PDA

แสดงเวอร์ชันเต็ม : คู่มือการศึกษาพระอภิธรรม ปริจเฉทที่ ๑ จิตปรมัตถ์



*8q*
01-13-2009, 01:28 PM
จิต


จิตคืออะไร

จิต คือ ธรรมชาติชนิดหนึ่งซึ่ง รู้อารมณ์ จิตเป็นตัวรู้
สิ่งที่จิตรู้นั้นเป็นอารมณ์ จิตรู้สิ่งใด สิ่งนั้นแหละคืออารมณ์

อีกนัยหนึ่งแสดงว่า จิตคือธรรมชาติชนิดหนึ่งที่ รับ จำ คิด รู้ ซึ่ง
อารมณ์ จิตต้องมีอารมณ์ และต้องรับอารมณ์จึงจะรู้และจำ แล้วก็
คิดต่อไป สมตามนัยขยายความตามบาลีว่า

จิตเตตีติ จิตตัง อารัมมะณัง วิชานาตีติ อัตโถ ฯ ซึ่งแปลเป็น
ใจความว่า ธรรมชาติใดย่อมคิด ธรรมชาตินั้นชื่อว่า จิต มีอรรถว่า ธรรมชาติ
ที่รู้อารมณ์คือ จิต

ในปฏิสัมภิทาพระบาลีมหาวัคค แสดงว่าจิตนี้มีชื่อที่ใช้เรียกขานกันตั้ง ๑๐
ชื่อ แต่ละชื่อก็แสดงให้รู้ความหมายว่าจิตคืออะไร ดังต่อไปนี้

ยัง จิตตัง มะโน หะทะยัง มานะสัง ปัณฑะรัง มะนายะตะนัง
มะนินทริยัง วิญญาณัง วิญญาณักขันโธ ตัชชา มะโนวิญญาณะธาตุ
อิทัง จิตตัง ฯ
ซึ่ง อัฏฐสาลินีอรรถกถา อธิบายว่า
๑. ธรรมชาติใดย่อมคิ ธรรมชาตินั้นชื่อว่า จิต
๒. ธรรมชาติใดย่อมน้อมไปหาอารมณ์ ธรรมชาตินั้นชื่อว่า มโน
๓. จิตนั่นแหละได้รวบรวมอารมณ์ไว้ภายใน ดังนั้นจึงชื่อว่า หทัย
๔. ธรรมชาติคือ ฉันทะที่มีในใจนั่นเอง ชื่อว่า มนัส
๕. จิตเป็นธรรมชาติที่ผ่องใส จึงชื่อว่า ปัณฑระ
๖. มนะนั่นเองเป็นอายตนะ คือเป็นเครื่องต่อ จึงชื่อว่า มนายตนะ
๗. มนะอีกนั่นแหละที่เป็นอินทรีย์ คือครองความเป็นใหญ่ จึงชื่อว่า
มนินทรีย์
๘. ธรรมชาติใดที่รู้แจ้งอารมณ์ ธรรมชาตินั้นชื่อว่า วิญญาณ
๙. วิญญาณนั่นแหละเป็นขันธ์ จึงชื่อว่า วิญญาณขันธ์
๑๐. มนะนั่นเองเป็นธาตุชนิดหนึ่ง ที่รู้แจ้งซึ่งอารมณ์ จึงชื่อว่า
มโนวิญญาณธาตุ


สภาพหรือลักษณะของจิต

จิตเป็นปรมัตถธรรม ดังนั้น จิตจึงมีสภาวะ หรือสภาพ หรือ
ลักษณะทั้ง ๒ อย่างคือทั้ง สามัญญลักษณะ และ วิเสส-
ลักษณะ

สามัญญลักษณะ หรือไตรลักษณ์ของจิต มีครบบริบูรณ์ทั้ง ๓ ประการคือ
อนิจจลักษณะ ทุกขลักษณะและอนัตตลักษณะ

จิตนี้เป็นอนิจจัง คือไม่เที่ยง ไม่มั่นคง หมายถึงว่า ไม่ยั่งยืน ไม่ตั้ง
อยู่ได้ตลอดกาล

จิตนี้เป็นทุกขัง คือทนอยู่ไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืน ทนอยู่ไม่
ได้ตลอดกาล จึงมีอาการเกิดดับ เกิดดับ อยู่ร่ำไป

จิตนี้เป็นอนัตตา คือเป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตน เป็นสิ่งที่บังคับบัญชาให้
ยั่งยืน ให้ทนอยู่ไม่ให้เกิดดับ ก็ไม่ได้เลย

และเพราะเหตุว่าจิตนี้ เกิดดับ เกิดดับ สืบต่อเนื่องกันอย่างรวดเร็วเหลือ
ประมาณ จนปุถุชนคนธรรมดาเข้าใจไปว่า จิตนี้ไม่มีการเกิดดับ แต่ว่ายั่งยืน
อยู่จนตลอดชีวิตจึงดับไปก็เหมือนกับเข้าใจว่า กระแสไฟฟ้าชนิดกระแสสลับ
ซึ่งไปกลับไปกลับอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งเราเห็นหลอดไฟสว่างอยู่ตลอดเวลา
ก็เข้าใจว่ากระแสไฟฟ้าไม่ได้ไหลไปแล้วกลับฉะนั้น

ส่วนวิเสสลักษณะ หรือ ลักขณาทิจตุกะของจิต ก็มีครบบริบูรณ์
ทั้ง ๔ ประการ คือ
วิชานะนะ ลักขะณัง มีการรู้อารมณ์ เป็นลักษณะ
ปุพพังคะมะ ระสัง เป็นประธานในธรรมทั้งปวง เป็นกิจ
สันธานะ ปัจจุปัฏฐานัง มีการเกิดขึ้นต่อเนื่องกันไม่ขาดสาย เป็น
อาการปรากฏ
นามะรูปะ ปะทัฏฐานัง มีนามรูป เป็นเหตุใกล้ให้เกิด

ในธรรมบท ภาค ๒ มีคาถากล่าวถึงเรื่องการระวังสังวรจิต และมีความ
กล่าวถึงลักษณะหรือสภาพของจิตด้วย จึงขอนำมาแสดงไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้

