PDA

แสดงเวอร์ชันเต็ม : ธรรมขั้นต้น โดยท่านอาจารย์ สุจินต์ บริหารวนเขตต์



*8q*
02-08-2009, 12:38 PM
ขั้นต้น
โดยท่านอาจารย์ สุจินต์ บริหารวนเขตต์
เราแต่ละคนคงจะมีความคิด และความเข้าใจ ในเรื่องของชีวิตไม่เหมือนกัน ชีวิตคืออะไร เรามาจากไหน ตัวเรามีจริงหรือ
คำตอบที่แท้จริง และถูกต้องที่สุด คงไม่มีใครตอบได้ นอกจากพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงค้นพบสัจจธรรมเหล่านั้น และทรงแสดงแก่พุทธบริษัท ทำให้สาวกทั้งหลายสามารถประจักษ์แจ้งสัจจธรรมตามที่ทรงตรัสรู้ได้ ชาวพุทธบางกลุ่ม ไม่สนใจศึกษาพระธรรมโดยละเอียด เพราะคิดว่ายากเกินไป บางกลุ่มก็เข้าใจผิดว่า พระธรรมเป็นเรื่องง่ายๆ โดยเฉพาะผู้ที่มีการศึกษาสูง อาจจะเข้าใจว่าพระธรรมคำสอนมีเพียง เรื่องทำความดี ละความชั่วทำจิตใจให้ผ่องแผ้วบริสุทธิ์เท่านั้น
พระธรรมคำสอน เป็นความจริงที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ด้วยพระปัญญาระดับ "สัมมาสัมพุทธะ" เมื่อเราเป็นสาวกเป็นพุทธบริษัท ก็จะต้องศึกษาตามคำสอนที่พระพุทธองค์ทรงเทศนา โดยไม่นำพระธรรมไปเทียบเคียงกับวิชาการทางโลก และไม่คาดคะเนเรื่องของธรรมไปต่างๆนานา ตามความนึกคิดของแต่ละคน ซึ่งมักจะมีพื้นฐานมาจากการศึกษา การเรียนรู้ ที่เคยสะสมมา มิฉะนั้นเราจะไม่สามารถเข้าใจความละเอียด ลึกซึ้งของพระธรรมได้ และยังคงเป็นผู้ไม่รู้ความจริงเกี่ยวกับตัวเรา และทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏในชีวิตประจำวันอยู่นั่นเอง
เราลองมาค้นหาคำตอบกันว่า ชีวิตคืออะไรกันแน่ และ "พุทธธรรม" จะเป็น ที่พึ่งของชีวิต ได้อย่างไร
ทุกวันนี้เราอยู่ในโลกของ ความคิด และ ความจำ ว่ามีตัวเรา มีแขน ขา ปอด หัวใจ ฯลฯ รวมทั้งมีคนอื่นรอบตัวเรา เช่น พ่อแม่ ญาติพี่น้อง สามี ภรรยา สัตว์ สิ่งของ น่าคิดว่าตัวเราจริงๆ ที่มีแขน ขา ปอด หัวใจรวมทั้งอวัยวะต่างๆทั่วร่างกายมีหรือไม่พ่อแม่ ญาติพี่น้อง สามี ภรรยา ของเรา มีจริงและเป็นของเราจริงหรือไม่
ลองจับที่ "แขน" ของคุณดูสิว่า กระทบอะไร จะบอกว่า กระทบ "แขน" หรือเปล่า ลองหลับตา แล้วจับที่ "แขน" อีกสักครั้งว่า จริงๆแล้ว กระทบอะไรบางคนอาจบอกว่า กระทบ ความอ่อนนุ่ม (ถ้าแขนของคุณ นุ่ม อย่างนั้น) บางคนอาจบอกว่า กระทบ ความแข็ง (ถ้าแขนของคุณไม่นุ่ม แต่ผิวแห้งแตก มีเนื้อน้อย) บางคนอาจบอกว่า กระทบ ความเย็น (ถ้าคุณอยู่ในห้องแอร์ เย็นเฉียบ) บางคนอาจบอกว่า กระทบ ความอุ่น (ถ้าตัวคุณอุ่นๆ เพราะเป็นไข้ ตัวร้อน)
เห็นไหมว่า คุณไม่ได้กระทบ "แขน" จริงๆ แต่เป็น ความอ่อน แข็ง เย็นหรือร้อนต่างหาก ที่เคยคิดว่า เป็น "แขน" เพราะเคยได้เห็น แล้วจำไว้ เคยได้จับต้อง แล้วจำไว้
คราวนี้ ลองหลับตาอีกครั้ง คุณ "เห็น" อะไรบ้าง เห็นแต่ "ความมืด" ใช่หรือไม่พอลืมตามีความสว่าง และสีสันต่างๆ ปรากฏ เป็นรูปทรงหลากหลายคราวนี้หลับตาอีกครั้ง แล้วลองนึกดูสิว่า เมื่อสักครู่ (ตอนลืมตา) เห็นอะไรบ้างคุณอาจบอกไม่ได้ทั้งหมดที่คุณได้เห็นเพราะจำไม่ได้หมด
ความจริงก็คือตอนที่คุณ "เห็น" จริงๆ (ลืมตา) กับตอนที่คิดว่า "เห็นอะไร" (หลับตา แล้วคิด) ต่างกัน แต่ในชีวิตประจำวัน ขณะที่ไม่หลับ คุณลืมตาเกือบตลอดเวลาจึงดูเหมือนว่า คุณเห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ เห็นคน เห็นวัตถุความจริงก็คือ คุณเห็นเพียง"สีต่างๆ" แล้วคิดต่อว่าเป็น "คน" เป็น "วัตถุ" เป็นสิ่งต่างๆ เพราะว่า คุณเคยเห็น แล้วจดจำไว้ว่า สิ่งที่คุณเห็น เรียกว่า "คน" หรือวัตถุสิ่งของต่างๆมากมาย
