความดีที่ถูกนั้น จะต้องเป็นประโยชน์เกื้อกูลทั้งแก่ตน ผู้อื่นและสังคมเอาเป็นเยี่ยงอย่างได้ถ้าผู้อื่นทำอย่างนั้นบ้างก็เป็นประโยชน์แก่ผู้ทำตาม

จ. ทำความดีอย่างยุติธรรมหรือไม่ยุติธรรม บางคนตั้งหน้าแต่จะทำความดี เช่นการให้อภัย เมตตา กรุณา โดยมิได้นึกถึงความยุติธรรมหรือผลเสียอันจะเกิดขึ้นอย่างร้ายแรงภายหลัง แก่ผู้ได้รับอภัยและเมตตากรุณานั้น

ตัวอย่างเช่น ข้าราชการฝ่ายปกครองไม่ลงโทษคนผิด หรือครูไม่ลงโทษนักเรียนที่ทำผิด พ่อแม่ทำตนเป็นคนใจดี ไม่หาวิธีลงโทษลูกที่เกเรกียจคร้านเสียแต่ต้น ๆ ปล่อยไว้จนผู้ทำผิดนั้นเคยชินกับความผิดพลาดบกพร่อง และทำมากขึ้นจนประสบความเสียหายใหญ่หลวง

อย่างนี้เรียกว่าทำดีโดยไม่คำนึงถึงความยุติธรรม ลงท้ายก็เป็นโทษแก่คนที่ทำดีด้วยนั่นเอง ไม่เป็นความดีแท้ ถือเป็นความบกพร่องเสียด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นการทำความดีจะต้องประกอบด้วยความยุติธรรม ต้องลงโทษคนที่ควรได้รับโทษ ให้รางวัลคนที่ควรได้รับรางวัล

ฉ. ความดีนั้นทำอย่างครึ่ง ๆ กลาง ๆ หรือทำอย่างสมบูรณ์ ข้อนี้หมายความว่า การทำความดีที่จะให้ได้ผลดีจริงเต็มเม็ดเต็มหน่วยและเป็นความดีที่แท้จริงนั้น จะต้องทำอย่างสม่ำเสมอ ไม่ทำ ๆ หยุด ๆ หรือครึ่ง ๆ กลาง ๆ

การสั่งสมความดีนั้นเหมือนหยาดน้ำหยดลงในภาชนะ ถ้าสั่งสมทุกวันก็จะเปี่ยมไปด้วยความดี ถ้าทำ ๆ หยุด ๆ บุญหรือความดีนั้นก็จะพร่องอยู่เสมอไม่เต็มบริบูรณ์

ซ. ความดีนั้นใหญ่หรือเล็ก ข้อนี้ถือเอากุศลเจตนาและประโยชน์ที่ผู้อื่นจะพึงได้รับเป็นเกณฑ์ ถ้าจิตประกอบด้วยกุศลเจตนามาก ถือว่าเป็นความดีอันแท้จริงยิ่งใหญ่

หรือหากว่าสิ่งที่ทำนั้นแม้เป็นเรื่องเล็กน้อย ในความรู้สึกของผู้กระทำ แต่เป็นประโยชน์แก่คนหมู่มากก็ถือว่าเป็นความดีอันแท้จริงยิ่งใหญ่เช่นกัน ตัวอย่างการช่วยเหลือราษฎรผู้ทุกข์ยากให้มีที่ทำกินหรือการลดภาษีอากรแก่ผู้มีรายได้น้อย

การสั่งให้เอาใจใส่ทุกข์สุขของผู้เจ็บป่วย ไม่ให้ทอดทิ้งพวกเขา การสั่งสอนคนให้รู้จักความดีความชั่วให้กลับตัวจากทางชั่วมาดำเนินอยู่ในทางดีมีศีล มีธรรม มีความเข้าใจในชีวิตอย่างถูกต้อง เหล่านี้ล้วนเป็นความดีที่ยิ่งใหญ่ทั้งสิ้น

