สุขาวดีพุทธเกษตร
นายณัฐธัญ มณีรัตน์
๑.คำนำ
ภายหลังจากพุทธปรินิพพาน พระพุทธศาสนาได้แตกออกเป็น ๑๘ นิกาย โดยมีนิกายหลักคือ มหาสังฆิกะ และสถวีระ หรือเถรวาท ในเบื้องต้นความแตกแยกนั้นมีสาเหตุมาจากทั้งสองฝ่ายมีความเห็นไม่พ้องกันในเรื่องสิขาบทเล็กน้อย[1] (http://www.oknation.net/blog/#_ftn1) แต่ในภายหลังการอธิบายหัวข้อธรรมก็แตกต่าง ในราวพุทธศตวรรษที่ ๖ ได้มีการพัฒนาของคณะสงฆ์ที่เรียกตนเองว่า มหายาน เกิดขึ้น โดยนำเอาปรัชญาพระพุทธศาสนานิกายต่าง ๆ รวมทั้งเถรวาทด้วยผสมผสานเข้าด้วยกัน จนเกิดรูปแบบเฉพาะตัว เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่ศาสนากำลังฟื้นฟู คำสอนของมหายานจึงถูกประยุกต์ขึ้นเพื่อใช้รับมือศาสนาพราหมณ์ในครั้งนั้น ในทางพุทธปรัชญาคำสอนของมหายานดูจะมีความต่างจากคำสอนของเถรวาทอยู่ไม่น้อย ในด้านอุดมคติเถรวาทเน้นที่การรู้แจ้งในอริยสัจ ๔ และการบรรลุเป็นพระอรหันต์ แต่ฝ่ายมหายานเน้นคำสอนในเรื่องการบำเพ็ญตนเป็นพระโพธิสัตว์เพื่อโปรดสรรพสัตว์ แม้ในภายหลังมหายานก็มีการแยกออกเป็นนิกายต่าง ๆ อีกหลายนิกายแม้คำสอนบางประการจะแตกต่างกัน แต่อุดมการณ์มิได้แตกต่างกัน หากจะหาคำเพื่อบ่งบอกความเป็นมหายาน ควรจะเป็น เพื่อสรรพสัตว์ เพราะคำสอนมหายานทุกนิกายล้วนมีจุดมุ่งหมายเดียวกันทั้งสิ้น ดังนั้นแม้คำสอนจะดูหลากหลาย แต่ถ้าหากทำความเข้าใจ ความคิดรวบยอด (concept) ของมหายานได้ก็จะเข้าใจได้ไม่ยากนัก
๑.๑ ความหมายของคำว่ามหายาน
คำว่า มหายาน หมายถึง ยาน(พาหนะ)ใหญ่ที่สามารถขนสรรพสัตว์ให้ข้ามพ้นวัฏสงสารได้ ในมหาปรัชญาปารมิตาอรรถกถา ท่านนาคารชุน (เป็นคณาจารย์องค์สำคัญที่ก่อตั้งนิกาย มาธยมิกเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๗ )ได้อธิบายว่า พระพุทธรรมมีเอกรส คือ รสแห่งวิมุตติความหลุดพ้นจากปวงทุกข์ แต่ชนิดของยานมี ๒ ชนิด ชนิดแรกเพื่อตัวเอง ชนิดสองเพื่อตัวเองและสรรพสัตว์ด้วย และท่านยังได้กล่าวไว้ใน ทวายศกายศาสตร์ ว่า มหายาน คือ ยานอันประเสริฐกว่ายานทั้งสอง (สาวกยานและปัจเจกยาน) เหตุนั้นจึงเชื่อว่า มหายาน ปวงพระพุทธเจ้ามหาบุรุษได้เคยอาศัยยานนี้ เหตุนั้นจึงชื่อว่า มหายาน อนึ่งเมื่ออาศัยยานนี้แล้ว ย่อมเข้าถึงที่สุดแห่งยานนี้ทั้งปวง เหตุนั้นจึงชื่อว่ามหายาน ดังนั้นอุดมคติของมหายานจึงอยู่ที่การบำเพ็ญบารมีเพื่อเป็นพระโพธิสัตว์ ฉันจะสามารถรื้อขนสรรพสัตว์ให้ข้ามสู่พระนิพพานได้อย่างไม่มีประมาณ โดยมีแนวคิดที่ว่า หากเราพ้นทุกข์ สรรพสัตว์อื่นต้องพ้นทุกข์ด้วย หรือแม้แต่ให้สรรพสัตว์พ้นทุกข์ไปก่อน แล้วตนเองจึงพ้นทุกข์ไปภายหลัง ดังนั้น พระโพธิสัตว์จะต้องรับทุกข์แทนสรรพสัตว์ได้ แม้ว่าการเปลื้องทุกข์ให้สรรพสัตว์นั้น ตนเองจะต้องถูกเผาไหม้ในนรกกี่อสงไขยกัลป์ก็ตาม และเหตุนี้พระโพธิสัตว์จะต้องประกอบด้วยมหาปณิธาน ๔ ประการ คือ
๑) เราจะกิเลศทั้งหลายให้สิ้น
๒) เราจะศึกษาพระธรรมให้เจนจบ
๓) เราจะโปรดสัตว์ทั้งหลายให้สิ้น
๔) เราจะบรรลุพุทธภูมิ[2] (http://www.oknation.net/blog/#_ftn2)
ด้วยเหตุนี้คำสอนของมหายานจึงเต็มไปด้วย พระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์มหาสัตว์มากมาย ในวัชรสูตร กล่าวว่า มีพระพุทธเจ้ามากมายดุจเมล็ดทรายในคงคานที และในมหายานศรัทโธปาทศาสตร์ กล่าวว่า พระโพธิสัตว์กลุ่มนี้สามารถไปสู่โลกธาตุทั้งปวงในจักรวาล ในขณะจิตเดียวเพื่อสักการบูชาพระพุทธเจ้าทั้งหลายเพื่อขอร้องให้พระองค์แสดง ธรรมจักร ท่านเหล่านี้ได้อาศัยถ้อยคำต่างๆเพื่อชี้แนะเอื้อประโยชน์ต่อมนุษย์ทุกคน[3] (http://www.oknation.net/blog/#_ftn3) จากข้อความที่ยกมาดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า
มหายานเชื่อว่านอกจากโลกมนุษย์ของเราแล้ว ยังมีโลกธาตุอื่นๆอีกมากมาย และในโลกเหล่านั้น มีบางโลกธาตุที่มีพระพุทธเจ้ามาอุบัติ และยังมีพระชนม์ชีพอยู่ แสดงพระสัทธรรมทศนาโปรดสัตว์อยู่ทั่วไปจำนวนมาก โลกธาตุที่มีพระพุทธเจ้ามาอุบัตินั้นเรียกว่า พุทธเกษตร[4] (http://www.oknation.net/blog/#_ftn4) คำสอนในเรื่องพุทธเกษตรนี้ไม่ปรากฏในปกรณ์ฝ่ายเถรวาท แต่บางเรื่องที่ดูใกล้เคียงเช่น เรื่องพระเมตไตรย์พุทธเจ้าที่มีการอธิบายถึงโลกธาตุในสมัยที่พระองค์ได้ตรัสรู้เป็นพระพระพุทธเจ้าว่าจะเป็นดินแดนแห่งความสุขปราศจากความทุกข์โทมนัส พืชพันธุ์ธัญญาหารบริบูรณ์โดยไม่ต้องเพาะปลูก มีต้นกัลปพฤกษ์อยู่ ๔ มุมเมือง ปรารถนาสิ่งใดก็อธิษฐานเอา คนที่อุบัติในยุคนั้นล้วนมีรูปร่างหน้าตาเหมือนกันหมดทุกคน ไม่มีความแตกต่างกันทางกายภาพเลย และไม่ความพิการบกพร่องใด ๆ
อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ปรากฏในคัมภีร์ชั้นหลัง เช่น คัมภีร์อนาคตวงศ์ และเตภูมิกถา ซึ่งเป็น การอธิบายโลกธาตุของพระเมตไตรย์พุทธเจ้า อันมีลักษณะใกล้เคียงกับพระพุทธเกษตรของมหายานอย่างมาก ในพระสูตรฝ่ายมหายานมีการกล่าวถึงพุทธเกษตรจำนวนมาก แต่พุทธที่เป็นที่รู้จักของพุทธศาสนิกชนมหายานอย่างกว้างขวางคือ สุขาวดีพุทธเกษตรของพระอมิตาภพุทธเจ้า วิสุทธิไพฑูรย์พุทธเกษตร ของพระไภษัชยคุรุพุทธเจ้า และอภิระติพุทธเกษตรของพระอักโษภยพุทธเจ้า พุทธเกษตรที่กล่าวมานี้ล้วยงดงามด้วยทิพยภาวะ ประดับไปด้วยรัตนชาติ มีความรื่นรมย์นานาประการ หลักฐานที่เก่าแก่ในการสนับสนุนให้อธิษฐานไปอุบัติยังพุทธเกษตรนั้นปรากฏในทศภูมิภาษาของท่านนาคารชุนได้อธิบายว่า พระโพธิสัตว์ผู้ปฏิบัติเพื่อภูมิอันไม่เวียนกลับ มีมรรคาอยู่ ๒ ทาง ทางหนึ่งปฏิบัติยาก ทางที่สองปฏิบัติง่าย ทางที่ปฏิบัติยากได้แก่ ในสหโลกธาตุยามพ้นพุทธกาล การปฏิบัติเพื่อบรรลุภูมิอันไม่เวียนกลับยากนัก ความยากลำบากมีหลายกรณีด้วยกัน กล่าวโดยสรุปได้แก่
๑) พวกมิจฉาทิฎฐิ ร่วมกันทำลายก่อกวนโพธิสัตวธรรม
๒) พวกสาวกที่เห็นแก่ปัจเจกสุข กั้นขวางเมตตากรุณา
๓) พวกทุรชนไม่มี หิริโอตตัปปะทำลายกุศลธรรมของผู้อื่น
๔) วิบากอกุศลชนิด โมหะ ไม่อาจทำลายได้
๕) พึ่งแต่กำลังตน ไม่มีผู้อื่นช่วย
กรณีนี้ย่อมเห็นได้ทั่วไป ทางสายนี้จึงอุปมา ด้วยการเดินทางไปสู่เส้นทางทุรกันดาร ย่อมมีความลำบากมาก ส่วนทางที่เดินง่ายปฏิบัตินั้น ได้แก่ความที่มีศรัทธาปสาทะในพุทธองค์ เป็นเหตุปัจจัยตั้งปณิธานไปอุบัติยัง สุขาวดี เมื่อได้อาศัยปณิธานและกำลังของพุทธองค์ (หมายถึง พระอมิตาภพุทธเจ้า) ก็จักไปถือปฎิสนธิ ในวิสุทธิภูมินั้น ด้วยอานุภาพแห่งพระอมิตาภะ ย่อมเข้าถึงภูมิแห่งสัมมาสมาธิ อันไม่เวียนกลับ ทางสายนี้จึงอุปมาโดยการโดยสารเรือไปตามชลมรรค ย่อมได้รับแต่ความสบาย [5] (http://www.oknation.net/blog/#_ftn5) นอกจากนี้ข้อความที่สนับสนุนการไปอุบัติยังสุขาวดียังปรากฏอีกมากมายในพระ
สูตรของมหายาน ด้วยเหตุนี้คำสอนเรื่องพุทธเกษตรจึงมีอิทธิพลต่อ พุทธศาสนิกชนมหายานเป็นอย่างมาก แม้ในปัจจุบันสุขาวดีเป็นสุขาวดีพระพุทธศาสนามหายานนิกายที่มีผู้นับถือมากที่สุด ด้วยเหตุที่ สุขาวดีไม่มีหลักอภิปรัชญาที่ต้องคิดมาก ประชาชนที่นับถือนิกายสุขาวดีจึงไม่ต้องมีความรู้ในพระพุทธศาสนาลึกซึ้ง ภายหลังได้กลายเป็นที่นิยมของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศจีน
ดังนั้นในฐานะของชาวพุทธด้วยกัน ก็ควรที่จะเข้าไปศึกษาเรื่องสุขาวดีพุทธเกษตรให้ถ่องแท้ เนื่องจากว่านิกายนี้มีความสำคัญที่ทำให้ยังมีพุทธศาสนิกชนจำนวนมากศรัทธาถือกันอยู่ โดยทั่วไปทางพ้นทุกข์ในพระพุทธศาสนาต้องพ้นโดยทางญาณมรรค แต่สุขาวดีเป็นการใช้ภัคติมรรค มีความเป็นไปได้ที่ชาวพุทธมหายานปรับปรุงนิกายสุขาวดีขึ้นเพื่อต่อสู่กับพราหมณ์ จึงได้เกิดภัคติมรรคขึ้นในพระพุทธศาสนา ซึ่งออกในรูปของนิกายสุขาวดีนั่นเอง
๒.กายทั้งสามของพระพุทธเจ้า (ตรีกาย) กับพุทธเกษตร
มหายานมีทัศนะเกี่ยวกับภาวะของพระพุทธเจ้าหลังจากปรินิพพานต่างจากเถรวาท โดยเถรวาทถือว่าเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วก็ไม่มีภาวะใดหลังเหลือเกี่ยวข้องกับโลกอีก จึงไม่มีคำสอนเรื่องภาวะของพระพุทธเจ้าหลังจากปรินิพพาน แต่มหายานเชื่อว่าหากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วดับสูญ ก็เท่ากับว่าบารมีที่พระองค์ทรงบำเพ็ญมานับอสงไขยกัลป์ก็ถือว่าสูญสิ้นไปด้วย ดังนั้นมหายานจึงมีความคิดที่ว่าพระกายที่ดับสูญไปนั้น แท้จริงเป็นเพียงกายเนื้อยังมีพระกายที่ยังไม่ดับสูญแต่ดำรงอยู่ในภาวะที่แตกต่างกันออกไป[6] (http://www.oknation.net/blog/#_ftn6) นอกจากนี้แล้วมหายานยังทัศนะต่อพระพุทธเจ้า
แตกต่างออกไปอีกบางประการเช่น
๑. มหายานถือว่า พระธรรมกายคือพระวรกายที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าซึ่งยังคงดำรงอยู่แม้กานเนื้อของพระองค์จะดับสูญไปแล้วก็ตาม แต่เถรวาทถือว่า ธรรมกายก็คือพระธรรมของพระองค์[7] (http://www.oknation.net/blog/#_ftn7)
๒. มหายานได้เพิ่มคำสอนเรื่องสัมโภคกายเข้ามาอีกกายหนึ่ง เพื่อสนองความต้องกายของสรรพสัตว์ ในข้อที่ว่าพระพุทธเจ้ายังมิได้ดับสูญ หากแต่ยังดำรงอยู่ในอีกรูปแบบหนึ่งเท่านั้น
๓. มหายานถือว่า กายมนุษย์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นแท้จริงเป็นเพียงมหาอุบายในการโปรดสัตว์ดังมีข้อความปรากฏใน วิมลเกียรตินิทเทศสูตร สาวกวรรคมีใจความว่า สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาพาธเล็กน้อย ต้องใช้น้ำโคนมไปบำบัด ท่านวิมลเกียรติคฤหบดี พอดีพบกับพระอานนท์ระหว่างทางจึงได้กล่าวถามพระอานนท์เรื่องการอาพาธของพระผู้มีพระภาคเจ้า และท่านวิมลเกียรติกล่าวกับพระอานนท์ว่า พระคุณเจ้าอานนท์ พระเจ้าจักรพรรดิอาศัยบุญญาธิการเล็กน้อย ยังเป็นผู้ปราศจากโรคาพาธ ป่วยการที่จักกล่าวถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้สมบูรณ์ด้วยบุญญาธิการอันไม่มีประมาณ แม้พวกพาหิรชนนอกศาสนาจักดูหมิ่นเอา พระวรกายที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าทั้งหลายคือธรรมกายนั้นเอง มิได้เป็นกายเกิดจากกิเลศตัณหา พระสรีระกายของพระองค์เป็นอนาสวะ มีอาสวะธรรมเป็นมูลเฉทสิ้นเชิงแล้ว พระสรีระของพระองค์อสังขตะ ปราศจากเหตุปัจจัยปรุงแต่ง เมื่อพระสรีระของพระตถาคตมีสภาพดังนี้จะมีโรคาพาธเกิดขึ้นได้อย่างไร พระอานนท์เกิดปริวิตกขึ้นว่าจักทำอย่างไรดีโดยพุทธานุภาพ บรรดาลให้พระอานนท์ได้ยินพระสุรเสียงในอากาศดังมาว่า อานนท์ถูกต้องแล้วตามที่คฤหบดีผู้นั้นกล่าว แต่เนื่องด้วยพระพุทธเจ้าทรงถืออุบัติมาในปัญจสหาโลกธาตุ ซึ่งมีความเสื่อมต่างๆ จึงทรงสำแดงให้เห็นว่าอาพาธ เพื่อเป็นอุบายโปรดสรรพสัตว์ให้
พ้นทุกข์[8] (http://www.oknation.net/blog/#_ftn8) แต่เถรวาทถือว่าพระพุทธเจ้าแม้เหนือกว่าสามัญชนเพียงใดพระสรีระและพระชนมา
ยุยังคงถูกจำกัดอยู่ในขอบเขตแห่งกฎธรรมชาติ ความยิ่งใหญ่ของพระพุทธเจ้าในทัศนะองเถรวาทยังคงได้แก่ความหลุดพ้นทางจิตเท่านั้น
๔. มหายานถือว่า การที่พระพุทธเจ้าดับขันปรินิพพานนั้นเห็นเพียงมายาที่พระองค์แสดงให้เห็นเพื่อเป็นอุบายในการโปรดสัตว์ แต่เถรวาทไม่เห็นด้วยกับการโปรดสัตว์ดังกล่าว
จะเห็นได้ว่าตามทัศนะของมหายานนั้นพระพุทธเจ้าทรงเป็นอภิบุคคล ผู้บรรลุความสมบูรณ์แห่งปัญญา เป็นเหตุให้มหายานอธิบายลักษณะของกายพระพุทธเจ้าออกเป็น ๓ ลักษณะได้แก่
๑.นิรมาณกาย คือ กายสังขารของความเป็นมนุษย์ของพระพุทธเจ้า เป็นกายที่เปลี่ยนแปลงไปตามกฎธรรมชาติในที่นี้หมายถึง รูปกายของพระศากยมุนีพุทธเจ้า และพนะมานุษีพุทธเจ้าทั้งหลาย ที่ทรงออกมหาภิเนศกรมณ์ ตรัสรู้เทศนาสั่งสอนสรรพสัตว์ และดับขันธ์ปรินิพพานอันเป็นไปตามความผันแปรแห่งสังขาร
๒. สัมโภคกาย คือ กายที่รัศมีแผ่ซ่านมีลักษณะเป็นทิพย์ไม่มีที่สิ้นสุด สัมโภคกายนี้ปุถุชนไม่อาจมองเห็นได้เป็นกายที่ทรงใช้เทศนาสั่งสอน พระโพธิสัตว์ มหาสัตว์ ซึ่งปรากฏได้ทุกแห่งหน ดังนั้นแม้พระพุทธเจ้าจะปรินิพพานไปแล้วแต่พระโพธิสัตว์ยังสามารถเห็นพระพุทธเจ้าในรูปสัมโภคกายได้ มหายานถือว่า สัมโภคกายนั้นอยู่ระหว่างธรรมกายกับนิรมาณกาย
๓. ธรรมกาย คือกายอันเกิดจากธรรมไม่มีเบื้องต้นท่ามกลางและที่สุดเป็นภาวะที่ไม่ขึ้นอยู่กับกาละและเทศะ[9] (http://www.oknation.net/blog/#_ftn9) ซึ่งต่างจากเถรวาท เพราะเถรวาทถือว่าธรรมกายของพระพุทธเจ้าคือพระคุณ
ทั้งสามของพระพุทธเจ้าอันได้แก่พระปัญญาคุณ พระวิสุทธิคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ ในคัมภีร์มหายานศรัทโธปาทศาสตร์ได้อธิบายว่า ธรรมกายได้แก่พระธรรมความเป็นไปอันสูงสุด และปรัชญาความรู้อันสูงสุด ในคัมภีร์ฝ่ายมาธยมิกได้อธิบายว่าธรรมกายคือความว่างจากกิเลสอาสวะ ซึ่งไม่อาจพรรณนาได้[10] (http://www.oknation.net/blog/#_ftn10) ดังนั้นเพื่อแสดงว่าพระพุทธเจ้าเสมอด้วยพระธรรม พระพุทธเจ้าทั้งหลายจึงมิได้แตกต่างล้วนมาจากธรรมกายทั้งสิ้น อีกประการหนึ่งพระพุทธเจ้าได้เคยตรัสกับพระวักกลิว่า ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเราตถาคต ผู้ใดเห็นเราตถาคตผู้นั้นเห็นธรรม เป็นการแสดงว่าพระพุทธเจ้าเสมอด้วยพระธรรม พระพุทธเจ้าทั้งหลายล้วนเสมอภาคแห่งธรรมกาย เพราะสัจจะย่อมเป็นอย่างนั้น พระธรรมย่องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ในมติเถรวาทยอมรับนิรมาณกายและธรรมกายเท่านั้น ไม่มีคำสอนเรื่องสัมโภคกายแต่มีครั้งหนึ่งที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงษ์ตามที่ปรากฏในอรรถสาลินี ยามที่พระองค์เสด็จไปบิณฑบาตก็ดี การทำภัตรกิจก็ดี พระองค์ได้เนรมิต รูปกายพระพุทธเจ้าขึ้นเพื่อให้แสดงธรรมแทนพระองค์ ลักษณะดังกล่าวพออนุมานรูปนิมิตนี้เป็นสัมโภคกายได้เช่นกันแต่ลักษณะของสัมโภคกายนี้ก็มิได้แตกต่างจากนิรมานกายเลย จึงพอสรุปได้ว่า ตรีกายในคำสอนมหายานมีความแตกต่างจากเรื่องกายในทัศนะของเถรวาท
๓. ความสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธเจ้ากับพุทธเกษตร
ตามคำสอนของพุทธศาสนามหายานถือว่าพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์มีมากมายและในจักรวาลอันกว้างใหญ่นี้ก็มีโลกธาตุที่มีพระพุทธเจ้ามาอุบัติ แม้โลกธาตุของเราจะว่างจากการมีพระพุทธเจ้ามา ๒๕๐๐ กว่าปีแล้วก็ตาม แต่ขณะนี้ ณ โลกธาตุแห่งอื่นยังมีพระพุทธเจ้าซึ่งยังดำรงพระชนม์ และตรัสพระธรรมเทศนาสั่งสอนสรรพสัตว์อยู่ โลกธาตุที่ยังมีพระพุทธเจ้าซึ่งยังดำรงพระชนม์ชีพอยู่นั้น เรียกว่าพุทธเกษตร[11] (http://www.oknation.net/blog/#_ftn11)