คุณรู้ว่าเป็น สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะเคยได้เห็น เคยได้รู้มาก่อน แล้วจดจำได้ถ้าเห็นสิ่งที่ไม่เคยได้เห็น ไม่เคยได้รู้จักมาก่อน ก็จะไม่รู้ว่า สิ่งนั้นเป็นอะไรนอกจากจะรู้ว่า มีสีอย่างนั้น และรูปร่างอย่างนั้น ตามที่ได้เห็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นทางตา เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง และสภาพนั้นเปลี่ยนแปลงไม่ได้
แต่ความคิดที่ว่า สิ่งที่เราได้เห็นคืออะไร แตกต่างกันไปตามการปรุงแต่งความคิดของผู้ที่ได้เห็นเพราะบางครั้งคนสองคน ได้เห็นสิ่งเดียวกัน แต่เข้าใจไปคนละอย่าง หรือเรียกชื่อไปต่างๆกันเ ช่น คนสองคน เห็น "เชือก" เส้นเดียวกันคนหนึ่งเห็นเป็น "เชือก" แต่อีกคนอาจเห็นเป็น "งู" และไม่ว่าจะเป็น "เชือก" หรือ เป็น "งู" ก็เรียกชื่อแตกต่างกันไปตามภาษาที่ใช้
"เชือก" หรือ "งู" เป็น คำที่เราสมมติเรียกขึ้นมา เพื่อให้เข้าใจความหมายหลังจากการได้เห็นและจำสีสันต่างๆ หรือตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐานนั้นๆ"เชือก" หรือ "งู" จึงเป็น "สมมติสัจจะ" หมายถึง ความจริงที่มีอยู่โดย
สมมุติส่วน สิ่งที่ปรากฏให้เห็นทางตา เป็นสิ่งที่มีจริงโดยมีลักษณะเฉพาะของเขาเองซึ่งลักษณะนั้นๆไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นได้
สิ่งที่ปรากฏทางตา เป็น "ปรมัตถสัจจะ" หมายถึง ความจริงแท้ หรือความจริงอย่างยิ่ง ฉะนั้น เมื่อเราพิจารณาดูให้ดี แขน ขา ปอด หัวใจ และตัวคุณตั้งแต่ ศีรษะตลอดเท้าที่เราจำไว้นั้น ไม่มีจริง ที่เราเข้าใจว่ามี เพราะเราคิดถึงสิ่งเหล่านี้ ขณะที่นอนหลับสนิท (ไม่ฝัน ไม่ละเมอ) ไม่มีอะไรเลยแม้แต่ตัวเราเองก็หายไปด้วย ไ ม่ว่าจะเป็นเศรษฐีหลายล้าน หรือ(อดีต)เศรษฐีหนี้หลายล้านทรัพย์สินเงินทอง พ่อ แม่ ญาติ พี่ น้อง นั้น ก็ไม่มี เพราะขณะที่หลับสนิทไม่ได้คิดถึงเรื่องราวของตัวเอง ไม่ได้นึกถึงวงศาคณาญาติ หรือทรัพย์สมบัติต่างๆหรือแม้ขณะนี้ที่คุณกำลังให้ความสนใจกับเรื่องราวในไซต์ คุณก็ไม่ได้นึกถึงแขน ขา ปอด หัวใจหรือครอบครัว ญาติพี่น้องของคุณ สิ่งเหล่านี้ หายไปหมดขณะที่คิดถึง "แขน" ก็ไม่ได้คิดถึง ขา ปอด หัวใจ รวมทั้งอวัยวะอื่นๆ และถ้าขณะนี้ ที่คุณกำลังอ่านข้อความบนจอคอมพิวเตอร์ของคุณที่มีคำว่า "แขน" คุณอาจนึกถึง แขนของคุณ แต่คุณไม่ได้มองที่แขนหรือจับที่แขนของคุณจริงๆเพียงแต่คิดถึง "แขน" เท่านั้นหรือถ้าบางคนขณะนี้ (ที่เริ่มไม่แน่ใจว่าแขนยังอยู่หรือเปล่า) อาจมองดูแขนของตัวเอง (ยังอยู่ )
คุณเห็นอะไร "แขน" หรือเปล่า หรือเพียงสีสัน และรูปร่างสัณฐาน แล้วคิดว่า เป็น "แขน"เพราะจริงๆแล้ว คุณต้องได้เห็น นาฬิกา หรือ สร้อยข้อมือ บนแขน ด้วย (ถ้ามี)เห็นสิ่งอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้ ๆ แขนของคุณ แต่คุณไม่สนใจและไม่ได้คิดถึงสิ่งเหล่านั้นใช่ไหม สีต่างๆ เป็นสิ่งที่มีจริง เพราะเป็นสิ่งที่เราเห็นได้จริงๆ เป็น"ปรมัตถสัจจะ"อ่อน แข็ง เย็น ร้อน เป็นสิ่งที่มีจริง เพราะเป็นสิ่งที่เรากระทบสัมผัสได้จริงๆ เป็น "ปรมัตถสัจจะ"
แขน ไม่มีจริงๆ จะมีได้ ก็ต่อเมื่อเราคิดว่า ที่ได้เห็นเป็นอะไร กระทบ (จับ)เป็นอะไร เราไม่ได้เห็น "แขน" จริงๆ ไม่ได้กระทบ "แขน" จริงๆ แต่เห็น "สีต่างๆ" หรือ กระทบ "อ่อน แข็ง เย็น ร้อน" แล้วจำได้ว่าสีสันอย่างนี้ สัมผัสแบบนี้ เรียกว่า "แขน" และถ้าเป็นภาษาอื่น ก็ไม่ได้เรียกว่า "แขน" แต่เรียกชื่อตามภาษานั้น ๆ แขน จึงเป็น "สมมติสัจจะ"ซึ่งรวมทั้ง "ขา ปอด หัวใจ ตับม้าม ลำไส้ ฯลฯ" ก็เป็น "สมมติสัจจะ" ด้วยเหตุผลเดียวกัน
