PDA

แสดงเวอร์ชันเต็ม : พระอภิธรรมปิฎก หมายถึงอะไร



*8q*
02-09-2009, 03:00 PM
1. พระอภิธรรมปิฎก หมายถึงอะไร
http://www.agalico.com/board/images/statusicon/wol_error.gifกดที่เเถบนี้เพื่อดูรูปขนาดดั้งเดิมhttp://img293.imageshack.us/img293/5396/445pxsermoninthedeerparir5.jpg
พระอภิธรรมปิฎก หมายถึง หลักธรรมสำคัญอันยิ่งใหญ่ เป็นธรรมะเหนือโลก เป็นหลักธรรมหัวข้อธรรมะ หลักวิชาธรรมะล้วน ๆ เป็นอมตะธรรมไม่มีข้อกล่าวอ้างบุคคล พาดพิงเหตุการณ์เรื่องราวต่าง ๆ เป็นธรรมะที่จริงแท้ ที่ทำให้จิตฉลาดสว่างไสว เป็นจิตของพระอริยสาวก เข้าถึงจุดมุ่งหมายของชีวิต คือ พระนิพพานได้ง่ายรวดเร็ว
ชาวพุทธส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจผิดคิดว่า พระอภิธรรมปิฎก หมายถึง พระธรรมอันสำคัญยิ่งนั้นมีอยู่ในหมวดพระอธิธรรมปิฎกเท่านั้นและยากที่จะเข้าใจได้
ความจริงพระอภิธรรม คือ หลักธรรมอันสำคัญยิ่งนั้น มีอยู่ในตัวเรานี้เอง คือ กายกับจิต หรือขันธ์ 5 กับจิต และอภิธรรม คือ หลักธรรมล้วน ๆ ก็มีอยู่ทั้งในพระวินัยก็คือ ศีล ทั้งในพระสูตรและในธรรมชาติ ถ้าจิตเราฉลาดสะอาดเป็นกุศลจะเข้าใจมองโลกในทางเป็นจริง คือ มีแต่ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา เปลี่ยนแปลงสึกหรอ มีเรื่องให้แก้ไขปัญหาตลอดเวลา แล้วผุพังสูญสลายไปในที่สุดนั้น ก็ คือ อภิธรรม
ผู้ที่ศึกษาอภิธรรมปิฎกหรือจบพระไตรปิฎก คือ พระอรหันต์ขีณาสพ หรือ พระอเสขะ ถึงแม้ท่านจะไม่เคยอ่านพระไตรปิฎกหรือไม่เคยอ่านพระอภิธรรมปิฎก แต่ท่านปฏิบัติสมถภาวนา แยกจิตออกจากกายได้ไม่มีกิเลสร้อยรัด คือ สังโยชน์ 10 อย่างไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดต่อไป ถือว่าท่านจบหลักสูตรพระไตรปิฎกหรืออภิธรรมปิฎก
ในสมัยพุทธกาล มีพระที่ท่านบรรลุอรหัตตผลรวดเร็วที่สุด คือ ท่านพาหิยะเถระ ท่านเป็นพราหมณ์ผู้สูงอายุได้ข่าวว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรากฎขึ้นแล้วในโลกท่านเกรงว่าท่านมีอายุมากแล้วอาจจะตายเสียก่อนได้ฟังธรรมะจากพระพุทธเจ้า ท่านจึงเดินทางจากเมืองไกลไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าทั้งคืนไม่ยอมพัก รุ่งเช้าจะเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ขอฟังขอรับพระธรรมคำสอนวิชาพ้นทุกข์จากการเวียนว่ายตายเกิด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบ ท่านพาหิยะเดินทางไกลยังเหนื่อยอยู่และมีปิติมากเกินไปที่ได้เห็นพระพุทธเจ้า จึงตรัสให้ท่านรออยู่ก่อน พระพุทธองค์จะบิณฑบาตรให้เสร็จก่อน จากนั้นองค์พระบรมศาสดา จึงตรัสหัวข้อธรรมะอภิธรรมข้อเดียวคือ
"ดูก่อน พาหิยะ เธอจงอย่าสนใจในรูปร่างกาย"
เพียงเท่านี้ ท่านพาหิยะ เข้าใจธรรมะแจ่มแจ้ง จิตของท่านพาหิยะก็หลุดพ้นเป็นอิสระจากรูปร่างกาย กิเลส ตัณหา อุปาทาน มีวิชชา ทันใดนั้นจิตท่านบรรลุเป็นจิตพระอรหันต์ปฏิสัมภิทาญาณทันทีท่านจึงเป็นพระสาวกที่เลิศทางบรรลุอรหัตตผลเร็วที่สุด เพราะจิตท่านตั้งใจเต็มเปี่ยม มีศรัทธาเต็ม มีวิริยะเต็มอดทนเดินทางมีขันติบารมี มีอธิษฐานคือ ตั้งจิตมั่นในพระพุทธองค์เต็ม มีสัจจะคือความจริงใจที่จะฟังธรรม มีปัญญาเห็นว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมทางพ้นทุกข์จริง มีอุเบกขาวางเฉยในขันธ์ 5 ร่างกายท่านแม้จะเหน็ดเหนื่อยยากก็วางเฉย ไม่ร้อนใจ บารมี 10 ท่านเต็มก็เข้าใจในพระธรรมได้ง่ายรวดเร็วเป็นพระอรหันต์ขีณาสพได้ง่ายเร็วที่สุด
พระอภิธรรมทั้ง 9 ปริเฉทนี้ถ้าอ่านเป็นตำราเป็นทฤษฎีจะไม่มีใครเข้าใจ ทำให้ปวดเศียรเวียนเกล้ายิ่งอ่านยิ่งงง เพราะศัพท์บาลีแปลก็ไม่ออก ถึงแปลออกก็ไม่รู้เรื่อง ผู้ที่สอนอภิธรรมส่วนมากก็สอนตามตำรา ยังไม่เข้าใจจริง ดิฉันคือผู้เขียนก็คิดว่าตัวเองโง่มากในชาตินี้ ไม่มีวันเข้าใจอภิธรรมจึงเลิกสนใจก้มหน้าก้มตั้งจิตตั้งใจเพียรพยายามปฏิบัติทางจิตท่าเดียว จนกระทั่งก่อนเขียนหนังสือธรรมประทานพรเล่ม 4 เผอิญตาเหลือบไปเห็นหนังสือ พระอภิธัมมัตถสังคหะ 9 ปริเฉท ที่วางบนหัวเตียงนอนมานานหลายปี ไม่ได้สนใจเพราะอ่านแล้ว ไม่เข้าใจไม่มีปัญญา
กลับมาอ่านคราวนี้เกิดความมหัศจรรย์ทางจิตอย่างประหลาดเหลือเชื่อ มีความเข้าใจได้ง่าย ๆ ทันที ทั้งปิติดีใจที่ได้เข้าใจพระอภิธรรมซึ่งไม่เคยคิดว่าชาตินี้จะอ่านรู้เรื่อง ทำให้มีจิตคิดจะเขียนอภิธรรมย่อ ๆ ง่าย ๆ ให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจถึงคุณวิเศษของพระอภิธรรม ซึ่งเป็นพระธรรม จากพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอน แล้วมีพระอริยสงฆ์จำบันทึกให้ชนรุ่นหลังได้อ่านศึกษาประพฤติปฏิบัติต่อไป
ขอกราบอภัยท่านผู้อ่าน ถ้าการเขียนพระอภิธรรมครั้งนี้ขาดตกบกพร่อง ผิดพลาดประการใด การเขียนครั้งนี้ดิฉันได้กราบแทบพระบาทองค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้โปรดเมตตาให้ลูกได้เขียนพระอภิธรรมได้ถูกต้องตรงตามพระธรรมคำสอนและตามพระพุทธประสงค์ขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่จะให้เหล่าพุทธบริษัทได้เข้าใจในพระอภิธรรมได้ง่าย ๆ ถูกต้องตามและรวดเร็ว
ขอสรุปพระอภิธรรมตามแบบพระคุณเจ้าหลวงพ่อพระราชพรหมยานท่านได้สรุปสั้น ๆดังนี้
ในพระอภิธรรมทั้ง 9 ปริเฉท จุดสำคัญจริง ๆมี 3 อย่างคือ
1. กุสลาธัมมา ธรรมะที่ดีที่เป็นบุญกุศลมีผลเป็นสุข ตายแล้วไปเสวยสุขเป็น มนุษย์สมบัติ สวรรค์ พรหม
2. อกุสลาธัมมา ธรรมะที่เป็นโทษเป็นทุกข์เป็นบาป ทำแล้วมีผลเกิดความทุกข์กายทุกข์ใจ ตายแล้วไปอบายภูมิ
3. อัพยากตาธัมมา ธรรมะเป็นอัพยากฤต คือ เป็นธรรมะที่สูงเหนือบุญเหนือบาป เป็นอมตะธรรม เป็นอนุตตรธรรมที่เหนือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือพระนิพพาน
จุดมุ่งหมายของพระอภิธรรมก็เพื่อยกระดับจิตทุกท่านที่อ่านเป็นจิตอัพยากฤตเหนือบาปบุญ เหนือโลกเทวดา พรหม มีความสุขยั่งยืนนานไม่เสื่อมสูญสลายเหมือน นรก สวรรค์ พรหม ตายแล้วจิตสะอาดไปอยู่ในแดนบรมสุขตลอดกาลกับองค์สมเด็จพระพิชิตมารบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระนิพพาน
http://board.agalico.com/attachment.php?attachmentid=7755&stc=1&d=1201747153
พระอริยบุคคล
1. พระโสดาบันปฏิมรรค ตัดกิเลส 3 ตัวแรกในสังโยชน์ 3 ข้อแรกได้ คือ
(1) ตัดสักกายทิฏฐิได้เบา ๆ คือ ไม่โลภอยากได้ของผู้อื่น ชอบในการทำบุญทำทาน ยังมีความโกรธ ยังมีความหลง แต่ไม่ลืมนึกถึงความตาย ไม่ประมาทในชีวิต
(2) ตัดกิเลสวิจิกิจฉา ความสงสัยในพระธรรม พระสงฆ์ ไม่มีจิตมั่นคงในพระนิพพาน ไม่ต้องการเกิดอีก
(3) ตัดกิเลสสีลัพพัตตปรามาส ไม่ลูบคลำศีล คือมีความจริงใจไม่ทำลายศีล ไม่นิยมหลงใหลไปกับพิธีรีตองตามชาวโลก เพราะท่านมีปัญญา
2. เป็นพระโสดาบันปฏิผล ได้เพราะมีคุณธรรมทั้ง 3 นี้มั่นคงถ้าจะเกิดเป็นคนอย่างมาก 7 ชาติ อย่างน้อย 1 ชาติไปนิพพาน
3. พระสกิทาคามีมรรค
4. พระสกิทาคามีผล ท่านมีคุณธรรม 3 ประการเหมือนพระโสดาบัน แต่มีจิตละเอียดขึ้น ความโลภ ความโกรธ ความหลง น้อยลง
พระสกิทาคามี มีกรรมบท 10 ครบถ้วน คือ ไม่ละเมิดกรรมบท 10 อย่าง รวมกับมีศีล 5 บริสุทธิ์ครบถ้วน กรรมบถ 10 เป็นทางป้องกันการเกิดในอบายภูมิ คือ
(1) ทางกาย คือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่ดื่มของมึนเมา
(2) ทางวาจา คือ ไม่พูดปด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล
(3) ทางใจ คือ ไม่คิดอยากได้ทรัพย์สินสมบัติใด ๆของผู้อื่น ไม่จองล้างจองผลาญ ไม่เห็นผิดจากคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า เห็นถูกตามความเป็นจริงว่า พระนิพพานมีจริง ไม่สูญ มีความสุขยอดเยี่ยมตลอดกาล 5. พระอนาคามีมรรค
6.พระอนาคามีผล ท่านมีปัญญาชาญฉลาดสามารถตัดกิเลส 5 ข้อแรกในสังโยชน์ 10 ได้ คือ มีคุณสมบัติ 3 ข้อเหมือนพระโสดาบัน พระสกิทาคามี เพิ่มอีก 2 ข้อ คือ
(1) สามารถละกามราคะ กิเลสกามในความรักหลงในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสทางกาย สุขทางกายได้
(2) สามารถละความไม่พอใจ ปฏิฆะ ความโกรธ ได้ มีจิตเมตตาปราณี ชาวบ้านที่มีจิตเข้าถึงอนาคามีผล ยังอยู่ทำงาน ทำหน้าที่พ่อบ้าน แม่เรือนครบ แต่จิตไม่หมกมุ่นในกามราคะ มีสมาธิจิตทรงในฌาน 4 มีปัญญาเห็นโทษทุกข์ของร่างกาย ถ้าตาย ตอนจิตเป็นพระอนาคามีผลก็เข้าถึงพรหมโลกชั้นสุทธาวาส ไม่มาเกิดเป็นคน บำเพ็ญจิตในชั้นพรหมเข้าพระนิพพาน จิตเป็นสุขยอดเยี่ยมไม่ต้องกลับมาเกิดในโลกทั้ง 3 อีกต่อไป
7. พระอรหัตตมรรค
8.พระอรหันตผล ท่านมีจิตฉลาดสะอาดสามารถกำจัดอวิชชา ตัณหา กิเลสสังโยชน์ 10 ได้ทั้งหมด อุปาทานในขันธ์ 5 ไม่มี เพิ่มจากคุณลักษณะของพระอนาคามี พระอรหันต์สามรถกำจัดกิเลสละเอียดอีก 5 ตัวในสังโยชน์ 10 ข้อ สุดท้ายได้ดังนี้
(1) รูปฌาน ท่านเข้าฌาน 1 ถึงฌาน 4 ได้ แต่มีจิตฉลาดไม่ติดในฌาน ไม่คิดว่าฌาน1 ถึงฌาน 4 เป็นของเลิศประเสริฐเป็นแต่เพียงให้จิตสงบตั้งมั่นมีกำลังแก่กล้า
(2) อรูปฌาน จิตละเอียดฌานละเอียดตัดนามในขันธ์ 5 ได้ คือ กำจัด เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณประสาทตาหูจมูกสิ้น กาย อารมณ์ใจออกจากจิตทั้งหมด เห็นว่าอรูปฌานยังไม่ใช่ของเลิศเป็นเพียงบันไดไต่ขึ้นเข้าใจมีปัญญาเพื่อพระนิพพาน ถ้ายังติดในอรูปฌานก็ต้องไปเกิดในอรูปพรหม ยังไม่พ้นทุกข์จริง
(3) มานะ พระอรหันต์ตัดกิเลสที่เห็นว่าตัวเราดีกว่าเขา ด้อยกว่าเขา เสมอเขา ท่านมีความฉลาดรอบรู้ว่าตราบใดที่ยังมีขันธ์ 5 ร่างกาย รูป-นามอยู่นี้ไม่มีใครดีกว่าใคร ยังจมอยู่ในทะเลทุกข์ หรือวัฏฏสงสารกันทั้งนั้น ท่านเห็นว่าขันธ์ 5 เป็นของปลอม ของสมมุติ ของชั่วคราว ไม่ถือเขาถือเราเห็นคนสัตว์เป็นเพื่อนทุกข์เกิด แก่ เจ็บ ตายเท่านั้น
(4) อุทัจจะกุกุกจะ พระอรหันต์ท่านไม่มีอารมณ์คิดวุ่นวายฟุ้งซ่านไร้สาระ มีความคิดอย่างเดียว ต้องการให้คนพ้นทุกข์ ทำอย่างไรคนจะเข้าใจในธรรมะ ในทุกข์ของโลก ทำอย่างไรคนจะเข้าใจพระนิพพานถูกต้อง พระนิพพานเป็นของจริง ไม่ใช่ของสมมุติชั่วคราวเหมือนโลกมนุษย์ สวรรค์ พรหม
(5) อวิชชา พระอรหันต์ไม่มีความเข้าใจผิดในนรกโลก มนุษย์โลก เทวโลก เห็นว่า 3 โลกนี้ไม่มีทางไหนเป็นสุขจริง เป็นสุขชั่วคราว ท่านรู้เข้าใจพระนิพพานมีจริง ไม่สูญสลาย พระนิพพานไม่ใช่อนัตตา พระนิพพานเป็นแดนทิพย์วิเศษยอดเยี่ยม จิตของผู้พ้นจากกิเลสสังโยชน์ 10 อย่างเท่านั้น ถึงจะเข้าถึงพระนิพพาน ท่านสัมผัสพระนิพพานได้ทางจิตถึงแม้จะไม่เห็น แต่จิตมีปัญญาทราบแน่ชัดว่าพระนิพพานมีแดนทิพย์จริง เพราะจิตท่านเข้าถึงวิมุติสุข
ทำอย่างไรถึงจะเข้าใจพระอภิธรรมได้ง่าย
พระอภิธรรมเป็นของง่ายจริง ๆ เพราะในร่างกายเราก็มีพระอภิธรรมปิฎก คือมี
(1) จิต
(2) มีรูป 1 คือ ร่างกาย
(3) และมีเจตสิก คือ นามในขันธ์ 5 นั่นเองได้แก่ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้ง 4 อย่างนี้รวมกันเข้าอยู่ในเจตสิก 52 ชนิด
(4) พระนิพพาน ก็อยู่ในจิตใจเรา ถ้าจิตใจที่ปราศจากกิเลสสังโยชน์ทั้ง 10 ข้อของคน เทวดา พรหม เราไม่หลงทึกทักเอาขันธ์ 5 ที่เป็นโรงงานที่จิตมาอาศัยชั่วคราว กิน ๆนอน ๆ ถ่ายเทอากาศ น้ำ อาหาร เข้า ๆ ออก ๆ ไม่ได้หยุดทุกวี่ทุกวันอยู่นี้ จิตเป็นอิสระไม่เป็นทาสของร่างกาย ตาหู จมูกลิ้น กาย ใจ จิตเราไม่สนใจร่างกายแล้ว จิตเราก็มีความสุขสงบไม่มีกิเลสเข้ารบกวนจิตเราท่านก็เป็นจิตพระนิพพานทันที เป็นพระนิพพานดิบ ๆ ไม่ต้องตาย เรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพาน ที่ว่าง่ายมากก็คือเราไม่ต้องไปแบกไปหาม ไม่ต้องไปหาเงินมาซื้อเป็นของมีอยู่แล้วเราไม่เข้าใจว่าของจริงคือจิต ของปลอมสูญสลายคือร่างกาย การหาอาหารมาใส่ท้อง ยังยากยิ่งกว่าหาพระนิพพานมาเก็บเอาไว้ในจิตในใจเราเสียอีก