ทูรังคะมัง เอกะจะรัง อะสะริรัง คูหาสะยัง
เย จิตตัง สัญญะเมสสันติ โมกขันติ มาระพันธะนา ฯ
แปลความว่า ชนทั้งหลายใน จักระวังจิต ซึ่ง ไปไกล ไปเดี่ยว ไม่มี
สรีระ (รูปร่าง) มีคูหาเป็นที่อาศัย ไว้ได้ ชนทั้งหลายนั้น
จะพ้นจากเครื่องผูกแห่งมาร

อนึ่ง จิตเป็นสภาวธรรมที่ทำให้เกิดขึ้น ทำให้เป็นไปได้ คือทำให้วิจิตรได้ถึง
๖ ประการ

๑. วิจิตรในการกระทำ คือทำให้งดงาม แปลก น่าพิศวง พิลึกกึกกือ
เช่น สิ่งของต่างๆ ที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้น ย่อมมีทั้งที่งดงาม แปลกตาน่าพิศวง
ตลอดจนน่าเกลียด น่าสยดสยองสะพรึงกลัว
๒. วิจิตรด้วยตนเอง คือ ตัวจิตเองก็แปลก น่าพิศวง มีประการ
ต่างๆ นานา เช่นจิตดีก็มี ชั่วก็มี จิตที่ฟุ้งซ่าน จิตที่สงบ จิตเบาปัญญา จิตที่
มากด้วยปัญญา จิตที่มีความจำเลอะเลือน จิตที่มีความจำเป็นเลิศ สุดที่จะ
พรรณนา
๓. วิจิตรในการสั่งสมกรรมและกิเลส ก็น่าแปลกที่จิตนั่นแหละเป็น
ตัวที่ก่อกรรมทำเข็ญ และก็จิตนั่นแหละเป็นที่สะสมกรรมและกิเลสที่ตัวนั้น
ทำไว้เอง น่าแปลก น่าพิศวงยิ่งขึ้นก็ตรงที่ว่า กรรมอะไรที่ไม่ดีที่ตัวทำเอง ก็
ไม่น่าจะเก็บสิ่งที่ไม่ดีนั้นไว้ แต่ก็จำต้องเก็บจำต้องสั่งสมไว้
๔. วิจิตรในการรักษา ซึ่งวิบากที่กรรมและกิเลสได้สั่งสมไว้ หมาย
ความว่ากรรมทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมที่จิตเป็นตัวการ
ก่อให้เกิดขึ้นนั้น จะไม่สูญหายไปไหนเลย แม้จะช้านานปานใด ก็ไม่มีการ
เสื่อมคลายไป เมื่อได้ช่องสบโอกาสเหมาะเมื่อใดเป็นต้องได้รับผลของกรรม
เมื่อนั้นจนได้
๕. วิจิตรในการสั่งสมสันดานของตนเอง หมายถึงว่าการกระทำ
กรรมอย่างใดๆ ก็ตาม ถ้ากระทำอยู่บ่อยๆ ทำอยู่เสมอๆ เป็นเนืองนิจ ก็ติดฝัง
ในนิสสัยสันดานให้ชอบกระทำชอบประพฤติอย่างนั้นเรื่อยๆ ไป
๖. วิจิตรด้วยอารมณ์ต่างๆ หมายถึงว่าจิตนี้รับอารมณ์ได้ต่างๆ
นานาไม่มีที่จำกัด แต่น่าแปลก น่าพิศวงที่มักจะรับอารมณ์ที่ไม่ดี ที่ชั่วได้ง่าย


จำแนกจิตเป็น ๔ ประเภท

เมื่อกล่าวตาม สภาพ คือกล่าวตามลักษณะของจิตแล้ว จิตก็มี
เพียง ๑ เพราะจิตมีสภาวะ มีสภาพ มีลักษณะ รับรู้อารมณ์แต่เพียงอย่าง
เดียวเท่านั้นเอง

แต่เมื่อกล่าวตามอาการที่รู้ ตามประเภทที่รู้ กล่าวคือ รู้ในเรื่องกามที่เป็นบุญ
เป็นบาป รู้เรื่องรูปฌาน รู้ในเรื่องอรูปฌาน รู้ในเรื่องนิพพานเหล่านี้แล้ว จิตก็
มีจำนวนนับอย่างพิสดารได้ถึง ๑๒๑ ดวง หรือ ๑๒๑ อย่าง ๑๒๑ ชนิด และ
จำแนกได้เป็นประเภทตามอาการที่รู้นั้นได้เป็น ๔ ประเภท คือ
๑. กามาวจรจิต ๕๔ ดวง
๒. รูปาวจรจิต ๑๕ ดวง
๓. อรูปาวจรจิต ๑๒ ดวง
๔. โลกุตตรจิต ๘ ดวง หรือ ๔๐ ดวง
รวมเป็น ๘๙ ดวง หรือ ๑๒๑ ดวง

๑. กามาวจรจิต เป็นจิตประเภทที่ข้องอยู่ ที่ติดอยู่ ที่หลงอยู่ ที่เจือ
อยู่ในกามตัณหาหรือเป็นจิตที่ส่วนมากท่องเที่ยววนเวียนอยู่ในกามภูมิ จิต
ประเภทนี้เรียกกันสั้นๆ ว่า กามจิต มีจำนวน ๕๔ ดวง
๒. รูปาวจรจิต เป็นจิตประเภทที่ถึงซึ่งรูปฌาน พอใจที่จะเป็น
รูปพรหม หรือเป็นจิตที่ท่องเที่ยวอยู่ในรูปภูมิ จิตประเภทนี้มีจำนวน ๑๕ ดวง
๓. อรูปาวจรจิต เป็นจิตประเภทที่ถึงซึ่งอรูปฌาน พอใจที่จะเป็น
อรูปพรหมหรือเป็นจิตที่ท่องเที่ยวอยู่ในอรูปภูมิ จิตประเภทนี้มีจำนวน
๑๒ ดวง
๔. โลกุตตรจิต เป็นจิตประเภทที่กำลังพ้นและพ้นแล้วจากโลก
ทั้ง ๓ คือ พ้นจากกามโลก (กามภูมิ) จากรูปโลก (รูปภูมิ) และจากอรูปโลก
(อรูปภูมิ) จิตประเภทนี้มีจำนวนเพียง ๘ ดวง ถ้าจิต ๘ ดวงนี้ประกอบด้วย
ฌานด้วยแล้ว จิตแต่ละดวงก็แจกได้เป็น ๕ ตามชั้นตามประเภทของฌาน
ซึ่งมี ๕ ชั้น จึงเป็นจิตพิสดาร ๔๐ ดวง