ซ. ความดีนั้นทำยากหรือทำง่าย ความดีที่ทำยากเป็นความดีที่แท้จริง ในหนังสือโอวาทสี่ของท่านเหลี่ยวฝาน (ท่านเหลี่ยวฝานเป็นชาวจีนสมัยเมื่อ ๕๐๐ ปีเศษ มาแล้วเกิดราว พ.ศ. ๒๐๙๒ เขียนหนังสือนี้ไว้เมื่ออายุ ๘๙ ปี) ได้กล่าวอธิบาย พร้อมทั้งยกตัวอย่างเกี่ยวกับเรื่องความดีที่ทำยากนี้ไว้ว่า

"สมัยก่อน ท่านผู้คงแก่เรียนมากมักจะพูดว่า ถ้าจะเอาชนะใจตนเองให้ได้ ต้องเริ่มจากจุดที่ข่มใจได้ยากที่สุดเสียก่อน ถ้าสามารถเอาชนะได้ จุดอื่นๆก็ไม่สำคัญเสียแล้ว ย่อมจักเอาชนะได้โดยง่าย

ลูกศิษย์ของท่านขงจื้อชื่อฝานฉือ ได้ถามท่านอาจารย์ว่า เมตตาธรรมนั้นเป็นอย่างไร ท่านขงจื้อตอบว่า การทำสิ่งที่ยากที่สุดให้ได้เสียก่อน จึงจะชนะใจตนเองได้ เมื่อเอาชนะใจตนเองได้แล้วความเห็นแก่ตัวก็หมดไป จึงบังเกิดเมตตาธรรม

พ่อจะยกตัวอย่างให้ฟัง ลูกจะได้เข้าใจง่ายเข้า ที่มณฑลเจียงซีมีท่านผู้เฒ่าแซ่ซู ท่านยังชีพด้วยการสอนหนังสือตามบ้าน อยู่มาวันหนึ่ง มีชายคนหนึ่งเป็นหนี้ เพราะความยากจน เมื่อไม่สามารถชำระหนี้ได้เจ้าหนี้ก็ยึดภรรยาของชายผู้นี้ไปเป็นคนใช้

ท่านผู้เฒ่าซูเกิดความสงสารสามีภรรยาคู่นี้ยิ่งนัก จึงยอมเสียสละเงินที่เก็บออมไว้จากการสอนหนังสือเป็นเวลาสองปี นำมาใช้หนี้แทนชายผู้นั้น ทำให้สามีภรรยาคู่นี้ไม่ต้องแยกจากกัน

"อีกตัวอย่างหนึ่ง มีชายคนหนึ่งยากจนยิ่งนัก จึงนำบุตรชายและภรรยาไปจำนำไว้ ได้เงินมาพอประทังชีวิต เมื่อถึงกำหนดไม่มีเงินจะไปไถคืน ภรรยาเดือดร้อนคิดจะฆ่าตัวตาย บังเอิญท่านผู้เฒ่าจางรู้เรื่องเข้า ทั้งมีความสงสารยิ่งนัก จึงนำเงินที่ได้สะสมมาแล้วถึงสิบปีมาใช้หนี้แทนให้ พ่อแม่ลูกจึงมีโอกาสกลับมาอยู่ร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง

"ท่านผู้เฒ่าซู และท่านผู้เฒ่าจาง ล้วนแต่ได้ทำสิ่งที่ทำได้ยากยิ่ง เงินที่ท่านสะสมไว้คนละสองปีและสิบปีนั้น ท่านก็หวังว่าเมื่อทำมาหากินไม่ได้แล้ว ก็จะได้พึ่งเงินจำนวนนี้ประทังชีวิตต่อไป

เป็นเงินที่ต้องใช้เวลาอันยาวนานสะสมไว้วันละเล็กละน้อย แต่ท่านทั้งสองก็สามารถตัดใจช่วยเหลือคนที่ไม่รู้จักกันเลยแม้แต่นิดเดียวได้ในพริบตาเดียว นี่คือการทำความดีที่ยากยิ่งจริง ๆ "