พระอภิธรรมปิฎกในพระอภิธัมมัตถสังคหะ 9 ปริเฉทอย่างย่อมีว่าอย่างไร
พระอภิธรรมอย่างย่อทั้ง 9 บท มี 9 อย่างคือ
1) ว่าด้วยเรื่องจิต
2) ว่าด้วยเรื่องเจตสิก
3) ว่าด้วยจิตมีฌาน1-ฌาน4
4) ว่าด้วยการแบ่งจิตสูงต่ำไปเกิดภพสูงต่ำตามระดับความสะอาดของจิตนั้น ๆ
5) ทางเดินของจิตไปเกิดตามภพภูมิต่าง ๆ
6) เป็นหมวดที่อธิบายถึงรูปร่างกายคน สัตว์ เทพพรหม
7) หมวดที่ว่าด้วยโพธิปักขิยะสังคหะ คือ หนทางแห่งโลกกุตตระธรรมที่พัฒนาจิตยกระดับจิตให้พ้นจากวงกลมแห่งการเวียนว่ายตายเกิดเป็นอริยธรรมให้จิตเข้าถึงอริยสาวกเข้ากระแสพระนิพพานดับความทุกข์ทั้งหมด
8) ว่าด้วยปฏิจสมุทปบาทสาเหตุแห่งการเกิดแก่เจ็บตาย
9) ว่าด้วยกรรมฐาน 40 วิปัสสนา 10 อย่าง

1) ว่าด้วยเรื่องจิต จิตดี-จิตชั่ว จิตเป็นสมาธิจิต อรูปฌาน จิตพระอริยะ
2) ว่าด้วยเรื่องเจตสิก คือ อารมณ์ต่าง ๆที่เข้ามาเยี่ยมจิตเกิด ๆดับ ๆ 52 ชนิด มีทั้งอารมณ์ดี อารมณ์ชั่ว อารมณ์เฉย ขึ้นอยู่กับร่างกายและสิ่งแวดล้อม ถ้าเป็นพระอรหันต์ท่านจะมีอารมณ์เดียวคือ อารมณ์ นิ่งเฉยเป็นปกติ
3) ว่าด้วยจิตที่มีฌาน 1-ฌาน 4 จิตที่ไปเกิด จิตที่เข้าฌานเป็นภวังค์จิตชั่วขณะ จุติจิต คือ เคลื่อนไปสู่ที่เกิดใหม่
4) ว่าด้วยการแบ่งจิต วิถีทางเดินของจิตไปเกิดตามภพภูมิต่าง ๆ ตามอารมณ์ดีชั่วของจิตก่อนตาย โลกียจิต และโลกุตตรจิต
จิตมีฌาน1-ฌาน4 เรียกว่า รูปาวจรจิต ส่วนอรูปาวจรจิต คือ จิตที่มีอรูปฌาน คือ ฌาน5-ฌาน8
5) ทางเดินของจิตที่ไปเกิดตามภพภูมิต่าง ๆ ตามความดีความชั่วและตามที่จิตมีฌานสมาบัติเป็นจิตสะอาดฉลาดฌานตั้งแต่ฌาน1-ฌาน8
ภูมิที่จิตจะไปเกิดได้ตั้งแต่ต่ำสุดถึงสูงสุดมีดังนี้คือ
(1) อบายภูมิ มี 4 อย่าง มีแต่ความทุกข์ยากลำบากใจกายอย่างเดียว ได้แก่ นรก เปรต อสุรกาย และสัตว์เดรัจฉาน
(2) กามสุคติภูมิ มี 7 ระดับตั้งแต่
- คน คือมนุษย์โลก อายุไม่ถึง 100 ปี และสวรรค์อีก 6 ชั้น ซึ่งมีชื่อดังนี้
- ชั้นจาตุมหาราชิกา มีอายุ 500 ปีทิพย์ เท่ากับ 9 ล้านปีมนุษย์
- สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีอายุ 1000 ปีทิพย์
- สวรรค์ชั้นยามา มีอายุ 2000 ปีทิพย์
- สวรรค์ชั้นดุสิต มีอายุ 4000 ปีทิพย์
- สวรรค์ชั้นนิมมานรดี มีอายุ 8000 ปีทิพย์
- สวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวดี มีอายุ 16000 ปีทิพย์
(3)รูปาวจรพรหม มี 16 ชั้น สำหรับท่านที่ได้ฌานตั้งแต่ฌาน 1 ถึง ฌาน 4 ก่อนท่านตายเข้าฌาน จิตได้ไปเกิดตามขั้นของฌานที่จิตเคลื่อนออกจากกาย รูปพรหมทั้ง 16 ชั้น มีชื่อดังนี้

*8q*
02-09-2009, 03:01 PM
1. พรหมปริสัชชา 2. พรหมปาโรหิตา
3. มหาพรหมา 4. ปริตตาภา
5. อัปปมาณาภา 6. อาภัสสรา
7. ปริตตสุภา 8. อัปปมาณสุภา
9. สุภกิณหกา 10. เวหัปผลา
11.อสัญญีสัตว์ 12. อวิหา
13.อตัปปา 14. สุทัสสา
15.สุทัสสี 16. อกนิฏฐกา
(4)อรูปพรหม 4 นี้เป็นพรหมไม่มีรูป มีแต่จิตเสวยสุขอย่างเดียว เพราะท่านปรารถนาไม่มีรูปทิพย์ คิดเข้าใจผิดว่า การมีรูปทำให้เป็นสาเหตุของความเปลี่ยนแปลงดับสลาย ท่านจึงคิดเอาว่า มีจิตอย่างเดียว มีความหลงผิดเข้าใจผิดเรียกว่าอวิชชาคือเข้าใจเอาเองว่า อรูปพรหมทั้ง 4 นั้นมีความสุขสูงสุดแล้ว
อรูปพรหม 1 (พรหมชั้นที่ 8) จิตเป็นฌานเพ่งอยู่ในความว่างเปล่าของอากาศ เรียกว่าอากาสานัญจายตนะก่อนตายร่างกายตายจิตจึงเคลื่อนเข้าสู่อรูปพรหมเพราะจิตเข้าใจผิดคิดว่าฌานนี้สูงสุดหมดกิเลสได้แล้ว
อรูปพรหม 2 (พรหมชั้นที่ 9) มีจิตเพ่งอยู่ในวิญญาณัญจายตนะ ก่อนตายจิตจึงเคลื่อนมาอยู่ในอรูปพรหมชั้นที่ 2
อรูปพรหม3(พรหมชั้นที่10) จิตเพ่งอยู่ในอกิญจัญญายตนะ เมื่อตายจิตจึงเคลื่อนเข้าสู่ พรหมชั้นอากิญจัญญายตนะ คือ คิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างรูปนามไม่มีอะไรเหลือว่างเปล่าหมด
อรูปพรหม4(พรหมชั้นที่ 11) คือท่านที่มีจิตเพ่งอยู่ในฌานที่ 8 เรียกว่า เนวสัญญานาสัญญายตนะ มีความสุขคือไม่มีรูปกาย นามกาย ไม่มีความจำ เพราะคิดว่าเป็นเหตุนำมาซึ่งความทุกข์
อรูปพรหมนี้จะอยู่ในระหว่างพรหมชั้นที่ 8 ถึงชั้นที่ 11 ยังถือว่าเป็นโลกียฌาน ยังไม่ใช่โลกุตรฌาน ยังไม่ใช่จิต พระอริยะ 8 ขั้น ซึ่งพระอริยทั้ง 8 ขั้นท่านจะมีความเข้าใจถูกต้องว่า อรูปพรหมนั้นไม่ใช่ชั้นที่มีความสุขสูงสุด ความสุขที่ดีเยี่ยมจริงมีที่เดียวคือ แดนทิพย์อมตะนิพพาน
6)อภิธรรมหมวดนี้ อธิบายถึงรูปร่างกาย คนสัตว์ เทพ พรหม ที่มีจิตไปเกิดเป็นรูปตามภพภูมิสูงต่ำต่างๆกัน ท่านกล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดมีรูปแตกต่างตามระดับชั้นสูงต่ำ ตามบุญตามบาป สรุปแล้ว รูปร่างกายคนสัตว์ เทพ พรหม ก็เกิดจาก อวิชชา ตัณหา กิเลส อุปาทาน บาป บุญ รูปคนสัตว์ มี ดิน น้ำ ลม ไฟ คือ ธาตุ 4 มีนามสิ่งที่ตามองไม่เห็นอีก 4 อย่าง คือ เวทนา สัญญาความจำ สังขารความคิดปรุงแต่ง วิญญาณความรู้สึกระบบประสาททั้งร่างกาย มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั้น ทั้งหมดเรียกว่า ขันธ์ 5 คือ รูป1และนาม 4 มีเฉพาะในคนและสัตว์เท่านั้นมีจิตอยู่ในรูปคน สัตว์ เรียกว่านามอยู่ในรูป ส่วนผี เทวดาพรหมสัตว์นรกมีรูปอยู่ในนามหรือรูปอยู่ในจิต
สัตว์นรก เปรต อสุรกาย และสัมภเวสีวิญญาณร่อนเร่พเนจร มีนามกายหยาบ นามกายนรกอยู่ในจิตที่สกปรก ทำบาปหาความสุขจากความทุกข์ผู้อื่น ตาคนมองไม่เห็น ไม่มีธาตุ 4 แต่มีจิตครองอยู่ในนามกายเสวยความทุกข์ตลอดเวลาจนกว่าจะหมดบาปกรรมที่เคยทำไว้
เทวดาทั้ง 6 ชั้น ก็มีนามกายเป็นทิพย์สวยสดงดงามไม่เท่าเทียมกัน มีรัศมีกายตามขั้นของบุญบารมีที่ทำไว้ตอนเป็นมนุษย์ รูปเทพพรหมที่มีความเป็นทิพย์งดงามเรียกว่ารูปทิพย์อยู่ในนามอยู่ในจิต ตาคนเรามองไม่เห็นแม้จะใช้กล้องจุลทัศน์ขยายล้านเท่าก็มองไม่เห็นเพราะรูปทิพย์ท่านละเอียดยิ่งกว่าอากาศ รูปทิพย์ท่านเป็นนามธรรมเรียกว่า อาทิสมานกาย ดังนั้นจิตของเราท่านต่างก็มีรูปลักษณะต่างกันตามขั้นความดี ความสะอาด ตามบุญวาสนาบารมีที่ตั้งใจทำความดีไว้ มีสุขเวทนาอย่างเดียว