ดังนั้นคำว่า พุทธเกษตรนี้ จึงไม่ใช่พระนิพพาน แต่พุทธเกษตรหมายถึงดินแดน หรือโลกธาตุใดที่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติขึ้น พุทธเกษตรจึงมีลักษณะเป็นสถานที่ พุทธเกษตรนั้นมีอยู่มากมาย บางแห่งบริสุทธ์น่ารื่นรมย์เป็นทิพยภาวะ พุทธเกษตรที่มีการกล่าวถึงเสมอ ๆ ในพระสูตรมหายาน ดังเช่น พุทธเกษตรชื่อสุขาวดีพุทธเกษตรของพระอมิตาภะ พุทธเกษตรชื่อศุทธิไวฑูรย์ของพระไภษัชยคุรุ พุทธเกษตรชื่ออภิรติของพระอักโษภยะ เท่าที่กล่าวมาปรากฏพุทธเกษตรสุขาวดีของพระอมิตาภะเป็นที่นิยมมากที่สุด ภายหลังสามารถจัดตั้งเป็นนิกายขึ้นมาโดยเอกเทศ
ในวิมลเกียรตินิทเทสสูตร พุทธเกษตรวรรคกล่าวว่า พระโพธิสัตว์ผู้ปรารถนาจะบรรลุถึงวิสุทธิเกษตรดังกล่าว พึงชำระจิตของตนให้สะอาดบริสุทธิ์ เมื่อจิตสะอาดบริสุทธิ์ดีแล้ว พุทธเกษตรย่อมสะอาดบริสุทธิ์ตามไปด้วย ครั้งนั้น พระสารีบุตรเกิดปริวิตกขึ้นว่า ถ้าจิตของพระโพธิสัตว์บริสุทธิ์ พุทธเกษตรย่อมบริสุทธิ์แล้วไซร้ หรือว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราเมื่อสมัยยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ จักมีจิตไม่บริสุทธิ์กระมังหนอ พุทธเกษตรของพระองค์จึงไม่สะอาดบริสุทธิ์ดังที่ปรากฎ ณ บัดนี้ หลังจากนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้กดนิ้วพระบาทลงสู่ปฐพี ทันใดนั้นทั่วทั้งโลกธาตุก็เปลี่ยนแปลง ปรากฎเป็นรัตนอลังการนับแสนโกฏิ แต่เพราะสัตว์ที่อุบัติในโลกธาตุแห่งนี้ มีอัธยาศัยหยาบ เพื่อโปรดสรรพสัตว์ ให้เหมาะแก่อัธยาศัยนั้นจึงทรงสำแดงพุทธเกษตรให้แตกต่างออกไป ด้วยเหตุที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายมีอุบายโกศลเป็นอจินไตย[12] (http://www.oknation.net/blog/#_ftn12)
จึงพอสรุปได้ว่าพุทธเกษตรนั้นย่อมสำเร็จได้ด้วยอำนาจปณิธานของพระพุทธเจ้า และกรรมนิยมของสัตว์ ดังนั้นพุทธเกษตรทั้งหลายเกิดมีขึ้นด้วยอาศัย พุทธปณิธานที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงตั้งสัตยาธิษฐานไว้ก่อนที่จะบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ หรือในขณะที่กำลังบำเพ็ญบารมีเป็นพระโพธิสัตว์นั่นเอง อย่างเช่น พุทธเกษตรสุขาวดีเกิดจากปณิธานของพระอมิตาภะตั้งแต่เมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็นภิกษุธรรมกร ได้ตั้งปณิธานต่อหน้าเบื้องพระภักตร์พระโลเกศวรราชพุทธเจ้า ดังนั้นเมื่อตรัสรู้แล้วดินแดนนั้นจึงสำเร็จเป็นสุขาวดีพุทธเกษตร
ส่วนเรื่องกรรมนิยมของสัตว์ที่จะไปอุบัติยังพุทธเกษตรนั้น ๆ ก็ขึ้นอยู่กับพระปณิธานของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นด้วย เช่นหากต้องการไปอุบัติยังสุขาวดี ต้องมีคุณสมบัติ ๕ ประการดังที่ได้กล่าวไว้ในคัมภีร์อมิตายุอุปปเทสศาสตร์ ที่ท่านอาจารย์วสุพันธุ์ ได้รจนาไว้ คือ
๑). บูชาพระอมิตาภะเป็นนิจ จัดเป็นทางกายกรรม
๒). ภาวนาพระนามเป็นนิจ จัดเป็นวจีกรรม
๓). ตั้งปณิธาณไปเกิดยังสุขาวดี
๔). การเพ่งภาวนา ด้วยกรรมฐาน ๑๖ ประการ จัดเป็นมโนกรรม
๕). การมีกรุณาต่อ สรรพสัตว์และโปรดสรรพสัตว์[13] (http://www.oknation.net/blog/#_ftn13)
สรุปย่อลงเหลือ ๓ ประการได้แก่
๑. สิ่ง แปลว่า ศรัทธาปสาทะ ในพระอมิตาภะ
๒. หงวง แปลว่า ตั้งปณิธาณไปเกิดที่สุขาวดี
๓. เหง แปลว่า ลงมือปฏิบัติ กุศลกรรมเพื่อเป็นปัจจัยให้ได้ไปเกิดที่สุขาวดี
นอกจากนี้ยังมีการจำแนก สัตว์ที่ไปเกิดยังพุทธเกษตรให้แตกต่างกันไปตามลักษณะแห่ง กุศล หรืออกุศลที่เคยประกอบเอาไว้ รวมถึง คุณสมบัติทางใจ เช่น การมีศรัทธา การมีจิตเมตตากรุณา เป็นต้น ในอมิตายุรธยานสูตร ได้จำแนกผู้ที่จะไปอุบัติยังสุขาวดี ไว้ ๙ ประเภทด้วยกันคือ[14] (http://www.oknation.net/blog/#_ftn14)
ชั้นที่ ๑. บุคคลที่ประกอบด้วยความกรุณา บริบูรณ์ด้วยศีล บำเพ็ญอนุสติ ๖ อยู่เสมอ มีจิตใจที่เชื่อมั่น ตั้งปณิธานเพื่อไปเกิดในสุขาวดี เมื่อถึงมรณกาล พระอมิตาภะและหมู่พระโพธิสัตว์จะเสด็จมารับไปอยู่สุขาวดี
ชั้นที่ ๒. บุคคลที่แตกฉานในปรมัตถธรรม เชื่อในกฎแห่งกรรม ไม่ติเตียนคำสอนมหายาน และอุทิศคุณธรรมมุ่งไปเกิดที่สุขาวดี เมื่อใกล้ถึงมรณกาลพระอมิตาภะและหมู่พระโพธิสัตว์จะเสด็จมารับไปอยู่สุขาวดี ผู้นั้นจะอุบัติในดอกบัว ข้ามวันจึงเบ่งบานหลังจากนั้นจะได้สดับพระธรรมอันลึกซึ้ง ภายใน ๗ วันก็ได้บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
ชั้นที่ ๓. บุคคลที่เชื่อในกฎแห่งกรรม ไม่ติเตียนคำสอนมหายาน และอุทิศคุณธรรมมุ่งไปเกิดที่สุขาวดี เมื่อใกล้ถึงมรณกาลพระอมิตาภะและพระโพธิสัตว์ทั้งสองจะเสด็จมาประทานดอกบัวทองให้ ดอกบัวจะหุบคลุมไว้ ๑ วันจึงบาน ๗ วันให้หลังจึงได้เฝ้าพระอมิตาภะ หลังจากนั้นจะได้ฟังพระสัทธรรม เมื่อผ่านไป ๓ กัปล์เล็กจะได้เข้าสู่ มุทิตาภูมิ
ชั้นที่ ๔. บุคคลที่รักษาศีล ๕ หรือศีล ๘เป็นนิจไม่เบียดเบียนผู้อื่น เมื่อใกล้ถึงมรณกาลพระอมิตาภะและหมู่พระโพธิสัตว์จะเสด็จมารับ เมื่อได้ฟังพระสัทธรรมเรื่อง อริยสัจ ๔ แล้วจึงบรรลุอรหัตผล
ชั้นที่ ๕. บุคคลที่รักษาศีล ๕ หรือศีล ๘มาแล้วอย่างน้อย ๑ วัน ๑ คืน หรือถือสามเณรสิกขา ภิกษุสิกขา อย่างน้อย ๑ วัน ๑ คืนเมื่อใกล้ถึงมรณกาลพระอมิตาภะและหมู่พระโพธิสัตว์จะเสด็จมารับ ผ่านไป ๗ วันดอกบัวจึงบาน เมื่อได้ฟังธรรมก็บรรลุโสดาบัน จากนั้นอีกครึ่งกัป,จึงบรรลุอรหัตผล
ชั้นที่ ๖. บุคคลที่มีกตัญญูกตเวที มีมนุษยธรรม และได้เคยสดับฟังเรื่องสุขาวดี และปณิธาณของพระอมิตาภะ เมื่ออุบัติได้ ๗ วัน จะได้เฝ้าพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ และพระมหาสถามปราปต์ เมื่อฟังพระสัทธรรมแล้ว ล่วงไป ๑ กัปล์จึงบรรลุอรหัตผล
ชั้นที่ ๗. บุคคลผู้สร้างอกุศลกรรม ไม่มีหิริ โอตัปปะ เมื่อใกล้มรณกาลได้พบบัณฑิตมาสอนให้ภาวนาถึงพระอมิตาภะ รูปเนรมิตของพระอมิตาภะและพระโพธิสัตว์ทั้งสองจะเสด็จไปรับ ๗๖ วันดอกบัวจึงบาน ล่วงไป ๑๐ กัปล์ จึงเข้าสู่ปฐมภูมิแห่งโพธิสัตว์
ชั้นที่ ๘. บุคคลที่ก่ออกุศลเป็นนิจ มีคติคืออบายภูมิ แต่โชคดีเมื่อใกล้มรณกาลได้พบบัณฑิตมาสอนให้ภาวนาถึงพระอมิตาภะ คตินิมิตที่เห็นเป็นไฟนรก จักกลายเป็นดอกบัว รูปเนรมิตของพระอมิตาภะและพระโพธิสัตว์ทั้งสองจะเสด็จไปรับ ผ่านไป ๖ กัปล์ดอกบัวจึงบาน เมื่อได้ฟังพระสัทธรรมจากพระโพธิสัตว์ มหาสัตว์ทั้งสอง จึงบังเกิดโพธิจิต
ชั้นที่ ๙. บุคคลที่ก่ออกุศลกรรมมากมาย สมควรสู่อบายภูมิ เมื่อใกล้มรณกาลก็ทุกข์ทรมาน หากได้รับการชี้แนะ ให้สวดรำลึกถึงพระอมิตาภะ ๑๐ ขณะจิต กรรมนิมิตที่เห็นเป็นไฟนรก จักกลายเป็นดอกบัว รูปเนรมิตของพระอมิตาภะและพระโพธิสัตว์ทั้งสองจะเสด็จไปรับ ผ่านไป ๑๒ กัปล์ดอกบัวจึงบาน เมื่อได้ฟังพระสัทธรรมจากพระโพธิสัตว์ มหาสัตว์ จึงบังเกิดโพธิจิต
จะเห็นได้ว่าทั้ง ๙ ชั้น นี้แบ่งออกเป็น ๓ ระดับ คือ สามชั้นแรกสำหรับผู้มีอุปนิสัยมหายาน สามชั้นกลางสำหรับผู้มีอุปนิสัย ปัจเจกยานและสาวกยาน สามชั้นสุดท้ายเป็นผู้ประกอบอกุศลกรรม[15] (http://www.oknation.net/blog/#_ftn15) ในเรื่องการไปอุบัติยังสุขาวดีพุทธเกษตรนั้นยังมีข้อโต้แย้งบางอย่าง กล่าวคือในหมู่ผู้ที่นับถือสุขาวดีเองมีความเห็นต่างกันในเรื่อง ผู้ที่ประกอบอนันตริยกรรมว่าสามารถไปเกิดยังสุขาวดีได้หรือไม่ บางพวกเห็นว่าได้ บางพวกว่าไม่ได้ แต่สำหรับเถรวาทแล้วคงไม่อาจยอมรับได้ เพราะเถรวาทถือว่าอนันตริยกรรมคือกรรมหนักอย่างยิ่ง ปิดบังสวรรค์สมบัติ และนิพพานสมบัติ มีลำดับการให้ผลเป็นชนกกรรม คือกรรมที่นำไปเกิดจะให้ผลทันทีที่ปฏิสนธิจิตเกิด กล่าวคือเมื่อสิ้นชีวิตก็ให้ผลทันที อย่าว่าแต่การไปอุบัติยังพุทธเกษตรที่มีแต่ความสุขสบาย มีโอกาสได้ฟังธรรมจากพระอมิตาภะเลย แม้แต่จะไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานก็ยังไม่ได้ และการที่เพียงแต่ระลึกถึงพระอมิตาภะจะช่วยได้อย่างไร