หัวข้อสำคัญสำหรับพิจารณาความดีที่แท้จริงว่าเป็นอย่างไรรวม ๘ ข้อ ตั้งแต่ ก.-ซ. นี้ ได้นำเฉพาะหัวข้อจากหนังสือ โอวาทสี่ของท่านเหลี่ยวฝาน ในโอวาทข้อที่ ๓ มา ส่วนคำอธิบายประกอบหัวข้อนั้นเป็นของผู้เขียนเอง ความจริงท่านเหลี่ยวฝานได้อธิบายประกอบไว้ดีมาก ขอให้ท่านผู้อ่านลองหาหนังสือเล่มนี้มาอ่านดูจะได้ประโยชน์มิใช่น้อยทีเดียว

ในหนังสือเล่มเดียวกันนี้ หน้า ๓๑ ได้กล่าวข้อความที่น่าสนใจเกี่ยวกับการทำความดีไว้อีกว่า

การทำความดีต่อผู้อื่นนั้น ก็จะต้องแล้วแต่โอกาส จังหวะ เวลา ก็มีความสำคัญเช่นกัน การช่วยเหลือผู้อื่นนั้นมีวิธีการมากมายประมวลแล้ว ก็สามารถแยกออกได้ ๑๐ วิธีด้วยกัน คือ

๑. ช่วยเหลือผู้อื่นทำความดี
๒. รักและเคารพทุกคนอย่างเสมอหน้า
๓. สนับสนุนผู้อื่นให้เป็นผู้มีความดีพร้อม
๔. ชี้ทางให้ผู้อื่นทำความดี
๕. ช่วยเหลือผู้ที่อยู่ในความคับขัน
๖. กระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
๗. อย่าทำตนเป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์ต้องหมั่นบริจาค
๘. ธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม
๙. เคารพผู้อาวุโสกว่า
๑๐. รักชีวิตผู้อื่นดุจชีวิตของตน

ทั้ง ๑๐ หัวข้อนี้ ท่านอธิบายขยายความไว้อย่างน่าสนใจมาก

นี่คือรายละเอียดของวิธีสร้างความดีประการแรกที่ว่าต้องศึกษาให้รู้แจ้งว่าความดีที่แท้จริงคืออะไร

๒. ปูพื้นฐานแก่จิตใจของตนในการที่จะสร้างความดี คือน้อมจิตให้รักความดีอยู่เสมอ

การสร้างความดีเป็นกิจอันยิ่งใหญ่ของมนุษย์ เป็นสิ่งที่จะต้องทำตลอดชีวิต หรือถ้าจะกล่าวให้หนักแน่นเข้าไปอีก ก็กล่าวได้ว่า ตลอดเวลาที่ท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏ ความดีเป็นสิ่งที่เลิกทำไม่ได้ คนเราจะทำอะไรหรือไม่ก็ตามแต่สิ่งหนึ่งซึ่งจะต้องทำ ไม่ทำไม่ได้ สิ่งนั้น คือ

"ความดี" แต่คนที่จะทำความดีได้มั่นคงยั่งยืนนั้นต้องมีพื้นฐานทางจิตใจดี มีพื้นฐานอันมั่นคงเหมือนการสร้างตึก หรืออาคารใหญ่ อาคารถาวรจะต้องลงรากตอกเข็มอย่างหนาแน่นมั่นคง

อุปสรรคของการทำความดีนั้นมีมาก จึงทำให้คนจำนวนไม่น้อยท้อถอยในการทำความดี เห็นว่าการไม่ต้องทำอะไรแล้วอยู่ไปวันหนึ่ง ๆ สุขสบายกว่า จะทำให้เหนื่อยยากลำบากทำไมกัน