ผีและสัตว์นรก ที่มีนามกายหยาบท่านก็เรียกว่าอาทิสมานกายเป็นกายที่อยู่ในจิตอีกที เสวยความทุกข์อย่างเดียว เรียกว่า ทุกขเวทนา
อรูปพรหมไม่มีอาทิสมานกายมีความสุขไม่มีรูปทิพย์กายทิพย์คิดว่าสุข มีแต่จิตเป็นนามธรรมเสวยสุขโดยไม่ต้องมีรูปลักษณะของจิตเป็นความว่างเฉยๆ เมื่อไม่มีรูปทิพย์จึงไม่มีอายตนะทิพย์ที่จะติดต่อสื่อสารกันได้ ไม่สามารถรับฟังพระธรรมคำสอนจากพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ พอหมดบุญจากอรูปพรหมก็ต้องเกิดเป็นคนอีก ยังไม่พ้นทุกข์
อภิธรรมหมวดที่ 7 คือโพธิปักขิยะสังคหะ
พระอภิธรรมอย่างย่อทั้ง 9 บท มี 9 อย่างคือ
คือต้นเหตุ 4 อย่างที่นำจิตให้ไปเกิดภพที่เป็นความทุกข์ คือ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน และคนมีวิบากกรรมสาหัส เหตุทั้ง 4 คือ (1) อวิชชา (2) กิเลสสังโยชน์ 10 อย่าง (3) ตัณหาความอยาก (4) อุปาทาน
ทำให้ทำบาปกรรมผิดศีล 5 ข้อ เป็นเหตุให้ไปเกิดในแดนนรก มีความทุกข์ทรมานแสนสาหัส
โพธิปักขิยะสังคหะ คือ ธรรมะที่เป็นกุศล ปฎิบัติตามแล้วยกระดับจิตให้สะอาดสดใสเบิกบานเป็นอริยบุคคลมีพระนิพพานเป็นจุดหมายเป็นปรมัตถธรรมหรือโลกุตตรธรรม
โพธิปักขิยะ 37 อย่างเป็นธรรมะที่ยกระดับจิตเป็นพระอริยเจ้าเข้าถึงพระนิพพาน คือ ความสุขยอดเยี่ยมตลอดกาลแบ่งเป็น 7 ข้อ คือ

(1)มหาสติปัฏฐาน 4 คือ
(1.1) กายานุปัสสนา จิตดูร่างกายสกปรกมีภาระหนักต้องดูแลรักษาแล้ว กายก็เจ็บทรมานตายเป็นอสุภะซากศพ มีจิตรู้อยู่กับลมหายใจเข้าออกเพื่อทำจิตให้มั่นคงเป็นสมาธิเพื่อเอาชนะกิเลส เอาจิตไม่สนใจร่างกายมีความฉลาดรอบรู้ว่ากายไม่ดีไม่น่าหลงใหล ร่างกายเป็นเหตุแห่งความทุกข์ทั้งปวง
(1.2) เวทนานุปัสสนา จิตพิจารณาดูความรู้สึกของกายของอารมณ์สุขหรือทุกข์ดูแล้วก็ละทิ้งเวทนาเพราะไม่แน่ไม่นอนไม่ใช่ของจริง
(1.3) จิตตานุปัสสนา เอาจิตเรานี่ดูอารมณ์ใจในขันธ์ 5 ตนเองว่า อารมณ์ใจคิดดี คิดชั่ว คิดฉลาดหรือไม่ใจฉลาดคือ คิดตามความเป็นจริงว่า ทุกอย่างในโลกสูญสลายไม่ยืนยงตายหมด ถ้าจิตคิดชั่ว ก็ตัดออกไปเลิกคิด ทำจิตให้หลุดพ้นจากขันธ์ทั้ง 5 อารมณ์ใจในขันธ์ 5 นั้นไม่ใช่อันเดียวกับจิต ไม่ควรยึดถือเอาเป็นของเรา ใจอันนี้เป็นส่วนหนึ่งของอายตนะ 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ควรปล่อยวางไม่ให้มาวุ่นวายกับจิต
(1.4) ธัมมานุปัสสนา จิตพิจารณาธรรม เพื่อ
- ป้องกันมิให้นิวรณ์มารบกวนจิต
- พิจารณาขันธ์ 5 ไม่ใช่ของจิต
- อายตนะ 6 มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ใช่ของจิตเป็นเพียงวิญญาณอายตนะ 6
(2) โพชฌงค์ 7 ทำจิตให้มีโพชฌงค์ 7 อยู่ประจำใจเพื่อช่วยยกระดับจิตเป็นจิตพุทธะ คือ มีสติระลึกไว้ ธัมมวิจยะเลือกไตร่ตรองธรรมะที่ชอบที่ถูก วิริยะ เพียรพยายามระงับกิเลสที่เกิดขึ้นในใจ ปิติอิ่มเอมใจในการทำความดี ปัสสาธิ จิตสงบจากกิเลสตัณหาอุปาทานจิต ไม่วุ่นวายกับขันธ์ 5
สมาธิ จิตตั้งมั่นในอารมณ์ที่เป็นกุศลฉลาด มีสมาธิในกรรมฐาน 40 หรือมหาสติปัฏฐานสูตร
อุเบกขา มีจิตวางเฉยในความทุกข์สุขทางโลกเห็นเป็นของธรรมดาหมดความยึดติดในสามโลก
(3) อริยมรรค 8 อย่าง คือ ทางเดินของจิตเป็นทางเดินเข้าพระนิพพานที่ทำให้เป็นจิตอริยเจ้า พระอริยสาวกมี 8 ขั้น คือ
1. พระโสดาบันปัตติมรรค
2. พระโสดาบันปัตติผล
3. พระสกิทาคามีมรรค
4. พระสกิทาคามีผล
5. พระอนาคามีมรรค
6. พระอนาคามีผล
7. พระอรหัตตมรรค
8. พระอรหัตตผล

ปัญญา = สัมมาทิฎฐิ สัมมาสังกะปะ มีความคิดเห็นถูกต้องในพระนิพพานกับจิต
ศีล = สัมมาวาจา สัมมากัมมันตา สัมมาอาชีโว พูดดีทำดี เลี้ยงชีพดี
สมาธิ = สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ตั้งจิตพยายามตั้งใจมั่นในความดีในกรรมฐาน 40 ในมหาสติปัฏฐานสูตรอย่างใดอย่างหนึ่งดีทั้งนั้น
(4) พละ 5 มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ทั้ง 5 นี้เป็นพลังที่จะทำให้จิตสะอาดเข้าถึงอริยธรรมได้ง่ายและรวดเร็ว เพื่อความหลุดพ้นคือ พระนิพพาน
(5) อินทรีย์ 5 อินทรีย์ คือ ความเป็นใหญ่ที่จะทำให้จิตบรรลุเป็นจิตพระอริยเจ้า มี 5 อย่างดังนี้ ศรัทธาอินทรีย์ วิริยอินทรีย์ สติอินทรีย์ สมาธิอินทรีย์ ปัญญาอินทรีย์
(6) อิทธิบาท 4 คือ ทางปฏิบัติที่จะทำให้สำเร็จเป็นพระอริยเจ้าเข้าพระนิพพานได้ง่าย ๆ รวดเร็ว ปรารถนาอะไรก็ประสบความสำเร็จรวดเร็วได้ง่าย ทั้งทางโลกทางธรรม ทั้งอิทธิฤทธิ์ก็ได้ทุกอย่าง มี 4 อย่างคือ
ฉันทะ มีความพอใจที่จะประพฤติธรรม
วิริยะ มีความเพียรไม่ท้อถอยที่จะเอาชนะสังโยชน์ 10
จิตตะ มีจิตมุ่งมั่นไม่วางวายที่จะสลัดละทิ้งขันธ์ 5 ออกจากจิตเพื่อจิตจะได้พ้นทุกข์จากการเวียนว่ายตายเกิด
วิมังสา ใช้ปัญญาไตร่ตรองว่าทำถูกหรือไม่ตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า
อิทธิบาท นี้ถ้าทำได้ครบจะปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าก็ได้ จะสำเร็จอภิญญา 6 ก็ได้ จะอธิษฐานอยู่นาน ๆ กี่ปีก็ได้
(7) สัมมัปปธาน คือมีความขยันหมั่นเพียรที่จะเอาชนะกิเลสมี 4 ประการ คือ (1) เพียรละบาปอกุศลความชั่วในจิต (2) ความเพียรไม่ให้ความชั่วเกิดขึ้น (3) ความเพียรให้มีกุศลธรรมตั้งไว้ในจิต (4) ความเพียรเอากุศลธรรมในจิตที่มีแล้วให้มีมาก ๆ นาน ๆ ตลอดเวลา

*8q*
02-09-2009, 03:01 PM
อภิธรรมปริเฉทที่ 8
กล่าวถึงปฎิจสมุปบาท คือ เหตุปัจจัยทำให้จิตเข้ามาเวียนว่ายตายเกิด และผลจากเหตุแต่ละอย่าง
สรุปเอาง่าย ๆ ให้เข้าใจง่ายว่า เหตุที่ทำให้เวียนว่ายตายเกิดหรือวัฏฏสงสารคือ
1) อวิชชา ความรู้ผิดเข้าใจผิดคิดว่าการเกิดเป็นคน เป็นเทวดา เป็นพรหมดี
2) ตัณหา ความอยากได้ลาภ ยศ สรรเสริญ เจริญสุขอยากเกิดเป็นคน เทวดา พรหม
3) อุปาทาน คิดทึกทักเอาว่า รูปร่างกาย คนรัก ทรัพย์สมบัติเป็นของเราจริง อุปาทานคิดว่าสวรรค์ พรหมเป็นสุขยิ่ง
