PDA

แสดงเวอร์ชันเต็ม : คำอธิบายเพิ่ม ขณะจิต จิตเกิด/ดับ 17 ดวง



8ocdj
02-21-2009, 11:00 PM
ขณะจิตทั้ง ๑๗ ขณะ เป็นคำสอนที่ละเอียดสุขุมมากอย่างหนึ่งในพระอภิธรรม จะนำมาอธิบายแต่โดยย่อ ดังนี้

ขณะจิตที่ ๑ อตีตภวังค์
เป็นภวังคจิตที่กระทบกับอารมณ์ทั้ง ๕ มีรูป รส กลิ่น เสียง เป็นต้น อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งในปัจจุบันเป็นครั้งแรก
การที่จะเข้าใจอตีตภวังค์ก็จำต้องเข้าใจลักษณะของภวังคจิตเสียก่อน ภวังคจิตหมายถึงจิตที่ทำหน้าที่รักษาภพชาติ
คือรักษาผลของกรรมที่ถือกำเนิดมาในภพชาตินั้น ๆ และรักษารูปที่เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐานให้ดำรงอยู่ในอาการปกติ
เช่น รูปที่เกิดจากการหายใจเข้าออกเป็นต้น

ภวังคจิตมีอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งที่รักษาสืบเนื่องมาแต่ภพก่อน ซึ่งเรียกว่าอารมณ์เก่าหรืออดีตอารมณ์
ได้แก่ กรรมอารมณ์ กรรมนิมิตอารมณ์ และคตินิมิตอารมณ์ หรือเรียกสั้นๆ ว่ากรรม กรรมนิมิต และคตินิมิต
อารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งนี้ซึ่งจิตเริ่มรับมาแต่ปฏิสนธิวิญญาณปรากฏขึ้นแล้วดับลงไป ต่อจากนั้น คือในทันใดนั้น
ปฐมภวังค์ คือ ภวังคจิตดวงแรกที่เกิดขึ้นในภพใหม่ก็จะเกิดขึ้นรับอารมณ์นั้นสืบต่อจากปฏิสนธิวิญญาณ
แล้วภวังคจิตดวงอื่น ๆ ก็จะเกิดขึ้นรับอารมณ์เช่นเดียวกันนี้เรื่อยไปจนกว่าจะสิ้นชีวิต

ในช่วงระหว่างปฏิสนธิกับจุติในภพชาติหนี่ง ๆ ภวังคจิตจะทำหน้าที่รับอตีตารมณ์
(คือ กรรม กรรมนิมิต หรือคตินิมิตอย่างใดอย่างหนึ่ง) เรื่อย ๆ ไป ถ้าไม่มีอารมณ์ใหม่ในปัจจุบันชาติ
มากระทบภวังคจิตให้ไหวเปลี่ยนไปรับอารมณ์ใหม่ที่มากระทบนั้นแล้ว จิตจะคงรับอารมณ์เก่าเป็นภวังคจิต
รักษาภพชาติของตนอยู่สืบไป ภวังคจิตเช่นนี้เองที่เรียกว่า อตีตภวังค์ จิตในขณะนี้ยังไม่ขึ้นสู่วิถี
ยังเป็นวิถีมุตตจิต คือจิตที่พ้นจากวิถีอยู่ ยังไม่ได้ขึ้นสู่วิถี

ขณะจิตที่ ๒ ภวังคจลนะ
มีความเคลื่อนไหวของภวังคจิต หรืออาการที่ภวังคจิตเคลื่อนไหว เป็นภวังคจิตที่เกิดต่อจากอตีตภวังค์
มีอาการไหวคลายจากอารมณ์เก่า แต่ยังคงเป็นภวังคจิตอยู่นั่นเอง แต่ต่างกับอตีตภวังค์ตรงที่มีการกระทบกับอารมณ์ใหม่
แล้วเกิดความไหวขึ้น จิตดวงนี้ก็จัดเป็น วิถีมุตตจิต คือจิตที่ยังไม่ขึ้นสู่วิถีเช่นกัน

ขณะจิตที่ ๓ ภวังคุปัจเฉทะ
เป็นภวังคจิตที่เริ่มตัดขาดอารมณ์เก่า กำลังจะเตรียมตัวขึ้นสู่วิถีจิต คือภวังคจิตที่เริ่มปล่อยอารมณ์เก่า
จนขาดจากอารมณ์เก่าที่ตรงกับภังคขณะ (ขณะดับ) ของจิต แต่จิตในขณะนี้ยังรับอารมรมณ์เก่าอยู่ จึงยังไม่เป็นจิตที่ขึ้นสู่วิถี

ขณะจิตที่ ๔ ปัญจทวาราวัชชนะ
เป็นอเหตุกจิตที่เกิดขึ้นรับอารมณ์ใหม่ที่มากระทบ ไม่ว่าจะเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น และ กาย
ให้รู้ว่าอารมณ์ที่มากระทบนั้น เป็นอารมณ์ที่มาจากทวารไหน เพื่อเป็นปัจจัยให้สัญญาณแก่วิญญาณทางทวารนั้น ๆ

ปัญจทวาราวัชชนจิตนี้ เป็นจิตที่รับอารมณ์ใหม่ในปัจจุบันเป็นครั้งแรกในวิถีหนึ่ง ๆ
จึงนับเป็นจิตดวงแรกที่ขึ้นสู่วิถีรับอารมณ์ใหม่ เป็นปัจจัย (เหตุหนุน) แก่จิตดวงต่อ ๆ ไปให้รับปัญจารมณ์นั้นไปจนสุดวิถี