ปรมัตถสัจจะ จะเรียกชื่อหรือไม่ ก็เป็นจริงอย่างนั้น ไม่ว่าจะปรากฏกับผู้ใดแม้แต่สัตว์เดรัจฉานถ้ามนุษย์ และ สุนัข ได้เห็นสีสันที่เหมือนๆกัน แต่เมื่อคิดนึกถึงสิ่งที่เห็น มนุษย์เรียกชื่ออย่างหนึ่ง ส่วนสุนัขก็มีภาษาที่ใช้สื่อความหมายต่างกันกับมนุษย์ เด็กทารก ก็กระทบ เย็น ร้อน อ่อน แข็งได้ โดยที่ยังไม่รู้จักคำว่า "เย็น ร้อน อ่อน หรือแข็ง" เลยการเห็น การกระทบสัมผัส เป็นสิ่งที่มีจริงเช่นเดียวกัน เห็นจริงๆ กระทบสัมผัสจริงๆ) จึงเป็น "ปรมัตถสัจจะ" การคิดนึก สภาพที่กำลังนึกคิดนั้นเป็นสิ่งที่มีจริง แต่บางครั้งก็เป็นการคิดถึงสิ่งที่ไม่มีจริง เช่น คิดถึง "แขน" การคิดนึกจึงเป็น "ปรมัตถสัจจะ" รวมทั้ง สิ่งอื่นๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น
การได้ยินเสียง การได้กลิ่น การลิ้มรสต่าง ๆ ความโลภ ความโกรธความรัก ความชัง ความหลงลืม ความถือตัว (ว่าดี เก่ง ใหญ่ มีอำนาจรวย ฯลฯ) ความอิจฉา ความริษยา ความตระหนี่ ความเมตตา ความกรุณา ความสงบ ความฟุ้งซ่าน ความตั้งใจจงใจ ศรัทธา ความขยันความเข้าใจถูก ความสงสัย สุข ทุกข์ ดีใจ เสียใจ เฉยๆ พอใจเป็นต้น
พอมาถึงตอนนี้ เราเข้าใจตามเหตุผลหรือยังว่า ตัวเราจริงๆนั้นไม่มี เพราะแขน ก็ไม่มีจริง ขา ก็ไม่มีจริงปอด หัวใจ ตับ ม้าม อวัยวะทุกส่วนตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ไม่มีจริง โดยปรมัตถสัจจะและ พ่อ แม่ ญาติ พี่ น้องเพื่อนฝูง วงศาคณาญาติของเรา ก็ไม่มีจริงด้วยตัวเรา พ่อ แม่ ญาติ พี่น้อง เพื่อนฝูง วงศาคณาญาติของเรา จะมีต่อเมื่อเราคิดแล้วตัวเราอ ยู่ ที่ ไ ห น ที่เป็นทั้งตัวทั้งก้อนทั้งแท่ง ที่กำลังนั่ง(นอน)อ่านข้อมูลบนจอคอมพิวเตอร์อยู่นี่ล่ะคืออะไร ใครกำลังเห็น ใครกำลังคิด ใครกำลังอ่าน ใครกำลังใช้คอมพิวเตอร์ และใครกำลังสงสัยอยู่ขณะนี้ โปรดค้นหาความจริงต่อไปแล้วคุณจะตอบได้ ด้วยตัวคุณเอง
ตั้งแต่เกิดจนขณะนี้ เราไม่เคยรู้ความจริงเหล่านี้เลย หรือรู้มาอย่างผิดๆ เข้าใจผิดมาตลอด ถ้าไม่ได้ศึกษาพระธรรมซึ่งเป็นคำสอนที่ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า(สัมมาสัมพุทธะ) ทรงตรัสรู้และประจักษ์แจ้งด้วยพระปัญญาของพระองค์เองที่ได้สะสมอบรมถึง ๔ อสงไขยแสนกัปป์ (หมายความว่า นานมาก เกิดแล้วเกิดอีกนับชาติไม่ถ้วน) ก็ไม่สามารถจะเข้าใจความจริงเหล่านี้ได้

*8q*
02-08-2009, 12:38 PM
การศึกษาพระธรรม จะทำให้สามารถรู้และเข้าใจความจริงที่พระองค์ทรงตรัสรู้และทรงเทศนาสั่งสอนพุทธบริษัท ตลอด ๔๕ พรรษา ด้วยพระมหากรุณาอันสูงสุด ที่จะให้เวไนยสัตว์ (สัตว์ผู้ควรแก่การแนะนำสั่งสอนหรือสัตว์ที่พึงแนะนำได้) พ้นทุกข์เช่นเดียวกับพระองค์ ด้วยการดับกิเลสตามลำดับขั้น จนสามารถบรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์ หมดจดจากกิเลสทั้งปวงพ้นทุกข์อย่างถาวร
พระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้สืบทอดมาจากการจดจำของพระอรหันตสาวก ผู้กระทำสังคายนาพระธรรมวินัยเป็น ๓ ปิฎก เรียกว่า พระไตรปิฎก ซึ่งได้แก่
พระวินัยปิฎก เป็นการประมวลพุทธพจน์ที่เกี่ยวกับข้อประพฤติปฏิบัติทางกายวาจา รวมทั้งความเป็นอยู่ต่างๆ ของภิกษุ และภิกษุณี เป็นส่วนใหญ่ เพื่อการประพฤติพรหมจรรย์ขั้นสูงขึ้นไปพระสุตตันตปิฎก เป็นการประมวลพุทธพจน์เกี่ยวกับพระธรรมเทศนาที่ทรงแสดงแก่พุทธบริษัท ณ สถานที่ต่างๆพระอภิธรรมปิฎก เป็นการประมวลคำสอนเกี่ยวกับสภาพธรรมที่มีจริง พร้อมทั้งเหตุและผลเพราะฉะนั้น การศึกษาพระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคจากพระไตรปิฎกโดยตรง จะทำให้สามารถเข้าใจพระธรรมโดยไม่คลาดเคลื่อนและถูกต้องตรงตามที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้และทรงเทศนาพระธรรม ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ ลึกซึ้ง และ เห็นยากถ้าเรา เข้าใจว่าสามารถบรรลุธรรมได้ โดยไม่ต้องศึกษาพระธรรมตามที่พระองค์ทรงแสดง ซึ่งได้ถูกรวบรวมไว้ในพระไตรปิฎก ผิด หรือ ถูก