4) กิเลส มีความโลภ ความโกรธ ความหลง คิดว่าตัวเองดี คิดว่าการเกิดใน3โลกดี จึงเป็นเหตุให้เกิดในโลก 3 คือ นรกโลก มนุษย์โลก เทวโลก
5) อกุศลกรรม คือ ทำบาปด้วยการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ แย่งคนรักผู้อื่น พูดโกหก ดื่มสุรายาฝิ่น เล่นพนัน จิตเศร้าหมอง ทำให้เกิดภพภูมิที่เป็นทุกข์ทรมานคือ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน
ทั้ง 5 ข้อนี้ทำให้จิตเราท่านต้องมาเวียนว่ายตายเกิด มีร่างกายคนสัตว์ยิ่งเป็นทุกข์อีกเพราะเกิดมาก็ต้องทำมาหากิน แก่ เจ็บ แล้วตาย ไม่มีสาระประโยชน์อันใด
ดังนั้นองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงสอนให้ดับต้นเหตุแห่งทุกข์ตัวแรก คือ อวิชชา ความรู้ไม่ครบรู้ไม่จริง ให้รู้จริง ๆด้วยการให้ ทาน มีศีล 5 ครบ มีพรหมวิหาร 4 มีสติระลึกรู้ว่ากำลังคิดดี คิดชั่ว มีสมาธิ จิตตั้งมั่นอยู่ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระนิพพาน เป็นอารมณ์ มีปัญญาเห็นทุกข์โทษของการเกิด เป็นคน สัตว์ เกิดเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน มีความรู้ว่า การเสวยสุขในเทวโลก พรหมโลก ก็เป็นสุขชั่วคราว แดนที่เป็นสุขถาวรคือพระนิพพานทำความดีเพื่อพระนิพพานเป็นปัญญาอันเลิศ อวิชชาก็หายไปโดยง่าย ๆ
http://www.agalico.com/board/images/statusicon/wol_error.gifกดที่เเถบนี้เพื่อดูรูปขนาดดั้งเดิมhttp://webserv.kmitl.ac.th/~tooly/IMG_0865.jpg
อภิธรรมปริเฉท 9
บทที่ 9 นี้พระพุทธองค์ทรงสอนเรื่อง กรรมฐาน 40 และวิปัสสนา 10 ซึ่งเป็นของเลิศประเสริฐสุด ที่ท่านใดก็ตามไม่ว่าชาติ ศาสนาใดปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระพุทธชินวรในกรรมฐานอันใดอันหนึ่งในกรรมฐาน 40 นี้ พร้อมกับวิปัสสนาญาณ 10 นี้ มีความอุตสาหะวิริยะไม่เกียจคร้าน ตั้งใจไว้จริงก็จะมีบารมีแก่กล้า จะได้บรรลุธัมมาพิศมัย คือ เป็นพระอริยเจ้าขั้นอรหัตตผลถ้าบารมียังอ่อนก็จะเป็นอุปนิสัยสำเร็จมรรคผลพระนิพพานในชาติต่อไป ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดในโลกที่เต็มไปด้วยภัยอันตรายวุ่นวายทำมาหากิน มีสวรรค์ พรหม เป็นที่ไปและไปบำเพ็ญบารมีต่อ บนสวรรค์ พรหมเลื่อนระดับจิตเข้าเสวยวิมุติสุขยอดเยี่ยมตลอดกาลแดนบรมทิพย์พระนิพพาน
กรรม คือ การกระทำสมาธิภาวนา ฐาน คือ รากฐานหรือพื้นฐานแห่งบุญบารมีเพื่อยกระดับจิตให้สะอาด
กรรมฐาน แปลว่าพื้นฐานของการทำจิตใจให้มั่นคงมีสมาธิ ทำให้จิตที่ฟุ้งซ่าน รวมเป็นจิตที่นิ่งเฉย เพื่อรวบรวมพลังจิตที่ฟุ้งซ่านรวมเป็นจิตที่นิ่งเฉย หรือรวบรวมพลังจิตไว้ต่อสู้ฆ่ากิเลส ตัณหา อุปาทาน อวิชชาให้หมดไปจากจิต เพื่อจิตจะได้เป็นอิสระเสรีจาก ความทุกข์กาย ทุกข์ใจ จิตเป็นอิสระเสรีจากการเวียนว่ายตายเกิดพ้นจากกฎแห่งกรรม จิตสะอาดฉลาดได้เสวยสุขยอดเยี่ยมแดนทิพย์อมตะนิพพานที่องค์สมเด็จพระชินศรีศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ชี้ทางกรรมฐาน 40 อย่างวิปัสสนาญาณ10 ให้เราเจริญรอยตามพระพุทธองค์ท่าน
7. ในสมถกรรมฐาน 40 อย่างมีอะไรบ้าง
สมถกรรมฐาน 40 อย่าง คือการฝึกจิตให้ตั้งมั่น จิตไม่วอกแวกสอดส่ายนิ่งกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดใน 40 อย่างนี้ เลือกตามใจชอบอย่างใดอย่างหนึ่งหรือชอบใจทุกอย่างก็ทำได้ทุกอย่างเพื่อยกระดับจิตปุถุชนเป็นจิตของอริยบุคคลในพระพุทธศาสนามีพระนิพพานเป็นจุดหมายปลายทางของชีวิตตามอัธยาศัยของพุทธบริษัท มีดังนี้คือ
กสิณ 10 อย่าง ได้แก่ 1. ปฐวีกสิณ(ดิน) 2. อาโปกสิณ(น้ำ) 3. เตโชกสิณ(ไฟ) 4. วาโยกสิณ(ลม) 5. นิลกสิณ(สีเขียว) 6. ปีตกกสิณ(สีเหลือง) 7. โลหิตกสิณ(สีแดง) 8. โอทากสิณ(สีขาว) 9. อากาสกสิณ(ลม) 10. อาโลกสิณ(แสงสว่าง)
อนุสสติ 10 อย่าง ได้แก่ จิตที่ตามระลึกนึกถึงคุณความดี 10 อย่างทำให้จิตสะอาดเป็นจิตพระอริยได้ง่าย ๆ เป็นกรรมฐานที่เข้าถึงความเป็นอริยบุคคลได้ง่ายรวดเร็วว่องไวเป็นจิตของผู้มีศรัทธาในพระพุทธองค์
11. พุทธานุสสติกรรมฐาน คิดถึงพระคุณความดีของพระผู้มีพระภาคเจ้า
12. ธัมมานุสสติกรรมฐาน นึกถึงพระธรรมคำสั่งสอนคือ ศีล สมาธิ พระนิพพานเป็นปัญญาพระธรรมมีมากแบ่งออกเป็นโลกียธรรมและโลกุตตรธรรม
13. สังฆานุสสติกรรมฐาน นึกถึงพระคุณความดีนำพระธรรมคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้ามาสอนพวกเราและพระอริยสงฆ์ทั้งหลายทั่วทั้งโลกมนุษย์ เทวโลก พรหมโลก ท่านมีพระคุณความดี เรานึกถึงท่านด้วยความเคารพ
14. สีลานุสสติกรรมฐาน ตั้งใจตั้งจิตไว้ว่าเราไม่ทำความชั่วโดยละเมิดศีล 5 ศีล 8 ศีล 227 ข้อ ศีลเป็นรากฐานของผู้มีจิตฉลาดไม่ยอมทำบาปทั้งกายใจ
15. จาคานุสสติกรรมฐาน นึกถึงการทำบุญให้ทานที่ทำแล้วและตั้งใจทำเพื่อสละละกิเลสออกจากจิตใจเป็นการตัดความโลภโดยง่าย
16. เทวตานุสสติกรรมฐาน นึกถึงหิริ โอตัปปะความละอายต่อบาปมีผลให้เป็นเทวดาเป็นความดีงานของเทวดาไม่ยอมทำบาปทั้งที่ลับและที่แจ้ง
17. มรณานุสสติกรรมฐาน นึกถึงความทรุดโทรมความเสื่อมสลายความตายของทุกอย่างในโลกเกิดมาเท่าไหร่ตายหมดเท่านั้น ไม่ว่าตนสัตว์วัตถุสิ่งของ
18. อุปสมานุสสติกรรมฐาน การระลึกนึกถึงคุณความดีของพระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง พระนิพพานไม่ใช่อนัตตาไม่ใช่อัตตา พระนิพพานเป็นโลกุตตรธรรมอยู่เหนือโลกเหนือบาปเหนือบุญ เหนือการเวียนว่ายตายเกิด เป็นธรรมชาติอมตะสะอาดบริสุทธิ์ ไม่มีธาตุ 4 ขันธ์ 5 มีจิตของพระพุทธเจ้าพระอรหันต์มากมายหลานพันล้าน พระนิพพานกว้างใหญ่ไพศาลไม่มีขอบเขตพรหมแดน ผู้ที่เข้าแดนทิพย์นิพพานมีอิสระเสรี จะมาโลกนี้จะไปนรกสวรรค์พรหมไม่มีใครมาห้ามได้ แต่ไม่ต้องไปเกิดอีกท่านมาด้วยจิต หรืออยู่ที่นิพพานจะดูโลกนี้ก็เห็นได้โดยง่าย โดยไม่ต้องมาเห็นได้ทั่วอนัตตจักรวาลเพราะมีตาทิพย์หูทิพย์ การระลึกถึงพระนิพพานจึงทำให้จิตสะอาด เป็นกรรมฐานของท่านผู้ฉลาดเป็นพุทธจริต ทำความดีทุกอย่างเพื่อพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดมีพระนิพพานเป็นที่ไปของจิต ขันธ์ 5 ก็แตกสลายเป็นอนัตตา จิตเป็นอมตะไปเสวยสุขอย่างยิ่งตลอดกาลไปอยู่กับองค์พระพิชิตมารศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า
