PDA

แสดงเวอร์ชันเต็ม : กุกกุชาดกว่าด้วยปฏิปทาของพระราชาผู้เป็นบัณฑิต



*8q*
03-21-2009, 04:51 PM
กุกกุชาดก

ว่าด้วยปฏิปทาของพระราชาผู้เป็นบัณฑิต


พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภ พระราโชวาท ตรัสเรื่องนี้ดังนี้
เรื่อง ปัจจุบันแสดงไว้ใน เตสกุณชาดก
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้เป็นอำมาตย์ผู้ถวายอรรถธรรมแด่พระองค์ พระราชาทรงดำรงอยู่ในการลุอำนาจอคติ ทรงครองราชย์โดยไม่เป็นธรรม รีดนาทาเร้นประชาชน เก็บภาษีอย่างเดียว พระโพธิสัตว์จึงเดินพิจารณาหาอุบายข้อหนึ่งเพื่อจะถวายพระโอวาทพระราชา
ในพระราชอุทยานมีพระตำหนักหลังหนึ่ง มุงหลังคายังไม่เสร็จ เพียงแต่ยกยอดโดมไม้ขึ้น แล้วเอาจันทันสอดพาดไว้ พระราชาเสด็จไปพระราชอุทยาน เพื่อต้องการทรงกรีฑา เสด็จดำเนินไปทั่วทุกแห่งในพระราชอุทยานนั้นแล้วเสด็จเข้าพระตำหนักนั้น เมื่อทอดพระเนตรเห็นยอดโดม จึงเสด็จออกมาประทับยืนข้างนอก เพราะทรงกลัวยอดโดมจะตกลงมาทับพระองค์ ทรงตรวจดูอีกแล้วทรงดำริว่า ยอดโดมวางอยู่ได้เพราะอาศัยอะไรหนอ จันทันวางอยู่ได้เพราะอาศัยอะไร เมื่อจะตรัสถามพระโพธิสัตว์ จึงได้กล่าวคาถาที่ ๑ ว่า:
[๙๖๙] ช่อฟ้า * โดยส่วนสูงประมาณสองศอกคืบ โดยรอบกว้างประมาณแปดคืบ
เป็นไม้สีเสียดมีแต่แก่น ไม่มีกระพี้ ตั้งอยู่ได้อย่างไร จึงไม่ตกลงจาก
ข้างบน?
*หมายถึง ยอดโดม
พระโพธิสัตว์ได้ฟังพระราชดำรัสนั้นแล้ว คิดว่า บัดนี้เราได้อุบายเพื่อจะถวายพระโอวาทพระราชาแล้ว จึงได้กล่าวคาถาเหล่านี้ถวาย ว่า:
[๙๗๐] กลอน * สามสิบอันสำเร็จด้วยไม้แก่น ไม่มีกระพี้ เรียงรายตั้งอยู่ได้ส่วน
กัน ช่อฟ้าอันกลอนเหล่านั้น และกำลังยึดเหนี่ยวรั้งไว้แน่นหนา ตั้ง
อยู่ได้ส่วนกัน จึงไม่ตกลงจากข้างบน ฉันใด
[๙๗๑] พระราชาผู้เป็นบัณฑิต ก็ฉันนั้น อันกัลยาณมิตรทั้งหลายผู้มีจิตมั่นคง มิ
ได้แตกร้าว เป็นคนสะอาด มีปัญญา สงเคราะห์เป็นอย่างดีแล้ว ย่อมไม่
เสื่อมจากศิริ เหมือนช่อฟ้าที่กลอนเหนี่ยวรั้งไว้ ฉะนั้น
*หมายถึง จันทัน
เมื่อพระโพธิสัตว์กล่าวอยู่นั่นแหละ พระราชาก็ทรงพิจารณาตามไป จึงทรงทราบว่า เมื่อไม่มียอดโดม จันทันทั้งหลายก็วางอยู่ไม่ได้ ยอดโดมที่ไม่มีจันทันยึดรั้งไว้ก็ตั้งอยู่ไม่ได้ เมื่อจันทันแยกกัน ยอดโดมก็หล่นฉันใด พระราชาผู้ไม่ทรงธรรมก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อไม่ทรงยึดเหนี่ยวใจมิตรอำมาตย์ กำลังพลของตน และพราหมณ์คหบดีทั้งหลายไว้ เมื่อคนเหล่านั้นแตกแยกกัน ไม่พากันยึดเหนี่ยวพระทัยพระองค์ไว้ ก็จะเสื่อมจากอิสริยยศ ธรรมดาพระราชาควรจะเป็นผู้ทรงธรรม ดังนี้