ดังนั้น จิตทั้งหมด นับโดยย่อก็เป็น ๘๙ ดวง และนับโดยพิสดารก็เป็น ๑๒๑
ดวง ที่นับอย่างพิสดารนั้น จำนวนที่เพิ่มขึ้น ก็เพิ่มที่โลกุตตรจิตประเภทเดียว
เท่านั้น
***************************************

กามาวจรจิต

กามาวจรจิต หรือ กามจิต ซึ่งมีจำนวน ๕๔ ดวงนั้น
จำแนกได้เป็น ๓ จำพวก คือ
อกุศลจิต ๑๒
อเหตุกจิต ๑๘
กามาวจรโสภณจิต ๒๔


๑. อกุศลจิต

อกุศลจิต เป็นจิตที่ไม่ฉลาด ไม่ดี ไม่งาม เป็นจิตที่ทราม ที่ชั่ว
ที่หยาบ ที่เป็นบาป ที่มีโทษและให้ผลเป็นทุกข์ ที่ท่านแสดง
อกุศลจิตก่อน ก็เพื่อจะให้รู้จักสิ่งชั่ว จะได้ไม่ประพฤติต่ำช้า อันจะนำ
ความเดือดร้อนมาสู่ตนเองและผู้อื่น อุปมาว่าเราจะต้องรู้จักผู้ร้ายก่อน
จะได้หลบหลีกให้ห่างไกล จึงจะพ้นความเดือดร้อนวุ่นวาย เมื่อไม่เดือดร้อน
วุ่นวาย ก็จะเป็นปกติสุข มีความสงบเป็นโอกาสที่จะประกอบกรรมทำดีได้
โดยสะดวก

อกุศลจิต แม้จะเป็นจิตที่ชั่ว เป็นบาปและให้ผลเป็นทุกข์ แต่ส่วน
มากมักจะเกิดได้ง่ายและเกิดได้บ่อย ทั้งนี้ก็เพราะเหตุว่าเมื่อจิตได้รับอารมณ์
ใดแล้ว ส่วนมากก็ไม่ได้พิจารณาให้แยบคาย คือ ไม่พิจารณาให้ซึ้งถึงสภาพ
แห่งความเป็นจริงของอารมณ์ที่ประสบนั้น การไม่ใส่ใจพิจารณาอารมณ์
ด้วยดีนี้เรียกว่า อโยนิโสมนสิการ เมื่อมี อโยนิโสมนสิการ
อกุศลจิตย่อมเกิด อโยนิโสมนสิการนี้ ย่อมเกิดขึ้นโดยอาศัยเหตุ ๕ ประการ
คือ
๑. ปุพเพ อะกะตะปุญญะตา ไม่ได้สร้างสมบุญไว้แต่ปางก่อน
๒. อัปปะฏิรูปะเทสะวาสะ อยู่ในประเทศที่ไม่สมควร (คือไม่มี
สัปบุรุษ)
๓. อะสัปปุริสูปะนิสสะยะ ไม่ได้คบหาสมาคมกับสัปบุรุษ
๔. อะสัทธัมมัสสะวะนะ ไม่ได้ฟังธรรมของสัปบุรุษ
๕. อัตตะมิจฉาปะณิธิ ตั้งตนไว้ผิด
เหตุให้เกิด อโยนิโสมนสิการ ๕ ประการนี้ ประการที่ ๑ เป็นอดีตกรรม ส่วน
ที่เหลืออีก ๔ ประการ เป็น ปัจจุบันกรรม

อกุศลจิต มี ๑๒ ดวงได้แก่
โลภมูลจิต ๘
โทสมูลจิต ๒
โมหมูลจิต ๒

โลภมูลจิต เป็นจิตที่มีรากเหง้าเค้ามูลเกิดมาจาก ความอยากได้
ความต้องการ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความติดใจ ความชอบใจใน
อารมณ์ รวมความว่าจิตจำพวกนี้ มีโลภะเป็นตัวนำ

โทสมูลจิต เป็นจิตที่มีรากเหง้าเค้ามูลเกิดมาจาก ความไม่ชอบ
เสียใจ กลุ้มใจ รำคาญใจ หงุดหงิด โกรธ เกลียด กลัว ประทุษร้าย ทำลาย
รวมความว่าไม่อยากได้ในอารมณ์นั้น มีโทสะเป็นตัวนำ หรือเป็น
จิตที่มีความโกรธความเกลียดเป็นมูลเหตุ หรือจะเรียกว่า ปฏิฆจิต
คือจิตที่กระทบกระทั่งอารมณ์ที่ไม่ชอบ ก็ได้

เหตุให้เกิดโทสะหรือปฏิฆะ มี ๕ ประการ ได้แก่
๑. โทสัชฌาสะยะตา มีอัธยาศัยเป็นคนมักโกรธ
๒. อะคัมภีระปะกะติตา มีความคิดไม่สุขุม
๓. อัปปะสุตตา มีการศึกษาน้อย
๔. อะนิฏฐารัมมะณะสะมาโยโค ได้ประสบกับอารมณ์ที่ไม่ดี
๕. อาฆาตะวัตถุสะมาโยโค ได้ประสบอาฆาตวัตถุ ๑๐ ประการ

[อาฆาตวัตถุ ๑๐ ประการ คือ
๑. อาฆาตเขาโดยคิดว่า ได้ทำ ความเสื่อมเสียแก่เรา
๒. อาฆาตเขาโดยคิดว่า กำลังทำ ความเสื่อมเสียแก่เรา
๓. อาฆาตเขาโดยคิดว่า จักทำ ความเสื่อมเสียแก่เรา
๔. อาฆาตเขาโดยคิดว่า ได้ทำ ความเสื่อมเสียแก่ผู้ที่เรารักชอบ
๕. อาฆาตเขาโดยคิดว่า กำลังทำ ความเสื่อมเสียแก่ผู้ที่เรารักชอบ
๖. อาฆาตเขาโดยคิดว่า จักทำ ความเสื่อมเสียแก่ผู้ที่เรารักชอบ
๗. อาฆาตเขาโดยคิดว่า ได้ทำ คุณทำประโยชน์แก่ผู้ที่เราเกลียดชัง
๘. อาฆาตเขาโดยคิดว่า กำลังทำ คุณทำประโยชน์แก่ผู้ที่เราเกลียดชัง
๙. อาฆาตเขาโดยคิดว่า จักทำ คุณทำประโยชน์แก่ผู้ที่เราเกลียดชัง
๑๐. ความอาฆาตเกิดขึ้นในฐานะอันไม่สมควร เช่น เกิดโกรธขึ้นเมื่อเดิน
สะดุดตอไม้หรือเหยียบหนาม เป็นต้น]