ถ้าคุณตอบว่า "ถูก" กรุณาย้อนกลับไปอ่านเรื่อง พุทธะ ๓ อีกครั้ง(คุณข้ามหน้านั้นไปหรือเปล่า หรือ คุณอาจกำลังเข้าใจผิดว่า คุณเป็น"สัมมาสัมพุทธะ" หรือ "ปัจเจกพุทธะ" ที่สามารถรู้แจ้งธรรมได้เอง)ถ้าคุณตอบว่า "ผิด" ขอแสดงความยินดีด้วย นั่นหมายถึง คุณมีความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะ เราไม่สามารถประจักษ์แจ้งธรรมได้เอง เราเป็นเพียง สาวกหรือ พุทธบริษัท ซึ่งต้องเป็น "ผู้ฟัง" (ความหมายของ "สาวก") และศึกษา ปฏิบัติตามคำสอนของพระผู้มีพระภาค จนสามารถเป็น "อนุพุทธะ" คือตรัสรู้ตามพระธรรมคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ในที่สุดความจริงที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ และเทศนาสั่งสอนพุทธบริษัทให้เข้าใจ และประพฤติปฏิบัติตาม จนสามารถเห็นความจริงนั้นๆด้วยปัญญาของตนเอง ก็คือ สิ่งทั้งหลายที่ปรากฏนั้น ทุกอย่าง เป็นธรรมแต่ละชนิด แต่ละประเภทไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่วัตถุ สิ่งของ สิ่งหนึ่งสิ่งใดธรรมทั้งหลายเหล่านั้น เกิดขึ้นได้ เพราะมีปัจจัยปรุงแต่งและเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็ดับไปอย่างรวดเร็ว ไม่ได้อยู่คงทนถาวรเลยสีที่ปรากฏทางตา เสียงที่ปรากฏทางหู กลิ่นที่ปรากฏทางจมูก รสที่ปรากฏทางลิ้น เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ที่ปรากฏทางกาย เหล่านี้ เป็น ธรรมแต่ละประเภทที่ปรากฏได้เฉพาะทางสี ปรากฏทางตา จะปรากฏทางหู หรือทางจมูก ก็ไม่ได้เสียง ปรากฏทางหู จะปรากฏทางตา หรือทางกายก็ไม่ได้ กลิ่น รส เย็น ร้อนอ่อน แข็ง ก็นัยเดียวกัน สี เป็นเพียง สีสันวรรณะต่างๆ หรือสภาพที่ปรากฏทางตา แต่เมื่อเราเห็นสีแล้ว คิดนึกต่อว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่น เป็นแขน เป็นขา เป็นมือ เป็นคอมพิวเตอร์ ตามความรู้ และ ความจำที่เคยสะสมมา เสียง เป็นเพียง เสียง หรือสภาพที่ปรากฏทางหู มีลักษณะดัง แต่เมื่อเราได้ยินแล้ว ก็คิดนึกต่อไปว่า เป็นเสียงของใคร หรือเป็นเสียงอะไรเช่น เสียงของพ่อ เสียงของแม่ เสียงนกร้อง เสียงสุนัขเห่า เสียงโทรศัพท์มือถือ เสียงพัดลม เสียงฟ้าร้อง เป็นต้น กลิ่น เป็นเพียง กลิ่น หรือสภาพที่ปรากฏทางจมูก แต่เมื่อเราได้กลิ่นแล้ว ก็คิดนึกต่อไปว่า เป็นกลิ่นอะไร เช่น กลิ่นดอกกุหลาบ กลิ่นน้ำพริกกะปิ กลิ่นทุเรียน กลิ่นขยะ กลิ่นน้ำหอม (บางคนบอกยี่ห้อได้เลย เพราะจำได้) เป็นต้นรส เป็นเพียง รส หรือสภาพที่ปรากฏทางลิ้น เมื่อมีการลิ้มรส แต่เมื่อรสปรากฏ ก็คิดนึกไปว่า เป็นรสของอะไร เช่น รสของแกงไตปลา รสของหมูสับ รสของกาแฟ รสของน้ำพริก เป็นต้น
เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ก็เป็นเพียง สภาพที่ปรากฏให้รู้ทางกาย เมื่อกระทบสัมผัสกับความเย็น ความร้อน ความอ่อน ความแข็ง แต่เราก็คิดนึกไปว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่มีลักษณะเหล่านั้น เช่น ลมเย็น อากาศร้อน เบาะอ่อน(นุ่ม)โต๊ะแข็ง เป็นต้น เพราะฉะนั้น สี เสียง กลิ่น รส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เหล่านี้เป็นธรรมแต่ละอย่าง ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด อย่างที่เราคิดนึกและยึดถือด้วยความเข้าใจผิด
สี เสียง กลิ่น รส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เหล่านี้ เป็นธรรมแต่ละประเภทที่ไม่สามารถรู้อะไรได้เลย สีสันวรรณะต่างๆ ที่ปรากฏทางตา เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป โดยไม่รู้และไม่สนใจว่า จะมีใครเห็นหรือไม่เสียงที่ปรากฏทางหู เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป โดยไม่มีความตั้งใจว่า จะให้ใครได้ยินกลิ่น รส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ก็โดยนัยเดียวกัน