ในครั้งที่พระเจ้าอาชาตศัตรูกระทำปิตุฆาตเพราะหลงเชื่อคำยุยงของพระเทวทัต ภายหลังเกิดสำนึกตนได้เร่งประกอบกุศลกรรมมากมาย ได้เคยอุปถัมภ์การสังคยนาครั้งที่ ๑ ทั้งยังได้อุปถากพระมหากัสสปเถระ เคยได้ถวายปิณฑบาตรตอนที่ท่านเพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติ อันเป็นกุศลที่มีผลแรง แต่กระนั้นเมื่อพระเจ้าอาชาตศัตรูสวรรคต พระองค์ยังต้องไปเกิดเป็นสัตว์นรกเสวยทุกขเวทนายังโลหะกุมภีมหานรก กุศลกรรมช่วยได้เพียงการที่ไม่ให้พระองค์ต้องไปเกิดยังอเวจีมหานรกที่มีความทุกข์ทรมานมากกว่าเท่านั้น จึงเป็นการยากที่จะให้ยอมรับว่าการระลึกถึงพระอมิตาภะเพียง ๑๐ ขณะจิตก็สามารถพ้นจากกรรมหนักดังกล่าวได้ ในเรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการระลึกถึงพระอมิตาภะนั้น ไม่ใช่การที่เพียงเอ่ยพระนาม แต่เป็นการระลึกด้วยจิตบริสุทธิ์ตั้งมั่น และผู้นั้นแม้ได้ไปอุบัติยังสุขาวดีก็มิใช่จะสะดวกสบายเช่นบุคคลอื่น จะต้องถูกขังอยู่ในดอกบัวเป็นเวลาหลายกัลป์ และในขณะถูกขังอยู่จะได้ยินเสียงเทศนาธรรมอยู่ตลอดเวลา เป็นการกล่อมเกลาจิตใจ หากจะมองว่าการถูกขังก็เป็นการที่ได้รับกรรมแบบหนึ่งเช่นกัน หากแต่ถ้าไปมองที่ความทุกขเวทนาเรารู้สึกว่าน้อยไปเมื่อเทียบกับกรรมที่บุคคลเหล่านั้นได้ก่อไว้ แต่อย่าลืมว่าพุทธศาสนาเองเน้นที่สภาวะจิตเป็นสำคัญการถูกกักขังก็อาจนำความทุกข์ใจมาให้มิใช่น้อยเช่นกัน
อีกประการหนึ่งการที่จำกัด หรือปิดกั้นคนบางกลุ่มไม่ให้ไปเกิดยังสุขาวดีนั้น
๔.ปณิธาน ๔๘ ประการของพระภิกษุธรรมกร
เมื่อปณิธานของพระพุทธเจ้ามีส่วนสำคัญในการทำให้เกิดมีพุทธเกษตร พุทธเกษตรสุขาวดีก็ย่อมเกิดจากการที่พระอมิตาภะ เมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็นภิกษุธรรมกรได้เคยตั้ง ปณิธาน ๔๘ ประการ ต่อหน้าพระภักตร์พระโลเกศวรราชพุทธเจ้า ซึ่งมีอิทธิพลต่อ ลักษณะของสุขาวดี
ในมหาสุขาวดีวยูหสูตร ได้กล่าวถึงการตั้งปณิธานของพระภิกษุธรรมกรว่า หลังจากกล่าวสรรเสริฐคุณพระพุทธเจ้าทั้งหลายแล้ว พระภิกษุธรรมกรได้ตั้งปรารถนาจะตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ จึงได้ทูลพระโลเกศวรราชเจ้าได้ประทานการสั่งสอนพระสัทธรรมอันเป็นไปเพื่อความตรัสรู้ เพื่อให้เข้าถึงความสมบูรณ์ของ สรรพสิ่งที่ประเสริฐจะมีอยู่ในพุทธเกษตรของท่านเมื่อได้ตรัสรู้แล้ว จากนั้น พระพุทธเจ้าโลเกศวรราช ทรงสั่งสอนพระภิกษุธรรมกรอยู่ถึงหนึ่งโกฏิปี และทรงแสดงความประเสริฐของพุทธเกษตรทั้งหลายของพระพุทธเจ้าจำนวน แปดสิบเอ็ดแสนนิยุตโกฏิองค์ หลังจากนั้นเมื่อพระภิกษุธรรมกรได้ทราบถึงความประเสริฐของพุทธเกษตรของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ก็ได้รวบรวมเอาสิ่งประเสริฐเหล่านั้นมาไว้ในพุทธเกษตรหนึ่ง จากนั้นพระภิกษุธรรมกรจึงได้ตั้งมหาปณิธาณ ๔๘ ประการ อันได้แก่
๑. ถ้าพุทธเกษตรของข้าพระองค์ยังมี เปรต เดรัจฉาน อสุกายและสัตว์นรก จะไม่ขอบรรลุอนุตร
สัมมาสัมโพธิญาณ
๒ หากสรรพสัตว์ที่ไปอุบัติยังพุทธเกษตรของข้าพระองค์แล้วตายไป ตกอยู่ในนรกภูมิ เดรัจฉานภูมิ เปรตหรืออสุรกายภูมิแล้วไซร้ ข้าพระองค์จะไม่ขอบรรลุพระโพธิญาณ
๓ หากสรรพสัตว์ที่ไปบังเกิดในพุทธเกษตรของข้าพระองค์แล้วปรากฏรังสีเพียงสีเดียว ข้าพระองค์จะไม่ขอบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
๔ หากพุทธเกษตรของข้าพระองค์ยังมีความแตกต่างกันระหว่างเทวดา และมนุษย์อยู่ ข้าพระองค์จะไม่ขอบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
๕ หากสรรพสัตว์ที่ไปบังเกิดยังพุทธเกษตรของข้าพระองค์ยังไม่บรรลุทิพยอำนาจชั้นสูงสุด จนสามารถไปยังพุทธเกษตรอื่นอย่างน้อย หนึ่งแสนนิยุตโกฏิแล้วข้าพระองค์จะไม่ขอบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
๖ หากสรรพสัตว์ที่ไปอุบัติยังพุทธเกษตรของข้าพระองค์ แล้วไม่สามารถ ระลึกชาติได้อย่างน้อยหนึ่งแสนนิยุติโกฏิกัลป์แล้วข้าพระองค์จะไม่ขอบรรลุพระโพธิญาณ
๗ หากสรรพสัตว์ที่ไปอุบัติยังพุทธเกษตรของข้าพระองค์ แล้วไม่สามารถมีทิพยจักษุ มองเห็นได้อย่างน้อยหนึ่งแสนนิยุติโกฏิโลกธาตุข้าพระองค์จะไม่ขอบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
๘ หากสรรพสัตว์ที่ไปอุบัติยังพุทธเกษตรของข้าพระองค์ แล้วไม่สามารถมีทิพโสต ที่สามารถได้ยินพระสัทธรรมจากพุทธเกษตรอย่างน้อยหนึ่งแสนนิยุติโกฏิโลกธาตุข้าพระองค์จะไม่ขอบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
๙ หากสรรพสัตว์ที่ไปอุบัติยังพุทธเกษตรของข้าพระองค์ ไม่สามารถกำหนดรู้วาระจิตของบุคคลด้วยอำนาจเจโตปริยญาณอย่างน้อยหนึ่งแสนนิยุติโกฏิโลกธาตุข้าพระองค์จะไม่ขอบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
๑๐ หากสรรพสัตว์ที่ไปอุบัติยังพุทธเกษตรของข้าพระองค์ ยังระลึกถึงทรัพย์สมบัติแม้เพียงเพื่อตนเอง ข้าพระองค์จะไม่ขอบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
๑๑ หากสรรพสัตว์ที่ไปอุบัติยังพุทธเกษตรของข้าพระองค์ ยังไม่ตั้งมั่นอยู่ธรรมแห่งการตรัสรู้ จนกระทั่งได้บรรลุถึงพระนิพพาน ข้าพระองค์จะไม่ขอบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
๑๒ หากมีบุคคลใดสามารถนับศิษย์สาวกของข้าพระองค์ได้ครบถ้วน ในภายหลังแม้จะใช้เวลานับถึงหนึ่งแสนโกฏิกัลป์ก็ตามข้าพระองค์จะไม่ขอบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
๑๓ หลังจากที่ข้าพระองค์ได้บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิแล้ว ถ้าแสงรัศมีของข้าพระองค์ยังสามารถวัดคำนวณได้ข้าพระองค์จะไม่ขอบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
๑๔ หลังจากที่ข้าพระองค์ได้บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิแล้ว หากอายุขัยของสรรพสัตว์ในพุทธเกษตรของข้าพระองค์ยังสามารถนับคำนวณได้ ข้าพระองค์จะไม่ขอบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
๑๕ หลังจากที่ข้าพระองค์ได้บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิแล้ว หากอายุขัยของข้าพระองค์ยังจำกัดอยู่ แม้ด้วยหนึ่งแสนโกฏินิยุติกัลป์ ข้าพระองค์จะไม่ขอบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
๑๖ หลังจากที่ข้าพระองค์ได้บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิแล้ว หากสรรพสัตว์ในพุทธเกษตรของข้าพระองค์ยังมีบาปอกุศลเหลืออยู่ ข้าพระองค์จะไม่ขอบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
๑๗ หลังจากที่ข้าพระองค์ได้บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิแล้ว หากพระพุทธเจ้าทั้งหลาย มิได้ประกาศคุณแห่งข้าพระองค์ ข้าพระองค์จะไม่ขอบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