เพราะฉะนั้น เพื่อให้มีพื้นฐานทางจิตใจที่ดี มั่นคง จึงควรน้อมจิตให้รักความดีอยู่เสมอเหมือนคนหนุ่มสาวที่รักสวยรักงาม รักความสะอาด การรักความดีก็เพื่อความดีนั่นเอง

แม้เราจะทำความดีเพื่อความดี แต่เมื่อได้สั่งสมความดีบริบูรณ์ดีแล้ว ความดีนั่นเองจะย้อนกลับมาคุ้มครองให้อยู่เย็นเป็นสุข เหมือนคนปลูกต้นไม้ไว้ด้วยความรักต้นไม้ เมื่อมันเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว ย่อมให้ร่มเงา ดอก ผล ความชุ่มเย็นเป็นสุขแก่เจ้าของผู้ปลูกนั่นเอง

สมตามคำที่พระพุทธองค์ตรัสว่า "ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้วย่อมนำความสุขมาให้".


มีต่อคะ

DAO
12-08-2008, 02:35 PM
อนุภาพแห่งความดี


มนุษย์เรามีชีวิตอยู่ด้วยอนุภาพของสิ่ง ๒ สิ่งรักษา คือบุญรักษา และบาปรักษา บุญคือคุณความดี บาปคือความชั่วมีตัวอย่างมากมายที่แสดงถึงความจริงอันนี้ เช่น คนมีชีวิอยู่อย่างสุขสบายก็เพราะบุญรักษา มีชีวิตอยู่อย่างทุกข์ทรมานก็เพราะบาปรักษา

บุญบาปที่เคยทำมาในชาติก่อนเป็นต้นทุนชีวิตของแต่ละคนมาในชาตินี้จึงมีสภาพไม่เหมือนกัน กินบุญเก่าบ้าง สร้างบุญใหม่บ้าง ทำดีเพื่อใช้หนี้กรรมเก่าบ้าง สร้างเวรกรรมขึ้นใหม่บ้าง ซับซ้อนยุ่งเหยิง ดังชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายที่เห็น ๆ กันอยู่ทุกวันนี้

ความมีอวัยวะร่างกายสมบูรณ์ก็เป็นลาภอย่างหนึ่งของชีวิต ร่างกายที่ไม่มีโรคเบียดเบียน ยิ่งเป็นลาภอันประเสริฐขึ้นไปอีก สมดังพระพุทธภาษิตที่ว่า "ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง"

ถ้าเราน้อยใจว่าเราเกิดมาจน ไม่มีเงินล้าน ๑๐ ล้าน ๑๐๐ ล้าน เราจะยอมขายดวงตาทั้ง ๒ ข้างของเราด้วยเงิน ๒ ล้านไหม ? แขน ๒ ข้างอีก ๒ ล้าน ขา ๒ ข้างอีก ๒ ล้าน รวม ๖ ล้าน ถ้าเราไม่ยอมแสดงว่าอวัยวะเพียง ๓ อย่างของเรานี้ มีราคามีค่าเกิน ๖ ล้านแล้ว เรารวยแล้ว

ให้เป็นเศรษฐีมีเงินร้อยล้าน แต่ตาบอดหูหนวกจะเอาหรือไม่ ความเป็นผู้มีอวัยวะสมบูรณ์มีโรคน้อยก็เป็นผลบุญหรือคุณงามความดี ท่านที่เป็นแพทย์คลุกคลีอยู่กับคนป่วยในโรงพยาบาลย่อมเห็นชัดด้วยตนเองแล้วว่าคนป่วยคนพิการมีสภาพอย่างไร

อนุภาพของความดี

อนุภาพคืออะไร ? คือสิ่งหนึ่งซึ่งมีพลังหรืออำนาจที่จะก่อให้เกิดผลตามเหตุที่กระทำ แต่เนื่องจากเหตุเป็นสิ่งซับซ้อนมาก จึงทำให้บุคคลสับสนในปรากฏการณ์ที่ตนได้ประสบ ปรากฏการณ์ที่เราประสบนั้นเป็นผลของอำนาจหรือพลังอย่างใดอย่างหนึ่งที่แฝงเร้นอยู่เบื้องหลัง