สภาพธรรมที่ไม่สามารถรู้อะไรได้เลยเหล่านี้ เรียกว่า รูปธรรมรูปธรรม ทั้งหมดมี ๒๘ ประเภท " รูปธรรม " ในที่นี้มีความหมายที่แตกต่างกับ" รูปธรรม " ที่เราเคยเข้าใจและใช้กันในภาษาไทยว่า เป็นสิ่งที่มองเห็นหรือจับต้องได้สภาพธรรมทุกอย่างที่มีจริง และเป็นสภาพที่ไม่สามารถรู้อะไรได้เลย เป็น รูปธรรม ไม่ใช่เพียงสิ่งที่มองเห็นได้ หรือ จับต้องได้เท่านั้น เราไม่สามารถมองเห็น หรือจับต้อง เสียง กลิ่น หรือ รส แต่ธรรมเหล่านี้ไม่สามารถรู้อะไรได้เลยจึงเป็น รูปธรรม สำหรับ เย็น ร้อนอ่อน แข็ง แม้เรามองไม่เห็น แต่รู้ได้เมื่อมีการกระทบสัมผัส ก็เป็น รูปธรรม เช่นเดียวกัน เพราะเป็นสภาพที่ไม่รู้อะไร
แต่การที่ สี เสียง กลิ่น รส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง จะปรากฏได้ ต้องมีสภาพธรรมที่เป็น สภาพรู้ เกิดขึ้นเพื่อรู้สิ่งเหล่านี้สภาพเห็น เป็นสภาพธรรมที่รู้ สี ที่ปรากฏทางตาสภาพได้ยิน เป็นสภาพธรรมที่รู้ เสียง ที่ปรากฏทางหูสภาพได้กลิ่น เป็นสภาพธรรมที่รู้ กลิ่น ที่ปรากฏทางจมูกสภาพลิ้มรส เป็นสภาพธรรมที่รู้ รส ที่ปรากฏทางลิ้นสภาพกระทบสัมผัส เป็นสภาพธรรมที่รู้ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ที่กระทบสัมผัสได้ทางกายสภาพรู้เหล่านี้เกิดขึ้นเพื่อรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ตามความสามารถของสภาพรู้แต่ละอย่างสภาพรู้ ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล เป็นสภาพธรรมที่มีจริงที่เราเคยเข้าใจว่า เราเห็น เราได้ยิน เราได้กลิ่น เราลิ้มรส เรากระทบสัมผัสแท้จริงแล้ว เป็นสภาพรู้แต่ละอย่าง ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้ว เราก็ยึดว่า สภาพรู้เหล่านั้นเป็นเราถ้าไม่ได้ศึกษาความจริงตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ก็จะไม่สามารถไถ่ถอน ความเห็นผิด และความเข้าใจผิดว่า สภาพธรรมทั้งหลายเป็นเรา
ได้เลย สภาพธรรมที่เป็นสภาพรู้ เรียกว่า นามธรรม ซึ่งเมื่อเกิดขึ้น ต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด และ สิ่งที่นามธรรมรู้ เรียกว่า อารมณ์
อารมณ์ ในที่นี้มีความหมายที่แตกต่างจากที่เราเคยเข้าใจและใช้กันในภาษาไทยว่า อารมณ์ดี อารมณ์เสีย หรืออารมณ์บูด เป็นต้น แต่ อารมณ ในภาษาบาลีซึ่งเป็นภาษาที่ใช้อธิบายธรรมต่างๆที่พระพุทธองค์ทรงแสดงจะมีความหมายว่า สิ่งที่นามธรรมกำลังรู้สี เป็น อารมณ์ ของ สภาพเห็น ทางตาเสียง เป็น อารมณ์ ของ สภาพได้ยิน ทางหูกลิ่น เป็น อารมณ์ ของ สภาพได้กลิ่น ทางจมูกรส เป็น อารมณ์ ของ สภาพลิ้มรส ทางลิ้นเย็น ร้อน อ่อน แข็ง เป็น อารมณ์ ของ สภาพกระทบสัมผัส ทางกายสภาพเห็น สภาพได้ยิน สภาพได้กลิ่น สภาพลิ้มรส สภาพกระทบสัมผัสเหล่านี้ เป็นนามธรรม ที่เรียกว่า จิต
จิต เป็นนามธรรมที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้อารมณ์สภาพเห็นทางตา เรียกว่า จิตเห็น เป็นใหญ่ เป็นประธาน ในการเห็นสภาพได้ยินทางหู เรียกว่า จิตได้ยิน เป็นใหญ่ เป็นประธาน ในการได้ยินสภาพได้กลิ่นทางจมูก เรียกว่า จิตได้กลิ่น เป็นใหญ่ เป็นประธาน ในการได้กลิ่นสภาพลิ้มรสทางลิ้น เรียกว่า จิตลิ้มรส เป็นใหญ่ เป็นประธาน ในการลิ้มรสสภาพกระทบสัมผัสทางกาย เรียกว่า จิตกระทบสัมผัส เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้สัมผัส นอกจากนี้ ยังมีสภาพคิดนึกถึงสิ่งต่างๆ เรียกว่า จิตคิดนึกเป็นใหญ่ เป็นประธานในการคิด จิตคิดนึก สามารถมี อารมณ์ เป็นสิ่งที่มีจริงคือ ปรมัตถสัจจะ หรือเป็นเรื่องราวที่ไม่มีจริง คือ สมมติสัจจะ ก็ได้ถ้าไม่มี จิตเห็น เราจะไม่สามารถเห็น สีสันวรรณะต่างๆ บนโลกนี้ได้ เหมือนคนตาบอดถ้าไม่มี จิตได้ยิน เราจะไม่ได้ยิน เสียงต่างๆ บนโลกนี้ เหมือนคนหูหนวกถ้าไม่มี จิตได้กลิ่น เราจะสูดดม กลิ่นต่างๆ บนโลกนี้ไม่ได้เลยถ้าไม่มี จิตลิ้มรส เราจะไม่สามารถรู้ รสชาดของอาหารประเภทต่างๆได้เลยถ้าไม่มี จิตกระทบสัมผัส เราจะไม่รู้ความเย็น ความร้อน ความอ่อนนุ่มหรือความแข็งได้เลยถ้าไม่มี จิตคิดนึก เราก็จะไม่สามารถรับรู้เรื่องราว หรือติดต่อสื่อสารกับผู้คนบนโลกนี้ได้