โมหมูลจิต เป็นจิตที่มีรากเหง้าเค้ามูลเกิดมาจาก ความหลง ความ
งมงาย ความไม่รู้เหตุผลต้นปลาย มีโมหะเป็นตัวนำ จิตนี้เรียกว่า
โมมูหจิต คือจิตที่ประกอบด้วยความหลงก็ได้ โมหะ หรือ
อวิชชา มีความหมายอย่างเดียวกัน ในวิสุทธิมัคคกล่าวว่า โมหะนี้
เป็นรากเหง้าแห่งบาปอกุศลทั้งมวล

*8q*
01-13-2009, 01:29 PM
ผลแห่งโลภะโทสะโมหะ
อกุศลจิต จิตที่เป็นบาปนี้ กล่าวโดย เยภุยยนัย คือ กล่าวโดย
ส่วนมากแล้วเป็นเหตุให้ได้รับผลดังนี้
เยภุยเยนะ หิ สัตตา ตัณหายะ เปตติวิสะยัง อุปปัชชันติ ฯ
สัตว์ทั้งหลายโดยมาก ย่อมไปเกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย ด้วยอำนาจ
แห่งโลภะ อันมีความอยากได้เป็นมูลฐาน
โทเสนะ หิ จัณฑะชาตะตายะ โทสะสะทิสัง นิระยัง อุปปัชชันติ ฯ
สัตว์ทั้งหลายโดยมาก ย่อมไปเกิดในนรก ด้วยอำนาจแห่งโทสะ อัน
เป็นที่ทรมานสัตว์ให้เร่าร้อนเช่นเดียวกับสภาวะของโทสะที่ดุร้าย ทำลาย
อันทรมานเผาไหม้หัวใจอยู่ทุกขณะ
โมเหนะ หิ นิจจะสัมมุฬหัง ติรัจฉานะโยนิยัง อุปปัชชันติ ฯ
สัตว์ทั้งหลายโดยมาก ย่อมไปเกิดเป็นดิรัจฉาน ด้วยอำนาจแห่ง
โมหมูลจิต เพราะเป็นสภาพที่ยังสัตว์ให้ลุ่มหลงงมงายอยู่เป็นนิจ

อีกนัยหนึ่งแสดงว่า
สมัยใด มนุษย์มึสันดานมากไปด้วยโลภะ สมัยนั้นจักเกิด ทุพภิกขัน
ตะรายะ อันตรายที่เกิดจากข้าวยากหมากแพง เป็นเหตุให้อดอยาก
ล้มตายจากกันไปเป็นอันมาก
สมัยใด มนุษย์มีสันดานมากไปด้วยโทสะ สมัยนั้นก็เกิด สัตถันตะราย
อันตรายที่เกิดจากศัสตราวุธต่างๆ เป็นเหตุให้ฆ่าฟันกันล้มหายตาย
จากกันไปเป็นอันมาก
สมัยใด มนุษย์มีสันดานมากไปด้วยโมหะ สมัยนั้นก็เกิด โรคันตะรายะ
อันตรายที่เกิดจากโรคภัยไข้เจ็บ เป็นเหตุให้เป็นโรคระบาดล้มหายตายจาก
กันไปเป็นอันมาก


อกุศลจิตเป็นธรรมที่ควรละ
โลภมูลจิต เป็นจิตที่เกิดจากความโลภ ความอยากได้ ถ้าไม่ระมัด
ระวังไว้บ้างแล้วก็จะอยากได้จนหาประมาณที่สุดมิได้เลย จะละด้วย
สันตัฏฐี คือ สันโดษ ความพอใจเท่าที่มีอยู่ ความพอใจเท่าที่
กำลังตนจะหาได้ ความพอใจเท่าที่จะพึงหาได้โดยชอบธรรม เพียง ๓
ประการเท่านี้ ก็นับว่าประเสริฐพอประมาณแล้ว

โทสมูลจิต เป็นจิตที่เกิดจากความเกลียด โกรธ ประทุษร้าย
ทำลาย อันมีแต่จะวู่วามก่อให้เกิดโทษนั่นเอง จงละด้วยเมตตา โดยการ
พิจารณาเป็นเนืองนิจว่า ตนเกลียดทุกข์ประสงค์สุขฉันใด ผู้อื่นสัตว์อื่นก็
เกลียดทุกข์แสวงสุขเหมือนตนฉันนั้น เช่นนี้ก็จะผ่อนคลายความเบียด
เบียนซึ่งกันและกันลงได้เป็นอย่างมาก ในสติปัฏฐานอรรถกถา แสดงเหตุ
ที่ประหารโทสะไว้ ๖ ประการ คือ
๑. เมตตานิมิตตัสสะ อุคคะโห ศึกษาในเมตตานิมิต
๒. เมตตาภาวะนานุโยโค ประกอบภาวนาในเมตตาเนืองๆ
๓. กัมมะสะกะตา ปัจจะเวกขะณะ พิจารณาว่าเป็นกรรมของตน
๔. ปะฏิสังขายะ พะหุลีกะตา ทำให้มากด้วยปัญญา
๕. กัลยาณะมิตตะตา มีมิตรที่ดี (ที่มีเมตตา)
๖. สัปปายะกะถา ได้ฟังถ้อยคำที่สบาย (เมตตากถา)