๑๘ หลังจากที่ข้าพระองค์ได้บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิแล้ว หากมีสรรพสัตว์ได้ตั้งปณิธานจะไปบังเกิดในพุทธเกษตรของข้าพระองค์ หากสรรพสัตว์เหล่านั้นมิได้ไปบังเกิดสมปรารถนา ข้าพระองค์จะไม่ขอบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
๑๙ หลังจากที่ข้าพระองค์ได้บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิแล้ว หากมีผู้ที่รำลึกถึงข้าพระองค์ด้วยเจตนาอันแรงกล้า เมื่อบุคคลเหล่านั้นถึงกาลมรณะกาล หากข้าพระองค์พร้อมด้วยหมู่โพธิสัตว์ทั้งหลายมิได้ไปปรากฏต่อหน้าเขาเหล่านั้น เพื่อให้สมปรารถนาแล้วข้าพระองค์จะไม่ขอบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
๒๐ หลังจากที่ข้าพระองค์ได้บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิแล้ว หากมีสรรพสัตว์ได้สดับนามแห่งข้าพระองค์แล้ว ไม่ได้ไปอุบัติยังพุทธเกษตรของข้าพระองค์(ยกเว้นผู้ประกอบอนันตริยกรรม) ข้าพระองค์จะไม่ขอบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
๒๑ หลังจากที่ข้าพระองค์ได้บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิแล้ว ผู้ที่อุบัติในพุทธเกษตรของข้าพระองค์
หากไม่ได้ ประกอบด้วยมหาปุริลักษณะ ข้าพระองค์จะไม่ขอบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
๒๒ หลังจากที่ข้าพระองค์ได้บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิแล้ว หากสรรพสัตว์ที่อุบัติในพุทธเกษตรของข้าพระองค์ยังมิได้เป็น เอกชาติปฏิพัทธะ(ยกเว้นบรรดาผู้บำเพ็ญโพธิสัตวธรรม)ข้าพระองค์จะไม่ขอบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
๒๓ หลังจากที่ข้าพระองค์ได้บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิแล้ว หากมีพระโพธิสัตว์ผู้ไปบังเกิดยังพุทธเกษตรของข้าพระองค์ แล้วไม่สามารถไปยังพุทธเกษตรอื่น ๆ ข้าพระองค์จะไม่ขอบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
๒๔ หลังจากที่ข้าพระองค์ได้บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิแล้ว หากมีพระโพธิสัตว์ผู้ไปบังเกิดยังพุทธเกษตรของข้าพระองค์ ปรารถนารัตนะสมบัติใด ๆ หากสิ่งเหล่านั้นมิได้บังเกิดขึ้นโดยทันที ข้าพระองค์จะไม่ขอบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
๒๕ หลังจากที่ข้าพระองค์ได้บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิแล้ว หากสรรพสัตว์ที่อุบัติในพุทธเกษตรของข้าพระองค์ยังไม่สามารถจดจำ พระสัทธรรมพร้อมด้วยความเข้าใจแล้วข้าพระองค์จะไม่ขอบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
๒๖ หลังจากที่ข้าพระองค์ได้บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิแล้ว หากมีพระโพธิสัตว์ผู้ไปบังเกิดยังพุทธเกษตรของข้าพระองค์มีความปรารถนาจะถวายทานแด่พระพุทธเจ้าทั้งหลายในพุทธเกษตรอื่น ๆ ถ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายมิได้ทรงรับเครื่องสักการะจากพระโพธิสัตว์เหล่านั้น ข้าพระองค์จะไม่ขอบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
๒๗ หลังจากที่ข้าพระองค์ได้บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิแล้ว หากมีพระโพธิสัตว์ผู้ไปบังเกิดยังพุทธเกษตรของข้าพระองค์ไม่ได้มีพละกำลังแข็งเกร่งดุจวัชระ ข้าพระองค์จะไม่ขอบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
๒๘ หลังจากที่ข้าพระองค์ได้บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิแล้ว หากสรรพสัตว์ที่อุบัติในพุทธเกษตรของข้าพระองค์ทราบว่ายังมีพุทธเกษตรที่อลังการ รุ่งเรืองกว่าข้าพระองค์จะไม่ขอบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
๒๙ หลังจากที่ข้าพระองค์ได้บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิแล้ว หากมีพระโพธิสัตว์ผู้ไปบังเกิดยังพุทธเกษตรของข้าพระองค์ แม้นสั่งสมกุศลไว้น้อย จะไม่ได้มีต้นโพธิแห่งการตรัสรู้ที่สูงอย่างน้อย หนึ่งร้อยโยชน์ข้าพระองค์จะไม่ขอบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
๓๐ หลังจากที่ข้าพระองค์ได้บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิแล้ว ผู้ที่อุบัติในพุทธเกษตรของข้าพระองค์ไม่สามารถเรียนรู้พระสัทธรรมได้เอง และเข้าไม่ถึงญาณทัสสนะ ข้าพระองค์จะไม่ขอบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
๓๑ หลังจากที่ข้าพระองค์ได้บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิแล้ว หากพุทธเกษตรของข้าพระองค์ไม่สว่างไสวรุ่งโรจน์ ข้าพระองค์จะไม่ขอบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
๓๒ หลังจากที่ข้าพระองค์ได้บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิแล้ว หากพุทธเกษตรของข้าพระองค์มิได้ประกอบด้วยเครื่องหอมพอที่จะถวายพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ข้าพระองค์จะไม่ขอบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
๓๓ หลังจากที่ข้าพระองค์ได้บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิแล้ว หากในพุทธเกษตรของข้าพระองค์ไม่มีฝนรัตนะตกลงมาเสมอ ข้าพระองค์จะไม่ขอบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
๓๔ หลังจากที่ข้าพระองค์ได้บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิแล้ว หากสรรพสัตว์ที่อุบัติในพุทธเกษตรของข้าพระองค์ยังมิสามารถมองเห็นโลกธาตุอื่น ๆ แล้วมิบังเกิดความชื่นชมยินดี ข้าพระองค์จะไม่ขอบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
๓๕ หลังจากที่ข้าพระองค์ได้บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิแล้วหากมีพระโพธิสัตว์ผู้ทรงภูมิธรรมได้สดับนามแห่งข้าพระองค์แล้ว ถ้ากุศลจากการสดับนามของข้าพระองค์ยังไม่อาจช่วยให้พ้นจากการเกิดอีก จนกว่าจะบรรลุพระโพธิญาณ ข้าพระองค์จะไม่ขอบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
๓๖ หลังจากที่ข้าพระองค์ได้บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิแล้ว หากมีสตรีใดได้สดับนามแห่งข้าพระองค์ แล้วเกิดความเบื่อหน่ายต่ออิตถีภาวะของตน แล้วบุคคลเหล่านั้นยังเกิดเป็นสตรี ข้าพระองค์จะไม่ขอบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
๓๗ หลังจากที่ข้าพระองค์ได้บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิแล้ว หากมีพระโพธิสัตว์ทั้งหลายได้สดับนามของข้าพระองค์ แล้วต้องตกต่ำลง และไม่ได้รับการยกย่องจากมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย ข้าพระองค์จะไม่ขอบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
๓๘ หลังจากที่ข้าพระองค์ได้บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิแล้ว หากพระโพธิสัตว์ยังไม่ได้รับจีวรที่ดีเลิศเท่าที่พระพุทธเจ้าอนุญาติดังปรารถนา ข้าพระองค์จะไม่ขอบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
๓๙ หลังจากที่ข้าพระองค์ได้บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิแล้ว หากสรรพสัตว์ที่อุบัติในพุทธเกษตรของข้าพระองค์ยังมิได้รับความสงบสุขเหมือนภิกษุผู้พ้นทุกข์ ข้าพระองค์จะไม่ขอบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