จิต จึงเป็นสภาพรู้ที่ทำให้โลกนี้ปรากฏแก่เรา ทาง ตา (เห็น) หู (ได้ยิน)จมูก (ได้กลิ่น) ลิ้น (ลิ้มรส) กาย (กระทบสัมผัส) และ ใจ (คิดนึก) ตาหู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้ เรียกว่า " ทวาร " ให้จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ขณะนี้ ถ้าเราไม่ได้เหยียบอยู่บนโลกพระจันทร์ ก็ไม่เห็น สีสันต่างๆ บนนั้น สีบนโลกพระจันทร์ ก็ไม่ได้เป็น อารมณ์ ของ จิตเห็น ทาง ทวารตา ถ้าเราไม่ได้เข้าไปในป่า ก็ไม่ได้ยิน เสียง ในป่า เสียง ในป่า ก็ไม่ได้เป็น อารมณ์ของ จิตได้ยิน ทาง ทวารหู ถ้าเราไม่ได้ฉีดน้ำหอมจากขวด ก็ไม่ได้สูดดมกลิ่นน้ำหอมนั้น กลิ่นน้ำหอม ในขวด ก็ไม่ได้เป็น อารมณ์ ของ จิตได้กลิ่น ทางทวารจมูกแม้จะมีอาหารแสนอร่อยอยู่ในจาน ถ้าเรายังไม่ได้รับประทาน ก็ยังไม่ได้ลิ้มรสอาหารนั้น รสของอาหาร ก็ไม่ได้เป็น อารมณ์ ของ จิตลิ้มรส ทางทวารลิ้น ถ้าเราไม่ได้สัมผัสก้อนน้ำแข็งที่อยู่ในตู้เย็น ก็ยังไม่ได้กระทบ ความเย็น ของน้ำแข็งนั้นความเย็น ของน้ำแข็ง ก็ไม่ได้เป็น อารมณ์ ของจิต กระทบสัมผัสทางทวารกาย และ ถ้าเราก็ยังไม่ได้คิดนึกถึงสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือเรื่องราวใดๆทั้งสิ้นขณะนั้น จิตคิดนึก ยังไม่ได้เกิดขึ้นรู้ อารมณ์ ใดๆ ทาง ทวารใจถ้าจิตไม่เกิดขึ้นรู้สิ่งใด สิ่งนั้นก็ไม่สามารถปรากฏให้เรารู้ได้เลย
ยังมีนามธรรมอีกประเภทหนึ่งที่เกิดพร้อมกับจิต และรู้อารมณ์เดียวกับจิตแต่ไม่ได้เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้อารมณ์ เหมือนกับจิต เรียกว่า เจตสิกเจตสิก รู้อารมณ์ด้วยลักษณะอาการต่างๆ เช่นรู้ โดย จำอารมณ์ไว้รู้ โดย รู้สึกในอารมณ์ เช่น สุข ทุกข์ ดีใจ เสียใจ หรือ เฉยๆรู้ โดย ติดข้องต้องการอารมณ์รู้ โดย ไม่ชอบ ไม่ต้องการอารมณ์นั้นรู้ โดย มีความเมตตา เป็นมิตร เป็นเพื่อน กับบุคคลที่กำลังเป็นอารมณ์
เจตสิกมีถึง ๕๒ ประเภท ซึ่งมีลักษณะและกิจหรือหน้าที่ในการรู้อารมณ์แตกต่างกันไปตามประเภทของเจตสิกนั้นๆจิตที่เกิดขึ้น จะเป็นจิตที่ดี ก็เพราะมีเจตสิกฝ่ายดีเกิดร่วมด้วย เราเรียกว่ากุศลจิต ในทางตรงกันข้าม เมื่อจิตที่ไม่ดีเกิดขึ้น ก็เพราะมีเจตสิกฝ่ายไม่ดีเกิดร่วมด้วย เรียกว่า อกุศลจิตเพราะฉะนั้น เมื่อเรากล่าวว่า ใครกำลังทำความดี ทำบุญ ทำกุศล มีเมตตากรุณา หรือมีศีลดี หมายความว่า ขณะนั้น กุศลจิตของผู้นั้นเกิดขึ้น พร้อมกับเจตสิกที่เป็นกุศลด้วยและถ้าเรากล่าวว่า ใครกำลังทำความชั่ว ทำบาปเบียดเบียนผู้อื่น ด้วยกาย วาจา หรือแม้เพียงคิดไม่ดีต่อผู้อื่นโดยยังไม่ล่วงออกมาทางกาย วาจา หมายความว่า ขณะนั้น อกุศลจิต และอกุศลเจตสิกของผู้นั้นเกิด ถ้าจะกล่าวสั้นๆง่ายๆ ก็คือ คุณธรรมและกิเลสทั้งหลาย คือเจตสิกที่ปรุงแต่งจิตให้เป็นจิตที่ดีหรือไม่ดี นั่นเอง

*8q*
02-08-2009, 12:39 PM