19. อานาปานุสสติกรรมฐาน นึกถึงลมหายใจเข้าออก กรรมฐานนี้เป็นสติสัมปะชัญญะละเอียดทำให้จิตเป็นฌาน ฌาน1-ฌาน 4 มีปัญญาสามารถตัดขันธ์ 5 ได้ง่าย ๆ ทำให้อนุสติทั้งหมดทรงตัว ทำให้กสิณคือ สิ่งที่เพ่งเป็นจิตมีพลังเป็นฌานถึงฌาน 4 ที่ พระโบราณาจารย์ที่ท่านปฏิบัติได้ผลมาแล้ว คือพระอรหัตตผล
องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า แม้ท่านเป็นพระพุทธเจ้าแล้วท่านไม่ได้ทิ้งอานาปานุสสติ แม้ท่านจะละขันธ์ 5 เข้าพระนิพพาน พระผู้มีพระภาคเจ้าก็เข้าฌาน1-2-3-4-5-6-7-8 เพื่อระงับทุกขเวทนาทางกาย จิตสบาย จิตพระองค์ท่านเสด็จเข้าสู่ปรินิพพานในฌาน 4 การทรงฌานทำให้เกิดปัญญาเฉียบแหลมทั้งทางโลกทางธรรม ตื่นเป็นสุขหลับสบาย วิปัสสนาญาณก็แจ่มใสเพราะปัญญาฉลาดมาก การที่จะมีอภิญญาสมาบัติก็เริ่มต้นด้วยการรู้ลมหายใจเข้าออกจนจิตชินละเอียดเป็นฌาน 1-2-3-4-5-6-7-8 ก็ฌาน 5-6-7-8 ก็คือ ฌาน 4 แต่จิตเพ่งอยู่ในสิ่งที่ไม่มีรูป คือ อากาศและวิญญาณ สัญญา เป็นต้น

*8q*
02-09-2009, 03:02 PM
20. กายคตานุสสติกรรมฐาน พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสอนไว้ในพระไตรปิฎกว่า ให้พิจารณาร่างกายเป็นของมีทุกข์มีโทษแปรปรวนเจ็บป่วย หิวหนาวร้อน แถมสกปรกเหม็นเน่าตลอดเวลา ท่านให้จิตเราพิจารณาตามความเป็นจริงของขันธ์ 5 รูป+นาม คือ ร่างกายที่จิตเราได้อาศัยแท้ที่จริง ร่างกายเป็นเพียงหุ่นที่จิตเรามาอาศัยอยู่ชั่วครู่ชั่วคราว ถ้าร่างกายตาย จิตเรามีจุดหมายปลายทาง คือ พระนิพพาน ที่พระโไตรโลกนาถศาสดาชี้ให้เราเดินทางสายกลาง คือ มรรค 8 มีทาน ศีล ภาวนาเป็นผลบุญหนุนนำส่งเมืองแก้วเมืองทิพย์พระนิพพานเป็นของจริง ส่วนร่างกายเป็นของปลอมเป็นของสกปรกแตกสลายตายง่ายไม่ควรยึดติดของสมมุติเป็นของปลอมของสูญเปล่า ขณะที่ร่างกายยังไม่ตาย ดูลมหายใจจนจิตเป็นสมาธิแล้วเปลี่ยนมาดูวิจัยร่างกายเราตามความเป็นจริง จิตเราจะละทิ้งเลิกรักหลงใน ร่างกายได้ง่าย เพราะมีปัญญาดี เห็นเหตุของทุกข์ เห็นผลคือ ไม่สนใจร่างกาย ผลคือ จิตเป็นสุขจิตสะอาดท่านเรียกว่า จิตพระอริยเจ้า การพิจารณาร่างกายนี้เป็นทั้งสมถะและวิปัสสนาญาณคือ เห็นว่าร่างกายไม่ใช่ของจิต จิตกับกายแยกกันคนละส่วน เป็นการตัดสักกายทิฏฐิและเป็นมหาสติปัฏฐานสูตร
ข้อแรกคือ ดูกายดูแล้วเลิกละยึดติดในกาย เพราะกายเป็นของปลอมเป็นอนัตตา จิตเป็นอมตะเป็นของจริงเป็นของสะอาดบริสุทธิ์เป็นสิ่งที่จะเสวยสุขยอดเยี่ยมแดนทิพย์อมตะนิพพานได้
อสุภกรรมฐาน10
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแนะนำไว้ให้พิจารณาร่างกายเป็นซากศพ 10 รูปแบบตั้งแต่ตายวันที่ 1 จนถึงซากศพวันที่ 10 สำหรับผู้ที่มีราคะจริตรักสวยรักงามของร่างกาย ถ้าพิจารณาร่างกายเป็นซากศพจนเป็น เอกัคคตารมณ์อารมณ์นิ่งอารมณ์เดียวเป็นปกติ ก็เป็นปัจจัยเข้าถึงพระอนาคามีโดยง่ายดาย
ให้ดูคนหรือสัตว์ตายเพราะสกปรกเหมือนกัน ตายวันที่หนึ่ง สิ้นลมปราณตัวแข็ง ธาตุไฟหมด ตัวเย็นชืด ธาตุลมหมด เหลือแต่ ธาตุน้ำกับธาตุดิน
ตายวันที่ 2 เริ่มมีน้ำไหลออกจากรูทวารทุกรูจากร่างกายน้ำเหม็นเน่าท้องเริ่มเขียว
ตายวันที่ 3 ซากศพบวม อ้วนพี มีกลิ่นเหม็นซากศพเหม็นตุ ๆ
ตายวันที่ 4 - 5 น้ำอืด น้ำเหลือง มีมันจุกเนื้อหนังปริขึ้นอืดเต็มที่ สิ่งสกปรกในร่างกายไหลออกมา เพราะธาตุน้ำแยกออกจากธาตุดินในซากศพส่งกลิ่นเหม็นไปไกล
วันที่ 6-7 ซากศพเริ่มแตกแยกเละเทะเหม็นไปทั่วทิศเหม็นเน่า
วันที่ 7-8 มีหมู่หนอนเกิดขึ้นชอนไชกินซากศพเป็นอาหาร แมลงวันตอม
วันที่ 8-9-10 ซากศพกระจัดกระจายเละเทะกระดูกอยู่ที่เนื้อเน่าเละเทะไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ไม่มีหน้าตาเหลืออยู่แล้ว แขนขากระจาย เป็นเหยื่อของหนอนแมลง
ท่านให้มองดูซากศพแล้วย้อนมองดูร่างกายตัวเราก็เป็นแบบนั้น ไม่มีอะไรน่ารักใคร่ใหลหลง จิตจะหลุดพ้นจากความหลงในกายเรา กายเขาได้ง่าย เป็นทั้งสมถะและวิปัสสนาญาณ ตอนแรกก็ใช้สัญญาความจำ ต่อไปก็ใช้ปัญญามองความเป็นจริงของชีวิตร่างกาย ก็คือ ซากศพเดินได้ พูดได้ ตายทุกวัน ตายจากเด็กเป็นผู้ใหญ่ จากผู้ใหญ่เข้าวัยชรา จากวัยชราก็วัยตายไม่เหลือหลอ
กรรมฐานทั้ง 40 มีกสิณ 10 กับอนุสติ 10 กับอสุภกรรมฐาน 10 รวมเป็น 30 กรรมฐาน
อีก10 กรรมฐานคือ
พรหมวิหาร 4 กรรมฐาน
31. เมตตา ต่อคนสัตว์ทั้งโลกมีความรักสงสารสัตว์โลกที่ร่วมเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน
32. กรุณา หาทางช่วยตามความสามารถเท่าที่ช่วยได้
33. มุทิตา พลอยยินดีกับผู้ได้ดี ไม่ริษยาโมทนาสาธุกับผู้ที่มีความดี ความสุข
34. อุเบกขา จิตวางเฉยถ้าช่วยเขาไม่ได้ ถ้าวางเฉยในความสุข ทุกข์ของขันธ์ 5 เป็นจิตของพระอรหันต์
อรูปฌาน 4 กรรมฐาน คือ มีสมาธิทรงฌานทางไม่มีรูปอีก 4 อย่าง ได้แก่
35. อากาสานัญจายตนะ ท่านที่ภาวนาจิตถึงฌาน 4 แล้วเป็นรูปฌาน จิตจับภาพกสิณใดกสิณหนึ่ง จะเป็นรูปพระพุทธรูป เป็นกสิณก็ได้ ถ้าพระพุทธรูปเป็นแก้วใสเรียก อาโลกสิณในพุทธานุสสติกรรมฐาน ควบกัน 2 กรรมฐาน จนจิตเข้าถึงฌาน 4 เป็นรูปฌาน ท่านจะเข้าอรูปฌานก็ให้ภาพกสิณหายไปไม่สนใจแล้วจิตจับอรูปเข้าแทน คือ พิจารณาอากาศไม่มีรูป เวิ้ง ว้าง ว่างเปล่า ไม่มีที่สิ้นสุด ชีวิตเราก็เวียนว่ายตายเกิดไม่มีที่สิ้นสุดฉันนั้น จิตพิจารณาอากาศแบบนี้ในฌาน 4 ท่านถือว่าเป็นอรูปฌานที่ 5 เป็นกรรมฐานไม่ต้องการรูป เพราะมีรูปถึงมีทุกข์ ร่างกายเรามีรูปจึงมีทุกข์เวทนาท่านก็จับพิจารณาร่างกายให้หายไปเหลือแต่อากาศ