ในขณะนั้น คนทั้งหลายได้นำผลมะงั่ว (มะนาวชนิดหนึ่ง) มาเพื่อต้องการเป็นบรรณาการทูลเกล้าถวายพระองค์ พระราชาจึงตรัสกะพระโพธิสัตว์ว่า สหายเอ๋ย เชิญรับประทานผลมะงั่วนี้เถิด พระโพธิสัตว์รับเอาผลมะงั่วนั้นแล้ว เมื่อทูลแสดงอุบายรวบรวมทรัพย์ คือการเก็บภาษีถวายพระราชาด้วยอุปมานี้ว่า ข้าแต่มหาราช คนทั้งหลายไม่รู้การกินผลมะงั่วนี้จะทำให้มีแต่รสขม ส่วนผู้ฉลาดรู้รสเปรี้ยวนำแต่รสขมออกไป ไม่นำรสเปรี้ยวออก ไม่ให้รสมะงั่วเสีย ภายหลังจึงรับประทานดังนี้แล้ว จึงกล่าวคาถา ๒ คาถาความว่า:
[๙๗๒] บุคคลถือมีดไม่ปอกผลมะนาวที่มีเปลือกอันแข็งออกเสียก่อน ก็จะทำ
รสมะนาวให้ขมได้ เมื่อปอกเปลือกออกดีแล้วจะทำให้มะนาวมีรสอร่อย
ดีขึ้น แต่เมื่อปอกเปลือกออกไม่หมดดี ก็จะทำให้มีรสไม่อร่อยได้
ฉันใด
[๙๗๓] แม้พระราชาผู้เป็นบัณฑิต ก็ฉันนั้น พระทัยไม่เหี้ยมโหดแก่ชาวบ้านและ
ชาวนิคม รวบรวมทรัพย์ไว้ ทรงประพฤติตามธรรมปฏิบัติอยู่ ไม่ทรง
เบียดเบียนประชาชน ทรงทำแต่ความเจริญรุ่งเรืองให้ *
*ความว่า ฝ่ายพระราชาผู้ทรงพระปรีชาก็ฉันนั้น ไม่ลุอำนาจตัณหาละการลุอำนาจอคติ ไม่เบียดเบียนราษฎร เก็บเงินภาษี โดยลักษณะเช่นเดียวกับปลวกทั้งหลายก่อจอมปลวก และ โดยลักษณะเช่นเดียวกับผึ้งทั้งหลายที่เคล้าเอาเกสรมาทำน้ำผึ้ง เป็นผู้ทรงคล้อยตามธรรมะปฏิบัติอยู่โดยการคล้อยตามราชธรรม ๑๐ ประการเหล่านี้ คือ:
ทาน ๑ ศีล ๑ การบริจาค ๑ ความ
ซื่อตรง ๑ ความอ่อนโยน ๑ ความเคร่งครัด ๑
ความไม่โกรธ ๑ ความไม่เบียดเบียน ๑
ความอดทน ๑ ความไม่ผิด ๑
ควรทรงทำความสำราญ คือความเจริญให้ตนเองและผู้อื่น ไม่เบียดเบียนผู้อื่นเลย
พระราชาทรงปรึกษากับพระโพธิสัตว์ไปพลาง เสด็จดำเนินไป พลางถึงฝั่งสระโบกขรณี ทอดพระเนตรเห็นดอกบัวที่บานงามอยู่ในสระ นั้น แต่ไม่เปียกน้ำมีสีเหมือนแสงพระอาทิตย์อ่อนๆ จึงตรัสว่า สหาย ดอกบัวนี้เกิดในน้ำนั่นแหละ แต่อยู่ได้ไม่เปียกน้ำ ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ เมื่อทูลโอวาทพระราชานั้นว่า ถึงพระราชาก็ควรเป็นแบบนี้เหมือนกัน จึงได้ทูลคาถาว่า:
[๙๗๔] ดอกบัวเกิดในน้ำอันใสสะอาด มีรากอันขาวเกิดขึ้นในสระโบกขรณี
พอต้องแสงอาทิตย์ก็บาน เปือกตม ธุลีและน้ำก็มิได้แปดเปื้อน ฉันใด
[๙๗๕] พระมหากษัตริย์ก็ฉันนั้น ทรงทำการวินิจฉัยโดยชอบธรรม เว้นอคติ
ไม่ตัดสินโดยผลุนผลัน มีการงานบริสุทธิ์ปราศจากกรรมอันชั่วช้า ย่อม
ไม่แปดเปื้อนกรรมกิเลส เหมือนดอกบัวที่เกิดในสระโบกขรณี ฉะนั้น
พระราชาทรงดำรงอยู่ในโอวาทของพระโพธิสัตว์แล้ว นับแต่นั้นมา ก็ทรงครองราชย์โดยธรรม ทรงบำเพ็ญบุญทั้งหลายมีทาน เป็นต้น แล้วได้ทรงเป็นผู้มีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า
พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ได้ทรงประชุม ชาดกไว้ว่า พระราชาในครั้งนั้น ได้แก่พระอานนท์ในบัดนี้ ส่วนอำมาตย์ ผู้เป็นบัณฑิต คือเราตถาคต ฉะนี้แล
จบ กุกกุชาดก
http://board.agalico.com/showthread.php?t=28316
<!-- / message -->