๔๐ หลังจากที่ข้าพระองค์ได้บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิแล้ว พระโพธิสัตว์ทั้งหลายผู้ไปเกิดยังพุทธเกษตรของข้าพระองค์แล้ว มิได้รับต้นไม้ที่ประดับด้วยอัญมณี ตามที่ปรารถนา ข้าพระองค์จะไม่ขอบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
๔๑ หลังจากที่ข้าพระองค์ได้บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิแล้ว หากมีพระโพธิสัตว์ผู้ไปบังเกิดยังพุทธเกษตรอื่น ๆ เมื่อได้สดับนามของข้าพระองค์แล้ว ยังเกิดศรัทธาจิตลดลง ข้าพระองค์จะไม่ขอบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
๔๒ หลังจากที่ข้าพระองค์ได้บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิแล้ว หากมีพระโพธิสัตว์ผู้ไปบังเกิดยังพุทธเกษตรอื่น ๆ เมื่อได้สดับนามของข้าพระองค์แล้ว ไม่ได้บรรลุญาณสมาธิที่เรียกว่า สุวิภัคตวตีข้าพระองค์จะไม่ขอบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
๔๓ หลังจากที่ข้าพระองค์ได้บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิแล้ว หากมีสรรพสัตว์ผู้ไปบังเกิดยังพุทธเกษตรอื่น ๆ เมื่อได้สดับนามของข้าพระองค์แล้ว กุศลนั้นไม่ทำให้เขาเหล่านั้นได้ไปบังเกิดในตระกูลสูงจนกระทั่งได้บรรลุพระโพธิญาณ ข้าพระองค์จะไม่ขอบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
๔๔ หลังจากที่ข้าพระองค์ได้บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิแล้วหากมีพระโพธิสัตว์ผู้ไปบังเกิดยังพุทธเกษตรอื่น ๆ เมื่อได้สดับนามของข้าพระองค์แล้ว ยังไม่ได้รับความบันเทิงจนกระทั่งบรรลุพระโพธิญาณ ข้าพระองค์จะไม่ขอบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
๔๕ หลังจากที่ข้าพระองค์ได้บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิแล้ว หากมีพระโพธิสัตว์ผู้ไปบังเกิดยังพุทธเกษตรอื่น ๆ เมื่อได้สดับนามของข้าพระองค์แล้ว ยังไม่บรรลุญาณสมาธิที่เรียกว่าสมันตานุคตข้าพระองค์จะไม่ขอบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
๔๖ หลังจากที่ข้าพระองค์ได้บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิแล้ว หากสรรพสัตว์ที่อุบัติในพุทธเกษตรของข้าพระองค์มิสามารถได้สดับพระธรรมเทศนาที่บุคคลเหล่านั้นปรารถนาจะได้ยิน ข้าพระองค์จะไม่ขอบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
๔๗ หลังจากที่ข้าพระองค์ได้บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิแล้ว หากมีพระโพธิสัตว์ผู้ไปบังเกิดยังพุทธเกษตรของข้าพระองค์ และพุทธเกษตรอื่น ๆ เมื่อได้สดับนามของข้าพระองค์แล้ว ยังเกิดความไม่แน่วแน่ในพระโพธิญาณ ข้าพระองค์จะไม่ขอบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
๔๘ หลังจากที่ข้าพระองค์ได้บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิแล้ว หากมีพระโพธิสัตว์ผู้ไปบังเกิดยังพุทธเกษตรอื่น ๆ เมื่อได้สดับนามของข้าพระองค์แล้วหันหลังไปเสียจาก พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ข้าพระองค์จะไม่ขอบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ[16] (http://www.oknation.net/blog/#_ftn16)
มหาปณิธานทั้ง ๔๘ ประการนั้นคือกำเนิดของสุขาวดี ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าพุทธเกษตรล้วนสำเร็จจากจิตของพระโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญบารมี สภาพที่อธิบายถึง สุขาวดี หรือแม้แต่การจำแนกสัตว์ที่ไปอุบัติ ล้วนเป็นไปตามปณิธานของพระอมิตาภะทุกประการ
สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง มหาปณิธาณทั้ง ๔๘ ประการของพระภิกษุธรรมกรนั้นแสดงให้เห็นแนวคิดโพธิสัตว์ กล่าวคือการศึกษาพุทธธรรมเพื่อนำความรู้ไปช่วยเหลือสรรพสัตว์ พระโพธิสัตว์ย่อมประกอบด้วยความกรุณาไม่ยอมหลุดพ้นไปแต่เพียงลำพัง เมื่อสรรพสัตว์ที่ล้วนเคยเป็น บิดา มารดา และญาติมิตรยังเวียนว่ายอยู่ในห้วงวัฏสงสาร พระโพธิสัตว์ย่อมดำรงอยู่ตราบเท่าที่ยังมีผู้ตกทุกข์ ปณิธานทั้ง ๔๘ ประการจึงมิได้เกิดขึ้นเพื่อตัวเอง แต่มุ่งประโยชน์ที่สรรพสัตว์เป็นสำคัญ ดังโศลกที่แสดงไว้ใน คัมภีร์อัษฏสาหัสริกาปรัชญาปารมิตา ได้แสดงมหาปณิธานของพระโพธิสัตว์ว่า
เราพึงตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิทำประโยชน์สุขของสัตว์ทั้งหลายให้พร้อมบริบูรณ์ และ
เมื่อเราข้ามได้แล้ว จะให้ผู้อื่นข้ามพ้นด้วย เมื่อเราหลุดพ้นแล้ว จะให้ผู้อื่นหลุดพ้นด้วย เมื่อเราฝึกฝน
ตนเองแล้ว จะฝึกผู้อื่นด้วย เมื่อเราสงบแล้ว จะให้ผู้อื่นสงบด้วย เมื่อเราสบายใจแล้ว จะให้ผู้อื่น
สบายได้สบาย ด้วย เมื่อปรินิพพานแล้ว จะให้ผู้อื่นปรินิพพานด้วย[17] (http://www.oknation.net/blog/#_ftn17)
จะเห็นได้ว่ามหาปณิธานนั้นเป็นภาพสะท้อนอุดมคติมหายาน ในการช่วยเหลือสรรพสัตว์เป็นสิ่งสำคัญ โดยไม่คำนึงถึงตนเอง ต้องมีความเสียสละ สิ่งเหล่านี้เท่ากับเป็นการสอนให้ละวางอัตตา ความมีตัวตน อหังการ ความรู้สึกว่าเรา มมังการความรู้สึกว่าของเรา ซึ่งเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงกิเลสาสวะ ดังที่กล่าวไว้ใน คัมภีร์ วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร ว่า
พระโพธิสัตว์มหาสัตว์ทั้งปวง ควรกำราบจิตของตนเช่นนี้ สรรพสัตว์ทั้งปวงที่มีอยู่ทุกเหล่าคือ เกิดจากฝุ่นฟอง เกิดจากครรภ์ เกิดจากความชื้น เกิดเป็นโอปปาติกะ ที่มีรูป ที่ไร้รูป ที่มีสัญญา ที่ไร้สัญญา ที่มิใช่มีสัญญาที่ไม่ใช่ไร้สัญญา เราได้โปรดสัตว์ดังกล่าวนี้เข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพานจนหมดสิ้น โปรดสรรพสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงสู่นิพพาน เช่นนี้ไร้ประมาณ ไร้ขอบเขต สุดคณานับ ความจริงไม่มีสรรพสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงสำเร็จนิพพานเลย ทั้งนี้ด้วยเหตุใด หากพระโพธิสัตว์มีอาตมลักษณะ มนุษยลักษณะ สัพเพสัตวลักษณะ อายุรลักษณะ ก็มิใช่พระโพธิสัตว์[18] (http://www.oknation.net/blog/#_ftn18)
การสอนเช่นนี้ ย่อมแสดงการละวางตัวตน การแบ่งแยกเราเขาเสียก่อน โดยถือว่าหากมีการแบ่งแยกเหลืออยู่ ก็ยังไม่อาจชื่อว่าดำเนินตามโพธิสัตวมรรคได้ เพราะการคำนึงถึงตนเองก่อนมหากรุณาจิตที่แท้จริงจึงเกิดไม่ได้ ดังนั้นคำสอนมหายานจึงมุ่งไปที่สรรพสัตว์เป็นสำคัญ ดังนั้นจึงเป็นความเข้าใจผิดหากมองมหาปณิธานทั้ง ๔๘ ประการเป็นเรื่องของความปรารถนาเพื่อตนเอง หรือเพื่อความยิ่งใหญ่แห่งพุทธเกษตรอันเป็นเครื่องแสดงบารมีแห่งพระพุทธเจ้าเฉพาะพระองค์ หากมหาปณิธานเหล่านี้แสดงออกซึ่งอัธยาสัยอันกว้างขวาง กระทำการเหนื่อยยากเพื่อสรรพสัตว์ ดังนั้นคำสอนลักษณะนี้แสดงอุดมคติความคิดของมหายาน ต้องการให้ผู้ที่เข้ามาศึกษาเห็นเป็นตัวอย่าง ในการประพฤตปฏิบัติ
หากมองอีกมุมหนึ่งเป็นไปได้ว่า สุขาวดีอันเกิดแต่มหาปณิธานนี้หมายถึงเมื่อผู้ปฏิบัติ ประพฤติตามแนวทางนี้ จะมีแต่ความสงบสุขมาสู่ตนเอง และสังคม หากไม่คำนึงถึงตนเองก็ไม่เอาเปรียบผู้อื่น เมื่อประกอบด้วยความกรุณาย่อมช่วยเหลือผู้อื่น มีความเอื้อเฟื้อ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และนั่นก็อาจเป็น สุขาวดี แดนบริสุทธิ์ในโลกปัจจุบัน