36. วิญญาณัญจายตนะ จากฌานที่ 5 ในอากาศท่านให้ทิ้งอากาศออกไปจากจิต พิจารณาวิญญาณในขันธ์ 5 แทนอากาศ จิตยังคงไว้ฌาน 4 แล้วจิตมาดูวิญญาณ คือ ความรู้สึกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แม้ร่างกายตายเป็นผียังมีความรู้สึกทางวิญญาณ สุข ๆทุกข์ ๆ เพราะมีประสาทวิญญาณรับสัมผัสและถ้าจิตยังติดอยู่ในวิญญาณทางตา หู จมูก ลิ้น สัมผัส ทางกาย อารมณ์ ใจที่ชอบไม่ชอบนั้นมีสุข ๆทุกข์ ๆ ไม่สิ้นสุดเพียงใด เวิ้งว้างว่างเปล่าเหมือนวิญญาณ หาจุดเริ่มต้นจุดที่สิ้นสุดไม่ได้ จิตเราก็เวียนว่ายตายเกิดตามวิญญาณของคนของสัตว์เป็นผี เป็นผีเทวดา เป็นผีพรหม ถึงแม้จะเป็นกายพรหม กายเทพ เป็นวิญญาณมีความสุขมากแต่ก็ไม่ถาวรตลอดกาล คิดแบบนี้ท่านว่าได้ อรูปฌาน 6
ถ้าเป็นพระอริยเจ้าได้อรูปฌาน 6 ท่านเรียกว่าได้ สมาบัติ 6 ถ้าเป็นฌานโลกีย์ ยังไม่เป็นอริยบุคคลท่านเรียกว่า โลกีย์ฌาน 6 ตายแล้วก็ไปเกิดในอรูปพรหม แต่ถ้าเป็นพระอริยเจ้าได้สมาบัติ ก็เข้าพระนิพพานได้ง่าย เพราะมีปัญญาเข้าใจแล้วว่าอรูปพรหมไม่ใช่แดนทิพย์ถาวรและไม่ใช่สุขยอดเยี่ยมเช่นพระนิพพาน
37. อากิญจัญญายตนะ ท่านเปลี่ยนจากการพิจารณาวิญญาณยังไม่สิ้นสุดของความทุกข์ มาเป็นพิจารณาเห็นว่าโลกนี้ทั่วอนันตจักรวาลสูญสลายตายหมดเป็นอนัตตาแตกสลายพังทั้งสิ้นไม่ว่า คน สัตว์ วัตถุ ไม่มีอะไรเหลือสูญสลายหมด มองดูทุกสิ่งทุกอย่างในโลกเหลือแต่ว่างเปล่า ถึงแม้มีคน สัตว์ วัตถุ ก็มีเพียงชั่วครู่ชั่วคราวมิช้ามินานก็สูญสลายตายกันหมด เป็นทั้งสมถะและวิปัสสนาญาณจิตทรงฌาน 4 อยู่แบบนี้มองไปในโลกมีแต่ความว่างเปล่าไม่มีอะไรเหลือ เรียกว่า ท่านทรงอรูปฌานที่ 7 คือ อากิญจัญญายตนะ จิตเป็นสุขแต่ยังไม่จบกิจทางพระพุทธศาสนา
38. เนวสัญญานาสัญญายตนะ จิตยังคงทรงฌาน 4 หรือ อรูปฌานที่ 7 แล้วเปลี่ยนจากการพิจารณาความไม่มีอะไรเหลือแม้แต่น้อยนิด แต่อารมณ์ยังไม่หมดทุกข์เพราะมีความจำได้หมายรู้ จำชื่อ จำคนรัก จำทรัพย์สมบัติ จิตยังหนักอยู่ ท่านจึงพยายามตัดสัญญาความจำออกไปโดยการที่จิตทำเฉย ๆ ทำเหมือนไม่มีความจำ ทำให้ลืมจากขันธ์ 5 เขาขันธ์ 5 เรา ไม่มีตัวไม่มีตน จิตแบบนี้คล้ายจิตของพระอรหันต์เพราะเป็นทั้งสมาธิและวิปัสสนาญาณ จิตมีความสุขมาก พระพุทธองค์ท่านสอนไม่ให้ติดความสุขในฌานสมาบัติ 5-6-7-8 เป็นเพียงบันไดของจิตเพื่อให้มีปัญญาชาญฉลาดเข้าถึงพระอรหัตตผล ด้วย สมาธิวิมุตติ สายปฏิสัมภิทาญาณ ไม่สนใจตัวเราตัวเขา ทำจิตทรงในเนวสัญญานาสัญญายตนะ เพราะ ถ้ายังมีความจำได้หมายรู้ ก็ยังมีการยึดมั่นถือมั่น จิตยังไม่เบาจริง ยังหนักด้วยการจำ ท่านทรงฌาน ทำเป็นไม่จำไม่สนใจ คือ ฌานในอรูป 8 สมาบัติ 8 ในเนวสัญญานาสัญญายตนะ
39. อาหารเรปฏิกูลสัญญากรรมฐาน
พระพุทธเจ้าสอนให้พิจารณาอาหารที่คนเราติดในรสอร่อยของอาหารทำให้อยากเกิดมากินอาหารอร่อย ๆ ถูกใจจิตก็ยึดติดในรูปรสกลิ่นเสียง ทำให้ตกอยู่ในทะเลทุกข์เป็นคนสัตว์เวียนไปเวียนมา เพราะติดใจในรสอาหาร พระพุทธองค์ทรงสอนให้พิจารณาอาหาร ก่อนฉันก่อนกินว่ามาจากซากศพสัตว์สกปรก ซากพืชก็เน่าเหม็นสกปรก ร่างกายอยู่ได้ด้วยของสกปรกร่างกายก็ยิ่งสกปรกมากเป็นกรรมฐานเหมาะสำหรับผู้ฉลาดเป็นพุทธจริต ชอบคิด ชอบรู้ พระองค์ท่านก็ให้รู้ของจริง คือ อาหารไม่น่าติดใจหลงใหล เพราะเป็นสาเหตุแห่งทุกข์ ไม่ถึงพระนิพพาน เพียงแต่กินระงับความหิว รู้ว่าอร่อยแต่ไม่ถือว่าเป็นของที่ทำให้จิตเป็นสุข ถ้าติดในรสจิตก็ติดในโลกไม่มีทางพ้นทุกข์ได้ การกินอาหารเจไม่ใช่หนทางพ้นทุกข์ แต่ต้องกินแบบไม่ติดในรสอาหาร ให้พิจารณาเป็นของสกปรกบำรุงร่างกายสกปรก จิตจึงจะสลัดละความหลงติดในรสอาหารได้ ถ้าไม่หลงกาย ก็ไม่หลงในรสอาหาร อร่อยกินเพื่อระงับความหิว
40. จตุธาตุววัฏฐาน 4
กรรมฐานบทนี้เหมาะสำหรับคนฉลาด นิสัยชอบค้นคว้า อยากรู้อยากเห็นคนมาจากไหน ตายแล้วไปไหนเป็นพุทธจริต เป็นกรรมฐานพิจารณาค้นคว้า วิจัยคนสัตว์ตามความเป็นจริง คือ ร่างกายคนมี ธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลมหรืออากาศมีแก๊สออกซิเจน ไนโตรเจร คาร์บอนไดออกไซด์และไฮโดรเจนประกอบกันเป็นนิวเครียสเซลล์เนื้อหนังมังส่ กระดูกของแข็งเป็นธาตุดิน น้ำ ก็มาจากธาตุโฮโดรเจนกับออกซิเจนผสมกัน ธาตุไฟคือ ความอบอุ่นในร่างกายเกิดจาก การเผาผลาญอาหารที่เรากิน เป็นพลังงานกับความอบอุ่น ทำให้ร่างกายทรงตัวอยู่ได้ ถ้าเราไม่เติมอากาศออกซิเจน ไม่เติมน้ำ อาหารให้ร่างกายตลอดวัน ร่างกายก็ตายทันที
ดังนั้นร่างกายนี้เป็นภาระอันหนักจิตเราผู้อาศัยต้องหาน้ำ อาหาร อากาศเติมให้ร่างตลอดเวลา สกปรกเหม็นเน่าต้องชำระล้างไม่ได้หยุด พิจารณาไปจนเห็นว่า กายเป็นของธรรมชาติเป็นของโลกอยู่ใต้กฎของธรรมชาติ คือ เกิดขึ้น แล้วก็สลายตัวทุกสิ่งทุกอย่าง จิตเราไม่สลายตามร่างกายจึงไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะไปหลงรักรูปที่เป็นเพียงภาพมายา เป็นของปลอมของชั่วคราว จิตเราควรก้าวไปหาของจริงคือ พระนิพพาน เป็นของจริงไม่สูญสลาย ตามที่พระพุทธองค์ทรงชี้แนะให้เราหาทางพ้นทุกข์ คือ อย่าติดในของปลอม คือร่างกายเพราะทำให้ผิดหวัง
ในกรรมฐานทั้ง 40 แบบนี้ แบบที่ยากที่สุดเพราะละเอียดที่สุดคือ อานาปานุสสติกรรมฐาน เป็นกรรมฐานที่คลุมกรรมฐานทั้ง 40 แบบ เวลาปฏิบัติท่านให้กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกควบทุกกรรมฐานทั้ง 40 แบบ คือ การภาวนา ถ้าธัมมานุสสติก็จับภาพพระธรรมเป็นดอกมะลิแก้วใสแพรวพราวไหลออกจากพระโอษฐ์ขององค์พระบรมโลกนาถศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า
สำหรับอุปสมานุสสติกรรมฐาน คือ จับภาพพระนิพพาน ผู้ที่ฝึกมโนมยิทธิจิตจะเห็นภาพพระนิพพาน ภาพพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเบื้องบนพระนิพพาน ยกจิตไปฝากไว้กับองค์พระพิชิตมารไว้ตลอดเวลาจิตเบามีความสุขเป็นจิตนิพพานไม่มีกิเลสเกาะรบกวน