สภาพธรรมที่เป็น ความรัก ความโกรธ ความสุข ความทุกข์ ความตระหนี่ความริษยา ความเมตตา ความกรุณา ความถือตัว ความขยันหมั่นเพียรความสงสัย ความสงบ ความฟุ้งซ่าน เป็นต้น เป็นเจตสิก ไม่ใช่จิต แต่ต้องเกิดกับจิต ถ้าไม่มีจิต เจตสิกเหล่านี้จะเกิดไม่ได้เลย และการที่จิตแต่ละดวงที่เกิดขึ้น มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยมากน้อยแตกต่างกันบ้าง เป็นเจตสิกต่างประเภทกันบ้าง รู้อารมณ์ต่างกันบ้าง ทำกิจต่างกันบ้าง จึงทำให้จิตมีมากมายถึง ๘๙ประเภท จิตเห็น ต่างกับ จิตได้ยิน เพราะรู้อารมณ์ต่างกัน และกระทำกิจต่างกัน แม้จะมีเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยเหมือนกัน จิตโลภ ต่างกับ จิตโกรธเพราะเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยต่างกัน และกระทำกิจต่างกันกุศลจิต ต่างกับ อกุศลจิต เพราะเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยต่างกัน และกระทำกิจต่างกัน จะเห็นได้ว่า ไม่มีเราหรือใครที่กระทำบุญหรือบาป มีเพียงจิตเจตสิกฝ่ายดี หรือ ฝ่ายไม่ดีที่เกิดขึ้นกระทำกิจของตน แล้วก็ดับไป ไม่ได้อยู่คงทนถาวร แต่เพราะความเห็นผิด ความเข้าใจผิด ซึ่งเกิดจากการไม่ได้ศึกษาพระธรรมอย่างละเอียด จึงยึดธรรมแต่ละประเภทที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยว่า เป็นเราที่กระทำบุญ เป็นเราที่กระทำบาป แต่แท้จริงแล้ว เป็นจิต เป็นเจตสิกต่างหาก ไม่ใช่เราเลยสักขณะเดียว เชื่อมั่นมากขึ้นหรือยังว่า ตัวเราไม่มีจริงๆมีเพียง นามธรรม และ รูปธรรมเท่านั้น
จิต เป็นสิ่งที่มีจริง ที่เป็นนามธรรม ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ต้องรู้อารมณ์ จิตจึงเป็นปรมัตถสัจจะ เรียกว่า จิตปรมัตถ์เจตสิก ก็เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นนามธรรมอีกประเภทหนึ่งที่เกิดร่วมกับจิตรู้สิ่งเดียวกับจิต ดับพร้อมจิต และเกิดที่เดียวกับจิต เจตสิกจึงเป็น ปรมัตถสัจจะเรียกว่า เจตสิกปรมัตถ์รูปธรรม หรือเรียกสั้นๆว่า รูป เป็นสิ่งที่มีจริงที่ไม่สามารถรู้อะไรได้เลยรูปจึงเป็น ปรมัตถสัจจะ เรียกว่า รูปปรมัตถ์
จิต เจตสิก รูป เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ต้องดับไป เช่น เห็น เกิดแล้วก็ดับเพราะเราไม่ได้เห็นอยู่ตลอดเวลา เราได้ยินด้วย คิดนึกด้วย ขณะที่เห็นไม่ใช่ขณะที่ได้ยิน และขณะที่เห็น หรือขณะที่ได้ยิน ก็ไม่ใช่ขณะที่กำลังคิดนึกการที่จิต เจตสิก รูป เป็นสภาพที่ เกิดแล้วดับ ไม่เที่ยง จึงเป็น อนิจจังและเพราะสภาพธรรมเหล่านั้น ไม่เที่ยง จึงเป็นทุกข์ หรือ ทุกขัง เพราะทนอยู่ไม่ได้ สภาพธรรมทุกอย่างที่เกิด-ดับ ทนอยู่ไม่ได้ เป็น "ทุกข์" ไม่ใช่เฉพาะทุกข์กายเพราะความเจ็บปวด หรือทุกข์ใจเพราะความลำบาก การพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รัก หรือการประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก เท่านั้น
จิต เจตสิก รูป ทั้งหมด เป็นทุกข์ (ทุกขัง) เพราะ ไม่เที่ยง (อนิจจัง)การเกิด-ดับสืบต่อของ จิต เจตสิก รูป เป็นไปอย่างรวดเร็วมากจนทำให้ไม่เห็นการเกิด-ดับจริงๆบางคนเข้าใจว่า จิตเกิด เมื่อคนหรือสัตว์เกิด และจิตจะดับเมื่อคนหรือสัตว์ตาย ในความเป็นจริง จิต และเจตสิก เกิด-ดับ อยู่ทุกขณะบางคนก็เข้าใจว่า รูปค่อยๆเปลี่ยนแปลงไป เช่น คนเราเกิดมาเป็นเด็ก ดูสดใสเมื่อเวลาผ่านไป รูปก็ค่อยๆเปลี่ยนเป็นวัยรุ่น วัยกลางคน และวัยชราในที่สุดแท้จริงแล้ว รูปเกิด-ดับอยู่ตลอดเวลาอย่างรวดเร็วเพราะฉะนั้น ที่กล่าวว่าคนเกิด สัตว์เกิด เทวดาเกิด เป็นต้นนั้น แท้จริงคือ จิต เจตสิก เกิดพร้อมกับรูปแล้วสมมติเรียกกันว่า คน สัตว์ หรือเทวดา
ถ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงแสดงธรรมที่พระองค์ตรัสรู้ก็ไม่มีผู้ใดสามารถประจักษ์การเกิด-ดับของ จิต เจตสิก รูป และความเป็นจริงเกี่ยวกับชีวิตได้พระพุทธองค์ยังทรงแสดงอีกว่า สภาพธรรมใดเกิดขึ้น สภาพธรรมนั้นต้องมีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิด เมื่อไม่มีปัจจัย ก็ไม่เกิด