๕. พุทธเกษตรในความหมายของจิต และการหลุดพ้น
การไปอุบัติยังสุขาวดีพุทธเกษตรนั้น คณาจารย์หลายท่านเชื่อว่าเพียงตั้งปณิธานให้มั่นคง รำลึกถึงพระอมิตาภะ หมั่นประกอบกุศลกรรมเพื่อเป็นพลานิสงส์ให้ได้ไปเกิดยังพุทธเกษตรสุขาวดี ครั้นเมื่อคราวต้องจุติจากภพนี้ไป พระอมิตาภพุทธเจ้าแลปวงพระโพธิสัตว์จักเสด็จไปรับผู้นั้นสู่แดนสุขาวดีซึ่งทำให้ดูราวกับว่า เป็นการพึ่งพาปัจจัยภายนอกเพียงอย่างเดียว ทำให้พุทธศาสนานิกายอื่น ๆ ไม่ยอมรับคำสอนแบบนี้ จนเคยมีกรณีพิพาธกับนิกายเซน ถึงกับมีคณาจารย์เซนได้กล่าวว่า หากใครเอ่ยนามพระอมิตาภะคำเดียว ต้องปรับให้ไปหาบน้ำมาล้างห้องกรรมฐาน หรือต้องบ้วนปาก สามวัน นอกจากนี้คำสอนแบบภักติมรรคนี้ยังเป็นที่ถกเถียงของคณาจารย์ของพุทธศาสนานิกายอื่น ๆ แม้แต่นิกายหลักอย่างเถรวาท เนื่องจาก ทางพ้นทุกข์ในพระพุทธศาสนานั้น ต้องใช้หลักญาณมรรค ไม่ใช่ทางภักติมรรค ดังนั้นคำสอนในนิกายสุขาวดีก็ไม่เป็นที่ยอมรับในพุทธศาสนาบางนิกาย ครั้นต่อมาได้มีผู้ที่อธิบายหลักธรรมของนิกายนี้ในเชิงปรัชญาเช่นกัน [19] (http://www.oknation.net/blog/#_ftn19)
ท่านอาจารย์ฮิวโคยได้อธิบายว่า แท้จริงแล้ว สุขาวดีได้มีอยู่ในจิตของสรรพสัตว์ ส่วนพระอมิตาภะคือ พุทธภาวะที่มีอยู่ในจิตของเรา สุขาวดีเป็นเพียง ธรรมาธิษฐาน มิใช่ว่าจะมีพระอมิตาภะหรือ สุขาวดีที่อยู่นอกเหนือจิตของเรา แม้สุขาวดีจะอยู่ห่างจากโลกธาตุนี้ถึง แสนโกฏิพุทธเกษตร ก็อยู่ในขณะจิตหนึ่งของเรานั่นเอง พระอมิตาภะก็เปรียบดุจจิตธาตุของเรา แต่เพราะถูก อวิทยาบทบังเราจึงไม่สามารถหยั่งรู้ภาวะอันบริสุทธิ์นั้นได้ ส่วนการปรากฏรูปกายแห่งพระอมิตาภะ ที่แตกต่างกันเพียงสัมโภคกายและนิรมาณกาย เท่านั้น ส่วนธรรมกายย่อมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งหมด จึงมีคำกล่าวที่ว่า ไปก็ไม่มีการไป เกิดก็ไม่มีการเกิด
สำหรับคำอธิบายนี้เป็นคำอธิบายตามแนวของสัทธรรมปุณฑริก ซึ่งเป็นสำนักพุทธมหายานที่มีผู้นับเป็นจำนวนมากสำนักหนึ่ง โดยแนวความคิดที่ว่า มูลธาตุอันแท้จริงของสรรพสัตว์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เรียกว่า เอกจิตธรรมธาตุ ซึ่งในเอกจิตธรรมธาตุนั้นแบ่งเป็น ๑๐ ภูมิ ดังนั้นพระพุทธเจ้าทั้งหลายก็สถิตอยู่ในใจของปวงสัตว์ ฝ่ายปวงสัตว์เล่าก็สถิตอยู่ในหทัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ดังนั้น พระอมิตาภะก็มิใช่อื่นไกล แท้จริงคือจิตที่ปราศจาก อวิทยาครอบงำของเรานั่นเอง พุทธเกษตรก็คือการแสดงออก และความสัมพันธ์ ในขณะที่จิตอันไม่ถูกครอบงำด้วยมลทิล สัมพันธ์กับโลก โลกนั้นย่อมบริสุทธิ์เพราะเหตุที่จิตบริสุทธิ์ สุขาวดีพุทธเกษตรก็คือภาวะที่ผู้ที่ตรัสรู้แล้วมีสัมพันธ์ต่อโลก โดยไม่เข้าไปปรุงแต่งอารมณ์ไปใน โลภะ โทสะ และโมหะอีก และพระอมิตาภะ ก็คือจิตอันปราศจากเครื่องเศร้าหมองนั่นเอง
ส่วนท่าน เว่ยหล่าง พระสังฆปรินายกองค์ที่ ๖ แห่งนิกาย ธยานได้กล่าวว่าคนหลงสวดมนต์ถึงพระอมิตาภะ อ้อนวอนให้ได้ไปเกิดยังสุขาวดี แต่บัณฑิตชำระใจของตนให้บริสุทธิ์ และยังได้กล่าวอีกว่า สุขาวดีอยู่ห่างจากโลกธาตุนี้ไป หนึ่งแสนแปดพันโลกธาตุ กล่าวคือ อกุศลกรรมบท ๑๐ คือแสนโลกธาตุ มิจฉัตตะ ๘ คือแปดพันโลกธาตุ เมื่อเราสามารถชำระจิตให้บริสุทธิ์ได้ก็เท่ากับเราได้อุบัติที่แดนสุขาวดีแล้ว ดังคำกล่าวที่ว่า ไปก็ต้องไปอย่างเด็ดขาด เกิดก็ต้องเกิดอย่างแน่นอน ส่วนโยคาจารที่ปกติเป็นปรัชญา มโนภาพนิยมถือว่า สุขาวดีเป็นผลจากพฤติกรรมจิต แห่งพระอมิตาภะ สุขาวดีนั้นเป็นผลแห่งการบำเพ็ญบารมีที่สะท้อนออกมาจากปณิธาณ ๔๘ ประการของพระภิกษุธรรมกร ดังนั้นผู้ที่จะไปอุบัติยังสุขาวดีก็ต้องมีพฤติกรรมเหมาะสม สุขาวดีในทัศนะโยคาจาร คือ จิตของพระอมิตาภะและปวงชนสร้างขึ้นเอง ไม่นอกเหนือไปได้[20] (http://www.oknation.net/blog/#_ftn20)
หากวิเคราะห์คำสอนของสุขาวดี จะพบว่าในแง่ปรัชญามีการตีความได้ลึกซึ้ง แต่การที่ใช้คำสอนที่เรียบง่ายเพื่อให้เข้าถึงประชาชน ดังที่ได้กล่าวมาบ้างแล้ว ในสมัยที่ปรัชญาเฟื่องฟูมีการถกเถียงปรัชญาที่ยากเกินกว่าชาวบ้านธรรมดาจะเข้าใจได้ ด้วยเหตุนี้ทำให้พุทธศาสนาห่างเหินจากประชาชนส่วนใหญ่ สุขาวดีจึงหันมาสอนหลักธรรมที่ง่ายเหมาะสมกับประชาชนโดยทั่วไป ถึงแม้จะมีการตีความคำสอนสุขาวดีในแง่ปรัชญา แต่คณาจารย์ในนิกายนี้ ท่านพอใจที่จะสอนหลักธรรมง่าย ๆ และปฏิบัติได้จริง เช่น การสวดภาวนาพระนามพระอมิตาภะเป็นต้น มีความเป็นไปได้ว่าการที่ท่านใช้วิธีการดังกล่าว เพื่อเป็นกุศโลบายเพื่อให้นิกายสุขาวดีเปิดกว้างสำหรับคนทุกกลุ่ม ดังนั้นทุกวันนี้ศาสนิกชนมหายานส่วนใหญ่จะสังกัด นิกายสุขาวดี ด้วยเหตุผลดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
๖. บทส่งท้าย
ถึงแม้ว่าคำสอนของนิกายสุขาวดีจะดูเหมือนว่า สอนให้ยึดหลัก ภักติมรรค ที่ไม่ต่างจากศาสนา เทวนิยมโดยทั่วไป เป็นสาเหตุให้พุทธศาสนานิกายอื่น ๆ โดยเฉพาะเถรวาทไม่เห็นด้วยในคำสอนแบบนี้ แต่เพราะเป็นคำสอนที่ปฏิบัติง่ายไม่ซับซ้อนอะไร จึงทำให้มีผู้ที่ศรัทธานับถือนิกายนี้เป็นจำนวนมาก และเป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่นิกายของมหายานที่มีผู้นับถือมาจนปัจจุบัน ผู้ที่ถือปฏิบัติตามสุขาวดีมรรคไม่จำเป็นต้องมีความรู้ด้านปรัชญาศาสนาลึกซึ้งแต่ประการใด จึงทำให้เผยแผ่สู่ประชาชนได้ง่าย
อย่างไรก็ดีมีคณาจารย์มหายานหลายท่านได้ อรรถาธิบายสุขาวดีในเชิงพุทธปรัชญา โดยการเปรียบเทียบสภาวะจิตที่พ้นจากอวิทยา หรือการปรุงแต่งอารมณ์ว่า นั่นคือลักษณะของพระอมิตาภะ แท้จริงไม่มีพระอมิตาภะภายนอก หรือที่อื่นใด หากเป็นจิตที่ตรัสรู้ของสรรพสัตว์นั่นเอง พุทธเกษตรสุขาวดีก็มิใช่มีอยู่ในที่อื่นใด แต่เป็นสภาวะที่จิตปราศจากอวิทยานั้นสัมพันธ์ กับโลกแห่งปรากฏการณ์นั่นเอง เมื่อจิตบริสุทธิ์โลกธาตุก็บริสุทธิ์ด้วย เพราะสามารถเห็นสภาพทั้งปวงว่าล้วนเป็นเช่นนั้นเอง (ตถตา) จึงไม่เกิดความคิดปรุงแต่งไปในทางกุศล หรืออกุศล เมื่อสามารถเข้าใจสภาพดังกล่าว ไม่ว่าจะมองเห็นสิ่งใด ได้ยินสิ่งใด จิตก็ไม่ปรุงแต่งไปในทางต่าง ๆ การเข้าถึงสภาวะดังกล่าวนั้น ได้มีการอธิบายไว้ว่า การภาวนาพระนามพระอมิตาะทำให้จิตจดจ่ออยู่กับพระพุทธคุณ ไม่กวัดแกว่งไปในอารมณ์แห่งอกุศลจัดเป็นพุทธานุสติอย่างหนึ่ง เพราะว่าไม่ว่าพระพุทธเจ้าพระองค์ใด ก็ย่อมมีรัศมีไม่สิ้นสุด (อมิตาภะ แปลว่า มีรัศมีไม่มีที่สิ้นสุด) อีกประการหนึ่งแม้มหายานจะกล่าวถึง พระพุทธเจ้าซึ่งมีจำนวนมากมาย แต่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ต่างกันเพียง สัมโภคกายและ นิรมาณกาย เท่านั้น ส่วนธรรมกายหามีความต่างกันไม่ แม้แต่การภาวนาพระนามของพระมหาโพธิสัตว์ทั้งสองพระองค์ก็มีการตีความไว้เช่นกัน ดังที่กล่าวไว้ใน สัทธรรมปุณฑริก สมันตมุกขปริวรรต (อวโลกิเตศวรวรรค) ว่า แม้นผู้ใดภาวนาพระนามแห่งอวโลกิเตศวร โจรทั้งหลายย่อมไม่อาจทำอันตรายได้ แม้ตกลงสู่มหาสมุทรที่เต็มไปด้วยสัตว์ร้ายก็จะไม่เป็นอันตราย ในที่นี้มีการอธิบายว่า แท้จริงพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรนั้น เป็นบุคคลาธิษฐานแทนความกรุณา เมื่อจิตของผู้ที่ภาวนาพระนามของพระองค์เข้าถึงความกรุณาอย่างแท้จริง โจรอันอุปมาด้วย อกุศลที่เกิดจาก การเห็นรูป การได้ยินเสียง เป็นต้นย่อมไม่เกิดในจิตของผู้ที่มีความกรุณา บุคคลนั้นย่อมไม่จมลงสู่มหาสมุทร ที่อุปมาด้วยสังสารวัฏ และไม่ถูกสัตว์ร้ายทำอันตราย สัตว์ร้ายอุปมาด้วยสังสารทุกข์ อันเกิดจากการ พลัดพลากจากสิ่งที่รัก ที่ปรารถนาเป็นต้น และการที่จิตจดจ่ออยู่กับการภาวนา ก็เท่ากับเป็นการเจริญสติ ไปด้วยนั่นเอง