โมหมูลจิต แม้จะไม่ประจักษ์โทษโดยเด่นชัด แต่ก็มีโทษหาน้อยไม่
เปรียบเหมือนสนิมเหล็กที่กัดกินเนื้อเหล็กให้กร่อนลงทีละน้อย จนขาดผุไป
อย่างไม่รู้ตัว ในสติปัฏฐานอรรถกถาจึงแสดงเหตุที่ประหารโมหะไว้ดังนี้ คือ
เหตุที่ประหารวิจิกิจฉา ๖ ประการ
(วิจิกิจฉา = ความลังเลสงสัย- deedi)
๑. พะหุสสุตะตา เป็นพหูสุต ได้ยินได้ฟังมามาก
๒. ปะริปุจฉะกะตา หมั่นสอบสวนทวนถาม
๓. วินะเยปะกะตัญญุตา รอบรู้ชำนาญและเคร่งในวินัย
๔. อะธิโมกขะพะหุละตา มากด้วยการตัดสินใจเชื่อ
๕. กัลยาณะมิตตะตา มีมิตรที่ดี
๖. สัปปายะกะถา ได้ฟังถ้อยคำอันเป็นที่สบาย
เหตุที่ประหารอุทธัจจะ ๖ ประการ
(อุทธัจจะ = ความฟุ้งซ่าน รำคาญใจ- deedi)
เหตุที่ประหารอุทธัจจะ นี้ก็เหมือนกับเหตุที่ประหารวิจิกิจฉา นั้นเว้นแต่ข้อ ๔
เป็นดังนี้
๔. พุทธะเสวิตา ได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าบ่อยๆ
ส่วนข้ออื่นๆ มีข้อความเหมือนกันหมด


๒. อเหตุกจิต

อเหตุกจิต เป็นจิตที่ไม่มีเหตุ หมายความว่า จิตจำพวกนี้ไม่มี
เหตุบาป คือ อกุศลเหตุ อันได้แก่ โลภเหตุ โทสเหตุ โมหเหตุ และไม่มีเหตุ
บุญคือกุศลเหตุ อันได้แก่ อโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ รวม ๖ เหตุนี้
มาสัมปยุตต คือ มาประกอบด้วยเลยแม้แต่เหตุเดียว หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่ง
ว่า อเหตุกจิตเป็นจิตที่ไม่มีสัมปยุตตเหตุ เป็นจิตที่ไม่มีเหตุ ๖ ประกอบเลย

อเหตุกกิริยาจิต
อเหตุกกิริยาจิต เป็นจิตที่สักแต่ว่ากระทำ ไม่ประกอบด้วยเหตุ ๖
เป็นจิตที่ไม่เป็นบุญไม่เป็นบาปและไม่ใช่ผลของบุญหรือผลของบาปด้วย
มีจำนวน ๓ ดวงได้แก่
๑. อุเปกขาสะหะคะตัง ปัญจะทวาราวัชชะนะจิตตัง จิตที่เกิด
พร้อมกับความเฉยๆ พิจารณาอารมณ์ทางทวารทั้ง ๕ มีความหมายว่า
เป็นจิตที่พิจารณาอารมณ์ที่มากระทบนั้นว่าเป็นอารมณ์ทางทวารไหน จะได้
เป็นปัจจัยให้สัญญาณแก่วิญญาณจิตทางทวารนั้นรับอารมณ์ อุปมาเหมือน
นายทวารที่รักษาประตูพระราชวัง คอยเปิดให้เข้าตามฐานะของบุคคลนั้นๆ
๒. อุเปกขาสะหะคะตัง มะโนทะวารราวัชชะนะจิตตัง จิตที่เกิด
พร้อมกับความเฉยๆ พิจารณาอารมณ์ทางมโนทวาร มีความหมายว่า จิตนี้
ทำหน้าที่ตัดสินอารมณ์ ๕ ทางทวาร ๕ และมีหน้าที่พิจารณาอารมณ์ทั้ง ๖
ที่เกิดทางมโนทวารคือทางใจนึกคิดโดยตรงด้วย
๓. โสมะนัสสะหะคะตัง หะสิตุปปาทะจิตตัง จิตที่ยิ้มแย้มของ
พระอรหันต์ เกิดพร้อมกับความโสมนัส มีความหมายว่า จิตดวงนี้เป็นจิต
ยิ้มแย้มของพระอรหันต์ทั้งหลายโดยเฉพาะ บุคคลอื่นที่มิใช่พระอรหันต์
ไม่ได้ยิ้มแย้มด้วยจิตดวงนี้ แต่ยิ้มและหัวเราะด้วยจิตดวงอื่น หสิตุปปาทจิต นี้
บางแห่งก็เรียกว่า หสนจิต


โสภณจิต กับ อโสภณจิต
จิตทั้งหมดซึ่งมีจำนวนโดยสังเขป โดยย่อ ๘๙ ดวงหรือโดยพิสดาร ๑๒๑
ดวงนั้น ยังจำแนกเป็น โสภณจิต และ อโสภณจิต
โสภณจิต เป็นจิตที่ดีงามโดยแท้ เป็นจิตที่มีโสภณเจตสิกประกอบ (เจตสิก
เป็นธรรมชาติประเภทหนึ่ง ซึ่งประกอบจิต ปรุงแต่งจิตให้จิตประพฤติเป็นไป
ตามนั้น)
ส่วน อโสภณจิต ไม่ได้หมายความว่า เป็นจิตที่ไม่ดีงาม เพราะพระอรหันต์
ก็ยังมีอเหตุกจิตซึ่งเป็นอโสภณจิตอยู่ จะกลายเป็นว่าพระอรหันต์ยังคงมีจิต
ที่ไม่ดีไม่งามอยู่อีก ซึ่งความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะพระอรหันต์
เป็นผู้ที่สิ้นกิเลสทั้งปวงแล้ว เป็นผู้มีจิตใจขาวสะอาดบริสุทธิ์หมดจดแล้ว
หามีจิตใจอันไม่ดีไม่งามเหลืออยู่เลยแม้แต่น้อย ดังนั้น อโสภณจิต จึงมี
ความหมายแต่เพียงว่า เป็นจิตที่ไม่มีโสภณเจตสิกประกอบ


๓. กามาวจรโสภณจิต

กามาวจรโสภณจิต เป็นจิตที่แม้ว่ายังต้องท่องเที่ยววนเวียนอยู่
ในกามภูมิ แต่ก็เป็นไปในฝ่ายที่ดีงาม ไม่เบียดเบียนหรือก่อความเดือดร้อน
ให้แก่ตนเองและผู้อื่น