จิต เจตสิก รูป เป็นปรมัตถสัจจะ ที่เกิดขึ้นเพราะมีปัจจัยปรุงแต่ง เรียกว่าสังขารธรรม ยังมีปรมัตถสัจจะอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็นนามธรรมที่ไม่เกิด จึงไม่ดับ เป็นสภาพธรรมที่ดับทุกข์ เรียกว่า นิพพาน หรือ นิพพานปรมัตถ์นิพพาน เป็นนามธรรมที่ไม่รู้อารมณ์ ต่างกับจิต และเจตสิกซึ่งเป็นนามธรรมที่รู้อารมณ์ แต่ นิพพาน เป็นอารมณ์ของจิตที่ทำหน้าที่ดับกิเลสตามลำดับขั้นจิต เจตสิก รูป เป็นทุกข์ เพราะไม่เที่ยง แต่ นิพพาน เที่ยง ไม่เกิด ไม่ดับ ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง จึงเป็นสุข เพราะฉะนั้น นิพพาน จึงเป็นวิสังขารธรรมหลายๆคนที่ยังไม่ได้ศึกษาพระธรรมโดยละเอียด อาจจะปรารถนา นิพพานโดยที่รู้จักนิพพานเพียงชื่อ แต่ยังไม่รู้ลักษณะของนิพพานจริงๆ เพราะฉะนั้นการปรารถนานิพพานนั้น จึงเป็นเพียงความอยาก ความต้องการ ด้วยกิเลสไม่ใช่ด้วยความรู้ที่ถูกต้องว่า ทุกอย่างเป็นธรรม คือ จิต เจตสิก รูปซึ่งเกิด-ดับ ไม่เที่ยง และเป็นทุกข์ นิพพานเท่านั้นที่เป็นสุขอย่างแท้จริง เพราะไม่เกิดไม่ดับ การประจักษ์ลักษณะของ "นิพพาน" ต้องประจักษ์แจ้งลักษณะของจิต เจตสิก รูป ก่อน ต้องศึกษาอบรมปัญญาเพื่อให้มีความเห็นถูก ความรู้ถูกว่าไม่มีตัวตนจริงๆ มีแต่สภาพธรรม จึงจะละคลายการยึดถือธรรมว่าเป็นเราได้ ซึ่งไม่ใช่เพียงเวลาไม่กี่วัน ไม่กี่เดือน หรือไม่กี่ปี แต่ต้องอบรมไปอีกหลายภพหลายชาติ
จิต เจตสิก รูป และนิพพาน เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นปรมัตถสัจจะ หรือเรียกว่าปรมัตถธรรม ปรมัตถธรรมทั้ง ๔ คือ จิต เจตสิก รูป และ นิพพานไม่ใช่ตัวตน ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ไม่มีใครสามารถบังคับให้ จิต เจตสิก รูปใดเกิด หรือบังคับให้ประจักษ์สภาพของนิพพานได้ธรรมทั้งปวง จึงเป็น อนัตตาและเมื่อธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครแล้ว จึงเรียกธรรมที่มีจริงเหล่านี้ว่า" อภิธรรม " คือธรรมที่ยิ่งใหญ่ ละเอียด ลึกซึ้ง นั่นเอง
การศึกษาพระธรรมคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยละเอียดทำให้เราเข้าใจความจริงของชีวิตมากขึ้น และสามารถตอบคำถามต่างๆเกี่ยวกับตัวเราและชีวิตของเราได้เอง ด้วยปัญญาของแต่ละคนที่ได้ศึกษาตามคำสอนของพระพุทธองค์
ผู้ที่กล่าวว่า พระธรรม ยากผู้นั้นกำลัง สรรเสริญพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเพราะว่าถ้าพระธรรมเป็นเรื่องง่ายๆ ที่ใครๆสามารถรู้เอง เข้าใจได้เองโดยไม่ต้องศึกษาคำสอนของพระพุทธองค์ ก็ไม่ต้องมี "พุทธะ" คือปัญญาถึง ๓ ระดับ ผู้ที่อบรมปัญญาจนปัญญาคมกล้าและมีกำลัง สามารถประจักษ์แจ้งธรรม บรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ หมดจดจากกิเลสทั้งปวงได้โดยการที่ได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้นั้น เป็น "อนุพุทธะ"ผู้ตรัสรู้ตาม "สัมมาสัมพุทธะ" เป็นผู้ไกลจากกิเลส หมดทุกข์ทั้งปวงเพราะไม่ต้องเวียนเกิดเวียนตายอีกต่อไป การเกิด เป็นทุกข์ เพราะ เมื่อเกิดแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย เมื่อไม่มีปัจจัยให้เกิดอีกแล้ว คือเป็นพระอรหันต์ก็ไม่ต้องทุกข์ เพราะการแก่ การเจ็บ การตายอีก รวมทั้งไม่ต้องทุกข์เพราะความไม่เที่ยงของสภาพธรรมต่างๆ จึงเป็นความสุขอย่างถาวรเห็นความละเอียด ลึกซึ้ง น่าอัศจรรย์ของธรรมที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้หรือยัง ยังมีสิ่งที่เรายังไม่รู้ในเรื่องธรรมอีกมากมายจริงๆ ถ้าไม่ศึกษาก็คงไม่รู้ต่อไป ลองถามตัวเองว่า การรู้ความจริงของชีวิต กับ การไม่รู้อย่างไหนจะดีกว่ากัน


http://board.agalico.com/showthread.php?t=26758