ดังนั้น คำสอนของสุขาวดีอาจเปรียบได้กับการเอา เปลือกหุ้มแก่นไว้ เมื่อปฏิบัติตามหลัก สุขาวดีมรรคแม้จะไม่ได้มีความรูแตกฉานในด้านพุทธปรัชญา ก็อาจเข้าถึงสภาวธรรมอันลึกซึ้งได้ ซึ่งจะเป็นไปตามลำดับการจากการหมั่นฝึกอบรมจิตนั่นเอง อีกประการหนึ่งอาจถือได้ว่า แท้จริงพุทธเกษตรก็ดี พระอมิตาภะก็ดี พระโพธิสัตว์ทั้งหลายก็ดี ล้วนเป็นอุบายธรรมเพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจ และปฏิบัติ จึงได้แสดงสภาพธรรมต่าง ๆ ไว้ในรูปบุคคลาธิษฐาน จึงไม่ควรมองคำสอน หรือตีความ ตามตัวอักษร ซึ่งอาจทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนจาก สิ่งที่โบราณาจารย์ท่านต้องการสอน และด้วยเหตุที่สุขาวดีมีคำสอนในรูปแบบ เปลือกหุ้มแก่น จึงทำให้มีศาสนิกชนนับถือมากที่สุด ในบรรดาพุทธสาสนาด้วยกัน และยืนยาวมาจนกระทั่งทุกวันนี้ แม้แต่พระพุทธศาสนามหายานที่เข้ามาเผยแผ่ในประเทศไทยในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ก็เป็นพระอารามในสังกัดนิกายนี้แทบทั้งสิ้น
ในยุคปัจจุบันพุทธศาสนามหายานเริ่มเข้ามามีบทบาทอย่างมากในสังคมไทย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาคำสอนของมหายานให้ลึกซึ้งมากขึ้น เพื่อทำความเข้าใจกับปรัชญาในนิกายอื่น ซึ่งอาจมีประโยชน์ในการประยุกต์คำสอนมาใช้ และความเข้าใจอันดีในฐานะพุทธศาสนิกชนด้วยกัน ในขณะที่สถานการณ์ของพระพุทธศาสนาโดยภาพรวมต้องประสบปัญหานานัปประการ ทั้งปัจจัยภายใน และภายนอก จึงมีความจำเป็นที่เราต้องศึกษาพุทธศาสนาให้ถ่องแท้ เพื่อธำรงไว้ซึ่งความเข้าใจอันถูกต้อง
เชิงอรรถ
๑.อภิชัย โพธิ์ประสิทธ์ศาสตร์, พระพุทธศาสนามหายาน, พิมพ์ครั้งที่ ๔ (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามงกุฎราชวิทยาลัย, ๒๕๔๑), หน้า ๒๙
๒.เสถียร โพธินันทะ . ปัญญามหายาน. พิมพ์ครั้งที่ ๔ กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามงกุฎราชวิทยาลัย, ๒๕๔๑, หน้า ๑๐
๓.กัมพล สิริมุนินท์ . มหายานะศรัทโธตปาทศาสตร์ ในนามอัศวโฑษ. ปัตตานี: คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเตปัตตานี, ๒๕๓๕ หน้า๖๙
๔. เสถียร โพธินันทะ . ปัญญามหายาน. พิมพ์ครั้งที่ ๔ กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามงกุฎราชวิทยาลัย, ๒๕๔๑, หน้า ๑๓
๕.เรื่องเดียวกันหน้า ๑๕๖
๖.สุมาลี มหณรงค์ชัย. พุทธศาสนามหายาน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ศยาม,๒๕๔๑ หน้า ๑๔
๗.เรื่องเดียวกัน หน้า ๑๘
๘.เสถียร โพธินันทะ. ชุมนุมพระสูตรมหายาน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์บรรณคาร,๒๕๑๖ หน้า ๔๙
๙. Suzuki Daisetz Teitaro. Outline of Mahayana Buddhism Fourth Printing New York: Schocken Book inc,1970, p. 261
๑๐.เสฐียร พันธรังษี. พุทธศาสนามหายาน. พิมพ์ครั้งที่๔. กรุงเทพฯ : สุภาพใจ,๒๕๔๓ หน้า ๗๔
[1] (http://www.oknation.net/blog/#_ftnref1)อภิชัย โพธิ์ประสิทธ์ศาสตร์, พระพุทธศาสนามหายาน, พิมพ์ครั้งที่ ๔ (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามงกุฎราชวิทยาลัย, ๒๕๔๑), หน้า ๒๙
[2] (http://www.oknation.net/blog/#_ftnref2)เสถียร โพธินันทะ,. ปัญญามหายาน, พิมพ์ครั้งที่ ๔ กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามงกุฎราชวิทยาลัย, ๒๕๔๑, หน้า ๑๐
[3] (http://www.oknation.net/blog/#_ftnref3)กัมพล สิริมุนินท์ . มหายานะศรัทโธตปาทศาสตร์ ในนามอัศวโฑษ. ปัตตานี: คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเตปัตตานี, ๒๕๓๕ หน้า๖๙
[4] (http://www.oknation.net/blog/#_ftnref4)เสถียร โพธินันทะ . ปัญญามหายาน. พิมพ์ครั้งที่ ๔ กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามงกุฎราชวิทยาลัย, ๒๕๔๑, หน้า ๑๓[5] (http://www.oknation.net/blog/#_ftnref5)เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๕๖
[6] (http://www.oknation.net/blog/#_ftnref6)สุมาลี มหณรงค์ชัย. พุทธศาสนามหายาน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ศยาม,๒๕๔๑ หน้า ๑๔
[7] (http://www.oknation.net/blog/#_ftnref7)เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๘
[8] (http://www.oknation.net/blog/#_ftnref8)เสถียร โพธินันทะ. ชุมนุมพระสูตรมหายาน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์บรรณคาร,๒๕๑๖ หน้า ๔๙[9] (http://www.oknation.net/blog/#_ftnref9)Suzuki Daisetz Teitaro. Outline of Mahayana Buddhism Fourth Printing New York: Schocken Book inc,1970, p. 261
[10] (http://www.oknation.net/blog/#_ftnref10)เสฐียร พันธรังษี. พุทธศาสนามหายาน. พิมพ์ครั้งที่๔. กรุงเทพฯ : สุภาพใจ,๒๕๔๓ หน้า ๗๔
[11] (http://www.oknation.net/blog/#_ftnref11)เสถียร โพธินันทะ, ปรัชญามหายาน, พิมพ์ครั้งที่ ๔ (กรุงเทพ : โรงพิมพ์มหามงกุฎราชวิทยาลัย, ๒๕๔๑), หน้า ๑๒
[12] (http://www.oknation.net/blog/#_ftnref12)เสถียร โพธินันทะ, วิมลเกียรตินิทเทสสูตร, พิมพ์ครั้งที่ ๘ (กรุงเทพ : โรงพิมพ์มหามงกุฎราชวิทยาลัย, ๒๕๔๔), หน้า ๕-๖
[13] (http://www.oknation.net/blog/#_ftnref13)เสถียร โพธินันทะ, ปรัชญามหายาน, พิมพ์ครั้งที่ ๔ (กรุงเทพ : โรงพิมพ์มหามงกุฎราชวิทยาลัย, ๒๕๔๔) หน้า ๑๖๑-๑๖๒
[14] (http://www.oknation.net/blog/#_ftnref14)เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๖๒-๑๖๖
[15] (http://www.oknation.net/blog/#_ftnref15)สุมาลี มหณรงค์ชัย, พุทธศาสนามหายาน,(กรุงเทพ : สำนักพิมพ์ศยาม, ๒๕๔๑), หน้า ๒๒๕
[16] (http://www.oknation.net/blog/#_ftnref16)สุภาพ ทัดภู่, มหาสุขาวดีวยุหสูตร อมิตายุรธยานสูตร จุลสุขาวดีวยุหสูตร, (กรุงเทพ : นบท., นบป.) หน้า ๑๙-๓๗
[17] (http://www.oknation.net/blog/#_ftnref17) อ้างถึงใน ประพจน์ อัศววิรุฬหการ, โพธิสัตวจรรยา : มรรคาเพื่อมหาชน (กรุงเทพฯ : คณะอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย), ๒๕๒๖ หน้า ๑๔๓[18] A.F. Prince and Wong Mou-Lam, The DiamondSutra and The Sutra of Hui Neng (Boston : Shambhala), 1969 p.26[19] (http://www.oknation.net/blog/#_ftnref19)เสถียร โพธินันทะ, ปรัชญามหายาน, พิมพ์ครั้งที่ ๔(กรุงเทพ : โรงพิมพ์มหามงกุฎราชวิทยาลัย, ๒๕๔๑), หน้า๑๖๘[20] (http://www.oknation.net/blog/#_ftnref20)เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๖๙-๑๗๐
http://board.agalico.com/showthread.php?t=25904
ขับเคลื่อนระบบโดย vBulletin™ Version 4.2.2 Copyright © 2024 vBulletin Solutions, Inc. All rights reserved.