มหากุศลจิต
มหากุศลจิต เรียกว่า มหากุศลเฉยๆ ก็ได้ ที่ว่าเป็นมหากุศลเพราะ
ก. เป็นกุศลจิตที่กว้างขวางมากมายมีได้ทั่วไป กล่าวคือสัตว์ในอบาย (สัตว์
นรก สัตว์เปรต สัตว์อสุรกายและสัตว์ดิรัจฉาน) มนุษย์ เทวดา ตลอดจน
รูปพรหม อรูปพรหม สามารถที่จะมีมหากุศลหรือประกอบกรรมอันเป็น
มหากุศลนี้ได้
ข. เป็นที่ตั้งของกุศลทั้งปวง และยังเป็นปัจจัยก่อให้เกิดกุศลฌานจิต
มัคคจิต ผลจิต ทั้งเป็นปัจจัยให้ถึงซึ่งพระนิพพานได้ด้วย

อรรถแห่งกุศล
กุศลจิต เป็นจิตที่ไม่เศร้าหมอง ไม่เร่าร้อน เป็นจิตที่ดี ที่งาม ที่
ฉลาด ที่สะอาด ที่ปราศจากโทษและให้ผลเป็นสุข มีอรรถ ๕
ประการคือ
๑. อาโรคะยะตุถะ ไม่มีโรค คือไม่มีราคะเป็นต้น ราคะ โทสะ
โมหะ นี้เรียกว่า โรค เพราะเสียดแทงจิตตสันดานของสัตว์ทั้งหลาย
๒. สุนทะรัตถะ ดีงาม คือ เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลาย
๓. เฉกัตถะ ฉลาด เรียบร้อย คือผู้ที่มีจิตใจเป็นกุศลย่อมมีกิริยา
วาจาสุภาพเรียบร้อย
๔. อะนะวัชชัตถะ ไม่มีโทษอันจะพึงติเตียนได้
๕. สุขะวิปากัตถะ ให้ผลเป็นสุขอันพึงปรารถนา

บุญกิริยาวัตถุ ๑๐
บุญกิริยาวัตถุ แปลว่า ความดีที่ควรกระทำ เพราะเป็นเหตุเป็นที่ตั้งแห่งผลดี
ให้เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่ให้บุญเป็นกุศล บุญกิริยาวัตถุมี ๑๐ ได้แก่
๑. ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน คือ การให้สิ่งที่เป็น
ประโยชน์สุขแก่ผู้ที่ได้รับ
๒. สีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล คือ รักษากายวาจาใจให้
เป็นปกติ ไม่เป็นการเบียดเบียนผู้อื่น
๓. ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา คือ การอบรมจิตใจ
ให้กุศลอันประเสริฐเกิดขึ้นและให้เจริญยิ่งขึ้นด้วย
๔. อปจายนมัย บุญสำเร็จด้วยประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ คือ
การแสดงคารวะและอ่อนน้อมแก่ผู้ที่เจริญด้วย ชาติวุฒิ วัยวุฒิและคุณวุฒิ
๕. เวยยาวัจจมัย บุญสำเร็จด้วยการขวนขวายในกิจที่ชอบคือ
สงเคราะห์ช่วยเหลือกิจการที่เกี่ยวแก่ปริยัติและปฏิบัติ
๖. ปัตติทานมัย บุญสำเร็จด้วยการแบ่งส่วนบุญให้แก่ผู้อื่น คือ
อุทิศส่วนกุศลให้ผู้มีคุณตลอดจนสรรพสัตว์ทั้งหลาย
๗. ปัตตานุโมทนามัย บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนาส่วนบุญของ
ผู้อื่น คือ การเห็นดีเห็นชอบและคล้อยตามด้วยความอิ่มใจในส่วนบุญที่มี
ผู้อุทิศให้นั้น
๘. ธัมมัสสวนมัย บุญสำเร็จด้วยการฟังธรรม คือ ตั้งใจสดับตรับ
ฟังพระธรรมเทศนา แม้ฟังการสั่งสอนวิชาทางโลกที่ไม่มีโทษ ก็สงเคราะห์
เข้าใจข้อนี้
๙. ธัมมเทสนามัย บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรมให้ผู้อื่นฟัง คือ
การแสดงธรรมแก่ผู้ที่ประสงค์ฟังธรรม แม้การสั่งสอนวิชาทางโลกที่ไม่มีโทษ
ก็สงเคราะห์เข้าในข้อนี้

*8q*
01-13-2009, 01:30 PM
๑๐. ทิฏฐชุกัมม การทำความเห็นให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง
อย่างน้อยก็ต้องถึง กัมมัสสกตาปัญญา คือ รู้ว่าสัตว์มีกรรมเป็นของตน ทำดี
ได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น
บุญกริรยาวัตถุ ๑๐ นี้ เมื่อสงเคราะห์ลงในประเภท ทาน ศีล ภาวนา แล้ว
ก็ได้ดังนี้
ปัตติทานมัย กับ ปัตตานุโมทนามัย สงเคราะห์ลงในทานมัย
อปจายนมัย กับ เวยยาวัจจมัย สงเคราะห์ลงในสีลมัย
ธัมมัสสวนมัย ธัมมเทสนามัยและทิฏฐชุกัมม สงเคราะห์ลงในภาวนามัย

มหากิริยาจิต
มหากิริยาจิต เป็นจิตที่ให้สำเร็จในการคิด การทำ การพูด ของ
พระอรหันต์ทั้งหลายผู้สิ้นกิเลสทั้งปวงโดยสิ้นเชิงแล้ว การคิด การทำ การพูด
เหล่านั้นจึงหาก่อให้เกิดผลในอนาคตไม่
มีความหมายว่า มหากุศลนั้น ถ้าเกิดแก่บุคคลอื่นที่มิใช่พระอรหันต์ ก็คงเรียก
ว่า มหากุศลจิต แต่ถ้าเกิดแก่พระอรหันต์โดยเฉพาะแล้ว เรียกว่า
มหากิริยาจิต
ที่เรียกว่า มหากุศลจิต เพราะจะต้องให้ผลในภายหน้า แต่ที่เรียกว่า
มหากิริยาจิตเพราะจิตที่ปราศจากผลในอนาคต
***************************************
จบ กามาวจรจิต
***************************************