เรียกตามภาษาธรรมะว่า ปฏิจจสมุปบาท และปฏิจจสมุปปันนธรรม ปฏิจจสมุปบาทคือตัวกฏ ส่วนปฏิจจสมุปปันนธรรมนั้น คือปรากฏการณ์ เช่นคลื่นเป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่ง เกิดขึ้นเพราะอาศัยตัวกฏคือความสัมพันธ์ของลมกับน้ำ ฯลฯ

ความดีคืออะไร ? ในทางจริยศาสตร์ ความดีเป็นสิ่งที่นิยามไม่ได้ คือนิยามให้ได้ความหมายสมบูรณ์ไม่ได้แม้จะพยายามนิยามสักเท่าไร ก็จะต้องมีข้อบกพร่องในคำนิยามนั้นอยู่เสมอ

เพราะฉะนั้น นักปรัชญาและนักจริยศาสตร์ จึงได้ตัดสินความดีเป็นเรื่อง ๆ ไป และเป็นคราว ๆ ไป สุดแล้วแต่เงื่อนไขต่าง ๆ จะกำหนด เพราะความดีที่คนรู้จักกันโดยทั่วไปนั้นยังเป็นโลกียะ เป็นสิ่งสัมพัทธ์ (relative) อยู่ จึงขึ้นอยู่กับเงื่อนไขต่าง ๆ มากมาย

อย่างไรก็ตาม แม้เราจะนิยามความดีไม่ได้ แต่เราก็สามารถรู้จักความดีได้เหมือนเราให้คำนิยามความเปรี้ยวความหวานไม่ได้แต่เราก็รู้จักความเปรี้ยวความหวานได้

ความดีที่เป็นอัตนัย (Subjective)
และปรนัย (Objective) ต่างกันอย่างไร ?

ความดีที่เป็นอัตนัยหรืออัตวิสัยนั้น คือ ความดีที่คนนิยมกันว่าดี หรือที่ตนชอบ เราชอบจึงดีสำหรับเรา หรือสังคมนิยมว่าดี ใครทำอย่างนั้น เขาก็ตัดสินว่าดีแล้ว

ความดีที่เป็นปรนัยหรือภววิสัยนั้น คือ ความดีที่เป็นจริงในตัวเอง คงดำรงความเป็นจริงอย่างนั้นอยู่ ตัวอย่างเปรียบเทียบ เช่น อาหารที่ดีมีประโยชน์ต่อร่างกาย ใครกินเข้าก็ได้ประโยชน์เท่าที่ประโยชน์มันมีเงื่อนไขปลีกย่อยอาจจะมีอยู่บ้าง

แต่โดยหลักใหญ่ ๆ เป็นอย่างนั้น ส่วนใครจะชอบมังคุดมากกว่าลางสาด หรือชอบทุเรียนมากกว่ามะม่วงนั้นเป็นเรื่องอัตวิสัยเป็นเรื่องเฉพาะตัว แต่ผลไม้แต่ละชนิดก็คงดำรงคุณภาพคุณลักษณะของมันอยู่อย่างนั้น

ความดีที่เป็นปรนัยนั้น จะดำเนินไปตรงจุดมุ่งหมายด้วยเหตุผลบริสุทธิ์และให้สำเร็จประโยชน์เป็นอนุภาพได้จริง ขอยกตัวอย่างสักตัวอย่างหนึ่งคือ การทำความดีเอาหน้า หรือเพราะชอบที่จะทำอย่างนั้น จัดเป็นความดีแบบอัตวิสัย

เทียบอัตตาธิปไตย และโลกาธิปไตย ส่วนการทำความดีเพื่อความดี เพราะเห็นว่าถูกต้องสมควรด้วยเหตุผลบริสุทธิ์ จบในตัวเอง จัดเป็นความดีแบบปรนัยหรือภววิสัย เทียบธรรมาธิปไตยในพุทธศาสนา คนที่ทำความดีแบบปรนัยนั้นเป็นคนมีคุณธรรมสูง แต่คนธรรมดา ก็ควรหัดทำอย่างนั้นบ้าง นานไปก็ทำได้ไปเอง

ความดี ความถูก บุญ เหมือนกันหรือไม่ ?