ผู้ที่ยังไม่เคยฝึกมโนมยิทธิ ท่านก็ให้เอาจิตจับภาพพระพุทธรูปแทนก็ได้ ท่านที่เข้าถึงพระนิพพานองค์แรก คือ พระพุทธเจ้า ก็จับภาพพระพุทธรูปแล้วภาวนาว่า นิพพานสุขัง จนจิตเป็นฌาน 4 จะมีปัญญาตัดกิเลสได้ทั้งหมด ได้กรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่งในกรรมฐาน 40 ร่วมกับวิปัสสนาญาณ คือ ทุกคนในโลกนี้ ไม่มีใครเป็นสุขจริง มีแต่ความแปรปรวน ทุกอย่างสูญสลายไม่ว่านรกโลก เทวโลก พรหมโลก ก็เป็นพระอรหันต์จบกิจในพระพุทธศาสนาได้ ไม่จำเป็นว่าเราจะต้องฝึกทั้ง 40 กรรมฐาน
การฝึกให้จิตมั่นคงในคำภาวนาจะพุทโธ สัมมา อรหัง นะมะพะธะ นะโมพุทธายะ เป็นการนึกถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้าดีทุกอย่าง ทำให้เราเป็นผู้ชนะทุกอย่าง เพราะพลังบุญบารมีเป็นมหากุศล มีพลังจิตบวกกับพลังพระพุทธานุภาพเพื่อเอาชนะกิเลส ตัณหา อุปาทาน อวิชชา อกุศลกรรม ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เราต้องมาเวียนว่ายตายเกิด
คุณประโยชน์ของการฝึกกรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่งในกรรมฐาน 40 นั้นมีมากมายมหาศาล คือ มีความสุขกายสุขใจ ซึ่งแม้จะร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐีก็ไม่มีความสุขเท่า การมีจิตมั่นคงในการภาวนา ร่างกายไม่มีโรคภัยเบียดเบียน มีสติปัญญาชาญฉลาดทั้งทางโลกทางธรรม มีคนเคารพนับถือ มีคนเมตตา มีจิตใจร่าเริงเบิกบานเพราะไม่มีความทุกข์กายทุกข์ใจใดๆ รบกวนจิตใจของท่านที่มีสมถะภาวนา เป็นการตัดภพตัดชาติ ตัดการเวียนว่ายตายเกิด ความโลภ ความโกรธ ความหลง หลุดหายไปด้วย เจโตวิมุติ หลุดพ้นทุกข์ด้วยสมาธิภาวนา จิตเข้าถึงอริยมรรคอริยผลได้รวดเร็ว มีความร่ำรวยทางธรรมมีความร่ำรวยทางโลก มีลาภ ยศ สรรเสริญ เจริญสุข มีพระนิพพานในจิตใจ ความทุกข์จากการเกิดแก่เจ็บตายไม่รบกวนจิตใจ ตายจากความเป็นคน จิตท่านที่เจริญพระกรรมฐานก็เข้าเสวยสุขเบื้องบนพระนิพพานตลอดกาลนาน

วิสุทธิ 7 ประการ
วิสุทธิ 7 ประการ คือ จิตจะถึงความสะอาดบริสุทธิ์ปราศจาก อวิชชา กิเลส ตัณหา อุปาทาน อกุศลกรรมมี 7 อย่าง คือ เป็นพระอรหันต์ขีณาสพได้ด้วยความบริสุทธิ์ 7 ประการ

1. สีลวิสุทธิ คือ ไม่ละเมิดศีล 5 ศีล 8 หรือ ศีล 227 ข้อ ตามกำลังของท่าน
2. จิตตวิสุทธิ จิตจะสะอาดได้ก็กำจัดกิเลสร้ายคือ นิวรณ์ 5 ได้เด็ดขาด
3. ทิฏฐิวิสุทธิ คือ มีจิตเข้าใจมีความคิดเห็นตรง ไม่ขัดแย้งกับพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ความเห็นที่ว่าตายแล้วจิตสูญตามขันธ์ 5 หรือพระนิพพานเป็นอนัตตา เป็นความเห็นผิดไม่ตรงตามพระธรรมคำสอนที่พระองค์ว่า นิพพานนังปรมังสุขัง พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ถ้าจิตสูญสลายตามขันธ์ 5 นิพพานเป็นอนัตตาแล้วไซร้ จะเอาอะไรไปเป็นสุขอย่างยิ่งเล่า โกลนี้เป็นทุกข์เพราะ เป็นอนัตตา พระนิพพานเป็นสุข เพราะพระนิพพานไม่ใช่อนัตตาไม่ใช่ตัวตน คือ อมตะธรรมชาติที่วิเศษยิ่ง ไม่มีขันธ์ 5 ไม่มีขันธ์ทิพย์แห่งกายเทพกายพรหม ไม่มีอวิชชา กิเลส ตัณหา อุปาทาน บาปบุญกรรม ตามไม่ถึงอิสระเสรีตลอดกาล
4. กังขาวิตรณวิสุทธิ คือ จิตจะบริสุทธิ์ ผุดผ่องสะอาดได้ด้วยหมดความสงสัยกังขาในพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์สวัสดิโสภาคย์ ที่พระองค์ท่านมีเมตตาต่อปวงชน สั่งสอนเทวดา พรหม คน สัตว์ ชี้แนะแนวทางแสงสว่างของชีวิตคือ พระนิพพาน ผู้ใดเห็นพระพุทะเจ้า เห็นพระพุทธรูป (องค์แทนพระพุทธเจ้า) ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเข้าใจในพระธรรม คือ ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา ผู้นั้นเห็นองค์พระตถาคต ผู้ใดเห็นพระตถาคตผู้นั้นเห็นเข้าใจพระนิพพาน อยู่ในจิตในใจของทุกท่านเอง คือ จิตหลุดพ้นจากอวิชชา กิเลส ตัณหาอุปาทาน อกุศลกรรมทำชั่วไม่มี
5. มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ มีความรู้ความเข้าใจในความเป็นไปของจิต คือ ถ้าจิตใจยังผูกพันในอวิชชา ความไม่รู้ตามความเป็นจริงของชีวิต มีกิเลส โลภ โกรธ หลง มีตัณหาความอยาก มีบาปกรรมชั่ว ติดในรสอาหาร ก็ยังเวียนว่ายตายเกิดภพทั้ง 3 คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ มีนรก สัตว์เดรัจฉาน ผีเปรต คน เทวดา พรหม เวียนเกิดเวียนตายไม่มีวันหยุดยั้งจนกว่าจะจบกิจ มีจิตสะอาดเข้าพระนิพพานได้
6. ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ จิตสะอาดบริสุทธิ์หมดจดจากอวิชชา กิเลส ตัณหาอุปาทาน ได้ด้วยการรู้ฉลาดเข้าใจตามความเป็นจริงของโลก ของร่างกายเป็นทุกข์เป็นโทษ เพราะแปรปรวนเสื่อมสลาย มีแต่ของสกปรก น่ารังเกียจเป็นของสมมุติ เป็นของปลอม เป็นภาพมายา หลอกหลอนให้จิตหลงตลอดเวลา เกิดความเบื่อหน่าย เกิดความวางเฉยเห็นว่าเป็นธรรมดาของโลก ของขันธ์ 5 ไม่ทุกข์ไม่สุขไม่ยินดียินร้ายกับขันธ์ 5 คือ มี วิปัสสนาญาณ 10 อย่างนั่นเอง เป็นหนทางที่จะทำให้จิตสะอาดเป็นพระอรหัตตผลขีณาสพเจ้ามีจิตพระนิพพานพ้นจากอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แม้ยังไม่ตายจิตก็เป็นสุขเลิศล้ำ ทั้ง ๆ ที่ร่างกายยังเจ็บป่วยทุกข์ทรมานตามธรรมชาติของโลก จิตท่านไม่เกาะเกี่ยวกับความทุกข์ในขันธ์ 5 อีกต่อไป

*8q*
02-09-2009, 03:03 PM
7. ญาณทัสสนวิสุทธิ จิตสะอาดบริสุทธิ์ที่เกิดขึ้นจากพลังของญาณของสมาธิภาวนา พ้นจากกิเลส ตัณหา อุปาทาน อวิชชาด้วยปัญญาที่เข้าฌาน 1-2-3-4 เป็นอัปปนาสมาธิกำลังแก่กล้า สำเร็จกิจตัดกิเลส อย่างอยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียดเป็นพระอรหันต์ พระอริยบุคคลที่สูงสุดในพระศาสนาเรียกว่า สมาธิวิมุตติ สำเร็จกิจด้วยกำลังของฌานสมาบัติเป็นปัญญารู้รอบวิปัสสนาญาณ ตามความเป็นจริง
http://board.agalico.com/showthread.php?t=26780