รูปาวจรจิต

รูปาวจรจิต เป็นจิตที่ถึงซึ่งรูปฌาน หรือ เป็นจิตที่โดยมาก
ท่องเที่ยวอยู่ในรูปภูมิ

ฌานคืออะไร
คำว่า ฌาน นี้ อัฏฐสาลินีอรรถกถา แสดงว่า อารัมมะณูปะนิช
ฌานะโต ปัจจะนิกะฌาปะนะโต วา ฌานัง แปลความว่า ธรรมชาติ
ที่เพ่งอารมณ์ (อันมีกสิณ เป็นต้น) ก็ดี หรือธรรมชาติที่เผาธรรมอันเป็น
ปฏิปักษ์ (มีนิวรณ์ เป็นต้น) ก็ดี ธรรมนั้นเรียกว่า ฌาน
ในปรมัตถทีปนีฎีกาแสดงว่า ฌาเนนะ สัมปะยุตตัง จิตตันติ
ฌานจิตตัง แปลความว่า จิตใดที่ประกอบด้วยฌาน จิตนั้นเรียกว่า
ฌานจิต
ฌานจิตนี้ทั้งเพ่งอารมณ์และเผาปฏิปักษ์ธรรมไปพร้อมกันในขณะเดียวกัน
ด้วย ปฏิปักษ์ธรรมที่ทำลายการเพ่งอารมณ์จนไม่สามารถที่จะให้เกิด
ฌานจิตได้นั้น เรียกว่า นิวรณ์ อันมีความหมายว่าเป็น เครื่องกั้น
เครื่องกีดกัน เครื่องขัดขวางการกระทำความดี ในที่นี้ก็หมายความว่า
ขัดขวางไม่ให้ทำจนถึงฌานได้

การเผานิวรณ์
การเผา การข่ม การทำลายหรือการประหารนิวรณ์นี้ กล่าวสรุปอย่างสั้นๆ ว่า
วิตก เผา ถีนมิทธนิวรณ์
วิจาร เผา วิจิกิจฉานิวรณ์
ปีติ เผา พยาปาทนิวรณ์
สุข เผา อุทธัจจะกุกกุจจนิวรณ์
เอกัคคตา เผา กามฉันทนิวรณ์
ต่อเมื่อเผาหรือข่มนิวรณ์ซึ่งเป็นปฏิปักษ์ธรรมอันเป็นเครื่องขัดขวางมิให้เกิด
ฌานนี้ได้เมื่อใด ฌานจิตจึงจะเกิดขึ้นได้เมื่อนั้น ถ้านิวรณ์ทั้ง ๕ นี้ยังคงมีอยู่
แม้แต่อย่างเดียว ฌานจิตก็จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย
เหตุนี้ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา จึงเป็นส่วนสำคัญยิ่งที่เป็น
ปัจจัยให้เกิดฌานจิต ดังนั้นจึงเรียกธรรม ๕ ประการ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข
เอกัคคตา นี้ว่าเป็น องค์ฌาน เพราะเป็นองค์สำคัญที่ทำให้เกิด
ฌานจิต
การข่มนิวรณ์ด้วยอำนาจแห่งฌานนี้ เรียกว่า วิกขัมภนปหาน
เป็นการประหารไว้ได้นานตราบเท่าที่ฌานยังไม่เสื่อม ซึ่งเปรียบไว้ว่า
ประดุจหินทับหญ้า ถ้าไม่ยกหินออก หญ้าก็งอกขึ้นไม่ได้ฉันใด ถ้าฌาน
ยังไม่เสื่อม นิวรณ์ก็ไม่มีโอกาสจะกำเริบได้ฉันนั้น หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่ง
ว่า นิวรณ์กำเริบขึ้นได้เมื่อใด ฌานก็เสื่อมไปเมื่อนั้น
***************************************
จบ รูปาวจรจิต
***************************************


อรูปาวจรจิต

อรูปาวจรจิต เป็นจิตที่ถึงซึ่งอรูปฌาน เป็นจิตที่โดยมากท่องเที่ยว
อยู่ในอรูปภูมิ อรูปาวจรจิต กล่าวโดยประเภทแห่งอารมณ์แล้วมี ๔ อย่างคือ

๑. มี กสิณุคฆาฏิมากาสบัญญัติ เป็นอารมณ์ หมายถึงอากาศที่
เพิกกสิณแล้ว เป็นอากาศที่ว่างเปล่าไม่มีที่สิ้นสุดเป็นอารมณ์ โดยบริกรรม
ว่า อากาโส อะนันโต อากาศไม่มีที่สุด จนกว่าฌานจิตจะเกิดขึ้น
ฌานจิตที่เกิดขึ้นโดยมี กสิณุคฆาฏิมากาสบัญญัติ เป็นอารมณ์นี้ ชื่อว่า
อากาสานัญจายตนฌาน บางทีก็เรียกว่า ปฐมารูปจิต
คือ ปฐมอรูปจิต เป็นอรูปาวจรจิตชั้นต้น

๒. มี อากาสานัญจายตนจิต เป็นอารมณ์ หมายถึงวิญญาณคือ
ตัวรู้ หน่วงเอาตัวที่รู้ว่าอากาศไม่มีที่สิ้นสุดนั้นแหละเป็นอารมณ์ กล่าวอีกนัย
หนึ่งก็ว่า เพ่งหรือหน่วงเอาปฐมารูปจิตเป็นอารมณ์ โดยบริกรรมว่า
วิญญาณัง อะนันตัง วิญญาณไม่มีที่สุด จนกว่าฌานจิตจะเกิดขึ้น
ฌานจิตที่เกิดขึ้นโดยมีอากาสานัญจายตนจิตเป็นอารมณ์นี้ ชื่อว่า
วิญญาณัญจายตนฌาน บางทีก็เรียกว่า ทุติยอรูปจิต
เป็น อรูปาวจรจิตชั้นที่ ๒