ความดีก็คือความดีดังกล่าวมาแล้ว ส่วนความถูกหมายถึงถูกต้องตามกฏซึ่งมีอยู่ ๒ กฏ คือกฏที่คนตั้งขึ้น (Man-made Law) และกฏธรรมชาติ (Natural Law) กฏที่คนตั้งขึ้นนั้นไม่แน่นอน อาจผิดหรือถูกก็ได้สุดแล้วแต่คนผู้ตั้งกฏว่า เขาเข้าถึงความจริงที่เป็นปรมัตถ์ (Ultimate Truth) เพียงไร

เรื่องที่จะต้องโยงไปถึงจริยธรรมหรือความดีที่ถูกต้องนั้นจะต้องมีปรมัตถธรรมอยู่เบื้องหลังอยู่เสมอ คือมีความจริงที่อธิบายได้ด้วยเหตุผล ว่าทำไมเราจึงต้องทำอย่างนั้น ๆ เช่น ทำไมเราต้องมีเมตตากรุณาต่อผู้อื่น ทำไมเราจึงไม่ควรประทุษร้ายผู้อื่น ทำไมเราจึงต้องให้สิทธิเสรีภาพแก่สตรีเท่าเทียมกับบุรุษ ฯลฯ

บุญ ส่วนที่เป็นเหตุ คือส่งที่ชำระล้างกายกรรม วจีกรรม ละมโนกรรมให้สะอาด ส่วนที่เป็นผล หมายถึงความสุข เช่น การให้ทานที่ถูกต้องช่วยชำระล้างความตระหนี่ และมีผลเป็นความสุขทั้งผู้ให้และผู้รับ (ผู้ให้ก็ได้ คือได้ให้, ผู้รับก็ได้ คือได้รับ)

การรักษาศีลช่วยชำระล้างโทษทางกายและวาจา เป็นพื้นฐานให้ทำความดีได้สะดวกยิ่ง ๆ ขึ้นไป เพราะการทำความดีโดยไม่ละโทษคือ ความชั่วเสียก่อนนั้น จะทำให้ความดีพลอยเศร้าหมองไปด้วย

เหมือนเอาน้ำใสผสมกับน้ำขุ่ม เอาอาหารที่สะอาดใส่ในภาชนะที่สกปรก และคนไข้กินยาโดยไม่เว้นของแสลง ด้วยเหตุนี้พิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาจึงนิยมให้รับศีลเสียก่อน แล้วให้ทาน

และท่านกล่าวว่าทานของผู้มีศีลย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก อนึ่งเมื่อให้แก่ผู้มีศีลมีธรรม ก็จะมีอานิสงส์มากขึ้น การทำบุญที่ถูกต้องจึงเป็นความดีอย่างยิ่ง

ตัวอย่างอานุภาพของความดีตามหลักพระพุทธศาสนา

ขอได้โปรดพิจารณาพระพุทธภาษิตต่อไปนี้

๑. เมื่อบุคคลเอาน้ำมันเทลงไปในน้ำ เอาก้อนหินทิ้งลงในน้ำ จะอ้อนวอนสักเท่าใด เพื่อให้น้ำมันจมและก้อนหินลอยขึ้น ย่อมไม่ได้น้ำมันคงลอยขึ้นเหนือน้ำ ก้อนหินคงจมน้ำอยู่อย่างนั้น

เพราะน้ำมันมีสภาพลอยขึ้นเหนือน้ำ ก้อนหินมีสภาพจมน้ำฉันใด ความดีเป็นเหตุให้เฟื่องฟู ความชั่วเป็นเหตุให้ล่มจม ตกต่ำเมื่อทำแล้วจะอ้อนวอนให้มีผลตรงกันข้ามไม่ได้