8ocdj
02-21-2009, 11:21 PM
ขณะจิตที่ ๕ ปัญจวิญญาณ
คือ จิต ๕ ดวงที่เกิดขึ้นรับปัญจารมณ์ดวงใดดวงหนึ่งตามสมควรแก่อารมณ์ที่มากระทบในขณะนั้นคือ
๑. จักขุวิญญาณ ปรากฏขึ้นรับรูปารมณ์ คือเห็นรูป
๒. โสตวิญญาณ ปรากฏขึ้นรับสัททารมณ์ คือฟังเสียง
๓. ฆานวิญญาณ ปรากฏขึ้นรับคันธารมณ์ คือสูดกลิ่น
๔. ชิวหาวิญญาณ ปรากฏขึ้นรับรสารมณ์ คือรู้รส
๕. กายวิญญาณ ปรากฏขึ้นรับโผฏฐัพพารมณ์ คือรู้สัมผัสทางกายทวาร และอารมณ์เพื่อทำกิจในการเห็นหรือการได้ยินเป็นต้น

เมื่อปัญจวิญญาณ อันเป็นขณะจิตดวงที่ ๕ ดับลง
ขณะจิตที่ ๖ คือ สัมปฏิจฉันนะ ก็เกิดขึ้นรับอารมณ์ต่อจากปัญจวิญญาณ ที่ได้เห็นหรือได้ยินเป็นต้น
และส่งมอบอารมณ์นั้นต่อไปให้กับสันตีรณะ เมื่อสัมปฏิจฉันนจิตดับลง
ขณะจิตที่ ๗ คือ สันตีรณะ ก็เกิดขึ้นเพื่อไต่สวนอารมณ์ที่ได้รับมาจากสัมปฏิจฉันนะ
เพื่อให้รู้ว่าอารมณ์ที่ได้รับนี้ดีหรือไม่ดีประการใด ถ้าเป็นอติอิฏฐารมณ์คืออารมณ์ที่ดียิ่ง
โสมนัสสันตีรณกุศลวิบากจิตก็เกิดขึ้นทำหน้าที่พิจารณาไต่สวนอารมณ์นั้น
ถ้าเป็นอิฏฐมัชฌัตตารมณ์คืออารมณ์ดีปานกลาง อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากจิตก็เกิดขึ้นทำหน้าที่รับอารมณ์นั้น
แต่ถ้าเป็นอนิฏฐารมณ์คืออารมณ์ไม่ดี อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากจิตก็ทำหน้าที่เป็นผู้พิจารณาอารมณ์นั้น
แล้วดับไปพร้อมกับส่งมอบให้กับโวฏฐัพพนจิต

เมื่อสันตีรณจิตดับลง
ขณะจิตที่ ๘ โวฏฐัพพนจิต ก็เกิดขึ้นทำหน้าที่โวฏฐัพพนกิจ คือ ตัดสินอารมณ์ว่าจะให้เป็นกุศลหรืออกุศลต่อไป
เมื่อโวฏฐัพพนจิตดับลงแล้ว ขณะจิตที่ ๙ คือ ชวนะ ก็เกิดขึ้น

ขณะจิตที่ ๙ คือ ชวนะ
ทำหน้าที่ชวนกิจ คือเสวยหรือเสพรสของอารมณ์ที่โวฏฐัพพนจิต ได้ตัดสินแล้วนั้น
โดยความเป็นกุศลชวนะหรืออกุศล ชวนะจิตดวงนี้เรียกชวนจิตเพราะทำหน้าที่เสพรสแห่งอารมณ์ที่เป็นกุศลอกุศล
หรือบุญบาปที่ปรากฏขึ้นแก่สัตว์ทั้งหลาย ข้อนี้หมายความว่า บุญหรือบาปจะเกิดขึ้นได้นั้นจะต้องเข้าถึงชวนจิตเสียก่อน
เว้นไว้แต่ชวนจิตของพระอรหันต์ที่จัดเป็นกิริยาชวนะ เพราะเป็นจิตที่พ้นจากอารมณ์ที่พ้นจากกรรมอันเป็นกุศลหรืออกุศลแล้ว

นับตั้งแต่ขณะจิตที่ ๙ ถึงขณะจิตที่ ๑๕ ทั้ง ๗ ขณะจิตนี้จิตทำหน้าที่เพื่อเสวยรสของอารมณ์เป็นชวนกิจอย่างเดียว
ในกามชวนะนี้มีขณะจิตเกิดได้ทั้ง ๗ ขณะ เมื่อชวนจิตทำหน้าที่เสวยรสแห่งอารมณ์ไปแล้ว ๗ ขณะ ก็ดับลง

ต่อจากนั้นขณะจิตที่ ๑๖ และที่ ๑๗ ก็เกิดขึ้นรับอารมณ์ที่เหลือจากชวนะ เพื่อหน่วงอารมณ์นั้นลงสู่ภวังค์ตามเดิม
เรียกจิตทั้ง ๒ ดวงนี้ว่า ตทาลัมพนจิต

ขณะจิตที่ ๑๖ และ ๑๗ คือ ตทาลัมพนจิต
เกิดเพื่อรับอารมณ์ที่เหลือจากชวนะตามสมควรแก่อารมณ์ และจะต้องเกิดขึ้น ๒ ครั้ง หรือ ๒ ขณะเสมอไป
เท่ากับอายุของอารมณ์ที่ดำรงอยู่ได้ เมื่อถึงขณะจิตที่ ๑๗ พอดี ก็เป็นอันสุดวิถีจิตในวิถีหนึ่ง ๆ

ต่อจากนั้นก็เป็นหน้าที่ของภวังคจิตเกิดขึ้นตามธรรมชาติต่อไป

*8q*
02-22-2009, 04:32 PM
สองปรมะจารย์ช่วยเหลือกันดีจริง