๓. มี นัตถิภาวบัญญัติ เป็นอารมณ์ คือสภาพที่ไม่มีอะไรเลยเป็น
อารมณ์ มีความหมายว่า เมื่อได้เจริญวิญญาณัญจายตนฌานบ่อยๆ จน
ชำนาญ ก็จะรู้สึกขึ้นมาว่าวิญญาณ คือตัวรู้ว่าอากาศไม่มีที่สุดก็ดี แม้แต่
อากาศที่ไม่มีที่สิ้นสุดนั้นเองก็ดี จะมีอะไรแม้แต่สักหน่อยหนึ่งก็หาไม่ จึงได้
มาเพ่งถึงความไม่มี โดยบริกรรมว่า นัตถิ กิญจิ นิดหนึ่งก็ไม่มี
หน่อยหนึ่งก็ไม่มี จนกว่าฌานจิตจะเกิดขึ้น ฌานจิตที่เกิดขึ้นโดยมี
นัตถิภาวบัญญัติ เป็นอารมณ์นี้ ชื่อว่า อากิญจัญญายตนฌาน
บางทีก็เรียกว่า ตติยารูปจิต คือ ตติยอรูปจิต เป็นอรูปาวจรจิต
ชั้นที่ ๓

๔. มี อากิญจัญญายตนจิต เป็นอารมณ์ กำหนดเอาความ
ประณีตความละเอียดของตติยารูปจิตเป็นอารมณ์โดยความรู้สึกที่ว่า
สัญญาคือจิตที่รู้ว่านิดหนึ่งก็ไม่มี หน่อยหนึ่งก็ไม่มีนั้นจะว่าไม่มีก็ไม่ใช่
เพราะยังมีตัวรู้ว่าไม่มีอยู่ จะว่ามีก็ไม่เชิง เพราะสัญญานั้นประณีต
ละเอียด่อนและสงลมากเหลือเกิน จนแทบจะไม่รู้ว่ามี ดังนั้นจึงกำหนด
เพ่งธรรมชาติที่สงบที่ประณีต โดยบริกรรมว่า เอตัง สันตัง เอตัง
ปณีตัง สงบหนอ ประณีตหนอ จนกว่าฌานจิตจะเกิดขึ้น ฌานจิต
ที่เกิดขึ้นโดยมีอากิญจัญญายตนจิตเป็นอารมณ์เช่นนี้ ชื่อว่า เนว
สัญญานาสัญญายตนฌาน ซึ่งแปลว่าฌานที่ไม่มีสัญญาหยาบ
มีแต่สัญญาละเอียด หรือ ฌานที่ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ จะว่ามีสัญญาก็
ไม่เชิง บางทีเรียกฌานนี้ว่า จตุตถารูปจิต คือ จตุตถอรูปจิต
เป็นอรูปาวจรจิตชั้นที่ ๔ อันเป็นชั้นสูงสุดเพียงนี้

อรูปาวจรจิต อรูปจิต อรูปฌาน ซึ่งมี ๔ ชั้นหรือ ๔ ฌานนี้ แตกต่างกัน
ด้วยประเภทแห่งอารมณ์ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น ไม่ใช่ต่างกันด้วยองค์
แห่งฌาน เพราะองค์แห่งฌานของอรูปฌานนี้ คงมีองค์ฌานเพียง ๒
คือ อุเบกขา กับ เอกัคคตา เท่ากันและเหมือนกันทั้ง ๔ ชั้น
***************************************
จบ อรูปาวจรจิต
***************************************


โลกุตตรจิต

โลกุตตรจิต มาจากคำว่า โลก + อุตตร + จิต
โลก หมายถึงโลกทั้ง ๓ คือ กามโลก (กามภูมิ) รูปโลก (รูปภูมิ)
และอรูปโลก (อรูปภูมิ) ก็ได้ อีกนัยหนึ่ง คำว่า โลก หมายถึงการเกิดดับ
ก็ได
อุตตร มีความหมายว่า เหนือ หรือ พ้น

ดังนั้น โลกุตตรจิต จึงเป็นจิตทีเหนือโลกทั้ง ๓ เป็นจิตที่พ้นจากโลกทั้ง ๓
ซึ่งมิได้หมายความว่า จิตนี้อยู่เหนือโลกหรือจิตนี้พ้นไปจากโลก แต่หมาย
ความว่าจิตนี้มีอารมณ์ที่เหนือโลก มีอารมณ์ที่พ้นจากโลก คือโลกุตตรจิต
นี้มีนิพพานเป็นอารมณ์ ซึ่งนิพพานเป็นธรรมที่พ้นจากโลก เป็นธรรมที่
เหนือโลก

โลกุตตรจิตเป็นจิตที่พ้นจากการเกิดดับ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจิตนี้ไม่ได้
เกิดดับ จิตนี้คงเกิดดับตามสภาพของจิต แต่เป็นจิตที่มีอารมณ์อันพ้นจาก
การเกิดดับ อารมณ์นั้นคือนิพพาน ซึ่งนิพพานเป็นธรรมที่ไม่มีการเกิดดับ
ธรรมทั้งหลายในโลกทั้ง ๓ ย่อมเกิดดับทั้งสิ้น แต่นิพพานเป็นธรรมที่ไม่
เกิดดับ เป็นธรรมที่พ้นจากการเกิดดับ นิพพานจึงเป็นธรรมที่พ้นจากโลก
เป็นธรรมที่เหนือโลก

อีกนัยหนึ่ง โลกุตตรจิตมีความหมายว่าเป็นจิตที่กำลังประหารและประหาร
แล้วซึ่งกิเลส หมายความว่าโลกุตตรกุศลจิตหรือมัคคจิตนั้นกำลังทำการ
ประหารกิเลสอยู่ โลกุตตรวิบากจิตหรือผลจิต เป็นจิตที่เสวยผลซึ่งมัคคจิต
ได้ประหารกิเลสนั้นแล้ว เป็นการประหารได้อย่างเด็ดขาด อันทำให้กิเลส
นั้นๆ หมดสิ้นสูญเชื้อไปโดยสิ้นเชิง จนไม่สามารถที่จะเกิดมาก่อความ
เศร้าหมองเราร้อนต่อไปได้เลย การประหารเช่นนี้แหละที่เรียกว่า
สมุจเฉทปหาน
***************************************
จบ โลกุตตรจิต
***************************************
จาก
คู่มือการศึกษาพระอภิธรรม ปริจเฉทที่ ๑ จิตปรมัตถ์
หลักสูตรปริญญาธรรมชั้นตรี
สถาบันการศึกษาพระอภิธรรม มูลนิธิปริญญาธรรม
รวบรวมโดย ขุนสรรพกิจโกศล (โกวิท ปัทมะสุนทร)


http://board.agalico.com/showthread.php?t=24995