(๑๘/๓๘๔/๕๙๘)

๒. สิ่งที่น่าใคร่น่าปรารถนา ๕ ประการ คือ อายุ วรรณะ ยศ สุข และสวรรค์ ไม่สามารถมีได้ด้วยการอ้อนวอน เพราะถ้ามีได้ด้วยวิธีการอย่างนั้นแล้ว ใครเล่าจะขาดแคลน ยากจน สาวกของพระอริยะไม่พึงเพลิดเพลินพอใจในการอ้อนวอน แต่เมื่อต้องการสิ่งใดก็พึงปฏิบัติข้อปฏิบัติอันเป็นเหตุให้บรรลุสิ่งนั้น

๓. ขุมทรัพย์คือบุญ (ความดี) นี้ให้สิ่งที่น่าปรารถนาทั้งปวงแก่เทวดาและมนุษย์ เทวดาและมนุษย์ต้องการสิ่งใด ๆ สิ่งนั้นย่อมสำเร็จได้ด้วยบุญ ความเป็นผู้มีผิวพรรณสวย เสียงไพเราะ ทรวดทรงดี รูปงาม ความเป็นใหญ่และมีบริวารมาก ก็ล้วนสำเร็จด้วยบุญ

บุญมีอนุภาพให้ได้สิ่งต่อไปนี้คือ ความเป็นใหญ่ในประเทศ เสรีภาพ ความสุขอย่างพระเจ้าจักรพรรดิ อันเป็นที่รักของคนทั้งหลาย ความเป็นราชาในเทวโลก มนุษยสมบัติ สวรรคสมบัติ นิพพานสมบัติ

การพรั่งพร้อมด้วยมิตรที่ดี ความชำนาญในวิชชาและวิมุตติ ความแตกฉาน (ปฏิสัมภิทา ๔) ความหลุดพ้น สาวกบารมี ปัจเจกภูมิ และพุทธภูมิ ความพรั่งพร้อมด้วยบุญ (คุณงามความดี) มีอานุภาพมากอย่างนี้ นักปราชญ์ ผู้เป็นบัณฑิต จึงสรรเสริญความเป็นผู้มีบุญซึ่งได้เคยทำไว้แล้ว ว่าเป็นมงคลอันสูงสุดอย่างหนึ่ง

(๒๕/๑๑)

การทำความดีควรจะอธิษฐานหรือไม่ ?

เรื่องนี้มีคนถามกันมาก โดยธรรมดาจะมีความเห็นเป็น ๒ พวก พวกหนึ่งเห็นว่าควรอธิษฐาน คำว่า อธิษฐาน หมายความว่าขอให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ อีกพวกหนึ่งเห็นว่าไม่ควรอธิษฐาน เพราะจะเป็นการเห็นแก่ตัว หรือทำความดีด้วยความโลภ ต้องการผลตอบแทน

ปัญหาสำคัญก็คือ ถ้าอธิษฐานจะได้อย่างที่อธิษฐานหรือไม่ ข้อนี้น่าพิจารณาอย่างยิ่ง ในความเชื่อและประสบการณ์ของข้าพเจ้าเชื่อว่าได้ เมื่อมีเหตุปัจจัยเพียงพอ ถ้าเหตุปัจจัยไม่เพียงพอก็ยังไม่ได้

เปรียบเหมือนคนที่ต้องการของราคา ๒ หมื่นบาท ถ้าเขามีเงินพอและต้องการของนั้น เขาย่อมซื้อได้ เรียกว่าได้ตามต้องการ

อนึ่งการให้ผลของความดีก็มี ๒ อย่าง คือให้ผลตามธรรมชาติของความดีประเภทนั้น ๆ เช่น ให้ทานอำนวยผลให้มั่งคั่ง รักษาศีลอำนวยผลให้อยู่อย่างปลอดภัย เจริญภาวนาอำนวยผลให้อยู่อย่างสงบสุข

เปรียบเหมือนพันธุ์ไม้ย่อมออกผลตามชนิดของตน ๆ ต้นไม้ย่อมไม่ออกผลเป็นเสื้อผ้า หรือบ้าน และรถยนต์ แต่ชาวสวนอาศัยผลไม้นั้น ได้เงินมาแล้ว ซื้อบ้านก็ได้ รถยนต์และเสื้อผ้าก็ได้

ข้อนี้ฉันใด ความดีก็ฉันนั้น ย่อมให้ผลตามชนิดนั้น ๆ ก็จริง แต่ผู้ทำความดีย่อมอาศัยผลรวมของความดีนั้น ๆ ไปสู่ความดีอื่น หรือสิ่งอื่นที่ตนต้องการเพราะฉะนั้น การอธิษฐานจึงเป็นเรื่องที่อำนวยผลได้ แต่ต้องมีรากฐานอยู่ที่การทำความดี

ส่วนการอ้อนวอนซึ่งไม่อยู่บนพื้นฐานแห่งความดี ย่อมไม่อาจบันดาลผลให้เกิดขึ้นได้ ดังพระพุทธภาษิตที่อ้างแล้วข้างต้น ความดีที่สะสมไว้ในชาติก่อนเรียกว่า ปุพเพกตปุญญตา ความดีทีทำใหม่ด้วยการตั้งตนไว้ชอบไว้ถูกทาง เรียกว่า อัตตสัมมาปณิธิ ทั้ง ๒ อย่างรวมกันเป็นอนุภาพ อภินิหาร สิริสมบัติ และบุญวาสนา

"อานุภาพ บุญฤทธิ์ที่ส่งเสริมผู้บำเพ็ญบุญบารมีให้เป็นที่นิยมนับถือของมวลชน

อภิหาร อำนาจของบุญบารมี ย่อมเชิดชูผู้บำเพ็ญขึ้นเป็นอัจฉริยบุคคล บันดาลให้มีผู้ยกย่องว่าเป็นคนมีน้ำหนัก น่าเคารพยำเกรง

สิริสมบัติ มีมิ่งขวัญ สง่าราศีดีเด่นเป็นพิเศษ

วาสนา หมายถึงบุญวาสนา คือการที่จิตอยู่แรมนานกับคุณงามความดี แม้จะเกิดในถิ่นที่ไม่เจริญ บุญวาสนาก็จะช่วยส่งให้ไปอยู่ในถิ่นที่เจริญ คอยอุปถัมภ์ค้ำชูให้สูงเด่นขึ้นไป"*

สรุปความว่าอนุภาพแห่งความดีหรือบุญนั้นมีมากสุดจะพรรณาได้ เมื่อกล่าวโดยสรุปก็มี ๔ ระดับคือ

ชั้นกามาวจรกุศล อำนวยผลให้มีความสุขความเจริญในสุคติภูมิ เช่นมนุษย์และเทวดา

ชั้นรูปาวจรกุศลและอรูปาวจรกุศล อำนวยผลให้มีความสุขสงบอย่างพรหมผู้ได้รูปฌานและอรูปฌาน

ชั้นโลกุตรกุศล อำนวยผลให้สิ้นอาสวะกิเลส อันเป็นบรมสุข

ใน ๓ ชั้นหลังนี้ ถ้าได้อภิญญาด้วยก็จะมีอนุภาพและอภินิหารพิเศษเหนือสามัญมนุษย์มากนัก.

* สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธมฺมธโร) วัดพระศรีมหาธาตุ กทม. มงคลยอดชีวิต เล่ม ๒
-------------------------------------------------------------------------

คัดลอกจาก: สวรรค์ นรก บุญ บาป
วศิน อินทสระ หน้า ๗๕ - ๑๐๑



ขอขอบคุณลิ้งที่มาคะ http://larndham.net/cgi-bin/kratoo.pl/007666.htm